“การปฏิรูปเศรษฐกิจและการตื่นตัวของจิตสำนึกร่วมสมัยของผู้หญิงจีน”
โดย ลี เสี่ยวเจียง
แหล่ง: Li Xiaojiang. 1994. “Economic Reform and the Awakening of Chinese Women’s Collective Consciousness” in Engendering China : Women, Culture, and the State. Christiana K. Gilmartin et al. (eds.). Harvard Contemporary China Series 10. MA: Harvard Univ. pp. 360-382.
ในปลายปี 1987 (๒๕๓๐), ในที่ประชุมคองเกรสของพรรค (Party Congress) ครั้งที่ ๑๓, พวกเราในประเทศจีน ยอมรับถึงสภาพพื้นฐานของประเทศของเรา ซึ่งยืนอยู่ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของระบบสังคมนิยม, และพวกเราได้อภิปรายแจกแจงหนทางพื้นฐานเพื่อระดมการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ในทุกๆ ด้าน. ฝ่ายพาณิชย์ และฝ่ายวิชาการ ได้นำเสนอโครงการต่างๆ เพื่อการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม. การก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ (modernization) ของจีนจึงได้เห็นแสงอรุณเบิกฟ้าเป็นครั้งแรก: ทางออก (ในการประชุมครั้งนั้น).
การที่ จีนเลือกเดินทางปฏิรูปเศรษฐกิจ เป็นการประทับตราความคิดชุดหนึ่งอย่างลึกซึ้งลงในจิตสำนึกของประชาชน; หนทางสู่ความก้าวหน้าทางสังคม ก็ย่อมมาจากการปฏิรูปเช่นกัน. แต่เหตุใด ประเด็น “ทางออกสำหรับผู้หญิง” จึงต้องเป็นเหยื่อรายแรกของการปฏิรูป? เหมือนกับว่า การปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ มีความขัดแย้งกับวิถีการพัฒนาของผู้หญิง. นี่เป็นความจริงแค่ไหน? ในความคิดทางตรรกะย่อมสรุปได้ว่า เป้าหมายทั้งสองน่าจะเหมือนกัน, แต่ในชีวิตจริง มันสะท้อนถึงความขัดแย้ง. ทฤษฎี และชีวิตจริง, สังคมและผู้หญิง: หนทางทั้งสองเริ่มแยกจากกันที่ตรงไหน?
แรงกดดันแห่งการปฏิรูป
ความกดดันที่การปฏิรูปได้วางบนไหล่ของผู้หญิง แท้จริงมีอยู่แล้วสักระยะหนึ่ง. หลังจากปี 1978 (๒๕๒๑) การเริ่มประกาศใช้ระบบการผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมตามสัญญาข้อตกลง (agricultural and industrial contract production system) ได้ก่อให้เกิดชนชั้นผู้ประกอบการ (entrepreneurial class) และอุตสาหกรรมภาคบริการ, ประเด็นผู้หญิงใหม่ๆ เริ่มผุดขึ้น (เมื่อเทียบกับในช่วงเวลา ๓๐ กว่าปีแห่งการปลดแอก) ดั่งวัชพืชต้องฝนแรกในฤดูใบไม้ผลิของการปฏิรูป. ปัญหาเช่น ผู้หญิงกลับคืนสู่เหย้า, คนงานหญิงสูญเสียหรือถูกตัดทอนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้จากการทำงาน, เด็กสาวถูกบังคับให้หยุดการเล่าเรียนต่อ, และการฟื้นคืนชีพของโสเภณีและเมียเก็บ. ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งปรากฏตัวขึ้นวันนี้. มันมีประวัติมาอย่างน้อย ๑๐ ปีแล้ว.
การประชุมคองเกรสของพรรค ครั้งที่ ๑๓ เป็นการต่อชีวิตให้สังคมจีน. แม้ว่าความเข้มข้นและความเร็วของการแข่งขันที่เกิดขึ้น จะได้สร้างความกดดันขึ้นในทุกระดับของสังคม, ประชาชนทั่วไป ก็ยังสามารถพูดได้, ด้วยสายตาที่มองโลกในแง่ค่อนข้างดี, ว่า การปฏิรูปได้เพิ่มโอกาสให้สังคมและปัจเจกบุคคลโดยรวม. ผู้ที่เป็นหนังหน้าไฟของแรงกดดันนี้ และสัมผัสถึงความไม่แน่นอนของทางเลือกมากที่สุด คือ ผู้หญิง และสหพันธ์สตรี (Women’s Federation), ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงในลักษณะกลุ่มคน หมู่คณะ (collective group), ต่างรู้สึกว่าความอยู่รอดของการรวมตัวเป็นองค์กร อยู่ในภาวะคับขัน.
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เราลองมาดูกันว่า ในครรลองของการปฏิรูปนั้น มีอะไรที่ได้รับการสนับสนุน โจมตี ยกเลิก และเผยแพร่.
ใน “แผนงาน” ที่ประกาศในที่ประชุมคองเกรสพรรค ครั้งที่ ๑๓ นั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ถึงทฤษฎีว่าด้วยขั้นแรกของระบบสังคมนิยม: ที่เรียกกันว่า การปฏิรูป, ที่รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง, ได้แสดงเจตนารมณ์อันดับแรกสุด ว่าเพื่อความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบกำลังการผลิตของสังคม. ที่ประชุมคองเกรส ได้มีมติให้ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาให้ประเทศของเราหลุดพ้นจากความยากจน, สู่ความสุขสบายขึ้น, สู่ความร่ำรวยขึ้น. มีการโจมตีระบบราชการในวงการการเมือง, การยึดติดในวงการทฤษฎี, ลัทธิความเท่าเทียมกันในเศรษฐกิจ, และความซังกะตายของปัจเจกบุคคลทั่วไป. แผนงานดังกล่าวได้นำเสนอ ทางออกที่เป็นจริงได้ เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปและให้เศรษฐกิจจีนแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง. เป้าประสงค์เหล่านี้, ซึ่งได้มีการพยายามไขว่คว้า ก็ยังไปไม่ถึง แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว, ล้วนเป็นสิ่งดี—แต่มันคุกคามผู้หญิง. ในภาคปฏิบัติ เราถูกบังคับให้เผชิญหน้าอย่างจังกับประเด็นทางชีวภาพ และการที่ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ทารก ซึ่งเป็นงานการผลิตทางสังคม. ในความเป็นจริงของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ, เป็นความจริงที่ว่า คุณภาพของแรงงานหญิงมีแนวโน้มที่จะด้อยกว่าแรงงานชาย และการที่ผู้หญิงต้องแบกภาระสองบทบาท ย่อมทำให้ทั้งตัวผู้หญิง และกิจการที่จ้างผู้หญิง หย่อนประสิทธิภาพในการแข่งขันลงบ้าง.
การปฏิรูป ได้ขจัดระบบการว่าจ้างตลอดชีพของพนักงานและระบบอุตสาหกรรม “ชามข้าวเหล็ก” (เกิดขึ้นในยุคปลดแอก). ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ประกาศใช้นโยบายที่จำกัดระยะเวลาการว่าจ้าง และระบบการว่าจ้างตามข้อตกลงสัญญา, ซึ่งตามมาด้วยการทยอยยกเลิกนโยบายคุ้มครอง และ สิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับคนงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม. ผลก็คือ เกิดปัญหา “งานชนิดเดียวกัน แต่เงินเดือนไม่เท่ากัน” และความไม่เท่าเทียมกันในการเลื่อนตำแหน่งระหว่างหญิงและชาย.
ในปี 1988 (๒๕๓๑) ประเด็นผู้หญิงต่างๆ เริ่มชัดเจนขึ้น. ไม่เพียงแต่ผู้หญิง แต่รวมถึงผู้ชายที่มีผลประโยชน์หรือความสนใจร่วมกับผู้หญิง, และผู้ที่ต้องอยู่กับผู้หญิงตั้งแต่เช้ายันค่ำ, ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วย, นั่นคือ ทุกครอบครัวที่มีลูกสาวและภรรยาต้องเผชิญปัญหาหมด. เราลองมาดูปัญหาที่เป็นรูปธรรมในช่วงเวลาของ ๑ ปีนั้น.
ในช่วง ๓ เดือนแรก ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อชิงตำแหน่งใน คองเกรสของประชาชน (People’s Congress) ในทุกๆ ระดับ และสำหรับ คองเกรสของประชาชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๗, มีผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งเพียงไม่กี่คน, ซึ่งส่อให้เห็นถึงปัญหาการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการปกครอง.
ในช่วง ๓ เดือนที่สอง ในขณะดำเนินการใช้นโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการธุรกิจด้วยตัวเอง และใช้ระบบการว่าจ้างตามข้อตกลง, สิทธิประโยชน์ที่ผู้หญิงเคยได้รับในทางสังคม, เงินเดือน, การจ้างงาน, และการเลื่อนขั้น ล้วนถูกคุกคาม, ทำให้คนงานหญิงประสบปัญหาหนัก.
ในช่วง ๓ เดือนที่สาม การขาดงานให้ทำสำหรับผู้จบการศึกษาระดับมัธยม/วิทยาลัย, ผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ และผู้หญิง ต่างปะทุขึ้น. ปรากฏการณ์ใหม่นี้ เป็นการกีดขวางโอกาสของการพัฒนาศักยภาพและภูมิปัญญาของผู้หญิง.
ในช่วง ๓ เดือนที่สี่ ในขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจค่อยๆ หยั่งรากลึก และอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังเร่งแข่งขันกันเต็มอัตราทั่วประเทศ, ความฮึกเหิมยิ่ง ๆ ขึ้นของฝ่ายประกอบการ และการทวีคูณของความตึงเครียดจากภาระ ๒ บทบาทสำหรับผู้หญิง ก็ประสานงากันอย่างจัง. การเรียกร้อง “งาน-เงินเท่าเทียมกัน” ได้ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในแง่ที่ว่า ผู้หญิงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับงานที่กำหนดให้ และผู้หญิงที่กลับเข้าทำงานหลังคลอด จะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ. ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้หญิงบางคน ตัดสินใจลาออกและกลับบ้าน. แต่คนทั่วไป จะตีความหมายว่า นี่ไม่ใช่แรงกดดันจากสังคม แต่เป็นการตัดสินใจเลือกของผู้หญิง.
สิ่งที่น่าขมขื่น คือ แรงกดดันที่ผู้หญิงต้องทนแบกมาตลอด ตอนนี้ และต่อไป ไม่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคม; แต่ถูกอธิบายว่า เป็นเพียง ปัญหาส่วนตัว. การที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าสังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่ทำให้เกิดผลใดๆ. ความสมดุลของความยุติธรรม ไม่เคยเป็นพลังการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่ความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์. ถ้าเพียงแต่ต้องการจะเผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต, ก็จะเห็นได้ว่าปัญหาของผู้หญิงที่ปะทุขึ้น แท้จริงเป็นหนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมหลายๆ ประการ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิรูป (เช่น แรงงานส่วนเกิน, อัตราการผลิตของแรงงาน ฯลฯ). ผู้หญิง จึงเป็นเหมือน “ก้อนหินหัวมุมของการก่อกำแพง” ของการพัฒนาสมรรถภาพการผลิตของสังคม. ในประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้ และในความเป็นจริง ก็เป็นเช่นนี้. ไม่น่าประหลาดใจที่ว่าเอกสารทางสังคมวิทยาที่ได้รับการยกย่องต่างไม่ยินดีที่จะลงพิมพ์ประเด็นผู้หญิง, เพราะว่า การพูดถึงการปลดแอกของผู้หญิงมากเกินไป ณ เวลานี้ จะทำให้ถูกตีความหมายว่า ปัญหาผู้หญิงกำลังขัดขวางการปฏิรูปของสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ. นี่หมายความว่า ผู้หญิงจีน, ที่ทำงานหนักมาตลอดเพื่อให้สังคมยอมรับว่าผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม, ไม่สามารถพูดอะไรมากไปกว่าแค่ยอมรับ ว่าประเด็นผู้หญิงในกระแสของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ได้ถูกสังคมทอดทิ้งไปเสียแล้ว. ประเด็นเหล่านี้ เป็นปัญหาจริงที่ผู้หญิงประสบ แต่มันได้กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีนัยสำคัญทางสังคมวิทยา.
อะไรคือประเด็นที่แท้จริง?
การอภิปรายประเด็นผู้หญิงในอดีต มักจะวนเวียนอยู่ที่ว่าผู้หญิงต้องทนรับการกดขี่ ข่มเหง, การเลือกปฏิบัติ, และการเป็นข้าทาส; เรื่องเหล่านี้ เป็นซากเดนที่อันตรายของระบบศักดินาและผลผลิตของการขูดรีดของระบบทุนนิยม. พูดง่ายๆ คือ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของผู้หญิงทำงานหาเลี้ยงชีพ, และก็อาจจัดได้ว่าเป็นปัญหาของชนชั้น.
แต่ปัจจุบัน ประเด็นชนชั้นในจีนและในโลกก็เริ่มเบาบางไปมากแล้ว, ประเด็นผู้หญิงก็ได้ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น. มันเริ่มปรากฏไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของคนงานหญิงและผู้หญิงทั้งหลายที่ทำงาน, แต่ในชีวิตของผู้หญิงในทุกชนชั้น, และในทุกๆ ด้านของชีวิตจริงของผู้หญิง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศจีนปัจจุบัน, ปัญหาผู้หญิงประดังเข้ามาทุกด้าน, ทำให้ผู้ที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงรู้สึกว่าตกอยู่ในภาวะวิกฤต.
เป็นการยากที่จะปฏิเสธ, แม้แต่ผู้หญิงจีนที่คุ้นเคยกับ คำขวัญที่ว่า “สังคมนิยมปลดแอกผู้หญิง”, ว่า วิกฤตเกิดขึ้นแล้ว. ถ้าเราใช้ “ความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง” เป็นบรรทัดฐานในการวัดความทุกข์ร้อนจริงของผู้หญิง, จะพบว่าการปลดแอกของหญิงจีนดูเหมือนจะเดินถอยหลัง. ใน “กระแสน้ำที่ไหลย้อนกลับ” เช่นนี้, ทฤษฎีว่าด้วยการปลดแอกผู้หญิง, ที่เหมือนเสียงเจื้อยแจ้วของนกแก้ว แต่ไม่เคยถูกทดสอบและไม่เคยถูกวิจัยในระดับลึก, ดูเหมือนจะหมดกำลังลง. เจ้าความอ่อนแอของทฤษฎีอันเป็นที่ยอมรับทั่วไปนี้แหละ ที่ทำให้พวกเราต้องเผชิญหน้ากับความจริงของสังคมจีน และความจริงของผู้หญิงจีน, เราจึงต้องเริ่มตรวจสอบด้วยจิตสำนึกถึงปัญหาสะท้านแผ่นดินของผู้หญิง. ว่ามันเป็นปัญหาจริงหรือ, ถ้าใช่, เป็นปัญหาประเภทใด?
ประเด็นที่ ๑ เมื่อผู้หญิงจากหมู่บ้าน ต้าจิว กลับคืนสู่เหย้า
ปรากฏการณ์ของหญิงชาวบ้านต้าจิว เกิดขึ้นคู่ขนานกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านต้าจิว. หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี, ปัจจุบัน ต้าจิวได้ดึงดูดความสนใจจากทั่วประเทศ. สิ่งที่ทำให้ต้าจิวมีชื่อเสียง ไม่ใช่ความก้าวหน้าสู่ความมั่งคั่ง แต่เป็นเรื่อง “การกลับสู่เหย้าของผู้หญิง”. ดูเหมือนต้าจิวจะได้กลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง, ที่ดึงดูดความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ และความตื่นตระหนกของผู้หญิงทั่วประเทศ. ปรากฏการณ์การกลับบ้านของผู้หญิง เกิดขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ: เพื่อดูแลเรื่องความต้องการของผู้ชาย ให้พร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันระดับสูง, และแบ่งเบาภาระของผู้หญิงที่ต้องแบกสองบทบาท. ในขณะเดียวกัน ก็ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคอุตสาหกรรมในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง, และเป็นการสร้างความมั่นคงในสังคม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย. กล่าวโดยย่อ คือ การกลับบ้านของผู้หญิง เป็นการช่วยให้ผู้ชายสามารถทำงานสุดความสามารถ และลดแรงกดดันในชีวิตของผู้หญิง. ถ้ามองง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องการอยู่รอดระดับพื้นฐาน และเพียงเพื่อให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคพอเพียง รวมทั้งลดภาระของผู้หญิงเท่านั้น, ก็อาจสรุปได้ว่า ไม่มีปัญหาอะไร—ทั้งสำหรับสังคม และสำหรับตัวผู้หญิง.
แต่ในมุมมองของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาส่วนตัวของผู้หญิง, ปัญหาเริ่มปรากฏชัด. รูปแบบที่พึงประสงค์ของการกลับบ้านของผู้หญิง เป็นสัญลักษณ์ของการกลับคืนสู่บทบาทดั้งเดิม ที่ทำให้ผู้หญิงปัจจุบันต้องแบกภาระ ๒ บทบาท. ถ้าจะพูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ การบังคับให้ผู้หญิงต้องทนสำลักในบรรยากาศที่จำกัดคุณค่าของความเป็นคนของตน, เป็นราคาที่ผู้หญิงจะต้องจ่ายเพื่อให้ผู้ชายได้ตระหนักและบรรลุถึงคุณค่าทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ของเขา. นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่; ประวัติศาสตร์ เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด.
ประเด็นที่ ๒ ลีจิง: คนงานหญิงที่ถูกลอยแพและกำลังรองานใหม่
การลอยแพคนงานเป็นนโยบายท้องถิ่น. ไม่มีกฎหมาย, เอกสาร หรือกฎระเบียบรองรับ, และก็ไม่มีหนังสือพิมพ์ หรือนักวิชาการคนใดสนับสนุนอย่างเปิดเผย, แต่ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวของสถานประกอบการสู่การจัดการบริหารดูแลตัวเอง. ลีจิง เป็นคนงานหญิงคนหนึ่งที่ถูกลอยแพ. เธอเล่าชีวิตการดิ้นรนไต่เต้าจากเด็กสู่ผู้ใหญ่. ในระดับส่วนตัว โชคของเธอไม่ดี: การปฏิรูปอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ และประสบปัญหาความตึงเครียดสองบทบาท. ถ้าการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สักหน่อย, ปัญหาการลอยแพอาจไม่กระทบกระเทือนเธอมากขนาดนี้. แต่การคลอดและการเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้หญิงคนใดจะเป็นอิสระจากมันได้ (ไม่ว่าจะเป็นคนงานในโรงงานหรือชาวนา).
ภาคอุตสาหกรรมได้ประสบปัญหานี้มาก่อนผู้หญิง และได้แก้ไขปัญหานี้อย่างแนบเนียน. เพื่อลดแรงกดดันและต้นทุนการผลิต, โรงงานได้บังคับให้หญิงมีครรภ์ทั้งหลายอยู่ในกลุ่มผู้ตกงาน. เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการนี้ เหมาะสมกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ: มันช่วยในภาคอุตสาหกรรมอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้, แล้วยังไม่คุกคามความอยู่รอดของผู้หญิง. นโยบายการลอยแพและรองานใหม่นี้เป็นกลยุทธ์อันหนึ่งในการลดทอนการว่าจ้างเกินจำเป็น และช่วยให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็วขึ้น. เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นทางสองแพร่งที่สำคัญเท่ากัน ซึ่งสังคมต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง; ในทางตรงข้าม, กลับถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาสองแพร่งของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ. ดังนั้น ทำไมจะต้องไปตั้งโจทย์ว่าเป็นประเด็นผู้หญิง?
ขอยกตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์ลึกขึ้น. หญิงชาวบ้านต้าจิวกลับบ้านไปแล้วไม่ได้ทำงานอย่างอื่น นอกเหนือจากงานในครัวเรือน, แต่พวกเธอก็ไม่ได้ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจ. แต่ผู้หญิง เช่น ลีจิง รับไม่ได้กับการถูกลอยแพและต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว, แม้ว่าเธอจะยังได้รับเงินเดือนถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่. ทำไม? เพราะว่ายังมีผู้หญิงส่วนใหญ่, เช่นเดียวกับ ลีจิง, ที่มีการศึกษาพอสมควร และได้ลิ้มรสการมีโอกาสพัฒนาตัวเอง. มันเป็นไปไม่ได้ที่พวกเธอจะย้อนกลับไปสู่สภาพของการไร้การศึกษา, พอใจกับการมีชีวิตผ่านไปวัน ๆ อยู่ดี กินดี นอนหลับได้ และมีคนอื่นดูแล คุ้มครอง. พวกเธอได้ลิ้มรสของความคาดหวังที่จะช่วงชิงโอกาสของการไต่เต้าสู่ความก้าวหน้าเช่นเดียวกับชาย และ, แม้จะต้องทำงานหนัก, ได้บรรลุความต้องการที่จะได้รับการยอมรับถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์คนหนึ่งของตน. ถ้ามองจากมุมนี้ ก็จะเห็นได้ว่าปัญหาที่ผู้ถูกลอยแพเช่น ลีจิง ประสบ ไม่ใช่เป็นประเด็นของการอยู่รอดของผู้หญิง แต่เป็นความต้องการโอกาสในการพัฒนาความเป็นคน ๆ หนึ่งของสังคม.
ประการที่ ๓ หญิงที่จบระดับวิทยาลัยหางานทำยาก
ปีที่ผ่านมา เด็กสาวที่สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยจากทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ต่างหางานทำได้ยาก. หลังจากเหตุการณ์ ข่าวอื้อฉาวของการปฏิเสธรับกลับเข้าทำงานต่อของ หัว เป่าจิน, ศิษย์เก่าจากโรงเรียนการพาณิชย์แห่งปักกิ่ง, ได้มีการสอบสวน. พบว่า อุปสรรคการจ้างงาน ไม่เพียงแต่มาจากการฟื้นกลับมาของอคติดั้งเดิมที่ว่า ชายอยู่เหนือกว่าหญิง แต่เป็นเพราะช่องว่างระหว่างเป้าหมายการปฏิรูป กับสภาวะของผู้หญิง ในที่ทำงาน.
ในด้านนี้ ผู้หญิงย่อมอยู่ในฐานะด้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว—ในเรื่องของคะแนน, ความสามารถ ฯลฯ—รวมทั้งข้อสรุปที่ว่า ชายและหญิงเท่าเทียมกันแล้ว ก็ควรถูกพิจารณาและปฏิบัติต่อเหมือนๆ กัน. แต่สังคมจะต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถลบล้างไปได้: ชายดูเหมือนจะเหนือกว่าในด้านการผลิต และผู้หญิงมีภาระหนักกว่าในสองบทบาท.
ไม่ว่าผู้หญิงจะเรียนได้คะแนนดีเพียงไร หรือเก่งแค่ไหน, ช่วงเวลาในชีวิตเริ่มทำงาน เป็นช่วงเดียวกับช่วงอายุการแต่งงาน. การมีความรักและสร้างครอบครัวเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการไต่เต้าในหน้าที่การงาน. ความที่สังคมยังยากจน ไม่มีกำลังการผลิตสูงพอ และผลคือ ไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอที่จะกระจายให้พอเพียงกับความต้องการของทุกคนได้, ก็เป็นการยากที่จะมีผู้ประกอบการคนใดคนหนึ่งยินดีที่จะรับภาระนี้ ในการให้เวลา บุคลากร และทรัพยากรที่จำกัด เพื่อให้คนงานหญิงลาพักไปคลอดบุตร. ตราบใดที่สังคมยังไม่มีมาตรการประกันสังคมสากล ที่คอยดูแลความต้องการของหญิงมีครรภ์, การเรียกร้องให้ผู้จ้างรับผู้หญิงมากขึ้น ก็เป็นการไม่ยุติธรรมเช่นกัน.
เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้มีการศึกษาสูง เป็นสัดส่วนที่น้อยมากในหมู่ประชากรจีน. มองจากระดับมหภาค, ปัญหาการไม่มีงานทำของผู้หญิงที่จบวิทยาลัย ไม่น่าจะเป็นไปได้. แต่ในการวิเคราะห์สุดท้าย เกิดคำถามว่า, อะไรคือประเด็นที่แท้จริง? มันไม่ใช่แค่ตรงสถานที่การจ้างงาน, แล้วก็ไม่ใช่เรื่องของความอยู่รอด. แต่มันเป็นปัญหาการพัฒนาของผู้หญิง. ข้อบังคับในการทำงาน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในโอกาสการทำงานระหว่างหญิงและชาย, และเพราะเหตุนี้ที่นำไปสู่อุปสรรคต่างๆ นานาที่ขัดขวางโอกาสของผู้หญิงในการพัฒนาตัวเองและภูมิปัญญาของตน.
ประเด็นที่ ๔ โจทย์เรื่องผู้หญิงในการเมือง
การมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในรัฐบาล, ก็เหมือนปรากฏการณ์ทางการเมืองอื่นๆ, เป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อน. หญิงจีนถูกปลุกให้ตื่นขึ้น หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งในคองเกรสพรรค ครั้งที่ ๑๓ และจากการปฏิรูปโครงสร้างของรัฐบาลในทุกระดับ, ประเด็นผู้หญิงกับการเมือง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกผู้หญิง. สหพันธ์สตรีฯ มีปฏิกิริยาที่ดุเดือด, แต่ปฏิกิริยาของผู้หญิงทั่วไปในสังคมกลับเฉยเมย—เหมือนเช่นอดีตที่เป็นมา.
ก่อนอื่นต้องขอชี้แจง ๓ ประเด็นให้ชัดเจน: (๑) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและการเมือง; (๒) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในระบบราชการและการปลดแอกผู้หญิง; และ (๓) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงที่กุมอำนาจทางการเมืองและความสนใจ/ผลประโยชน์ของผู้หญิงทั้งมวล. บทความสั้นๆ นี้ ไม่สามารถจาระไนอย่างละเอียดถึงความสัมพันธ์และความแตกต่างของประเด็นเหล่านี้, จะขออธิบายย่อ ๆ พอเป็นเค้าโครง.
ประการแรก, แม้ว่าผู้ชายจะเป็นผู้กุมบังเหียนของรัฐบาล, แต่ก็ไม่ได้กีดกั้นผลประโยชน์ต่อผู้หญิงเสียทั้งหมด. ก็เหมือนกับคำโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเรื่อง “ความเสมอภาค” ที่มีแหล่งกำเนิดจากชนชั้นกลาง ที่ครอบคลุมถึงความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายไว้ด้วย, ดังนั้น มันจึงเป็นการปฏิวัติสังคมนิยมอันหนึ่ง, ซึ่งตรงกันข้ามกับสตรีนิยม ที่เน้นสิทธิสตรี [สตรีนิยมชนชั้นกลาง], ที่นำการปลดแอกทางการเมืองสู่มวลสตรี. นี่ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว แต่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์.
ประการที่สอง, สัญลักษณ์ขั้นรากฐานของการปลดแอกของผู้หญิงในวงการการเมือง คือการมีผู้หญิงเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในระบบการเมือง. แต่เรายังไม่เคยเห็นความตื่นตัวของผู้หญิงในทุกภาคส่วนของสังคม สู่จิตสำนึกว่า ตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม หรือจิตสำนึกของระบบอบประชาธิปไตย. หรือไม่เคยเห็นผู้หญิงจำนวนมากที่ให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง. เมื่อเป็นเช่นนั้น, อาจเป็นไปได้ว่า, ประเด็นที่ว่า มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งสูง เป็นเรื่องเสแสร้ง. ถ้าจะพูดให้ชัด ๆ ในกรอบของการเมือง, การพึ่งนโยบายทางสังคมให้ระบุถึงสัดส่วนผู้หญิงนั้น เป็นการล้อเล่นกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย. มันเป็นเสมือนการแจกของฟรีจากรัฐบาลแก่ผู้หญิง, ไม่ใช่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงของผู้หญิง. นี่ไม่ใช่แค่ความเห็นส่วนตัวเช่นกัน แต่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์.
ประการที่สาม, ผู้หญิงที่มีส่วนร่วมทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งผู้นำแบบปัจเจก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้หญิงในลักษณะองค์รวม. ในประวัติศาสตร์, เมื่อประมุขของรัฐ เช่น บูเช็กเทียน, ควีนวิกตอเรีย, และจักรพรรดินี แคเธอรีน ขึ้นครองอำนาจสูงสุด, ไม่ได้หมายความว่า ผู้หญิงได้เข้าถึงอำนาจการเมืองที่ล้นหลาม. ตัวเลขและระดับตำแหน่งของผู้หญิงในระบบการเมือง แน่นอน ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดสถานภาพทางการเมืองของผู้หญิง เมื่อนักการเมืองหญิงเหล่านั้น ขาดจิตสำนึกร่วมสมัย (collective consciousness).
ถ้าเราสามารถแยกแยะประเด็นทั้งสาม ในกรอบของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในสังคมจีนปัจจุบันได้, เราจะเห็นธรรมชาติของตัวปัญหาชัดขึ้น: ความเฉยเมยของผู้หญิงส่วนใหญ่ในการมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งสมดุลกับ การขาดจิตสำนึกร่วมสมัยของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบการเมืองการปกครอง. นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหม่เช่นกัน, แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งทุบ “ชามข้าวเหล็ก”, และก็เป็นภาพสะท้อนออกจากเวทีการเมือง ในลักษณะปัญหาร้อยแปด อันเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงาน และการพัฒนาของผู้หญิง. ปัญหาที่เรียกกันว่า “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง” เกิดขึ้นก็เพราะการริเริ่มให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย. ด้วยเหตุนี้, มันไม่ใช่ปัญหาในสังคม; ในทางตรงข้าม, มันเป็นผลของแรงกดดันล่องหนของสังคมต่อการพัฒนาศักยภาพของตนเองของผู้หญิง.
ประเด็นที่ ๕ โจทย์ของการปฏิรูปองค์กรสตรี
เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรสตรีทั้งหลาย ดังมาจากภายในสหพันธ์สตรีฯ เป็นหลัก. ความไม่สนใจที่แสดงออกโดยทุกภาคส่วนของสังคมจีนต่อสหพันธ์สตรีฯ รวมทั้งความเย็นชาของผู้หญิงทั้งหลายต่อสหพันธ์ฯ มีมานานแล้ว. นี่เป็นแรงกดดันสองด้าน ทั้งจากภายในและภายนอก, คุกคามความอยู่รอดขององค์กรสตรีทั้งปวง. สหพันธ์สตรีฯ สามารถดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ด้วยความคุ้มครองจากรัฐบาล, แต่เป็นการยากที่สหพันธ์ฯ จะหาพื้นที่ของตัวเองเพื่อทำการพัฒนาในสังคม.
ถ้าคุณไม่เชื่อ, ขอให้ลองตอบคำถามต่อไปนี้: สหพันธ์สตรีฯ เช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มีเหตุผลพิเศษอะไรที่จะช่วยอธิบายว่ามันควรจะดำรงอยู่ต่อไป? เราลองมาทดสอบกัน, เราสามารถจะพิมพ์เอกสารประกาศว่า ต่อไปนี้ เราจะสลายตัวสหพันธ์สตรีฯ ในทุกๆระดับ. แม้ว่าเราจะสามารถทำการสลายตัวภายในเวลาเพียง ๑ วัน, จะมีผลกระทบอย่างไรต่อการผลิตทางสังคม? เครื่องจักรกลต่างๆ ก็ยังเดินเครื่องได้เป็นปกติ; ดวงไฟก็ยังส่องแสงสว่าง; ครอบครัวต่างๆ ก็จะเข้านอนอย่างสงบ; วันรุ่งขึ้น ดวงอาทิตย์ก็ยังขึ้นจากฟากฟ้าเหมือนเดิม. แม้ว่าทีมกำลังบางคนของสหพันธ์ฯ จะตั้งตัวเป็นตัวแทนปากเสียงของผู้หญิงทั้งหลาย เดินทางไปยื่นคำร้องทุกข์ถึงปักกิ่ง, ผู้หญิงทั่วไปก็คงมองว่าเป็นเรื่องตลก, และก็สมมติไปเองว่าเป็นการจัดฉากของคนบางคน “พวกที่กินข้าวของผู้หญิง” ผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือตกงานเอง.
ในท่ามกลางการปฏิรูปปัจจุบัน, สิ่งที่ควรจะทำ คือ ไม่ใช่มาทบทวนประเมินผลงานของสหพันธ์ฯ. การคัดค้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน, การชักชวน ส่งเสริมให้ผู้หญิงออกมาจากเหย้า, การคุมครองสิทธิที่พึงได้และผลประโยชน์ของผู้หญิง: ถึงตอนนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งนับผลงานเป็นรายตัว. สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ทุกๆ คนเข้าใจดี. ก็เพราะการรณรงค์จนสัมฤทธิ์ผลเหล่านี้แหละ ที่ทำให้สหพันธ์ฯ มีตัวตน ที่แผ่ขยายและครอบคลุมไปทั่ว และมีหลักประกันว่า, โดยวิถีชามข้าวเหล็กของระบอบสังคมนิยม, สหพันธ์ฯ จะยืนยงดำรงอยู่ต่อไปจวบจนปัจจุบัน. ขอกล่าวย้ำว่า การดำรงอยู่ของสหพันธ์สตรีฯ และความจริงที่ว่าสหพันธ์ฯ ได้ครอบคลุมไปทั่วนั้น เป็นเรื่องที่หญิงชาวจีนทั้งหลายควรจะภาคภูมิใจ. อย่างน้อย มันก็ได้ช่วยธำรงไว้ซึ่งผลของการปลดแอกที่หญิงชาวจีนได้รับชัยชนะมาแล้ว. ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ไม่ควรจะสลายสหพันธ์สตรีฯ. แม้แต่การเอ่ยแนะนำว่าควรสลายสหพันธ์ฯ ก็นับว่าเป็นการก่ออาชญากรรมเงียบต่อประวัติศาสตร์: ไม่ใช่ต่ออดีต แต่ต่ออนาคต.
ทำไม? เพราะว่าผู้หญิงไม่มีอภิสิทธิ์เท่าเทียมกับชาย ในการรวมกลุ่มเป็นหมู่คณะ ในสังคมที่ชายเป็นจุดศูนย์กลาง, และหญิงจีนทั้งมวลก็มีปัญหาของตน ที่แตกต่างกับปัญหาสังคมทั่วๆ ไป. ในกระแสของการปฏิรูปเศรษฐกิจ, ปัญหาผู้หญิงไม่ได้ถูกลดทอน แต่กลับเข้มข้นขึ้น. สภาพเช่นนี้ เป็นตัวเรียกร้องเองว่า มีความจำเป็นที่องค์กรสตรีต่าง ๆ จะยังคงอยู่และพัฒนาต่อไป. แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน สหพันธ์สตรีฯ อยู่ในฐานะอิหลักอิเหลื่อ ที่ถูกปฏิเสธโดยทั้งสังคมและผู้หญิงทั่วไป. เรามาลองมองย้อนหลัง ซึ่งไม่น่าจะเป็นอันตรายอย่างไร.
ความทรงจำ ๑
หลังจากปี 1978 (๒๕๒๑), เมื่อปัญหาผู้หญิงเริ่มปะทุขึ้น พร้อมกับการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัว และกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการสมรส, สหพันธ์สตรีฯ ได้ทำงานอย่างกระตือรือร้น ในนามของการปกป้องสิทธิอันพึงได้และผลประโยชน์ของผู้หญิงและเด็ก. แต่ในขณะที่ “รณรงค์เพื่อปกป้องครอบครัว”, ทีมกำลังหลายคนของสหพันธ์ฯ ได้ยื่นคำร้องให้แก้ไขกฎหมายในนามของผู้หญิงที่ถูกคู่สมรสทอดทิ้ง. การเน้นที่รักษาการแต่งงานที่พังพินาศแล้ว เป็นการกระทำตรงข้ามกับเจตจำนงที่ระบุไว้ในกฎหมายใหม่ว่าด้วยการสมรส. สหพันธ์ฯ ได้ให้การสนับสนุน “จิน เซียงเหลียน” โดยใช้วลีเช่น “ประเสริฐ, อยู่เหย้า, เป็นที่สอง”, และ “เพศหญิงเป็นใหญ่”; ทำไมที่ไม่เพียงแต่ผู้ชายทำหน้าไม่เห็นด้วย ผู้หญิงเองก็ทำเสียงฮึดฮัดไม่พอใจ?
ความทรงจำ ๒
สหพันธ์ฯ ได้พยายามขัดขวางแนวโน้มที่สถานประกอบการจะขจัดคนงานหญิง และปฏิเสธที่จะรับคนงานหญิงใหม่, แต่ความพยายามเหล่านี้ ก็เหมือน ตักแตนที่ยืนพนมมือหยุดรถม้าศึก. การรณรงค์ครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเพื่อผลประโยชน์ของผู้หญิงทั้งมวล, แต่ก็ไม่ไปถึงไหน ในการแก้ปัญหาตามความเป็นจริงที่ผู้หญิงประสบ. องค์กรเช่นสหพันธ์ฯ เป็นประเภทที่แม้แต่ผู้หญิงที่อ่อนแอที่สุดก็ไม่ยินดีที่จะเข้าร่วมด้วย.
ความทรงจำ ๓
หลังจากที่ผู้หญิงพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมัยที่ ๑๓ ของคองเกรสพรรค, การปกครองท้องถิ่นในทุกๆ ระดับ ก็สูญเสียผู้แทนหญิงด้วย. เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้สหพันธ์รู้สึกฉุน. สหพันธ์ฯ เป็นคนแรกที่ยื่นข้อเสนอให้กำหนดสัดส่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีผู้หญิงได้ เข้าดำรงตำแหน่งด้วย. การกำหนดสัดส่วนที่มีอยู่ตอนนี้ ก็น่าจะใช้ได้ (มีคนแนะนำว่า น่าจะกำหนดสัดส่วนสำหรับกลุ่มสังคมต่างๆ ด้วย), แต่มันขัดกับหลักการของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย. ถ้ายืดมาตรการการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้หญิงในภาครัฐ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามสัดส่วนที่บังคับ, ก็จะเกิดการบิดเบือน ๒ ประการ. ในวิถีของการปฏิรูป, เจ้าหน้าที่ที่ไม่เหมาะสม [ผู้ซึ่งจะยังคงอยู่ต่อไปในตำแหน่งเพราะสัดส่วนบังคับ] เป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม, และนั่นก็เป็นการไม่ยุติธรรมต่อสังคมด้วย. ในทำนองเดียวกัน, ผู้หญิงแต่ละคนที่เลือกมาจากบางกลุ่ม ก็มักจะเป็นตัวแทนแค่ผลประโยชน์ของกลุ่มตน—แล้วใครเล่าที่จะทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้หญิงส่วนรวม?
ถ้าเรายอมรับว่า การปฏิรูปของสังคม ก็เป็นการแปรเปลี่ยนสำหรับผู้หญิงด้วย, ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องนำมาซึ่งการปรับปรุงที่ดีขึ้นในมาตรฐานการครองชีพของผู้หญิง และคุณภาพของการศึกษา, แล้วทำไมเราต้องเปลืองตัวไปเรียกร้องในนามของผู้หญิง? และทำไมเราจะต้องไปห่วงใยกับสถานภาพของสหพันธ์สตรีฯ?
คำถามเรื่องการปฏิรูปองค์กรสตรี เห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่ปัญหาสังคมที่สะเทือนสังคมส่วนใหญ่ แต่เป็นธุระของผู้หญิงเอง. คำถามคือ การพัฒนาร่วมแบบหมู่คณะ: ประการแรก, เกี่ยวกับการที่ผู้หญิงจะชูและปกป้องผลประโยชน์ร่วม (collective interests) ของผู้หญิง เมื่อประจันหน้ากับแรงกดดันของการปฏิรูป, และ ประการที่สอง, เกี่ยวกับการสร้างความมั่นใจว่า โครงสร้างขององค์กรสตรี จะสะท้อนถึงระดับการมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงโดยรวม.
ในประเทศของเรา, ภายในช่วงเวลาอีกสักระยะหนึ่ง ประเด็นที่จะให้กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “เพศหญิง” จะปรากฏตัวออกมาในทุกๆ สี และทุกๆ เงา รวมทั้งเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน, และก็จะเป็นการยากที่จะกำหนดขอบเขตของมัน. ผู้หญิงในทุกชนชั้น จะมีประเด็นคับขันของตน ไม่จำเป็นที่จะสอดคล้องหรือเสริมรับกันและกันระหว่างบุคคล/ชนชั้น และอาจจะขัดแย้งกันด้วยซ้ำ. แต่จะมีฐานร่วมกันอย่างหนึ่ง: ไม่มีปัญหาใดๆ ของผู้หญิงเหล่านี้ ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสังคม หรือสร้างความเสื่อมสลายให้กับสังคม; มันไม่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมรุนแรงขึ้น และ อาจจะเป็นผลของการลดความขัดแย้งอื่น ๆ. ด้วยเหตุนี้ ปัญหาผู้หญิงเหล่านี้ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็นปัญหาสังคม แต่ถูกเรียกว่าเป็น “กิจสตรี” (women’s affairs). มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองของผู้หญิงหลังจากที่จิตสำนึกของเธอถูกปลุกให้ตื่นขึ้น เริ่มรู้สึกถึงความมีตัวตนว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน และเริ่มเรียกร้องการตระหนักรู้ถึงคุณค่าทางสังคมของตน.
ในทางตรรกะ, การพัฒนาสตรี และการพัฒนาสังคมน่าจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้. แต่ทำไมในประเทศของเรา, ในท่ามกลางการปฏิรูปเศรษฐกิจ, การพัฒนาสังคม และการพัฒนาสตรี จึงเกิดการงัดข้อกันอย่างแรง? หรือว่า การพัฒนาสังคม และการพัฒนาสตรี จะต้องแยกขาดจากกันที่จุดใดจุดหนึ่ง?
หัวใจของประเด็นอยู่ที่ไหน?
เพื่อตอบคำถามนี้ เราจะต้องแตะทฤษฎีพื้นฐานอยู่ ๒ จุด. หนึ่ง คือ ธรรมชาติของการปลดแอกผู้หญิง, และสอง คือ คุณลักษณะพิเศษของการปลดแอกผู้หญิงจีน.
คำถามทางทฤษฎีข้อ ๑: อะไรคือธรรมชาติของการปลดแอกผู้หญิง?
ทำไมเราถึงต้องการปลดแอกผู้หญิง? พวกเราได้เกิดความเคยชินต่อการพูดว่า “ผู้หญิงก็เป็นคนเหมือนกัน”, เหมือนกับว่า หลักการของความเป็นธรรมเป็นตัวละครเอกในโลกของความเป็นจริง. ดังนั้น, การปลดแอกหรือปลดปล่อยให้มนุษยชาติเป็นอิสระ ควรที่จะ ปลดปล่อยผู้หญิงด้วย; มนุษยชาติก็คงจะใช้หลักการอุดมคติ ในการแบ่งโลกออกอย่างเท่าเทียมกัน. ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง, การปลดแอกผู้หญิงก็หมายถึงการดูดกลืนผู้หญิงเข้าไปในโลกที่แต่แรกเป็นโลกของผู้ชาย, และความเสมอภาคของเพศชายและเพศหญิง ก็ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกของผู้หญิง. นี่เป็นภาพที่ผู้ชายมองเห็น, และเชื่อว่าการปลดแอกผู้หญิง จะยกสถานภาพของผู้หญิง เพียงแต่ว่า ผู้ชายยังคงเป็นใหญ่และเป็นมาตรฐานสังคม. ผู้หญิงก็เห็นภาพนี้เช่นกัน; ผู้หญิงเชื่อว่า การปลดแอกผู้หญิงก็เป็นเพียงความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง, และพวกเธอก็จะพยายามใช้มาตรฐานของเพศชาย (หรือที่เรียกกันว่า มาตรฐานของสังคม) ในการพิพากษาผู้หญิงกันเอง.
นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้นหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้น, การปลดแอกของผู้หญิงก็เป็นเพียงผลพลอยได้ จากการพัฒนาของสังคม; มันเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาตัวเองในสังคมที่มีชายเป็นจุดศูนย์กลาง. การปลดแอกของผู้หญิงก็จะไม่มีธาตุแห่งการช่วยปลดแอกของมนุษยชาติ, ในทางตรงกันข้าม กลับจะสร้างภาระหนักให้แก่มนุษยชาติในการแสวงหาอิสรภาพที่ต้องมีการพัฒนาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น. นี่เป็นการสร้างภาระที่หนักอึ้งให้แก่สังคม และแก่ผู้รับผิดชอบ (ผู้ชาย). ตราบเท่าที่สังคมยังไม่สามารถก้าวพ้นอิทธิพลของความกลัวเรื่องความอยู่รอด, การปลดแอกของผู้หญิงก็ยังคงเป็นเรื่องเลื่อนลอย. เสียงบ่นของผู้ชายจีนปัจจุบัน และบรรยากาศทั่วไปของการร้องทุกข์เกี่ยวกับการทำงานในครัวเรือนที่มีหัวหน้าครอบครัวสองคน ย่อมไม่ใช่เป็นเพียงเสียงกระซิบ!
คำถามทางทฤษฎีข้อที่ ๒: อะไรเป็นลักษณะพิเศษของการปลดแอกของผู้หญิงจีน?
หลังจาก ๔ พฤษภาคม ประเทศจีนพบว่าตัวเองยืนอยู่ในโลกที่เปิดกว้าง, และได้หลุดออกจากการแยกตัวพัฒนาวัฒนธรรมของตัวเอง. ในเวลานั้น กระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกประดังเข้ามา รวมทั้งอิทธิพลและการแทรกซึมของวัฒนธรรมต่าง ๆ. การปฏิวัติสังคมนิยมก็เป็นกระแสหนึ่ง.
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา, การปลดแอกทางสังคมสำหรับผู้หญิงในประเทศของเรา ได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่เข้มข้น; มันได้ฝังตัวในระบบนิติบัญญัติ และในชีวิตประจำวัน. การแสดงออกของผู้หญิงเอง คือการตื่นตัวและการปฏิบัติในการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่. เราต้องยอมรับ, เมื่อเทียบกับสถานภาพของผู้หญิงในโลกตะวันตก, ว่าสถานภาพของผู้หญิงจีนในการมีชีวิตอิสระในสังคม และระดับของการถูกยกย่องโดยสังคม มีค่อนข้างสูง. จะเห็นได้จาก
- สังคมกูเรียกให้ผู้หญิงออกมาร่วมเป็นแรงงานการผลิต
- โครงสร้างทางสังคมได้มีหลักประกันว่า ชายและหญิง จะได้รับเงินเดือนเท่ากันสำหรับงานประเภทเดียวกัน
- กฎหมายระบุชัดถึงสิทธิเสมอภาคของชายและหญิง
- มีนโยบายรัฐต่าง ๆ ที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้หญิง
- พรรคสังคมนิยมที่เป็นรัฐบาล ช่วยเหลือผู้หญิงถึงขนาดช่วยก่อตั้งและพัฒนาองค์กรผู้หญิง
ในครรลองของการขจัดความเหลื่อมล้ำในชนชั้น และทำลายช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน เพื่อธำรงมาตรฐานการดำรงชีพ และเพื่อจัดสรรให้คนทุกคนในสังคมทั้งหมดมีปัจจัย ๔ ขั้นพื้นฐาน, เจตนารมณ์เหล่านี้ควรจะได้บรรลุ, หรือว่าได้บรรลุแล้ว.
แต่ถ้าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทางสังคม ไม่ได้มาจากอุดมคติของสังคมนิยม (หลักการความเสมอภาค) แต่มาจากวาระที่ต้องการจะพัฒนาสมรรถภาพการผลิตของสังคมแล้ว, คำถามก็จะถูกย้ายไปสู่คำตอบอีกชุดหนึ่ง.
- การพัฒนากำลังการผลิตที่เน้นการแข่งขัน ย่อมจะเลือกผู้ชาย, ผู้ที่สามารถรวบรวมความสามารถทั้งหมดเพื่อการผลิตให้สังคม, และปฏิเสธผู้หญิง, ผู้จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบการผลิตแรงงานคน.
- ในสถานการณ์ที่ประเทศจีนมีประชากรมหาศาล, สมรรถภาพในการผลิตไม่ใช่เพราะแรงงานไม่พอ แต่เพราะแรงงานล้นตลาด. แม้ว่าเราจะไม่มีปัญหาประชากรแล้ว และกำลังก้าวสู่สังคมที่มีความมั่นคง, ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเลือกเอาคนงานชายหนุ่ม, ไม่ใช่หญิงสาว.
- ภาระของค่าใช้จ่ายเงินสวัสดิการ ในช่วงเวลาที่กำลังผลิตต่ำ ย่อมขัดขวางความก้าวหน้าในการพัฒนาสังคม.
- เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพและศักยภาพการผลิตขั้นพื้นฐานของแรงงานชายและของแรงงานหญิงแล้ว, จะเห็นว่าหลักการที่ว่า จ่ายเท่ากันสำหรับงานอย่างเดียวกัน นั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทีเอื้อต่อวิสัยการแข่งขันของชาย และลดระดับการเข้าถึงผลประโยชน์สำหรับผู้หญิง.
- ในส่วนของผู้หญิง, การมีส่วนร่วมในด้วยการแบกภาระ ๒ บทบาท ในสังคมที่ยังมีมาตรฐานการครองชีพที่ต่ำ และกำลังการผลิตยังล้าหลัง เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถช่วยปลดแอกของผู้หญิง แต่ยังจะเป็นการเพิ่มความหนักอึ้งของภาระ. แม้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสทางสังคมที่จะมีการพัฒนาอย่างเสมอภาคกัน, เธอก็จะไม่มีกำลังเหลือพอที่จะไปเข้าร่วมกิจกรรมอื่น. ดังนั้น จึงเป็นการยากลำบากที่จะเปิดหนทางใด ๆ ที่จะช่วยให้ได้พัฒนาในระดับปัจเจกอย่างจริงจัง.
ดังนั้น การผลักดันให้มีการกระจายความเท่าเทียมกัน และปลดปล่อยผู้หญิงในระดับโครงสร้าง ในขณะที่ฐานเศรษฐกิจยังล้าหลัง จะต้องพบกับข้อจำกัดไม่เพียงแต่ในการพัฒนาสังคม แต่รวมถึงการพัฒนาของผู้หญิงเองด้วย. นี่คือราคาสำหรับการปลดแอกทางสังคมของผู้หญิง ที่ผู้หญิงทุกคนจะต้องจ่ายด้วยประสบการณ์จริงของแต่ละคน. ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางจิตใจและร่างกายกว่า ๔๐ ปี ที่มาจากความตึงเครียดเกินปกติในการแบกภาระสองบทบาทที่หนักอึ้ง, และประสบการณ์ที่ไม่ว่าผู้หญิงในประวัติศาสตร์ หรือผู้ชายในยุคปัจจุบันจะได้เคยลิ้มรส!
ในส่วนของกำลังผลิตที่ต่ำของประเทศของเรา, การปฏิรูปปัจจุบันได้กู้ความสัมพันธ์ของการผลิตให้ทำงานได้ตามความเป็นจริง และระบบการจัดองค์กรเศรษฐกิจที่แต่ก่อนถูกนักทฤษฎีวิพากษ์วิจารณ์. ระบบความรับผิดชอบในครัวเรือน, ผู้ประกอบการปัจเจก, และระบบการว่าจ้างตามข้อตกลง (รับเหมา)ในภาคอุตสาหกรรมก็เกิดขึ้นตามๆ กันมา. ตรงนี้ ไม่มีอะไรจะวิจารณ์. แต่การพัฒนาข้างเคียงที่เกิดขึ้น คือการกู้สถานภาพทางสังคมดั้งเดิมของผู้หญิง. ดูเหมือนว่าผู้หญิงจะถูกเกณฑ์ให้กลับเข้าสู่ครัวเรือน, กลับสู่สภาพแวดล้อมที่บ่งชัดถึงความไม่เสมอภาคเมื่อเทียบกับชาย. สำหรับหญิงจีน ที่คุ้นเคยกับการได้รับการยกย่องจากสังคม และ กับความเสมอภาคหญิง-ชาย ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกผู้หญิง, การกะเกณฑ์ดังกล่าวกลายเป็นคำท้าทายเกินจะยอมรับได้.
การงัดข้อกันระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาผู้หญิง จะเริ่มรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อการปฏิรูปขยายตัวมากขึ้น. เมื่อถึงจุดหนึ่ง หญิงจีนยุคปัจจุบัน จะต้องถูกบังคับให้เลือกระหว่างการพัฒนาสองทาง. ในด้านหนึ่ง เป็นแรงกดดันจากการพัฒนาสังคม. ความขัดแย้งระหว่างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และหลักการความเป็นธรรมจะมาต่อสู้กันบนเนื้อตัวของผู้หญิง. ผู้หญิงจึงถูกบีบให้กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีนัยสำคัญในเศรษฐกิจกระแสหลัก. เมื่อสถานประกอบการเลือกที่จะมองว่า หน้าที่การเจริญพันธุ์ของมนุษย์ เป็นอุปสรรคของการผลิตเพื่อสังคม ก็จะกีดกันการรับแรงงานหญิงเข้าทำงาน. ในเวลาเดียวกัน ก็มีการบัญญัติมาตรการการป้องกันผู้หญิงและสังคมท่ามกลางการแข่งขัน.
ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความต้องการลึกๆ ของผู้หญิงที่ต้องการพัฒนาตัวเอง. ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าความสัมพันธ์ของการผลิตสามารถจะจัดใหม่เพื่อให้พลังการผลิตทั้งมวลได้ถูกใช้ในช่วง “กู้ชาติ” (restoration). มีแต่จิตสำนึกของมนุษย์เท่านั้นที่ไม่สามารถผันกลับไปที่เดิมได้. บางทีการตื่นขึ้นมาแล้ว คนนั้นก็ยังสามารถนอนหลับสนิทได้อีก, แต่จะไม่ถึงกับหลับใหล และฝันเรื่อยเปื่อยเหมือนอย่างก่อนการตื่นขึ้นและรู้สึกตัว. ในที่สุด, ผู้หญิงจีนที่ได้เริ่มก้าวเข้าสู่กระแสสังคมด้วยจิตสำนึกของตัวเอง และได้รับการยอมรับโดยสังคม, ผู้ที่ได้ยืนอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับชายในสังคม, ขณะนี้กำลังตกที่นั่งลำบากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน, และพวกเธอก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากร้องขอความช่วยเหลือ ในการแสวงหา “ทางออก”.
ทางออก?
การหา “ทางออก” เป็นเรื่องเก่าที่ผู้หญิงตั้งคำถามเพื่อแสวงหาการปลดปล่อย. ผู้หญิงที่มีความเป็นตัวของตัวเอง จะเจอปัญหานี้หนัก. แต่การปลดแอกของผู้หญิงจะต้องมีปัจจัยรองรับหรือเตรียมตัวก่อน; แม้ว่าจะมีเงื่อนไขทางสังคมที่ยอมให้มีการพัฒนาทางวัตถุและวัฒนธรรมในระดับสูงก็ตาม, จะต้องมีเงื่อนไขของคนคือจิตสำนึกของตัวผู้หญิง ที่มีความอยากที่จะพัฒนา, นั่นคือ, การตื่นและสำนึกถึงความมีตัวตนของตัวผู้หญิงเอง.
ถ้าเราใช้ปัจจัยเตรียมตัวดังกล่าวเป็นเครื่องตัดสินการปลดแอกของหญิงจีน, จะเห็นว่า การปลดแอกทางสังคมของผู้หญิงจีนมีจุดอ่อน ๒ ประการ ในแง่เงื่อนไขทางวัตถุ และเงื่อนไขทางอุดมการณ์. ในแง่วัตถุ, สมรรถภาพการผลิตต่ำหมายความว่า สังคมมีปณิธานแต่ไม่มีความสามารถที่จะผลักดันให้ปลดแอกผู้หญิงได้เต็มที่. ในแง่อุดมการณ์, จิตสำนึกร่วมสมัยของผู้หญิงจีน อ่อนแอมาก. ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ วิธีที่นักเขียนสตรี และเจ้าหน้าที่หญิงทั้งหลายแข่งกันในหมู่ของตน และพยายามแยกตัวเป็นกลุ่มผู้หญิง ในขณะที่ขวนขวายที่จะสร้างสัญญาณของความเสมอภาคกับชายในสังคมทั่วไป. ถ้าหากว่า แม้แต่ผู้หญิงที่มีสถานภาพ, มีความสามารถ, และมีการศึกษาดี ไม่สนใจที่จะทำงานเพื่อการปลดแอกของหญิงจีน, แล้วเราจะไปเรียกร้องให้มหาชนหญิงจีนลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเธอยังไม่สามารถปลดตัวให้หลุดพ้นจากปัญหาหนักของการอยู่รอดและพัฒนา?
ณ เวลานี้ ภายใต้แรงกดดันของการปฏิรูปครั้งใหญ่, จุดอ่อนจุดแรกก็ได้ถูกแบออก. จุดอ่อนที่สอง ยังถูกซ่อนเร้นโดยการปลดแอกทางสังคมของผู้หญิง. ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่เราเห็นสภาพการกลับคืนสู่เหย้าของผู้หญิง (หลาย ๆ คน ยินดีที่จะกลับ) และคนงานหญิงบางคนถูกลอยแพ (แม้ว่าหญิงมีครรภ์หลายคนจะยินดีรับการลอยแพ). ท่ามกลางการปฏิรูป, สังคมไม่ได้ให้เบี้ยเลี้ยงแกการทำงานเพื่อปลดแอกผู้หญิง, ถึงขั้นที่ว่าปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้. อาจสรุปได้ว่า ขบวนการปลดแอกผู้หญิงในจีนกำลังจะหลุดหายไป, หรือยิ่งกว่านั้น มันกำลังเดินถอยหลัง. มันเป็นเช่นนี้จริงหรือ? คำถามนี้ ได้จี้ประเด็นทางทฤษฎีลำดับที่ ๓.
ประเด็นทางทฤษฎีที่ ๓: ในที่สุด อะไรเป็นจุดสังเกตของการปลดแอกผู้หญิง?
เรามักจะคิดว่าการปลดแอกของผู้หญิง หมายถึงแค่ผู้หญิงปรเกฏกายในสังคม. แน่นอน ถ้าผู้หญิงไม่ได้ออกมาสู่สังคมใหญ่, จิตสำนึกทางสังคมของเธอ ถึงความมีตัวตนของเธอเอง ย่อมยากที่จะตื่นตระหนักได้, และเธอก็จะไม่สามารถตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเธอเองในสังคม. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การก้าวออกมาสู่สังคมของผู้หญิงเป็นปัจจัยเตรียมตัวที่สำคัญสำหรับการปลดแอก. ถึงอย่างไร, เราต้องตามดูคุณภาพการออกมาต่อไป.
จุดที่ ๑: การออกมาสู่สังคมไม่เท่ากับว่าเป็นการปลดแอก
จุดนี้ไม่สามารถใช้แม้แต่เป็นไม่บรรทัดสำหรับวัดการปลดแอกของผู้หญิง. ใน คริสศตวรรษที่ ๑๘ มีหญิงอังกฤษหลายคนที่ได้ก้าวออกมาสู่สังคม, ส่วนมากได้ทำงานเป็นแรงงานราคาถูกหรือโสเภณี. สำหรับพวกเธอ, การออกมาสู่สังคม ไม่ใช่การปลดแอก; อันที่จริง เป็นการเพิ่มพันธการของสังคมและชนชั้น ให้กับผู้หญิงเหล่านั้นซึ่งได้ถูกพันธการผูกอยู่กับชายอยู่แล้ว. ด้วยเหตุนี้ ความระทมขมขื่นของพวกเธอก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น. กว่า ๔๐ ปีหลังจากการปลดแอก, ผู้หญิงในประเทศของเราได้ก้าวกระโดดไปไกลในชีวิตสังคม. แต่เพราะกำลังการผลิตของสังคมยังอยู่ในระดับต่ำ, พวกเธอจึงต้องแบกภาระ ๒ บทบาทที่หนักอึ้งในที่ทำงานและในครัวเรือน. ภาระจึงเพิ่มเป็นยกกำลังสอง. ชีวิตเยี่ยงสัตว์ที่แบกภาระหนัก ย่อมไม่ใช่การปลดแอกที่ผู้หญิงจีนได้ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาด้วยความอดทน.
พวกเราเคยกล่าวย้ำทางทฤษฎีว่า การปลดแอกของผู้หญิงเป็นการปลดแอกทางชนชั้น, และสามารถจะร่วมมือกับการปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์. ในแง่ประวัติศาสตร์, การปลดแอกผู้หญิงได้เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับการปลดแอกทางชนชั้นจริง; ในสหรัฐฯ มันเชื่อมกับขบวนการปลดปล่อยทาส; ในยุโรป มันเชื่อมกับขบวนการแรงงาน; ในโลกที่สามหลายประเทศ มันเชื่อมกับการเคลื่อนไหวของพวกชาตินิยม เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม; ในโซเวียตยูเนียนและจีน มันเชื่อมกับการปฏิวัติสังคมนิยม. จะเห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านโดยชนชั้นผู้ถูกกดขี่ และชนเผ่าต่างๆ และหนทางของผู้หญิงที่ถูกกดขี่เพื่อแสวงหาเสรีภาพ มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวดองกัน.
จุดที่ ๒: การปลดแอกทางชนชั้นไม่เหมือนกับการปลดแอกผู้หญิง
จุดนี้ก็ไม่สามารถใช้วัดการปลดแอกของผู้หญิง. ชนชั้นเป็นปัจจัยทางประวัติศาสตร์, และก็จะผูกติดกับประเภทเฉพาะของประวัติศาสตร์. แต่ผู้หญิงไม่เป็นเช่นนั้น. ผลประโยชน์และความสนใจที่ใกล้ตัวผู้หญิงที่สุดจะอยู่คู่กับความเป็นอยู่และการพัฒนาของมนุษยชาติเสมอ; ผู้หญิงไม่ใช่ตัวแปร แต่เป็นตัวคงที่ทางประวัติศาสตร์. แต่ประวัติศาสตร์ได้ตอกย้ำแล้วว่า การปลดปล่อยทาสในสหรัฐฯ และการปฏิรูประบบศักดินาในรัสเซีย ไม่ได้นำไปสู่การปลดแอกผู้หญิงในเวลาเดียวกัน. ชาวนาที่ได้รับสิทธิ์การครองที่ดินตามใบโฉนด ก็ยังสามารถกดขี่ข่มเหงภรรยาของตนที่บ้าน; ผู้ชายชนชั้นกลางที่ได้รับชัยชนะของสิทธิมนุษยชน ก็ยังคงเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม จนถึงขั้นกีดกันละเลยผู้หญิง. การปฏิบัติทางสังคมในจีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชัยชนะจากการปฏิวัติสังคมนิยม ไม่ได้หมายความว่าจะได้ปลดแอกผู้หญิงไปด้วย เพียงแต่ได้ให้พื้นที่ที่ได้เปรียบ เพื่อให้ผู้หญิงต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย.
กว่า ๔๐ ปีหลังจากการปลดปล่อย, เรามักจะคุ้นเคยกับการพูดว่าการปลดแอกของผู้หญิง คือ ความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง. เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสมอภาคชาย-หญิง ที่ระบุในกฎหมาย เป็นเป้าหมายพื้นฐานของขบวนการปลดปล่อยผู้หญิง, และก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะประกันความสำเร็จของการต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อปลดปล่อยตัวเอง. ไม่ว่าผู้หญิงจะรวมตัวเป็นกลุ่ม หรือเป็นปัจเจก, การย่างออกสู่โลกซึ่งเดิมมีแต่ผู้ชาย หมายถึง ว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้มาตรฐานของชายเป็นเป้าหมายในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง และเป็นเครื่องทดสอบคุณค่าของตน. นี่เป็นเครื่องมือที่ใช้วัด ที่สะดวกที่สุดที่ประวัติศาสตร์ได้สร้างไว้ให้.
จุดที่ ๓: ความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ไม่เหมือนกับการที่ผู้หญิงรู้สึกถึงความมีคุณค่าของตน
ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอารยธรรมมนุษย์, ผู้ชายได้พัฒนาทักษะอย่างเต็มที่ในการผลิตทางวัตถุ, และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายที่นำพาให้ก้าวข้ามสู่อารยธรรมที่สูงขึ้น. ปัจจุบัน ในกระบวนการของมนุษยชาติที่สนใจอยู่ที่การปลดปล่อยตนเอง, ภาระของการก้าวข้ามส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้หญิง. หน้าที่ของผู้หญิง คือ สร้างรูปแบบหรือตัวอย่างของผู้หญิงที่เป็นอิสระ และเคารพในคุณค่าของตนเอง, ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาและความสมบูรณ์แบบของมนุษย์.
เนื่องจากการปลดแอกของมนุษย์และการปลดแอกของผู้หญิง เป็นเรื่องที่มีหลายมุมมอง, ไม่ว่าเราจะจี้ที่จุดไหนในระหว่างการพัฒนา, ทุกๆ หนทางล้วนใช้ได้; ทางใดทางหนึ่ง ย่อมนำไปสู่ความก้าวหน้าได้. เช่น การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจย่อมลดการพึ่งพิงต่อธรรมชาติ, ดังนั้นจึงลดความตึงเครียดของภาระ ๒ บทบาท. การลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นและส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงในสังคม จะช่วยให้การเมืองประชาธิปไตยก้าวหน้า และให้อิสรภาพแก่ปัจเจกบุคคล, ดังนั้น จะทำให้เกิดเงื่อนไขสำหรับการเคารพในคุณค่าของตัวเองในเพศหญิง. การมีโอกาสเลือกวิชาชีพ เป็นเครื่องวัดระดับความคิดริเริ่มของคน; นี่เป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้หญิงมีอิสรภาพในทางเศรษฐกิจ. ความสามารถของหญิงและชายที่จะคบค้ากันอย่างเสมอภาคกัน ย่อมเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับติดตามระดับอารยธรรมของสังคม; นี่เป็นหลักประกันทางสังคมสำหรับการพัฒนาสตรี.
แต่ถ้าสิ่งที่กล่าวมานี้ ถูกแยกออกจากการตื่นตระหนักในจิตสำนึกของผู้หญิงเอง และความพยายามขวนขวายของผู้หญิงในการปรับปรุงตัวเองแล้ว, เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลาอยู่กับการอภิปรายมากมายเรื่องการปลดปล่อย หรือหาทางออกสำหรับผู้หญิง.
ปัญหาของการหา “ทางออก” ได้ถูกถกกันมากมายมานาน และก็เท่านั้น, แต่พูดถึงประเด็นนี้แล้ว, ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงจะต้องกังวล. ถ้าเรามองจากมุมของการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน, การจ้างงาน, และเศรษฐกิจ, ปัญหานี้ไม่มีตัวตนสำหรับผู้หญิงจีนส่วนใหญ่. เหตุผลหนึ่งคือ สังคมดั้งเดิม ที่มีขายเป็นศูนย์กลาง ผู้ชายมีหน้าที่คุ้มครองผู้หญิงตามที่ได้มีบัญญัติไว้แล้ว (พ่อเลี้ยงดูลูกสาว, สามีหาเลี้ยงภรรยา, สังคมช่วยดูแลเรื่องบ้านช่อง). เหตุผลที่สองคือ ระบบสังคมนิยมจะไม่ยอมให้มีคนกลุ่มใหญ่นั่งตกงานอยู่นาน. มันจะต้องออกนโยบายที่เหมาะสม เพื่อเลี้ยงดูคนที่ไร้อำนาจ. เนื่องจากผู้หญิง ก็ถุกทำให้ไร้อำนาจ, สังคมก็ย่อมจะต้องให้การคุ้มครองเช่นกัน. ภายใต้แรงกดดันของการปฏิรูป ผู้หญิงบางคนก็ต้องการกลับคืนสู่เหย้า, บางคนต้องการพักชั่วคราวจากการทำงาน. แต่การคืนสู่เหย้าของผู้หญิงไม่ได้นำไปสู่การรวมตัวเป็น “ชนชั้นแม่บ้าน” (ฟญิงชาวนาที่มีส่วนร่วมในการผลิตทางเศรษฐกิจในครัวเรือน ไม่จัดอยู่ในข่าย “แม่บ้าน”), และผู้หญิงก็ได้ลาออกจากงาน (ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในการผลิตมนุษย์ในระหว่างตั้งครรภ์) ย่อมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ตกงาน.
ในขณะที่สถานประกอบการได้ขจัดแรงงานส่วนเกิน และเขี่ยทิ้งภาระการดูแลหญิงที่คลอดบุตร, ก็ได้เขี่ยทิ้งผู้หญิงเป็นจำนวนมากออกจากถนนแห่งการพัฒนาสายหลัก. แต่เป้าหมายของผู้หญิงจะเป็นเพื่อการอยู่รอด หรือเพื่อพัฒนาตัวเอง, พวกเธอสามารถจะก้าวออกมาจากครัวเรือน เมื่อถึงเวลา และพบว่ามีโอกาสการทำงานมากมาย. นี่เป็นความจริง แม้ว่าจะหมายถึงการเดินริมทางสู่การพัฒนา, หรือผลักรถเข็น (การผุดขึ้นมามากมายของผู้ประกอบการหญิงเล็กๆ และช่างฝีมือ). พวกเธอสามารถจะหาทางชอนไชไปตามรอยแตกของสังคม, และจะพบพื้นที่พอทีตัวเองจะขับเคลื่อน. นี่เป็นเพียงมุมมองจากการพัฒนาตัวเองของเพศหญิง ที่เรามองเห็น ว่าหนทางเส้นนี้ ที่แท้ลำบากมากและต่ำต้อย. บางที อาจจะเพราะผู้หญิงเองก็เห็นถึงความลำบากจึงยอมทีจะไม่กล้าที่จะใฝ่ฝันถึงการยกระดับปรับปรุงตนเองเป็นรุ่นๆ ไป รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพร้อมกับผู้ชาย.
ข้อดีของประวัติศาสตร์การปฏิวัติทางสังคมสำหรับผู้หญิง คือ ได้ทำให้ผู้หญิงจีนรุ่นหนึ่งตาสว่าง, ได้ลิ้มรสชาติของการพัฒนาตัวเอง โดยผ่านประสบการณ์การมีความเสมอภาคกับชาย. ในขณะที่สังคมยอมรับพวกเธอ และพยายามจะดูดดึงพวกเธอเข้าเป็นพวกเดียวกันในสังคม, ผู้หญิงจีนก็ได้ใช้ความคิดและตั้งปณิธานในการทำตัวให้สอดคล้องเป็นอัหนึ่งอันเดียวกับสังคม. ความประสงค์ที่จะเป็นบุคคลคนหนึ่งมีความเข้มข้น, แต่จิตสำนึกของความเป็นผู้หญิงอ่อนมาก. สังคมได้ผลักไสผู้หญิงไว้ข้างหนึ่งอย่างกะทันหัน, แล้วขีดขอบเขต ด้วยความตั้งใจจะกีดกันผู้หญิงออกไป. ตอนนี้ ผู้หญิงไม่มีทางเลือกนอกจากถอดทิ้งผ้าเอี้ยม (ใส่กันหนาว) แห่งการปกป้องจากสังคม, และจับมือร่วมกันในนามของกลุ่มผู้หญิง สำรวจหาทางออก เพื่อที่จะได้พัฒนาอิสรภาพของผู้หญิง และการยกระดับปรับปรุงตัวเอง.
ในการเรียกร้องให้มีการพัฒนา จะต้องมีจิตสำนึกของการพัฒนาก่อน. ผู้หญิงที่มีความอยากที่จะพัฒนา แต่ถูกขวางกั้นโดยสถานภาพของความเป็นหญิง ย่อมจะเป็นผู้จุดประกายให้เกิดความตื่นตัวในผู้หญิงอื่นๆ. นี่คืออุดมการณ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการปลดแอกของผู้หญิง, และก็เป็นหนทางที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยของผู้หญิง. นี่แหละ คือสิ่งที่ผู้หญิงจีนในภาพรวมได้ละเลย และหลีกเลี่ยง.
จนกระทั่งบัดนี้ ประเด็นนี้ ไม่เคยมีใครยกขึ้นมาพูด; แต่มันถูกหยิบยกขึ้นมาโดยแรงกดดันของการปฏิรูป. แม้ว่า การปฏิรูปในปัจจุบัน จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงหลายอย่าง, มันได้ให้ประโยชน์อย่างหนึ่ง ที่ไม่มีความตั้งใจของมนุษย์หน้าไหนที่จะทำให้เกิดขึ้นได้: แรงกดดันของสังคม ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างลุกฮือร่วมกันในจิตสำนึกของผู้หญิงจีน ซึ่งเดิมคุ้นเคยอยู่กกับการพึ่งอิงสังคม. ด้วยการตื่นตัวนี้, อาจเป็นไปได้ว่า จะช่วยกันหาทางออกเป็นพัน เป็นหมื่นทางได้.
ถ้าจิตสำนึกร่วมสมัยของผู้หญิงจีนได้ถูกปลุกให้ตื่นได้, เราจะได้เห็นผู้หญิงจีนที่ตาสว่าง กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในงานสังคม, และจะเห็นการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และการปลุกระดมจิตสำนึกสำหรับผู้หญิง. ในกระบวนการที่เจ็บปวดที่ผู้หญิง “หย่านม” จากการพึ่งอิงสังคม, หญิงจีนต้องเรียนรู้วิธีการหล่อเลี้ยง และให้กำลังแก่กันและกันในหมู่ผู้หญิง. เมื่อทฤษฎีดั้งเดิมที่หมดน้ำยาแล้ว, ผู้หญิงสามารถเริ่มสำรวจและเลือกทฤษฎีใหม่สำหรับผู้หญิง. ในขณะเดียวกัน, พวกเธอก็สามารถจะหารูปแบบใหม่ของ “องค์กร”: กลุ่มสตรีใหม่ ๆ ที่มีหลากหลายโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้าง, ต่างสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน. เช่นนี้ เราอาจหาทางพัฒนาผู้หญิงร่วมกัน แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางความยากลำบากที่อาจจะไม่มีทางออกในลักษณะองค์กร.
dt/9-1-07
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น