วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ผู้หญิงกับเศรษฐกิจโลก Naila Kabeer

อิโคโนมิคา
ผู้หญิงกับเศรษฐกิจโลก

ECONOMICA
Women and the Global Economy
PODCAST: Assert Your Worth: A Conversation with the Social Economist Naila Kabeer

พ็อดคาสท์: ยืนหยัดในคุณค่าของตัวเอง
-สนทนากับนักเศรษฐศาสตร์สังคม ไนลา กาบีร์

เจ้าภาพ: ขอต้อนรับสู่พิพิธภัณฑ์นานาชาติของผู้หญิง และพ็อดคาสท์สำหรับ อิโคโนมิคา: ผู้หญิงกับเศรษฐกิจโลก

ไนลา กาบีร์: งาน (วิจัย) ของนักสตรีนิยมได้แสดงให้เห็นว่า ความเท่าเทียมเชิงเพศภาวะบางอย่างดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะบางอย่าง ก็ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ด้วยเช่นกัน) [เสียงหัวเราะ]  คุณรู้อยู่เช่นนี้   แล้วคุณจะทำยังไงกับเรื่องนี้

เจ้าภาพ:  นักเศรษฐศาสตร์สังคม ไนลา กาบีร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเพศภาวะ  ความยากจน และนโยบายสังคม   ในฐานะศาสตราจารย์ที่สถาบันพัฒนาศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยซัสเส็ก ในประเทศอังกฤษ  ท่านได้ขันแข็งพัฒนากรอบคิด และวิธีการศึกษาวิจัย เพื่อผนวกข้อคำนึงด้านเพศภาวะลงในการวางแผนและนโยบาย

ผู้ดูแล อิโคโนมิคา  มาซุม โมโมยา ได้นั่งสนทนากับ ไนลา กาบีร์ ในระหว่างการประชุมของสมาคมนานาชาติสำหรับนักเศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ในปี 2009   พวกเขาเริ่มต้นด้วยการถกถึงความยากลำบากในการนิยามคำว่า “empowerment” (การเสริมศักยภาพ?)

กาบีร์:  ความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะ เป็นผลผลิตจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  ที่มีลักษณะเฉพาะตัว  เพราะว่า มันไม่ใช่แค่ในแง่กฎหมาย และนโยบายสาธารณะ    มันเกี่ยวกับอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน และในชีวิตส่วนตัวของคุณ ...กับคนที่คุณรักและห่วงใย   ดังนั้น อำนาจหลายอย่าง อยู่ในกำมือของคนที่คุณแต่งงานด้วย หรือในมือของพ่อแม่ของคุณ เป็นต้น   และในหลายๆ ประเทศ  อำนาจดังกล่าวถูกใช้ไปในทางที่ลิดรอนความรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมจากคุณ   ที่ว่าคุณเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่าเท่ากับพี่/น้องชาย หรือกับสามีของคุณ เป็นต้น

ดิฉันคิดว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราที่มาจากประเทศ เช่น เอเชียใต้ เป็นต้น ที่ระบบปิตาธิปไตยมีอำนาจสูงมาก ในคำนิยามเชิงวัฒนธรรม ถึงความเป็นหญิงและความเป็นชายคำว่า empowerment ถูกใช้เป็นวิธีหนึ่งในการพูดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้น โดยเริ่มต้นจากความรู้สึกถึงตัวตนของตัวคุณเอง   ความเข้าใจของคุณเองเกี่ยวกับตำแหน่งแหล่งที่ของคุณในโลกนี้

สำหรับดิฉัน empowerment / การเสริมศักยภาพ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตสำนึกและการตระหนักรู้มาเสมอการตั้งชื่อให้แก่ปัญหา  การจำได้หมายรู้ถึงปัญหา   จากพื้นฐานอันนั้นแหละ ที่คุณจึงจะสามารถตั้งตัวได้  มีส่วนร่วมในกิจกรรมหมู่ หรืออะไรก็ตาม  เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง   ดิฉันคิดว่า เหตุผลที่ดิฉันติดใจ กรอบคิด empowerment มากตั้งแต่เริ่มต้น คือ มันเป็นหนทางหนึ่งในการถกเถียง  ใช่แล้ว  คนที่พูดว่า ใช่ มันล้วนเป็นเรื่องโครงสร้าง    คุณรู้อยู่ว่า ตราบใดที่คุณยังเปลี่ยนโครงสร้างไม่ได้  คุณก็ยังไม่ได้ทำอะไรเลย   แล้วคุณก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างได้ จนกว่าคุณจะเปลี่ยนคน/ผู้กระทำ (agent) ที่เป็นผู้รื้อถอนและประกอบโครงสร้างใหม่ได้    และผู้กระทำที่มีแนวโน้มที่จะท้าทายโครงสร้างเหล่านี้มากที่สุด ก็คือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว   และในกรณีของความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะ  ก็คงจะเป็นผู้หญิง   ดังนั้น จนกว่าคุณจะทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นยืน และพูดว่า ฉันเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่าเท่าเทียมกับคนอื่นๆ   ฉันทำได้หลายสิ่งหลายอย่าง  และสิ่งเดียวเท่านั้นที่หยุดฉันไว้ คือ สังคม หรือ สามี หรืออื่นๆ   จนกว่าคุณจะสามารถทำให้ผู้หญิงยินดีที่จะลุกขึ้น และยืนหยัด และตระหนักถึงสมรรถนะของตน  โครงสร้างจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเอง

สำหรับดิฉัน empowerment / การเสริมศักยภาพ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากจิตสำนึกของปัจเจกบุคคล เพราะว่า ดิฉันมาจากซีกโลกที่จำกัดความเป็นไปได้ทั้งหลายของผู้หญิงไว้อย่างมาก    สิ่งที่จะเรียกได้ว่า เป็นทางเลือกของผู้หญิงได้นั้น จะคับแคบและจำกัดมาก   ดังนั้น  สำหรับดิฉัน empowerment คือ การบอกให้คุณรู้ถึงความสำคัญของอำนาจที่มาจากภายใน   ความสำคัญของจิตสำนึก  ความสามารถที่จะตระหนักถึงคุณค่าของตัวคุณเอง   ที่จะเรียกร้องให้คนอื่นรับรู้และให้ความเคารพในตัวคุณ

แต่แน่นอน มันจะต้องขยับต่อไปถึงกิจกรรมร่วมหมู่  หรือการเปลี่ยนโครงสร้าง หรือนโยบายสาธารณะ  หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ  ที่จะยังผลให้เกิดความแตกต่างในโครงสร้างใหญ่ที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงทั้งมวล

โมโมยา:  มีบางคนพูดว่า empowerment / การเสริมศักยภาพ เป็นกรอบคิดแบบ ตะวันตก ที่คิดแต่จะทำให้ปัจเจกมีอำนาจในแบบฉบับตะวันตก   คุณจะตอบสนองข้อกล่าวหานี้อย่างไร

กาบีร์:  ดิฉันมีปัญหากับคำว่า การเป็นเอกเทศ (autonomy)  สำหรับผู้หญิงหลายคน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์สตรีนิยมด้วย  พวกเขาใช้คำว่า เอกเทศ เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจ   สำหรับดิฉัน  คำว่า ความเป็นเอกเทศ เป็นบางอย่างที่ดิฉันหลีกเลี่ยง เพราะว่า มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของปัจเจก

สำหรับดิฉัน empowerment / การเสริมศักยภาพ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์  และสิ่งหนึ่งก็คือ รูปแบบ / รูปธรรม ที่จะทำให้เกิด empowerment จะแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม   ในวัฒนธรรมที่มีความเป็นปัจเจกชนสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา  การพูดคุย เรื่องempowerment ก็จะออกมาในรูปปัจเจกอาจเป็นรูปธรรมในลักษณะตัวเองเป็นใหญ่ความมุ่งมั่น  ความเป็นเอกเทศของแต่ละคน เป็นต้น

แต่ในวัฒนธรรมเช่น ในเอเชียใต้ ที่ผู้คนยังคงผูกพันยึดมั่นในความสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน  empowerment ก็จะออกมาในรูปแบบของประชาธิปไตย  การเรียกร้องประชาธิปไตย  เพื่อให้ความสัมพันธ์มีความเป็นประชาธิปไตยคือ เสียงของฉันก็ควรได้มีการรับฟังด้วย   ดังนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะกลายเป็นปัจเจกชนอย่างสูงเช่นในตะวันตก   มันเป็นเรื่องของการกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (ใหญ่)   ดังนั้น ดิฉันไม่เห็นว่า (empowerment) เป็นเรื่องตะวันตกเลย

โมโมยา:  เราจะวัด empowerment / การเสริมศักยภาพ ได้อย่างไร  ดูเหมือนมันคงยากหน่อยที่จะวัดกัน

กาบีร์:  เอ้อ  ต่างคนต่างก็มีวิธีวัดต่างกัน  และคำถามเรื่องจิตสำนึกของแต่ละคน ก็เป็นสิ่งที่วัดได้ยากมาก   เพราะว่า การวัดมักจะหมายความว่า คุณรู้ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มลงมือ   ใช่ไหม  ดังนั้น คุณก็ได้ตัดสินใจไว้แล้วว่า นี่เป็นหนทางที่มันต้องเปลี่ยน เพื่อว่าคุณจะได้เพิ่มศักยภาพตนเองตามที่มาดหมาย

แต่ในถิ่นที่ดิฉันอยู่ และในบริบทของดิฉัน  ผู้หญิงคนหนึ่งอาจมองเห็น empowerment / การเสริมศักยภาพ เป็นเรื่องที่ว่า ฉันจะออกไปข้างนอกทำงาน  ผู้หญิงอีกคนอาจเห็นเป็นอื่น  ทำไมฉันจะต้องออกไปทำงานข้างนอก   คุณต่างหากที่ต้องให้คุณค่าแก่งานที่ฉันทำในบ้าน และผู้คนก็ต้องยอมรับว่า (งานของฉัน) มีคุณค่า  เช่นนั้น คุณไม่สามารถวัดผลของ empowerment / การเสริมศักยภาพ  มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ  ถ้าคุณมีรูปแบบจำลอง/โมเดลของการเปลี่ยนแปลง (ในหัว) ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นเส้นตรง

แต่ เราก็รู้กันอยู่ว่านักวางนโยบาย จะสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ   ดังนั้น ดิฉันจึงได้ค่อยๆ ขยับไปสู่มิติสิทธิในความเป็นพลเมือง (citizenship)   ดิฉันจึงตั้งคำถามว่า  เอาล่ะ  ผู้หญิงได้รับการเสริมศักยภาพ (get empowered) พวกเธอตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และเลือกวิถีชีวิตที่ตนให้คุณค่าไว้ได้  เป็นตัวตนที่ตัวเองต้องการ  ได้มีชีวิตประจำวันที่ตนต้องการ และอะไรทำนองนั้น    แต่จะให้มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่จะเป็นตัวชี้วัดได้ ก็ต่อเมื่อผู้หญิงคนนั้นเริ่มเคลื่อนตัวเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในพื้นที่การเมืองสาธารณะ   เป็นสมาชิกคนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันเริ่มมองหาตัวชี้วัดเช่น ในอินเดีย และบังคลาเทศว่า ผู้หญิงออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่   พวกเธอรู้ไหมว่าใครเป็น สส   พวกเธอได้ไปร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเมื่อเกิดเรื่องเดือดร้อนหรือไม่   พวกเธอเข้าร่วมการประท้วงหรือเปล่า  ประท้วงเรื่องอะไร

โมโมยา:  การเชื่อมโยงระหว่าง empowerment / การเสริมศักยภาพ เชิงเศรษฐกิจ กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองดูเหมือนจะมีความเป็นสตรีนิยม     ลักษณะการพูดถึง empowerment  และการพูดถึง empowerment เชิงเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิง มักจะฟังดูเหมือนกับว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อน หรือเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ   เหมือนกับว่า นานมาแล้วในประวัติศาสตร์ เมื่อมีการคิดคำนวณถึงการลงทุนสำหรับผู้หญิง ในการศึกษา การฝึกอาชีพ  ฝึกทักษะการทำงาน  การพัฒนากิจการขนาดเล็ก  ตอนนั้น empowerment /การเสริมศักยภาพ ไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง  การเป็นพลเมือง  และการเรียกร้องทวงสิทธิ์  การแสดงสมรรถนะ   แต่อันนี้ มา empower / ส่งเสริมศักยภาพของ ผู้หญิงกันเถอะ เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่ประเทศ  และที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้   ดิฉันเข้าใจถูกไหม ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเรา

กาบีร์:  ดิฉันคิดว่า เราเป็นนักสตรีนิยมประเภทที่ได้กลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง   ในแง่หนึ่ง งานเขียนของนักสตรีนิยมรุ่นแรกๆ ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงใช้/บริหารทรัพยากรต่างจากชาย   นี่เป็นข้อตอบโต้ที่ทรงพลังมาก  มันเป็นการโต้เถียงที่สำคัญมาก  เพราะว่าแต่ไหนแต่ไรก่อนหน้านั้น นโยบายสาธารณะมองผู้หญิงว่ามีบทบาทแค่ในการผลิตซ้ำ/เจริญพันธุ์   ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะแสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงทรัพยากรประเภทต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน จะส่งผลสะท้อนกลับเกินกว่าตัวผู้หญิง   ถูกไหม  มันจะมีผลสะท้อนต่อกระบวนการพัฒนาระดับกว้าง

บัดนี้ ข้ออ้างนี้ ได้ดึงดูดความสนใจของนักวางนโยบาย เพราะนักวางนโยบาย มักจะคิดหนักเรื่องนโยบายที่จะใช้อะไรให้เป็นเครื่องมือให้เศรษฐกิจขยายตัว.  ใช่ไหม   และพวกเราก็ได้สร้างชุดการถกเถียงขึ้น ซึ่งแท้จริงก็เกี่ยวโยงกับมันในตัว

ถ้ามีหลักฐานที่ยืนยันว่า การลงทุนในตัวผู้หญิง จะเป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจแล้วไซร้  ดิฉันคิดว่า เราควรจะหยิบยกมาอ้างใช้   ทำไมไม่   ดิฉันคิดว่า ผู้หญิงควรจะระวังตัวมาก ในการที่จะเติมลงไปว่า การลงทุนในตัวผู้หญิงนั้นดีสำหรับความเป็นธรรมในสังคม   รู้ไหม  ถ้าคุณมีสังคมเชิงเพศ ที่ถูกตราหน้าว่าด้อยกว่า และถ้าส่วนหนึ่งของสังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของคุณ  ในที่ทำงานของคุณ ฯลฯ  คุณก็จะมีสังคมที่เอียง หรือขาดสมมาตร  และมีความเป็นธรรมเพียงแค่บนพื้นฐานของความยุติธรรมเท่านั้น   มันจึงไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไร

ดิฉันไม่ได้คัดค้านการเอาประเด็นความเป็นธรรมมาเป็นข้อโต้เถียง  แต่ดิฉันคิดว่า มันต้องมีหลักฐานมาช่วยหนุน  ดิฉันคิดว่า มีผลงานของนักสตรีนิยมที่แสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะบางประเภท ดีสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ    ถูกไหม   แล้วเราจะทำอย่างไรกับมัน

ดังนั้น ดิฉันคิดว่า เราจะต้องมีความจัดเจนยิ่งขึ้น เพราะ ความเท่าเทียมเชิงเพศภาวะมีหลากหลายมิติ   คุณอาจจะทำให้ผู้หญิงมีการศึกษาดีขึ้น  แต่ไม่ปรับปรุงเรื่องค่าจ้าง   ความสามารถในการผลิตของผู้หญิงสูงขึ้น  แต่ค่าจ้างยังคงต่ำ และพวก (นายทุน) ก็เอาเปรียบพวกเธอ    อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการโต้เถียงในวงกว้าง   ดังนั้น ดิฉันไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ

อีกเรื่องหนึ่ง  ...  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับผู้หญิงและการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นใน อนุภาคซาฮารา ในอาฟริกา  ที่นั่น ผู้หญิงทำงานแข็งขันในระบบเศรษฐกิจ  ในท้องทุ่ง  ท้องนา ฯลฯ   แต่ไม่มีใครพูดว่า จงลงทุนในหญิงชาวนาในเอเชียใต้เถอะ แล้วเอเชียใต้ก็จะไม่มีความอดอยากต่อไป  เพราะว่าพวกเขารู้ว่า มีจำนวนผู้หญิงชนชั้นแรงงานจำนวนมากอยู่ ที่ทำงานในไร่นา  แต่สำหรับชาวนาชนชั้นกลาง พวกภรรยาของเขาไม่ทำงานในไร่นา

ดังนั้น ข้อถกเถียงเรื่องความสามารถในการผลิต จึงจำกัดอยู่ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ที่ (มีวิธีการเฉพาะในการ) ยับยั้งไม่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจ   ปัญหาของข้อถกเถียงดังกล่าวคือ เรามักจะปักธงการรณรงค์ของพวกเราทั้งหมดลงไปที่นั่น (ที่จุดใดจุดหนึ่ง) ทั้งๆ ที่มัน (สังคมส่วนใหญ่) เกือบไม่มีความสมดุลเลย   รู้ไหม  มีหลายครั้ง ที่การเอาเปรียบผู้หญิง เป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ   ดังนั้น พวกเราต้องระมัดระวังมาก และจะต้องไม่ลืมข้อถกเถียงเรื่องความเป็นธรรม    สังคมใดที่กระทำต่อประชากรกึ่งหนึ่งประดุจว่าเป็นชนที่ด้อยกว่า--ไม่สมควรที่จะถูกเรียกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย

แต่ดิฉันก็ไม่คิดว่า นั่นเป็นที่สุดของการถกเถียง  คุณจะไม่พูดว่า พวกเราควรจะกระทำต่อชนผิวดำในสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น เพราะว่า นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ไม่มีใครพูดอย่างนั้น   พวกเขาพูดว่า พวกเราควรจะกระทำต่อชนผิวดำในสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น เพราะว่า มิฉะนั้น เราไม่สามารถบอกว่า อเมริกาเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน

โมโมยา:  ดิฉันชอบที่คุณตีกรอบเปรียบเทียบควบคู่กัน  จำเป็นที่จะต้องถกเถียงแบบให้เห็นทั้งสองด้าน  สำหรับทั้งด้านของการเป็นเครื่องมือให้เศรษฐกิจเติบโต และรวมทั้งมุมมองสำหรับความเป็นธรรมในสังคม   ดิฉันรู้สึกว่า ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ดิฉันเห็นว่า ข้อถกเถียงเชิงเครื่องมือจะได้ชัยชนะ  หรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนจะเป็นที่แพร่หลาย   ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะพูดว่า เอาล่ะ ผู้หญิงเป็นทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจ   ทุ่มทุนไปที่ผู้หญิง  ทำให้พวกหล่อนทำงานมากขึ้น  เช่น สร้างโรงงานอุตสาหกรรม และภาคส่วนที่ว่าจ้างผู้หญิงได้   และดิฉันก็ไม่ค่อยเห็นข้อถกเถียงที่ตั้งบนพื้นฐานของสิทธิ์ หรือข้อถกเถียงที่ตั้งบนพื้นฐานของความเป็นธรรมในสังคมปรากฏอยู่ในวาทกรรมทั้งในวงการพัฒนา และในวงสนทนาเรื่องการแก้ไขวิกฤตการเงินโลก   อันนี้สอดคล้องกับสังเกตการณ์ของคุณอย่างไร

กาบีร์:   คุณอาจตีความได้จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น  คือ หลายๆ สิ่งกำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน  ใช่ไหม   และคุณก็สามารถจะตีความจากสิ่งเดียวกัน ด้วยวิธีการต่างๆ กัน

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่า วิกฤตการเงินได้กระทำอยู่ เพราะ มันเป็นกิ่งก้านของวิกฤตโลก   แต่เราได้มีประสบการณ์จาก วิกฤตการเงินอื่นๆ  และเราก็รู้ว่าชายและหญิงได้รับผลกระทบต่างกัน   และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายที่สูญงานก่อน  สิ่งที่เป็นตาข่ายฉุกเฉินรองรับ และเป็นที่พึ่งสุดท้าย คือ แรงงานหญิงทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง   พวกเราก็รู้ด้วยว่า วิกฤตการเงินครั้งนี้ เป็นผลพวงของการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการเลือก ที่มีการจัดลำดับอย่างเป็นระบบที่ให้ความสำคัญแก่คุณค่าตลาด แก่สินค้าที่ต้องจ่ายด้วยเงินตรา  แก่งานที่ต้องมีค่าจ้าง ฯลฯ   ในขณะเดียวกันก็ กดอย่างเป็นระบบในคุณค่าของกิจกรรมและผลงานที่ผู้หญิงทำ คือ งานดูแลเลี้ยงดูต่างๆ ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งที่ได้รับค่าจ้างด้วย

ในแง่หนึ่ง วิกฤตมักจะเผยรอยร้าวในระดับฐานของระบบ  และดิฉันคิดว่า แต่ละคน เช่นเดียวกับหลายๆ คน ก็มองว่า นี่เป็นโอกาส    ผู้คนกำลังเรียกร้อง พวกเราต้องการระบอบทุนนิยมที่มีความเป็นธรรมกว่านี้  ที่มีสีเขียวกว่านี้ (อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) และที่อ่อนโยนกว่านี้

นี่เป็นโอกาสที่จะแสดงออกถึงข้อโต้เถียงเหล่านี้  ใช่ไหม   ข้อถกเถียงเหล่านี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอ้างถึงกรอบเศรษฐกิจ หรือการเป็นเครื่องมือ  แต่จะต้องอ้างถึงคุณค่า   ที่ว่า สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่การตัดสินใจเชิงนโยบาย จะต้องสะท้อนสภาพ (ความต้องการ) ของสังคมที่ผู้วางนโยบายเป็นผู้แทนของสังคม  ใช่ไหม

ตราบจนทุกวันนี้ พวกเรารู้ว่า ผู้หญิงไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ   พวกเธอไม่ได้อยู่ในระบบการเงิน   พวกเธอไม่ค่อยมีบทบาทแข็งขัน  ไม่ค่อยมีอิทธิพลในระบบการเมือง   โลกนี้ ระบอบทุนนิยมนี้ จะแตกต่างออกไปไหม ถ้าผู้หญิงได้มีส่วนเป็นตัวแทนดังกล่าวอย่างเหมาะสมขึ้น   ตอนนี้ ดิฉันยังไม่มีคำตอบ

โมโมยา:  ดิฉันก็กำลังจะถามคุณอยู่ ว่าคุณคิดอย่างไร

กาบีร์:  ดิฉันไม่รู้คำตอบ  ...  ดิฉันไม่ต้องการจะพูดว่า มีความแตกต่างโดยเนื้อแท้ระหว่างหญิงและชาย   พวกเรารู้อยู่ว่า ผู้หญิงสามารถจะเป็นนายทุนที่ดีได้เช่นเดียวกับชาย   แต่เราก็รู้ด้วยว่า เมื่อผู้หญิงได้มีอำนาจในมือ  ดูเหมือนพวกเธอจะใช้มันต่างจากชาย  ใช่ไหม  และพวกเธอก็ใช้อำนาจต่างไป  ไม่ใช่เพราะว่าพวกเธอมียีนส์ที่แตกต่าง  แต่เพราะว่าพวกเธอมีชุดประสบการณ์และความรับผิดชอบที่ต่างกับชาย เป็นต้น

เช่น ในอินเดีย พวกเรารู้ว่า ผู้หญิงที่ได้รับเลือกในรัฐบาลท้องถิ่น มักจะออกเสียงสนับสนุนกิจกรรมบริการสาธารณะ รวมทั้ง ชลประทาน ถนน ฯลฯ พวกเธอมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการบริการอย่างมีประสิทธิผลและคุ้มทุน   พวกเราก็รู้อีกว่า ผู้หญิงจะเข้าร่วมประชุมทางการเมืองมากขึ้น เมื่อมีผู้หญิงเป็นผู้นำในสภา  พวกเรารู้จากประสบการณ์ในอินเดีย  พวกเรารู้ว่า ในนอร์เวย์ ในระดับเทศบาล ถ้าผู้หญิงเป็นเสียงส่วนใหญ่  เทศบาลก็จะมีแนวโน้มที่จะจัดให้บริการศูนย์เลี้ยงเด็ก

ที่ดิฉันพูดมาทั้งหมด ก็เพื่อบอกว่า นี่เป็นโอกาสที่จะประกาศว่า (ในโลกนี้) ยังมีคุณค่าประเภทอื่นๆ (นอกเหนือจากในตลาดเงินตรา) ที่ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดคุณค่านั้นขึ้น   และอาจเป็นเพราะ เรามีระบบที่เฉเกเช่นนี้  เพราะระบบมันเอียงไปข้างหนึ่ง มันจึงมีชุดคุณค่าที่คับแคบ   ดิฉันไม่ขอบอกว่าเป็นคุณค่าของความเป็นชาย  แต่ (จะบอกว่ามัน) เป็นชุดคุณค่าเฉพาะที่คลั่งความเป็นชาย   ด้วยเหตุนี้  คนย่อมต้องการที่จะเห็นการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่กว้างใหญ่ขึ้น ที่คลุมถึงวิธีการที่ระบอบทุนนิยมบริหารอยู่

โมโมยา:  แล้วคุณคิดว่ามีหนทางใด และใครจะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ไปทางนั้น

กาบีร์:  ดิฉันคิดว่า ผู้หญิงได้มีการรวมตัว จัดแนวแถวเป็นองค์กรดีกว่าก่อน  และพวกเธอก็ไม่ได้รวมตัวกันแค่ในหมู่ผู้หญิง แต่ยังในสถานที่ทำงาน  ในพรรคการเมือง เป็นต้น

ดิฉันคิดว่า เพราะขบวนการสตรี  คลื่นระลอกที่สองของการเคลื่อนไหวของสตรีนิยม   ได้ช่วยดูแลการเจริญเติบโตของเหล่าลูกชายในช่วงนี้   มีผู้ชายมากขึ้น ที่ดิฉันคิดว่า มีความตื่นกลัวลดลงต่อความคิดที่ว่า ต้องแบ่งปันอำนาจกับผู้หญิง  ดิฉันคิดว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำให้มีการเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ (dialogue) อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ระหว่างองค์กรสตรี  ผู้หญิง  และรวมถึงชายหนุ่มด้วย  เพราะว่า ผู้ชายในรุ่นของดิฉัน ค่อนข้างจะหัวดื้อ ยึดติดในวิถีของพวกเขา  แต่ดิฉันรู้สึกว่า มีชายหนุ่มรุ่นใหม่ในอินเดีย และบังคลาเทศ และในสหรัฐฯ ที่รู้สึกปกติเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้หญิง

โมโมยา:  คุณเพิ่งพูดไปว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจบางอย่างและความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะจูงมือเดินไปด้วยกันได้ด้วยดี   ในกรณีอื่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมเชิงเพศภาวะ   แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียม จูงมือเดินไปด้วยกันต่อไปได้  แทนที่จะเป็นอย่างอื่น   คือ พวกที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวในระบบอย่างที่เป็นอยู่ ก็ยังคงได้ประโยชน์ต่อไป เพราะว่าความไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่ต่อไป

กาบีร์:  ดิฉันเดาว่า สิ่งหนึ่งที่คุณพูด คือ มีคนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากระบบอยู่แล้ว  ใช่ไหม   แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้มันไม่เสถียร และ ทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าเออ แน่นอน สิ่งหนึ่งคือ เมื่อเราพูดถึงการแบ่งขั้ว   รู้ไหม ว่าการแบ่งขั้วที่เป็นอยู่ระหว่างหมู่คนร่ำรวยไม่กี่คน และประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเท่าไร ใช่ไหม    ดังนั้น ช่องว่างระหว่างชนชั้นยอดสุด และมวลชนส่วนใหญ่ในสังคมได้ขยายกว้างขึ้น   ตรงนั่นแหละที่กว้างขึ้น    มันไม่ใช่ระหว่างคนจนกับชนชั้นกลาง   ดังนั้น มีคนกลุ่มน้อยอยู่แล้วที่ดิฉันคิดว่า ชอบให้เป็นแบบนี้   และความโกรธแค้นของประชาชนก็ได้แสดงออก ต่อประเภทของผลประโยชน์ และ ชุดผลตอบแทนการว่าจ้าง และโบนัส   ความฟุ้งเฟ้อเลยเถิด  รางวัลที่เกินงาม  กลุ่มอาการสุ่มเสี่ยง    ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้แพร่ระบาดออกไปมาก  และมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนกลุ่มน้อยในหมู่ชนชั้นแรงงาน   ทั่วทุกหนแห่งในระบบชนชั้นแรงงาน มีความรู้สึกสะอิดสะเอียน  และวิกฤตการณ์นี้ ได้เผย (ความเหลื่อมล้ำ) ออกสู่สาธารณะ

ดิฉันคิดว่า บางทีคนต้องยอมรับว่า มีได้ก็ต้องมีเสีย  และเจ้าความเกินพอนี้อัตราการขยายตัว ซึ่งก็ไม่เคยสร้างความมหัศจรรย์ใดๆ ในแถบโลกตะวันตกอย่างที่คิดกัน  แต่เจ้าอัตราความรุ่งเรืองทั้งหลายที่ผู้คนพูดถึงนั้น ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์เราอาจจะตกลงกันได้ด้วยการปรับลดอัตราการเติบโต เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

อาจจะมีดิฉันไม่รู้แน่คนพูดว่า ระดับความไม่เท่าเทียม สามารถจะย่นย่ออัตราการเติบโต กล่าวคือ เมื่อการขยายตัวแปลเป็น (โครงการ/กิจกรรม) การลดความยากจนและ (เพิ่ม) การอยู่ดีกินดี    ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้การขยายตัว มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่  เราต้องเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียม  และเราจะต้องยกประเด็นความไม่เท่าเทียมขึ้นมาถกเถียงกัน

ถ้าการเติบโตที่เรามีอยู่นี้ ได้นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมอย่างสูง  ถ้าประชาชนพูดว่า พวกเขาเครียดมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อน   ในประเทศร่ำรวย  ถ้าเงินที่คนอดออมเงินไว้ ไม่ได้นำไปใช้จ่ายด้านสวัสดิการ  แต่กลับไปใช้ในการสร้างยาม / ป้อมรักษาความปลอดภัย/มั่นคง ในทุกหนแห่ง  แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

โมโมยา:  มีบางคนพูดว่า มันเป็นการยากที่จะเสริมศักยภาพทางการเมือง (politically empowered)  ถ้าคุณไม่มีอะไรจะกิน  ไม่มีที่จะอยู่อาศัย  และคุณก็ยังต้องดิ้นรนอีกมากมาย  มันเป็นการยากที่จะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือมีพลังงานหรือเวลาหรือทรัพยากรพอที่จะเข้าร่วมในระบบการเมือง   แล้วก็มีคนอื่นๆ ที่พูดว่า นั่นเป็นพลังกระตุ้น เช่น การที่อยู่สุดของชายขอบจะถูกบีบให้ต้องส่งเสียงพูดขึ้นมา  ลุกขึ้นเพื่อเรียกร้อง/ต่อสู้กับสิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

คุณมีประสบการณ์ และความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมหรือลดศักยภาพทางเศรษฐกิจ กับ การเสริมหรือลดศักยภาพทางการเมือง

กาบีร์: ดิฉันคิดว่า ทั้งสองเรื่องนี้มันเกี่ยวพันกันนัวเนีย  และดิฉันคิดว่า เป็นความจริงที่ว่า เมื่อคนหิว ไม่มีหนทางที่จะได้รับการดูแลรักษา พวกเขาก็จะหันไปหาทางอะไรก็ได้ที่เขาจะสามารถไขว่คว้า  และบ่อยครั้ง พวกเขาก็มองหาผู้อุปถัมภ์  คุณรู้ไหม เจ้าระบบอุปถัมภ์ อย่างที่มันเกิดขึ้นในซีกโลกของดิฉัน   อืมม์  พวกเขาอาจจะออกไปข้างนอกและลักขโมย  หรือไม่ พวกเขาก็อาจจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง

โมโมยา:  พวกเขาอาจขายเรือนร่างของตนเอง 

กาบีร์:  พวกเขาอาจขายเรือนร่างของตนเอง และทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีงามเลย     มันชัดเจนอยู่แล้วว่า คุณต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง เพื่อจะสามารถ (ออกไป) ส่งเสียงได้   ในอีกด้านหนึ่ง  คุณจะไม่สามารถมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเลย ถ้าคุณไม่สามารถบริหารเสียงของคุณเอง  ใช่ไหม

ดังนั้น ในมุมมองนี้ ดิฉันคิดว่า มันนัวเนียใกล้เคียงกันมาก   สิ่งที่ดิฉันค้นพบจากงานวิจัยของดิฉันเองว่า รอบโลกทุกวันนี้  ในขณะที่ดิฉันไม่ต้องการจะเลือกขั้ว แต่ก็มีประเด็นที่เป็นแก่นสารของสตรีนิยมอยู่ในเรื่องการทำแท้ง  ความรุนแรงต่อผู้หญิง  ระบบสัดส่วนในกระบวนการทางการเมือง ฯลฯ   เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้ดึงผู้หญิงผู้หญิงยากจนในระดับรากหญ้าให้เข้ามามีส่วนร่วม    แต่ผู้หญิงรากหญ้าที่ยากจนกว่า ได้กลายเป็นผู้กระทำแข็งขันทางการเมืองในเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต/ปากท้อง  เรื่องที่ดิน น้ำ สุขภาพ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ดูเหมือนการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงมีสมรรถนะในการหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเองและครอบครัวและลูกๆ เป็นต้นเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะดึงพวกเขาให้มาขับเคลื่อนเรื่องเกี่ยวกับข้าวปลาอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็อาจจะเป็นหนทางที่จะนำพาให้พวกเขาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วย

ในอินเดีย  มีการกำหนดสัดส่วนให้ผู้หญิงในระดับท้องถิ่น ดังที่เพื่อนคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า  นี่เป็นครั้งแรกที่แม่เรือนเป็นจำนวนมากมาย (ออกมา) มีส่วนร่วมทางการเมือง 

แต่ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลนี้ไม่มีการแยกแยะว่า ผู้หญิงประเภทไหนที่เข้าสู่เวทีการเมือง  และ (คงจะเดาได้ว่า) ส่วนใหญ่แล้ว ก็เข้ามาด้วยช่องทางของผู้ชาย เป็นต้น   แต่พวกเขาก็อาจเป็นรุ่นที่สองที่เริ่มจะแข็งขัน    ที่น่าสนใจยิ่ง คือในบังคลาเทศ   งานศึกษาของเพื่อนดิฉันคนหนึ่ง บอกว่า 43% ของผู้หญิงเข้าสู่สนามแข่งขันการเลือกตั้ง และคนหนึ่งมาจากเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่ง   พูดอีกที ก็คือ เราขับเคลื่อนโดยช่องทาง microfinance หรือ ช่องทางการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น

ดังนั้น ดิฉันเดาว่า แบบจำลอง/โมเดล ที่อยู่ในหัวของดิฉัน เป็นประเด็นข้าวปลาอาหาร  ซึ่งดิฉันหมายถึงวิถีชีวิต  ที่ดินทำกิน ฯลฯ  เป็นเรื่องที่จะชักนำผู้หญิงให้ออกมาเป็นจำนวนมาก ถ้าพวกเขามาจากครอบครัวยากจนกว่า   การชักนำผู้หญิงออกมาเป็นจำนวนมาก อาจเป็นราก/ต้นเหตุ ของการนำไปสู่การเสริมศักยภาพทางการเมือง  เข้าสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง   ชักนำให้พวกเธอออกมา เข้าสู่เวทีสาธารณะด้วยกิจกรรม/การงาน   จุดแรกที่พวกเธอจะติดต่อ อาจจะเป็นกลุ่มที่จัดตัวเป็นรูปองค์กร และสหภาพแรงงาน   ดิฉันเห็นว่า มันไม่ใช่แค่ว่าคุณต้องการมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  แต่สิ่งที่คุณให้คุณค่าและใกล้ตัวที่สุดต่างหาก ที่จะกระตุ้นให้คุณออกมาขับเคลื่อน  และด้วยเหตุผลดังกล่าว ดิฉันคิดว่า เศรษฐกิจเป็นช่องทางที่สำคัญในเข้าสู่กระบวนการขับเคลื่อนทางการเมือง

โมโมยา:  ดิฉันคิดว่า นี่เป็นกรอบคิดที่เชื่อมโยงกันได้ดีมากทีเดียว   ดิฉันอยากขอให้คุณช่วยแสดงความเห็น   สิ่งหนึ่งที่เรากำลังมุ่งเน้นอยู่ในงานนิทรรศการ คือ ดูที่การเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย และดูที่ผู้หญิงพื้นเมือง ที่ไม่ใช่ผู้อพยพเข้ามา แต่เป็นผู้หญิงในชนชั้นแรงงาน  ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง   พวกเธอได้รับการส่งเสริมอย่างไร    ที่นั่น มีการลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ (ของผู้หญิง) จริงๆ โดยถือเป็นยุทธศาสตร์อันหนึ่งสำหรับ (เร่ง) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ   แต่ในหลายบริบท ผู้หญิงไม่มีสิทธิทางการเมือง  ใช่ไหม

ดังนั้น ดิฉันสงสัยว่า  และอย่างที่คุณเพิ่งพูดไปเกี่ยวกับผู้หญิงที่ยากจนที่สุด และที่ต้องทำงานในชนบท และการดิ้นรนของพวกเธอ   คุณคิดไหมว่า จะมีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีความสัมพันธ์หรือการประสานกันในประเภทนี้ สำหรับผู้หญิงที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสายรุ้ง... คุณคิดไหมว่า ในกรณีเช่นนี้ ที่มีทั้งการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และภาวะผู้นำ ในหลายกรณีในกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จะมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน   ซึ่งคล้ายๆ กับความสัมพันธ์ในมิติการเสริมศักยภาพทางการเมือง    ดิฉันขอถามแค่อยากรู้

กาบีร์:  ที่พูดไปตอนแรกนั้น มาจากผลงานศึกษาวิจัย   ตอนนี้ คุณถามดิฉัน ให้พูดอะไรบางอย่างที่ดิฉันยังไม่เคยทำงานวิจัยใดๆ มาก่อนเลย  ดังนั้น สิ่งที่ดิฉันจะพูดต่อไป เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของดิฉัน

ดิฉันอยากจะรู้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกส่งเสริม  เช่น ในธนาคารหรือในบริษัท  และถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อพนักงานกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลจัดการของเธอ  คำถามคือ  ณ จุดใด ที่ผู้หญิงคนนั้น เริ่มที่จะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิ์ในการออกเสียง และสิทธิ์ของเธอ ที่จะได้มีตัวแทนในการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศนั้น  ดิฉันไม่รู้  ไม่รู้จริงๆ

มันอาจจะเป็นลิ้นเปิดปิดเพื่อรักษาความปลอดภัย (safety valve) แต่ดิฉันไม่คิดว่า คุณจะสามารถจัดการคนได้ดีอย่างนั้น   คุณอาจคิดว่า ก็ให้พวกเธอมีห้องทำงานใหญ่  ให้พวกเธอมีความสำคัญที่นั่น  แต่มันจะกลายเป็นฉนวนห่อหุ้มพวกเธอให้พ้นจากวงการเมือง   ดิฉันไม่รู้   แต่ดิฉันขอจินตนาการว่า ผู้หญิงที่ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบ และใช้อำนาจบริหารดังกล่าว เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะต้องอยากรู้ว่า สิ่งใดที่ฉันสามารถทำได้ มักจะถูกยับยั้งด้วยการตัดสินใจทางการเมือง   ทำไมฉันจึงไม่ได้มีตัวแทนอยู่ในการตัดสินใจทางการเมืองเหล่านั้น

นั่นเป็นความเห็นของดิฉัน  รู้ไหม ดิฉันเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีตลอดกาล

โมโมยา:  แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่ามีความหวังมากที่สุดในเวลานี้

กาบีร์:  อะไรที่ดิฉันคาดหวังในทางที่ดีหรือ   ดิฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดี   เราแตะเล็กน้อยในเรื่องโลกาภิวัตน์...ไม่จริงนะ  และอย่างที่คุณรู้  มีคนอื่นพูดว่า โลกาภิวัตน์มีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  สิ่งหนึ่งที่โลกาภิวัตน์ได้ทำไว้มันได้เชื่อมคนเข้าด้วยกัน และมันได้นำผู้คนออกมาจากชุมชนปิดโดดเดี่ยวต่างๆ  และเปิดโลกทัศน์ของพวกเขาให้เข้าสู่ความคิดและอิทธิพลหลากหลาย จากทั่วทุกมุมโลก  บางอย่างดี  บางอย่างเลว

แต่ ความหมดอาลัยตายอยากของคนอ่อนแอ ที่ถูกกักกันและจัดการโดยระบอบเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น  อันนี้ก็ถูกทำให้สั่นคลอนด้วยโลกาภิวัตน์ด้วย

ดิฉันได้เข้าไปในหมู่บ้านหนึ่งในบังคลาเทศ ประมาณสิบปีที่แล้ว และก็ได้พบเด็กชายคนหนึ่ง  ดิฉันถามว่า เธอพูดภาษาอังกฤษได้ไหม  เขาพูดไม่ได้ แต่เขาพ่นเสียงรัวออกมา...นี่เป็นทั้งเรื่องดีและเลวของโลกาภิวัตน์...เขาเอ่ยชื่อสกุลเงินตราทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์:  เย็น   เปโซ  ดอลลาร์... เขารู้ได้อย่างไร  ดิฉันไม่ทราบ

แต่รู้ไหม ถนน  การคมนาคม  การขนส่ง  มันได้ทำให้คนใช้อำนาจเด็ดขาดได้ยากขึ้น  เช่น เผด็จการ เป็นต้น  ดังนั้น ดิฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดี

โมโมยา:  เรากำลังเห็นเช่นนั้นในอิหร่าน

กาบีร์:  ใช่แล้ว   และดิฉันก็คาดหวังในทางที่ดีเกี่ยวกับ อำนาจของความคิด  การท่องเที่ยว  และการเปลี่ยน (ความคิดของ) คน    และดิฉันก็คาดหวังในทางที่ดีด้วยว่า นี่จะพิสูจน์ให้เห็น...แม้ว่าบางส่วน จะเป็นการตอบสนองต่อวิกฤต...ว่ามันก็ตอบสนองต่อโอกาสด้วย   ผู้หญิงกำลังออกมาเข้าสู่พื้นที่ตลาด    มันได้ทำให้ผู้หญิงมีอิสรภาพทางการเงินได้ระดับหนึ่ง  หลายคนเดินหลุดรอดออกจากชีวิตสมรสที่มีแต่ความรุนแรงข่มเหง   พวกเธอเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง  บ้างอาจแต่งงานใหม่ หรืออาจไม่  รู้ไหม ชีวิตทั้งครอบครัวอยู่ในสภาวะลื่นไหล

ดังนั้น ดิฉันมีความคาดหวังในทางที่ดี ที่ว่า คนจะเริ่มมองเห็นว่าพวกเขาไม่ได้ถูกจำกัด/จองจำอยู่ในเส้นทางเพียงหนึ่งเดียว (ด้วยข้ออ้างที่) ว่ามันเป็นวิถีธรรมชาติในการดำเนินความสัมพันธ์เชิงเพศภาวะ   พวกเขามองเห็นแบบจำลอง/โมเดลของทางเลือกนานัปการ   ดิฉันคิดว่า มันยากขึ้นที่จะกักกดคนให้อยู่ภายใต้นิ้วหัวแม่มือของคุณ ในเมื่อวิสัยทัศน์ใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้เปิดกว้างขึ้น   ดังนั้น ดิฉันมีความคาดหวังในทางที่ดี

โมโมยา: นี่ก็ถึงตอนจบที่เหมาะสม  ขอบคุณ
ผู้แปล  ดรุณี ตันติวิรมานนท์
10-17-09

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น