วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เหลือง-แดง: ความหลากหลาย และอาการ

ผู้หญิงเสื้อเหลืองในสังคมภาคเหนือ : กรณีเปรียบเทียบผู้หญิงเสื้อแดง
-นงเยาว์ เนาวรัตน์-

"..เหลืองมีหลากหลายมาก พอแยกได้เป็น เหลืองภาคพลเมือง หมายความว่า ตัวเองไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้ง...แต่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ...เหลืองกลุ่มที่สอง เป็นเหลืองชาติและสถาบัน คือหวงแหนสถาบันเบื้องสูงและสมบัติของชาติ..เหลืองกลุ่มที่สามนี่บอกชัดเจนเลยว่าเป็นเหลืองประชาธิปัตย์ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล...และสุดท้ายอันนี้ก็เหลืองสถาบัน อันนี้รักและเทิดทูลตัวสถาบันและที่กลายเป็นพวกเหลืองเพราะรู้สึกว่าสถาบันถูกกระทบ ถูกจาบจ้วง..."

ในตอนแรก เราพอจะได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่ง (ด้านสังคมวิทยา) ของคนเสื้อแดงไปแล้ว ในตอนนี้จะเป็นการนำเสนอกลุ่มคนเสื้อเหลืองบ้าง ซึ่งมีพลวัตรไม่ต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงเท่าไหร่ มีการปรับเปลี่ยนความคิดไปตามยุคสมัยในแต่ละช่วงเวลา มีอุดมการณ์ มีภูมิหลังอันน่าสนใจ หล่อหลอมให้พวกเขากลายมาเป็น "คนเสื้อเหลือง"
ผศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนอภิปราย ได้นำเสนอจากประสบการณ์ที่เข้าไปคุย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อทำวิจัยเรื่อง "ผู้หญิงเสื้อเหลืองในสังคมภาคเหนือ : กรณีเปรียบเทียบผู้หญิงเสื้อแดง" ฉะนั้นเนื้อหาในการอภิปรายจะเปรียบเทียบเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตลอด จนทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจ 

ความคิดผู้หญิง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อนการเมืองเหลืองแดง

                ผศ.ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องความคิดทางการเมืองของผู้หญิงรากหญ้า ขอเรียนในเบื้องต้นหรือสารภาพบาปก็ได้ว่า สิ่งที่จะนำเสนอไม่ใช่เป็นงานวิจัย แต่เป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการลงไปฟังประสบการณ์ของผู้หญิงเสื้อแดงรากหญ้าในหมู่บ้าน  ทั้งที่ไปและไม่ไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ ชื่อเรื่องที่จะนำเสนอ คือ "การเมืองเสื้อเหลือง: บททดลองเสนอกรณีในสังคมภาคเหนือ" นี้ ดร.อภิญญาก็ตั้งให้ แต่เรียนไปว่าจะเน้นแต่เฉพาะผู้หญิง
            การจะไปคุยกับเสื้อแดงเป็นเรื่องลำบาก ก็เลยโทรศัพท์ไปหากลุ่มผู้นำรากหญ้าที่เคยร่วมทำงานด้วยกันมาว่า จะลงไปคุยกับคนเสื้อแดงนะช่วยติดต่อให้หน่อย เพราะเดี๋ยวเขาจะไม่คุยด้วย เผอิญว่าในงานศพของสามีผู้นำ เราก็มีโอกาสได้เจอสตรีรากหญ้าประมาณ 15 คน แต่พอเปิดประเด็นคุย ก็ตกใจ ปรากฏว่าทั้งหมดเลยก็ว่าได้เปิดอกว่าบอกว่า เขาเป็นเสื้อเหลืองนะ และถามว่าเสื้อเหลืองคืออะไร เขาก็ตอบง่ายๆ นิยามตัวเองอย่างง่ายๆว่าคือ คนที่ไม่ต่อต้านรัฐประหารและไม่เอาคุณทักษิณ จึงขอให้สตรีเสื้อเหลืองช่วยติดเสื้อแดงให้  ขณะที่กำลังลงไปคุยในพื้นที่แบบสนุกๆอยู่อย่างนี้  อ.ปิ่นแก้วก็เลยขอให้มาเล่าการเมืองของผู้หญิงเสื้อเหลือง เนื่องจากในพื้นที่ของอาจารย์แทบจะไม่มีใครเป็นเสื้อเหลืองเลย หลังจากชวนเสื้อเหลืองไปคุยเสื้อแดงหลายครั้งเข้า  ปรากฏว่าคุยไปคุยมาเขาก็บอกว่าเขาไม่ใช่เหลืองจัดหรอกนะ  เห็นด้วยกับแดงหลายเรื่องเหมือนกัน
            สรุปวันนี้เลยไม่แน่ใจว่าจะเล่าเรื่องการเมืองของเหลืองหรือแดงกันแน่ เอาแบบผสมๆแล้วกัน เนื่องจากความคิดของพวกเขาดูมันมีพลวัตพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มเหลืองที่มาปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงในช่วงหลังก็เปลี่ยนความคิดไปเยอะทีดีเดียว ส่วนแดงก็เช่นกันเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันอยู่บางเรื่อง
            เมื่อไม่ได้เป็นวิจัยก็เลยไม่ได้มีคำถามอะไรที่ชัดเจน เพียงแต่ตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า วาทกรรมทั้งหมดที่ อ.ปิ่นแก้วพูดตะกี้ทั้ง 4 กระแส น่าจะเป็นความคิดหรือวาทกรรมของผู้นำหรือชนชั้นกลางหรือผู้ชายมากกว่า คิดในใจนะ เพราะว่าผู้หญิงที่ไปนั่งอยู่ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มสนาม ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐสภาหรือสี่แยกราชประสงค์ ยังไม่เห็นว่าผู้นำรากหญ้าคนไหนลุกขึ้นมาบอกว่าตัวเองคิดอย่างไร อะไรคือการเมืองของตัวเองชัดๆ ก็เลยคิดว่าเราก็ทำงานกับรากหญ้ามาแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสลงไปคุยกับเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้น
            การพูดคุยได้เลือกลงใน 2 พื้นที่ด้วยกัน พื้นที่แรกถือว่าเป็นพื้นที่หลัก และที่เหลือเป็นพื้นที่รองแต่ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แต่ที่จะเล่าจะเน้นประสบการณ์ในพื้นที่หลัก
            พื้นที่หลักมีความคุ้นเคย เพราะเคยลงไปทำวิจัยมาก่อน ในช่วงปี 40 หลังจากนั้นก็ลงไปเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว หลังปี 40 หมู่บ้านนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป หัตถกรรม ทอผ้า แล้วก็เป็นหมู่บ้านเรียกว่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย ในเชิงการเมืองก็เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกับไทยรักไทยมาก่อน ก่อนหน้านั่นเป็นฐานการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ คือ ความหวังใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งสองพรรคแย่งชิงพื้นที่กันมา แต่ท้ายที่สุดก็ได้ความหวังใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำอาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานเสียงที่สำคัญของสส. ความหวังใหม่  หลังจากนั้นผู้นำก็มาอยู่กับไทยรักไทย ไม่ว่าพรรคจะเปลี่ยนชื่อกี่ครั้งก็ตาม มีอยู่ส่วนน้อยที่ยังเป็นฐานของประชาธิปัตย์ พอเป็นหมู่บ้านโอท็อปสิ่งที่น่าสนใจคือว่า และเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้วยผู้หญิงเลยเป็นตัวหมากสำคัญ เมื่อไปคุย ทั้งเหลืองทั้งแดงก็พูดว่าในยุคไทยรักไทย เรียกได้ว่าหมู่บ้านของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยู่ในยุคทองก็ว่าได้ ก่อนปี 40 เขายังไม่เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมโอท็อป แต่ก็ทำหัตถกรรมมายาวนานต่อเนื่องมาจากป่าซาง หมู่บ้านนี่ก็เป็นที่ดูดซับแรงงานจากในเมืองมากทีเดียว ผู้หญิงเป็นผู้กุมเศรษฐกิจหัตถกรรมทอมือทั้งหมดเลย อันนี้เป็นประเด็นที่ตนสนใจ พอกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป พื้นที่ทางเศรษฐกิจก็เปิดให้ผู้หญิงมากขึ้น ที่เคยเป็นแรงงานรับจ้างก็กลายเป็นผู้ประกอบรายย่อยขึ้นมา ผู้ซึ่งเคยประกอบการรายย่อยก็กลายเป็นนายทุนน้อยขึ้นมา ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิงเรียกได้ว่าล่ำซำมาก เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
            ตรงนี้เห็นชัดเจน พวกเขาทั้งเหลืองทั้งแดง สรุปว่า นโยบายไทยรักไทยมีความโดดเด่น ทั้ง 2 ขา ขาที่หนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจซึ่งโดดเด่นมากและเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ขาที่สอง คือ เพิ่มระบบสวัสดิการ หรือด้านนโยบายประชานิยมก็ตรงใจผู้หญิงเช่นกัน ทั้งนี่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องการระบบสวัสดิการครอบครัว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและนโยบายอื่นๆทำให้ผู้หญิงติดใจการเลือกตั้ง ติดใจพรรค ทั้งๆที่ในปี 40 ไม่ปรากฏว่าสนใจพรรคและสส.ที่เลือกมากมายขนาดนี้ หมู่บ้านนี้ จึงกลายเป็นฐานของเสื้อแดงเกือบทั้งหมด เหลือเป็นเหลืองอยู่ไม่กี่คน เขาสาธยายว่า งบประมาณที่คุณทักษิณลงมาให้หมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 3 ล้านบาท  โดยที่ไม่ต้องเขียนโครงการให้หน่วยราชการที่มักสร้างความยุ่งยากให้ชาวบ้าน คือ ต้องแก้ไขหลายครั้งจึงผ่านได้ แม้งบไม่กี่พันบาทก็ตาม  ส่วนในสมัยคุณทักษิณ งบ 1 ล้านแรก ไม่ต้องทำอะไรเลย หน่วยราชการทำให้ เพื่อประชาสัมพันธ์งานโอท็อป ที่สร้างรายได้ต่อยอดให้หมู่บ้านได้อีกหลายเท่า ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้กุมเศรษฐกิจของชุมชนและครอบครัว และจากตรงนี้เองที่เขาบอกว่า ทำไมการเลือกตั้งจึงมีความหมาย เพราะเลือกแล้วเห็นหมู่บ้านเปลี่ยนไป และการเลือกพรรคมีความหมาย เพราะคิดว่ามีผลต่อนโยบายที่ต้องใจทั้งสองขา  บางคนคิดว่าเลือกพรรคเก่าน่าจะมีหลักประกันในเชิงนโยบายมากกว่า  ตัวอย่างหนึ่งที่อาจเป็นตัวสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจรากหญ้าในหมู่บ้าน ก่อนปี 40  ซึ่ง เป็นช่วงเศรษฐกิจดี ผู้หญิงคนหนึ่งมีคนงาน 14 คน เฉพาะคนงานทอผ้าฝ้ายนะ เศรษฐกิจตกลงในปี 2540 จึงกระทบต่อการผลิต จึงหดตัวลงมา เขาเก็บคนงานทอไว้ 7 คน ที่เหลือเปลี่ยนสภาพการจ้างเป็นชิ้นๆไป แต่กิจการกลับฟูขึ้นอีก จนกระทั้งมีคนงานเพิ่มเป็น 25 คนในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ เมื่อหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป เจ้าของูธุรกิจข้างต้นเริ่มขยายร้านออกไป อีก 2 แห่งในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ตัวอย่างแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าเขา เปลี่ยนไปอย่างไร อีกคนชี้ให้ดูบ้านของตัวเอง เสื้อแดงคนนี้ตอนนี้ มีปิ๊กอัพด้วย พาคนไปกรุงเทพฯด้วย ปิ๊กอัพและสภาพบ้านที่ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งลูกที่สามารถเรียนหนังสือได้ ต่างเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตอนปี 40 เขาสองคนผัวเมียรับจ้างทำงานเป็นชิ้นๆเท่านั้น ในแง่ของผู้หญิงจึงน่าขบคิดว่า ปรากฏการณ์การเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการเมืองแบบเลือกขั้วอย่างไร  แต่จากที่ฟัง การมีธุรกิจส่วนตัว มีรถปิ๊กอัพ ทำให้พาเพื่อนไปไหนก็ไปได้ มีมือถือมีทุกอย่างเลย และการที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการมีนัยยะที่สำคัญมาก ทำให้หวงแหนการเลือกตั้งมาก ผู้หญิงกลุ่มนี้ตอนที่ทำวิจัยในปี 40 เขาไม่ใช่กลุ่มคนที่มีฐานะดี เพราะฉะนั้น ฐานะของเขาขยับมากในช่วงหลังนี้

การมองคนเสื้อแดงและความหลากหลายของผู้หญิงเสื้อเหลือง

                ประเด็นที่นำเสนอจะได้เตรียมมา 3 ประเด็น คือ ผู้เล่าเรื่อง/ใครคือเหลือง/แดง การกลายเป็นเหลืองในแต่ละยุคและการเมืองเหลือง-แดงแยกขั้วเลือก ข้างหรือไม่อย่างไร แต่คิดว่าถ้าคุยทั้ง 3 เรื่อง อาจจะไม่จบในเวลาสั้นๆ จึงเน้นที่ประเด็นแรกว่าใครบ้าง คือ ใครคือเหลือง/แดง และการเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี่แยกขั้วจริงหรือเปล่า จะเล่าเท่าที่เวลามีอยู่ก็แล้วกัน
                ใครคือเหลืองและแดง คนที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลืองนี่มี ทั้งหมดสีละ 7 คน ซึ่งฝ่ายเหลืองเป็นผู้นำทั้งหมด แต่ตอนแรกบอกว่าเหลือง คือไม่เอาคุณทักษิณ และเลือกรัฐประหาร แต่พอคุยกับจริงๆ ทั้ง 7 คนไม่ใช่เหลืองประเภทเดียวกัน ปรากฏว่าเหลืองมีหลากหลายมาก พอแยกได้เป็นเหลืองภาคพลเมืองหมายความว่าตัวเองไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้ง หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งมากนัก แต่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะอยากเก็บสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องการเห็น สมบัติชาติถูกถ่ายโอนให้นายทุนต่างชาติ เหลืองภาคพลเมืองกลุ่มต่อมาเป็นเหลืองที่หวงแหนสถาบันเบื้องสูง เหลืองกลุ่มที่สองเป็นเหลืองชาติและสถาบัน คือหวงแหนสถาบันเบื้องสูงและสมบัติของชาติ  เหลืองกลุ่มนี้ ก็เหมือนกับกลุ่มแรกนะคะ คือไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้งมาก เปิดกว้างให้กับพรรคไหนก็ได้ บางคนบอกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้ลงในช่อง no vote ผสมกับประชาธิปัตย์ เหลืองกลุ่มที่สามนี่บอกชัดเจนเลยว่าเป็นเหลืองประชาธิปัตย์ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล มีเหลืองประชาธิปัตย์บางส่วนพ่วงความคิดในการปกป้องสถาบันเบื้องสูงด้วย และสุดท้ายอันนี้ก็เหลืองสถาบัน อันนี้รักและเทิดทูลตัวสถาบันและที่กลายเป็นพวกเหลืองเพราะรู้สึกว่าสถาบันถูกกระทบ ถูกจาบจ้วง สนับสนุนรัฐประหารเพราะแดงจาบจ้วงสถาบัน ไม่แตะต้องเรื่องสมบัติชาติ หรือประเด็นทุนข้ามชาติ การอันนี้คือความหลากของเหลือง  แต่แอบชอบนักการเมืองอย่างคุณชวน
            แล้วพอกลับไปที่แดง แดงก็ระบุตัวเองแบบหลากหลายมากเช่นกัน ที่สำคัญเหลืองในหมู่บ้านมองแดงแบบหลากรูปมาก และเหลืองก็สามารถระบุแดงได้ค่อนข้างตรงกับที่แดงระบุตัวเองด้วย แสดงว่าข้อมูลเขาถึงกันมากเลย อย่างดิฉันบอกว่าดิฉันอยากจะคุยกับเสื้อแดง เขาถามว่าจะคุยกับใคร ดิฉันคิดง่ายๆว่า 1 เอาแดงที่เผยตัวเองและกล้าบอกคนที่อยู่ในตลาด/ชุมชนว่าว่าตัวเองเป็นแดง เขาบอกโอ๊ยอาจารย์อย่างนี้มีเยอะ แต่อาจารย์ต้องเลือกมาสักแดง ในที่สุดเขาก็เลือกให้ไปคุยกับแดงที่รู้สึกว่า คิดถึงคุณทักษิณในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบุญคุณซึ่งอิงกับนโยบายประชานิยม เขาก็เลือกมาให้ อีกส่วนหนึ่งเราก็บอกว่าเราอยากได้แดงที่ไปกรุงเทพฯมา โดยเฉพาะที่อยู่ที่วัดปทุมฯในช่วงสุดท้ายอยากจะคุยถึงความรู้สึก เขาก็บอกว่าถ้างันก็ต้องไปหาแดงอุดมการณ์ แดงประเภทอุดมการณ์มักไปกรุงเทพด้วยทรัพยากรตัวเอง แล้วเขาก็พาดิฉันไปหาแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน ก็ไปเจอแดงมีอุดมการณ์ ก็คุยกัน 3-4 ชั่วโมง ดิฉันไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย ชีวิตตื่นเต้นไปหมดว่าทำไมเราถึงได้ล้าหลังขนาดนี้  ที่สำคัญพอไปถึง แดงก็บอกว่าเขาเป็นแดงที่มีอุดมการณ์จริงๆ นะ แสดงว่าจริงๆว่าชาวบ้านเขาเข้าถึงกันมาก เขามีช่องทางสื่อสารกันหลายระดับ สื่อแนวตั้งแม้จะฟังกันคนละช่อง แต่มีสื่ออื่นๆ ในการสื่อสารอีกเยอะมาก แล้วเขาก็ไม่ปิดกั้นการติดต่อ  ไม่ได้แยกกันอยู่อย่างที่เข้าใจ แต่ระมัดระวังไม่กระทบความชอบของกันและกัน จึงสามารถแนะนำได้ว่าอันนี้แดงบุญคุณ แดงสองมาตรฐาน แดงอุดมการณ์ และแดงบุญคุณก็แบ่งเป็นแดงที่ชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแดงสำนึกบุญคุณที่ผูกพันกันหลายชั้น เขาบอกว่าตัวเองไม่สนใจอุดมการณ์สองมาตรฐานนะ แต่รู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ตัวเองรุ่งเรืองที่สุดและตัวเองอยากได้พรรคการเมืองแบบนี้กลับคืนมาที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เขาอยากได้นักการเมืองที่ค้าขายเป็น กลับมาเป็นนายก ส่วนแดงอุดมการณ์ส่วนใหญ่คิดเรื่องสองมาตรฐานซึ่งประสบการณ์เขานี่น่าสนใจมากๆ ส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาประสบในชีวิตประจำวัน เมื่อชาวบ้านเข้าไปสัมพันธ์กับภาครัฐ/ข้าราชการ ที่พวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความสนใจ/มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน ถูกปล่อยให้คอย และการใช่สายตา และท่าทางดูแคลน เป็นต้น ระบบอำมาตย์จึงมิใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องนามธรรมแต่อย่างใด   

ภูมิหลังของผู้หญิงเสื้อเหลือง

            ตนได้เอาเหลืองแดงทั้งหมดมาใส่กล่องนิดหน่อย แบ่งเป็น 3 กล่อง คือ ความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวราชการ พฤติกรรมการเลือกตั้ง และบทบาทในพื้นที่สาธารณะ แต่จะไม่วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็นเหลืองและแดงหรือไม่ อย่างไร  และเหลืองแดงเป็นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พวกเขาเริ่มสนในการเมืองแบบเลือกขั้ว หรือเริ่มกลายเป็นเหลืองแดงในเวลาใกล้เดียงกัน  คือประมาณ ปี 2548-ต่อปี 2549  โดยฟังวิทยุและสื่อประเภทเดียวกันในช่วงแรกๆ อาทิ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แต่คิดและตีความไปคนละอย่าง  ข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมหลังจากนั้นจึงตัดสินใจเลือกขั้วการเมืองต่างกัน  และมีท่าทีต่อเรื่องสำคัญสองเรื่องต่างกันออกไป คือ เหลืองเลือกยืนข้างรัฐประหาร ปฏิเสธคุณทักษิณ ทั้งๆที่ไม่มีใครที่คุยด้วยยอมรับรัฐประหารอย่างสบายใจ แต่ต้องหลับตายอมรับอำนาจนอกระบบ  ส่วนอีกกลุ่มเลือกคุณทักษิณ ไม่ยอมรับรัฐประหารเอามากๆ โดยเฉพาะการแลกคุณทักษิณกับรัฐประหารยิ่งยอมแทบไม่ได้  อาจเป็นความบังเอิญก็อาจเป็นได้ ปรากฏว่าคนที่เป็นเหลืองยกเว้นคนสุดท้ายนี่ เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวราชการทั้งหมด และที่ดิฉันเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 40 เขาก็เป็นคนมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงมาตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณแล้ว มีทุกอย่างทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และที่ดิน แต่คนที่เป็นแดง บางคนเป็นคนรวยหรือเป็นผู้มีอันจะกินที่เริ่มต้นในยุคคุณทักษิณ ยกเว้นคนนี้คนเดียวที่เป็นข้าราชการทหารที่ลาออกเนื่องจากความแค้นเรื่องถูกกดขี่จากเจ้านาย ส่วนคนอื่นๆก็เป็นอย่างนี้กันหมดเลย  คือ เป็นผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นแม่ค้าในตลาด รวมทั้งเป็นเกษตรกรรายย่อย
            พอมาถึงการเมืองในช่องที่สอง พิจารณาความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเหลืองทั้ง 7 คน มี 5 คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และ no voted มีเหลืองคนเดียวที่คาดว่าลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย
ส่วนคนที่เป็นแดง 7 คน มีอยู่ 1 คนบอกว่าลงคะแนนครั้งสุดท้ายให้กับพรรคพลังธรรม และชอบคุณจำลอง มาก หลังจากนั้นก็ไม่เคยลงคะแนนให้ใครอีกเลย พอมีช่องโนโหวต ให้เลือกก็เลือกโนโหวตตลอด ส่วนที่เหลือลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย
            ช่องสุดท้ายที่ดูว่าเหลืองแดงเป็นใคร คือ พื้นที่เครือข่ายการเมือง/บทบาทในชุมชนของพวกเขา  ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจในการมองการเมืองผู้หญิง ผู้หญิงส่วนหนึ่ง ทั้งสองสี บอกว่าเศรษฐกิจในยุคพรรคไทยรักไทยเปิดโอกาสให้พวกผู้หญิงในหมู่บ้านมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสีแดงกลับหดตัวลงมา ทำให้ที่ทางและตัวตนของเขาในเชิงเศรษฐกิจเป็นประเด็นเปาะบาง จึงเริ่มอึดอัด  ความอึดอึดของเสื้อแดงยังเกี่ยวกับบทบาทในชุมชนด้วย กลุ่มเสื้อเหลืองมีช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรกว้างมาก หลายคนกลายเป็นผู้นำในระดับชาติ ส่วนเสื้อแดงแทบไม่มีเครือข่ายและบทบาททางสังคมในหมู่บ้านที่เป็นผู้นำเลย มีอยู่ 1คนที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการตัวตนและความเป็นผู้นำในหมู่บ้าน คนนี้เก่งมาก ได้รับรางวัลการทำเกษตรในเชิงทางเลือกและเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงกบเลี้ยงเขียดเก่งมาก แต่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลสาธารณะ จากกลุ่มอำนาจในหมู่บ้าน เขาดิ้นรนมากต้องการแสดงความเป็นผู้รู้ ผู้นำในระดับตำบล หมู่บ้าน แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากอบต.และหน่วยราชการในหมู่บ้านเลย เขาคิดว่าเขาถูกผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน และอำเภอมองข้ามเบียดบังความสามมารถ และความตั้งใจ หรือมีสองมาตรฐาน เพราะมักเอางบประมาณไปให้แม่นายกอบต.ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในงานของตำบล ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีโครงการทดลองหรือนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ  เขาเสนอตัวเองว่าเป็นแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน กลุ่มแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน พบว่ายิ่งดิ้นรนมาก ก็แค้นมากที่ตัวเองถูกกด ตรงนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เล่ามาก จริงๆแล้วการถูกกดซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตประจำวันดูเหมือนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทำให้สนุกในการเข้าร่วมเวทีชุมนุมและมีพลังกลับมา
            ส่วนที่ดิฉันไปคุยเรื่องสองมาตรฐาน ผู้หญิงสะท้อนมากเลยว่ามันมาจากประสบการณ์ ของตัวเองที่พบเจอในชีวิตประจำวัน คือไม่เกี่ยวว่าข้างบนจะพูดอะไรเรื่องสองมาตรฐานในเวทีราชประสงค์ แต่ประสบการณ์ตัวเองบอกว่าพวกเขาเจอกับมัน และเจอทั้งเหลืองและแดง เหลืองรู้สึกว่าความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวข้าราชการทำให้มีเกาะคุ้มกันบ้าง แต่แดงหลายคนเจอะเจออย่างจังและซ้ำซาก อาทิ ไปอำเภอก็จะเจอข้าราชการปล่อยให้คอย บอกว่าเจ้าที่ประจำลาบ้าง  ไปกินข้าวบ้าง แต่พอข้าราชการมาขอบริการ บอกว่าต้องรีบทำให้จะได้ไม่ต้องลางานมาติดต่อราชการหลายวัน  แดงอุดมการณ์สองมาตรฐานระบายว่าเมื่อก่อนก็อดทนเพราะรู้ว่าพูดไปก็เท่านั้น เขาไม่ฟัง แต่ตอนนี้อัดอั้นไม่อยากทนแล้ว  ที่ไปร่วมเวทีก็ไประบายความอึดอัดและทำไปด้วยอุดมการณ์สองมาตรฐาน การถูกเบียดออกจากพื้นที่สาธารณะจึงมีส่วนให้หลายคนกลายเป็นแดง

การเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี้แยกขั้วจริงหรือเปล่า : พลวัตรทางความคิดของผู้หญิงเสื้อเหลือง

            ดังที่พูดในตอนต้น ความรู้สึกกลายเป็นแดงและเป็นเหลืองมันเกิดพร้อมกันประมาณปี 48-49 เขาเริ่มต้นพร้อมๆกันเลย แต่อะไรไม่ทราบที่ทำให้เขารู้สึกและบอกว่าตัวเองเป็นเหลือง แต่อีกคนขอบอกว่าตัวเองเป็นแดง เริ่มจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แดงบอกว่าฟังแล้วโมโห เหลืองฟังแล้วเกิดความรู้สึกหวงสมบัติชาติ เกลียดผู้นำไม่ซื่อสัตย์ และขี้โกง ส่วนแดงบอกว่าในโลกนี้มันจะมีคน โกงเพียงคนเดียวเหรอ คนอื่นไม่มีใครโกงเลยเหรอ จึงขุดคุ้ยอยู่คนเดียว จึงโมโหและคิดว่าเป็นสองมาตรฐาน อีกคนบอกว่ายิ่งฟังยิ่งชอบ และยอมรับให้มีรัฐประหาร ทั้งๆที่เคยต่อต้านสมัยพฤกษาทมิฬ  โอ้โห คือเหมือนกับว่าเริ่มต้นมาพร้อมๆกันแล้วเพิ่งมาแยกทีหลังนะคะ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือว่าการเป็นเหลืองและแดงมีพลวัตมากและมีความผสมผสานกันหลายเรื่องมาก ตนจึงแบ่งเหลืองออกเป็น 3 ยุคคร่าวๆ
ตอนเริ่มต้นคุย ดิฉันเริ่มจากกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลือง และทำความเข้าใจว่าทำไมคิดว่าตัวเองไม่ใช่แดง  เหลืองแม้หลากในกลุ่มตัวเองแต่นิยาม แบบรวบยอดว่าสั้นๆว่า ก็เขาไม่ต่อต้านรัฐประหาร เขาอยากปกป้องสถาบัน สมบัติชาติจากนายทุนต่างชาติ และเหลืองชอบพันธมิตรมาก พันธมิตรสุภาพ ไม่ชอบความรุนแรง ที่สำคัญ ไม่เคยตั้งใจที่จะพาคนไปตาย เมื่อไรที่ยกระดับไปถึงความเสี่ยงพันธมิตรก็จะลดลงมา เขารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ชอบประชาธิปัตย์อย่างที่คุยไปแล้ว นอกจากนี้ผู้นำหน้าตาดี แล้วมีหลายโมเดลมากด้วย คนที่ชอบในตัวคุณจำลองก็สามารถอยู่รวมกับความคิดและการนำของคุณจำลองได้ คนที่ชอบคุณสนธิ ก็เช่นกัน เรียกว่า 5 คน 5 โมเดล ท่าน ทั้ง 5 สามารถสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้นำในหมู่บ้านไปผูกพันกับแต่ละคนได้เหมือนกับดารา
            พอยุคที่สอง หลังจากเสื้อแดงมาครองเมืองแทนเสื้อเหลือง การเมืองของคนเสื้อเหลืองก็เปลี่ยนไป คือยังกลัวคุณทักษิณอยู่ แล้วก็ไม่ชอบนปช.เพราะรุนแรงก้าวร้าว เอาคนไปตาย ชอบใช่วาจาก้าวร้าวสถาบันเบื้องสูง แต่รู้สึกผิดหวังรัฐประหาร รัฐบาลของคุณสรยุทธ์ก็ตอบโจทย์พวกเขาไม่ได้ บางคนไม่แน่ใจว่าสมบัติชาติและการโกงชาติได้ถูกกำจัดไปได้จริงหรือเปล่า และมิหนำซ้ำการพัฒนาในชนบท เขามองประเด็นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ให้ถึงรากหญ้า พบว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาเก่าที่คุณทักษิณเคยกวาดออกไปกลับมาเหมือนเดิม บางคนเริ่มลังเลว่าจะเลือกรัฐประหารอยู่หรือเปล่าถ้าเวลาย้อนกลับไปได้ บางคนแม้ลังเลแต่คิดว่าอาจเลือกทางเดิมเพราะตีบตันคิดไม่ออกว่ามีพลังทางเลือกอื่นๆให้หยิบใช้ได้ รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่เก่งเศรษฐกิจรากหญ้า
            เหลืองยุคที่สาม หลังจากเหลืองพาติฉันไปคุยกับแดง เราก็ได้เหลืองใหม่  คือ พอคุยไปคุยมา เขาก็บอกว่าตัวเองจริงๆไม่ใช่เหลืองจ๋าหรอก ก็เห็นด้วยหมดแหละที่แดงพูด ยกเว้นนปช.ที่ยังไม่ชอบเพราะนิยมความรุนแรง ส่วนที่เห็นด้วย อาทิ นโยบายของคุณทักษิณที่โดดเด่น ทั้งสองขาจริงๆ  คือ ขา เศรษฐกิจรากหญ้าและประชานิยม รัฐประหารก็เห็นด้วยว่าไม่ควรมีแล้ว ส่วนสถาบันเบื้องสูง ไม่ชอบแดงที่ชอบใช้วาจาจาบจ้วง ไม่เหมาะสม แต่หลายๆส่วนก็สร้างความลำบากให้ชาวบ้านจริงๆ
ในการพูดคุยกับแดง แดงก็บอกว่า โดยเฉพาะแดงที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องตอบแทนบุญคุณคุณทักษิณ เขาบอกว่าสิ่งที่อยากจะเห็นคืออยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนก็แล้วแต่ที่สามารถสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับนโยบายช่วยรากหญ้าได้จริงๆ อย่างประชาธิปัตย์ค้าขายไม่เก่ง ก็ต้องทำให้ประชานิยมที่มีอยู่ให้มั่นคงและต้องทำให้ดีกว่าเก่า ให้มากกว่าเก่า แดงมองว่านโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์ยังไม่มีอันไหนเด่นเกินของคุณทักษิณ  อย่างดีแค่เสมอตัว แต่วันหนึ่งแดงอุดมการณ์ก็เสนอว่า แต่เรื่องการประกันราคาข้าวล่วงหน้า อันนี้ถูกใจชาวนามาก เขาบอกอีกว่าถ้าประกาศว่าต้องทำและขยับไปเรื่อยๆอย่างนี้ ชาวบ้านก็จะเริ่มมีความมั่นใจว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพรรคเดิม แต่ที่คิดถึงพรรคเดิมเพราะเขาต้องการจะมีความมั่นคงในแง่ของสวัสดิการ อันนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคแล้ว แต่ที่อยากเก็บพรรคไทยรักไทยไว้ก็เชื่อมั่นว่าตรงนี้ต้องมีต่อแน่นอน
สำหรับสองมาตรฐาน เหลืองใหม่บอกว่าสองมาตรฐานนี่ทุกคนเจอหมดเลยผู้หญิง และทั้งเหลืองทั้งแดงบอกว่าเป็นความขัดแย้งชัดเจนระหว่างเขากับข้าราชการ เพราะสองมาตรฐานหรืออำมาตย์นี่เขาไม่ได้พูดถึงใครที่อยู่ไกล แต่อำมาตย์ที่เขาเห็น คือครูในโรงเรียน คือนายอำเภอ คือหมอพยาบาล คือคนที่เขาติดต่อในชีวิตประจำวันที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนเลย ไปโรงพยาบาลใครมาก็ไม่รู้แซงคิวไป ไปอำเภอก็นั่งหวีผมไม่ถามเลย แล้วพออีกคนรู้ว่าเป็นข้าราชการก็บอกว่าโอ้ต้องรีบทำให้ก่อน เพราะเขาจะต้องลางานมาใหม่ ชาวบ้านมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้เยอะมาก และบอกว่านี่คือสองมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องอำมาตย์กับไพร่ไกลตัว เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แล้วเขารู้สึกว่าตอนที่คุณทักษิณอยู่นี่ข้าราชการดูแลชาวบ้านมากกว่าประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์นี่ไม่ดูแลข้าราชการเลย ปล่อยให้ข้าราชการกดหัวประชาชน เคยทำงานตอนเที่ยงก็ไม่ทำ เคยพูดดีก็ไม่ดี คนหนึ่งบอกว่าเขาไปทำบัตรสมาร์ตการ์ด พอยื่นบัตรข้าราชการบอกว่าไปทำที่ ดูไบโน่น ไปทำกับทักษิณที่ดูไบโน่น โกรธมากกลับบ้านไปใหม่ คาดผมด้วยผ้าสองมาตรฐานเข้าไปเลย แล้วก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง นี่คือตัวอย่างสองมาตรฐานที่เขารู้สึกตลอดเวลาก็คือการที่เขาปะทะในชีวิตประจำวัน เขาต้องการพรรคการเมือง พรรคไหนก็ได้ ที่พิสูจน์ว่าดูแลเขามากกว่าข้าราชการ แต่ประชาธิปัตย์ดูแลราชการมากกว่าประชาชน เขารู้สึกอย่างนั้น

แหล่ง อีเมล์ส่งต่อ/10-10-10

อิสลาม: ศรัทธาและปฏิบัติที่หลากหลายในอินโดนีเซีย –Ariffin

ผู้คัดค้าน และ ผู้คล้อยตาม: ภูมิศาสตร์ของอิสลามในอินโดนีเซีย[1]
ชามิลา แอนนี บินติ โมฮัมเหม็ด อริฟฟิน (เอพีไอ รุ่น 4)
มาเลเซีย


ในบทความของ Christopher Prendergast เรื่อง Codeword Modernity (2003) ที่วิจารณ์หนังสือของ Federic Jameson เรื่อง The Singular Modernity ได้จารนัยถึงอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังคำว่า สมัยใหม่ (modernity)   Prendergast แย้งว่า สมัยใหม่ มักจะปฏิบัติการดุจ หมวดต้นแบบของกาลเวลา (master category of the time) และมักจะตั้งตัวเป็นนิทานที่ มีสัตยาบานรองรับ. ... นิทานที่ปรุงสร้างขึ้นด้วยการมองย้อนอดีต ผ่านกลไก ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้เลือกไว้แล้ว ที่อิ่มไปด้วยอุดมการณ์ แล้วแปลงตัวให้ดูเป็นธรรมชาติ ว่าเป็นนิทานเพียงหนึ่งเดียวในเมือง
Prendergast กล่าวว่า ความคิดแนวสมัยใหม่ ไม่สามารถหลีกหนีจากการจัดลำดับเวลา และเป็นไปไม่ได้ที่จะรวมความหลากหลายเข้ามา   การจัดลำดับเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้นี้ ทำให้ต้องนำคำว่า หยุดพัก/เว้นวรรค และ ช่วงเปลี่ยนผ่าน/รอยต่อ มาใช้อธิบาย ความสมัยใหม่   และถึงแม้ว่า ถ้าความคิดนามธรรมนั้นจะได้ผ่านเป้าหลอม ออกมาเป็นเรื่องราวบรรยายแข่งกับผู้อื่นได้อย่างที่ Jameson ได้เสนอแนะ ก็คงจะนำพาพวกเราให้มุ่งไปสู่จุดจบที่ ถูกใบสั่งให้ระดมมุ่งไปสู่ที่ๆ ถูกกำหนดไว้แล้ว   ดิฉันเห็นว่า พวกเราคงจะจบเรื่องด้วยการลำดับเวลาที่ถูกกำกับด้วย เวลาที่ถูกต้อง
จุดสำคัญของโครงการ (เอพีไอ) ของดิฉันในอินโดนีเซีย คือ มองเข้าไปในความเปิดกว้าง ความหลากหลายของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย โดยเพ่งจุดสนใจไปที่ประสบการณ์ที่มีชีวิตเลือดเนื้อ และจิตวิญญาณเชิงสังคม วัฒนธรรม และความเป็นปัจเจกบุคคลของ คนที่มีความเห็นคัดค้านทางศาสนา (ต่อกระแสหลัก)การไม่เห็นด้วยกับข้อบัญญัติหลายๆ ประการในความเชื่อความศรัทราของชาวมุสลิม ทีถูกแปลงเป็นรหัส และประทับตราฝังอยู่ในโครงสร้างที่ประกาศตัวว่าเป็นนักบุญ ในรูปกฎหมาย หรือทฤษฎี ซึ่งดิฉันขอใช้คำว่า ระบบราชการของความเชื่อ
ในขณะที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับปัจจัยที่กำกับสุ้มเสียง สำเนียง ลักษณะ และคุณภาพของอิสลามทุกวันนี้ที่ได้สำแดงตนมากขึ้นว่าเป็นระบบความเชื่อที่เข้มงวด เคร่งครัดในหลักศีลธรรม และหัวรั้น โครงการศึกษานี้ พยายามที่จะเข้าใจ ในเชิงเปรียบเทียบว่า ทำไมชาวมุสลิมอินโดนีเซียจึงแสดงอาการต่อต้านอย่างแรงต่อแนวโน้มของศาสนาดังกล่าว   แนวโน้มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือขึ้นทั่วโลกของสภาวะที่ดิฉันขอเรียกว่า โครงการจักรวรรดิมุสลิมที่เรียกร้องว่า อัตลักษณ์มุสลิมที่ถูกต้อง จะต้องวัดได้ในเชิงสังคม วัฒนธรรม และจิตใจ จะต้องนับจำนวนได้และตรวจสอบได้ เพื่อที่จะวัดผลเชิงคุณภาพได้ ดิฉันเชื่อว่า การทำความเข้าใจกับแรงต้านในความเชื่อทางศาสนาต่อกระแสหลักนี้ เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กัน
จุดสังเกตของประสบการณ์การคัดค้านภายในอิสลามทุกวันนี้ คือ การยึดถือความเห็นที่แตกต่างจากเค้าโครงนิติศาสตร์ตามประเพณีดั้งเดิมของ กฎเกณฑ์อิสลาม (Normative Islam) ในบางส่วนหรือทั้งหมด   ความเห็นคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรูปแบบของวัฒนธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องมองว่าเป็นเรื่องของความไม่รู้เรื่อง   ความแตกต่างจากกฎเกณฑ์มาตรฐาน อาจถูกปรุงแต่งโดยวัฒนธรรมเฉพาะหนึ่งๆ ที่ทำให้คนภายนอกที่รู้กฎเกณฑ์ดั้งเดิมมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของศาสนาที่กำลังพิพาทกันอยู่  ในทำนองเดียวกัน ก็ไม่ควรจะเรียกสำเนียงวัฒนธรรมเหล่านี้ว่า เป็นการเพี้ยนศาสนา เนื่องจากตัวละครวัฒนธรรมนั้น สนใจที่จะแสดงออกถึงความหลากของศาสนา มากกว่าต้องการที่จะพนันขันต่อท้าทายว่าของๆ ตนเป็นของแท้กว่า
การที่เราจะไปเที่ยวบอกว่าใครเพี้ยน หรือโง่เขลา เราจำเป็นต้องกำหนดฐานันดร/ลำดับความสำคัญให้กับกฎเกณฑ์มาตรฐานบางประการ และนั่นคือหลักการที่เรากำลังท้าทายอยู่  แม้ว่าบางคนจะเชื่อว่า การท้าทายดังกล่าว ควรจะมีขอบเขตจำกัด คือ จะไม่ไปขัดขวางการสร้างแนวเขตที่กำหนดโดยระบบความเชื่อหนึ่งๆ สำหรับการแสดงออกของผู้ศรัทธา  ในความเป็นจริง ความคิดก็เหมือนกับแนวเขตที่จับต้องได้ จึงไม่จำเป็นที่ความคิดเห็นใดๆ จะปราศจากความคลุมเครือ ข้อยกเว้น หรือแม้แต่การบูรณะขึ้นใหม่   การเสนอว่าคนอื่นเพี้ยน เป็นการอ้างว่ากฎเกณฑ์มาตรฐานแท้ดั้งเดิมมีอยู่จริง  ทั้งๆ ที่พื้นฐานกฎเกณฑ์มาตรฐานเหล่านั้นได้ถูกผู้มีอำนาจปกครองจัดลำดับความสำคัญไว้ก่อนแล้ว โดยอ้างวจนะของศาสดาโมฮัมเหม็ด   บ่อยครั้ง ความไม่ลงรอยกัน แท้จริงเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์มาตรฐานในจินตนาการ และหลายคนที่มีความเห็นคัดค้าน ก็ไม่ได้ยืนกรานที่จะล้มล้างกฎเกณฑ์มาตรฐาน หรือว่าไม่มีความรู้เรื่องกฎเกณฑ์ดังกล่าว
ความแตกต่างบางอย่างเป็นเรื่องของโครงสร้างอย่างชัดเจน   มันขึ้นกับพื้นฐานของจิตวิญญาณความเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะ   บางคนเชื่อว่าโครงสร้างในวจนะของโมฮัมเหม็ด มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับตัวให้เข้ากับกาลเทศะของแต่ละท้องที่   ความเห็นส่วนบุคคล (subjectivity) ดังกล่าว สามารถจะโอบรวมพฤติกรรมการแสดงออกทางจิตวิญญาณที่หลากรูปแบบภายในจารีตทางอักขระเดียวกัน มากกว่าที่จะไปเที่ยวหักล้างกัน   พวกเขาอาจจะยึดถือมาตรฐานทางศาสนาในลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมของเขา ซึ่งอาจแตกต่างไปจากมาตรฐานที่สร้างจากการรับรู้โดยตรง (positivistic) จากประสบการณ์หรือการทดลอง/เชิงประจักษ์ (empirical) และกฎหมาย ดังที่สนับสนุนโดยระบบราชการทางศาสนา   ความเห็นส่วนบุคคลเช่นนี้ อาจช่วยให้มองเห็นว่า การแยกออกเป็นสองขั้ว คือ การยึดมั่นในอักขระ หรือการล่วงละเมิดอันเป็นคำที่ชาวมุสลิมถูกกำหนดให้คิดเพื่อปรุงสร้างตรรกะของศาสนามีช่องว่าง หรือทางสายกลางสำหรับสภาวะตรรกะอื่น ๆ ของศาสนา ที่ทำให้เกิดความนิยมแต่ไม่ได้จารึกเป็นตัวอักษร ซึ่งไม่เพียงแต่พึงยอมรับเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของศาสนา แต่แท้จริง ยังอาจเสริมให้ศาสนาแข็งแรงยิ่งขึ้นได้
ดังที่ดิฉันจะอภิปรายต่อไป ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีส่วนทำให้ อินโดนีเซียได้พัฒนาประเพณีของความเป็นพหุศาสนา ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นความสามารถของอินโดนีเซียในการยอมรับฐานันดรเวลาชุดใดชุดหนึ่ง แต่เป็นการลำดับเวลาเชิงภูมิศาสตร์   ในตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ชายขอบของโลกมุสลิม อินโดนีเซียสามารถธำรงรักษาความหลากชุดของการลำดับเวลาภาวะในอดีตก่อนยุคมุสลิม ก็ยังมีชีวิตอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับโลกมุสลิมทุกวันนี้  ดังนั้น การยกความสำคัญสูงสุดให้แก่ สมัยใหม่ จะเป็นการทำลายล้างความหลากหลายของอิสลามในอินโดนีเซีย อันเป็นรากฐานของการสามารถเปิดกว้าง เพราะ ความสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็น เวลาที่ถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะทำลายความหลากชุดของการจัดเรียงกาลเวลา
การวางท่าว่า ได้ตั้งตัวเป็นกลาง สนับสนุนผังตะแกรงความคิดที่ขาดความต่อเนื่องของ ความคิดสมัยใหม่ บ่อยครั้ง เป็นเหมือนหน้ากากที่หลุดออกมาได้ เมื่อค่านิยม เช่น ความไม่ทันสมัย ความล้าสมัย หรือการทวนสมัย หลุดปากออกมา และเผยให้เห็นถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของความไม่เป็นกลางในเรื่องศีลธรรม และอุดมการณ์   อันตรายของบูรณาการสร้างผังตะแกรง ที่แบ่งแยกความต่อเนื่องกันออกอย่างสวยงาม ได้ทำให้เราไม่สามารถตระหนักถึงคุณภาพใกล้เคียงกันของมนุษย์ทั้งมวลในการมีประสบการณ์เหนือกาลเวลาและสถานที่ (transcendential experience)  ในความเห็นของดิฉัน ผู้คัดค้าน จัดอยู่ในพวกที่มีความช่ำชองในวิถีประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์จากแนวคิดสมัยใหม่ และไม่ได้อยู่ในลำดับเวลาใดๆ
ในการเดินทางของดิฉันระหว่างที่ได้รับทุน เอพีไอ นี้  ดิฉันได้ลงพื้นที่ไป 10 จังหวัด ใน 5 เกาะที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ยกเว้นเกาะบาหลี   ดิฉันได้สัมผัสกับความเห็นคัดค้านที่ผสมผสานความคิดโบราณกับความคิดสมัยใหม่ ในข้อเท็จจริงปรัมปราที่ฝังอยู่ในตำนานที่ไม่มีกาลเวลา รวมทั้งในตรรกะของความลี้ลับ   เสียงคัดค้านของอินโดนีเซียมีหลากหลายมิติ มีตัวละครจากทั้งในเมืองและชนบทที่ให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงเหตุผล และสร้างตำนานด้วยการใช้คำศัพท์ร่วมสมัย หรือดั้งเดิม เพื่ออธิบายความคิดเรื่อง สมัยใหม่ และล้าสมัย
บทความในลำดับต่อไป อยู่ในบริบทของความเห็นที่ยังตกลงกันไม่ได้เหล่านี้ มีทั้งลักษณะอิสระส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะ หรืออยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรม แม้ว่าบริบทของความไม่เห็นพ้องกัน ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน และกระบวนการที่ติดตามมาในการให้ความหมายทางจิตวิญญาณหรือธรรมจริยา (piety) จะแตกต่างกันมาก   ส่วนที่จะสาธยายยาวที่สุดคือ ชุมชน ศันตรี (Santri) ของชาวชวา ซึ่งมีการจัดกระบวนที่ท้าทายฝ่ายมุสลิมเคร่งครัด (orthodox) ส่วนที่เหลือ จะกล่าวถึงแง่มุมต่างๆ เช่น เจนเดอร์/เพศสภาพ ศิลปะ เพศวิถี และวัฒนธรรมท้องที่

ศันตรี ของชาวชวา:
การเมืองของการอนุรักษ์ศาสนา เทววิทยาของธรรมจริยา

ในแง่นิรุกติศาสตร์ ศันตรี เป็นคำในภาษาชวา สำหรับเรียกนักเรียนนักศึกษามุสลิมด้านศาสนาที่อยู่ประจำโรงเรียนกินนอนที่ เปซานเตรน (pesantren) อันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชวาที่พัวพันกับเรื่อง มาตรฐานธรรมจริยา (normative piety) มากกว่ากลุ่มอื่น  คำว่า ศันตรี นี้น่าจะมีรากศัพท์สันสกฤต   ศาสตรี (Shastri) มาจากคำว่า ศาสตรา (shastra)  ซึ่งหมายถึงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือตำราความรู้ที่ยิ่งใหญ่   ศาสตรี จึงแปลว่า นักปราชญ์ผู้ได้ร่ำเรียนมามาก   ส่วน เปซานเตรน ของชวา หรือโรงเรียนประจำที่สอนศาสนาอิสลาม ที่เคยเป็นสถาบันอิสระในการศึกษาเล่าเรียนศาสนาอิสลามในหมู่บ้าน ซึ่งทุกวันนี้ได้มีการจัดการที่เป็นทางการมากขึ้น ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีต้นกำเนิดจากสถาบันในลักษณะเดียวกัน ที่สามารถสาวรากย้อนไปถึงอดีตเมื่อครั้งชาวชวายังนับถือฮินดู-พุทธ อยู่
งานศึกษาทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ Geertz (1990) มักจะมองว่า ชาวมุสลิมชวาส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสามัญชน/ชาวนา อบางัน (abangan) และ ชนชั้นสูง ปริยาหยี (priyayi) เป็นมุสลิมแต่ชื่อ กล่าวคือ ในกลุ่มแรก ยังคงนับถือผีสางเทวดา ส่วนกลุ่มหลัง ก็ยังคงฝักใฝ่อยู่กับศาสนาฮินดู-พุทธ   ด้วยเหตุนี้ Geertz และคนอื่นๆ จึงสรุปว่า ชุมชน ศันตรี เป็นกลุ่มมุสลิมที่บริสุทธิ์และอุทิศตัวต่ออิสลามมากที่สุด
การสรุปเช่นนี้ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานาน [Woodward (1999) อ้าง Hodgson (1974), etc.]  Geertz เองก็ดูเหมือนจะมีความเข้าใจจำกัดในเรื่องอิสลาม ต่อลีลาน้ำเสียงของการเคลื่อนไหวปฏิรูปของมุสลิมสมัยใหม่ (Muslim modernist reform movement)  ซึ่งมุ่งเน้นในมิติกฎข้อบังคับด้านธรรมจริยา และการพัฒนาอัตลักษณ์มุสลิมเชิงประจักษ์ (empirical Muslim identity)  ดังนั้น ความเห็นของ Geertz จึงแสดงออกถึงความไม่รอบคอบ และความไม่รู้เรื่องอย่างเป็นระบบในความซับซ้อนหลากมิติ และประวัติศาสตร์นานาชาติ
พิธีกรรมการร่ายเวทย์มนตร์มากมายในอิสลามชวา ได้ทำให้นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ซูฟิ (Sufi) คงจะเป็นพวกแรกที่เข้ามาแปลงศาสนาให้ชาวชวา  แต่แล้ว นักวิชาการเช่น Ricklefts (2001) ก็จะรีบแย้งขึ้นมาเสมอว่า มีหลักฐานน้อยมากที่ชี้ว่า มีการจัดตั้งภราดรภาพซูฟิ ในยุคต้นของอิสลามในภูมิภาคนี้
สำหรับดิฉัน บทวิเคราะห์ที่ว่า มีประวัติศาสตร์การแปลงศาสนาแบบมวลชนให้เป็นอิสลามนอกแดนอาหรับ ได้สร้างความเสียหายด้วยการทำเกินด้วยการเหมารวมว่า อิสลามเป็นภารกิจของชาวตะวันออกกลาง  การยอมรับเช่นนั้น เป็นการจำกัดความสามารถของพวกเราในการวิเคราะห์จิตวิทยาย้อนศรในกระบวนการแปลงศาสนา และการเมืองของการนำพามวลชนเข้ารีต   ความสามารถในการวิเคราะห์ย้อนศรนี้ต่างหาก จะช่วยส่องแสงนำทางให้เรามองเห็นประสบการณ์และศักยภาพของความเป็นมุสลิม ที่ค่อนข้างจะเป็นอิสระจากศูนย์กลางบ่อเกิดของอิสลาม   แต่เรากลับมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนความชอบมากเกินไป สำหรับความรอบรู้ที่ชาวต่างชาติได้ปรุงแต่งสร้างขึ้น ซึ่งมีผลให้ความสนใจของพวกเราแตกกระจาย มองข้ามโครงสร้างพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่มีเราอยู่   สิ่งที่เรามองข้ามนี้ อาจจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหมู่ในกรอบคิดทางจิตวิญญาณได้   การเปลี่ยนศาสนาในหลายกรณี เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์และการปรับตัวทางจิตวิญญาณใหม่ค่อยเป็นค่อยไป มีการดิ้นรนสูง สับสน ส่วนใหญ่จะขมขื่น และมักจะเป็นเรื่องการเมือง   ผู้เข้ารีต เลือกและปรับตัว  ให้ความหมายและลำดับความสำคัญใหม่ รวมทั้งต้องเผชิญกับภาระใหม่อันเนื่องมาจากการยอมรับนับถือกรอบความเชื่อใหม่นี้
ในแง่นี้ ชาวมุสลิมชวาได้ทำให้คนภายนอกสับสน ด้วยการที่ยังคงยึดถือในเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ และพิธีกรรมพื้นเมืองผีสางเทวดา วายัง กูลิต (wayang kulit หนังตะลุง และหนังเชิด) สุสานศักดิ์สิทธิ์ การจุดธูปและกำยานเครื่องหอม เครื่องรางของขลัง การร่ายเวทย์มนตร์ คาถาอาคม การเข้าฌาน และการทำภาวนาสมาธิ
ด้วยเหตุนี้ Woodward (1999) ได้แย้งว่า มาตรฐานธรรมจริยา (normative piety) และ การร่ายมนตร์ขลัง พิธีกรรมลี้ลับ (mysticism) ไปด้วยกันได้ และก็เป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางธรรมจริยาของมุสลิมที่ใช้ได้ ทั้งๆ ที่ความจริงปรัชญาทั้งสองค่ายจะถูกแยกออกจากกันแล้วในกาลครั้งหนึ่ง
ดิฉันเห็นด้วยกับ Woodward ที่ว่า อิทธิพลของซูฟิต่ออิสลามชวายังปรากฏให้เห็นได้ชัดอยู่ในบันทึกของราชสำนักชวา รวมทั้งประเพณีชาวบ้าน และในสถาปัตยกรรมของมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในชวา   ในขณะเดียวกัน Riddell (2001) ได้กล่าวว่า ในตะวันออกกลาง ลัทธิซูฟิ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในช่วงเวลาหลายศตวรรษ หลังจากที่โลกอาหรับได้กลายเป็นอิสลามหมดแล้ว แต่ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ลัทธิซูฟิ กลับเข้ามาเป็นมาตรฐานในขณะที่อิสลามเพิ่งก่อตัว ก่อนที่แนวทางกฎบังคับจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น   อันที่จริง วรรณกรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ของชวาเต็มไปด้วยตัวละคร เช่น Cebolang ที่หมกมุ่นในกาม จากเรื่อง Serat Centhini และการผจญภัยเชิงเทววิทยาของ Syeikh Siti Jenar   ตัวละครเหล่านี้ อาจถูกใช้เพื่ออธิบายประเด็นต่างๆ  แต่ทั้งหมดก็ได้สะท้อนถึง ความคิดเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ ที่วนเวียนอยู่ในประวัติศาสตร์ของชวา และได้ทำหน้าที่ขยายความตึงเครียดระหว่างแนวทางกฎบังคับที่เป็นทางการ กับแนวทางลี้ลับ ในการแสดงออกถึงความเลื่อมใสต่อศาสนา ในภูมิภาค
จาก Mulder (1999) เราสามารถอนุมานได้ว่า ความเข้าใจลึกซึ้งทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา ตำนาน และเรื่องลี้ลับของขลัง ของ สังคมเก่า ในชวากลางตอนใต้ เกี่ยวโยงไปถึง ราชวงศ์มาตาราม ของ โย๊คจาการ์ตา (Yogjakarta) และ ซูราการ์ตา (Surakarta) นั้นอยู่นอกเหนือ เทววิทยาสายอับราฮัม แม้ว่าจะได้รับเอาบางส่วนจากอิสลามเข้ามา  ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะดูที่บทบาทการกล่อมเกลาที่มีชนชั้นสูงเป็นศูนย์กลาง หรือการธำรงรักษาโดยชาวบ้านที่ปกครองตัวเอง หรือเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสองส่วน  ถึงแม้ว่าจะยังมีความคลางแคลงใจสูงต่ออัตลักษณ์มุสลิม รวมทั้งในบางรูปแบบก็มีการแสดงออกถึงความเกรี้ยวกราด และเป็นอริต่อปริมณฑลของเวทย์มนตร์ขลังของชวา ที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปรไปนับไม่ถ้วน คุณค่าของมันคือ ทำให้เกิดผู้ปฏิบัติมีความตื่นตัวสูง และให้มีความมานะบากบั่นในการพัฒนาตนเองให้บรรลุภาวะจิตอีกระดับหนึ่งที่อยู่เหนือสัญชาติญาณ สามารถเข้าถึงสมาธิและความรู้เรื่องของขลังที่เร้นลับ
ดังนั้น ถ้าเราคิดจะย้อนทิศทางจราจรเราอาจจะเห็นว่า ชาวชวา เป็นผู้ที่เริ่มติดใจและน้อมรับอิสลาม ซึ่งแรกนำพาเข้ามาโดยลัทธิซูฟิ   นี่อาจนำเราไปสู่ความเป็นไปได้ที่กระบวนการเข้ารีตที่ไม่ต้องมีการบังคับหรือใช้กำลัง  ถ้าเรายอมรับความเป็นไปได้เช่นนี้ คำตอบต่อคำถามของ Ricklefs ก็ชัดเจน   เหตุผลหนึ่งที่ไม่มีการจัดตั้งภารดรภาพซูฟิในยุคเริ่มต้นของอิสลามในชวา อาจเป็นไปได้ว่า ผู้คนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมี   ชาวชวามีความเชี่ยวชาญในเรื่องลี้ลับ (mystic) อยู่แล้ว
ย้อนไปไกลกว่านั้น เป็นเวลายาวนานก่อนที่อิสลามจะมาถึง ชาวชวาได้พัฒนาความเชี่ยวชาญในการใคร่ครวญสิ่งลี้ลับ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการผนวกรูปแบบพื้นเมืองต่างๆ ที่หลากหลาย ให้เข้ากับของใหม่จากต่างแดนได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ หรือฮินดู ด้วยกระบวนการที่ลื่นไหล ที่ไม่จำเป็นต้องทำลายของเก่าเพื่อรับของใหม่เข้าแทนที่ แต่เป็นการฉาบอีกชั้นหนึ่ง ลงบนโครงสร้างที่มีอยู่เดิม  จิตสำนึกต่อความเชื่อชุดใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องมีการประดิษฐ์ธรรมจริยาชุดใหม่ให้ห่างไกลจากรูปแบบที่นิยมกันอยู่แล้ว ส่วนสิ่งที่มีอยู่แล้วก็เปิดทางให้รูปแบบหลากหลายของธรรมจริยาอื่นให้เข้ามาอยู่ร่วมได้   ราชวงศ์มาตารามที่มีความทะเยอทะยานด้านวัฒนธรรมสูงส่ง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้นำพาชาวชวาเข้ารีตให้เป็นอิสลาม ก็คงจะไม่ยอมสนับสนุนการลอกเลียนแบบทั้งดุ้นหรือยอมรับว่าวัฒนธรรมต่างแดนเหนือกว่าของตน
ภายใต้ภูมิหลังดังกล่าวมานี้ ดิฉันใคร่ขอแนะนำบุคคลจากสี่องค์กร  ทั้งหมดเป็นผู้สืบสานศาสนาอย่างไม่มีจุดด่างพร้อย อันเป็นผลผลิตของระบบ เปซานเตรน หรือได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำทางศาสนาของชุมชน  พวกเขาจะศึกษาต่อสาขาวิชาต่างๆ ในภาควิชาอิสลามและอาหรับศึกษาในระดับอุดมศึกษาภายหลัง และอย่างน้อยก็จะอ่านภาษาอาหรับได้คล่องและมากขึ้น แต่ส่วนมากก็พูดได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว   พวกเขาจะเป็นผู้ลงสมัครที่สมบูรณ์แบบในกระบวนการคัดเลือกนักการศาสนาในระดับสูงของวงการมุสลิมอินโดนีเซีย ซึ่งเทียบได้กับ อุลลามา (ulama ผู้นำนักการศาสนา) ในฝ่ายมุสลิมดั้งเดิม/อนุรักษ์
แต่วันนี้ พวกเขาได้เป็นกระบอกเสียงชาวมุสลิมที่ชัดเจนว่า เอียงข้างมาทางความหลากหลายของศาสนาทั้งภายในและภายนอกสถาบัน และที่สำคัญพอๆ กัน คือ การแยกระหว่างรัฐและศาสนจักร  พวกเขาล้วนเป็นนักศึกษาที่เข้มข้นในความคิดสมัยใหม่ทางสังคมและการเมือง แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้น ทุกคนสำนึกในบุญคุณที่ได้รับการฝึกฝนอบรมแบบดั้งเดิมในอิสลาม ที่ทำให้พวกเขาสามารถร่วมโต้วาทีในประเด็นเทววิทยาต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
เข้าสู่หัวใจของประเด็น พวกเขาต่างตั้งคำถามต่อวิธีการที่ทฤษฎีกฎเกณฑ์ของอิสลามถูกพัฒนามาเพื่อบงการความคิดของพวกเราด้านธรรมจริยา ทำให้อิสลามกลายเป็นระบบศาสนา ที่เพ่งเป้าไปที่การบังคับควบคุมระบบประสาทการกระตุ้นทางจิตวิญญาณ   นี่เป็นการทำลายความมหัศจรรย์ของอิสลาม ที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นศักยภาพของความเสมอภาค ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความลี้ลับ และแม้แต่การปฏิรูปทางการเมือง   พวกเขาเห็นว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นนานมาแล้ว เมื่ออักขระของอิสลามถูกใส่รหัสให้เป็นกฎหมาย โดยผู้คนจากต่างวัฒนธรรม ประเพณี และเวลาเป็นการแปรเปลี่ยนอย่างถาวรให้ยอมรับสิ่งที่คนต่างถิ่นสร้างขึ้น  ศันตรี ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ในหลายๆ แง่ ก็เป็นการสืบสานประเพณีของการเป็น ผู้เข้ารีตที่เป็นตัวของตัวเอง (active converts)

เลือด ฮาลาล”:
ULIL ABSHAR ABDALLA  อดีตผู้ประสานงาน Jaringan Islam Liberal (JIL)
เครือข่ายอิสลามเสรี (The Liberal Islam Network) จาการ์ตา

JIL ถูกตั้งขึ้นในปี 2001 โดย Ulil Abshar Abdalla (เกิดปี 1967 ที่ปาติ ชวาตอนกลาง) และเพื่อน ขึ้นอยู่กับชุมชน Utan Kayu เพื่อสนับสนุนการพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์ เกี่ยวกับมุสลิมที่ยึดมั่นกับวิธีการดั้งเดิม (orthodoxy) และเป็นกระบอกเสียงต่อต้านพวกหัวรุนแรงทางศาสนา   ในหน้าเกริ่นนำบนเว็บไซท์ของเครือข่ายฯ ได้เขียนไว้ว่า ในนามของพระเจ้า ผู้ทรงมีพระมหาเมตตาคุณ  มหากรุณาธิคุณ และพระเจ้าของทุกศาสนา
ในปี 2003 อุลลามาฝ่ายอนุรักษ์ ได้พิพากษาว่า เลือดของอุลลิลเป็น ฮาลาล  เพราะเกิดความไม่พอใจต่อบทความที่ อุลลิล เขียนในหนังสือพิมพ์ คอมปาส (Kompas) ที่มีเนื้อหาประหนึ่งแถลงการณ์ขององค์กร สาธยายวิสัยทัศน์ของเขาถึงอิสลามสำหรับชาวอินโดนีเซีย
ต่อคนภายนอกบางคน อาจจะคล้อยตามสิ่งที่ อุลลิล ยกย่องว่ามีส่วนช่วยให้เขาเติบโตทางปัญญา เช่น วรรณกรรมปรัชญาและการเมือง และความรู้ความเห็นที่พรั่งพรูจากการเสวนาถกเถียงเรื่องอิสลามในอินโดนีเซีย ในทศวรรษ 1980 ที่นำโดยปัญญาชน เช่น Nurcholish Madjid ผู้ล่วงลับไปแล้ว และ อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Abdurrahman Wahid หรือ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า Gus Dur
แต่ในเชิงจิตวิญญาณ อุลลิลก็เหมือนกับปัญญาชนมุสลิมอินโดนีเซียอื่นๆ  มันเป็นความรู้สึกอึดอัดในใจต่อนิติทฤษฎีของมุสลิมที่เป็นอยู่  มันเป็นเหมือนหินลับมีดที่หมั่นฝนลับคำวิจารณ์ของ อุลลิล ต่อระบบให้แหลมคมยิ่งขึ้น  ในฐานะที่เป็น ศันตรี หนุ่ม เขารู้สึกงุนงงต่อ รายละเอียดและความเจนจัด ของ usul-fiqh [รากฐานทางนิติศาสตร์] รวมทั้งการเอาอาหรับเป็นศูนย์กลาง ในประเด็นเช่น อาหาร การมีประจำเดือน และแม้แต่ทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐมุสลิม ที่บังคับให้ชาวยิว ชาวคริสเตียน และ ชาว Zoroastrian ต้องคาดเข็มขัดสีต่างๆ กัน
การแสวงหาคำตอบของเขาเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สั่งสม ถูกทำให้ซับซ้อนด้วยว่า การศึกษากฎหมายอิสลามในสถาบันอุดมศึกษาในกรุงจาการ์ตา ที่เขาได้รับทุนสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลซาอุดิอารเบีย  อุลลิลไม่ได้สอบผ่านเทววิทยาของเขา
สำหรับอุลลิล ลัทธิคลั่งศาสนาอิสลามคือจุดจบ  ผมรู้อย่างถ่องแท้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับอิสลาม   ความคิดเหล่านั้น เรายอมรับไม่ได้ในมาตรฐานของเรา ในนอกอาณาจักรอาหรับ และในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน  เขาแย้งว่า ประวัติศาสตร์ของอิสลามหัวรุนแรงทั้งหมดมีรากย้อนกลับไปเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ ลัทธิวาฮาบิ (Wahabbism) ซึ่งเป็นสำนักคิดหนึ่งที่เชื่อมโยงกับซาอุดิอาระเบีย ที่มักจะผลักดันอย่างไม่เป็นประชาธิปไตยในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เป็นการตีความที่เป็นของแท้ของอิสลาม  ลัทธิวาฮาบิ มีหลักการง่ายๆ ว่าคุณต้องกลับไปหาคัมภีร์กุรอ่าน และซุนนาห์ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่พวกวาฮาบิ มักจะตีความศาสนาอย่างยึดติดกับอักขระ  คุณต้องไว้เครา ศาสดาได้บอกไว้แล้ว และคุณต้องเดินตามท่าน เพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาแก่กล้า
อิสลาม เขาแย้งว่า ไม่ใช่เป็นศาสนาของอาหรับคนเดียว

บทเรียนประวัติศาสตร์
KIAI HAJI (KH) GHAZALI SAID
Surabaya, ชวาตะวันออก

KH Ghazali (เกิดปี 1945 ณ เมือง Madura ชวาตะวันออก) ได้ก่อตั้ง Pesantren An-Nur ในปี 2000 สำหรับ ศันตรี ที่เข้าเรียนสถาบันอุดมศึกษาอิสลามใน ซูราบายา  มีชั้นเรียนในระบบหลังตะวันขึ้น และมีการสวดมนตร์ตอนค่ำคืน  ศันตรี ของเขามีตารางสอนที่ให้เวลาอิสระสำหรับการจับกลุ่มอภิปรายกันตามต้องการ
KH Ghazali ยกความดีความชอบ ให้กับการอบรมแบบคลาสสิก (แบบดั้งเดิม) ของเขา ไม่ใช่ความคิดการเมืองสมัยใหม่ ที่ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสุกงอม มีทัศนะเปิดกว้าง และเข้าใจถึงความหลากหลาย (pluralism)  ด้วยความเชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์อิสลาม เขาชี้ให้เห็นว่า จารีตของปัญญาชนมุสลิมยุคต้น มีความยืดหยุ่นและการปรับตัวสูง  เขาทบทวนความจำของพวกเราว่า ในตอนเริ่มต้น แนวคิดเรื่อง usul-fiqh ไม่มีตัวตน   ต่อมา usul-fiqh ได้พัฒนาขึ้น เพราะเราไปมีปฏิสัมพัทธ์กับอารยธรรมและปรัชญาคลาสสิกตะวันตก  นั่นคือสาเหตุที่ข้อบัญญัติวินัย ได้พัฒนาเป็นเคร่งครัดขึ้นอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้   เขาเป็นนักวิจารณ์ลัทธิวาฮาบิที่แหลมคมอย่างธรรมชาติ
เขาเป็นผู้สนับสนุนการริเริ่มสวดมนตร์อย่างเปิดเผยในอินโดนีเซีย และปฏิเสธที่จะโจมตีฝ่ายอนุรักษ์ นิกาย Ahmadiyah  เขาวิจารณ์ ความปากว่าตาขยิบ ของพวกมุสลิมอนุรักษ์ ว่าโอ้อวดอ้างนามของนักปราชญ์คลาสสิกมุสลิม  โดยไม่รู้ว่านักปราชญ์เหล่านั้น หลายคนเป็นผู้รักเหตุผลและมีความเป็นธรรม  หลักสูตรใน เปซานเตรน ของเขา ผสมผสาน อิสลามคลาสสิกศึกษา กับแนวคิดสังคมและปรัชญาสมัยใหม่   เขาได้จัดแม้กระทั่ง คอนเสิร์ต dangdut สำหรับโรงเรียนของเขา แต่แน่นอน ได้ลอกทิ้งส่วนที่ล่อแหลมในเรื่องเพศสัมพันธ์
แต่ภายใต้ความคิดทั้งปวงของเขา—KH Ghazali อ้างสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มาสนับสนุนความเห็นทางเทววิทยาของเขา  การสวดมนตร์ในภาษาเปอร์เซีย ได้ถูกบุกเบิกตั้งแต่ศตวรรษที่สองของอิสลาม   ความผิดพลาดของ อุลลามา ในอดีต คือ ห้ามการแปลคัมภีร์กุรอ่าน เป็นภาษาอื่น และการห้ามการเทศนาในวันศุกร์ เป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาอาหรับ   ความเชื่อที่ว่า คัมภีร์กุรอ่าน ถูกเปิดเผยในภาษาอาหรับประมาณ 50 ภาษาถิ่นนั้น เป็นการค้นพบโดย Ibnu Hasnun ชาวตูนีเซีย จากสำนัก Maliki ในศตวรรษที่ 3 ของอิสลาม   โดยสรุป อิสลามเป็นประสบการณ์ที่มีความหลากหลาย และซับซ้อนมาตลอด
สำหรับเขา นิติทฤษฎีน้อยๆ ในคัมภีร์กุรอ่าน จะต้องเข้าใจว่า มันเป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ภาษาเทคนิคชุดหนึ่ง และไม่ใช่เป็นเป้าหมายเชิงทฤษฎี   KH Ghazali แย้งว่า การตีความใหม่ถึงต้นตอของอิสลาม ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทุกครั้งที่มีการอ้างว่าได้เกิดมีความเห็นเข้าใจลึกซึ้ง สมควรที่จะมีการพิสูจน์ตรวจสอบในที่สาธารณะ   พอดิฉันถามเขาว่า แล้วเส้นแบ่งอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า ตราบใดที่แต่ละคน สามารถแสดงความรับผิดชอบในเรื่องข้อเท็จจริงของตน ที่ประกอบความเห็นของตน ก็ไม่จำเป็นที่คนอื่นๆ จะต้องแสดงปฏิกิริยาพลุ่งพล่านต่อความคิดเห็นใดๆ

คุณต้องการให้คำพิพากษาทางศาสนา (fatwa) สำหรับตัวคุณอย่างไร?
MUJTABA HAMDI AND ALAMSYAH M. JA’FAR
Syir’ah (นิตยสาร), จาการ์ตา

นิตยสาร Syir’ah ฉบับปฐมฤกษ์ วางตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2001 ในกรุงจาการ์ตา อันเป็นผลงานของเครือข่ายหลวมๆ ของกลุ่มอภิปรายเรื่องอิสลาม สังคมวิทยาและวัฒนธรรม ริเริ่มโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกรุงจาการ์ตา ที่เรียนวิชาเอกต่างๆ ในภาควิชาอิสลามและอาหรับศึกษา   ประเด็นห่วงใยหลักอันหนึ่งของพวกเขา คือ การสร้างความเข้าใจต่อแนวโน้มทางเทววิทยา ที่เป็นเชื้อให้เกิดลัทธิอิสลามหัวรุนแรง
Syir’ah นำโดย Alamsyah M. Jaafar  (เกิดปี 1979Pulau Seribu จาการ์ตา) สำเร็จการศึกษาจาก State Islamic University of Jakarta (UNIJKT) และ Mujtaba Hamdi (เกิดปี 1978 Nganjuk ชวาตะวันออก) ได้รับการศึกษาจากสถาบันเดียวกันกับอุลลิล วิชาเอกภาษาและวรรณคดีอาหรับ ที่ๆ เขาก็ได้ลิ้มรสลัทธิวาฮาบิ เป็นครั้งแรก ที่กล่าวโทษการปฏิบัติทางจิตวิญญาณของเขาตามจารีตปฏิบัติของครอบครัวที่ตกทอดมานาน   เขาไม่จบการศึกษานั้น
นักศึกษานักคิดเหล่านี้ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายกับ Desantara องค์กรที่อุทิศตัวเพื่อธำรงความหลากหลายของวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ซึ่งอนุมัติทุนสำหรับพิมพ์ Syir’ah ฉบับปฐมฤกษ์ 500 เล่ม   งานเขียน บรรณาธิการ การวางรูปแบบของนิตยสาร และการแพร่กระจาย ล้วนเป็นงานอาสาสมัคร   ฉบับกันยายน 2001 มีบทความเกี่ยวกับ ความรุนแรงและนักเผยแพร่ศาสนามุสลิม บทวิจารณ์สังคม และคอลัมน์ขำขัน เป็นต้น   มีการนำนิตยสารหลายเล่มไปแจกด้วยมือให้แก่มัสยิดต่างๆ รอบกรุงจาการ์ตา
หลังจากนั้น 4 ปี Syir’ah ได้แตะทุกประเด็นร้อนที่มีการโต้แย้งในโลกมุสลิมการกำหนดรูปแบบอย่างเป็นทางการของการแสดงออกถึงความศรัทธาเลื่อมใสต่อศาสนา (ธรรมจริยา) การเข้ารีต การแต่งงานข้ามศาสนา ผ้าคลุมร่างกายและผมของหญิงมุสลิม (Jilbab) ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น การรักร่วมเพศ และการแปลงเพศ ดนตรีป๊อบ และแม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์   ปัจจุบัน ทีมงานของ Syir’ah มีคนทำงาน 14 คน และมีนักเขียนประจำประมาณ  4 คน
ทั้ง Alamsyah และ Mujtaba ยกความดีความชอบที่ช่วยให้ปัญญาของเขางอกเงยกับวรรณกรรมทางศาสนา ที่ส่งเสริมความหลากหลาย ขันติธรรม และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thought) ต่อทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่   พวกเขายังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา การเมือง และปรัชญา  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พวกเขาเชื่อว่าภูมิปัญญาที่หนักแน่นของพวกเขาในจารีตคลาสสิก จะช่วยให้พวกเขาวิจารณ์และทบทวนทฤษฎีอิสลามที่มีอยู่ได้
สำหรับ Alamsyah พวกเราคุ้นเคยกับความคิดเรื่องความเห็นที่ตกลงกันไม่ได้  พวกเราได้เรียนรู้ประตูอีกแบบหนึ่งในการดู   ในระบบของ เปซานเตรน พวกเขาต้องเข้าเรียน Bahthul Masail  ชั้นเรียนที่จะทดสอบความสามารถของ ศันตรี ว่าสามารถจะอ้างเนื้อหาจากแบบเรียนคลาสสิก ในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางศาสนาได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับพวกเขาแล้ว fiqh เป็นความต่อเนื่องที่ปรับตัวได้   พวกเขาได้แสดงอุปมาอุปมัยไว้อย่างน่าสนใจคุณต้องการให้ มันเป็น ฮาลาล หรือ ฮาราม?  คำตอบของคุณอาจช่วยให้เราหา dalil [legal proof of religious precedence หลักฐานทางกฎหมายเพื่อจัดลำดับ/ฐานันดรทางศาสนา] ของคุณได้

ถูกเทวดาสาป?
ALIFATUL DAROJATI KUSMANINGTYAS
Rahima  จาการ์ตา

ราฮิมา ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2000 เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและสารสนเทศเกี่ยวกับอิสลามและสิทธิสตรี โดยการนำเสนอประเด็นหล่านี้ ให้แก่ ชุมชน เปซานเตรน และผู้นำทางศาสนา  นอกจากนี้ องค์กรยังมีรายการวิทยุ และพิมพ์เอกสารเพื่อให้การศึกษาแก่สาธารณชน
Alifatul (เกิดปี 1972 ณ ซูราการ์ตา ชวาตอนกลาง) เป็นผู้ประสานงานของราฮิมา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นผลผลิตของครอบครัว เปซานเตรน แต่กลับมาลงเอยที่สำเร็จปริญญาโทสาขาสตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia)  ดังนั้น เธอจะบอกคุณถึงหลักการง่ายๆ บางประการ
การมีมากเมีย เป็นการละเมิดสิทธิสตรี  อิสลามไม่ได้เข้ามาเพื่อส่งเสริมการมีมากเมีย แต่ต้องการจะกำจัดมัน  ถ้าคุณพยายามที่จะชูประเด็นให้มีการยอมรับการมีมากเมียในสภาวะ ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นประเด็นยอดนิยมของชายมุสลิม เธอจะถามคุณกลับว่า ภาวะอะไร?  ภาวะฉุกเฉินได้ถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองเสมอมา เพื่อสร้างความชอบธรรมที่สนองตอบความมักมากของผู้ชาย
สิทธิในการเจริญพันธุ์ รวมถึงสิทธิที่จะปฏิเสธการร่วมสังวาสกับสามีของคุณ  ถ้าคุณอ้างถึงจารีตประเพณีที่ว่าคุณจะต้องถูกเทวดาสาปแช่งยันสว่าง เมื่อคุณตอบว่า ไม่ กับสามี เธอก็จะยิ้ม สาปแช่งให้เป็นอะไร?  เป็นกบหรือ?  ผู้หญิงกี่คนแล้วที่ต้องสังเวยชีวิตระหว่างคลอด เพียงเพราะพวกเธอไม่สามารถตอบว่าไม่ ในการมีเพศสัมพันธ์ และลงท้ายก็ต้องตั้งท้องให้สามี? เธอยืนยันว่า การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่ข้อผูกมัดสำหรับผู้หญิง อันที่จริง มันเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะขอหรือปฏิเสธ
ข้อสรุปของ Alifatul ไม่ใช่เป็นการอิงเรื่องจริงทางโลก แต่เป็นผลจากการทำงานอย่างหนักของ ราฮิมา เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่า คัมภีร์กุรอ่าน มาจากการเปิดเผยของพระเจ้า ที่ยึดมั่นต่อการธำรงความยุติธรรมในโลกมนุษย์

ธรรมจริยาชั้นสอง:
ผู้หญิงเกาะอยู่ที่ขอบของความศรัทธา

มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหาระบบศาสนาที่ ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทางปฏิบัติ   สำหรับอิสลาม Kassim (1992) อธิบายว่า การเลือกปฏิบัติส่วนใหญ่มาจากการอ้าง hadith (จารีตที่ถูกอ้างว่ามาจากวจนะของศาสดาโมฮัมเหม็ด) แทนที่จะอิงกับคัมภีร์กุรอ่าน ในการวิวาทะเรื่องกฎหมายมุสลิมในกระแสหลัก ซึ่งเขาเห็นว่า hadith เป็นแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือนัก    ดิฉันค่อนข้างจะเห็นด้วยกับความเห็นของ Kassim  เนื่องจากใน hadith มีทุกอย่างที่ต้องการจะอ้างเพื่อกดขี่ผู้หญิง รวมทั้งการคาดหมายว่าผู้หญิงจะต้องกลายเป็นประชากรผีนรกถึงสามในสี่ของเมืองนรก
แม้ว่าศักยภาพของคัมภีร์กุรอ่านจะถูกลดทอนไปมาก ข้อความหลายบทในคัมภีร์ ก็ได้ถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิของผู้หญิงในหลายๆ แง่มุม ด้วยการตีความอย่างมีอคติที่จงเกลียดจงชังต่อผู้หญิง   ข้อความที่มีการโต้แย้งกันมากที่สุด คือ ข้อบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้ชายที่ต้องเลี้ยงดูผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในคู่สมรส การมีมากเมีย คำแนะนำให้แต่งกายเรียบร้อย และการสวมใส่ jilbab สำหรับสตรีมุสลิมในยุคก่อน    ในสมัยก่อน ผู้ชายที่ลวนลามผู้หญิงมักแก้ตัวว่า คิดว่าผู้หญิงที่เป็นเหยื่อนั้นเป็นนางทาสหรือเป็นสมบัติตกทอด   ความตกต่ำของผู้หญิงถูกตอกย้ำด้วยกฎหมายอิสลามที่ให้น้ำหนักกับคำให้การของผู้หญิงน้อยกว่าของผู้ชาย   ถึงอย่างไร นักสตรีนิยมมุสลิมได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ข้อความเหล่านี้สามารถตีความใหม่ได้ในกรอบของความเท่าเทียมกัน และในหลายๆ กรณี พวกเธอยืนยันว่า คัมภีร์กุรอ่าน มีความชัดเจนในการสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศ

การเผชิญหน้ากับความเลื่อมใสศรัทธา
NENG DARA AFFIAH
นักเขียน นักวิจัย และอาจารย์ ในกรุงจาการ์ตา

ในระหว่างที่ เนง ดารา (เกิดปี 1969Banten) เจริญเติบโตขึ้น เธอต้องกล้ำกลืนความไม่พอใจหลายอย่างต่อชีวิตใน เปซานเตรน ตามมารยาท   แต่เมื่อเธอเริ่มเข้าเรียนที่ UINJKT เพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบได้ไม่นาน เธอก็ได้รู้จักกับวงอภิปรายของเพื่อนๆ นอกห้องเรียน และได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรกเรื่องปรัชญา การวิเคราะห์ทางจิตวิทยา และสังคมวิทยา
ประสบการณ์นี้ได้นำพาให้เธอตั้งคำถามต่อความหมายของความศรัทธาของตนเอง   เธอเริ่มตั้งคำถามถึงผลของการเป็นมุสลิม การเป็นลูกสาว และการเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในโลกของความรู้ที่มีชายเป็นใหญ่   เธอได้ลดหย่อนความเคร่งครัดต่อพิธีกรรมที่เธอถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กให้ปฏิบัติ  เธอครุ่นคิดถึงการแยกขั้วของ Muslim-Kafir แบบคลาสสิก   ในฐานะที่เธอเป็นหญิงมุสลิมคนหนึ่งที่สวม jilbab เธอเริ่มไม่แน่ใจในหน้าที่ของมันเธอรู้ว่า มันไม่ได้ช่วยให้เธอมีความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระเจ้ามากขึ้น   มันไม่ใช่แม้กระทั่งผืนผ้าที่จะปกป้องคุ้มกันเธอได้
เนง แย้งว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุถึงภาวะจิตวิญญาณที่มีความหมายโดยปราศจากช่วงเวลาของความรู้สึกกระอักกระอ่วนอย่างเข้มข้นในเชิงเทววิทยา  ดิฉันได้แต่งตัวเต็มยศ แล้วดิฉันก็ต้องแก้ผ้าเปลือย เริ่มต้นกันใหม่อีกที เป็นคำพูดของเธอ
ทุกวันนี้ เนง ยังคงคลุมผมของเธอในเวลาส่วนใหญ่ (มันเป็นประเพณี และไม่ใช่หลักการทางศาสนา)  เธอยังคงสวดมนตร์ในเวลาส่วนใหญ่   สำหรับเธอ Kafir คือคนที่ตัดขาดจากสัจจะสากล   เธอเป็นแฟนของ Eric Frohm, Jalaluddin Rumi, Rifat Hassan, Fazlur Rahman และ เหมือนทุกๆ คน เธอชอบ Gus Dur
เมื่อดิฉันถาม เนง ว่า เธอจัดการอย่างไรกับ hadith ซึ่งเกลียดชังผู้หญิงนัก ถึงกับตีความทั้งหลายแหล่ จนดูเหมือนจะไม่เปิดช่องอะไรให้ผู้หญิงเลย  เนง ตอบว่า ถ้าการตีความใหม่ในกรอบสตรีนิยมเป็นไปไม่ได้ แหล่งเหล่านี้ควรถูกตั้งคำถาม   พระเจ้าเป็นแหล่งของความดีทั้งหมด ถ้าจารีตใดที่เอ่ยอ้างถึงพระองค์ แต่ไม่มีนัยให้เกิดความดีที่ยิ่งกว่านั้นแล้ว ก็หมายความว่า มันไม่ใช่พระองค์ที่เป็นผู้ตรัสออกมา

ภรรยาคนย้ายถิ่น และคริสเตียนที่คลุมผม
SALMA SAFITRI RAHAYAAN  ผู้อำนวยการระดับชาติ
Solidaritas Perempuan (SP)—Women’s Solidarity กรุงจาการ์ตา

ซาลมา เป็นผลจากการแต่งงานระหว่างพ่อมุสลิมที่เคร่งครัด ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใน Moluccan และแม่จากปาปัวตะวันตก ผู้ได้เข้ารีตเป็นคาธอลิก  ซาลมา (เกิดปี 1971Jayapura ปาปัวตะวันตก) เติบโตขึ้นท่ามกลางชนกลุ่มน้อยทางศาสนาใน Jayapura
หลังจากที่ได้ศึกษาวิชากฎหมาย ซาลมา ได้ทำงานร่วมกับทีมกฎหมายของ SP ซึ่งเชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานหญิงย้ายถิ่นชาวอินโดนีเซีย ก่อนที่จะเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการระดับชาติในปัจจุบัน   งานนี้ได้เปิดโลกทัศน์ของเธอเบื้องหลังของอันตรายจากการถูกล่อลวงทางการเงิน และการถูกลวนลามทางเพศในต่างแดน  แรงงานย้ายถิ่นหญิงเหล่านี้ ยังตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตยในศาสนาที่บ้าน   ซาลมา สามารถจะเล่าได้เป็นฉากๆ  ด้วยความเข้าใจของตัวผู้หญิงเองว่า เธอจะต้องอุทิศตัวให้สามีทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเพศทั้งร่างกายและวิญญาณ   พวกเธอเชื่อว่า สามีของเธอมีสิทธิ์ที่จะมีภรรยาคนที่สอง เพราะว่าเธอไม่สามารถอยู่รับใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศให้เขาได้
บางครั้ง เงินทองที่พวกเธอส่งกลับบ้าน จะถูกใช้เพื่อจัดงานแต่งงานและตบแต่งเรือนหอใหม่ของสามี   ถ้าผู้หญิงเหล่านี้เรียกร้องที่จะหย่า พวกเธอจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และบางครั้ง ยังต้องเสียค่าชดเชยให้แก่สามีด้วย
ซาลมา เสริมว่า มันไม่น่าเชื่อที่ Jilbab ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเลื่อมใสศรัทธาของหญิงมุสลิมในอินโดนีเซีย  งานของเธอได้พาเธอไปถึงตะวันออกกลางที่ซึ่งเธอได้เห็นกับตา ว่าผู้หญิงที่สวมเครื่องคลุมอย่างหนักแต่หัวจรดเท้า ก็เมาเหล้าได้ หรือยิ่งกว่านั้น ยังเข้าโบสถ์ได้ด้วย   เธอเล่าอย่างติดตลกว่า ตัวเธอเองได้ตัดสินใจคลุมผมตัวเองเมื่ออายุ 21 ดิฉันกลัวว่าจะต้องตกนรก...แต่แน่นอน หลังจากทำงานที่ SP แล้ว  ดิฉันจึงรู้ว่า jilbab ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับนรกแม้สักนิด   มันมีอยู่นานมาแล้ว ก่อนที่อิสลามจะมาถึง
ทุกวันนี้ ผ้าคลุมผม ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่งของเธอเท่านั้น  มันไม่ใช่เพื่อปกปิดความเป็นผู้หญิง (aurat ส่วนของร่างกายที่ fiqh อิสลาม บังคับให้คลุมไว้)   มันไม่ต่างอะไรกับกางเกงสีน้ำตาลตัวหนึ่ง หรือกิ๊บผมสีแดง   เมื่อไรที่ไม่อยากใส่ หรือเมื่อผมเปียก ดิฉันก็ไม่ใส่   ผมของดิฉันมันหยิกหยองเหลือเกิน การคลุมผมก็ทำให้ดิฉันไม่ต้องแปรงผมมากจนเกินไปเท่านั้น

ขบถทางจิตวิญญาณ
JULIA SURYAKUSUMA  นักเขียนสตรีนิยมและนักกิจกรรม
Depok  ชวาตะวันตก

จูเลีย (เกิดปี 1954 ณ กรุงเดลฮี  อินเดีย) เป็นลูกสาวของนักการทูตกับแม่ศรีเรือน จากครอบครัว ปริยาหยี แห่งซุนดาน   เธอได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กในยุโรป อินเดีย และอินโดนีเซีย   เธอพูดถึงตัวเองว่า ความจริงที่ดิฉันเป็นขบถ เพราะดิฉันถูกทำให้เป็นเช่นนั้น
จูเลียเป็นนักเขียนสตรีนิยมที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของอินโดนีเซีย   ผลงานของเธอคือ Sex, Power and Nation (กาม  อำนาจ และชาติ) ซึ่งรวมงานเขียนของเธอในช่วง 24 ปี   เธอได้ขึ้นปกนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งพาดหัวว่า ฉันเป็นสุนัขจิ้งจอกตัวเมีย ก็เพียงเพื่อสร้างความประหลาดใจให้ผู้อ่าน ด้วยคำบรรยายตัวเธอเองว่า เป็นผู้จงรักภักดี  ผู้ปกป้องที่ดุดัน   ในทำนองเดียวกันกับเทศกาลการเมืองเรื่องอิสรภาพ ซึ่งเธอเป็นผู้ร่วมจัดขึ้น เธอถูกเขียนภาพล้อเลียนว่านุ่งนิดห่มน้อยมาก   จูเลีย เป็นผู้หญิงที่มีชีวิตที่ท้าทายว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องการเมือง   พวกเขาขนานนามให้เธอว่า feminist fatale
การเติบโตในต่างแดน ย่อมหมายถึง การรอดพ้นจากเงื้อมมืออิสลามที่บ้าน   พออายุได้ 14 จูเลียก็เป็นแฟนของลัทธิ existentialism (บทความ นรกเป็นของคนอื่น) และเป็นพวกปฏิเสธการมีพระเจ้า (บทความ เครื่องทดสอบอันหนึ่งของการยอมรับพระเจ้า)   พอถึงกึ่งอายุ 20 เธอเริ่มฝักใฝ่ศึกษาจิตวิทยาสาขา Jung  วิทยาศาสตร์คริสเตียน และพิธีกรรมมาตรฐานต่างๆ ของอิสลาม   ด้วยความเป็นคนที่มีจิตวิญญาณอยู่ไม่สุข การแสวงหาเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่มีวันสิ้นสุด   ทุกวันนี้ เมื่ออายุได้ 50 เธอควรที่จะได้ลงสมัครตำแหน่ง คนเมืองสมบูรณ์แบบ ที่ได้ท่องไปทั่วโลกของโครงการแผ่อิทธิพลอิสลาม (Project Islamicisation)   แต่จูเลียก็ไม่ประทับใจในโครงการนี้เลย
มันเป็นเรื่องมือถือสาก ปากถือศีลทั้งนั้น จูเลียตอกกลับ  รูปแบบธรรมจริยาที่มุสลิมกำลังส่งเสริมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกทางศาสนา ไม่เข้ากับความเข้าใจของเธอต่อเรื่องการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เนื่องจาก เจ้ามาตรฐานธรรมจริยานั้น ไม่ได้ทำให้เธอเห็นว่า มันมีประสิทธิภาพในการเชิญชวนให้ผู้คนทำตัวเหมาะสมต่อกันและกัน   และแล้วในทศวรรษ 1980 ด้วยความพยายามที่จะศึกษาการเจริญภาวนาสมาธิ เธอก็ได้กลับมาถึงบ้านในที่สุดโลกของวิญญาณท่ามกลางกลุ่ม พราหมากุมารี (Brahma Kumaris) ที่รัฐราชสถาน ในอินเดีย
ทุกวันนี้  จูเลียจะนั่งทำภาวนาสมาธิทุกวัน เพื่อเชื่อมต่อ และเติมประจุพลังงานกับ วิญญาณสูงสุด   เธอเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด กรรม และคาถาอาคม   เธอกินแต่ผักสดผลไม้เป็นส่วนใหญ่   เธอออกนอกลู่ทางถึงขั้นส่งให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ   ทุกสิ่งที่ดิฉันมีอยู่ ล้วนมาจากพระเจ้า   พระเจ้าเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ทุกแห่งหน ดิฉันไม่เคยหยุดเชื่อเช่นนี้

บาปที่สร้างสรรค์:
การตามหาอย่างมีศิลปะ

ปัญหาที่อิสลามมีต่อศิลปะมีหลายแง่มุม   อันหนึ่งคือ เรื่องเพศสัมพันธ์ว่าด้วยการเผยส่วนของร่างกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้หญิง) และการอยู่ปนเประหว่างหญิงกับชาย ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรม ผิดศีลธรรม   Hadith บางข้อก็ตำหนิเครื่องดนตรีบางชนิด ภาพเขียน และประติมากรรม ที่ลอกเลียนรูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิต
ถึงอย่างไรก็ตาม ในอินโดนีเซีย ประเด็นนี้ถูกทำให้สับสนด้วยความจริงที่ว่า งานศิลปะและวรรณกรรมมากมายตั้งแต่สมัยก่อนอิสลาม ก็ยังคงได้รับการธำรงรักษาอยู่   ตำนานเหล่านี้ยังมีให้เห็นและจับต้องได้นาฏศิลป์การแสดงและวรรณคดี ซึ่งถนอมสุนทรีย์ ลีลาภาษา คุณสมบัติ การบรรยาย และอุปกรณ์ทางวัฒนธรรม เช่น การเชิดหุ่น หน้ากาก เป็นต้น   แต่สิ่งที่รบกวนมุสลิมส่วนใหญ่ คือตำนานทางจิตวิญญาณก่อนยุคอิสลาม ซึ่งซึมซาบอยู่ในงานศิลปะ และมักจะผนวกวิธีการ เช่น การกลับชาติ การใช้คาถาอาคม และการเข้าฌาน

ประเพณีที่ยังมีชีวิต
SITRAS ANJILIN & SLAMET GUNDONO
Magelang & Surakarta  ชวาตอนกลาง

Sitras Anjilin (เกิดปี 1959Magelang  ชวาตอนกลาง) เป็นหัวหน้ากลุ่มวัฒนธรรมในหมู่บ้าน Tutup Ngisor ที่ชายเขา เมราปิ (Merupi) ภูเขาไฟลูกหนึ่งของโลกที่ยังกรุ่นระอุที่สุด ซึ่งเป็นที่นับถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อของชาวชวา   ภายใต้สิ่งแวดล้อมนี้ ชาวคาทอลิก และชาวมุสลิม อยู่ปนเปกันด้วยดีตั้งแต่เกิดจนถึงหลุมฝังศพถ้าใครลองเสาะหาให้ดี ก็อาจเจอสุสานที่มีทั้งชื่อมุสลิม และคริสเตียนจารึกอยู่บนแผ่นหินของสุสาน
ความยึดมั่นอย่างเข้มข้นของชาวบ้าน Tutup Ngisor ต่อศิลปะและสิ่งลี้ลับดั้งเดิม ไม่ใช่ข้อยกเว้นในชวา แต่เป็นสิ่งแปลกประหลาดในระหว่างพวกเดียวกัน   ตราบทุกวันนี้ ชาวบ้านก็ยังเคร่งครัดอยู่กับการจัดให้มีการแสดงสี่ครั้งทุกปี ที่พลับพลาชุมชนเพื่อฉลองเทศกาล Eidเทศกาลชาวมุสลิมหลังจากการอดอาหารหนึ่งเดือน   Muludanวันคล้ายวันสมภพของศาสดา   Suran—วันปีใหม่ของชาวชวา  และ Agustusanวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย   นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้พัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็งกับสถาบันศิลปะในท้องถิ่น และนักแสดงร่วมสมัย   พวกเขายังจัดพิธีประจำปี Merti Dusunซึ่งเป็นพิธีชำระล้างจิตวิญญาณของหมู่บ้าน   ในพิธีนี้ มีการถวายสิ่งของ (sesaji) ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งน้ำ ในช่วงเดือนมุสลิม Jamadul Akhir   ทุกๆ เย็นวันพฤหัส ซึ่งตามหลักจักรวาลวิทยาของมุสลิม ถือว่าเข้าวันศุกร์ อันเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีของมุสลิม ชาวบ้านจะเล่นเครื่องมโหรี gamelan
พ่อแม่ของพ่อ Sitras ได้อุทิศเวลากลางวันในการทำนา และในตอนเย็นในการทำงานศิลปะ   เขาได้เรียนรู้การฟ้อนรำแบบดั้งเดิม นาฏศิลป์ และดนตรีต่างๆ ก่อนที่เขาจะเข้าโรงเรียน ซึ่งเขาได้เรียนอยู่สักพักที่นั่น   เขาเป็นชาวนา นักฟ้อนรำ นักแสดง นักดนตรี รวมทั้งเป็นนักเชิดดาหลัง (dalang) และ คนเชิดหุ่นหนัง (wayang kulit)
พ่อ Sitras คงจะถูก Geertz และมุสลิมอื่นๆ จัดว่าเป็นมุสลิมแต่ชื่อ   แต่พ่อ Sitras มีการสำเหนียกเรื่องปรัชญาเชิงจิตวิญญาณสูง ซึ่งเขาได้อุทิศตัวถ่ายทอดความศรัทธาออกมาในงานวัฒนธรรมและศิลปะของเขา    สำหรับเขา การฟ้อนรำเป็นศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งสร้างความสุขพึงพอใจแก่ทั้งผู้ฟ้อนและผู้ชม และยังขัดเกลากิริยามารยาทของผู้เรียน   มันเป็นวิธีการฝึกวินัยอบรมกล่อมเกลาของชาวชวา ที่เก่าแก่ ผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบแล้วมันสอนคุณค่าของความอ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตัว และความมีมารยาทแก่เด็กๆ
พ่อ Sitras มองว่าตนเองเป็นคนมุสลิม  แต่เขาไม่สวดหรืออดอาหาร และเขาก็ไม่รู้สึกยุ่งใจ หรือเป็นปัญหาแก่เพื่อนบ้าน   เขาไม่เชื่อว่า มีแต่ มุสลิม เท่านั้นที่จะบรรลุการหลุดพ้น   นี่เป็นเพียงกล่องทั้งนั้น  เห็นไหม ศิลปะจะยัดใส่กล่องได้ยาก
หัวใจของความห่วงใยทางจิตวิญญาณของเขาอยู่ที่ เพียงการมีกิริยามารยาทและเจตนาดี  ผมไม่ไปร่วมสวดที่มัสยิด เพราะสัญชาติญาณทางจิตวิญญาณ (naluri) ของผมไม่ได้อยู่ที่นั่น  ความประพฤติดี ก็อาจมีอานิสงค์พอที่จะส่งให้คุณไปสวรรค์ได้เหมือนกัน เขาย้ำ   ผมอาจไม่ได้เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับศาสนาที่มีอยู่ แต่ผมเป็นนักเรียนของ ความประพฤติดี (akhlak)”
ส่วนเรื่องความเร้นลับของการเข้าฌาน ไม่มีใครจะอธิบายประสบการณ์นี้ได้ดีไปกว่า Slamet Gundono ศิลปินเชิดดาหลังจาก Surakarta ผู้ได้รับการเคารพอย่างสูง
ในวัยเด็ก หนูน้อย Slamet (เกิดปี 1966Tegal ชวาตอนกลาง) ชอบคลุกคลีอยู่ในชุมชนมัสยิด ได้รับการศึกษาเล็กน้อยจาก เปซานเตรน  และด้วยเสียงอันไพเราะของเขา ก็ได้พาให้เขาได้เข้าร่วมวงการแสดงวัฒนธรรมต่างๆ   แต่เขาได้เรียนศิลปะการเชิดดาหลัง จากพี่ชายของเขา
สำหรับ Slamet อิสลามในชวา ได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากมรดกเรื่องเวทย์มนตร์และความลี้ลับจากบรรพชน   เขาชี้ให้เห็นว่า วรรณกรรมชวาและนิทานต่างๆ เต็มไปด้วยปรัชญาเชิงจิตวิญญาณเกี่ยวกับแก่นของความเลื่อมใสศรัทธาภายใน
ผมเป็นคนหนึ่งล่ะ ที่รู้และบอกได้ว่าการเข้าฌานไม่เกี่ยวอะไรกับปีศาจ   ผมมาจากครอบครัว sintren  พวกเราทั้งหมดสามารถเข้าฌานได้... ฌาน เป็นความคิดเกี่ยวกับ ที่ว่าง   ถ้าความหนาแน่นในที่ว่างนี้มีความอัดแน่นสูง ภาวะตระหนักรู้ของคุณก็จะเปลี่ยน    ถ้าคุณป่วย ไม่แข็งแรง อดอาหารนานเกินไป คุณก็สามารถเข้าสู่ภาวะฌานได้   ฌานมีหลายระดับ ที่สูงสุด ผมคิดว่าจะเกิดการเพ่งพิจารณา   พอดิฉันถามเรื่องโลกของวิญญาณ เขาเตือนดิฉันว่า มันเป็นเรื่องนามธรรม   เขาบอกดิฉันว่า พวกเขามาจากโลกบุรพกาล (primordial world, dunia purbakala)
Slamet แย้งว่า พิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่าง พัวพันอยู่กับการกดปุ่มใน ที่ว่าง ในจิตสำนึกของเราด้วยการสวดมนตร์หรืออดอาหาร   คำชี้แจงของเขาอธิบายให้เราเห็นว่า พิธีกรรมในรูปแบบที่ดีเยี่ยม จะช่วยปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระได้ อันเป็นจุดหนึ่งที่เรามักจะมองข้าม

ความห่วงใยร่วมสมัย
อินโดนีเซียแหล่งบันเทิง หรือ แหล่งบรรลุธรรม

ทุกวันนี้ นักเขียนอินโดนีเซียร่วมสมัย ศิลปิน และนักแสดงหลายคน ต่างยังคงแสดงความเป็นอิสระ แยกตัวออกห่างจากระบบราชการศาสนา   บุคคลเหล่านี้มักจะได้รับการศึกษาในสถาบันศิลปะอุดมศึกษาต่างๆ ในอินโดนีเซีย แต่ความลึกล้ำทางจิตวิญญาณของพวกเขา เป็นมรดกของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย ซึ่งพวกเขาใช้ในการตีความหมายและแสดงความเห็นเรื่องการจำกัดอิสรภาพทางศาสนาผ่านงานศิลปะของพวกเขาอย่างช่ำชอง
Arahmaiani (เกิดปี 1961 ณ บันดุง ชวาตะวันตก) เป็นศิลปินที่ดีเยี่ยมคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั้งในงานศิลปะ การแสดง และกวี   เธออาศัยอยู่ใน โย๊คจาการ์ตา  สืบเชื้อสายมาจากครอบครัว อาหรับ-ซุนดาน   เธอได้ซึมซับทั้งมาตรฐานจริยธรรม และจิตวิญญาณแบบซุนดาน ตั้งแต่ยังเยาว์วัย เธอยอมรับว่า ในวัยเด็ก เธอเคยฝันที่จะเป็นศาสดา แต่ในวัยรุ่น เธอหยุดการสวดมนตร์ พ่อของเธอที่เคร่งศาสนาแต่ใจกว้าง ได้พยายามชักจูงให้เธอหวนกลับเข้าสู่ทางที่ปลอดภัย แต่เธอกลับตั้งคำถาม ทำไมเราจะต้องอยู่ในหนทางที่ปลอดภัย ปลอดภัย อยู่ตลอดเวลา?  ลูกต้องการจะลองทางอื่นมั่ง   Arahmaiani ได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา และเคยถูกจับให้กักบริเวณในบ้าน   ภายหลัง เธอได้กลายเป็นศิลปินและนักแสดง ได้สร้างผลงานที่สื่อสารเรื่องเจนเดอร์ และรายละเอียดเชิงศาสนา   ในการเดินทางแสดงผลงานของเธอทั่วโลก เธอได้เชื้อเชิญให้ผู้ชม เขียนอะไรก็ได้ลงบนส่วนต่างๆ ของร่างกายของเธอ   เธอใช้ศิลปะคัดลายมือภาษาอาหรับ โคคา-โคลา และถุงยางอนามัย ในการประดิษฐ์งานศิลปะของเธอ   แม้จะเกิดความคิดต่อต้าน แต่เธอก็ยังปฏิเสธที่จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนมุสลิม เพราะ สำหรับเธอ นั่นจะเป็นทางออกที่ง่ายเกินไป
ในทำนองเดียวกัน Budi S. Otong (เกิดปี 1962 ณ บันดุง ชวาตะวันตก) เป็นนักการละครอินโดนีเซียประเภทแหกคอก ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่สวิส  เขาเป็นคนที่มีความเป็นอิสระอย่างดุเดือดที่ต่อต้านความเชื่อใดๆ ที่มีรูปแบบลักษณะโครงสร้าง  สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การแสวงหาความเลื่อมใสศรัทธาภายนอกสถาบันศาสนา...ผมจินตนาการว่า พระเยซูเป็นผู้เดินประท้วงคนหนึ่งในเมืองเยรูซาเล็ม   ทุกวันนี้ เขาไม่ได้ขึ้นเวทีแสดงบ่อยนัก  เขาได้อุทานว่า เขากำลังรอความตาย   ความตายเป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องใช้แรงงานจริงๆ เป็นกรอบแนวคิดและระบบที่ต่างออกไป เป็นความเป็นไปได้ของการเดินทางไปสู่อีกโลกหนึ่ง  ผมยังเชื่อในพระเจ้า แต่ไม่ใช่เป็นใครคนหนึ่งอย่างที่ศาสนาต้องการให้เราเห็น
นักเขียนการ์ตูน Bambang Toko Witjaksono (เกิดปี 1973 ณ โย๊คจาการ์ตา) เป็นอาจารย์ศิลปะฝีมือดี ที่มาจากครอบครัวที่มีปู่ย่า-ตายาย เป็นชาวมุสลิม แต่พ่อแม่เป็นชาวคริสต์   เขาใช้ศิลปะและอารมณ์ขัน ในการก่อกบฏต่อต้านความเกลียดกลัวที่กระพือโดยพวกเคร่งศาสนา   เมื่อยังเป็นเด็ก บัมบัง และพี่ชาย ได้อาสาที่จะไปเข้าชั้นเรียนอิสลาม และก็ลงเอยกลับเป็น มุสลิม โดยไม่มีพิธีการเข้ารีตอย่างเป็นทางการ   ถ้า บัมบัง เกิดในประเทศอื่นที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ เขาคงถูกคำพิพากษาทางศาสนาให้ลงโทษถึงแก่ชีวิต (death fatwa) ในฐานะที่เขียนการ์ตูนตลกโบกฮาที่มีตัวละครยอดวีรบุรุษเป็นหมู ชื่อว่า Abu Thoyib
หนึ่งในนักประพันธ์ยอดเยี่ยมของอินโดนีเซีย คือ Ahmad Tohari (เกิดปี 1948Banyumas ชวาตอนกลาง)   เขาโตมาในครอบครัว เปซานเตรน และศาสนาก็ยังเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในชีวิตของเขา   เขายังคงปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด แต่บทประพันธ์ของเขา ก็ยังตั้งคำถามต่อการสยบรับคำสอนศาสนาอย่างตาบอดงมงาย   เขาเป็นผู้ประพันธ์วรรณกรรมคลาสสิก Ronggeng Dukuh Paruk ซึ่งเป็นพงศาวดารชีวประวัติของ Srintil และงานศิลปะของเธอรองแง็งซึ่งเป็นหนึ่งในการฟ้อนรำแบบดั้งเดิมที่กระตุ้นความกำหนัด รวมทั้งชีวิตภายหลังที่เธอเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา   พ่อ Tohari ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักสตรีนิยม ได้ปฏิเสธ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดๆ ที่จะพิพากษาความประพฤติทางศีลธรรมของผู้ใดในนิยายเรื่องนี้   สำหรับเขา พิธีกรรมเป็นเพียงพื้นฐานทางเลือกต่างๆ ไม่ใช่เป้าหมาย   เขาเล็งเห็นถึงอันตรายของการยึดมั่นถือมั่นในศาสนาที่เป็นทางการจนเกินไป และเห็นว่า อิสลามเป็น คำวิเศษณ์ มากกว่าเป็น คำนาม   ดิฉันจึงถามเขาว่า แล้ว kafir อย่างที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เข้าใจ จะหลุดพ้นได้ไหม  เขาตอบว่า มันไม่มีทางที่จะหาคำตอบได้
นักแสดงคนอื่นๆ เช่น Wenti Nuryanti (เกิดปี 1966Muntilan ชวาตอนกลาง) เป็นอาจารย์สอนรำ  ยอมรับว่าอิสลามและงานศิลปะของเธอมีความขัดแย้งกันอยู่   เวนติยังคงปฏิบัติตามพิธีกรรมอิสลามแบบดั้งเดิมหลายประการอยู่ เธอกล่าวว่า ผู้หญิงมุสลิมอาจจะปกคลุมร่างกายของพวกเธอมิดชิด แต่ เครื่องแต่งกายประจำชวาเดิมของผู้หญิง คือ kemben”   เธอยังคงตั้งคำถามต่อต้นตอของการปกคลุมร่างกาย และก็ปล่อยให้มันเป็นคำถามเปิด   แต่สำหรับเธอ ตราบเท่าที่ ฉันทะที่มีต่องานศิลปะยังแรงอยู่ เธอจะยังคงทำงานเป็นนักศิลปินต่อไป   สิ่งสำคัญคือ เจตนาในหัวใจของดิฉัน ตราบเท่าที่เราไม่ทำอะไรเกินไป มีอะไรเสียหายเล่า?  ถ้าเราใช้ธูป ดอกไม้ sesaji และ กำยานด้วยดี  วัฒนธรรมชวาเต็มไปด้วยสัญลักษณ์
นักเต้นรำร่วมสมัย Sherly Novalinda (เกิด 1982 Kerinci Jambi) ปัจจุบัน อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม ในสุมาตราตะวันตก ก็มีส่วนร่วมในการพิเคราะห์ใคร่ครวญแนวเทววิทยาด้านนี้   เชอร์ลี เริ่มคลุมผ้า jilbab เมื่ออายุ 17 ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกศึกษาการเต้นรำ   ทุกวันนี้ เธอเลือกที่จะไม่แต่งตัวเช่นนั้นในขณะขึ้นเวทีแสดง   เวลาดิฉันเต้นรำ ดิฉันปลด jilbab ออก เพราะว่าดิฉันไม่ได้เป็นตัวของตัวเองในขณะนั้น ดิฉันได้กลายเป็นคนอื่น ตัวละครที่ดิฉันกำลังแสดงอยู่   เธอเชื่อว่า สำหรับคนที่มีความซาบซึ้งในงานศิลปะ พวกเขาย่อมจะเข้าใจถึงการตัดสินใจเช่นนี้อย่างแน่นอน   ส่วนข้อจำกัดมากมาย ที่ไม่ให้เผยส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้หญิงนั้น เชอร์ลี ไม่ได้ติดใจนัก   เธอประเมินผลทางศีลธรรมจากการกระทำของตัวเธอเองแค่ว่า มันทำให้ใครเสียหายหรือเปล่า

เพศและจิตวิญญาณ

อัตลักษณ์หนึ่งที่ถูกเบียดให้อยู่ชายขอบที่สุดในชีวิตศาสนา คือ กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ และวิถีทางเพศ ที่เย้ยหยันกฎ/ศีลของการรักเพศตรงข้าม (heterosexual precepts) ที่บัญญัติว่ามีเพียงสองค่ายที่ ตรงกันข้ามกัน ในระหว่างความเป็นหญิงและความเป็นชาย   ในความเชื่อที่เคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายอับราฮัม มีแต่ประสบการณ์เพศสัมพันธ์ระหว่างสองเพศ คือ ชายกับหญิงเท่านั้น   แต่ตอนนี้ เรามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย เกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศแบบต่างๆ นอกเหนือจากสองเพศตรงกันข้าม   เพศวิถีมีอยู่ มีลักษณะลื่นไหลอย่างต่อเนื่อง (ตามกาลเวลา) ในร่างกาย อารมณ์ และจิตใจของเรา  ทั้งหมดนี้มีบทบาทซับซ้อนในการสื่ออัตลักษณ์และความฝักใฝ่ทางเพศของเรา

การเป็นเกย์  การเป็นคนดี
GAYA NUSANTARA
Surabaya  ชวาตะวันออก

Gaya Nusantara เป็นองค์กรเกย์และเลสเบี้ยนที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในอินโดนีเซีย ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักกิจกรรมเกย์   ทุกวันนี้ Gaya ทำงานวิจัยและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเพศวิถี สุขภาพทางเพศ และสิทธิของเกย์ และสิทธิของคนทำงานบริการทางเพศ   มีการถ่ายทอดหัวข้อเหล่านี้ผ่านรายการวิทยุ  จัดกิจกรรมสาธารณะ และให้บริการคำปรึกษาที่สำนักงานองค์กร   มีการจัดชุมนุมที่เป็นมิตรต่อชาวเกย์ และตีพิมพ์นิตยสารของตนเอง
รองผู้จัดการและเลขาของ Gaya ต่างก็เป็นชาวมุสลิม  แต่ทั้งสองยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่จากครอบครัวของตนเอง  ทั้งสองตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันในระยะยาว   เราคุยกันถึงนัยความเกี่ยวพันของเพศวิถีที่เขาได้เลือกแล้ว ต่อความเชื่อทางจิตวิญญาณของเขา   คำตอบคือ ประการแรก พวกเขาไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเป็นเกย์และศรัทธาความเชื่อของเขา  ประการที่สอง พวกเขาขอให้พวกเราทบทวนพิจารณาบริบทของบางข้อความในคัมภีร์กุรอ่าน ที่แตะเรื่องรักร่วมเพศเพียงเล็กน้อย   พวกเขาตีความว่า อาจเป็นไปได้ที่ชุมชนที่หมกมุ่นในพฤติกรรมรักร่วมเพศ ที่ถูกวิจารณ์ในคัมภีร์กุรอ่านนั้น ถูกตำหนิลงโทษเพราะความโอหัง เจ้าเล่ห์ และการที่พวกเขาข่มเหงสาวกของศาสดา มากกว่าเพียงเพราะว่าพวกเขา เป็นเกย์
สำหรับปัจเจกบุคคลเหล่านี้ การแสดงออกถึงความศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา (ธรรมจริยา) ไม่ใช่สิทธิพิเศษที่สำรองไว้สำหรับพวกรักเพศตรงข้ามเท่านั้น

ถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเมื่อเร็วๆ นี้?
“ZARIFF”  คนแปลงเพศ จากหญิงสู่ชาย
โย๊คจาการ์ตา

“Zariff” (เกิดปี 1971 Surakarta ชวาตอนกลาง) เติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลางของ อุลลามา ที่ผู้คนเคารพ ในซูราการ์ตา ชวาตอนกลาง  และตอนนี้เขาเป็นนักจิตวิทยาอิสระ ที่ให้คำปรึกษาอยู่ใน โย๊คจาการ์ตา   ความเชื่อมั่นของ Zariff ในเรื่องอัตลักษณ์ทางเจนเดอร์/เพศสภาพ เป็นเรื่องผสมผสานระหว่างความเห็นทางศาสนาและวิทยาศาสตร์   หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาวะของตนเป็นเวลาหลายปี Zariff เล่าว่า หนังสือเรื่อง เราไม่ใช่ผู้ชาย (Kami Bukan Laki-Laki) ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาอย่างไร   หนังสือเล่มนี้ ได้อ้างคำแนะนำของ อุลลมา ชาวอินโดนีเซีย Hamka ผู้เป็นที่เคารพนับถือและล่วงลับไปแล้ว ที่กล่าวว่า ในขณะที่ความคิดเห็นทางศาสนาควรจะยึดมั่นในคัมภีร์กุรอ่าน และ hadith   แต่ก็ยังมีที่ว่างมากพอสำหรับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอิสลาม  ดังนั้น สำหรับประเด็นคำถามเชิงเทววิทยาที่หาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ แต่อาจจะได้ประโยชน์จากการฟังความเห็นของคนนอกวงเทววิทยาได้ ก็ควรหาคำอธิบายดังกล่าวจากผู้เชี่ยวชาญ   ในกรณีของผม จะต้องปรึกษานักจิตวิทยาและแพทย์ เขาสรุป   ดังนั้น ถ้าผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า ภาวะของเขาเป็นเรื่องธรรมชาติ และอนุญาตให้เขาแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่เขาต้องการได้ จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และช่วยให้เขาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ความคิดเห็นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับกัน   Zariff วางแผนที่จะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเร็วๆ นี้   เขาเห็นว่า การตีความศาสนาแบบดั้งเดิม ต่อมิติเจนเดอร์  นักการศาสนาขาดความรู้ด้านชีววิทยาและจิตวิทยาโดยสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ Zariff มีความมั่นใจที่จะเข้าร่วมพิธีสวดหมู่ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นพันธกิจดั้งเดิมสำหรับชายมุสลิม   เขาปฏิบัติพิธีกรรมศาสนาแบบดั้งเดิมทุกประการ เหมือนชายมุสลิมอื่นๆ และยึดถือข้อระเบียบของศาสนาแบบเดิม ว่าด้วยเรื่องเพศ และเชื่อว่า เขาควรจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้กับหญิงที่เขาเลือกหลังจากผ่าตัดแล้ว

เมื่อมุสลิมโจมตี jilbab
SHUNIYYA RUHAMA HABIIBALLAH  คนแปลงเพศ จากชายสู่หญิง
นักประพันธ์  โย๊คจาการ์ตา

Shuniyya (เกิดปี 1982 Kendal ชวาตอนกลาง) ก็เติบโตมาในแวดวงที่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของศาสนา และก็ยังเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนาเหมือนเดิมจวบจนทุกวันนี้   แต่โดยธรรมชาติ เธอเป็นคนที่มีสัญชาติญาณและความคิดลึกซึ้งมาก เธอไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรืออ้างข้อบัญญัติในศาสนาแบบดั้งเดิม เพื่อสนับสนุนความเห็นของเธอ
ด้วยเหตุนี้ แม้คนรอบข้างจะไม่สนับสนุนอัตลักษณ์ข้ามเพศของเธอ Shuniyya ก็ปักใจเสมอว่าเธอเป็นเพศหญิง ตั้งแต่อายุยังน้อย  การผสมผสานระหว่างความศรัทธาและสามัญสำนึก ได้ช่วยให้ลดความขัดแย้งในจิตใจของเธอมันเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะไม่มีเหตุผลอย่างนี้ ที่จะลงโทษเธอด้วยสภาวะทางชีวภาพ ที่เธอไม่สามารถควบคุมได้
Shuniyya สวดมนตร์ เหมือนหญิงมุสลิมคนหนึ่ง รวมทั้งเริ่มสวม jilbab ครั้งหนึ่ง เมื่อเธอเชื่อว่า มันเป็นข้อบังคับสำหรับหญิงมุสลิม  พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้เธอเกือบถูกทำร้ายโดยนักศึกษาที่เคร่งศาสนาจัดในมหาวิทยาลัย   Shuniyya เป็นผู้ใหญ่ และมีความมั่นใจเกินวัยของเธอ เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้พิมพ์หนังสือเล่มแรก ที่ เล่าชีวิตของการเป็นคนมุสลิมข้ามเพศ จะไม่ยอมปล่อยให้ jilbab ของฉันหลุดไป (Jangan Lepas Jilbabku)

จารีตประเพณีท้องถิ่น
ไม่ทันสมัย  ไม่ตามตะวันตก  ไม่เป็นมุสลิม?

ปรากฏการณ์เชิงเทววิทยาหนึ่งที่น่าสนใจที่สุดในโลกมุสลิมทุกวันนี้ คือ ปฏิกิริยาลบที่แสดงออกเหมือนๆ กันทั้งค่ายหัวสมัยใหม่ และค่ายหัวรุนแรงเคร่งศาสนาต่อจารีตประเพณีพื้นเมืองต่างๆ ที่ ทำให้ผู้คนหวนรำลึกถึงอิทธิพลจากยุคก่อนอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มีแหล่งกำเนิดนอกดินแดนอาหรับ
ด้วยการจัดลำดับให้อิสลาม เป็นระบบที่มีเหตุมีผล พวกหัวสมัยใหม่ ไม่เพียงแต่จะมองข้ามศักยภาพของอิสลามในเรื่องลี้ลับ แต่ความคิดแบบยึดโครงสร้างนี้ จะกลายเป็นความรู้สึกเกรี้ยวกราด และประณามว่า เป็นวัตรปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ ไม่มีเหตุผล โดยไม่คิดจะพิจารณาดูบริบทของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีปฏิบัติที่ยังคงรักษาองค์ประกอบเชิงจิตวิญญาณความเชื่อ เช่น เวทย์มนตร์ของขลังและคาถาอาคมซึ่งมีอยู่มาก่อนอิสลาม โดยที่สิ่งเหล่านี้อาจจะเชื่อม หรือไม่เชื่อมต่อกับบูรณาการล่าสุดของอิสลามก็ได้   สำหรับพวกเคร่งศาสนา วัฒนธรรมดังกล่าว มันเป็นของนอกรีต ของแปลกปลอมอยู่นอกจารีตอิสลาม   พวกเขามองไม่เห็นว่า วัตรปฏิบัติหลายอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นหัวใจของการแสดงความศรัทธาในอิสลาม ที่แท้จริงก็ได้ซึมซับจากวัฒนธรรมอาหรับก่อนยุคมุสลิมเหมือนกัน เช่น การจาริกแสวงบุญ และอื่นๆ
ในบัดดล ฝ่ายตรงข้ามของพวกหัวสมัยใหม่ คือ มุสลิมที่ไม่เคร่งครัด  และของพวกหัวเคร่งครัด ก็คือ  มุสลิมที่ไม่ฝักใฝ่ตะวันตก และไม่ทันสมัย

สุขสันต์วันเกิด โมฮัมเหม็ดที่รัก!
SEKATEN  โย๊คจาการ์ตา

ใน โย๊คจาการ์ตา การเฉลิมฉลองวันสมภพของโมฮัมเหม็ด อย่างเอิกเกริกเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถูกจัดขึ้นในความอุปถัมภ์ของราชสำนัก   งานนี้เรียกว่า Sekatan กล่าวกันว่าเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำอาหรับ shahadatain หมายถึง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลาห์
มีพิธีการสรงน้ำและเปิดให้ชม วงมโหรี gamelan และกริช อันเป็นมรดกตกทอดของราชวงศ์   ผู้เข้าทรงประจำราชสำนัก ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นกำยานและควันธูป จะออกมาต้อนรับผู้คนนับร้อยที่นำ sesaji มาถวายและขอพร
ในคืนแรกของพิธี น้องชายของสุลต่าน จะออกมาขว้างตะกร้าที่เต็มไปด้วยเหรียญสตางค์ ใส่ฝูงชนที่ยินดีเบียดเสียดแย่งกันไขว่คว้า   แล้ว เครื่องมโหรี gamelan ก็จะถูกเคลื่อนออกจากพระราชวัง ท่ามกลางขบวนแห่ที่สวยงามในยามเที่ยงคืน ไปสู่ สองอาคารในมัสยิดหลวง เพื่อบรรเลงอยู่ 2-3 วันๆ ละหลายๆ รอบสำหรับสาธารณชน จากนั้น จึงเคลื่อนกลับเข้าพระราชวังตามเดิม   ในคืนสุดท้าย สุลต่านจะออกมานั่งเป็นประธานฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตของโมฮัมเหม็ด แล้วก็ขว้างตะกร้าเหรียญสตางค์ใส่ฝูงชนเช่นเดียวกัน   ในวันสุดท้ายของงานเฉลิมฉลอง ก็จะมีขบวนแห่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง จากพระราชวังถึงมัสยิด เพื่อเคลื่อน gunungan 5 (เป็นของถวายซึ่งร่วมก่อให้เป็นกองโตเหมือนภูเขาที่ทำจากข้าว ผัก ขนม และอาหารต่างๆ) อันเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์   ภายในชั่วเวลาเพียงไม่กี่นาที gunungan ก็จะหายวับไป โดยผู้ร่วมงานต่างจะแย่งฉกชิงกันอย่างไม่มีใครยอมใครง่ายๆ
เบื้องหลังงานฉลองวันสมภพของโมฮัมเหม็ดใน โย๊คจาการ์ตา คือ ความคิดเรื่อง berakah หรือ การกระจายพรจากสิ่งพึงสักการะ ในที่นี้คือ จากพระราชวังของสุลต่านสู่สาธารณชน ในรูปสิ่งของ เช่น gunungan และเหรียญสตางค์ ซึ่งประชาชนจะผลักและดันกันอุตลุด เพื่อแย่งชิงไขว่คว้าให้ได้สิ่งมงคลเหล่านี้ และ วงมโหรี gamelan ซึ่งฝูงชนจะนั่งฟังกันอย่างสนุกสนาน   Sekaten จึงเป็นวิธีการสำคัญที่ราชวงศ์มาตาราม ซึ่งอ้างตนว่าเป็นทายาทโดยตรงจากอาณาจักรฮินดู-มาจาปาหิต (Majapahit) ใช้ทำการแปลงชาวชวาให้เป็นอิสลามทางวัฒนธรรม และธำรงอิทธิพลของวัฒนธรรมโบราณจนถึงปัจจุบัน

ลิปสติก  แป้งผัดหน้า และการสวดมนตร์
ชุมชน BISSU
Pangkep, South Sulawesi

บิซซู เป็นชุมชนทรงเจ้าดั้งเดิมของชาวมุสลิมบูกิส (Bugis)   สิ่งที่แสดงถึงความขัดแย้งต่อมุสลิมกระแสหลักที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคาถาอาคม และอุปกรณ์เหนือธรรมชาติอื่นๆ ของพวกเขา ที่มีมานานก่อนที่พวกเขาจะเข้ารีตมานับถืออิสลาม  แต่คือ บิซซูส่วนใหญ่เป็นคนข้ามเพศ   ทุกวันนี้ ในชนบทที่ล้อมรอบเมือง Makassar  ชาวบิซซู ยังได้รับความเคารพนับถือ และได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบูกิสหรือมุสลิม ตั้งแต่การรักษาโรคและการทำนายชี้นำ รวมทั้งงานเลี้ยงชุมชน ที่ฉลองการออกจาริกแสวงบุญ Hajj ก่อนออกเดินทางไปเมืองเมกกะ
Halilintar (2004) อธิบายว่า ชาวบิซซู เริ่มแรกเป็นที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมของราชสำนักบูกิส และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกของความเป็นจริงปัจจุบัน กับห้วงจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ในท้องฟ้า   บทสวดมนตร์ของพวกเขาเป็นภาษาเทวดา ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเทวดาเป็นผู้สอนให้
Puang Matowa Saidi (เกิดปี 1958Pangkep ซูลาเวสี ตอนไต้) เป็นหัวหน้าของชาวบิซซู ใน Pangkep อธิบายว่า คนบิซซูมีชีวิตอยู่ที่เส้นแบ่งระหว่างหญิงและชาย และนี่เป็นพรสวรรค์จากพระเจ้า   เขาบอกดิฉันว่า แรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณของพวกเขาไม่ได้มาจาก ปีศาจอย่างที่ชาวมุสลิมเมืองผู้สงสัยไปเสียทุกอย่างกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้กล่าวหาพวกเขา ถ้าข้อมูลใด ใช้ได้กับความเป็นจริง มันย่อมมาจากที่นั่นไม่ได้   พอดิฉันถามเขาว่า เขาได้เห็นความอยู่ร่วมกันไม่ได้ระหว่างจารีตของเขากับอิสลามไหม เขาตอบง่ายๆ ว่า คนพวกนี้ไม่รู้จักขนบธรรมเนียม
ด้วยอานิสงค์จากวัฒนธรรมนี้ ชุมชนนี้จึงมีขันติธรรมสูงต่อคนที่ข้ามเพศจากชายสู่หญิง และคนเหล่านี้หลายคนก็ทำตัวเปิดเผยว่าเป็นผู้หญิงตั้งแต่การแต่งกาย เกี้ยวพาราสีกับผู้ชาย ที่ดูเหมือนจะไม่ถือสาว่าถูกคนเหล่านี้ลบหลู่ด้วยการให้ท่าว่าจะเอาเขาเป็นคู่รัก หรือต้องการจะรับเขาเป็นลูกบุญธรรม

กาม คาถา และตัณหา
ชาวมาเลย์แห่งหมู่บ้านเบตุง (Betung)
Pelalawan, Riau สุมาตรา

ชาวมาเลย์จากหมู่บ้านเบตุง ของเกาะเปลาลาวัน ซึ่งบางครั้งจะถูกเรียกว่า ชาวมาเลย์เปตาลางัน มีความเชี่ยวชาญในการใช้คาถาอาคมด้วยปากเปล่า แต่บางครั้ง ก็จะผสมกับสื่ออื่น เช่น น้ำ น้ำมัน และผลไม้   ครอบครัวส่วนใหญ่จะมีชุดคาถาประจำตระกูลของตน
ดิฉันได้พุ่งความสนใจไปที่การใช้มนตร์มหาเสน่ห์โดยผู้หญิงในหมู่บ้าน เนื่องจากเรื่องนี้แหละ ที่พิธีกรรมเหล่านี้ถูกตำหนิว่าเป็นของนอกรีต  ว่าเป็นอุบายสกปรกที่ผู้หญิงเจ้าเล่ห์ จะใช้เพื่อการชิงรักหักสวาท   คาถาเหล่านี้มีตั้งแต่บทที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง ดูมีเสน่ห์น่าหลงใหล  เป็นการ เปิด ราคะของฝ่ายหญิง เพื่อ ปลดล็อค ให้สามีเกิดกามตัณหาต่อภรรยาของตน   ชุดคาถาอาคมเฉพาะเหล่านี้ เต็มไปด้วยคำเกี่ยวกับการสังวาส  จึงเป็นที่รู้จักกันว่า Monto Cabul หรือ คาถาลามก
ดิฉันได้คุยกับแม่มิโน ผู้มีอายุกว่า 70 ปี และครอบครัวของเธอถึงความเกี่ยวพันเชิงเทววิทยาของกิจกรรมเหล่านี้ว่า การใช้คาถาอาคมเป็น syirik (ยกสิ่งอื่นขึ้นเทียมพระเจ้า) อย่างไร   แม่มิโนและครอบครัวเปรียบเทียบการร่ายคาถาอาคมว่าเป็นวิธีหนึ่งของการสวดมนตร์ และก็ไม่เห็นว่าพฤติกรรมดังนี้จะเป็นบาปที่ตรงไหน   แม้กระทั่งการใช้คาถาเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีคนมารักใคร่ ก็เป็นเพียงวิธีการอันหนึ่ง และการใช้อาคมก็ดีกว่าการใช้เครื่องสำอาง หรือเสื้อผ้าที่ช่วยทำให้ตัวเองดูสวยงามขึ้น เพราะว่า ไม่เหมือนพวกของนอกกายเหล่านั้น มนตร์เสน่ห์จะอยู่ติดตัวคุณตลอดไป แม้ว่าคุณจะเปลื้องผ้าออกหมดแล้วก็ตาม
พ่ออาลม สามีของเธอ ย้ำว่า อันที่จริง เวทย์มนตร์ที่ใส่คำทางศาสนาและเอ่ยนามของศาสดา เทวดา และพระเจ้า ก็กลายเป็นการสวดมนตร์ธรรมดา   ส่วนการที่คาถาอาคมหนึ่งๆ จะมีผลหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกนั่นแหละ   พวกเขาย้ำว่า ต้นตอของคาถา ซึ่งตกทอดมาในแต่ละครอบครัว แท้จริงมาจากพระเจ้า

บทสรุป
อิสลามชายขอบ ในโลกยุคหลังอาณานิคม

เมื่อปลดการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเป็นใหญ่ในเวทีเทววิทยาออก ข้อทะเลาะเบาะแว้งในยุคแรกของโลกมุสลิม มักจะจดจ่ออยู่ที่เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่จารึกเป็นอักขระ และอยู่ระหว่างอักขระ  รูปแบบและบริบท จุดบรรจบและจุดแยกของวิธีการ และผู้ทรงอำนาจของสถาบันกับการปกครองตัวเองของปัจเจกชน   ทุกวันนี้ เมื่อข้อพิพาทที่เหลือต่างๆในอิสลาม ได้ปรากฏออกมาว่าได้ถูกจัดเป็นระบบราชการและมีการกำกับบังคับใช้ การพิพาทก็ยังคงดำเนินต่อไประหว่างนักการศาสนาอนุรักษ์นิยมที่เป็นตัวแทนของผู้ทรงอำนาจทางจิตวิญญาณ ที่ยืนอยู่ข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่ง คือ นักคิดนอกวงการนักการศาสนาที่สนับสนุน หรือทำหน้าที่เหมือนทนายแก้ต่างของฝ่ายจิตวิญญาณที่เป็นไทแก่ตนเอง (Spiritual autonomy)
ถึงอย่างไรก็ตาม การอภิปรายในวันนี้เป็นการเติมอีกมิติหนึ่งในวงการอภิปราย   ความหมายของคำว่าศีลธรรม เกี่ยวพันกับศีลธรรมของการจัดลำดับเวลาซึ่งในที่นี้ คำศัพท์ที่ใช้ในการอภิปราย ถูกครอบงำโดยเนื้อหาการลำดับเวลาที่จุด ช่วงเว้นวรรค ถูกทำเครื่องหมายด้วยการอิงที่เหตุการณ์ของเคลื่อนตัวเข้ามาของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มี ความสมัยใหม่ ที่ทรงพลัง  ปฏิกิริยาหมู่ต่อการจัดลำดับเวลาที่กระทำโดยเจ้าอาณานิคม ได้แปลงให้พวกเราเป็นแค่ประชากรของประสบการณ์หลังยุคอาณานิคม
แน่นอน มันเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะไปสมมติว่า เราสามารถจะปลดเปลื้องโซ่ตรวนของการจัดลำดับเวลาเชิงการเมืองและภูมิศาสตร์นี้ได้  แต่ในความเห็นของดิฉัน พวกเราไม่ควรจะยอมรับง่ายๆ ว่าภูมิศาสตร์และการจัดลำดับเวลาในยุคหลังอาณานิคม เป็นเส้นแบ่งเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ เพียงชุดเดียว   การให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการจัดลำดับ มักจะบิดเบือนจิตสำนึกในเชิงประวัติศาสตร์หรือความสมัยใหม่ แล้วใส่ลงไปในยุทธศาสตร์เชิงศีลธรรมจนเลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละฝ่ายจะสร้างพระเจ้าให้เข้ากับลำดับเวลาที่ตนได้กำหนดไว้   แล้วก็จะเกรี้ยวกราดต่อฝ่ายอื่น ที่มาจากมิติอื่นที่มีการจัดลำดับเวลาและภูมิศาสตร์ ที่ทำลายความต่อเนื่องของขอบเขตเวลาและสถานที่ ๆ ตนได้กำหนดไว้
ดิฉันมีความห่วงใยในผลของการโต้วาทีเชิงเทววิทยาของชาวมุสลิม ซึ่งแบกภาระของความจำเป็นที่จะต้องตีความ หรือเอาชนะสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ผู้ทรงพลัง   ในการโต้วาทีแบบนี้ มักจะต้องมีการตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า ชาวมุสลิมคิดเหมือนกันหมด หรือสมมติกันว่าไม่มีสังคมมุสลิมใดที่อาจจะมีวิธีติดต่อต่างออกไปในเชิงคุณภาพกับ ศัตรู และก็มีแนวทางอย่างอื่นในการทำความเข้าใจกับการจัดลำดับความสำคัญตามคำสอนของโมฮัมเหม็ด   สังคมเหล่านี้ อาจจะมีวิธีการแสดงออกถึงความเคร่งครัดเลื่อมใสตามความเชื่อของพวกเขาที่อยู่นอกกรอบอิสลาม และมีเหตุผลของพวกเขาเองที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความคิดสมัยใหม่   สังคมเหล่านี้ เช่นในอินโดนีเซีย ถูกล็อบบี้อย่างหนักหน่วงให้กลายเป็นผู้มีเหตุผลหรือยอมรับแนวคิดเชิงเทววิทยาโดยผ่านกรอบคิดสมัยใหม่ (theological via modernity) อิสลามหรือทั้งสองอย่าง พิมพ์เขียวจิตวิญญาณของทั้งสองฝ่าย จะค่อยๆ ถูกลบออก เมื่อความเชื่อแบบใหม่เกิดขึ้น  เป็นความเชื่อที่จะนำพาพวกเขาให้ไปสู่การพัฒนาที่จัดเจนขึ้น ให้เกิดจารีตใหม่ที่รองรับความหลากหลายของศาสนาได้   สังคมมุสลิมดังกล่าว แท้จริงจะมีอำนาจในการธำรงไว้ซึ่งขันติธรรมต่อความเชื่อหลากหลาย ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าได้ประสบความสำเร็จในการปรับตัวซึมซับอิสลาม โดยเป็นผู้ตั้งเงื่อนไขและตัดสินใจเอง  แม้ว่ากระบวนการต่อรองแปลงศาสนาจะค่อนข้างซับซ้อน เพราะต้องจัดการให้เข้ากับสถานการณ์ภายในท้องถิ่น และถ่ายทอดอิสลามที่มีรายละเอียดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากแดนไกล
ทุกวันนี้ การโต้เถียงในความหมายของภาษาระหว่างมุสลิมนักการศาสนาและมุสลิมปัญญาชนในเวทีนานาชาติ ส่วนใหญ่จะถูกตีกรอบให้ตอบสนองแนวคิดสมัยใหม่ และให้ตีความเกี่ยวกับโลกตะวันตกเพื่อจะได้ตอบโต้กับมัน  ในขณะที่ทุกคนกำลังมองหาอิสลามที่ใช้ได้และขนานแท้ที่สุด อิสลามในเอเชียอุษาคเนย์ ยังคงอยู่ที่ชายขอบไม่เคร่งศาสนา หรือไม่ทันสมัย หรือทั้งสองอย่าง ดังนั้น จึงไม่ใช่อิสลามขนานแท้
Lee (1997) ใน Overcoming Tradition and Modernity, The Search for Islamic Authenticity ได้วิเคราะห์ ปัญญาชนมุสลิม 4 คน ที่ไม่ยอมรับวิธีคิดแบบแยกขั้วระหว่าง ความสมัยใหม่ และความเคร่งครัดยึดมั่นประเพณีเดิม (modernity – orthodoxy)  การที่แต่ละคนได้เสนอให้ใช้กระบวนการแตกต่างกันในการค้นหาอิสลามขนานแท้ ได้เผยให้เห็นถึงความไม่สม่ำเสมอของแต่ละแนวทาง   Lee ได้เตือนพวกเราให้เห็นถึงมายาคติของความเป็นของแท้ เพราะมันเริ่มด้วยการดัดแปลงรายละเอียดในสมมติฐานที่พบเจอในโลกของมุสลิม แต่ความต้องการที่จะแสวงหาของแท้เพื่อสร้างรากฐานและมาตรฐานดังกล่าว ได้ผลักดันให้พวกเขามุ่งไปหาสิ่งที่ครอบจักรวาลสากล เป็นนามธรรมและแก่นแท้ แต่สังเวยรายละเอียดรูปธรรมบางประการ ไม่ว่าจะมีข้อมูลรองรับมากสักแค่ไหนในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพียงเพราะรายละเอียดระดับปัจเจกและวัฒนธรรมไม่สามารถใช้เป็นพื้นฐานของความเป็นของแท้ได้   เมื่อเป็นเช่นนี้ การแสวงหาอิสลามของแท้ จะต้องมีปัญหาเมื่อเคลื่อนตัวจากรายละเอียดเฉพาะสู่ลัทธิครอบจักรวาล  ข้ออ้างถึงความแตกต่างจำเป็นจะต้องกำกับด้วยทฤษฎีขนานแท้ แต่การยอมรับรู้ข้ออ้างนั้นในทุกๆ กรณี จะเป็นการยอมรับการดำรงอยู่และการเมืองแบบอนาธิปไตย นั่นคือ ความสัมพันธ์ทั้งหมด ที่การสืบเสาะค้นหาความเป็นของแท้ทุกสายย่อมต้องการหลบหลีก (“The claim of difference necessarily accompanies any theory of authenticity, but to acknowledge that claim in every case is to accept ontological and poltical anarchy, hence utter relatively, which every quest for authenticity would wish to avoid.”  Lee 1997)
สำหรับดิฉัน ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้  วิธีอธิบายที่ดีที่สุด คือใช้หลักนิติศาสตร์เป็นฐานใหญ่ในการวางระเบียบธรรมจริยาแบบอิสลาม ซึ่งแม้ว่าจะสามารถค่อยๆ แก้ไขในกาลต่อมาเพื่อขานรับข้อเรียกร้องของปัญญาชนมุสลิมสมัยใหม่เช่นทุกวันนี้  ฐานดังกล่าวก็ยังถูกครอบงำได้ในด้านการจัดลำดับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยรายละเอียดที่เกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง และจะกดทับรายละเอียดทางศาสนาอื่นๆ เช่น ความลี้ลับของการร่ายเวทย์มนตร์  ในทางกลับกัน นี่ก็เป็นการอธิบายว่า ทำไมลัทธิซูฟิจึงสำรวจค้นหาธรรมจริยาแบบอื่น หรือรูปแบบธรรมจริยาของชาวชวา ยังคงถูกมองว่าเป็นรูปแบบล้าหลัง ถ้าไม่ใช่นอกรีตเสียทั้งดุ้น
ในอีกแง่หนึ่ง พวกเรายังคงเป็นมุสลิมโดยบังเอิญในเชิงภูมิศาสตร์ และดิฉันก็หวังว่าเราจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป  เมื่อมุสลิมพวกแรกที่ทำการขยายตัวทางการเมือง ก็เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ตั้งใจแม้แต่จะสนับสนุนให้ใครเปลี่ยนศาสนา   ศาสดาโมฮัมเหม็ดนำมาซึ่งประสบการณ์ที่พระเจ้าชี้ทางให้ เพื่อเริ่มการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีรายละเอียดด้านจิตวิญญาณเฉพาะติดมาจากถิ่นที่ของท่าน
การท่องเดินทางไปครั้งนี้ ทำให้ดิฉันตั้งคำถามว่า ในฐานะที่เป็นชาวเอเชียอุษาคเนย์คนหนึ่ง ทำไมเราจึงต้องสงสัยในความเพียงพอด้านจิตวิญญาณของพวกเราเอง  ต้องทำลายความมีชีวิตชีวาของมัน แล้วเดือดร้อนดิ้นรนที่จะดั้นด้นให้ข้ามพ้นข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ เพียงเพื่อจะขอมีส่วนร่วมในสงครามต่างแดนอันนี้?  ความเจนจัดในเรื่องจิตวิญญาณของพวกเรา แต่ไหนแต่ไรมาก็อยู่เหนือกว่าแนวคิดพื้นๆ เรื่องเวลาและแหล่งที่ของยุคหลังอาณานิคม (postcolonial timespace) อยู่แล้ว
ในชวา ดิฉันได้ไปเยี่ยมสุสานนักบุญ (Sunan) 10 แห่ง อันเป็นที่สักการะของชาวมุสลิม แต่ละแห่งจะมีคำบอกเล่าถึงอัตลักษณ์ของนักบุญแต่ละท่าน ซึ่งแสดงออกถึงความศรัทธาเลื่อมใสเต็มเปี่ยม ความลี้ลับ และอำนาจวิเศษ จนกระทั่งคุณจะไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นใคร ทุกท่านล้วนคล้ายๆ กับโมฮัมเหม็ด   ดิฉันถูกสั่งสอนมาแต่เด็กว่า ไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับธรรมจริยาของ คนสื่อกลางทางจิตวิญญาณ (spiritual middlepersons) ดังกล่าว   แต่ดิฉันต้องตกตะลึง เมื่อเห็นผู้มาเยี่ยมที่สุสานแห่งแรก (ของ Sunan Tembayat ใน Klaten ชวาตอนกลาง) ที่ดิฉันได้ไปเยี่ยม สวมกอดแผ่นป้ายหินที่สุสานนั้น   ดิฉันเกิดความกลัว แต่ก็เก็บความรู้สึกไว้ได้ตามมารยาท จนกระทั่งดิฉันได้คิดว่า มันก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นที่ Bayat และสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมที่ไปจาริกแสวงบุญ   ณ ที่นั่น ชาวมุสลิมทั้งปวง จะผลักและดันเบียดเสียดกันเข้าไปจุมพิตหินศักดิ์สิทธิ์ Hajarul Aswad ใกล้กล่องหินยักษ์ทรงลูกบาศก์ Kaabah ที่เมกกะ ด้วยเชื่อว่าได้ชะล้างบาปของตน   เมื่อคนถือกุญแจและดูแลสุสาน (jurukunci) คะยั้นคะยอให้ดิฉันดื่มน้ำจากสายธารที่สุสานของ Sunan Syeikh Maulana Malik Ibrahim ที่ Gresik ชวาตะวันออก ดิฉันจำใจดื่มเพราะไม่ต้องการเสียมารยาท ทั้งๆ ที่ในใจกังวลว่าจะต้องท้องเสียภายหลัง   แต่แล้วดิฉันก็ค่อยๆ เข้าใจ และเริ่มตั้งคำถามถึงความแตกต่างขั้นพื้นฐานระหว่างน้ำที่ Gresik และน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ Zamzam จากเมกกะ ซึ่งผู้ไปจาริกแสวงบุญมักจะนำติดตัวกลับบ้าน
ในเชิงโครงสร้าง ต่างแสดงออกถึงความเลื่อมใสศรัทธาเหมือนกัน แม้ว่าจะแตกต่างกันที่รายละเอียดของความศักดิ์สิทธิ์ สาวกทั้งหลายล้วนเอียงเข้าหาแหล่งของความศักดิ์สิทธิ์   มุสลิมส่วนใหญ่จะติเตียนวัตรปฏิบัติดังกล่าวของชาวชวา แต่จากการพูดคุยกับคนดูแลสุสานในที่ๆ ดิฉันได้ไป และด้วยความบ้าบิ่นส่วนตัวของดิฉันที่ดึงดันขอมีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่างที่ดิฉันไม่มีความเข้าใจ ได้ช่วยไขข้อข้องใจให้เข้าใจถึงเบื้องหลังของข้อปฏิบัติพื้นฐานในการบูชาต่างๆ วัตรปฏิบัติเหล่านี้เป็นสื่อที่แสดงออกถึงภาพที่ใหญ่กว่าของจิตใจที่ถ่อมตน อันเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในรายละเอียดทางจิตวิญญาณของชาวชวา
ที่ Lingsar เกาะ Lombok อันเป็นบ้านเกิดของ ชาวมุสลิม Sasak (สาสัก) ดิฉันได้ไปเยี่ยม Kemaliqวัดของสาสักแห่งหนึ่งที่ไม่มีศาสนาใดรับรอง   วัดแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นในบริเวณที่กล่าวกันว่านักบุญชวาท่านหนึ่งกับลูกศิษย์ ได้ขุดเจอน้ำพุซึ่งเป็นน้ำที่รักษาโรคได้   น้ำนี้อาจจะรักษาโรคได้หรือไม่ได้ แต่ความจริงคือ ผู้ดูแลรักษา Kemaliq เป็นคนมุสลิม ผู้ปฏิบัติตามมาตรฐานธรรมจริยาต่างๆ   Kemaliq เปิดรับทุกคนที่มีความเชื่อ ให้เข้ามาสวดมนตร์และทำพิธีกรรมต่างๆ ได้ ตราบที่จะไม่นำเนื้อหมูหรือเนื้อวัวเข้ามาในบริเวณนั้น หรือทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม   พอดิฉันถาม Inak Sanusi หญิงมุสลิมวัย 50 ที่เป็นคนท้องที่ของ Lingsar ว่า ทำไมเธอจึงมาเยี่ยม Kemaliq แทนที่จะไปที่มัสยิดเพื่อสวดมนตร์ภาวนา เธอตอบว่า ดิฉันไปมัสยิดด้วย แต่ก็ต้องมาที่ kemaliq ด้วย
เป็นเวลายาวนานมาแล้ว และนี่คือภูมิปัญญาของอิสลามอินโดนีเซีย ที่สามารถจะให้อะไรมากมายแก่ชาวโลก แต่ความเข้มข้นในรายละเอียดคงจะไม่เชื้อเชิญให้นักการศาสนามุสลิมดั้งเดิมหันมาสนใจ อย่าว่าแต่จะรวมให้เข้าอยู่ในความเป็นสากล หรือปัญญาชนสมัยใหม่ก็เช่นเดียวกัน   แม้จะมีปัญญาชนอินโดนีเซียที่คัดค้านกระแสอนุรักษ์ดั้งเดิม และช่ำชองในแนวคิดสมัยใหม่ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ยอมรับรายละเอียดของวัฒนธรรมอื่นให้ร่วมเป็นมาตรฐานเพื่อที่เขาจะยึดถือได้   อดีตประธานาธิบดี Abdurrahman Wahid (1997) ครั้งหนึ่ง ได้เขียนติดตลกในชวาว่า ความเกรี้ยวกราดต่อกันระหว่างค่ายต่างๆ ตั้งแต่ ศันตรี ถึงชุมชนศิลปิน ที่ถกเถียงเรื่องอัตลักษณ์มุสลิม ถูกบริหารด้วยการพักรบอะไรทำนองนั้น   สำหรับดิฉัน นี่เป็นสัญญาณชัดที่ว่า ศันตรี ชวาหลายคน ไม่ต้องการจะติดหล่มของความคิดผิดๆ ในการอ้างว่าตนเป็นของแท้   ด้วยความจัดเจนที่มีอยู่แล้ว มุสลิมอินโดนีเซียได้เพลิดเพลินอยู่กับรายละเอียดของตนในการแสดงออกถึงความศรัทธา มีชีวิตที่ใกล้เคียงกับประสบการณ์ทางศาสนา ที่ตนคุ้นเคย และจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ไม่กังวลมากเกินไปกับเรื่องไร้ประโยชน์ของการแสวงหาความเป็นของแท้  ดิฉันเชื่อว่า ความเห็นส่วนบุคคลดังกล่าวเป็นเหมือนแนวทางของหลายๆ รูปแบบทางจิตวิญญาณของโลกตะวันออก   วิธีการที่หมู่เกาะเหล่านี้ต่อกรกับสาระความเชื่อที่เปิดเผยโดยโมฮัมเหม็ด ที่จริงเป็นคุณูปการต่อแนวคิดของมุสลิม แม้ว่าจะยังไม่ค่อยมีคนเห็นคุณค่านัก
แล้ววันหนึ่ง เมื่อพวกเราสิ้นสุดการโต้วาทีเรื่องภูมิศาสตร์ที่กำหนดโดยคนต่างชาติ เรื่องความฝังใจต่อ fiqh ทั้งเก่าและใหม่ บางทีเราอาจจะถอนหายใจเฮือกยาวด้วยความหมดแรงเมื่อเราตระหนักว่า เราไม่เคยด้องอาศัย fiqh เลย ไม่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างเมื่อถูกบังคับใช้โดยภาครัฐ

/dt


[1] “Dissidents and Disciples: The Geography of Islam in Indonesia” by Shamila Annie binti Mohamed Ariffin (API 2004/2005), Staff, Media and Research Office, Sahabat Alam Malaysia, Malaysia  [2007, pp. 81-97]