วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จิตพาไป...เซน

ยังมีบัณฑิตผู้หนึ่ง เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อหวังเข้าร่วมการสอบจอหงวน   ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว  ในระหว่างที่รอให้ถึงเวลาสอบ  บัณฑิตได้ขออาศัยอยู่ที่วัดเซนแห่งหนึ่ง      

ในคืนก่อนสอบ เมื่อบัณฑิตล้มตัวลงนอนหลับไป เขาได้ฝันถึงเหตุการณ์สามเรื่อง ดังนี้ ความฝันที่หนึ่ง: เขาปีนขึ้นไปปลูกผักกาดขาวอยู่บนกำแพง    ความฝันที่สอง : ในฝันฝนตก ส่วนเขาก็สวมงอบทั้งยังกางร่มอีกคันหนึ่ง   ความฝันสุดท้าย : เขานอนอยู่คู่กับหญิงสาวที่เขาแอบรัก ทั้งสองเปลือยเปล่าแต่กลับนอนหันหลังชนกัน              

พอรู้ตัวตื่นขึ้น ความฝันทั้งสามก็ยังรบกวนจิตใจเขามาก จนบัณฑิตหนุ่มต้องรีบไปหาหมอดู เพื่อขอให้ช่วยทำนายไขปริศนาในฝันให้กระจ่าง   เมื่อหมอดูได้ฟังเรื่องราวความฝันทั้งหมด ก็กล่าวอย่างมั่นใจว่า "พ่อหนุ่มจงเดินทางกลับบ้านไปเถิด การสอบครั้งนี้คงไม่ราบรื่น เจ้าลองคิดดู  การปลูกผักบนกำแพงย่อมไม่เห็นผล มิใช่เสียแรงเปล่าดอกหรือ?  ส่วนการใส่งอบแล้วยังกางร่ม ก็เป็นการทำสิ่งที่เกินความจำเป็น และการได้นอนคู่กับหญิงสาวที่รักแต่กลับหันหลังให้กัน นั่นก็หมายถึงอยากกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่กลับไร้ซึ่งความหวังนั่นเอง"              

เมื่อจบคำทำนาย บัณฑิตหนุ่มรู้สึกห่อเหี่ยว หมดอาลัยตายอยาก เห็นคล้อยว่าความฝันทั้งสาม คงเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าถึงผลการสอบจอหงวนของตน   จึงก้มหน้าเดินทางกลับวัดเซน เพื่อเก็บข้าวของเตรียมตัวกลับบ้าน              

พอกลับมาถึงวัด บัณฑิตหนุ่มบังเอิญได้พบอาจารย์เซน จึงถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดให้อาจารย์เซนฟัง พร้อมทั้งกราบลา  ทว่าอาจารย์เซนกลับกล่าวตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ข้าเองก็สามารถทำนายฝันได้เช่นกัน แต่ข้ากลับเห็นว่า ความฝันของเจ้าตีความได้อย่างนี้  ความฝันแรก การได้ปีนขึ้นไปปลูกผักบนกำแพงสูง ย่อมหมายความว่า เจ้าจะสอบติดในตำแหน่งสูง (คำว่า ที่แปลว่า "ปลูก" พ้องเสียงกับคำว่า ที่แปลว่า "ตรงกลางเป้า")  ความฝันต่อมา การสวมงอบและกางร่ม ก็หมายถึง การสอบครั้งนี้เจ้าได้เตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว ไม่มีทางพลาด  และความฝันสุดท้าย การนอนเปลื้องผ้าหันหลังชนกับหญิงที่แอบรัก มิใช่แปลว่า เพียงแค่พลิกตัวความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมหรอกหรือ?"              

บัณฑิตหนุ่มได้ฟังดังนั้น ก็คล้อยตาม เห็นว่าการทำนายฝันของอาจารย์เซนก็มีเหตุผล   จึงตัดสินใจรั้งอยู่เพื่อเข้าร่วมการสอบ    ในที่สุด เมื่อผลสอบประกาศออกมา ปรากฏว่าเขาทำสำเร็จ สอบติดในตำแหน่ง "ท่านฮวา" (ชื่อตำแหน่ง ของผู้สอบติดในลำดับที่ 3 ในการเข้ารับราชการของประเทศจีนโบราณ)             

ปัญญาเซน : ความฝันเดียวกันแต่ตีความได้หลายแบบ สาเหตุเกิดจากสภาวะจิตใจที่แตกต่างของผู้ฝัน และผู้ฟัง ความกระตือรือล้นและการมองโลกในแง่งามจะเป็นตัวผลักดันพฤติกรรม ให้เลือกกระทำในสิ่งซึ่งนำความสำเร็จมาสู่ตน

แบ่งปันจากหลวงพี่จรินทร์
ส่งต่อโดย กอแก้ว วงศ์พันธุ์, 17 ธันวาคม 2010

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทวงคืนสิทธิ์แม่พระธรณี การปลดแอกอาณานิคมทางอากาศ

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมดั้งเดิม
หลักการ 4 ประการเพื่อความเป็นธรรมของภูมิอากาศ
สังคมอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนคำจำกัดความของความสัมพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ธรณี

1. ปล่อยให้เชื้อเพลิงฟอสซิลคงอยู่ในดิน
ปล่อยให้ถ่านหินคงอยู่ในรูน้ำมันอยู่ในผืนดิน ทรายน้ำมันดิบอยู่ในแผ่นดิน   อุบัติเหตุในท้องทะเลได้พิสูจน์แล้วว่า น้ำมันและน้ำไม่ผสมตัวกัน  การเปลี่ยนภูมิอากาศ มีสาเหตุจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล   ให้หยุดการเผาผลาญ ณ ที่แหล่ง   ให้ประชาชนลดการบริโภค    การมีประสิทธิภาพย่อมไร้ความหมายเมื่อปราศจากความพอเพียง   การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนน้อย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายพื้นที่เศรษฐกิจและนิเวศน์ใหม่   ด้วยความตระหนักถึงรากเหง้าของปัญหาการเปลี่ยนภูมิอากาศ ประชนคมโลกจะต้องส่งเสียงร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมและโลกดำเนินการที่ลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล   เรียกร้องให้ระงับการสำรวจหาแหล่งใหม่ของน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน  ให้เป็นก้าวแรกของการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์  ให้ก้าวข้ามไปสู่การมีงานทำ  มีพลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

2. เรียกร้องให้หาทางออกที่เป็นจริงและมีประสิทธิภาพ
ยุติการส่งเสริมทางออกที่ผิดๆ เช่น การค้าคาร์บอน (carbon trading) คาร์บอนชดเชย (carbon offsets) ที่ใช้ป่าและเกษตรเป็นตัวชดเชย   เชื้อเพลิงเกษตร/ชีวมวล  การเก็บกัก หรือขับออกคาร์บอน (carbon storage and sequestration) เทคโนโลยีถ่านสะอาด  วิศวกรรมธรณี  เขื่อนขนาดยักษ์ และพลังงานนิวเคลียร์    ทางออกเหล่านี้ เป็นการอนุญาตให้ประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยกว่า หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการก้าวเปลี่ยนครั้งสำคัญ   ทางออกผิดๆ รังแต่จะอนุญาตให้บรรษัทที่สร้างมลภาวะสามารถทำกำไรเพิ่มต่อไป  อนุญาตให้ประเทศในซีกโลกเหนือมองข้าม (พฤติกรรม) การบริโภคในระดับสูง และขยายการผลิต และปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังฝืนปฏิบัติเช่นเดิม ดุจไม่มีอะไรเกิดขึ้น   ให้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ปกป้องสิทธิ์ งาน และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

3. ประเทศอุตสาหกรรม พัฒนาแล้ว ต้องรับผิดชอบ
ผู้ที่ก่อให้เกิดวิกฤตภูมิอากาศ จะต้องรับผิดชอบต่อการปรับตัว
-          เรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมยอมรับการแก้ไข Kyoto Protocol ในระยะพันธสัญญาช่วงที่สอง ระหว่าง 2013-2017  ซึ่งประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องยอมรับที่จะลดระดับการปล่อยก๊าซภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อย 50% บนฐานระดับก๊าซในปี 1990  โดยไม่รวมตลาดคาร์บอน หรือกลไกการชดเชย ที่ปกปิดความล้มเหลวในการลดการปล่อยก๊าซที่แท้จริง
-          อาศัยหลักของประวัติศาสตร์ความรับผิดชอบร่วมแต่หลากรูปแบบ   ขอเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้ว ให้ตั้งเป้าลดปริมาณก๊าซที่จะทำให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกลดลงเป็น 300 หน่วยต่อล้าน (ppm) จำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ได้สูงสุด 1 องศาเซลเซียส
-          ประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 95% ภายในปี 2050 เทียบกับระดับในปี 1990
-          ยุติการผลิตล้น และการบริโภคเกิน และให้ลดการบริโภคที่สิ้นเปลืองและการผลิตขยะโดยอภิสิทธิ์ชนในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
-          ประเทศพัฒนาแล้วที่ยอมรับความรับผิดชอบประวัติศาสตร์นี้ จะต้องตระหนักและยอมรับหนี้ภูมิอากาศและนิเวศน์ ในมิติต่างๆ ว่าเป็นพื้นฐานของทางออกที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเป็นวิทยาศาสตร์ ต่อการเปลี่ยนภูมิอากาศ   การคืนพื้นที่ในบรรยากาศที่ขณะนี้เต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจกที่พวกเขาปล่อยออกมา ที่ครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนา เป็นการปลดความเป็นอาณานิคมทางอากาศ ด้วยการลดและดูดซับก๊าซที่ประเทศพัฒนาแล้วปล่อยออกมา
-          เรียกร้องให้ซีกโลกเหนือสนับสนุนการเงินแก่ซีกโลกใต้ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และทำการพัฒนาต่อไปในเส้นทางที่ยั่งยืน และจะต้องยอมให้มีการควบคุมอย่างเป็นประชาธิปไตย
-          ยอมรับหนี้เหล่านี้ ว่าเป็นหนี้ที่กว้างใหญ่กว่าต่อพระแม่ธรณี ด้วยการยอมรับและดำเนินการตาม Cochabamba People’s Accord และ ข้อเสนอในรูป กฎบัตรสิทธิของพระแม่ธรณี (Universal Declaration on the Rights of Mother Earth)   จุดเน้นไม่ใช่แค่การชดเชยด้านการเงิน แต่รวมถึงการคืนความเป็นธรรม  ที่พึงเข้าใจว่าเป็นการสถาปนาคืนศักดิ์ศรีของพระแม่ธรณี และของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

4. มีชีวิตอยู่ในมรรคแห่งสัมมาบนพระแม่ธรณี
-          เพื่อสร้างความเป็นธรรมของภูมิอากาศ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล บรรษัท และประชาคมโลกให้ฟื้นฟู  ทบทวน  และสร้างความเข้มแข็ง แก่องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และแบบแผนการปฏิบัติของบรรพชนของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม   ยืนยันและรับรองประสบการณ์และข้อเสนอของพวกเราสำหรับ การดำรงชีพในมรรคแห่งสัมมา (“Living in a
Good Way
”)  ตระหนักว่า โลก หรือพระแม่ธรณี มีชีวิต ซึ่งพวกเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกจากกัน  ต้องอิงอาศัยกัน พึ่งพากัน และมีจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกัน
-          โลกจะต้องหลอมรวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ฟื้นฟูความกลมกลืนกับธรรมชาติ และในระหว่างมวลมนุษย์   เราจะสามารถบรรลุความสมดุลกับธรรมชาติ หากมีความเสมอภาคระหว่างมวลมนุษย์   ระบบทุนนิยม ได้บังคับและสะกดจิตให้พวกเราแข่งขันกัน ให้ก้าวไปข้างหน้า และการเติบโตที่ไร้ขอบเขต   ระบอบการผลิต-บริโภค เช่นนี้ ไล่ล่ากำไรอย่างไร้พรมแดน ทำให้มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ   มันได้สร้างภาวะจิตยึดมั่น กระหายหาทางครอบครองเหนือธรรมชาติ เปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นสินค้า : ที่ดิน น้ำ อากาศ (คาร์บอน) ป่า เกษตร  สัตว์และพืชพรรณต่างๆ  ความหลากหลายทางชีวภาพ  พันธุกรรม และแม้แต่องค์ความรู้ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม   ภายใต้ระบบทุนนิยม  พระแม่ธรณี ได้ถูกกระทำให้ไร้ความหมาย เป็นแค่แหล่งวัตถุดิบ   มนุษย์ถูกมองว่าเป็นผู้บริโภค และเป็นวัตถุดิบในการผลิต นั่นคือ บุคคลหนึ่งๆ ถูกกำหนดค่าด้วยสิ่งที่เขาครอบครอง ไม่ใช่ความเป็นคนของเขา   มนุษยชาติกำลังยืนอยู่ที่ทางแยก: เราจะเลือกเส้นทางลัทธิทุนนิยม การปล้นสะดมภ์ และความตาย หรือ เลือกเส้นทางสู่ความกลมกลืนกับธรรมชาติ และเคารพวงจรแห่งชีวิต Circle of Life
-          วิสัยทัศน์ร่วม เพื่อ การปฏิบัติการร่วมระยะยาว “Long-term Cooperative Action” (UNFCCC Ad Hoc Working Group)  จะต้องไม่ถูกลดทอนในการเจรจาต่อรองเรื่องการเปลี่ยนภูมิอากาศ เพื่อนิยามขอบเขตของการเพิ่มอุณหภูมิ และความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ  มันควรจะเป็นมาตรการที่สมดุล  ให้การสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และการปรับตัวที่ครอบคลุมต่อเนื่อง   มาตรการสร้างสมรรถนะ  แบบแผนการผลิตและบริโภค และมาตรการอื่นๆ เช่น การตระหนักถึงสิทธิ์ของพระแม่ธรณี เพื่อฟื้นฟูความกลมกลืนกับธรรมชาติ

INDIGENOUS ENVIRONMENTAL NETWORK
FOUR PRINCIPLES for CLIMATE JUSTICE
“Industrialized society must redefine its’ relationship with the sacredness of Mother Earth”

1. Leave Fossil Fuels in the Ground
Leave the coal in the hole – the oil in the soil – the tar sand in the land. Offshore accidents prove oil and water don’t mix. Climate change is caused by burning fossil fuels. Stop it at the source. Limit people’s consumption. Efficiency is meaningless without sufficiency. The transition to a low-carbon economy is not just about technology but about re-distributing economic and ecological space. In recognizing the root causes of climate change, people of the world must call upon the industrialized countries and the world to work towards decreasing dependency on fossil fuels. Demand a call for a moratorium on all new exploration for oil, gas and coal as a first step towards the full phase-out of fossil fuels, without nuclear power, with a just transition to sustainable jobs, energy and environment.
2. Demand Real and Effective Solutions
End the promotion of false solutions such as carbon trading, carbon offsets, using forests and agriculture as offsets, agro-fuels, carbon storage and sequestration, clean coal technologies, geoengineering, mega hydro dams and nuclear power. These allow the rich industrialized countries to avoid their responsibility to take major changes. False solutions allow polluting corporations to increase their profits; allow Northern countries to disregard their high levels of consumption and expand production and release of greenhouse gas emissions and conduct “business as usual” practices.
Promote a just transition to a low-carbon society that protects people’s rights, jobs and well-being.
3. Industrialized – Developed Countries take Responsibility
The burden of adjustment to the climate crisis must be borne by those who created it. This means:
·    Demand industrialized countries agree to an amendment to the Kyoto Protocol for the second commitment period from 2013 to 2017 under which developed countries must agree to significant domestic emissions reductions of at least 50% based on 1990 levels, excluding carbon markets or other offset mechanisms that mask the failure of actual reductions in greenhouse gas emissions.
·    Based on the principle of historical common but differentiated responsibilities, demand developed countries to commit with quantifiable goals of emission reduction that will allow the return of the concentration of greenhouse gases to 300 parts per million (ppm), limiting the increase in the average world temperature to a maximum of 1 degree Celsius.
·    A minimum of 95% cut in greenhouse gas emissions from industrialized countries by 2050 based on 1990 levels.
·    An end to over-production for over-consumption, and a dramatic reduction in wasteful consumption and production of waste by Northern and Southern elites.
·    Developed countries, assuming their historical responsibility must recognize and honor their climate and ecological debt in all of its dimensions as the basis for a just, effective, and scientific solution to climate change. Restore to developing countries the atmospheric space that is occupied by their greenhouse gas emissions. This implies the decolonization of the atmosphere through the reduction and absorption of their emissions.
·    Demand financial support from the North to the South to help with the cost of adjusting to the effects of climate change and continuing to develop along sustainable lines and it must be subject to democratic control.
·    Honor these debts as part of a broader debt to Mother Earth by adopting and implementing the Cochabamba People’s Accord and the proposed Universal Declaration on the Rights of Mother Earth. The focus must not be only on financial compensation, but also on restorative justice, understood as the restitution of integrity to our Mother Earth and all Life.
4. Living in a
Good Way
on Mother Earth
·    Climate justice calls upon governments, corporations and the peoples of the world to restore, revaluate and strengthen the knowledge, wisdom and ancestral practices of Indigenous Peoples, affirmed in our experiences and the proposal for “Living in a Good Way”, recognizing Mother Earth as a living being with which we have an indivisible, interdependent, complementary and spiritual relationship.
·    The world must forge a new economic system that restores harmony with nature and among human beings. We can only achieve balance with nature if there is equity among human beings. The capitalist system has imposed upon us a mindset that seeks competition, progress and unlimited growth. This production-consumption regime pursues profits without limit, separating human beings from nature. It establishes a mindset that seeks to dominate nature, turning everything into a commodity: the land, water, air (carbon), forests, agriculture, flora and fauna, biodiversity, genes and even indigenous traditional knowledge. Under capitalism,
·    Mother Earth is turned into nothing more than a source of raw materials. Human beings are seen as consumers and a means of production, that is, persons whose worth is defined by what they have, not by what they are. Humanity is at a crossroads: we can either continue taking the path of capitalism, depredation and death, or take the road of harmony with nature and respect for the Circle of Life.
·    The “shared vision” for “Long-term Cooperative Action” (UNFCCC Ad Hoc Working Group) must not be reduced in climate change negotiations to defining temperature-increase and greenhouse gas concentration limits in the atmosphere. Rather, it must undertake a balanced, comprehensive series of financial, technological and adaptation measures, measures addressing capacity building, production patterns and consumption, and other essential measures such as recognition of the rights of Mother Earth in order to restore harmony with nature.

~Digging Out the Root Causes of Climate Change – Ending CO2colonalism~

INDIGENOUS ENVIROMENTAL NETWORK – Native Energy and Climate Campaign
Main office:
P.O. Box 485, Bemidji, Minnesota USA
56619
Email: ien@igc.org or ienenergy@igc.org; Web: http://www.ienearth.org/
12-15-10

ความเสมอภาค...ที่เอ่อขึ้นจากในสู่นอก

คนละความหมายเดียวกันของชีวิต:  
การสืบค้นสนทนากับเสียงด้านใน เขียนโดย เจมี่ ออนา แพนกายา
แปลเรียบเรียงโดยสมพล ชัยสิริโรจน์ และ ณัฐฬส วังวิญญู


อะไร คือความหมายของชีวิต?” เรามักจะได้คำตอบสำหรับคำถามที่เก่าแก่นี้ ต่อเมื่อเรามองผ่านม่านวัฒนธรรมของเรา หรืออาจจะกล่าวให้เจาะจงลงไปคือ ผ่านประสบการณ์โดยตรงของเราที่หล่อหลอมในวัฒนธรรมนั้น

คนคนหนึ่ง อาจจะหาความหมายของชีวิตจากศาสนาที่เขานับถือ  เพื่อเขาจะบรรลุจุดหมายของชีวิตเขาจะไปสู่สวรรค์ หรือเขาจะบรรลุหลุดพ้น หรือเขาจะรักและใส่ใจผู้คนมากมายในโลกนี้ สำหรับบางคน ชีวิตจะรู้สึกประสบความสำเร็จเมื่อได้บรรลุความสำเร็จทางการเงิน จนมีบ้านหลังงาม มีเสื้อผ้าชุดสวย และได้ขับรถที่หรูหราแสดงสถานภาพ และเป็นเจ้าของสรรพสิ่งที่สร้างสรรค์ความสนุกสนาน

ส่วนอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะบรรลุความสำเร็จใดใดก็ตาม แต่ความหมายสำคัญอย่างยิ่งของชีวิตคือ การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์วงศ์ตระกูล เราเกิดมาเพื่อก่อกำเนิดคนรุ่นต่อไป เพื่อสร้างและเป็นสุขกับครอบครัว และสามารถขับเคลื่อนมนุษยชาติด้วยชีวิตครอบครัวของเรา

สำหรับอีกหลาย ๆ คน ชีวิตมีความหมายเมื่อเราเข้าใกล้ความเป็นอมตะ ด้วยคุณงามความดีที่เราได้ทำให้กับสังคมและโลก ประกอบกับคุณค่าของตัวเรา และความคิดสร้างสรรค์ที่เราได้ริเริ่มขึ้น เป็นที่จดจำในใจในความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวนมากสืบเนื่องอย่างยาวนาน เฉกเช่น ลีโอนาร์โด ดาวินซี่  เบโธเฟน  คานธี ไอน์สไตน์

เมื่อใครสักคน ตั้งสมมุติฐานว่าชีวิตจะมีคุณค่า ต่อเมื่อได้บรรลุจุดหมายที่วัฒนธรรมนั้น ๆ กำหนดไว้ ดังนั้นหากประสบการณ์ใดใดที่ไม่เติมเต็มจุดหมายนั้น ๆ ย่อมถูกประเมินว่าเป็นชีวิตที่ไร้สาระ บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงของคุณวิจารณ์ภายในตัวเรา ตอกย้ำกับเราว่า เรากำลังใช้ชีวิตอย่างไร้ค่า  จากคำกล่าวโบราณที่ว่า เวลาเป็นเงินเป็นทองบอกเราว่าหากเราไม่ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง เราย่อมไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ต้องแลกมาด้วยทรัพยากรที่จำกัด นั่นคือ เวลา กระแสความกลัวเช่นนี้ไหลต่อเนื่องอยู่ในใจของคนมากมาย

หากเปรียบร่างกายของเราซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ที่คอยตอบสนองความต้องการต่างๆ อันหลากหลายของร่างกาย ภาวะทางจิตของเราก็ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ภายในที่ดำรงอยู่เพื่อแสดงออก และเติมเต็มความต้องการทางจิตวิทยาของเราเช่นกัน และความต้องการทางจิต จำนวนไม่น้อย ที่ต่างขัดแย้งและตรงข้ามกัน เช่น เราอาจจะต้องการที่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้คน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนเป็นตัวของตัวเอง

ในขณะที่เราเติบโต เป็นตัวเป็นตนเป็นผู้มีเจตจำนงและความสามารถในการเลือก เราเติบโตโดยรู้สึกว่าเราคือบางส่วนเท่านั้นภายในตัวเรา และตัดขาดจากส่วนอื่นๆ ของตัวเรา  วิธีการรับมาเป็นเราหรือการผลักไสเช่นนี้ใช้ได้ผลในหลายๆ ทาง แต่ไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะพบเหตุการณ์ที่ใช้วิธีนี้ไม่ได้ผล
 
นานมาแล้วที่ฉันได้เสียงของคุณวิจารณ์บอกฉันว่า ฉันยังไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงช่างติ ช่างวิจารณ์นี้ เป็นพาหนะนำสาสน์บอกให้เรารู้ว่า เราได้กลายเป็นหนึ่งเดียว กับบุคลิกทางจิตของเราด้านหนึ่งมากเสียจนละทิ้ง ไม่แยแสด้านตรงข้าม  เสียงของคุณวิจารณ์กังวลว่า ฉันไม่มีชีวิตก้าวหน้าเพื่อที่จะตื่นรู้อย่างเพียงพอ หรือฉันไม่มีความมั่งคั่งทางวัตถุและสถานภาพทางสังคมเพียงพอ และฉันก็ไม่มีลูกซะด้วย เสียงนี้เป็นห่วงเป็นใยว่า ฉันยังทำอะไรต่อมิอะไรไม่มากพอ

ในด้านหนึ่งฉันก็ตระหนักถึงคุณค่า ภายในตัวฉันที่มุ่งทำประโยชน์ให้กับสังคม และอีกด้านหนึ่งฉันก็เห็นคุณค่า ที่จะเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่จะปล่อยตัวเองให้ ดำรงอยู่เท่านั้นก็พอแล้ว  แต่เป็นเพราะเสียงของคุณวิจารณ์ของฉันกลัวว่า ฉันกำลังใช้ชีวิตอย่างไร้ค่า โดยไม่ใช้เวลามากพอ ที่จะเตรียมสร้างที่ทางที่มั่นคงในยามที่ฉันแก่ชรา หรือแม้แต่เตรียมที่ทาง ให้ตัวฉันได้เป็นที่ระลึกนึกถึงในประวัติศาสตร์ รวมทั้งเตรียมตัวฉันให้ไปในที่ฉันควรจะไปหลังจากฉันสิ้นลม เสียงภายในต่างๆ เหล่านี้เป็นเสียงจากตัวตนที่ฉันแยกทิ้งไป ซึ่งอาจจะเรียกเขาว่า ตัวตนคนพิเศษฉันจึงตัดสินใจที่ไตร่ตรองทบทวนที่มาที่ไปของเสียงนี้ โดยรับฟังและตรวจสอบดูว่า ฉันอาจจะมองข้าม และยังไม่ได้ตอบสนองคุณค่าและความหมายบางประการที่เสียงนี้ ให้ความสำคัญ

ฉันได้พบว่า คนพิเศษในตัวฉันคอยบอกฉันเสมอ ๆ ว่าฉันนั้นไม่ธรรมดาแค่ไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีสตรีคนใดที่มีการศึกษาและเฉลียวฉลาด สามารถก่อร่างสร้างตัวเองโดยไม่ต้องแต่งงานหรือรับมรดกจากพ่อแม่ และไม่ต้องรับผิดชอบลูกเล็กเด็กแดง (และมีทางเลือกที่จะมีลูกก็ได้แต่ไม่เลือก) อีกทั้งสุขภาพใจและกายเข้มแข็ง คนอย่างฉันช่างหายากเสียเหลือเกินในประวัติศาสตร์ทั้งมวลของมนุษย์

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคสมัยของฉัน ผู้หญิงอีกจำนวนมากไม่ได้มีอิสรภาพเช่นนี้อย่างฉัน ดังนั้น เสียงภายในของฉันจึงดังกังวานว่า ฉันมีหน้าที่ต่อผู้หญิงคนอื่นๆ มีความรับผิดชอบต่อสตรีเพศทุกคน โดยฉันจะต้องใช้ศักยภาพและเงื่อนไขที่ฉันได้รับมานี้ก่อให้เกิดประโยชน์และ คุณค่าสูงสุดไม่ใช่เพียงเพื่อตัวฉันเองเท่านั้น แต่เพื่อผู้หญิงทั้งผอง!  เพื่อเผ่าพันธุ์!!!  เพื่อชีวิตทั้งปวง!!!

แน่นอนฉันรู้สึกขำ ขณะที่ฉันกำลังคิดเช่นนั้น เพราะทันทีทันใดนั้นเอง ส่วนอื่นๆ ของตัวฉันก็สวนกลับมาด้วยข้อสังเกตที่เย้ยหยันและส่อเสียดว่า ช่างสูงส่ง ช่างโอ้อวดตัวซะปานนั้น

วันนี้ฉันต่างจากเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งฉันเคยเป็นพวกบ้างานแบบสุดๆ ในเวลานี้ ตัวตน คนธรรมดาของฉันได้มีพื้นที่ในชีวิตฉัน ฉันสามารถเป็นสุขกับสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิต ไม่ว่าจะจัดบ้าน ดูแลสวน จ่ายตลาด อ่านหนังสือ ดูหนัง และมีเพื่อนมาทานอาหารเย็น เมื่อฉันใช้ชีวิตเช่นนี้ด้วย ตัวตนเป็นคนธรรมดาของฉัน ฉันจึงเป็นสุขที่เพียงได้เดิน ได้ยืดเส้นยืดสาย ใช้เวลาผ่อนคลายอย่างมากมาย

แต่วิถีชีวิตเช่นนี้ทำให้ตัวตน คนพิเศษของฉันแทบคลั่ง เพราะเป็นวิถีที่มีแต่กิจกรรมที่ธรรมดาไร้ความหมาย ไร้สาระ ชีวิตอย่างนี้นะเหรอ ไม่ก้าวหน้า ไม่พัฒนาไม่มุ่งมั่น ไม่มีประโยชน์ และจะไม่อยู่ในความทรงจำของใครเลย น่าเบื่อ ไม่มีอะไรสักอย่าง จะตายวันตายพรุ่งแล้วยังยุ่งอยู่แค่เล่นหัวมัวผ่อนคลายอย่างนั้นเหรอ?”

และ ณ ตรงนี้เอง ท่ามกลางการตระหนักรู้ของฉัน ฉันรู้สึกได้ว่าคนพิเศษ ของฉันกำลังทุกข์ร้อนกับความตายที่กำลังมาเยือน   ตัวตนส่วนนี้ของฉันรับรู้เวลาว่า เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลไปทางเดียวอย่างคงเส้นคงวา จากจุดเริ่มต้นสู่จุดจบ จากจุดก่อกำเนิดสู่ความตาย สำหรับตัวตน คนพิเศษของฉัน เขามองเห็น ชีวิตที่เป็นธรรมดา ว่าเปล่าประโยชน์ เฉื่อยชานิ่งเฉย ชีวิตพึงเติบโต และขับเคลื่อนจากแรงบันดาลใจไปสู่การสร้างสรรค์ จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไปสู่สิ่งใหญ่โต จากเมล็ดสู่พืชพันธุ์ที่ผลิดอกออกผล  คนเราต้องมีจุดหมายที่จะเติบโต พัฒนาและบรรลุผล

ตัวตนส่วนนี้ของฉัน ไม่ต้องการให้ฉันจากโลกนี้ไป ก่อนที่ฉันจะผลิดอกออกผลงดงามเป็นความสำเร็จ และจริง ๆ แล้วจากมุมมองของตัวตนนี้ ชีวิตอาจจะหมดไปเร็วกว่าที่คิด ส่วนนี้ของฉันเป็นส่วนที่ก่อเกิด ผลักดัน เร่งเร้าให้ฉันสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกสักคน หนังสือสักเล่ม ภาพวาด และคุณประโยชน์ใดใดสักอย่างที่จะดำรงอยู่เมื่อฉันจากไป เพื่อสลักเสลาตัวตนของฉันลงในศิลาจารึกและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และทั้งหมดนี้คือ วิถีของตัวตนส่วนนี้ของฉัน ที่ให้คำจำกัดความว่าความหมายของชีวิต นั้นเป็นเช่นไรสำหรับฉัน และเมื่อฉันรับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ฉันพึงให้เกียรติกับมุมมองนี้โดยไม่พิพากษาตัดสินเขาเลย

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวตน คนธรรมดาของฉัน ก็ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละขณะจิต เหมือนดำรงตนอยู่ในสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิที่เคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งก็ตาม
ความหมายของชีวิตคือประสบการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันทีละขณะ การอ่านหรือการเรียนรู้ใดใดก็ตาม ไม่ใช่พาหนะที่จะนำพาเราเดินทางไปไหน แต่เป็นวาระที่ให้เราได้สัมผัสมุมมอง หรือประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างเป็น ปัจจุบัน

เมื่อฉันมีชีวิตอยู่ทีละขณะจิต ประสบการณ์ชีวิตของฉันดำดิ่งลงลึกและแผ่กว้าง รุ่มรวยละเอียดอ่อนและเต็มเปี่ยม ด้วยมุมมองนี้ ฉันไม่เห็นคุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของฉันว่าพิเศษหรือแตกต่าง จากช่วงเวลาอื่น ๆ
ชีวิตทุกชีวิตมีเหตุปัจจัยเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ให้เราได้ประสบพบพานเสมอ สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่า ฉันจะสามารถดำรงชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมในแต่ละห้วงขณะ ได้อย่างไร ไม่ว่าสถานการณ์ที่ฉันกำลังเผชิญนั้นจะเป็นเช่นไรก็ตาม

จาก จุดยืนจุดนี้ในตัวฉัน ความพึงพอใจ มาจากการดำรงอยู่กับสิ่งต่างๆตามที่เป็นได้อย่างรื่นรมย์ ทุกช่วงขณะเวลาคือจุดหมายปลายทางและความสำเร็จในตัวของตัวเอง ไม่ว่าชีวิตเราจะผลิบานหรือไม่ก็ตาม เราก็ดำรงอยู่ และ
การดำรงอยู่นั้นมีความหมายมีคุณค่าในตัวของตัวเอง เมื่อเราดำรงอยู่ คุณค่าที่งดงามอันพึงสัมผัสได้ในแต่ละขณะก็เผยปรากฏ เฉกเช่น ดอกไม้สักดอกสามารถดำรงอยู่ได้โดยอาศัยการดำรงอยู่ของเมล็ด ราก กิ่งก้าน ลำต้น และกลีบใบ เช่นนั้น

เมื่อฉันดำเนินชีวิตด้วยตัวตน ผู้ดำรงอยู่ตัวฉันในฐานะของ ดอกไม้ที่กำลังผลิบานก็บังเกิดขึ้นพร้อมกันไปหมด กาลเวลาไม่มีเริ่มต้น เคลื่อนไหวหรือจบลง ทั้งหมดนั้นประกอบเป็นปัจจุบันขณะ
เวลาไม่ใช่เส้นตรงที่มีทิศทางเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอมตะ ตัวตนคนธรรมดาและผู้ดำรงอยู่เป็นทุกข์ร้อนเมื่อฉันใช้ชีวิตที่เห็นเวลาเป็นเพียงเส้นตรงเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น มิติที่หลากหลายและห้วงขณะที่แผ่กว้างทั้งหมดนั้นก็จะ หายไป ในเวลาที่เป็นเพียงเส้นตรง ตัวตนผู้ดำรงอยู่ในปัจจุบันอย่างธรรมดาก็ปลาสนาการไปจากการสำนึกรู้

เมื่อ ฉันสามารถ
ให้เกียรติเสียงภายในที่ตรงข้ามกันอย่างเสมอภาค  คุณวิจารณ์ภายในของฉันก็เงียบเสียงลง  ในเวลานั้น เขาไม่จำต้องส่งสาสน์บอกฉันว่า ยังมีบางส่วนภายในตัวฉันที่ถูกทอดทิ้งอยู่ ฉันสามารถรับรู้โดยไม่พิพากษาตัดสินทั้งสองส่วนเลย และฉันสามารถเลือกที่จะกระทำการใดใด โดยอาศัยมุมมองของด้านใดด้านหนึ่งหรือ จากทั้งสองด้านได้

เมื่อฉันประจักษ์ถึงความเป็นไปได้ของทั้ง ตัวตนเป็นคนธรรมดาและตัวตนคนพิเศษของฉัน   ฉันได้รับโอกาสอันดีที่จะมีประสบการณ์อยู่ระหว่างกลางของทั้ง สองอย่างกระจ่างชัด  ความกระจ่างแจ้ง มาจากความรู้สึกชื่นชมความแตกต่างและความต้องการพิเศษของคู่ ตรงข้ามได้อย่างเต็มใจ แล้วก็เริ่มพยายามประคับประคองอาการตื่นรู้ เพื่อรับรู้ความจริงที่ต่างขั้ว กันนี้ อีกทั้งพยายามฝึกฝนเจตจำนงเสรี ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีทางเลือกที่แท้จริง โดยรับรู้และให้เกียรติความแตกต่างที่ขัดแย้ง แล้วใช้ความรู้สึกเลือกวิถีทางที่เหมาะกับ
สถานการณ์เฉพาะหน้านั้น ๆ   และที่สุดเฝ้าดูผลที่ปรากฏภายในใจ

จุดหมายไร้ปลายทางของ Voice Dialogue Work คือ Aware Ego Process

“Paradoxical Meanings of Life ~ Being and Doing ~by J’aime ona Pangaia, copyright 2004
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มได้ที่ สถาบันขวัญแผ่นดิน kwanpandin@gmail.com และ voicedialoguework@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาไทยสมัยใหม่: ก้าวหน้า หรือ ถอยหลัง

งานระพีเสวนา
อุดมศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
จัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
1 ธันวาคม 2553

หมอดูอนาคตอุดมศึกษาไทย
นายประยงค์ รณรงค์
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์
อ. ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง

รศ. ประภาภัทร นิยม
รศ. อนุชาติ พวงสำลี


อุดม-ศึกษา เพื่อใคร?

ผู้ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนานี้ ได้ตกลงกันไว้ว่า งานนี้จะไม่บ่น แต่จะมองไปข้างหน้า เพื่อหาทางออกสำหรับอนาคตของอุดมศึกษาไทย  ถึงกระนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเหตุปัจจัยที่กัดกร่อนแก่นสาระและความหมายของอุดมศึกษา โจทย์คือ อุดมศึกษาไทย เป็นแหล่งวิชา วิชชา หรือ อวิชชา?  ก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป

การศึกษาไทยสมัยใหม่: ก้าวหน้า หรือ ถอยหลัง

เมื่อราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญหน้ากับมหันตภัยของการถูกตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในปลายศตวรรษ 19  ผู้นำของไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย[i]  เมื่อการศึกษาสมัยใหม่ผ่านไปได้ 8 ปี พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเตือนว่า การศึกษาแบบนี้จะทำให้คนไทยขาดรากเหง้าของตัว[ii]

บัดนี้ เวลาผ่านไปหนึ่งศตวรรษ คำเตือนนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง  ทำไมคนไทยจึงได้ลืมตัว เหมือนอย่างที่ ศ.ระพี สาคริก ประณาม ความลืมตัว นี้ว่าเป็น หมาลืมตีน?  การศึกษาสมัยใหม่มีส่วนทำให้เป็นเช่นนั้นอย่างไร? และจะมีทางแก้ไขหรือไม่? อย่างไร?

การศึกษาสมัยใหม่แบบล่นถอยหลัง

ผู้นำชาติไทยในปลายศตวรรษ 19 หลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของการเป็น ทวิราข โดยส่งลูกหลานไปเรียนในประเทศมหาอำนาจแบบ ตัดกิ่ง เพื่อมา ต่อตา หรือ เสียบยอด บน ต้น หรือ ตอ ของสังคมไทย จึงมีแต่เชื้อพระวงศ์ และคหบดีที่มีกำลังลงทุน ดั่งบทกลอนที่ว่า วิชาเหมือนสินค้าอันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากกายจึงจะได้สินค้ามา    สามัญชนที่ทรัพย์น้อยก็มีโอกาสไปเรียนนอก คือ ทุนหลวงสำหรับเด็กเรียนดี   ในยุคนั้น เจตนารมณ์ที่จะพัฒนาชาติคงจะไม่จำกัดที่เพียงการลอกเลียนตะวันตก แต่คงมีความตั้งใจที่จะขยายโอกาสการศึกษาเพื่อนำพาประชาชนไทยให้ก้าวสู่ประชาธิปไตยตาม อารยประเทศ ในขณะที่ยอมรับระบบทุนนิยมโลกไว้เต็มที่   ในบรรยากาศของเศรษฐกิจ-การเมืองเช่นนั้น เป้าหมายของการศึกษาของคนส่วนใหญ่จึงเป็น ขอให้เรียนจบได้เป็นเจ้าคนนายคน  หรือ หางสิงห์โต อันเป็นความใฝ่ฝันของครอบครัวทั้งยากดีมีจน มาตลอด

แม้นักเรียนนอกและนักเรียนทุนจะร้อนวิชาประชาธิปไตย ถึงขั้นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   วิญญาณ/เจตนารมณ์ที่จะขยายโอกาสการศึกษาก็คงจะยังเข้มข้นอยู่ เช่น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็น ตลาดวิชา ในยุคแรก  ถึงกระนั้น อำนาจการปกครองก็ยังคงตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย (นักเรียนนอก) และในที่สุด ความก้าวหน้าของประเทศไทยทั้งหมดก็ตกฮวบอยู่ในเงามืดของเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็ สอดคล้องกับภาวะสงครามเย็น  การศึกษาแผนใหม่ยุคพัฒนาจึงรีดให้เป็นเด็กไทยเป็นคน ว่านอนสอนง่ายยิ่งขึ้น  ด้วยกการป้อนวิชาความรู้ให้เด็กท่องจำตั้งแต่รู้ความ จนถึงหนุ่มสาว  มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่ง อุดมไปด้วยวิชาการ เป็น แม่พิมพ์ ระดับสูงที่ผลิต บัณฑิต ในสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆ ที่เลียนแบบหลักสูตรตะวันตก แบบ ต่อท่อ   แม้การพัฒนาได้เริ่มส่งเสริมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้บัณฑิต  เป้าหมายการศึกษาก็ยังคงเป็นข้าราชการ--งานที่ประกันรายได้และสวัสดิการมั่นคง

หลังจากสงครามเย็นยุติลง (พ.ศ. 2533) ทุนเริ่มเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ  ในขณะเดียวกัน การเมืองไทยเริ่มก้าวออกจากเงาของทหารสู่การมีนายกฯ เป็นพลเรือน (แม้จะมีอดีตเป็นนายพล)  เศรษฐกิจเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ ธุรกิจใหม่ๆ จากการร่วมทุนระหว่างประเทศ หรือขยายตัวของนายทุนในประเทศ ทำให้เกิดความต้องการ บัณฑิต เพื่อทำงานบริหารจัดการ  เป้าหมายของบัณฑิตจึงเปลี่ยนจากการเป็นเจ้านาย/ข้าราชการ เป็น นักบริหารเงินเดือนสูง ในภาคเอกชน[iii]

เมื่อความต้องการ (อุปสงค์) เพิ่ม อุปทานก็ย่อมเพิ่มตาม กลายเป็นโอกาสทำกำไร  มหาวิทยาลัยเริ่มผลิเป็นดอกเห็ด เพื่อผลิตบัณฑิตถือปริญญาวิชาชีพต่างๆ  ในจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 168 แห่ง มีไม่กี่แห่งที่เป็น elite มีชื่อเสียงเก่าเป็นทุน ถ้ามีเงินพอและสอบติดก็เรียนได้  มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็จะได้เด็กดี เมื่อจบแล้ว ก็มักจะได้งานดีๆ ทำ  ส่วนอีกร้อยกว่าแห่ง คนทั่วไปจะไม่แยกว่าดีเลวกว่ากัน ขอให้เข้าง่าย-ออกง่าย จะแพงเท่าไรก็มีคนต้องการเข้า  มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นกิจการที่คืนทุนเร็ว คือ ลงทุนต่ำ ได้เงินเร็ว และไม่มีใครตรวจจับคุณภาพได้  แม้จะมีมหาวิทยาลัยเอกชนดีๆ ด้วย แต่ก็เป็นจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจตรง[iv]

อุดมศึกษาไทยได้ถดถอยมาจนถึงจุดต่ำสุดทุกวันนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยรัฐถูกบีบให้อยู่ นอกระบบคือ เลี้ยงตัวเองให้ยังชีพ (และกำไร) ได้   ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยจึงหันไปใช้วิธีบริหารแบบนักธุรกิจ แข่งกับมหาวิทยาลัยเอกชน คือ ตามใจลูกค้า ลูกค้าไม่ได้ต้องการคุณภาพ[v]   มวลมหาวิทยาลัย กลายเป็นอุตสาหกรรมความรู้ ที่เน้นประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตซ้ำโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้สอน  แต่สามารถตอบสนองผู้เรียนไม่จำกัดเวลาและจำนวนครั้ง เป็นการลดต้นทุนไปในตัว 

เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดโลก หรือให้ทันสมัยกับ สังคมเรียนรู้ รัฐได้ขยายโอกาสการศึกษา เช่น จัดตั้งเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) แต่ความที่รัฐไม่สามารถกำกับดูแลคุณภาพอย่างทั่วถึงหรือมีประสิทธิภาพ เด็กกู้มาจ่ายให้มหาวิทยาลัย แต่ไม่รู้ว่าจบมาแล้วมีคุณภาพพอไหม ทำงานได้เงินพอไหม กลายเป็นหนี้ติดตัวเด็ก เพราะหางานทำไม่ได้... และรัฐได้อะไร[vi]

จากเป้าหมายการศึกษาที่วิวัฒนาการมาดังนี้ จึงไม่ค่อยน่าประหลาดใจที่อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยต่ำ  แม้สถิติการเข้าเรียนทุกระดับ หรือการรู้หนังสือของไทยจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่คุณภาพของความรู้ของคนไทยที่ผ่านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับอุดมศึกษา นั้นน่าเป็นห่วง อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ เริ่มกล่าว ด้วยความรู้สึก โกรธและเศร้า ต่ออนาคตของอุดมศึกษาไทย ผมไม่จบปริญญา เพราะไม่มีความหมายต่อการเรียนรู้ของผม แม้กระนั้น ก็มีคนเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัย แต่พบว่า คุณภาพของผู้เข้ามาศึกษาแย่ลง โต้ตอบไม่รู้เรื่อง พื้นอ่อนมากจนหมดสนุก  อ.ชัยวัฒน์เล่าต่อว่าได้มีโอกาสพบ อ.ปรีดี พนมยงค์ จึงเข้าใจถึง วิญญาณ ที่บรรจุอยู่ในชื่อของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือ ธรรมะเป็นศาสตราวุธ เพื่อรับใช้การเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน  คนปัจจุบันจำวิญญาณนี้ได้ไหม?   มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นหลายแห่งทุกวันนี้  ผู้ก่อตั้งมีเป้าหมายแค่ขยายอาณาจักร ขยายอำนาจ และปีกการควบคุม สร้างหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อหากำไร...ให้เป็นแหล่งที่นักการเมืองท้องถิ่นได้ชุบตัว ได้ไปเที่ยวเมืองนอก ... แล้วอุดมศึกษาจะนำชาติไทยสู่อนาคตได้อย่างไร?

มหาวิทยาลัยสอนอะไร บัณฑิตไทยขาดอะไร

อุดมศึกษานำไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยไม่รู้ร้อนหนาว กับการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดิน  สถาบันการศึกษา ไม่รู้ร้อนหนาวกับโลกที่เปลี่ยนแปลง[vii]  มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นเขตล้อมกรอบด้วยฉนวนของชีวิตหนุ่มสาวชาวกรุง/ชาวเมือง  มีประเพณีวัฒนธรรมการผลิตซ้ำ สืบทอดรุ่นต่อรุ่น วิถีการเรียนการสอนที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง ครูและศิษย์ ถูกแทนที่ด้วยผู้เชี่ยวชาญแบบตะวันตก ที่เน้นประสิทธิภาพ และวัดผลแบบปรนัย  ผู้สอนและผู้เรียนขาดความรักในสิ่งที่ตนทำ เมื่อคนไม่รักตัวเองมากพอ ก็ขาดความภาคภูมิใจ ขาดความกล้าที่จะทำให้มันดีขึ้น  การโฆษณาว่า เป็นเลิศแห่งศูนย์การเรียนรู้ จึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง[viii]  อุดมศึกษา ควรจะเป็น สถานที่ๆ ทำให้คนรู้ว่าตัวเองยังโง่อยู่[ix]

คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นวิทยากรที่เติบโตมาจากผู้ด้อยโอกาส จบแค่ ป.4 แล้วก็ออกมาทำมาหากิน แต่ก็ไม่หยุดยั้งการเรียนรู้ด้วยการ แอบเรียนแต่ไม่สอบ เป็นการศึกษาที่ ไร้ระเบียบผมไม่ไปสอบ จึงไม่มีวุฒิ แค่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  คิดได้ ทำได้ และพัฒนาด้วยการลองผิดลองถูก กลายเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่มีในตำรา  ทุกวันนี้ คุณลุงประยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน และได้รับรางวัลแม๊กไซไซสาขาผู้นำชุมชน เรารู้เพราะทำมากับมือ มันก็มีผิดมั่ง ก็ซ่อนไว้ ที่ถูกใช้ได้ ก็นำออกมาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง  หลังจากทำงานบุกเบิกเรื่องกองทุนสวนยางและศูนย์เรียนรู้ที่ไม้เรียง ปากพนัง (เป็น มหาวิทยาลัยธรรมชาติ) มากึ่งศตวรรษ คุณลุงประยงค์บอกว่า ตอนนี้ทำงานอย่างไม่มีเป้า เพราะกลัวเครียด ได้ลดความรับผิดชอบ (ในกิจกรรมที่ได้เริ่มไว้) ด้วยการสร้างคนใหม่ให้เข้ามารองรับทุกอย่าง  เพื่อตัวเองจะได้มีเวลาทดลอง เรียนรู้ต่อไป ทำได้อย่างเป็นอิสระ

ที่ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ที่คุณลุงประยงค์เป็น อธิการบดี คุณลุงใช้วิธีนั่งพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน แล้วจึงลงมือปฏิบัติ นำผลงานมาประเมินว่าน่าพัฒนาต่อไปไหม อย่างไร   การศึกษาอาจแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย  ที่ขาดไม่ได้คือ กระบวนการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนปฏิบัติได้ ทำได้จริงในชุมชน   ผู้มาศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้พอเพียงของคุณลุงประยงค์ ทำให้ผู้เรียนเป็น เถ้าแก่ ได้ คือ รู้จักคิด ศึกษาด้วยตัวเอง และมองหาช่องทางแก้ไขปัญหา มีความรู้ ใช้ความรู้ มองให้เห็นคุณค่าในวิถีชีวิตและสิ่งรอบกาย แล้วแปลงให้เป็นมูลค่าเพิ่มได้ กลายเป็นผู้ประกอบการที่พึ่งตนเองได้

คนจบปริญญาไม่น่าตกงาน...ผมจบ ป.4 ยังไม่ตกงาน  คนที่ตกงานเพราะไม่มีปัญญา  คนมีความรู้จึงควรทำได้หมด ปํญหาคือ พอไม่มีคนจ้าง ก็เลยทำไม่เป็นผมมีปัญญา คิดทะลุปรุโปร่งได้ แต่บางอย่างที่ไม่ได้เรียนมา ก็ทำไม่ได้  ดังนั้น ถ้าทำให้มีทั้งสองอย่าง ความรู้ (ปริญญา) และปัญญา ก็จะทำได้ทุกอย่าง[x] ทุกวันนี้ บริษัทเครือข่ายผลิตอาหาร จำกัด ผลิตขนมจีนวันละหลายตันจากข้าวคุณภาพต่ำ มีเกษตรกรที่เรียนกับคุณลุงประยงค์ เป็น CEO ได้สร้างอาชีพให้บัณฑิตทำ เพราะพวกเขาไม่รู้แบบแผนการทำงานของระบบสมัยใหม่ แต่พวกเขาก็ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี--เป็นเถ้าแก่ได้[xi]

วิถีการศึกษาตามอัธยาศัยของคุณลุงประยงค์ให้อิสรภาพแก่ผู้เรียน และทำตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับชุมชน ในทางตรงข้าม การศึกษาในระบบกลับสร้างความแปลกแยก และความทุกข์แก่ผู้เรียน[xii]  เพราะตกอยู่วังวนการต่อสู้ระหว่างรัฐและทุน ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาชาติ  ในยุคที่รัฐครอบงำทุน ข้าราชการเป็นใหญ่ บัณฑิตตั้งเป้าเป็น เจ้าคนนายคน  แต่พอทุนครอบงำรัฐ บัณฑิตก็เบนเป้าไปเป็น นักบริหาร  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง   ไม่ว่าจะอย่างไหน ปริญญาเป็นเพียงกุญแจให้ขึ้นไปใช้ตำแหน่งและโอกาสในการ กอบโกย แต่ไม่มีความรู้มากพอที่จะสร้างสภาวะให้สังคมสงบสุข [xiii]

นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ชี้ให้เห็นถึงสภาวะ อุตสาหกรรมความรู้ ในสถาบันอุดมศึกษาที่สวนทางกับจริตการเรียนรู้  สภาวะเช่นนี้สร้างทุกข์และลดทอนความเป็นคนของผู้เล่าเรียน 
1.       ด้วยนโยบายรัฐที่ลำเอียงไปทางรับใช้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม อุดมศึกษากลายเป็นการแปลงคนให้เป็นวัตถุดิบป้อนตลาดแรงงานสมัยใหม่ ในระบบ  เยาวชนถูกคัดเลือกประหนึ่งวัตถุดิบ ตามอายุ เพศ ชาติพันธุ์ สถานภาพครอบครัว ฯลฯ ดั่งการผลิตปลากระป๋อง ที่ตัดหัวตัดหางปลาให้เท่ากันจะได้บรรจุในกระป๋องขนาดเดียวกันออกไปขายได้[xiv] 
2.       การกำหนดมาตรฐานควบคุมคุณภาพแบบ TQF (?) กลายเป็นการสร้างความแปลกแยก นักศึกษาไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร  มาตรฐานที่แข็งทื่อ เหมือนการสอนนักศึกษาแพทย์ให้เรียนกับ อาจารย์ใหญ่ ก็เลยคุยกับคนไข้ที่มีชีวิตไม่เป็น  หรือเป็นอาการของคนที่ถูกวางยาสลบ คือ อายตนะดับ ถูกปิดไม่ให้รับรู้ต่อสิ่งภายนอก ผมพยายามเร้าใจนักศึกษาให้ตื่นตัว มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ...ด้วยจิตอาสา ... นักศึกษากลับถามว่า มันคืออะไร ฟังดูเหมือนขาดทุน’ ”[xv]
3.       ภาวะกดดันจากวัฒนธรรมอาจารย์ที่ทรงอำนาจ มีสิทธิ์ตัดคะแนนและวินิจฉัยให้สอบตก  ตอนผมอยู่ ป.4 ครูดุมาก ถามชื่อเมืองหลวงหนึ่งซึ่งผมตอบไม่ได้ ครูให้ยืน และก็ถามต่อไป จนกว่าจะได้คำตอบที่ถูก จากนั้นครูก็เดินตีนักเรียนที่ยืนเพราะตอบไม่ได้  พอมาถึงผมๆ ถามว่า จะตีผมทำไม ครูตอบว่า  เพราะเธอไม่รู้คำตอบผมบอกว่า ตอนนี้ผมรู้แล้วแต่ครูก็ยังตี[xvi]
4.       เด็กไม่มีโอกาสรู้หรือเลือกวิชาเรียน ส่วนมากจำใจเรียนเพราะพ่อแม่บอกว่ายอมเป็นหนี้ให้ลูกได้เล่าเรียน จึงต้องเลือกเรียนวิชาที่หางานง่ายมากกว่าใจรัก[xvii]
5.       การเรียนแบบท่องจำหรือลอกแบบตั้งแต่เล็ก ตอน ป.1 ชั่วโมงวาดเขียนก็ให้วาดวิว ทุกคนจะวาดเป็นชุดคล้ายๆ กัน เป็นเขาสองลูก มีพระอาทิตย์ ...  สภาวะห้องเรียนเช่นนี้ ไม่ช่วยให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่กล่อมเกลาให้เป็นวัตถุดิบสำเร็จรูปเชิงพาณิชย์ 
6.       การออกแบบข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ตามด้วยอัตนัยเล็กน้อย แต่ในชีวิตจริง มันเป็นอัตนัยเสียส่วนมาก เรามีชีวิตเพื่ออะไร? ชีวิตยืมคำตอบกันไม่ได้ และก็ไม่มีใครมาตอบแทนเราได้ว่าถูกหรือผิด[xviii] ในทำนองเดียวกัน เกมโชว์ในโทรทัศน์ ล้วนหล่อหลอมให้คนไทยยอมสยบเป็น สังคมปรนัย ไม่มีจินตนาการ เพราะมีแต่คนให้คำตอบ ถูกต้องแล้วคร๊าบ  เด็กจึงทุกข์ เมื่อไม่มีเสียงเชียร์หรือบอกว่า ถูก ตนไม่มีเป้าหมายหรือเข้าใจความหมายของชีวิต[xix]  เด็กจึงกลัวหรือ ไม่รู้จะ engage กับชีวิตอย่างไร พอปรนัยถึงขั้นหนึ่ง ชีวิตก็กลวง จะรู้สึกดีและเป็นสุขได้อย่างไร?[xx]
7.       โดยรวม การศึกษาและสื่อ ก้าวไปในทิศทางเดียวกันให้เด็กไทยเจริญเติบโตเป็นผู้เสพ มากกว่าผู้สร้าง ไม่มีพื้นที่อิสระให้จินตนาการว่า ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร จะไปถึงได้อย่างไร  เมื่อก้าวไม่พ้นบ่วงที่อุตสาหกรรมความรู้สร้างไว้ก็เป็นทุกข์และสร้างทุกข์ต่อกันไป[xxi]


บัณฑิตที่พึงประสงค์ และ อุดมศึกษาสู่สังคมอุดมธรรม

อุดมศึกษา ในอนาคต ควรจะนำให้สังคมมีความสงบสุขได้[xxii] 

ศ.ระพี สาคริก เปรียบเทียบว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาปัจจุบัน เหมือนกับสอนให้คนไต่ขึ้นต้นไม้ ไปอยู่ที่กิ่งต่างๆ แต่ละคนจึงหาจุดร่วมกับคนอื่นไม่ได้ และก็ลงไม่ได้ เพราะไปยึดติดอยู่กับกิ่งของตน การศึกษามีทั้งศาสตร์และศิลป์  ศิลปะ คือ ทางออกของอารมณ์และจิตวิญญาณของคน การศึกษามีหน้าที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนให้เป็นมนุษย์  ศิลปะเป็นพื้นฐานของทุกศาสตร์  ศาสตร์มาจากความรู้สมมติอันเป็นหลักธรรม  ก่อร่างเป็นวิชา ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป[xxiii]  บัณฑิตจึงไม่ควรหลงตัว ลืมตัว แต่พึงรู้ตัวอยู่เสมอว่า ไปไหน อยู่ที่ไหน ทำอะไร  พึงละการยึดติดกับรูป รส กลิ่น เสียง รวมทั้งสิ่งสมมติที่เรียกว่า วิชา เพราะจิตที่เรียนรู้ มันเหมือนคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน คือ กายของเรา  หากมองให้ทะลุได้ว่า ทุกสิ่งเป็นธรรมะ ไม่ต้องยึดติด เมื่อจิตนิ่ง เราก็ปรับตัว หาทางแก้ไขได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อจิตเป็นอิสระ  ส่วนกายของเราก็เหมือนบ้านของเรา คล้ายๆ กันทุกคน เมื่อสานกันด้วยความรัก ก็เป็นบ้านเมือง ... เราย่อมอยู่ร่วมกันด้วยความรักและแบ่งปัน ...  การเก็บภาษี เพื่อไปใช้หนี้คืนต่างประเทศ เราต้องรู้เท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ... เราไม่รังแกเขา แต่ก็ไม่อยากให้เขามารังแกเราเช่นกัน  การศึกษาจึงต้องช่วยให้คนรู้เท่าทัน จึงจะอยู่ร่วมกันแบบสมดุลและสงบสุขได้[xxiv]

อุดมศึกษาจึงควรเป็นสถานที่ๆ เปิดและชวนให้คนเข้ามา มาเรียนซิ แล้วชีวิตจะมีความหมายและเป็นสุข[xxv] แทนที่จะเอาปริญญาเป็นตัวล่อเพื่ออำนาจและกำไร ควรจะ จุดประกายท้าทายให้นักศึกษาลองเดิน[xxvi]  สถาบันอุดมศึกษา ควรจะเป็น แหล่งการรวมหมู่ (collective) ของความมุ่งมั่น ... มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่อยากทำอะไรดีๆ แก่นักศึกษาและสังคม แต่ได้สู้กับระบบอำนาจมานาน มันไม่ง่าย มันเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ ... ความกล้าหาญและความมุ่งมั่น ยังไม่พอสถาบันอุดมศึกษาจึงยังไม่เป็น collective”[xxvii] อ.ชัยวัฒน์เปรียบเทียบความมุ่งมั่นเล็กๆ กับทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกพร้อมกัน ก็สามารถทำให้เกิดการสะเทือนได้ ขอเพียงให้ผมได้เชื่อมกับ 1% ของประชากรไทย หรือ 6.5 แสนคน ... ได้ถอดบทเรียนร่วมกัน ... ให้กำลังใจกัน จะเกิดความมุ่งมั่นรวมหมู่ให้เกิดกระบวนการจัดการการเรียนรู้ เป็นเมล็ดในที่ต่างๆ

ศ.ดร.ปิยวัฒน์ เห็นว่า มหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนาคน ด้วยประสบการณ์ความรู้บางชุด เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี ที่สามารถวิเคราะห์ สร้างสรรค์ได้ ... และเป็นพลังของประชาธิปไตย  แต่มหาวิทยาลัยไม่มีความสามารถทำให้คนสมานฉันท์ หรือแข่งเป็นเลิศติดอันดับโลก  การตั้งความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยในสิ่งที่เกินความรับผิดชอบ เป็นการเสี่ยง หากการเป็นเลิศใช้ความพอใจของนักศึกษาเป็นตัวชี้วัด ก็อาจจะเป็นการเรียนการสอนที่ไม่มีการบ้านมาก เรียนง่าย จบเร็ว

อ.ชัยวัฒน์ เสนอว่า
1.       อุดมศึกษาควรมีการเชื่อมต่อกับวิญญาณการต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณ และการใฝ่ฝันสู่อิสรภาพของบุพจารย์ หรือรุ่นของ อ.เสกสรรค์ ในลักษณะ story telling “มันไม่ใช่การปลุกผี แต่เป็นเหมือนที่เกอเตกล่าว มรดกที่บรรพบุรุษมอบให้ เจ้าจงทำให้เป็นของเจ้าเองเถอะ นั่นคือ legacy หรือพินัยกรรมว่าจะส่งต่อกัยอย่างไร 
2.       ทุกวันนี้ การเรียนการสอนไม่ควรเป็นการป้อนข้อมูลอีกต่อไป เพราะ Google หรือ Wikipedia ให้ข้อมูลตอบได้ทุกเรื่อง บทบาทของอาจารย์จึงไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องช่วยตีความ ให้ความหมาย “Information without meaning is only noise”
3.       หัวใจของอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่สังคมที่สมดุล คือ สร้าง character ของคน ต้องมีการนำศาสนา พระธรรม หรือจิตวิญญาณมาใช้ในหลักสูตร ซึ่งมีความสำคัญในการตีความหมายของชีวิต  อันที่จริง อุดมศึกษา คือ higher education, ไม่ใช่ highest education  จึงจำเป็นจะต้องมีปัจจัยการเรียนรู้และปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถมองภาพสะท้อนตนเองและผู้อื่น จากภายในและภายนอกได้ ให้เห็นความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้  กระบวนการศึกษาจะต้องกลับมายืนบนฐานของปรัชญาทุกวิชา  กระบวนการวิถีวิทยา (epistemology) กระบวนการเรียนรู้จากชีวิตจริง ยิ่งใหญ่กว่าวิชาทั้งหลายในมหาวิทยาลัย เพราะมันจะช่วยให้เกิดปัญญา ช่วยส่องทางกำหนดทิศให้วิทยาการต่างๆ  มิฉะนั้น ก็เหลือแต่เทคนิคบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ และจะรับมือกับความบีบคั้นของยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้
4.       บทบาทของอาจารย์ คือ ฟื้นฟู resilience ของความเป็นมนุษย์คืนมา ถ้าอุดมศึกษานำปัญญาได้ ก็จะไม่มองน้ำท่วมว่าเป็นปัญหา ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นวิถีธรรมชาติ ที่มีคุณูปการต่อวิถีชีวิตของคนไทย ก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมต่างออกไป  ปรัชญาอาจไม่ผลิตช่างเทคนิคได้ แต่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดปัญญา ชี้ทางสู่สังคม อุดมธรรม (แต่ด้วยนโยบายให้อุดมศึกษาตอบสนองตลาดแรงงานถ่ายเดียว วิชาปรัชญาจึงถูกยุบ)

นพ.โกมาตร เสนอว่าการปฏิรูปการศึกษา ควรจะเริ่มจากท้องถิ่น ถ้าวงจรข้างล่างไม่ดี พอปล่อยไฟลงมาปุ๊บ ก็ช๊อต  ระบบข้างบนซับซ้อนนัก ถ้าดันทุรังกระแทกตรงๆ ก็รังแต่จะท้อ จึงควรจะปรับพลังมาที่ภายใน คือ ทำงานบนหลักการบางอย่าง แล้วผลจะปรับตามบริบทที่เราทำ อย่างน้อยก็เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดได้ยาก
1.       ดึงกระบวนการเรียนรู้ในอุดมศึกษาและที่อื่นๆ ให้กลับคืนสู่รากเหง้า ให้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตัวเอง ปัจจุบัน เด็กในหมู่บ้านอีสาน เปลี่ยนชื่อไปเป็นอะไรตามแฟชั่น ตามนางงาม หรือดาราต่างชาติ เพราะอาย คิดว่ากำพืดตัวเองต่ำต้อย ในทางตรงข้ามก็ต้องระวัง เพราะมีพวกที่ท่องบ่นบูชาประวัติศาสตร์อย่างไม่มีการคิดวิเคราะห์
2.       กระตุ้นให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา เช่น การล้างราชประสงค์ไม่ได้แก้ปัญหาของคนเสื้อแดง สอนให้นักศึกษามีความปราณีตในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น มีความเข้าใจอกเขาอกเรา ให้ฟื้นฟูปัจเจกภาพของความเป็นมนุษย์ ที่เติบโตสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่เพียงปัจเจกนิยมที่ปิดตัว  การคืนสู่รากเหง้า เป็นการแสวงหาความหมายของชีวิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีพลัง ไม่ถูกลากจูงง่ายๆ นั่นคือ เป็น transformative learning ดั่งคำกล่าวที่ว่า “If you known how and why of your life, you can live with if, what and how.”
3.       ฝึกบัณฑิตให้มีความอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ และรู้จักเรียนรู้จากคนอื่น


[i] ศ.นพ.ประเวศ วะสี  2553  ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน  พุทธมณฑล นครปฐม: ศูนย์จิตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 
[ii] ดังใน 1.
[iii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[iv] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[v] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[vi] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[vii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[viii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[ix] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[x] คุณประยงค์ รณรงค์
[xi] คุณประยงค์ รณรงค์
[xii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xiii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xiv] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xv] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xvi] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xvii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xviii] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xix] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xx] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xxi] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xxii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xxiii] ศ.ระพี สาคริก
[xxiv] ศ.ระพี สาคริก
[xxv] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xxvi] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[xxvii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์