วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ ครอบงำสื่อ และทำให้โลกอยู่ไม่รอด

แม๊กกาซีน The Economist ผิด
The Economist Is Wrong
Francisco Roberto Caporal (caporalfr@gmail.com), Farming Matters, December 2010, p. 23

สองสามเดือนก่อน แม๊กกาซีน The Economist ได้ตีพิมพ์บทความยืดยาว สรรเสริญเกษตรกรรมของบราซิล  ส่งผลให้ปะทุความรู้สึกรักชาติ และเพื่อนร่วมงานหลายคนก็แสดงออกถึงความรู้สึกภาคภูมิใจใน ความสำเร็จ ของประเทศของเรา   แต่เจ้าโมเดลที่ The Economist ได้ยกยอปอปั้นอย่างแสนเอื้อเฟื้อนั้น แท้จริงมันสำเร็จจริงแค่ไหน?   ถ้ามองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นว่า เจ้าบทความนี้ ดูเหมือนจะถูก ปลูกถ่ายโดยพวกที่ต้องการจะสร้างภาพเลิศหรูแก่เกษตรพาณิชย์ในประเทศของผม และกดทับบดบัง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากโมเดลเกษตรกรรมนี้

แม๊กกาซีนนี้บอกว่า การขยายตัวของเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในบารซิลในทศวรรษที่ผ่าน ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กว่า   ความจริงคือ ประวัติศาสตร์ของเกษตรพาณิชย์ของบราซิล เต็มไปด้วยกระบวนการต่อรองและการให้อภัยหนี้   ข้อมูลทางการที่ The Economist ไม่ได้พูดถึง แสดงให้เห็นว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้ชำระหนี้ที่แท้จริง   ตัวเลขที่ขาดหายไปเช่นกัน คือ สถิติสำรวจการเกษตรล่าสุด ที่ออกมาในเดือนกันยายน 2009 ที่แสดงว่า เกษตรกรรมครอบครัว (family farms) ที่อาศัยบนพื้นที่เพียง 26% ของที่ดินทั้งหมด สามารถผลิตได้ถึง 60-70% ของอาหารที่ชาวบราซิลทั้งหมดบริโภคได้อย่างไร  และยังสร้างงาน 8 ใน 10 ของตำแหน่งงานในชนบทอย่างไร    แล้วบทความนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างโมเดลยอดสรรเสริญนี้ กับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำ

ที่น่าตกใจพอๆ กัน ที่ได้อ่านพบว่า ประเทศอื่นได้รับคำแนะนำให้ทำตามตัวอย่างของบราซิล   แต่ประเภทเกษตรกรรมที่แม๊กกาซีนนี้ยกย่องอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้ผลิตอาหาร แต่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก (ถั่วเหลือง น้ำส้ม น้ำตาล กาแฟ) ส่วนมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในประเทศที่เน้นผลิตปศุสัตว์   นี่เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องแล้วหรือ สำหรับประเทศที่หวังจะลดความอดอยากหิวโหย?  ประเทศเหล่านี้ ควรได้รับแจ้งด้วยว่า บราซิลต้องนำเข้าปุ๋ยถึง 2 ใน 3 ที่ต้องใช้ในประเทศ หรือ บราซิลได้กลายเป็นประเทศที่บริโภคยาฆ่าแมลงรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่มีคำมั่นสัญญาจากการใช้พืชพันธุ์ จีเอ็ม (GM ตัดแต่งทางพันธุกรรม) ว่าจะช่วยลดการพึ่งใช้สารเคมีเกษตร

แม๊กกาซีนฉบับนั้น ยังเรียกผู้คนที่สนับสนุนระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก และกรรมวิธีปลูกแบบอินทรีย์ ว่าเป็น พวกมองโลกเกษตรกรรมในแง่ร้าย (“agro-pessimists”)   นี่เป็นร่องรอยอีกอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บทความนี้ถูก ปลูกถ่าย  เพราะมันไม่น่าเชื่อว่า The Economist จะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับระดับการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือเกี่ยวกับบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของเกษตรกรรมครอบครัวในการผลิตอาหารทั่วโลก   การตีตราประชาชนที่รณรงค์เพื่อระบบการผลิตอาหารที่สมบูรณ์แข็งแรง  ที่ไม่ต้องทิ้งผลตกค้างที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม  ที่มีการกระจายความมั่งคั่งที่ดีกว่า หรือที่สร้างโอกาสการจ้างงานมากขึ้น เหล่านี้ว่าเป็น ผู้มองโลกเกษตรในแง่ร้าย แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ที่บิดเบือนอย่างลึกล้ำ อันเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับ The Economist
Dt/12-28-10

เครือข่ายเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของเกษตรกรรายเล็กและตลาดยุคโลกภิวัตน์


เราต้องการท้าทายบางส่วนของการอภิปรายเรื่องผู้ประกอบการรายเล็กและตลาด
บิล วอร์ลีย์  ผู้ประสานงาน โปรแกมความรู้เรื่องผู้ผลิตรายเล็กผู้กำหนดวิถีตนเองในตลาดโลกาภิวัตน์  แห่งสถาบันนานาชาติสำหรับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (IIED)

“We want to challenge parts of the discussion around smallholders and markets”
Anna Barnett interviews Bill Vorley (bill.vorley@iied.org), Int’l Inst. For Environment and Development (IIED), coordinating a new Knowledge Programme on Small Producer Agency in the Globalized Market
Farming Matters, December 2010, pp.26-27

เกษตรกรรายเล็กกำลังถูกชักนำให้ก้าวเข้าสู่ตลาดนานาชาติโดยอ้างว่า จะเป็นหนทางก้าวออกจากความยากจน และพวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องป้องกันผลประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งตัดสินใจเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ 

เหตุใดคุณถึงเริ่มโปรแกมใหม่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็ก?  โปรแกมนี้จะตอบสนองประเด็นอะไร?
ตอนนี้ ความคาดหวังต่างๆ ได้พากันมาสุมวางอยู่ที่หน้าประตูของเกษตรกรราบเล็ก  พวกเขาถูกคาดหมายว่าจะต้องผลิจอาหารให้เพียงพอเพื่อธำรงความมั่นคงของอาหาร  พวกเขาถูกคาดหวังให้เป็นหัวจักรฉุดชนบทให้ออกพ้นจากความยากจน  พวกเขาถูกคาดหวังให้ปกปักและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนไป  และพวกเขาก็ถูกคาดหวังให้รวมตัวกันเป็นรูปองค์กรในระบบตลาดในระดับภูมิภาคและระดับโลก    ด้วยการสร้างวาระเหล่านี้ในโลกของผู้ให้ทุนและเอ็นจีโอนานาชาติ  เราเสี่ยงต่อการทำผิดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วกับการแทรกแซงการพัฒนามากมายที่ผ่านมา กระทำต่อคนยากจนและผู้ผลิตรายเล็กประหนึ่ง พวกเขาเป็นเพียงเป้าหมายรับประโยชน์แบบงอมืองอเท้า รอรับจากสิ่งที่กำหนดโดยคนข้างนอกเท่านั้น  แทนที่จะเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง (agents) ในการพัฒนาและเป็นตัวละครเชิงเศรษฐกิจที่มีสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง   วัตถุประสงค์ของโปรแกมความรู้นี้ คือ เปลี่ยนแนวปฏิบัติการเช่นนี้

ที่คุณบอกว่าเกษตรกรรายเล็กเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเองในการพัฒนานั้น คุณหมายความว่าอย่างไร?
เราให้คำนิยามคำว่า ผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง (agency) ว่า เป็นสมรรถนะของผู้ผลิตรายเล็กในการตัดสินใจเลือกหนทางอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะส่งเสริมความสนในหรือประโยชน์ของพวกเขา และสามารถปฏิบัติได้ในทางที่ตนเลือก
            ไม่มีที่ไหนที่ต้องการสมรรถนะดังกล่าว มากไปกว่าในตลาด มีคำสัญญามากมายข้างนอกโน่น เกี่ยวกับความสามารถของตลาดที่จะ ทำงานเพื่อคนยากจน   ในโลกส่วนใหญ่ โลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนวิธีการทำงานของตลาด ซึ่งเผยให้ผู้ผลิตรายเล็กต้องเผชิญหน้ากับทั้งความเสี่ยงและโอกาส   ราคาอาหารจะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุปสงค์เพิ่ม  การแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ  การค้าเก็งกำไร    มีเอ็นจีโอในชนบทที่เที่ยวบอกชาวไร่ชาวนาว่า คุณจะต้องเพิ่มความหลากหลายของพืชพันธุ์ จะต้องปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง จะต้องรวมตัวกันเป็นสหกรณ์    แล้วก็มีบริษัทที่ออกไปเป็นแมวมอง สอดส่องหาแหล่งผลผลิตใหม่ๆ    แล้วก็มีตลาดใหม่ๆ ที่ทำตัวเป็นอุปกรณ์ในการจ่าย ผู้ใช้ที่ดิน เพื่อให้พวกเขาจัดการคาร์บอนในพื้นดินของพวกเขา และจัดการกับความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาของตน
            ดังนั้น ผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง คือ ความรู้และทักษะที่จะค้นหาวิถีของตัวคุณเองโดยก้าวสู่หนทางของการเสี่ยงและโอกาสรวมทั้งการร่วมกำหนดกติกาที่ปกครองพวกเขาด้วย

แล้วโปรแกมความรู้นี้ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร?
            เราได้ก่อตั้งเครือข่ายสากลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เราได้ร่วมทำงาน สนับสนุน และชี้นำผู้ผลิตรายเล็ก   ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่รวมถึงผู้นำชาวไร่ชาวนา พ่อค้าแม่ขาย และนักธุรกิจ ตรงนั้น มีอดีตผู้อำนวยการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของอินเดีย และตรงนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคพื้นอาฟริกา เหล่านี้เป็นต้น  เครือข่ายการเรียนรู้นี้กำลังดำเนินโปรแกมการวิจัยและรณรงค์  สะท้อนเสียงใหม่ๆ และการวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่กุมชะตาชีวิตตนเอง (smallholder agency) และมีส่วนร่วมในการอภิปรายของโลก   เป้าประสงค์ คือ ค้นหาชิ้นส่วนใหม่ๆ ของแผงเกมภาพต่อ เช่น ข้อตกลงการค้าในภูมิภาค  การจัดตัวที่จะเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้ผลิตรายเล็กในห่วงโซ่อุปทาน  และวิธีการที่ตลาดนอกระบบจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

คุณกำลังพูดถึงการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงที่คืบขยายอย่างมหึมาในโลก  คุณจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มีขนาดต่างกันอย่างมหาศาลเช่นนี้อย่างไร?
            ทั่วโลกมีชาวไร่ชาวนารายเล็กอยู่ประมาณครึ่งพันล้านคน   ดังนั้น คงเป็นเรื่องขบขันที่จะพูดว่า เราจะเป็นเพียงองค์กรเดียวที่สนับสนุนผู้ผลิตรายเล็กให้ค้นหาทางเดินของพวกเขาในสถานกาณ์ที่ท้าทายอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้
            แต่โมเดลเครือข่ายการเรียนรู้ให้อะไรได้หลายอย่าง   โปรแกมนี้ในภาพรวม เป็นการร่วมมือระหว่างเครือข่ายการเรียนรู้นี้  IIED ในสหราชอาณาจักร และ HIVOS ในเนเธอร์แลนด์   โบลิเวียเป็นผู้นำในเครือข่ายนี้ โดยมีกลุ่มสมาชิกกระจายอยู่ในเปรู  นิคารากัว  เคนยา  อูกันดา  อินเดีย และอินโดนีเซีย   กลุ่มเหล่านี้ ต่างก็มีเครือข่ายในประเทศของตน   พวกเขามีรากที่ติดดิน  และภูมิปัญญาที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ก็สามารถจะแผ่ขยายไปทั่วเครือข่าย  มันไม่ค่อยจะเป็นการไหลจากบนสู่ล่าง หรือล่างสู่บน แต่เป็นการแบ่งปันเผยแพร่ แผ่ขยายตรงกลาง  การพัฒนานี้ได้ผ่านไป 18 เดือนแล้ว และภายในสิ้นปีหน้า ผมคิดว่า ภูมิปัญญาที่มีประโยชน์แท้จริง บางอย่างจะเกิดขึ้น

ในยุโรป คุณได้เริ่มการอภิปรายเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องใน รายการยั่วโมโห เกี่ยวกับเกษตรกรรมรายเล็ก  คุณมีจุดประสงค์อะไร?
            เราต่างตระหนักว่า นโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่ล้วนถูกกำหนดในสำนักงานใหญ่ของกระทรวงและบรรษัทธุรกิจ  ดังนั้น คุณก็จำเป็นที่จะต้องเขย่าต้นไม้ในยุโรปด้วย   นี่คือเหตุผลที่เราริเริ่มรายการ ยั่วโมโห โดยจี้ไปที่สมมติฐานใหญ่ๆ ในเรื่องตลาดและการผลิตขนาดเล็ก

ทำไม ยั่วโมโห?  คุณกำลังพยายามปลุกปั่นประชาชนหรือ?
            เราต้องการจะท้าทายการอภิปรายบางส่วนที่เกิดขึ้นในเรื่องผู้ประกอบการรายเล็กและตลาด ที่กำลังติดหล่มอยู่  เช่น วิธีการที่วงการพัฒนาได้สร้างภาพเส้นทางการพัฒนาที่ตรงกันข้าม  ป้ายเส้นทางหนึ่งบอกว่า บนพื้นฐานกรรมสิทธิ์ ส่วนอีกป้ายหนึ่งว่า บนพื้นฐานตลาด   หรือเส้นแบ่งแยกอยู่ที่ว่า วงการพัฒนามองดูผู้ประกอบการรายเล็กอย่างไร และมองดูคนงานในไร่นาอย่างไร   ในแต่ละตอนของ ยั่วโมโห เป็นการนำเสนอสาระยาว 3 ชั่วโมง ที่ท่องไปในเมืองต่างๆ ในยุโรป เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตพากย์อังกฤษและสเปน รวมทั้งสื่อผ่านเว็บของ Farming Matters

เกษครกรรายเล็กจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ได้อย่างไร?
            ในประเทศที่เรามีสมาชิกเครือข่ายการเรียนรู้นี้ ผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถเข้าร่วมกับพวกเขาได้   และเราก็ส่งเสริมผู้ผลิตรายเล็กและองค์กรของพวกเขาอย่างจริงจัง รวมทั้งนักธุรกิจและนักวางนโยบาย ให้เชื่อมต่อกับโปรแกมของเราทางเว็บไซต์ที่ IIED และ HIVOS เพื่อช่วยให้เราสามารถนำมุมมองใหม่ๆ สู่เวทีการอภิปรายนี้ เกี่ยวกับผู้ประกอบการรายเล็กกับตลาด

dt/12-28-10

100 ปี สตรีสากล...คนงานหญิงเอเชียฉลองอะไร?

เบิกฤกษ์การเฉลิมฉลองหนึ่งศตวรรษของวันสตรีสากล
Launch of the celebration of 100 years of International Women’s Day

เมื่อวันที่ 10 ธค 2009 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญ CAW (Committee for Asian Women, มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง) ได้เปิดตัวการเริ่มต้นการฉลองครบรอบ  100 ปี ของวันสตรีสากล (International Women’s Day, IWD 100)  และได้ประกาศการจัดกิจกรรมตลอดหนึ่งปี เพื่อแสดงคารวะต่อการต่อสู้ของคนทำงานหญิงทั่วโลก   10 ธค ก็เป็นวันที่เครือข่ายคนทำงานบ้านสากล (International Domestic workers Network) กำหนดให้เป็น วันรณรงค์สากลสำหรับคนทำงานบ้าน (International Day of Action for Domestic Workers)

คนทำงานหญิงเกือบ 300 คน จากเกือบ 20 ประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา และยุโรป เข้าร่วมการประชุมสุดยอดคนงานหญิง 2009 รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มเครือข่ายของ CAW และกลุ่มคนงานหญิงไทย เช่น HomeNet Thailand, มูลนิธิผู้หญิง  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง  โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  กลุ่ม Solidarity สหภาพคนงาน Triumph  สหภาพมหานคร (Metropolitan Trade Union) และสหภาพกระเหรี่ยงย้ายถิ่น (Migrant Karen Trade Union)

ผู้เข้าร่วมสวมหมวกสีม่วง และผ้ากันเปื้อนสีชมพูเดินขบวนเป็นทิวแถวรอบตลาดห้วยขวาง ในขณะที่ตะโกนคำขวัญและเรียกร้องให้คนทำงานบ้านได้รับสิทธิและการคุ้มครองเท่าเทียมกัน   การรวมพลในที่สาธารณะเพื่อฉลองสองวาระซ้อนนี้ มีการกล่าวปาฐกถาโดยผู้ประสานงาน CAW และผู้แทนจาก ILO  จากนั้น ผู้แทนได้อ่านแถลงการ IWD 100 และ การสนับสนุนคนทำงานบ้าน   แถลงการณ์ทั้งสองได้ถูกนำเสนอต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  กระทรวงแรงงาน และ ILO
………
แถลงการณ์จากที่ประชุมสุดยอดของคนทำงานหญิง 2009
Statement of Women Workers Summit 2009
“Women Workers at the Front Line of Sustainable Solutions”
Statement of the First Women Workers Summit
9th-10th December 2009

พวกเรา  กว่า 100 ชีวิตในที่ประชุมครั้งที่หนึ่งของการประชุมสุดยอดของคนงานหญิงเอเชีย... จาก 20 ประเทศ  เป็นตัวแทนของขบวนการคนงานหญิงที่มาจากภาคการผลิตในโรงงาน  ในบ้านเรือน  เกษตรกรรม  สวนเกษตรพาณิชย์ คนทำงานบ้าน และคนงานย้ายถิ่น ชาวประมง ชาวไร่ชาวนา และองค์กรสนับสนุน ได้รวมตัวกัน เพื่อวิเคราะห์และเผชิญหน้ากับผลกระทบหลักจากวิกฤตการเงินโลกต่อชีวิตของพวกเรา   พวกเราแสวงหาจุดเชื่อมความเพียรพยายาม และรวบรวมพลังพี่สาวน้องสาวในการสร้างวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อให้บรรลุทางแก้ไขที่ยั่งยืน ต่อวิกฤตเงินทุนโลกที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการสร้างขบวนการขับเคลื่อนแรงงานหญิงที่มีจิตสำนึกในเอเชีย

คนงานหญิงแบกภาระหลายชั้น และเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน เพราะประวัติศาสตร์ของการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกขูดรีด และกดขี่ในสังคมเอเชีย และส่วนอื่นๆ ของโลก  ในโลกของทุนนิยมเสรีใหม่ ความเหลื่อมล้ำนี้ปรากฏชัดเจนในบ้านและทื่ทำงาน  ทุกวันนี้ คนงานหญิงกำลังเผชิญหน้ากับห้วงเวลาแห้งความสับสนแปรปรวนในประวัติศาสตร์ของทุนนิยม   ลัทธิทุนนิยม ได้ประสบความล้มเหลวในการสร้างและส่งมอบความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ได้สัญญาไว้มาหลายทศวรรษ   ที่แย่กว่านั้น วิกฤตก็มาพร้อมกับการทำลายล้างพลังการผิต  แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของโลก  วัฒนธรรม และชุมชน  ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ และวิกฤตอาหาร ยังผลเสียหายมหาศาล เช่น การบังคับให้ย้ายถิ่น ความยากจนสุดโต่ง และความอดอยาก  สำหรับคนงานหญิง วิกฤตการเงินโลกทุกวันนี้ มีรากเหง้าอยู่ในความโลภของระบบทุนนิยม ระบบปิตาธิปไตย นะบบจักรวรรดินิยม ระบบการล่าอาณานิคมยุคใหม่  ระบบคลั่งศาสนา และการแผ่แสนยานุภาพทางอาวุธยุทโธปกรณ์

70% ของคนงานยากจนเป็นผู้หญิง ซึ่งจะพบได้ในงานประเภทด้อยทักษะและไม่มั่นคง  คนงานหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในนิคมส่งออก เผชิญหน้ากับการสูญงานและสภาพการทำงานและอยู่อาศัยที่เสื่อมโทรม  และการถูกผลักไสเป็นจำนวนมากสู้งานนอกระบบที่เสี่ยงต่ออันตรายและไม่ปลอดภัย   การไม่มีว่าจ้างทำ  การขึ้นราคาของอาหารและเชื้อเพลิง การลดรายจ่ายของภาครัฐบาลในลริการสาธารณสุขและสังคม ล้วนทับถมลงมาที่แรงงานที่ไม่มีค่าจ้างของหญิงในบ้านและชุมชน  คนงานหญิงย้ายถิ่นในเอเชีย ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่งคั่งในประเทศเจ้าภาพ แต่ไม่ถูกวัดหรือนับรวม และได้มาจากการสูญเสียของครอบครัวและชุมชนของพวกเธอ  พวกเธอเป็นกลุ่มแรกที่จะสูญเสียงานทำในยามวิกฤต

ในด้านอาหารและเกษตรกรรม โลกาภิวัตน์ ได้เพิ่มความเข้มข้นของการขยายการผูกขาดของบรรษัทเหนือห่วงโซ่ทางอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการตลาด และการขูดรีดแรงงานของผู้หญิง  ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ  อันนำไปสู่การสูฯเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรสำคัญๆ เช่น ที่ดิน ป่า น้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล็ดพันธุ์ ที่เป็นพื้นที่ของผู้หญิง

รัฐบาลเอเชียตอบโต้วิกฤตด้วยชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ให้ลำดับความสำคัญต้นๆ แก่การวิดบรรษัทออกจากหล่มและยกเว้นภาษี  ทางแก้ไขเล่านี้ ไม่รวมผู้หญิงและชุมชน  มาตรการเหล่านี้ ไม่มีข้อไหนที่มุ่งแก้ที่รากเหง้าของปัญหาของวิกฤตทุนนิยมโลก และการจมลึกยิ่งขึ้นของความไม่เท่าเทียมเชิงสังคม-เศรษฐกิจและเจนเดอร์

พวกเราขอเรียกร้องให้ยกเครื่องระบบเศรษฐกิจที่มุ่งกอบโกยกำไร และเห็นชอบกับนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความเป็นธรรมทางสังคม และมีความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย  ทั้งนี้ รวมถึงการละเลิกการขึ้นตลาดต่างชาติ แต่เข้าข้างนโยบายอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศที่เหมาะสม และ ละเลิกนโยบายที่พึ่งพิง แรงงานเพื่อการส่งออก แต่เข้าข้างการจ้างแรงงานเต็มตัวในประเทศของตน

ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้อง
-          การสร้างงาน และวิถีชีวิตที่ยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจเมืองและชนบท ที่มีการจ้างงานระยะยาวสำรับหญิงและชาย  การผลิตไม่ใช่กระตุ้นด้วยการค้ากำไร แต่ตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์
-          คุ้มครองสิทธิ์ที่จะได้ประกอบสัมมาชีพ การจัดรูปองค์กรของตนเอง การตัดสินใจแบบประชาธิปไตย และ การเสริมสร้างพลัง/ศักยภาพของผู้หญิง รวมทั้งการยกระดับทักษะ
-          ยอมรับว่าคนงานนอกระบบก็เป็นคนงานที่พึงได้รับการคุ้มครองสิทธิ์
-          เพิ่มการลงทุนสาธารณะในระบบสาธารณูปโภคทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ และการดูแลเด็ก  ยุติธุรกิจเอกชนและการพาณิชย์ด้านการบริการพื้นฐาน
-          ดำเนินการปฏิรูปที่ดินที่ครอบคลุมกว้างและลงทุนในเกษตรยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหารในที่ๆ ผู้หญิงเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ ผู้พัฒนาที่ดินและทรัพยากรการผลิตต่างๆ
-          ยุติสงครามและความขัดแย้งในเอเชีย และให้สร้างสันติที่แท้จริง ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างมีสาระของผู้หญิงในการสร้างสันติ
-          ขจัดการเลือกปฏิบัติเชิงเจนเดอร์ทุกๆ ประเภท

สุดท้าย ถึงเวลาของการรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีการแทรกแซงอย่างครั้งใหญ่จากตำแหน่งของพวกเราในขบวนการแรงงาน สหภาพ ประชาสังคม และขบวนการสตรี  พวกเราทั้งปวงล้วนร่วมอยู่ในการดิ้นรนที่เกี่ยวกับงานว่าจ้าง อาหาร น้ำ พลังงาน สงครามและความขัดแย้ง การแปรเปลี่ยนภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสิทธิทางประชาธิปไตย

ในฐานะที่เป็นคนงานหญิงที่ยืนอยู่แนวหน้าของการดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้  พวกเรากำลังเปิดประตู  สร้างแนวแบบอย่าง  พวกเรากำลังเขียนบทใหม่ในชีวิตของพวกเรา  พวกเรากำลังสร้างโลกที่มีความเป็นธรรมและมีมนุษยธรรม


แหล่ง  Asian Women Workers Newsletter, Vol.35, 2010 (Jan-Mar): pp.17-18, & 21-22
-แปลโดย ดรุณี 12-25-10

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ... เศรษฐกิจเพื่อชีวิตที่เป็นธรรม

จุดยืน: เจนเดอร์และนโยบายเศรษฐกิจ
Position Paper on Gender and Economic Policies
Naty Bernardina, ผู้ช่วยวิจัย
เครือข่ายอธิปไตยทางอาหารแห่งเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Network for Food Sovereignty)

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม (feminist economics) หรือ มุมมองเจนเดอร์ต่อระบบเศรษฐกิจ มีกรอบการวิเคราะห์ที่ใช้เจนเดอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสอบสวนและวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์  โดยมีสมมติฐานว่า มีการประนีประนอมสมยอมให้ความไม่สมดุลและอคติเชิงเจนเดอร์เกิดขึ้นได้ในกิจกรรมเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อผลพวงต่างๆ     เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ได้ให้คำจำกัดความแก่เศรษฐศาสตร์ใหม่ว่า เป็นสาขาวิชาที่คำนึงถึงการจัดหาปัจจัยต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ/ความจำเป็นของมนุษย์เป็นหลัก ด้วยการพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมต่อสิ่งที่ทั้งหญิงและชายได้ร่วมลง หรือเติมเต็มใน ขัน ของระบบเศรษฐกิจ ในรูปของกิจกรรมทั้งในระบบ และนอกระบบตลาด

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม พิจารณากิจกรรมการผลิตเชิงเศรษฐกิจในสองพื้นที่ (spheres) คือ การผลิต และการผลิตซ้ำทางสังคม   การผลิต เป็นกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ในขณะที่ การผลิตซ้ำทางสังคม หมายถึงการผลิตแรงงาน (สืบพันธุ์) ที่ส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้หญิงในฐานะที่เป็นหน้าที่เชิงเจนเดอร์ที่สังคมมอบหมายให้แก่ผู้หญิง   วงพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคม มักถูกเรียกว่าเป็น เศรษฐกิจเอื้ออาทร (Care Economy)   การจัดหาการดูแลเอื้ออาทร สามารถจะทำได้ผ่านระบบตลาด (ด้วยการจ่ายเงิน) หรือผ่านรัฐ (การส่งผ่านและประกันสังคม / transfers and social security) แต่ส่วนใหญ่จะกระทำผ่านกิจกรรมนอกระบบตลาด (งานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือชดเชย) ในครัวเรือนและในชุมชน

ระบบเศรษฐกิจเอื้ออาทร ขึ้นอยู่กับแรงงานของผู้หญิง--มักไม่มีค่าจ้างตอบแทนการทำงานดูแล   มันเป็นไปได้ที่จะซื้อการบริการเอื้ออาทรในระบบตลาด (การจ้างคนช่วยทำงานในบ้าน  บริการซักรีด ฯลฯ)  แต่ครัวเรือนที่ยากจนไม่มีทางจะซื้อบริการเหล่านี้ได้   ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะบกพร่องในหน้าที่การจัดหาบริการทางสังคมเหล่านี้ เนื่องจากมีความจำกัดในรายได้ของแผ่นดิน และแนวโน้มของการให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการที่จำเป็นเหล่านี้   ผลสุดท้าย ผู้หญิงกลายเป็นผู้ให้บริการดูแลเอื้ออาทรโดยอัตโนมัติ  กลายเป็นภาระหนักเชิงซ้อนที่ในที่สุด ได้จำกัดศักยภาพของพวกเธอในการเจริญเติบโตแบบองค์รวม และความสามารถในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมสังคมทั้งปวง

อคติเชิงเจนเดอร์ มักจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นสำหรับผู้หญิงในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ  เนื่องจากอคติที่เหมารวมว่า ชายเป็นช้างเท้าหน้าที่หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว  สังคมจึงให้ความคุ้มครองกับการจ้างงานของชายก่อน ดังเช่นกรณีในเกาหลีใต้ และอาร์เจนตินา  วิกฤตดังกล่าวมีผลกระทบต่องานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างชดเชย ย่อมหมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในงานเอื้ออาทรของหญิง   ราคาอาหารที่สูงขึ้น และการตัดงบสำหรับบริการสังคมของรัฐบาล เป็นการโยนภาระ ทำให้งานที่ไม่ได้เงินตอบแทนของผู้หญิงและเด็กหญิงเพิ่มปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ลดโอกาสการว่าจ้างที่มีรายได้   ในอินโดนีเซีย งานที่ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 7% สำหรับผู้หญิง  ส่วนของชายเพิ่มเพียง 1.3% เท่านั้น   การลดลงของรายได้ในครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงต้องใช้เวลามากขึ้นในการเหยียบเรือสองแคมระหว่างงานที่ไม่มีค่าจ้างในครัวเรือน กับงานที่มีรายได้ในเศรษฐกิจนอกระบบ

นักสตรีนิยมได้โต้ตอบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร?  สิ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีโมเดลเศรษฐกิจทางเลือก ที่ผันทิศทางของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน จากการกระตุ้นให้โกยกำไร สู่การจัดหาบริการทางสังคม  อันเป็นการฉีกแนวระดับพื้นฐานจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal policies)  เราควรจะส่งเสริมให้รัฐตีตัวออกห่างจากทิศทางการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ สู่นโยบายอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานของนโยบายการค้าและการลงทุน  จากการผลักให้เป็นเอกชนลงทุนเป็นธุรกิจเอื้ออาทร  ให้รัฐกลับมาทำหน้าที่จัดหาบริการสาธารณะที่ตอบสนองความจำเป็น/ต้องการของสังคม   ควรจะหวนกลับมาเน้นที่การเรียกร้องให้มีการกระจายความเสมอภาคในความมั่งคั่งและทรัพยากร เช่น การปฏิรูปที่ดิน

นโยบายกระตุ้นทางการเงินการคลัง ควรจะช่วยลดต้นทุนเชิงเจนเดอร์และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่นำไปสู่ความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย  การสร้างงานว่าจ้างสาธารณะ ควรให้ความสำคัญเท่าเทียมกันสำหรับงานผู้หญิงและงานผู้ชาย   การเน้นที่โครงการสร้างสาธารณูปโภคเชิงกายภาพ ว่าเป็นแหล่งของงานว่าจ้าง จะต้องให้น้ำหนักเท่าๆ กันในการลงทุนสาธารณูปโภคสังคม ในการศึกษา  สาธารณสุข การดูแลเด็ก และการบริการชุมชน (โปรแกมการส่งผ่านเงิน/cash transfer program) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมนุษย์   การกระตุ้นทางการเงินสามารถจะทำในระดับโลกด้วย เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน โดยผ่านระบบการประกันสังคม (social guarantee system) ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาโพ้นทะเล (overseas development assistance) ที่เพิ่มทั้งจำนวนและประสิทธิภาพ ตลอดจนการผ่อนปรนและระงับหนี้สิน   แหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการเงินระดับโลก สามารถจะระดมได้จากการสร้างกลไกภาษีในเส้นทางการดำเนินธุรกิจค้าสกุลเงินตราในโลก

หลายๆ รัฐบาลได้หันไปใช้วิธีการลดหย่อนภาษี ให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในชุดนโยบายการกระตุ้นการเงิน  แต่การลดหย่อนภาษีในยามวิกฤตแก่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีรายได้สูงมักจะทำให้สภาวะความเหลื่อมล้ำแย่ลง และไม่จำเป็นที่จะมีอานิสงค์ในการสร้างงานว่าจ้างขึ้น   ทางเลือกที่ดีกว่า น่าจะเป็นการปฏิรูปภาษีที่ลดผลกระทบถอยหลังของภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสินค้าที่มีความสำคัญต่องานของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมเชิงเจนเดอร์ในกลไกภาษี   รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อวิกฤตโดยการให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (small and medium enterprises) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เข้าถึงสินเชื่อสงเคราะห์ (subsidized credit)   ขบวนการสตรี และองค์กรภาคประชาสังคม จะต้องสามารถตรวจตรา ติดตาม การกระจายต้นทุนเชิงเจนเดอร์ ในระดับมหภาคและจุลภาค (โรงงาน ครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรม) และตรวจสอบติดตาม นโยบายตอบสนอง โดยพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายสาธารณะ และกลไกภาษี (งบเจนเดอร์ / gender budgets)

กล่าวโดยสรุป  วิกฤตที่เกิดขึ้น ได้เสนอตัวเป็นโอกาสสำหรับพวกเราให้ผันทิศทางของสถาบันสาธารณะ  รณรงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นเชิงสังคมและความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย ในนโยบายการเงินการคลัง  และงานว่าจ้าง เพื่อก้าวหน้าสู่วิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจทางเลือกต่อไป

บทความนี้สรุปการนำเสนอในเวทีการประชุมสุดยอด หญิงทำงาน 2009: คนงานหญิงเป็นแนวหน้าของทางออกสู่ความยั่งยืน (“Women Workers Summit 2009: Women workers at the frontline of sustainable solution”) จัดโดย CAW (มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง) เมื่อ 9-10 ธันวาคม 2009
แหล่ง  Asian Women Workers Newsletter, Vol.35, 2010 (Jan-Mar): pp.11-12
-แปลโดย ดรุณี 12-25-10


วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สัดส่วน 1/3 : ตัวแทนขั้นต่ำทั้งหญิง & ชาย ในการตัดสินใจสาธารณะ

การมีตัวแทนผู้หญิงในเวทีการเมือง เป็นกุญแจสู่การพัฒนา

Women representation in politics key to developmentBy Miriam Gathigah
KENYA, Dec 16, 2010 (IPS)

ผลงานวิจัยได้ชี้ชัดว่าผู้หญิงมีมากกว่าครึ่งของประชากรในประเทศทั้งหลาย  ผลการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2010 ย้ำว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยในเคนยา


ถึงกระนั้น จำนวนประชากรมหาศาลของผู้หญิง ก็ยังล่องหนในตำแหน่งสำคัญๆ ในกระบวนการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ   แม้ว่าแนวโน้มนี้จะเริ่มเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ในเคนยา และในปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงในรัฐสภาได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา  ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีผู้หญิงมากขึ้นในตำแหน่งผู้นำทางการเมือง
ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 222 คน มีผู้หญิงเพียง 22 คนโดยเพียง 16 คน มาจากการเลือกตั้ง และ 6 คน จากการแต่งตั้ง   ตั้งแต่ปี 2003 เมื่อมีผู้หญิง 18 คน ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกในพฤติกรรมการทำธุรกรรมของกระทรวงต่างๆ
เราไม่สามารถตอกย้ำจนเกินไป ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้กระบวนการเมืองนี้ มีหญิงชายเท่ากันเชิงปริมาณ ด้วยความจริงที่รู้กันทั่วว่า ผู้นำทั้งหญิงและชาย ต่างก็มีความสนใจหรือเห็นผลประโยชน์ทางการเมืองต่างกัน ผลคือ ต่างมีความจำเป็น/ต้องการเชิงกลยุทธ์ / ยุทธวิธีที่ปฏิบัติการได้ต่างกัน (practical strategic needs)  ในระดับนโยบาย เราได้เห็นการออกกฎหมายต่างๆ ที่ตอบสนองต่อมิติเจนเดอร์/หญิงชาย เช่น พรบ การทำร้ายทางเพศปี 2006 (Sexual Offences Act of 2006) ที่นำเข้าสู่รัฐสภาโดย สส หญิงคนหนึ่ง  แล้วยังมี พรบ เด็กปี 2002  พรบ การว่าจ้างปี 2007  พรบ พรรคการเมืองปี 2007   นัยสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับเหล่านี้ อยู่ที่การแสวงหาความเท่าเทียมหญิงชายเชิงสิทธิและโอกาส Kakuvi Njoka ทนายความในมณฑล Tharaka-Nithi ภาคตะวันออกของเคนยา อธิบาย
พรบ การว่าจ้าง และ พรบ พรรคการเมือง เจาะประเด็นที่การมีตัวแทนหญิงชายในเวทีสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง  โดยส่งเสริมให้ทั้งหญิงและชายมีส่วนร่วมเท่าๆ กัน เพื่อลดการเลือกปฏิบัติทางเพศ
พรบ ทั้งสองฉบับรับรองจำนวนผู้หญิงขั้นต่ำ (คล้ายกับธรณีประตูที่ต้องก้าวข้าม) เพราะว่าผู้หญิงโดยเพศสภาพ เป็นกลุ่มที่ถูกเบียดขับ จึงสมควรได้รับการคำนึงถึง ในการว่าจ้างและในพรรคการเมือง  ผู้หญิงจึงได้อ้างถึงคำสั่งของประธานาธิบดี (Presidential Decree) ที่ระบุว่า ให้มีตัวแทนผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในหน่วยงานราชการทั้งหมด (there should be at least 30 percent of women representation in all public offices) Jane Malika นักรณรงค์ในมิติหญิงชายในไนโรบี อธิบาย
ด้วยการนำ กองทุนผู้หญิง มาใช้ ซึ่งเป็น การออมทรัพย์ (micro finance kitty)  ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นถึงได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐบาล แต่ต้องผ่านการอบรมขั้นต่างๆ เพื่อสร้างสมรรถนะของผู้หญิง Dan Maingi นักการบัญชีของ Kiambu County ที่ภาคกลางของเคนยา อธิบาย
การเริ่มถ่ายทอดสดการอภิปรายในรัฐสภา เป็นการขยับแบบอย่าง / ความคิด (paradigm shift) ในทิศทางของการโต้วาที และในการกำหนดนโยบายอื่นๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิวาทะเหล่านั้น เช่น บทความวาระ เบอร์ 2 ของปี 2006 ว่าด้วยความเท่าเทียมเชิงมิติหญิงชายและการพัฒนา  นโยบายที่ดินแห่งชาติ   นโยบายอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพแห่งชาติ  นโยบายมิติหญิงชายในการศึกษา ปี 2007 และนโยบายชาติเพื่อการละเลิกการขลิบอวัยวะเพศของหญิง ปี 2008-2012  (Sessional Paper No 2 of 2006 on Gender Equality and Development, National Land Policy, National Reproductive and Health Policy, Gender Policy in Education of 2007 and the National Policy for the Abandonment of Female Genital Mutilation)
ด้วยการเร่งรัดของ สส หญิง ในปี 2007 รัฐบาลได้สัญญาจัดสรรเงิน 125,000 ดอลล่าร์ เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐาน   มีข้อสังเกตว่า นักเรียนหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ยากจน มักจะขาดเรียน 5 วันทุกเดือน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้  นี่หมายถึงการขาดเรียนเป็นเวลา 2 เดือนในหนึ่งปีการศึกษา
ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของศูนย์วิจัยประชากรและสุขภาพอาฟริกา และกรมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ผ้าอนามัยเป็นของหายาก และเด็กหญิงในสลัมได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด
การเปิดอภิปรายสาธารณะในหัวข้อที่เคยเป็นเรื่องน่าอับอาย เพราะความที่เป็นสังคมอนุรักษ์ ได้ทำให้ผู้มีจิตกุศลบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กหญิงไม่ต้องขาดเรียนเพียงเพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้
เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงกระบวนการทบทวนรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เคนยาได้ประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้  ในปี 2008 รัฐมนตรีกระทรวงกิจกรรมยุติธรรมและรัฐธรรมนูญ ฯพณฯ ท่าน Martha Karua ได้เริ่มผลักดันอย่างไม่ลดละ ให้มีตารางเวลาที่จะเป็นแนวนำการทบทวนรัฐธรรมนูญ  เธอได้ทำงานร่วมกับ สส หญิงอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการทบทวน มีความอ่อนไหวต่อมิติหญิงชายด้วย Jennifer Massis นักการเมือง และอดีตผู้ลงสมัครเลือกตั้ง อธิบาย
เรื่องนี้สะท้อนอยู่ในตัวองค์กรของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ที่ถูกมอบหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมาตราต่างๆ ในเอกสาร เช่น การรับรองความเท่าเทียม (Affirmative Action) ที่ระบุว่า จะต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทั้งสองเพศเป็นตัวแทนในตำแหน่งเลือกตั้งต่างๆ
แม้ว่าการมีผู้หญิงมากขึ้นในตำแหน่งผู้นำ ไม่จำเป็นที่ความเท่าเทียมในมิติหญิงชายจะเกิดขึ้นตามมาโดยอัติโนมัต การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจ เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวด

dt/12-22-10

ความยุติธรรมเพื่อ ชีวิต หรือ เพื่อสถาบัน? Amartya Sen


งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซํ้า แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่งของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ http://www.fringer.org/ และ http://www.onopen.com/


ความยุติธรรม : จากแนวคิดสู่วิถีปฏิบัติ
ปาฐกถาพิเศษ โดย อมาตยา เซน
18 ธันวาคม 2553 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาเรารู้จักในนาม พระพุทธเจ้า ออกเดินทางจากคฤหาสน์ ณ เชิงเขาหิมาลัยสู่การแสวงหานิพพานเมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว พระองค์ทรงรู้สึกสะเทือนอารมณ์จากการเห็นอริยสัจสี่ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมทั้งรู้สึกเป็นทุกข์ที่เห็นอวิชชาอยู่รายรอบ ตอนที่ผมได้อ่านเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งเป็นเด็ก ผมจำได้ว่าผมรู้สึกสะเทือนอารมณ์และเปี่ยมแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริง ความกังวลของพระพุทธเจ้า ตลอดจนวิถีที่พระองค์ทรงใช้แก้ปัญหายากๆ ซึ่งเป็นวิถีที่ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง เป็นแรงบันดาลใจหลักแหล่งหนึ่งของผมมาตลอดชีวิต ผมควรอธิบายว่าผมไม่ได้นับถือศาสนา และดังนั้นจึงไม่ได้เป็นชาวพุทธหรือศาสนิกชนอื่นใด แต่เป็นไปได้ที่เราจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากการทำความเข้าใจกับที่มาแห่งทุกข์ของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะภาวะขาดแคลนและความไม่มั่นคงในชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าเราจะไม่อยากเจริญรอยตามท่านในการสำรวจสัจธรรมสูงสุดของจักรวาล ผมสนใจที่จะติดตามความคิดของพระพุทธองค์ในระดับที่เป็นโลกียะกว่านั้น
ผมได้นำเสนอในบทความก่อนหน้านี้ชื่อพระพุทธเจ้าและโลกสมัยใหม่” (ซึ่งผมอ่านเป็นครั้งแรกในงานสัมมนาที่สิงคโปร์ และหลังจากนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์ที่นั่น) ว่า ความคิดของพระพุทธเจ้านั้นสามารถนำมาปฏิบัติได้ง่ายกว่าความคิดของผู้นำศาสนาคนอื่นอีกจำนวนมาก เนื่องจากประวัติของพระองค์ทำให้เรารู้สึกว่าทรงใกล้ชิดกับเรามาก ความคิดที่สะเทือนอารมณ์ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความตาย  โศกนาฏกรรมของความแก่ชราและพิการ หรือผลกระทบที่ร้ายแรงของโรคร้ายต่อชีวิตมนุษย์ ล้วนทำให้เราสะเทือนอารมณ์ ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อทางศาสนาหรืออยากมีความเชื่อแบบใดก็ตาม เรามองเห็นอันตรายของอวิชชาและสังคมที่จัดระเบียบอย่างยํ่าแย่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พระพุทธเจ้าจะทรงครุ่นคิดถึงระหว่างที่ออกแสวงหานิพพาน แต่ไม่ว่าเราจะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากเหล่านี้ในระดับใด การมุ่งเน้นไปที่ความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการใช้เหตุผลและปัญญา ก็ยังคงสำคัญในโลกอันแตกต่างของเรา ไม่ต่างจากสมัยพุทธกาลกว่าสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว
เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรมและความอยุติธรรมในโลกทุกวันนี้? ผมจะเสนอว่าเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง ขณะที่เราคำนึงถึงความท้าทายของการรับมือกับปัญหาอันใหญ่หลวงด้านความไม่มั่นคงของมนุษย์และความอยุติธรรมทางสังคมในโลกร่วมสมัย การหาวิธีที่เปี่ยมปัญญา วิธีที่ใช้เหตุผลกับตัวเองและผู้อื่น ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม ซึ่งเป็นหัวข้อการอภิปรายในวันนี้ ผมจะอธิบายคร่าวๆ ในภาษาของฆราวาสว่า วิถีที่เราประยุกต์ใช้ได้จากการใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไร วิถีนี้มีลักษณะสามประการที่เกี่ยวโยงเป็นพิเศษกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรม ผมไม่ได้หมายความว่าลักษณะเหล่านี้คือลักษณะที่สำคัญที่สุดในความคิดของพระพุทธเจ้า แต่ผมหมายความว่า ลักษณะเหล่านี้ซึ่งอยู่ในวิถีของพระองค์ ยังสำคัญในการคิดของเราเกี่ยวกับถูกและผิด ความยุติธรรมและความอยุติธรรม แม้แต่ในภาษาของทางโลกย์ล้วนๆ
ลักษณะแรกที่ผมอยากกล่าวถึงนั้นเกี่ยวกับการที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาชีวิตและการใช้ชีวิต และไม่ได้มองแค่สถาบันและระเบียบทางสังคมเท่านั้น ผมจะเรียกวิถีนี้ว่าวิถีที่มีชีวิตเป็นศูนย์กลาง” (life-centered approach) อาจดูแปลกมากที่ผมมองว่าพระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องการใช้เหตุผลโดยมีชีวิตเป็นศูนย์กลาง เพราะคนมักจะมองว่าพระองค์ทรงปฏิเสธชีวิต แต่เราควรระลึกว่าพระพุทธเจ้าได้รับแรงบันดาลใจจากความทุกข์และความอ่อนแอของมนุษย์ ในการที่จะริเริ่มการแสวงหาอันยาวนาน และพระองค์ก็ทรงรับมือกับความแร้นแค้นของมนุษย์แม้ขณะที่ทรงสำรวจลักษณะของชีวิตที่ดีและสิ่งดีงามในโลก พระพุทธเจ้าทรงศึกษาอริยสัจสี่เป็นหลัก
วิถีนี้แตกต่างอย่างชนิดขาวเป็นดำกับวิถีจำนวนมากเกี่ยวกับความยุติธรรมที่เราอาจเรียกได้ว่า เป็นวิถีที่ปฏิเสธชีวิต ถ้ามองจากประเด็นที่สำคัญจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดว่าด้วยความถูกต้องและความยุติธรรมของเฟอร์ดินานด์ที่หนึ่ง กษัตริย์ในนิกายโรมันคาทอลิกสมัยศตวรรษที่ 16 พระองค์ทรงกล่าวอย่างโด่งดังว่า “Fiat justitia, et pereat mundus” ซึ่งแปลจากภาษาละตินได้ว่าความยุติธรรมจงบังเกิด ถึงแม้โลกจะสิ้นสลายความไม่แยแสต่อความทุกข์ยากของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงขณะที่โลกสิ้นสลาย เน้นเพียงความคิดที่เป็นนามธรรมเกี่ยวกับความถูกต้องแบบนี้ ไม่มีวันที่การใช้เหตุผลของพระพุทธเจ้าจะยอมรับ ผมขอเสริมตรงนี้เล็กน้อย ในเมื่อการประชุมครั้งนี้เกี่ยวกับสุขภาพแห่งชาติ ว่าวิถีที่จะทำความเข้าใจกับความยุติธรรม วิถีที่มีชีวิตเป็นศูนย์กลางนั้น เปิดช่องโดยตรงให้เรารับมือกับปัญหาสุขภาพและความจำเป็นที่สังคมจะเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ ผมจะกลับมาที่ความเชื่อมโยงตรงนี้ในช่วงท้ายของปาฐกถา
ลักษณะที่น่าทึ่งประการที่สองของวิถีที่ปรากฏในวิธีคิดของพระพุทธเจ้า คือความครอบคลุม ซึ่งผมจะเรียกวิถีนี้ว่าวิถีครอบคลุมซึ่งไม่กีดกันใครออกไปเลย ถ้าหากลักษณะประการแรกสำคัญกับประเทศไทยเป็นพิเศษเมื่อคำนึงถึงความทุ่มเทในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนผ่านนโยบายสาธารณะที่อาศัยความรู้และการใช้เหตุผล ลักษณะประการที่สองก็เกี่ยวกับความแตกแยกในสังคมซึ่งกัดกร่อนประเทศไทยอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักสังเกตการณ์บางท่านอาจงุนงงว่าผมกำลังมองศาสนาพุทธแบบไทยว่าเป็นส่วนหนึ่งของจารีตสากล ในเมื่อคนมักจะมองว่าในเมื่อศาสนาพุทธในไทยส่วนใหญ่เป็นเถรวาท ไม่ใช่จารีตทางมหายานที่กว้างกว่า ก็ดูเหมือนกับว่าศาสนาพุทธแบบไทยนั้นจะมีความเป็นสากลไม่ได้ แต่ผมคิดว่านี่เป็นความคิดที่ผิด เพราะความเป็นสากลในมิติของสังคมที่ผมกำลังกล่าวถึงนั้นเป็นลักษณะพื้นฐานของศาสนาพุทธโดยทั่วไป ซึ่งรวมถึงเถรวาทด้วย และความแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายานก็อยู่ในประเด็นทางเทววิทยาว่าด้วยนิพพาน ซึ่งไม่ใช่หัวข้อของผมในปาฐกถาครั้งนี้
สถิติความครอบคลุมด้านบริการสุขภาพของประเทศไทยนั้นดีมาก ผมจะเรียกว่าดีเยี่ยมเลยด้วย ระบบสุขภาพของไทยครอบคลุมถึงระดับที่ไม่มีแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ระบบประกันสุขภาพของเอกชน แต่แล้วความเป็นไปได้ที่จะสนทนากันอย่างครอบคลุมเพื่อสร้างความสามัคคี แทนที่จะทำให้ผู้คนแตกแยก กลับหายากเหลือเกินในประเทศที่แสนวิเศษในมุมอื่น นี่ยังเป็นปัญหาในสภานการณ์การเมืองปัจจุบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งในประเทศไทยวันนี้ แต่ก่อนอื่นผมอยากกล่าวถึงหลักการทั่วไปเกี่ยวกับความครอบคลุมสากล ในจารีตความเข้าใจทางพุทธเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ผมควรจะกล่าวตรงนี้ว่า วิถีของผู้คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธเจ้านั้นเป็นการบุกเบิกครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์โลก การประชุมเปิดทั่วไปที่เก่าแก่ที่สุดหลายครั้งจัดขึ้นเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับความขัดแย้งทางความคิด ในประเด็นสังคมและศาสนา เกิดในอินเดียในรูปของประชุมสังคายนาแบบพุทธ ซึ่งให้คนที่มองต่างมุมได้มารวมตัวกันเพื่อถกเถียงหาข้อยุติ ตั้งแต่หกร้อยปีก่อนคริสตศักราช ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกจัดในเมืองราชคฤห์ (ปัจจุบันชื่อ ราชกีร์) ไม่นานหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ประชุมสังคายนาที่สองจัดขึ้นในเมืองไวสาลีประมาณหนึ่งร้อยปีถัดมา และครั้งสุดท้ายจัดขึ้นในแคชเมียร์ คริสต์ศตวรรษที่สอง
พระเจ้าอโศกทรงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสังคายนาที่ใหญ่ที่สุด สามร้อยปีก่อนคริสตศักราช ในเมืองปัตนะ (สมัยนั้นชื่อเมืองปาฏลีบุตร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรอินเดียของพระองค์ พระเจ้าอโศกทรงพยายามเขียนและเผยแพร่กฎเกณฑ์ซึ่งเป็นกฏที่เก่าแก่ที่สุดในโลกชุดหนึ่งเกี่ยวกับการอภิปรายสาธารณะ (เทียบเคียงได้กับรูปแบบแรกๆ ของกฏแห่งระเบียบของโรเบิร์ตสมัยศตวรรษที่ 19) อีกตัวอย่างหนึ่งจากประวัติศาสตร์คือ ในญี่ปุ่นยุคต้นศตวรรษที่ 7 เจ้าชายโชโตกุ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมารดา คือพระนางเจ้าซุยโกะ ได้จัดพิมพ์รัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตราในปี ค.. 604 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันหกร้อยปีก่อน   แม็กนา คาร์ตา จะถูกลงนามในปี 1215 ว่าการตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ ไม่ควรทำโดยบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยลำพัง แต่ควรอภิปรายกันหลายคน1[สำหรับคำอธิบายประเพณีเหล่านี้โดยละเอียด พร้อมแหล่งอ้างอิง ดูหนังสือของผมเรื่อง Argumentative Indian (2005)]
 นักวิจารณ์บางท่านมองว่ารัฐธรรมนูญที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาพุทธฉบับนี้ของญี่ปุ่นคือก้าวแรกของการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรายืนยันต่อไปว่าเราไม่พึงขุ่นเคืองใจเมื่อคนอื่นแตกต่างจากเรา เนื่องจากมนุษย์ทั้งมวลมีหัวใจ และหัวใจแต่ละดวงย่อมเอนเอียงเป็นส่วนตัว สิ่งที่ถูกสำหรับพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่ผิดสำหรับพวกเรา และสิ่งที่ถูกสำหรับพวกเราอาจเป็นสิ่งที่ผิดสำหรับพวกเขา
ลักษณะประการที่สามในวิธีคิดแบบพุทธที่คุ้มค่าแก่การระบุ คือการเน้นความรับผิดชอบอันเป็นสากล เรื่องนี้ไปไกลกว่าความร่วมมือกันอย่างมีเงื่อนไขแคบๆ ตามทฤษฎีพันธะสัญญาทางสังคม” (social contract) ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากจนเป็นแกนกลางของทฤษฎีสมัยใหม่เกี่ยวกับความยุติธรรม ผมอยากจะเรียกลักษณะนี้ของวิถีพุทธว่าความรับผิดชอบต่ออำนาจซึ่งผมได้อภิปรายไว้อย่างละเอียดพอควรในหนังสือของผมเรื่อง แนวคิดเรื่องความยุติธรรม (The Idea of Justice) มุมมองเกี่ยวกับพันธะแห่งอำนาจและสมรรถภาพที่ไร้สัญญาของผู้คนนั้นสะท้อนให้เห็นอย่างทรงพลังในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้าเสนอว่า เรามีความรับผิดชอบต่อสัตว์ทั้งปวงเพราะความไม่เสมอภาคระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ไม่ใช่เพราะความเสมอภาคใดๆ ที่สร้างความจำเป็นให้มนุษย์ร่วมมือกับสัตว์ พระพุทธองค์ทรงมองว่าเนื่องจากมนุษย์มีอำนาจมากกว่าสัตว์อื่นทุกชนิด เราจึงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์อื่นที่เชื่อมโยงกับความไม่เสมอภาคนี้
พระพุทธเจ้าอธิบายประเด็นนี้ด้วยการเปรียบเทียบกับความรับผิดชอบของมารดาที่มีต่อบุตร มารดามีความรับผิดชอบไม่ใช่เพราะเธอให้กำเนิดบุตร แต่เป็นเพราะเธอสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเด็ก ในทางที่เด็กเองไม่อาจทำได้ มองจากมุมนี้ เหตุผลที่มารดาช่วยเหลือเด็กไม่เกี่ยวกับผลตอบแทนที่ได้รับ แต่มาจากการตระหนักถึงความไม่เสมอภาค รับรู้ว่าเธอสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กอย่างมหาศาล แต่เด็กเองทำไม่ได้ มารดาไม่ต้องมองหาผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะจริงหรือในจินตนาการ และไม่ต้องสมมุติสัญญาขึ้นมาก่อนที่จะเข้าใจพันธะที่เธอมีต่อลูก นี่คือประเด็นของพระพุทธเจ้า ซึ่งแตกต่างชนิดขาวกับดำกับความคิดแบบฮอบส์ที่ใช้สัญญาเป็นหลักเวลานึกถึงพันธะที่คนมีระหว่างกัน ความคิดแบบฮอบส์คือสิ่งที่ครอบงำทฤษฏีร่วมสมัยเกี่ยวกับความยุติธรรม
ความชอบธรรมตรงนี้มาจากเหตุผลที่ว่า ถ้าการกระทำใดก็ตามเป็นสิ่งที่บุคคลทำได้โดยเสรี (ดังนั้นจึงเกิดขึ้นได้) และถ้าบุคคลผู้นั้นประเมินว่าการกระทำดังกล่าวจะปรับปรุงสถานการณ์ให้ยุติธรรมกว่าเดิม (ดังนั้นจึงส่งเสริมความยุติธรรม) เท่านั้นก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วให้คนครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าเขาหรือเธอควรทำอะไรเมื่อรู้อย่างนี้ แน่นอน อาจมีการกระทำหลายอย่างที่ตรงตามเงื่อนไขทั้งสองข้อ แต่เราอาจทำไม่ได้หมดทุกอย่าง ฉะนั้นเหตุผลตรงนี้คือ ไม่ใช่ให้เราทำอะไรสักอย่างโดยพลันและไร้เงื่อนไขทันทีที่ตรงกับเงื่อนไขทั้งคู่ แต่ให้เราตระหนักในพันธะที่จะทำอะไรสักอย่าง สำนึกในพันธะที่มารดามีต่อทารกไม่เพียงแต่ตรงตามเงื่อนไขทั้งสองข้อ หากแต่ยังมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่มารดาอาจมีเหตุผลที่จะทำถ้าเธอมีอิสรภาพ ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้เหตุผลแบบอ้างพันธะสัญญาทางสังคม เพื่อระบุถึงกรณีที่มารดาจะพิจารณาที่จะช่วยลูกของเธอ มันก็เป็นวิธีที่เดินทางอ้อมกว่ากันมาก เมื่อเทียบกับบทสรุปจากการใช้เหตุผลเรื่องพันธะแห่งอำนาจ
ประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ เรามีวิถีทางต่างๆ มากมายที่อธิบายพฤติกรรมที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าวิถีทั้งหมดจะต้องมองคนราวกับเป็นกาฝาก โดยใช้เหตุผลว่าจะต้องหาความได้เปรียบจากความร่วมมือกันที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อันที่จริงแล้ว ความได้เปรียบจากการร่วมมือกันเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียวในบรรดาเหตุผลทั้งมวลที่เราจะทำอะไรๆ เพื่อคนอื่น ในมุมมองที่กว้างขึ้นนี้ และเหตุผลทั้งมวลก็พาเราออกไปนอกวิถีที่จำกัดของทฤษฎีพันธะสัญญาทางสังคมค่อนข้างมาก
ในหนังสือเมื่อไม่นานมานี้ของผมเกี่ยวกับความยุติธรรม ชื่อ แนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม ผมได้เสนอว่ามีความจำเป็นที่เราจะเดินออกนอกเส้นทางเดิมในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความยุติธรรม ไม่ใช่แค่เดินออกจากทฤษฎีกระแสหลักในปรัชญาการเมืองร่วมสมัยเท่านั้น แต่ต้องเดินออกจากประเพณีอันยาวนานหลายศตวรรษของการวิเคราะห์ความยุติธรรมจากกรอบคิดที่เรียกว่าพันธะสัญญาทางสังคมผู้บุกเบิกวิถีพันธะสัญญาทางสังคมคือ ธอมัส ฮอบส์ ในศตวรรษที่ 17 และมันก็ได้กลายเป็นอิทธิพลที่ครอบงำการวิเคราะห์ความยุติธรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เรื่อยมาจนถึงยุคของเรา การเดินออกนอกทางเดิมที่ผมเสนอนั้นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วไม่น้อยออกจากจุดสนใจของทฤษฎีกระแสหลักเกี่ยวกับความยุติธรรม และผมคิดว่ายังเรียกร้องให้เราเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความท้าทายร่วมสมัยในนโยบายสาธารณะ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ
ทฤษฎีของผมมีความเกี่ยวโยงกับวิถีของพระพุทธเจ้าหรือไม่? แน่นอนครับว่ามี ดังที่ผมอภิปรายในหนังสือ แต่วิถีพุทธไม่ได้เป็นบรรพบุรุษทางความคิดเพียงหนึ่งเดียวในความเข้าใจเรื่องแนวคิดความยุติธรรมที่ผมพยายามนำเสนอ มีจารีตอื่นๆ จากรอบโลกที่ผมนำมาประยุกต์ใช้ แต่ลักษณะสามประการของวิถีที่มาจากความคิดของพระพุทธเจ้าที่ผมอธิบายไปนั้น เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะกับแนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่ผมกำลังสำรวจ
แนวการใช้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนความคิดเรื่องพันธะสัญญาทางสังคมนั้น เน้นหนักไปที่การออกแบบระเบียบสังคมที่ยุติธรรมโดยสมบูรณ์ และมองว่าลักษณะของสถาบันที่ยุติธรรมเป็นพันธกิจหลักของทฤษฎีความยุติธรรม และก็มักจะเป็นพันธกิจเพียงหนึ่งเดียวด้วย การมองความยุติธรรมแบบนี้ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า เราต้องจินตนาการถึงพันธะสัญญาทางสังคม สัญญาสมมติที่ประชาชนของรัฐอิสระร่วมกันตกลง ผู้ที่มีส่วนร่วมในแนวการใช้เหตุผลนี้คือ ธอมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ, อิมมานูเอล คานท์ และคนอื่นๆ วิถีที่ใช้สัญญาสมมตินี้ได้กลายเป็นอิทธิพลหลักในปรัชญาการเมืองร่วมสมัย นำโดยนักปรัชญาการเมืองที่โด่งดังที่สุดในยุคของเราคือ จอห์น รอลส์ หนังสือคลาสสิกของเขาเรื่อง ทฤษฎีความยุติธรรม (A Theory of Justice) ตีพิมพ์ปี 1971 เป็นบทสรุปการมองความยุติธรรมแบบวิถีพันธสัญญาทางสังคมที่สมบูรณ์ที่สุด ทฤษฎีหลักๆ เกี่ยวกับความยุติธรรมในปรัชญาการเมืองร่วมสมัย (ซึ่งไม่ได้มาจากรอลส์เพียงคนเดียว แต่เสริมโดย โนซิก ดวอร์คิน โกเธียร์ และคนอื่นๆ) ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ล้วนแต่ใช้วิถีพันธะสัญญาทางสังคม และเน้นการค้นหาสถาบันทางสังคมในอุดมคติ
ในทางตรงกันข้าม นักทฤษฏียุครู้แจ้งจำนวนหนึ่ง (เริ่มจาก อดัม สมิธ, มาร์กีส์ เดอ กอนดอร์เซท์ และ แมรี วอลล์สโตนคราฟท์ และต่อมาก็ขยายไปสู่ คาร์ล มาร์กซ์, จอห์น สจ๊วต มิลล์ และอีกหลายคน) ใช้วิถีที่แตกต่างกันในหลายแง่มุม แต่มีจุดร่วมอยู่ตรงที่เปรียบเทียบว่าชีวิตของผู้คนจะดำเนินไปอย่างไรได้บ้าง เมื่อได้รับอิทธิพลจากการทำงานของสถาบัน พฤติกรรมในชีวิตจริง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบในสาระสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แทนที่จะอาศัยสัญญาสมมติอะไรสักฉบับที่อ้างหรือจินตนาการเอาเองว่าทุกคนเห็นชอบ วิถีทางเลือกจะเน้นไปที่การคำนึงว่า มีข้อตกลงอะไรบ้างที่อาจอุบัติขึ้นจากการถกเถียงกันในสาธารณะว่า จะส่งเสริมความยุติธรรมอย่างไร แนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่ผมสำรวจอยู่นั้น ใช้วิถีการอภิปรายซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในความคิดยุครู้แจ้งของยุโรป เช่นเดียวกับที่ใช้วิธีการสำรวจที่ตั้งอยู่บนเหตุผลของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับพันธะทางศีลธรรมที่ปัจเจกและสังคมต้องตระหนักถึง
ทฤษฎีทางเลือกทางสังคม” (social choice theory) ซึ่งหนักไปด้านการวิเคราะห์โดยใช้คณิตศาสตร์ มีจุดกำเนิดในงานของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะ มาร์กีส์ เดอ กอนดอร์เซท์ แต่รวมถึงคนอื่นอย่างเช่น ฌอง-ชาร์ลส์ เดอ บอร์ดา และได้รับการชุบชีวิตและปรับปรุงใหม่ในยุคของเราโดย เคนเน็ธ แอร์โรว์ ทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางเลือกที่กล่าวถึง ในแง่ที่มันแตกต่างจากทฤษฎีพันธะสัญญาทางสังคม ผมต้องสารภาพว่าผมเองมีส่วนร่วมค่อนข้างมากในการพัฒนาและการใช้ทฤษฎีทางเลือกทางสังคม โดยได้มุ่งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้วิถีนี้อย่างสร้างสรรค์ (ต่างจากจุดสนใจของ เคนเน็ธ แอร์โรว์ ที่เน้นการผลิตผลลัพธ์ที่เป็นไปไม่ได้) และผมก็มีส่วนร่วมนานหลายทศวรรษในการกำหนดและแจกแจงสิ่งที่ความยุติธรรมเรียกร้อง ด้วยความช่วยเหลือของทฤษฎีทางเลือกทางสังคมที่เป็นคณิตศาสตร์ เสริมด้วยการใช้เหตุผลเชิงการเมืองและศีลธรรมทั่วไป ซึ่งไม่เป็นคณิตศาสตร์
ในอดีตผมพยายามนำเสนอว่าทฤษฎีความยุติธรรมนั้นมีจุดหักเหสามจุด เมื่อเทียบกับทฤษฎีพันธะสัญญาทางสังคม จุดแรกคือ แทนที่จะเริ่มต้นจากการถามว่าความยุติธรรมสมบูรณ์แบบคืออะไร (ซึ่งเป็นคำถามที่คำตอบอาจแตกต่างกันได้มหาศาล แม้แต่ในหมู่คนที่ใช้เหตุผลดีเยี่ยม) ผมเสนอว่าเราควรเจริญรอยตามกอนดอร์เซท์และ อดัม สมิธ ด้วยการถามหากรณีความอยุติธรรมที่ชัดเจน ที่เราสามารถตกลงกันได้ด้วยการใช้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ มาร์กีส์ เดอ กอนดอร์เซท์, อดัม สมิธ และ แมรี วอลล์สโตนคราฟท์ เรียกร้องให้เลิกทาสในโลกยุคศตวรรษที่ 18 พวกเขาไม่จำเป็นต้องหาข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าตาของสังคมที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบ อันที่จริง การถกเถียงเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบนั้น อาจมีผลกระทบที่เบี่ยงเบนความสนใจและหักเหออกจากการบรรลุความยุติธรรม โดยเฉพาะการลดทอนความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้
จุดที่สอง ความสนใจของเราไม่จำเป็นจะต้องอยู่ที่สถาบันเท่านั้น วิถีพันธะสัญญาทางสังคมสนใจการระบุหน้าตาของสถาบันที่ยุติธรรมเป็นหลัก แต่ในทางกลับกัน เราสามารถพุ่งความสนใจไปที่ลักษณะของวิถีชีวิตที่ผู้คนสามารถดำเนินได้จริงๆ การทำความเข้าใจปัญหาจากมุมนี้หมายความว่า แนวคิดเรื่องความยุติธรรมจะต้องตั้งอยู่บนผลลัพธ์และผู้คน แทนที่จะตั้งอยู่บนสถาบัน
จุดที่สาม วิถีพันธะสัญญาทางสังคมถูกออกแบบมาตีกรอบเฉพาะประชากรของรัฐอิสระ แต่วิถีทางเลือกอาจรวมผู้คนจากที่ใดก็ได้ในโลก เนื่องจากจุดสนใจอยู่ที่การถกเถียงโดยใช้เหตุผล ไม่ได้อยู่ที่พันธะสัญญาทางสังคมซึ่งต้องอาศัยรัฐ จุดหักเหข้อนี้ทำให้เราสามารถถกเถียงกันเรื่องความยุติธรรมโลกซึ่งจำเป็นต่อการรับมือกับปัญหาอย่างเช่นวิกฤตเศรษฐกิจโลก ภาวะโลกร้อน หรือการป้องกันและจัดการกับโรคระบาดระดับโลก (อย่างเช่นโรคเอดส์)
วิถีพันธะสัญญาทางสังคมแบบเก่าที่มองความยุติธรรมได้ครอบงำการวิเคราะห์ความยุติธรรมของนักปรัชญามืออาชีพมายาวนาน วิถีทางเลือกเน้นจุดสนใจไปที่ชีวิตของผู้คน แทนที่จะมองแต่สถาบันต่างๆ เพียงอย่างเดียว และเน้นการหาข้อตกลงที่มีเหตุผลว่าจะส่งเสริมความยุติธรรมอย่างไร แทนที่จะค้นหาสัญญาในจินตนาการเพื่อมาออกแบบสถาบันที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบ ถ้าวิถีทางเลือกตีกรอบที่กว้างพอ มันก็อาจเป็นพื้นฐานของการใช้เหตุผลระดับโลก แทนที่จะเสาะหาความยุติธรรมในแต่ละประเทศแบบทางใครทางมัน
ในการทำความเข้าใจกับความแตกต่างระหว่างมุมมองที่เน้นระเบียบแบบแผน กับมุมมองที่เน้นผลลัพธ์ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ที่จะหยิบยกความแตกต่างจากวรรณกรรมสันสกฤตเกี่ยวกับศีลธรรมและนิติศาสตร์ สันสกฤตมีคำสองคำ – “นิติกับนยายะซึ่งหมายถึงความยุติธรรมทั้งคู่ในสันสฤตโบราณ คำว่า นิติ ใช้ในความหมายเกี่ยวกับความเหมาะสมเชิงองค์กร และความถูกต้องเชิงพฤติกรรม ส่วนคำว่า นยายะ ใช้ในความหมายที่ครอบคลุม คือความยุติธรรมที่บังเกิดแล้ว จากมุมมองนี้ บทบาทของสถาบัน กฏเกณฑ์ และองค์กรต่างๆ ถึงแม้จะสำคัญ ก็จะต้องประเมินในกรอบของ นยายะ ที่กว้างกว่าและครอบคลุมกว่า ซึ่งเชื่อมโยงกับโลกที่ปรากฏจริง ไม่ใช่แต่เพียงสถาบันหรือกฏเกณฑ์ที่เรามีเท่านั้น
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้คือ นักทฤษฎีกฎหมายในอินเดียโบราณกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า มัสยานยายะ อย่างดูแคลนความยุติธรรมในโลกของปลาหมายถึงสถานการณ์ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กได้อย่างอิสระเสรี พวกเขาเตือนว่าการหลีกเลี่ยง มัสยานยายะ จะต้องเป็นส่วนสำคัญของความยุติธรรม และเราต้องป้องกันไม่ให้ความยุติธรรมของปลามาบุกรุกโลกของมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักคือ การบรรลุถึงความยุติธรรมในแง่ของ นยายะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตัดสินคุณภาพของสถาบันหรือกฏเกณฑ์เท่านั้น แต่ต้องตัดสินสังคมด้วย ไม่ว่าองค์กรที่ก่อตั้งจะมีระเบียบเรียบร้อยเพียงใด ถ้าปลาใหญ่ยังสามารถกินปลาเล็กตามอำเภอใจ สถานการณ์นี้ก็ต้องนับว่าเป็นการละเมิดความยุติธรรมแบบ นยายะ อย่างชัดแจ้ง
มุมมองที่เน้นผลลัพธ์เป็นหลักช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้นว่า เหตุใดการป้องกันความอยุติธรรมที่ร้ายแรงในโลกจึงสำคัญ แทนที่จะแสวงหาความยุติธรรมสมบูรณ์แบบตัวอย่างของ มัสยานยายะ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของความยุติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของการพยายามบรรลุ หรือฝันว่าจะบรรลุ สังคมหรือระเบียบสังคมที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบ แต่เป็นเรื่องของการป้องกันมิให้เกิดความอยุติธรรมที่ร้ายแรงชัดเจน (อย่างเช่นการป้องกันไม่ให้เกิด มัสยานยายะ) ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ผู้คนเรียกร้องให้เลิกทาสในศตวรรษที่ 18 และ 19 พวกเขาไม่ได้หลอกตัวเองว่าการเลิกทาสจะทำให้โลกนี้ยุติธรรมสมบูรณ์แบบ หากแต่พวกเขาเรียกร้องว่า สังคมที่มีทาสนั้นเป็นสังคมที่ไร้ความยุติธรรมโดยสิ้นเชิง การตัดสินว่าการค้าทาสคือความอยุติธรรมที่รับไม่ได้ คือสิ่งที่ทำให้การเลิกทาสเป็นวาระเร่งด่วน ไม่ต้องอาศัยการแสวงหามติมหาชนว่าสังคมที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบนั้นมีหน้าตาอย่างไร ใครก็ตามที่คิดอย่างมีเหตุมีผลว่าสงครามกลางเมืองในอเมริกาซึ่งนำไปสู่การเลิกทาสนั้นเป็นก้าวที่สำคัญของความยุติธรรมในอเมริกา จะต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ทฤษฎีพันธะสัญญาทางสังคมเก่าแก่บอกอะไรแทบไม่ได้เลยว่า การเลิกทาสส่งเสริมความยุติธรรมอย่างไร เราต้องใช้วิถีเชิงเปรียบเทียบที่สามารถระบุประโยชน์ของการกำจัดความอยุติธรรมอะไรสักอย่าง ถึงแม้ว่าโลกหลังการกำจัดนั้นจะยังไม่ใช่โลกที่ยุติธรรมสมบูรณ์แบบแต่อย่างใด
การเปลี่ยนจุดสนใจจากการแสวงหาสถาบันที่ยุติธรรม ไปสู่การมุ่งกำจัดความอยุติธรรม จะมีผลพวงอย่างไรต่อชีวิตที่ผู้คนดำเนินไปจริงๆ? คำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือ เราจะเข้าใจความรุ่มรวยและแร้นแค้นของชีวิตมนุษย์ได้อย่างไร วิถีที่ผมพยายามใช้ตลอดมานั้นเน้นไปที่อิสรภาพที่ผู้คนมีจริงๆ ซึ่งก็เป็นทางหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจกับวิถีที่มีชีวิตเป็นศูนย์กลางซึ่งโดยรวมอยู่ในจารีตวิธีคิดของพระพุทธเจ้า วิถีนี้แตกต่างจากวิถีอื่นๆ อีกมากมายที่มองความยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น บางวิถี มองหาการบรรลุซึ่งสิทธิอย่างเป็นทางการของผู้คน โดยไม่ดูว่าพวกเขาสามารถใช้สิทธิเหล่านั้นได้หรือไม่ (ดังที่นักคิดสำนักลิเบอทาเรียนเชิงสถาบันชอบทำ) สิทธิเหล่านี้หลายประการมีบทบาทที่สำคัญมากในการรองรับชีวิตทางสังคมที่ยั่งยืน แต่การแสวงหาความยุติธรรมจะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ มันเรียกร้องให้รัฐและสังคมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพื่อทำให้อิสรภาพแกน (substantive freedoms) ของปัจเจก กลายเป็นวาระหลักของสังคม
วิถีที่ตั้งอยู่บนอิสรภาพแกนจะต้องยืนกรานว่า เราต้องพินิจพิเคราะห์และประเมินลักษณะต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ และส่วนผสมของลักษณะต่างๆ ที่คนทุกคนจะมีโอกาสได้ใคร่ครวญและเลือกทำ แน่นอนว่าการทำแบบนี้จะนำเราออกนอกขอบเขตของสิทธิทางการที่ปรัชญาลิเบอทาเรียนให้ความสำคัญ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ามอบอิสรภาพในฐานะใบอนุญาตไม่ใช่อิสรภาพในฐานะตัวช่วยยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นบริการสุขภาพ จุดสนใจของลิเบอทาเรียนว่าเราถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพอาจเป็นเรื่องสำคัญในบางบริบท แต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือ ความจำเป็นที่สังคมและรัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อและใช้บริการได้จริง
ถ้าหากวิถีที่มีชีวิตเป็นศูนย์กลาง วิถีที่ตั้งอยู่บนอิสรภาพ จะต้องนำเราออกไปไกลจากขอบเขตของอิสรภาพในฐานะใบอนุญาต มันก็จะต้องนำเราออกไปไกลกว่าสิทธิที่คนอาจมีในหลักการ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้โดยง่าย ดังนั้น ผลพวงประการหนึ่งของวิถีนี้คือ เน้นจุดสนใจไปที่ประเด็นว่า คนทำอะไรได้จริง ใช้บริการสุขภาพอะไรได้จริง โดยไม่เกี่ยงสถานที่ (ชนบทและในเมือง) ชนชั้น (คนจนและคนรวย) เพศ (ผู้หญิงและผู้ชาย) และปัจจัยอื่นๆ การกำหนดสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียวไม่พอ เราจะต้องดูด้วยว่าใครกำลังได้รับบริการสุขภาพชนิดใด เปรียบเทียบกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ และดูว่ารัฐและสังคมส่งมอบบริการได้ดีเพียงใด
แน่นอนว่าประเด็นนี้นำเรามาสู่เสียงเรียกร้องแห่งความครอบคลุม ระบบสุขภาพของไทยมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่ามุ่งไปทางนั้น ผมไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบของไทยดีพอที่จะมีข้อคิดเห็นว่าระบบสนับสนุนของรัฐและสังคมมีความครอบคลุมระดับที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรมของการกีดกันที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่เพียงใด แต่แน่นอนว่านี่เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ
จุดสนใจประการที่สามคือกลไกการส่งมอบบริการสุขภาพและความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับบทบาทต่างๆ ประเทศที่คนรวยแตกต่างจากคนจนอย่างมาก ดังที่เราเห็นในประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งประเทศของผมคืออินเดีย หรือประเทศไทย จะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดเวลา คนรวยกำลังทำพอหรือเปล่า เมื่อคำนึงถึงอำนาจและความสามารถของพวกเขา เปรียบเทียบกับสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดเพื่อกำจัดความอยุติธรรมที่มองเห็นในระบบสุขภาพส่วนใหญ่? ผมถามคำถามนี้แทนที่จะตอบ เพราะผมไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่ผมสนใจคำตอบนี้ รวมถึงประเด็นที่ว่า ข้อบกพร่องในแง่นี้จะได้รับการจัดการและแก้ไขอย่างไร
ผมได้ยกคำถามบางคำถามในวันนี้ แต่การศึกษาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมที่ผมนำเสนอมีนัยยะอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็จะเชื้อเชิญคำถามอื่นๆ ตามมา ข้อจำกัดของเวลาทำให้ผมไม่มีโอกาสที่จะลงลึกในประเด็นนี้ แต่ผมหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นวิวาทะต่อเนื่องที่เราทุกคนสามารถคุยกันได้ในอนาคต ผมคิดว่าความทุ่มเทขั้นพื้นฐานคือการใช้การอภิปรายสาธารณะเพื่อบรรลุความยุติธรรม จากมุมมองที่ มีชีวิตเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุม และ รับผิดชอบอย่างกว้างขวาง
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้มากล่าวปาฐกถาต่อสาธารณชนที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผมอยากจบด้วยการเน้นความสำคัญของการอภิปรายสาธารณะในลักษณะนี้ เมื่อวานผมรู้สึกประทับใจมากที่ได้ร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่ผมพยายามนำเสนอในหนังสือ แนวคิดเรื่องความยุติธรรม คือความสำคัญของการอภิปรายสาธารณะในการส่งเสริมความยุติธรรม แม้แต่แนวคิดเรื่องภววิสัยในปรัชญาการเมืองยังเกี่ยวกับความสามารถของความคิดหรือกลยุทธ์ที่ถูกนำเสนอ ที่จะรอดพ้นจากการอภิปรายสาธารณะ เนื่องจากการเผชิญหน้ากันในที่สาธารณะคือหัวใจสำคัญของการก้าวข้ามอัตตวิสัยที่คนมักจะตกอยู่ใต้อิทธิพล ซึ่งเกี่ยวพันกับชนชั้น เพศ สถานที่ และปัจจัยอื่นที่แบ่งแยกสังคม
ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างสูงที่มีโอกาสมากล่าวปาฐกถาในวันนี้ ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ และขอจบด้วยการแสดงความขอบคุณครับ