ระบบเศรษฐกิจที่รับใช้ทุกคนอย่างเสมอหน้า
วิกฤตการเงินโลกได้เปิดโอกาสสำหรับผู้หญิงไหม? IMOW (International Museum of Women) นำเสนอจินตนาการและประสบการณ์อันหลากหลายของผู้หญิง เพื่อตอบคำถามว่า วิกฤตได้บ่มเพาะโอกาสหรือไม่?
ขลิบสีเงินบนขอบเมฆ ในระหว่างพายุกระหน่ำของวิกฤตการเงินทั่วโลก คือ มันได้ช่วยเปิดโปงจุดบกพร่องในระบบเศรษฐกิจของเรา และได้ช่วยเปิดโอกาสบ้างสำหรับการเปลี่ยนแปลง ในสถานที่ต่างๆ เช่น บังคลาเทศ บาร์บาโดส โบลิเวีย กัมปาลา และมานิลา วาระเศรษฐกิจใหม่ๆ กำลังงอกเงยและเริ่มแข็งแรงขึ้น--วาระที่จะแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ และส่งเสริมให้พวกเธอได้มีส่วนร่วมและใช้ความสามารถของพวกเธอ IMOW หวังว่า ผู้อ่านและผู้ฟัง จะสามารถถอดรหัส เรียนรู้จากบทความที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์และภูมิปัญญา ตั้งคำถามคำใหญ่ และช่วยพวกเราจินตนาการอนาคตที่สว่างสดใสและมีความเสมอภาคกว่าปัจจุบัน
An Economy That Works for Everyone
มาซุม โมมายา เป็นนักสิทธิสตรีนานกว่า 15 ปี ได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์ของเธอในฐานะนักวิจัย นักการศึกษา และนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มารวบรวมและสร้าง Economica และ Women, Power and Politics นอกเหนือจากงานของเธอที่ทำกับ IMOW มาซุม เขียนคอลัมน์รายสัปดาห์สำหรับ สมาคมเพื่อสิทธิสตรีในการพัฒนา (Association for Women's Rights in Development, AWID) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรในชุมชนสื่อสตรีนิยม และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้เป็นกรรมการของมูลนิธิคลื่นระลอกที่สาม (Third Wave Foundation) มาซุมได้อุทิศตัวเพื่อนำทฤษฎีและปฏิบัติให้มาเจอกัน ในรูปแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาซุม ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมจาก Stanford University สาขานโยบายสาธารณะและสตรีนิยมศึกษา และปริญญาโทสาขาครุศาสตร์ และปริญญาเอกสาขาการพัฒนามนุษย์ ทั้งสองปริญญาจาก Harvard University
ข้อเท็จจริงสำคัญ
- ผู้หญิงทำงานคิดเป็น 2/3 ของจำนวนชั่วโมงทั่วโลก แต่ได้รับค่าชดเชยเพียง 10% ของรายได้ของโลก
- ผู้หญิงรับผิดชอบในการผลิตอาหารถึง 60-80% ของอาหารโลก แต่ครอบครองเพียง 10% ของความมั่งคั่งในโลก และ 1% ของที่ดินในโลก
- ทั่วโลก กว่า 60% ของประชาชน ทำงานในกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นผู้หญิง
- หากรวมมูลค่าของผู้หญิงในการทำงานบ้านและงานเกษตรที่ไม่ได้รับค่าจ้าง จะทำให้ GNP ของโลกเพิ่มขึ้น 1/3
- ในประเทศเช่น ออสเตรีย แคนาดา ไทย และสหรัฐฯ กว่า 30% ของธุรกิจทั้งหมดมีเจ้าของหรือผู้ประกอบการเป็นผู้หญิง ไทยติดอันดับต้นๆ ด้วยอัตราส่วนที่น่าประทับใจถึง 40%
- ตามสถิติปี 2006 53% ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นผู้หญิง แม้ข้อเท็จจริงระบุว่า เด็กหญิงมีเพียง 47% ของนักเรียนระดับประถมและมัธยม ถึงอย่างไร ในภูมิภาคเช่น Sub-Saharan Africa และ เอเชียใต้ ผู้หญิงมีน้อยกว่า 35% ในระดับอุดมศึกษา และ 44% ในระดับประถมและมัธยม
การหลอมละลายของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ได้ทำให้เกิดชุดวิเคราะห์อธิบายว่าเกิดอะไรผิดพลาด และบัญชีข้อเสนอแนะยืดยาวว่า จะซ่อมแซมวิกฤต และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีกอย่างไร ในหลายเดือนที่ผ่านมา นักวางนโยบาย นักข่าว และนักสิทธิสตรี ได้เริ่มต้นชูว่า ผู้หญิงเป็นทางออก “หลัก” โดยอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้หญิงเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก เป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยงานที่ได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง และเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น มีสถิติเพิ่มมากขึ้น ที่ส่งเสียงให้ลงทุนมากขึ้นในผู้หญิง ว่าจะแก้ปัญหาวิกฤตปัจจุบันและบรรลุเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว
มีบางส่วน รวมทั้ง IMOW ที่ขอโต้แย้ง ในด้านหนึ่ง ผู้หญิงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันของโลก ทั่วโลก ผู้หญิงปรับงบดุลในครัวเรือน และในบางกรณี ทำปรับงบดุลของทั้งประเทศและบริษัท บ่อยครั้งพวกเธอจะต้องหาวิธีที่จะยืดทรัพยากรที่มีจำกัดให้ครอบคลุมความจำเป็นของทุกคนที่อยู่ในอาณัติการดูแลรับผิดชอบของพวกเธอ ผู้หญิงได้มองเห็นและได้พยายามหาทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่รออยู่ ด้วยการอุดช่องว่างและจุดบกพร่องในความมั่งคั่ง ด้วยการสร้างกิจการขนาดใหญ่และเล็ก และเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น ชาติ และโลก
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงที่อยู่ใน 70% ของประชากรผู้ยากไร้ในโลก ขาดแคลนทรัพยากรและขาดผู้แทนในการดูแลผลประโยชน์ของพวกเธอ เนื่องจากสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ การกีดกันเลือกปฏิบัติ และการย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำ ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นก็กลายเป็นหัวหน้าของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลก ยังคงต้องทำงานหลายกะ เป็นเวลาหลายชั่วโมงทั้งในและนอกบ้าน ถึงกระนั้น พวกเธอก็ยังหาเงินไม่ทันกับการขึ้นราคาของอาหารและค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียนและค่ายาที่แพงลิบ—สำหรับตัวพวกเธอเอง คือ การศึกษา ดูแลสุขภาพ และการฝึกทักษะเพื่อการจ้างงาน เพียงนิดเดียว
ในหลายทาง วิกฤตการเงินปัจจุบัน เป็นเสมือนหน้าต่างของโอกาสเพื่อแก้ข้อท้าทายเหล่านี้และส่งเสริมทักษะของผู้หญิง การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม—เช่น เงินกู้ โรงเรียน คลีนิคสุขภาพ โครงการฝึกทักษะ และมาตรการทางสังคมป้องกันให้พ้นจากความรุนแรงและการเอารัดเอาเปรียบ—จะช่วยให่เคลื่อนไปได้ไกลขึ้นสู่การลดความยากจน และช่วยเหลือครอบครัว การลงทุนในผู้หญิง แน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่ดี
ในขณะเดียวกัน เราต้องคิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรายละเอียด—ข้อจำกัดของแนวทาง ที่มีแต่ลงทุน เช่น การมีส่วนนร่วมเชิงเศรษฐกิจ เป็นอย่างเดียวกับการเสริมอำนาจ (empowerment) แก่ผู้หญิงหรือไม่? การทำให้ผู้หญิงทำงาน ผลิตให้แก่เศรษฐกิจได้เต็มที่และมากขึ้น จะเป็นการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือเป็นการเพิ่มภาระใหม่? เราจะสามารถยกสถานภาพของผู้หญิงได้โดยปราศจากการแตะต้องวิถีปฏิบัติเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ กำหนดคำนิยามใหม่แก่บทบาทหญิงชาย และแปรเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ (gender roles and transforming economic systems) ได้ไหม?
วิกฤตปัจจุบัน ได้ตั้งคำถามที่ใหญ่กว่า และถึงลึกกว่าในระดับพื้นฐาน ที่เราจะเพิกเฉยไม่ได้ เศรษฐกิจแบบไหนที่เราต้องการ และมันควรตอบสนองวัตถุประสงค์แบบไหน? การเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงเป็นเป้าหมายในหรือของตัวเอง หรือเป็นมรรควิถีสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น สร้างโลกที่ทุกๆ คน ทั้งชายและหญิง มีโอกาสเท่าเทียมกันในการหาเลี้ยงตนเองและมีส่วนช่วยอุทิศให้ส่วนรวมดีขึ้น?
สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ค่อยๆ สะสมมานานแล้ว ก่อนหน้าที่ธนาคารและบริษัทประกันภัยในประเทศอุตสาหกรรม ร้องขอให้ช่วยดึงพวกเขาออกจากการล้มละลาย ผู้หญิงได้ช่วยกู้รัฐบาลจากการตัดงบสังคม เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้หญิงได้สร้างหลักประกันในรูปแบบของพวกเธอเองด้วยการทำงานหนักในจำนวนชั่วโมงอันยาวนาน ทำงานพิเศษเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มรายได้ สละเวลาพักผ่อนหรือหาความบันเทิง และอดทนต่อความเครียด ผลคือ สุขภาพเสื่อมและเป็นโรค ผู้หญิงเติมเต็มตำแหน่งในโรงงาน และแนวแถวในไร่นา ด้วยการกระทำเช่นนี้ ผู้หญิงได้อนุญาตให้ประเทศและบรรษัทส่งออกและทำการค้า และพวกเธอได้ช่วยดันให้จีดีพีสูงขึ้น และบริษัทได้กำไรสูงขึ้น--โดยที่พวกเธอไม่เห็นผลหรือส่วนได้ที่มีนัยสำคัญสำหรับตัวพวกเธอเอง
ในขณะที่ทางออกบางอย่าง เช่น โครงการกองทุนหมุนเวียน (microfinance programs) ได้ช่วยให้ผู้หญิงมีทางเลือกแทนที่ความยากจนและงานที่ขูดรีด ก็ยังเป็นความจริงที่ว่า ผู้หญิงครอบครองและควบคุมทรัพย์สิน/ความมั่งคั่งของโลกในสัดส่วนน้อยมาก ความไม่เท่าเทียมที่สะสมมานาน และปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง ทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในชีวิตของพวกเธอเกิดขึ้นได้ยาก
ยกตัวอย่าง Alice Amsden, ศาสตราจารย์ Political Economy ที่ Massachusetts Institute of Technology ชี้ให้เห็นว่า “ในสถานการณ์ของการตกงานมหาศาล และการมีกิจการขนาดย่อมจำนวนมาก ... การศึกษาสำหรับผู้หญิงจะนำไปสู่การตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้กิจการครอบครัวยากเข็ญลง หรือสมองไหล สิ่งที่ผู้หญิงพึงได้รับ คือ เพิ่มด้านอุปสงค์ (demand side) โดยรัฐบาล ในการสร้างอุตสาหกรรมและงานเหนือระดับยังชีพ”
พูดใหม่ คือ ลงทุนในผู้หญิง ไม่สามารถจะเพียงแค่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ จะต้องคำนึงถึงความจำเป็น ความต้องการ ความห่วงใยของผู้หญิงเอง รวมทั้งสร้างโอกาสที่แท้จริงและยั่งยืน ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ให้เงินเล็กน้อย หรือฝึกอบรมผู้หญิง จะไม่สามารถขยับเขยื้อนระบบซึ่งโดยพื้นฐาน มีความไม่สมดุลและไม่เท่าเทียม
ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงในโลก มีจำนวนน้อยเกินไปในตำแหน่งตัดสินใจ—เป็นกรรมการสภาหมู่บ้าน ผู้แทนภาครัฐจากการเลือกตั้ง หรือรัฐมนตรีของประเทศ หากปราศจากพื้นที่บนโต๊ะการตัดสินใจ ผู้หญิงทำได้เพียงน้อยนิดในการผลักดันการจัดสรรและการกระจายทรัพยากรในสังคมของพวกเธอ และสร้างหลักประกันว่าจะมีความเท่าเทียมกัน
เป้าหมายของการสร้าง นิทรรศการ Economica คือ ให้เป็นหน้าต่างโชว์ประสบการณ์หลากหลายของผู้หญิงรวมทั้งทักษะความสามารถพิเศษของพวกเธอ แสดงให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นในมุมต่างๆ ทั่วโลก ทำไม และสามารถทำอะไรเพื่อให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น เราต้องการจะยอมรับว่า ผู้หญิงเป็นตัวจักรที่ทรงพลังสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องการช่วยให้ผู้มาเยี่ยมเรา ดำลึกลงไปใต้คำศัพท์เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ค้นพบเหตุและผลในระดับลึก และวิเคราะห์เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลง จากเรื่องราวของผู้หญิง เราตั้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป และเราเสนอทางเลือกจากผู้ที่ทำงานในระดับท้องถิ่น และระดับโลก ไม่เพียงแต่เพื่อเสริมอำนาจให้ผู้หญิง แต่ยังพลิกแปรระบบเศรษฐกิจด้วย
ผู้หญิงเตือนให้พวกเรารำลึกถึงรากเหง้าทั้งเชิงภาษาและแนวคิดของเศรษฐกิจ คำว่า เศรษฐกิจ ในภาษาอังกฤษ "economy" มาจากรากภาษากรีก oikos ซึ่งแปลว่า บ้าน คำที่งอกมาเป็น okonomia หมายถึงภารกิจของการจัดการบ้านในทางที่ ประหยัด รอบคอบ เท่าเทียม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย ด้วยคำถามและวิสัยทัศน์ทางเลือก ผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าของเสียงที่เราแบ่งปันกันใน Economica เป็นการเตือนพวกเราว่า การแก้ไขวิกฤตปัจจุบัน ไม่ใช่แค่การกู้คืนระบบตลาดและการคลังของชาติ แต่เป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ประหยัด รอบคอบ เท่าเทียม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน นั่นหมายถึง การนับรวมผู้หญิงว่ามีส่วนอุทิศ และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจินตนาการและสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก
[http://imow.org/economica/stories/viewStory?storyId=5230] 10-17-10