วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ ครอบงำสื่อ และทำให้โลกอยู่ไม่รอด

แม๊กกาซีน The Economist ผิด
The Economist Is Wrong
Francisco Roberto Caporal (caporalfr@gmail.com), Farming Matters, December 2010, p. 23

สองสามเดือนก่อน แม๊กกาซีน The Economist ได้ตีพิมพ์บทความยืดยาว สรรเสริญเกษตรกรรมของบราซิล  ส่งผลให้ปะทุความรู้สึกรักชาติ และเพื่อนร่วมงานหลายคนก็แสดงออกถึงความรู้สึกภาคภูมิใจใน ความสำเร็จ ของประเทศของเรา   แต่เจ้าโมเดลที่ The Economist ได้ยกยอปอปั้นอย่างแสนเอื้อเฟื้อนั้น แท้จริงมันสำเร็จจริงแค่ไหน?   ถ้ามองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นว่า เจ้าบทความนี้ ดูเหมือนจะถูก ปลูกถ่ายโดยพวกที่ต้องการจะสร้างภาพเลิศหรูแก่เกษตรพาณิชย์ในประเทศของผม และกดทับบดบัง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากโมเดลเกษตรกรรมนี้

แม๊กกาซีนนี้บอกว่า การขยายตัวของเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในบารซิลในทศวรรษที่ผ่าน ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กว่า   ความจริงคือ ประวัติศาสตร์ของเกษตรพาณิชย์ของบราซิล เต็มไปด้วยกระบวนการต่อรองและการให้อภัยหนี้   ข้อมูลทางการที่ The Economist ไม่ได้พูดถึง แสดงให้เห็นว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้ชำระหนี้ที่แท้จริง   ตัวเลขที่ขาดหายไปเช่นกัน คือ สถิติสำรวจการเกษตรล่าสุด ที่ออกมาในเดือนกันยายน 2009 ที่แสดงว่า เกษตรกรรมครอบครัว (family farms) ที่อาศัยบนพื้นที่เพียง 26% ของที่ดินทั้งหมด สามารถผลิตได้ถึง 60-70% ของอาหารที่ชาวบราซิลทั้งหมดบริโภคได้อย่างไร  และยังสร้างงาน 8 ใน 10 ของตำแหน่งงานในชนบทอย่างไร    แล้วบทความนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างโมเดลยอดสรรเสริญนี้ กับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำ

ที่น่าตกใจพอๆ กัน ที่ได้อ่านพบว่า ประเทศอื่นได้รับคำแนะนำให้ทำตามตัวอย่างของบราซิล   แต่ประเภทเกษตรกรรมที่แม๊กกาซีนนี้ยกย่องอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้ผลิตอาหาร แต่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก (ถั่วเหลือง น้ำส้ม น้ำตาล กาแฟ) ส่วนมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในประเทศที่เน้นผลิตปศุสัตว์   นี่เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องแล้วหรือ สำหรับประเทศที่หวังจะลดความอดอยากหิวโหย?  ประเทศเหล่านี้ ควรได้รับแจ้งด้วยว่า บราซิลต้องนำเข้าปุ๋ยถึง 2 ใน 3 ที่ต้องใช้ในประเทศ หรือ บราซิลได้กลายเป็นประเทศที่บริโภคยาฆ่าแมลงรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่มีคำมั่นสัญญาจากการใช้พืชพันธุ์ จีเอ็ม (GM ตัดแต่งทางพันธุกรรม) ว่าจะช่วยลดการพึ่งใช้สารเคมีเกษตร

แม๊กกาซีนฉบับนั้น ยังเรียกผู้คนที่สนับสนุนระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก และกรรมวิธีปลูกแบบอินทรีย์ ว่าเป็น พวกมองโลกเกษตรกรรมในแง่ร้าย (“agro-pessimists”)   นี่เป็นร่องรอยอีกอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บทความนี้ถูก ปลูกถ่าย  เพราะมันไม่น่าเชื่อว่า The Economist จะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับระดับการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือเกี่ยวกับบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของเกษตรกรรมครอบครัวในการผลิตอาหารทั่วโลก   การตีตราประชาชนที่รณรงค์เพื่อระบบการผลิตอาหารที่สมบูรณ์แข็งแรง  ที่ไม่ต้องทิ้งผลตกค้างที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม  ที่มีการกระจายความมั่งคั่งที่ดีกว่า หรือที่สร้างโอกาสการจ้างงานมากขึ้น เหล่านี้ว่าเป็น ผู้มองโลกเกษตรในแง่ร้าย แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ที่บิดเบือนอย่างลึกล้ำ อันเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับ The Economist
Dt/12-28-10

เครือข่ายเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของเกษตรกรรายเล็กและตลาดยุคโลกภิวัตน์


เราต้องการท้าทายบางส่วนของการอภิปรายเรื่องผู้ประกอบการรายเล็กและตลาด
บิล วอร์ลีย์  ผู้ประสานงาน โปรแกมความรู้เรื่องผู้ผลิตรายเล็กผู้กำหนดวิถีตนเองในตลาดโลกาภิวัตน์  แห่งสถาบันนานาชาติสำหรับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (IIED)

“We want to challenge parts of the discussion around smallholders and markets”
Anna Barnett interviews Bill Vorley (bill.vorley@iied.org), Int’l Inst. For Environment and Development (IIED), coordinating a new Knowledge Programme on Small Producer Agency in the Globalized Market
Farming Matters, December 2010, pp.26-27

เกษตรกรรายเล็กกำลังถูกชักนำให้ก้าวเข้าสู่ตลาดนานาชาติโดยอ้างว่า จะเป็นหนทางก้าวออกจากความยากจน และพวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องป้องกันผลประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งตัดสินใจเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ 

เหตุใดคุณถึงเริ่มโปรแกมใหม่เกี่ยวกับเกษตรกรรายเล็ก?  โปรแกมนี้จะตอบสนองประเด็นอะไร?
ตอนนี้ ความคาดหวังต่างๆ ได้พากันมาสุมวางอยู่ที่หน้าประตูของเกษตรกรราบเล็ก  พวกเขาถูกคาดหมายว่าจะต้องผลิจอาหารให้เพียงพอเพื่อธำรงความมั่นคงของอาหาร  พวกเขาถูกคาดหวังให้เป็นหัวจักรฉุดชนบทให้ออกพ้นจากความยากจน  พวกเขาถูกคาดหวังให้ปกปักและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนไป  และพวกเขาก็ถูกคาดหวังให้รวมตัวกันเป็นรูปองค์กรในระบบตลาดในระดับภูมิภาคและระดับโลก    ด้วยการสร้างวาระเหล่านี้ในโลกของผู้ให้ทุนและเอ็นจีโอนานาชาติ  เราเสี่ยงต่อการทำผิดแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วกับการแทรกแซงการพัฒนามากมายที่ผ่านมา กระทำต่อคนยากจนและผู้ผลิตรายเล็กประหนึ่ง พวกเขาเป็นเพียงเป้าหมายรับประโยชน์แบบงอมืองอเท้า รอรับจากสิ่งที่กำหนดโดยคนข้างนอกเท่านั้น  แทนที่จะเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง (agents) ในการพัฒนาและเป็นตัวละครเชิงเศรษฐกิจที่มีสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเอง   วัตถุประสงค์ของโปรแกมความรู้นี้ คือ เปลี่ยนแนวปฏิบัติการเช่นนี้

ที่คุณบอกว่าเกษตรกรรายเล็กเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเองในการพัฒนานั้น คุณหมายความว่าอย่างไร?
เราให้คำนิยามคำว่า ผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง (agency) ว่า เป็นสมรรถนะของผู้ผลิตรายเล็กในการตัดสินใจเลือกหนทางอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะส่งเสริมความสนในหรือประโยชน์ของพวกเขา และสามารถปฏิบัติได้ในทางที่ตนเลือก
            ไม่มีที่ไหนที่ต้องการสมรรถนะดังกล่าว มากไปกว่าในตลาด มีคำสัญญามากมายข้างนอกโน่น เกี่ยวกับความสามารถของตลาดที่จะ ทำงานเพื่อคนยากจน   ในโลกส่วนใหญ่ โลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนวิธีการทำงานของตลาด ซึ่งเผยให้ผู้ผลิตรายเล็กต้องเผชิญหน้ากับทั้งความเสี่ยงและโอกาส   ราคาอาหารจะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุปสงค์เพิ่ม  การแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ  การค้าเก็งกำไร    มีเอ็นจีโอในชนบทที่เที่ยวบอกชาวไร่ชาวนาว่า คุณจะต้องเพิ่มความหลากหลายของพืชพันธุ์ จะต้องปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง จะต้องรวมตัวกันเป็นสหกรณ์    แล้วก็มีบริษัทที่ออกไปเป็นแมวมอง สอดส่องหาแหล่งผลผลิตใหม่ๆ    แล้วก็มีตลาดใหม่ๆ ที่ทำตัวเป็นอุปกรณ์ในการจ่าย ผู้ใช้ที่ดิน เพื่อให้พวกเขาจัดการคาร์บอนในพื้นดินของพวกเขา และจัดการกับความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นาของตน
            ดังนั้น ผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง คือ ความรู้และทักษะที่จะค้นหาวิถีของตัวคุณเองโดยก้าวสู่หนทางของการเสี่ยงและโอกาสรวมทั้งการร่วมกำหนดกติกาที่ปกครองพวกเขาด้วย

แล้วโปรแกมความรู้นี้ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร?
            เราได้ก่อตั้งเครือข่ายสากลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เราได้ร่วมทำงาน สนับสนุน และชี้นำผู้ผลิตรายเล็ก   ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่รวมถึงผู้นำชาวไร่ชาวนา พ่อค้าแม่ขาย และนักธุรกิจ ตรงนั้น มีอดีตผู้อำนวยการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของอินเดีย และตรงนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาภาคพื้นอาฟริกา เหล่านี้เป็นต้น  เครือข่ายการเรียนรู้นี้กำลังดำเนินโปรแกมการวิจัยและรณรงค์  สะท้อนเสียงใหม่ๆ และการวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่กุมชะตาชีวิตตนเอง (smallholder agency) และมีส่วนร่วมในการอภิปรายของโลก   เป้าประสงค์ คือ ค้นหาชิ้นส่วนใหม่ๆ ของแผงเกมภาพต่อ เช่น ข้อตกลงการค้าในภูมิภาค  การจัดตัวที่จะเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้ผลิตรายเล็กในห่วงโซ่อุปทาน  และวิธีการที่ตลาดนอกระบบจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

คุณกำลังพูดถึงการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงที่คืบขยายอย่างมหึมาในโลก  คุณจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มีขนาดต่างกันอย่างมหาศาลเช่นนี้อย่างไร?
            ทั่วโลกมีชาวไร่ชาวนารายเล็กอยู่ประมาณครึ่งพันล้านคน   ดังนั้น คงเป็นเรื่องขบขันที่จะพูดว่า เราจะเป็นเพียงองค์กรเดียวที่สนับสนุนผู้ผลิตรายเล็กให้ค้นหาทางเดินของพวกเขาในสถานกาณ์ที่ท้าทายอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้
            แต่โมเดลเครือข่ายการเรียนรู้ให้อะไรได้หลายอย่าง   โปรแกมนี้ในภาพรวม เป็นการร่วมมือระหว่างเครือข่ายการเรียนรู้นี้  IIED ในสหราชอาณาจักร และ HIVOS ในเนเธอร์แลนด์   โบลิเวียเป็นผู้นำในเครือข่ายนี้ โดยมีกลุ่มสมาชิกกระจายอยู่ในเปรู  นิคารากัว  เคนยา  อูกันดา  อินเดีย และอินโดนีเซีย   กลุ่มเหล่านี้ ต่างก็มีเครือข่ายในประเทศของตน   พวกเขามีรากที่ติดดิน  และภูมิปัญญาที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ก็สามารถจะแผ่ขยายไปทั่วเครือข่าย  มันไม่ค่อยจะเป็นการไหลจากบนสู่ล่าง หรือล่างสู่บน แต่เป็นการแบ่งปันเผยแพร่ แผ่ขยายตรงกลาง  การพัฒนานี้ได้ผ่านไป 18 เดือนแล้ว และภายในสิ้นปีหน้า ผมคิดว่า ภูมิปัญญาที่มีประโยชน์แท้จริง บางอย่างจะเกิดขึ้น

ในยุโรป คุณได้เริ่มการอภิปรายเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องใน รายการยั่วโมโห เกี่ยวกับเกษตรกรรมรายเล็ก  คุณมีจุดประสงค์อะไร?
            เราต่างตระหนักว่า นโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่ล้วนถูกกำหนดในสำนักงานใหญ่ของกระทรวงและบรรษัทธุรกิจ  ดังนั้น คุณก็จำเป็นที่จะต้องเขย่าต้นไม้ในยุโรปด้วย   นี่คือเหตุผลที่เราริเริ่มรายการ ยั่วโมโห โดยจี้ไปที่สมมติฐานใหญ่ๆ ในเรื่องตลาดและการผลิตขนาดเล็ก

ทำไม ยั่วโมโห?  คุณกำลังพยายามปลุกปั่นประชาชนหรือ?
            เราต้องการจะท้าทายการอภิปรายบางส่วนที่เกิดขึ้นในเรื่องผู้ประกอบการรายเล็กและตลาด ที่กำลังติดหล่มอยู่  เช่น วิธีการที่วงการพัฒนาได้สร้างภาพเส้นทางการพัฒนาที่ตรงกันข้าม  ป้ายเส้นทางหนึ่งบอกว่า บนพื้นฐานกรรมสิทธิ์ ส่วนอีกป้ายหนึ่งว่า บนพื้นฐานตลาด   หรือเส้นแบ่งแยกอยู่ที่ว่า วงการพัฒนามองดูผู้ประกอบการรายเล็กอย่างไร และมองดูคนงานในไร่นาอย่างไร   ในแต่ละตอนของ ยั่วโมโห เป็นการนำเสนอสาระยาว 3 ชั่วโมง ที่ท่องไปในเมืองต่างๆ ในยุโรป เผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตพากย์อังกฤษและสเปน รวมทั้งสื่อผ่านเว็บของ Farming Matters

เกษครกรรายเล็กจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ได้อย่างไร?
            ในประเทศที่เรามีสมาชิกเครือข่ายการเรียนรู้นี้ ผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถเข้าร่วมกับพวกเขาได้   และเราก็ส่งเสริมผู้ผลิตรายเล็กและองค์กรของพวกเขาอย่างจริงจัง รวมทั้งนักธุรกิจและนักวางนโยบาย ให้เชื่อมต่อกับโปรแกมของเราทางเว็บไซต์ที่ IIED และ HIVOS เพื่อช่วยให้เราสามารถนำมุมมองใหม่ๆ สู่เวทีการอภิปรายนี้ เกี่ยวกับผู้ประกอบการรายเล็กกับตลาด

dt/12-28-10

100 ปี สตรีสากล...คนงานหญิงเอเชียฉลองอะไร?

เบิกฤกษ์การเฉลิมฉลองหนึ่งศตวรรษของวันสตรีสากล
Launch of the celebration of 100 years of International Women’s Day

เมื่อวันที่ 10 ธค 2009 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญ CAW (Committee for Asian Women, มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง) ได้เปิดตัวการเริ่มต้นการฉลองครบรอบ  100 ปี ของวันสตรีสากล (International Women’s Day, IWD 100)  และได้ประกาศการจัดกิจกรรมตลอดหนึ่งปี เพื่อแสดงคารวะต่อการต่อสู้ของคนทำงานหญิงทั่วโลก   10 ธค ก็เป็นวันที่เครือข่ายคนทำงานบ้านสากล (International Domestic workers Network) กำหนดให้เป็น วันรณรงค์สากลสำหรับคนทำงานบ้าน (International Day of Action for Domestic Workers)

คนทำงานหญิงเกือบ 300 คน จากเกือบ 20 ประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา และยุโรป เข้าร่วมการประชุมสุดยอดคนงานหญิง 2009 รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มเครือข่ายของ CAW และกลุ่มคนงานหญิงไทย เช่น HomeNet Thailand, มูลนิธิผู้หญิง  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง  โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  กลุ่ม Solidarity สหภาพคนงาน Triumph  สหภาพมหานคร (Metropolitan Trade Union) และสหภาพกระเหรี่ยงย้ายถิ่น (Migrant Karen Trade Union)

ผู้เข้าร่วมสวมหมวกสีม่วง และผ้ากันเปื้อนสีชมพูเดินขบวนเป็นทิวแถวรอบตลาดห้วยขวาง ในขณะที่ตะโกนคำขวัญและเรียกร้องให้คนทำงานบ้านได้รับสิทธิและการคุ้มครองเท่าเทียมกัน   การรวมพลในที่สาธารณะเพื่อฉลองสองวาระซ้อนนี้ มีการกล่าวปาฐกถาโดยผู้ประสานงาน CAW และผู้แทนจาก ILO  จากนั้น ผู้แทนได้อ่านแถลงการ IWD 100 และ การสนับสนุนคนทำงานบ้าน   แถลงการณ์ทั้งสองได้ถูกนำเสนอต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  กระทรวงแรงงาน และ ILO
………
แถลงการณ์จากที่ประชุมสุดยอดของคนทำงานหญิง 2009
Statement of Women Workers Summit 2009
“Women Workers at the Front Line of Sustainable Solutions”
Statement of the First Women Workers Summit
9th-10th December 2009

พวกเรา  กว่า 100 ชีวิตในที่ประชุมครั้งที่หนึ่งของการประชุมสุดยอดของคนงานหญิงเอเชีย... จาก 20 ประเทศ  เป็นตัวแทนของขบวนการคนงานหญิงที่มาจากภาคการผลิตในโรงงาน  ในบ้านเรือน  เกษตรกรรม  สวนเกษตรพาณิชย์ คนทำงานบ้าน และคนงานย้ายถิ่น ชาวประมง ชาวไร่ชาวนา และองค์กรสนับสนุน ได้รวมตัวกัน เพื่อวิเคราะห์และเผชิญหน้ากับผลกระทบหลักจากวิกฤตการเงินโลกต่อชีวิตของพวกเรา   พวกเราแสวงหาจุดเชื่อมความเพียรพยายาม และรวบรวมพลังพี่สาวน้องสาวในการสร้างวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อให้บรรลุทางแก้ไขที่ยั่งยืน ต่อวิกฤตเงินทุนโลกที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยการสร้างขบวนการขับเคลื่อนแรงงานหญิงที่มีจิตสำนึกในเอเชีย

คนงานหญิงแบกภาระหลายชั้น และเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน เพราะประวัติศาสตร์ของการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกขูดรีด และกดขี่ในสังคมเอเชีย และส่วนอื่นๆ ของโลก  ในโลกของทุนนิยมเสรีใหม่ ความเหลื่อมล้ำนี้ปรากฏชัดเจนในบ้านและทื่ทำงาน  ทุกวันนี้ คนงานหญิงกำลังเผชิญหน้ากับห้วงเวลาแห้งความสับสนแปรปรวนในประวัติศาสตร์ของทุนนิยม   ลัทธิทุนนิยม ได้ประสบความล้มเหลวในการสร้างและส่งมอบความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ได้สัญญาไว้มาหลายทศวรรษ   ที่แย่กว่านั้น วิกฤตก็มาพร้อมกับการทำลายล้างพลังการผิต  แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของโลก  วัฒนธรรม และชุมชน  ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการแปรเปลี่ยนของภูมิอากาศ และวิกฤตอาหาร ยังผลเสียหายมหาศาล เช่น การบังคับให้ย้ายถิ่น ความยากจนสุดโต่ง และความอดอยาก  สำหรับคนงานหญิง วิกฤตการเงินโลกทุกวันนี้ มีรากเหง้าอยู่ในความโลภของระบบทุนนิยม ระบบปิตาธิปไตย นะบบจักรวรรดินิยม ระบบการล่าอาณานิคมยุคใหม่  ระบบคลั่งศาสนา และการแผ่แสนยานุภาพทางอาวุธยุทโธปกรณ์

70% ของคนงานยากจนเป็นผู้หญิง ซึ่งจะพบได้ในงานประเภทด้อยทักษะและไม่มั่นคง  คนงานหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในนิคมส่งออก เผชิญหน้ากับการสูญงานและสภาพการทำงานและอยู่อาศัยที่เสื่อมโทรม  และการถูกผลักไสเป็นจำนวนมากสู้งานนอกระบบที่เสี่ยงต่ออันตรายและไม่ปลอดภัย   การไม่มีว่าจ้างทำ  การขึ้นราคาของอาหารและเชื้อเพลิง การลดรายจ่ายของภาครัฐบาลในลริการสาธารณสุขและสังคม ล้วนทับถมลงมาที่แรงงานที่ไม่มีค่าจ้างของหญิงในบ้านและชุมชน  คนงานหญิงย้ายถิ่นในเอเชีย ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่งคั่งในประเทศเจ้าภาพ แต่ไม่ถูกวัดหรือนับรวม และได้มาจากการสูญเสียของครอบครัวและชุมชนของพวกเธอ  พวกเธอเป็นกลุ่มแรกที่จะสูญเสียงานทำในยามวิกฤต

ในด้านอาหารและเกษตรกรรม โลกาภิวัตน์ ได้เพิ่มความเข้มข้นของการขยายการผูกขาดของบรรษัทเหนือห่วงโซ่ทางอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการตลาด และการขูดรีดแรงงานของผู้หญิง  ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ  อันนำไปสู่การสูฯเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรสำคัญๆ เช่น ที่ดิน ป่า น้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล็ดพันธุ์ ที่เป็นพื้นที่ของผู้หญิง

รัฐบาลเอเชียตอบโต้วิกฤตด้วยชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ให้ลำดับความสำคัญต้นๆ แก่การวิดบรรษัทออกจากหล่มและยกเว้นภาษี  ทางแก้ไขเล่านี้ ไม่รวมผู้หญิงและชุมชน  มาตรการเหล่านี้ ไม่มีข้อไหนที่มุ่งแก้ที่รากเหง้าของปัญหาของวิกฤตทุนนิยมโลก และการจมลึกยิ่งขึ้นของความไม่เท่าเทียมเชิงสังคม-เศรษฐกิจและเจนเดอร์

พวกเราขอเรียกร้องให้ยกเครื่องระบบเศรษฐกิจที่มุ่งกอบโกยกำไร และเห็นชอบกับนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความเป็นธรรมทางสังคม และมีความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย  ทั้งนี้ รวมถึงการละเลิกการขึ้นตลาดต่างชาติ แต่เข้าข้างนโยบายอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศที่เหมาะสม และ ละเลิกนโยบายที่พึ่งพิง แรงงานเพื่อการส่งออก แต่เข้าข้างการจ้างแรงงานเต็มตัวในประเทศของตน

ดังนั้น พวกเราขอเรียกร้อง
-          การสร้างงาน และวิถีชีวิตที่ยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจเมืองและชนบท ที่มีการจ้างงานระยะยาวสำรับหญิงและชาย  การผลิตไม่ใช่กระตุ้นด้วยการค้ากำไร แต่ตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์
-          คุ้มครองสิทธิ์ที่จะได้ประกอบสัมมาชีพ การจัดรูปองค์กรของตนเอง การตัดสินใจแบบประชาธิปไตย และ การเสริมสร้างพลัง/ศักยภาพของผู้หญิง รวมทั้งการยกระดับทักษะ
-          ยอมรับว่าคนงานนอกระบบก็เป็นคนงานที่พึงได้รับการคุ้มครองสิทธิ์
-          เพิ่มการลงทุนสาธารณะในระบบสาธารณูปโภคทางสังคม เช่น การศึกษา สุขภาพ และการดูแลเด็ก  ยุติธุรกิจเอกชนและการพาณิชย์ด้านการบริการพื้นฐาน
-          ดำเนินการปฏิรูปที่ดินที่ครอบคลุมกว้างและลงทุนในเกษตรยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหารในที่ๆ ผู้หญิงเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ ผู้พัฒนาที่ดินและทรัพยากรการผลิตต่างๆ
-          ยุติสงครามและความขัดแย้งในเอเชีย และให้สร้างสันติที่แท้จริง ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างมีสาระของผู้หญิงในการสร้างสันติ
-          ขจัดการเลือกปฏิบัติเชิงเจนเดอร์ทุกๆ ประเภท

สุดท้าย ถึงเวลาของการรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีการแทรกแซงอย่างครั้งใหญ่จากตำแหน่งของพวกเราในขบวนการแรงงาน สหภาพ ประชาสังคม และขบวนการสตรี  พวกเราทั้งปวงล้วนร่วมอยู่ในการดิ้นรนที่เกี่ยวกับงานว่าจ้าง อาหาร น้ำ พลังงาน สงครามและความขัดแย้ง การแปรเปลี่ยนภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสิทธิทางประชาธิปไตย

ในฐานะที่เป็นคนงานหญิงที่ยืนอยู่แนวหน้าของการดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้  พวกเรากำลังเปิดประตู  สร้างแนวแบบอย่าง  พวกเรากำลังเขียนบทใหม่ในชีวิตของพวกเรา  พวกเรากำลังสร้างโลกที่มีความเป็นธรรมและมีมนุษยธรรม


แหล่ง  Asian Women Workers Newsletter, Vol.35, 2010 (Jan-Mar): pp.17-18, & 21-22
-แปลโดย ดรุณี 12-25-10

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ... เศรษฐกิจเพื่อชีวิตที่เป็นธรรม

จุดยืน: เจนเดอร์และนโยบายเศรษฐกิจ
Position Paper on Gender and Economic Policies
Naty Bernardina, ผู้ช่วยวิจัย
เครือข่ายอธิปไตยทางอาหารแห่งเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Network for Food Sovereignty)

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม (feminist economics) หรือ มุมมองเจนเดอร์ต่อระบบเศรษฐกิจ มีกรอบการวิเคราะห์ที่ใช้เจนเดอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสอบสวนและวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์  โดยมีสมมติฐานว่า มีการประนีประนอมสมยอมให้ความไม่สมดุลและอคติเชิงเจนเดอร์เกิดขึ้นได้ในกิจกรรมเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อผลพวงต่างๆ     เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ได้ให้คำจำกัดความแก่เศรษฐศาสตร์ใหม่ว่า เป็นสาขาวิชาที่คำนึงถึงการจัดหาปัจจัยต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ/ความจำเป็นของมนุษย์เป็นหลัก ด้วยการพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมต่อสิ่งที่ทั้งหญิงและชายได้ร่วมลง หรือเติมเต็มใน ขัน ของระบบเศรษฐกิจ ในรูปของกิจกรรมทั้งในระบบ และนอกระบบตลาด

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม พิจารณากิจกรรมการผลิตเชิงเศรษฐกิจในสองพื้นที่ (spheres) คือ การผลิต และการผลิตซ้ำทางสังคม   การผลิต เป็นกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ในขณะที่ การผลิตซ้ำทางสังคม หมายถึงการผลิตแรงงาน (สืบพันธุ์) ที่ส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้หญิงในฐานะที่เป็นหน้าที่เชิงเจนเดอร์ที่สังคมมอบหมายให้แก่ผู้หญิง   วงพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคม มักถูกเรียกว่าเป็น เศรษฐกิจเอื้ออาทร (Care Economy)   การจัดหาการดูแลเอื้ออาทร สามารถจะทำได้ผ่านระบบตลาด (ด้วยการจ่ายเงิน) หรือผ่านรัฐ (การส่งผ่านและประกันสังคม / transfers and social security) แต่ส่วนใหญ่จะกระทำผ่านกิจกรรมนอกระบบตลาด (งานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือชดเชย) ในครัวเรือนและในชุมชน

ระบบเศรษฐกิจเอื้ออาทร ขึ้นอยู่กับแรงงานของผู้หญิง--มักไม่มีค่าจ้างตอบแทนการทำงานดูแล   มันเป็นไปได้ที่จะซื้อการบริการเอื้ออาทรในระบบตลาด (การจ้างคนช่วยทำงานในบ้าน  บริการซักรีด ฯลฯ)  แต่ครัวเรือนที่ยากจนไม่มีทางจะซื้อบริการเหล่านี้ได้   ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะบกพร่องในหน้าที่การจัดหาบริการทางสังคมเหล่านี้ เนื่องจากมีความจำกัดในรายได้ของแผ่นดิน และแนวโน้มของการให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการที่จำเป็นเหล่านี้   ผลสุดท้าย ผู้หญิงกลายเป็นผู้ให้บริการดูแลเอื้ออาทรโดยอัตโนมัติ  กลายเป็นภาระหนักเชิงซ้อนที่ในที่สุด ได้จำกัดศักยภาพของพวกเธอในการเจริญเติบโตแบบองค์รวม และความสามารถในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมสังคมทั้งปวง

อคติเชิงเจนเดอร์ มักจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นสำหรับผู้หญิงในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ  เนื่องจากอคติที่เหมารวมว่า ชายเป็นช้างเท้าหน้าที่หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว  สังคมจึงให้ความคุ้มครองกับการจ้างงานของชายก่อน ดังเช่นกรณีในเกาหลีใต้ และอาร์เจนตินา  วิกฤตดังกล่าวมีผลกระทบต่องานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างชดเชย ย่อมหมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในงานเอื้ออาทรของหญิง   ราคาอาหารที่สูงขึ้น และการตัดงบสำหรับบริการสังคมของรัฐบาล เป็นการโยนภาระ ทำให้งานที่ไม่ได้เงินตอบแทนของผู้หญิงและเด็กหญิงเพิ่มปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ลดโอกาสการว่าจ้างที่มีรายได้   ในอินโดนีเซีย งานที่ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 7% สำหรับผู้หญิง  ส่วนของชายเพิ่มเพียง 1.3% เท่านั้น   การลดลงของรายได้ในครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงต้องใช้เวลามากขึ้นในการเหยียบเรือสองแคมระหว่างงานที่ไม่มีค่าจ้างในครัวเรือน กับงานที่มีรายได้ในเศรษฐกิจนอกระบบ

นักสตรีนิยมได้โต้ตอบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร?  สิ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีโมเดลเศรษฐกิจทางเลือก ที่ผันทิศทางของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน จากการกระตุ้นให้โกยกำไร สู่การจัดหาบริการทางสังคม  อันเป็นการฉีกแนวระดับพื้นฐานจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal policies)  เราควรจะส่งเสริมให้รัฐตีตัวออกห่างจากทิศทางการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ สู่นโยบายอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานของนโยบายการค้าและการลงทุน  จากการผลักให้เป็นเอกชนลงทุนเป็นธุรกิจเอื้ออาทร  ให้รัฐกลับมาทำหน้าที่จัดหาบริการสาธารณะที่ตอบสนองความจำเป็น/ต้องการของสังคม   ควรจะหวนกลับมาเน้นที่การเรียกร้องให้มีการกระจายความเสมอภาคในความมั่งคั่งและทรัพยากร เช่น การปฏิรูปที่ดิน

นโยบายกระตุ้นทางการเงินการคลัง ควรจะช่วยลดต้นทุนเชิงเจนเดอร์และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่นำไปสู่ความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย  การสร้างงานว่าจ้างสาธารณะ ควรให้ความสำคัญเท่าเทียมกันสำหรับงานผู้หญิงและงานผู้ชาย   การเน้นที่โครงการสร้างสาธารณูปโภคเชิงกายภาพ ว่าเป็นแหล่งของงานว่าจ้าง จะต้องให้น้ำหนักเท่าๆ กันในการลงทุนสาธารณูปโภคสังคม ในการศึกษา  สาธารณสุข การดูแลเด็ก และการบริการชุมชน (โปรแกมการส่งผ่านเงิน/cash transfer program) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมนุษย์   การกระตุ้นทางการเงินสามารถจะทำในระดับโลกด้วย เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน โดยผ่านระบบการประกันสังคม (social guarantee system) ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาโพ้นทะเล (overseas development assistance) ที่เพิ่มทั้งจำนวนและประสิทธิภาพ ตลอดจนการผ่อนปรนและระงับหนี้สิน   แหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการเงินระดับโลก สามารถจะระดมได้จากการสร้างกลไกภาษีในเส้นทางการดำเนินธุรกิจค้าสกุลเงินตราในโลก

หลายๆ รัฐบาลได้หันไปใช้วิธีการลดหย่อนภาษี ให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในชุดนโยบายการกระตุ้นการเงิน  แต่การลดหย่อนภาษีในยามวิกฤตแก่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีรายได้สูงมักจะทำให้สภาวะความเหลื่อมล้ำแย่ลง และไม่จำเป็นที่จะมีอานิสงค์ในการสร้างงานว่าจ้างขึ้น   ทางเลือกที่ดีกว่า น่าจะเป็นการปฏิรูปภาษีที่ลดผลกระทบถอยหลังของภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสินค้าที่มีความสำคัญต่องานของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมเชิงเจนเดอร์ในกลไกภาษี   รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อวิกฤตโดยการให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (small and medium enterprises) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เข้าถึงสินเชื่อสงเคราะห์ (subsidized credit)   ขบวนการสตรี และองค์กรภาคประชาสังคม จะต้องสามารถตรวจตรา ติดตาม การกระจายต้นทุนเชิงเจนเดอร์ ในระดับมหภาคและจุลภาค (โรงงาน ครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรม) และตรวจสอบติดตาม นโยบายตอบสนอง โดยพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายสาธารณะ และกลไกภาษี (งบเจนเดอร์ / gender budgets)

กล่าวโดยสรุป  วิกฤตที่เกิดขึ้น ได้เสนอตัวเป็นโอกาสสำหรับพวกเราให้ผันทิศทางของสถาบันสาธารณะ  รณรงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นเชิงสังคมและความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย ในนโยบายการเงินการคลัง  และงานว่าจ้าง เพื่อก้าวหน้าสู่วิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจทางเลือกต่อไป

บทความนี้สรุปการนำเสนอในเวทีการประชุมสุดยอด หญิงทำงาน 2009: คนงานหญิงเป็นแนวหน้าของทางออกสู่ความยั่งยืน (“Women Workers Summit 2009: Women workers at the frontline of sustainable solution”) จัดโดย CAW (มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง) เมื่อ 9-10 ธันวาคม 2009
แหล่ง  Asian Women Workers Newsletter, Vol.35, 2010 (Jan-Mar): pp.11-12
-แปลโดย ดรุณี 12-25-10