วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ ครอบงำสื่อ และทำให้โลกอยู่ไม่รอด

แม๊กกาซีน The Economist ผิด
The Economist Is Wrong
Francisco Roberto Caporal (caporalfr@gmail.com), Farming Matters, December 2010, p. 23

สองสามเดือนก่อน แม๊กกาซีน The Economist ได้ตีพิมพ์บทความยืดยาว สรรเสริญเกษตรกรรมของบราซิล  ส่งผลให้ปะทุความรู้สึกรักชาติ และเพื่อนร่วมงานหลายคนก็แสดงออกถึงความรู้สึกภาคภูมิใจใน ความสำเร็จ ของประเทศของเรา   แต่เจ้าโมเดลที่ The Economist ได้ยกยอปอปั้นอย่างแสนเอื้อเฟื้อนั้น แท้จริงมันสำเร็จจริงแค่ไหน?   ถ้ามองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นว่า เจ้าบทความนี้ ดูเหมือนจะถูก ปลูกถ่ายโดยพวกที่ต้องการจะสร้างภาพเลิศหรูแก่เกษตรพาณิชย์ในประเทศของผม และกดทับบดบัง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากโมเดลเกษตรกรรมนี้

แม๊กกาซีนนี้บอกว่า การขยายตัวของเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในบารซิลในทศวรรษที่ผ่าน ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่กว่า   ความจริงคือ ประวัติศาสตร์ของเกษตรพาณิชย์ของบราซิล เต็มไปด้วยกระบวนการต่อรองและการให้อภัยหนี้   ข้อมูลทางการที่ The Economist ไม่ได้พูดถึง แสดงให้เห็นว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้ชำระหนี้ที่แท้จริง   ตัวเลขที่ขาดหายไปเช่นกัน คือ สถิติสำรวจการเกษตรล่าสุด ที่ออกมาในเดือนกันยายน 2009 ที่แสดงว่า เกษตรกรรมครอบครัว (family farms) ที่อาศัยบนพื้นที่เพียง 26% ของที่ดินทั้งหมด สามารถผลิตได้ถึง 60-70% ของอาหารที่ชาวบราซิลทั้งหมดบริโภคได้อย่างไร  และยังสร้างงาน 8 ใน 10 ของตำแหน่งงานในชนบทอย่างไร    แล้วบทความนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างโมเดลยอดสรรเสริญนี้ กับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำ

ที่น่าตกใจพอๆ กัน ที่ได้อ่านพบว่า ประเทศอื่นได้รับคำแนะนำให้ทำตามตัวอย่างของบราซิล   แต่ประเภทเกษตรกรรมที่แม๊กกาซีนนี้ยกย่องอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ได้ผลิตอาหาร แต่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก (ถั่วเหลือง น้ำส้ม น้ำตาล กาแฟ) ส่วนมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในประเทศที่เน้นผลิตปศุสัตว์   นี่เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องแล้วหรือ สำหรับประเทศที่หวังจะลดความอดอยากหิวโหย?  ประเทศเหล่านี้ ควรได้รับแจ้งด้วยว่า บราซิลต้องนำเข้าปุ๋ยถึง 2 ใน 3 ที่ต้องใช้ในประเทศ หรือ บราซิลได้กลายเป็นประเทศที่บริโภคยาฆ่าแมลงรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่มีคำมั่นสัญญาจากการใช้พืชพันธุ์ จีเอ็ม (GM ตัดแต่งทางพันธุกรรม) ว่าจะช่วยลดการพึ่งใช้สารเคมีเกษตร

แม๊กกาซีนฉบับนั้น ยังเรียกผู้คนที่สนับสนุนระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก และกรรมวิธีปลูกแบบอินทรีย์ ว่าเป็น พวกมองโลกเกษตรกรรมในแง่ร้าย (“agro-pessimists”)   นี่เป็นร่องรอยอีกอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บทความนี้ถูก ปลูกถ่าย  เพราะมันไม่น่าเชื่อว่า The Economist จะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับระดับการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือเกี่ยวกับบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของเกษตรกรรมครอบครัวในการผลิตอาหารทั่วโลก   การตีตราประชาชนที่รณรงค์เพื่อระบบการผลิตอาหารที่สมบูรณ์แข็งแรง  ที่ไม่ต้องทิ้งผลตกค้างที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม  ที่มีการกระจายความมั่งคั่งที่ดีกว่า หรือที่สร้างโอกาสการจ้างงานมากขึ้น เหล่านี้ว่าเป็น ผู้มองโลกเกษตรในแง่ร้าย แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ที่บิดเบือนอย่างลึกล้ำ อันเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับ The Economist
Dt/12-28-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น