ในโลกแห่งการคดโกงในระบบอาหาร ไร่นาได้กลายเป็นทองแบบใหม่
In Corrupt Global Food System, Farmland Is the New GoldBy Stephen Leahy, UXBRIDGE, Canada , Jan 13, 2011 (IPS)
ชาวนาผอมกรอบเฝ้ามองรถบรรทุกที่ขนธัญญพืชที่งอกเงยบนแผ่นดินบรรพบุรุษของพวกเขา แล่นออกไป มุ่งหน้าสู่ท่าเรือที่ใกล้ที่สุด ธัญญพืชเหล่านั้นได้ถูกกำหนดชะตาให้ไปสู่พุงของคนที่รวยกว่าในแดนไกล นี่ได้กลายเป็นภาพที่ชินตาตั้งแต่วิกฤตอาหารในปี 2008
ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมากในบางประเทศ ได้จุดระเบิดวงจรจราจลอันเนื่องจากความหิวโหยอีกครั้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชียใต้ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ภูมิอากาศที่ผิดปกติ ถูกตำหนิว่าเป็นต้นเหตุของอาหารแพง การขึ้นราคาทันทีทันใดเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการเก็งกำไรในระบบอาหารโลกที่คดโกง
วิกฤตอาหารปี 2008 ได้ปลุกให้วงการนักลงทุนส่วนใหญ่ของโลกตระหนักถึงความจริงที่เก็งกำไรงามๆ ได้ นั่นคือ ประชาชนที่หิวโหย จะยอมทำทุกอย่าง รวมทั้งขายลูกเต้าของตนเอง เพื่อให้ได้มีของกิน และด้วยวิกฤตการเงินโลก อาหารและไร่นา ได้กลายเป็น “ทองแบบใหม่” สำหรับนักลงทุนใหญ่ที่สุดบางราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
ในปี 2010 หุ้นอนาคตของข้าวสาลี (wheat futures) พุ่งสูงขึ้น 47% ข้าวโพดสหรัฐฯ ขึ้นสูงกว่า 50 % และถั่วเหลือง 34%
ในวันพุธ บรรษัทคาร์กิล (Cargill) ซึ่งเป็นผู้ค้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศว่า กำไรของบรรษัทได้เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว โดยทำรายได้ถึง 1.49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนระหว่าง กันยายน และพฤษจิกายน 2010
ในขณะเดียวกัน พันธบัตรสหรัฐฯ จ่ายเงินปันผลต่ำกว่า 1%
“เราได้สร้างระบบอาหารของโลกที่สนับสนุนการเก็งกำไร และด้วยระบบตลาดเช่นนี้ เราไม่สามารถกำจัดนักเก็งกำไรออกจากระบบอาหารได้” เลสเตอร์ บราว์น (Lester Brown) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเกษตร และผู้ก่อตั้ง สถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute) ซึ่งมีฐานอยู่ที่วอชิงตันกล่าว “ไร่นาเป็นทองชั้นดีกว่าทองธรรมดาสำหรับนักเก็งกำไร”
เขากล่าวว่า หลายๆ ประเทศกำลังกว้านซื้อไร่นา และห้ามการส่งออกของอาหาร ได้สร้างความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อการเข้าถึงอาหาร ซึ่งมีส่วนนำไปสู่การสร้างแกนภูมิศาสตร์-การเมืองใหม่รอบๆ ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร
ผู้นำของโลกได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการชี้ให้เห็นถึงความจริงง่ายๆ ที่ว่า ในขณะที่มีอาหารปริมาณเพียงพอ ประชากรโลกนับพันล้าน ที่กระจายอาศัยอยู่ในทุกๆ ประเทศในโลก ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารกิน อนุรัธ มิตตัล (Anuradha Mittal) แห่งสถาบันโอ๊คแลนด์ (คลังสมองที่มีฐานในสหรัฐฯ ทำงานด้านนโยบายในประเด็นสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม) กล่าว
“ทำไมคนนับพันล้านต้องหิวโหยในขณะที่การเก็บเกี่ยวข้าวสาลีมีอัตราสูงในปี 2008?” มิตตัลกล่าวกับไอพีเอส “แล้วทำไมถึงมีคนหนึ่งพันล้านที่มีน้ำหนักเกิน และอีก 300 ล้านคนที่ถูกหมอจัดว่าเป็นโรคอ้วน?”
ระบบอาหารของโลกถูกออกแบบให้สร้างกำไร ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงดูประชากร และก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตั้งแต่ปี 2008 มิตตัลกล่าวว่า “ไม่มีการเน้นที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือการควบคุมการค้าด้านอาหารเลย”
ในทางตรงข้าม ธนาคารโลก องค์การค้าโลก และองค์การพหุภาคีต่างๆ กำลังผลักดันให้เพิ่มผลผลิต และขยายการค้าเสรี เธอกล่าว แนวทางเช่นนี้ เป็นหนทางเดียวกันกับที่ทำให้อาฟริกาต้องกลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถเลี้ยงคนของตนเอง หลังจากที่ถูกทำให้มีความมั่นคงทางอาหาร
“อาฟริกาได้กลายเป็นชาวนาที่เช่าที่ด้วยผลผลิตที่ได้ ด้วยการส่งออกกาแฟ ดอกไม้ และตอนนี้อาหาร ในขณะที่ผู้ปลูกต้องหิวโหย” มิตตัลกล่าว
ด้วยการแฝงตัวมาในคราบของการลงทุนทางเกษตร เงินก้อนมหาศาลได้ถูกยื่นให้เป็นข้อเสนอแก่ประเทศที่รุงรังด้วยหนี้สิน เพื่อแลกกับการเช่าที่ดินผลิตอาหารในระยะยาว “งานวิจัยของเรา แสดงให้เห็นว่า พวกนักลงทุนได้กว้านที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปแล้ว ประเด็นยิ่งใหญ่ คือ ธรรมาภิบาลและคอรัปชั่นในการฉกฉวยที่ดินครั้งนี้”
“กว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ถูกนำมาลงทุนในการซื้อไร่นา ตั้งแต่ปี 2008 ส่วนใหญ่ในอาฟริกา โดยบริษัทต่างชาติและอุตสาหกรรมที่รัฐต่างชาติเป็นเจ้าของ” ตามรายงานของ GRAIN องค์กรนานาชาติเล็กๆ ที่ไม่ค้ากำไร ที่ทำงานสนับสนุนชาวนารายเล็ก
การลงทุนมหาศาลเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าอาหารจะมีมากขึ้น เลสเตอร์กล่าว บ่อยครั้ง การซื้อที่ดิน เป็นเพียงก้าวแรก จำเป็นจะต้องมีการลงทุนอีกมากในการสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน พาหนะ ยุ้งเก็บผลผลิต เครื่องยนต์กลไก ที่เป็นอุปกรณ์ การชลประทาน ฯลฯ
“ผมยังไม่เห็นการเพิ่มผลผลิตธัญญพืชที่ไหนเลย ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะมีแต่การค้าที่เก็งกำไร” เขาพูด
บราว์นได้บันทึกและติดตามผลผลิตข้าว ข้าวสาลี และธัญญพืชอื่นๆ มาเป็นเวลานาน และไม่เห็นการเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ในขณะที่ความต้องการเพิ่มทวีคูณ เขากล่าวว่า ทุกวันนี้ จีนสั่งเข้าถั่วเหลือง 70% และถูกคาดว่า จะเริ่มใช้เงินมหาศาลในคลัง เพื่อซื้อข้าวสาลี และข้าวโพดในปริมาณมหาศาลในอนาคตอันใกล้
และด้วยการที่สหรัฐฯ แปรข้าวโพด 30% ที่ปลูกในประเทศเป็นเอเทอโนล เพื่อ “ป้อน” รถและรถบรรทุก เขาทำนายว่า ในบางปี อาหารจะฝืดเคือง
การทรุดตัวของระบบสต๊อคพร้อมกับการพังทลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนจำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์ ถูกโยกย้ายไปซื้อไร่นาและสินค้าอาหาร ไม่เพียงแต่วอลล์สตรีดจะมองหาการลงทุนที่ให้กำไรงาม พวกกองทุนต่างๆ ทั้งของเอกชน และเงินบำนาญราชการในยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็พลอยเป็นไปด้วย เดฟลิน คูเยก แห่ง GRAIN กล่าว
นักลงทุนในซาอุดิอาระเบีย ได้เช่าที่ดินผืนใหญ่ในเอธิโอเปีย เซเนกัล มาลี และประเทศอาฟริกันอื่นๆ รวมกันแล้วเป็นหลายแสนเฮคเตอร์ “ประเทศอาฟริกันจะหวังว่ามีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร ด้วยการเซ็นสัญญาให้เช่าที่ดินในระยะยาวเช่นนี้แก่ชาวต่างชาติ?” คูเยกถาม
เมื่อบริษัท เดวูโลจิสติคของเกาหลีใต้ พยายามซื้อที่ดิน 1.3 ล้านเฮคเตอร์ หรือ หนึ่งในสามของไร่นาของมาดากัสการ์ ในปี 2008 การประท้วงรุนแรงได้เกิดขึ้น ถึงขั้นล้มล้างรัฐบาล ถึงกระนั้น เกาหลีใต้ ก็ยังคงถือครองที่ดินอย่างน้อย หนึ่งล้านเฮคเตอร์ด้วยสัญญาเช่าระยะยาวในที่อื่นๆ และจีนถือครอง 2.1 ล้านเฮคเตอร์ส่วนใหญ่ในเอเชียอุษาคเนย์
สัญญาเช่าบางที่ยาวนานถึง 99 ปี ด้วยราคาเพียงหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ต่อที่ดินหนึ่งเฮคเตอร์ แต่คนท้องถิ่น “ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึง รายการที่ถูกโฆษณาเช่นนี้ ในประเทศที่ประชาชนนับล้านตกอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางอาหาร” โฮวาร์ต บัฟเฟต์ ผู้เป็นชาวนาและคนใจบุญสุนทานในสหรัฐฯ ผู้ซึ่งบิดาคือ นายวอร์เรน บัฟเฟต์ อภิมหาเศรษฐีนักลงทุนที่มีชื่อเสียง
โฮวาร์ต บัฟเฟต์รายงานว่า มีคนเสนอขายที่ดินโดยที่รัฐบาลอาฟริกันสัญญาว่า จะให้ความสนับสนุนทางการเงิน 70% สาธารณูปโภคทุกอย่าง และสัญญาเช่า 98 ปี โดยปลอดการชำระถึง 4 ปี
“สิ่งสุดท้ายที่อาฟริกาต้องการ คือ นโยบายที่ “ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาเพาะปลูกและส่งออกอาหารให้กับประชาชนของพวกเขาเอง แต่ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต้องเป็นทุกข์” บัฟเฟต์เขียนในบทนำในรายงานของสถาบันโอ๊คแลนด์ ปี 2010 ชื่อ “การลงทุน (ที่ผิด) ในภาคเกษตร”
มูลนิธิของบัฟเฟต์ มีไร่ทดลองในอาฟริกาใต้ และบอกว่า ที่นั่นต้องการการลงทุน แต่ในรูปของเมล็ด วัสดุ การบริการให้คำแนะนำทางเกษตรที่ดีขึ้น การศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคของการอนุรักษ์และการช่วยเหลือชาวนาในท้องที่ การลงทุนด้วยการฉกที่ดิน จะกระพือพัดความขัดแย้งในการแย่งชิงที่ดิน และน้ำ เขาสรุป
เป็นเรื่องน่าตกใจว่า ประมาณ 70% ของประชากรที่หิวโหยนับพันล้านคน เป็นชาวนา คนเลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารต่างๆ ผู้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้หากพวกเขาเข้าถึงที่ดินทำกิน ตลาด และเงินทุนเพียงเล็กน้อย คูเยกกล่าว
“ความจริงที่เข้าใจกันดีอยู่นั้น ได้ถูกละเลยมาหลายปีแล้ว” เขากล่าว “การฉกที่ดินเหล่านี้ เป็นเรื่องผิดศีลธรรม และผิดจารีตสังคม”
dt 1-14-11
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น