“แสวงหาทางไถ่บาป: เส้นทางของชายคนหนึ่งสู่ชีวิตปกติ”
โดย คาคุยา อิชิดะ 2 สิงหาคม 2003
“Looking for redemption: One man’s journey to the straight life”
By Kakuya Ishida
The Daily Yomiuri, Aug. 2, 2003
ฮิเดโมริ เกน อายุ 47 ได้ลองมาแล้วกว่า 30 อาชีพตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหลืบมืดของสังคม รวมทั้งการกระทำความรุนแรงเพื่อแลกเงิน ด้วยอาชีพเหล่านี้ เขาได้ประสบพบเห็นชีวิตหลากหลายรูปแบบ
“ผมเข้าใจดีถึงภาวะจิตใจของผู้คนที่มาขอคำปรึกษาจากผม” เกนกล่าวที่ศูนย์ให้คำปรึกษา (counseling center) ที่ คาบูกิโช ชินจูกุ กรุงโตเกียว อันเป็นแหล่งบันเทิงเริงรมย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ “ยกตัวอย่าง สภาพจิตใจของคนที่ตบตีผู้อ่อนแอกว่า และของคนที่ถูกตบตี และคนที่โกงคนอื่น และคนที่ถูกโกง”
“ผมเรียนรู้ตามธรรมชาติ ที่จะรับมือกับพวกที่อยู่ในโลกมืด” เขากล่าว
ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากหลายๆ ปีที่เขาได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัวสุดๆ เขาตัดสินใจว่า เขาต้องการจะทิ้งหลักฐานไว้ข้างหลังว่า เขาได้อุทิศตนอย่างจริงจังเพื่อบริการผู้อื่น
จุดผกผันมาถึงอย่างไม่คาดคิดใน ตุลาคม 2000 (2543) เมื่อเขาพบว่า เขาเป็นพาหะของเชื้อไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ความรู้อันนี้ ทำให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต 180 องศา และเริ่มมองหางานในภาคบริการสังคม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่นี้ เกนเริ่มตั้งองค์กรไม่หวังกำไร ชื่อ Japan Social Minority Association (JSMA หรือ สมาคมชนกลุ่มน้อยของสังคมญี่ปุ่น) ในเดือนมิถุนายน ปีก่อน/2002 (2545) และเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา (counseling center) ใน คาบูกิโช เพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้หลบหนีปัญหาร้ายแรง เช่น ความรุนแรงในครอบครัว
ตั้งแต่นั้นมา ชื่อเสียงของเกนได้เริ่มขยายจากปากต่อปากว่า สามารถให้คำแนะนำที่ “เหมาะสมและเป็นจริง” อย่างที่หน่วยงานทางการทั่วไป ไม่เคยทำได้มาก่อน
ทุกวันนี้ มีอาสาสมัครเต็มเวลาประมาณ 80 คน หลายคนเข้ามาร่วมเพราะได้รับรู้เรื่องราวในชีวิตจริงของเกน พวกเขาเวียนกันมาทำงานประจำที่ศูนย์ทั้งวันและคืน บางคนมีวุฒิขั้นนักบำบัดจิตทีเดียว
สำนักงานของศูนย์ตั้งอยู่ที่อาคารแห่งหนึ่ง ใกล้โรงละคร ชินจูกุ โคมา เกคิโจ ใน คาบูกิโช ซึ่งเป็นเขตที่เลื่องชื่อว่า มีคลับและร้านบริการทางเพศมากมาย
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พรั่งพรูสู่ศูนย์ ล้วนมีความซับซ้อนมาก จนไม่มีทางแก้ไขง่ายๆ
เช่น ครั้งหนึ่ง หญิงหน้าตาซีดเซียวแต่งชุดนอนและสวมรองเท้าแตะ วิ่งเข้ามาที่สำนักงานชินจูกุ กลางดึก กรีดร้องว่า สามีกำลังจะฆ่าเธอ สักครู่ ชายคนหนึ่งเห็นชัดว่าเป็นสามีของเธอก็โผล่ขึ้นมา พร้อมทั้งมีดในมือ
เกนไม่ได้หดถอยจากชายคนนั้น แทนที่จะทำเช่นนั้น เขากลับตะโกนใส่ชายคนนั้น “เสียบผมเลย ถ้าคุณทำได้ เอาเลย เสียบผม!” ในกรณีส่วนใหญ่ ผู้คนจะตกใจและหวั่นเกรงเกน และรีบหนีออกจากสำนักงานไป
“คนที่มาหาผมที่สำนักงาน ล้วนทุกข์หนักและต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นชาวต่างชาติที่อยู่เกินกำหนดวีซ่า...ผมจะช่วยพวกเขาด้วยชีวิตของผม หากจำเป็น” เกนกล่าว
ประมาณ 600 คน ได้มาเยี่ยมที่ศูนย์ตั้งแต่เปิดมา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณโตเกียว แม้ว่า บางคนจะมาไกลมากจาก ฮอกไกโด หรือ กิวชิว ในปีแรกของสำนักงาน มีคนโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาถึง 4,200 ราย
80% ของผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิง บ่อยครั้ง พวกเธอขอความช่วยเหลือให้พ้นจากความรุนแรงในครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ กัน—ระหว่างคู่สมรส หรือไม่ได้สมรส ระหว่างพ่อแม่กับลูก และระหว่างลูกๆ ที่โตแล้วกับพ่อแม่ที่ชราภาพ กรณีที่โดดเด่นเร็วๆ นี้ รวมถึงผู้ใช้บริการวัยกลางคน ที่ตกงานเพราะบริษัทปรับโครงสร้างใหม่ และคนหนุ่มสาวที่มีอาการแปลกแยกปิดหลีกสังคม และการถูกล่วงละเมิดที่บ้าน
เกน ผู้ให้คำปรึกษาตลอดวัน กำลังมีทุกข์จากการอดหลับอดนอนอย่างต่อเนื่อง เขาม่อยหลับเพียง 3 ชั่วโมงทุกวัน
JSMA มีที่พักพิงชั่วคราวเพื่อปกป้องคนที่เชื่อว่าตัวเองตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง
หญิงหูหนวกและใบ้อายุ 25 คนหนึ่ง ผู้ทำงานหนักในร้านบริการทางเพศ 16 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับเงินตอบแทนรายวัน 4,000 เยน ได้มาหาที่ศูนย์ และขอให้เกนออกไปทำให้นายจ้างของเธอจ่ายค่าทำแท้งให้เธอ เธอเถียงว่า เธอตั้งครรภ์เพราะผลลัพธ์โดยตรงจากงาน และคิดว่า มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของเธอที่จะจ่ายค่าทำแท้ง
เกนให้คำปรึกษาด้วยการเขียน ขอให้เธอเลิกเป็นโสเภณี แต่ตามที่เกนเล่า เธอกลับตอบว่า “แล้วมันผิดอะไร ที่ฉันจะขายร่างกายของฉัน?” เกนอึ้ง
“ปัญหาประเภทนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการทาสีทับมัน” เกนพูด
ในที่สุด เขาได้หางานใหม่ให้เธอ
ในอีกกรณีหนึ่ง หญิงอายุ 49 ในจังหวัด เออิชิ บอกเกนว่า เธอได้รับโทรศัพท์จากลูกชาย ที่ไม่ได้พบกันมานานกว่า 20 ปี “ผมเป็นสมาชิกของหน่วยอาชญากรรม” ลูกชายกล่าว “ผมต้องการจะฉีกตัวออกจากวงจรนี้ แต่ทำไม่ได้ โปรดช่วยผมด้วย”
หญิงคนนั้น มาสำนักงานพร้อมกับลูกชายในเดือนเมษายน “เมื่อลูกชายของฉันบอกหัวหน้าแก๊งว่าต้องการจะเลิก พวกเขาบอกว่า จะต้องจ่ายเงิน 8 ล้านเยนภายในเดือนพฤษภาคม แน่นอน พวกเราไม่มีเงินมากขนาดนั้น” ผู้เป็นแม่อธิบาย
เกนจึงถามผู้เป็นลูกชาย “แล้วคุณแน่ใหรือว่าต้องการเลิกรากับวงจรอาชญากรรมนี้จริงๆ?”
ลูกชายตอบ “แน่ใจครับ”
“ถ้าเช่นนั้น โทรศัพท์ไปที่สถานีตำรวจจังหวัดเดี๋ยวนี้ แม้ว่าคุณจะพยายามอย่างไร หรือวิ่งหนีจากพวกเขาได้ พวกแก๊งก็จะออกตามล่าคุณ แต่ถ้าตำรวจออกไปตรวจที่สำนักงานพวกเขาหนหนึ่ง พวกเขาก็จะหยุดข่มขู่คุณสักพัก” เกนพูด
แต่ผู้เป็นลูกชาย ไม่เห็นด้วย “ถ้าผมโทรไปหาตำรวจ พวกแก๊งก็จะมารังควานแฟนผม และเพื่อนของผมอย่างแน่นอน”
เกนดุเขาอย่างแรง “พวกแก๊งย่อมจะพยายามรั้งตัวพรรคพวกลูกน้องไว้ เช่นตัวคุณ ที่ต้องการเลิก ด้วยการใช้คนที่อยู่รอบตัวคุณ ผมคิดว่า เพื่อนของคุณไม่เป็นเพื่อนแท้พอ ที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยให้คุณหลุดออกมาได้ พวกเขาจะยอมแพ้ต่อการข่มขู่อย่างง่ายดาย และในที่สุดก็จะทรยศคุณ ดังนั้น คุณต้องตัดไมตรีกับเพื่อนของคุณก่อน”
“ไม่มีเวลาให้ลังเลอีกแล้ว โทรหาตำรวจเดี๋ยวนี้” เกนพูดเช่นนั้น
ผู้เป็นแม่ได้โน้มน้าวให้ลูกชายทำตามคำแนะนำของเกน ในที่สุด เขาก็โทรศัพท์ไปหาตำรวจหลังจากปรึกษากันอยู่ครึ่งชั่วโมง เขาตัดไมตรีกับเพื่อนๆ และตอนนี้กำลังหลบตัว
ความลำบากตั้งแต่วันแรก
เกนเกิดในปี 1956 (2499) ในเขตนิชินาริ โอซากา พ่อของเขาเป็นชาวเกาหลีใต้ ที่หนีมาจากเกาะเชจู สู่ญี่ปุ่นหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนแม่เป็นคนเกาหลีใต้ ที่มีแหล่งพำนักในญี่ปุ่น เขาเล่าว่า ตลอดชีวิต เขาประสบการกีดกันทางเชื้อชาติ
ตั้งแต่พ่อแม่หย่ากันตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้นประถม เกนต้องท่องไปมาระหว่างบ้านพ่อ และบ้านแม่ที่อยู่แยกกัน พวกเขามักจะปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นภาระส่วนเกิน เกนถูกทั้งพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยงข่มเหง ในบรรดาพ่อเลี้ยง มีคนหนึ่ง ราดน้ำเดือดใส่ขณะที่เขากำลังอาบน้ำ
เกนกลายเป็นคนอ่อนไหวต่ออารมณ์ของผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเขา เพราะตอนนั้น เขาแค่ได้งานค่อนเวลาในการส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง เขาเล่าว่า เขาเริ่มเชื่ออย่างมั่นคงว่า “เงินเป็นเจ้าโลก” และ “เงินเปิดประตูทุกบาน”
ในระหว่างเรียนมัธยม เขากลายเป็นคนติดการลักเล็กขโมยน้อยจากร้านค้า และการขู่กรรโชกเอาเงินจากผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกตำรวจจับเข้าสถานที่ดัดพฤติกรรมหลายหน
หลังจากยุติการเรียนมัธยมปลาย เกนกลายเป็นลูกจ้างที่อาศัยอยู่กินในร้านซูชิแห่งหนึ่ง ในที่สุด เขาได้เปลี่ยนงานประมาณ 30 อย่าง รวมทั้ง ช่างไม้ อสังหาริมทรัพย์ ฉลามเงินกู้ (ข่มขู่ทวงหนี้) และทำงานในไนท์คลับและภัตราคาร
เมื่ออายุปลาย 20 เขาได้เริ่มต้นกิจการก่อสร้างหลายแห่ง ซึ่งเขาเคยทำหน้าที่จัดส่งแรงงาน มักจะเป็นพวกไร้ที่อยู่ ให้บริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ เป็นการชั่วคราว เขาจ่ายแรงงานเพียงเสี้ยวของเงินที่เขาได้รับจากบริษัท นี่เป็นวิธีการที่ทำกำไรสูง ทำให้เขาตั้งบริษัทอื่นๆ ตามกันมาได้สำเร็จ ก่อนที่มันจะล้มครืน “ผมปรนเปรอตัวเองด้วยของหรูหรา”
เขามีเรื่องขัดแย้งกับแก๊งอันธพาลท้องที่อยู่เนืองๆ เกี่ยวกับการเรียกค่าคุ้มครอง แต่เขาก็ยืนหยัดต่อสู้กับการขู่กรรโชกนั้น และสามารถจัดการจนรอดพ้นฉากความรุนแรงนองเลือดหลายครั้ง เขาถูกจับนับครั้งไม่ถ้วน
“แต่ ถึงแม้บางครั้งผมจะทำเงินได้มากมาย ในจิตใจไม่เคยรู้สึกพอใจเลย ด้วยความที่ไม่เคยใส่ใจกับความรู้สึกนี้ ผมกลับสะสมหนี้ก้อนโต และความสามัคคีในครอบครัวของผมก็แตกสลายโดยสิ้นเชิง” เกนเล่า
ห้าปีก่อน เกนตัดสินใจที่จะย้ายตามลำพังไปอยู่โตเกียว หลังจากขายกิจการทั้งหมด “ผมต้องการเริ่มต้นชีวิตจากศูนย์ มันเป็นการดีกว่าที่จะเปลี่ยนชีวิตถึงแก่นจากจุดนั้น”
เกนเลี้ยงชีพด้วยการเป็นผู้จัดการบริษัทสืบสวนและธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะที่เขาบริจาคเลือดสามปีก่อน เขาถึงรู้ว่าเขามีเชื้อโรค—เขาเป็นพาหะของโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว ไวรัส HTLV-1 คนที่เป็นพาหะนี้ จะมี 1 ในทุกๆ 1,000 คนที่จะแสดงอาการ และเนื่องจากไม่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะตายในหนึ่งปี ในกรณีส่วนใหญ่ ไวรัสจะถูกถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
“หลังากที่ได้รู้การติดเชื้อนี้ ผมตรึกตรองทบทวนกรรมเก่าในอดีตที่ผ่านมา ผมเป็นสัตว์ที่เหี้ยมโหด แต่ผมก็ไม่สามารถลบล้างภาพกรรมเก่าออกไปได้ ผมเกือบถูกฆ่าหลายหน และแต่ละครั้ง ผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวผมก็ช่วยให้ผมพ้นภัยมาตลอด ดังนั้น ผมต้องการแสดงความ กตัญญูของผมต่อสังคม” เกนบอก
เขาเริ่มมองหาหนทางที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ และแล้ว วันหนึ่งเขาบังเอิญได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ องค์กรไม่ค้ากำไร ที่ร้านขายหนังสือแห่งหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่มีความสนใจกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเหล่านี้ ประกายความคิดที่เกิดขึ้น คือ ประสบการณ์นานัปการในชีวิตที่เหมือนพายุของเขา น่าจะเป็นประโยชน์ นำมาประยุกต์ใช้ได้ในการให้คำปรึกษา ด้วยวิธีนี้ น่าที่เขาจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองได้
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
อาศัยเงินทุนที่เก็บจากการขายบ้าน ทรัพย์สินที่ได้จากการให้เงินกู้ เกนก่อตั้ง JSMA แต่หนี้ของสมาคม ได้ขยายตัวต่อมาสูงถึง 30 ล้านเยน ทุกเดือน จะต้องใช้เงิน 1.5 ล้านเยน เพื่อการดำเนินงานของสำนักงาน เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุน เกนคิดค่าบริการให้คำปรึกษาต่อครึ่งชั่วโมง—2,000 เยนสำหรับผู้หญิง และ 3,000 เยนสำหรับผู้ชาย
“เหตุผลที่ผมสามารถให้คำปรึกษาที่เป็นจริงและใช้การได้ เพราะผมได้เดินผ่านหนทางอันมืดมิดในชีวิตมาแล้ว และรู้ดีว่า โลกของความชั่วทำงานอย่างไร” เกนบอก “กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว ออกมาในปี 2001 (2544) แต่ตำรวจและหน่วยงานรับผิดชอบมักจะไม่จัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง”
เรียวโกะ โอซาวา นักวิพากษ์ที่พูดเกี่ยวกับประเด็นสตรี เห็นด้วย เธอเชื่อว่า สังคมต้องการองค์กรแบบ JSMA อีกมาก
“แต่ก่อน ไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว หรือให้ที่พักพิงแก่เหยื่อผู้ถูกกระทำ ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนั้น จะต้องแบกปัญหาต่างๆ ไว้เองโดยไม่มีทางออก” เธอกล่าว “ส่วนในหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้านการให้คำปรึกษา ก็โยกย้ายเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถดูแลและติดตามเหยื่อด้วยความเมตตาอารี นี่เป็นเหตุผลที่เหยื่อจะเข้าหาองค์กร เช่น JSMA ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้าย”
เกนบ่นว่า การให้คำปรึกษา เป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของหน่วยงานรัฐ “ผมไม่รู้ว่า ศูนย์ของเราจะทำงานต่อไปได้อีกนานสักเท่าไร ด้วยปัญหาการเงินที่หนักขนาดนี้”
เมื่อเขาเริ่มการบริการนี้ คนที่รู้จักกันเก่าก่อน และรู้ประวัติของเขาดี กล่าวว่า “คนอย่างคุณเคยแต่หาเงินจากคนอ่อนแอในสังคม แล้วตอนนี้ คุณจะกลับตัว มาทำหน้าที่ให้บริการได้อย่างไร?”
ถึงอย่างไร เขาก็ได้กำลังใจจากกว่า 250 คน ที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครของ JSMA พวกเขาทำงานให้ฟรีโดยไม่คิดค่าจ้างใดๆ
นักให้คำปรึกษา (Counselor) ด้านโรงเรียน ซึ่งเป็นหญิงอายุ 27 คนหนึ่ง ในโตเกียว ได้เริ่มทำงานอาสาสมัครที่ศูนย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม กล่าวว่า “การทำงานให้คำปรึกษาที่นี่ เป็นสิ่งใหม่สำหรับฉัน เพราะฉันไม่เคยประสบกับการปรึกษาแบบนี้ในระหว่างงานประจำของฉันเลย ที่นี่ ฉันได้ฟังเสียงโดยตรงจากผู้ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์ ที่อยู่ชายขอบของสังคม”
“ผมเชื่อมานานแล้วว่า เคล็ดลับของความสำเร็จในการทำธุรกิจ คือ ไม่เชื่อคนอื่น” เกนพูด “แต่ผมได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า ผมเชื่อใจคนอื่นได้ด้วย ผมได้เรียนรู้ว่า เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง”
ดรุณีแปล / 7-15-11