วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หญิงชาย กับความเป็นไทและเป็นธรรมในทรัพยากรธรรมชาติ 2

หญิงชายและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (2)

แม่บุปผาวรรณ อังคุระษี และแม่กำนันรัตนา สาระคุณ (ศูนย์เพื่อนหญิง อำนาจเจริญ)[i]
ศูนย์เพื่อนหญิง ตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญ มีแกนนำอยู่เพียง 3-4 คน ได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศมากว่า 10 ปีแล้ว   เริ่มต้นจากแม่บุปผาวรรณ (แม่หนอด) อังคุระษี (เกิดในครอบครัวข้าราชการที่มีการศึกษาดี) ผู้มีคำถามติดใจอยู่เรื่อยมาว่า ทำไมผู้ชายถึงเอาเปรียบผู้หญิง  จากการที่ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของพี่เขยทั้งสองคน  คนแรกเอาเปรียบพี่สาว  คนที่สองตอนตามจีบกันก็หวานชื่น แต่พอแต่งงานแล้วกลับไม่รับผิดชอบ    จึงตั้งใจว่าจะต้องแต่งงานกับชายที่ไม่ดื่มเหล้า และไม่เหมือนพี่เขย   แม้สามีของแม่หนอด จะเป็นคนดี แต่ก็ไม่สามารถแก้ข้อข้องใจของตนได้  ในช่วงทศวรรษสตรีสากล (2518-27 และ 2528-37) ที่มีความตื่นตัวสูงเรื่องการพัฒนาสตรี และมีการประชุมอบรมเรื่องสตรีอยู่เนืองๆ  แม่หนอด ในฐานะประธานกลุ่มแม่บ้าน ก็ได้มีโอกาสออกไปร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ  รวมทั้งได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง  ส่วนแม่กำนันรัตนา สาระคุณ  ซึ่งเป็นผู้หญิงฉลาด กล้าหาญ หนักแน่นและซื่อตรง ผู้ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนจนได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนันในที่สุด ก็ได้รับเลือกให้ไปร่วมอบรมเช่นเดียวกัน

การได้ออกไปโลกกว้าง ช่วยให้แม่หนอด พบคำตอบ   จากการแลกเปลี่ยนกับนักกิจกรรมสตรีต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง และมูลนิธิผู้หญิง ทำให้ได้รับรู้ถึงเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน.  แม่หนอดได้เรียนรู้ชื่อและสาเหตุของอาการที่กวนใจมานาน   เมื่อกลับมาที่บ้าน ก็ได้ชักชวนแม่กำนันรัตนาทำกิจกรรมในเชิงประสานการรณรงค์และให้คำปรึกษา   แม่ดอกไม้ เป็นกรรมการอีกคนหนึ่ง ที่ถูกชักชวนให้มาร่วมงาน  แม่ดอกไม้ เป็นประธานกลุ่มแม่บ้าน อยู่บ้านโพนขวาว (ห่างจากเมืองไปประมาณ 30 กม)  เคยได้รับเลือกเป็น สมาชิก อบต  แม่ดอกไม้ได้นำวิถีเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชนของตน (ซึ่งเป็นชานเมือง) ในทำนองเดียวกับแม่อุไร ทั้งสามคนเป็นผู้หญิงเก่งแนวหน้าของจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีจิตอาสาคล้ายกัน  ได้เป็นแกนหลักสำคัญในการช่วยพัฒนาและช่วยเหลือผู้หญิงที่มีความเดือดร้อน

เมื่อสามปีก่อน มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้เลือก ให้ ศูนย์เพื่อนหญิง เป็นพื้นที่หนึ่งในสี่[ii] ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการกึ่งรณรงค์ เรื่อง ลด ละ เลิกเหล้า  เป้าหมาย คือ ลดพฤติกรรมรุนแรงต่อสตรีและเด็กในชุมชน.  ศูนย์เพื่อนหญิง จึงมีความเป็นกิจลักษณะขึ้นในปี 2546   มีชื่อเป็นทางการว่า ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กอำนาจเจริญ โดยใช้ที่อยู่อาศัยของประธานเป็นศูนย์กลางการให้คำปรึกษา และรณรงค์เรื่องการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากอคติทางเพศ    แม่กำนันรัตนา ในฐานะประธานศูนย์ปัจจุบัน เป็นหัวหอกสำคัญในการนำทีมอบรมชาวบ้านในหมู่บ้านนำร่อง ในตำบลโนนหนามแท่ง.  เครื่องมือสำคัญ คือ สอนให้ชาวบ้านทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และนำมาเปรียบเทียบระหว่างการกินและไม่กินเหล้าในครอบครัว และในงานเทศกาลต่างๆ  นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มผู้ตั้งใจจะเลิกและผู้เลิกได้สำเร็จ เพื่อให้กำลังใจแก่กัน และการใช้ธรรมะกล่อมเกลาจิตใจ  แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยมากมาย ที่คอยสบประมาท ถากถาง และเยาะเย้ย ถ้าไม่ดื่มเหล้าแล้วขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ก็ขอให้ร่ำรวย แม่กำนันรัตนา ก็อดทน และทำงานของตนด้วยความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวต่อไป อย่างไม่ลดละ

อันที่จริง แม่กำนันรัตนาเอง เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยแท้ในเรื่อง ลด ละ เลิกเหล้า   ลักษณะเด่นอันหนึ่งของแม่กำนัน คือ กินเหล้าได้เก่ง ไม่แพ้ผู้ชาย   แม่กำนันเล่าว่า  ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชาย   ความเชื่อนี้เริ่มเปลี่ยนเมื่อ 5-6 ปีก่อน หลังจากที่ชายลูกบ้านคนหนึ่งได้กลับตัวจากการเป็นคนเหลวไหลสุดๆ มาเป็นคนดี เพราะ เห็นพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกันของแม่กำนันรัตนา  ครั้งแรก เขา เห็นภาพกำนันผู้หญิงและสามีดื่มเหล้า  ตั้งวงเหล้าทุกวันและมีลูกบ้านมานั่งกินเหล้าด้วยจำนวนมาก ทำให้เห็นภาพคนเมา คงไม่ต่างกับตัวเองที่เมา  และมองว่ากำนันกินเหล้าแบบนี้ แล้วใครจะเชื่อถือการทำงานของกำนัน  แต่เมื่อเห็นภาพอีกช่วงหนึ่ง ที่กำนันไม่เมาเหล้า  กำนันตั้งใจทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไปไหนมาไหนคนเดียว  ไม่มีคนช่วยทำงาน  มีงานประชุมมากมาย  ช่วงแรกที่มาบ้าน ไม่เข้าใจว่าทำไมกำนันออกไปข้างนอกบ่อยมาก เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ  ไปหาไม่เคยพบกำนัน[iii] 

วันหนึ่ง เขามาดักพบ แม่กำนันรัตนา แต่เช้าตรู่.  พอเห็นแม่กำนันหิ้วกระเป๋าจะไปทำงาน จึงอาสาขับรถไปส่ง  นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ร่วมรับรู้ปัญหาของชาวบ้าน และของผู้หญิง.   สภาพของผู้หญิงทำให้เขาได้คิด   เราทำกับผู้หญิงไว้มาก ลูกเราก็เป็นผู้หญิง หากถูกกระทำแบบกรณีที่เราไปเห็นมาจะรู้สึกอย่างไร  หากลูกเราถูกกระทำ  ใครจะช่วยเหลือ  ซึ่งคนที่ช่วยเหลือ ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย  การทำงานของกำนันไม่ใช้การพูด แต่ให้เราเรียนรู้จากการทำงาน  จากประสบการณ์ปัญหาต่างๆ  ที่พบเจอ  ทำให้เราเริ่มต้องการเข้ามาทำงานช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น  เช่น สมัครเป็นกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครในหมู่บ้าน เป็นตำรวจหมู่บ้าน  ภายหลังสามีของกำนันกินเหล้าหนักจนประสบอุบัติเหตุ ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถทำงานได้  ระบบสมองมีปัญหา  ทำให้เราตัดสินใจเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาด[iv]

ประสบการณ์ของชายคนนี้  ทำให้แม่กำนันรัตนา นอกจากจะเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาดไปด้วย ยังทำให้เกิดความคิดแตกฉาน เป็นโครงการต่างๆ    แม่กำนันเริ่มต้นกับลูกน้อง ก็ได้รับเสียงสะท้อนกลับจากบางคนว่า ตนเองก็เคยอยากเลิกเหล้าอยู่ แต่ไม่กล้าเพราะต้องไปตามหมู่    พอได้เพื่อนเพิ่ม  แม่กำนันรัตนา ก็ขยายผลต่อไปกับชาวบ้าน จนชุมชนนั้นได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการ ลด ละ เลิกเหล้า  แรงสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อนหญิง มีส่วนทำให้โครงการของแม่กำนันรัตนา สำเร็จด้วย  แม่กำนันรัตนา จะหมดวาระกำนัน ในวันที่ 3 มกราคม 2553 เมื่อครบเกษียณอายุ 60 ปี  ได้ทิ้งท้ายว่า เป็นพลเรือนเต็มตัวแล้ว จะยิ่งเคี่ยวกว่านี้

ศิริพร ปัญญาเสน นายก อบต พิชัย (ลำปาง)[v]
ศิริพร ปัญญาเสน เป็น ต้นกล้า อีกต้นหนึ่งของโครงการส่งเสริมศักยภาพและภาวะผู้นำสตรีท้องถิ่น  ที่สามารถใช้โอกาสใหม่ ที่ขบวนการสตรีในระดับสากลและในกรุงเทพฯได้ผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง  ศิริพร เริ่มทำงานหาเงินช่วยพ่อแม่เลี้ยงครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก  ความที่เป็นคนหัวไว คล่องแคล่ว มุ่งมั่น อัธยาศัยดี และมีหลักการ  ศิริพรเล่าว่า ตนหาเงินเก่งตั้งแต่เล็ก  นี่คงจะเป็น เพราะ พรสวรรค์ ในการจัดการบริหารชีวิตตัวเอง ทรัพยากรรอบตัวและเวลา ที่ทำให้ ศิริพร ได้รับเลือกเป็นสารวัตรกำนัน ตั้งแต่อายุ 25 ปี  ปัจจุบัน ศิริพร อายุ 46 ได้ผ่านตำแหน่งประธานสภา อบต ต่อกัน 2 สมัย และเป็นนายก อบต ต่อกันอีก 2 สมัย  ศิริพร เพิ่งชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นนายกอีกในสมัยที่สอง เมื่อปีก่อน ทำให้สามารถดำเนินการสร้างอาคารใหม่ของ อบต พิชัย และได้เปิดทำการหลังจากพิธีเปิดแบบพื้นเมือง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมนี้เอง

การที่บ้านเกิด ตำบลพิชัย อยู่เพียง 2 กม จากใจกลางเมืองลำปาง ทำให้ศิริพร อยู่ใกล้โอกาสใหม่ที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาประเทศ  เช่น โอกาสการทำงานต่าง ๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่  ศิริพร สามารถเลือกเรียน กศน แทนการศึกษาสายสามัญ เพื่อให้น้องๆ มีโอกาสได้เรียนต่อ  เมื่อโอกาสเปิดสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งใน อบต ศิริพร สามารถจัดการเวลาเพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อไม่นานนี้เอง 

ศิริพร ใช้สิทธิ์และอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของนายก อบต พิชัย ประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาเรื่องธรรมภิบาล มากำหนดเป็นนโยบายและวิสัยทัศน์ของ อบต ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาสังคมเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสตรี[vi]   ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหนึ่ง คือ การวางแปลนอาคารใหม่ของ อบต พิชัย โดยจัดสรรให้มีพื้นที่ว่างกว้างรอบอาคาร ไม่เพียงแต่เป็นที่จอดรถ แต่เพื่อจัดกิจกรรมชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชน (การฟ้อนรำ การเล่นดนตรีพื้นเมือง สะล้อซอซึง เป็นต้น)  นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรที่ดินแปลงหนึ่ง ให้เป็นแปลงสาธิตปลูกผักและสมุนไพรปลอดสาร การทำปุ๋ยธรรมชาติ โดยให้หญิงชาวบ้านยากจนคนหนึ่ง (เดือดร้อนเพราะสามีประสบอุบัติเหตุ) ที่อาศัยอยู่ใกล้ อบต เป็นผู้ดูแล และเก็บเกี่ยวแทนค่าจ้าง.  นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้งบประมาณน้อย เพื่อสร้างคน/วิทยากรและพัฒนาผู้หญิงไปพร้อมกับสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของภาครัฐ

เช่นเดียวกับแม่กำนันรัตนา สาระคุณ   ศิริพรก็เป็นนักดื่มคนหนึ่ง เพื่อทำให้วงการปกครองที่มีชายเป็นใหญ่ยอมรับ.  ศิริพร ได้ขานรับและเผยแพร่การรณรงค์ ลด ละ เลิกเหล้า โดยเริ่มจากตนเอง  ได้ชักชวนลูกน้อง และตั้งระเบียบด้วยทางสายกลาง เช่น ไม่ให้ใช้งบทางการซื้อเหล้า  ไม่ดื่มเหล้าในงานเลี้ยงของ อบต (แต่จะไปดื่มหลังงาน อย่างไม่ประเจิดประเจ้อได้) เป็นต้น  ด้วยความตระหนักถึงปัญหาที่ผู้หญิงประสบ เมื่อได้เป็นสมาชิก อบต ว่ามักจะรู้สึกความโดดเดี่ยว  ศิริพรได้ร่วมกับสมาชิก อบต สตรีที่มีความคิดแนวเดียวกัน 3-4 คน ตั้งเป็นกลุ่ม WAYLAMPANG เพื่อทำโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงใน อบต ด้วยทุนสนับสนุนจาก UNIFEM  โครงการปัจจุบันของ WAYLAMPANG คือ โครงการเสริมสร้างสมรรถนะผู้หญิงในการส่งเสริมธรรมาภิบาล ที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติหญิง-ชาย ทางวิทยุชุมชน  วัตถุประสงค์ คือ สร้างบุคลากร ที่สามารถตอบโต้ทางโทรศัพท์ ผ่านวิทยุชุมชน เพื่อช่วยให้สมาชิก อบต และชุมชน เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ และจัดสรรงบประมาณ ของ อบต  เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและในท้องถิ่น  ดูแลเรื่องสุขภาพทางเพศ  หญิงพิการ  ผู้ติดเชื้อ  ผู้พ้นโทษจากการคุมขัง  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง 

ศิริพร สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัว เพื่อดูแลทุกข์สุขของชุมชนท้องถิ่นตามหน้าที่ นายก อบต และเดินทางไปเป็นวิทยากรให้แก่ อบต อื่นๆ รวมทั้งร่วมประชุมในระดับต่างๆ  การที่ ศิริพร เป็นโสด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สามารถทุ่มเททำงานเต็มที่ จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับของลูกน้องและชุมชน  ความร่าเริงของศิริพร ทำให้คนนอกมองไม่เห็นความยากลำบากในการักษาสมดุลชีวิตในเส้นทางการเมืองท้องถิ่น  ศิริพร เล่าถึงมรสุม 2 ลูก ที่ทำให้บางครั้งรู้สึกเหนื่อยหน่าย  หนึ่ง คือ การหาเสียงในการเลือกตั้ง อบต ที่ผ่านมา  สอง คือ การติดสินบน

น้องสาวของศิริพร เล่าว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เธอกังวลว่าพี่สาวจะถูกเก็บ คู่ต่อสู้ที่เป็นชาย ใช้วิธีสร้างแรงกดดันทุกอย่าง เช่น ในกลางดึก จะโทรศัพท์มารบกวนซ้ำๆ ใช้วาจาลามกจาบจ้วง เช่น คืนนี้จะมานอนด้วย เป็นต้น  ก่อนวันเลือกตั้ง มีการปล่อยใบปลิวที่ใส่ร้ายป้ายสี และใช้คำด่าหยาบคาย เรียกศิริพร ว่า อีแสบ  ศิริพร ต้องอาศัยขันติธรรม ไม่ใช้วิธีสกปรกตอบโต้ แต่ใช้วิธีให้ชาวบ้านตระหนักเอง.  ในที่สุด ชุมชนก็ยังเลือก ศิริพร  การชนะมรสุมเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ศิริพรเชื่อในคำโบราณที่ว่า คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้   ย้อนดูตัวเอง ศิริพร เชื่อว่า บุญกุศลประการแรก คือ  การที่ตนได้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงตามลำพังด้วยความมานะอดทน เพื่อเลี้ยงดูและรักษาพยาบาลพ่อแม่ยามเจ็บป่วยและชราจวบจนสิ้นอายุขัย พร้อมกับลุยปฏิบัติภารกิจราชการ  อีกประการหนึ่ง คือ กตัญญูกตเวทีที่มีต่อครูบาอาจารย์ทุกคนที่ได้ให้ความรู้แก่ตน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา กศน ถึงปริญญาตรี ด้วยการไปเยียนอย่างน้อยปีละครั้ง ดุจญาติผู้ใหญ่ในครอบรัว.   สิ่งหนึ่งที่ ศิริพร ในฐานะนายก อบต พยายามจะสร้างให้เป็นมาตรฐานของ อบต ตั้งแต่เริ่มแรก คือ สกัดกั้นการติดสินบนในการจัดซื้อจัดจ้าง  จากการที่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการผู้หญิงที่เล่นการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศมานานพอสมควร ศิริพร ประมวลภาพคร่าวๆ ของ สมาชิก อบต ผู้หญิงที่ผ่านมาอย่างตรึกตรอง.  ในภาคใต้ มักจะเป็นผู้หญิงฐานะดีลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อปกป้องกิจการของตนเอง  ในภาคกลางและภาคอีสาน ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต มักถูกบริษัทจ้างให้เป็นที่ปรึกษาในการคุมแรงงาน  ในภาคเหนือ ยังมีผู้หญิงธรรมดาๆ ลงแข่งขันอยู่  บางคนยังรักษาอุดมคติอยู่  แต่บางคนได้กลายเป็นเจ้าของรีสอร์ท  การเมืองท้องถิ่นทำให้คนธรรมดาๆ รวยได้ เพราะ เมื่ออยู่ในตำแหน่ง โอกาส ต่างๆ จะหลั่งไหลเข้ามาตลอดเวลา  แต่ ศิริพร เห็นว่า เป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในตำแหน่ง แม้เห็นโอกาสก็ไม่ควรเอา  ควรปิดรอยรั่วนั้นเสีย

องค์กรพัฒนาเอกชน

เพลินใจ-พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ (มูลนิธิหยาดฝน ตรัง)[vii]
เพลินใจ และพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ  ลงหลักปักป้าย สมาคมหยาดฝน ที่สิเกา ในปี 2528 เพื่อช่วยชุมชนชาวประมงพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ให้หลุดพ้นจากความยากจนและหนี้สิน  ในระยะเริ่มต้น หยาดฝน ไม่ได้คิดว่าจะทำเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นหลัก  แต่เห็นว่าถ้าระบบนิเวศ สมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะหลุดพ้นจากพันธนาการหนี้[viii]  กิจกรรมเริ่มต้นของหยาดฝน เป็นการขุดบ่อ ซึ่งกลายเป็นการคัดเลือกชาวบ้านเพื่อฝึกให้เป็นแกนนำนักพัฒนา ในการเลี้ยงปลาและซ่อมเรือ.  เมื่อ หยาดฝนได้ทุนมาจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อทำกระชังและเลี้ยงปลา ก็ให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ตัดสินใจกันเองว่า ใครมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากที่สุดยืมไปก่อน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันน้ำใจกัน และรับผิดชอบร่วมกัน  การเลี้ยงปลาในกระชัง ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าปลาจะโตพอขายได้  จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าตลอดคืน.   จึงเกิดมีเพื่อนๆ เวียนไปเยี่ยมแก้เหงากับคนเฝ้าปลา จากน้ำใจไมตรีสู่การไว้เนื้อเชื่อใจและพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกัน จนกลายเป็นการรวมกลุ่มเรียนรู้ ซึ่งได้ช่วยให้หยาดฝนเข้าใจระบบนิเวศลึกซึ้งขึ้น และนำไปสู่โครงการต่อมา ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นหลักประกันไม่ใช่เพียงแหล่งรายได้ให้ชุมชนยังชีพได้ และมีผลดีต่อภาวะโลกร้อนในที่สุด

ในปี 2532 หยาดฝน ได้ร่วมกับกรมป่าไม้ ฟื้นฟูและกันแนวเขตป่าชายเลนให้เป็นป่าสาธิต มีแกนนำชาวบ้านเป็นกำลังสำคัญในการสอดส่องคนลอบตัดไม้  เมื่อป่าโกงกางฟื้น สัตว์น้ำต่างๆ ก็กลับมา ชาวบ้านได้เห็นความจำเป็นที่จะไม่ใช้ และไม่ให้คนนอกใช้อุปกรณ์ที่จับปลาไม่เลือกรวมทั้งตัดไม้โกงกางพร่ำเพรื่อ.  ในปี 2535 เต่าทะเลเริ่มปรากฏตามชายฝั่ง แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของระบบนิเวศ  ในขณะที่สิเกาเริ่มสัมฤทธิ์ผล หยาดฝนได้ขยายฐานไปกันตัง โดยใช้สิเกาเป็นห้องเรียน และแกนนำจากสิเกาเป็นวิทยากรให้ชาวประมงที่กันตัง.  งานหลักที่กันตัง คือ ฟื้นฟูหญ้าทะเล อันเป็นแหล่งอาหารของพยูน   ในปี 2536 พยูนก็เข้ามาเกยตื้น 

การจับกลุ่มพูดคุยกันตั้งแต่ที่เพิงเฝ้าปลา ได้ค่อยๆ แปรสภาพเป็นเวทีเรียนรู้ และประมวลภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับ สัตว์น้ำ และพืช.  เพลินใจ เล่าว่า ในระบบนิเวศชายฝั่ง ประกอบด้วยป่า 4 ระบบที่เชื่อมต่อกันหมด คือ ป่าชายเลน (น้ำเค็ม ทำหน้าที่เหมือนมดลูกสำหรับฟูมฟักสัตว์น้ำชายฝั่ง)  พอข้ามคลองไปเป็นป่าจาก (น้ำกร่อย)  ต่อไปเป็นป่าสาคู (น้ำจืด) ขึ้นไปถึงป่าต้นน้ำ  ความเชื่อมโยงเกี่ยวพันนี้ เพลินใจ คิดว่าเป็นหัวใจที่ควรจะถ่ายทอดให้ผู้หญิงเข้าใจ เพราะผู้หญิงมีพลัง   ทำอย่างไรจะให้ผู้ชาย อบต เข้ามาหนุนช่วย  ผู้หญิง... เป็นคนที่ละเอียด ที่รับรู้  ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลสามี เป็นผู้ดูแลลูก จะขัดเกลาอย่างไร จะให้ทำเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร  จะให้ไม่ทิ้งขยะ  จะให้มาทำปุ๋ย  จะปลูกสวนครัวนอกบ้าน  สามีจะไปตัดไม้บนป่าบนเขา ผู้หญิงห้ามได้  สามีจะไปเลือกตั้ง บอกคนนั้นไม่เอานะพี่ ไม่ร่วมอนุรักษ์ป่าสาคู พูดได้[ix]

เพลินใจได้ช่วยเชื่อมร้อยเหล่าโรงเรียนตั้งแต่ในหมู่บ้านป่าต้นน้ำ จนถึงป่าสาคู (พื้นที่รับน้ำจืดก่อนที่จะไปสู่น้ำกร่อย น้ำเค็มและชายฝั่ง) ให้เป็นเครือข่าย  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ กับทั้งกลุ่มแม่บ้าน และเด็กนักเรียนประถมและมัธยมในโรงเรียน เช่น สิ่งแวดล้อมสัญจร นิทรรศการระบบนิเวศสากล และการสาธิตถึงประโยชน์จากต้นสาคู  กิจกรรมเหล่านี้ ได้ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนต่างวัยในชุมชน   คนเฒ่าคนแก่สอนให้ลูกหลานทำจักสาน  สอนให้ลูกหลานทำแป้งสาคู  ตา ปู่ ก็สอนให้ลูกหลานทำว่าว จะเกิดความผูกพันกันมาก  ถึงแม้คนแก่ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็มีภูมิปัญญา ...  เราไม่ต้องเรียกเด็กให้ต้องไหว้ผู้ใหญ่ เพราะมีความสัมพันธ์ ความรักระหว่างคนต่างวัย ...นักศึกษามหาวิทยาลัย มาเรียนรู้ในหมู่บ้าน ... นักเรียนมัธยมมาศึกษาว่า สาคูต้นนี้จะทำประโยชน์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มต้น ใช้ราก ใช้ใบ ใช้ทาง จนออกดอก รากแตกเขากวาง จนมาทำแป้ง ได้เงินเท่าไร ปรากฏว่า นักเรียนมัธยมมาช่วยพี่ๆ มหาวิทยาลัย... ผู้ใหญ่จะมาสอนให้ แป้งทำอย่างไร ทำขนมแบบดั้งเดิม...ขนมจีน...สปาเกตตี้ พาสต้า... ไม่มีอะไรจะทำให้เด็กรู้สึกว่า ป้า น้า ผู้หญิงคร่ำครึ.[x]

เด็กนักเรียนได้เรียนทักษะที่ติดดินและทำร่วมกับผู้ปกครองได้   เด็กประถมไปทำนาไร้สารพิษร่วมกับผู้ปกครอง  ร่วมกับเด็กโรงเรียนเด็กมัธยมไปดูว่า ประชากรสาคูในพื้นที่คลองมีเท่าไร  ต้นสาคูถ้าปลูกใหม่จะปลูกทีละกี่หน่อจึงจะใช้ได้  และสาคูลดโลกร้อนอย่างไร  เขาบอกว่าในป่าสาคู อุณหภูมิจะต่ำกว่าข้างนอกประมาณ 7-10 องศา เพราะฉะนั้น ต้นสาคูดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร จึงไปผลิตแป้งในลำต้นให้ได้ถึง 60-120 กิโลกรัม  ดีกว่าแป้งที่ได้จากแป้งมันสำปะหลัง...ขนาดใด[xi]

แต่ ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีนักวิชาการใดสนใจ  เพลินใจ คิดว่า ถ้าผู้หญิงที่เป็นครู และเป็นแม่ ได้เรียนรู้และเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งในระบบนิเวศเช่นนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์  สร้างเศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหายากจน และจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้แทนที่เหมาะสม

เพลินใจ รู้สึกภูมิใจที่ลูกหลานของชุมชน เริ่มมีความมั่นใจและกล้าที่จะเล่าว่าตนมาถิ่นไกลโพ้น เดิมพ่อแม่มุสลิมไม่ต้องการส่งลูกไปโรงเรียน เพราะ กลัวชาวไทยพุทธจะกดขี่ข่มเหง หลังจากทำกิจกรรมกับหยาดฝน เด็กกล้าแสดงออกและพูดบนเวทีได้  เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานกลุ่มเด็กสาคู ได้รับเชิญจากจังหวัด ให้เป็นตัวแทนเยาวชนต้านยาเสพติด ทำให้ชุมชนรู้สึกว่า แม้ลูกหลานจะเรียนที่โรงเรียนเล็กๆ ก็ไม่ใช่ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เพลินใจเล่าด้วยความภาคภูมิ

พิศิษฐ์ เชื่อมโยงบทบาทหญิงชาย กับวิถีธรรมชาติ ว่า หน้าที่แม่บ้านของผู้หญิง เป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว และแม่เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ลูก ... ถ้ามนุษย์รู้จักเคารพและเรียนรู้จากธรรมชาติ หญิงชายก็จะไม่แก่งแย่งกัน  พิศิษฐ์ ยกตัวอย่างนกเงือกที่ได้รับสมญาว่า ผู้ปกป้องและปลูกป่า”—และ พยูน—“ผู้ปกป้องทะเล หรือ ฤาษีทะเล (เพราะไม่กินสัตว์อื่น จะกินแต่หญ้าทะเล จึงไม่ทำลายระบบนิเวศ)  พิศิษฐ์ อธิบายว่า นกเงือก เป็นสัตว์ผัวเมียเดียวตลอดชีพ  มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันชัดเจน  เวลากกไข่ ตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงไม้ แล้วตัวผู้จะปิดรัง จนเหลือรูนิดเดียวสำหรับส่งอาหาร ตลอดเวลากกไข่ 3-4 เดือน ตัวผู้จะต้องคอยส่งอาหาร และทนต่ออารมณ์แรงกดดันของตัวเมีย. นับว่าเป็นการเสียสละ  เนื่องจากต้องไปหาลูกไม้ไกลหลาย กิโลเมตร นกเงือกจะขี้มาตามทาง จึงได้สมญาว่าเป็นผู้ปลูกป่า  ส่วนพยูนนั้น  แม่พยูนใช้เวลาตั้งท้องถึง 13 เดือน และจะมีช่วงเว้นถึง 9 ปี กว่าจะตั้งท้องอีกครั้ง  พยูนมีอายุได้กว่า 70 ปี. เนื่องจาก พยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  แม่พยูนจะให้ลูกพยูนขี่หลังไปจนกว่าจะหย่านม 

ส่วนในเรื่องสิทธิสตรี พิศิษฐ์ เห็นว่า เป็นธรรมดาที่ผู้หญิงปัจจุบันอยากเท่าเทียมกับผู้ชาย  แต่การเรียกร้องที่เน้นแต่เรื่องการได้เปรียบ/เสียเปรียบ ทำให้กลายเป็นเรื่องยาก เพราะ วัฒนธรรมไทยไม่เอื้อต่อผู้หญิง  อีกประการหนึ่ง สังคมไทยนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งไม่ใช้วัตถุเป็นตัวชี้วัด  แต่ให้ความสำคัญต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัว  จึงจำเป็นต้องมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างหญิงชาย  พิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ความสุขเป็นเรื่องของจิตใจ  การแข่งขันชิงดี เช่น สว ระเบียบรัตน์ ทำให้ผู้ชายกลัว  แต่ผู้ชายไม่กลัวกับการทำงานของ ปวีณา เพราะเธอมีเมตตา  ในยุคใหม่ที่กำลังมาถึง  ปัญหาจะไม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่มากนัก แต่เป็นเรื่องจิตใจ ความรู้สึก และการสร้างคน  ผู้หญิงยังคงต้องเป็นที่ค้ำจุนของสมาชิก ส่วนชายยังคงต้องทำหน้าที่ป้องกัน

เพลินใจ เห็นว่า ถ้าผู้หญิงมีความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศและมีส่วนร่วมในการรักษาความสมดุล และชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้   ผู้หญิงชนบทไม่ควรจะต้องจากบ้านไปเป็นแรงงานที่ถูกกดขี่และเอาเปรียบทางเพศในโรงงาน (ดังที่ตนได้พบเห็นในช่วงเวลา 9 ปี ที่ทำงานอยู่ในฝ่ายสวัสดิการของโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งหลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย)  แต่ถ้าผู้หญิงคนไหนมีทักษะ ความสามารถพร้อม ก็ควรมีโอกาสที่จะ บินสุดสายป่านของความฝัน... เช่นเดียวกับชาย  ในกรณีที่ทั้งคู่ต่างมีความฝันและความพร้อม   ทั้งครอบครัวสามี ภรรยา และลูกน่าจะนั่งลงเจรจา ตกลง แบ่งแยกหน้าที่กันใหม่ เพื่อที่ แม่ หรือ เมีย จะได้ใช้ชีวิตและความสามารถเต็มที่...เช่นเดียวกับ พ่อ หรือ สามี

ด้วยการฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย ทั้งกับภาครัฐและนายทุน ตลอดเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิหยาดฝน ได้สร้างผลงานที่น่าประทับใจและเป็นที่รู้จักในวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ   แต่อุปสรรคยังไม่จบสิ้น ที่สำคัญ คือ กระแสหลักตั้งแต่สื่อบริโภคนิยม และนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องการเปลี่ยนตรังให้เป็นเมืองท่องเที่ยวกระแสหลัก หรือท่าเรือน้ำลึก โดยมีผลประโยชน์แก่ตนเองแอบแฝงอยู่   มูลนิธิหยาดฝน จึงยังต้องยืนหยัด ร่วมมือกับชุมชนต่อไป

นัยนา หวายคำ (มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เชียงใหม่)[xii]
นัยนา หวายคำ เคยเป็นวิทยากรอบรมมิติหญิงชาย เมื่อ 10 ปีก่อน ขององค์กรพัฒนาเอกชนในอีสาน  นัยนาบอกว่า ปัจจุบัน ไม่มีการทำแยกเรื่องหญิง-ชาย และไม่มีการเน้นเรื่องผู้หญิง หรือเจนเดอร์ แบบแต่ก่อน จึงไม่แน่ใจว่า คนรุ่นใหม่จะชัดเจนเรื่องเจนเดอร์แค่ไหน  โดยตำแหน่งหน้าที่ผู้ประสานงานของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ นัยนาพยายามบรรจุมิตินี้เข้าไป เช่น โครงการการทำแผนที่รอยเท้านิเวศ  วัตถุประสงค์ คือ เปรียบเทียบผลกระทบของกระบวนการผลิตของชุมชนจากแหล่งผลิตต้นทางถึงครัวเรือนต่อภาวะโลกร้อนปัจจุบัน โดยประเมินค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ การผลิตในฟาร์มปศุสัตว์ จะประเมินค่าจากอาหารสัตว์ มูลสัตว์ ฯลฯ  ส่วนในการทำไร่นา จะรวมบทบาทการเก็บเมล็ดพันธุ์  การสืบเนื่อง  การเพาะปลูก จนถึงการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งผู้หญิงเล่นบทสำคัญในฐานะผู้เตรียมสำรับกับข้าว  โครงการของมูลนิธิฯ จะไปเก็บข้อมูลดังกล่าวในหลายๆ พื้นที่แล้วนำมาเปรียบเทียบซึ่งจะช่วยให้อธิบายเป็นรูปธรรมได้ว่า ผู้หญิงทำอะไร อย่างไร ที่พึงประสงค์ในภาวะโลกปัจจุบัน

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ฝ่าย สถาบันการเรียนรู้ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ จัดอบรมชุมชน และช่วยติดตาม ประเมินผล  อีกสองฝ่ายของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ คือ ฝ่ายองค์กรชาวบ้าน และฝ่ายอนุรักษ์ป่าชุมชน

ศยามล ไกยูรวงศ์  (โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา  ตรัง)[xiii]
ศยามล ไกยูรวงศ์ มีงานเขียนงานวิจัยมากมายในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั่วประเทศไทย  เห็นว่า ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ขาดฐานข้อมูลเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  แต่อยู่ที่การใช้ข้อมูลในการวางแผนและนโยบาย ที่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น และจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม   วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ส่งเสริมให้มีการศึกษาทบทวนปัญหา และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ทั้งชาวบ้านและนักวิชาการ. กระบวนการของโครงการ คือ 1. สร้างสมรรถนะให้ชุมชนรู้จักสำรวจและประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ป่าจากมีมูลค่าเท่าไร  แล้วสร้างเป็นฐานข้อมูลเข้าสู่ระบบของ อบต   2. จัดทำแผนงานและสร้างกระบวนการสื่อสาร  3. ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรชุมชนและ อบต ในการร่างกติกาสำหรับจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  4. กำหนดดัชนีชี้วัดที่สามารถเชื่อมต่อกับสื่อสารมวลชนได้.  โจทย์ใหญ่ คือ ชาวบ้านและ อบต จะผนึกกำลังกันอย่างไร เพื่อจะได้ไม่อดตาย   แต่มีความหวัง แม้รัฐบาลจะเปิดประตูสู่การค้าเสรี

ดังนั้น งานของศยามล นอกจากให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของทั้ง อบต และ องค์กรชุมชนท้องถิ่น แล้วยังต้องนำทั้งสองฝ่ายให้นั่งเจรจาตกลงกันได้บนโต๊ะร่วมกัน[xiv]   ปัจจัยสำคัญในการเจรจา คือ ความไว้วางใจต่อกัน

งานของศยามลดูเหมือนจะก้าวพ้นเรื่องความแตกต่างระหว่างหญิงชาย  ผู้นำชุมชนหญิง เป็นส่วนหนึ่งในคณะผู้แทนบนโต๊ะเจรจา และได้แสดงความคิดเห็นไม่น้อยหน้ากว่าผู้นำชาย  ในความเห็นของเจ้าหน้าที่ (ชาย) ของโครงการคนหนึ่ง เราไม่แยกหญิงชาย.  ความที่ผู้หญิงไม่คิดชิงตำแหน่ง อบต ทำให้ผู้หญิงเข้าเจรจาง่ายกว่า  ถ้าองค์กรชุมชนใด มีผู้นำที่เคยเป็นคู่แข่ง ชิงตำแหน่งกันมาก่อน ก็มักจะปีนเกลียวกัน เจรจายาก เพราะเคยแพ้-ชนะกันมาก่อน  แต่ผู้หญิงเข้าง่ายกว่า เพราะไม่คิดแย่งอำนาจ จึงทำหน้าที่คานอำนาจได้  เขาแสดงความเห็นต่อว่า ขบวนการผู้หญิง ตอกย้ำให้คุณค่าต่อสิ่งที่ผู้ชายสร้าง คือ กลไกอำนาจ  จึงทำให้ผู้หญิงต้องแบกภาระหนักขึ้น  และคิดว่า ควรเลื่อนมาเอา ชุมชนเป็นฐานการต่อรอง เพื่อความเป็นธรรม มากกว่าการช่วงชิงอำนาจกัน 

ลาเคลา (เครือข่าย พัฒนาผู้นำสตรีกลุ่มชาติพันธุ์  เชียงใหม่)[xv]
ลาเคลา เป็นชาวลาหู่ และเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ของเครือข่ายทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพของแกนนำสตรีใน 10 ชนเผ่า ในภาคเหนือ  ลาเคลาเล่าว่า เดิม ชนเผ่าเพาะปลูกแบบหมุนเวียน  ผู้หญิงเป็นคนเก็บหาของจากป่ามาประกอบอาหาร จึงหวงแหนป่า  แต่พอประกาศเขตป่าสงวนรักษาพันธุ์สัตว์และอุทยาน ชนเผ่าถูกบังคับให้เพาะปลูกอยู่กับที่  ในหลายหมู่บ้าน เกษตรอำเภอได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อขาย มี ข้าวโพด ถั่วดิน ถั่วลิสง ซึ่งต้องใช้สารเคมีอย่างหนัก   ลาเคลาตำหนิว่า เจ้าหน้าที่ส่งเสริม มองข้ามบทบาทของผู้หญิงที่รับผิดชอบในเรื่องอาหารการกิน  ส่วนชุมชนเอง ก็ดูเบาเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องงานผู้หญิง ไม่สำคัญ  แม้มีหนี้สินเพราะการผลิต ชาวบ้านก็ยังติดบริโภคนิยมไปเสียแล้ว ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องโภชนาการในครอบครัว  

กลุ่มผู้หญิงของลาเคลา จึงประสบปัญหาขาดความมั่นคงทางอาหาร และไม่รู้เท่าทันถึงพิษของสารเคมี  ลาเคลาอธิบายว่า  ผู้หญิงส่วนใหญ่ มีการศึกษาน้อย อ่านหนังสือไม่ออก จึงไม่ตระหนักถึงอันตรายของสารเคมี เพราะไม่เห็นผลทันที  เวลาพ่นยา ก็ไม่ชอบใส่หน้ากากกัน เพราะรำคาญ... เดินเท้าเปล่าในพื้นที่ๆ พ่นยาเมื่อวาน...  ผู้หญิงยังหอบลูกเล็กไปทำไร่ และปล่อยให้ลูกเล่นบนพื้น  ลาเคลาสรุปว่า การเรียกร้องสิทธิ์ (อย่างที่ตนทำอยู่) อย่างเดียวไม่พอ  พวกเราก็มัวแต่เรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมาย  ส่วนทางการเห็นว่าการปลูกป่าได้หน้าได้ตา  เกิดช่องโหว่ที่เกษตรพาณิชย์เข้ามาครอบงำวิถีชีวิตและวิถีการผลิตของหลายหมู่บ้าน    ลาเคลา ต้องการพาผู้หญิงในกลุ่มไปศึกษางานในหมู่บ้านที่ยังบริสุทธิ์ เพราะ มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ก่อน และระบบนิเวศยังใสสะอาดเหมือนเดิม  แต่แหล่งทุนไม่อนุมัติให้เบี้ยเลี้ยงสำหรับชดเชยค่าแรงที่ต้องเสียไป เพราะ อ้างว่าผู้ไปอบรมจะได้ความรู้  ลาเคลาจึงยังต้องหายุทธวิธีในการขยับขยายแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

  1. ส่งท้าย

ในมิติหญิงชาย  การจัดการทรัพยาการธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ที่มีคนหญิงและชายเป็นศูนย์กลาง  การที่หญิงหรือชายจะเป็นผู้ธำรงหรือทำลายความสมดุลในระบบนิเวศ ขึ้นกับวิธีคิด ของทั้งหญิงและชายในทุกระดับของสังคม และโครงสร้างเชิงอำนาจ  ทั้งหญิงและชายส่วนหนึ่ง ที่ทำงานในกระแสหลัก นับเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนแนวการพัฒนาที่เน้นการค้ากำไร และบริโภคนิยม ที่ได้สะกดจิต หรือครอบงำความคิดของชุมชนให้หันไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ   และทำลายสติและสุขภาพของตัวเอง ด้วยเหล้า บุหรี่ และอบายมุขต่างๆ  (ที่เรียกว่า ความบันเทิงเริงรมย์)  ในขณะเดียวกัน ก็ทำลายวงจรลูกโซ่ของอาหารด้วยสารเคมี  การเสียสมดุลระหว่างมนุษย์กับนิเวศ เริ่มต้นที่จิตสำนึกของแต่ละคนและแผ่ขยายไปยังจิตวิญญาณทั่วโลก  การฟื้นคืนความสมดุล จึงต้องแก้ถึงระดับจิตวิญญาณเช่นกัน

ประสบการณ์การต่อสู้ของตัวอย่างผู้นำชุมชนจากภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่นำเสนอในบทความนี้ สะท้อนให้เห็นความพยายามของแต่ละคนที่ปรับตัวจากตามกระแส เป็นทวนกระแส เพื่อแก้ไขความบิดเบี้ยวที่เกิดจากการพัฒนาแบบอหังการและใช้ความรุนแรง ที่มากับโลกาภิวัตน์  ในกระบวนการดิ้นรนนั้น เป็นโอกาสของการทบทวนแก้ไขจุดอ่อนในระบบดั้งเดิมไปในตัว  ในขณะที่หญิงและชายยังมีความทรงจำที่ดีๆ เหลืออยู่ เกี่ยวกับป่า น้ำ ทะเล อากาศ และ ความสัมพันธ์  การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงออกมามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของสังคม  นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญประการหนึ่งของอารยธรรมมนุษยขาติ ท่ามกลางวิกฤตรอบศตวรรษในโลก  ผู้หญิงในบทความนี้ ได้แสดงความเป็นผู้นำที่มีมุมมองช่วยเสริม เติม หรือปรับวิธีคิดของผู้ชายให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ 

บทเรียนต่างๆ ที่รวบรวมไว้ในบทความนี้ ไม่มีการสรุป สังเคราะห์หรือให้คำแนะนำ  เพราะ ไม่มีสูตรสำเร็จ และการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ที่ขาดองค์ความรู้  แต่หวังว่า การได้รับรู้วิธีคิดและวิถีชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเสียงผู้นำหญิง จะช่วยให้เกิดความคิดแตกฉานในทางสร้างสรรค์ ที่จะช่วยแต่ละคนดำเนินชีวิตให้ ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ดั่งพุทธปัจฉิมพจน์  อันจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่ช่วยลดความไม่เป็นธรรมในสังคม  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และตามด้วยภาวะโลกร้อน

ชุมชนไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเข้มแข็งขึ้นมาได้... ต้องมีการวางระบบของชุมชน ต้องเริ่มที่การเรียนรู้ ... เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นพื้นฐานการดำรงชีพ  ชุมชนต้องทำอยู่ทำกินให้พอ... จะต้องให้สอดคล้องและเกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติส่วนกลางของชุมชน  ไม่ทำลายสุขภาพด้วย  เมื่อมีเหลือมากพอ  สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ ขาย  แต่จะขายอย่างไร    เกษตรกรไม่ควรคิดขายผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบอีกต่อไป   แต่ต้องคิดจัดการกับผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์เสียก่อน ... เป็นอุตสาหกรรมของชุมชน ... จะต้องสร้างและสะสมทุนของตนเอง เพื่อช่วยเหลือกันเอง  พึ่งทุนภายนอกให้น้อยที่สุด  ตลอดจนมีการจัดการระบบสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชน[xvi]



เอกสารที่เป็นประโยชน์
(เรียงตามลำดับปีที่พิมพ์)

ภาษาไทย
2528     ศิริ ผาสุก  กลุ่มเกษตรกรกับการพัฒนาชนบท: กรณีกลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ:  โครงการศึกษาทางเลือกการพัฒนา  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
2538     กฤตยา อาชวนิจกุล (บรรณาธิการ) บันทึการต่อสู้ของผู้หญิงธรรมดาเคียงร่าง สร้างแผ่นดิน.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อนหญิง และเจนเดอร์เพลส
2538     คณะกรรมการเครือข่ายหัตถกรรมและพัฒนาสตรีอีสาน  ผู้หญิงอีสานกับการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ. ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2538     ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพรพิไล เลิศวิชา (บรรณาธิการ) ทิศทางวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
2538     ชยันต์ วรรธนะภูติ เวทีผู้ถูกท่องเที่ยว  เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2539     เตียง ผาดไธสง ฤาป่าซางจะล่มสลาย เชียงใหม่: ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา  สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2539     วิฑูรย์ ปัญญากุล และตรียดา ตรีมรรคา  บนผืนแผ่นดินและชีวิตเดียวกัน  กรุงเทพฯ: เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และกรีนเน็ต
2541ก   กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์กลางการเรียนรู้ในชุมชน กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ
2541ข   กระทรวงศึกษาธิการ  บรรณานุกรมข้อมูลศูนย์กลางการเรียนรู้ในชุมชน กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ
2542     มันทนา สามารถ และวิบูลสุข บัณฑิตย์ สตรีกับสิ่งแวดล้อม: จากทัศนะและประสบการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชน กรุงเทพฯ : มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
2546     UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย 2546 กรุงเทพฯ: สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
2547     สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ   กุญแจสู่ความสำเร็จ ป่าชุมชนของคนรากหญ้า กรุงเทพฯ:   สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ.
2547     ริคาร์โด คาร์เรเร และลาร์รี่ โลห์แมนน์ (ชุลีพร วิริยะวงศ์ชัย แปล) ปั่นชีวิตให้เป็นกระดาษ: เรื่องราวว่าด้วยเยื่อกระดาษกับการล่มสลายของชุมชนและสิ่งแวดล้อมในซีกโลกใต้  กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
2548     วิเชิด ทวีกุล พลวัตการเมืองภาคประชาชน: กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ.ศ. 2530-2547 กรุงเทพฯ : โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่  มูลนิธิชุมชนไท
2548     สิระพล อักษรพันธ์ (บรรณาธิการ) ประกายไฟในคืนมรสุม: รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการหยัดยืนของคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ตรัง: พันธมิตรเครือข่ายประชาชนภาคใต้
2549     อัจฉรา รักยุติธรรม (บรรณาธิการ) โลกาภิวัตน์ ปะทะ ท้องถิ่น  เชียงใหม่: โครงการสื่อสารแนวราบ
2550     อัจฉรา รักยุติธรรม  องค์ความรู้ท้องถิ่น พลังและการสืบทอด: ประมวลองค์ความรู้ท้องถิ่น 10 ปี เครือข่ายลุ่มน้ำปิงตอนบน เชียงใหม่: โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน
2550     นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์  พัฒนาการเครือข่ายชุมชน ลดเหล้า ลดความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็ก.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อนหญิง
2550     บัณฑิตา อย่างดี  สืบค้นพลังจากงานวิจัยโดยชุมชนปากใต้. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
2551     เจด็จ เชาวน์วิไล และคณะ  นวัตกรรม ผู้ชายเลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อนหญิง
2551     ศยามล ไกยูรวงศ์ รายงานการวิจัย  โครงการศึกษาบทเรียน  - ประสบการณ์ของภาคประชาสังคม / ชุมชนในการดูแลจัดการฐานทรัพยากร กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์
2551     ศยามล ไกยูรวงศ์ และคณะ  ภูมิปัญญา วิถีชุมชน วิถีธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
2551     ศยามล ไกยูรวงศ์ และคณะ  ผลประโยชน์บนผืนดินกับเสียงคร่ำครวญของผู้ประสบภัย เชียงใหม่: มูลนิธิ ไฮน์ริค เบิลล์
2551     สมัชชาสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพื้นบ้าน อนุรักษ์ พิทักษ์สิทธิ์ กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2552     เกศสุดา สิทธิสันติกุล และโอฬาร อ่องฬะ (บรรณาธิการ) การพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อยกระดับกลไกการมีส่วนร่วมให้กับองค์กรท้องถิ่น ในการบริหารจัดการท้องถิ่น เชียงใหม่: สถาบันพัฒนาท้องถิ่น มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
2552     ภาวดี ทองอุไทย (บรรณาธิการ) สตรีกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2552     มูลนิธิเพื่อนหญิง  ลด ละ เลิกเหล้า = สร้างสุขให้ครอบครัวและชุมชน (คู่มือการทำงาน) กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อนหญิง
2552     องอาจ เดชา (บรรณาธิการ) ไปเรียนรู้วิถีพึ่งพาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมดิน น้ำ ป่า ของคนบ้านแม่แพม. เชียงใหม่: สถาบันการจัดการทางสังคม
2552     อินทิรา วิทยสมบูรณ์  ผืนป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ป่ากันชน ดอยหลวงเชียงดาว หรือเมล็ดพันธุ์กันชน บ้านหัวทุ่ง เชียงใหม่: สถาบันการจัดการทางสังคม

แผ่นพับ (สนับสนุนโดย สมาคมหยาดฝน)
ชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ การจัดการหอยปะอย่างยั่งยืน
ชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง แนวคิดการดำเนินงาน และ สาคู: พืชมหัศจรรย์
ป่าสาคู เพื่อนเก่าที่ถูกลืม

ภาษาอังกฤษ
Mies, Maria and Vandana Shiva. 1993. Ecofeminism. London: Zed Books
Van den Hombergh, Heleen. 1993. Gender, Environment and Development: A guide to the literature. Amsterdam: Institute for Development Research Amsterdam
Pisit Charnsnoh. 1994. Saviours of the Sea. Bangkok: Thai Development Support Committee (TDSC)
Shiva, Vandana (ed.). 1994. Close to Home: Women reconnect ecology, health and development worldwide. Philadelphia: New Society Publishers
Cunningham, Susan. 1998. “A Raindrop Cleans the Wetlands”,
Ong, Ju Lynn. 2003. “One With Mother Nature” in The Star Online (Malaysia)
Snell, Marilyn Berlin. 2003. “No Empty Boats: A Thai conservationist helps fishermen prosper – Profile: Pisit Charnsnoh” , Sierra Magazine.  (http://www.erthisland.org/)
Pisit Charnsnoh. 2004. “In Praise of the Dugong” (www.rolexawards.com/laureates/laureate-79-charnsnoh.html)
Suutari, Amanda. 2005. “Community Mangrove Management in Thailand” (unpublished)
Veerawat Dheeraprasart et.al. 2005. After the Logging Ban: Politics of forest management in Thailand. Bangkok: Foundation for Ecological Recovery
Chanyut Sudtongkong and Edward L. Webb. 2008. “Outcome of State- vs. Community-Based Mangrove Management in Southern Thailand”, Ecology and Society 13(2): 27.  (www.ecologyandsociety.org/vol13_iss2/art27/ )


รายนามผู้ให้ข้อมูลในการสัญจรสนทนา
22 พย 21 ธค 2552

บุคคล
องค์กร
ภาคเหนือ


เชียงใหม่
นัยนา หวายคำ
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
แม่หล้า ศรีบุญยัง
กลุ่มแม่หญิงฮักถิ่น (บ.หัวทุ่ง เชียงดาว)
ลาเคลา
เครือข่าย พัฒนาผู้นำสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ (แม่นะ เชียงดาว)
โอฬาร อ่องฬะ
สถาบันพัฒนาท้องถิ่น (เชียงดาว)

ลำปาง
ศิริพร ปัญญาเสน

นายก อบต พิชัย
ประธาน กลุ่มประสานงานเพื่อการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง
ภาคอีสาน


ขอนแก่น
จรัญญา วงษ์พรหม
สถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จรูญพิศ จันทร์ศรี
ภคมน สีคำทา
พอช อีสาน
แม่อุไร สมบูรณ์
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า (บ้านชีกกค้อ  บ้านไผ่)
แม่ณัฐพร-พ่อสวาง บัวจารย์
กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำพอง (บ้านสระกุด   น้ำพอง)

ร้อยเอ็ด
แม่อิง  ไถวสินธุ์
เครือข่ายชุมชนปกป้องลุ่มน้ำวังพระธรรม (บ้านโคกสมบูรณ์  โพธิชัย)

อำนาจเจริญ
บุปผาวรรณ อังคุระษี
ศูนย์เพื่อนหญิง-อีสาน (ต.ปุก อ.เมือง)
กำนัน รัตนา สาระคุณ
ศูนย์เพื่อนหญิง-อีสาน (ต.โนนหนามแท่ง  อ.เมือง)
ดอกไม้
ศูนย์เพื่อนหญิง-อีสาน (ต. จิกคู่  อ.ตะพานหิน)
ภาคกลาง


ปราจีน
ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
ธรรมเกษตร
ภาคใต้


ตรัง
ศยามล  ไกยูรวงศ์
โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (ควนปริง)
เพลินใจ-พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ
มูลนิธิหยาดฝน (ทับเที่ยง)







[i] 15-16 ธันวาคม 2552
[ii] อีกสามพื้นที่ คือ ชุมชนไทยเกรียง (สมุทรปราการ)  ชุมชน 5 ธันวา ฟ้าใหม่ (เชียงใหม่) และโรงพยาบาลชุมพร
[iii] นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์, 2550, น.220
[iv] นิตยา พิริยะพงษ์พันธ์, 2550, น.221
[v] 11-12 ธันวาคม 2552
[vi] www.pichai.go.th
[vii] 19 พฤศจิกายน 2552
[viii] ภาวดี ทองอุไทย (บรรณาธิการ), 2552, น.12
[ix] ภาวดี ทองอุไทย (บรรณาธิการ), 2552, น.15
[x] ภาวดี ทองอุไทย (บรรณาธิการ), 2552, น.52
[xi] ภาวดี ทองอุไทย (บรรณาธิการ), 2552, น.16
[xii] 3 ธันวาคม 2552
[xiii] 24 พฤศจิกายน 2552
[xiv] ดิฉันได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่น่าเสียดายที่ฟังภาษาใต้ไม่รู้เรื่อง จึงจับใจความได้เพียงเล็กน้อย
[xv] 1 ธันวาคม 2552
[xvi] UNDP, 2546, น.9