ม.ร.ว. ปรีดียาธร เทวกุล “ปัญหาการวัดแบบจีดีพีและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เวทีเสวนา การพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นจริงได้อย่างไร?
จัดโดย โครงการให้ความรู้เรื่องแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสังคมสุขภาวะ (School for Wellbeing Studies and Research), 30 พฤศจิการยน 2553, จุฬาฯ
จีดีพี มาตรนำสู่ความประมาท
ผมไม่เชื่อมานานแล้วว่า จีดีพีเป็นมาตรที่ถูกต้อง ในปี 2549 ผมได้พูดที่ สัมมนา ชิน โสภณพานิช ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีว่า จีดีพีเป็นมาตรที่ไม่ถูก ทำให้เกิดปัญหาส่วนเพิ่มมาตลอด ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นมาตรวัดตัวใหม่ แต่ก็ไม่มีพื้นที่ เพราะว่าเขาให้คนอื่นคุมสภาพัฒน์ และบอกผมว่า “เราทำหน้าที่รักษาการณ์เท่านั้น” ผมจึงไม่สามารถทำอะไรได้
ก. เศรษฐกิจฟองสบู่ เหตุเริ่มที่สหรัฐฯ
แต่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาความจำกัดของจีดีพี อย่างที่ Stiglitz ได้กล่าวไว้ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็เริ่มหงายคว่ำในปี 2007 อันเนื่องมาจากตลาดหุ้นตราสารหนี้ระเบิด ในปี 2008 ธนาคารต่างๆ ก็ทะยอยกันล้ม ในปีนี้ ควอเตอร์ที่สาม ของ 2010 ก็ยังปีนไม่ถึงปากบ่อ ของควอเตอร์แรกในปี 2008 หายนะครั้งนี้มาจากการเชื่อจีดีพีจนเกินไป ในช่วง 20 ปี ระหว่าง 1987-2008 ภาคการเงินของสหรัฐฯ ขยายตัวรวดเร็วกว่าภาคการผลิตที่จริงถึงสามเท่าตัว ด้วยการปั่น คือ ยืมเงินมาใช้ ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีหนี้สูงสุดในโลก คิดเป็นจำนวน หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2005 การที่สหรัฐฯ ใช้วิธียืมเงินมาใช้ ทำให้จีดีพีโตไว เป็นฟองสบู่และในที่สุดก็ระเบิด จึงจะต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้น เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ 1992 ก็ยังเป็นแคระเหมือนเดิม
ข. เศรษฐกิจไทยจะไปรอดไหม?
ไทยยังโชคดีที่ภาคการเงินไม่โตเร็วขนาดนั้น มาโตเร็วใน 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ความเสียหายจากการหลงเชื่อจีดีพี จึงยังไม่รุนแรง
ถึงกระนั้น ปัญหาก็ยังมีอยู่ เพราะมันไม่ใช่มาตรวัดที่ถูกต้อง ไทยเราก็ลอกเลียนมาจากคนอื่น ด้วยการนำตัวเลขต่างๆ มารวมกัน เช่นนี้ ถ้าผิดก็ผิดกันทั่วโลก ถูกก็ถูกกันทั่วโลก ยังไม่มีใครพบมาตรที่เหมาะสมใหม่มาแทนจีดีพีได้
ปัญหาจีดีพี อยู่ที่ผู้ใช้: รัฐ และสื่อ
ลำพัง จีดีพี ไม่ได้นำไปสู่ปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่ทุกคน—โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อในไทย--พูดแต่จีดีพีตัวเดียว ในประเทศจีน สื่อเขาจะพูดถึงตัวอื่นด้วย
ก. ยุคเริ่มต้น พึ่งทุน พึ่งเทคโนโลยีต่างประเทศ แลกด้วยระบบนิเวศและความเป็นธรรมในสังคม
จีดีพี เพียงแต่เป็นตัวชี้วัดตอนเริ่มต้นการพัฒนาที่สะดวกต่อผู้บริหาร ผู้บริหารก็ย่อมต้องการใช้เครื่องมือที่สะดวก ให้เห็นการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ตอนเริ่มต้น ก็มุ่งสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า ถนน ฯลฯ ตามความต้องการให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนงบประมาณที่จำกัด ก็เลือกวิธีการที่ถูกและง่ายกว่า เช่น ทำโรงไฟฟ้าที่อาศัยเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่แม่เมาะ ลำปาง ซึ่งก่อเกิดปัญหาคลาสสิคต่อสิ่งแวดล้อม เรายอมลงทุนเช่นนี้ เพราะต้องการให้เศรษฐกิจโตเร็ว แต่ผลเสียระยะยาว คือ หมอกควัน (โดยผิวเผินเหมือนกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่หมอกคนละชนิด)
การทำถนนในสมัยนั้น รัฐอนุญาตให้สัมปทาน ระเบิดเอาหินจากภูเขาลูกโดดทั้งลูก ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ พวกฝรั่งจะทำหินจากดิน ซึ่งเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้เกิดแก้มลิงสำหรับพักน้ำหลากได้ แต่วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ต้องใช้ต้นทุนสูง จะทำให้ จีดีพี โตช้าลง ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีมาตรวัดตัวอื่นให้ผู้บริหารฉุกคิดได้ว่า การลงทุนเช่นนั้น กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมและชีวิตคน อันเป็นเป้าหมายอุดมคติของการพัฒนา แต่จีดีพีไม่สามารถบอกถึงการกระจายรายได้ และทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีมาตรวัดที่สามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายได้ว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนามาค่อนศตวรรษนี้ ได้กระจายสู่ประชาชนไทยอย่างเสมอหน้ากันเพียงไร
เมื่อไม่มีมาตรที่มีกำลังพอๆ กับ จีดีพี ผู้บริหารจึงเคลิบเคลิ้มอยู่กับอัตราการขยายตัวของจีดีพี หลงเชื่อว่า จีดีพีโตเท่าไร การกระจายรายได้ก็ดีตามไปเท่านั้น เมื่อเราเริ่มต้นพัฒนา ประชากร 1/5 ชั้นบนสุด มีรายได้สูงกว่าประชากร 1/5 ชั้นล่างสุด 13.5 เท่า ในตอนสิ้นแผนพํฒนาแห่งชาติที่ 9 (พ.ศ. 2548) ความแตกต่างระหว่างรายได้ของทั้งสองขั้วก็ยังเท่าเดิม เป้าหมายอุดมคติของการพัฒนา คือ ลดช่องว่างของรายได้
ข. ยุคการกระจาย...สู่ชนบท
ผมเชื่อว่า สิ้นปีพ.ศ. 2553 ช่องว่างนี้น่าจะลดลง เพราะเกษตรกรน่าจะมีรายได้สูงขึ้น และมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น
ผลเสียของจีดีพี ที่เป็นมาตรโดดตัวเดียว คือ ทุกคนจะวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่ระวังตัว เพราะไม่มีดัชนีเตือนภัยว่า เดี๋ยวจะแย่นะ ทำให้การตีความของ “การกระจาย” กลายเป็น “ปล้น” ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสังคม เพียงเพื่อให้พัฒนาเศรษฐกิจตามแบบตะวันตก ซึ่งลงท้ายเป็นการขัดกับเป้าประสงค์ของการกระจายรายได้ เช่น การขยายการค้าปลีกแบบตะวันตกลงสู่ชนบท
แต่เดิม การค้าปลีกหรือ “โชวห่วย” อยู่ในมือของร้านลุงป้าข้างบ้าน ที่เป็นผู้กระจายบริการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค ที่เชื่อมกับเมือง หรืออาจมีนายทุนท้องถิ่นที่ตั้งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม แต่เดี๋ยวนี้ กลับตกอยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บิ๊กซี โลตัส คาร์ฟูร์ (ซึ่งกลายเป็นของบิ๊กซี) หรือ แม็คโคร ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กระจายไปในเมืองใหญ่น้อย ทั่วประเทศ
๑. การกระจายที่ทำลายฐานเศรษฐกิจท้องถิ่น
นี่เพราะไม่มีมาตรวัด ที่สามารถชี้ให้ผู้บริหารเห็นว่า ความก้าวหน้าแบบนี้ มันทำลายอุดมคติของการพัฒนา สวนทางกับเป้าประสงค์ของการกระจายรายได้ (มันเป็นการกระจายความฟุ้งเฟ้อในกระแสบริโภคและวัตถุนิยม-ดรุณี) แต่ชาวบ้านทั่วไปก็พากันนิยม เพราะว่ามันมีวัฒนธรรมของความสมัยใหม่ สะดวก เจริญ ศิวิไลซ์ นอกจากนี้ ก็มีสินค้า อุปโภค บริโภคทุกอย่างในที่เดียวกัน ในราคาที่ถูกสำหรับผู้ซื้อ
แต่มันมีข้อเสียหลายอย่างที่มองไม่เห็น แต่กัดกร่อนระดับลึก
1. ผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไร่ ชาวสวน ไม่มีอำนาจต่อรอง (เพราะช่องทางตลาดล้วนตกอยู่ในกำมือของบริษัทยักษ์ใหญ่)
2. บริษัทยักษ์กดราคาซื้อขายจากต้นทาง เพื่ออำนวยความ “สะดวกซื้อ ราคาถูก” แก่ผู้บริโภคปลายทาง (ทำให้ผู้บริโภคเสพติดกับของราคาถูก โดยหย่อนการคำนึงถึงคุณภาพ)
3. ร้านลุงป้าข้างบ้าน จำต้องปิดตัวลง (เพราะลูกค้าหันไปใช้บริการสะดวกซื้อ-ราคาถูกกว่า โดยลืมความดีงามของร้านลุงป้า คือ) ไม่ใช่เป็นเพียงร้านค้า แต่ยังเป็นที่พึ่งของคนจน ได้ซื้อของใช้จำเป็นด้วยการติดไว้ก่อน สิ้นเดือนจึงจ่าย หรือมานั่งระบายความทุกข์ ซึ่งเป็นบริการฟรีแก่สังคมอย่างหนึ่ง แต่พอร้านลุงป้า ไม่มีรายได้ก็อยู่ไม่ได้ กำไรไหลไปกองรวมอยู่ที่ห้างยักษ์ใหญ่ แม้แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมท้องถิ่นก็ไปไม่รอดเช่นกัน
เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในกระแสทุนนิยม ก็ต้องว่ากันตามทฤษฎีทุนนิยม ยังไงก็ต้องโตด้วยทุน ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น มาจากทุนท้องถิ่น กำไรก็คืนสู่ท้องถิ่น แต่ห้างยักษ์ใหญ่เช่น Tesco Lotus ดึงกำไรเข้ากรุงเทพฯ หมด จะไม่ reinvest ในท้องถิ่นเหมือนห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมดังกล่าว เช่นนี้ การปล่อยให้ธุรกิจของห้างยักษ์ใหญ่ไปลงทุนทั่วประเทศ จึงเป็นการสวนทางกับเป้าหมายการกระจายรายได้สู่ชนบท
๒. การกระจายที่ทำลายวัฒนธรรม
การพัฒนาควรจะส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีงาม ให้ช่วยกันรักษาความดีของสังคมใว้ และธำรงวิถีชีวิตที่เหมาะสม แต่เราไม่มีมาตรวัดความสามารถในการรักษาวัฒนธรรม ที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้ เช่น การรณรงค์รักษาวัฒนธรรมควรเป็นอย่างไร มันไม่มีดัชนีที่สามารถไปกระตุกใจของผู้บริหาร จึงไม่มีการระวังตัว (มันเป็นประเด็นของ “ความรู้” หรือ จิตสำนึก? การรวบรวมตัวเลข หรือการชั่งตวงวัด ใช้เวลาและผันทรัพยากรปริมาณมาก จะต้องใช้ปริมาณถึงเพียงไหนที่จะทำให้คน “เปิดตา เปิดใจ”? จะต้องมีคนตายกี่คน จึงจะมีน้ำหนักพอกับการขยายตัวของจีดีพี 1%? จริงอยู่ จะต้องใช้ภาษษเดียวกัน คือ มาตรวัด ต่อมาตรวัด แต่ดูเหมือนพื้นฐาน เป็นเรื่องของอำนาจมากกว่าข้อมูล มโนสำนึก—ของมนุษย์ มากกว่าตรรกะ ประมาท อหังการ์ ที่สำคัญมันใหญ่ ซับซ้อน และกระจุกตัว จนเสียงคนเล็กๆ กลายเป็นเสียง “ถ่วง” ซึ่งถูกพิพากษาไปแล้ว)
การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ดี แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ มันทำลายความดีงามของสังคมไทย อันที่จริง มันเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไม่โจ๋งครึ่มเหมือนเมืองไทย แนวโน้มอันนี้ ได้กลายเป็นที่ยอมรับจากคนกลุ่มหนึ่งในสังคม
๓. การกระจายที่สร้างนิสัยมักง่ายและหนี้สิน
ภาคธุรกิจการเงินก็ไม่มีความระมัดระวัง เพราะไม่มีดัชนีเตือนภัย บัตรเครดิตเป็นบริการที่เหมับคนเมืองใหญ่ ที่มีรายได้พอผ่อนเงินกู้ได้ ไม่เหมาะกับคนยากจน คนที่เป็นหนี้ หรือตกงาน คนที่มีเงินเดือน 2-30,000 บาทจึงใช้บัตรเครดิตได้ แต่พอปล่อยให้คนเงินเดือน 6,000 บาท อย่างที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาทำ คนจึงติดกับหนี้สินมากมาย คนไม่เคยมีเงินมาก พอมีปั๊บ ก็ใช้หมดเลย การให้บัตรเครดิต จึงต้องกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ
บัตรเครดิตได้ทำลายนิสัยการออมก่อนใช้ คนไทยรายได้ไม่สูง มีมากกว่าครึ่งของประชากรไทยทั้งหมด และในจำนวนนี้ 60-70% ก็มีรายได้ที่ไม่ควรถือบัตรเครดิต
ทุกวันนี้ ฐานการเงินของคนไทยยังคงอยู่ การใช้เงินก่อนออม ได้ฆ่าสหรัฐฯไปแล้วในปี 2007 เพราะไม่มีมาตรวัด (เรื่องหนี้บัตรเครดิตเป็นมานานกว่า 30 ปีในสหรัฐฯ รู้กันทั่ว แต่นักลงทุน ผู้บริหารประมาท ผู้บริหารต่างกับผู้ปกครอง ผู้บริหารธุรกิจประพฤติตามทฤษฎีทุนนิยม เอาเร็วเข้าว่า และเสี่ยงสูง-กำไรสูง การระดมหุ้นแบบมหาชนที่แทนความสัมพันธ์มนุษย์ด้วยใบหุ้นและเงินตรา บีบให้ผู้บริหารเป็นนักพนัน นักล่า ปัญหาจึงเป็นระบบที่ทำให้คน—ทั้งผู้บริหาร และสาธารณชนทั้งหมด--ประมาท มากกว่าดัชนี ดัชนีเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ธำรงระบบอำนาจเดิม ผู้ปกครองในอุดมคติ หรือ “ราชะ” จะคำนึงถึงบริบททางความสัมพันธ์ของมนุษย์ และกับจิตวิญญาณ เพราะคุณธรรม จริยธรรม เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมของการเป็น “ราชาเหนือราชา”)
การไม่มีมาตรวัดอื่นมาเตือนสติ ถ่วงดุล ทำให้ไม่รู้ตัว ไม่ระวังตัว กว่าผู้บริหารจะนึกออก ก็สายเสียแล้ว ผู้บริหารย่อมสนใจในความเจริญทางวัตถุ และการตามแบบประเทศที่ “เจริญแล้ว” ก็ง่ายกว่า ประชาชนก็ชอบ เพราะเป็นวัตถุรูปธรรมเห็นชัดจับต้องได้ ผลักดันเชิงนโยบายง่าย ดูเหมือนทุกคนได้ประโยชน์ แม้คนไม่ได้ก็มี (แต่ผู้บริหารมองไม่เห็นเพราะ “ไม่ใช่พวกเรา”) เรื่องจิตใจเป็นเรื่องจับต้องได้ยาก เมื่อต้องเลือกระหว่างความเจริญทางจิตใจกับความเจริญทางวัตถุ ความเจริญทางวัตถุก็มักจะชนะ...แม้ว่าจะต้องแลกกับความเจริญทางจิตใจ จีดีพีเป็นมาตรวัดความเจริญทางวัตถุถ่ายเดียว ไม่สะท้อนเรื่องจิตใจเลย ดังนั้น ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ก็จะมุ่งไปทางวัตถุด้านเดียว
๔. การกระจายสิทธิ์ในการทำลายธรรมชาติ
ขาดมาตรวัด การพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเหมือนการบ่น ที่ต่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจว่าทำลายระบบนิเวศ การท่องเที่ยวที่ขัดกับวัฒนธรรม ทำลายทิวทัศน์ที่งดงามตามธรรมชาติ และเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน
ผู้ประกอบการได้มีการเริ่มดูแลน้ำเสียจากโรงงาน ร้านอาหารของตน แต่เรายังไม่มีมาตรฐานดูแลไม่ให้ก่อสิ่งปลูกสร้างที่รกตา เช่น บริเวณสามเหลี่ยมทองคำฝั่งไทย กลายเป็นกองอะไรที่ไม่น่าดูเลย ซึ่งต่างกับฝั่งลาว ที่ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ ของไทยเรา ทำถูกกฎหมาย แต่คนทำไม่รู้เรื่อง คนรู้เรื่องไม่พูด ของลาวกลับเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ มีการพูดกันมาก
ค. อาการความเจริญของพยาธิ์
การช๊อปกันบนทางเท้า ก็มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถ้ามีการจัดบริเวณให้ผู้ค้าให้เหมาะสม แต่ทุกวันนี้ มันกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เสน่ห์กลายเป็นสกปรก รุงรัง คนเดินถนนกลับไม่มีพื้นที่สำหรับเดินเท้าได้
สภาพเศรษฐกิจของไทยเป็น dual economy ที่เน้นการสร้างความ “เจริญ” มากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน พ้นจากเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในปริมณฑล ในอำเภอรอบนอก มีความสะดวกสบาย (กว่ากรุงเทพฯ ที่แออัด รถติด มลภาวะ) แต่ระบบสาธารณูปโภคไม่ครบ ถิ่นที่ห่างไกลออกไป ไม่มีน้ำสะอาดสะดวกใช้ (เหมือนในเมือง) การบริการสาธารณะหย่อนทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น โรงเรียน อุปกรณ์ หนังสือ...ครู จีดีพี ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนเช่นนี้ ความสนใจของผู้บริหารจึงยังพุ่งไปที่เศรษฐกิจที่วัดได้ง่ายกว่าในกรอบของจีดีพี เศรษฐกิจสองหน้าของไทยจึงไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษา
ง. ความไม่เป็นธรรมในการตอบแทนผู้ผลิต ที่เป็นฐานเศรษฐกิจของชาติ
คนงานในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ได้รับการดูแลค่าใช้จ่ายยามป่วย ปลดเกษียณก็มี pension fund ในภาคอุตสาหกรรม ก็มีการดูแลสวัสดิการ มี providence fund หลังปลดเกษียณ แต่ในภาคเกษตร ไม่มีเงินรองรับดูแลยามแก่เฒ่า หรือประสบอุบัติเหตุ ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการชดเชยไร่นาที่เสียหายจากน้ำท่วม เป็นจำนวน 2,200 บาทต่อไร่ ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีระบบถาวรใดๆ ที่จะเป็นหลักประกันให้ชาวไร่ชาวนามั่นใจ (ครอบครัว ชุมชน เคยเป็นฐาน หลักประกัน หรือ safety net มาแต่โบราณ แต่การพัฒนาแบบจีดีพีได้กัดเซาะทำลาย แล้วจะมาสร้างหลักประกันที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง “ผู้ให้” ซึ่งหมายถึงการเก็บภาษีให้ละเอียดลึกยิ่งขึ้น...จากผู้ที่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยธรรมชาติ สองระบบคิดมันขัดกัน โจทย์คือ การพัฒนาจะกระจายตัวในลักษณะที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วม...ใน.เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งได้ถูกล้างสมอง ถูกถอนราก ถูกทำให้เจ็บใจ ง่อยพิการ...อย่างไรที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม มากกว่าการสร้างความชอบธรรมให้อำนาจกระจุกตัวต่อไป หรือมอบชะตากรรมในอุ้งมือของผู้เชี่ยวชาญ?)
สรุป
ก. ต้องรู้เท่าทันจีดีพี
ผู้ใช้จีดีพี ต้องเข้าใจข้อจำกัดของมัน เช่น มันไม่สามารถวัดสภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชน การกระจายความเจริญ และการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระจายโอกาสการทำมาหากิน ซึ่งเชื่อมโยงกับรายได้ จึงต้องมีระบบสวัสดิการรองรับ
ข. ติดตามสัญญาเมื่อนักการเมืองกลายเป็นรัฐบาล
ในต่างประเทศ ในเวลาเลือกตั้ง ผู้นำจะสัญญา เช่น จะประกันราคาพืชผล การศึกษาที่เท่าเทียม รวมทั้งการบริการสาธารณะอื่นๆ เช่นการศึกษา สุขภาพ เขาจะไม่พูดถึงจีดีพีกันมากอย่างไทย และประชาชนก็ติดตามดูจากผลงานของรัฐบาลว่าทำตามที่สัญญาเพียงไร
ค. สื่อต้องใจกว้าง อยู่ฝ่ายประชาชน = “สื่อมวลชน”
ของไทย จีดีพี เป็นเหมือนเป้าใหญ่ ที่สภาพัฒน์เป็นผู้นิยาม และแถลงความก้าวหน้าในภาษาจีดีพี และสื่อก็รับลูกต่อ โดยมักจะชื่นชมกับอัตราขยายของจีดีพี แต่ไม่ชื่นชมกับราคาเพิ่มขึ้นของพืชผล เพราะมันหมายถึงค่าครองชีพของคนเมืองจะสูงขึ้น ในภาพรวม สื่อควรจะชื่นชม เพราะเป็นการกระจายรายได้สู่ชาวไร่ชาวนา ดังนั้น สื่อมวลชน ก็เป็นมาตรวัดอีกตัวเหมือนกัน ที่นักการเมืองจะตอบสนอง
ง. ปฏิรูปการศึกษาบนฐานความเป็นจริงของสังคมไทย
การปรับปรุงการศึกษา มักจะเน้นที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้รองรับระบบเศรษฐกิจที่โตเร็ว แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการทำให้คนกลับคืนสู่ชนบท และก็ยังไม่มีแผนปรับปรุงให้การศึกษาในชนบทมีคุณภาพดีเท่าเทียมกับในเมืองใหญ่อย่างจริงจัง มีแต่ทุ่มทุนไปที่การจัดซื้อเทคโนโลยี
จ. เริ่มใช้ดัชนีชุดอื่นๆ ในกรุของสภาพัฒน์ ควบคู่ไปกับ จีดีพี
ที่สภาพัฒน์ ก็มีการจัดทำ Wellbeing index มา 6 ปีแล้ว โดยอาจารย์เมธี กรองแก้ว แต่ไม่ได้เอาออกมาใช้วัดผลจริงจังกันเสียที และไม่มีการชี้แจง มีแต่พูดถึงจีดีพีอย่างเก่า
ปัญหาจึงอยู่ที่พฤติกรรมของภาครัฐ และสื่อมวลชน ที่ต้องการ จีดีพี อย่างเดียว ส่งผลให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ ส่งเสริมการถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมตลอดจนคุณภาพชีวิตของคน หน่วยงานภาครัฐ และสื่อ จึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมมาตรวัดตัวใหม่ เช่นที่ อาจารย์เมธี กรองแก้ว ทำไว้ที่สภาพัฒน์ ซึ่งมีการวัดการกระจายรายได้ น้ำใช้ ฯลฯ ดัชนีนี้ น่าจะดีพอที่จะนำมาเริ่มใช้กัน และเริ่มอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ พร้อมกับแรงสนับสนุนจากสื่อ
ธนาคารโลกเองก็มีมาตรวัดใหม่ๆ แต่คนอาจเบื่อเพราะเข้าใจยาก จึงต้องเริ่มจากอะไรที่เข้าใจง่าย เช่น การวัดผลงานจากภาครัฐเป็นชุดดัชนี คู่ขนานไปกับ จีดีพี เช่น สถิติครัวเรือนที่มีน้ำสะอาดใช้ เพิ่มขึ้นเท่าไร ถ้าช่องว่างระหว่างคนชั้นบน 20% และคนชั้นล่าง 20% ลดจาก 13.5 เป็น 12 เท่า ก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น อัตราแพทย์ต่อประชากรท้องถิ่น หรือครูต่อนักเรียนท้องถิ่น ที่สำคัญ คือ มันควรเป็นมาตรวัดเชิงเศรษฐกิจที่คนไทยอยากวัดผลงานของรัฐบาล
ฉ. นักการเมืองไม่พึงก้าวก่ายเทคโนแค็ต
ตอนที่ผมเป็นรองนายกฯ ซึ่งควรมีหน้าที่คุมสภาพัฒน์ แต่เมื่อเขาต้องการให้ผมเพียงรักษาการณ์ จึงไม่สามารถทำอะไรได้ขณะนั้น
ดรุณี ตันติวิรมานนท์ 12-5-10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น