วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หญิงชาย กับความเป็นไทและเป็นธรรมในทรัพยากรธรรมชาติ 1


หญิงชายและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (1)
ดรุณี ตันติวิรมานนท์[i]
ศูนย์วิจัยวารี
1 มกราคม 2553



สารบัญ
หน้า
1.
บทนำ

1
2.
บทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ระหว่างหญิงชาย (ชนบท) ในอดีต
3
3.
โอกาส/วิกฤตการพัฒนา:
จากผู้ธำรงสู่ผู้ทำลาย
5
4.
วิกฤตและกระบวนการเรียนรู้ของหญิงชาย:
จากผู้ทำลายสู่ผู้อนุรักษ์
11
5.
สรุป

28

เอกสารประกอบ
31

รายนามผู้ให้ข้อมูล
34





กลางดงพงป่าเขาลำเนาไพรไกลสังคม
มีแดนสุขสมล้วนภิรมย์มีเสรี
ไร้ทุกข์สนุกสนานสำราญกันให้เต็มที่
พวกเราในถิ่นนี้ล้วนมีไมตรีต่อกัน

  1. บทนำ

มนุษย์มีทัศนคติต่อป่าต่างๆ กัน บางคนมองป่าว่าเป็นที่ร่มรื่น มีชีวิตชีวา และคนอยู่ในป่ามีน้ำใจไมตรี ดังบทเพลงไทยสากลเก่าข้างต้น  บางคนมองป่าว่าเป็นที่อันตราย ล้าหลัง จึงมีคำว่า ป่าเถื่อน   และบางคนเห็นเพียงแต่ไม้ซุง แร่ธาตุ ว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะสกัดออกมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่   ทัศนคติต่างๆ มีผลต่อวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยมนุษย์   กระแสการพัฒนาของไทยในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งออก รัฐบาลไทยมองป่าเป็นเพียง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นวัตถุดิบเพื่อการทำกำไร ในขณะที่ประชาชน เป็น ทรัพยากรมนุษย์ หรือ วัตถุดิบแรงงาน  วัตถุดิบทั้งสอง เป็นเสมือนท่อนฟืนสำหรับขับเคลื่อนหัวจักร ขบวนรถไฟ อุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยทุน คือ เงินตรา (จากการจัดสรรภาษีและกู้ยืมจากต่างประเทศ)  เป็นต้นไฟ  ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรทั้งสอง จึงถูกเผาผลาญ เพื่อให้อุตสาหกรรมและเงินตราเติบใหญ่...เหมือนลูกบัลลูนที่ลอยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ   ในทางทฤษฎี เป้าหมายของการพัฒนา คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์  แต่เนื่องจากผู้นำและผู้มีโอกาสสูงกว่าผู้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย ได้รับการอุปถัมภ์ทางปัญญา (การศึกษา) และผลประโยชน์ (ทุนการศึกษาและทุนการพัฒนา ฯลฯ) จากประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น สหรัฐฯ  ในทางปฏิบัติ จึงมองข้ามภูมิปัญญาท้องถิ่น.  วิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม ถูกดูถูกว่าเป็น คนป่า คนดอย และคนบ้านนอกคอกนา หรือ ตาสีตาสา  แต่มุ่งเป้าไปที่การสร้างสาธารณูปโภคที่รองรับเมือง และโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสิ่งอำนวยความสะดวก ตามวิถีบริโภคนิยมตามอย่างตะวันตก  

หลังจากทศวรรษการพัฒนาสากลที่หนึ่ง (พ.ศ. 2503-13)  เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการในประเทศตะวันตกและสหประชาชาติ ถึงความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เป็นธรรมที่แพร่ระบาดใน โลกที่สาม อันเนื่องมาจากการทุ่มทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใน ประเทศด้อยพัฒนา  ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ ในโลกที่สาม) จึงเติมคำว่า และสังคม ลงในชื่อของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และในชื่อของแผนพัฒนาฉบับต่อมา  มหาวิทยาลัยสำคัญในยุโรปและสหรัฐฯ ก็เริ่มมีหลักสูตรพัฒนาศึกษาเกิดขึ้น เพื่อหาทางพัฒนาที่เหมาะสมกว่า และถ่ายทอดองค์ความรู้จากการถกเถียงในวงวิชาการในระดับสากล.  แต่เพราะผู้นำประเทศไทยในยุคนั้น เป็นเผด็จการทหารที่ฝักใฝ่อำนาจทุนนิยม  ศรัทธาในเทคโนโลยีการผลิต และแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ  ภายใต้ภาวะสงครามเย็น  การศึกษาในระบบของไทยจึงเป็นเสมือนแท่นพิมพ์ที่ผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล ผู้ใช้แรงงาน และตรวจคุณภาพการผลิตในโรงงาน และเป็นผู้จัดการอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนของระบบทุนในและต่างประเทศ   ส่วนหนึ่งของบัณฑิต ผู้ใช้สมอง ทำหน้าที่รองรับ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ปฏิวัติเขียว ในการพลิกผันเกษตรยังชีพดั้งเดิมของไทย ให้เป็นเกษตรธุรกิจครบวงจร  วิถีพัฒนาแบบเผาผลาญนี้ ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในเมือง  แต่ด้วยการผลักภาระต้นทุนไปที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลจากโอกาสเมือง  และมีวิถีดำรงชีพด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ   ปัญญาชน (เมือง) ที่ดิ้นรนต่อสู้กับความอยุติธรรมในยุคนั้น  แม้จะถูกปราบปรามมาตลอดด้วยข้อหา คอมมิวนิสต์ ก็ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้าง ได้หันไป หาความหมายในชุมชนหมู่บ้าน  จวบจนกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในปลายปี พ.ศ. 2532  อันเป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น วาทกรรมของ สิทธิมนุษยชน จึงมีโอกาสลืมตาอ้าปากในเวทีโลก และในประเทศไทย  ปัญญาชนที่ยึดอาชีพนักกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ จึงเริ่มมีพื้นที่ในการขับเคลื่อนพลังการเมืองประชาสังคมไปพร้อมกับกระแสโลก

การพัฒนาแบบเผาผลาญที่ให้ค่าแก่ บริโภคนิยม ว่าเป็น คุณภาพชีวิต ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทั่วโลก  ความขัดแย้งเริ่มมาจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น การสร้างเขื่อน เป็นต้น) ได้แปรรูปออกมาเป็นอาการทำลาย หรือ บริโภค ทรัพยากรมนุษย์ด้วยกัน  ผู้หญิงกลายเป็นสินค้าทางเพศ เพื่อกามบริโภค หรือโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ  กระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เริ่มจากหญิงและเด็ก และขยายมาถึงชาย กลายเป็นสายพานป้อนแรงงานราคาถูกและวัตถุทางเพศ แก่สังคมบริโภคนิยมที่หิวโหยไม่สิ้นสุด  เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน สถานบันเทิงแหล่งมั่วสุม และเพศพาณิชย์ ดูเหมือนจะเป็นเงาตามตัวของการพัฒนาที่แผ่ขยายวิถีเมืองและอุตสาหกรรม ที่ทิ้งมลภาวะเป็นรอยเท้าในสิ่งแวดล้อม  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่ใช่จำกัดแค่การอนุรักษ์ ป่าเขา ดิน น้ำ ทะเล เท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูอากาศที่ไม่มีขอบเขต และจิตวิญญาณของมนุษย์  โรคภัยใหม่ๆ เช่น มะเร็ง เอดส์ และไข้หวัดมรณะ เมื่อผนวกเข้ากับภาวะโลกร้อน เป็นสัญญาณไฟแดงที่เตือนภัยจากวิธีคิดของมนุษย์ยุคพัฒนา   ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะมอง ทรัพยากรธรรมชาติ แบบองค์รวม ซึ่งมีชุมชน และคน (หญิง ชาย คนชรา เด็ก ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ) ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นทั้งผู้ธำรงและผู้ทำลายความสมดุลในแต่ละระบบนิเวศ เป็นทั้งผู้ให้ความร่วมมือและผู้ต่อต้าน  หรือชะลอการล้างผลาญ ตลอดจนเสนอทางออกต่อภาครัฐและระบบทุน  แต่ทางรอดของมนุษยชาติ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความร่วมมือ และการเสียสละของทุกคน

วัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ ตามรอยการปฏิสัมพันธ์ ในกระบวนการพัฒนา ที่ดึงดูดระบบนิเวศย่อยต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ/เมือง โดยใช้มิติหญิงชายมองดูบทบาทและการเปลี่ยนแปลงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน  เนื่องจากนักวิชาการและนักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ดิฉันได้สนทนาด้วย มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการแยกหญิงชาย  ดิฉันจึง ลงไปหาคำตอบจากหมู่บ้าน โดยใช้เวลาหนึ่งเดือน (21 พย 21 ธค 2552) เดินทางไป เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และตรัง  เพื่อสัมผัสสภาพชีวิตที่ฐานราก และพูดคุยกับผู้นำชุมชนถึงประสบการณ์  ความก้าวหน้า สิ่งท้าทาย และก้าวต่อไป  การสัญจรสนทนาครั้งนี้ ไม่ใช่การเก็บข้อมูลที่เคร่งครัดต่อหลักวิชาการ แต่เป็นการเยี่ยมเยียน เพื่อนเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ดิฉันรู้จักจากการร่วมประชุม หรือการอบรมผู้นำสตรีในวาระต่างๆ    เพื่อนเหล่านี้มีทั้ง ผู้นำชุมชน  ผู้แทนฝ่ายปกครอง (กำนัน นายก อบต)  เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ  เนื่องจากเวลาจำกัด ดิฉันจึงมุ่งฟังเสียงสะท้อนของผู้หญิง  ส่วนเสียงของของผู้ชาย  ส่วนใหญ่อ้างอิงจากเอกสารประกอบท้ายบท

บทความนี้ มีห้าภาค  ภาคแรกเป็นบทนำ   ภาคสองเป็นการบรรยายคร่าวๆ ให้เห็นภาพกว้างของบทบาทและสถานภาพของหญิงชายในชุมชน เพื่อแสดงว่า โดยทั่วไปในสังคมชนบทไทย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบดั้งเดิมของหญิงชายมีความยืดหยุ่น ประนีประนอมเอื้อกัน มากกว่าปะทะกัน  ภาพนี้คงไม่ครอบคลุมถึงชุมชนชาวมุสลิม ชาวจีน หรือชนเผ่าชาติพันธุ์  ภาคสามกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการพัฒนากระแสหลัก   ภาคสี่เป็นการถอดบทเรียนจากคำพูดของผู้นำสตรีต่างๆ จากสัญจรสนทนาครั้งนี้.  และภาคห้าเป็นบทส่งท้าย

  1. บทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย (ชนบท) ในอดีต

ในสมัยโบราณ   ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมินี้ ครอบคลุมไปด้วยป่าทึบเป็นส่วนใหญ่  ป่าเป็นแดนลี้ลับ  เป็นที่สิงสถิตของ ขุนเขา เจ้าป่า ที่ปกครอง สิงห์สาราสัตว์ มี ผีปันน้ำ คอยจัดสรรน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้.     คนที่ใจกล้ารักอิสระ (หลบลี้การเป็นข้าทาสไพร่พลของเจ้านายศักดินา หรือสงคราม) มักจะอาศัยป่าเป็นที่พึ่ง.  ส่วนผู้มีอำนาจและอิทธิพล มีไพร่พล ก็มักจะบุกเบิกไปตามแนวแม่น้ำ และตั้งเมืองในบริเวณลุ่มน้ำซึ่งเหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าว    ตั้งแต่โบราณกาล แม่น้ำลำคลองเป็นดุจซุปเปอร์ไฮเวย์ ที่ใช้เดินทางและลำเลียงสินค้า ติดต่อระหว่างกัน และกับอารยธรรมภายนอก (เช่น อินเดีย  จีน  และต่อมา โปรตุเกส ฯลฯ) ที่มาตามเส้นทางการค้าทางทะเล   การยึดพื้นที่ราบลุ่ม จึงเป็นการยึดเส้นทางค้าขายที่มั่งคั่ง และเหมาะสำหรับเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย

ผู้ชาย ด้วยสรีระอันทรงพละกำลังกล้ามเนื้อมากกว่าหญิง  มักเป็นหลักสำคัญในการตัดสินใจในการย้ายถิ่นฐาน  เลือกทำเล   จับจองที่  แผ้วถาง  ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า เจ้าป่า รวมทั้งผู้ที่อยู่มาก่อน    ส่วนผู้หญิง มีสรีระเพื่อการอุ้มท้อง สืบสายพันธุ์มนุษย์ ในฐานะเมีย มักเป็นผู้ตาม เช่น เป็นผู้จัดหาอาหารมาเซ่นไหว้ผีต่างๆ ให้ช่วยคุ้มครอง  รวมทั้งเป็นการขออนุญาต หรือแสดงความกตัญญูรู้คุณตามวาระและฤดูกาลต่างๆ     ผู้ชายจึงเป็นผู้ดูแลรอยต่อระหว่างครอบครัว/ชุมชน กับโลกภายนอก   ส่วนผู้หญิงดูแลสวัสดิการของสมาชิกและความเรียบร้อยในครัวเรือน   การแบ่งหน้าที่หญิงชายเช่นนี้สั่งสมอยู่ในจิตสำนึกที่ต้องพึ่งพาการแลกเปลี่ยนกับอำนาจลี้ลับในธรรมชาติของป่า ที่เป็นผู้ให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง และให้คุณด้วยการบันดาลฝนที่สร้าง หรือให้โทษเป็นภัยพิบัติที่ทำลายต่างๆ   โดยสะท้อนออกมาในรูปของความเชื่อและการบูชาผีบ้าน ผีเมือง  ในขณะที่ชุมชนดั้งเดิมในชนบทส่วนใหญ่ จะมีศาลปู่ตา หรือผีเสื้อเมือง (เป็นชาย) เป็นดั่งศาล หลักเมือง  ผีประจำแต่ละครัวเรือนจะเป็นบรรพบุรุษของฝ่ายแม่     ความเชื่อนี้ เกี่ยวโยงกับประเพณีปฏิบัติ (ในหลายพื้นที่) ที่เจ้าบ่าวจะแต่งงานเข้าสู่เรือนของเจ้าสาว และทำหน้าที่ ควายงาน ให้พ่อตาแม่ยาย   แต่ในที่สุด ลูกเขยก็จะเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อตา    ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน พ่อแม่มักจะแบ่งที่ดินให้แก่ลูกสาว โดยคนเล็กมักจะได้มากกว่า เพราะจะเป็นผู้ที่พ่อแม่ฝากผีฝากไข้ยามชรา    ส่วนลูกชาย มักจะได้สมบัติแบบอื่น (เช่น การบวชเรียน การศึกษา) เพราะอาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เช่นต้องไปเป็นไพร่พลตามเจ้านาย (รับราชการ) หรือแต่งงานไปอยู่กับเมีย   ท้ายสุด  ลูกผู้ชายมีพร้าด้ามเดียว ก็สามารถเข้าป่าแผ้วถาง จับจองที่ใหม่เองได้  ที่ดินไม่มีค่าเท่าแรงงาน หรือความสามารถคลอดลูกได้ของผู้หญิง

การอบรมบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็กจึงต่างกันระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย   ลูกสาวถูกคาดหมายให้เป็นหลักประกันชีวิตของพ่อแม่ จึงถูกเลี้ยงดูฝึกฝนให้อดทน บริการ และบริหารจัดการทรัพยากรในครัวเรือน ตลอดจนซึมซับถ่ายทอดวิถีการผลิต (เช่น เก็บเมล็ดพันธุ์) พิธีกรรม (อาหารสำหรับเซ่นไหว้) รวมทั้งหัตถกรรม (เช่น ลายผ้า) จากแม่สู่ลูกสาว   ส่วนลูกชาย มักจะปล่อยให้ออกไปเล่นอิสระ ถ้าไม่ช่วยพ่อทำงาน เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะพเนจร   ชายจึงมีโอกาสฝึกเอาตัวรอดได้นอกเขตปลอดภัยของครอบครัวและเครือญาติ   ประเพณีการให้ลูกชายได้บวชเรียนก็เป็นการอาศัยพุทธศาสนา/สังคม (ไม่ใช่พ่อแม่ของตน) หมายให้ช่วยกล่อมเกลาอุปนิสัย และจิตวิญญาณ ดิบ ของลูกผู้ชาย    แม้ว่าสังคมจะได้สร้างสิ่งจูงใจให้พ่อแม่ อุทิศ ลูกชายเพื่อต่ออายุศาสนา ด้วยการให้ความหมายว่า การได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกชายเป็นมหากุศล  แต่ในพิธีกรรมบวชนาค ก็ได้ให้เกียรติ ให้ความสำคัญแก่บทบาทของแม่เต็มที่  บทสวดรำพันถึงพระคุณของแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงลูกชายเติบใหญ่ จนนั่งเป็นนาคอยู่ในพิธี สร้างความสะเทือนใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้เข้าร่วมงาน    การรำลึกถึงพระคุณแม่เช่นนี้ เป็นตุ้มน้ำหนักหนึ่ง ที่ถ่วงให้เกิดดุลอำนาจระหว่างหญิงชายไทยในชนบท  

ดังนั้น แม้หญิงชายจะมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องถูกชายกดขี่.  ฐานการผลิตเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งแรงงาน การลงแขกเอางานกัน  การที่ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยมีป่าเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับสนองปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญยิ่งในด้านสืบสานความยั่งยืนของชุมชน เพราะผู้ชายไม่สามารถอุ้มท้อง คลอดลูกได้  ผู้ชายมีหน้าที่บุกเบิก (ทำงานหนัก เช่น ไถนา โค่นต้นไม้ ล่า/ฆ่าสัตว์ใหญ่) และปกป้องชุมชนจากการคุกคามต่างๆ  ที่สำคัญ ผู้หญิงหลังแต่งงาน ยังคงมีเวลาอยู่ในแวดวงเครือญาติ บนที่ดินของตนเอง  ถึงแม้ผู้ชายจะทอดทิ้ง ผู้หญิงก็ยังอยู่รอดได้  ส่วนผู้ชายจะต้องท่องไปในโลกกว้าง ที่มีความเสี่ยงสูง และผจญกับสิ่งล่อใจต่างๆ จึงเปรียบเหมือนผึ้งงานที่เวียนเก็บน้ำหวานและช่วยผสมเกสรดอกไม้.  ส่วนผู้หญิงเป็นทั้งดอกไม้และนางพญาผึ้ง

ในบริบทของภูมิประเทศและ การหล่อหลอมจากวัฒนธรรมประเพณีของ (ชนบท) ไทยเช่นนี้ ประกอบกับเงื่อนไขทางสรีระจากธรรมชาติ ทำให้หญิงและชายมีมุมมองในการสังเกต และทักษะที่แตกต่างแต่เอื้อต่อกัน.  ชายจะมองเห็นในภาพกว้าง เช่น เห็นเวิ้งน้ำ  ป่าเขา     ส่วนหญิงจะเห็นรายละเอียด[ii] ว่า ที่ไหนมีอะไรที่จะเก็บมากินมาใช้ในบ้านของตนและเลี้ยงดูลูกได้    ในกลุ่มชาวประมง  ชายจะออกไปหาปลาในเขตน้ำลึก   ส่วนหญิงจะงมหาปูปลากุ้งหอยในเขตน้ำตื้น หรือเก็บพืชผักตามหัวไร่ปลายนา   ในป่าหญิงจะเก็บของป่าเล็กๆ เช่น เห็ด หน่อไม้ รังมด สมุนไพร   ส่วนชายจะเก็บของใหญ่ เช่น รังผึ้ง ครั่ง หวาย รวมทั้งล่าสัตว์ใหญ่น้อย.   ในการผลิต ชายหาบ-หญิงคอน ชายไถ-หญิงหว่านและถอนหญ้า  หญิงจะเป็นคนรักษาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะเป็นมรดกตกทอดให้ลูกสาว 

 แม้ทุกคนจะช่วยกันหาของกินเข้าบ้าน รวมทั้งน้ำและฟืน ผู้หญิง (แม่และลูกสาว) จะเป็นผู้ปรุงอาหาร  อาจจะเป็นเพราะชายเกียจคร้านการตื่นเช้าทุกวันหรือทำงานไม่เรียบร้อย จึงเกิดเป็นความเชื่อ ว่า ถ้าบ้านใดชายตำข้าว ก็จะอดอยาก  แต่คำพังเพยเช่นนี้ กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ชายไม่ต้องทำงานจำเจในบ้าน พร้อมกับลดค่าการทำอาหารการกินว่าเป็นงานไม่สำคัญ เป็นงานของผู้หญิง 

เป็นที่ประจักษ์ว่า หญิงจะทำงานตลอดวัน ตื่นเช้าที่สุดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และนอนหลังสมาชิกคนอื่น   ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไร ก็จะทอผ้า    ส่วนชายจะมีเวลาว่างมากกว่า ถ้าขยันก็จะทำหัตถกรรมจักสาน หรือซ่อมเครื่องมือ   ชายจึงมีเวลาว่างพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารกับคนนอก   ส่วนหญิงจะง่วนทำงานประจำตลอดวัน วนเวียนในหมู่เครือญาติ เรื่องครัวเรือน ความเป็นอยู่ และการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย รวมทั้งการแต่งงาน (สืบพันธุ์)   ภูมิปัญญาของหญิงจึงสืบทอดสู่ลูกสาวในครัวเรือน  ส่วนของชายจะผ่านกลไกชุมชน และทั้งสองขมวดปมเพื่อสร้างครอบครัว.  ส่วนชุมชนก็มีวิวัฒนาการสร้างกฎเกณฑ์ในการจัดการกับความขัดแย้งอันเนื่องมาจากพฤติกรรมเบี่ยงเบน รวมทั้งกติกาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

  1. โอกาส/วิกฤตการพัฒนา : จาก ผู้ธำรงสู่ผู้ทำลาย

ในอดีต อัตราส่วนของประชากรต่อพื้นที่ในประเทศไทยยังต่ำมาก ผู้คนกระจายอยู่ตามภูมิประเทศต่างกัน  ในบริเวณเทือกเขาในภาคต่างๆ  มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายชนเผ่า อาศัยอยู่บนเขาเป็นหย่อมๆ ในระดับต่างๆกัน แบ่งเป็นที่เขาสูง และที่บนเนินดอย   ส่วนในพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นคนไทยส่วนใหญ่  นอกจากเรือกสวนไร่นา ที่อยู่รอบหัวเมืองต่างๆ แล้ว ก็ยังคงมีพื้นที่เป็นป่ารกชัฏ   ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ มีป่าชายเลน (แสม โกงกาง) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างน้ำเค็มจากทะเลและน้ำจืดจากแม่น้ำ  ในภาคใต้ มีชาวพื้นเมืองหลายกลุ่ม เช่น ชาวเล ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ ปะปนกับชาวพุทธเชื้อสายไทย (และจีน).  ประชาชนส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อการยังชีพ  ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่งแพร่หลายในยุคต้นของการพัฒนาส่งออก

ด้วยวิถียังชีพแบบพอเพียงดั้งเดิม ชาวบ้านสามารถธำรงรักษาระบบนิเวศน์ ด้วยวิธีจัดการทรัพยากรธรรมรอบตัวอย่างเคารพ รู้คุณธรรมชาติ  เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ต้องจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของคนดั้งเดิม ที่ถ่ายทอดจากความทรงจำ ผ่านการสัมผัสและปฏิบัติ สู่ความทรงจำของคนแต่ละรุ่น    ในป่า มีการจัดสรรป่าเป็น ป่าต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมน้ำซับ จะจัดเป็นป่าอนุรักษ์  เช่นเดียวกับป่าต้องห้ามตามประเพณี   ส่วนป่าใช้สอย จะใช้เลี้ยงสัตว์และเก็บของป่า  โดยมีกฎเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด   นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทำกิน สำหรับการเพาะปลูกหมุนเวียน ซึ่งเป็นการปล่อยให้ป่าฟื้นขึ้นมาเองเป็นระยะๆ[iii]  มีระบบเหมืองฝาย[iv]ในการจัดการน้ำเพื่อให้สมาชิกของชุมชนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง   ตามชายฝั่งทะเล จะจับปลาพอกินพอขาย  ชาวประมงมุสลิม มีความเชื่อในศาสนาอิสลามที่ว่า การจับปลาเกินพอยังชีพ เป็นบาป.  ชาวประมงพื้นบ้านทั่วไป ได้ประดิษฐ์เครื่องมืออุปกรณ์จับปลา ที่เป็นคำนึงถึงการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา (อันเป็นนวัตกรรมที่เป็นงานศิลปะที่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบนิเวศหลากหลาย)   แม้ระบบตลาดการส่งออกจะเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2393 หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง  แต่ชาวบ้านชาวชนบทไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีวิถีชีวิตยังชีพ หรือพอเพียงแบบดั้งเดิม จนกระทั่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐบาลไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2503 (1960) ที่เป็นเหรียญสองด้าน  ด้านหน้าเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ด้านหลังเป็นการปราบปรามผู้คัดค้าน หรือทวนกระแส ด้วยข้อกล่าวหาว่า ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

ยุคพัฒนา ซึ่งเริ่มบังคับใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ได้ตั้งตัวทำลายป่าด้วยทัศนคติลบ.   ประการแรก ป่าเป็นสัญลักษณ์ของของความล้าหลัง ซึ่งบรรจุในคำ ป่าเถื่อน ที่คู่ไปกับคำว่า กลิ่นโคลนสาปควาย  เมื่อเทียบกับความทันสมัยและศิวิไลซ์ของ เมือง อันมีอเมริกา (ฮอลลีวูด) เป็นภาพในฝัน   ประการที่สอง ป่าเป็นแหล่งซ่องสุมของคอมมิวนิสต์ (ที่ชอบเรียกร้องสิทธิ์).  และประการที่สาม ป่าเป็นเหมือน ทองสีเขียว ที่เปิดสัมปทานให้นายทุนตัดไม้แปรเปลี่ยนเป็นเงินตรา รายได้งามสู่ประเทศ...เพื่อการพัฒนา

กึ่งศตวรรษของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้ชักนำให้ชาวบ้านวิ่งตามการ พัฒนา เพื่อให้ได้เงินมากที่สุด  เร็วที่สุดโดยหันไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์  สารเคมี และรถไถ  หันไปพึ่งแรงงานรับจ้างแทนการลงแขก แลกเปลี่ยนเอาแรงกัน อันเป็นพื้นฐานความสามัคคีของชุมชนดั้งเดิม    แต่วิถีการผลิต พัฒนา นี้ ผูกติดกับความไม่แน่นอนของราคาตลาดโลกและฝนฟ้า รวมทั้งอายุขัยของแต่ละคน  ทำให้ชาวนาชาวไร่จำนวนมากที่ โชคร้าย ติดกับดักของหนี้สิน   การใช้สารเคมี และหักโหมทำงาน ทำให้เกิดโรคภัยใหม่ๆ   ความเครียดจากหนี้สิน หรือความฮึกเหิมจากการได้เงินเติบ ทำให้คนขาดสติ (ส่วนมากผู้ชาย) หันไปเสพสุรา นารี (สำส่อนทางเพศ) การพนันเล่นหวย บุหรี่ และยาเสพติด   ในขณะเดียวกัน ถนนเข้าไปถึงที่ไหน ก็จะพาให้คนหนุ่มสาวและป่าหายไปจากที่นั่น เพราะเป็นทางเดียวกันกับที่สินค้าเครื่องอำนวยความสะดวกในเมืองแทรกซึมเข้าไปถึง

การพัฒนาที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภค เช่น โรงเรียน น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน และสถานีอนามัย มีส่วนทำให้ชีวิตชุมชนดีขึ้น  แต่วิถีชีวิตเดิมเริ่มไม่พอเพียง.   ชาวบ้านต้องวิ่งไล่ล่าหาเงินตรามา ซื้อ บริการสาธารณะเหล่านั้น  เงินตราและมูลค่าจึงเข้ามาแทนที่คุณค่าของวิถีชีวิตที่พึ่งการแลกเปลี่ยนแบบเดิม.  ชุมชนค่อยๆ ละทิ้งความสัมพันธ์และความศรัทธาในภูมิปัญญาดั้งเดิม.  ความคิดหวังกำไรกระตุ้นให้คนคุกคาม รีดไถจากทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเข้าป่าเพื่อจับจองที่ดินเพิ่ม และกู้เงินเพื่อมาลงทุนปลูกพืชพาณิชย์ (มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ) ตามนโยบายแห่งชาติ  เมื่อติดกับดักหนี้สิน เพราะปลูกหรือขายไม่ได้กำไรพอ ก็ขยายพื้นที่ต่อไปด้วยการรุกป่า หรืออพยพเข้าเมืองเป็นผู้ใช้แรงงาน[v]

ตาราง 1 วิวัฒนาการร่วมสมัยที่พัดพาให้ชุมชนบ้านป่าแม่นอต (หรือชุมชนแม่ทา)  จากความเป็นชุมชน พอเพียง เป็นจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2400 ถึง 2534[vi]
พ.ศ.
เหตุเกิดที่ชุมชนแม่ทา (2400-2534)
~ 2300
(1857)
กว่า 200 ปีก่อน ชาวบ้านเชื้อสายยอง (หรือ ลื้อ) หนีภัยสงครามล้านนากับพม่า มาตั้งรกรากในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทา   (ชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน คือ ปกาเกอะญอ  ลั๊วะ  อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขาสูงและป่าทึบ)  
~ 2400
(1957)
เมื่อกรุงเทพฯ (สมัย ร.5) ผนวกหัวเมืองภาคเหนือ และเริ่มเก็บเงินภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน มีชาวบ้านอพยพเข้ามาสมทบ 

ในอดีตชาวบ้านทำเกษตรยังชีพและเก็บของป่า  ในที่ลุ่มมีการปลูกข้าวนา และจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย  ในที่ดอน มีการทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ ฝ้าย ผลไม้ ตลอดจนพืชผักสวนครัว    ชาวบ้านใช้วิธีแลกเปลี่ยนเพื่อเอาสินค้าที่ไม่มีในชุมชน (เช่น เกลือ เมี่ยง และเครื่องมือเครื่องใช้) กับพ่อค้าเร่

การทำลายป่า  ชาวบ้านมีเพียงขวานและมีดใช้บุกเบิกป่าเพื่อเพาะปลูก ป่ารอบๆ จึงยังอุดมสมบูรณ์  แต่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อรัฐให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทเอกชน ในราวปี 2444
2480
(1937)
การเป็นแรงงานเกษตรครบวงจร  ครูผืนและครูเทพ (โรงเรียนบ้านป่าเลาะ) สร้างโรงบ่มใบยาสูบ  ชาวบ้านจึงหันมาปลูกยาสูบเพื่อขายโรงงาน  แม้ธุรกิจจะขาดทุน และปิดกิจการไปในเวลาไม่กี่ปี  วิถีผลิตของชุมชนก็หันเหหลุดออกจากเกษตรยังชีพ  พืชพาณิชย์ใหม่ๆ ทยอยหลั่งไหลเข้ามาในชุมชน เช่น  ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน แทนที่พันธุ์พื้นเมือง และมีพ่อค้ามารับซื้อในราคาดี   มีบริษัทรายใหม่[vii] มาส่งเสริมการปลูกยาสูบต่อ โดยเริ่มใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา ผูกมัดผู้ปลูกในระบบเกษตรครบวงจร[viii]
~ 2490
(1947)
นโยบายส่งเสริมการส่งออกของรัฐบาล ส่วนหนึ่งมุ่งไปที่ขยายความหลากหลายของพืชพาณิชย์ ทั่วประเทศ   ในภาคเหนือ มีการเร่งส่งเสริมพืชไร่ เช่น ข้าว ยาสูบ ถั่วลิสง ข้าวโพด กระเทียม หอมแดง ฯลฯ ซึ่งกระตุ้นให้ชาวบ้านขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการรุกเข้าไปจับจองที่ในป่าเสื่อมโทรมที่นักธุรกิจทำไม้โค่นไม้ใหญ่ไปแล้ว
2512
(1969)
จากแรงงานเกษตรสู่ ผู้บุกรุกป่าสงวน กรมป่าไม้ประกาศให้บางส่วนของชุมชนแม่ทาเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ (พรบ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507) และพื้นที่อื่นๆ จังหวัดต่าง ๆ ในปีต่อมาเรื่อยๆ  มีผลให้ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์อยู่ กลายเป็นผู้ผิดกฎหมาย  ในขณะที่กลุ่มบริษัทที่ได้รับสัมปทาน ยังคงดำเนินการต่อไป
2513
(1970)
เป็นทศวรรษทองของธุรกิจครบวงจรในภาคเหนือ   ในชุมชนแม่ทา ทุกเดือน จะมีนักธุรกิจเข้าไปส่งเสริมพืชพาณิชย์ในระบบพันธสัญญา เช่น ผักบรอคเคอรี พริกชี้ฟ้า ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ขิงอ่อน กระเทียม และหอมหัวใหญ่   แต่ธุรกิจเหล่านี้ล้มเหลวภายในเวลาไม่กี่ปี เพราะปัญหาการบริหารการจัดการภายในบริษัท

ในช่วงเดียวกันนี้ ความขัดแย้งในสังคมใหญ่เริ่มก่อตัวขึ้น ด้วยสาเหตุของความไม่เป็นธรรมเชิงเศรษฐกิจ และการรวมศูนย์อำนาจการปกครองประเทศ
2517 พย
(1974)
กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ร่วมกันจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย  เริ่มระดมสมาชิกและให้การศึกษาแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งชุมชนแม่ทา    สหพันธ์ฯ มีนโยบายใช้ระบบ ปันสาม แทน แบ่งกึ่ง ในการทำนา และรวมกลุ่มทำสหกรณ์ ร่วมกันซื้อ ร่วมกันขาย    แต่รัฐบาลกล่าวหาสหพันธ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกกำจัดโดยการลอบสังหารแกนนำสหพันธ์หลายคน ในช่วง 2518-19 จนยกเลิกหลังจากรัฐบาลทหารเข้ากุมอำนาจหลังการปราบปรามนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
2520-22
(1977-79)
กลุ่มนักศึกษาหนีภัยการเมือง ที่หลบซ่อนอยู่ในชนบท ได้เข้าไปขับเคลื่อนในเขตตำบลแม่ทา ด้วยการพูดคุยและให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน เช่น รักษาโรค ทำการเกษตร เป็นต้น   ต่อมา รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบาย การเมืองนำทหาร ผนวกกับปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดนที่ตามล่า ปราบปรามนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ ที่เข้ามาถึงตำบลแม่ทา  กลุ่มนักศึกษานี้ จึงละทิ้งชนบท หวนกลับ คืนสู่เมือง
2521
(1978)
บ่วงหนี้ บริษัทเอกชนแนะนำให้ปลูกมะเขือเทศ และถั่วฝักยาว โดยสัญญาว่าจะรับซื้อ เมื่อถึงเวลา กลับไม่มา ทำให้ชาวบ้านหลายคนขาดทุน และหันไปปลูกยาสูบเหมือนเดิม
2524
(1981)
บริษัท อาหารสากล (ลำปาง) เข้ามาส่งเสริมปลูกข้าวโพดอ่อน โดยมีกำนันตำบลทาปลาดุก เป็นหัวหน้าสาย   ชาวบ้านซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุนจากถั่วลิสงและยาสูบ จึงหันมาขานรับเต็มที่
2526
(1983)
ผลประโยชน์ทับซ้อน ฝ่ายปกครองท้องถิ่น/หัวหน้าสายบริษัท  กำนันแม่ทา รับเป็นหัวหน้าสายเมื่อขยายเข้ามาถึงเขตตำบลแม่ทา
2537
(1994)
ลำพังเขตตำบลแม่ทา ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนถึง 5,000 ไร่  มีหัวหน้าสายของบริษัทในเขตลำน้ำแม่ทาตอนบน ถึง 10 คน

สู่แรงงานอุตสาหกรรมและกระบวนการค้ามนุษย์
2528
(1985)
ตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน
2532
(1989)
หนุ่มสาวจากหมู่บ้านเริ่มหันไปทำงานโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม    มีการอพยพแรงงานถาวรสู่เมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และต่างประเทศ (เริ่มจากเป็นแรงงานก่อสร้างในประเทศตะวันออกกลาง ไต้หวัน และญี่ปุ่น  โดยมีนายหน้าเข้ามาติดต่อ และเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 100,000-250,000 บาท/หัว)

จากชุมชนเกษตรยังชีพพอเพียงสู่วังวนกู้หนี้ยืมสิน
2490-2534
จากทั้งหมด 127 ครัวเรือน มี 117 ครอบครัวที่มีปัญหาหนี้สิน โดยมี ธกส เป็นเจ้าหนี้ของ 107 ครอบครัว   หนี้เฉลี่ยต่อครอบครัว คิดเป็น  10,000-30,000 บาท และหนี้สูงสุด 300,000 บาท


การแผ้วถางป่าและจับจองที่ดินอย่างเสรีสิ้นสุดลงทั่วประเทศไทย ในปี 2531 เมื่อรัฐบาลประกาศ พรบ เขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ  ยังผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชุมชนกับภาครัฐ เพราะกฎหมายใหม่ทับที่ทำกินของชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิม และชาวบ้านยุคพัฒนาที่เชื่อฟังนโยบายรัฐ   พวกเขากลายเป็นผู้บุกรุกที่ผิดกฎหมายในชั่วพริบตา และรัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้กำลังในการขับไล่ ผู้บุกรุก เหล่านี้   ความเดือดร้อนของคนด้อยโอกาสปะทุขึ้นทั่วทุกสารทิศ ทั้งในเมืองและชนบท   เกิดการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมขึ้นหลายระลอก จนเกิดแรงโน้มถ่วงกลายเป็น สมัชชาคนจน ใน พ.ศ. 2538 โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา เพื่อทวงสิทธิ์ต่อภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและกำหนดวิถีชีวิตของชุมชนของตน 

ในปีเดียวกันนั้น มีการประชุมสตรีโลก ครั้งที่ 5 ซึ่งมีนโยบายสากลให้ระดมและเตรียมผู้นำหญิงรากหญ้าจากทุกมุมโลก ให้เข้าร่วมประชุมที่ปักกิ่งด้วย  ในช่วงทศวรรษนั้น มิติหญิงชายหรือประเด็นเจนเดอร์ ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอรับทุนเพื่อการพัฒนาจากองค์กรทุนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับองค์กรพัฒนาเอกชน  นี่เป็นปัจจัยภายนอกสำคัญประการหนึ่ง ที่ผลักดันให้เกิดความตื่นตัวและเรียกร้องสังคมให้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาเล่นบทผู้นำสาธารณะ  องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ และมูลนิธิพัฒนาอีสาน เป็นต้น ได้ผนวกมิติหญิงชายในการอบรมหลังจากพบว่า การอบรมแค่ผู้นำชายไม่ได้ผล   การอบรมเจนเดอร์มุ่งไปที่สร้างความเข้าใจระหว่างหญิงชายพร้อมกับกิจกรรมการออมทรัพย์ และเกษตรทางเลือก[ix]  ส่วนองค์กรสตรี เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง  มูลนิธิผู้หญิง และสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา เป็นต้น จับประเด็นสิทธิสตรี ในด้านความรุนแรง การค้ามนุษย์ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงมักจะจัดการอบรมเฉพาะผู้หญิง  การดิ้นรนของหญิงร่วมกับชายในชุมชนระดับฐานรากในการขับเคี่ยวกับกลไกรัฐและอิทธิพลทุนที่มีอยู่แล้ว จึงได้รับแรงสนับสนุนในวาระต่างๆ ตามกำลังและนโยบายขององค์กรเอกชน ทั้งเชิงพัฒนาบ้าง เชิงสิทธิสตรีบ้าง

            4. วิกฤตและกระบวนการเรียนรู้ของหญิงชาย: จากผู้ทำลาย สู่ผู้อนุรักษ์

วิกฤตที่เกิดขึ้นในชุมชน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการรู้ไม่เท่าทันถึงความขัดแย้งที่เกิดจากการ ได้อย่างเสียอย่าง ของ ระบบตลาดเสรี กล่าวคือ ชุมชนเองก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นที่มากับการพัฒนา/โลกาภิวัตน์  แต่ไม่ต้องการจะแลกด้วยการสูญเสียวัฒนธรรมและอำนาจหรืออธิปไตยในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง  หญิงชายในชุมชนเรียนรู้บทเรียนที่ขมขื่น และการปรับตัวด้วยวิธีต่างๆกัน.  การที่ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ติดต่อกับโลกภายนอกโดยตรง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชายตื่นตัว และคิดทวนกระแสก่อนหญิง 
           
ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม (ฉะเชิงเทรา)[x]
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อต้องตกอยู่ใน ภาวะจำยอม เพราะเป็นภาวะที่พึ่งใครไม่ได้ และไม่มีใครให้พึ่ง จึงต้องพึ่งตนเอง หลังจากประสบความสำเร็จในการวิ่งตามกระแสเกษตรแผนใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริม  วันหนึ่งทุกอย่างก็หายวับไปกับตาเพราะตามไม่ทันความผันผวนของตลาด  เหลือแต่พื้นที่สวนและบริเวณบ้านเล็กน้อย  ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า ตอนนั้นมีเงินเหลือแค่พอซื้อเมล็ดผักบุ้ง  จึงโปรยเมล็ดในที่ๆ เหลืออยู่   ไม่นาน ผักบุ้งเติบโตงอกงามดีจนขายได้   ความปิติที่รอดจากความอดอยาก ทำให้ตระหนักว่า เงินในกำมือขณะนั้น มีค่ายิ่งกว่าเงินแสนที่เคยผ่านมือแต่ละวัน   ผู้ใหญ่วิบูลย์ จึงเริ่มทวนกระแสส่งเสริมวนเกษตรแบบ ปลูกไว้กิน และกินที่ปลูกได้ และใช้ที่อยู่อาศัยของตนเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาป่าตะวันออก รวมทั้งการแปรรูปสมุนไพร

นิกร แก้วคำ (ฉะเชิงเทรา) [xi]
นิกร แก้วคำ เข้ากรุงเทพฯ ตามกระแส  ได้พบหญิงชาวบ้าน ที่กลายเป็นหญิงบริการ ทำให้เริ่มคิดถึงอนาคตของลูกสาวตน  เคยไปร้านอาหาร ถามผู้หญิงที่ทำงานในนั้นว่าทำไมถึงมาทำงานแบบนี้  เขาก็ตอบว่า ไม่อยากลำบากทำไร่ทำนา  แล้วก็กลัวไส้เดือน กิ้งกือ  ผมเอามาเปรียบเทียบกับลูกสาวตัวเอง  ถ้าเราไม่รู้จักจัดการ ลูกเราจะต้องทำงานแบบนั้นแน่เลย  ผมทิ้งสิ่งนี้ (เกษตร) ไม่ได้ เพราะมันเป็นปัจจัยของการดำรงชีวิต  แต่เงื่อนไขเราต้องสร้างกันจริงๆ ให้เราสามารถอยู่ได้ทั้งปีทั้งชาติ  เราต้องมาวางแผนให้ตัวเราเองและครอบครัวได้  นิกรหวนกลับไปฟื้นฟูวิถีเกษตรยังชีพของตน

เลี่ยม บุตรจันทา (ฉะเชิงเทรา) [xii]
เลี่ยม บุตรจันทา ได้แนวคิดจากผู้ใหญ่วิบูลย์ เริ่มทบทวนตัวเองด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จึงตระหนักว่ารายได้จากการปลูกข้าวโพดเพื่อขาย ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ มีแต่จะสร้างหนี้ จึงหันมาทำวนเกษตร  แต่ก็ต้องเจอแรงต่อต้านในบ้าน  ตอนเริ่มทำครั้งแรก ก็ทะเลาะกับแม่บ้าน เพราะผมหยุดทำข้าวโพดโดยสิ้นเชิง  แม่บ้านไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้แต่แรกในกระบวนการเรียนรู้และตัดสินใจ  ส่วนเพื่อนที่กินเหล้าด้วยกันก็เหน็บแหนม เพราะนึกรายได้ไม่ออก  ด้วยความอุตสาหะและอดทน  นิกรหาบน้ำรดมะละกอทุกวัน. ในที่สุดก็มีคนมาซื้อ ให้ราคาดี  เลี่ยม จึงเลิกอบายมุขทุกอย่าง หันมาชักชวนเพื่อนที่เคยต่อต้าน รวมกลุ่มเรียนรู้ ทำแผนแม่บทพัฒนาหมู่บ้านของตน มีผล 2 ทาง คือ รอดและไม่รอด  แต่ถ้าหากเราไม่ทำเลย มีแต่ตายอย่างเดียว  เราจึงจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด  ระบบอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐส่งเสริมให้เราทำ  มีแต่ส่งเสริมให้ทำอย่างเดียว  แต่ไม่เคยส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการจัดการสิ่งที่เราทำ

พ่อสวาง-แม่ณัฐพร บัวจารย์ (กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำพอง  ขอนแก่น)[xiii]
พ่อสวาง บัวจารย์  ลุกขึ้นสู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เมื่อลำน้ำพองเริ่มเน่าเหม็น ปลาตาย เพราะโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟีนิกซ์ ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด  ลำน้ำพอง เป็นที่พึ่งธรรมขาติในชีวิตประจำวันของชุมชนริมแม่น้ำ เป็นทั้งแหล่งน้ำเพื่อบริโภคและการเกษตร และแหล่งอาหาร  นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำประปาของชาวเมืองขอนแก่นด้วย  พ่อสวาง เป็นหนึ่งในสามแกนนำชุมชน (ต่อมา มีเจ้าหน้าที่จาก พอช เป็นที่ปรึกษา) ที่นำการประท้วงและเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และให้หยุดทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำ  การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือดเป็นแรมปี  บริษัทมีอิทธิพลหนุนจากนักการเมืองระดับชาติ ในขณะที่ผู้แทนชุมชนในการปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่ ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ กำนัน จนถึง อบต ล้วนเข้าข้างโรงงาน  ในระยะแรก พ่อสวางต้องสู้ทั้งศึกนอกและศึกใน เพราะภรรยา แม่ณัฐพร บัวจารย์ คิดเหมือนชาวบ้านคนอื่น ไม้ซีกหรือจะงัดไม้ซุงได้  และตำหนิว่า แทนที่จะทำมาหากิน กลับไปสร้างศัตรู เพราะกลัวสามีจะถูกจับเข้าคุก แล้วใครจะมาช่วยเลี้ยงดูลูกน้อย   แต่ พ่อสวางก็ไม่ยอมเลิกรา  ยังคงยืนหยัดต่อสู้และยึดมั่นในสัจจะว่า ไม่ยอม ขายตัว ให้โรงงาน  แม่ณัฐพร ค่อย ๆ เห็นการถูกเอาเปรียบที่บังคับให้ชุมชนตกอยู่ใน ภาวะถอยไม่ได้ จึงเปลี่ยนจากคัดค้านมาร่วมงานด้วยใจสู้  ในปี 2539 พ่อสวาง ถูกลอบยิงเฉียดหัวใจ แต่ก็รอดฟื้นมาได้ เพราะกำลังใจจากมิตรสหายในเครือข่าย.  แม่ณัฐพร ยืนเคียงข้างพ่อสวาง เป็นกำลังสำคัญของคณะกรรมการฟื้นฟูให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ 

ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและนอกประเทศ  ทำให้คณะกรรมการของพ่อสวาง สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์กลางประสานข้อมูล และให้คำปรึกษาแก่ผู้เดือดร้อน  รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาอาชีพ เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ ปลูกผักปลอดสาร เก็บสมุนไพร และออมทรัพย์   แต่ฝ่ายโรงงานก็ไม่ยอมลดละในการกำจัดแกนนำของกลุ่ม  คืนหนึ่งใน พ.ศ. 2541 ทางโรงงานยกพวกมาล้อมสำนักงานเพื่อจับตัวแกนนำ.  แม่ณัฐพร ได้เก็บเอกสารสำคัญติดตัวและหลบหนีไปพร้อมกับสามี ในขณะที่ชาวบ้านนั่งล้อมศูนย์ไว้  หลังจากชาวบ้านสลายตัวกลับบ้าน คนของโรงงานกลับมาเผาศูนย์   แม้อุปกรณ์ สมบัติที่ชุมชนสร้างไว้จะสูญไปกับเพลิง แต่เอกสารสำคัญของชุมชนยังปลอดภัย  นับว่าเป็นความรอบคอบของความเป็นหญิงของ แม่ณัฐพร  ที่ช่วยให้ชุมชนยังคงเกาะตัวกันอยู่ได้  

ตั้งแต่ปีที่แล้ว หน้าที่หลักหนึ่งของ คณะกรรมการพ่อสวาง  คือ ตรวจเก็บตัวอย่างน้ำในลุ่มน้ำพองทุกเดือน โดยการล่องเรือไป 3 วัน 3 คืน   ถึงอย่างไร การต่อสู้ก็ยังไม่สิ้นสุด และปัญหาดูจะสาหัสยิ่งขึ้น  บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ได้เข้าควบกิจการของ บริษัท ฟีนิกซ์ ใน พ.ศ. 2549  ได้ขยายระบบการผลิตให้ครบวงจร จากเดิมที่เป็นเพียงโรงงานฟอกเยื่อกระดาษเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษเบ็ดเสร็จ  และเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตา มาเป็นถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งราคาถูกกว่ามาก.  แต่ชาวบ้านต้องรับภาระอากาศเสียเพิ่มจากน้ำเสีย.  ความเดือดร้อนนี้ สร้างความขมขื่นแก่ชุมชนเมื่อ กฟผ โฆษณาว่า คืนกำไรให้ประชาชน     

ปัจจุบัน พ่อสวาง ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง  ไม่สามารถทำงานหนัก หรือ บู๊เช่นเคย แต่ก็ยังเป็นหลักสติปัญญาให้ชุมชนได้อาศัย  คณะกรรมการอนุญาตให้ พ่อสวาง-แม่ณัฐพร และครอบครัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของศูนย์   ครอบครัว พ่อสวาง จึงทำหน้าที่เฝ้าศูนย์ควบคู่ไปกับหน้าที่จัดประชุม บริหารพัฒนากลุ่ม ตลอดจนเจรจาต่อรองกับภาครัฐและบริษัท และประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน

แม่อุไร สมบูรณ์  (กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า  ขอนแก่น) [xiv]
แม่อุไร สมบูรณ์  อายุ 67 ปี จบ ป.4   เมื่ออายุ 6-7 ขวบ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  พ่อแม่พาอพยพจากสมุทรปราการมาขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่อยู่เดิมใน บ้านชีกกค้อ ขอนแก่น. ในเวลานั้น มีคนอพยพจากที่อื่นด้วย เช่น ศรีสะเกษ  อุบล และเลย  แก่งละว้าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ แบบในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพราะแม่น้ำชีส่วนหนึ่งไหลผ่านที่นี่   แม่อุไรเล่าว่า สมัยก่อนมีนาไม่กี่ไร่ ทำนาปีละ 2-3 เดือน ก็พอกิน  แม่อุไรเลิกเรียนเมื่ออายุ 13 ปี  ตั้งแต่นั้นมา ไม่เคยหนีจากจอบเสียมด้ามเคียว...ช่วยพ่อทำทุกอย่างเหมือนเด็กผู้ชาย.  การที่ได้ ช่วยพ่อบังคับควายไปทุ่ง ทำให้รู้จักสังเกตจนเป็นนิสัย รวมทั้งสามารถแผ้วถาง ซึ่งจัดเป็นงานผู้ชาย

เกษตรแผนใหม่เริ่มเข้ามาในแก่งละว้า เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ชาวบ้านเริ่มกู้ ธกส เพื่อลงทุนทำนาปรัง  ปีแรกได้ผลดีจริง  ปีที่สองเริ่มดื้อยา  และปีที่สามก็ต้องเพิ่มสารเคมี  ต่อมา  แม่อุไรเริ่มสังเกตเห็นชาวบ้านที่เคยแข็งแรง เริ่มอ่อนแอ  น้าเขยฉีดยาอยู่ 2-3 วัน แล้วก็ตาย มีเลือดออกทางจมูก   แม่อุไร เป็น อสม ด้วย จึงสรุปว่า ปกติคนที่นี่แข็งแรงทุกคน คงเพราะความประมาท เชื่อมั่นในตัวเองจนเกินไป  พวกเขาจะเร่งเพาะปลูก 4-5 ปีให้ได้เงินมากๆ  ถ้าหญ้ารกก็จะฉีดยาฆ่าหญ้า  มีแมลงก็ฉีดยาฆ่าแมลง  พวกเขาสูบบุหรี่จัด  กินข้าวไม่ล้างมือ จึงเสี่ยงต่อการตายฉับพลันเช่นนั้น

เมื่อหน่วยงานราชการ เช่น ธกส มาส่งเสริมอะไร  แม่อุไร จะอยากได้ไปทุกอย่าง เช่น ควายเหล็ก และ ยูคาลิปตัส  เห็นสมเด็จนำไปปลูกที่ภูพาน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะที่นั่นทำไร่ไม่ได้  ฉันก็อยากได้ไว้ปลูกตามหัวไร่ปลายนา และริมฝั่งแม่น้ำชี. พอได้เวลา พ่อค้าก็มารับซื้อไป  แต่นานไป แม่อุไร สังเกตเห็นว่า ข้าวที่อยู่ใกล้ต้นยูคาลิปตัสบนคันนา ไม่สามารถเติบโตได้  แม้จะรู้สึกว่า ให้ข้าวโตเต็มที่เต็มนาดีกว่าปล่อยให้เสียพื้นที่และเมล็ดพันธุ์ (ที่ต้องซื้อมา) ในแต่ละแปลง  แม่อุไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ในช่วง 4-5 ปีนี้ ชุมชนมีความตื่นตัวยิ่งขึ้น มีความคิดที่จะฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิม เช่น การ เอาแรง  ซึ่งจางหายไปกับการพัฒนา.  สมัยก่อนมีแต่เอาแรง ไม่มีการจ้าง จึงช่วยกันดำนาเกี่ยวข้าว  พอมาทำนาปรัง ซึ่งได้เงินไวกว่า  ก็เริ่มใช้วิธีจ้างเพราะต้องการให้เสร็จไว และทุกคนก็ต้องเก็บเกี่ยวพร้อมกัน  อบจ ได้พาผู้นำชุมชนไปสุรินทร์ อุบล ศรีสะเกษ แต่พอกลับมาแล้ว พวกเราก็จับกลุ่มกันไม่สำเร็จ  จนกระทั่ง จรูญพิศ (โอ๋)  จันทรศรี เจ้าหน้าที่ พอช มาลงพื้นที่ ช่วยรวมกลุ่มเพื่อทำรายได้เสริมในแก่งละว้า  แม่อุไร คิดในใจ เขาเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เป็นเด็กมาจากที่อื่น เขายังมาทำกับเรา  แล้วทำไมเรายังไม่รับ  เขาทำได้ แล้วเราล่ะ จึงเริ่มพูดเกลี้ยกล่อมชักจูงให้ทุกคนเข้าร่วม  นอกจากนี้ แม่อุไร ยังมีความศรัทธาต่อวิธีการทำงาน  สิ่งที่เขาพูด เราเห็นได้ ไม่เหมือนคนอื่นที่พูดอะไร เราตามไม่ทัน...เวลาพวกเราจะไปยื่นหนังสือ โอ๋ก็จะนั่งคุยกับพวกเรา แล้วร่างหนังสือตรงกับที่เราคิดในใจ   ในที่สุด จึงเกิดการรวมกลุ่มกันมั่นคง  สมาชิกเริ่มทำนารวม (ปรัง) ในที่จัดสรรของชลประทาน 

การได้รวมกลุ่ม และเป็นสมาชิกเครือข่ายได้เปิดโอกาสให้ แม่อุไร ได้เดินทางไปเรียนรู้ เหมือนเป็นห้องเรียนสัญจร   ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูวิถีเกษตรปลอดสาร การลดต้นทุน และปลดหนี้  ครั้งหนึ่ง แมาอุไรสังเกตเห็นน้ำเน่าในหมู่บ้าน (ถ้าเป็นแต่เดิม ก็คงไม่ใส่ใจ) แม่อุไรได้ชักชวนชาวบ้าน 3-4 คน มาช่วยกันทำลูกระเบิดน้ำ โดยทำตามตำรา และก็ทำสำเร็จ  แม่อุไร มุ่งมั่นที่จะให้ชาวบ้านทั้งหมด 200 ครัวเรือนหันมาทำเกษตรปลอดสาร ปัจจุบัน เป็นปีที่ 2 ของกลุ่มฯ จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นจาก 70 เป็น 100 ครัวเรือน  แม่อุไร ได้นำพากลุ่มทำกิจกรรมเสริมรายได้ต่างๆ  เช่น เก็บเกี่ยวหญ้าธูปฤาษี (ขายให้โรงงานปูนซีเมนต์ใช้ในการรองแผ่นกระเบื้อง)   เผาถ่านผลิตน้ำส้มควันไม้ (โครงการของ กศน)  เลี้ยงกบในขวด (ได้ออกทีวี) และทอเสื่อหญ้าสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของหมู่บ้าน.  ทั้งหมดใช้วัสดุในท้องที่

แม่อุไรตั้งข้อสังเกตเรื่องหญิงชายว่า หญิงชายทำงานเคียงคู่กันได้  ในหมู่บ้านนี้ ผู้หญิงอยู่ในแกนนำด้วย.  ชายมีกำลังยกของหนักได้ดี เช่นฟืนเข้าเตา  แต่ผู้หญิงจะละเอียดกว่า คือจะจัดฟืนให้เป็นระเบียบ ไม่เสียพื้นที่ในเตา.  แต่ก่อน ชายไม่ยอมรับผู้หญิงเก่ง  แต่ตอนนี้ ทำงานคู่กันได้  อาจจะเป็นเพราะแม่อุไร เองเป็นผู้หญิงเก่ง สามีจึงแยกทางไป หลังจากลูกชายคนแรกเกิด  จึงต้องดิ้นรนเลี้ยงลูกตามลำพัง  แม่อุไร ยกความดีความชอบทั้งหมดให้น้องสาวสุดท้องที่ช่วยให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้  โดยไม่เคยปฏิเสธช่วยเลี้ยงหลาน 2 คน (ลูกของลูกชาย) เมื่อตนต้องเดินทางออกไปดูงานหรือประชุม

แม่อุไร พูดทบทวนตนเองว่า เดิมตนก็เหมือนผู้หญิงทั่วไป ที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบพูดมาก...เหมือนเดี๋ยวนี้ การได้ไปดูงานของสมาชิกเครือข่าย ทำให้ แม่อุไร ได้เรียนรู้เทคนิคการเจรจาต่อรองไปด้วย  เรื่องหนึ่งที่ประทับใจ แม่อุไร เกิดขึ้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ กำนันสมศรี เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ดำๆ  สามารถเอาน้ำจากเขื่อนลงมาให้ชาวบ้านทำเกษตรได้  กำนันสมศรีเล่าว่า ได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้น้ำจากเขื่อนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ยอมให้  จึงเอาเครื่องสูบน้ำไปต่อน้ำเข้าหมู่บ้าน  กำนันสมศรีให้เหตุผลว่า จะให้ชาวนา ลูกหลานกินอะไร ถ้าไม่ให้น้ำ  ด้วยตรรกะเช่นนี้ กำนันสมศรีสรุปว่า ทำไมจะไม่ให้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ดลใจ แม่อุไร และนำมาใช้ในการต่อรองเมื่อชุมชนประสบปัญหา  

ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา บ้านชีกกค้อ ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมที่นาทุกปี สาเหตุเพราะเขื่อนใหม่ที่กรมชลประทานสร้างขึ้น ไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบถึงทางน้ำไหล และสิ่งกีดขวาง  ทางเกวียนที่ขวางทางน้ำไหลอยู่ ตั้งแต่อดีตเป็นคันดิน ต่อมากรมโยธาได้สร้างทับให้เป็นถนนถาวร   เมื่อเขื่อนปล่อยน้ำลงมา  แทนที่น้ำจะไหลล้นทางเกวียนออกไปเช่นเดิม กลับขังเป็นแอ่งในที่นาของชาวบ้านอยู่ 6-7 วัน ยาวนานกว่าเดิมแค่ 3-4 วัน. ส่วนข้าวในอดีต ก็เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองคอยาว เรียกว่า ข้าวเจ้าลอย หรือข้าวเจ้าสายบัว  เวลาน้ำท่วม ก็จะลอยตามน้ำไป จึงเสียหายน้อย  แม้บางครั้งจะท่วมถึง 7 วัน ชาวบ้านก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวรวงข้าวที่ลอยตามน้ำไปได้  แต่ข้าวปัจจุบันคอสั้น จึงจมน้ำตายหมด  เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้เก็บพันธุ์พื้นเมืองไว้ จึงไม่มีทางเลือก

ชุมชนเห็นชอบที่จะทำการประท้วง แต่ไม่สามารถพึ่งผู้ใหญ่บ้านได้  เพราะ ยั่นนายอำเภอจะไล่ออก  ผู้ชายกลัวความผิด แม่อุไรบอก  จึงมีแต่ผู้หญิงออกหน้าไปยื่นหนังสือต่อรองผู้ว่า  กลุ่มผู้หญิงพยายามทำตามขั้นตอน ใช้วิธีเจรจาขอร้องให้ทางการช่วยแก้ไขปัญหา เราไม่ได้เร่งหรือต่อว่าท่าน...เพียงแต่ขอให้ช่วยส่งหนังสือผ่านขึ้นไปในระดับสูงกว่านี้ และส่งท้ายว่า แล้วจะมาอีกถ้ายังได้รับผลกระทบ

แม่หล้า ศรีบุญยัง (กลุ่มแม่หญิงฮักถิ่น  เชียงดาว เชียงใหม่) [xv]
แม่หล้า ศรีบุญยัง เป็นแม่บ้านธรรมดาที่เดินตามหลังสามี พ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง.  เมื่อน้ำในชุมชนเริ่มแห้งเพราะการลักลอบตัดไม้แพร่ระบาด  พ่อหลวงติ๊บ ได้รณรงค์ตั้งป่าชุมชน เพื่อหยุดยั้งการทำลายป่า  จนได้เป็นประธานคณะกรรมการในการจัดตั้งป่าชุมชน ที่บ้านหัวทุ่ง ในปี พ.ศ. 2540[xvi]   พ่อหลวงติ๊บได้รับความสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ และนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรม เพื่อจัดสรรเขตป่าใช้สอย และป่าอนุรักษ์ ตลอดจนสำรวจป่าและทำแนวกันไฟ    แต่ยังมีกลุ่มชาวบ้านและอิทธิพลท้องถิ่นที่ขัดขวาง ไม่ต้องการให้แบ่งเขตและจำกัดการตัดไม้.   ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นลอบยิง พ่อหลวงติ๊บ ตาย ในปี 2545  พอแม่หล้า ได้ข่าวการตายของสามี ก็เป็นลมล้มพับ ไม่ได้สติไป 3 วัน.  แต่ด้วยแรงสนับสนุนจากชุมชนและเครือข่าย รวมกับกำลังใจจากองค์กรพัฒนาเอกชน แม่หล้าจึงแข็งใจ ลุกขึ้นยืน ทำงานต่อยอดจากสามี

ใน พ.ศ. 2547 ด้วยเหตุที่สมาชิกส่วนใหญ่ของเครือข่ายเป็นผู้หญิง  มีผู้ชายมาช่วยเป็นครั้งคราว แม่หล้า จึงรวมกลุ่มแม่หญิง ทำกิจกรรมเดินป่า เพื่อเก็บชื่อและตัวอย่างพืชพรรณสมุนไพร มารวบรวมเป็น ฐานข้อมูล ว่าชนิดใดมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร มีวิธีใช้เป็นทั้งอาหารหรือยาอย่างไร   กิจกรรมนี้ กลายเป็นเวที(ห้องปฏิบัติการ) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทดลอง  ระหว่างชาวบ้านกันเอง และกับคนจากเชียงใหม่     แม่หล้าเล่าถึง คนเชียงใหม่ที่บอกว่า ผักแค่นี้ ขายเป็น 100 ในเชียงใหม่   คำพูดนี้  ทำให้กลุ่มแม่หล้า เกิดความภาคภูมิใจที่รู้ว่า สิ่งที่พวกตนทำ ไม่เพียงแต่มีคุณค่า แต่ยังมีมูลค่าสูงอีกด้วย   กลุ่มได้ขนานนามตนเองว่า กลุ่มแม่หญิงฮักถิ่น

การที่กลุ่มแม่หญิงฮักถิ่น ใช้เวลาอยู่ในป่าเนืองๆ ในการเก็บข้อมูล และทำป้ายชื่อต้นไม้นั้น  เป็นการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา สอดส่องคนที่เข้ามาลอบตัดไม้ ไปในตัว   กลุ่มแม่หญิงค่อยๆ จัดระเบียบในป่าชุมชน จนใช้เป็นศูนย์ศึกษาสำหรับเยาวชนได้   มีเด็กจากหมู่บ้าน และเด็กจากเมืองมาศึกษาเดินป่า เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ (เช่น ป่าเจ็ดชั้น)  คุณค่าของน้ำและแหล่งน้ำ  ความสำคัญของน้ำต่อมนุษย์ รวมทั้งศึกษาถึงพืช ผัก และการใช้สอยของจากป่า     ปกติ แกนหลักของกลุ่มแม่หญิงจะเป็นผู้นำพาเด็ก.    แต่ในหน้าน้ำหลาก จะมีกรรมการชายมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงเด็กเพิ่ม    แม่หล้าเล่าวิธีนำเด็กว่า เมื่อเข้ามาถึงในป่าแห่งนี้ จะให้เด็ก หลับตานิ่งสักพัก ให้หายใจลึกๆ เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ สัก 4 นาที  ให้เด็กได้ยินเสียงนก เสียงใบไม้ เสียงลม   กลุ่มแม่หญิงฝึกเด็กไปได้ 4-5 รุ่น.  ทุกวันนี้  เด็กสามารถเข้ามาหาอาหารในป่า เป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัว

กลุ่มแม่หญิงฮักถิ่น ได้ขยายงานไปสู่การปลูกไผ่   เนื่องจากบ้านหัวทุ่ง มีอาชีพเสริมในการสานก๋วย (เข่งสำหรับใส่ผักสด) และขายได้เป็นล่ำเป็นสัน    กลุ่มแม่หญิงเล็งเห็นว่า ถ้ามีแต่ใช้มากขนาดนั้น  จะต้องเกิดภาวะขาดแคลนไม้ไผ่แน่นอน   จึงร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชน 42 คน ปลูกไผ่ในพื้นที่ 42 ไร่ โดยแบ่งกันดูแลคนละ 1 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542   ในปี 2548 มีการตัดไม้ไผ่ 5 ครั้ง    เมื่อถึงเวลาตัด ทั้งหญิงและชายจำนวนพอๆ กันได้ออกมาช่วยกันลงแรง  โดยจะแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม  หญิงแบกลำไผ่ที่ชายตัด  มากองรวมกัน  กองละ 950 เล่ม  ผู้หญิงจะทำหน้าที่ตรวจการแบ่งในแต่ละกอง  แล้วเขียนตัวเลขกองลงในสลาก 2 ใบ เพื่อจับฉลากกัน   กลุ่มจะเก็บเงิน คนละ 10 บาท แลกกับสลาก 1 ใบ เพื่อเอาไม้ไผ่   ทุกคนต่างห่อข้าวมากินร่วมกัน

แม่หล้าอธิบายถึง คุณค่าของการสานก๋วย ที่ไม่เพียงแต่มีมูลค่าในการสร้างรายได้ แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ชาวบ้านสามารถสานไป ดูโทรทัศน์ และพูดคุยกันไป   เด็กจะสานส่วนล่าง แม่จะสานต่อด้วยการขึ้นเป็นตัวก๋วย  จากนั้น พ่อจะสรุปด้วยการสานปากด้วยการขึ้นขอบก๋วย   ก๋วยจึงเป็นผลงาน และสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจของพ่อแม่ลูก

ณ วันนี้ แม่หล้า รู้สึกเชื่อมั่น และภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้ทำ  แม้จะต้องอยู่ในป่าตามลำพัง ก็ไม่กลัวตาย เพราะเห็นว่าเป็นงานที่ต้องทำ ทำแล้วได้บุญกุศล

แม่อิง ไถวสินธ์ (เครือข่ายชุมชนปกป้องลุ่มน้ำวังพระธรรม  โพธิ์ชัย  ร้อยเอ็ด)[xvii]
แม่อิง ไถวสินธ์ เป็นลูกหัวปี มีน้องชายคลานตามมา 4 คน  ตนเองมีลูกชายทั้งสิ้น 3 คน  แม่อิงจึงเติบโตมาในหมู่ผู้ชาย   จึงมีปฏิภาณไหวพริบ เข้มแข็ง และ ใจนักเลง ไม่แพ้ชาย    เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไปที่ขานรับนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์ของรัฐบาล   ครอบครัวของแม่อิง ได้รุกเข้าไปทำไร่มันสำปะหลังในดงแม่เผด  ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการสัมปทานป่าไม้  (ผิดกับเดิมซึ่งเคยเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้และสัตว์ป่านานาชนิด)     ในปี 2531 แม่อิงและชาวบ้านที่เข้าไปทำกินด้วยกัน ได้ร่วมกับกรมป่าไม้กันแนวเขตรอบต้นน้ำ ดงแม่เผด 8,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 30,000 กว่าไร่   แต่ในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลประกาศให้ดงแม่เผด เป็นพื้นที่โครงการ คจก และต่อมาเป็นเขต ป่าอนุรักษ์  มีการใช้กำลังบังคับให้ ชุมชนแม่อิง ย้ายกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม แล้วปลูกยูคาลิปตัสทับที่ทำกินของชาวบ้านแทน[xviii]  การต่อสู้ของแม่อิงจึงเริ่มตั้งแต่นั้น

หลังจากกลับลงมาแล้ว แม่อิงและชาวบ้านได้เสนอ โครงการคนรักป่าพัฒนาต้นน้ำดงแม่เผด ต่อรัฐบาล เพื่อขอกลับเข้าไปในพื้นที่ เป็นเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าพวกตนทำพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นสีเขียวเหมือนเดิมไม่สำเร็จ ก็ยินดีจะย้ายออก    เมื่อได้รับอนุญาต ชาวบ้านได้ร่วมใจกันฟื้นฟูป่า เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย แยกกันดูแลด้านการเกษตร  การฟื้นฟูดูแลป่า   ป่าชุมชน  กองทุน และศึกษาการเมือง    แม่อิงรับผิดชอบฝ่ายศึกษาการเมือง  ทำหน้าที่ร่วมประชุมกับสภาตำบล และหาข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ รวมทั้งเป็นประธานและเลขานุการ ประสานงานกับองค์กรอื่นๆ

แต่ใช่ว่าชุมชนทั้งหมดจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวครั้งนั้น   ในบ้านโคกสมบูรณ์ หมู่ 12 และ 14 ที่แม่อิงอาศัยอยู่ มีเพียง 25 คน จากทั้งหมด 196 ครัวเรือน ที่เข้าร่วมชุมนุม เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน   บางคนไม่กล้าเข้าร่วมเลย บางคนร่วมโดยออกค่ารถให้คนอื่นเดินทางไป     เมื่อแม่อิง ไปถึงที่ชุมนุม ก็ถูกจัดให้ไปแผนกครัว เช่นเดียวกับหญิงชาวบ้านอื่นที่มาร่วม   หลังจากกินข้าวแล้ว ผู้ชายเริ่มขึ้นเวทีผลัดกันปราศรัย  ส่วนแม่อิงและผู้หญิงอื่นหลบมุมล้างถ้วยชามอยู่ท้ายครัว   แม่อิงเล่าว่า ได้ยินเสียงจากเวที ถามหาคนที่รู้เรื่องที่ดงแม่เผดอยู่นาน ถึงฉุกใจว่าเป็นหน้าที่ของตน.  นั่นเป็นครั้งแรกที่แม่อิง เดินขึ้นเวทีปราศรัย   แต่นั้นมา แม่อิงก็ได้ร่วมเป็นแกนนำคนหนึ่ง ที่ต้องเดินทางไปประชุมและประท้วงบ่อยๆ   รวมทั้งในการก่อตั้ง สมัชชาคนจน ในปี 2538

ในปีเดียวกันนั้น แม่อิงได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบต แต่ลาออกก่อนสิ้นวาระ เพราะ รู้สึกผิดที่ โกงตัวเอง  แม่อิงเล่าว่า ยังไงๆ ก็ต้องโกง เวลาเซ็นรับงานโครงการก่อสร้าง ก็จะมีซองแนบมาด้วย ครั้งละ 700-2,000 บาท  แม่อิงนึกในใจ เราทำงานต่อสู้ความยากจน เรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน...พระที่พึ่งได้ ต้องเทศน์และทำให้ได้ด้วย จึงตัดสินใจลาออก กลับมาทำงานกับชุมชน

ในช่วงเวลาเดียวกัน ชีวิตครอบครัวของแม่อิง เริ่มเจอวิกฤตตั้งแต่นั้นมา  เริ่มด้วยสามีป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังถึง 7 ปี  เป็นเหตุให้แม่อิงต้องเริ่มกู้เงินจาก ธกส มารักษา  พอสามีเสียชีวิต แม่ก็ป่วยเป็นนิ่วในไต ตามมาด้วยพ่อซึ่งป่วยเป็นไส้เลื่อน และมะเร็งในลำไส้  และในที่สุดก็ถึงคราวพี่สาวของแม่  ต่างเสียชีวิตไล่ๆ กันในช่วงเวลา 10 ปี นอกจากหนี้อันเกิดจากการรักษาโรคภัยของสมาชิกในครอบครัวและงานศพ  ในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายฯ  แม่อิงยังต้องแบกภาระหนี้ของชุมชนต่อ พอช อันเนื่องมาจากโครงการชุมชนนำร่องที่โพธิ์ชัย
 
อีกวิกฤตหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ บริษัท มิตรผล จำกัดได้เข้าไปตั้งโรงงานใกล้ชุมชน ในปี 2542  โดยเข้าไปส่งเสริมกึ่งบังคับให้ชาวบ้านในดงแม่เผดปลูกอ้อยป้อนโรงงาน  เริ่มด้วยการจ้างผู้ใหญ่บ้านให้มาเกลี้ยกล่อม และล่อด้วยสินเชื่อ   แต่ชาวบ้านปฏิเสธ  บริษัท จึงจ้างชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้ามาข่มขู่   ชาวบ้านจึงจำใจต้องเอา นส3 ของตนไปค้ำกับบริษัท เพื่อทำสัญญาเงินกู้ 6-7 แสน บาท เพื่อซื้อพันธุ์ สารเคมี (ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ขจัดหญ้า) โดยบริษัท จ่ายค่าแรงสำหรับไถที่ดินให้

ปัญหาเริ่มเกิด เมื่อชาวบ้านบางรายทำไม่ได้ผล แต่ก็ต้องเสียค่าปรับดอกเบี้ยตามสัญญา  จะเลิกทำก็ไม่ได้   เพราะหลัวจะสูญเสียที่ทำกิน   ในท่ามกลางปัญหาส่วนตัว  มีคนเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง จากทั้งนอกและในชุมชน มาขอให้แม่อิงช่วย เช่น สามีภรรยาคู่หนึ่งเอา นส3 ไปค้ำเพื่อขออนุมัติเงินกู้เพื่อปลูกอ้อย  ขณะรอการอนุมัติ สามีเกิดอุบัติเหตุ ถึงแก่กรรม  ภรรยาจึงไปขอยกเลิกการขอกู้ และขอ นส3 คืน.  แต่บริษัทไม่ยอมให้ แม้จะได้ส่งทนายไปขอ  เรื่องยืดเยื้ออยู่ 3 ปี จึงมาขอให้แม่อิงไปช่วยเจรจา

ในความเห็นของ แม่อิง หมาขี้เรื้อนเดือดร้อนมาหาเรา เรายังต้องช่วยใส่ยา เอาอาหารให้กิน  เมื่อใครมาร้องทุกข์ ก็พยายามช่วยตั้งแต่ประสานขอความช่วยเหลือ จนกระทั่งเอาตัวเองเข้าค้ำประกันเพื่อให้คนอื่นกู้เงินไปทำใช้ทำกิจส่วนตัว    ความสับสนและซวนเซในชีวิต แม่อิง ถึงจุดสูงสุด เมื่อประเทศไทยอยู่ในวิกฤตการเมืองแบ่งขั้วเหลือง-แดง ในปี 2548 โดยชาวอีสานส่วนใหญ่เข้าฝ่ายเสื้อแดง.  แม่อิงเล่าว่า ตนเอง ไม่ได้เห็นด้วยกับทักษิณทั้งหมด ได้วิจารณ์การทำงานของทักษิณบ่อยๆ  แต่เมื่อชาวบ้านตัดสินใจยกทั้งหมู่บ้านไปสมทบการประท้วงกับเสื้อแดงที่ตลาดจตุจักร  ลูกชายคะยั้นคะยอให้แม่อิงไปด้วย  แม่อิงจึงปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางเสื้อแดง  เนื่องจากแม่อิงเป็นผู้นำหญิงในจำนวนไม่กี่คน ที่เป็นนักสู้เพื่อความยุติธรรมของคนจนมาตลอด  จึงเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชน ที่ติดตามการเคลื่อนที่ของเสื้อแดงที่ไปล้อมอาคารเนชั่น  ในที่สุด แม่อิงก็ติดร่างแหผู้ต้องหา 1 ใน 6 แกนนำผู้กระทำผิดกฎหมายฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้คนไม่ให้ออกจากอาคาร.  คดีนี้ยืดเยื้อมาจนถึง ธันวาคม 2552  แม่อิงจึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาหลังจากทนายช่วยเจรจากับอัยการ

แม้ว่าแม่อิงจะบอกว่า นั่นเป็นการเข้าร่วมเสื้อแดงเพียงครั้งเดียว และไปแบบจับพลัดจับผลู  แต่ภาพของแม่อิงก็ได้ออกอากาศซ้ำๆ หลายหน จนเพื่อนๆ ในเครือข่ายผู้หญิงไม่แน่ใจทิศทางของแม่อิง   ถึงอย่างไร แม่อิง ก็ยังคงเป็นที่พึ่งของเครือข่ายชุมชนปกป้องลุ่มน้ำฯ  ในขณะเดียวกัน แม่อิงก็เริ่มหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรม ที่วัด(ป่า)ลานภูหลวง มุกดาหาร ซึ่งเจ้าอาวาส พระอาจารย์บุญยัง ก่อนบวช เป็นน้องชายของแม่อิง   พระอาจารย์บุญยัง บวชตั้งแต่อายุยังน้อย สนใจศึกษาทั้งธรรมะและความคิดการเมืองทางโลก เป็นพระนักพัฒนาและนักปฏิบัติ สามารถแจกแจงธรรมะให้เชื่อมโยงกับปัญหาทางโลกได้  แม่อิงและคณะกรรมการเครือข่ายจึงศรัทธา และพากันไปปฏิบัติธรรมที่วัดลานภูหลวงเป็นประจำ

แม่อิง ได้ซึมซับคำสอนจากพระอาจารย์บุญยังเรื่องมรณานุสติ และได้ปรับใช้ในการทำหน้าที่ผู้นำ  รวมทั้งในการลดทิฐิ หรืออคติของชายต่อหญิง  เช่น ปกติชายไม่ค่อยยอมรับความเป็นผู้นำของหญิงง่ายๆ  มักจะยัดเยียดให้ทำหน้าที่บริการ  อาจารย์จะอบรมว่า ไม่ว่าชายหญิงก็ตายเหมือนกัน  หญิงก็มีเลือดเนื้อเหมือนชาย และหญิงก็เป็นคนที่เข้มแข็งได้เหมือนกัน  ขอให้ชายช่วยผู้หญิงด้วย เพราะเขาเป็นเพศเดียวกับแม่เรา  ให้คิดว่าหญิงชายมีค่าเท่ากัน ...  ให้ฟังเสียงผู้หญิงด้วย  เวลาผู้หญิงพูดให้ตั้งใจฟัง คนพูดจะได้ไม่เสียใจ  เวลาฟังให้ดูสีหน้าและแววตาของเขาด้วย

แม่อิง อธิบายว่า นิวรณ์ 5[xix] เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงอ่อนแอในพื้นที่สาธารณะ  ผู้นำทั้งหญิงและชายเสี่ยงต่อปัญหาชู้สาว เพราะเมื่อหญิงชายอยู่ใกล้ชิดกัน อาจหลงลืมตัวนอกใจคู่สมรสของตน   ผู้นำหญิงก็มักจะมีความอิจฉาริษยา ระแวง นินทาว่าร้าย จนกลายเป็นข่าวลือเสียหาย  ส่วนผู้นำชายมักไม่ค่อยยอมเสียสละ  จากประสบการณ์การต่อสู้เผชิญหน้ากับโรงงานที่ผ่านมา แม่อิงตั้งข้อสังเกตว่า ชายมักจะใช้คำพูดรุนแรง และจะปะทะด้วยกำลัง  ส่วนหญิงจะพูดเชิงขอร้อง ประนีประนอม ใช้สติปัญญามากกว่าอารมณ์.   ชายมักคิดแต่เรื่องใหญ่ นึกทำการใหญ่ตามลำพัง ส่วนหญิงจะช่วยกันคิด ละเอียด รอบคอบ และพูดเบาๆ

วิธีคิดของแม่อิง คือ ไม่ปักใจว่าฝ่ายตรงข้ามต้องเป็นศัตรู  แต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะพยายามเชื่อมโยง. ปัญหา ป่า ที่ดิน สิทธิ์ นั้น รัฐบาลย่อมจะปกป้องนายทุนอยู่ก่อน  เราอยากเชื่อมกับเขา เราต้องทำยังไง  เช่น เราอาจจะพยายามทำความดีให้เขาเห็นคุณค่า ว่าเราไม่ใช่คนเลว  ไม่ใช่เอาแต่ด่าเขาอยู่เรื่อยไป   หลังจากผ่านความผันผวนของการเมืองประชาชน แม่อิงบอกว่า ขั้วการเมืองไม่แน่นอน ยึดถือไม่ได้  เราต้องคิดว่า ทำอย่างไร ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์  เราต้องลดความอ่อนแอของชุมชน  ปัญหาไม่ใช่แค่ทุน  มันต้องมีจิตวิญญาณด้วย  เราต้องรู้ถึงที่มาที่ไป ว่าคนนั้นพ่อแม่เป็นใคร

ชุมชนของแม่อิง ได้เริ่มฟื้นฟูอัตลักษณ์ของตน หลังจากเริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรม ชุมชนเห็นร่วมกันที่จะทำบุญประจำปีแก่ผู้นำชุมชนที่เสียชีวิตไป โดยจะจัดให้มีการแสดงหมอลำด้วย  การแสดงนี้ เป็นการระดมทุนไปในตัว (โดยการขายบัตร) และเป็นการบันทึกและถ่ายทอดประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชน (โดยชุมชนช่วยกันรวบรวมประสบการณ์เหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ ให้หมอลำไปแต่งเป็นบทเพลงลำ)   ในขณะที่การระดมทุนท้องที่ เป็นความพยายามที่จะหวนกลับมาพึ่งพาแบบแบ่งปันกันดั่งในอดีต และลดการขึ้นต่อแหล่งทุนภายนอก ซึ่งมักจะตั้งเงื่อนไขมากมาย  การฟื้นฟูทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณชุมชน ก็เป็นการเสริมหรือต่อยอดจากการฟื้นฟูระบบนิเวศ ในทางปฏิบัติที่ได้ดำเนินอยู่... แม้ว่าการประท้วง การเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินต่อไป  แม่อิงบอกว่า วันที่ 31 ธันวาคม นี้ ไม่รู้ว่าเขาจะมาจับพวกเราที่ขัดขวางการปลูกอ้อยหรือเปล่า



[i][i] ขอขอบคุณ..ผู้มีรายนามในสัญจรสนทนาครั้งนี้  ที่กรุณาสละเวลาเล่าประสบการณ์ และความคิดต่างๆ ด้วยน้ำใจไมตรี และ คุณศยามล ไกยูรวงศ์   คุณโอฬาร อ่องฬะ   คุณจรัญญา วงษ์พรหม  และ คุณบุปผาวรรณ อังคุระษี ที่ช่วยประสานงานด้านที่พัก พาหนะ และแนะนำแหล่งข้อมูล
[ii] นิตยา หวายคำ เล่าถึงความแตกต่างที่หญิงและชายวาดใส่แผนที่ชุมชนของตน ในกิจกรรมอบรมที่ผ่านมาเรื่องมิติหญิงชาย
[iii] UNDP, 2546, น.22
[iv] อินทิรา วิทยสมบูรณ์, 2552, น.9
[v] UNDP, 2546, น.5
[vi] วิฑูรย์ ปัญญากุล และตรียดา ตรีมรรคา. 2539., น.51-57.  ผู้นำแม่ทาได้พลิกวิกฤต เรียนรู้จากความผิดพลาด และได้กลายเป็นชุมชนตัวเย่างหนึ่งสำหรับการเรียนรู้วิถีทางเลือ ดูเพิ่มจาก เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ การจัดการฐานทรัพยากรชุมชนเชิงนิเวศในประเทศไทย (สำหรับการประชุมนี้) และ ศยามล 2551.
[vii] บริษัท อินทนนท์ จำกัด เป็นเจ้าของธุรกิจยาสูบขนาดใหญ่ในภาคเหนือ และได้รับสัมปทานตัดไม้ในเขตแม่ทา ใน พ.ศ. 2501-2511 เพื่อใช้เป็นฟืนบ่มยาสูบ   ในปี 2518 บริษัทได้ร่วมหุ้นกับต่างประเทศ  เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยแอมยาสูบ จำกัด ตั้งแต่นั้นมา (วิฑูรย์ ปัญญากุล และตรียดา ตรีมรรคา. 2539., น.51-57)
[viii] บริษัทจัดหาต้นกล้า ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมทั้งแนะนำวิธีการเพาะปลูก ดูแลรักษา แก่เกษตรกร  หลังเก็บเกี่ยว จะต้องขายให้บริษัท ตามราคาประกันที่ตกลงกันไว้ก่อนปลูก (วิฑูรย์ ปัญญากุล และตรียดา ตรีมรรคา. 2539., น.51-57)
[ix] นัยนา หวายคำ, 3 ธันวาคม 2552
[x] UNDP 2546, น.6
[xi] UNDP 2546, น.10
[xii] UNDP 2546, น.9
[xiii] 14 ธันวาคม 2552
[xiv] 13 ธันวาคม 2552
[xv] 30 พฤศจิกายน 2552
[xvi] อินทิรา วิทยสมบูรณ์, 2552, น.11
[xvii] 19 ธันวาคม 2552
[xviii] สะอิ้ง ไถวสินธ์, ใน คณะกรรมการเครือข่ายหัตถกรรมและพัฒนาสตรีอีสาน, 2538, น.5-6
[xix] กามฉันทะ (หมกมุ่นในกาม ความหลงใหล)  พยาบาท (เกลียด โกรธ มุ่งร้าย)  ถีนะ-มิทธะ (เกียจคร้าน เฉื่อยชา)  อุทธัจจะ-กุกุจจะ (วิตก กังวล) และวิจิกิฉา (สงสัย ลังเล).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น