วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นโยบายสร้างหรือขจัดความยากจน?


บทความต่อไปนี้ ได้นำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเห็นต้นแบบวิธีคิดของผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของชีวิตคนนับล้านในฐานะแรงงาน     ผู้มีอำนาจเหล่านี้ เป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่หยิบยืมชิ้นส่วนทางวิชาการ (เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น) มาใช้เพื่อ แก้ปัญหา ความยากจน โดยไม่เคยตั้งคำถามต่อกรอบคิด หรือเครื่องมือ หรือแม้แต่คำจำกัดความของ การพัฒนา
     บทความนี้ สะท้อนให้เห็นความเป็นนักบริหารมืออาชีพกระแสหลัก ที่ต้องมีความสามารถในการคิดแบบกล่องๆ และตั้งเรียงกันอย่างเนี๊ยบ  ให้เกิดเป็นสูตรสำเร็จ  สำหรับพวกเขา คนนับล้าน อยู่ในสองกล่องที่ไม่สัมพันธ์กัน  ในกล่องหนึ่ง เป็นเพียง แรงงาน ที่รวมกันเป็นก้อนไม่รู้จักเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนพวกเขา (ผู้เป็น พลังสมอง)อีกกล่องหนึ่ง เป็นกลุ่มก้อนคนที่มีแต่ตัวเลข  เป็นภาระที่ต้องดูแลในฐานะผู้อ่อนแอกว่า     พวกเขาคงจะไม่เคยตั้งคำถามว่า ความยากจน อย่างที่พวกเขาแขวนป้ายให้นี้  เกิดขึ้นเมื่อไร   แต่กลับมีคำตอบเป็นสูตรสำเร็จอยู่แล้วว่า จะต้องแก้ความยากจนนี้โดยทำให้เกิดวงจร ผลิต-บริโภค ต้องอยู่ในภพภูมิของการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม (ลดต้นทุน กำไรเม็ดเงินสูงสุด) และมีลีลาชีวิตติดบริโภคแบบเมือง
     พวกเขาจะไม่แม้แต่คิดว่า ทำไม พัฒนา กันมากึ่งศตวรรษ (ภายใต้การนำของผู้เชี่ยวชาญ)  จึงมีแต่วิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า และได้บานปลายจนถึงขั้นหายนะในเร็ววันนี้ ..ภายในไม่ถึง 200 ปี   นี่ อาจเป็นความหายนะที่เบ็ดเสร็จกว่าเมื่อครั้งญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิดอะตอม   คงไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ เพราะมนุษย์ก็ได้เริ่มทำลายล้างผลาญกันเองอย่างจริงจัง รวมทั้งองค์รวมนิเวศที่หุ้มห่อทุกชีวิต
     ด้วยวิธีคิดแบบกล่อง ๆ เช่นนี้ ประชาสังคมจะต้องส่งเสียงอย่างไรหรือทำอะไร เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหารมืออาชีพกระแสหลักเหล่านี้ได้ยิน และเลิกคิดแบบกล่อง ... วิธีคิดที่ขยายความเหลื่อมล้ำ ความไร้มโนธรรม และไร้มนุษยธรรมในสังคม...ในนามของการพัฒนา             -ดรุณี ผู้แปล


ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจที่กำลังอุบัติขึ้น (เกิดใหม่):
ตลาดแรงงานและนโยบายสังคมมีบทบาทอย่างไร?
ศูนย์การประชุม OECD ปารีส 19 พค 2010
จอห์น มาร์ติน (ผอ  กิจกรรมการจ้างงาน แรงงาน และสังคม  OECD)

OECD/EUROPEAN UNION HIGH-LEVEL CONFERENCE
Inequality in Emerging Economies: What Role for Labour Market and Social Policies?
OECD Conference Centre, Paris, 19 May 2010
“Introductory Remarks”
John P. Martin Director for Employment, Labour and Social Affairs, OECD
www.oecd.org/els/social/inequality/emergingeconomies

... งานครั้งนี้ เน้นถึงโครงการร่วมของเรากับ กรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่แสวงหาตัวกำหนดของความยากจน และนโยบายทางเลือกเพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในบราซิล จีน อินเดีย และอาฟริกาใต้  โครงการนี้เป็นการต่อยอดและเกื้อหนุนกับงานที่พวกเราได้ทำในประเทศ OECD ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในปี 2008 ชื่อเรื่อง เติบโตสู่ความไม่เท่าเทียม? (Growing Unequal?)   หัวข้อนี้ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของวงสนทนาแลกเปลี่ยนและการสร้างความร่วมมือกับเศรษฐกิจที่อุบัติขึ้นใหม่  เป็นกระบวนการที่องค์การของพวกเราต้องการจะมีส่วนร่วมกับมากขึ้นตัวเล่นใหม่ในเวทีโลก

หัวข้อการประชุมนี้ -- บทบาทของตลาดแรงงานและนโยบายสังคมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศทั้งใน และนอก OECD     ดังที่ได้บันทึกไว้แล้วในรายงาน เติบโตสู่ความไม่เท่าเทียม?”  ความเหลื่อมล้ำได้ขยายตัวมากขึ้นในหลายประเทศในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปัญหาสาหัสที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ   วิกฤตเศรษฐกิจโลกเพียงแต่เพิ่มความท้าทายให้กับปัญหาเหล่านี้ และทำให้ปฏิบัติการเชิงนโยบายเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งขึ้น

โลกาภิวัตน์และการเพิ่มความพึ่งพิงโยงใยเกี่ยวเนื่องกันระหว่างปรเทศในเชิงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพที่จะปรับปรุงชีวิตของประชาชนทั่วโลก  การไหลเวียนของการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมาในสี่ประเทศที่เราจะอภิปรายกันวันนี้   ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดการผนวกการค้าและตลาดการเงิน และเพิ่มน้ำหนักของประเทศเหล่านี้ในเวทีเศรษฐกิจโลก   จีนและอินเดียขยายตัวดัวยอัตราตัวเลขสองหลักต่อปีในช่วงเวลาก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ   การขยายตัวเชิงเศรษฐกิจในบราซิลและอาฟริกาใต้ ค่อนข้างจะเป็นเหมือนไอระเหย แต่ก็ยังน่าประทับใจอยู่ 

ผลคือ ทั้งสี่ประเทศได้ประสบการเติบโตของ GDP ต่อหัวที่สูงมาก เป็นการลดช่องว่างเมื่อเทียบกับประเทศ OECD    ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตนี้จะพุ่งตัวขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ แต่การจะมาบรรจบกับ GDP ต่อหัวของ ประเทศ OECD ยังเป็นเป้าหมายที่ห่างไกล  ในอินเดีย GDP ต่อหัว ยังแค่ 8% ของค่าเฉลี่ยของ OECD  ในจีน 16% ในขณะที่ในบราซิลและอาฟริกาใต้ ประมาณ 25%

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด   โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดความไม่สมดุล ทั้งระหว่างและภายในประเทศ   การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้ช่วยลดภาวะยากจนสุดโต่งอย่างมีนัยสำคัญในจีน อินเดีย และบราซิล  และมีผลน้อยกว่าในอาฟริกาใต้   แต่ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และการบริโภคได้เพิ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แม้ว่าบราซิลจะประสบความสำเร็จมากในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็เห็นความเหลื่อมล้ำลดลงเช่นเดียวกัน

การเพิ่มความไม่เท่าเทียมในรายได้ในประเทศเศรษฐกิจใหม่ ส่วนมากเชื่อมโยงกับความจริงที่ว่าคนงาน ไม่มีความเท่าเทียมเชิงโอกาสในการเข้าถึงการว่าจ้างงาน ดังนั้นจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนส่วนมากที่มีทักษะต่ำ จะต้องจมปลักอยู่กับงานที่ไม่มั่นคง ที่มักจะอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบและไม่ถูกควบคุม    งานเหล่านี้ แม้จะเป็นการจ้างเต็มเวลา ก็มักจะให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะยกสถานภาพของครอบครัวให้พ้นจากบ่วงความยากจน   ดังนั้น การทำให้เข้าถึงงานที่ก่อให้เกิดผลอุดมสมบูรณ์ และมีรางวัลตอบแทน (productive and rewarding jobs) คือกุญแจของการหลีกหนีจากความยากจน และลดความไม่เท่าเทียม ข้อความนี้ที่เป็นความจริงสำหรับทั้งประเทศในเศรษฐกิจใหม่และ OECD

ขออนุญาตกล่าวถึงบทบาทที่เป็นไปได้ของตลาดแรงงานและนโยบายสังคมในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน

การเพิ่มความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   จากการวิเคราะห์ของเราถึงประสบการณ์ของ OECD เรารู้ว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการต้าน/ชะลอแนวโน้มของความไม่เท่าเทียมกัน  การให้รายได้เสริมแก่ผู้ตกงาน และช่วยเพิ่มต้นทุนมนุษย์ (เช่นฝึกทักษะใหม่) เพื่อให้หางานใหม่ทำได้ เป็นตัวอย่างที่รัฐบาลทำได้ และก็ได้ทำแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน   ระบบภาษีและผลประโยชน์ และนโยบายสังคมอื่นๆ ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเสี่ยงของครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่จะตกสู่ความยากจน    ถ้าออกแบบให้ดี มาตรการเหล่านี้จะถนอมแรงจูงใจให้คนในวัยทำงานออกแสวงหาโอกาสถูกจ้าง

แต่ในหลายๆ เศรษฐกิจใหม่ ตลาดแรงงานและนโยบายสังคมยังอยู่ในวงแคบๆ เพราะ เศรษฐกิจนอกระบบซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ ด้วยคำจำกัดความของ นอกระบบ ได้กีดกันคนงานและครอบครัวของพวกเขาให้พ้นจากช่องทางที่เข้าถึงผลประโยชน์และบริการทางสังคมส่วนใหญ่    ดังนั้น ภารกิจแรกและสำคัญที่สุดสำหรับผู้กำหนดนโยบายในเศรษฐกิจเหล่านี้ คือ ทำให้ตลาดแรงงานครอบคลุมกว้างขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ลดความเป็นนอกระบบ  ประเด็นนี้ เป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งในการประชุม G20 ครั้งแรก ระหว่างรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน ณ วอชิงตัน เมื่อ เมษายน 2010   คนงานนอกระบบจำเป็นจะต้องมีช่องทางเชิงกฎหมาย การเงิน และการศึกษาที่จำเป็น เพื่อจะได้เข้าถึงการจ้างงานในระบบ   ระบบการจ้างงานในระดับที่สูงกว่าก็ต้องมีแรงจูงใจที่ดีกว่าเพื่อให้กิจการต่างๆ เข้ามาอยู่ในระบบ   บ่อยครั้ง มาตรการเช่น การทำให้ระบบภาษีซับซ้อนยุ่งยากน้อยลง และการลดการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่สร้างภาระหนักแก่ผู้ประกอบการ จะช่วยชักจูงให้ผู้จ้างผันตัวเข้าสู่ในระบบ

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้หลายเศรษฐกิจใหม่ หย่อนในด้านการมีข่ายสังคมที่รับรองความปลอดภัย (social safety net) ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้าง คือ ความจำกัดของทรัพยากรที่จะแข่งกับอุปสงค์/ความต้องการสำคัญนานัปการ  เช่น การศึกษา  ระบบสาธารณสุข เป็นต้น   นี่เป็นสิ่งท้าทายไม่เฉพาะกับประเทศในเศรษฐกิจใหม่   ในวิกฤตการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศ OECD ก็ต้องดิ้นรนอย่างหนักกับการตัดสินใจที่ลำบาก ในการขยับทรัพยากร (เช่น งบประมาณ) ไปสู่ที่ๆ จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด ในขณะที่พวกเขาเคลื่อนผ่านช่วงเวลาของการกระตุ้น (fiscal stimulus) สู่การขมวดงบประมาณ/รัดเข็มขัด (fiscal consolidation) และการตัดหนี้สาธารณะ   ในการนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้แน่ใจว่า การตัดงบสาธารณะ และการเพิ่มอัตราภาษีใดๆ จะไม่สร้างผลสะท้อนกลับเชิงลบต่อความไม่เท่าเทียม

อย่างที่พวกเราจะได้เห็นกันในระหว่างการประชุมครั้งนี้ บราซิล จีน อินเดีย และอาฟริกาใต้ ต่างมีตลาดแรงงาน และนโยบายสังคมที่ไม่เหมือนกัน   ทั้งสี่ประเทศได้ทดลองโปรแกมใหม่ๆ ที่จะยื่นมือออกไปหากลุ่มผู้เปราะบางที่สุดในสังคมของพวกเขา เช่น Bolsa Familia ในบราซิล ที่ใช้วิธีโอนเงินอย่างมีเงื่อนไข   ในอินเดีย มีโครงการจ้างงานในชนบทที่ยังผลให้มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในท้องถิ่น   ในอาฟริกาใต้ มีระบบจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงวัยทั่วหน้า รวมทั้งเงินทุนสำหรับเด็ก เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดภาวะยากจน   รวมทั้งโปรแกมความช่วยเหลือทางสังคม dibao และเงินบำนาญในชนบทของจีน   แนวทางใหม่ๆเหล่านี้ และการดำเนินการได้เป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับทั้งประเทศในเศรษฐกิจใหม่และ OECD ....

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความกลัว: โลกยุคเก่า vs. คนรุ่นใหม่

เลดี้กาก้า พบบัน คี-มูน
เวนดี้ ฮาร์คอร์ท

Editorial: Lady Gaga Meets Ban Ki-Moon
WENDY HARCOURT
Development, 2010, 53(2): 141–143, Society for International Development (SID) 1011-6370/10

เจนเดอร์ (gender) คืออะไร และอะไรคือ การเสริมสร้างอำนาจ (empowerment) แล้วทำไมเราต้องมาพูดถึงคำเหล่านี้ในการพัฒนา?  บทความในวารสาร SID ฉบับนี้จะตรวจสอบคำทั้งสองนี้อย่างละเอียด  บทความเหล่านี้เน้นว่า เจนเดอร์ มีความหมายมากกว่าเพียงแค่ผู้หญิง แต่ต้องรวมทั้งชายและคนข้ามเพศด้วย  ผู้เขียนทั้งหลายแย้งว่า การเสริมอำนาจจะต้องเกินขอบเขตของโครงการที่ให้การฝึกอบรมทักษะเชิงเศรษฐกิจแก่ผู้หญิง หรือการสร้างภาวะผู้นำและให้การศึกษาแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง  มันต้องรวมถึงระบบและโครงสร้างที่เกี่ยวกับเรื่องภายในตัวของเราเอง ตลอดจนการมีภาวะแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการตัดสินใจที่ empower ได้อย่างเป็นอิสระ และอย่างมีส่วนร่วมเป็นหมู่เหล่า  แล้วยังเกี่ยวกับเพศวิถีและร่างกาย     จากสิ่งที่เราเห็นกันชัดในขอบเขตของการพัฒนาทุกวันนี้ เราจำเป็นจะต้องเผยโฉมหน้าของประเด็นเหล่านี้     สิ่งที่เราต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการกระทำเช่นนี้ เพราะเรากลัวว่าจะมีการตัดทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับสิทธิสตรีและความเท่าเทียมระหว่างเพศมากยิ่งขึ้น

แต่แม้ว่าฉันจะเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ฉันมีความรู้สึกไม่สบายใจว่า ประเด็นที่ยกมา ยังไม่เพียงพอสำหรับการตรวจสอบอย่างละเอียด  ทำไมเราจึงต้องระวังอย่างหนัก?  อะไรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันนักหนาในเรื่องเจนเดอร์และการพัฒนา?  อะไรที่ทุกคนกำลังหวาดกลัว?

ความรู้สึกเช่นนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อฉันเผอิญได้ดูวีดีโอ YouTube ที่เร้าอารมณ์ ชื่อ ‘Telephone’ โดย Lady Gaga กับ Beyonce  ที่ได้กลายเป็นเพลงยอดนิยม ภายในไม่กี่นาทีที่ออกอากาศสู่สาธารณะ มีคนเข้าไปดูกว่าครึ่งล้าน และหลังจากหนึ่งสัปดาห์ กลายเป็นหลายล้าน  วีดีโอนี้ เล่าเรื่องของนักร้อง/นักเต้นรำที่มีชื่อเสียงสองคน ที่เล่นบทเป็นฆาตกรเลสเบี้ยนเซ็กซี่ที่มีความเข้มแข็งในตัวสูง (totally empowered sexy lesbian murderers) ในบทของตัวละครจากภาพยนต์ Tarantino และเรื่อง Thelma and Louise  มันเป็นวัฒนธรรมป๊อบกระแสหลักที่ใช้จินตภาพของผู้หญิงที่ก้าวร้าว  เนื้อตัวเต็มไปด้วยรอยสัก  เปิดเผยเรื่องเพศวิถี ความเป็นเลสเบี้ยน และใช้ไฮเทคล้ำยุค     ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในวีดีโอชุดนั้น ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังต่างๆ

จินตภาพของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจและอำนาจ (empowered women) กำลังขายดี และคนนับล้านกำลังหาเงินจากมัน  แล้วทำไมเล่า ในบริบทของการพัฒนา คำว่า empowerment (การเสริมสร้างอำนาจ) ของผู้หญิงจึงว่างเปล่าในความหมายเช่นนั้น?  ทำไมเหล่าผู้แทนจากชาติต่างๆ จึงนั่งงีบหลับในหอประชุมของสหประชาชาติในขณะที่รัฐบาลทั้งหลาย รายงานต่อคณะกรรมาธิการสถานภาพสตรี (Commission of the Status of Women, CSW) เกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในเรื่องสิทธิสตรี?  เกิดอะไรขึ้นกับพลังและความตื่นเต้นในเรื่อง empowerment ในพื้นที่เหล่านั้น?

วารสาร SID ฉบับนี้ ได้ชักชวนผู้หญิงหลายคน ผู้ชายและผู้ข้ามเพศบางคนให้มาร่วมทำความเข้าใจว่า ทำไมกรอบคิดของ empowerment จึงกลายเป็นกล่องว่างเปล่าและหมดพลังเชิงการเมืองในการพัฒนา    การอภิปรายดูที่เจนเดอร์และ empowerment ในบริบทไม่เฉพาะของสหประชาชาติ/ผู้ให้ทุน แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวสตรีในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

คำตอบที่มาจากบางบทความเพื่ออธิบายถึงความหวาดกลัว : ผู้หญิงไม่สบายใจที่จะต้องพูดเรื่องอำนาจและเงินตรา   พวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง (Fundamentalism) ต่างๆ เป็นอุปสรรคของการอภิปรายถึงการเมืองเชิงเรือนร่างในที่เปิดเผย/สาธารณะ  มันเป็นเรื่องยากและในบางแห่ง การยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนทำงานด้านบริการทางเพศ ก็เป็นการเสี่ยงอันตราย ที่จะพูดถึงเรื่องของคนข้ามเพศ   อันที่จริง หลายบทความกล่าวว่า เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ยังเป็นอาณาเขตที่ถูกครอบครอง และอำนาจปิตาธิปไตยก็ยังคงกีดกันคนที่มีความตื่นตัว มีหัวก้าวหน้าทางการเมืองเชิงเจนเดอร์ให้อยู่นอกโต๊ะการตัดสินใจ  โปรแกมเจนเดอร์กำลังตัดช่องน้อยแต่พอตัวโดยสยบต่อปทัสถาน (มาตรฐานสังคม) ที่ปลอดภัยของเจนเดอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานสองเพศ (heteronormativity)   มีความระแวงสงสัยอย่างแรงว่าธนาคารโลก IFDA และองค์กรทุนต่างๆ ว่า เป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบคิดการส่งเสริมผู้หญิง และ empowerment   ส่วนนโยบายพัฒนาที่ป้อนเข้าไปในห้วงที่รกรุงรังของระบบทุนนิยมโลกยุคเสรีนิยมใหม่ (neoliberal global capitalism) และการก่อเกิดระบบตลาดล้วนกล่อมเกลาให้ผู้หญิง เป็นคนงานที่ว่านอนสอนง่าย ยืดหยุ่น และเป็นนักบริโภคนิยมสุดยอด

บทความในฉบับนี้อธิบายเรื่องนี้ ในบริบทต่างๆ ได้ดี  ในการต่อรองระดับสหประชาชาติ  ในพื้นที่ข้ามชาติและชุมชน  และในวาทกรรมชาติในออสเตรเลีย บังคลาเทศ บราซิล บุลแกเรีย คอสตาริกา อีจิปย์ เยอรมัน กานา เคนยา  อินเดีย  เม็กซิโก  ปากีสถาน  ปาเลสไตน์  เซอร์เบีย เซียราลีโอน  เซ็นต์วินเซนต์  สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ  แม้ว่าฉันจะมีส่วนในการอภิปรายนี้ ฉันก็เฝ้ารู้สึกว่า เรากำลังดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นจากถุงกระดาษเปียกๆ  ในขณะที่ฉันสัมภาษณ์ผู้เขียนบทความหลายคน และร่วมวงสนทนาที่เข้มข้นที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมครั้งที่ 54 ของ CSW (หน้า 210-214) ฉันก็มองไม่เห็นว่าจะทำอะไรที่จะขับเคลื่อนสิ่งที่พูดได้

ฉันไม่ต้องการจะลดวาระของ empowerment ให้สู่ระดับที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในวาระความเสมอภาคระหว่างเพศของสหประชาชาติ (UN gender equality agenda): ยุติความรุนแรงต่อสตรี  ให้เด็กหญิงได้รับการศึกษา และให้ผู้หญิงเข้าไปในรัฐบาลมากขึ้น   มันต้องแตะประเด็นพื้นฐานด้วย เช่น ความเป็นธรรมเชิงเศรษฐกิจ  การเปลี่ยนปทัสถานของสังคม  ยุติการกดขี่ในระบบและสถาบันเพศวิถี   แต่พอได้พูดเช่นนั้นแล้ว ฉันก็ไม่สามารถเข้าใจว่า พวกเราที่ทำงานในเรื่องเจนเดอร์และ empowerment จะแก้ปัญหาในประเด็นที่มหึมานี้... ในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ รัฐบาล ศาสนา โครงสร้างครอบครัว...ทั้งปวงอย่างไร

หรือว่าพวกเราจนมุมเสียแล้ว  แต่บทความในฉบับนี้ไม่เห็นเช่นนั้น  แม้ว่าพวกเขาจะพร่ำรำพันถึงวิธีการที่องค์กรทุนได้หว่านล้อมตีกรอบวาระ empowerment พวกเขาก็ได้เน้น (ดู Cornwall and Anyidoho pp144-149) ด้วยว่า ในหลายๆ บริบทยังมีการต่อต้านที่มีสีสรร ที่ถูกกีดกันหรือมองข้ามโดยโครงการและโปรแกมพัฒนา  ผลจากการดิ้นรนเบียดตัวให้ผ่านตะแกรงของ empowerment  ได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของการแปรโฉมอย่างแท้จริง (real transformation)

สิ่งที่ปรากฏชัดจากข้อมูลและข้อคิดในบทความเหล่านี้ คือ ผู้เขียนต่างประจักษ์ในศักยภาพของ empowerment  สิ่งที่เราต้องทำ คือ เกาะเกี่ยวกัน ยื่นมือออกไป และเดินออกไปให้ไกลกว่าภาวะแวดล้อมที่จำกัดขอบเขตของการพัฒนา และในกระบวนการนี้ ก็เปลี่ยนวิถีของการพัฒนาเองด้วย    มีการแลกเปลี่ยนและอภิปรายกันอย่างมหาศาลที่กำลังดำเนินอยู่ผ่านเครือข่ายสังคม และวิถีทางการสื่อสารที่หลากหลาย  มีทางเป็นไปได้ที่เราจะมีช่องทางอันมหาศาลที่จะเข้าถึงผู้ชมอย่างที่เราไม่สามารถทำได้ใน 15 ปีก่อน  หิ้งหนังสือในฉบับนี้ ได้แปรเป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจกา DFID เรียกว่า มรรควิถีของโปรแกมการเสริมสร้างอำนาจสตรี (‘Pathways of Women’s Empowerment’ programme) ที่อยู่ปรากฏอยู่บน YouTube   เว็บไซต์ วีดีโอ  เรื่องประกอบภาพ  สารคดี  เรื่องเล่าทางดิจิตอล ตลอดจนข้อมูลและสถิติบนเว็บไซต์ที่ชี้ให้เห็นว่า เกิด empowerment อะไรบ้าง   ในชีวิตของผู้หญิง    การสนทนาเหล่านี้ เกิดขึ้นทุกๆ วินาทีในอีเมล์ facebook, twitter, SMS, skype, e-magazines, e-journal, blogs และใน second life   บนออนไลน์ เราสามารถจะพูดคุย แลกเปลี่ยน และขยายอาณาเขต  ปรับเปลี่ยนความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง  กำหนดยุทธศาสตร์และวางแผน   เราสามารถจะหาข้อมูลที่ครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงค้นคว้าในห้องสมุด และเงินวิจัยจำนวนมาก  มีข้อมูลมากมายในห้วงอากาศเพราะคนนับล้านกำลังแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาผ่านสื่อยุคใหม่นี้

ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า empowerment ไม่ได้มีความหมายอย่างที่นักสตรีนียมในซีกโลกใต้ที่ทำงานชุมชน ได้แรกตั้งชื่อให้มันในหลายปีก่อน  และไม่ใช่ว่า กรอบคิดของคำนี้ ได้ตกเป็นเชลยของธนาคารโลก ให้เป็น empowerment-lite หรือ “em-ment” คือ ไม่มีอำนาจ  ปัญหาคือ เจนเดอร์และการพัฒนา ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นหรืออยากมีส่วนร่วมในสื่อยุคใหม่ทั้งหลาย แม้ว่าเอ็นจีโอนานาชาติขนาดใหญ่และองค์กรทุนบางแห่งจะปรับทักษะทางเทคนิคด้านนี้ให้เท่าทันกระแสใหม่นี้  ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะ ความเสี่ยงและอันตรายจากการล้มเหลวของระบบเป็นเรื่องจริง แต่พวกเรายังหาพื้นที่หรือหนทางที่จะแสดงออก และมีส่วนร่วมภายในบริบทของการพัฒนาไม่ได้   เราจะต้องข้ามไปให้พ้นจากพื้นที่สหประชาชาติที่เงียบขรึม  การอภิปรายที่เหนื่อยหน่ายและกลวงของ CSW ที่ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนมากพลาดเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

ทำอย่างไรที่จะทำให้วงการพัฒนาหันไปใช้เทคโนโลยีสื่อที่หลากหลายอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าถึงผู้คนข้ามรุ่น ข้ามอัตลักษณ์ และเชื่อมขั้วต่างๆ?  เราจะจุดประกายความตื่นตัวและการสนับสนุนในผู้ชมวงกว้างในการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ของการแปรเปลี่ยน (transformation) ได้อย่างไร?  และในกระบวนการเมือง เราจะสร้างอัตลักษณ์และแนวร่วมต่างๆ ได้อย่างไร ในขณะที่เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น ภายใต้ความตึงเครียดรอบๆ ประเด็นเจนเดอร์ สิทธิ์ การพัฒนา และวัฒนธรรม?

มีบางสิ่งบางอย่างที่น่าเป็นห่วงกังวลอย่างลึกล้ำกำลังเกิดขึ้น สิทธิในทุกๆ ภาคส่วน กรอบคิดเช่นเจนเดอร์ และ empowerment ได้ตกเป็นเชลยของทฤษฎีการปกครองที่เน้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญและวิชาเทคนิค (technocracy) ที่หมกมุ่นอยู่กับการสร้างดัชนีชี้วัด   การเรียกร้องให้หาหลักฐานจากผลลัพธ์ที่วัดได้ ไม่ได้เอื้อให้โปรแกมที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ หรือทำให้ผู้ร่วมโปรแกมรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วม

ถึงเวลาที่เราจะต้องใคร่ครวญใหม่ เกี่ยวกับวิธีการ ทำ การพัฒนา  นี่รวมถึงการทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการไม่เห็นด้วย/เห็นต่าง และที่ๆ การอภิปรายที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไม่ต้องหวาดกลัวต่อวิธีการแสดงออกอันหลากหลาย แหวกแนวและท้าทาย อย่างที่เราเห็นผู้หญิง ผู้ชายและผู้ข้ามเพศมองตัวเอง และฉายภาพตัวตนของพวกเขา   โลกที่เงียบกริบของสหประชาชาติได้ล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาภาพเหมารวม (stereotype) การถือสองเพศเป็นมาตรฐาน (heteronormativity) และประเพณีนิยม (convention)  เราต้องตระหนักถึงความตึงเครียดและความเสี่ยงระดับลึก ที่ภาคธุรกิจของโลกไม่หวาดกลัวเลยที่จะเดินหน้าต่อไป

ดังนั้น เราจะหวนกลับไปที่เลดี้กาก้า กับเรื่องเพศทั้งหลายที่เต้นอยู่รอบๆ ประเด็นสำคัญๆ เช่น การทารุณกรรมในคุก การเป็นเลสเบี้ยน  การขาดความเคารพ การเร่ขายยี่ห้อใหญ่ๆ และถ้อยแถลงที่ซื่อบื้อ หรือเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับวัฒนธรรมเยาวชนในสหรัฐฯ ที่ว่า ถูกท่วมท้นด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี ก็แล้วแต่คุณจะคิด

ในวีดีโอเลดี้กาก้า มีหลายประเด็นที่คลุมเครือเกี่ยวกับจินตภาพที่แสดงออก เกี่ยวกับผู้หญิง คุก และเพศวิถี  บางฉากเป็นการเหมารวม  หลายฉากแค่เป็นภาพสวยงามและสนุกสนาน  แต่มันก็เกาะเกี่ยวและยกหลายประเด็นชึ้นมา และเน้นให้เห็นถึงวาระเจนเดอร์และ empowerment  อันเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องดึงออกมาถกร่วมกันในที่สาธารณะ ในขณะที่เราต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการตลบกลับของพวกหัวอนุรักษ์

ในการพัฒนา เราจำเป็นต้องมีวิญญาณผจญภัยและสร้างสรรค์มากกว่านี้  เราจำเป็นจะต้องก้าวไปให้ไกลกว่าแถลงการณ์ที่ว่า เรือนกายของผู้หญิงเป็นแดนที่ถูกครอบครอง ถูกกระทำทารุณ ถูกเกลียดชัง และถูกกีดกัน    จริงอยู่ มันเป็นเช่นนั้น  แต่อย่างที่เลดี้กาก้า และผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ข้ามเพศอื่นๆ อีกมากมาย ที่ได้ประกาศตัวว่า ร่างกายของทุกๆ เพศ สามารถจะเป็นความเข้มแข็ง สนุกสนานเพลิดเพลิน  ทรงความสามารถพิเศษ และการเฉลิมฉลองด้วย  โครงการเจนเดอร์และ empowerment หนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ฉันมีส่วนร่วมด้วย ส่วนใหญ่กระทำบนเว็บ   มันเป็นพื้นที่เปิดที่รวบรวมใครก็ได้ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นนักสตรีนิยมและอาศัยอยู่ในยุโรป  โครงการนี้ เชื่อมต่อกับบล็อกและ e-zines ที่นักสตรีนิยมหนุ่มสาวกำลังใช้อยู่  และใช้เฟลบุ๊ก มือถือ และสื่อสังคม (social media) ในกิจกรรมรณรงค์  คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมและอุทิศพลังให้โครงการนี้ ในที่สุดก็ได้พบกันในเต๊นท์ ในโปแลนด์ เป็นนักสตรีนิยมอายุต่ำกว่า 30 จากยุโรปตะวันออกและกลาง   ในการพูดคุยถึงกิจกรรมที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตที่พวกเขาได้มีส่วนร่วมด้วยนั้น ฉันได้รับรู้เรื่อง เลดี้เฟสด์” (Lady fests หรือ เทศกาลเลดี้)  ซึ่งเป็นประชาคมดนตรีและศิลปินโลกที่ไม่มุ่งกำไร ที่มีวงดนตรี กลุ่มนักดนตรี ศิลปินนักแสดง  ศิลปวีดีทัศน์ และการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ   มันเป็นพื้นที่การเมืองทางเลือกที่ตั้งขึ้น และนำโดย เลดี้ (อัตลักษณ์ที่แล้วแต่ใครจะตีความ)   พวกที่ฉันได้พูดด้วยนี้ ที่ได้เข้าร่วมเลดี้เฟสต์ มีงานที่ไม่มั่นคง แต่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ และจะเดินทางเป็นเรือนพันเพื่อพบกันในที่ต่างๆ ตามนัดหมาย  มันเป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิง queers และผู้ข้ามเพศ ที่ท้าทายความเป็นชายชาตรี ที่เก็บรักษาอยู่ในดนตรีและวีธีการแสดงออกของพวกเขา  มีการติดต่อเชื่อมโยงและเครือข่ายออนไลน์ระหว่างพวกเขา

นี่ไม่ใช่คนรุ่นที่ฉันได้เห็นในที่ประชุม CSW ครั้งที่ 54 หรือคนที่ฉันเห็นว่ามีส่วนในการนำการถกเถียงเรื่องพัฒนา  อย่างดีที่สุด พวกเขายืนอยู่ที่ชายขอบมองเข้ามาข้างใน  สิ่งที่ฉันต้องการจะพูดคือ พลิกพื้นที่ถกเถียงเรื่องการพัฒนา ให้พวกเขาเข้ามาร่วมถกเถียงได้  พวกเขาจะช่วยพวกเราให้หลุดออกจากความเป็นมืออาชีพ ที่สร้างสถาบันที่หวาดกลัวการเปิดประตูหน้าต่าง เพราะต่างกลัวการโต้เถียงและความเห็นต่าง   นี่เป็นช่วงเวลาของความเสี่ยง   พวกเราจงมาไขว่คว้ามันไว้เถอะ และเปิดรับชุมทางต่างๆ ที่การประท้วง วัฒนธรรม เพศวิถี การเมือง เจนเดอร์และอำนาจ ที่มีความหมายหลากหลาย มาบรรจบกัน

Dt/10-6-10

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อิสลามหลัง 9/11 -อินโดนีเซีย

อิสลามหลัง 9/11: แนวโน้มและโอกาสสำหรับการทำให้อินโดนีเซียทันสมัย: กรณีศึกษา[1]
อัสเกียห์ บินติ โหมด อดัม (เอพีไอ รุ่น 4)
มาเลเซีย

ย่อความ

งานศึกษาชิ้นนี้ เป็นความพยายามที่จะเข้าใจถึงโอกาสสำหรับแนวโน้มทันสมัย (modernist trend) ในวงการอิสลาม ถ้ามี ที่จะงอกงามขึ้นภายใต้บรรยากาศการเมืองของโลก ที่สหรัฐฯ เริ่มแผ่แสนยานุภาพทางการทหารและทางเศรษฐกิจ  อินโดนีเชียเป็นกรณีศึกษาที่สะดวก เพราะเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งมีประชากรมากเป็นอันดับที่สี่  การศึกษาประกอบด้วยการสัมภาษณ์ การสำรวจ และการค้นคว้าจากสิ่งพิมพ์  ภายในเวลา 9 เดือน มีการสัมภาษณ์กว่า 30 ราย รวมทั้งการสำรวจ  การสำรวจนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้กุมกุญแจสู่อนาคตของศาสนาอิสลามในอินโดนีเซีย หลังจาก 6 เดือนของการสัมภาษณ์และติดตามสถานการณ์ในประเทศ ความรู้สึกตอนเริ่มต้นที่ว่าคงจะไม่มีทางที่จะปรับให้อิสลามทันสมัย (modernization of Islam) นั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  ความหมายของการทันสมัย ในกรอบคิดของงานศึกษาชิ้นนี้ คือ การเป็นอิสลามที่สามารถค้นหาจากภายในตัวเอง ถึงศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ตัวเองยึดถือ และจะนำไปสู่การวิวัฒนาการที่ไม่เพียงแต่จะรับมือกับความท้าทายปัจจุบันได้ แต่ยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับอารยธรรมมนุษยชาติได้ด้วย  งานวิจัยชิ้นนี้ ดูเหมือนจะชี้ไปที่ พรรค PKS (Partai Keadilan Sejahtera) ถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


บทนำ
อิสลามในอินโดนีเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้มุสลิมในประเทศต่างๆ ต้องเกรงขาม  ทั้งนี้เพราะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถจะอ้างตัวได้ว่า มีอิสลามที่รองรับความเป็นพหุภาคีได้เหมือนกับที่ชาวอินโดนีเซียสามารถทำได้  ณ ที่นี้ ในประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่อย่างน้อย 85% ของประชากรทั้งหมดความแตกต่างอย่างมากทางกายภาพและวัฒนธรรม ถูกอธิบายว่าเป็นอุปสรรคขวางกั้น ไม่ให้อิสลามกลับชาติมาเกิดในร่างมหึมาที่เป็นเนื้อเดียวกัน การที่เทศกาลมุสลิมที่ฉลองในแต่ละภาค มีความแตกต่างกันมาก เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความหลากหลายในอิสลามของอินโดนีเซีย  ยิ่งกว่านั้น มุสลิมในพื้นที่ เช่น โย๊คจาการ์ตา (Yogyakarta, Yogjakarta หรือJogjakarta) ยังคงฉลองเทศกาลพิเศษที่ย้อนยุคถึงสมัยเมื่อครั้งยังเป็นราชอาณาจักรที่ผู้คนยังนับถือศาสนาฮินดู  นี่เป็นเพียงอีกตัวอย่างหนึ่ง   แต่บางคนก็ยังไม่เชื่อว่า ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์เพียงพอว่า อิสลามในอินโดนีเซียมีลักษณะของพหุภาคี
นักวิชาการอิสลาม เช่น ศาสตราจารย์ Abdullahi Ahmed An-Na’im แห่ง Emory University ที่แอตแลนตา สหรัฐฯ กล่าวในปาฐกถา กฎหมายอิสลามและการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2005 ที่จาการ์ตา ว่า ประสบการณ์อิสลามของชาวอินโดนีเซียมีความหลากหลายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นพหุภาคี (very diverse but not necessarily plural)  เขาแย้งว่า ความหลากหลายเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพ ในขณะที่ประสบการณ์ของความเป็นพหุภาคีนั้นเป็นกรอบคิด ค่านิยม นั่นคือ การยอมรับความแตกต่าง   เสียงเรียกร้องให้ใช้ Shariah เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งตรงข้ามกับกฎหมายปัจจุบัน ที่ประธานาธิบดีประกาศใช้ (Presidential Edict) เมื่อ 10 มิถุนายน 1991 เป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาอาจจะถูกก็ได้  การเรียกร้องโดยคนบางกลุ่มให้เป็นรัฐอิสลาม ก็เป็นเครื่องยืนยันความคิดของเขา
ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้ก่อตั้งรัฐอิสลาม พรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่า เป็นตัวแทนของการเมืองอิสลาม ก็ไม่สามารถส่งผลกระทบมากพอในการเลือกตั้ง  ชาวมุสลิมอินโดนีเซียส่วนใหญ่ ยังไม่รู้สึกประทับใจในข้อเรียกร้องให้เป็นรัฐอิสลาม  อันที่จริง พวกเขาดูเหมือนจะไม่สนใจแม้แต่จะให้การสนับสนุนการใช้กฎ Shariah อย่างที่ พรรค Partai Keadilan Sejahtera (PKS) ได้ ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งในปี 1999  แต่เมื่อพรรค PKS หันไปชูประเด็นที่เป็นจริงในการเลือกตั้งปี 2004 จึงเริ่มทำคะแนนได้อย่างจริงจัง   ตั้งแต่นั้นมา PKS ก็ละความพยายามที่จะเรียกร้องให้ใช้กฎ Shariah และหันไปขับเคลื่อนประเด็นการขจัดความยากจน คอรัปชั่น   ผลคือ PKS ชนะการเลือกตั้งเมื่อเมษายน 2004 ในเมืองหลวงอย่างล้นหลาม และได้ที่นั่งมากที่สุด
การที่ Jakarta Charter ซึ่งเป็นหลักการเพื่อขับเคลื่อนการแผ่ขยายอิทธิพลของอิสลามนั้น ไม่เคยเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางก็เป็นเครื่องยืนยันอีกประการหนึ่ง ถึงความระแวงสงสัยของชาวอินโดนีเซียมุสลิมต่อความพยายามในการนำ Shariah มาใช้เป็นกฎหมาย  พวกฝักใฝ่ศาสนาอิสลามในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อการเตรียมตัวสำหรับเอกราชของอินโดนีเซีย (Investigate Committee for the Preparation of Indonesian Independence—Badan Peyelidik Usaha Persiapan Kemendekaan) ซึ่งเป็นหน่วยที่ญี่ปุ่นสนับสนุนให้ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาที่เกือบจะถูกขับออกจากการยึดครองประเทศอินโดนีเซีย ต้องการที่จะใส่ข้อความว่า มีหน้าที่ในการยึดถืออิสลาม และบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ให้เป็นข้อแรกในปัญจศิลา อันเป็นอุดมการณ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อต่อพระเจ้า และเพื่อที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ   แต่พวกชาตินิยมไม่ฝักใฝ่ศาสนาคัดค้านไม่เพียงเพราะน้ำเสียงที่พูดกว้างๆ  แต่รวมถึงการเป็นตัวแปรที่ควบคุมให้บังเกิดผลที่แน่นอนไม่ได้  ดังนั้น Jakarta Charter จึงถูกตัดทิ้ง และถูกแทนที่ด้วยข้อเสนอของผู้นำของ Nahdlatul Ulama (NU) ซึ่งเป็นการประนีประนอม จนทำให้เกิดบัญญัติประการแรก ที่ใกล้เคียงกับ tauhid หลักคำสอนของอิสลาม นั่นคือ การยอมรับในพระเจ้าองค์เดียวที่ไม่สามารถจะแบ่งแยกได้   เมื่อเทียบกับข้อเสนอครั้งแรกเริ่มที่ต้องการให้บัญญัติประการแรก เป็นเรื่องของความเชื่อต่อพระเจ้า ก็ตกลงกันเป็นความเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า  นี่ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายฝักใฝ่อิสลาม ซึ่งฝังอยู่ใน Masyumi จะพอใจเท่าที่ควร
ความที่มุสลิมเป็นใหญ่ในประเทศ จึงมีความคาดหวังโดนเฉพาะอย่างยิ่งโดยผู้อื่นว่าอิสลาม น่าจะสามารถหาช่องทางที่เป็นทางการได้ง่ายดายที่จะยอมให้เข้าไปก่อตั้งการเมืองแบบอิสลาม  แทนที่จะเป็นเช่นนั้นกลับมีตัวบ่งชี้ว่า ผู้มีอำนาจในขณะนั้น ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะจำกัดศักยภาพมหาศาลที่ถูกคาดหมายอันนี้  ทั้งในระบอบ ระเบียบเก่า (Old Order) ของซูการ์โน และในระบอบ ระเบียบใหม่” (New Order) ของซูฮาร์โต ต่างแสดงจุดยืนชัด ที่จะควบคุมอิทธิพลของพรรคการเมืองอิสลาม
เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งในประเทศ ก็จะสังเกตเห็นแนวโน้มของชาวอินโดนีเซียเอง ที่จะจำกัดขอบเขตของการเมืองอิสลาม   ผลการเลือกตั้งปี 1995 แสดงออกถึงแนวโน้มนี้ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงการฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะถูกอุดตันทางการเมืองมานานถึง 32 ปี ภายใต้ ซูฮาร์โต  การถ่วงดุลกันทางอำนาจระหว่างกระแสอิสลาม และ ฝ่ายฆราวาส-ชาตินิยม ในสัดส่วนราว 40% ต่อ 60% ได้ยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน  การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1999 และ ปี 2004 ได้เบี่ยงเบนจากสมการนี้เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ในขณะที่ส่วนใหญ่นับถืออิสลาม ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้อิสลามเข้ามายุ่มย่ามในโครงสร้างทางการของรัฐ การปกครอง และกฎหมาย
จะมีตัวชี้วัดใดที่มีความชอบธรรมพอที่จะบอกว่า พหุนิยมในอิสลามของอินโดนีเซีย ไม่ใช่เป็นเพียงกรอบคิด แต่เป็นวิถีชีวิตที่ได้รับมา?  เสียงเพรียกร้องให้อิสลามได้ถูกรับรองเป็นทางการยิ่งขึ้น และให้มีวัตรปฏิบัติที่มีความสม่ำเสมอให้เป็นแบบเดียวกันนั้น เป็นการขับเคลื่อนของคนกลุ่มน้อยใช่ไหม?  อะไรเล่าจะเป็นผลของแนวโน้มนี้ เมื่อเทียบกับพัฒนาการของอิสลามอินโดนีเซีย ในบริบทของการเมืองที่ผันแปรทุกวันนี้ที่ความคิดอิสลามถูกปรุงปั้นด้วยอิทธิพลจากทั้งภายใน และโลกภายนอก?

ภูมิหลังทางสังคม-การเมือง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝ่ายฆราวาส-ชาตินิยม จะรวมชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่มุสลิมไว้ด้วย  แต่ตัวเลขสำคัญที่ถ่วงดุลกันนั้น มาจากมุสลิมสองฝ่ายหลัก: ศันตรี (santri) และ อะบางัน  (abangan)  ในเหล่ามุสลิมเอง ได้แยกเป็นสองส่วน และก็เป็นเช่นนี้ตราบทุกวันนี้ ซึ่งส่งผลให้การเมืองอิสลามครอบคลุมทุกแถบสีของการเมือง จากพวกที่เป็นกลางจนถึงพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง
สององค์กรศาสนา-สังคมที่มีขนาดใหญ่ ที่ปกคลุมภูมิทัศน์ของอิสลามอินโดนีเซีย คือ มูฮัมหมัดดิยาห์ (Muhammadiyah) ที่ครอบครองพื้นที่เมืองและมีสำนักงานใหญ่ที่ โย๊คจาการ์ตา  และ Nahdlatul Ulama ที่เรียกกันทั่วไปว่า เอ็นอู (NU) ที่ครองพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่และมีฐานในชวาตะวันออก  ทั้งสององค์กรสามารถจะขับเคลื่อนมวลชนที่เป็นสมาชิกถึง 70 ล้านคน จึงนับว่าเป็นพลังสังคมที่ใช่ย่อย   แล้วก็มี Hizbut Tahrir ที่ตั้งตัวเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีความปรารถนาจะเป็นผู้นำทางศาสนาในยุคสมัยใหม่ (modern day Caliphate)  แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องยอมรับอิสลามในแนวคิดของยุคสมัยใหม่ (modernist version of Islam)   พวกเขาโหยไห้การจากไปของผู้นำทางศาสนาที่ทรงคุณธรรม (Righteous Caliphs) คือ Abu Bakar, Uthman, ‘Umar และ ‘Ali และ ประกาศเมดินา (Medina Charter)   ในขณะเดียวกัน พวกที่สนับสนุนให้เกิดรัฐอิสลามได้รวมตัวกันเป็น Majilis Mujahiddin Indonesia (MMI) มี Abu Baker Ba’asyir เป็นหัวหน้า ผู้ถูกทางวอชิงตันกล่าวหาว่า เป็นผู้บงการกระแสก่อการร้ายนานาชาติผ่านทาง Jemaah Islamiah (JI) ขบวนการเคลื่อนไหวใต้ดิน   พวกใต้ดินนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือพอว่ามีอยู่จริง จึงทำให้ข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการของ Osama ben Ladin, al-Qaeda กลายเป็นเรื่องโคมลอย   ยังมีกลุ่ม Laskar Jihad ซึ่งตอนนี้ถูกทำให้สลายตัวไปอย่างเป็นทางการแล้ว ที่ถูกข้อหาว่าเป็นนิกายที่ก่อความรุนแรงใน Ambon   อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้พิสูจน์ตนว่ามีแนวโน้มไปทางก่อความรุนแรง คือ Front Pembela Islam (FPI)  พวกเขาถูกกล่าวโทษว่าเป็นนักเลงอันธพาลและสนับสนุนอาชญากรรมต่างๆ ชอบก่อกวนด้วยการบุกเข้าไปทำลายข้าวของในบาร์ที่เปิดทำการในช่วงเดือนถือศีลอด Ramadhan   เช่นเดียวกับ Laskar Jihad หลายๆ ภาคส่วนตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือในแง่อุดมการณ์อิสลามของ FPI   กล่าวกันว่า ทั้งสองกลุ่มนี้เกี่ยวโยงกับหน่วยรักษาความมั่นคงของประเทศ และเป็นเครื่องมือของรัฐในการข่มขู่ให้เกิดความกลัวในยุคของซูฮาร์โต   เมื่อเร็วๆ นี้เอง ในเดือนสิงหาคม 2005 มีรายงานว่า FPI ข่มขู่สมาชิกของ Jaringan Islam Liberal (JIL) อย่างเปิดเผยที่ฐานกำลังของกลุ่มในชุมชน Utan Kayu ในจาการ์ตา   แต่พวกเขาก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างเป็นทางการ
JIL เป็นอิทธิพลใหม่อีกกระแสหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในโมเสคทางการเมืองอิสลามของอินโดนีเซีย   ผู้นำกลุ่ม คือ Ulil Abshar Abdallah กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากอดีตผู้นำของ NU และประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย Abdurrahman “Gus Dur” Wahid   มุสลิมหัวสมัยใหม่ (modernist Muslim) เหล่านี้ ได้ใช้สื่อมวลชนอย่างมากในการถ่ายทอดความคิดก้าวหน้า และบางครั้งก็สุดโต่งในสิ่งพิมพ์และทางวิทยุ ทำให้เผยแพร่ได้กว้างขวางมากพอสมควร และทำให้สมาชิกที่โดดเด่นของพวกเขาตกเป็นเป้าของการถูกสบประมาท กล่าวร้าย โดยฝ่ายมุสลิมหัวเก่า (รวมทั้ง Majlis Ugama Indonesia—MUI—ซึ่งนำโดย Din Shamsuddin ซึ่งตอนนี้เป็นผู้นำของ Muhammadiyah)
JIL ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยตอบโต้กับเสียงที่ก้าวร้าวของพวกมุสลิมสุดโต่ง ภารกิจของ JIL คือ แสดงใบหน้าที่ไม่เป็นอันตรายของอิสลาม ภายในคำจำกัดความของ อิสลามเสรี

คำว่า มุสลิมเสรี แสดงถึงหลักการที่ว่า พวกเราฝักใฝ่ในอิสลามที่เน้นอิสรภาพส่วนบุคคล และอิสรภาพจากโครงสร้างที่กดขี่ทางสังคมและการเมือง  เสรี ในที่นี้มีสองความหมาย: อิสรภาพในการ และอิสรภาพจาก พวกเราเชื่อว่า อิสลามถูกกดทับด้วยคำวิเศษณ์ต่างๆ เพราะว่าในความเป็นจริง อิสลามถูกตีความต่างๆ กันเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ตีความ  พวกเราเลือกใช้วิธีการตีความเฉพาะแบบหนึ่ง และผลคือ คำบรรยายหนึ่งของอิสลาม นั่นคือ เสรี  เพื่อให้บรรลุถึงอิสลามเสรี เราจึงก่อตั้ง JIL

JIL ไม่ใช่องค์กรทางสังคม แต่เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเผยแพร่สารประเด็นของ JIL นั่นคือ “memunculkn Islam yang ke Indonesian” จึงมีลักษณะเป็นเครือข่าย
แต่หลังจาก 9/11 หรือหลังจากการบุกรุกอาฟกานิสถานและอิรัค พวกมุสลิมสุดโต่งได้วางระเบิดในอินโดนีเซีย การระเบิดที่บาหลีที่คร่ากว่า 200 ชีวิต เมื่อ 12 ตุลาคม 2002   วินาศกรรมนี้ ถูกกล่าวหาว่าก่อโดยสมาชิกของ JI เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่พาดหัวข่าวหน้าแรกทั่วโลก
แม้ว่าสื่อจะได้รายงานถึงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตื่นกลัว ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพพจน์ของเกาะบาหลี แต่รายงานส่วนใหญ่ก็ไม่ครอบคลุมความจริงทั้งหมด  ในขณะที่มีการเพิ่มกองกำลังรักษาความมั่นคงในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งช๊อปปิ้งและโรงแรมชั้นสูงในกรุงจาการ์ตา ประชาชนชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่รู้สึกสะทกสะท้าน ดังที่รายงานโดย International Foundation for Election System (IFES) ที่มีฐานในสหรัฐฯ
โปรดสังเกตความเห็น/เข้าใจที่ว่า การขาดความมั่นคง ดังกล่าวข้างต้นนั้น หมายถึง อาชญากรรม ทั้งที่หยุมหยิมและที่ร้ายแรง ที่ระบาดไปตามถนนส่วนใหญ่ในหัวเมืองหลักต่าง ๆ อันเนื่องมาจากอัตราว่างงานสูง อันเป็นผลจากวิกฤตทางการเงินในภูมิภาคในปี 1997 ซึ่งได้กลายเป็นตัวเร่งให้ ซูฮาร์โต ถูกโค่นลงจากการครองตำแหน่งประธานาธิบดีมานานถึง 32 ปี
จากนั้น อินโดนีเซีย ก็ถูกนำเข้าสู่ยุคสนับสนุนการปฏิรูป ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ที่รู้จักกันว่า Reformasi  การปฏิรูปนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการเมืองของอินโดนีเซีย ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่อิสลามต้องการจะเล่นบทที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่จะนำพาโลกอิสลามให้ก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ (modernity)  แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า ปัจจัยใดจะช่วยผลักหรือ/และดึง ให้เข้าสู่ทิศทางนี้ได้   บทความนี้หวังว่าจะสามารถระบุบางปัจจัยเหล่านี้ได้

จากเผด็จการ ยุคระเบียบใหม่ สู่ ยุคปฏิรูป

ระบอบ ซูฮาร์โต คงไม่มีอะไรสลักสำคัญ ถ้าไม่ใช่เพราะชื่อเสียของการกดขี่ การใช้กำปั้นเหล็กในการจำกัดอิสรภาพทางการเมือง   ด้วยประวัติศาสตร์ของการก้าวย่างสู่อำนาจท่ามกลางเหตุการณ์นองเลือดที่น่าสะพรึงกลัว ด้วยการเข่นฆ่าแบบขุดรากถอนโคนอย่างรุนแรง เพื่อขจัดพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเสรี รัฐบาลยุคระเบียบใหม่นำโดย ซูฮาร์โต และหนุนหลังด้วยกองทัพอินโดนีเซีย TNI ไม่มีอะไรต้องคิดมากในการจัดการกับพวกที่ชอบวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาล   ยกตัวอย่าง หลังจากการสังหารหมู่สมาชิก PKI ขนานใหญ่ ก็มีการกวาดล้างกักขังสมาชิกที่เหลืออยู่และครอบครัวของผู้ตายอย่างเฉียบขาด  
นักโทษการเมืองเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ถูกแยกขังที่ gulags เช่นที่เกาะ Baru เป็นเวลาหลายปี ยังถูกเพิกถอนสิทธิ์พลเรือนด้วย   หลังจากถูกปลดปล่อยเมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาได้พยายามเรียกร้องขอสิทธิ์พลเรือนคืน แต่มีไม่กี่รายที่ประสบความสำเร็จ ตราบทุกวันนี้
มีนักกิจกรรมการเมืองในยุค ซูฮาร์โต หลายคนที่หายตัวไปด้วย  พ่อแม่ของพวกเขายังเฝ้ารอคอยด้วยความหวังว่า วันหนึ่ง จะได้รู้ความจริงถึงชะตากรรมของคนที่พวกเขารัก
การกดขี่อย่างโจ่งแจ้งได้ถูกเสริมด้วยการชักใยการเลือกตั้งทั้งระบบ  ในช่วง 32 ปี ของ ซูฮาร์โต มีการเลือกตั้ง 8 ครั้งที่จัดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดเพื่อให้แน่ใจว่า พรรค Golkar ของซูฮาร์โต จะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน   เพื่อเอาใจกองทัพ มีการจัดที่นั่งในรัฐสภาให้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าขบวนการนิติบัญญัติ จะเป็นตรายางที่อนุมัติโครงการของซูฮาร์โต อดีตนายพล และ TNI ที่หนุนหลังเขา   ด้วยโยงใยเหล่านี้จึงไม่น่าประหลาดใจเลย ที่ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม เมื่อข้อกล่าวหาปะทุขึ้น เรื่องการลักพาตัวนักกิจกรรมหลายคน โดยหน่วยปฏิบัติการภายใต้ นายพล Prabowo ลูกเขยของ ซูฮาร์โตในขณะนั้น
แต่บรรยากาศทางการเมือง ณ วันนี้ ต่างกับวันนั้นอย่างเห็นได้ชัด  ถ้าพูดในภาษาเศรษฐศาสตร์ ก็เรียกได้ว่า เป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ  ยกตัวอย่าง ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังยุคระเบียบใหม่ในปี 1999  จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการถอนพรรคการเมืองที่เป็นดั่งวัชพืชออกจากสนามเลือกตั้งก่อน    ในขณะนั้น มีพรรคการเมืองกว่า 100 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่สนามการชิงอำนาจ นั่นย่อมหมายถึงการไม่มีอุปสรรคมาก ถ้ามี ที่จะกีดขวางการลงทะเบียนตั้งแต่ก้าวแรก  จากการนับครั้งสุดท้าย มี 48 พรรคที่ดูเหมือนจะมีความเหมาะสมพอที่จะเข้าชิงที่นั่ง 462 ที่ในรัฐสภา  ส่วนอีก 32 ที่ เป็นเก้าอี้สงวนให้กองทัพ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยุคระเบียบใหม่   และแล้ว Reformasi ก็ได้มีผลกระทบต่อการเมืองของชาติจริงๆ ที่เห็นได้ชัด คือ การยกเลิกการสงวนเก้าอี้ในรัฐสภาสำหรับ TNI ในสมัยของประธานาธิบดี Abdurrahman Wahid ผู้ถูกเชิญให้ลงจากตำแหน่งก่อนสิ้นวาระ เพราะถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ทำให้รองประธานาธิบดีของเขา Megawati ซูการ์โนบุตรีลูกสาวของประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรก ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ท่ามกลางบรรยากาศที่อิ่มเอิบด้วยอิสรภาพประชาธิปไตย ที่เจริญงอกงามภายใต้รัฐบาลชั่วคราวของประธานาธิบดี B.J. Habibie ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอิสลามผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด  ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่  7 มิถุนายน 1999  จากทั้งหมด 48 พรรค มี 19 พรรค ที่บรรยายว่าตัวเองเป็นอิสลาม หรือมีอุดมการณ์บนฐานของอิสลาม  น่าจะเห็นได้ชัดว่า พวกฝักใฝ่อิสลาม (Islamists) จะต้องคิดว่า หลังจากเวลาหลายทศวรรษแห่งการฟื้นคืนชีพและการขยายตัวไปทั่วโลก  ก็น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่อินโดนีเซียจะมีรัฐบาลอิสลามได้  แต่การขาดความเป็นเอกภาพผสมกับความอยู่ยงคงกระพันของชาตินิยมฆราวาส (secular nationalism) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นั่นเป็นการคาดหวังมากเกินไป แม้ว่าประชาชนจะดูเหมือนว่าได้ค่อยๆ ถูกกลืนเข้าสู่กระแสอิสลามด้วยวิธีต่างๆ กัน ดังที่เขียน โดย Hisanori Kato แห่ง Sakai International Interchange Association  ใน Jakarta Post ว่า

คนที่เคยอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตา 15 ปี ก่อน และกลับมาเยี่ยมอีกครั้ง จะสังเกตเห็นว่า เดี๋ยวนี้ มีผู้หญิงอินโดนีเซียใช้ผ้าคลุมศีรษะ jilbab มากขึ้น...
และมีพรรคการเมืองที่เป็นอิสลามอนุรักษ์มากๆ  พรรคมั่งคั่งยุติธรรม (Prosperous Justice Party—PKS) ได้กวาดเสียงส่วนใหญ่ในกรุงจาการ์ตาในการเลือกตั้งปีก่อน
ปรากฏการณ์และเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้คนอาจจะสงสัยว่า จะเป็นสัญญาณถึงเวลาที่อิสลามจะโผล่ขึ้นมาครองอำนาจในประเทศหรือไม่  แม้ว่ายังจำเป็นที่จะต้องจับตามองต่อไปและอภิปรายอย่างระมัดระวังในอุบัติการณ์แต่ละครั้งเพื่อตอบคำถามนี้  ก็พอจะยืนยันได้ว่า อิสลามอนุรักษ์นิยมสามารถจับจองชัยภูมิในอินโดนีเซียได้แล้ว

อิสลามการเมือง: PARTAI KEADILAN SEJAHTERA (PKS)

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2005 ในบรรดาพรรคการเมืองที่จัดว่าเป็นอิสลาม คือ ปฏิญาณตนว่าอิสลามเป็นอุดมการณ์ที่เป็นทางการของพวกเขา มีอยู่ 5 พรรค ดังนี้ United Development Party (PPP) Prosperous Justice Party (PKS) Crescent Star Party (PBB) Reform Star Party (PBR) และ Indonesian Nahdlatul Community Party (PPNUI)   ที่น่าสนใจ คือ พรรคการเมือง เช่น National Awakening Party (PKB) ก่อตั้งและนำโดย ผู้นำ NU และ National Mandate Party (PAN) ก่อตั้งโดยผู้นำของ Muhammadiyah ได้แจ้งว่าอุดมการณ์ของตน คือ ปัญจศิลา (Pancasila) อันเป็นอุดมการณ์ของชาติ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ลงคะแนนทุกภาคส่วนทั่วหน้า  เหตุผลนี้ย่อมปรากฏชัดในตัวว่า ผู้ลงคะแนนที่ไม่ใช่มุสลิมยังมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบว่า อิสลามเชิงการเมืองประเภทไหนที่จะถูกยอมรับให้เป็นฐานการเมืองของมหาชนผู้มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ  ดังตัวอย่าง Gus Dur ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นมิตรที่สุดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของมวลชนที่ไม่ใช่มุสลิม  นโยบายของเขาในช่วงที่เป็นประธานาธิบดี เป็นเครื่องยืนยันความเชื่อนี้
ที่สำคัญกว่านั้น คือ อะบางัน (abangan) กลุ่มมุสลิมที่กำหนดลวดลายของโมเสคในอุดมการณ์ของการเมืองอินโดนีเซีย  พวกเขาไม่ประทับใจหรือคล้อยตามเสียงกู่ให้แผ่อิทธิพลของอิสลาม (Islamization) บางพรรคการเมืองอิสลาม ได้เฝ้ารบเร้าให้พวก อะบางัน เข้าร่วม ถึงกับยอมลดหย่อนความเคร่งครัดในหลักการต่ออิสลาม  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ PKS (ดังอธิบายในบทนำ) แม้จะไม่ใช่เป็นเรื่องเลวร้าย--การตอบสนองต่อแนวโน้มความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีที่มีความชอบธรรมอยู่ในการช่วงชิงอำนาจรัฐแต่คนส่วนใหญ่ยังสะพรั่นกลัวผลพวงหลังจากชัยชนะของ PKS   Nong Darol แห่ง JIL แสดงความไม่สบายใจถึงความเป็นไปได้ที่ PKS จะได้รับชัยชนะ  เธอกล่าวว่า การที่พรรคใช้แนวปฏิบัตินิยมนั้นดูจะเป็นเพียงทำให้พรรคเดินหมากสะดวกเกินไป และพอถึงหลักชัยได้สำเร็จ พรรคก็จะหวนกลับไปยึดวัตถุประสงค์ดั้งเดิม คือ บังคับใช้ Shariah  เธอรู้สึกว่า PKS มีวาระซ่อนเร้น และวาระอันนี้แหละที่คนกลัว เพราะว่าพรรคยอมรับการตีความอิสลามแบบอนุรักษ์นิยม
ในอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิสลามอินโดนีเซีย เช่น ดร. Robin Bush ผู้อำนวยการของโครงการอิสลามและประชาสังคมแห่งมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ณ กรุงจาการ์ตา เกือบจะมั่นใจว่าผู้นำของพรรคจะยังดำรงความเป็นปฏิบัตินิยม แม้ภายหลังชัยชนะการเลือกตั้ง

PKS นั้นน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง...ผมคิดว่า พวกเขาคืออนาคตของอินโดนีเซีย   พวกเขาบอกว่า ในปี 2012 พวกเขาคิดว่าจะได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี  ไม่ว่าพวกเขาจะไปถึงเป้านั้นได้หรือไม่ก็ตาม  ผมคิดว่า พวกเขาจะเป็นกระแสการเมืองที่มีพลังเพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย  คำถามที่อยู่ในใจของทุกคน คือ จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากที่พวกเขาได้ครองอำนาจ...
                ด้วยคำถามนี้  ผมได้คุยกับสมาชิก PKS ที่มีฐานในชุมชน และในระดับอำเภอ คนพวกนี้ต่างออกไป   พวกเขาเป็นคน PKS ที่ยึดมั่นกับ Shariah   แต่ผมสัมผัสรู้ว่า ผู้นำในระดับสูงมีความจริงใจ เมื่อเขาพูดว่า ใช่ เขาเป็นมุสลิมที่ดี  วัตถุประสงค์สูงสุดของพวกเขาจะต้องเป็น Shariah แต่พวกเขายังไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น  นั่นไม่ใช่หนทางที่เขากำลังมุ่งไป  พวกเขาเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด  เป็นกลไกที่พวกเขาต้องการใช้เพื่อให้บรรลุเป็าหมายของพวกเขา
                ผมไม่ทราบจริงๆ  ผมได้แต่คิดว่า พวกเขามีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจอย่างมาก  พวกเขาเป็นพรรคที่มีวินัยที่สุดในบรรดาพรรคต่างๆ

การที่ PKS เป็นพลังการเมืองที่เกาะตัวกันแน่น ทำให้เราต้องพิจารณานโยบายที่เขานำเสนออย่างใกล้ชิด
จากการสัมภาษณ์ Endri Nugraha Laksana, SI, ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง PKS และเป็นประธานของ Commission C ในสภานิติบัญญัติของ โย๊คจาการ์ตา จาก Kabupaten Slamen เขาได้แสดงความเห็นถึงวัตถุประสงค์ของพรรคว่า เป็นพันธกิจที่มีวิสัยทัศน์ของสังคมอิสลามที่เดินสายกลาง มีมนุษยธรรม ที่โอบอุ้มมวลชีวิตทั้งปวง ที่จะวิวัฒนาการตลอดเวลาสู่สิ่งที่ดีงาม ที่จะนำพาให้สังคมเข้าใกล้ Shariah  PKS หลบเลี่ยงการปฏิวัติและยึดพหุภาคีเป็นแนวทางปฏิบัติ ให้ความเคารพต่อหลักการที่ผู้อื่นยึดถืออยู่ ซึ่งเอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลัทธิความเชื่อต่างกัน (interfaith interaction)  ในความเห็นของ PKS อิสลามเป็นประชาธิปไตย  ถึงอย่างไร มันต่างจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกในพื้นฐานและหลายมิติ เช่น ไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่ไร้ค่านิยม (value-free) เช่น อิสรภาพที่จะเป็นคนไม่เชื่อในพระเจ้า  กล่าวสั้นๆ แม้ว่าอิสลามจะเป็นอุดมการณ์ของพรรค PKS ไม่มีแผนที่จะบังคับให้อิสลามอินโดนีเซียเข้ารีตสู่กระแสหลัก หรือเป็นศาสนาที่เป็นเนื้อเดียวกันหมด ซึ่งจะเป็นการขัดขวางความเป็นไปได้ของความเป็นพหุภาคีในศาสนาและอิสลาม  นอกจากนี้ PKS ยังได้นำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจที่ลำเอียงไปทางเป็นมิตรกับประชาชนอย่างเปิดเผย ให้สัญญาว่าจะกระจายความมั่งคั่งแบบทวีคูณ โดยไม่มีการขายระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่เอกชน และจะตั้งใจดูแลสวัสดิการของประชาชน
แรงผลักดันในนโยบายของ PKS ขณะนี้ คือ การขจัดคอรัปชั่น ไม่เพียงแต่พรรคจะสนับสนุนรัฐบาลในการกำจัดคอรัปชั่น PKS ยังคาดหวังที่จะทำให้สำเร็จในสิ่งที่พรรคอื่นๆ ล้มเหลว นั่นคือ การตรวจสอบผู้นำพรรคของตนเองว่าจะต้องเป็นบุคคลที่อุทิศตัว ประวัติไม่ด่างพร้อย เดินตามคำพูดของตัวเองและปฏิบัติตามสิ่งที่ตนได้พร่ำสอน   นโยบายเช่นนี้ ได้ถูกแสดงออกหลังจากการแต่งตั้ง เมื่อประธานสภาปฏิเสธสิทธิพิเศษ เช่น รถหรูที่สั่งจากต่างประเทศและห้องพักสูทหรูในโรงแรม  ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงต่อสาธารณชนว่าผู้นำได้วางเฉยต่ออำนาจ แต่ถึงยังไงก็ยังเป็นอำนาจ  ทำไมอำนาจ?
องค์กรสังคม-ศาสนา เช่น NU และ Muhammadiyah ต่างได้ตัดสินใจใน muktarma ครั้งล่าสุด ที่จะปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามครรลองตามธรรมชาติของมัน และจะไม่ก่อตั้งพรรคการเมืองขององค์กร นั่นคือ สมาชิกของแต่ละองค์กร จะไม่กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่เงื่อนไขนี้จะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันชิงอำนาจ  หากเป็นเช่นนั้น พรรคการเมืองขององค์กรก็คงจะต้องมีขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ปัจจุบัน  แต่ประสบการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ของ PKB และ PAN ทำให้องค์กรทั้งสองต้องคิดใหม่ให้รอบคอบ ถ้าไม่ถึงกับมองโลกในแง่ร้ายต่อสภาวะการเมือง   NU เริ่มตาสว่างต่อโลกการเมืองก่อน Muhammadiyah ดังคำบอกเล่าของ เลขาธิการคนปัจจุบัน Dr. Endang Turmudi  และก็สะท้อนอยู่ในคำพูดของรองเลขาธิการของ Pimpinan Pusat Muhammadiyah Dr. Munir Mulkahn, SU
เห็นได้ชัดว่า PKS ไม่ได้หยิบยืมหน้าใดหน้าหนึ่งจากหนังสือว่าด้วยประสบการณ์ของ NU และ Muhammadiyah   ผู้นำของพรรคไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับองค์กรทั้งสองนี้ ที่แสดงความห่วงใยต่อการเมือง หรือที่มองโลกในแง่ร้ายอันเป็นเหมือนสีที่ป้ายบนนโยบายเรื่องการไม่มีส่วนร่วมในการเมืองโดยตรง   ผู้นำ PKS กลับเห็นว่าการเมืองเป็นเครื่องมือเชิงบวกสำหรับการเผยแผ่อิสลาม ดังคำพูดของ H. Tulus Mustofa  อันที่จริง ผู้นำพรรคได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า ชัยชนะทางการเมืองย่อมหมายถึง การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ยอมรับเจตนารมณ์ของ PKS นั่นหมายถึง พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง   ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำสังคมให้เข้าใกล้ Shariah รัฐบาล PKS ย่อมดำเนินการเผยแผ่อิสลามอย่างแน่นอน นั่นคือ การยกระดับกฎหมายอิสลามให้เป็นกฎหมายทางการ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า อินโดนีเซียจะถอยหลังเข้าสู่บริบทของ Medinan   ดังที่ Endri Nugraha Laksana อธิบายย้ำว่า PKS เชื่อในอิสลามยุคสมัยใหม่ (modernist Islam)   ในขณะที่ aqidah (ความศรัทธา) และพิธีกรรม จะไม่เปลี่ยนแปลงภายใต้การปกครองของ PKS  muamalat (วัตรปฏิบัติทางสังคม เช่น กฎหมาย) จำเป็นที่จะต้องมี itjihad (เหตุผลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับกฎหมาย) กำกับไปกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่เหนือกาลเวลาและที่ทาง (transcend time and space)   PKS จึงตั้งใจว่าจะต้องจัดให้ศาสนาอยู่ในแนวเดียวกับบริบทของประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวอินโดนีเซีย ที่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางสังคมนิยม จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ย่อมขึ้นกับบริบท  ในความเห็นของ Endri Nugraha Laksana  PKS ไม่ได้มีเรื่องที่จะต้องทะเลาะกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมปัจจุบัน ยกเว้นความไม่เป็นมิตรของระบบนี้ต่อประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ใหญ่จริงๆ!  เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของสิ่งที่เขาเรียกว่า “perekonomian rakyat”  พรรคยืนยันคัดค้านการแปรรูปสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นธุรกิจเอกชน และก็จะกระจายความมั่งคั่งถ้าได้ขึ้นครองอำนาจเพื่อลดช่องว่างอันมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของสังคมอินโดนีเซีย  รัฐบาล PKS จะวางโครงสร้างการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า รับรองความมีประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลและการจัดระบบสวัสดิการ  เพื่อกรุยทางสู่ความมั่งคั่งสำหรับคนตัวเล็กๆ หรือ rakyat kacil พรรคจะปลูกฝังวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ในลักษณะส่งเสริมให้เป็นนักลงทุนและนักธุรกิจ ด้วยการอบรมและให้ทุน
PKS มองว่า อิสลามมีความอ่อนโยนและเมตตา  ผู้หญิงจะถูกมองว่ามีความเท่าเทียมกับชาย  เขาใช้คำพูดว่า “saudara kandung”  แม้ว่า ชายจะยังคงเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง แต่อย่างเป็นระบบที่ว่าทางการจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคล   ถูกต้อง PKS จะนำ Shariah มาใช้ในประเทศ แต่ Shariah จะถูกมองว่าเป็นการลดภาระของชาวมุสลิม  ไม่ได้หมายความว่า ใครจะสามารถละเมิดกฎหมายโดยไม่ถูกลงโทษได้ Pak Endri Nugraha กล่าว
ด้วยถ้อยแถลงหาเสียงดังกล่าว จึงไม่น่าประหลาดใจที่ PKS สามารถได้คะแนนเสียงมหาศาลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด  จากการสืบสอบครั้งแรกอย่างคร่าวๆ ถึงแรงดึงดูดของพรรค ทำให้เชื่อได้ว่า อย่างน้อยคนจนในกรุงจาการ์ตา ก็พร้อมยิ่งกว่าพร้อมที่จะสนับสนุน PKS ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะได้ลงไปอธิบายจุดยืนของพรรคถึงบ้านของคนยากจน   มวลคนยากจนที่อาศัยอยู่ในสลัมมากมาย ไม่เห็นว่าวิถีอิสลามและกฎหมายตามแบบอิสลามเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนในจาการ์ตาส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเมืองนั้น พวกผู้หญิงมุสลิมก็ได้เริ่มคลุมศีรษะด้วยผ้า jilbab แล้ว  ในภาษาท้องถิ่น ผู้หญิงเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องประดับ kerudung และก็สวมใส่ด้วยความสมัครใจ!  จุดยืนของพวกเธอคือ ตราบเท่าที่พรรครักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนตัวเล็กๆ (rakyat kecil) เช่นพวกเธอ เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว    แต่โชคไม่ดี ดังที่ Mbak Wati หนึ่งในคนตัวเล็กๆ กล่าว ในฐานะที่พรรคได้เป็นตัวแทนใน DKI สภานิติบัญญัติของจาการ์ตา ซึ่งเป็นเสียงข้างมาก จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากพอที่จะช่วยชาวบ้าน Kampung Rawa ซึ่งกำลังวิ่งเต้นให้รับรองสถานภาพการอยู่อาศัยในพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พรรคยังคงได้รับความนิยมสูงในพื้นที่ของตน ซึ่งปรากฏเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ Depok อำเภอนอกกรุงจาการ์ตา  ตอนแรก PKS ได้รับชัยชนะ แต่ Golkar พรรคที่แพ้ ได้ยื่นอุธรณ์ต่อศาล  ในที่สุดศาลก็ได้ออกคำสั่งให้พลิกประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกาศให้ผู้ร้องทุกข์ดำรงตำแหน่งนายก และรองนายกเทศมนตรีของเมือง Depok    เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามมากมายต่อสถานการณ์ปัจจุบันของ การปฏิรูป Reformasi ในอินโดนีเซีย
นี่คือพรรคการเมืองที่ไม่เหมือนกับพรรคอื่นๆ ในอินโดนีเซีย  พรรคนี้ได้ตอบสนองความต้องการของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง . และเปิดกว้างต่อความคิดที่จะตีความหมายใหม่ในวัตรปฏิบัติ ที่ยึดถือกันมานานว่าเป็นวิถีอิสลาม เพราะว่ามันไม่ได้ทำให้ชีวิตชาวมุสลิมดีขึ้น   และในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับที่สี่ของโลก ที่ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ และเกือบครึ่งหนึ่งมีชีวิตที่ยากจนข้นแค้นในระดับต่างๆ กัน   อิสลามจะต้องเล่นบทสำคัญในการตัดสินชะตากรรมของประชาชนและของชาติ   PKS ดูเหมือนจะมีปณิธานทางการเมืองดังกล่าว ที่จะตรวจสอบความล้มเหลวของอิสลามทุกวันนี้ และทำหน้าที่สร้างอิสลามที่ดีกว่า   นอกจากนี้ พรรคได้แสดงถึงความมีวินัย ดังปรากฏในการเดินขบวนประท้วงใหญ่หลายครั้ง ที่เป็นไปอย่างมีระเบียบและสันติ เช่น ในการประท้วงต่อสหรัฐฯ หลายๆ ครั้งที่พรรคและสมาชิกได้จัดขึ้น
ผู้นำพรรค แม้ว่าจะมีความระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นถึงความรู้สึกของพรรคต่อสหรัฐฯ  ก็มีทัศนคติที่ว่า จริงอยู่ อิรัคได้ถูกทรราชย์กดขี่มานาน และสิทธิของชาวอิรัคก็ถูกลักไปอย่างไม่มีเหตุผล และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ซัดดัม ฮุซเซน เป็นเรื่องภายในที่ชาวอิรัคจะต้องต่อสู้แยกแยะหาทางออกกันเอง  สมาชิก PKS คนหนึ่ง ได้พูดเป็นเชิงอุปมาอุปมัยว่า: แล้วถ้า ซัดดัม ฮุซเซน ถามขึ้นว่า ให้ช่วยกันปลดแอกสหรัฐฯ จาก George W. Bush มั่ง จะว่ายังไง

ประชาธิปไตยแบบอิสลาม ของ NURCHOLISH MADJID

นักคิดร่วมสมัยชาวอินโดนีเซียคนหนึ่ง ยืนโดดเด่นกว่าคนอื่นเพราะจุดยืนที่กล้าหาญของเขาที่มีต่ออิสลามในอินโดนีเซียมาตลอด  เขาวางพื้นฐานที่นำไปสู่ Reformasi ทุกวันนี้ และครั้งหนึ่งเขาก็ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียหลังยุค ซูฮาร์โต   แต่ Cak Nur ชื่อที่ผู้คนจะเรียกเขาด้วยความรักสนิทสนม ไม่มีกระเพาะสำหรับย่อยอำนาจ   ในฐานะปัญญาชนด้วยความฝักใฝ่ของตน เขายังคงอยู่วงในแต่ไม่เคยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจของบุคคลชั้นสูงอย่างเป็นทางการ   ความสำคัญของเขาต่ออินโดนีเซียฝากฝังอยู่ในผลงานหลายชิ้นของเขาเกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองในแนวอิสลาม
ในหนังสือที่เขียนโดย Anas Urbaningrum ชื่อว่า “Islamo-Demokrasi: Penukitan Nurcholish Madjid” ผู้ประพันธ์ ได้พยายามตีความ ซึ่งอาจสรุปได้เป็นเงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้
-           มีความเชื่อถือได้ต่อ Allah และ ummah หรือชุมชนมุสลิม
-           มาตรฐานทางศีลธรรมที่พึงประสงค์กว่า ในการเป็นบรรทัดฐานของประชาธิปไตย คือ แนวของอิสลาม
-           อุทิศตนให้กับคำสอนในอิสลามในเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม และ
-           ไม่เป็นเผด็จการโดยคนหมู่มาก
ประการสุดท้ายที่อธิบายความคิดเรื่องอิสลามทางการเมืองของ Cak Nur อย่างเต็มที่  เขาอ้างว่า การทำให้ประชาธิปไตยเป็นอิสลามเพื่อให้เป็นชุมชนที่ไม่กีดกั้นกัน  ที่สามารถธำรงอิสรภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้น เขาจึงเป็นเสาหลักในการสนับสนุนรัฐฆราวาส (secular state)  การตีความอิสลามของเขา เป็นการค้ำจุนความเชื่อที่ว่า การเป็นชาวมุสลิม ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องแบกภาระหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐอิสลามด้วย

สถานภาพของอิสลามอินโดนีเซีย

ทุกวันนี้ อิสลามในอินโดนีเซียกำลังเบ่งบานด้วยความคิดและกิจกรรมมากหลายที่น่าสนใจ  แถบสีที่หลากหลายครอบคลุมความคิดเสรีนิยมของ Cak Nur ในขั้วหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดสุดโต่งของ Abu Bakar Ba’syir ในอีกขั้วหนึ่ง  ทั้งสองขั้วดูเหมือนจะไม่ให้ความหวังกับอิสลามและมุสลิมโดยตรง เพราะความคิดแรก ดูเหมือนจะจมหายไปในความคิดยุคใหม่ (modernity) ซึ่งดูเหมือนจะมีความศรัทธาน้อยมากต่อความสามารถของอิสลามที่จะฝากรอยใดๆ ที่ถือว่ามาจากอิสลามดั้งเดิมในโลก    ความคิดของชาวตะวันตกต่อประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม เห็นว่า นี่เป็นเพียงการแต่งตัวให้ดูเป็นอิสลาม โดยมีการค้นหาจากภายในอิสลามถึงคุณค่าที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์ประชาธิปไตย แนวทางนี้ เพียงแค่ลบล้างตัวชี้วัดสำคัญ ที่มักจะชี้ไปที่อิสลามแบบอื่น   ยกตัวอย่าง คำสั่งสอนใน คัมภีร์กุรอ่าน (Qu’ran) ที่ให้ผู้ชายเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง ต้องประลองกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลเรื่องความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย  ประเด็นคือ อิสลามจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับดัชนีที่สำคัญมากของประชาธิปไตย นั่นคือ ความเท่าเทียม ได้อย่างไร  ความแตกต่างโดยสถานภาพพื้นฐานระหว่างหญิงและชาย จะสามารถนำมาใช้เป็นตัวกำหนดแนวทางประชาธิปไตยได้ไหม?
นอกจากนี้ ศาสนา ในฐานะที่เป็นพื้นฐานของความศรัทธาไม่สามารถจะธำรงยั่งยืนอยู่ได้โดยปราศจากการผูกขาดหรือกีดกัน  ชาวมุสลิมจะยังคงรักษาความศรัทธาของตนอยู่ได้อย่างไร เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการชักชวนให้เปลี่ยนศาสนาอย่างเปิดเผยของศาสนาอื่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแยกจากศาสนาอื่น: ว่าเป็นบุคคลที่พระเจ้าเลือก? ความคิดของ Cak Nur ที่รื้อถอนโครงสร้างความคิดของอิสลามที่เป็นมรดกตกทอดมานาน แล้วจัดให้เรียงตัวคู่ขนานกับหลักการของประชาธิปไตยตะวันตก  อาจกัดเซาะเอกลักษณ์ และเปลี่ยนโฉมหน้าของอิสลามให้มีหน้าตาเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก   ผลพวงนี้ ไม่ได้ช่วยตอบคำถามที่ตั้งไว้สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้
ในอีกขั้วหนึ่งของแถบสีการเมืองอิสลาม ไม่ต้องพูดเลยว่าเป้าหมายที่ Abu Baker Ba’syir ตั้งใจจะพาชาวมุสลิมไปให้ถึงนั้น ไม่สมเหตุสมผล   ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐอิสลาม สำนักคิดนี้ไม่กังวลว่าความคิดดังกล่าวมาจาก Medina Charter ในสมัยโบราณอาจไม่สามารถจะยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมยุคใหม่ปัจจุบัน   ทั้งพวกโรแมนติค และพวกคลั่งศาสนาต่างปฏิเสธที่จะรับรู้ว่าโลกได้กลายเป็นหมู่บ้านเดียวกันแล้ว  ดังนั้น พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะแสดงปฏิกิริยาสุดโต่ง รวมทั้งก่อความรุนแรง เพราะพวกเขาไม่สามารถร่วมกับคนหมู่มากได้ ภายใต้โครงสร้างประชาธิปไตยที่อุบัติขึ้นมาใหม่   ดังนั้น จึงเหลือตัวละครทางการเมืองเพียงตัวเดียว ที่มีศักยภาพในการสร้างอนาคตให้แก่อิสลามในภาพพจน์ของตัวเอง นั่นคือ PKS   ทำไม? เพราะว่า PKS มีแนวโน้มที่จะปฏิรูปและมีแนวทางเคลื่อนตัวช้า ๆ อย่างมีระเบียบ สู่อำนาจนั่นเอง

ชาวอินโดนีเซียและ SHARIAH

งานวิจัยที่ PPIM ทำในปี 2002 ได้ตั้งคำถามต่อชาวมุสลิมอินโดนีเซีย ในปี 2000  คุณต้องการ Shariah ไหม? ประมาณ 85% ตอบว่า ต้องการ  แต่พอเขาค่อยๆ เจาะคำถามต่อ และบอกว่า  โอเค  แล้วคุณเห็นด้วยกับกฎหมาย hudud ที่ลงโทษด้วยการตัดมือ และบังคับให้ใช้ผ้าคลุม jilbab และธุรกรรมทำนองนั้นทั้งหมดไหม?  ทีนี้ พวกเขาได้คนที่เห็นด้วยเพียง 20% และ  28%   ก็นี่แหละเป็นตัวชี้ว่ามันเป็นอย่างนั้น  เอาหละ เมื่อคุณพูดถึง Shariah ทำไมจึงมีความแตกต่างกันมากขนาดนั้น   มันหมายความว่าอะไร?
                ผมคิดว่า สำหรับชาวมุสลิมอินโดนีเซียส่วนใหญ่แล้ว นั่นหมายถึงกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมในการดำเนินชีวิตของคน กฎเกณฑ์ที่ไม่สามารถและไม่ควรจะบังคับหรือควบคุมโดยภาครัฐ...

การที่ผลการเลือกตั้ง ยังยืนหยัดอยู่ที่สัดส่วน 60-40 ที่เอียงมาทางฝ่ายฆราวาสชาตินิยมอย่างสม่ำเสมอ และก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกหลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราช ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานสนับสนุนความเห็นของ Robin Bush ข้างต้น  สัดส่วนดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นจริงในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ที่เสียงสนับสนุน PKS พุ่งสูงขึ้น
แต่ PKS ก็ได้เปลี่ยนจุดเน้นในแถลงการณ์ จากการบังคับใช้ Shariah มาเป็นการขจัดคอรัปชั่น และความยากจน ในขณะที่ยังยืนหยัดในอุดมการณ์ว่าเป็นพรรคอิสลาม  สิ่งที่ผลการเลือกตั้งในปี 2005 ได้แสดงให้เห็น คือ เสียงที่แกว่งไปทาง PKS นั้น ยังอยู่ในขอบข่ายของกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ลงคะแนนอิสลาม  ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เลือกพรรคอิสลามด้วยความเคยชินอยู่แล้ว   ข้อพิสูจน์ คือสัดส่วนดังกล่าว ที่ค่อนไปทางฆราวาสชาตินิยม มากกว่าอิสลาม  ยังไม่มีเสียงเคลื่อนจากฝ่ายฆราวาสชาตินิยมสู่อิสลามมากนัก  PKS จึงเป็นเพียงพรรคมุสลิมที่ดีกว่าในบรรดาพรรคที่ลงทะเบียนว่ายึดมั่นในอุดมการณ์อิสลาม
สิ่งท้าทายสำหรับ PKS คือ การรบเร้าเซ้าซี๊พวก อะบางัน ต่อไป  ถ้าการคัดท้ายของ PKS ออกจาก Shariah อย่างกะทันหันแล้วหันไปมุ่งที่เรื่องสังคม-เศรษฐกิจ ไม่ได้สามารถชักจูงเปลี่ยนใจพวก อะบางัน  แล้ว PKS จะยังคงมีปณิธานทางการเมืองที่จะเคลื่อนตัวให้ออกห่างจากวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้ Shariah ต่อไปหรือไม่?
ในขณะนี้ ผู้นำได้ขยับฐานด้วยการเว้นวรรค นั่นคือ ไม่แตะนโยบายในเรื่องอิสลาม  พูดถึงแต่ประเด็นที่อยู่ในวงการสนทนาทั่วไป เก็บเรื่องอุดมการณ์/อิสลามไว้เป็นเพียงรูปแบบทางทฤษฎี เพื่อให้พรรคมีสีสันพอที่จะสังเกตได้ถึงความแตกต่าง   ถ้าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ยังจะมีที่ไหนอีกที่พรรคจะอพยพไปได้ทางอุดมการณ์ โดยไม่ต้องทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอิสลาม? ดูเหมือนจะมีเพียงทางเดียวสำหรับ PKS คือ เปิดประตู ijtihad อีกครั้ง อย่างที่ Endri Nigraha Laksana ได้พูดอย่างเปิดเผย  เจตนารมณ์ฉับพลันน่าที่จะเป็นการปรับบริบทของคำสั่งสอนของอิสลามให้ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ และสิ่งท้าทายที่ประเทศอิสลามต่างๆ กำลังเผชิญอยู่  ในตอนเริ่มแรก ยังพอเห็นทางว่า PKS จะสามารถใช้เทคนิคเดียวกันกับ Nurcholish Madjid—แต่งตัวให้เครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของ ประชาธิปไตยเสรีนิยม ให้ใส่ชุดของอิสลามดังปรากฏในสิ่งที่เรียกกันว่า การธนาคารและเศรษฐกิจแนวมุสลิม (Islamic banking and economies)
ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งแนะว่า นี่ไม่ใช่สูตรที่จะชนะใจผู้ที่เคยลงคะแนนให้แก่ฝ่ายฆราวาสชาตินิยมได้  การติดป้ายใหม่และการทำเสียงอึกทึกในกิจกรรมอิสลามต่างๆ ในสังคมมุสลิม ไม่เพียงพอที่จะทำให้ PKS ชิงอำนาจมาได้  แต่แน่นอน ผู้นำที่อ่อนอาวุโสและกระฉับกระเฉงกว่า หลังจากได้ใช้วิธีการตามตัวอย่างผู้นำจนหมด รวมทั้งใช้วิธีการน่าเบื่อด้วยการเผยแผ่อิสลามแล้ว ก็จะเริ่มขุดค้นลึกลงไปเพื่อหารูปแบบใหม่ที่เข้ากับยุคใหม่ได้   ความที่ไม่ลืมว่าสมาชิกอาจจะมาจากองค์กรอื่น พวกเคร่งศาสนา Muhammadiyah อาจค้นพบรูปแบบใหม่ดังกล่าว ที่อาจจะกลายเป็นบทสวดนโยบายใหม่ของพรรคได้
นักคิดของ Muhammadiyah  ดร. Munir Mulkhan เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่พยายามจะจัดตั้งสำนักคิดอิสลามยุคใหม่ (modern Islamic thought)  ในกรอบคิดบนพื้นฐานของความศรัทธาของตนในปัจจุบัน  เขาได้อภิปรายประเด็นเหล่านี้ เช่น การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของชาวมุสลิม ในหนังสือและบทความต่างๆ ของเขา
ความพยายามในการตีความหลักการอิสลามใหม่นี้ ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปอิสลามได้มากกว่าแค่ทำเป็นตู้โชว์  การปฏิรูปได้เกิดขึ้นแล้วในระดับสูงสุดของวงการ Muhammadiyah  แม้ว่าจะดูเหมือนการปฏิวัติ แต่ความพยายามนี้ก็ค่อยๆ ได้รับการยอมรับ
ในที่สุด ปฏิบัตินิยม (pragmatism) อาจได้รับชัยชนะสำหรับอิสลามในอินโดนีเซีย เพราะ PKS ต้องปลุกปล้ำกับพวกยุคใหม่ เพื่อแย่งเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  แนวคิดสุดโต่ง ijtibab ที่สนับสนุนโดยนักคิดที่มีอิทธิพลจากทั้งสององค์กรมวลชน Muhammadiyah และ NU   ด้วยเหตุที่ว่า องค์กรทั้งสองได้ตัดสินใจอนุญาตให้สมาชิกของตนมีอิสระในการเข้าร่วมพรรคการเมืองใดก็ได้ PKS ก็ย่อมจะสานต่อความคิดเหล่านี้ได้   พรรคนี้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นพลังใหม่ (modernizing force) ในอิสลามอินโดนีเซีย
แต่ การมองโลกในแง่ดีนี้ จะต้องคำนึงถึงแนวโน้มของฝ่ายตรงข้าม เช่นที่เกิดขึ้นภายหลังยุคของ Gus Dur NU  ในการเลือกตั้งปีที่แล้ว แนวโน้มที่จะหวนกลับไปแบบดั้งเดิม (traditionalism) ปรากฏขึ้นชัดในระหว่างการประชุมประจำปี   Hasyim Muzadi พวกหัวดั้งเดิม ได้ชนะฝ่าย Gus Dur ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้า แต่องค์กรก็พ้นขีดอันตรายของการแตกแยก เมื่อ Gus Dur ไม่ได้ถอนตัวออกจากองค์กรพร้อมด้วยผู้สนับสนุนเขาตามคำขู่   แม้ปัญหายังคงเรื้อรัง แต่ NU ก็ยังคงดำรงตัวเป็นองค์กรสังคม-ศาสนาหน่วยหนึ่ง  เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ คงจะเกิดขึ้นใน Muhammadiyah เมื่อ Din Shamsuddin ผู้เป็นที่รู้กันว่าเป็นหัวอนุรักษ์ ได้รับเลือกเป็นผู้นำ

อนาคตอยู่ในมือของเยาวชนวันนี้: ผลสำรวจ

ผู้เขียนได้ทำการสำรวจเพื่อตรวจสอบความเข้าใจจากการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การอ่าน และการร่วมสัมมนา  แบบสอบถามปรนัย 75 ชุด ได้ถูกแจก และมี 48 ชุดที่ตอบกลับมา  โดยทั่วไป การสุ่มตัวอย่างค่อนข้างเปิด ยกเว้นอายุ เพราะมีสมมติฐานว่า อนาคตอยู่ในมือของอนุชน  ดังนั้น จึงมุ่งเป้าไปสำรวจผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว ผลคือ อายุของผู้ตอบกลับมาอยู่ในช่วง 19 ถึง 34   ส่วนมากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี หรือมหาบัณฑิต แต่หนึ่งในสี่เป็นมืออาชีพหนุ่มสาว จากสถาบันวิทยาศาสตร์ (LIPI) และนักวารสารศาสตร์จาก Bandung   พื้นที่ในการสำรวจ คือ จาการ์ตา บันดุง โย๊คจาการ์ตา และบาหลีเพราะเหตุการณ์ระเบิด จึงไปที่นั่น  วัตถุประสงค์ คือ เพื่อทำความเข้าใจต่อปฏิกิริยาของชนกลุ่มน้อยมุสลิม และของชนกลุ่มใหญ่ฮินดูที่นั่น

สถิติแยกแยะผู้ตอบโดยอาชีพ คือ
นักศึกษา
32
มืออาชีพ
12
ว่างงาน
1
จ้างตัวเอง
2
ไม่รู้
1

แยกโดยเพศ: หญิง 16 และ ชาย 32

เนื่องจากการสำรวจนี้ ต้องการจะดูสถานการณ์ของอิสลามในอินโดนีเซีย หลัง 9/11  มุสลิมจึงเป็นเป้าหมายธรรมชาติ  แต่ขัอมูลจากคนที่ไม่ใช่มุสลิมน่าจะมีประโยชน์   โชคไม่ดี การสุ่มตัวอย่างนี้ไม่ได้ผลดังกล่าว (มุสลิม 43: ไม่ใช่มุสลิม 5)   แบบสำรวจไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ เพื่อว่าผู้ตอบจะได้ไม่มีอคติในการตอบ  โชคไม่ดี วิธีนี้ได้ทำให้มีคำบ่นมากกว่าความเห็น  ผู้ตอบส่วนใหญ่ดูเหมือนจะต้องการรู้ว่าจะนำคำตอบไปทำอะไร  ในแบบสอบถามนี้ มีคำถาม 33 ข้อ ซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้

16 คำถาม เป็นคำถามร่วมสำหรับทุกคน โดยเน้นที่ความรู้สึกต่อสหรัฐฯ หลังจาก 9/11  คำถามทั่วไปเกี่ยวกับโลกของมุสลิม ประชาธิปไตย ความทันสมัย (modernity) และโลกาภิวัตน์
3 คำถาม สำหรับผู้ตอบในบาหลี ด้วยเงื่อนไขที่ว่าส่วนใหญ่จะต้องไม่เป็นคนมุสลิม  แต่ผลลัพธ์ คือ ในจำนวน 12 คน มีเพียง 3 คนที่ไม่ใช่มุสลิม (คริสเตียน 2 และฮินดู 1)
14 คำถาม เกี่ยวกับอิสลามโดยเฉพาะ ไม่ได้บรรจุสำหรับกลุ่มบาหลี

ผู้ตอบส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนมีเหตุผลในระดับสูง  ในขณะที่ ผู้ตอบส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ อย่างแรง หลังจากการบุกอาฟกานิสถานและอิรัค  คำตอบต่อคำถามต่อไปนี้ แยกได้เป็นหลายจำพวก

คำถาม: “เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นการก่อการร้ายที่พุ่งเป้าไปที่ประชาชนอเมริกา  คนบริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไป  คุณคิดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรมีปฏิกิริยาอย่างไร?
คำตอบ:   ก.   บุกอาฟกานิสถานเพื่อทำลายฐานกำลังของ Al-Qaeda และเครือข่ายผู้ก่อการร้าย
ข.       บุกอาฟกานิสถาน และใช้ข้ออ้างนี้บุกอิรัค และทุกถิ่นที่ในโลกมุสลิมตราบที่ข้ออ้างนี้ยังใช้ได้
ค.       ทำลายเครือข่ายที่คิดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยพิจารณาถึงความเจ็บใจที่เป็นเชื้อเพลิงแก่พวกอิสลามสุดโต่งและความรู้สึกต่อต้านอเมริกา เช่น ประเด็นปาเลสไตน์
ผู้ตอบเกือบครึ่ง (21 จาก 49) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เลือก ค   ที่น่าสังเกต คือ 15 คน เลือก ไม่ตอบ โดยไม่ให้เหตุผล และ ไม่มีคำตอบที่ถูกใจ

คำถามต่อไป ต้องการวัดระดับความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ ซึ่งผู้ตอบหลายคนจะเลือกได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ
คำถาม: “การบุกรุกอิรัคในปี 2003 ด้วยกองทัพนานาชาตินำโดยสหรัฐฯ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย  คุณคิดว่า ทำไมรัฐบาล Bush ในวอชิงตัน และ Blair ในลอนดอน จึงเดินหน้าโดยไม่รอการอนุมัติจากสหประชาชาติ?
คำตอบ:  
ก. ด้วยความเป็นมหาอำนาจ วอชิงตันถือว่าตนสามารถจะทำตามอำเภอใจโดยไม่ถูกลงโทษการบุกรุกที่ผิดกฎหมาย ได้แสดงให้เห็นถึงความไร้สมรรถภาพของโลกในการยับยั้งความกระหายสงครามของสหรัฐฯและอังกฤษก็เป็นเพียงนักปฏิบัติ
ข. ...
ค. กลุ่มผลประโยชน์อเมริกันในธุรกิจน้ำมันขนาดใหญ่ เป็นผู้ผลักดันให้บุกรุก, อย่างที่บางคนได้กล่าวหา.
ส่วนใหญ่เลือก ก. และตามมาติดๆ ด้วย ค. ผลแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านค่อนข้างแรง แต่ก็ยังไม่ใช่ท่วมท้น

แต่ผู้ตอบต่างเลือก โลกาภิวัตน์ (คำถามข้อ 6) อย่างท่วมท้น ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น การดำเนินการตามสากลนิยมของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม(คำถามข้อ 4) ซึ่ง วัฒนธรรมตะวันตก...แผ่ซ่านไปทั่ว และบางคนรู้สึกว่า วัฒนธรรมท้องถิ่น กำลังแปรเปลี่ยน แต่ก็ยังไม่เสียหาย(คำถามข้อ 5)
พอถูกถามว่า พวกเขาเข้าใจคำว่า ทันสมัย (modern) อย่างไร  ครึ่งหนึ่งตอบว่า เป็นการวิวัฒนาการทางอารยธรรมอันหนึ่งซึ่งเป็นไปตามช่วงเวลาของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและสังคมสมัยใหม่ คือสังคมที่ชีวิตของผู้คนขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด  ดังนั้น ความทันสมัยจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่ห่างพ้นจากสังคมยุคก่อนสมัยใหม่ (คำถามข้อ 1) และ ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่า ประชาธิปไตย คือ อำนาจประชาชน ที่ผ่านกลไกสากลในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทน (คำถามข้อ 2)  และส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับข้อแนะนำที่ว่า ความทันสมัย เป็นตัวคร่าวิญญาณของมนุษย์ (คำถามข้อ 3) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า อนุชนเหล่านี้เป็นคนมองโลกในแง่ดี
คำตอบต่อประเด็นผู้ก่อการร้ายในหลายข้อ สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังต่อสถานภาพของ Abu Bakar Ba’syir  หลายคนรู้สึกว่า หลักฐานที่ผูกมัดว่าเขาเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายนั้นยังไม่เพียงพอ  ส่วนใหญ่เห็นว่า เขาเป็นผู้นำของ Majlis Mujahiddin Indonesia และหัวหน้า ของ Ngruki Pesantren พร้อมทั้งมีหลายคนแนะนำว่า ความน่าเชื่อถือทางอิสลามของเขา น่าจะทำให้เขาเป็นคนรักสันติ
ต่อคำถามที่มุ่งไปที่ผู้ตอบชาวมุสลิม คุณจะยินดีเป็นนักรบที่เคร่งศาสนา (holy warrior) ไหม? เกือบทั้งหมดตอบว่า ยินดี   โชคไม่ดี การแปลเป็นภาษาอินโดนีเซียอาจทำให้คำนี้ดูอ่อนโยนกว่าที่ตั้งใจ  อย่างที่กล่าวข้างต้น ชาวมุสลิมอินโดนีเซียส่วนใหญ่ เป็นคนเคร่งครัดในศรัทธาของตน พวกเขาจะสนับสนุนการใช้ Shariah อย่างท่วมท้น ตราบเท่าที่มันเป็นเรื่องอ่อนโยน  ถ้าลองเติมอะไรที่แสดงถึงความรุนแรงลงในคำถาม คาดได้ว่า คำตอบส่วนใหญ่จะแกว่งไปในทางตรงกันข้าม นี่คือความเห็นที่ปรากฏในคำตอบต่อคำถามข้อ 20 เกี่ยวกับความเห็นเรื่อง jihad ในอิสลาม   คำตอบท่วมท้น คือ มันเป็น การดิ้นรนที่ต่อเนื่องและเป็นไปอย่างสันติ เพื่อการรื้อฟื้นศรัทธาของชาวมุสลิมแต่ละคน และ ummah  พูดสั้นๆ คือ พวกเขาคงจะไม่สนับสนุนความรุนแรง
ผู้ตอบส่วนใหญ่เลือก ง. ในคำถามข้อ 26 ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติที่ทันสมัยและใฝ่สันติ  คำถามนี้ ตั้งใจที่จะตรวจตราดวามคิดเห็นเรื่องเจนเดอร์[2]ของผู้ตอบมุสลิม  สองในสามเห็นว่าหญิงชายมีความสัมพันธ์เท่าเทียมกัน โดยสามีมีบทบาทที่จะตักเตือนภรรยาที่ออกนอกลู่นอกทางด้วยความอ่อนโยน

สรุป

อิสลามอินโดนีเซียยังคงรักษาสัญญาว่า จะสร้างความสนเท่ห์แก่ผู้สังเกตการณ์ภายนอก  ไม่มีอะไรผิดที่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยุคสมัยใหม่ยังถือว่า เป็นหนทางที่พึงประสงค์ในการฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการพัฒนาให้บรรลุสู่ยุคใหม่ด้วยหนทางทุนนิยม  แต่ ลัทธิทุนนิยมเป็นประโยชน์แค่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสะสมความมั่งคั่ง   ประสบการณ์ของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นชัดว่า มันจะต้องควบคู่ไปกับความเป็นธรรมและการกระจายความมั่งคั่ง   ความห่วงใยดังกล่าว อาจจะนำไปสู่คำถามที่นำไปสู่การค้นหาศักยภาพของอิสลามเพื่อหาคำตอบ และในกระบวนการการค้นหา ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาวัตรปฏิบัติของอิสลามที่มีความทันสมัย อันเป็นผลการสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมกันมา
เห็นได้ชัดว่า PKS จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของอิสลาม ถ้าผู้นำของพรรคมีความจริงใจที่จะยึดมั่นในวาระปัจจุบันในกรอบของประชาธิปไตย   ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ฉลาดจะเป็นผู้ควบคุมให้พรรคซื่อตรงต่อศักยภาพนั้น   ถึงอย่างไร อำนาจของประชาชน ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสมการอำนาจที่กลไกรัฐและเล่ห์กลทางการเมืองของชนชั้นปกครองจะบดขยี้ได้อย่างง่ายดาย   ในประเทศที่ความโปร่งใสยังเป็นเพียงเรื่องนามธรรมของกรอบคิด รัฐอาจรู้สึกคันไม้คันมือที่จะขัดขวางโอกาสก้าวหน้าของอิสลาม   ในทางประวัติศาสตร์ ผู้ครองอำนาจเห็นว่าอิสลามเป็นภัยอันตราย  ตั้งแต่สมัย ซูการ์โน จนถึง ซูฮาร์โต พรรคอิสลามไม่เคยมีอิสรภาพมากเท่าที่พวกเขาต้องการ  จนกระทั่งยุคปฏิรูปที่พรรคอิสลามได้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และก็ได้พบกับความจริงว่า สังคมยังตั้งแง่ มีความระแวงสงสัยต่ออิสลาม หลายๆ คนเห็นว่ามีแนวโน้มไปทางอนุรักษ์นิยม   เพื่อที่จะยืนขึ้นเป็นผู้นำในอุดมการณ์ทางการเมือง อิสลามในอินโดนีเซียจะต้องแปรเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเร็วให้ได้ มิฉะนั้นจะถูกทอดทิ้งให้อยู่ข้างหลังว่าเป็นเพียงความศรัทธาส่วนตัวที่มีอาณาเขตแค่ในบ้านของตน



[1]Islam Post-9/11: Trends and Opportunities for Modernization in Indonesia : A case study” by Askiah binti Mohd Adam (API 2004/05), Freelance and Consultant, Malaysia [2007, pp. 68-80]  Source: http://www.api-fellowships.org/  (publication)

[2] ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ที่แสดงออกในความแตกต่างในบทบาท (หน้าที่ ความรับผิดชอบ) และสถานภาพ (สิทธิ์)