วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นโยบายสร้างหรือขจัดความยากจน?


บทความต่อไปนี้ ได้นำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเห็นต้นแบบวิธีคิดของผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของชีวิตคนนับล้านในฐานะแรงงาน     ผู้มีอำนาจเหล่านี้ เป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่หยิบยืมชิ้นส่วนทางวิชาการ (เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น) มาใช้เพื่อ แก้ปัญหา ความยากจน โดยไม่เคยตั้งคำถามต่อกรอบคิด หรือเครื่องมือ หรือแม้แต่คำจำกัดความของ การพัฒนา
     บทความนี้ สะท้อนให้เห็นความเป็นนักบริหารมืออาชีพกระแสหลัก ที่ต้องมีความสามารถในการคิดแบบกล่องๆ และตั้งเรียงกันอย่างเนี๊ยบ  ให้เกิดเป็นสูตรสำเร็จ  สำหรับพวกเขา คนนับล้าน อยู่ในสองกล่องที่ไม่สัมพันธ์กัน  ในกล่องหนึ่ง เป็นเพียง แรงงาน ที่รวมกันเป็นก้อนไม่รู้จักเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนพวกเขา (ผู้เป็น พลังสมอง)อีกกล่องหนึ่ง เป็นกลุ่มก้อนคนที่มีแต่ตัวเลข  เป็นภาระที่ต้องดูแลในฐานะผู้อ่อนแอกว่า     พวกเขาคงจะไม่เคยตั้งคำถามว่า ความยากจน อย่างที่พวกเขาแขวนป้ายให้นี้  เกิดขึ้นเมื่อไร   แต่กลับมีคำตอบเป็นสูตรสำเร็จอยู่แล้วว่า จะต้องแก้ความยากจนนี้โดยทำให้เกิดวงจร ผลิต-บริโภค ต้องอยู่ในภพภูมิของการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม (ลดต้นทุน กำไรเม็ดเงินสูงสุด) และมีลีลาชีวิตติดบริโภคแบบเมือง
     พวกเขาจะไม่แม้แต่คิดว่า ทำไม พัฒนา กันมากึ่งศตวรรษ (ภายใต้การนำของผู้เชี่ยวชาญ)  จึงมีแต่วิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า และได้บานปลายจนถึงขั้นหายนะในเร็ววันนี้ ..ภายในไม่ถึง 200 ปี   นี่ อาจเป็นความหายนะที่เบ็ดเสร็จกว่าเมื่อครั้งญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิดอะตอม   คงไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ เพราะมนุษย์ก็ได้เริ่มทำลายล้างผลาญกันเองอย่างจริงจัง รวมทั้งองค์รวมนิเวศที่หุ้มห่อทุกชีวิต
     ด้วยวิธีคิดแบบกล่อง ๆ เช่นนี้ ประชาสังคมจะต้องส่งเสียงอย่างไรหรือทำอะไร เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหารมืออาชีพกระแสหลักเหล่านี้ได้ยิน และเลิกคิดแบบกล่อง ... วิธีคิดที่ขยายความเหลื่อมล้ำ ความไร้มโนธรรม และไร้มนุษยธรรมในสังคม...ในนามของการพัฒนา             -ดรุณี ผู้แปล


ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจที่กำลังอุบัติขึ้น (เกิดใหม่):
ตลาดแรงงานและนโยบายสังคมมีบทบาทอย่างไร?
ศูนย์การประชุม OECD ปารีส 19 พค 2010
จอห์น มาร์ติน (ผอ  กิจกรรมการจ้างงาน แรงงาน และสังคม  OECD)

OECD/EUROPEAN UNION HIGH-LEVEL CONFERENCE
Inequality in Emerging Economies: What Role for Labour Market and Social Policies?
OECD Conference Centre, Paris, 19 May 2010
“Introductory Remarks”
John P. Martin Director for Employment, Labour and Social Affairs, OECD
www.oecd.org/els/social/inequality/emergingeconomies

... งานครั้งนี้ เน้นถึงโครงการร่วมของเรากับ กรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่แสวงหาตัวกำหนดของความยากจน และนโยบายทางเลือกเพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในบราซิล จีน อินเดีย และอาฟริกาใต้  โครงการนี้เป็นการต่อยอดและเกื้อหนุนกับงานที่พวกเราได้ทำในประเทศ OECD ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในปี 2008 ชื่อเรื่อง เติบโตสู่ความไม่เท่าเทียม? (Growing Unequal?)   หัวข้อนี้ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของวงสนทนาแลกเปลี่ยนและการสร้างความร่วมมือกับเศรษฐกิจที่อุบัติขึ้นใหม่  เป็นกระบวนการที่องค์การของพวกเราต้องการจะมีส่วนร่วมกับมากขึ้นตัวเล่นใหม่ในเวทีโลก

หัวข้อการประชุมนี้ -- บทบาทของตลาดแรงงานและนโยบายสังคมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศทั้งใน และนอก OECD     ดังที่ได้บันทึกไว้แล้วในรายงาน เติบโตสู่ความไม่เท่าเทียม?”  ความเหลื่อมล้ำได้ขยายตัวมากขึ้นในหลายประเทศในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปัญหาสาหัสที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ   วิกฤตเศรษฐกิจโลกเพียงแต่เพิ่มความท้าทายให้กับปัญหาเหล่านี้ และทำให้ปฏิบัติการเชิงนโยบายเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งขึ้น

โลกาภิวัตน์และการเพิ่มความพึ่งพิงโยงใยเกี่ยวเนื่องกันระหว่างปรเทศในเชิงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพที่จะปรับปรุงชีวิตของประชาชนทั่วโลก  การไหลเวียนของการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมาในสี่ประเทศที่เราจะอภิปรายกันวันนี้   ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดการผนวกการค้าและตลาดการเงิน และเพิ่มน้ำหนักของประเทศเหล่านี้ในเวทีเศรษฐกิจโลก   จีนและอินเดียขยายตัวดัวยอัตราตัวเลขสองหลักต่อปีในช่วงเวลาก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ   การขยายตัวเชิงเศรษฐกิจในบราซิลและอาฟริกาใต้ ค่อนข้างจะเป็นเหมือนไอระเหย แต่ก็ยังน่าประทับใจอยู่ 

ผลคือ ทั้งสี่ประเทศได้ประสบการเติบโตของ GDP ต่อหัวที่สูงมาก เป็นการลดช่องว่างเมื่อเทียบกับประเทศ OECD    ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตนี้จะพุ่งตัวขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ แต่การจะมาบรรจบกับ GDP ต่อหัวของ ประเทศ OECD ยังเป็นเป้าหมายที่ห่างไกล  ในอินเดีย GDP ต่อหัว ยังแค่ 8% ของค่าเฉลี่ยของ OECD  ในจีน 16% ในขณะที่ในบราซิลและอาฟริกาใต้ ประมาณ 25%

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด   โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดความไม่สมดุล ทั้งระหว่างและภายในประเทศ   การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้ช่วยลดภาวะยากจนสุดโต่งอย่างมีนัยสำคัญในจีน อินเดีย และบราซิล  และมีผลน้อยกว่าในอาฟริกาใต้   แต่ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้และการบริโภคได้เพิ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แม้ว่าบราซิลจะประสบความสำเร็จมากในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็เห็นความเหลื่อมล้ำลดลงเช่นเดียวกัน

การเพิ่มความไม่เท่าเทียมในรายได้ในประเทศเศรษฐกิจใหม่ ส่วนมากเชื่อมโยงกับความจริงที่ว่าคนงาน ไม่มีความเท่าเทียมเชิงโอกาสในการเข้าถึงการว่าจ้างงาน ดังนั้นจึงไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนส่วนมากที่มีทักษะต่ำ จะต้องจมปลักอยู่กับงานที่ไม่มั่นคง ที่มักจะอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบและไม่ถูกควบคุม    งานเหล่านี้ แม้จะเป็นการจ้างเต็มเวลา ก็มักจะให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะยกสถานภาพของครอบครัวให้พ้นจากบ่วงความยากจน   ดังนั้น การทำให้เข้าถึงงานที่ก่อให้เกิดผลอุดมสมบูรณ์ และมีรางวัลตอบแทน (productive and rewarding jobs) คือกุญแจของการหลีกหนีจากความยากจน และลดความไม่เท่าเทียม ข้อความนี้ที่เป็นความจริงสำหรับทั้งประเทศในเศรษฐกิจใหม่และ OECD

ขออนุญาตกล่าวถึงบทบาทที่เป็นไปได้ของตลาดแรงงานและนโยบายสังคมในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน

การเพิ่มความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   จากการวิเคราะห์ของเราถึงประสบการณ์ของ OECD เรารู้ว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการต้าน/ชะลอแนวโน้มของความไม่เท่าเทียมกัน  การให้รายได้เสริมแก่ผู้ตกงาน และช่วยเพิ่มต้นทุนมนุษย์ (เช่นฝึกทักษะใหม่) เพื่อให้หางานใหม่ทำได้ เป็นตัวอย่างที่รัฐบาลทำได้ และก็ได้ทำแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน   ระบบภาษีและผลประโยชน์ และนโยบายสังคมอื่นๆ ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความเสี่ยงของครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่จะตกสู่ความยากจน    ถ้าออกแบบให้ดี มาตรการเหล่านี้จะถนอมแรงจูงใจให้คนในวัยทำงานออกแสวงหาโอกาสถูกจ้าง

แต่ในหลายๆ เศรษฐกิจใหม่ ตลาดแรงงานและนโยบายสังคมยังอยู่ในวงแคบๆ เพราะ เศรษฐกิจนอกระบบซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ ด้วยคำจำกัดความของ นอกระบบ ได้กีดกันคนงานและครอบครัวของพวกเขาให้พ้นจากช่องทางที่เข้าถึงผลประโยชน์และบริการทางสังคมส่วนใหญ่    ดังนั้น ภารกิจแรกและสำคัญที่สุดสำหรับผู้กำหนดนโยบายในเศรษฐกิจเหล่านี้ คือ ทำให้ตลาดแรงงานครอบคลุมกว้างขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ลดความเป็นนอกระบบ  ประเด็นนี้ เป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งในการประชุม G20 ครั้งแรก ระหว่างรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน ณ วอชิงตัน เมื่อ เมษายน 2010   คนงานนอกระบบจำเป็นจะต้องมีช่องทางเชิงกฎหมาย การเงิน และการศึกษาที่จำเป็น เพื่อจะได้เข้าถึงการจ้างงานในระบบ   ระบบการจ้างงานในระดับที่สูงกว่าก็ต้องมีแรงจูงใจที่ดีกว่าเพื่อให้กิจการต่างๆ เข้ามาอยู่ในระบบ   บ่อยครั้ง มาตรการเช่น การทำให้ระบบภาษีซับซ้อนยุ่งยากน้อยลง และการลดการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่สร้างภาระหนักแก่ผู้ประกอบการ จะช่วยชักจูงให้ผู้จ้างผันตัวเข้าสู่ในระบบ

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้หลายเศรษฐกิจใหม่ หย่อนในด้านการมีข่ายสังคมที่รับรองความปลอดภัย (social safety net) ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้าง คือ ความจำกัดของทรัพยากรที่จะแข่งกับอุปสงค์/ความต้องการสำคัญนานัปการ  เช่น การศึกษา  ระบบสาธารณสุข เป็นต้น   นี่เป็นสิ่งท้าทายไม่เฉพาะกับประเทศในเศรษฐกิจใหม่   ในวิกฤตการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศ OECD ก็ต้องดิ้นรนอย่างหนักกับการตัดสินใจที่ลำบาก ในการขยับทรัพยากร (เช่น งบประมาณ) ไปสู่ที่ๆ จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด ในขณะที่พวกเขาเคลื่อนผ่านช่วงเวลาของการกระตุ้น (fiscal stimulus) สู่การขมวดงบประมาณ/รัดเข็มขัด (fiscal consolidation) และการตัดหนี้สาธารณะ   ในการนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้แน่ใจว่า การตัดงบสาธารณะ และการเพิ่มอัตราภาษีใดๆ จะไม่สร้างผลสะท้อนกลับเชิงลบต่อความไม่เท่าเทียม

อย่างที่พวกเราจะได้เห็นกันในระหว่างการประชุมครั้งนี้ บราซิล จีน อินเดีย และอาฟริกาใต้ ต่างมีตลาดแรงงาน และนโยบายสังคมที่ไม่เหมือนกัน   ทั้งสี่ประเทศได้ทดลองโปรแกมใหม่ๆ ที่จะยื่นมือออกไปหากลุ่มผู้เปราะบางที่สุดในสังคมของพวกเขา เช่น Bolsa Familia ในบราซิล ที่ใช้วิธีโอนเงินอย่างมีเงื่อนไข   ในอินเดีย มีโครงการจ้างงานในชนบทที่ยังผลให้มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในท้องถิ่น   ในอาฟริกาใต้ มีระบบจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงวัยทั่วหน้า รวมทั้งเงินทุนสำหรับเด็ก เหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดภาวะยากจน   รวมทั้งโปรแกมความช่วยเหลือทางสังคม dibao และเงินบำนาญในชนบทของจีน   แนวทางใหม่ๆเหล่านี้ และการดำเนินการได้เป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับทั้งประเทศในเศรษฐกิจใหม่และ OECD ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น