วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเมืองพลิกโฉม...สู่สังคมเป็นธรรม

สตรีนิยมในฐานะการเมืองพลิกโฉม: สู่ความเป็นไปได้ของโลกใหม่

Feminism as Transformational Politics: Towards possibilities for another world
Peggy Antrobus
development. Copyright © 2002 Society for International Development. SAGE Publications
(London, Thousand Oaks, CA and New Delhi), 1011-6370 (200206) 45:2; 46–52; 024387

www.palgrave-journals.com/development/journal/v45/n2/pdf/1110349a.pdf


บทคัดย่อ

ผู้เขียนแย้งว่า การโจมตีเมื่อ 11 กันยายน และการตอบโต้ ได้เผยความเชื่อมโยงระหว่างลัทธิการทหาร ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิยึดติดศาสนาสุดโต่ง (militarism, terrorism, religious extremism) ว่าล้วนเป็นรูปแบบสุดโต่งของระบบปิตาธิปไตย การข่มเหงชีวิตของผู้หญิงและการคุกคามความมั่นคงของทุกๆ คนเมื่อสิทธิมนุษยธรรมของผู้หญิงถูกปฏิเสธ   เธอสาธยายถึงความสามารถของพวกเราในการเข้าใจความเชื่อมโยงของระบบเหล่านี้ และการลุกขึ้นท้าทายระบบและความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดความอยุติธรรมและความรุนแรง อันเป็นใจกลางของวิกฤตของพวกเรา  นี่จะเป็นปัจจัยที่จะตัดสินว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นตัวตนของพวกเราที่กำลังก้าวไปข้างหน้า  สำหรับผู้เขียน โลกใบใหม่จะเป็นไปได้ต่อเมื่อพวกเราเผชิญหน้ากับรากเหง้าระบบปิตาธิปไตยในวิกฤตทุกวันนี้


ผลจาก 11 กันยายน

โลกใบใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ... ถ้าเพียงแต่พวกเราจะแก้ไขปัญหาของความใจแคบและความอยุติธรรม ที่เป็นตัวก่อหวอดวิกฤตที่ระบาดไปทั่วโลกทุกวันนี้   วิกฤตการณ์ทั้งหลายมีการตกลงกันในระดับสูง  อันที่จริงพวกมันมีอะไรที่เราคุ้นเคยเสมือนบทสวดมนตร์ : การขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน  ช่องว่างภายในและระหว่างประเทศ และการแพร่กระจายความยากจน  การเพิ่มความรุนแรงในทุกๆ ระดับ  การแพร่ระบาดของลัทธิคลั่งศาสนา และการโจมตีสิทธิของผู้หญิง  โรคเอชไอวี/เอดส์  ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง   ปรากฏการณ์เหล่านี้มีความชัดเจนอยู่แล้วก่อน 11 ก.ย.  การโจมตีที่พุ่งเป้ามาที่สหรัฐฯ และการโต้ตอบที่นำโดยสหรัฐฯ เพียงแค่ทำให้สถานการณ์ทรุดตัวเลวลง ในขณะที่เบนความสนใจและบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร

แต่การโจมตีและการโต้ตอบของสหรัฐฯ และหุ้นส่วน ก็ได้เปิดเผยความเชื่อมโยงที่เป็นหัวใจของวิกฤตของพวกเรา  ซึ่งรวมถึงจุดเชื่อมระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อควบคุมทรัพยากร และแสนยานุภาพของกองทัพที่มีอำนาจเหนือกว่าในการต่อสู้  รวมถึงการใช้ขบวนการก่อการร้าย ให้เป็นหนทางสู่เป้าหมายทางการเมืองและการทหาร    แล้วยังมีจุดเชื่อมระหว่างขบวนการก่อการร้ายกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ในการควบคุมประชาชน ทำให้พวกเขายอมเข้าร่วมง่ายๆ ในขบวนการเมืองนี้  สุดท้าย คือ จุดเชื่อมระหว่างลัทธิคลั่งศาสนากับการควบคุมผู้หญิง   การยึดมั่นถือมั่นในทุกๆ ศาสนาล้วนแสดงออกมาในรูปชายเป็นใหญ่อย่างสุดโต่ง  และจากประสบการณ์ของอาฟกานิสถานภายใต้ตาลิบาน ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อไรชีวิตของผู้หญิงถูกคุกคาม ทุกๆ คนจะต้องได้รับความทุกข์ร้อน  เมื่อไรที่ผู้ชายปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ของผู้ชายเองก็หดหายไปด้วย  และก็สามารถกระทำสิ่งที่โหดเหี้ยม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ตัวเร่งปฏิกิริยาเพี่อการเปลี่ยนแปลง

การแสดงออกถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสหรัฐฯ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น ทันทีหลังจากถูกโจมตี ได้เปิดโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับการปลุกจิตสำนึกเพื่อนำไปสู่ทางเลือก การสร้างโลกใหม่ที่ความรักพูดดังกว่าความเกลียดชัง  ที่ความเมตตากรุณาพูดดังกว่าความโกรธ  ที่สันติพูดดังกว่าความรุนแรง และที่การให้อภัยพูดดังกว่าการแก้แค้น (Fox, 2001: 25).

ทางเลือกคือ การจมปลักอยู่ในความอยุติธรรมและความใจแคบ   กระโจนไปข้างหน้าสู่อนาคตแห่งความหวังสำหรับผู้ที่ห่วงใยต่อการลุกโหมของความรุนแรง  ความยากจนที่อยู่ยงคงกระพัน และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง  หรือกระโดดถอยหลังกลับลงไปในห้วงเหวของความรุนแรงและการล้างแค้น   นี่เป็นโอกาสที่จะขยับฐานทำความเข้าใจกับสาเหตุที่แท้จริง ที่อยู่เบื้องหลังการจู่โจม การเดียดฉันท์เชื้อชาติ ความเลยเถิดของลัทธิทุนนิยม และการกดขี่ทางเพศ และหาทางกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้   โชคไม่ดี แทนที่จะเลือกเดินเส้นทางสู่สันติ  การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  (รัฐบาลสหรัฐฯ และหลายประเทศ) กลับกลายเป็นพันธมิตรเพื่อทำสงครามกับขบวนการก่อการร้าย ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง ที่เป็นลางส่อให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือ และการกัดเซาะความก้าวหน้าสู่สันติ

ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้

ในอีกแง่หนึ่ง สหรัฐฯ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้เผ็ด และด้วยหนทางนี้ จึงจะได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากทั้งพลเมืองส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และจากทั่วโลก   ในที่สุด เป็นความจริงที่ว่า พวกเรายังอยู่ในโลกปิตาธิปไตย ที่ความเป็นชายชาตรี เป็นตัวกำหนดสมรรถนะด้วยการสำแดงแสนยานุภาพตอบโต้เมื่อถูกจู่โจม:  ประเทศที่มีอำนาจสูงสุดในโลกปิตาธิปไตย ไม่มีทางเลือกอื่นในการแสดงตนว่าปกป้องพลเมืองของตนเองได้   กรอบคิดสำแดงแสนยานุภาพปกป้องความมั่นคงนี้ ไม่มีการคำนึงถึงความเสี่ยงที่ว่า การโต้ตอบนั้น จะทำให้พวกเราทั้งหมด (ไม่เฉพาะพลเมืองอเมริกัน แต่รวมถึงประชาชนทั่วโลก) ต้องเผชิญหน้ากับอันตรายของความรุนแรงทวีคูณ และจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น   หากมีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ว่า ปิตาธิปไตยแผ่ซ่านไปทั่วโลกของเราแล้วไซร้  นี่แหละ ใช่เลย!   ไม่มีใครที่เพ่งดูรูปภาพของผู้นำโลกทุกวันนี้ จะไม่สังเกตเห็นว่า ไม่มีผู้หญิงร่วมอยู่ด้วย   การที่ไม่มีผู้หญิงปรากฏเป็นตัวตนในภาพหมู่ผู้นำ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ยังรวมถึงการไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นห่วงใยของผู้หญิง เพราะระบบและปทัสถานมีความลำเอียงทางเพศ  นี่เป็นความจริงสำหรับโลกที่ไม่นับถือศาสนาอิสลามด้วย

โลกใหม่เป็นไปได้...แต่จะเป็นไปได้ต่อเมื่อหญิงและชายเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมขั้นพื้นฐานของระบบที่ให้อภิสิทธิ์แก่ประสบการณ์ด้านเดียวของมนุษยชาติ และเป็นด้านที่แสวงหาการมีอำนาจครอบงำและการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มันปรุงแต่งว่าเป็น ฝ่ายอื่น ไม่ว่าความเป็นอื่นนี้ จะแบ่งด้วย ชนชั้น ความฝักใฝ่ทางการเมือง เชื้อชาติ ชนชาติ ศาสนา ประเทศ หรือ เพศสภาพ/เจนเดอร์   ระบบนั้น คือ ปิตาธิปไตย และมันได้ลักล้วงมนุษยธรรมจากผู้ชาย พอๆ กับที่มันลักล้วงความเป็นตัวตน เป็นผู้ขับเคลื่อน (agency) จากผู้หญิง

แล้วเราจะทำอย่างไรให้ไปสู่โลกใหม่ได้?  ในที่สุด มันเป็นคำถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำ ในทุกระดับ ในกลไกของรัฐ และภายในองค์กรประชาสังคม

ภาวะผู้นำแบบไหน?

จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อเสริมความเข้มแข็งในความดีงามของมนุษย์?  ศักดิ์ศรี/ความซื่อสัตย์ และความตั้งใจดีพอไหม?  ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติและธนาคารโลก และผู้นำทางการเมืองและธุรกิจ ล้วนพร่ำพูดภาษาของความเป็นธรรมในสังคม (รวมทั้งความเท่าเทียมทางเพศ) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วม   แต่พอถึงเวลาลงมือทำ กลับกลายเป็นอื่น   ปัญหาส่วนหนึ่ง คือ ไม่มีกลไกติดตาม ควบคุม เชิงโครงสร้างของการปฏิบัติการให้ทำตามที่พูด ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

เราต้องการมากกว่าความซื่อสัตย์/ศักดิ์ศรี และความตั้งใจดีในตัวผู้นำของพวกเรา  เราต้องการผู้นำที่ยอมรับรู้ถึงความซับซ้อนของภารกิจ  จุดเชื่อมระหว่างระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม (รวมทั้งระบบเลือกปฏิบัติและอคติทางเพศที่แผ่ซ่านไปทั่ว)  และความจำเป็นที่จะต้องแก้ไของค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่แบบแยกส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่หลายๆ ภาคส่วนและหลายๆบุคลากร รัฐบาล และภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และองค์กรศาสนา ทุกหน่วยจะต้องร่วมปฏิบัติการในกรอบของสิทธิมนุษยชนที่แบ่งแยกไม่ได้ และเป็นสากล (รวมทั้งสิทธิสตรี)  แต่จะต้องมีการวิเคราะห์ที่มากกว่าดูดี

ในบทความ เอ็นจีโอ การเปลี่ยนแปลงของสังคม และการแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ของมนุษย์: วาระพลเมืองในศตวรรษที่ 21 (‘NGOs, Social Change and the Transformation of Human Relationships: A 21st Century Civic Agenda’) Michael Edwards และ Gita กับ Chiranjib Sen สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคม จะต้องมีการยอมรับ และตั้งใจผนวกรวม ฐานสามประการเพื่อการเปลี่ยนแปลง: “ระบบค่านิยม  กระบวนการเชิงสถาบัน และสภาวะจิตใจ และระบบอำนาจสามประการ: อำนาจทางเศรษฐกิจ ที่แสดงออกในรูปของการกระจายสินทรัพย์เพื่อการผลิตและการทำงานของระบบตลาดและบริษัท   อำนาจทางสังคม ที่แสดงออกในสถานภาพและตำแหน่งที่ให้เป็นรางวัลแก่กลุ่มสังคมต่างๆ  และอำนาจทางการเมือง ที่นิยามโดยเสียงของแต่ละบุคคลในการตัดสินใจ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในกิจสาธารณะ ... ทั้งหมดนี้รวมกัน ทำให้เกิด ระเบียบของสังคม” (‘social order’) (Edwards, Sen and Sen, 2000).

ตามความเห็นนี้ ความล้มเหลวของพวกเราในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมตามที่พวกเราบอกว่าพวกเราต้องการนั้น คงมาจากความล้มเหลวของพวกเราในการแก้ไขมิติทั้งหมดนี้  ประการแรก ตามที่ผู้เขียนกล่าว มีไม่กี่ระบบทฤษฎี ที่กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องผนวกรวมดังกล่าว  และสถาบันยิ่งน้อยกว่าที่ใช้มันเป็นกรอบคิดหรือแนวปฏิบัติ   ประการที่สอง ในขณะที่ตอนนี้มีความเข้าใจค่อนข้างดีถึงวิธีการที่อำนาจเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมกันออกมาเป็นระเบียบสังคม  ก็ยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงระเบียบดังกล่าว  บทความนั้นตั้งชื่อมันว่า ระเบียบสังคมที่อุบัติขึ้นภายใต้โลกาภิวัตน์ของลัทธิทุนนิยม ซึ่งเป็นตัวการที่เบียดแยก หรือกดขี่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจที่มั่งคั่งด้วยแรงงาน และกลุ่มคนที่มีโอกาสน้อยกว่าในการเข้าถึงทักษะและการศึกษา ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ใด

ประการที่สาม และสำคัญมากที่สุด ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า ฐานที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุดสามฐานของการเปลี่ยนแปลงสังคม คือ การเปลี่ยนแปลงในระดับจิตใจ การแปรเปลี่ยนส่วนบุคคลจะต้องเกิดขึ้นก่อนในตัวผู้นำของพวกเรา ในทุกระดับ การเมือง ธุรกิจ ศาสนา และภายในภาคประชาสังคม เพื่อให้โลกใหม่เกิดขึ้นได้จริง

ภาวะผู้นำที่แปรเปลี่ยน/พลิกโฉม (Transformational leadership)

ภาวะผู้นำที่พลิกเปลี่ยนมักจะถูกเทียบว่าเป็นภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม และจริยธรรมก็มักจะพัวพันกับศาสนา หรือกับการรณรงค์รอบๆ สิทธิมนุษยชน  แต่ อย่างที่นักเทววิทยาสตรีนิยม นักสิทธิมนุษยชน และนักจริยธรรมได้ชี้ให้เห็น   กรอบคิดจริยธรรมตามประเพณีนิยม เหมือนกับทุกสิ่งในโลกที่เป็นปิตาธิปไตย ถูกปรุงแต่งโดยมุมมองของชาย และละทิ้งประสบการณ์ของผู้หญิงเป็นพิเศษ    ความขัดแย้งในตัวเองที่ตามมาติดๆ จะเห็นได้ชัดสำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะเห็น   ความขัดแย้งในตัวระหว่างหลักการในแถลงการณ์ และการปฏิบัติต่อผู้หญิง เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด   ไม่เพียงแต่จะไม่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้นำในศาสนาหลักทั้งหลายของโลก แต่ศาสนาเหล่านี้ มีแนวโน้มไปทางอนุรักษ์นิยมสุดขั้วในการปรุงแต่งผู้หญิงให้เป็น ฝ่ายอื่น

โลกใหม่จะเป็นไปได้ ถ้าเราเผชิญหน้ากับรากเหง้าปิตาธิปไตยในวิกฤตการณ์ปัจจุบันของพวกเรา   ในขณะที่ นี่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับสาขาวิชาที่กว้างขวางกว่าที่จะอยู่ภายใต้สาขาสังคมศาสตร์  ฉันคิดว่า สังคมศาสตร์จะช่วยเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและรัฐปิตาธิปไตย และระหว่างโลกาภิวัตน์และการแพร่ระบาดของลัทธิยึดมั่นถือมั่นศาสนาสุดโต่ง (religious
fundamentalism)

ภาวะผู้นำสตรีนิยมที่พลิกเปลี่ยน  (Transformational feminist leadership)

แต่ก่อน ฉันมองเห็นไม่ชัดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีภาวะผู้นำสตรีนิยม เพื่อนำทางพวกเราให้ออกจากวิกฤต จนกระทั่งหลังจากการจู่โจม และมีการจัดกระบวนทัพเพื่อโต้ตอบ  จุดเชื่อมระหว่างปิตาธิปไตยและสงคราม และความแตกต่างระหว่างชายหญิงในการตอบสนองต่อความมั่นคง ล้วนเด่นชัดจนฉันครุ่นคิดว่า ขบวนการสตรีน่าจะมีอะไรพูดออกมามั่ง และลงมือทำอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์เช่นนั้น  ในขณะที่ฉันตรึกคิดใคร่ครวญเรื่องนี้อยู่ เพื่อนคนหนึ่งของฉันชักจูงให้ฉันเกิดความสนใจในหนังสือ คู่รักปีศาจ” (The Demon Lover) ซึ่งตอนนี้ได้มีการพิมพ์ซ้ำ ด้วยบทเกริ่นนำหลังจาก 11 ก.ย. และปัจฉิมพจน์ เกี่ยวกับ แกนเชื่อมระหว่างสังคมปิตาธิปไตยและลัทธิก่อการร้ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (‘core connection between patriarchal societies and the inevitability of terrorism’) ในบทเกริ่นนำในปี 1989 ของเธอ  Robin Morgan เขียนถึงความรู้สึกเดียวกัน

นอกเสียจากว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ส่วนใหญ่ ที่ผู้หญิงเป็นองค์ประกอบหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่ต้องมีชีวิตอยู่ทุกวัน ทุกคืน ภายใต้ความกลัว การก่อการร้ายที่แสนจะโบราณและมีอยู่ทุกหนแห่ง ที่เรียกว่า อารยธรรม นอกเสียจากว่า จะมีหมู่คนระลอกมหาศาลผู้มีความชำนาญในเรื่องประสบการณ์ของคนธรรมดาๆ ออกมาแก้ไขและมีส่วนร่วมในประเด็นนี้  ปัญหานี้จะไม่มีทางถูกเข้าใจ อย่าว่าแต่แก้ไข (Morgan, 2001: 18)

อันที่จริง ผู้หญิง-- บางทีกระทำแบบปัจเจก และบางทีก็ผ่านองค์กรในประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ และอังกฤษ -- ได้กระทำการริเริ่มหลายอย่าง จากการเขียนบทความเพื่อปลุกจิตสำนึก จนถึงการจัดกระบวนยื่นจดหมาย/แถลงการณ์คัดค้านสงคราม  จากการอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จนถึงการยื่นมือออกไปแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้หญิงลี้ภัยจากอาฟกานิสถาน  และองค์กรสตรีและ UNIFEM ต่างได้ช่วยกันทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างหลักประกันว่าสหประชาชาติจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการบูรณะประเทศหลังระบอบตาลิบาน  รวมทั้งช่วยจัดการประชุมเพื่อให้ผู้นำและประชาคมโลกได้ยินเสียงของผู้หญิงอาฟกานิสถาน

ฉันไม่ได้พูดถึงผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำทางการ  อันที่จริง ผู้นำหญิงทางการเหล่านี้ น้อยคนที่บริหารอำนาจอย่างผู้หญิง  ในทางตรงข้าม เพราะพวกเธอสามารถทำตัวให้เหมาะเจาะกับต้นแบบของผู้นำชาย จึงทำให้พวกเธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำทางการดังกล่าวได้  พวกเธอไม่ได้เป็นตัวแทนของการท้าทายโครงสร้างอำนาจ  พวกเธอจะถูกไว้วางใจต่อเมื่อพวกเธอเล่นเกมตามกฎที่ได้วางไว้แล้ว  ว่าจะไม่เอาเท้าราน้ำ หรือก่อกวนให้น้ำขุ่น   ผู้นำหญิงที่อยู่ในตำแหน่งทางการทุกวันนี้ ไม่สามารถจะริเริ่มการคัดค้าต่อต้านการใช้กำลังทหาร  ผู้หญิงสองคนในอเมริกาเหนือได้ทำเช่นนั้น  คนหนึ่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และอีกคนอยู่ในแคนาดา แล้วพวกเธอก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศ  พวกเธอจะต้องการแรงสนับสนุนอย่างมากจากผู้ที่ต่อต้านสงครามปราบปรามขบวนการก่อการร้าย ในขณะที่การก่อการร้ายได้ลุกโหมขึ้นด้วยการประกาศสงครามในอาฟกานิสถาน

เราต้องการภาวะผู้นำของผู้หญิง เพราะว่าวิกฤตที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่นี้ เกี่ยวพันกับระบบปิตาธิปไตยและระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงชาย ที่ทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงและยืนยงของระบบปิตาธิปไตย ระบบที่ให้อภิสิทธิ์แก่ชายและค่านิยมทั้งมวลที่เกี่ยวกับอภิสิทธิ์ของเพศชาย  : การลดคุณค่าของทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับเพศหญิง การอาทรดูแล ความเมตตากรุณา ความร่วมมือ ความอ่อนโยน   พวกเราต้องการภาวะผู้นำสำหรับกรอบคิด (paradigm) ที่มีต้นแบบของความเนแม่ ผู้มีใจเอื้อเฟื้อให้เวลาของเธออย่างไม่คิดค่าเวลา: ให้เป็นของขวัญมากกว่าเศรษฐกิจของการแลกเปลี่ยน   ปิตาธิปไตย ที่สะท้อนออกมาในโครงสร้างและสถาบันทั้งปวงในโลกของพวกเรานี้ เป็นระบบที่ยกย่องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น การควบคุม ความรุนแรง การแข่งขัน และความโลภ   มันได้พรากความเป็นมนุษย์จากชาย มากพอๆกับการไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของหญิง  ดังนั้น เราต้องการภาวะผู้นำที่สำรวจและเปิดโปงจุดเชื่อมโยงและท้าทายปิตาธิปไตย   ภาวะผู้นำหนึ่งเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ คือ ภาวะผู้นำแนวสตรีนิยม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  ฉันได้ตรึกตรองถึงภาวะผู้นำของผู้หญิงที่จะช่วยแปรโฉมสังคมสู่โลกที่เงินตราไม่ได้เป็นตัวกำหนดค่าหรือเป็นกติกาของการอยู่รอด   ที่ซึ่งประเภทหรือกระบวนการพยาธิ์และความเกลียดชัง เหยียดผิว แยกชนชั้น สูงวัย พิการ ใจแคบ หวาดระแวงคนอื่น  เกลียดชังคนรักร่วมเพศ จะถูกจัดให้เป็นเรื่องน่าอับอายของยุคอดีต   ที่ๆ ซึ่งสงครามถูกจัดว่าเป็นการแสดงออกอาการที่ไม่จำเป็นของปิตาธิปไตย ที่ต้องการแสดงอำนาจข่มด้วยการสำแดงพิธีกรรมสังหารที่ใช้ยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับอวัยวะเพศของชาย  ปืนและขีปนาวุธ ที่ทวีจำนวนมากขึ้น  ที่ๆ คนโรคจิตของปิตาธิปไตยจะได้รับการยอมรับ ดูแล และเยียวยา แต่ไม่ยอมรับว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นปทัสถานของคนปกติ

คำจำกัดความของฉันสำหรับภาวะผู้นำแปรโฉมของผู้หญิง คือ ผู้นำสตรีนิยมที่มีอารมณ์ผูกพันกับความยุติธรรม ปณิธานที่จะเปลี่ยนแปลง โดยการเริ่มต้นจากตัวเอง  ทุกๆ ส่วนล้วนมีความสำคัญ  แล้วทำไมจึงต้องเป็นสตรีนิยม?  การแปรโฉมเป็นคำกลางๆ  มันไม่มีความหมายถ้าเราไม่บอกว่าเราต้องการจะแปรเปลี่ยนอะไร   ในการทำเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์  เพื่อท้าทายระบบปิตาธิปไตย มันต้องเป็นการวิเคราะห์แนวสตรีนิยม  -- การวิเคราะห์อำนาจเพศชายที่เชื่อมโยงกับรูปแบบอื่นๆ ในการกดขี่

ทำไมต้องมีอารมณ์ผูกพันกับความยุติธรรม?  ภาวะผู้นำจะต้องยึดถือความยุติธรรมของสังคมเป็นชีวิตจิตใจ และจะต้องเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมสังคมใดที่ปราศจากความยุติธรรมสำหรับผู้หญิง   ทำไมต้องมีปณิธานจะเปลี่ยนแปลงสังคม?  เพราะว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่รู้สึกอย่างแรงกับความยุติธรรมในสังคม แต่ปราศจากความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงมัน  แล้วทำไมจึงต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง?  เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรโฉมสังคม: สิ่งเดียวที่เราจะควบคุม บังคับได้ คือ ตัวของเราเอง  เพราะว่าการทำงานเพื่อความยุติธรรมในสังคม เต็มไปด้วยความเสี่ยง และเพราะว่า เราจะสามารถทำงานนี้ได้ ต่อเมื่อเราค้นพบแหล่งพลังภายในตัวของเราเอง ที่ไม่ต้องพึ่งพิงการอนุมัติจากผู้อื่น พลังภายในที่ไม่มีอำนาจภายนอกใดๆ จะฉกฉวยไปได้

ทำไมต้องเป็นนักสตรีนิยม?

ในพื้นที่สาธารณะ อุดมการณ์เจนเดอร์ถูกผลิตออกมา ผลิตซ้ำ และตอกย้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง ผ่านสถาบันเช่น ศาสนจักร โรงเรียน รัฐ ระบบยุติธรรม สื่อ และตลาด  แต่จุดเริ่มต้นในกระบวนการกล่อมเกลาฝังหัว อยู่ในครัวเรือน   ณ ที่นี้ มีโครงข่ายของขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรม กฎหมาย และสถาบันที่ปรุงแต่งให้เพศหญิงสมยอมเป็นเบี้ยล่างของเพศชาย และจารึกความรับผิดชอบฃของเธอให้เป็นการผลิตซ้ำความเป็นเบี้ยล่างของเธอ และความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตรระหว่างชายและหญิงภายในครอบครัว   ผู้หญิงเป็นคนวางพื้นฐานของระบบการควบคุมของปิตาธิปไตยในพื้นที่ส่วนตัวโดยอาศัยประสบการณ์จากการมีปฏิสัมพันธ์แต่แรกเริ่มกับคนใกล้ชิดเพศชายและลูกๆ

อุดมการณ์เจนเดอร์ทำให้ผู้หญิงเป็นผู้แบกวัฒนธรรมที่ยกย่องชายว่าเป็นเพศที่เหนือกว่าและสมควรมีอภิสิทธิ์  และผู้หญิง -- ด้วยการยอมรับอุดมการณ์ที่ปลูกฝังบ่มเพาะความเชื่อที่ว่า พวกเธอจำเป็นต้องพึ่งผู้ชายในฐานะคู่รักและพ่อของลูกๆ ของตน  ในฐานะผู้หาเลี้ยงและผู้ปกป้อง ก็ถูกลงทุนอย่างหนักในด้านนี้   ผู้หญิงลังเลที่จะกระทำกิจใดๆ เพื่อตนเอง เพราะพวกเธอไม่ทำอะไรที่จะคุกคามความปลอดภัย ความมั่นคง และสวัสดิภาพของลูกเด็กเล็กแดง หรือครอบครัวของพวกเธอ  ศาสนจักรและสถาบันอื่นๆ ในสังคมตอกย้ำ (แนวโน้มสัญชาติญาณ) นี้ของผู้หญิงด้วยอุดมการณ์ แม่ที่ดี

การขูดรีดเอาเปรียบจากเวลา แรงงานและวิถีเพศของผู้หญิง เป็นพื้นฐานของความอยู่ยงคงกระพันของระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ครอบงำพวกเราอยู่  ยกตัวอย่าง เพราะผู้หญิงถูกปลูกฝังให้ทำงานบ้าน และดูแลคนในครอบครัว  รัฐสามารถผลักภาระความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพและโภชนาการของครอบครัวไปที่ครัวเรือน ที่ๆ แรงงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ  ในทำนองเดียวกัน ตลาดตักตวงผลประโยชน์จากหญิงยากจนผู้ต้องดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อหารายได้ และต่อสู้กับอุปสรรคที่ว่า เพศชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว จึงจ่ายค่าแรงต่ำสุดให้พวกเธอ และปฏิบัติต่อพวกเธอดั่งเป็นกองทัพหลังสำรอง  สุดท้าย รัฐ ตลาด และประชาสังคม รวมกันช่วยกันบงการควบคุมเพศวิถีของผู้หญิง ความสัมพันธ์ของพวกเธอกับผู้ชาย เด็ก และหญิงอื่นๆ ภาพลักษณ์ของตนเอง เพื่อให้รับใช้อุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่

ในสองสามปีที่ผ่านมา นักวิชาการสตรีนิยมได้เริ่มต้นสำรวจและเปิดเผยจุดเชื่อมโยงระหว่างการกดขี่ผู้หญิง กับกระแสพลังที่ธำรงการเบียดขับและกดขี่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม (แม้แต่ประเทศและทวีปโดยรวมทั้งหมด)

นักสตรีนิยมได้ยืนอยู่แถวหน้าในการวิพากษ์วิจารณ์วิกฤตการณ์ของการเจริญพันธุ์ และสิ่งแวดล้อมจากมุมมองของผู้หญิง   นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะผู้หญิงยืนอยู่บนทางแยกระหว่างการผลิตและการผลิตซ้ำ หรือ การเจริญ/สืบทอดเผ่าพันธุ์  กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจและการดูแลมนุษยชาติ นั่นคือ ระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามนุษย์  พวกเธอเป็นคนงานในพื้นที่ทั้งสอง เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุด  ดังนั้น ผู้หญิงจึงมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด  เป็นผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุดเมื่องานทั้งสองด้านทำผิดวัตถุประสงค์  และเป็นผู้ที่อ่อนไหวต่อความจำเป็นที่จะผนวกรวมทั้งสองกิจกรรมให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น (DAWN, 1995:21).  การรวมผลงานทางวิชาการของนักสตรีนิยมและกิจกรรมรณรงค์เชิงสตรีนิยม ได้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่การขับเคลื่อนของขบวนการสตรีให้เป็นกระแสพลังทางการเมือง อันมีวาระเพื่อพลิกโฉมของสังคม ที่ไปไกลกว่าการเน้นถึงเรื่องสวัสดิภาพของผู้หญิง ไปเป็นการสอดส่องตรวจตรา หาทางแก้ไขทุกๆ ด้านของชีวิตโดยผ่านมุมมองของผู้หญิง

ถึงกระนั้น มีหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขก่อนที่สตรีนิยมจะได้เป็นการเมืองพลิกโฉมที่มีประสิทธิภาพได้  หากล้มเหลวในการแก้ไขประเด็นเช่น ความหลากหลายในขบวนการสตรี (ชนชั้น เชื้อชาติและชนชาติ  อายุ  ความผูกพันเชิงการเมือง สถาบัน และภูมิศาสตร์ เพศวิถี ทางเลือกยุทธศาสตร์ ฯลฯ) และความสัมพันธ์ของหญิงต่อชาย การเพรียกหาภาวะผู้นำของผู้หญิงก็คงจะไร้ความหมาย ในโครงการพลิกโฉมสังคมที่มีระบบและความสัมพันธ์ที่ เพียรกักให้คนดีที่สุดอยู่ชายขอบ” (‘keep the best at bay’)

การแปรเปลี่ยนตัวเอง (Personal transformation)

แม้ว่าพวกเราจะแก้ไขประเด็นดังกล่าวได้ และแม้ว่านักวิชาการสตรีนิยมที่กระจายอยู่ในสาขาวิชาต่างๆ จะเดินเข้าหากันและใกล้ชิดกันขึ้น เพื่อถอดรหัสที่จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปิตาธิปไตย ระบบเจนเดอร์ที่มันส่งเสริม และปัญหาสำคัญๆ ที่โลกของเราต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้  ความจริงที่ว่ายังไม่มีอะไรเลยที่ออกมาจากการวิเคราะห์และการค้นพบเหล่านี้ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือหันเหทิศทางครั้งสำคัญในระดับสถาบัน  นี่เป็นหลักฐานที่ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของปิตาธิปไตย แต่ยังรวมถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ และความไม่แน่ใจของผู้หญิงที่จะเปลี่ยนมัน  นี่จึงเป็นจุดที่ประเด็นการแปรเปลี่ยนส่วนบุคคล เป็นหัวใจของภาวะผู้นำของผู้หญิง

ที่สุดของที่สุด ความสามารถของผู้หญิงในการท้าทายและเปลี่ยนแปลงระบบและความสัมพันธ์ที่ กักคนที่ดีที่สุดให้อยู่ชายขอบ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของพวกเธอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และความสัมพันธ์ของพวกเธอต่อตนเอง และต่อผู้อื่น  พวกเราเหล่าผู้หญิง จะต้องหาจุดลงตัวกับพลังของพวกเราเอง และอาศัยพลังจากภายในตัวของพวกเราเองในการขับเคลื่อน

ปฏิบัติการสตรีนิยมยังไม่ได้ถึงขั้นผลิตปรัชญาที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเผชิญหน้ากับกระแสพลังอำนาจอันมหาศาล ที่ถาโถมเข้ามา โดยไม่ทำให้ตัวเองต้องตกอยู่ในอันตราย หรือให้หนทางที่ผู้หญิงจะสามารถทนรับมือกับกระแสเหล่านี้วันต่อวัน   แม้กระนั้น ผู้หญิงได้รับมือกับมันด้วยความรู้สึกซับซ้อน ขัดแย้งในตัวเอง และต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในตัวพวกเธอ และในโลกรอบๆ ตัวพวกเธอ   ผู้ที่ไปใกล้จุดนี้ ดูเหมือนจะแสดงออกด้วยจิตสำนึกลึกล้ำภายในจนเสมือนเป็นสื่อเชื่อมทางจิตวิญญาณกับพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าพวกเธอ  พวกเธอได้รับพลังเชิงจิตวิญญาณจากภายในตัวของพวกเธอเอง และด้วยการเชื่อมต่อใช้พลังที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวตนของพวกเธอ

มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณในขบวนการสตรีที่เป็นเรื่องทางโลก  การเอ่ยคำว่า จิตวิญญาณ เป็นเหมือนการร่ายมนตร์เรียก ศาสนา เชิงสถาบัน ที่มักจะกดขี่และถอนพลังอำนาจจากผู้หญิง   แน่นอน เหล่าอนุรักษ์นิยมที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งในศาสนา ที่อยู่เบื้องหลังการจู่โจมสหรัฐฯ และจู่โจมผู้หญิงในประเทศมุสลิม และในหมู่ชาวคริสเตียนก็เช่นเดียวกัน เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตรงข้ามกับการเกื้อกูลและเคารพต่อกันอย่างที่พวกเรากำลังแสวงหา   ในขณะเดียวกัน แม้ว่าสถาบันของศาสนจักรจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้หญิงหลายคน

คนทั่วไปก็เห็นจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้คนตีตัวออกห่างจากเรื่องทางโลก  นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการที่นี่เช่นกัน ถ้าเรากำลังพูดเรื่องการแปรโฉมสังคมสู่การสรรสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น  ภาวะผู้นำที่ต้องการทุกวันนี้ คือ ภาวะผู้นำที่หยั่งรากอยู่บน จิตสำนึกของความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ (Baha’i
statement delivered at the Beijing Conference, 1995)   รากฐานที่จำเป็นยิ่งสำหรับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการเยียวยาบาดแผลของโลกที่ถูกกรีดแยกโดยความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ลงรอยกัน

การหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณที่อยู่ภายในตัวพวกเราแต่ละคน จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่การขับเคลื่อนของพวกเราในหลายๆ ทาง  มันจะช่วยให้พวกเราแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ในด้านความสัมพันธ์ภายในขบวนการสตรี :  ความตึงเครียด  ความคิดหยุมหยิมใจแคบ  การแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้หญิง ที่งอกมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย และการดูถูกตัวเอง จากการแข่งขันชิงดีกับผู้ชาย และแย่งชิงทรัพยากรที่มีจำกัด  ปัจัยทั้งหลายแหล่ที่นำไปสู่คำพูดทั่วไปที่ว่า ผู้หญิงนั่นแหละที่เป็นศัตรูตัวยงของผู้หญิงด้วยกันเอง

กระบวนการเติบโตงอกงามของจิตวิญญาณยังช่วยพวกเราให้ตัดทิ้งความต้องการที่จะควบคุมคนอื่นได้ ให้ยอมรับว่า คนๆ เดียวที่เราสามารถควบคุมได้คือตัวของเราเอง และวิธีการตอบสนองของตัวเราต่อสถานการณ์หนึ่งๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ พวกเราหลายคนรู้ว่า ถ้างานของพวกเราไม่ได้หยั่งรากอยู่บนจิตวิญญาณของการตื่นรู้ (สติปัญญา?) ภายในตัวของแต่ละคนแล้ว พวกเราจะไม่สามารถขยับเคลื่อนต่อไปได้  ผู้ที่ทำงานเพื่อธำรงความเป็นธรรมในสังคมสำหรับผู้หญิง ต้องเสี่ยงต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบของการบิดเบือน ดูหมิ่น ใส่ร้าย และแม้แต่สูญเสียครอบครัว เพื่อนฝูง และวิถีชีวิต   บางคนต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง  พวกเราต้องค้นหาพลังจากภายในตัวเอง อันเป็นแหล่งพลังที่ไม่มีใครจะสามารถฉกฉวยไปได้ ที่ไม่สามารถทำลายโดยอำนาจใดๆ จากภายนอก

สรุป

นิทานเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แน่นอน ย่อมขึ้นอยู่กับว่า เราจะจัดการฝ่ายอื่นอย่างไร   เริ่มต้นจากต้นแบบพื้นฐานของความเป็นฝ่ายอื่น  คำนิยามของปิตาธิปไตยที่มองผู้หญิงว่าเป็นฝ่ายอื่น และใช้แว่นนี้ ปฏิเสธความเป็นมนุษย์เต็มตัวของพวกเรา    จะต้องมีการยอมรับสิทธิมนุษยชนสากลที่แบ่งแยกไม่ได้ ว่าเป็นกรอบจริยธรรมในการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาค และปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งเร้าโดยโลกาภิวัตน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง รวมทั้งประเด็นสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์  นี่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาวะผู้นำแปรโฉมของผู้หญิง สำหรับภาวะผู้นำแปรโฉมแนวสตรีนิยม
......
Dt/10-4-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น