เลดี้กาก้า พบบัน คี-มูน
เวนดี้ ฮาร์คอร์ท
Editorial: Lady Gaga Meets Ban Ki-Moon
WENDY HARCOURT
Development, 2010, 53(2): 141–143, Society for International Development (SID) 1011-6370/10
เจนเดอร์ (gender) คืออะไร และอะไรคือ การเสริมสร้างอำนาจ (empowerment) แล้วทำไมเราต้องมาพูดถึงคำเหล่านี้ในการพัฒนา? บทความในวารสาร SID ฉบับนี้จะตรวจสอบคำทั้งสองนี้อย่างละเอียด บทความเหล่านี้เน้นว่า เจนเดอร์ มีความหมายมากกว่าเพียงแค่ผู้หญิง แต่ต้องรวมทั้งชายและคนข้ามเพศด้วย ผู้เขียนทั้งหลายแย้งว่า การเสริมอำนาจจะต้องเกินขอบเขตของโครงการที่ให้การฝึกอบรมทักษะเชิงเศรษฐกิจแก่ผู้หญิง หรือการสร้างภาวะผู้นำและให้การศึกษาแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง มันต้องรวมถึงระบบและโครงสร้างที่เกี่ยวกับเรื่องภายในตัวของเราเอง ตลอดจนการมีภาวะแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการตัดสินใจที่ empower ได้อย่างเป็นอิสระ และอย่างมีส่วนร่วมเป็นหมู่เหล่า แล้วยังเกี่ยวกับเพศวิถีและร่างกาย จากสิ่งที่เราเห็นกันชัดในขอบเขตของการพัฒนาทุกวันนี้ เราจำเป็นจะต้องเผยโฉมหน้าของประเด็นเหล่านี้ สิ่งที่เราต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการกระทำเช่นนี้ เพราะเรากลัวว่าจะมีการตัดทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับสิทธิสตรีและความเท่าเทียมระหว่างเพศมากยิ่งขึ้น
แต่แม้ว่าฉันจะเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ฉันมีความรู้สึกไม่สบายใจว่า ประเด็นที่ยกมา ยังไม่เพียงพอสำหรับการตรวจสอบอย่างละเอียด ทำไมเราจึงต้องระวังอย่างหนัก? อะไรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันนักหนาในเรื่องเจนเดอร์และการพัฒนา? อะไรที่ทุกคนกำลังหวาดกลัว?
ความรู้สึกเช่นนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อฉันเผอิญได้ดูวีดีโอ YouTube ที่เร้าอารมณ์ ชื่อ ‘Telephone’ โดย Lady Gaga กับ Beyonce ที่ได้กลายเป็นเพลงยอดนิยม ภายในไม่กี่นาทีที่ออกอากาศสู่สาธารณะ มีคนเข้าไปดูกว่าครึ่งล้าน และหลังจากหนึ่งสัปดาห์ กลายเป็นหลายล้าน วีดีโอนี้ เล่าเรื่องของนักร้อง/นักเต้นรำที่มีชื่อเสียงสองคน ที่เล่นบทเป็นฆาตกรเลสเบี้ยนเซ็กซี่ที่มีความเข้มแข็งในตัวสูง (totally empowered sexy lesbian murderers) ในบทของตัวละครจากภาพยนต์ Tarantino และเรื่อง Thelma and Louise มันเป็นวัฒนธรรมป๊อบกระแสหลักที่ใช้จินตภาพของผู้หญิงที่ก้าวร้าว เนื้อตัวเต็มไปด้วยรอยสัก เปิดเผยเรื่องเพศวิถี ความเป็นเลสเบี้ยน และใช้ไฮเทคล้ำยุค ทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในวีดีโอชุดนั้น ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังต่างๆ
จินตภาพของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจและอำนาจ (empowered women) กำลังขายดี และคนนับล้านกำลังหาเงินจากมัน แล้วทำไมเล่า ในบริบทของการพัฒนา คำว่า empowerment (การเสริมสร้างอำนาจ) ของผู้หญิงจึงว่างเปล่าในความหมายเช่นนั้น? ทำไมเหล่าผู้แทนจากชาติต่างๆ จึงนั่งงีบหลับในหอประชุมของสหประชาชาติในขณะที่รัฐบาลทั้งหลาย รายงานต่อคณะกรรมาธิการสถานภาพสตรี (Commission of the Status of Women, CSW) เกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในเรื่องสิทธิสตรี? เกิดอะไรขึ้นกับพลังและความตื่นเต้นในเรื่อง empowerment ในพื้นที่เหล่านั้น?
วารสาร SID ฉบับนี้ ได้ชักชวนผู้หญิงหลายคน ผู้ชายและผู้ข้ามเพศบางคนให้มาร่วมทำความเข้าใจว่า ทำไมกรอบคิดของ empowerment จึงกลายเป็นกล่องว่างเปล่าและหมดพลังเชิงการเมืองในการพัฒนา การอภิปรายดูที่เจนเดอร์และ empowerment ในบริบทไม่เฉพาะของสหประชาชาติ/ผู้ให้ทุน แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวสตรีในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
คำตอบที่มาจากบางบทความเพื่ออธิบายถึงความหวาดกลัว : ผู้หญิงไม่สบายใจที่จะต้องพูดเรื่องอำนาจและเงินตรา พวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง (Fundamentalism) ต่างๆ เป็นอุปสรรคของการอภิปรายถึงการเมืองเชิงเรือนร่างในที่เปิดเผย/สาธารณะ มันเป็นเรื่องยากและในบางแห่ง การยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนทำงานด้านบริการทางเพศ ก็เป็นการเสี่ยงอันตราย ที่จะพูดถึงเรื่องของคนข้ามเพศ อันที่จริง หลายบทความกล่าวว่า เนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ยังเป็นอาณาเขตที่ถูกครอบครอง และอำนาจปิตาธิปไตยก็ยังคงกีดกันคนที่มีความตื่นตัว มีหัวก้าวหน้าทางการเมืองเชิงเจนเดอร์ให้อยู่นอกโต๊ะการตัดสินใจ โปรแกมเจนเดอร์กำลังตัดช่องน้อยแต่พอตัวโดยสยบต่อปทัสถาน (มาตรฐานสังคม) ที่ปลอดภัยของเจนเดอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานสองเพศ (heteronormativity) มีความระแวงสงสัยอย่างแรงว่าธนาคารโลก IFDA และองค์กรทุนต่างๆ ว่า เป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบคิดการส่งเสริมผู้หญิง และ empowerment ส่วนนโยบายพัฒนาที่ป้อนเข้าไปในห้วงที่รกรุงรังของระบบทุนนิยมโลกยุคเสรีนิยมใหม่ (neoliberal global capitalism) และการก่อเกิดระบบตลาดล้วนกล่อมเกลาให้ผู้หญิง เป็นคนงานที่ว่านอนสอนง่าย ยืดหยุ่น และเป็นนักบริโภคนิยมสุดยอด
บทความในฉบับนี้อธิบายเรื่องนี้ ในบริบทต่างๆ ได้ดี ในการต่อรองระดับสหประชาชาติ ในพื้นที่ข้ามชาติและชุมชน และในวาทกรรมชาติในออสเตรเลีย บังคลาเทศ บราซิล บุลแกเรีย คอสตาริกา อีจิปย์ เยอรมัน กานา เคนยา อินเดีย เม็กซิโก ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซอร์เบีย เซียราลีโอน เซ็นต์วินเซนต์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ แม้ว่าฉันจะมีส่วนในการอภิปรายนี้ ฉันก็เฝ้ารู้สึกว่า เรากำลังดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นจากถุงกระดาษเปียกๆ ในขณะที่ฉันสัมภาษณ์ผู้เขียนบทความหลายคน และร่วมวงสนทนาที่เข้มข้นที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมครั้งที่ 54 ของ CSW (หน้า 210-214) ฉันก็มองไม่เห็นว่าจะทำอะไรที่จะขับเคลื่อนสิ่งที่พูดได้
ฉันไม่ต้องการจะลดวาระของ empowerment ให้สู่ระดับที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในวาระความเสมอภาคระหว่างเพศของสหประชาชาติ (UN gender equality agenda): ยุติความรุนแรงต่อสตรี ให้เด็กหญิงได้รับการศึกษา และให้ผู้หญิงเข้าไปในรัฐบาลมากขึ้น มันต้องแตะประเด็นพื้นฐานด้วย เช่น ความเป็นธรรมเชิงเศรษฐกิจ การเปลี่ยนปทัสถานของสังคม ยุติการกดขี่ในระบบและสถาบันเพศวิถี แต่พอได้พูดเช่นนั้นแล้ว ฉันก็ไม่สามารถเข้าใจว่า พวกเราที่ทำงานในเรื่องเจนเดอร์และ empowerment จะแก้ปัญหาในประเด็นที่มหึมานี้... ในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ รัฐบาล ศาสนา โครงสร้างครอบครัว...ทั้งปวงอย่างไร
หรือว่าพวกเราจนมุมเสียแล้ว แต่บทความในฉบับนี้ไม่เห็นเช่นนั้น แม้ว่าพวกเขาจะพร่ำรำพันถึงวิธีการที่องค์กรทุนได้หว่านล้อมตีกรอบวาระ empowerment พวกเขาก็ได้เน้น (ดู Cornwall and Anyidoho pp144-149) ด้วยว่า ในหลายๆ บริบทยังมีการต่อต้านที่มีสีสรร ที่ถูกกีดกันหรือมองข้ามโดยโครงการและโปรแกมพัฒนา ผลจากการดิ้นรนเบียดตัวให้ผ่านตะแกรงของ empowerment ได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของการแปรโฉมอย่างแท้จริง (real transformation)
สิ่งที่ปรากฏชัดจากข้อมูลและข้อคิดในบทความเหล่านี้ คือ ผู้เขียนต่างประจักษ์ในศักยภาพของ empowerment สิ่งที่เราต้องทำ คือ เกาะเกี่ยวกัน ยื่นมือออกไป และเดินออกไปให้ไกลกว่าภาวะแวดล้อมที่จำกัดขอบเขตของการพัฒนา และในกระบวนการนี้ ก็เปลี่ยนวิถีของการพัฒนาเองด้วย มีการแลกเปลี่ยนและอภิปรายกันอย่างมหาศาลที่กำลังดำเนินอยู่ผ่านเครือข่ายสังคม และวิถีทางการสื่อสารที่หลากหลาย มีทางเป็นไปได้ที่เราจะมีช่องทางอันมหาศาลที่จะเข้าถึงผู้ชมอย่างที่เราไม่สามารถทำได้ใน 15 ปีก่อน หิ้งหนังสือในฉบับนี้ ได้แปรเป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจกา DFID เรียกว่า “มรรควิถีของโปรแกมการเสริมสร้างอำนาจสตรี” (‘Pathways of Women’s Empowerment’ programme) ที่อยู่ปรากฏอยู่บน YouTube เว็บไซต์ วีดีโอ เรื่องประกอบภาพ สารคดี เรื่องเล่าทางดิจิตอล ตลอดจนข้อมูลและสถิติบนเว็บไซต์ที่ชี้ให้เห็นว่า เกิด empowerment อะไรบ้าง ในชีวิตของผู้หญิง การสนทนาเหล่านี้ เกิดขึ้นทุกๆ วินาทีในอีเมล์ facebook, twitter, SMS, skype, e-magazines, e-journal, blogs และใน second life บนออนไลน์ เราสามารถจะพูดคุย แลกเปลี่ยน และขยายอาณาเขต ปรับเปลี่ยนความรู้สึกถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง กำหนดยุทธศาสตร์และวางแผน เราสามารถจะหาข้อมูลที่ครั้งหนึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงค้นคว้าในห้องสมุด และเงินวิจัยจำนวนมาก มีข้อมูลมากมายในห้วงอากาศเพราะคนนับล้านกำลังแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาผ่านสื่อยุคใหม่นี้
ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า empowerment ไม่ได้มีความหมายอย่างที่นักสตรีนียมในซีกโลกใต้ที่ทำงานชุมชน ได้แรกตั้งชื่อให้มันในหลายปีก่อน และไม่ใช่ว่า กรอบคิดของคำนี้ ได้ตกเป็นเชลยของธนาคารโลก ให้เป็น empowerment-lite หรือ “em-ment” คือ ไม่มีอำนาจ ปัญหาคือ เจนเดอร์และการพัฒนา ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นหรืออยากมีส่วนร่วมในสื่อยุคใหม่ทั้งหลาย แม้ว่าเอ็นจีโอนานาชาติขนาดใหญ่และองค์กรทุนบางแห่งจะปรับทักษะทางเทคนิคด้านนี้ให้เท่าทันกระแสใหม่นี้ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะ ความเสี่ยงและอันตรายจากการล้มเหลวของระบบเป็นเรื่องจริง แต่พวกเรายังหาพื้นที่หรือหนทางที่จะแสดงออก และมีส่วนร่วมภายในบริบทของการพัฒนาไม่ได้ เราจะต้องข้ามไปให้พ้นจากพื้นที่สหประชาชาติที่เงียบขรึม การอภิปรายที่เหนื่อยหน่ายและกลวงของ CSW ที่ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนมากพลาดเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้
ทำอย่างไรที่จะทำให้วงการพัฒนาหันไปใช้เทคโนโลยีสื่อที่หลากหลายอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าถึงผู้คนข้ามรุ่น ข้ามอัตลักษณ์ และเชื่อมขั้วต่างๆ? เราจะจุดประกายความตื่นตัวและการสนับสนุนในผู้ชมวงกว้างในการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ของการแปรเปลี่ยน (transformation) ได้อย่างไร? และในกระบวนการเมือง เราจะสร้างอัตลักษณ์และแนวร่วมต่างๆ ได้อย่างไร ในขณะที่เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น ภายใต้ความตึงเครียดรอบๆ ประเด็นเจนเดอร์ สิทธิ์ การพัฒนา และวัฒนธรรม?
มีบางสิ่งบางอย่างที่น่าเป็นห่วงกังวลอย่างลึกล้ำกำลังเกิดขึ้น สิทธิในทุกๆ ภาคส่วน กรอบคิดเช่นเจนเดอร์ และ empowerment ได้ตกเป็นเชลยของทฤษฎีการปกครองที่เน้นการใช้ผู้เชี่ยวชาญและวิชาเทคนิค (technocracy) ที่หมกมุ่นอยู่กับการสร้างดัชนีชี้วัด การเรียกร้องให้หาหลักฐานจากผลลัพธ์ที่วัดได้ ไม่ได้เอื้อให้โปรแกมที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ หรือทำให้ผู้ร่วมโปรแกมรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วม
ถึงเวลาที่เราจะต้องใคร่ครวญใหม่ เกี่ยวกับวิธีการ “ทำ” การพัฒนา นี่รวมถึงการทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการไม่เห็นด้วย/เห็นต่าง และที่ๆ การอภิปรายที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไม่ต้องหวาดกลัวต่อวิธีการแสดงออกอันหลากหลาย แหวกแนวและท้าทาย อย่างที่เราเห็นผู้หญิง ผู้ชายและผู้ข้ามเพศมองตัวเอง และฉายภาพตัวตนของพวกเขา โลกที่เงียบกริบของสหประชาชาติได้ล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาภาพเหมารวม (stereotype) การถือสองเพศเป็นมาตรฐาน (heteronormativity) และประเพณีนิยม (convention) เราต้องตระหนักถึงความตึงเครียดและความเสี่ยงระดับลึก ที่ภาคธุรกิจของโลกไม่หวาดกลัวเลยที่จะเดินหน้าต่อไป
ดังนั้น เราจะหวนกลับไปที่เลดี้กาก้า กับเรื่องเพศทั้งหลายที่เต้นอยู่รอบๆ ประเด็นสำคัญๆ เช่น การทารุณกรรมในคุก การเป็นเลสเบี้ยน การขาดความเคารพ การเร่ขายยี่ห้อใหญ่ๆ และถ้อยแถลงที่ซื่อบื้อ หรือเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับวัฒนธรรมเยาวชนในสหรัฐฯ ที่ว่า “ถูกท่วมท้นด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี” ก็แล้วแต่คุณจะคิด
ในวีดีโอเลดี้กาก้า มีหลายประเด็นที่คลุมเครือเกี่ยวกับจินตภาพที่แสดงออก เกี่ยวกับผู้หญิง คุก และเพศวิถี บางฉากเป็นการเหมารวม หลายฉากแค่เป็นภาพสวยงามและสนุกสนาน แต่มันก็เกาะเกี่ยวและยกหลายประเด็นชึ้นมา และเน้นให้เห็นถึงวาระเจนเดอร์และ empowerment อันเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องดึงออกมาถกร่วมกันในที่สาธารณะ ในขณะที่เราต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการตลบกลับของพวกหัวอนุรักษ์
ในการพัฒนา เราจำเป็นต้องมีวิญญาณผจญภัยและสร้างสรรค์มากกว่านี้ เราจำเป็นจะต้องก้าวไปให้ไกลกว่าแถลงการณ์ที่ว่า เรือนกายของผู้หญิงเป็นแดนที่ถูกครอบครอง ถูกกระทำทารุณ ถูกเกลียดชัง และถูกกีดกัน จริงอยู่ มันเป็นเช่นนั้น แต่อย่างที่เลดี้กาก้า และผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ข้ามเพศอื่นๆ อีกมากมาย ที่ได้ประกาศตัวว่า ร่างกายของทุกๆ เพศ สามารถจะเป็นความเข้มแข็ง สนุกสนานเพลิดเพลิน ทรงความสามารถพิเศษ และการเฉลิมฉลองด้วย โครงการเจนเดอร์และ empowerment หนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ฉันมีส่วนร่วมด้วย ส่วนใหญ่กระทำบนเว็บ มันเป็นพื้นที่เปิดที่รวบรวมใครก็ได้ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นนักสตรีนิยมและอาศัยอยู่ในยุโรป โครงการนี้ เชื่อมต่อกับบล็อกและ e-zines ที่นักสตรีนิยมหนุ่มสาวกำลังใช้อยู่ และใช้เฟลบุ๊ก มือถือ และสื่อสังคม (social media) ในกิจกรรมรณรงค์ คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมและอุทิศพลังให้โครงการนี้ ในที่สุดก็ได้พบกันในเต๊นท์ ในโปแลนด์ เป็นนักสตรีนิยมอายุต่ำกว่า 30 จากยุโรปตะวันออกและกลาง ในการพูดคุยถึงกิจกรรมที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตที่พวกเขาได้มีส่วนร่วมด้วยนั้น ฉันได้รับรู้เรื่อง “เลดี้เฟสด์” (Lady fests หรือ เทศกาลเลดี้) ซึ่งเป็นประชาคมดนตรีและศิลปินโลกที่ไม่มุ่งกำไร ที่มีวงดนตรี กลุ่มนักดนตรี ศิลปินนักแสดง ศิลปวีดีทัศน์ และการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ มันเป็นพื้นที่การเมืองทางเลือกที่ตั้งขึ้น และนำโดย “เลดี้” (อัตลักษณ์ที่แล้วแต่ใครจะตีความ) พวกที่ฉันได้พูดด้วยนี้ ที่ได้เข้าร่วมเลดี้เฟสต์ มีงานที่ไม่มั่นคง แต่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ และจะเดินทางเป็นเรือนพันเพื่อพบกันในที่ต่างๆ ตามนัดหมาย มันเป็นพื้นที่สำหรับผู้หญิง queers และผู้ข้ามเพศ ที่ท้าทายความเป็นชายชาตรี ที่เก็บรักษาอยู่ในดนตรีและวีธีการแสดงออกของพวกเขา มีการติดต่อเชื่อมโยงและเครือข่ายออนไลน์ระหว่างพวกเขา
นี่ไม่ใช่คนรุ่นที่ฉันได้เห็นในที่ประชุม CSW ครั้งที่ 54 หรือคนที่ฉันเห็นว่ามีส่วนในการนำการถกเถียงเรื่องพัฒนา อย่างดีที่สุด พวกเขายืนอยู่ที่ชายขอบมองเข้ามาข้างใน สิ่งที่ฉันต้องการจะพูดคือ พลิกพื้นที่ถกเถียงเรื่องการพัฒนา ให้พวกเขาเข้ามาร่วมถกเถียงได้ พวกเขาจะช่วยพวกเราให้หลุดออกจากความเป็นมืออาชีพ ที่สร้างสถาบันที่หวาดกลัวการเปิดประตูหน้าต่าง เพราะต่างกลัวการโต้เถียงและความเห็นต่าง นี่เป็นช่วงเวลาของความเสี่ยง พวกเราจงมาไขว่คว้ามันไว้เถอะ และเปิดรับชุมทางต่างๆ ที่การประท้วง วัฒนธรรม เพศวิถี การเมือง เจนเดอร์และอำนาจ ที่มีความหมายหลากหลาย มาบรรจบกัน
Dt/10-6-10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น