วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ย้ายถิ่น นโยบายจากล่างขึ้นบน-ญี่ปุ่น


ชุดเสวนาแลกเปลี่ยนนานาชาติ[i]
“เรียนรู้จากเพื่อนบ้าน เพื่อปรับปรุงตัวเอง”
ครั้งที่ 2
บทเรียนจากญี่ปุ่น:
จากมาตรการควบคุม สู่การมีชีวิตร่วมกันท่ามกลางนานาวัฒนธรรม
กระแสโลกาภิวัตน์กับการย้ายถิ่น
โดย
Prof. Keizo Yamawaki
Center for Japanese-Global Studies, Meiji University, Tokyo
March 2, 2011


เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลญี่ปุ่น ได้บูรณาการนโยบายการตรวจคนเข้าเมืองให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น  การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นผลจากการผลักดันของภาคประชาสังคมญี่ปุ่น ที่องค์การปกครองส่วนท้องที่ (อปท) บางจังหวัดได้เริ่มขานรับ และค่อยๆ แผ่ขยายจนเป็นกระแสที่รัฐบาลชาติยอมรับในระดับนโยบายถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างชุมชนวัฒนธรรมเชิงซ้อน เพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้กระทบโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น
                ปัจจัยของความสำเร็จในการผลักดันนโยบายสาธารณะนี้ ไม่เพียงแต่อาศัยความเพียรพยายามของภาคประชาสังคมในการรณรงค์ต่อสู้มากว่า 30 ปีเท่านั้น แต่อยู่ที่การปรับกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ การประมวลสถานการณ์และข้อเรียกร้องเป็นรายงานสู่สื่อสาธารณะและภาครัฐ  จนในที่สุดรัฐบาลชาติยอมรับว่ามีความชอบธรรมและนำไปใช้กำหนดนโยบายได้  ในการรณรงค์อันยาวนานนี้ ศาสตราจารย์ Keizo Yamawaki เป็นนักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการในประเด็นนี้ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ศาสตราจารย์ Yamawaki ได้มาบรรยายให้ความรู้ มีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขเชิงนโยบายแรงงานต่างชาติในประเทศไทย

....................

ภาพรวมการย้ายถิ่น: จากโลกถึงญี่ปุ่น

ประชากรอพยพย้ายถิ่น ได้เพิ่มขึ้นจาก 156 ล้านคน ในปี 1990 เป็น 214 ล้านคนในปัจจุบัน นั่นคือ 3.1% ของประชากรโลกทุกวันนี้ เป็นประชากรที่ลื่นไหล เดินทางข้ามพรมแดน ไปทั่วโลก การกระจายตัวของมวลประชากรอพยพ ส่วนใหญ่มุ่งไปกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น Qatar (87%), UEA (70%), Jordan (46%) และ สิงคโปร์ (40%)
ในบริบทนี้ อัตราส่วนชาวต่างชาติต่อชาวญี่ปุ่นนับว่ายังต่ำ คือ 1.7% แต่ปริมาณของชาวต่างชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงจุดสูงสุด สองล้านคนในปี 2005    ที่น่าสังเกต คือ เป็นปีเดียวกันกับที่ปริมาณประชากรญี่ปุ่นในวัยทำงานเริ่มลดลง ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น เป็น 23% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด
คำถามที่ท้าทายเชิงนโยบายชาติ คือ ญี่ปุ่นจะรับมือกับปี 2050 อย่างไร เมื่อประชากรสูงวัย (อายุสูงกว่า 65 ปี) เพิ่มเป็น 40% ของประชากรญี่ปุ่น  ทางออกทางหนึ่ง คือ ปรับแก้นโยบายการควบคุมคนเข้าเมือง  นี่เป็นจุดที่รัฐบาลชาติเริ่มเปิดใจรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

สถานการณ์ชาวต่างชาติในญี่ปุ่น

จากสถิติเมื่อธันวาคม 2009 ชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนมี 2,186,121 คน หรือ 1.7% ของประชากรทั้งหมด  แต่ในความเป็นจริง นี่คือสถิติของคนอพยพย้ายถิ่นสู่ญี่ปุ่น
                เมื่อแยกตามสัญชาติ จำนวนสูงสุดคือ จีน และเกาหลี ตามด้วยฟิลิปปินส์   ตาม พรบ การควบคุมคนเข้าเมือง (Immigration Control Act) คนเหล่านี้เป็นผู้มาอาศัย (Residence) แต่ในความเป็นจริง สองในสาม หรือ 943,000 คน เป็นคนที่อาศัยอยู่นานกว่า 3 ปี ในฐานะบุตรหรือภรรยาของชายญี่ปุ่น หรือชาวต่างชาติที่ได้สัญชาติญี่ปุ่น   แต่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยยอมรับว่า คนเหล่านี้ เป็นผู้อพยพ (immigrants)   ทั้งๆ ที่ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ (415,098) อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว

                ชาวต่างชาติอยู่ที่ไหน

ในเมือง โออิซูมิ (Oizumi) ของจังหวัด Gunma  มีชาวต่างชาติมากที่สุด ถึง 15% ของประชากรท้องถิ่น  ตามด้วย ชินจูกุ (Shinjuku) 12%
                จากการวิเคราะห์ อัตราการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมและสัญชาติ ปรากฏว่ามีเพิ่มขึ้นเป็น 5%  ส่วนผู้อาศัยเกินเวลาที่ได้รับอนุญาต มีถึง 91,778 คน  ส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ 
เยาวชนที่เป็นลูกหลานของชาวต่างชาติ มีมากกว่า 100,000 คน  ในบรรดาเด็กที่ได้รับการศึกษา  70% ได้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของญี่ปุ่น และอีก 30% เข้าโรงเรียนสำหรับเยาวชนต่างชาติ  แต่ยังมีเด็กอีกหลายพันคน ที่ไม่ได้รับการศึกษา

ย้อนรอยปฏิสัมพันธ์การเรียกร้อง การรณรงค์ และการดำเนินนโยบายสาธารณะ

                1970s
ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีลูกหลานชาวเกาหลีอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมือง คาวาซากิ และโอซากา    ชาวเกาหลีอพยพรุ่นที่ 2 ในสองเมืองนี้ ได้เริ่มเรียกร้องเงินช่วยเหลือสำหรับเลี้ยงลูกและที่อยู่อาศัย (child allowance and municipal housing) ในทศวรรษ 1970  และในที่สุด รัฐบาลท้องถิ่น (เทศบาลปกครองสองเมืองนี้) จึงตัดสินใจขานรับและให้สิทธิ์ดังกล่าว
                ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ให้สัตยาบันในสองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในช่วง 1980s  รัฐบาลกลางจึงเริ่มให้ความสนใจปรับเปลี่ยนนโยบาย ตามตัวอย่างที่ริเริ่มโดยองค์การปกครองท้องที่ทั้งสอง
                ในกรณีนี้ ความชอบธรรม ที่อปท ยกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์อันพึงได้ในการยังชีพของชาวเกาหลีกลุ่มนี้ พวกเขาอพยพเข้ามาญี่ปุ่นก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้นมา พวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น และลูกหลานของพวกเขาจึงพึงได้รับและเข้าถึงบริการสาธารณะด้วย  พวกเขาได้ก่อตั้งสมาคมของตน  ซึ่งมีความเข้มแข็งและตื่นตัวในการเมืองท้องถิ่น

                1980s
ในช่วง 1970s  ญี่ปุ่นเร่งการผลิตภาคอุตสากรรมทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนญี่ปุ่นทะยานขึ้นเป็นผู้นำของเศรษฐกิจโลก และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดในปี 1979  ญี่ปุ่นได้กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในเวทีโลก
                รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เริ่มเปิดรับชาวต่างชาติ  ในเวลาเดียวกัน ผู้อพยพชาวอินโดจีนก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นในปี 1978  อันเนื่องจากสงครามเวียตนาม  ในปี 1983 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนรับนักศึกษานานาชาติ 100,000 คน ทำให้มีการทะลักเข้ามาของคนงานต่างชาติตามมาด้วยตลอดทศวรรษ 1980s  ในที่สุด เอ็นจีโอก็เริ่มปฏิบัติการในปลายทศวรรษ 1980s เมื่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น

                1990s
ในปี 1989 มีการทบทวน พรบ การควบคุมคนเข้าเมือง สาเหตุหนึ่ง คือ มีคนญี่ปุ่นสัญชาติบราซิลอพยพกลับญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก  ในปี 1993 พบว่า ระบบการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะคนงานต่างชาติ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการหลบอยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาต ถึง 300,000 คน นับเป็นสถิติสูงสุดเมื่อเทียบกับที่ผ่าน ๆ มา
                หน่วยงานรัฐ เริ่มจำแนกชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนเป็นผู้อยู่อาศัย (residence) ซึ่งต่างจากชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติญี่ปุ่น   ในช่วงเวลานี้ ชาวบ้านลูกหลานคนเกาหลี เริ่มเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งใน อปท  บางคนได้เป็นเจ้าหน้าที่ของอปท

กรอบคิดที่ขับเคลื่อนนโยบาย Tabunka Kyosai
Tabunka แปลว่า “ระหว่าง/นานาวัฒนธรรมเชิง” (multicultural / intercultural) ส่วน kyosai แปลว่า การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน (co-living)  รวมกันเป็นคำศัพท์ใหม่ที่มีพลัง  “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรม”
                “ศูนย์การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรม” (Tabunka Kyosai Center) ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในโอซากา เมื่อ 1995 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวต่างชาติที่เป็นเหยื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ (Great Hanshi Earthquake) จากนั้นมาชื่อนี้ก็ได้แพร่หลาย ถูกใช้ในกิจกรรมไม่เพียงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ แต่รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ชาวต่างชาติต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน

            2000s
รัฐบาล อปท เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายภายใต้หัวข้อ “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรม” อย่างเป็นระบบ   ในปี 2005 เมื่อเทศบาลเมืองคาวาซากิ ออกระเบียบให้เป็นแนวทางการส่งเสริมการสร้างสังคมที่หลากวัฒนธรรม ที่สามารถดำรงชีพอยู่ร่วมกันได้ ต่อมาในกลางปี 2007 จังหวัด Miyagi ได้ออก พรบ ในทำนองเดียวกัน
                การที่ คำว่า “การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรม” ได้กลายเป็นคำราชการในระดับท้องถิ่น มีอานิสงค์ต่อการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดกิจกรรมและสร้างกลไกขับเคลื่อนต่างๆ

การก่อตัวของสภาส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรม (Council for Promotion of Intercultural Living)

ก.      ระดับท้องถิ่น
ตั้งแต่ปี 2001 เทศบาล 13 แห่งใน Hanamatzu และ Oizumi ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ ได้ทยอยกันจัดตั้งสภาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวต่างชาติ จนในที่สุด ปลายปี 2010 ได้มีการแถลง Ota Declaration   จากนั้น เทศบาลอีก 28 แห่ง ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด Gunma ได้จัดตั้งสภาทำนองเดียวกันในท้องที่ ในปี 2004

ข.     ระดับชาติ
                หลังจากการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นมา 30 ปี รัฐบาลกลางจึงขานรับด้วยการจัดทำเอกสารทางการรับรองสิทธิของชาวต่างชาติ ในธันวาคม 2005 ที่เน้นการบูรณาการประเด็นชาวต่างชาติในระดับนโยบาย นอกเหนือไปจากการควบคุมคนเข้าเมือง  กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการที่กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร (MIC Ministry of Internal Affairs and Communication) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้น ในกลางปี 2005 ผลงาน คือแผนการส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น ในมีนาคม  2006 และในเดือนถัดไป รายงานชิ้นนี้ ก็ได้เข้าสู่การอภิปรายในสภาเศรษฐกิจและการเงินแผ่นดิน

ยุทธศาสตร์สู่นโยบายของการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม
-           การสื่อสาร
-           การดำรงชีพ
-           การสร้างชุมชน
-           ระบบที่สร้างความชอบธรรมต่อการสร้างชุมชนที่เอื้อต่อการอู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม

ตลอดเวลา 30 ปี กระบวนการรณรงค์ได้สื่อประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านต่างชาติประสบในชีวิตประจำวัน สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างความตื่นตัวในสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ อปท   มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถยกตัวอย่างและติดตามมาตรการที่ใช้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเทียบกับปีก่อนๆ   การสร้างเครือข่าย เช่น กลไกการเชื่อมโยงระหว่างสภาต่างๆ ข้ามจังหวัด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกลายเป็นฐานการขับเคลื่อนร่วมกัน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย รวมทั้งชาวบ้านต่างชาติ   นี่เป็นพื้นฐานของการสร้างชุมชนที่มีชีวิต นอกเหนือจากระบบสาธารณูปโภคและการบริการต่างๆ  เมื่อการขับเคลื่อนจากฐานรากสามารถทำให้รัฐบาลกลางเห็นถึงความจำเป็น และเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนนโยบาย  เจตจำนงทางการเมือง (political will) จึงเกิดขึ้นในรัฐบาลกลาง  ยกระดับประเด็น การอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม ให้เป็นองค์ประกอบของหลักการ “ปรับตัวจากท้องถิ่นสู่นานาชาติ” (local internationalization)
                แม้ว่ากรอบคิด Tabunka Kyosai จะยังไม่สามารถหยั่งรากลึกในรัฐบาลกลาง แต่การนำเสนอเป็นชุดมาตรการที่เป็นระบบในการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม เป็นการมอบเครื่องมือให้รัฐบาลนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม  นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาเศรษฐกิจและการเงินแผ่นดินพิจารณารายงาน (เมษายน 2006) และนายกรัฐมนตรี Koizumi Junichiro ออกปากรับรองว่า เป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับประเทศ และมีคำสั่งให้แต่งตั้งตณะกรรมการศึกษาการประสานงานระหว่างกระทรวงขึ้น ซึ่งหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี Abe Shinzo ได้นำไปปฏิบัติตาม
                ผลคือ ชาวบ้านต่างชาติมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะเท่าเทียมกับชาวบ้านญี่ปุ่น ทำให้ชาวบ้านต่างชาติมีชีวิตประจำวันที่ง่ายขึ้น ได้รับการศึกษา  สภาพการทำงานที่มีมาตรฐาน รวมทั้งมีการทบทวนแก้ไขระบบการลงทะเบียน
                ในเดือนกันยายน 2008 วิกฤตเศรษฐกิจ Lehman ได้ส่งผลให้มีการลอยแพคนงานสัญชาติบราซิลออกจำนวนมาก   สำนักงานประสานงานระหว่างกระทรวงเพื่อสนับสนุนชาวบ้านต่างชาติ ได้ขับเคลื่อนคณะรัฐมนตรีให้มีมติช่วยเหลือชาวบ้านต่างชาติในยามวิกฤตดังกล่าว

ข้อวิจารณ์
1.       กระทรวงยุติธรรม ขานรับนโยบายนี้ ในมีนาคม 2010  โดยการบูรณาการในแผนพื้นฐานฉบับที่ 4 ในด้านการควบคุมคนเข้าเมือง  แต่ปัจจัยที่ขานรับ มาจากความห่วงใยต่ออัตราการลดลงของประชากรญี่ปุ่นในวัยทำงาน มากกว่ามาจากความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของชาวต่างชาติ   การขานรับของรัฐบาลจึงเป็นการตัดไฟต้นลม เพื่อชาวต่างชาติจะได้ไม่ต้องเรียกร้อง หรือก่อความไม่สงบ  ในสิงหาคม 2010 นโยบายพื้นฐาน เน้นที่ชาวบ้านต่างชาติที่เป็นลูกหลานชาวญี่ปุ่น และให้รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างหลักประกันให้เกิดการยอมรับคนกลุ่มนี้ และให้ทำรายงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมของแต่ละวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาหลี จีน และฟิลิปปินส์
2.     การแก้กฎหมายควบคุมคนเข้าเมือง ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นได้
3.     จำเป็นที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ ที่จะรับมือกับปัญหาเนื่องมาจากการลดลงของประชากรวัยทำงาน  จากปัญหานิเวศ และจากความผันผวนในระบบการเงินโลก  วิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะต้องสอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ปัจจัยที่เกื้อหนุนการผลักดันจากล่างขึ้นบน
1.       การสร้างเครือข่ายในระดับ อปท  เสียงจากชุมชนชาวบ้าต่างชาติ และแรงกดดันจากภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจ ก็มีบทบาทสำคัญ เพราะพึ่งแรงงานต่างชาติ  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเอ็นจีโอ เพราะมีกระแสชาตินิยม ทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันมาก ในทางกลับกัน ก็ทำให้มีความชอบธรรมที่จะพ่วงประเด็นของชาวต่างชาติ ไปกับกระแสตื่นตัวด้านการละเมิดสิทธิ์
2.     กรอบคิด Tabunka Kysai ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย  รัฐบาลกลางแบ่งรับแบ่งสู้   ส่วนฝ่ายซ้ายวิจารณ์ว่า เป็นมาตรการกลืนสัญชาติ/วัฒนธรรม มากกว่าการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะกรรมการรณรงค์ใช้คำว่า “ระหว่างวัฒนธรรม” หรือ “นานาวัฒนธรรม” (interculture) แทนคำว่า “วัฒนธรรมเชิงซ้อน” (multiculture)
3.     พลังการขับเคลื่อนในระดับฐานมาจากความร่วมมือระหว่างตัวแทนชาวบ้านต่างชาติ  นักวิชาการ  เอ็นจีโอตั้งแต่ยุค 1980s  และการทำงานด้านข้อมูลที่เป็นระบบ
4.     การผลักดันที่เป็นกระบวน ทำให้ อปท ตอบรับ และให้งบในการก่อตั้งกลไกหรือฐาน/ชัยภูมิการทำงานขับเคลื่อนต่อเนื่องในรูปของสภาส่งเสริมการพึ่งพากันระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสถานภาพที่ประกันความมั่นคง ยั่งยืน ในการรณรงค์  สภาเหล่านี้ มีหน้าที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านต่างชาติรวมตัว และช่วยเหลือกันเอง

การเคลื่อนไหวในโลก
EU ได้มีโครงการเมืองนานาวัฒนธรรม (Intercultural Cities Program) ในปี 2008


[i] International Workshop
Japan’s National and Local Policy for Multicultural Community
Building: What Implications for Thailand?
Organized by
Center for Peace and Conflicts Studies, Chulalongkorn University
Co-organized by
Chula Global Network
Asian Research Center for Migration
Japan Foundation Bangkok
API Fellowships Program

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น