วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

เจตนารมณ์ผู้หญิงทำงาน 8 มีนาคม 2011

เจตนารมณ์ผู้หญิงทำงานไทย
ในวาระการฉลอง 100 ปีสตรีสากล

วันสตรีสากลได้เวียนมาครบรอบหนึ่งศตวรรษ  33 เครือข่ายและองค์กรทำงานเกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งมีกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีเป็นแกนนำ 

นี่เป็นบทบาทที่สมควร เพราะกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เป็นสหภาพคนงานผู้หญิงที่เชื่อมต่อกันในแนวราบกับผู้หญิงทำงานทั้งหลาย แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิลาคลอดแก่คนทำงานหญิง นั่นคือ สิทธิของผู้หญิงทำงานในการเป็นมารดา อันเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน  ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของผู้หญิง แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสังคมโดยรวม ที่จะปกป้องและคุ้มครองให้ผู้หญิงทำงาน ได้เป็นมารดาที่ดี เพื่อร่วมกันดูแลอนาคตของชาติ และมนุษยชาติ

ในปีนี้ ผู้หญิงทำงาน ได้แสดงเจตนารมณ์การทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน  ว่าต้องมาจาก
-          ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  การงานที่มั่นคง และสวัสดิการที่ทั่วถึงและครอบคลุม
-          เป็นการย้ำระบบสามแปด คือ ผู้หญิงพึงหาเลี้ยงชีพและบำรุงครอบครัวได้ด้วยการทำงาน 8 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาอีก 8 ชั่วโมงศึกษาพัฒนาตน และอีก 8 ชั่วโมงพักผ่อน
-          ในปีนี้ ผู้หญิงทำงานได้เรียกร้องให้ พ่อมีสิทธิลาคลอดด้วย เพื่อจะได้ช่วยแม่ที่เตรียม หรือ ฟื้นฟูหลังคลอด ในการช่วยดูแลลูก

จึงขอเวียนส่งคำประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งครอบคลุมผู้หญิงทำงานทุกภาคส่วน เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ยังเป็นอู่แห่งชีวิต และเป็นแหล่งอารยธรรมแรกที่อนาคต...ที่มากับทารกแต่ละคนจะต้องผ่าน

หญิง ชาย และคนข้ามเพศ ล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
มีสิทธิร่วมสร้างให้สังคมเป็นธรรมได้เท่ากัน
จึงเป็นหน้าที่ของสังคม และภาครัฐที่จะสร้างหลักประกันนี้

นับถือ

ดรุณี
.............

ประกาศเจตนารมณ์
 “ผู้หญิงทำงาน   สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน
ในวาระการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล ๘ มีนาคม
(พ.ศ.๒๔๕๔-๒๕๕๔)
แถลงต่อ  
ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี

โดย  
๓๓ เครือข่ายองค์กรแรงงาน 
องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง และ
องค์กรสิทธิมนุษยชน[i]
๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔    
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๘ มีนาคม ๒๔๕๔ เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว   คนงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมหลายประเทศพร้อมใจกันเดินขบวนแสดงพลัง  เรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม  ลดชั่วโมงการทำงาน และ เพิ่มสวัสดิการ  คือเรียกร้องการทำงานระบบสามแปดทำงาน ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง และแสวงหาความรู้ ๘ ชั่วโมง    เรียกร้องให้ค่าจ้างหญิงชายต้องเท่ากันในงานประเภทเดียวกัน      ต้องคุ้มครองสวัสดิภาพผู้หญิงและเด็ก   และเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของผู้หญิง  การแสดงพลังต่อเนื่องจนสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 8 มีนา เป็นวันสตรีสากล     
“๘ มีนา” จึงเป็นสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิง และความเสมอภาคหญิงชาย   ซึ่งหมายรวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน  เคียงบ่าเคียงไหล่ชาย    อุดมการณ์ของผู้หญิงเป็นสิ่งดีงามเพื่อทุกคนในสังคม  จึงควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายและทุกภาคส่วนในประชาสังคมโลก
๑๐๐ ปีที่ผ่านมา  ทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าผู้หญิงคือเพศที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ชาย     มีบทบาทร่วมสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาก้าวหน้า  ในทุกชุมชน  ทุกประเทศ  ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก 
แต่ทุกวันนี้  ในสังคมไทยที่เชิดชูคุณค่า “แม่”     ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ทุกกลุ่มอาชีพ     ยังไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในระบบสามแปด    เพราะค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นธรรม     สวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ         ตลอดจนไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมตัดสินใจ ในทางการเมืองทุกระดับ   รวมทั้งในการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
กระแสเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยม ได้คุกคามความเป็นมนุษย์ของเพศหญิง (และผู้มีความหลากหลายทางเพศ )    จนผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานภาพที่เปราะบาง  เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ  ถูกกดขี่ขูดรีด  ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องละทิ้งบ้านเกิดเข้ามาในเมือง  หรือย้ายถิ่นข้ามชาติ   เพื่อหารายได้เลี้ยงตนและครอบครัว     ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ   แรงงานนอกระบบ   แรงงานภาคบริการ   ลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยงานของรัฐ          รวมทั้งผู้หญิงที่ทำงานในบ้านให้ครอบครัวใน  ตลอดจนแรงงานรายวันในภาคเกษตรและประมง      ผู้หญิงทำงานทุกคนจึงเป็นพลังเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าความมั่งคั่งแก่สังคมไทยตลอดมา   
ในขณะเดียวกัน  ผู้หญิงก็ยังคงทำหน้าที่ของแม่  ของลูกสาว  และของภรรยา เป็นผู้ดูแลความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในครอบครัว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก คนชรา คนพิการ  และผู้ป่วย      แต่คุณค่าของผู้หญิงในฐานะคน ทำงานที่มีศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่าเทียมชาย  ในฐานะแม่ที่ดูแลกล่อมเกลาอนาคตของชาติ ...กลับถูกมองข้าม    สังคมไทยยังไม่มีหลัก ประกันสวัสดิการพื้นฐานแก่พลเมืองจากเกิดจนตาย   และไม่มีแม้แต่ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ  ราคาถูก     กระจายเพียงพอในทั่วประเทศ   และที่สำคัญคือยังไม่มีการบริการให้สอดคล้องกับเวลาของผู้หญิงทำงาน  
นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกกระทำจากความรุนแรง  ตั้งแต่ในครอบครัว    จนถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน  การค้ามนุษย์   รวมทั้งการประสบอันตราย และความเจ็บป่วยในการทำงาน  
วันสตรีสากล ๘ มีนา ปีนี้     เครือข่ายองค์กร ๓๓ แห่ง  จากองค์กรแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน   องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง   องค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้แทนจากหลากสาขาอาชีพ   เช่น  ศิลปิน  กวี   นักเขียน   ผู้พิการ  เกษตรกร  ชนเผ่า มุสลิม และผู้แทนหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาหลี  ฟิลิปปินส์   เนปาล และกัมพูชา   จึงขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล ร่วมกับขบวนผู้หญิงทั่วโลก   เพื่อรำลึกถึงพลังการต่อสู้ของขบวนผู้หญิง ที่ไม่เคยท้อถอยหรือหยุดนิ่ง   เพื่อสิทธิความเสมอภาค  ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน


ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนร่วมกัน
ต่อสังคมและรัฐบาล  
ในโอกาส ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล

ผู้หญิงทำงาน   ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 
เพื่อผู้หญิง และทุกคน

(๑)   ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม  ต้องได้ทำงานในระบบสามแปดที่เป็นจริง        โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นจากเกิดจนตาย   ทั้งแรงงานในระบบ   นอกระบบ   ลูกจ้างภาครัฐ   หญิงบริการ  แรงงานเกษตรและประมง    เพราะค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่พอเพียง  ทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอดทนทำงานเกินวันละ ๘ ชม.
-ให้แรงงานหญิงเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ ๖๐ ปี  
-ยอมรับหญิงบริการ  แรงงานนอกระบบ   แรงงานภาคเกษตร และประมง    เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง  ให้มีระบบบำนาญประชาชน    และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพและสังคม   แก่คนอาชีพบริการ โดย หักจากภาษี ธุรกิจภาคบันเทิง และ การท่องเที่ยว
-ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง   ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ     ราคาถูก    กระจายทั่วถึงในชุมชน  โรงงาน  หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน          และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาของผู้หญิงทำงานอย่างจริงจัง  
-รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา      ในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร  การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก   โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง

(๒)  ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิง  อย่างมีคุณภาพ    วันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง        ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้   ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน  มีคุณภาพ   บริการฟรีหรือราคาถูก และเข้าใจผู้หญิง
-ส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน  จนถึงระดับสถานีอนามัย  เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์  จากสารเคมีภาคเกษตร

(๓) การคุ้มครองดูแลผู้หญิงจากทัศนคติ “เหมารวม”และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง  ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตั้งท้องไม่พร้อม   ความรุนแรงในครอบครัว   การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน  การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ-ความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน   กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ   ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลาก หลายทางเพศ

(๔) ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ  เช่น คณะกรรมการไตรภาคี  กรรมการองค์กรอิสระ  และ การมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ

ผู้หญิงทำงาน  คือผู้สร้างสรรค์โลกครึ่งหนึ่ง   
ในโอกาสเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล  ๘ มีนา ๒๕๕๔
พวกเรามาร่วมกันในโอกาสนี้ เพื่อขับเคลื่อน
ระบบสามแปด  
สิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  และ
คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิงทำงาน
เพราะ
นี่คือคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคนนั่นเอง...


       ๓๓ เครือข่ายองค์กร 
                ๑.   กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี (WWUG)
๒.   กลุ่มเพื่อนประชาชน
๓.   กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก
๔.   คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป
๕.   คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
๖.   คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
๗.   คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
๘.   เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ
๙.   เครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet)
๑๐. เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย (WREST)
๑๑. เครือข่ายสหภาพแรงงานสากล (UNI-TLC)
๑๒.โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC)
๑๓.โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๔. มูลนิธิ 14 ตุลา
๑๕. มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร
๑๖. มูลนิธิผู้หญิง (FFW)
๑๗. มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  (TLM)
๑๘. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  (SDFT)
๑๙. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
๒๐. มูลนิธิเพื่อนหญิง (FOW)
๒๑. มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง (CAW)
๒๒. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เครือข่ายพนักงานบริการ (EMPOWER)
๒๓. มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) (ActionAid)
๒๔. โรงงานสมานฉันท์ (DR)
๒๕. ศูนย์รณรงค์เพื่อสิทธิแรงงาน
๒๖. สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.)
๒๗. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
๒๘. สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา
๒๙. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
๓๐. สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF)
๓๑. สหพันธ์แรงงานนานาชาติ กิจการเคมีภัณฑ์พลังงานเหมืองแร่และแรงงานทั่วไป (ICEM)
๓๒. สหพันธ์แรงงานเพื่อกิจการบริการสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ (PSI)
๓๓. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น