วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ... เศรษฐกิจเพื่อชีวิตที่เป็นธรรม

จุดยืน: เจนเดอร์และนโยบายเศรษฐกิจ
Position Paper on Gender and Economic Policies
Naty Bernardina, ผู้ช่วยวิจัย
เครือข่ายอธิปไตยทางอาหารแห่งเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Network for Food Sovereignty)

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม (feminist economics) หรือ มุมมองเจนเดอร์ต่อระบบเศรษฐกิจ มีกรอบการวิเคราะห์ที่ใช้เจนเดอร์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสอบสวนและวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์  โดยมีสมมติฐานว่า มีการประนีประนอมสมยอมให้ความไม่สมดุลและอคติเชิงเจนเดอร์เกิดขึ้นได้ในกิจกรรมเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อผลพวงต่างๆ     เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม ได้ให้คำจำกัดความแก่เศรษฐศาสตร์ใหม่ว่า เป็นสาขาวิชาที่คำนึงถึงการจัดหาปัจจัยต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ/ความจำเป็นของมนุษย์เป็นหลัก ด้วยการพิจารณาอย่างเป็นองค์รวมต่อสิ่งที่ทั้งหญิงและชายได้ร่วมลง หรือเติมเต็มใน ขัน ของระบบเศรษฐกิจ ในรูปของกิจกรรมทั้งในระบบ และนอกระบบตลาด

เศรษฐศาสตร์สตรีนิยม พิจารณากิจกรรมการผลิตเชิงเศรษฐกิจในสองพื้นที่ (spheres) คือ การผลิต และการผลิตซ้ำทางสังคม   การผลิต เป็นกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ในขณะที่ การผลิตซ้ำทางสังคม หมายถึงการผลิตแรงงาน (สืบพันธุ์) ที่ส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้หญิงในฐานะที่เป็นหน้าที่เชิงเจนเดอร์ที่สังคมมอบหมายให้แก่ผู้หญิง   วงพื้นที่ของการผลิตซ้ำทางสังคม มักถูกเรียกว่าเป็น เศรษฐกิจเอื้ออาทร (Care Economy)   การจัดหาการดูแลเอื้ออาทร สามารถจะทำได้ผ่านระบบตลาด (ด้วยการจ่ายเงิน) หรือผ่านรัฐ (การส่งผ่านและประกันสังคม / transfers and social security) แต่ส่วนใหญ่จะกระทำผ่านกิจกรรมนอกระบบตลาด (งานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างหรือชดเชย) ในครัวเรือนและในชุมชน

ระบบเศรษฐกิจเอื้ออาทร ขึ้นอยู่กับแรงงานของผู้หญิง--มักไม่มีค่าจ้างตอบแทนการทำงานดูแล   มันเป็นไปได้ที่จะซื้อการบริการเอื้ออาทรในระบบตลาด (การจ้างคนช่วยทำงานในบ้าน  บริการซักรีด ฯลฯ)  แต่ครัวเรือนที่ยากจนไม่มีทางจะซื้อบริการเหล่านี้ได้   ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะบกพร่องในหน้าที่การจัดหาบริการทางสังคมเหล่านี้ เนื่องจากมีความจำกัดในรายได้ของแผ่นดิน และแนวโน้มของการให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการให้บริการที่จำเป็นเหล่านี้   ผลสุดท้าย ผู้หญิงกลายเป็นผู้ให้บริการดูแลเอื้ออาทรโดยอัตโนมัติ  กลายเป็นภาระหนักเชิงซ้อนที่ในที่สุด ได้จำกัดศักยภาพของพวกเธอในการเจริญเติบโตแบบองค์รวม และความสามารถในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมสังคมทั้งปวง

อคติเชิงเจนเดอร์ มักจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นสำหรับผู้หญิงในระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจ  เนื่องจากอคติที่เหมารวมว่า ชายเป็นช้างเท้าหน้าที่หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว  สังคมจึงให้ความคุ้มครองกับการจ้างงานของชายก่อน ดังเช่นกรณีในเกาหลีใต้ และอาร์เจนตินา  วิกฤตดังกล่าวมีผลกระทบต่องานที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างชดเชย ย่อมหมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นในงานเอื้ออาทรของหญิง   ราคาอาหารที่สูงขึ้น และการตัดงบสำหรับบริการสังคมของรัฐบาล เป็นการโยนภาระ ทำให้งานที่ไม่ได้เงินตอบแทนของผู้หญิงและเด็กหญิงเพิ่มปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ลดโอกาสการว่าจ้างที่มีรายได้   ในอินโดนีเซีย งานที่ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 7% สำหรับผู้หญิง  ส่วนของชายเพิ่มเพียง 1.3% เท่านั้น   การลดลงของรายได้ในครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงต้องใช้เวลามากขึ้นในการเหยียบเรือสองแคมระหว่างงานที่ไม่มีค่าจ้างในครัวเรือน กับงานที่มีรายได้ในเศรษฐกิจนอกระบบ

นักสตรีนิยมได้โต้ตอบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร?  สิ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีโมเดลเศรษฐกิจทางเลือก ที่ผันทิศทางของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน จากการกระตุ้นให้โกยกำไร สู่การจัดหาบริการทางสังคม  อันเป็นการฉีกแนวระดับพื้นฐานจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal policies)  เราควรจะส่งเสริมให้รัฐตีตัวออกห่างจากทิศทางการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ สู่นโยบายอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานของนโยบายการค้าและการลงทุน  จากการผลักให้เป็นเอกชนลงทุนเป็นธุรกิจเอื้ออาทร  ให้รัฐกลับมาทำหน้าที่จัดหาบริการสาธารณะที่ตอบสนองความจำเป็น/ต้องการของสังคม   ควรจะหวนกลับมาเน้นที่การเรียกร้องให้มีการกระจายความเสมอภาคในความมั่งคั่งและทรัพยากร เช่น การปฏิรูปที่ดิน

นโยบายกระตุ้นทางการเงินการคลัง ควรจะช่วยลดต้นทุนเชิงเจนเดอร์และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่นำไปสู่ความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย  การสร้างงานว่าจ้างสาธารณะ ควรให้ความสำคัญเท่าเทียมกันสำหรับงานผู้หญิงและงานผู้ชาย   การเน้นที่โครงการสร้างสาธารณูปโภคเชิงกายภาพ ว่าเป็นแหล่งของงานว่าจ้าง จะต้องให้น้ำหนักเท่าๆ กันในการลงทุนสาธารณูปโภคสังคม ในการศึกษา  สาธารณสุข การดูแลเด็ก และการบริการชุมชน (โปรแกมการส่งผ่านเงิน/cash transfer program) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมนุษย์   การกระตุ้นทางการเงินสามารถจะทำในระดับโลกด้วย เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน โดยผ่านระบบการประกันสังคม (social guarantee system) ความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาโพ้นทะเล (overseas development assistance) ที่เพิ่มทั้งจำนวนและประสิทธิภาพ ตลอดจนการผ่อนปรนและระงับหนี้สิน   แหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการเงินระดับโลก สามารถจะระดมได้จากการสร้างกลไกภาษีในเส้นทางการดำเนินธุรกิจค้าสกุลเงินตราในโลก

หลายๆ รัฐบาลได้หันไปใช้วิธีการลดหย่อนภาษี ให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในชุดนโยบายการกระตุ้นการเงิน  แต่การลดหย่อนภาษีในยามวิกฤตแก่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีรายได้สูงมักจะทำให้สภาวะความเหลื่อมล้ำแย่ลง และไม่จำเป็นที่จะมีอานิสงค์ในการสร้างงานว่าจ้างขึ้น   ทางเลือกที่ดีกว่า น่าจะเป็นการปฏิรูปภาษีที่ลดผลกระทบถอยหลังของภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสินค้าที่มีความสำคัญต่องานของผู้หญิง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมเชิงเจนเดอร์ในกลไกภาษี   รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อวิกฤตโดยการให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (small and medium enterprises) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เข้าถึงสินเชื่อสงเคราะห์ (subsidized credit)   ขบวนการสตรี และองค์กรภาคประชาสังคม จะต้องสามารถตรวจตรา ติดตาม การกระจายต้นทุนเชิงเจนเดอร์ ในระดับมหภาคและจุลภาค (โรงงาน ครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรม) และตรวจสอบติดตาม นโยบายตอบสนอง โดยพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายสาธารณะ และกลไกภาษี (งบเจนเดอร์ / gender budgets)

กล่าวโดยสรุป  วิกฤตที่เกิดขึ้น ได้เสนอตัวเป็นโอกาสสำหรับพวกเราให้ผันทิศทางของสถาบันสาธารณะ  รณรงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นเชิงสังคมและความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย ในนโยบายการเงินการคลัง  และงานว่าจ้าง เพื่อก้าวหน้าสู่วิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจทางเลือกต่อไป

บทความนี้สรุปการนำเสนอในเวทีการประชุมสุดยอด หญิงทำงาน 2009: คนงานหญิงเป็นแนวหน้าของทางออกสู่ความยั่งยืน (“Women Workers Summit 2009: Women workers at the frontline of sustainable solution”) จัดโดย CAW (มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง) เมื่อ 9-10 ธันวาคม 2009
แหล่ง  Asian Women Workers Newsletter, Vol.35, 2010 (Jan-Mar): pp.11-12
-แปลโดย ดรุณี 12-25-10


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น