วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาไทยสมัยใหม่: ก้าวหน้า หรือ ถอยหลัง

งานระพีเสวนา
อุดมศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
จัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
1 ธันวาคม 2553

หมอดูอนาคตอุดมศึกษาไทย
นายประยงค์ รณรงค์
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์
อ. ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง

รศ. ประภาภัทร นิยม
รศ. อนุชาติ พวงสำลี


อุดม-ศึกษา เพื่อใคร?

ผู้ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนานี้ ได้ตกลงกันไว้ว่า งานนี้จะไม่บ่น แต่จะมองไปข้างหน้า เพื่อหาทางออกสำหรับอนาคตของอุดมศึกษาไทย  ถึงกระนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเหตุปัจจัยที่กัดกร่อนแก่นสาระและความหมายของอุดมศึกษา โจทย์คือ อุดมศึกษาไทย เป็นแหล่งวิชา วิชชา หรือ อวิชชา?  ก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป

การศึกษาไทยสมัยใหม่: ก้าวหน้า หรือ ถอยหลัง

เมื่อราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญหน้ากับมหันตภัยของการถูกตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในปลายศตวรรษ 19  ผู้นำของไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย[i]  เมื่อการศึกษาสมัยใหม่ผ่านไปได้ 8 ปี พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเตือนว่า การศึกษาแบบนี้จะทำให้คนไทยขาดรากเหง้าของตัว[ii]

บัดนี้ เวลาผ่านไปหนึ่งศตวรรษ คำเตือนนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง  ทำไมคนไทยจึงได้ลืมตัว เหมือนอย่างที่ ศ.ระพี สาคริก ประณาม ความลืมตัว นี้ว่าเป็น หมาลืมตีน?  การศึกษาสมัยใหม่มีส่วนทำให้เป็นเช่นนั้นอย่างไร? และจะมีทางแก้ไขหรือไม่? อย่างไร?

การศึกษาสมัยใหม่แบบล่นถอยหลัง

ผู้นำชาติไทยในปลายศตวรรษ 19 หลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของการเป็น ทวิราข โดยส่งลูกหลานไปเรียนในประเทศมหาอำนาจแบบ ตัดกิ่ง เพื่อมา ต่อตา หรือ เสียบยอด บน ต้น หรือ ตอ ของสังคมไทย จึงมีแต่เชื้อพระวงศ์ และคหบดีที่มีกำลังลงทุน ดั่งบทกลอนที่ว่า วิชาเหมือนสินค้าอันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากกายจึงจะได้สินค้ามา    สามัญชนที่ทรัพย์น้อยก็มีโอกาสไปเรียนนอก คือ ทุนหลวงสำหรับเด็กเรียนดี   ในยุคนั้น เจตนารมณ์ที่จะพัฒนาชาติคงจะไม่จำกัดที่เพียงการลอกเลียนตะวันตก แต่คงมีความตั้งใจที่จะขยายโอกาสการศึกษาเพื่อนำพาประชาชนไทยให้ก้าวสู่ประชาธิปไตยตาม อารยประเทศ ในขณะที่ยอมรับระบบทุนนิยมโลกไว้เต็มที่   ในบรรยากาศของเศรษฐกิจ-การเมืองเช่นนั้น เป้าหมายของการศึกษาของคนส่วนใหญ่จึงเป็น ขอให้เรียนจบได้เป็นเจ้าคนนายคน  หรือ หางสิงห์โต อันเป็นความใฝ่ฝันของครอบครัวทั้งยากดีมีจน มาตลอด

แม้นักเรียนนอกและนักเรียนทุนจะร้อนวิชาประชาธิปไตย ถึงขั้นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   วิญญาณ/เจตนารมณ์ที่จะขยายโอกาสการศึกษาก็คงจะยังเข้มข้นอยู่ เช่น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็น ตลาดวิชา ในยุคแรก  ถึงกระนั้น อำนาจการปกครองก็ยังคงตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย (นักเรียนนอก) และในที่สุด ความก้าวหน้าของประเทศไทยทั้งหมดก็ตกฮวบอยู่ในเงามืดของเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็ สอดคล้องกับภาวะสงครามเย็น  การศึกษาแผนใหม่ยุคพัฒนาจึงรีดให้เป็นเด็กไทยเป็นคน ว่านอนสอนง่ายยิ่งขึ้น  ด้วยกการป้อนวิชาความรู้ให้เด็กท่องจำตั้งแต่รู้ความ จนถึงหนุ่มสาว  มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่ง อุดมไปด้วยวิชาการ เป็น แม่พิมพ์ ระดับสูงที่ผลิต บัณฑิต ในสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆ ที่เลียนแบบหลักสูตรตะวันตก แบบ ต่อท่อ   แม้การพัฒนาได้เริ่มส่งเสริมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้บัณฑิต  เป้าหมายการศึกษาก็ยังคงเป็นข้าราชการ--งานที่ประกันรายได้และสวัสดิการมั่นคง

หลังจากสงครามเย็นยุติลง (พ.ศ. 2533) ทุนเริ่มเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ  ในขณะเดียวกัน การเมืองไทยเริ่มก้าวออกจากเงาของทหารสู่การมีนายกฯ เป็นพลเรือน (แม้จะมีอดีตเป็นนายพล)  เศรษฐกิจเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ ธุรกิจใหม่ๆ จากการร่วมทุนระหว่างประเทศ หรือขยายตัวของนายทุนในประเทศ ทำให้เกิดความต้องการ บัณฑิต เพื่อทำงานบริหารจัดการ  เป้าหมายของบัณฑิตจึงเปลี่ยนจากการเป็นเจ้านาย/ข้าราชการ เป็น นักบริหารเงินเดือนสูง ในภาคเอกชน[iii]

เมื่อความต้องการ (อุปสงค์) เพิ่ม อุปทานก็ย่อมเพิ่มตาม กลายเป็นโอกาสทำกำไร  มหาวิทยาลัยเริ่มผลิเป็นดอกเห็ด เพื่อผลิตบัณฑิตถือปริญญาวิชาชีพต่างๆ  ในจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 168 แห่ง มีไม่กี่แห่งที่เป็น elite มีชื่อเสียงเก่าเป็นทุน ถ้ามีเงินพอและสอบติดก็เรียนได้  มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็จะได้เด็กดี เมื่อจบแล้ว ก็มักจะได้งานดีๆ ทำ  ส่วนอีกร้อยกว่าแห่ง คนทั่วไปจะไม่แยกว่าดีเลวกว่ากัน ขอให้เข้าง่าย-ออกง่าย จะแพงเท่าไรก็มีคนต้องการเข้า  มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นกิจการที่คืนทุนเร็ว คือ ลงทุนต่ำ ได้เงินเร็ว และไม่มีใครตรวจจับคุณภาพได้  แม้จะมีมหาวิทยาลัยเอกชนดีๆ ด้วย แต่ก็เป็นจำนวนน้อย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจตรง[iv]

อุดมศึกษาไทยได้ถดถอยมาจนถึงจุดต่ำสุดทุกวันนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยรัฐถูกบีบให้อยู่ นอกระบบคือ เลี้ยงตัวเองให้ยังชีพ (และกำไร) ได้   ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยจึงหันไปใช้วิธีบริหารแบบนักธุรกิจ แข่งกับมหาวิทยาลัยเอกชน คือ ตามใจลูกค้า ลูกค้าไม่ได้ต้องการคุณภาพ[v]   มวลมหาวิทยาลัย กลายเป็นอุตสาหกรรมความรู้ ที่เน้นประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตซ้ำโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้สอน  แต่สามารถตอบสนองผู้เรียนไม่จำกัดเวลาและจำนวนครั้ง เป็นการลดต้นทุนไปในตัว 

เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดโลก หรือให้ทันสมัยกับ สังคมเรียนรู้ รัฐได้ขยายโอกาสการศึกษา เช่น จัดตั้งเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) แต่ความที่รัฐไม่สามารถกำกับดูแลคุณภาพอย่างทั่วถึงหรือมีประสิทธิภาพ เด็กกู้มาจ่ายให้มหาวิทยาลัย แต่ไม่รู้ว่าจบมาแล้วมีคุณภาพพอไหม ทำงานได้เงินพอไหม กลายเป็นหนี้ติดตัวเด็ก เพราะหางานทำไม่ได้... และรัฐได้อะไร[vi]

จากเป้าหมายการศึกษาที่วิวัฒนาการมาดังนี้ จึงไม่ค่อยน่าประหลาดใจที่อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยต่ำ  แม้สถิติการเข้าเรียนทุกระดับ หรือการรู้หนังสือของไทยจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่คุณภาพของความรู้ของคนไทยที่ผ่านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับอุดมศึกษา นั้นน่าเป็นห่วง อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ เริ่มกล่าว ด้วยความรู้สึก โกรธและเศร้า ต่ออนาคตของอุดมศึกษาไทย ผมไม่จบปริญญา เพราะไม่มีความหมายต่อการเรียนรู้ของผม แม้กระนั้น ก็มีคนเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัย แต่พบว่า คุณภาพของผู้เข้ามาศึกษาแย่ลง โต้ตอบไม่รู้เรื่อง พื้นอ่อนมากจนหมดสนุก  อ.ชัยวัฒน์เล่าต่อว่าได้มีโอกาสพบ อ.ปรีดี พนมยงค์ จึงเข้าใจถึง วิญญาณ ที่บรรจุอยู่ในชื่อของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือ ธรรมะเป็นศาสตราวุธ เพื่อรับใช้การเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน  คนปัจจุบันจำวิญญาณนี้ได้ไหม?   มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นหลายแห่งทุกวันนี้  ผู้ก่อตั้งมีเป้าหมายแค่ขยายอาณาจักร ขยายอำนาจ และปีกการควบคุม สร้างหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อหากำไร...ให้เป็นแหล่งที่นักการเมืองท้องถิ่นได้ชุบตัว ได้ไปเที่ยวเมืองนอก ... แล้วอุดมศึกษาจะนำชาติไทยสู่อนาคตได้อย่างไร?

มหาวิทยาลัยสอนอะไร บัณฑิตไทยขาดอะไร

อุดมศึกษานำไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยไม่รู้ร้อนหนาว กับการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดิน  สถาบันการศึกษา ไม่รู้ร้อนหนาวกับโลกที่เปลี่ยนแปลง[vii]  มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นเขตล้อมกรอบด้วยฉนวนของชีวิตหนุ่มสาวชาวกรุง/ชาวเมือง  มีประเพณีวัฒนธรรมการผลิตซ้ำ สืบทอดรุ่นต่อรุ่น วิถีการเรียนการสอนที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง ครูและศิษย์ ถูกแทนที่ด้วยผู้เชี่ยวชาญแบบตะวันตก ที่เน้นประสิทธิภาพ และวัดผลแบบปรนัย  ผู้สอนและผู้เรียนขาดความรักในสิ่งที่ตนทำ เมื่อคนไม่รักตัวเองมากพอ ก็ขาดความภาคภูมิใจ ขาดความกล้าที่จะทำให้มันดีขึ้น  การโฆษณาว่า เป็นเลิศแห่งศูนย์การเรียนรู้ จึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง[viii]  อุดมศึกษา ควรจะเป็น สถานที่ๆ ทำให้คนรู้ว่าตัวเองยังโง่อยู่[ix]

คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นวิทยากรที่เติบโตมาจากผู้ด้อยโอกาส จบแค่ ป.4 แล้วก็ออกมาทำมาหากิน แต่ก็ไม่หยุดยั้งการเรียนรู้ด้วยการ แอบเรียนแต่ไม่สอบ เป็นการศึกษาที่ ไร้ระเบียบผมไม่ไปสอบ จึงไม่มีวุฒิ แค่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  คิดได้ ทำได้ และพัฒนาด้วยการลองผิดลองถูก กลายเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่มีในตำรา  ทุกวันนี้ คุณลุงประยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน และได้รับรางวัลแม๊กไซไซสาขาผู้นำชุมชน เรารู้เพราะทำมากับมือ มันก็มีผิดมั่ง ก็ซ่อนไว้ ที่ถูกใช้ได้ ก็นำออกมาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง  หลังจากทำงานบุกเบิกเรื่องกองทุนสวนยางและศูนย์เรียนรู้ที่ไม้เรียง ปากพนัง (เป็น มหาวิทยาลัยธรรมชาติ) มากึ่งศตวรรษ คุณลุงประยงค์บอกว่า ตอนนี้ทำงานอย่างไม่มีเป้า เพราะกลัวเครียด ได้ลดความรับผิดชอบ (ในกิจกรรมที่ได้เริ่มไว้) ด้วยการสร้างคนใหม่ให้เข้ามารองรับทุกอย่าง  เพื่อตัวเองจะได้มีเวลาทดลอง เรียนรู้ต่อไป ทำได้อย่างเป็นอิสระ

ที่ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ที่คุณลุงประยงค์เป็น อธิการบดี คุณลุงใช้วิธีนั่งพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน แล้วจึงลงมือปฏิบัติ นำผลงานมาประเมินว่าน่าพัฒนาต่อไปไหม อย่างไร   การศึกษาอาจแบ่งได้เป็นสามแบบ คือ ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย  ที่ขาดไม่ได้คือ กระบวนการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนปฏิบัติได้ ทำได้จริงในชุมชน   ผู้มาศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้พอเพียงของคุณลุงประยงค์ ทำให้ผู้เรียนเป็น เถ้าแก่ ได้ คือ รู้จักคิด ศึกษาด้วยตัวเอง และมองหาช่องทางแก้ไขปัญหา มีความรู้ ใช้ความรู้ มองให้เห็นคุณค่าในวิถีชีวิตและสิ่งรอบกาย แล้วแปลงให้เป็นมูลค่าเพิ่มได้ กลายเป็นผู้ประกอบการที่พึ่งตนเองได้

คนจบปริญญาไม่น่าตกงาน...ผมจบ ป.4 ยังไม่ตกงาน  คนที่ตกงานเพราะไม่มีปัญญา  คนมีความรู้จึงควรทำได้หมด ปํญหาคือ พอไม่มีคนจ้าง ก็เลยทำไม่เป็นผมมีปัญญา คิดทะลุปรุโปร่งได้ แต่บางอย่างที่ไม่ได้เรียนมา ก็ทำไม่ได้  ดังนั้น ถ้าทำให้มีทั้งสองอย่าง ความรู้ (ปริญญา) และปัญญา ก็จะทำได้ทุกอย่าง[x] ทุกวันนี้ บริษัทเครือข่ายผลิตอาหาร จำกัด ผลิตขนมจีนวันละหลายตันจากข้าวคุณภาพต่ำ มีเกษตรกรที่เรียนกับคุณลุงประยงค์ เป็น CEO ได้สร้างอาชีพให้บัณฑิตทำ เพราะพวกเขาไม่รู้แบบแผนการทำงานของระบบสมัยใหม่ แต่พวกเขาก็ดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี--เป็นเถ้าแก่ได้[xi]

วิถีการศึกษาตามอัธยาศัยของคุณลุงประยงค์ให้อิสรภาพแก่ผู้เรียน และทำตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับชุมชน ในทางตรงข้าม การศึกษาในระบบกลับสร้างความแปลกแยก และความทุกข์แก่ผู้เรียน[xii]  เพราะตกอยู่วังวนการต่อสู้ระหว่างรัฐและทุน ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาชาติ  ในยุคที่รัฐครอบงำทุน ข้าราชการเป็นใหญ่ บัณฑิตตั้งเป้าเป็น เจ้าคนนายคน  แต่พอทุนครอบงำรัฐ บัณฑิตก็เบนเป้าไปเป็น นักบริหาร  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง   ไม่ว่าจะอย่างไหน ปริญญาเป็นเพียงกุญแจให้ขึ้นไปใช้ตำแหน่งและโอกาสในการ กอบโกย แต่ไม่มีความรู้มากพอที่จะสร้างสภาวะให้สังคมสงบสุข [xiii]

นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ชี้ให้เห็นถึงสภาวะ อุตสาหกรรมความรู้ ในสถาบันอุดมศึกษาที่สวนทางกับจริตการเรียนรู้  สภาวะเช่นนี้สร้างทุกข์และลดทอนความเป็นคนของผู้เล่าเรียน 
1.       ด้วยนโยบายรัฐที่ลำเอียงไปทางรับใช้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม อุดมศึกษากลายเป็นการแปลงคนให้เป็นวัตถุดิบป้อนตลาดแรงงานสมัยใหม่ ในระบบ  เยาวชนถูกคัดเลือกประหนึ่งวัตถุดิบ ตามอายุ เพศ ชาติพันธุ์ สถานภาพครอบครัว ฯลฯ ดั่งการผลิตปลากระป๋อง ที่ตัดหัวตัดหางปลาให้เท่ากันจะได้บรรจุในกระป๋องขนาดเดียวกันออกไปขายได้[xiv] 
2.       การกำหนดมาตรฐานควบคุมคุณภาพแบบ TQF (?) กลายเป็นการสร้างความแปลกแยก นักศึกษาไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร  มาตรฐานที่แข็งทื่อ เหมือนการสอนนักศึกษาแพทย์ให้เรียนกับ อาจารย์ใหญ่ ก็เลยคุยกับคนไข้ที่มีชีวิตไม่เป็น  หรือเป็นอาการของคนที่ถูกวางยาสลบ คือ อายตนะดับ ถูกปิดไม่ให้รับรู้ต่อสิ่งภายนอก ผมพยายามเร้าใจนักศึกษาให้ตื่นตัว มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ...ด้วยจิตอาสา ... นักศึกษากลับถามว่า มันคืออะไร ฟังดูเหมือนขาดทุน’ ”[xv]
3.       ภาวะกดดันจากวัฒนธรรมอาจารย์ที่ทรงอำนาจ มีสิทธิ์ตัดคะแนนและวินิจฉัยให้สอบตก  ตอนผมอยู่ ป.4 ครูดุมาก ถามชื่อเมืองหลวงหนึ่งซึ่งผมตอบไม่ได้ ครูให้ยืน และก็ถามต่อไป จนกว่าจะได้คำตอบที่ถูก จากนั้นครูก็เดินตีนักเรียนที่ยืนเพราะตอบไม่ได้  พอมาถึงผมๆ ถามว่า จะตีผมทำไม ครูตอบว่า  เพราะเธอไม่รู้คำตอบผมบอกว่า ตอนนี้ผมรู้แล้วแต่ครูก็ยังตี[xvi]
4.       เด็กไม่มีโอกาสรู้หรือเลือกวิชาเรียน ส่วนมากจำใจเรียนเพราะพ่อแม่บอกว่ายอมเป็นหนี้ให้ลูกได้เล่าเรียน จึงต้องเลือกเรียนวิชาที่หางานง่ายมากกว่าใจรัก[xvii]
5.       การเรียนแบบท่องจำหรือลอกแบบตั้งแต่เล็ก ตอน ป.1 ชั่วโมงวาดเขียนก็ให้วาดวิว ทุกคนจะวาดเป็นชุดคล้ายๆ กัน เป็นเขาสองลูก มีพระอาทิตย์ ...  สภาวะห้องเรียนเช่นนี้ ไม่ช่วยให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่กล่อมเกลาให้เป็นวัตถุดิบสำเร็จรูปเชิงพาณิชย์ 
6.       การออกแบบข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ตามด้วยอัตนัยเล็กน้อย แต่ในชีวิตจริง มันเป็นอัตนัยเสียส่วนมาก เรามีชีวิตเพื่ออะไร? ชีวิตยืมคำตอบกันไม่ได้ และก็ไม่มีใครมาตอบแทนเราได้ว่าถูกหรือผิด[xviii] ในทำนองเดียวกัน เกมโชว์ในโทรทัศน์ ล้วนหล่อหลอมให้คนไทยยอมสยบเป็น สังคมปรนัย ไม่มีจินตนาการ เพราะมีแต่คนให้คำตอบ ถูกต้องแล้วคร๊าบ  เด็กจึงทุกข์ เมื่อไม่มีเสียงเชียร์หรือบอกว่า ถูก ตนไม่มีเป้าหมายหรือเข้าใจความหมายของชีวิต[xix]  เด็กจึงกลัวหรือ ไม่รู้จะ engage กับชีวิตอย่างไร พอปรนัยถึงขั้นหนึ่ง ชีวิตก็กลวง จะรู้สึกดีและเป็นสุขได้อย่างไร?[xx]
7.       โดยรวม การศึกษาและสื่อ ก้าวไปในทิศทางเดียวกันให้เด็กไทยเจริญเติบโตเป็นผู้เสพ มากกว่าผู้สร้าง ไม่มีพื้นที่อิสระให้จินตนาการว่า ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร จะไปถึงได้อย่างไร  เมื่อก้าวไม่พ้นบ่วงที่อุตสาหกรรมความรู้สร้างไว้ก็เป็นทุกข์และสร้างทุกข์ต่อกันไป[xxi]


บัณฑิตที่พึงประสงค์ และ อุดมศึกษาสู่สังคมอุดมธรรม

อุดมศึกษา ในอนาคต ควรจะนำให้สังคมมีความสงบสุขได้[xxii] 

ศ.ระพี สาคริก เปรียบเทียบว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาปัจจุบัน เหมือนกับสอนให้คนไต่ขึ้นต้นไม้ ไปอยู่ที่กิ่งต่างๆ แต่ละคนจึงหาจุดร่วมกับคนอื่นไม่ได้ และก็ลงไม่ได้ เพราะไปยึดติดอยู่กับกิ่งของตน การศึกษามีทั้งศาสตร์และศิลป์  ศิลปะ คือ ทางออกของอารมณ์และจิตวิญญาณของคน การศึกษามีหน้าที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนให้เป็นมนุษย์  ศิลปะเป็นพื้นฐานของทุกศาสตร์  ศาสตร์มาจากความรู้สมมติอันเป็นหลักธรรม  ก่อร่างเป็นวิชา ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป[xxiii]  บัณฑิตจึงไม่ควรหลงตัว ลืมตัว แต่พึงรู้ตัวอยู่เสมอว่า ไปไหน อยู่ที่ไหน ทำอะไร  พึงละการยึดติดกับรูป รส กลิ่น เสียง รวมทั้งสิ่งสมมติที่เรียกว่า วิชา เพราะจิตที่เรียนรู้ มันเหมือนคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน คือ กายของเรา  หากมองให้ทะลุได้ว่า ทุกสิ่งเป็นธรรมะ ไม่ต้องยึดติด เมื่อจิตนิ่ง เราก็ปรับตัว หาทางแก้ไขได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อจิตเป็นอิสระ  ส่วนกายของเราก็เหมือนบ้านของเรา คล้ายๆ กันทุกคน เมื่อสานกันด้วยความรัก ก็เป็นบ้านเมือง ... เราย่อมอยู่ร่วมกันด้วยความรักและแบ่งปัน ...  การเก็บภาษี เพื่อไปใช้หนี้คืนต่างประเทศ เราต้องรู้เท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ... เราไม่รังแกเขา แต่ก็ไม่อยากให้เขามารังแกเราเช่นกัน  การศึกษาจึงต้องช่วยให้คนรู้เท่าทัน จึงจะอยู่ร่วมกันแบบสมดุลและสงบสุขได้[xxiv]

อุดมศึกษาจึงควรเป็นสถานที่ๆ เปิดและชวนให้คนเข้ามา มาเรียนซิ แล้วชีวิตจะมีความหมายและเป็นสุข[xxv] แทนที่จะเอาปริญญาเป็นตัวล่อเพื่ออำนาจและกำไร ควรจะ จุดประกายท้าทายให้นักศึกษาลองเดิน[xxvi]  สถาบันอุดมศึกษา ควรจะเป็น แหล่งการรวมหมู่ (collective) ของความมุ่งมั่น ... มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่อยากทำอะไรดีๆ แก่นักศึกษาและสังคม แต่ได้สู้กับระบบอำนาจมานาน มันไม่ง่าย มันเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ ... ความกล้าหาญและความมุ่งมั่น ยังไม่พอสถาบันอุดมศึกษาจึงยังไม่เป็น collective”[xxvii] อ.ชัยวัฒน์เปรียบเทียบความมุ่งมั่นเล็กๆ กับทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกพร้อมกัน ก็สามารถทำให้เกิดการสะเทือนได้ ขอเพียงให้ผมได้เชื่อมกับ 1% ของประชากรไทย หรือ 6.5 แสนคน ... ได้ถอดบทเรียนร่วมกัน ... ให้กำลังใจกัน จะเกิดความมุ่งมั่นรวมหมู่ให้เกิดกระบวนการจัดการการเรียนรู้ เป็นเมล็ดในที่ต่างๆ

ศ.ดร.ปิยวัฒน์ เห็นว่า มหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนาคน ด้วยประสบการณ์ความรู้บางชุด เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี ที่สามารถวิเคราะห์ สร้างสรรค์ได้ ... และเป็นพลังของประชาธิปไตย  แต่มหาวิทยาลัยไม่มีความสามารถทำให้คนสมานฉันท์ หรือแข่งเป็นเลิศติดอันดับโลก  การตั้งความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยในสิ่งที่เกินความรับผิดชอบ เป็นการเสี่ยง หากการเป็นเลิศใช้ความพอใจของนักศึกษาเป็นตัวชี้วัด ก็อาจจะเป็นการเรียนการสอนที่ไม่มีการบ้านมาก เรียนง่าย จบเร็ว

อ.ชัยวัฒน์ เสนอว่า
1.       อุดมศึกษาควรมีการเชื่อมต่อกับวิญญาณการต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณ และการใฝ่ฝันสู่อิสรภาพของบุพจารย์ หรือรุ่นของ อ.เสกสรรค์ ในลักษณะ story telling “มันไม่ใช่การปลุกผี แต่เป็นเหมือนที่เกอเตกล่าว มรดกที่บรรพบุรุษมอบให้ เจ้าจงทำให้เป็นของเจ้าเองเถอะ นั่นคือ legacy หรือพินัยกรรมว่าจะส่งต่อกัยอย่างไร 
2.       ทุกวันนี้ การเรียนการสอนไม่ควรเป็นการป้อนข้อมูลอีกต่อไป เพราะ Google หรือ Wikipedia ให้ข้อมูลตอบได้ทุกเรื่อง บทบาทของอาจารย์จึงไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องช่วยตีความ ให้ความหมาย “Information without meaning is only noise”
3.       หัวใจของอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่สังคมที่สมดุล คือ สร้าง character ของคน ต้องมีการนำศาสนา พระธรรม หรือจิตวิญญาณมาใช้ในหลักสูตร ซึ่งมีความสำคัญในการตีความหมายของชีวิต  อันที่จริง อุดมศึกษา คือ higher education, ไม่ใช่ highest education  จึงจำเป็นจะต้องมีปัจจัยการเรียนรู้และปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถมองภาพสะท้อนตนเองและผู้อื่น จากภายในและภายนอกได้ ให้เห็นความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้  กระบวนการศึกษาจะต้องกลับมายืนบนฐานของปรัชญาทุกวิชา  กระบวนการวิถีวิทยา (epistemology) กระบวนการเรียนรู้จากชีวิตจริง ยิ่งใหญ่กว่าวิชาทั้งหลายในมหาวิทยาลัย เพราะมันจะช่วยให้เกิดปัญญา ช่วยส่องทางกำหนดทิศให้วิทยาการต่างๆ  มิฉะนั้น ก็เหลือแต่เทคนิคบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ และจะรับมือกับความบีบคั้นของยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้
4.       บทบาทของอาจารย์ คือ ฟื้นฟู resilience ของความเป็นมนุษย์คืนมา ถ้าอุดมศึกษานำปัญญาได้ ก็จะไม่มองน้ำท่วมว่าเป็นปัญหา ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นวิถีธรรมชาติ ที่มีคุณูปการต่อวิถีชีวิตของคนไทย ก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมต่างออกไป  ปรัชญาอาจไม่ผลิตช่างเทคนิคได้ แต่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดปัญญา ชี้ทางสู่สังคม อุดมธรรม (แต่ด้วยนโยบายให้อุดมศึกษาตอบสนองตลาดแรงงานถ่ายเดียว วิชาปรัชญาจึงถูกยุบ)

นพ.โกมาตร เสนอว่าการปฏิรูปการศึกษา ควรจะเริ่มจากท้องถิ่น ถ้าวงจรข้างล่างไม่ดี พอปล่อยไฟลงมาปุ๊บ ก็ช๊อต  ระบบข้างบนซับซ้อนนัก ถ้าดันทุรังกระแทกตรงๆ ก็รังแต่จะท้อ จึงควรจะปรับพลังมาที่ภายใน คือ ทำงานบนหลักการบางอย่าง แล้วผลจะปรับตามบริบทที่เราทำ อย่างน้อยก็เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดได้ยาก
1.       ดึงกระบวนการเรียนรู้ในอุดมศึกษาและที่อื่นๆ ให้กลับคืนสู่รากเหง้า ให้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นตัวเอง ปัจจุบัน เด็กในหมู่บ้านอีสาน เปลี่ยนชื่อไปเป็นอะไรตามแฟชั่น ตามนางงาม หรือดาราต่างชาติ เพราะอาย คิดว่ากำพืดตัวเองต่ำต้อย ในทางตรงข้ามก็ต้องระวัง เพราะมีพวกที่ท่องบ่นบูชาประวัติศาสตร์อย่างไม่มีการคิดวิเคราะห์
2.       กระตุ้นให้นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา เช่น การล้างราชประสงค์ไม่ได้แก้ปัญหาของคนเสื้อแดง สอนให้นักศึกษามีความปราณีตในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น มีความเข้าใจอกเขาอกเรา ให้ฟื้นฟูปัจเจกภาพของความเป็นมนุษย์ ที่เติบโตสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่เพียงปัจเจกนิยมที่ปิดตัว  การคืนสู่รากเหง้า เป็นการแสวงหาความหมายของชีวิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีพลัง ไม่ถูกลากจูงง่ายๆ นั่นคือ เป็น transformative learning ดั่งคำกล่าวที่ว่า “If you known how and why of your life, you can live with if, what and how.”
3.       ฝึกบัณฑิตให้มีความอ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ และรู้จักเรียนรู้จากคนอื่น


[i] ศ.นพ.ประเวศ วะสี  2553  ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน  พุทธมณฑล นครปฐม: ศูนย์จิตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 
[ii] ดังใน 1.
[iii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[iv] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[v] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[vi] ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ บุญ-หลง
[vii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[viii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[ix] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[x] คุณประยงค์ รณรงค์
[xi] คุณประยงค์ รณรงค์
[xii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xiii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xiv] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xv] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xvi] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xvii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xviii] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xix] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xx] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xxi] นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
[xxii] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xxiii] ศ.ระพี สาคริก
[xxiv] ศ.ระพี สาคริก
[xxv] ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
[xxvi] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์
[xxvii] อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น