วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Empowerment วัดได้ไหม? -Mosedale

การเสริมอำนาจ  :  สู่กรอบการประเมิน
ซาราห์ โมสเดล
2003

Towards a framework for assessing empowerment
Sarah Mosedale, EDIAIS

บทคัดย่อ

เมื่อนักวางนโยบายและนักปฏิบัติตัดสินใจว่า เป้าหมายของการพัฒนา คือ การเสริมอำนาจ (“empowerment”)คำที่มักจะใช้กับผู้หญิงหรือคนจนแท้จริงแล้วพวกเขาหมายถึงอะไรกันแน่?  และพวกเขาจะวัดได้อย่างไรว่าได้บรรลุเป้าหมายสักเพียงใด?  แม้ว่าการเสริมอำนาจ จะได้กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทของการพัฒนา ยังไม่มีวิธีการอันเป็นที่ยอมรับในการวัดและติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
            ปกติ เรามักจะสมมติกันว่า ถ้าเราต้องการเห็นคนได้รับการเสริมอำนาจ เราจะมองว่า ณ เวลานั้น พวกเขาได้ถูกทำให้ไม่มีอำนาจมาก่อน เช่น ถูกทำให้เสียเปรียบด้วยรูปแบบหรือวิธีการอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ล้อมกรอบทางเลือก โอกาส และสวัสดิภาพของพวกเขา  ถ้านี่เป็นความหมายที่เรายอมรับ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ถ้านักพัฒนาสามารถทำความเข้าใจก่อนกับข้อถกเถียง ที่มีส่วนช่วยให้แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจและการทำงานของมันมีความชัดเจนขึ้น  นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาหลายคน ได้อภิปรายถึงอำนาจ แต่วาทกรรมเหล่านี้เล็ดลอดมาสู่วงการพัฒนาศึกษาน้อยมาก
            ดังนั้น ในบทความนี้ ดิฉันจะทบทวนโดยสังเขปว่า แนวคิดอำนาจได้ถูกถกเถียงและขัดเกลาอย่างไร ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และอภิปรายว่า เราจะประเมินความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบทหนึ่งๆ ได้อย่างไร   แล้วดิฉันก็จะกล่าวถึงเรื่องการเสริมอำนาจผู้หญิงว่าได้ถูกอภิปรายกันอย่างไรในวงพัฒนาศึกษา รวมทั้งนำเสนอข้อแนะนำว่าควรจะประเมินกันอย่างไร
            นี่เป็นงานที่กำลังดำเนินการอยู่ และยินดีรับฟังคำแนะนำจากท่าน


1.        บทนำ
1.1 การเสริมอำนาจ คืออะไร?
การเสริมอำนาจของผู้หญิง ได้กลายเป็นเป้าหมายที่อ้างถึงบ่อยๆ ในโครงการแทรกแซงเพื่อการพัฒนา  ถึงกระนั้น แม้จะมีองค์ความรู้เชิงวาทกรรมจากการอภิปรายถึงวิธีการประเมินการเสริมอำนาจของผู้หญิง ในทางปฏิบัติก็ยังมีความยากลำบาก   นอกจากนี้ หลายๆ โครงการและโปรแกมที่อ้างว่าเพื่อเสริมอำนาจผู้หญิง ก็ไม่ค่อยอธิบายหรือให้คำนิยามว่ามันหมายถึงอะไรในบริบทของพวกเขา จึงไม่ต้องพูดถึงการประเมินว่าสำเร็จหรือไม่เพียงไร
            คนที่ใช้คำว่า เสริมอำนาจ ต่างให้ความหมายถึงผลต่างกัน  ถึงกระนั้น เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า วาทกรรมของการเสริมอำนาจของผู้หญิง อาจกำหนดได้เป็น 4 ประเภท
            ประการแรก ผู้ที่จะถูกเสริมอำนาจได้ จะต้องถูกปลดอำนาจก่อน  เช่น การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า ผู้หญิงจัดเป็นกลุ่มเดียวกันได้ ในฐานะที่พวกเธอถูกปลดอำนาจเมื่อเทียบกับชาย
            ประการที่สอง การเสริมอำนาจ ไม่สามารถจะมอบให้ได้โดยบุคคลที่สาม  ผู้ที่จะถูกเสริมอำนาจจะต้องเรียกร้องทวงถามเอง   ดังนั้น หน่วยงานพัฒนา จึงไม่สามารถเสริมอำนาจให้ผู้หญิง ที่ทำได้มากที่สุด คือ เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงเสริมอำนาจแก่ตัวเอง     พวกเขาอาจจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเสริมอำนาจ แต่พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นไม่ได้
            ประการที่สาม คำนิยามของการเสริมอำนาจ มักจะรวมถึงความรู้สึกว่า ประชาชนได้ทำการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของพวกเขา และสามารถจะดำเนินการด้วยตนเองได้   การตรึกคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ และปฏิบัติการ ถูกรวมอยู่ในกระบวนการที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับปัจเจก และระดับรวมหมู่   มีรายงานว่า ในขณะที่ผู้หญิงดิ้นรนตามลำพังเพื่อเสริมอำนาจ มันมักจะเป็นการพยายามในรูปรวมหมู่  แต่การแทรกแซงเพื่อการพัฒนาที่เน้นที่การเสริมอำนาจ มักจะมุ่งไปที่ระดับปัจเจกมากกว่า
            สุดท้าย การเสริมอำนาจเป็นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์  มันไม่มีเป้าหมายสุดท้าย  คนหนึ่งๆ ใช่ว่าจะมาถึงการถูกเสริมอำนาจเสร็จสมบูรณ์เมื่อปฏิบัติการถึงขั้นหนึ่ง   การถูกเสริมอำนาจ และการถูกปลดอำนาจ เป็นลักษณะเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือที่สำคัญ เมื่อเทียบกับตนเองในกาลก่อน

1.2 ผู้หญิงกับการเสริมอำนาจ
            ในขณะที่มีคำอธิบายมากมายถึงเหตุผลของความไร้อำนาจ (หรือมีอำนาจ) เฉพาะต่างๆ ของผู้หญิง    ตัวผู้หญิงเองก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามว่า พวกเรา/พวกเธอมีอะไรที่เป็นพื้นฐานร่วมกัน    ปัจจัยร่วมคือ ในฐานะผู้หญิง พวกเธอล้วนถูกจำกัดโดย ปทัสถาน/มาตรฐานความนิยมในสังคม  ความเชื่อ  ประเพณี และค่านิยม อันเป็นกลไก/ช่องทาง ที่สังคมแบ่งแยกหญิงและชาย (Kabeer 2000, 22)     วิธีการดำเนินการและแสดงออกอย่างเฉพาะเจาะจง แปรตามวัฒนธรรมและกาลเวลา   ในสถานการณ์หนึ่ง มันแสดงออกในรูปของการที่ผู้หญิงได้รับรายได้ต่ำกว่าชาย   ในอีกสถานการณ์หนึ่ง มันอาจจะอยู่ในรูปของอัตราการรอดชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชาย  และรูปแบบที่สาม คือ การจำกัดการเคลื่อนตัวของผู้หญิง    ในภาพรวมทุกๆ ที่ จะเห็นว่า ผู้หญิงเสี่ยงต่อสภาพความรุนแรงในครอบครัว  มีส่วนร่วมน้อยในวงการตัดสินใจที่มีชายเป็นใหญ่  และเข้าถึง/ถือครองทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้น้อยกว่าชาย
            ระดับของการเสริมอำนาจกับผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างมหาศาล เมื่อพิจารณาจาก ชั้น/วรรณะ  ชาติพันธุ์ ความมั่งคั่งสัมพัทธ์ อายุ ตำแหน่งในครอบครัว ฯลฯ และการวิเคราะห์การมี/หรือการไร้อำนาจของผู้หญิง จะต้องคำนึงถึงมิติดังกล่าวนี้ด้วย   แม้กระนั้น การมุ่งเน้นที่การเสริมอำนาจผู้หญิงในลักษณะเป็นกลุ่มเดียวกัน จำเป็นต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงบทบาทหญิงชาย (gender relations) นั่นคือ วิธีการที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศถูกก่อสร้างปรุงแต่ง และธำรงรักษาไว้
            เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ (เพศสภาวะ/มิติหญิงชาย) ต่างกันตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และกาลเวลา การไต่สวนวิเคราะห์จำเป็นจะต้องคำนึงถึงบริบทของมัน  ความจริงที่ตามมา คือ มันไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรืออยู่ยงค้ำฟ้า  ในขณะเดียวกัน บางรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ ก็มักจะถูกปกป้องอย่างดุเดือดและถือว่ามันเป็น ธรรมชาติ ที่ฟ้าลิขิต     หลายๆ โครงการพัฒนาแบบแทรกแซง มักรวมเป้าหมายของการท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่   แต่การท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายและหญิง มักจะเป็นเรื่องที่ถูกทดสอบมากที่สุด
            เสียงวิพากษ์วิจาณ์ที่ว่า นี่เป็นความพยายามของผู้หญิงในซีกโลกใต้ที่ต้องการ นำเข้า สตรีนิยมจากซีกโลกเหนือ  เป็นการดูหมิ่นและไม่ถูกต้องที่จะสมมติว่า สตรีนิยมเป็นแนวคิดของซีกโลกเหนือ    ผู้หญิงในซีกโลกใต้เองก็มีประวัติศาสตร์ในการจัดรูปองค์กรและดิ้นรนต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมบนพื้นฐานของเจนเดอร์   นอกจากนี้ ชุดการวิเคราะห์เจนเดอร์/มิติหญิชาย (gender analysis) ที่อุบัติขึ้นมาจากคลื่นระลอกที่สองของสตรีนิยมในซีกโลกเหนือ ก็เป็นผลจากการวิพากษ์อย่างหนักถึงจุดอ่อนในทฤษฎีสตรีนิยมยุคเริ่มต้น ว่า ขาดมิติชนชั้น และชาติพันธุ์ และมีแต่เรื่องของผู้หญิงยุโรปเป็นศูนย์กลาง ชุดวิเคราะห์นี้ เป็นผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกว่า 20 ปี ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ระหว่างนักสตรีนิยมซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้

1.3 ปัญหาสำหรับหน่วยงาน
หลายคนแย้งว่า การเสริมอำนาจเป็นเรื่องที่วัดกันไม่ได้   คนอื่นๆ มักกล่าวว่า ความพยายามเช่นนี้เป็นเรื่องอันตราย--ช่วยเพิ่มอำนาจจากศูนย์กลางให้บังคับควบคุมชายขอบได้มากขึ้น    แน่นอน กระบวนการวัดย่อมซับซ้อนกว่าตัวผลลัพธ์ และความพยายามใดๆ ที่อ้างว่าจะช่วยเสริมอำนาจก็คงจะมีความขัดแย้งในตัวเองแฝงอยู่เสมอ   ถึงอย่างไรก็ตาม ดิฉันขอแย้งว่า ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงไร ก็ต้องมีการวัด  เพราะแหล่งทุนคงไม่ยอมสนับสนุนกิจกรรมที่ ไม่สามารถบอกได้ว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่ เพียงไร
            แม้ดิฉันจะแย้งว่า จะต้องมีการวัดผลจากปฏิบัติการเสริมอำนาจ ดิฉันไม่ได้คาดว่ามันจะไม่มีปัญหา  อันที่จริง มันไม่ยากที่จะเห็นอุปสรรคที่หน่วยงานต้องเผชิญ ในการเอื้ออำนวยการเสริมอำนาจ และวัดผลกระทบ     บางเรื่องเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติจริง ถ้าผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า พวกเธอต้องการจะทำอะไร และหน่วยงานควรทำอย่างไร ในการวางแผน จัดสรรงบประมาณสำหรับกิจกรรมและการติดตาม?   แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่  มีการคิดค้นวิธีการ มีส่วนร่วม (“participatory” models) สำหรับการพัฒนา ซึ่งได้ผ่านการทดลอง ขัดเกลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นวิธีการวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการแทรกแซงต่างๆ ที่มุ่งต่อยอดกับภูมิปัญญาและความสนใจของ ผู้พึงได้รับประโยชน์
            วิธีการมีส่วนร่วมดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการของการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว และก็มีองค์ความรู้มากพอสมควรในเชิงวิชาการและประสบการณ์ ที่ให้รายละเอียดรวมทั้งบทวิพากษ์วิจารณ์  มีผลงานที่ได้รับการขัดเกลาออกมามากทีเดียว  ในด้านระเบียบวิธีการศึกษา (methodologies) เช่น การประมาณการณ์ถึงการมีส่วนร่วมของชนบท (participatory rural appraisal, PRA) และ การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และปฏิบัติการ  (participatory learning and action, PLA)  ซึ่งเป็นการสนองตอบต่อคำวิจารณ์ในด้านวิธีการของยุคแรกที่มักจะผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม และล้มเหลวในการครอบคลุมถึงผู้เสียเปรียบมากที่สุด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงผู้ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะมากที่สุด    ระเบียบวิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเห็นด้วยกับการผนวกดัชนีความยากจนที่เกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่น รวมทั้งการจัดลำดับความมั่งคั่ง ได้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับดัชนีการเสริมอำนาจ
            ถึงกระนั้น ความยากสำหรับหน่วยงานที่จะหาทางเอื้ออำนวยการเสริมอำนาจ มีมากกว่าเพียงภาคปฏิบัติ    หน่วยงานที่ให้ทุนอยู่ในตำแหน่งที่ทรงอำนาจ เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่พวกเขาสนับสนุน   ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ มีผลกระทบต่อความสามารถของหน่วยงานอย่างไร ในการเอื้ออำนวยให้เกิดการเสริมอำนาจของผู้หญิง?  ถ้าผู้มีส่วนร่วมเองเป็นผู้กำหนดเป้าประสงค์  วัตถุประสงค์ และวิธีการ หน่วยงานก็จะไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้
            คำพูดที่ว่า การเสริมอำนาจของผู้หญิง จะเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของภาครัฐ ได้ถูกแสดงเป็นรูปธรรมด้วยตัวอย่างหนึ่งจากอินเดีย เมื่อผู้หญิง สุดแสนเบื่อหน่ายต่อบรรดาสามีขี้เมาและการสูญเสียรายได้อันน้อยนิดสำหรับเลี้ยงครอบครัว ได้รวมตัวกัน ลุกขึ้นปิดร้านเหล้าในอันธราประเทศ (Andhra Pradesh)  พวกเธอบุกร้านและเทเหล้าทิ้ง  หยุดรถบรรทุกเหล้า เผาร้านและทำให้เจ้าของร้านเหล้าและชายขี้เมาอับอาย  การขับเคลื่อนนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากนิทานในโปรแกมการรณรงค์ให้อ่านออกเขียนได้ ที่บรรยายถึงนางเอกสาวคนหนึ่งที่กระทำการเช่นนั้น    รัฐบาลตอบสนองด้วยการดึงนิทานเรื่องนี้ออกจากโปรแกม (Stein 1997; 36)
            ในการวางแผนโครงการและโปรแกมด้วยเจตจำนงค์ของการเสริมอำนาจของผู้หญิง หน่วยงานจำเป็นต้องคำนึงถึง ขอบข่ายที่หน่วยงานเองจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการเสริมอำนาจของผู้หญิงได้ และขอบข่ายที่การเสริมอำนาจนี้ จะคุกคามภาครัฐและ/หรือตัวหน่วยงาน (Mosedale 1998, 52)    ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่หน่วยงานที่ต้องการเสริมอำนาจ  โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ที่ต้องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนให้ดีขึ้น มักจะต้องปะทะเชิงผลประโยชน์กับพวกที่มีอภิสิทธิ์กว่า

2.        รูปแบบของอำนาจ

มีผู้กล่าวว่า จะต้องมีการทำความเข้าใจกับแนวคิดเรื่องอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนับสนุนการเสริมอำนาจ   นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยา ได้อภิปรายเรื่องอำนาจ แต่ผลจากการถกเถียงเหล่านี้ไม่ค่อยจะซึมลอดออกมาสู่วงการพัฒนาศึกษา   Jo Rowlands กล่าวใน Questioning Empowerment  ว่า การหลีกเลี่ยงที่จะอภิปรายถึงอำนาจ เป็นจุดอ่อนขั้นพื้นฐานของวาทกรรมในสตรีและการพัฒนา (women and development)” (Rowlands 1997; v)   ความตั้งใจของเธอ คือ ชักชวนให้ใช้แนวคิดการเสริมอำนาจนี้อย่างแม่นยำ และสำรวจหาทางใช้อย่างมีวินัย ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักกิจกรรม การวางแผนเชิงเจนเดอร์ การวางแผนโครงการและการประเมินผล  ในบทความต่อไปนี้ ดิฉันจะขอนำเสนอการถกเถียงซึ่งสำหรับดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องกันที่สุด

2.1 อำนาจสามมิติ
            ในสังคมศาสตร์ อำนาจโดยปกติ หมายถึง การมีอำนาจเหนือกว่า (power over)  ดังคำจำกัดความของ Robert Dahl  ก มีอำนาจเหนือ ข ถึงขนาดที่ทำให้ ข ทำในสิ่งที่ ข ไม่ทำถ้าไม่ถูกบังคับ (Dahl, 1957, 202-203)  ในแนวนี้ อำนาจเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นผลลัพธ์จากความขัดแย้งระหว่างผู้กระทำ เพื่อตัดสินว่าใครแพ้ ใครชนะ ในประเด็นเดิมพันที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่คนทั่วไปรู้จัก  ในระบบที่ค่อนข้างเปิด ในที่ ๆ มีการกำหนดพื้นที่เพื่อการตัดสินใจที่แน่นอน (Gaventa and Cormwall, 2001)
            มิติที่สองของอำนาจ เป็นความสามารถที่จะกีดกันบางคนหรือบางประเด็น ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ หรือเวทีของการตัดสินใจ   Bachrach and Baratz  แย้งว่านักรัฐศาสตร์ จะต้องเพ่งไปที่ ทั้งสองฝ่าย คือ ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร และใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง อย่างไร (Bachrach and Baratz 1970, 105)  มิติดังกล่าวของอำนาจ คำนึงถึงกฎเกณฑ์และวิธีการของการสร้างความชอบธรรมให้บางเสียง และลบล้างเสียงอื่นทิ้ง
            Stephen Lukes ได้แนะนำว่า การใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้น ด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม (Lukes 1974, 24).   จากมุมมองนี้ ผู้มีอำนาจอาจเอาชนะด้วยการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในที่เปิดเผย หรือ กีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้ยินเสียงที่โต้แย้งขึ้นมา   พวกเขาอาจเดินหน้าได้ด้วยการบิดเบือนจิตสำนึกของผู้ด้อยอำนาจกว่า อันเป็นการทำให้พวกเขาหมดความสามารถที่จะเห็นความขัดแย้ง  ดังที่ Sen ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มีหลักฐานมากมายในประวัติศาสนตร์ ที่ความไม่เท่าเทียมอย่างแสนสาหัสธำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างพันธมิตรกับผู้ถูกทำให้ขาดแคลน  ผู้อยู่เบี้ยล่างยอมรับความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำ และก็กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ (Sen 1990, 26)
            มิติทั้งสามของการมีอำนาจเหนือกว่านี้ จึงประกอบด้วย ฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามอำเภอใจ สวนทางกับผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการเอาตอบโต้ความขัดแย้งจนได้ชัยชนะในที่เปิดเผย  ด้วยการกีดกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ส่งเสียง หรือ ด้วยการกีดกันไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นคู่อริได้ทันรู้ตัว หรือแม้กระทั่งตระหนักว่า มีความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์เดิขึ้น   เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผลลัพธ์สุทธิเป็นศูนย์ (zero sum game)  นั่นคือ ด้วยการนิยามว่า คนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งต้องเสีย (รวมทั้งในกรณี ดังตัวอย่างที่สาม ที่ผู้สูญเสียไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องเสียอะไรไป)

2.2 รูปแบบอำนาจที่ผลลัพธ์สุทธิไม่เป็นศูนย์ (Non zero-sum models of power)
รูปแบบอื่นของอำนาจ ก็มีปรากฏในวาทกรรมต่างๆ ที่การได้ของคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทำให้อีกคนหนึ่งเสีย  แนวโน้มนี้มักเรียกกันว่า อำนาจภายใน  อำนาจแก่ และอำนาจกับ (power within, power to and power with)
            อำนาจภายใน หมายถึง คุณสมบัติ เช่น ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นในตัวเอง    อาจกล่าวได้ว่า อำนาจทั้งหลายล้วนมาจากต้นตอนี้ นั่นคือ ก่อนที่คนหนึ่ง ๆ จะทำอะไรให้สำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ก่อน    ผู้หญิงที่ถูกข่มเหง กระทำรุนแรง เมื่อเธอแสดงความเห็นของเธอ อาจเริ่มปิดปากตัวเอง และในที่สุดก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นของตนเอง   เมื่อการบังคับกดขี่เช่นนี้ได้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเหนือกว่าอีกต่อไป (Rowlands 1998; 12). การปลูกฝังความรู้สึกให้เชื่อว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเช่นนี้  เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแบบแทรกแซงจึงหาทางที่จะเปลี่ยนแปลงในระดับนี้
            Joke Schrijvers ใช้คำว่า ความเป็นไทแก่ตัวเอง “autonomy” และให้คำนิยามว่า หมายถึง การวิพากษ์ฃั้นพื้นฐานต่อระเบียบของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ... เป็นแนวคิดต่อต้านการลำดับยศถาบรรดาศักดิ์ ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดและปฏิบัติการเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ ... การพลิกแปรที่มาจากภายใน ที่ดีดตัวออกมาจากทรัพยากรภายในของแต่ละคนในฐานะปัจเจกและรวมเป็นหมู่ (Schrijvers, 1991, 5-6 quoted in Stromquist, 1995, 15-16)
            อำนาจ ได้ถูกนิยามให้เป็น พลังการสร้างหรือผลิต (บางครั้งจะผนวกหรือแสดงออกในรูปของการต่อต้านหรือบงการอยู่ข้างหลัง) ที่สร้างความเป็นไปได้ หรือปฏิบัติการใหม่ๆ โดยปราศจากการข่มขี่ (Rowlands 1997; 13).    พูดใหม่ก็คือ อำนาจที่ขยายขอบเขตเพื่อให้คนๆ หนึ่ง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้ โดยปราศจากความจำเป็นที่จะขึงตึงขอบเขตนั้นสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ได้สิ่งเดียวกัน  เช่น ถ้าคุณเรียนรู้วิธีอ่าน คุณจะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง  มันจะไม่จำกัดตัวดิฉัน (ยกเว้น ถ้าดิฉันต้องการฉวยโอกาสจากการไม่รู้หนังสือของคุณ)
            อำนาจกับ หมายถึง ปฏิบัติการหมู่ ด้วยความตระหนักว่า การรวมกลุ่มจะทำอะไรได้มากกว่าทำด้วยตัวเองตามลำพัง   การแทรกแซงหลายอย่าง ที่เพ่งไปที่เสริมอำนาจให้ผู้หญิง เห็นความสำคัญของการสร้างโอกาสสำหรับผู้หญิง เพื่อจะได้ใช้เวลาร่วมกับผู้หญิงอื่นๆ ในการไตร่ตรองสถานการณ์ของพวกเธอ เห็นความเข้มแข็งที่มีอยู่ในตัวของพวกเธอเอง และหายุทธวิธีเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก
            เพื่อพัฒนาจิตเชิงวิพากษ์ จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่สำหรับให้ถกเถียงกันในเชิงความคิดเห็น และให้ข้อเรียกร้องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้  สำหรับ Sara Evans จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ก่อนที่ อัตลักษณ์ของการกบฏหมู่ จะเกิดขึ้นได้
-           พื้นที่ทางสังคมที่ผู้คนจะสามารถพัฒนาความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองอย่างอิสระ ซึ่งตรงกันข้ามกับสถานภาพปกติของพวกเขาว่าเป็นพลเมืองชั้นสองที่ด้อยกว่า
-           ต้นแบบ (Role models)  -- ได้เห็นผู้คนแหกคอกจากแบบแผนของการนิ่งดูดาย
-           อุดมการณ์ที่อธิบายถึงต้นตอของการกดขี่ ความชอบธรรมในการปฏิวัติ และจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่างในเชิงคุณภาพ
-           ภัยคุกคามต่อการค้นพบตัวเองใหม่ ที่บังคับให้เจ้าตัวต้องเผชิญหน้ากับคำนิยามของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมา
-           เครือข่ายที่เป็นช่องทางให้เผยแพร่การตีความใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม
(Evans 1979, 219-220).

2.3 การขีดข่วนอำนาจ (De-facing Power)
Clarissa Rile Hayward, เขียนในปี 1998 วิจารณ์ถึงพื้นฐานของการเลือกตั้งคำถามที่นักทฤษฎียกขึ้นมา เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของอำนาจ  ด้วยคำถามว่า การกล่าวว่า ก มีอำนาจเหนือ ข หมายถึงอะไร?   เธอชี้ให้เห็นถึงปัญหาในตัวสมมติฐานในแนวนี้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ที่ความแตกต่าง ระหว่างปฏิบัติการอิสระ และปฏิบัติการที่ชี้นำโดยผู้อื่น    ในการพัฒนาคำบรรยายเพื่อแสดงว่า ก มีอำนาจเหนือ ข โดยใช้กลไกมิติอำนาจหนึ่ง สอง และสาม  นักทฤษฎีได้รับรองว่า การแยกประเภทเช่นนี้ เป็นหัวใจของความเข้าใจของพวกเขาว่า อำนาจปรุงแต่งอิสรภาพของมนุษย์อย่างไร
            Hayward แย้งว่า คำนิยามใดๆ เกี่ยวข้องกับเส้นแบ่งระหว่างการกระทำอย่างอิสระ กับการกระทำที่เป็นผลผลิตของการใช้อำนาจ เป็นการรับใช้หน้าที่ทางการเมืองของการมีอภิสิทธิ์ ว่าเป็นธรรมชาติ ถูกเลือก และเป็นของจริงในพื้นที่ของปฏิบัติการทางสังคม (Hayward 1998, 26). เธอแสดงให้เห็นโดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่ Jeffrey Isaac เล่าไว้คร่าวๆ (Isaac, 1987) ว่า ครูคนหนึ่งกำลังเดินทางไปสอนเพื่อใช้อำนาจของความเป็นครู  แต่วันพรุ่งนี้ นักเรียนอาจประท้วง และสอนกันเองในห้องเรียน  Issac ยกตัวอย่างนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า แม้โครงสร้างการศึกษาจะกำหนดให้ครูมีอำนาจเหนือกว่า และนักเรียนด้อยกว่า  แต่ความสัมพันธ์อันนี้จะเป็นอย่างไรในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ขึ้นอยู่กับวิธีการที่คนกลุ่มและปัจเจกเฉพาะเลือกใช้ในการจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าว   ด้วยมุมมองนี้ ที่มองว่า การประท้วง เป็น ทางเลือกอิสระ ได้ตัดประเภทของบางสิ่งที่อาจน่าสนใจและมีคุณค่าต่อการวิเคราะห์ในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
            Hayward ได้โต้แย้งว่า ไม่ว่านักเรียนคนหนึ่งๆ จะมีส่วนร่วมในการประท้วงหรือไม่ คงจะ ขึ้นกับอิทธิพลของสังคมที่พวกเขาไม่ได้เลือก เช่น วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เป็นต้น หรือปทัสถานในหมู่เพื่อนฝูงที่โรงเรียน (Hayward, 1998, 26) “ในทันทีที่คนๆ หนึ่ง ยอมรับอัตลักษณ์นั้นๆ ก็นับได้ว่าเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นแล้ว  พื้นที่ในการกระทำก็จะถูกตีกรอบ  เช่น ด้วยการผ่านกระบวนการปลูกฝังและสร้างอัตลักษณ์ใหม่    มันจึงกลายเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธมุมมองของอำนาจที่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ในการแยกปฏิบัติการอิสระจากปฏิบัติการที่ชี้นำโดยผู้อื่น (Hayward, 1998, 26).
            Hayward แนะนำว่า อำนาจอาจมีประโยชน์ถ้าคิดในลักษณะ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจใช้ เพื่อกีดกันคนไร้อำนาจจากการกระทำอย่างเป็นอิสระ  แต่เป็นขอบเขตทางสังคมที่รวมๆ กันแล้ว กำหนดพื้นที่/อาณาบริเวณของปฏิบัติการสำหรับทุกตัวละคร    กลไกต่างๆ เช่น กฎหมาย กฎเกณฑ์ ปทัสถาน ประเพณี อัตลักษณ์และมาตรฐานทางสังคมทั้งที่จำกัดและเอื้อต่อการกระทำต่างๆ  ส่วนพวกที่ใช้โมเดลอำนาจสามมิติ จะคิดถึงอิสรภาพ ในลักษณะการกระทำที่ไม่ต้องพึ่งพิงใคร   ส่วนโมเดลของ Hayward บอกว่า อิสรภาพ คือ สมรรถนะในการกระทำต่อขอบเขตที่จำกัดหรือเอื้อต่อการทำกิจกรรมสังคม เช่น เปลี่ยนรูปทรงหรือทิศทางของมัน
            ในมุมมองนี้ จุดเพ่งเล็งที่เหมาะสมของการศึกษาเรื่องอำนาจ ก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือ แบบแผนที่ไม่สมมาตรในวิธีการที่อำนาจ นั่นคือ โครงข่ายข้อจำกัดทางสังคมที่กำหนดอาณาบริเวณของการทำกิจกรรม ที่ปรุงแต่งอิสรภาพ   แต่แทนที่จะถามว่า อำนาจถูกกระจายอย่างไร และ ก มีอำนาจเหนือ ข  คำถามจะเป็น กลไกอำนาจ ให้คำนิยามอย่างไรต่อ ความเป็นไปได้/ไม่ได้   ความน่าเป็นไปได้/ไม่ได้  สิ่งที่เป็นธรรมชาติ  สิ่งที่ปกติ  และอะไรที่จะนับว่าเป็นปัญหา?  อาณาบริเวณของสังคมที่เป็นไปได้แปรเปลี่ยนอย่างเป็นระบบไหม ยกตัวอย่าง  ในระหว่างกลุ่ม หรือ ทะลุเขตแบ่งสังคม?
            ข้อจำกัดใดๆ ต่อการทำกิจกรรมที่อย่างน้อย เป็นผลผลิตของการกระทำของมนุษย์ ก็กลายเป็นหัวข้อที่มีเหตุผลพอสำหรับการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์   อันนี้ รวมถึงข้อจำกัดของปฏิบัติการที่ไม่ต้องมี ก ที่ มี หรือ ใช้ อำนาจ   ในตัวอย่างของ โรงเรียนรัฐของอเมริกา Hayward คงจะเพิ่มตัวจำกัด เช่น โรงเรียนท้องถิ่นระดับอำเภอ  ขอบเขตเทศบาล การควบคุมแบบพุ่งเป้า (zooming regulations) นโยบายภาษีและที่อยู่อาศัย....
            ด้วยมุมมองนี้ จึงไม่เพียงแต่หลีกหนีความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่พ้น แต่มันยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมการบริการต่างๆ ในสังคม   แทนที่จะตั้งคำถามว่า ปฏิบัติการของบางคนถูกจำกัดโดยการกระทำของคนอื่นหรือไม่ เราควรจะดูที่ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านสิทธิและข้อจำกัดทางสังคม  ดูว่า ความแตกต่างนี้ ฝังลึกแค่ไหนหรือสามารถแปรเปลี่ยนได้อย่างไร    ข้อจำกัดเชิงสังคมที่กำหนดว่า อะไรที่เป็นไปได้ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหนึ่ง  เมื่อข้อจำกัดดังกล่าวมีความไม่สมมาตรมากเท่าไร  ความสัมพันธ์นั้นก็จะยิ่งใกล้ภาวะของการครอบงำหรือมีอำนาจเหนือ   คำถามเชิงวิพากษ์ที่ว่า อำนาจปรุงแต่งดัดแปลงอิสรภาพอย่างไร จะไม่ถูกลดทอนให้เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจและทางเลือกของปัจเจก  แต่พวกเขากำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่แตกต่างกันของข้อจำกัดทางสังคมต่อปฏิบัติการของมนุษย์ ต่อสมรรถนะของผู้คน ในการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงชีวิตของพวกเขาเอง และเงื่อนไขสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ
            Hayward ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการอธิบายว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธโครงการวิพากษ์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการถกเถียงเรื่องอำนาจ   เธอเห็นว่า ผลงานของเธอ เป็นเรื่องระเบียบการทำการศึกษาเป็นหลัก และเสนอการขีดข่วนอำนาจว่าเป็นการช่วยให้โครงการนี้ระบุ และวิจารณ์รูปแบบต่างๆ ของข้อจำกัดทางสังคมเกี่ยวกับอิสรภาพ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านั้น

2.4 Foucault และสตรีนิยม
มีนักคิดเพียงไม่กี่คนที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการสตรีนิยมร่วมสมัยในหัวข้อ อำนาจ เพศวิถี ได้มากเท่า Michel Foucault   พัฒนาการของโมเดลอำนาจของ Foucault ยอมรับการมีอยู่ของความสัมพันธ์อำนาจเชิงซ้อน   อำนาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นวัฏจักรหมุนเวียน (circulate) และต้องถูกใช้/บริหาร (exercised) แทนที่จะถูกครอบครอง (possessed)   การต่อต้าน ที่ปัจเจกช่วงชิงอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ที่แน่นอน ด้วยวิธีการที่แนบเนียน ถูกมองว่า เป็นเรื่องคู่กันกับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
            นักสตรีนิยมมีทั้งวิเคราะห์ในเชิงวิพากษ์ และต่อยอดกับโมเดลนี้   การสำรวจประสบการณ์ในชีวิตประจำวันต่อ และการต่อต้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งในการแสดงให้เห็นถึงต้นตอที่หลากหลายของการกดขี่ผู้หญิง และในการเผยแพร่การต่อต้าน   อันที่จริง กลุ่มการปลุกจิตสำนึกในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ได้ใช้การแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ในการเปลี่ยนแนวการตื่นตัว และกระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการรวมหมู่ เพื่อการเปลี่ยนแปลง   นักสตรีนิยม ยืนหยัดว่า เรื่องส่วนบุคคลเป็นเรื่องการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ยอมรับว่า อำนาจถูกบริหารในความสัมพันธ์ส่วนตัว (และก็ไม่ใช่แค่ระหว่างหญิงชาย) รวมทั้งในพื้นที่สาธารณะ
            อันที่จริงการยอมรับว่า การดิ้นรนในชีวิตประจำวันของผู้หญิง และการร่วมมือกับชายในชีวิตของพวกเธอ (ไม่เพียงแต่สามีและคนรัก แต่รวมถึงพ่อ พี่/น้องชาย ลูกชาย ฯลฯ) มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมอยู่ด้วยนั้น  ได้ท้าทายการกำหนดวาระของอำนาจเพศชาย นั่นคือ สิ่งที่กำหนดหรือนิยามว่า เกิดอะไรขึ้นในครอบครัว อันเป็นพื้นที่ ส่วนตัว
            การพังกำแพงที่แยกผู้หญิงให้อยู่โดดเดี่ยว ภายในครอบครัว และในขณะเดียวกัน ก็มีข้อห้ามที่ต่อต้านการทำลายการปิดปากที่ถูกบังคับนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ คลื่นสตรีนิยมตะวันตกระลอกที่สอง  และสามารถจะสังเกตเห็นได้ในวัฒนธรรมต่างๆ ทุกวันนี้
            Foucault บรรยายว่า กรอบคิดยุคใหม่เป็นเหมือนขวานสองเล่ม  เล่มหนึ่งเน้นองค์ความรู้ที่มีวินัย และมีประโยชน์ อันเป็น สรีระ-การเมืองของร่างกายมนุษย์ (“anatamo-politics of the human body” )    อีกเล่มหนึ่ง เป็น ชีว-การเมืองของประชากร (“bio-politics of the population”) ความตั้งใจของภาครัฐหันไปที่เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ นั่นคือ สุขภาพ การเกิด และการตาย     ข้อวินิจฉัย ร่างกายที่เชื่อง (“docile bodies” thesis) ของ Foucault ได้ถูกนักสตรีนิยมบางคนหยิบมาใช้ ด้วยเห็นว่า ความคิดเรื่อง การตรวจตราควบคุมตัวเอง (self-surveillance) เป็นข้อคิดที่มีประโยชน์ในการบรรยายถึงการปลูกฝังบ่มเพาะผู้หญิงให้อยู่ในกรอบความเป็นหญิงในมาตรฐานของปิตาธิปไตย   ดังที่ Foucault ได้สาธยายกระบวนการนี้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีอาวุธ  ความรุนแรงทางกายภาพหรือข้อจำกัดทางวัตถุ   เพียงแต่ใช้สายตามอง   สายตาที่ตรวจสอบ  การมองด้วยสายตาที่ทำให้คนที่อยู่ภายใต้น้ำหนักของสายตานั้นจะต้องเข่าอ่อนลดตัวลง กลายเป็นผู้คุมตัวเอง  ทุกๆ คนจึงแบกการตรวจสอบเหนือตัวเอง และต่อต้านตัวเอง   สูตรที่ยอดเยี่ยม: อำนาจถูกบริหารอย่างต่อเนื่องและเพื่อสิ่งที่ใช้ทุนน้อยที่สุด (Foucault 1980, 96).
            การวิเคราะห์ของ Foucault เอง ไม่ได้เห็นว่าประสบการณ์ทางกายภาพมีความแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย หรือคำนึงว่า เงื่อนไขที่เป็นปัญหา (มักจะสำหรับเพศหญิง) ของโรคกลัวความอ้วน (anorexia และ bulimia) อาจจะ มีตำแหน่งอยู่ในช่วงที่ต่อเนื่องกับปรากฏการณ์ของการทำให้เป็นหญิง เช่น การใช้เครื่องสำอางค์ แฟชั่น และการเลือกกินอาหาร เพื่อปรุงสร้างเรือนร่างที่เชื่อง และมีความเป็นหญิง (Bordo 1989, 23 paraphrased in Deveaux, 216)   และ เนื่องจากเขาไม่ได้เพ่งที่ผู้หญิง Foucault จึงไม่สามารถมองเห็น ผลกระทบทางด้านจิตใจที่เป็นเรื่องส่วนตัวและฝังอยู่ลึกมากต่อพวกเราผู้หญิง ทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึกความเอื้ออาทรที่พวกเรามีในการให้การดูแลผู้อื่น และในด้านการดูแลรักษาที่พวกเราไม่ได้รับในทางกลับกัน (Bartky 1991, 111)
            โมเดลของ Foucault ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มองข้ามอำนาจและการต่อต้านในเชิงโครงสร้างที่กว้างขึ้น  ด้วยการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายด้านปทัสถาน ทฤษฎีของ Foucault “กัดเซาะความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการสร้างความคลุมเครือแก่ธรรมชาติของระบบการกดขี่ทางเจนเดอร์/มิติทางเพศ (Hartsock, N. 1990, 170)
            Collins แย้งว่า แนวคิดทั้งสองของอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงตรรก เชื่อมการกดขี่และการรณรงค์ ที่กลุ่มต่างๆ ที่มีอำนาจมากกว่า กดขี่ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า  และแนวคิดของอำนาจว่าเป็นเอกลัษณ์นามธรรมหนึ่ง ที่หมุนเวียนไปทั่ว และที่ปัจเจกอยู่ในจุดที่มีความสัมพันธ์ต่างๆ กัน จะเป็นประโยชน์มากกว่า ถ้ามองว่าเป็นการเสริมกันให้สมบูณ์ แทนที่จะมองว่าเป็นการแข่งขันกัน (Collins 2000, 275)   แนวทางตรรก (Dialectical approaches) ชี้นำว่า  จำเป็นต้องพัฒนาอัตลักษณ์และยุทธศาสตร์ที่มีกลุ่มเป็นพื้นฐาน  ในขณะที่ โมเดลหมุนเวียน (circulation model) มุ่งความสนใจไปที่ การกดขี่ข่มเหง และการต่อต้านได้ปรุงแต่ง และถูกปรุงแต่งโดย ตัวแทนการปฏิบัติการ (individual agency) อย่างไร (Collins 2000, 275) Collins นำเสนอโมเดลของอำนาจ  (และการต่อต้าน) ใน 4 ปริมณฑล (domains) โครงสร้าง  กฎระเบียบ  อิทธิพล และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (structural, disciplinary, hegemonic and interpersonal domains)
            ในปริมณฑลของโครงสร้าง เป็นที่ๆ องค์กรทางสังคมจัดเรียงรูปแบบและความสัมพันธ์ เพื่อผลิตซ้ำการทำให้ผู้หญิงอยู่เบี้ยล่างอย่างต่อเนื่อง   ประกอบด้วยตำรวจ ระบบกฎหมาย โรงเรียน ตลาดแรงงาน  การธนาคาร ประกันภัย และสื่อมวลชน   ในปริมณฑลนี้ อำนาจไม่สามารถเพิ่มให้แก่ปัจเจกโดยปราศจากการพลิกแปรสถาบันสังคม ที่อุปถัมภ์การกีดกันเช่นนี้   ในปริมณฑลของกฎระเบียบ  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจถูกบริหารจัดการผ่านระบบการลำดับชั้นและเทคนิคการตรวจตราที่มีเต็มไปด้วยขั้นตอน พิธีรีตรอง  ระบบราชการ ไม่ว่าพวกเขาจะส่งเสริมนโยบายใดๆ จะยังคงอุทิศตัวให้กับการบังคับบัญชาและควบคุมระเบียบวินัยของกองกำลังและลูกค้าทั้งหมด (Collins 2000, 281)  ปริมณฑลอิทธิพลของอำนาจ เกี่ยวกับอุดมการณ์ วัฒนธรรม และจิตสำนึก และเป็นสิ่งสำคัญในการชักนำให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมสนับสนุนการทำตัวเองให้อยู่เบี้ยล่าง รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ   ปริมณฑลของอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำงานด้วยการทำให้เกิดความเคยชินกับวิธีการที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันทุกๆ วัน ... เช่น การปฏิบัติที่เป็นระบบ เกิดขึ้นซ้ำๆ และเป็นที่คุ้นเคยจนกลายเป็นสิ่งที่คนมองข้าม (Collins 2000, 287).

2.5 ทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตัวอย่าง
โมเดลของอำนาจที่ดิฉันกำลังมุ่งหน้าไปหา มีรูปแบบที่ซับซ้อนและลื่นไหล   มันรวมถึงรอยร้าวในโครงสร้างที่อยู่บนพื้นฐานของ เพศ และชนชั้น ที่ๆ สมาชิกภาพของกลุ่มหนึ่งๆ (ผู้หญิง ชาวเกษตรกร) มีความหมายที่มีนัยสำคัญ ต่อการปรุงปั้นโครงสร้างอำนาจซึ่งปัจเจกหนึ่ง ๆ ปฏิบัติการอยู่ภายใน   อันนี้ไม่ได้บอกว่า สมาชิกภาพของกลุ่มดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น หรือเพียงพอในการกำหนดตำแหน่งของคนๆ หนึ่ง ในโครงสร้างอำนาจนั้น   นี่จะเป็นการปฏิเสธการเป็นผู้ปฏิบัติการในระดับปัจเจกหรือรวมหมู่ของผู้คน (deny people any individual or collective agency) ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระอย่างชัดเจน     ถึงอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่า การเป็นสมาชิกของกลุ่มหนึ่งๆ จำกัดความเป็นไปได้ของคนผู้นั้น และนิยามอาณาเขตบางอย่าง ซึ่งมาจากการปรุงแต่งของสังคม ดังนั้น จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้    ขอบเขตที่ปัจเจกจะกดดัน หรือยอมรับ อาณาเขตเหล่านี้ และขอบเขตที่การเปลี่ยนแปลงจะถูกต่อต้าน (และอำนาจของการต่อต้านมัน) ทั้งหมดนี้ จะมีผลต่อการปั้น/ขึ้นรูป รวมทั้งสร้างความทนทานให้อาณาเขตเหล่านี้ด้วย
            ดิฉันมองเห็นด้วยว่า ผู้คนมีอำนาจมากหรือน้อย ขึ้นกับสถานการณ์เฉพาะ และเห็นว่า พวกเขาสามารถมีสถานภาพด้อยอำนาจกว่าในสถานการณ์หนึ่ง และมีอำนาจเหนือกว่าในอีกสถานการณ์หนึ่ง    ในระดับจุลภาค ดิฉันเห็นว่า แต่ละคนอยู่ที่ศูนย์กลางของพื้นที่แห่งอิสรภาพของตนเอง   พื้นที่ๆ ถูกนิยาม และเป็นผู้นิยาม ขยับเค้าโครงของพื้นที่ของกล่องที่ซ้อนกัน ที่ห้อมล้อมชีวิตของพวกเขา (their own space of freedom, a space defined by, and defining, the shifting contours of the multiple containers which circumscribe their lives)
            ส่วนของการถกเรื่องการเสริมอำนาจ ที่ดิฉันตั้งใจจะพูดถึง ในฐานะที่น่าสนใจที่สุด และยังไม่ถูกวิจัย  คือ โมเดลของการเสริมอำนาจของผู้หญิง ที่ยืนหยัดว่า หน้าที่ของมัน คือ เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์/มิติหญิงชายที่กดขี่กัน อย่างถอนรากถอนโคน    หรืออีกนัยหนึ่ง โมเดลอำนาจที่ดิฉัน ต้องการจะใช้ ได้รับอิทธิพลมากจาก Hayward  ในแง่ที่ว่า ผู้หญิงสามารถสร้าง สมรรถนะเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการปรุงปั้นกำหนดขอบเขตจำกัดทางสังคม ที่นิยามว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  (Hayward 1998, 32)  คำถาม คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้เกิดขึ้นหรือไม่ ในพื้นที่ๆ โครงการพัฒนาอย่างแทรกแซงได้หวังว่าจะเสริมอำนาจของผู้หญิงอย่างที่ระบุไว้ในโครงการ
            การประเมินการเสริมอำนาจจึงต้องระบุ หรือทำแผนที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นั่นคือ ข้อจำกัดทางสังคมต่อการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลง   รวมทั้งปริมาณอิสรภาพของการปฏิบัติการ หรือพื้นที่สำหรับการยักย้ายถ่ายเท หรือจัดกระบวนทัพ ภายในอาณาเขต  และความเข้มแข็งของการต่อต้านการเปลี่ยนอาณาเขตนั้นๆ   การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหนึ่งจึงจะสามารถระบุได้  แต่จะทำอย่างไร?
            ความพยายามในการทำแผนที่โครงข่ายข้อจำกัดทั้งปวงต่อปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ใดๆ  จะเป็นงานที่ซับซ้อนอย่างน่ากลัว และทางที่ดีที่สุด คือ อย่าพยายามทำอย่างนั้น   แต่มามุ่งการประเมินที่ ปฏิบัติการ หรือกลุ่มปฏิบัติการหนึ่งๆ ที่ระบุว่ามีนัยสำคัญที่สุดต่อข้อจำกัดเหล่านั้น
            มาดูตัวอย่างของการศึกษา   ประการแรก เราสามารถอภิปรายได้ว่า พื้นที่นี้ มีข้อจำกัดต่อปฏิบัติการที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อหญิงและชายหรือไม่   ในสถานการณ์ใดๆ (ประเทศ ภูมิภาค หมู่บ้าน ครอบครัว)  เราสามารถจะเปรียบเทียบการเข้าเรียนระดับประถมศึกษา หรืออัตราการเรียนจบ สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง  พิจารณาระดับการอ่านออกเขียนได้ของแต่ละกลุ่ม  คำนึงถึงอัตราเปรียบเทียบของการเข้าเรียนในระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ฯลฯ   เราจะพบว่า ในหลายๆ บริบท เด็กหญิงจะเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญกว่าเด็กชาย
            ตอนนี้ ดิฉันจะดูที่สถานการณ์ที่เด็กหญิงต้องการจะขยายอิสรภาพและปฏิบัติการของเธอเอง เพื่อเริ่มไปโรงเรียน   เริ่มจากมุมมอง อำนาจสามมิติ เราตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความเปิดกว้าง การถูกกดหรือหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งได้     จากข้อมูลผ่านโมเดล ขีดข่วนอำนาจ เราสามารถจะเห็นข้อจำกัด ที่ไม่สามารถระบุตัวแทนที่กำหนดและบังคับใช้อย่างตั้งใจหรือด้วยจิตสำนึก   เราก็สามารถจะพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีผลลัพธ์สุทธิเป็นศูนย์

อำนาจเหนือกว่า
มีความขัดแย้งที่เปิดเผยไหม?  ในกรณีนี้ เด็กหญิงคนหนึ่งต้องการจะไปโรงเรียน แต่คนอื่น ที่มีอำนาจกว่า  ผู้คน หรือประเพณีสังคม ที่ขัดขวางเธอ   ใคร? ทำไม?  ยกตัวอย่าง พ่อแม่ของเธอ (แม่หรือพ่อ หรือทั้งคู่?)
-           เพราะแรงงานของเธอ เป็นที่ต้องการของที่บ้าน
-           เพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อหนังสือเรียน/เครื่องแบบให้
-           เพราะพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ หรือเห็นว่าได้น้อยกว่าเสีย
-           เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการศึกษาของเธอ จะตกอยู่กับครอบครัวของสามีของเธอในอนาคต ไม่ใช่ครอบครัวที่ให้กำเนิดเธอ
-           เพราะสังคมไม่ยอมรับการให้การศึกษาแก่เด็กหญิง
-           เพราะพวกเขากลัวจะสูญเสียเธอ หรือเธอจะทอดทิ้งพวกเขาหากเธอได้รับการศึกษา

ต่อเหตุผลแต่ละข้อเหล่านี้ (หรืออื่นๆ)  คำถามต่อไปคือ กระแสต่อต้านเหล่านี้ อยู่ยงคงกระพันขนาดไหน  ยกตัวอย่าง   ที่บ้านมีความจำเป็นต้องการใช้แรงงานของเธอมากขนาดไหน?   จะต้องให้สิ่งใดพิเศษจากที่อื่น เพื่อช่วยให้เธอมีอิสระจากข้อจำกัดเหล่านี้?
            มีความขัดแย้งที่กดซ่อนไว้ไหม?  เป็นไปได้ไหมที่เด็กหญิงไม่สามารถบอกว่าเธอต้องการอะไร?  ทำไม?
ยกตัวอย่าง
-           เพราะเธอกลัวจะถูกลงโทษ
-           เพราะเธอกลัวว่าจะถูกล้อเลียน เยาะเย้ย
-           เพราะความเชื่อที่ว่าพวกเขายากจนเกินไป เธอไม่ต้องการจะทำให้พ่อแม่ขายหน้า
-           เพราะเธอกลัวว่าจะทำให้พ่อแม่ขัดแย้งกัน
-           เพราะเธอรู้ว่า มันดูไม่เหมาะสมที่เด็กหญิงจะเปิดเผยความใฝ่ฝันของตนเอง
-           เพราะเธอต้องการเป็นเด็กดี

เป็นไปไม่ได้หรือที่เด็กหญิงจะมีแม้แต่ความประสงค์ที่จะไปโรงเรียน? ทำไม?
-           เพราะเธอไม่เคยได้ยินว่าเด็กหญิงไปโรงเรียนกัน
-           เพราะเธอไม่เคยนึกฝันว่าตัวเธอเองเป็นใครคนหนึ่งที่สามารถเรียน และอ่านออกเขียนได้
-           เพราะเธอนึกไม่ออกว่า ได้เรียนหนังสือแล้วจะมีประโยชน์อะไร
-           เพราะเธอถูกอบรมบ่มเพาะมาให้ไม่เห็นคุณค่าหรือมีสำนึกว่าตนเป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง
-           เพราะเธอมีเพียงแม่ (ที่ไม่มีการศึกษา) เป็นต้นแบบ
-           เพราะเธอได้ยอมรับความเชื่อของชุมชนอย่างฝังใจว่า  เป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับลูกผู้หญิง
-           เพราะเธอเชื่อว่า มันจะทำลายโอกาสที่เธอจะได้แต่งงาน

อำนาจภายใน
เด็กหญิงจำเป็นจะต้องมีอะไรเพื่อจะได้เข้าเรียน?  ยกตัวอย่าง
-           ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ของตน และคิดถึงการปรับปรุงให้ดีขึ้น
-           ความเชื่อที่ว่า การกระทำของเธอจะมีผลกระทบ
-           มีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกกว้าง
-           มีความมั่นใจว่าเธอสามารถเรียนรู้ได้
-           การสำนึกตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์จากการศึกษา

อำนาจกับ
มีพันธมิตรที่พอจะหาได้ไหม?  ยกตัวอย่าง
-           เด็กหญิงอื่นๆ ที่ต้องการไปโรงเรียนเช่นเดียวกัน
-           เด็กหญิงอื่นๆ ที่ได้ไปโรงเรียน
-           สมาชิกครอบครัวที่เห็นอกเห็นใจ
-           บรรดาพ่อ หรือแม่ ที่ต้องการส่งลูกสาวตัวเอง หรือได้ส่งไปเข้าเรียนแล้ว
-           บรรดาครูที่พยายามชักจูงพ่อแม่ให้ส่งเด็กหญิงเข้าเรียน
-           โครงการที่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ที่ส่งลูกสาวไปเล่าเรียน

ค่านิยมในสังคม และปทัสถาน
-           ความเชื่อที่ว่า บทบาทของผู้หญิง คือทำงานบ้าน ดูแลเด็ก และไม่ต้องมีการศึกษาในระบบ
-           ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะทำลายระบบเจริญพันธุ์ของผู้หญิง
-           ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะทำให้ผู้หญิงท้าทายระเบียบสังคมที่กำหนดบทบาทหญิงชาย
-           ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะคุกคามสถาบันการแต่งงาน

ค่านิยมเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรสำหรับเด็กหญิงจากชนบท-เมือง  เกษตรกร-ชนชั้นแรงงาน-ชนชั้นกลาง   กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อย-กลุ่มใหญ่ ฯลฯ?

3.        การเสริมอำนาจ

3.1 การเสริมอำนาจในแวดวงพัฒนาศึกษา
ดังที่ได้กล่าวข้างต้น  ไม่มีคำนิยามหนึ่งเดียวใดๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับ empowerment  ในด้านหนึ่ง มีผู้แย้งว่า มันเป็นเพียงจุดเน้นที่การเปลี่ยนแปลงแบบแผนเชิงอำนาจที่มีอยู่ และการใช้มันเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย (Oakley 2001; 14)  ในอีกข้างหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า เป็นการยอมรับสมรรถนะของกลุ่มดังกล่าว [คนชายขอบและถูกกดขี่] ที่จะกระทำการและมีบทบาทในการริเริ่มการพัฒนา
            Oakley ระบุ คุณประโยชน์หลัก 5 ประการ สำหรับการเสริมอำนาจในพัฒนาศึกษา  มีดังนี้  การเสริมอำนาจในฐานะผู้มีส่วนร่วม  ในฐานะการทำให้เป็นประชาธิปไตย  ในฐานะการสร้างสมรรถนะ   ด้วยการยกสถานภาพทางเศรษฐกิจ และในฐานะปัจเจก (Oakley 2001; 43).  เขาเห็นว่า จุดเชื่อมระหว่างการเสริมอำนาจและการมีส่วนร่วม เป็นปฏิบัติการที่แข็งแรงที่สุด   ธนาคารโลก ได้เริ่มมองเห็นขั้นตอนต่างๆ ในการมีส่วนร่วม เช่น การแบ่งปันข้อมูล  การปรึกษาหารือ  ความร่วมมือ และในที่สุด การเสริมอำนาจ (World Bank 1998; 19).
            ในมุมมองที่ตั้งอยู่บนร๔ฅูปแบบโครงการ คำว่าการเสริมอำนาจได้ถูกลดทอนศักยภาพทางการเมือง หย่าขาดจากโครงสร้างอำนาจและเรื่องความไม่เท่าเทียม  Oakley อ้าง Oxfam ว่าเป็นตัวอย่างของมุมมองชนิดถอนรากถอนโคนที่ระบุว่า การเสริมอำนาจ เป็น การคำนึงถึงการวิเคราะห์และแก้ไขพลวัตของการกดขี่ และ ปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อความเห็นที่ว่า การมีส่วนร่วม ในการพัฒนาที่เป็นโครงการที่มีองค์กรทุนสนับสนุน เป็นสัญญาณของ การเสริมอำนาจ’” (Oakley 2001; 43). 
            การเสริมอำนาจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดประชาธิปไตยคำนึงถึงกิจกรรมการเมืองในระดับมหภาค  การเสริมอำนาจถูกมองว่า เป็นพื้นฐานของโครงสร้างและปฏิบัติการของประชาธิปไตย   แนวคิดนี้ นำไปสู่ยุทธวิธีที่สนับสนุนโครงสร้างของภาคประชาสังคมและองค์กรรากหญ้า   การสร้างสมรรถนะโดยทั่วไป ถูกมองว่าเป็นการเสริมอำนาจ แม้ว่าจะมีหลายแนวทาง  บางแนวดูเหมือนเป็นเพียงการฝึกอบรม
            การเสริมอำนาจด้วยการยกระดับเศรษฐกิจ เป็นแนวทางที่ได้ใช้อย่างกว้างขวางกับผู้หญิง (ไม่น่าประหลาดนัก เมื่อมีการศึกษามากมายถึงความด้อยอำนาจทางเศรษฐกิจกว่าของผู้หญิง)   อาศัยสมมติฐานที่ว่า ความไร้อำนาจของผู้หญิงเมื่อเทียบกับชาย เป็นการทำงาน (function) ของความยากจน  การแทรกแซงแนวนี้ มักจะเน้นที่กองทุนหมุนเวียน (microfinance) และธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีผู้หญิงเป็นเป้าหมาย
            การเสริมอำนาจในระดับปัจเจก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของ Freire   และรวมถึงการปลุกจิตสำนึกและการพัฒนาสติปัญญาเชิงวิพากษ์ (Freire 1974).
            ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีการ ระบุว่า การเสริมอำนาจ เป็น...เป้าหมายแรกๆ ของการช่วยเหลือด้านการพัฒนา...ทั้งธนาคารโลกหรือหน่วยงานพัฒนาหลักอื่นๆ ก็ไม่ได้พัฒนาวิธีการที่เคร่งครัด แม่นยำ สำหรับวัด และติดตามการเปลี่ยนแปลงในระดับของการเสริมอำนาจ (Malhotra, A. et al 2002, 3)

3.2 การเสริมอำนาจของผู้หญิงในสาขาวิชาพัฒนาศึกษา
ยูนิเฟม มองว่า การเสริมอำนาจเศรษฐกิจของผู้หญิง เป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อบรรเทาความยากจนและได้นิยามว่า เป็น การส่งเสริมให้เข้าถึงและสามารถควบคุมหนทางที่จะเลี้ยงชีพที่ยั่งยืนและยาวนาน และการได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุจากการเข้าถึงและควบคุมดังกล่าว   คำนิยามนี้ ไปไกลกว่าเป้าหมายระยะสั้น เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้หญิงมีรายได้มากขึ้น และแสวงหาผลประโยชน์ที่ยั่งยืน ระยะยาว ไม่เพียงแต่ในการเปลี่ยนกฎหมายและนโยบาย ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของผู้หญิงใน และได้รับประโยชน์จากการพัฒนา  แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับครัวเรือน ชุมชน และตลาด (Carr, nd, 2).
            ในที่นี้ การเสริมอำนาจ เชื่อมต่อกับผู้หญิงโดยเฉพาะ และเป็นวาทกรรมร่วมในวงพัฒนา   ปฏิญญาปฏิบัติการปักกิ่ง (Platform for Action and the Beijing Declaration) ประกาศว่าสหประชาชาติ มีปณิธาน เพิ่มความเข้มข้นของความพยายามในการสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันและมีอิสรภาพขั้นพื้นฐาน  กล่าวคือ ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคหลายชั้นที่ขัดขวางการเสริมอำนาจและความก้าวหน้าเพราะปัจจัยเช่น เชื้อชาติ อายุ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา หรือความพิการ หรือเพราะพวกเขาเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม (United Nations, 1985; para 32).
            ในทศวรรษ 1970 เมื่อความคิดเรื่องการเสริมอำนาจของผู้หญิงได้ถูกเอ่ยขึ้น โดยนักสตรีนิยมโลกที่สามและองค์กรสตรี มันถูกใช้อย่างเปิดเผยชัดเจน เพื่อตีกรอบและเอื้ออำนวยการดิ้นรนเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และความเท่าเทียมของผู้หญิง โดยผ่านกระบวนการพลิกแปรโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระดับชาติและนานาชาติ (Bisnath and Elson nd; 1).  ในบรรดานักสตรีนิยม มีความห่วงใยว่า ในการเคลื่อนตัวจากชายขอบสู่กระแสหลัก ได้มี ความพยายามที่จะกลืนแนวทางเจนเดอร์และการพัฒนา โดย เติม แนวคิดนี้ลงในวาทกรรมของการพัฒนา ปกคลุมมิติการเมืองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ เติม จึงทำให้กระบวนการพัฒนาดูไม่น่ากลัว (Porter and Verghese 1999; 131).
            ในทศวรรษ 1990 หลายหน่วยงาน ใช้คำว่า การเสริมอำนาจของผู้หญิง ที่เกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์หลากหลายที่รวมประเด็นต่างๆ ที่มุ่งเน้น การขยายทางเลือกและอัตราการผลิตของผู้หญิงในฐานะปัจเจก  ส่วนใหญ่จะแยกห่างจากวาระของสตรีนิยม  และในบริบทของการถอนความรับผิดชอบของภาครัฐ ต่อการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง (Bisnath 2001, 11).   มีการอ้างถึงบ่อยๆ เช่นในบริบทของการให้เครดิตขนาดย่อมแก่ผู้หญิง และมีบทความที่ถกเถียงถึงประสิทธิผล (หรือไม่มี) ของยุทธวิธีนี้ ในแง่การเสริมอำนาจของผู้หญิง  ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดว่า ผู้หญิงหลายคนได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและสามารถควบคุมเงินทอง แต่ก็มีหลักฐานเช่นกันที่แสดงว่า การเล็งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยปราศจากเครือข่ายสนับสนุนและยุทธศาสตร์การเสริมอำนาจที่มากพอ เป็นเพียงขยับภาระของหนี้ครัวเรือนและการยังชีพของครัวเรือนให้ผู้หญิงแบกรับ (Mayoux 2002; 7).  
            สำหรับ Bina Agarwal  ถ้า...ปลดกลุ่มช่วยเหลือตนเอง จากการให้เครดิตอย่างเจาะจงจุดเดียว และลงทุนในวาระเพื่อการพลิกแปรมากขึ้น เช่น ค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการปรับปรุงสถานการณ์ของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ  การท้าทายความไม่เท่าเทียมทางสังคม  ปรับปรุงเสียงของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น  ก็จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการเสริมอำนาจ (Agarwal 2001, 7).    เธอแย้งว่า ยุทธวิธีอันใดที่แสวงหาทางเสริมอำนาจของผู้หญิง ควรจะมีเป้าประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้หญิงในการทำงานเป็นหมู่คณะในเรื่องที่ตนสนใจ
            ในบทความที่ทรงอิทธิพลในปี 1994 Srilatha Batliwala  อภิปรายว่า การเสริมอำนาจของผู้หญิงได้กลายเป็นแนวคิดพัฒนาที่แพร่หลายอย่างไร   ปฏิสัมพัทธ์ระหว่างสตรีนิยมและประชาศึกษา (Freire’s popular education) (ซึ่งไม่มีมิติหญิงชายเลย) ได้ออกผลเป็นการดิ้นรนต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อแสดงและเปลี่ยนวิธีการที่เจนเดอร์ถูกก่อตัวขึ้น และเพื่อสร้างทางเลือกใหม่   ความล้มเหลวในการพัฒนาที่แทรกแซง ส่วนหนึ่งมาจากการที่แนวทางที่ใช้ ไม่ได้มองเห็นปัจจัยที่ซ่อนอยู่ที่ทำให้การกดขี่และเอาเปรียบผู้หญิงคงทนถาวร    Batliwala  เลือกที่จะเขี่ยการถกเถียงเรื่องอำนาจออก และหันไปให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า เป็นการ ควบคุมเหนือทรัพย์สินทางวัตถุ ทรัพยากรทางปัญญา และอุดมการณ์ (Batliwala 1994, 128).   กระบวนการของการท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นอยู่ และของการได้มาซึ่งการควบคุมมากขึ้นเหนือแหล่งของอำนาจ นี่อาจเรียกได้ว่า การเสริมอำนาจ
            Batliwala ชี้ให้เห็นว่า การเสริมอำนาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ (ผู้หญิงร่ำรวยก็ต้องทนทุกข์กับความรุนแรงในครอบครัว และการข่มขืนเหมือนกัน)   กระบวนการเสริมอำนาจรวมถึง (1) ผู้หญิงตระหนักถึงอุดมการณ์ที่สร้างความชอบธรรมให้ชายมีอำนาจเหนือกว่า และมีความเข้าใจว่ามันคอยทำให้การกดขี่พวกเธอยืนยงอยู่ได้
            Batliwala ตระหนักว่าผู้หญิงได้ถูกชักนำให้มีส่วนร่วมในการกดขี่ตัวเอง  ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (external change agents)  ซึ่งเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมอำนาจของผู้หญิง   ผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงองค์ความรู้ความคิดและข้อมูลใหม่ ที่ไม่เพียงแต่เปลี่ยนจิตสำนึกและภาพพจน์ของตัวเอง แต่ยังรวมถึงชักจูง สนับสนุนให้ลุกขึ้นปฏิบัติการด้วย  Batliwala มองเห็นว่า การเสริมอำนาจ เป็น วงก้นหอย  การเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึก  การระบุถึงพื้นที่เพื่อเป็นเป้าของการเปลี่ยนแปลง  การวางแผนยุทธศาสตร์  การปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการวิเคราะห์กิจกรรมและผลพวง” (Batliwala 1994, 132).
เธอระบุ ยุทธศาสตร์ 3 ประการสำหรับการเสริมอำนาจของผู้หญิงในการพัฒนาแบบแทรกแซง  คือ แนวทางพัฒนาผสมผสาน (integrated development approach) ที่เห็นว่า ความไร้อำนาจของผู้หญิงเป็นรูปของความยากจน สุขภาพที่เจ็บออดๆแอดๆ ของพวกเธอ ดังนั้น เป้าประสงค์จึงเป็นการช่วยผู้หญิงให้มีปัจจัยพื้นฐานเพื่อความอยู่รอด   แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development approach)  มุ่งอยู่ที่การก่อสร้างรอบๆ ความเข้มแข็งของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นคนงานรับจ้าง และส่งเสริมมุมมองที่ว่า การเสริมอำนาจจะเป็นผลพลอยได้ของการเสริมอำนาจเชิงเศรษฐกิจ   แนวทางปลุกจิตสำนึกและจัดรูปองค์กร (consciousness-raising and organising approach)  ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ และสถานภาพผู้หญิง (Batliwala 1994, 135).  ยุทธศาสตร์ที่มุ่งที่การจัดขบวนผู้หญิงให้ตระหนัก หรือท้าทายการเลือกปฏิบัติที่มีพื้นฐานบนเจนเดอร์ และ ชนชั้น ในทุกๆ แง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะในพื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ
            Batliwala อธิบายว่าการจัดขบวนเพื่อการเสริมอำนาจของผู้หญิงมีอะไรบ้าง   หลังจากที่ผู้หญิงที่ยากจนที่สุดและถูกกดขี่มากที่สุดในพื้นที่หนึ่งๆ ได้ถูกระบุตัวแล้ว นักกิจกรรมผู้ได้รับการอบรมให้รู้จักการจัดเวที ที่ผู้หญิงจะสามารถ มองดูตัวเองและสิ่งแวดล้อมของตนในมุมมองใหม่  พัฒนาภาพพจน์บวกของตนเอง  ตระหนักถึงความเข้มแข็งของตนเอง และระเบิดใส่แนวคิดผิดๆ และอคติทางเพศ (Batliwala 1994, 136).  ด้วยการพัฒนาการวิเคราะห์แบบวิพากษ์ต่ออุดมการณ์เจนเดอร์ ผู้หญิงเกิดความตื่นตัว ไม่เพียงแต่ เงื่อนไข แต่รวมถึง ตำแหน่ง ของพวกเธอ   การต่อต้านจากผู้ชาย เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงท้าทายความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบปิตาธิไตย สำหรับ Batliwala   การท้าทายเหล่านี้ เป็นการทดสอบว่า กระบวนการเสริมอำนาจได้ไปถึงชีวิตผู้หญิงไกลแค่ไหน  เธออ้างถึง Kannabiran ซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งว่า ครอบครัวเป็นชายแดนสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์...คุณรู้ไหม [การเสริมอำนาจ] เกิดขึ้นเมื่อมันก้าวพ้นธรณีประตู (Batliwala 1994, 131).
            ตามความเห็นของ Nelly Stromquist การเสริมอำนาจ เป็นแนวคิดเชิงสังคม-การเมือง ที่จะต้องรวมถึงองค์ประกอบด้านกระบวนการรับรู้ จิตวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง   องค์ประกอบของการรับรู้ หมายถึง ความเข้าใจของผู้หญิงเกี่ยวกับสาเหตุของการทำให้พวกเธอเป็นเบี้ยล่าง   มันรวมถึง ความเข้าใจถึงตัวเอง และความจำเป็นที่จะต้องเลือกที่อาจจะสวนทางกับความคาดหวังทางวัฒนธรรมหรือสังคม (Stromquist 1995, 14). มันรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ทางกฎหมายและเพศวิถี (ที่เกินเลยไปกว่าเทคนิคการวางแผนครอบครัว)   องค์ประกอบจิตวิทยา รวมถึง การที่ผู้หญิงเชื่อว่า พวกเธอสามารถกระทำการในระดับปัจเจกและสังคม เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของตนเอง    มันรวมไปถึงการหลีกลี้จาก ความช่วยไม่ได้/สิ้นหวังที่เธอได้เรียนรู้บ่มเพาะมา (“learned helplessness”)  และการพัฒนาความภาคภูมิและความมั่นใจในตัวเอง   สำหรับองค์ประกอบเศรษฐกิจ Stromquist  แย้งว่า แม้ว่างานนอกบ้านมักจะหมายถึงภาระสองเท่าตัว การเข้าถึงงานเช่นนี้ เพิ่มอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเป็นอิสรภาพทั่วไป    องค์ประกอบทางการเมือง รวมถึงความสามารถในการจินตนาการสถานการณ์ของตนและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม  ปฏิบัติการรวมหมู่เป็นพื้นฐานของเป้าประสงค์ในการบรรลุถึงการพลิกแปรสังคม (Stromquist 1995, 15).
            Susil Sirivardana  บรรยายถึง แก่นของระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย ของการขับเคลื่อนสังคมในการเสริมอำนาจของผู้หญิง (Sirivardana 2001) ซึ่งได้มีการปฏิบัติการในเอเชียใต้ ในช่วงเวลากว่า 25 ปี และมีจุดร่วมบางประการกับข้อเสนอของ Batliwala  ก็มุ่งเน้นที่ช่วยเหลือผู้หญิงยากจน ให้เข้าใจความจริงและสาเหตุของการสร้างความยากจนเชิงโครงสร้าง...และในขนาดเดียวกัน ช่วยให้พวกเขาพลิกแปร รื้อถอนและสร้างความจริงของพวกเธอใหม่ในเงื่อนไขของการเป็นไท (Sirivardana 2001, 6).   อันนี้ก็ใช้ในกลุ่มมากกว่าปัจเจก และรวมถึงการสร้างองค์ความรู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเธอเอง   กระบวนกร (facilitator) จากภายนอก ที่คลุกคลีกับกลุ่มคนยากจนที่สุด และเริ่มตรวจสอบความจริงของสังคมของหมู่บ้านกับพวกเขา   ด้วยการกระทำและตรึกตรองร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทั้งกลุ่มออมทรัพย์และ ต่อมา องค์กรที่ครอบคลุมกว้างมากขึ้นของคนจน ที่เริ่มอุบัติขึ้น รวมทั้ง ตัว facilitator ภายใน
            Rowlands เห็นว่า การเสริมอำนาจในบริบทของงานสังคมและการศึกษาที่ มีข้อตกลงกว้างๆ ... ว่า การเสริมอำนาจเป็นกระบวนการ ที่รวมถึงการพัฒนาส่วนบุคคลในระดับหนึ่ง  แต่นั่นไม่เพียงพอ  และมันต้องรวมถึงการเคลื่อนตัวจากการตื่นรู้ทางปัญญาสู่ปฏิบัติการ” (Rowlands 1997; 15).
            เธอพัฒนา โมเดลของการเสริมอำนาจของผู้หญิงว่ามี 3 มิติ ส่วนบุคคล  ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และการรวมหมู่   ในแต่ละระดับ ปัจจัยยับยั้ง และปัจจัยชักจูง มีอิทธิพลต่อแก่นของชุดค่านิยม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง   ผู้หญิงต้องเข้าใจความสำคัญของบริบท และโมเดลนี้ถูกใช้อย่างจงใจเพื่อระบุรายการเฉพาะภายในแต่ละประเภทที่เหมาะสมต่อสภาวะของท้องถิ่น  ยกตัวอย่าง ในระดับประสบการณ์/ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล  แก่นค่านิยมที่เธอระบุ ในขณะที่เธอทำวิจัยที่ฮอนดูรัส คือ ความมั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกถึงเกียรติภูมิของตน ความรู้สึกถึงความเป็นผู้ปฏิบัติการ และความรู้สึกของ ตนเอง ในบริบทกว้างและศักดิ์ศรี (self-confidence; self-esteem; sense of agency; sense of “self” in wider context and dignity)  ปัจจัยยับยั้ง มี ชายที่ข่มหญิง  ความยอมจำนนง่ายๆ  คู่ชีวิตที่คัดค้านอย่างแรง (machismo, fatalism, active opposition by partner) ปัญหาสุขภาพ และความยากจน   ปัจจัยชักจูง มีกิจกรรมนอกบ้าน การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การท่องเที่ยว การมีเวลาให้ตัวเอง และการอ่านออกเขียนได้   การเปลี่ยนแปลงถูกแสดงออกในลักษณะของความสามารถในการจับประเด็นและแสดงความเห็น  การเรียนรู้ วิเคราะห์ และปฏิบัติการ  การจัดการเวลาของตน และการได้มาและควบคุมทรัพยากร
            Kabeer เขียนในบทความที่ทรงอิทธิพลหนึ่ง แนะนำว่า การเสริมอำนาจ...หมายถึง กระบวนการที่ผู้คนที่เคยถูกกีดกันไม่ให้มีความสามารถในการกำหนดทางเลือกยุทธศาสตร์ในชีวิต ได้รับความสามารถนั้น” (Kabeer 1999; 437).   คำจำกัดความนี้ พูดชัดว่า เฉพาะพวกที่ถูกกีดกันไม่ให้มีความสามารถเหล่านี้มาก่อน จึงจะสามารถเรียกว่าถูกเสริมอำนาจ และทางเลือกที่พูดถึง ต้องเป็นเชิงยุทธศาสตร์ด้วย  Kabeer นิยามทางเลือกยุทธศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่ จำเป็นยิ่งสำหรับผู้คนในการดำรงชีวิตอย่างที่พวกเขาต้องการ (เช่น วิถีดำรงชีพ ไม่ว่าคนนั้นจะแต่งงานหรือไม่ ไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่ ฯลฯ) ซึ่งตรงข้ามกับ ทางเลือกที่มีผลน้อยกว่า ที่อาจมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตแต่ไม่ใช่ตัวแปรที่กำหนดคำนิยาม (Kabeer 1999, 437)  โปรดสังเกต การใช้คำว่า ยุทธศาสตร์ นี้ ต่างจากที่นิยามโดย Moser ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือ ความสนใจ/ผลประโยชน์ในเชิง ยุทธศาสตร์ ของผู้หญิง (women’s “strategic” interests)  ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ท้าทายความเป็นเบี้ยล่างของพวกเธอในฐานะผู้หญิง ในขณะที่ ความสนใจในเชิง ปฏิบัติ (“practical” interests) คือสิ่งที่จะช่วยให้พวกเธอดำเนินบทบาทเชิงเจนเดอร์ที่ได้บัญญัติไว้แล้วได้ง่ายขึ้น
            หลังจากวิเคราะห์ผลงานการศึกษาเรื่องการเสริมอำนาจของผู้หญิงมากมาย Kabeer ก็แย้งว่า ความสามารถในการเลือกใดๆ ถูกกำหนดโดยปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องและแบ่งแยกจากกันไม่ได้ 3 ประการ ทรัพยากร  ความเป็นผู้ปฏิบัติการ และการบรรลุผล (resources, agency and achievements) ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องให้ความสนใจ ก่อนที่จะยืนยันได้ว่า การเสริมอำนาจสามารถทำให้เกิดขึ้นได้   โดยสัญชาติญาณ นี่เป็นเรื่องจูงใจ มันไม่ยากเลยที่จะจินตนาการถึงฉากหนึ่ง ที่ปัจจัยหนึ่งหรือสองดังกล่าว จะไม่แสดงให้เห็นการเสริมอำนาจ  ยกตัวอย่าง ผู้เผด็จการใจดีคนหนึ่งสามารถจะให้อาหารที่ดีในปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โภชนาการที่ดีขึ้นโดยปราศจากการทำให้ผู้รับมีความสามารถในการกำหนดทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในชีวิต
            ทรัพยากรถูกระบุ ว่าเป็นวัตถุ แต่รวมถึงมนุษย์และสังคม และรวมถึงการทวงสิทธิ์และความคาดหวังในอนาคต ตลอดจนการจัดสรรที่เกิดขึ้น   การเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ จะสะท้อนถึงกฎเกณฑ์และปทัสถานที่ปกครองการกระจายและการแลกเปลี่ยนในพื้นที่สถาบันต่างๆ (Kabeer 1999; 437).
            ผู้ปฏิบัติการ หรือ Agency คือ ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายที่ตนเลือก   เช่นเดียวกับปฏิบัติการที่สังเกตเห็นได้ มันรวมถึงความรู้สึกของปัจเจก ในการเป็นผู้ปฏิบัติ (หรืออำนาจภายใน)   มันมักจะถูกคิดถึงในแง่ การตัดสินใจ  ผู้ปฏิบัติการ สามารถจะรวมถึง การต่อรอง การหลอกลวง และการชักใยอยู่เบื้องหลัง  การล้มล้าง และการต่อต้าน (Kabeer 1999; 438).
            ในบทความ อำนาจในการเลือก (The Power to Choose)  Kabeer กล่าวถึงสังคมศาสตร์ว่าได้จัดการกับเรื่อง agency อย่างไร   นักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้ทฤษฎีการเลือกอย่างใช้เหตุผล (rational choice theory) ซึ่งสมมติว่า ปัจเจกชนจะมีความชอบหรือฝักใฝ่ต่อชุดทางเลือกหนึ่งๆ อย่างคงเส้นคงวา    ทฤษฎีนี้ที่ว่า การตัดสินใจทั้งปวง สามารถจะอธิบายได้ในรูปของการคำนวณทางเลือกอย่างมีเหตุผล--สร้างความคลางแคลงใจในบางคน  เสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้ออ้างดังกล่าว ได้นำไปสู่เศรษฐศาสตร์ทางเลือก ที่ตัดความคิด บุรุษเศรษฐกิจที่มีเหตุผล (“rational economic man”) และเห็นชอบกับ บุคคลผู้ไม่มีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ และไม่ค่อยฝักใฝ่ทางเศรษฐกิจ (“imperfectly rational, somewhat economic, person”) (Folbre 1994, 20 quoted in Kabeer 2000, 20).
            การประเมินผลที่สมจริง ในกิจกรรมที่มีการชักนำให้คน ๆ หนึ่งได้ตรวจสอบทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดของตน ชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละอันอย่างถูกต้อง และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ได้ช่วยนำไปสู่การวิเคราะห์ ที่คำนึงถึง ความเฉื่อย หรือ ความลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ   พฤติกรรมหลายๆ ด้าน แท้จริง ถูกปกครองด้วยกฎเกณฑ์ และปทัสถาน  บางอย่างมีบทบาทในการนิยาทและธำรงระเบียบของสังคม    ปทัสถานที่โดดเด่น คือ พวกที่กำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับชายและหญิง   อัตลักษณ์เจนเดอร์ของหญิงชายเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตลอดชีวิต และไม่สามารถเขย่า ขจัดทิ้งได้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย   ถึงกระนั้น Agarwal  ได้ชี้ให้เห็นว่า ปทัสถานทางสังคมใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้  และตัวของมันเอง ก็ถูกต่อรองและเปลี่ยนแปลง แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงปทัสถานบางอย่างจะใช้เวลานาน   อันที่จริง หลายสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และหักล้างไม่ได้ ก็ได้ถูกปลดทิ้ง รวมทั้งบทบาทและพฤติกรรมของผู้หญิง ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผลพวงของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ในอดีต (Agarwal 1997, 19).

4.        สรุป

บทความนี้ มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบรรเทาความไม่เป็นธรรมอย่างมหันต์ที่กระทำต่อผู้หญิงทุกวันนี้   เมื่อเราอ่าน หรือพบปะกับผู้หญิง ที่ยุทธศาสตร์การอยู่รอด รวมถึงการซ่อนเงินกองน้อยๆ ในที่ต่างๆ เพื่อหลบตาสามีของพวกเธอ หลังจากการทุบตี พวกเธอก็ต้องยอมเอาเงินที่ซ่อนไว้ออกมาให้เขา (Risseeuw, C. 1988, 278)  เช่นนี้ เราจะไม่ต้องการเปลี่ยนสถานการณ์แบบนี้หรือ?
            เพื่อดึงดูดความสนใจของนักวางนโยบาย จำเป็นต้องทำให้เห็นความสำคัญของ การเสริมอำนาจของผู้หญิง ว่ามีผลดีมากมายเพียงใด ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของการพัฒนา   แน่นอน มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลพอๆ กัน ที่จะเถียงว่า ความไม่สมมาตรเชิงอำนาจระหว่างชาย-หญิง ก็เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้วย
            คำว่า การเสริมอำนาจ ได้กลายเป็นคำยอดนิยมในวงการพัฒนาศึกษา และถูกใช้เพื่อเติมเสน่ห์ (แทนที่จะเป็นคุณค่า) แก่โครงการแทรกแซง ที่แท้จริงต้องการทำให้เกิดผลพวงทางเศรษฐกิจและสังคมนานาประการ ที่ แม้จะเป็นเรื่องพึงประสงต์อย่างยิ่งในตัวของมันเอง ก็ไม่จำเป็นที่จะท้าทายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่
            ในทางตรงข้าม ดิฉันจึงนิยามการเสริมอำนาจของผู้หญิงว่า เป็นกระบวนการที่ผู้หญิงให้คำจำกัดความใหม่ และยืดโอกาสความเป็นไปได้สำหรับพวกเธอที่จะเป็นและกระทำในสถานการณ์ที่เธอเคยถูกจำกัดขอบเขต เมื่อเทียบกับชาย ไม่ให้เป็นหรือกระทำ    หรือ การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นกระบวนการที่ผู้หญิงนิยามบทบาทเจนเดอร์/หญิงชายใหม่ ในหนทางที่ยืดโอกาสความเป็นไปได้ของการเป็นและการกระทำ
            นี่เป็นการนิยามที่ใกล้เคียงกับคำกัดความของ Kabeer ที่ว่า  การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการที่ผู้เคยถูกปฏิเสธไม่ให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางเลือกสำหรับชีวิตของตนได้ ได้รับความสามารถนั้น (Kabeer 1999, 435)  แต่มีความแตกต่างที่สำคัญสองประการ
            (1) การเน้นที่มิติหญิงชาย ในการปลดอำนาจของผู้หญิง  เมื่อเราพูดถึงการเสริมอำนาจของผู้หญิง เราะกำลังนิยามปัจเจก ว่าเป็น ผู้หญิง และในกรณีเช่นนั้น เราจะคำนึงถึงวิธีการที่พวกเธอถูกปลดอำนาจในฐานะผู้หญิง   อันนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่า ผู้หญิงมีอัตลักษณ์ซ้อน และเป็นทั้งเกษตรกร  คนทำงาน  ผู้ค้า ฯลฯ  และจะเลือกที่จะทำงานร่วมกับชายเป็นครั้งคราว เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ของทั้งคู่   (แน่นอน การต่อสู้ร่วมกับชายเพื่อเป้าหมายร่วมในฐานะเกษตรกร คนทำงาน ผู้อยู่ใต้อำนาจเจ้าอาณานิคม ฯลฯ ดังปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์  จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับการดิ้นรนต่อสู้ในเรื่องบทบาทหญิงชาย/เจนเดอร์ด้วย  ถ้าผู้หญิงไม่พบว่าตัวเองยังตกอยู่เบี้ยล่าง เมื่อการต่อสู้ร่วมยุติลง)   อัตลักษณ์เจนเดอร์ของผู้หญิง ปลดอำนาจจากพวกเธอในบทบาทสาธารณะตลอดจนบทบาทในบ้านเรือน  ดังนั้น ผู้หญิงสามารถทำการท้าทายบทบาทเจนเดอร์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนต่อสู้รวมหมู่ที่พวกเธอมีส่วนร่วม
            (2) เป็นความแตกต่างที่เห็นยาก แต่ดิฉันคิดว่าเป็นจริง   คำจำกัดความของ Kabeer เน้นที่การได้มาซึ่งความสามารถของปัจเจกในการเลือก  ส่วนของดิฉันเน้นที่การให้คำนิยามใหม่และยืดขอบเขตที่จำกัดว่าอะไรเป็นไปได้   ดังนั้น จึงมีการเน้นมากกว่าในการที่ผู้หญิงจะบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่ขยายทางเลือก ไม่เพียงแต่สำหรับพวกเธอเอง ยังสำหรับผู้หญิงทั่วไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การประเมินการเสริมอำนาจ
ดิฉันขอแนะนำกรอบการประเมินการเสริมอำนาจ ว่าควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

ระบุอุปสรรคต่อปฏิบัติการ
นี่เป็นแก่นของกรอบคิดนี้ และช่วยให้ทำงานได้หลายอย่าง  การระบุสิ่งที่เป็นอุปสรรคจำเป็นสำหรับการทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม โดยทำให้เกิดความเข้าใจในระหว่างผู้หญิงที่เข้าร่วม ว่าพวกเธอถูกเลือกปฏิบัติอย่างไรบนพื้นฐานของเพศ (และความปรารถนาต่อ และความเชื่อในความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง)
            เมื่อมีการปฏิบัติการหนึ่งๆ (ดังตัวอย่างในข้อ 2.5 เรื่องการเข้าโรงเรียน) จะใช้กรอบนี้ ในการระบุขอบเขต เช่น ในการนิยามสถานภาพของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในมิติหญิงชายก่อนที่จะเริ่มการปฏิบัติการใดๆ  ด้วยการทำซ้ำกระบวนการนี้ในภายหลัง จะสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงได้  ดังนั้นก็จะสามารถตัดสินได้ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ขยับไปสู่ความเท่าเทียมกันมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร

ระบุว่าการเป็นผู้ปฏิบัติการของผู้หญิงได้พัฒนาอย่างไร
ในแง่หนึ่ง นี่เป็นกระจกสะท้อนอุปสรรคที่ถูกระบุไว้  ถ้าอุปสรรคกร่อนตัวลง ตามคำนิยาม โอกาสสำหรับการปฏิบัติการของผู้หญิงย่อมเพิ่มขึ้น  และเป็นจริงในทางกลับกัน  ถ้าโอกาสของการปฏิบัติการเพิ่มขึ้น อุปสรรคก็จะลดลง
            แต่เราสนใจไม่เพียงเรื่องโอกาสความเป็นไปได้สำหรับการปฏิบัติการ แต่ในปฏิบัติการจริงที่เกิดขึ้น  ยกตัวอย่าง สิทธิของผู้หญิงในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน อาจจะทำให้เสมอภาคกันมากขึ้นด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ   และมันจะช่วยลดอุปสรรคทางการต่อการขับเคลื่อนของผู้หญิง   แต่ผู้หญิงจะใช้โอกาสใหม่ที่กฎหมายเปิดทางให้ไหม? หรือ แรงกดดันในสังคมจะขัดขวางให้เธอทำเช่นนั้นหรือไม่?   ในกรณีนี้ ปรากฏว่ามีผลกระทบต่อ agency หรือการเสริมอำนาจของผู้หญิงน้อยมาก
            ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงใน agency ของผู้หญิง จะรวมทั้งระดับปัจเจกและระดับรวมหมู่  ด้วยการตั้งคำถามดังต่อไปนี้
-           ผู้หญิงมีความเห็นต่อเจนเดอร์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร?
-           รู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของตน (ความมั่นใจในตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่า ศักยภาพของตน ฯลฯ)
-           อะไรที่ผู้หญิงสามารถทำได้ตอนนี้ ที่พวกเธอต้องการแต่ทำไม่ได้เมื่อก่อน?
-           ผู้หญิงเชื่อไหมว่า ลูกสาวของพวกเธอจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน?
-           ได้ใช้ทรัพยากรใหม่หรือที่มีอยู่เดิม (นิยามกว้างๆ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้?
-           ผู้หญิงได้ทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้บรรลุผล?
-           ความช่วยเหลือจากภายนอกได้มีส่วนช่วยให้บรรลุผลอย่างไร?

ระบุถึง agency ของผู้หญิงได้เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นปฏิบัติการได้อย่างไร
นักประเมินผลกระทบจะคุ้นเคยต่อความซับซ้อนของปัจจัยต่างๆ เช่น ตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็น เป็นผลจากการแทรกแซง หรือเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกอื่น   จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน ในกรณีนี้ด้วย แต่ คำถามของปัจจัยจะต้องพิจารณาด้วยในระดับพิเศษเมื่อดูถึงการเสริมอำนาจ
            เพราะเหตุที่เรานิยามการเสริมอำนาจว่าเป็นกระบวนการที่ผู้หญิง ให้คำจำกัดความใหม่และยืดความเป็นไปได้สำหรับพวกเธอเองในการอยู่และกระทำ ฯลฯ  เราจะต้องตั้งคำถามว่า การผ่อนปรนหรือสึกกร่อนของอุปสรรคที่ได้ระบุไว้ นั้น เป็นผลของปฏิบัติการของผู้หญิงหรือไม่ หรือว่าเพราะสาเหตุอื่น   ถ้าเป็นเพราะปฏิบัติการของผู้หญิง มันก็เป็นตัวอย่างของการเสริมอำนาจที่ตรงไปตรงมา -- ผู้หญิงประสบความสำเร็จในการยืดพื้นที่ๆ เป็นไปได้สำหรับพวกเธอเอง   ในทางตรงข้าม อุปสรรคอ่อนลงเพราะสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ผู้หญิงหรือไม่?  ในกรณีนี้ เราไม่สามารถบอกว่าเป็นการเสริมอำนาจ ดังที่ได้ตกลงกันไว้ การเสริมอำนาจไม่สามารถประทานให้ แต่ต้องเป็นชัยชนะ   ถึงอย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของอุปสรรค สามารถจะทำให้เกิดการปรับปรุงในสถานการณ์ของผู้หญิง และในทางทฤษฎี การปรับปรุงนี้ จะสามารถส่งผลให้ผู้หญิงไม่ตกอยู่ในฐานะถูกปลดอำนาจ  นั่นคือ สถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีการเสริมอำนาจ  
            คำถามที่เราสามารถถามต่อ มีดังนี้
-           ผู้หญิงได้ปฏิบัติการอะไรบ้าง ในระดับปัจเจก และรวมหมู่ ในการท้าทายอุปสรรค?
-           ผู้หญิงได้ให้การสนับสนุนกันและกันและเรียนรู้จากปฏิบัติการกันอย่างไร?
-           ผู้หญิงได้ต่อต้านอุปสรรคดังกล่าวทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยอย่างไร?
-           ผู้หญิงต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างไร?
-           ได้ก้าวพ้นกระแสคัดค้านมากแค่ไหน และอย่างไร?
-           ผู้หญิงคิดว่าอิสรภาพใหม่ที่ได้มานี้ มีความมั่นคง ยั่งยืนเพียงไร?
-           ปฏิบัติการอะไรที่พวกเธอตั้งใจจะกระทำเพื่อปกป้องสถานภาพที่ดีขึ้นนี้?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น