วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

จากเศรษฐศาสตร์ปีศาจ สู่เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต David Korten

จะทะลายวัฒนธรรมทำเงินจากเงินได้อย่างไร

“How to break the culture of making money from money”

Dec.1, 09

ในระหว่างเปิดตัววารสาร Development 52.3 ‘Beyond Economics’, ที่จัดขึ้นที่นิวยอร์ค เมื่อวันที่ 29-31 ตค 2009 ลอรา ฟาโน ได้สัมภาษณ์ เดวิด คอร์เทน (David Korten), ประธานและผู้ก่อตั้ง People-Centered Development Forum และผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม รวมทั้ง Agenda for a New Economy: From Phantom Wealth to Real Wealth, The Great Turning และ When Corporations Rule the World.

ถาม: ในบทความของคุณ คุณเปิดประเด็นด้วยข้อความจากหนังสือของคุณ Agenda for a New Economy: From Phantom Wealth to Real Wealth (วาระของเศรษฐกิจใหม่: จากความมั่งคั่งปีศาจสู่ความมั่งคั่งที่แท้จริง) คุณได้บรรยายถึงวิสัยทัศน์ของโลกพระศรีอาริ์ยไว้อย่างมหัศจรรย์ คุณคิดว่าเราจะสามารถไปถึงโลกเช่นนั้นได้จริงๆ หรือ และทำอย่างไร

ตอบ: เหตุที่ผมเขียนบรรยายภาพไว้เช่นนี้ เพราะผมกำลังพยายามเผชิญหน้ากับประเด็นที่ว่า ทำไมเราจึงถูกกักขังในระบบเศรษฐกิจอย่างนี้ ที่นำพวกเราไปสู่หนทางของการฆ่าตัวตายหมู่  ในหนังสือได้บรรยายว่า เราจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อสร้างกรอบคิดใหม่ทั้งดุ้น  บ่อยครั้ง ผู้คนจะถามว่า แล้วมันมีหน้าตาอย่างไร  พวกเราจะอยู่กันอย่างไร  ดังนั้น ผมจึงเขียนบรรยายเป็นภาพให้ดูว่ามันอาจเป็นเช่นนั้น  พวกเราถูกกรอกหูว่า การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เงินทองมากมาย  จะมีความลำบากมาก  พวกเราจะต้องสูญเสียมาก  เออ ผมไม่คิดว่านั่นเป็นความจริง  ถ้าคุณมองถูกทาง  ถ้าคุณใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและมีสติ  ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเอื้ออารีต่อกัน  นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการปลดแอกเศรษฐกิจจากเงินตรา  เราสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริงๆ สำหรับทุกๆ คน และนี่คือฉากหนึ่งที่อาจเป็นไปได้

ถาม: คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้โดยสิ่งที่คุณเรียกว่า มหาอำนาจโลกที่สอง (‘the second global superpower’) (หมายถึง ประชาสังคมโลก)  แล้วผู้กำหนดนโยบายจะเล่นบทอย่างไร ในการสับสวิทช์ไปสู่โมเดลใหม่นั้น

ตอบ: ในความเห็นของผม ทางเดียวที่เราจะสามารถไปถึงที่นั่น คือ อาศัยภาคประชาสังคม  ปฏิบัติการของประชาชนในการสร้างขึ้นใหม่จากล่างสู่บน  ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ระบบการครอบครอง (กระแสหลัก) ที่ควบคุมเศรษฐกิจของเรา เข้าข้างนักล่าเชิงเศรษฐกิจ (economic predators) นั่นคือ เข้าข้างบรรษัทข้ามชาติ และตลาดการเงิน  พวกเขาปฏิบัติการในภาวะของนักล่าเหยื่อ เพียงเพื่อกอบโกบสะสมความมั่งคั่งการเงินโดยไม่กี่คนบนยอดปีรามิอ  และพวกเขาก็ไม่มีทางที่จะริเริ่มการเปลี่ยนแปลง  พวกเขาจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าว  ด้วยเหตุนี้ มันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประชาชนลุกขึ้นทำเอง และมันต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนทั้งมวล ไม่กีดกั้นด้วยเส้นแบ่งเขตรัฐชาติ  ตัวระบบเองพยายามแบ่งแยกพวกเราด้วยชนชาติ ด้วยศาสนา ด้วยชาติพันธุ์ ด้วยเพศ และพวกเขาคอยทำให้พวกเราตีกัน เพื่อแย่งชิงขนมพายซึ่งกำลังหดตัวลง  ประเด็นที่แท้จริง คือ ระบบนี้เองนั่นแหละที่ต้องเปลี่ยน เพื่อพวกเราจะสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น

ถาม: คุณจะสามารถอธิบายให้พวกเราฟังละเอียดขึ้นหน่อยได้ไหมว่าความมั่งคั่งปีศาจ กับความมั่งคั่งแท้จริงนี้ ต่างกันอย่างไร

ตอบ: ได้ มันง่ายมาก  อันที่จริง มันเห็นชัดอยู่แล้วจากการล่มสลายของวอลล์สตรีท (ย่านธุรกิจการเงินในนิวยอร์ค) ของระบบการเงิน ที่ระบบสาธารณูปโภคทั้งสถาบันของวอลล์สตรีท โดยพื้นฐานก็เพื่อทำเงินจากเงิน  ตอนนี้ เงินไม่มีความหมายอะไรเลย มันเป็นเพียงตัวเลข  มันเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขวัฒนธรรมของเรา พวกเราถูกฝังหัวให้คิดว่าเงินคือความมั่งคั่ง  แต่มันไม่ใช่  มันเป็นเพียงตัวเลข  มันเป็นตัวแทนของความว่างเปล่า แต่มันให้อำนาจมหาศาลกับผู้คนที่สร้างมันขึ้นมา  ทั้งระบบถูกอุทิศให้สร้างตัวเลขจากความไม่มีอะไรเลย ฟองสบู่การเงินเกิดขึ้นด้วยการบงการตบแต่งระบบบัญชีทุกวิถีทาง เพื่อให้ผู้จัดการการเงินของวอลล์สตรีทสามารถควบคุมทุกเส้นทางในสังคม  ดังนั้น เจ้าความมั่งคั่งปีศาจ คือ ความมั่งคั่งทางการเงินที่สร้างขึ้นจากความว่างเปล่า ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างใดๆ ที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง  พวกเขาจะยืนหยัดอยู่ได้ต่อไปตราบเท่าที่พวกเราต้องพึ่งเงินตราพวกเราพึ่งพาเงินตราที่พวกเขาสร้างขึ้นมาแต่มีวิธีอื่นที่ดีกว่ามากมายในการสร้างและจัดสรรเงินตรา ที่จะทำให้มันบริการรับใช้สังคมได้ดีกว่า   ความมั่งคั่งที่แท้จริง ต้องเริ่มจากอะไรที่มีคุณค่าจริงๆ  ที่ดิน  และอีกหลายสิ่งหลายอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุดที่เป็นของจริง ที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของเรา  แต่รูปแบบสำคัญที่สุดของความมั่งคั่งที่แท้จริง ไม่มีมูลค่าของเงินตรา  เช่น ความรักสำหรับเด็กที่แข็งแรงและร่าเริง  หรือครอบครัวที่แข็งแรง  ชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน  และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์ สดใส  เหล่านี้ล้วนเป็นรูปแบบของความมั่งคั่งที่มีชีวิต ซึ่งเป็นสุดยอดของความมั่งคั่งที่แท้จริง

ถาม: ในหนังสือของคุณ คุณบรรยายถึงบทสนทนาว่าเป็นการปฏิวัติในการเปลี่ยนนิทานของวัฒนธรรม  คุณจินตนาการบทสนทนาที่จะนำพาให้พวกเราหลุดพ้นจากวิกฤตปัจจุบันนี้อย่างไร

ตอบ: กับดักหรือบ่วงที่ใหญ่ที่สุดของพวกเรา  สิ่งที่กักพวกเราให้ติดอยู่ในระบบคือนิทานที่วนเวียนอยู่ในวัฒนธรรมของเรา ซึ่งเป็นแนวให้เรานิยามความหมายของความเป็นคน และความเป็นไปได้ของคน และแง่มุมต่างๆ ว่าอะไรคือความมั่งคั่ง และสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตควรเป็นอย่างไร   นิทานเหล่านี้ ถูกตีกรอบอยู่ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ในทางที่สนับสนุนระบบของการครอบงำและขูดรีด ซึ่งผมเรียกว่า จักรวรรดิ  สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความลึกส้ำในบทสนทนาระหว่างผู้คน  คุณจะเริ่มมองเห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างนิทานหลอกลวงของจักรวรรดิ และนิทานที่แท้จริงที่นิยามความเป็นจริงที่แท้จริงสิ่งที่พวกเขาเชื่อจริงๆ ตอนที่ตรึกคิดอยู่นั้น  ในตอนนั้นเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่พวกเขาก็ยังติดอยู่กับนิทานวัฒนธรรมสิ่งที่ฝังหัวมานาน จนเกิดความรู้สึกขัดแย้ง จนพวกเขาคิดว่า เออ มันต้องมีอะไรผิดปกติในตัวฉันนะ  ฉันไม่เข้าใจจริงๆ หรือว่าฉันอาจจะเป็นบ้าไปแล้ว   แต่ด้วยการพูดคุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความจริงกัน  ความจริงที่แท้จริงก็เริ่มปรากฏออกมา และในที่สุดก็แปรเปลี่ยนวัฒนธรรม  ยกตัวอย่าง ผมมักจะใช้เรื่องของขบวนการสตรี  ความตื่นตัวอุบัติขึ้นจากการสนทนากันระหว่างผู้หญิงในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อนิทานกระแสหลักบอกว่า กุญแจสู่ความสุข คือหาผู้ชายที่ถูกคน แต่งงานกับเขา และอุทิศทั้งชีวิตรับใช้เขา   ถ้าคุณเป็นผู้หญิง และเกิดรู้สึกขัดกับนิทานเรื่องนี้ว่า มันไม่เข้ากับคุณ  คุณก็ยังคงถูกคาดว่าจะต้องเชื่อ คุณจึงเริ่มโทษตัวเองว่าคงผิดปกติอะไรสักอย่าง  โทษตังเองว่าคงเป็นผู้หญิงไม่ดีพอ    ผู้หญิงจึงรวมตัวกัน และจับเข่าคุยกันถึงความรู้สึกในหัวใจ เกี่ยวกับบทบาทและเจ้าพวกความเชื่อเชิงวัฒนธรรม  และแล้วนิทานวัฒนธรรมเรื่องเก่าก็ใช้ไม่ได้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ต่อไป   ผู้หญิงเริ่มตื่นตัวว่า ความผิดไม่ใช่อยู่ที่ตัวพวกเธอ ความผิดมันอยู่ที่นิทานวัฒนธรรม ดังนั้น พวกเธอจึงลุกขึ้นเปลี่ยนนิทานวัฒนธรรม และปลดปล่อยพลังงานหญิงสู่สังคม

dt/9-22-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น