วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ธรณีกรรแสง โดย Vandana Shiva

ธรณีกรรแสง
(Mother Earth in Grieves)


เรียบเรียงจาก ปาฐกถาพิเศษ ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ โดย ดร. วันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) ส่วนหนึ่งของบรรยายชุด โลกของเราไม่ได้มีไว้ขายเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553  ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ  ร่วมจัดโดย School for Wellbeing Studies and Research, SIFA, และ สวนเงินมีมา
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี ตันติวิรมานนท์




ปาฐกถาช่วงเช้า
ประชาธิปไตยผืนดิน: ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ


เหตุเกิดที่ลาลัค

น้ำ (ผึ้ง) หยดเดียว

ปฏิวัติเขียว ที่ปัญจาบ

พัฒนาเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว:
จากสงครามโลกครั้งที่สองสู่สงครามการค้ากำไร

อินเดีย: ยิ่งพัฒนา คนหิวโหยยิ่งมาก

ใยฝ้ายสู่เอกราช และเมล็ดฝ้ายสู่ความเป็นทาส

สงครามชิงเมล็ด

การต่อสู้ระหว่างกฎหมายและกฎโลภ: กรณีขุดแร่บ๊อกไซท์

กลไกตลาด  ประชาธิปไตย และชะตาชีวิตมนุษยชาติ

ความล้มเหลวของอนุสัญญาเกียวโต : จุดเริ่มต้นของการทวงสิทธิมนุษยชนของแม่ธรณี


เวทีเปิด ถาม-ตอบ


เวทีเสวนาช่วงบ่าย
สันติสุขแห่งสังคม: การปฏิรูปที่ดิน ความยุติธรรม และความยั่งยืน





ทำไมเราจึงต้องมาพูดกันเรื่องประชาธิปไตยผืนดิน?    เพราะว่าโลกที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตเรา กำลังอยู่ในภาวะโคมา   หย่อมผืนแผ่นดินและระบบนิเวศเล็กๆ ที่มนุษย์เคยพึ่งพาอาศัยอยู่รอดมาได้หลายพันปี กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว

เหตุเกิดที่ลาลัค
ลาดัค (Ladak) เป็นประเทศเล็กๆ ในหุบเขาของเทือกเขาหิมาลัย เป็นภูมิประเทศที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย (desert glacier barren land) แต่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยสายน้ำจากการละลายของหิมะบนยอดเขาในฤดูร้อน   ดังนั้น แม้จะพึ่งฝนไม่ได้ พวกเขาก็สามารถเพาะปลูกธัญพืชและผลิตปัจจัยพื้นฐานได้พอเพียง ด้วยการพึ่งสายน้ำน้อยจากการละลายของหิมะ  (พวกเขา ปรับตัวเข้ากับความหนาวได้ดีเยี่ยม ปีใดที่อากาศยิ่งหนาว  ย่อมหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำจากหิมะที่มากขึ้นบนยอดเขา)

ในปี 2005 มีฝนตกหนักผิดปกติ สายน้ำน้อยจากการละลายของน้ำแข็ง จึงกลับกลายเป็นน้ำเชี่ยวไหลหลากฉับพลัน ได้พัดทำลายหมู่บ้านและทำลายไร่นาไปกับกระแสน้ำ   อุทกภัยนี้ เกิดขึ้นตลอดลำน้ำเรื่อยลงมาจนถึงปากีสถานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ในปีนี้ พายุฝนหนักอีก และเป็นวิกฤตอุทุกภัยก็กำลังดำเนินอยู่เป็นเดือนแล้วอย่างที่ปรากฏในข่าว  ในขณะเดียวกัน อุณหภูมิก็เพิ่มสูงขึ้นมากในจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ถึงกว่า 40 องศาเซลเซียส

นี่เป็นภาวะอากาศวิบัติ/อลวน (climate chaos) ไม่ใช่เพียงภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง/โลกร้อน (climate change/global warming)  มนุษย์ไม่สามารถพยากรณ์อากาศได้เหมือนเดิม  ภาวะเช่นนี้ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายของพันธุ์พืชสัตว์ทั้งมวลหดหายไป   สหประชาชาติรายงานว่า สองในสามของความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่สามารถฟื้นคืนได้ด้วยตัวเอง  ในขณะเดียวกัน การแย่งชิงน้ำ จะเป็นสาเหตุหลักของสงครามในอนาคต   ในอินเดีย ชาวนาฆ่ากันตายเพราะการแย่งใช้น้ำ

น้ำ (ผึ้ง) หยดเดียว
ความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ถูกเบี่ยงเบน/บิดเบือนไปเป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรม     การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมักถูกมองหรือนำเสนอสู่สาธารณชนว่า เกิดขึ้นในชนบท หรือป่าเขา ที่ผู้คนอาศัยอยู่เป็นหย่อม ๆ เป็นชุมชนที่มีความแตกต่างกันในด้านจารีตประเพณีวัฒนธรรม   อันที่จริง พวกเขาเคยอยู่ร่วมกันมานาน อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ   จนเมื่อเร็วๆ นี้ น้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่ความโกรธแค้นถึงขั้นฆ่ากันตาย คือ การหดหายลงของทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่าที่บีบเบียดให้ชุมชนเปลี่ยนจากการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มาเป็นการแย่งชิงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้    แต่ทางการ นักวิชาการและสื่อกระแสหลัก มักกล่าวหาว่า ความไม่ลงรอยกันทางวัฒนธรรม ค่านิยม หรือ อัตลักษณ์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง

ปฏิวัติเขียว ที่ปัญจาบ
ในปี 1984 ปัญจาบ (ซึ่งหมายถึง ดินแดนแห่งแม่น้ำห้าสาย) ปฏิวัติเขียว ได้เริ่มต้นขึ้นที่นั่น  โดยมุ่งไปที่ชาวนาที่มีต้นทุน/สถานภาพทางเศรษฐกิจสูงอยู่แล้ว  ผลคือ ปฏิวัติเขียว ไม่เพียงแต่ขยายช่องว่างรายได้ ระหว่างชนชั้น  แต่ยังขยายจำนวนชาวนาที่ติดบ่วงหนี้สินอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นมา    นอกจากนี้ ปฏิวัติเขียว ยังสร้างหนี้นิเวศ เพราะเกษตรแผนใหม่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากกว่าเกษตรดั้งเดิมถึง 10 เท่า  ทุกวันนี้ ทรัพยากรน้ำได้เหือดหายไปจากปัญจาบ   ความมั่งคั่ง ที่เกิดจากปฏิวัติเขียว ไม่เพียงแต่ทำให้มีคนจนมากขึ้น ยังได้ทำให้ปัญจาบดินแดนแห่งน้ำกลายเป็นดินแดนหิวน้ำ/ขาดแคลนน้ำ (water famine) ไปด้วย

ปฏิวัติเขียว ได้ปล้นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของน้ำ ดิน และความหลากหลายของพันธุ์พืช  เพราะ ธรรมชาติถูกจัดให้อยู่ในนอกกรอบคิด (วางแผน) ที่แยกว่าอะไรสำคัญและไม่สำคัญ  กรอบคิดนี้ให้ความสำคัญต่อการไหลเวียนและงอกเลยของเงินตราเท่านั้น  ความขัดแย้งทั่วทุกหัวระแหงทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มีรากเหง้าจากการปะทะกันระหว่างสองโลกทัศน์เพื่อกำไรเม็ดเงิน หรือ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและธรรมชาติอันเนื่องมาจากกรอบคิดกระแสหลักนี้

พัฒนาเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว: จากสงครามโลกครั้งที่สองสู่สงครามการค้ากำไร

นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สองของสหรัฐฯ ที่มุ่งหมายสร้างงานเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และมีที่อยู่อาศัย ด้วยการผ่อนเงินซื้อบ้าน เมื่อนำมาใช้ในปัจจุบัน กลับเน้นที่การกู้ยืมและนำไปสู่การสูญเสียที่อยู่อาศัยและทำกิน     กลไกการเงินนี้ถูกปรับมาใช้เพื่อการพัฒนาชาติในประเทศกำลังพัฒนา  วิธีการคือ ให้ชาวนาใช้ที่นาเป็นหลักค้ำประกันในการกู้เงินมาลงทุนใน ปฏิวัติเขียว  เพื่อแลกกับความฝันว่าจะได้รายได้เพิ่ม   แต่สินเชื่อดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือทำกำไรสำหรับนายทุน มากกว่าความตั้งใจที่จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย   ในขณะที่ชาวนาต้องเสี่ยงกับความผันผวนนานัปการ  ดอกเบี้ยกลับเดินหน้าอย่างมั่นคงและแน่นอน    ชาวนาจึงกลายเป็นผู้โชคร้าย เมื่อต้นทุนความเสี่ยงสูงกว่ารายได้  เมื่อไม่สามารถจ่ายดอก ต้นก็พอกพูนอย่างรวดเร็ว จนหมดกำลังที่จะจ่ายเงินกู้คืนได้  เมื่อชาวนาจนตรอก กฎหมายกลับรับรองความชอบธรรมของนายทุนให้ริบที่ดินของชาวนา  ด้วยวัฎจักรเงินกู้นี้ จึงไม่แปลกที่ชาวนากลายเป็นคนพเนจรไร้ที่ทำกินเสียส่วนใหญ่  การแปรสินทรัพย์ให้เป็นทุนเช่นนี้ กลายเป็นหัวใจของกระบวนการเก็งกำไร  เพราะ ที่ดินยิ่งเปลี่ยนมือไปมากทอดขึ้นแค่ไหน มูลค่าและกำไร ก็มากขึ้นเท่านั้น  ชาวนาเจ้าของที่ๆ หลุดไป ไม่มีทางที่จะซื้อที่ดินของบรรพบุรุษคืนได้ ด้วยเพียงการผลิตพืชพรรณธัญญาหารอย่างสุจริตเหมือนเดิม    ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เก็งกำไรจากการเปลี่ยนมือถือครองที่ดินเป็นลูกโซ่เช่นนี้ กลายหัวจักรของเศรษฐกิจฟองสบู่    กลไกการเงินที่เคยถูกใช้เพื่อประกันความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนด้อยโอกาส  ได้กลับกลายเป็นเครื่องมือถอนรากคนด้อยโอกาส เช่น ชาวนา ให้ละทิ้งถิ่นที่ทำกินของตน  ผลคือการเปลี่ยนแผนภูมิของการผลิตและผู้ผลิตอาหาร  เมื่อฟองสบู่แตก

นี่เป็นการประจัญบานระหว่างเศรษฐกิจกระแสหลักที่ตั้งอยู่บนตำรา/นิยายที่ผู้เชี่ยวชาญแต่งขึ้น และเศรษฐกิจดั้งเดิมที่วิวัฒนาการจากวิถีชีวิตจริงของชาวบ้านผู้ผลิตอาหาร

อินเดีย: ยิ่งพัฒนา คนหิวโหยยิ่งมาก

ตั้งแต่อินเดียเริ่มย่างขึ้นสู่ภาวการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวสูงเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียได้ติดอันดับเป็น นครหลวงแห่งคนหิวโหย  สถิติทางการบอกว่า มีประชากรยากจน 34%  แต่สถิติจากแหล่งอื่นๆ กลับสูง ถึง 50-70%   ความยากจนและหิวโหยมีสาเหตุหลัก 3 ประการ   การหดหายหรือเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ  การใช้จ่ายเงินเติบเกินรายรับ  และนโยบายพัฒนาแห่งชาติ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอต่อความมั่นคงทางอาหาร หรือไม่ใส่ใจกับแผนภูมิผู้ผลิตอาหารที่แปรเปลี่ยน จากมือของผู้ดำรงวิถียังชีพที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ สู่เงื้อมมือบรรษัทข้ามชาติที่หิวกำไร

การค้าข้ามชาติ ไม่ใช่ของใหม่ แต่การค้าปัจจุบันต่างจากการค้าในโบราณกาลที่เงื่อนไข คือ การยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ (deregulation)  ในสมัยโบราณ ตำนานเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับเครื่องเทศจากอินเดีย อันเป็นสินค้าสำคัญในทางสายไหม กลายเป็นแรงดลใจให้โคลัมบัสออกเดินเรือไปแสวงโชคที่อินเดีย แต่หลงทางไปเจอทวีปอเมริกา  และหลงเรียกคนพื้นเมืองว่า ชาวอินเดียน จวบจนทุกวันนี้   นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชาวตะวันตกที่ออกเดินทางข้ามมหาสมุทรไปค้าขายในแดนตะวันออก กลายเป็น บริษัท East India และพัฒนาเป็นการล่าอาณานิคมที่แบ่งโลกเป็นสองซีก(มหาอำนาจ) ตะวันตกผู้ล่า และ ตะวันออกผู้อยู่เบี้ยล่างภายในช่วงเวลาเพียง 2-3 ศตวรรษ

การไล่เบี้ยเช่นนี้ ยังคงดำเนินต่อไปในสงครามการค้าข้ามทวีปทุกวันนี้ แม้ว่าประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม จะได้รับเอกราชและเลื่อนสถานภาพเป็น ประเทศด้อย/กำลังพัฒนา (หรือโลกที่สาม)    ประเทศมหาอำนาจ หรือพัฒนาแล้ว ได้ใช้ (บิดเบือน) เครื่องมือกลไกในการพัฒนา (เช่นเดียวกับกลไกสินเชื่อ) บีบประชาคมโลกให้ลดกฎเกณฑ์ในการค้า และคืบคลานเข้าผูกขาดวัตถุดิบทุกอย่างตั้งแต่การผลิตจนถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ 

ทุกวันนี้ เมล็ดพันธุ์ทั่วโลกตกอยู่ในเงื้อมมือของบรรษัทยักษ์ใหญ่ 5 แห่ง เกือบหมด บรรษัทเหล่านี้ ร่ำรวยมาจากการผลิตสารเคมีเพื่อสงคราม (เช่น Agent Orange ที่ใช้ในสงครามเวียดนาม ในทศวรรษ 1960-70)  ยาแผนปัจจุบัน/เภสัชกรรม  และเคมีภัณฑ์เพื่อการผลิตทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารพิษ (กรณีแก๊ซรั่วที่คร่าชีวิตชาวบ้านที่หลับใหลในเมือง Bhopal ในทศวรรษ 1980)  ปัจจุบัน บรรษัททั้งห้านี้ ได้ลุกล้ำเข้าไปในแดน biotech หรือเทคโนโลยีทางพันธุกรรม     ตั้งแต่ ปี 1987 บรรษัทเหล่านี้ ได้เริ่มกว้านซื้อเมล็ดพันธุ์จากทั่วโลก   และในนามของการขจัดความหิวโหย ได้ใช้เทคโนโลยีตัดแต่งพันธุ์ เป็นเมล็ดจีเอ็ม (genetically modified) และจดทะเบียนเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของตน

ก่อนปี 1990  เมล็ดพันธุ์กว่า 80% ของอินเดียยังคงวนเวียนอยู่ในมือของชาวไร่ชาวนาในประเทศ    พวกเขามีเสรีภาพในการแลกเปลี่ยน หรือเก็บสะสมเมล็ดเพื่อใช้เอง ฯลฯ อย่างอิสระ  แต่พอบรรษัทเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีและบงการกลไกการค้าและกฎหมาย จนสามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญาได้ในปี 1990  ชาวนาผู้ผลิตอาหารที่ใช้เมล็ดของตน โดยนิตินัยได้กลายเป็น โจรขโมย ผู้ละเมิดสิทธิทางปัญญาของบรรษัทเหล่านั้น

ใยฝ้ายสู่เอกราช และเมล็ดฝ้ายสู่ความเป็นทาส

มหาตมะคานธี นำอินเดียปลดแอกจากอังกฤษโดยเริ่มปั่นฝ้ายทอผ้าใช้เอง  สายป่านฝ้ายและล้อปั่นด้ายได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพของชาวอินเดีย    ประวัติศาสตร์ตอนนี้ยังคงเป็นแรงบันดาลใจของ เยาวชนจำนวนมากในรุ่นของ วันทนา ศิวะ   วันทนาเล่าถึงสาเหตุที่เธอเริ่มสนใจเรื่องเมล็ด  ในปี 1973 ในขณะที่ฉันกำลังศึกษาเพื่อทำปริญญาเอก และหมกมุ่นอยู่กับทฤษฎีควันตัมฟิสิกซ์  ในระหว่างปิดภาค ฉันจะกลับมาอยู่บ้าน และชอบไต่ขึ้นเขาสูง  แต่ในปีนั้น ฉันพบว่า ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้หายไปแล้ว และแม่น้ำก็เริ่มเหือดแห้ง  ฉันถามคนแถวนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น  พวกเขาบอกว่า มีคนเข้ามาตัดไม้  แต่พวกเขาบอกว่า ไม่ต้องกังวลหรอก เพราะแม่หญิงในหมู่บ้านได้รวมตัวกันต่อต้านการตัดไม้ เรียกว่า Chipko (แปลว่า กอดต้นไม้)   ... การพักร้อนที่บ้านในปีนั้น ได้เปิดทางให้ฉันรู้จัก Chipko ทำให้ฉันประจักษ์ถึงความสัมพันธ์เกี่ยวโยงที่ลึกล้ำในจิตวิญญาณของแม่หญิงเหล่านี้กับธรรมชาติ   วันทนา เห็นว่า ทางแก้ให้หลุดจากอุ้งมือของเศรษฐกิจเงินตรา อยู่ที่ชาวบ้านชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่น   ในปี 1987 วันทนาเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะตระหนักถึงสงครามใหม่ที่ก่อตัวขึ้นแล้ว

สงครามชิงเมล็ด

ทุกวันนี้ เมล็ดฝ้ายได้ถูกครอบครองด้วยลัทธิอาณานิคม   มอนซานโตได้กว้านซื้อพันธุ์เมล็ดฝ้ายไปจนเกือบหมด  ราคาของเมล็ดพุ่งขึ้นจาก 700 รูปี/กก เป็น 3,000 รูปี/กก (2,300 รูปี เป็นค่าลิขสิทธิ์!)  มอนซานโตโก่งราคาด้วยการโฆษณาว่า เมล็ดของเขาได้รับการปับปรุงจากเทคโนโลยีระดับสูงให้ทนทานโรค  แต่เอาเข้าจริง กลับต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า (จากการทดลองของวันทนา)    มอนซานโตได้ตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อต้านโรคชนิดหนึ่ง แต่กลับสร้างความสับสนในองคพายพของเมล็ด  จนเมล็ดนั้นอ่อนแอต่อโรคอื่นๆ  ในที่สุด เมล็ดจีเอ็มเหล่านี้ ได้สร้างแมลง หรือโรคที่ดื้อยา จนทำให้ต้องใช้สารเคมีมากยิ่งขึ้น   เมื่อฟองสบู่แตกเร็วๆ นี้ มีชาวนาในอินเดียฆ่าตัวตายถึง 200,000 คนทั่วประเทศ  เมื่อติดตามดูข้อมูลใกล้ชิดขึ้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวนาฝันสลายจากการปลูกฝ้ายบีที (เมล็ดจีเอ็ม ดูภาคผนวก 1)    เดิม อินเดียมีฝ้ายกว่า 5,000  สายพันธุ์  แต่ทุกวันนี้ มันเกือบสูญหายไปหมดแล้ว  วันทนาเล่าว่า เธอต้องเดินทางไปหมู่บ้านไกลโพ้น เพื่อแสวงหาเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมเพียง 4-5 เมล็ด ด้วยหวังว่าจะเพาะให้มันกลับฟื้นคืนความหลากหลายแก่มนุษยชาติได้

ห้าบรรษัทยักษ์เหล่านี้ คือ คาร์กิล  คอนการา  เอดีเอ็ม คอนทิเนนเติล และมอนซานโต  ได้ก้าวเข้าไปสู่การควบคุมน้ำ โดยทำให้น้ำเป็นสินค้า

โลกาภิวัตน์ได้ทำให้เกิดระบบผูกขาด ได้บดขยี้ทำลายผู้ผลิตรายย่อย คนเล็กๆ โดยการใช้กลไกโลก WTO (องค์การค้าโลก)  ทำให้การเก็บสะสมเมล็ดของชาวนาเป็นอาชญากรรม  โลกาภิวัตน์ ควบคุมระบบเกษตรโดยมองข้ามคน สนใจแต่ระบบตลาด  การส่งออก และการสร้างระบบสาธารณูปโภค (ระบบชลประทาน สินเชื่อ ถนน ฯลฯ)  เป้าหมายเพียงเพื่อประกันกลไกที่อำนวยความสะดวกต่อการลงทุน   แลกเปลี่ยนทางการค้า  และการเลื่อนไหลของเงินตรา ด้วยการ ลดกฎเกณฑ์การควบคุม  

ในระบบการประเมิน/วัดมูลค่าการผลิตในภาคส่วนต่างๆ (ซึ่งกำหนด นิยามโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อใช้ในการวางแผนการลงทุนพัฒนาชาติ) ปรากฏว่า ผลผลิตทางภาคเกษตรมีเพียง 2% ในจีดีพี   เดิมราคาผลิตผลทางเกษตรระหว่างชนบทกับเมืองจะต่างกันเพียง 2%    ปัจจุบัน ได้กลายเป็น 80-90% เพราะห่วงโซ่การค้ากำไร นั่นคือ คนจนต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้ออาหาร ส่วนชาวนากลับมีรายรับน้อยลง  

ในทางกลับกัน สื่อและโฆษณาสินค้าทั้งหลายต่างชวนให้เชื่อว่า การซื้ออาหารหรือผลิตผลโดยตรงจากผู้ผลิตรายย่อยเป็นการเสี่ยงต่อสุขภาพ  ผลคือ ดึงดูด หรือผลักดันให้ผู้บริโภค (เมือง) ไปกระจุกตัวซื้อ (หรือเสพติด???) ผลผลิตของบรรษัทกระแสหลัก    กระแสบริโภคนิยมหลักที่อุปถัมภ์โดยระบบวัดมูลค่าของภาครัฐ และอุตสาหกรรมการโฆษณา ได้ทำให้อาหารกลายเป็นสินค้าสวยงาม น่าซื้อ น่ากิน ที่ไม่มีชีวิตเพียงเพื่อค้ากำไร แทนที่จะเป็นผลผลิตจากห่วงลูกโซ่ของชีวิต  อันแรก (กำไร) นำไปสู่วงจรหนี้อุบาทว์  ส่วนอันหลัง (ชีวิต) เป็นสิ่งที่ปฏิบัติตกทอดกันมา เพื่อธำรงความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของผู้คนในท้องที่

เมื่อความสัมพันธ์ของคนท้องที่กับวงจรลูกโซ่ในการผลิตอาหารขาดลง ชาวนาในชนบทต้องพลัดถิ่นหลั่งไหลออกไปหารายได้จากที่อื่น มันเป็นการย้ายถิ่นอย่างไม่มีทางเลือกและบีบคั้น สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตในชนบท ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ผลิตอาหาร

การต่อสู้ระหว่างกฎหมายและกฎโลภ: กรณีขุดแร่บ๊อกไซท์

อินเดียมีประชากรที่เรียกว่า อธิวาสี (Adivasi) อยู่ 9% คนเหล่านี้เป็นชนเผ่าที่อยู่มาก่อนตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ที่ยังอาศัยอยู่ตามป่าเขา ยึดถือจารีตประเพณี ความเชื่อโบราณที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ    ถิ่นฐานของพวกเขาไม่เพียงแต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดิน น้ำ ป่า     ในยุคพัฒนานี้ ยังถูกสำรวจพบว่าเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วย แร่ธาตุล้ำค่าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แร่บ๊อกไซท์

ในภาวะค้ากำไรที่เชือดเฉือนกันอย่างดุเดือดในเวทีโลก  วิธีหลัก คือ ลดต้นทุนการผลิต   แต่กฎหมายควบคุมการสร้างมลพิษก็เริ่มเข้มงวดขึ้น    ประเทศที่ร่ำรวยจากความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม เริ่ม outsource (จัดจ้างคนให้ทำงานนอกถิ่น) ไปยังประเทศกำลังพัฒนา  แรงงานที่ outsource มาที่อินเดีย ได้ช่วยประหยัดเงินแก่อุตสาหกรรมไอที ของสหรัฐฯ ถึง 40 พันล้านเหรียญ  ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงงานถลุงเหล็ก หรืออลูมิเนียมที่ถลุงทรัพยากรธรรมชาติและสร้างมลภาวะ ต่างปิดตัวลง และเคลื่อนย้ายมาสู่โลกที่สาม เช่น อินเดีย  เงินลงทุนต่างประเทศสายนี้ กลายเป็นหัวจักรสำคัญในการผลาญทรัพยากรในโลกที่สาม  ชุมชนอธิวาสีได้ถูกหมายตาว่าเป็นแหล่งแร่บ๊อกไซท์

อันที่จริง รัฐธรรมนูญอินเดียรับรองสิทธิชุมชนในการปกครองท้องถิ่นด้วยตนเอง กล่าวคือ โครงการพัฒนาใดๆ จะต้องผ่านการรับรองฉันทามติจากชุมชนที่อยู่มาก่อน รวมทั้งชนเผ่าต่างๆ  ในปี 1996 เมื่อกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้  ชาวอธิวาสีได้มีการประชุม ถกเถียงอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียจากโครงการขุดแร่บ๊อกไซท์  ในที่สุด ชุมชนมีฉันทามติ ไม่รับโครงการนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าปราศจากแร่บ๊อกไซท์ ความสามารถในการอุ้มน้ำของผืนดินจะสูญหายไปด้วย และมลพิษจากการถลุงอลูมิเนียม จะทำลายระบบนิเวศที่พวกเขายังต้องพึ่งพาอาศัยอยู่     แต่เรื่องไม่จบลงง่ายๆ ตามที่กฎหมายรับรอง    ความโลภหิวกำไร ทำให้เกิดการละเมิดคำตัดสินของชุมชน  เพราะกฎหมายก็รับรองสิทธิ์ในการค้ากำไรเช่นกัน    ผู้ลงทุนไม่ยอมแพ้  มีการติดสินบน ยุยงคนในชุมชน  รวมทั้งสร้างโรงงานถลุงรออยู่ห่างออกมาจากชุมชน โดยหมายจะแทรกซึมช่วงชิงผืนดินที่อุดมสมบูรณ์นั้น

ในยุคโลกาภิวัตน์ กฎหมายได้แยกนิยามคำว่า บุคคล และ พลเมือง  บริษัทเป็นนิติบุคคล (ที่ถูกมองว่า เป็นผู้ลงทุนเพื่อการ พัฒนา)  พลเมือง มีหน้าที่ ต้องสละสิทธิส่วนตัวเพื่อสังเวย การพัฒนา/ขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่ง ประโยชน์เพื่อส่วนรวม    เมื่อตรรกะของกฎหมายและการพัฒนาชาติเป็นเช่นนี้  จึงเกิดช่องโหว่สู่ความลำเอียง     เกมนี้ใครจะ แพ้-ชนะ จึงอยู่ที่ว่า ใครมีเงินมากกว่ากัน    ผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินมากเท่าไรเพื่อครอบงำกลไกยุติธรรม และประชาธิปไตย    บริษัทสามารถทุ่มเงินซื้อกระบวนการยุติธรรม  สร้างภาพ ปั้นเรื่อง แต่งข้อมูล เพื่อลบล้าง ตลอดจนใส่ร้ายผู้ประท้วง คัดค้าน และชาวบ้านผู้มีกำลังทรัพย์น้อยนิดอย่างเทียบกันไม่ได้  บริษัทจึงมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการพูด แต่ความจริงกลับถูกเหยียบทับไว้ ด้วยอำนาจเงิน

นี่เป็นสงครามติดอาวุธในตลาดการค้าโลก  ภาครัฐได้ใช้กำลังรักษาความมั่นคงของชาติ เข้ากวาดล้างในพื้นที่ชนเผ่า เรียกว่า Operation Green Hunt โดยฉายภาพว่าชนเผ่าเป็นปฏิปักษ์ต่ออธิปไตยของชาติ   ภาคประชาสังคมที่ วันทนา ศิวะ มีส่วนร่วมนำ ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เรื่อง ประชาธิปไตยและสันติ ขึ้นในเมืองหลวงเดลฮี  เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ชนเผ่าอธิวาสี ได้เล่าถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะในเมืองหลวง  ในระหว่างการเดินทางที่ผู้นำต่างๆ ต้องเดินลงจากป่าเขา  ผู้นำสองคนถูกทหารลักพาตัวไป  นี่แสดงให้เห็นถึงอันตรายรอบด้านที่พยายามปิดปากชนเผ่า  แต่ในที่สุด เสียงของชนเผ่าก็ได้ยินถึงหูของกระบวนการยุติธรรม และสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม .... 

สำหรับชาวอธิวาสี พวกเขาไม่พูดว่า ออกไปทำไร่ทำนา  แต่จะพูดว่าไป ตกแต่งผืนดินให้งดงาม  ด้วยการเก็บสิ่งเล็กสิ่งน้อยในบริเวณนั้นมาจัดวางเป็นพวงมาลัยรอบๆ ต้นพืชต่างๆ ที่ปลูกไว้   พวกเขาบอกว่า พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่า อัตลักษณ์แรกเริ่มของทุกคน คือ การเป็นพลเมืองของผืนโลกลูกของพระแม่ธรณี    ความแตกต่างของวิถีชีวิตของมนุษย์ ที่วิวัฒนาการตามภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย เป็นการปรับตัวของมนุษยชาติให้เข้ากับความหลากหลายของธรรมชาติ ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นวัฒนธรรมที่ร่ำรวยที่ผูกพันกับหย่อมผืนดินและธรรมชาติในที่นั้นๆ     สิ่งที่วิวัฒนาการเคียงคู่มากับวัฒนธรรมอันหลากหลาย คือ หลากพืชพรรณที่สืบทอดด้วยการเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์โดยชุมชน    นี่คือการรักษาสรวงสวรรค์ของพระเจ้าอินเดีย     รัฐเคลารา อุดมไปด้วยมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ มีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับมะพร้าว   ราชสถานมีวัฒนธรรมสีสันลานตาในดินแดนทะเลทราย  และปัญจาบมีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นต้น  นี่คือความงามและมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ทั้งมีรูปแบบเฉพาะในหย่อมผืนดินหนึ่งๆ และก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งใบ  ความเป็นท้องถิ่นที่มีการกระจายทรัพยากรธรรมชาติทั่วถึงกันในชุมชน   และความครอบจักรวาลที่เป็นมรดกร่วมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ทุกสิ่งเชื่อมโยงเกี่ยวดองกลมกลืนกัน  ไม่ได้แยกขาวดำแบบวิธีคิด Cartesean ของตะวันตก

กลไกตลาด  ประชาธิปไตย และชะตาชีวิตมนุษยชาติ

แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ กรอบคิดของมหาอำนาจที่แยกขาวดำ ไม่ยอมรับรู้ความเป็นคนของคนชายขอบ หรือประชาธิปไตยของชาวนา  โดยอ้างว่า ให้กลไกตลาดเป็นผู้ตัดสิน  นี่เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว ปัดความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ ผลักไสไปให้กลไกที่ไม่มีชีวิตจิตใจ หรือ ตายด้าน ที่คุกคามธรรมชาติและอารยธรรมของมนุษยชาติ ให้เป็นผู้ตัดสิน

กลไกประชาธิปไตยทั่วโลก มักเต็มไปด้วยผู้แทนอภิสิทธิ์ชน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรษัทธุรกิจทั้งปวง  ผลคือบรรษัทกลายเป็นผู้เผด็จการในภาครัฐ  รัฐบาลส่วนมากจึงเห็นดีเห็นงามกับการลดทอนกฎเกณฑ์การควบคุมระบบเศรษฐกิจ      ในความหมายเดิม รัฐพึงมีกฎเกณฑ์ เช่น ด่านภาษี สวัสดิการสังคม ฯลฯ เพื่อปกป้องพลเมืองหรือภาคส่วนที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้สังคมมีระเบียบและสันติสุขกลมเกลียว นั่นคือ ประกันความยั่งยืนของสังคมด้วยการกระจายความอยู่รอดให้ทั่วหน้ากัน    แต่รัฐที่ครอบงำโดยอภิสิทธิ์ชนและมุ่งค้ากำไร ย่อมเห็นนโยบายความเป็นธรรมในสังคมดังกล่าว เป็นอุปสรรคขัดขวางประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของตน   นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งแต่ละครั้ง เต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่เร่งเร้าในประเด็นแคบๆ ที่เพิ่มความแปลกแยกในสังคม โดยเน้นที่ปัจเจก อัตลักษณ์และความรู้สึกไม่มั่นคง   ประชาธิปไตยแบบนี้ เป็นประชาธิปไตย กลายพันธุ์ เสียแล้ว

Samuel Huntington กล่าวว่า ฉันไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร จนกว่าฉันรู้ว่าเกลียดใคร  นี่สะท้อนถึงความแปลกแยกในจิตวิญญาณของคนที่ถูกถอนรากจากผืนดินถิ่นเกิด   ธรรมชาติกลายเป็นของนอกกรอบอัตลักษณ์ที่นิยามความเป็นปัจเจกตัวตนของเขา   นี่เป็นสภาพที่ต่างจากอดีต หรือในชุมชนเดิมๆ เช่น ในอินเดีย    คนและธรรมชาติรวมเป็นหนึ่งเดียว    ความสำนึกในตัวตนของแต่ละคนมักจะผูกพันกับคนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ  ความหมายของเขา มาจากการถูกยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กลุ่มคน หรือคนที่ตนรัก    ความผูกพันเช่นนี้รวมไปถึงผืนดินถิ่นเกิด      ธรรมชาติไม่ได้เป็นสินค้านอกกล่องที่มีตนเป็นศูนย์กลาง   ดังนั้น ชาวอธิวาสีจึงไม่สามารถแยกบ๊อกไซท์ว่ามีมูลค่าสูงออกจากคุณค่าของมันที่เป็นตัวช่วยอุ้มน้ำ   บ๊อกไซท์จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ของความอยู่รอด และความยั่งยืนของชาวอธิวาสีทั้งหมด ไม่ใช่อยู่ที่รายได้งามจากการแยกแร่ให้เป็นสินค้าขาย

กรอบคิดที่แยกธรรมชาติออกจากคน เป็นต้นเหตุของการทึ้งฉีกขาดสายใยสังคม  ความสมดุลในสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันท่วงทีกับการฉีกเล่นหรือทึ้งทิ้งอยู่ร่ำไป   เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ  เราจำเป็นที่จะต้องหันกลับไปค้นหาจิตสำนึก  วัฒนธรรมรากเหง้าของเราว่าได้สั่งสอนอะไร ที่ไม่กระตุ้นให้เราเที่ยวกดขี่ เอาเปรียบ หรือเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ชนะคนเดียว    เราน่าจะมีการศึกษาที่ช่วยให้คนสามารถตระหนักว่า การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมนุษยชาติเท่านั้นที่จะเป็นทางรอด    เราต้องหาทางบ่มเพาะประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ให้เหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึกลงดิน ให้เกิดกระบวนการกระจายอำนาจและผลประโยชน์แก่ชีวิตที่หลากหลาย

โลกาภิวัตน์ได้แล่นมาถึงจุดอับที่สุดในปี 2008 เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มหลอมละลาย  เศรษฐกิจทุนนิยมนี้ ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะต้องอัดฉีดเงินตรามหาศาลเข้าไปกู้ เพียงเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจที่เจ็บป่วยนั้น ล้มตาย ซึ่งจะพลอยพาให้เพื่อนล้มตามไปด้วย     เศรษฐกิจเช่นนี้ กลวงและไม่มีพลังชีวิตที่จะฟื้นฟูบำบัดตัวเองได้ เพราะมันได้เสือกไสธรรมชาติออกไป    ในทางตรงข้าม เพื่อให้เศรษฐกิจที่ไม่มีชีวิตนี้ธำรงอยู่ได้ ผู้นำภาครัฐได้ติดอาวุธและปราบปรามพลเมืองของตนเอง ในนามของการรักษาความมั่นคงและสันติภาพ   บรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่น่าจะต้องอาศัยการบริจาค (ภาษี) จากคนตัวเล็กตัวน้อยเลย  แต่มันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการสังเวยชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย

ความล้มเหลวของอนุสัญญาเกียวโต : จุดเริ่มต้นของการทวงสิทธิมนุษยชนของแม่ธรณี

สงครามกระแสคิดทั้งสองดำเนินมาเป็นแรม (หลาย) ทศวรรษ  ภาคประชาสังคมและปัญญาชนได้รณรงค์ท้าทายกรอบคิด/ปรัชญาที่ล้าสมัยของผู้นำและผู้เชี่ยวชาญ จนเกิดอนุสัญญาเกียวโต ที่เรียกร้องให้ทุกประเทศลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์    แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศมหาอำนาจปฏิเสธไม่ยอมรับอนุสัญญาเกียวโต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของประเทศ เจริญหรือพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ     แต่ประธานาธิบดีของโบลิเวีย ประเทศเล็กๆในอเมริกาใต้ ได้ลุกขึ้นแถลงว่า วันนี้ แม้พวกท่านจะล้มเหลว แต่พวกเราจะเดินหน้าต่อไป  โบลิเวียได้ฉลองวันโลกในปีนี้ ด้วยชื่อใหม่ วันสิทธิของแม่ธรณี โดยเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และสิทธิของแม่ธรณีหรือธรรมชาติ  มันเป็นการยกระดับการต่อสู้ทางความคิดแบบแยกส่วน คน และ ธรรมชาติ ให้เห็นว่าโลก/แม่ธรณี ก็มีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน   นี่เป็นการโลกทัศน์ใหม่ปนเก่าที่พยายามรื้อถอนสิ่งไม่พึงประสงค์  รื้อฟื้นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิต และก่อสร้างเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ที่คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ อย่างยั่งยืน  เป็นความสมดุลที่ทุกคนอยู่ได้อย่างพอเพียงในรุ่นนี้ และในอนุชนรุ่นหน้าต่อๆ ไป  ความยั่งยืนเช่นนี้เท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งสันติสุขที่ยั่งยืนได้

นักการศึกษา อุดมศึกษา ปัญญาชนสาธารณะของไทย: อยู่ที่ไหน
.....


เวทีเปิด ถาม-ตอบ

คำถาม:
ทุกวันนี้ อะไรๆ ก็สีเขียวไปหมด  เขียวอันไหนที่เราควรจะช่วยปกป้อง  จะช่วยเล่าเรื่องส่วนตัวของคุณเองหน่อยได้ไหมว่า อะไรเป็นสิ่งดลใจให้คุณเริ่มรณรงค์เรื่องเมล็ด

คำตอบ:
(คำตอบนี้ ได้ผนวกในบทความ ธรณีกันแสง II แล้ว ดรุณี)

คำถาม:  
คุณเคยเจอชาวนาที่ไม่ยอมหันกลับไปทำเกษตรธรรมชาติไหม และคุณแก้ปัญหาอย่างไร

คำตอบ: 
ฉันเรียกอาการเช่นนี้ว่า การติดยาเสพติดนิเวศ (addiction to ecological narcotics) เกษตรแผนใหม่ที่เน้นการใส่ปุ๋ยเคมีและสารสังเคราะห์ต่างๆ เป็น drug trafficking (ค้ายาเสพติด) ประเภทหนึ่ง  ชาวนาติดยานิเวศเหล่านี้ แม้จะมีหนี้สิน ก็ไม่กล้าถอนตัวออก แต่กลับทุ่มใช้ยามากขึ้น
วิธีหนึ่งที่ฉันใช้ เพื่อทำให้ชาวนาเหล่านี้ได้สติ คือ ต่อยอดจากพื้นฐานความเชื่อของเขา    ชาวนาในอินเดียยังมีการสวดมนตร์บูชา และตอนจบก็จะมีบทสวดศานติ ๆ (… Shanti Shanti Om)[1]  พอเขาสวดมนตร์กันเสร็จ  ฉันจะเอาไส้เดือนเป็นๆ ให้เขาดู แล้วใส่ปุ๋ยยูเรีย  ไส้เดือนก็จะดิ้นด้วยความเจ็บปวด แสบร้อน  ชาวนาเห็นแล้ว ก็เชื่อมโยงได้ว่า ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไป ทำลายไส้เดือน--มิตรของชาวไร่ชาวนาชาวสวน
เราต้องหาวิธีการสื่อให้ชาวนาเกิดความสำเหนียกว่า การใส่ปุ๋ยของเขา เป็นการแยกตัวตนของเขาออกจากผืนดิน  การฆ่าตัวตายเป็นเรือนแสนของชาวนาอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาทนมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ เมื่อต้องสูญเสียที่นาทำกิน  ที่นาคือชีวิตและเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนที่ไม่เคยถูกประเมินเป็นมูลค่า[2]
คำว่า ปฏิวัติเขียว ก็เป็นคำโกหกที่ต้องอธิบายให้คน/สาธารณชนเข้าใจ  คำว่า HYV (high yielding varieties) หรือเมล็ดพันธุ์ที่ถูกตัดแต่งทางพันธุกรรม หรือผสมพันธุ์ ที่ถูกโฆษณาว่าให้ผลผลิตสูง  แท้จริงหมายถึงผลผลิตของมันตัวเดียว  ถ้าใช้เมล็ดพันธุ์ HYV ก็ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ส่วนการปลูกพืชแบบเดิมคือผสมผสาน ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม แม้จะไม่สามารถให้ผลผลิตเท่า HYV แต่ในที่ดินแปลงเดียวกันนั้น[3] ก็สามารถเก็บเกี่ยวพืชพรรณอื่นๆ ได้ หรือ ในที่นา ก็จับปลากินได้  แต่เมื่อหันไปใช้เกษตรแผนใหม่ / HYV จะต้องมีหลักประกันว่ามีน้ำพอเพียง (น้ำท่วมก็ตายเช่นกัน ดูภาคผนวก 2) ต้องใส่ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงและกำจัดวัชพืชอย่างพร้อมเพรียง   สารเคมีที่ใส่ เป็นพิษต่อปลา ไส้เดือน สัตว์และแมลงที่เป็นมิตรด้วย
ขอแนะนำให้คุณหาอ่าน World According to Monsanto

คำถาม:
คุณพูดถึงความขัดแย้งเหลือง-แดงเมื่อเร็วๆ นี้ในไทย  การที่คนถูกถอนรากจากผืนดิน และการแย่งชิงทรัพยากร จะช่วยอธิบายมากกว่านี้ได้ไหม

คำตอบ:
ความขัดแย้งเป็นเช่นนั้น เริ่มจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว กัดกร่อนฐานเศรษฐกิจจริง แล้วส่งผลเสียต่อวัฒนธรรม และในที่สุดก็ทำให้ประชาธิปไตยกลายพันธุ์   
แต่พวกเราที่อยู่นอกประเทศไทย ไม่เห็นภาพว่าการประท้วงหรือการปะทะเหลือง-แดงในไทย เป็นการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระดับนโยบาย   ภาพที่คนภายนอกอย่างพวกเราที่ติดตามเห็น เป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจ  ไม่เห็นว่าเป็นการต่อสู้เรียกร้องของชาวนาชาวไร่ผู้ถูกเบียดขับออกจากฐานการผลิตอาหาร
ในการรณรงค์นโยบาย เราดูที่สามเสาหลัก การเมือง (เกี่ยวกับการตัดสินใน การกำหนดนโยบายสาธารณะ)   วัฒนธรรม (คุณค่า คุณธรรม ความเชื่อ ความเป็นคน/ชุมชน  และความสัมพันธ์)  และเศรษฐกิจ (กระบวนการผลิต)    วัฒนธรรม คือ เสาหลักที่ทำให้คนมีรากเหง้า



เวทีเสวนาช่วงบ่าย
สันติสุขแห่งสังคม: การปฏิรูปที่ดิน ความยุติธรรม และความยั่งยืน

ผศ สุรัตน์ โหราชัยกุล  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ตลาดเสรีมี 2 ระดับ ในทางทฤษฎีจะอ้างอิงที่กรอบคิดเสรีนิยม  ในทางปฏิบัติ มีนเป็นทรราชย์ (market tyranny)  นี่ส่งผลต่อการตีความในระบอบทรัพย์สิน (property regime) คือ รายได้ = ความสุข  ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อประเทศเริ่มเข้าสู่แผนพัฒนาแห่งชาติ ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข  อันที่จริง การกินดีอยู่ดี ไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อมันไปเหมารวมว่า ระบบตลาดจะเป็นผู้ทำให้ กินดีอยู่ดี นำมาซึ่งสันติสุข และความยุติธรรม นั้น มันไม่จริง และไม่เกิดขึ้นตามคำโฆษณาชวนเชื่อโดยอัตโนมัติ
            ในสารคดีที่วันทนา ศิวะ สร้าง (Global Link?) ได้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนอเมริกัน ได้กลายเป็นอะไรที่เชื่องที่สุดของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ  ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีแรแกน (Reagan) ผู้ตัดงบการให้บริการทางกฎหมายหรือทนายความฟรีแก่ผู้ด้อยโอกาส  ได้เป็นการตัดกำลังของภาคประชาสังคมที่ประท้วงหรือรณรงค์เรียกร้องความเป็นธรรม  แต่ปล่อยให้บรรษัทต่างๆ เช่น มอนซานโต ที่มีเงินมหาศาลจ้างทนายเก่งๆ มากมาย บดขยี้ชาวอเมริกันผู้ใดที่หาญกล้าวิจารณ์การทำงานหรือธุรกิจของพวกเขา  คนธรรมดาๆ ที่รักความเป็นธรรม ไม่มีกำลังพอที่จะจ้างทนาย ในกรณีหนึ่ง มีนักรณรงค์เที่ยวขับเคลื่อนไป 18 จังหวัด  วิธีการของบรรษัทคือ ตั้งข้อหาฟ้องร้องไปทุกจังหวัด  แม้โดยหลักการ นักรณรงค์คนนั้นจะชนะคดีได้  แต่การที่เขาต้องจ้างทนาย และลางานไปขึ้นศาลในแต่ละจังหวัด เป็นการทำลายชีวิตและจิตวิญญาณของนักสู้อย่างมีประสิทธิภาพ  จนไม่มีคนอเมริกันกล้าวิจารณ์มอนซานโตต่อไป
            วันทนาและคณะได้แก้ไขการกดขี่นี้ ด้วยการยิ่งกระจายการพูดในต่างประเทศ และท้าทายให้บรรษัทเหล่านั้นตามไปฟ้องร้องให้มากที่สุด  เมื่อชาวอเมริกันเห็นการขยายผลนอกประเทศ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวคืนมา[4]
            กฎหมายปัจจุบันได้ทำให้ “poor men are not free men” คือ คนผลิตอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากจนที่สุด กลับกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ทั้งนี้เพราะ กลไกการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระแสหลัก ไม่ยอมให้มีการกระจายรายได้  ผลคือ ลิดรอนสิทธิของผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ผลิตอาหาร
            การรณรงค์อันยาวนานในสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีสัญญาณบวก เมื่อ Walmart มีนโยบายซื้อสินค้าอินทรีย์  แต่กรอบคิดก็ยังเป็นเสรีนิยม ซึ่งต่างกับวิถีของมหาตมะคานธี  คานธีทอผ้าใช้เอง และสอนว่า อำนาจอยู่ที่คนและการทำเกษตร
            ปรากฏการณ์ขัดแย้งเหลือง-แดงของไทย ไม่ใช่แค่เรื่องแย่งชิงที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียว แต่มันมีอะไรอีกมากมายที่หมักหมมและซับซ้อน ที่มีต้นเหตุจากการพัฒนาประเทศมา 50 ปี  ถึงจุดนี้ คำถาม คือ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะไม่ไหลตามกระแสหลักไหม  และตลาดจะต้องบูรณาการให้เข้าด้วยกัน เหมือนกันหมดไหม
            ประเทศไทยมีจุดแข็ง 2 ประการ คือ ท่องเที่ยว และฐานผลิตเกษตรอินทรีย์  ถ้ามีการปฏิรูปที่ดิน แต่ไม่คิดแบบองค์รวม ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งเช่นกัน  ดังนั้น ถ้ารัฐไทยให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระนำแห่งชาติ และเชื่อมโยงกับจิตสำนึกของสังคมแบบองค์รวม เราจะเริ่มแก้ปัญหาได้หลายประการ

ผศ จรัญญา วงษ์พรหม  สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในอีสาน ภาคเกษตรกำลังเจอทางตัน เพราะไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างที่รวมศูนย์ได้  ดิฉันทำงานวิจัยกับคนชายขอบกลุ่มต่างๆ ทั้งชนบทและเมือง ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ชายและหญิง  โจทย์คือ จะสร้างกระแสอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนตัวเล็กตัวน้อยรู้เท่าทันได้อย่างไร 
ขอนำเสนอบทเรียนจากโครงการงานวิจัยกึ่งปฏิบัติที่ชุมชนบะขามในเมืองขอนแก่น  ชุมชนนี้ถูกรัฐกล่าวหาว่าบุกรุก  ในระยะแรก ชุมชนอ่อนแอเพราะ
1.       ขาดข้อมูลและหลักฐานสิทธิ์ตามกฎหมาย 
2.       หวังพึ่งคนนอกมากกว่าร่วมมือกันเอง  ขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน (มีแต่กรรมการและผู้นำเป็นตัวขับเคลื่อน)
3.       ไม่มีการแสวงหาแนวร่วมทั้งในและนอกชุมชน
งานของเรา คือ ช่วยจัดรูปองค์กรที่เอื้อให้ชุมชนมีส่วนร่วม
1.       สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาให้ทั่วถึงตลอดชุมชน 
2.       ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะ ให้เป็น กระสวย ขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาในชุมชนอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย โดยเน้นทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และสวัสดิการของชุมชน
3.       จัดรูปขบวนการต่อสู้ เช่น จัดให้มีการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหว ให้ชุมชนได้ทั้งข้อมูล และให้คำปรึกษาได้ยามต้องการ
การต่อสู้นี้ เป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง 2 ขั้ว เราต้องให้ข้อมูลเพื่อการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ เป็นการเปลี่ยนรหัสหมาย (recoding) จาก ความคิดว่าเป็น ชุมชนบุกรุกซึ่งท้าทายอำนาจรัฐ เป็น ชุมชนเก่าแก่ที่เข้มแข็ง ที่ทำให้ชุมชนอื่นและสาธารณชนตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนบะขาม  การรณรงค์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการเรียกร้องและพัฒนาการควบคู่กันไป 
            โครงการของเราไม่ได้เริ่มต้นที่ช่วยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดิน  แต่เป็นการเสริมพลังให้พวกเขาเห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง แล้วปรับตัวทำให้สาธารณะเห็นคล้อยตาม  ในที่สุด พวกเขาก็ได้กรรมสิทธิ์ทำมาหากินและอยู่อาศัยต่อไปในที่ดินผืนนั้น

คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานมูลนิธิชีวิตไท

โจทย์นั้นอยู่ที่ว่า รัฐ หรือ เราต้องเปลี่ยนแปลง  พวกเราถูกครอบงำด้วยความเชื่อมั่นในจีดีพี ซึ่งเป็นแนวพัฒนากระแสหลัก  ทุกวันนี้ เรามีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวและกังวลว่าจะมีรายได้พอไหม จะมีปัจจัย 4 ครบไหม  ความห่วงใยเหล่านี้ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าระดับปัจเจก
แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้องมาจากจินตนาการถึงสังคมใหม่ อำนาจการปกครองมหภาค ได้หยั่งรากลงไปถึงระดับครอบครัว และกลายเป็นมรดกตกทอดรุ่นต่อรุ่น กลายเป็นพันธนาการที่ลิดรอนสิทธิ์ความเป็นคน  ก่อนที่จะมีส่วนร่วมได้ เราต้องปลดเปลื้อง เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ครอบงำจิตใจของเรา สู่ความหวังใหม่  ทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าสังคมที่พึงปรารถนาของตนคืออะไร แล้วจึงจะช่วยกันทำให้ถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร

ผศ สุรัตน์ โหราชัยกุล

เรามีคำว่ามโนทัศน์ ปทัสถาน  เราต้องพยายามจินตนาการ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ มันไม่จำเป็นที่จะต้องเอาถึง utopia  วันทนา ศิวะ ใช้สามัญสำนึก และเริ่มทำตามจินตนาการที่เห็นว่าจะทำให้สังคมดีขึ้น  การมองย้อนอดีต ดูว่าโบราณคิดยังไง และทำยังไง ก็เป็นวิธีหนึ่ง

ผศ จรัญญา วงษ์พรหม 

โครงการของเราใช้เวลาสร้างจินตนาการให้ชุมชนบะขามถึง 30-40 ปี ในที่สุด ชุมชนก็ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยตนเอง   แต่ทุกวันนี้ คนขาดจินตนาการ ขาดกรอบคิดที่ให้ความหมายแก่ชีวิต เรามีชีวิตเพื่ออะไร อยู่ไปทำไม   ในอีสาน เราต้องทำให้ชาวบ้านเกิดจินตนาการใหม่ เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่อย่างสามัญ   ทุกวันนี้ ชาวอีสานจำนวนมาก หลุดไปจากวิถีเดิม

คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข

พลังประชาชนจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนกำหนดวาระเอง  การมีความหวัง คือ การกำหนดปฏิบัติการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใคร ทำอะไรได้  ส่วนจินตนาการต้องมีเป้าหมายสาธารณะ เป็นการเตรียมและดำเนินการสำหรับผลระยะยาว  จำเป็นต้องมีอุดมการณ์ร่วมเพื่อแบ่งหน้าที่กันขับเคลื่อน
            ในการเคลื่อนไหว จำเป็นต้องมี ข้อมูล องค์ความรู้ และเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดวาระร่วม   เราต้องมองเห็นว่า ทุกวันนี้ ประชาชนถูกครอบงำด้วยความกลัว  การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วถึง จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผล  การมีส่วนร่วมจะเป็นยุทธศาสตร์เมื่อประชาชนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เกิด ขอ เกี่ยวโยงกัน  เป้าหมายน่าจะเป็น กินอิ่ม นอนอุ่น ปลอดภัย ซึ่งเป็นรูปธรรม  ถ้าประชาชนสามารถเห็นร่วมกัน และสร้างขอเกาะเกี่ยวกันได้ ก็จะกลายเป็นกระแส ที่เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
เราไม่สามารถหวังว่า ใครคนหนึ่งจะหยิบยื่นสังคมในจินตนาการให้เราได้ แต่ละคนจะต้องลงไปลุยด้วยกัน โดยสามารถต่อรอง ตกลงกันในความหวัง ความเชื่อ และวิธีการ  เพื่อปลดเงื่อนตายในโครงสร้างที่ซับซ้อนและหมักหมม อันเป็นรากเหง้าของความไม่เป็นธรรม  การแก้ปัญหา และไปให้ถึงสังคมในอุดมการณ์ ต้องอาศัยปฏิบัติการภาคประชาชนเป็นหลัก




[1] คล้ายๆ กับการกรวดน้ำ แผ่เมตตาของไทย
[2] ความเก่าแก่ของอารยธรรมอินเดีย  ได้ทำให้อัตราเฉลี่ยของที่ดินต่อประชากรต่ำ  ชาวนาอินเดียไม่มีทางเลือกมาก ซึ่งต่างกับของไทย  การถางป่าเป็นวิธีการหนีนายให้พ้นจากความเป็นไพร่แต่โบราณ และเป็นนโยบายรัฐจนถึง 2-3 ทศวรรษที่แล้ว เมื่อรัฐปิดป่า  ความผูกพันของชาวนาไทยต่อที่ดิน จึงเข้มข้นต่างกัน และก็ต่างกันตามพื้นที่/ภูมิภาค/ประวัติศาสตร์การตั้งรกรากของแต่ละชุมชน  การล้มละลายของชาวนาอินเดีย  จึงไม่ใช่แค่หมดที่ทำกิน หรือตัวตนต้องฉีกแยกจากผืนนาเท่านั้น  แต่เป็นความรู้สึกอัปยศหมดศักดิ์ศรีต่อบรรพบุรุษในโลกจิตวิญญาณ ที่ไม่สามารถรักษามรดกที่ตกทอดมายาวนานไว้ได้
[3] เช่น สวนสมรมในภาคใต้
[4] วิธีนี้ใช้หลักสัตยาครหะที่คานธีใช้นำมวลชนอินเดียทวงสิทธิ์การปกครองตัวเอง เช่น การยาตราทวงสิทธิ์การทำเกลือ ซึ่งเจ้าอาณานิคมอังกฤษเขียนกฎหมายใหม่ผูกขาด ห้ามชาวพื้นเมืองอินเดียผลิตเกลือ   ความอยุติธรรมของกฎหมายข้อนี้ ทำให้มันยืนหยัดต่อสัจจะไม่ได้ เมื่อมหาชนตื่นตัว  อังกฤษไม่มีคุกพอที่จะขังมหาชน  การอาศัยสัจจะเป็นพื้นฐานของการต่อสู้แบบอหิงสา ไม่ใช่แค่การงดใช้อาวุธทางกายภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น