วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

สตรีนิยมจีน-อินเดีย Li Xiaojiang-Mary John

ผู้หญิงและสตรีนิยมในประเทศจีนและประเทศอินเดีย
บทสนทนาระหว่าง ลี เสี่ยวเจียง และ แมรี่ จอห์น[1]
(แปลโดย ดรุณี ตันติวิรมานนท์)

ในระหว่างการประชุมนานาชาติเรื่อง สตรีและเจนเดอร์ศึกษาในเอเชีย จัดขึ้นโดย  เครือข่ายคาร์ตินีแห่งสถาบันสตรีและเจนเดอร์ศึกษาในเอเชีย (Kartini Network of Women’s and Gender Studies Institutes in Asia) และศูนย์เจนเดอร์ศึกษา (Centre for Gender Studies) แห่งมหาวิทยาลัย ต้าเหลียน (Dalian University) ในประเทศจีนในเดือน กันยายน 2004 (๒๕๔๗), ได้จัดให้มีโอกาสสัมภาษณ์ระหว่างนักสตรีนิยมชาวอินเดีย (แมรี่ จอห์น) กับ ลี เสี่ยวเจียง, ผู้อำนวยการของศูนย์เจนเดอร์ศึกษา ของมหาวิทยาลัยต้าเหลียน. ลี เสี่ยวเจียง เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสตรีศึกษาในประเทศจีน และได้เขียนบทความมากมาย เรื่องผู้หญิง และสตรีนิยม. ต่อไปนี้เป็นบางตอนที่สกัดจากบทสัมภาษณ์ ที่กล่าวถึงสถานภาพของผู้หญิงในจีนและอินเดีย, ทฤษฎีว่าด้วยผู้หญิงและสตรีนิยม, ปัญหาในการแปล, และแนวทางของโลกาภิวัตน์.
-แมรี่ อี. จอห์น-


อินเดีย (แมรี่) : เป็นการยากมากสำหรับพวกเราในอินเดีย ที่จะได้มุมมองชัดเจนเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับจีน, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลัง (ประธาน) เหมา,  ในท่ามกลางข้ออ้าง และข้อต้านต่างๆ นานา ที่แพร่หลายไปทั่วเกี่ยวกับผลได้ และผลเสียของการปฏิรูปเศรษฐกิจ. คุณจะประเมินการพัฒนาต่าง ๆ หลังจากยุคเหมา, การเริ่มต้นของยุคโลกาภิวัตน์  หลังยุคสังคมนิยม, และผลกระทบต่อผู้หญิง อย่างไร?

ยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ
จีน (ลี) :       คำว่า ยุคหลังเหมา เป็นความคิดที่เรามักจะพบกันบ่อยๆ ในวงนักวิชาการตะวันตก และวงการเมืองที่เอ่ยถึงประวัติศาสตร์จีน หลังจากอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุง.  พวกเขายังคงรักษาชื่อของเหมาไว้ อาจเพราะคิดว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เกิดขึ้นในระบบการเมืองจีนหลังจากยุคของเหมา.  แต่คำๆ นี้ เราไม่ใช้กันในจีน.  ดิฉันเชื่อว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้น, อันที่จริง ยุคของเหมาสิ้นสุดลงเมื่อ ช่วงทศวรรษ 1980 (๒๕๒๓).  การพัฒนาต่าง ๆ ที่ตามหลังกันมา ไม่อยู่ในกรอบของลัทธิเหมาอีกต่อไป.  อันแรกที่สุด คือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modernization), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิรูปในสาขาต่าง ๆ ของภาคเศรษฐกิจ.  โลกาภิวัตน์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่และสำคัญที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้  เมื่อกลางทศวรรษ 1990 (๒๕๓๔) นี่เอง.
                  ในแง่ของผลได้ ผลเสีย, ดิฉันคิดว่า ประชาชนจีนทั้งหมดได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปต่างๆ, เพียงแต่ได้รับไม่เท่าเทียมกัน.  ถึงกระนั้นก็ตาม, แม้แต่ประชาชนในชนบท ก็ยังได้เห็นการปรับปรุงที่ดีขึ้นจากการปฏิรูปที่ดิน.  ในยุคของเหมา, ชาวนาถูกผูกติดอยู่กับที่ดิน ผ่านทางระบบคอมมูน/ชุมชน, และเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมรบในกองทัพ หรือสอนในมหาวิทยาลัย ที่จะได้รับอนุญาตพิเศษให้ออกจากหมู่บ้าน ไปอาศัยอยู่ในเมืองได้.  แต่หลังจากการปฏิรูป, ทุกคน รวมทั้งผู้หญิง สามารถที่จะออกไปหางานทำในเมืองได้.  เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ของผู้หญิงจีนในช่วงเวลาของการปฏิรูป, คุณต้องจำไว้ว่า ก่อนหน้านั้น ผู้คนไม่มีสิทธิ์ที่จะเดินทางออกจากที่ดินของตน, ในขณะที่ ทุกวันนี้ ทุกคนมีอิสรภาพมากขึ้น เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎเก่าเช่นเดิม.  นี่เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ที่จะต้องนำมาประเมินร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่างๆ  ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่แนวโน้ม, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการนักวิชาการตะวันตก, ที่มักทำการเปรียบเทียบกับผู้หญิงในอเมริกาหรือยุโรป ในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา.
                       หญิงชาวบ้านจีนอาจจะขวนขวาย แสวงหาความสำเร็จในภาคการเกษตร หรือเดินทางเข้าเมืองเพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์.  อันที่จริง, ผู้หญิงชนบทที่ประสบความสำเร็จสูงสุด คือผู้ที่เข้ามาทำงานในเมือง แล้วกลับไปสู่บ้านเกิด, ปัจจุบัน มีทั้งความสามารถและความมั่นใจในตัวเอง ที่จะเริ่มกิจการของตน, กลายเป็นผู้จัดการ หรือแม้กระทั่ง ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วยซ้ำ. ในอดีต, ความยากจนมีปรากฏไปทั่วทุกหัวระแหง. ในขณะที่ตอนนี้เรามีช่องว่างชัดขึ้น เนื่องจากบางคนร่ำรวยขึ้น, คนจนทั่วไป ก็มีมาตรฐานการดำรงชีพที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน.
                       ยกตัวอย่างคนที่หางานทำในครัวเรือนของครอบครัวที่ร่ำรวยกว่า, คนที่คุณเรียกว่า คนรับใช้.  ที่นี่ เราเรียกว่า คนดูแลบ้าน (housekeepers), หรือ คนงานรายชั่วโมง (hourworkers) เพราะว่า พวกเขาจะได้รับค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการทำงาน. ในเมืองใหญ่ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้, หญิงวัยกลางคนประเภทนี้ ที่เรามักเรียกเขาว่า อาอี๋ (aunty หรือ น้า). พวกเขาไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นชนชั้นแยกต่างหาก เพราะว่า พวกเราไม่มีความคิดของการมีคนรับใช้, และพวกเรายังเชื่อว่า ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน.  ผู้หญิงเหล่านี้ สามารถจะมีรายได้เทียบเท่าเงินเดือนของคนงานคนหนึ่ง ประมาณ RMB2,000 (ประมาณ $300 หรือ 13,000 รูปี/บาท), ซึ่งไม่ต่างกันมากเมื่อเทียบกับเงินเดือนแรกเริ่มของผู้ช่วยอาจารย์ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยทีเดียว!

อินเดีย:        คุณมีพื้นที่อะไร ในการวิพากษ์ภาครัฐ, การปฏิรูปเศรษฐกิจ และนโยบายเฉพาะต่างๆ ของรัฐบาล?

จีน :            มันขึ้นกับว่าเราจะวิพากษ์ในหัวข้อไหน. บางประเด็นเราแตะต้องไม่ได้เช่น เรื่อง การปกครองโดยพรรคเดียว.  แต่ในเรื่องอื่น ๆ เราสามารถจะวิพากษ์รัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง เช่น ประเด็นการคอรัปชั่น.  แบบแผนการปฏิบัติที่ขัดขวางการดำเนินงานของนโยบายรัฐ เป็นเรื่องง่ายที่สุดที่จะถูกต่อต้าน, แล้วก็มีนโยบายอื่น ๆ เช่น การลอยแพคนงาน ซึ่งถูกทั้งประชาชน และปัญญาชน วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก.  ในชนบท ผู้คนเริ่มเรียกร้องให้แก้ปัญหาการคอรัปชั่นในภาครัฐบาล โดยการกระจายอำนาจการปกคอรง และการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งบางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ เช่นมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation).
                       ต้องขอบอกว่า ปัญญาชนยุคปัจจุบัน มีพื้นที่ๆ จะแสดงความคิดเห็นมากกว่ารุ่นก่อน ๆ. สื่อใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เนต ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการถกประเด็นที่ละเอียดอ่อน, ซึ่งรัฐบาลเข้าควบคุมได้น้อยกว่าสื่ออื่น เช่น หนังสือพิมพ์.
                       ดิฉันรู้สึกว่า เราจะต้องวิเคราะห์ปัญหาความยากจนให้ลึกซึ้งมากกว่านี้, ไม่ว่าจะจากมุมมองของรัฐบาล หรือมุมมองของปัญญาชน.  มันไม่เพียงพอที่จะรวบรัดประเด็นนี้ เป็นเพียงแค่การลดความยากจน เพื่อช่วยเหลือคนยากจน.  เราจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ โดยแนวทางประวัติศาสตร์สังคม และภูมิหลังร่วมกันของประเทศยากจนต่างๆ.

อินเดีย:        ความจริง เรามีหลายอย่างที่เหมือนๆ กันในแง่ประวัติศาสตร์และการเมือง, ไม่ใช่มีแต่ความแตกต่าง.  นี่เป็นหัวข้อใหญ่หลวง ซึ่งยากที่จะอภิปรายกันเร็วๆ. ในกรณีของพวกเรา  เราต้องย้อนกลับไปดูอินเดียในยุคของเนห์รู (Nehruvian era) ซึ่งอ้างถึงอัตตลักษณ์ของโลกที่สาม (third world identity), การวางแผนเชิงสังคมนิยมนำโดยภาครัฐ (state-led socialist planning), และบทวิพากษ์ต่าง ๆ ถึงความล้มเหลวของการดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ. ยุคของเรา ในการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์, ที่ยกให้ระบบตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 (๒๕๒๓).  องค์กรสตรีต่าง ๆ มีจุดยืนที่ขัดแย้งกันในการตอบโต้ต่อโลกาภิวัตน์, ตั้งแต่บทวิพากษ์ของฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องให้ภาครัฐเล่นบทหลักในการลดความยากจน, จนถึงข้อเสนอของฝ่ายเสรีนิยมที่ส่งเสริมการขยายตัวของ ลัทธิทุนนิยมประชาชน โดยผ่านโครงการการจ้างตนเองต่างๆ และโครงการเครดิตขนาดเล็ก (microcredit) ซึ่งหนุนโดยสถาบันต่างๆ เช่น ธนาคารโลก.

จีน :            โลกาภิวัตน์มีหลายด้านที่เราต้องทำความเข้าใจ.  คำวิพากษ์วิจารณ์ของโลกตะวันตกต่อโลกาภิวัตน์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ของเขาเกี่ยวกับการสูญเสียงานทำ, แต่ในประเทศจีน โลกาภิวัตน์ได้สร้างงานใหม่ๆ สำหรับผู้หญิง, แม้ว่าจะไม่ใช่งานที่ดีสักเท่าไร.  จะเป็นการผิดพลาด ถ้าหากจะเหมาเอาว่า โลกาภิวัตน์ให้ประโยชน์แก่นายทุนเท่านั้น, หรือหน้าที่ทั้งหมดของรัฐบาลคือก้าวเข้าไปช่วยเหลือคนยากจน ผู้ซึ่งมีแต่จะยากจนลง ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ -- แต่นี่ก็เป็นการวิพากษ์ทฤษฎีมาตรฐานเกี่ยวกับผลกระทบของโลกาภิวัตน์ ต่อระบบเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศยากจนที่เราได้ยินกัน.  เราจะต้องเงี่ยหูฟังเสียงอื่นมั่ง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงจากคนทำงานเอง.  ในเมืองต้าเหลียนนี้ มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่, คนงานในโรงงานใหม่ๆ เช่น TDK, ที่พวกเราได้ไปเยี่ยมกันมา, ยื่นมือต้อนรับโลกาภิวัตน์ ทั้งๆ ที่มันมีข้อเสีย.  ดิฉันไม่เชื่อว่า จะมีทฤษฎีวิเคราะห์ความยากจนเพียงอันเดียว หรือทางแก้ไขที่สมบูรณ์แบบ.
                       ในอินเดีย  ชนชั้นที่ยากจนกว่า ได้ตอบโต้อย่างไรกับดลกาภิวัตน์?

อินเดีย:        สถานการณ์ในอินเดียค่อนข้างจะผสมผสาน.  ในแวดวงของโลการภิวัตน์ทางธุรกิจ, เราได้ถกกันเรื่องผลกระทบในการเปิดโอกาสการทำงานรูปแบบใหม่แก่ผู้หญิงในเขตอุตสาหกรรมส่งออก, ที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเล็ดลอดออกจากความเข้มงวดในครอบครัว, แม้ว่ายังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในตัว.  แต่โลกาภิวัตน์ก็มีการพูดถึงนโยบายของธนาคารโลก, การไม่มีเครื่องปกป้องใดๆจากการคุกคามของตลาดโลก, ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ เช่น ชาวนาฆ่าตัวตายเป็นเบือ, หรือการที่ต้องพึ่งพาเมล็ดที่ถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรม.  ความหวาดกลัวของพวกเรา คือ ประโยชน์ที่เร็วทันตาเห็น เช่น งานใหม่ ๆ อาจจะไม่มีน้ำหนักพอที่จะถ่วงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว, และเราสงสัยว่า ปัญหาเหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นในจีนหรือ.

จีน :            ดิฉันคิดว่า เราจำเป็นที่จะต้องมุ่งความสนใจไปที่ประสบการณ์ที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศ รวมทั้งอินเดียและจีน.  ในหมู่ปัญญาชน มักจะมีแนวโน้มที่จะด่วนสรุป, ก่อนที่เราจะได้ทำความเข้าใจผลกระทบต่างๆ จากกระแสพัฒนาใหม่นี้.  ดิฉันไม่เห็นจริงๆ ว่าจะมีประโยชน์อันใด ที่จะไม่ยินยอมให้สิ่งท้าทายใหม่ ๆ หรือ ในการธำรงไว้ซึ่งทัศนะของการปกป้อง.  เรายังไม่ได้เริ่มต้นศึกษาถึงผลกระทบทั้งหลาย, และสำหรับคนอีกมาก คำๆ นี้ ก็ยังไม่รู้จักกัน.

อินเดีย :         เราเห็นด้วย.  เราก็รู้สึกว่าประวัติศาสตร์ของเรายังมีความแตกต่างที่สำคัญกันอีกมาก, มากถึงขนาดที่โลกาภิวัตน์ทำงานในลักษณะต่างกัน ภายในบริบทของแต่ละประเทศ. ทั้งนี้และทั้งนั้น, ต่างกับอินเดีย, รัฐจีนเอง เป็นผู้เชื่อมกับโลกาภิวัตน์ หลังจากประวัติศาสตร์ภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์.  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องไม่ด่วนสรุปว่าทุกอย่างเหมือนๆ กัน.

ทฤษฎีของผู้หญิงและอัตตลักษณ์ในจีน
อินเดีย :         พวกเราสนใจในบทความของคุณ ที่คุณได้สะท้อนวาทกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ ผู้หญิง ในช่วงเวลาเฉพาะต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์จีนไม่นานมานี้.

จีน :            ในช่วงเวลาปฏิวัติวัฒนธรรม  คำว่า สหาย (comrade หรือ ‘tongzhi’) เป็นคำสากลที่ไม่ระบุเพศคุณไม่สามารถ, เช่น, จะพูดว่า สหายหญิง.  คำทั่วไปที่เคยใช้เรียกผู้หญิง (‘funu’) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและเผยแพร่โดยพรรคคอมมิวนิสต์ตอนนั้น ว่าเป็นคำชั้นต่ำ, เพราะว่า มันพ่วงความหมายของอัตตลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ผู้หญิงถูกกดขี่ภายใต้ครอบครัวและผู้ชาย.  คนรุ่นใหม่จะชอบใช้คำว่า คนผู้หญิง (‘nuren’) มากกว่า, เช่นเดียวกับนักวิชาการสตรีศึกษาหลายคน, เพราะ  คำว่า คนผู้หญิง ให้ความรู้สึกทางบวกต่ออัตตลักษณ์.

อินเดีย :         อีกกรอบความคิดที่ใกล้เคียงกัน คือ ความรักแบบโรแมนติก.  ความคิดนี้ มีมานานเท่าไรแล้ว?  คุณสามารถจะมีความรักแบบโรแมนติกกับ สหาย, ผู้หญิง, เพศหญิง ได้ไหม?

จีน :            ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม  ไม่ค่อยมีที่ว่างสำหรับเรื่องรักโรแมนติก, อย่างน้อย จนกระทั่ง ทศวรรษ 1970 (๒๕๑๓).  ทุกวันนี้, แน่นอน, มันเป็นคนละเรื่องกันแล้ว.  เมืองต้าเหลียน ต้อนรับแขกผู้เดินทางเข้ามาที่อากาศยานและสถานีรถไฟ ด้วยป้ายโฆษราใหญ่ว่า ขอต้อนรับสู่นครแห่งโรแมนติก”!

อินเดีย :         คุณได้ดึงความสนใจไปที่นัยสำคัญของ อัตตลักษณ์ของผู้หญิง (women’s subjective identity) ในช่วงระหว่างและช่วงหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม. จะช่วยอธิบายได้ไหมว่าคุณหมายถึงอะไร?

จีน :            ก่อนอื่น คุณต้องหวนรำลึกถึงช่วงเวลาตั้งแต่การก่อตั้ง จีนยุคใหม่ (New China) จนถึงจุดจบของการปฏิวัติวัฒนธรรม (1949-78 หรือ ๒๔๙๒-๒๕๒๑), ซึ่งดิฉันขอเรียกว่า เป็นช่วงเวลาแห่งการ การปลดแอกด้วยการอบรมกล่อมเกลา (socialized liberation) สำหรับผู้หญิงในลักษณะกลุ่ม.  กระบวนการนี้ ประกอบด้วยการขับเคลื่อนผู้หญิงขนานใหญ่ ให้ก้าวเข้าสู่สังคม, ในขณะที่ภาครัฐ หาทางที่จะดำเนินการให้เกิดความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายในทุกๆ ด้านของชีวิตสังคม. (แต่หลังจาก ทศวรรษ 1960 หรือ ๒๕๐๓ ปัญหาอันเกิดจากอุดมการณ์นี้เริ่มปรากฏชัด เมื่อผู้หญิงจำนวนมากเดินทางกลับสู่หมู่บ้านของตน และเผชิญกับสภาพความอดหยาก).
                       นโยบายที่ว่า หญิงชายมีความเสมอภาค นั้นได้ถูกแปลออกในช่วงเวลานั้นเป็นการยึดเอาความเป็นชายเป็นมาตรฐานสากลเบ็ดเสร็จ, ซึ่งหมายความว่า ไม่มีมาตรฐานในพื้นที่สาธารณะสำหรับเพศหญิง.  แม้ว่าในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งๆ จะมีแง่มุมหลายด้านที่ต่างจากผู้ชาย, ก็ไม่มีพื้นที่อันใดที่จะแตะต้องความแตกต่างนี้ แม้แต่การเลี้ยงดูลูก ก็กลายเป็นหน้าที่ของสาธารณะ.  เหตุการณ์เช่นนี้ ได้ทำให้ผู้หญิงสูญเสียอัตตลักษณ์ของตน และความรู้สึกต่อตนเอง ในกระบวนการปฏิวัติ ที่รัฐทำหน้าที่ปลดแอกให้. (อันที่จริง, ตั้งแต่ 1957/๒๕๐๑ ถึง 1983/๒๕๒๖ องค์กรมหาชนที่เป็นทางการ, สหพันธ์สตรีฯ, ไม่ได้ผลิตเอกสาร หรือทำการตัดสินใจเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของผู้หญิงโดยเฉพาะ.)  หลังจากทศวรรษ 1960/๒๕๐๓, ความรู้สึกตอนแรกว่าได้รับการปลดแอก ค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกว่าถูกหักหลัง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้หญิงต้องกลับไปเผชิญหน้ากับบทบาทดั้งเดิมในครอบครัว.  ตั้งแต่ทศวรรษ 1980/๒๕๒๓, ความตื่นตัวในอัตตลักษณ์ของผู้หญิงต่อปัญหานี้ เริ่มมีสูงขึ้น เมื่อพวกเธอออกแสวงหาความแตกต่างระหว่าง ตนเอง และ สังคม, และตั้งคำถามต่อความคิดเห็นเรื่อง ความเสมอภาคที่หมายถึง ความเหมือนกันทุกอย่าง.  ความคิดเห็นของดิฉันเอง ก็เริ่มพัฒนาขึ้น หลัง 1960/๒๕๐๓.

อินเดีย :         แล้วเรื่องการลาคลอดล่ะ?  ถ้ามีแต่มาตรฐานของชาย แล้วมีการลาคลอดสำหรับพ่อไหม?

จีน :            ในขณะที่หญิงจีน ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างในการเป็นแม่, ไม่มีบริบทอื่นใด ที่ปฏิบัติต่อพวกเธอในฐานะที่เป็นเพศหญิง, แต่ถือว่าหญิงก็เหมือนกับชายในชีวิตด้านอื่น ๆ ทั้งหมด.  อันนี้จะเห็นได้จากเครื่องแบบเพศเดียว, การปราศจากสัญลักษณ์ใดๆ ของความเป็นหญิง เหล่านี้เป็นต้น.  พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของชนรุ่นนั้น, และเติบโตขึ้นมาด้วยความเชื่อว่า เราสามารถและควรจะเป็นเช่นชาย, เราทำตัวตามบรรทัดฐานของความเป็นชาย ในแง่พละกำลัง, รวมทั้งยกของหนักถึง ๓๐ กก., และเก็บกดเครื่องหมายใดๆ ที่ส่อว่าเป็นเด็กหญิงหรือผู้หญิง. ผู้หญิงในรุ่นนี้ ถูกเรียกว่า หญิงเหล็ก.  ภาระบทบาท ๒ ขั้น ไม่มีใครเห็น ผู้หญิงเหล่านี้ ก้าวเข้าสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมกับแบกครอบครัวของเธอบนหลัง!  ในขณะที่ไม่มีมาตรการสำหรับให้พ่อลาคลอด, ในเมืองใหญ่เช่น เซี่ยงไฮ้, และในบางแถบทางใต้, ผู้ชายบางคนได้ช่วยทำงานบ้าน, หุงหาอาหาร และเลี้ยงลูก.
                       ภายใต้ภูมิหลังของระบอบสังคมนิยม ที่อ้างถึงความเสมอภาคนี้, ในทศวรรษ 1980/๒๕๒๓, ที่ผู้หญิงเกิดความตื่นตัว และเริ่มมีจิตสำนึกถึงความเป็นหญิงของตน  ซึ่งมีผลกระทบที่ลึกล้ำต่อชีวิตของพวกเรา.  นี่เป็นเวลาเดียวกับการก่อตัวของสตรีศึกษา.  ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่เริ่มสอนวิชา การจัดการในครอบครัว (Family management) อย่างที่เรียกกันในตอนนั้น, ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิง สามารถจะพูดเรื่องทำนองนี้, บ่อยครั้งที่ เป็นการตระหนักรู้ทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง.
                       ในบริบทอื่น เช่นเดียวกับทางตะวันตก, เวลาแห่งการตื่น อาจจะกล่าวได้ว่าคล้ายกับ การมองเห็นถึงความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย  ดังนั้น จึงมีความอยากที่จะมีสิทธิเสมอภาคกัน.  แต่ในจีน มันออกมาในรูปของการตั้งคำถามต่อมาตรฐานหนึ่งเดียว, เป็นการขาดความเสมอภาคอย่างแท้จริง.  บางคนอาจคิดว่า การพูดว่า ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย เป็นการเดินถอยหลัง. แต่ นักสตรีศึกษารุ่นใหม่ กลับแย้งว่า การกลับเข้าครัวเรือน และมีชีวิตแบบแม่บ้าน นั้นก็เป็นทางเลือกอันหนึ่ง, และเห็นว่า ผู้หญิงยุคทศวรรษ 1950/๒๔๙๓ และ 1960/๒๕๐๓ ต่างหากที่ล้าหลัง!

อินเดีย :         คุณได้ตอบโต้กับความคิดเรื่องทางเลือกนี้อย่างไร?

จีน :            มันสำคัญมากที่เราจะมองดูประเด็นการตื่นตัว และทางเลือกนี้ ในแง่ประวัติศาสตร์, เพราะว่ามันเป็นเครื่องหมายของแต่ละช่วง และเป็นประสบการณ์ของแต่ละรุ่น.  ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป และก็เปลี่ยนอีกภายใต้อิทธิพลของโลกาภิวัตน์. หลังจากที่คนงานถูกลอยแพได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ ในกลางทศวรรษ 1990/๒๕๓๓, ก็มีแรงกดดันสาธารณะที่จะผลักดันให้ผู้หญิงกลับคืนสู่เหย้า.  ในการประชุมคองเกรสประขาขนแห่งชาติ (National People’s Congress) ผู้แทนหญิงบางคน ได้โต้แย้งความคิดอันนี้ ซึ่งได้นำไปสู่การอภิปรายอย่างดุเดือด.  ผลก็คือ นายกรัฐมนตรี ถูกบังคับให้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว.

อินเดีย :         เงินเดือนระหว่างหญิงและชายมีความเหลื่อมล้ำกันไหม?

จีน :            ในมหาวิทยาลัย, รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าจ้างของชายและหญิงที่ทำงานอย่างเดียวกัน. ในภาคเอกชน และการลงทุนร่วม ดิฉันไม่แน่ใจ, แต่คิดว่า ความแตกต่างระหว่างหญิงชาย น่าจะอยู่ที่เนื้องานมากกว่า. ผู้หญิงที่มีความสามารถสูงน่าจะได้รับเงินเดือนไม่น้อยไปกว่าเพื่อนร่วมงานชาย.  แต่มีหลายๆ กรณี ที่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศในอายุการปลดเกษียณ.  ถีงอย่างไรก็ตาม ภาครัฐและบริษัทเอกชนก็มีสถานภาพแตกต่างกัน, ผู้ชายมีสถานภาพสูงในรัฐวิสาหกิจ, และผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ทำงานอยู่ในภาคเอกชน.
                       ตั้งแต่ทศวรรษ 1980/๒๕๒๓ ผู้หญิงหลายคนได้กลายเป็นผู้นำของบริษัทต่างๆ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท. ในปีแรกๆ ของการปฏิรูปเศรษฐกิจ, เมื่อผู้ชายเป็นกลุ่มแรกที่ออกไปหางานในเมืองใหญ่, หญิงชนบทต้องเข้าแทนที่ในตำแหน่งที่เดิมผู้ชายเป็นใหญ่.  ทุกวันนี้, เพื่อแสวงหาโอกาสรายได้ที่สูงกว่า, ผู้หญิงหลายคน ก็ได้ทิ้งครอบครัวและลูกๆ ให้สามีดูแล.

อินเดีย :         มาถึงตอนนี้ เราพอจะสรุปได้ไหมว่า ที่คุณเรียกว่า อัตตลักษณ์ของผู้หญิงคืออะไร?

จีน :            ในความเห็นของดิฉัน อัตตลักษณ์ รวมถึง ความสามารถที่จะตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ, ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง, เข้าใจสภาพความจริงของตัวเองอย่างไม่ถูกครอบงำ, นำไปสู่การปกครองตัวเอง และมีลีลาชีวิตของตัวเอง.  จะต้องมีการยอมรับมาตรฐานของตัวเอง พร้อมๆ กับมาตรฐานของผู้อื่น, ซึ่งทำให้เกิดการประจักษ์ถึงความสมบูรณ์ของตนเอง. เหล่านี้ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้หญิงแต่ละคนและทุกๆคน. ก่อนหน้าจีนยุคใหม่, หญิงจีนมีพื้นที่เฉพาะ, และมาตรฐานสำคัญคือ ศีลธรรม. หลังการปลดแอก ในยุคของเหมา, ผู้หญิงก้าวสู่สังคมที่ถูกตีกรอบด้วยมาตรฐานของผู้ชาย.  ขั้นแรก พวกเธอสูญเสียตำแหน่งในครอบครัว, หลังจากการปลดแอก, พวกเธอสูญเสียตำแหน่งในสังคมที่ภาครัฐได้สรรสร้างขึ้น.

อินเดีย :         มีหลายหนทางไหมที่จะนำไปสู่อิสรภาพและการปกครองตนเอง?  จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า ตัวตน ที่เพิ่งฟื้นกลับมา กลายเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งด้วยเงื่อนไขของระบบพ่อเป็นใหญ่ (patriarchally conditioned), หรือ ด้วยสิ่งที่ถูกปฏิเสธแต่ต้น, โดยผ่านคำนิยามเดิมๆ เกี่ยวกับความเป็นหญิง?  การฟื้นคืนมา จะเป็นอันเดียวกับการค้นพบบางสิ่งบางอย่างไหม?

จีน :            ใช่, พวกเรามักถูกนักสตรีนิยมตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เราใช้คำว่า ตื่น, ทางเลือก ภาษาฝ่ายเสรีนิยม ที่ถูกส่งเสริมโดยการพาณิชย์ที่นำโดยระบบตลาด, แม้ว่าพวกเราจะยังไม่สามารถปลดแอกจากการควบคุมของรัฐบาล. ดิฉันคิดว่า เราต้องยอมให้กรอบความคิดมีความลื่นไหลได้, เพราะความจริงที่ว่า มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา. อัตตลักษณ์ ไม่ใช่หลุดแยกจากความรับผิดชอบทางสังคม. และดิฉันก็ไม่ได้หมายถึงอัตตลักษณ์บางอย่างที่ผู้อื่นกำหนดให้.  การคิดถึงเป้าประสงค์ร่วม และมีสปิริตกลุ่ม เป็นสิ่งเดียวที่ผู้หญิงจีนรำลึกเสมอว่าเป็นหน้าที่.  มันควรจะเป็นไปได้ที่จะสร้าง ตัวตน ของตัวเอง ในขณะที่สร้างบางสิ่งบางอย่างสำหรับสังคม บางสิ่งบางอย่างที่แม่ของพวกเรา เป็นต้น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน.

กรอบความคิดนักสตรีนิยมและช่วงเปลี่ยนผ่าน
จีน :            พวกเราสนใจที่จะพูดถึงความสัมพันธ์ของคุณ กับหัวข้อต่างๆ ที่พวกเรารู้สึกว่าเป็น ต่างด้าว เช่น คำว่าเจนเดอร์.  ในไม่กี่ปีนี้, กรอบความคิดเช่น เจนเดอร์ ได้ปะทุเข้ามาในจีนอย่างแรง, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อองค์กรทุนนานาชาติ ได้เรียกร้องให้พวกเราจัด อบรมเจนเดอร์, บูรณาการเจนเดอร์ เป็นต้น.

อินเดีย :         ในทางหนึ่ง เจนเดอร์ ได้กลายเป็น หัวข้อของผู้ให้ทุน ในอินเดีย.  ด้วยเหตุนี้ นักสตรีนิยมหลายคน ได้เกิดความระแวงสงสัยในคำๆ นี้, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราได้เคยใช้กรอบความคิดอื่นๆ เช่น ระบบพ่อเป็นใหญ่ เป็นต้น. ในขณะที่คำว่า ระบบพ่อเป็นไหญ่จะแสดงชัดถึงอำนาจของชาย, บางคนเห็นว่า เจนเดอร์ มีความหมายที่ค่อนข้างอ่อน หรือแม้กระทั่งลบเลือนนัยทางการเมือง (ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ), จึงทำให้เกิดมีข้อถกเถียงถึงคุณค่าในเชิงกรอบคิดของคำสตรีนิยมต่างๆ.
                       จากการอ่านบางบทความของคุณ และของนักวิชาการจีนอื่นๆ ทำให้พวกเรารู้สึกว่า การต่อสู้ทางความคิดปัจจุบันอยู่ที่ว่า กรอบความคิดของสตรีศึกษามาจากนักสตรีนิยมตะวันตก.  ในแง่นี้ เรามีบริบทต่างกัน. พวกเราไม่เพียงแต่มีการเคลื่อนไหวของสตรี (women’s movement) ซึ่งย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยการปฏิรูปสังคมในศตวรรษที่ 19, ยังมีการปฏิสัมพันธ์อันยาวนานกับอังกฤษ. วาทกรรมของชาวอินเดียในภาษาอังกฤษ จึงมีมานานถึง ๑๕๐ ปี, และคำศัพท์และกรอบความคิดของเรา, รวมทั้งลัทธิสตรีนิยม และสตรีศึกษา, ก็พัฒนาออกมาจากประวัติศาสตร์อันนี้, ทำให้ของเราค่อนข้างจะต่างกับของนักสตรีนิยมตะวันตก.  เราได้พลิกแพลงใช้ระบบการจัดประเภท และมีการถกเถียงในบริบทของการรณรงค์และต่อสู้ของพวกเรา, แม้ว่าจะสาธยายออกมาเป็นภาษาอังกฤษ, จึงทำให้ดูเหมือนไม่มีความแตกต่างกับกรอบคิดตะวันตก.  มันเป็นทั้งปัญหา และจุดแข็งที่เวลาส่วนใหญ่เราจะถกเถียงกันภายในระหว่างกันเองในประเทศที่มีขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย นี่ก็คงเป็นเช่นเดียวกันในจีน. แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ นักสตรีนิยมตะวันตกไม่ได้เป็นจุดอ้างอิงใกล้มือสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นห่วงใยของเราที่กำลังเกิดขึ้น, และพวกเราก็มีความจำกัดในการปฏิสัมพันธ์กับนักวิชาการชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตก หรือ นักวิชาการตะวันตกที่เขียนเกี่ยวกับอินเดีย.

จีน :            จากการที่พวกคุณมีปฏิสัมพันธ์ทางปัญญาความคิดในภาษาอังกฤษ และนักวิชาการตะวันตกก็ใช้ภาษาอังกฤษ, แล้วคุณยังมีปัญหาอะไร ในเมื่อคุณใช้ภาษาเดียวกัน?                

อินเดีย :         ประเด็นสำคัญของพวกเราคือ ตำแหน่ง, ความเข้าใจไม่ใช่เพียงแง่ภูมิศาสตร์ แต่แง่การเมือง.

จีน :            อันนี้เป็นคำถามเดียวกันกับ ชาตินิยมหรือไม่? มีวิญญาณของชาตินิยม ที่คุณสามารถจะเชื่อมโยงกับสตรีนิยมตะวันตกไหม?

อินเดีย :         เพื่อตอบคำถามนี้ เราต้องระลึกว่า สตรีศึกษาและการเคลื่อนไหวของสตรีในอินเดีย ประกอบด้วยเส้นใยหลายสาย. ถ้าคุณได้เจอประดาผู้คนต่างๆ ที่อยู่ในการต่อสู้ของพวกเรา, คุณจะได้ยินเสียงชาตินิยม, เสียงสนับสนุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ. แล้วเราก็ยังมีวงการนักวิชาการ ตลอดจนวงการ เอ็นจีโอ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากนานาประเทศ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันในสตรีศึกษา, และกลุ่มหลัง ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันโดยตรงที่สูงกว่าในการที่จะต้องเลือกใช้กรอบคิดเจนเดอร์บางอัน.  ในวงการวิชาการ พวกเราได้ใช้คำ เช่น ระบบพ่อเป็นใหญ่ และเจนเดอร์ มานานแล้ว ก่อนที่องค์กรนานาชาติจะผลักดันคำนี้.  แต่การขยายตัวของภาค เอ็นจีโอ ตั้งแต่ ทศวรรษ 1990/๒๕๓๓, คำว่า เจนเดอร์ เริ่มมีชีวิตของมันเอง. นี่หมายความว่า พวกเรามีความเห็นไม่ตรงกัน และขัดแย้งกันในด้านประเด็นและกรอบคิด, และก็เป็นเพราะพวกเราเหล่านักวิชาการ ที่เกาะเน้นอยู่ที่คำถามของตำแหน่งอย่างเข้มแข็ง.  เพราะว่าเราพูดภาษาเดียวกัน, เพราะว่าพวกเราบางคน จบการศึกษาทั้งกระบวนในอินเดีย, บางคนไปเรียนต่อต่างประเทศ สำเร็จปริญญาเอกกลับมา, และบางคนก็อยู่ต่อในโลกตะวันตก กลายเป็นตัวแทน ผู้หญิงอินเดียสำหรับผู้ชมที่นั่น.  พวกเรามีความสัมพันธ์หลายชั้นกับตะวันตก ซึ่งไม่เห็นชัด เพราะเราฃไม่มีปัญหาในการแปล. ประเด็นในการแปล จึงเกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อนเรื่อลตำแหน่ง ที่พวกเรากำลังพยายามยกขึ้นมากล่าวในงานของพวกเรา.

จีน :            สำหรับพวกเราก็เป็นเช่นนั้นด้วย, ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่การแปลคำต่อคำ, แต่เป็นการถกกันที่ความหมายต่าง ๆ ในภาษาเดียวกัน.

อินเดีย :         เราขอกล่าวถึงอีกมิติหนึ่งของการแปล, ซึ่งรวมถึงคำถามของการเปรียบเทียบ และกรอบการเปรียบเทียบ. เมื่อเราทำการเปรียบเทียบจากสถานการณ์ของพวกเราเอง, กรอบการอ้างอิง มักจะใช้ตะวันตกเป็นหลัก.  ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา, พวกเราบางคนได้พยายามสร้างการติดต่อในเอเชีย, หรืออาฟริกา หรือลาตินอเมริกา, เพื่อค้นหาว่า อาจจะมีอะไรที่ต่างจากสิ่งที่เรากำลังพยายามทำในห้วข้อเรื่องผู้หญิง.  ถ้าเราได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแปล จากมุมมองว่าแปลข้อมูลจีนเป็นภาษาอินเดีย หรือสถานการณ์ในอินเดียเป็นภาษาจีนแล้ว,  ปัญหาเรื่องคำศัพท์ ที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ คงจะแตกต่างออกไป. ปัญหาและความเป็นไปได้ในการถกร่วมกันในเชิงปุจฉา-วิสัชนาเช่นนี้  เป็นสิ่งที่พวกเราสนใจ และต้องการจะพัฒนาต่อไป.

จีน :            พวกเราเห็นด้วยกับข้อห่วงใยอันนี้, และสนใจที่จะหาเครื่องมือ/วิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดการวิจัยข้ามวัฒนธรรม. พวกเรารู้เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก!



[1] อาจารย์จากมหาวิทยาลัย จาวาห์ลาล เนห์รู (Jawarhlal Nehru University)  ที่กรุงเดลฮี อินเดีย, เป็นผู้สัมภาษณ์ สำหรับวารสาร เศรษฐศาสตร์การเมืองรายสัปดาห์ (Economic Political Weekly, EPW) ของอินเดีย (http://www.epw.org.in/).

EPW Conversations 2005-04-16

Source:
EPW Conversations, April 16, 2005
Women and Feminism in China and India
A conversation with Li Xiaojiang
By Mary John
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น