ทางเลือกสู่ทางรอด...ร่วมกัน
แปล/เรียบเรียงจากการจดบันทึกชุดการบรรยาย “โลกของเราไม่ได้มีไว้ขาย” วันที่ 4 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย School for Wellbeing Studies and Research, สถาบันสราญรมย์ กระทรวงต่างประเทศ (SIFA), และสวนเงินมีมา
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี ตันติวิรมานนท์
ช่วงแรก … ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข: เพื่อชัยชนะเหนืออวิชชา” โดย เฮเลนา นอร์เบิร์ก-ฮอดจ์ ช่วงที่สอง … เวทีเสวนา “เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข: ทางเลือกและทางรอดของเศรษฐกิจชุมชน” - คุณชมชวน บุญระหงษ์ (ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน เชียงใหม่) - คุณ - คุณ - คุณ |
ช่วงแรก
ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข: เพื่อชัยชนะเหนืออวิชชา”
โดย เฮเลนา นอร์เบิร์ก-ฮอดจ์ (Helena Norberg-Hodge, ผู้ได้รับรางวัล Right Livelihood
ทุกๆ สำนักความเชื่อทางจิตวิญญาณ ล้วนมีเป้าหมายของความอยู่ดีมีสุขของคน สอนให้คนมีจิตใจที่เป็นบวก เมื่อเร็วๆ นี้เริ่มมีการพูดถึง การธำรงความสุข และความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ มันเป็นเรื่องที่ถูกละเลยมานาน และสมควรที่จะได้ทำกันมานานแล้ว จุดเริ่มต้น คือ เราต้องตรวจสอบระบบทั้งหมดรอบตัวเราว่า อะไรเป็นตัวทำให้เราไม่เป็นสุข เพื่อเราจะได้กำหนดทิศทางที่ต่างออกไป ที่จะทำให้มนุษย์ทั้งมวลมีความสมดุลทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ และมนุษยชาติทั้งมวลจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต
ลาดักปลุกให้ฉันตื่น
ฉันเริ่มตื่นตระหนักเป็นครั้งแรกในลาดัก ด้วยเหตุนี้กระมัง คนจึงมักเรียกฉันว่า Ladak Lady (คุณผู้หญิงลาดัก) ซึ่งฉันไม่ชอบสมญานามนี้เลย เพราะเป็นการคาดหวังว่าฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องลาดัก และเข้าใจวัฒนธรรม เศรษฐกิจกระแสหลักที่นั่นอย่างดี แท้จริงแล้ว ลาดัก ต่างหากที่เป็นผู้ทำให้ฉันตาสว่าง ให้ความรู้เพื่อฉันจะได้ถ่ายทอดสู่โลกกว้างต่อไปได้ ลาดักช่วยให้ฉันเข้าใจปฏิสัมพันธ์องค์รวมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่ดึงให้ท้องถิ่นตกเข้าไปอยู่ภายใต้การยึดครองของตลาดโลก อย่างที่เกิดขึ้นในทั่วทุกหัวระแหง ระบบนี้กระทบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ ไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียวในโลกนี้ ที่ไม่ถูกมันกระทบ เศรษฐกิจการเมืองใหญ่ที่อยู่ข้างนอกโน่นนั่นแหละ ที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของพวกเรา
ความสุขหายไปอย่างไร
ลาดักได้สอนฉัน เมื่อฉันไปถึงลาดักครั้งแรก ฉันรู้สึกฉงนกับความสุขของชาวลาดักยิ่ง พวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีความสุขที่สุด มีชีวิตชีวามากกว่าใครๆ ทั้งหลายในโลก ฉันได้เดินทางไปหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก (เฮเลนา เป็นนักภาษาศาสตร์ และมีความรู้ถึง 7 ภาษา) ได้พบผู้คนมากมาย แต่ก็ไม่เคยเจอใครที่เปี่ยมไปด้วยความสุขเช่นนั้น ในสองสามเดือนแรกที่ไปถึง ฉันได้เรียนภาษาลาดัก และในระหว่างนั้นเอง ฉันก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คืบคลานตามเข้ามา หลังจากการที่ ลาดัก เปิดประตูให้เศรษฐกิจจากโลกภายนอกหลั่งไหลเข้ามา
ลาดัก: ห้องแล็บทางสังคม เศรษฐกิจ
ในอดีต ประตูของลาดักถูกปิดสนิทเพราะเหตุผลทางการเมือง ในทางภูมิศาสตร์ ลาดักอยู่บนเทือกเขาสูง เป็นส่วนหนึ่งของฟากตะวันตกที่สุดของธิเบต แต่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย เนื่องจาก ลาดัก เป็นเขตยุทธศาสตร์ รัฐบาลอินเดียจึงไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าไป ดังนั้น ในช่วง 1947-74 ลาดัก จึงไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ในบัดดล ในปี 1974 กระแสจากโลกภายนอกเริ่มทะลักเข้าไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ฉันมองเห็นความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อย่างที่ไม่อาจมองเห็นได้ในที่อื่น ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลานาน และผลกระทบก็เหมือนสนิมที่ค่อยๆ แทรกซึมชอนไช จนลามปามไปทั่วอย่างท้องถิ่นไม่ทันรู้ตัวได้ ความที่ลาดักเป็นเมืองขนาดเล็ก ที่ถูกล้อมกรอบ มีถนนเพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอก ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ทดสอบตัวแปรทีละตัว นี่เป็นการทดลองที่มีการควบคุมอย่างดีเพื่อดูผลกระทบของตัวแปรต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
ปฏิกิริยาทางสังคม
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ความสุขของคนเริ่มเหือดหายไป ในช่วงเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ฉันจะเดินทางกลับไป ลาดัก ทุกปี สิ่งใหม่ๆ ที่ฉันเห็นตอนนี้ คือ การฆ่าตัวตาย มันเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก เพราะชาว ลาดัก รุ่นก่อนๆ ไม่เคยรู้จักการฆ่าตัวตายเลย ทุกวันนี้ จะมีข่าวการฆ่าตัวตายทุกๆ เดือน ส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่สามารถทนต่อความเครียดที่เกิดจากการแข่งขันสุดเหวี่ยงในเศรษฐกิจยุคใหม่ ตั้งแต่การแย่งชิงที่นั่งเรียน การหางานทำ การศึกษาและการมีงานทำเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง มันไม่ควรจะเป็นการบริการสาธารณะของชาติที่ขาดแคลน
ใครรับผิดชอบต่อการ “ดิ่งพสุธา” ของสังคมมนุษย์
คนมักโยนความผิดไปที่ประชาชน หาว่า ที่ขาดแคลนเพราะมีประชากรมากเกินไป แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินใจ ทำไมสังคมจึงไม่มีครู หรือหมอเพียงพอ มันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ ลาดัก เท่านั้น ทำไมทุกแห่งหนก็เป็นเช่นนี้
ในทางตรงข้าม ก็เพราะมีคนมากนะสิ ผู้นำและรัฐบาลจึงต้องอุทิศเวลา กำลัง และงบประมาณในการให้การศึกษา ในการป้องกันไม่ให้ต้นไม้สูญหายไป ช่วยฟื้นคืนชีวิตนก แมลง และผึ้ง ที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลก จะต้องปลดปล่อยพลังและศักยภาพของมนุษย์ ให้ได้ช่วยกันรักษาพรรณพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม ให้ฟื้นนิเวศและคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติ
แบบเรียนเร็วเศรษฐศาสตร์ (Economic Literacy)
แต่เศรษฐกิจที่คนอื่นคิดให้แทนเรา กลับจำกัดทางเลือก ด้วยการจำกัดช่องทางของการเข้าสู่การศึกษาและอาชีพการงาน ฉันเชื่อว่า การกระตุ้นให้สาธารณชนรับรู้ ว่าระบบของเศรษฐกิจทำงานอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าพลโลกส่วนใหญ่เข้าใจพลวัตรการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ก็จะสามารถมีส่วนร่วมในการบังคับควบคุมกลไก ให้มันทำงานไปในทิศทางที่ปกป้องต้นไม้ รักษาความสัมพันธ์ทางสังคม และทุกๆ อย่างที่สำคัญต่อการธำรงความอยู่รอดของโลกมนุษย์และนิเวศทั้งปวง ดังที่ธนาคารโลกได้นิยามไว้เมื่อเร็วๆ นี้
ความมัวเมาในระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก
ในหนังสือพิมพ์ประจำวันตรงหน้า “การเงินระหว่างชาติ” เราจะเห็นแต่เรื่องโกหกที่ว่า เพื่อเพิ่มอัตราการจ้างงาน จำเป็นต้องเพิ่มจีดีพี และจีดีพีจะเพิ่มขึ้นได้ ต้องกระตุ้นให้คนบริโภคมากๆ นี่เป็นจุดบอดที่ใหญ่หลวง ที่คุกคามความอยู่รอดของพวกเราและมนุษยชาติทั้งมวล หลังจากการปะทุขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจ มีการแจกเงินกันขนานใหญ่ เพื่อให้ทุกคนเริ่มใช้จ่ายเงิน ซื้อของที่ไร้ประโยชน์ต่างๆ เปลี่ยนแฟชั่นกันทุกเดือน นโยบายนี้ เป็นการผลักดันให้ผู้คนกรูเข้าสู่ตรอกซอยแคบๆ ที่มืดมิด ด้วยความเชื่อศรัทธาในอุดมการณ์หรือสมมติฐานบางอย่าง มันเป็นการบริโภคอย่างหน้ามืดตามัวที่เขมือบป่าไม้ พลังงานฟอสซิลที่หมดแล้วหมดเลย นี่เป็นต้นเหตุของความหายนะในระบบนิเวศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล บรรษัทข้ามชาติ และสถาบันการเงิน
ปฏิกิริยาจากคนฐานราก: ผู้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ
คนเป็นจำนวนมากขึ้น เริ่มไม่พอใจเหลืออดกับการถลุงทรัพยากรธรรมชาติและความงี่เง่าของรัฐบาล และภาคธุรกิจมหภาค แต่เดิมพวกเราเคยหลงเชื่อและสมมติไปว่า คนที่มีการศึกษาสูงเหล่านั้นจะเป็นผู้นำที่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร แต่ทุกวันนี้ มันได้พิสูจน์แล้วว่า พวกผู้นำเหล่านั้น กลับผลักดันพวกเราให้หลงทางไปติดหล่มเพราะเลือกเดินผิดทาง
อวิชชา: รากเหง้าของปัญหา
ปัญหาสำคัญคืออวิชชา ความมืดบอดของผู้คนทั้งในระดับบนและระดับล่าง ในศาสนาพุทธไม่ได้พูดถึงผลของอวิชชาในลักษณะที่เป็นรูปธรรมของธนาคาร การทำให้คนไม่มีงานทำ หรือความขาดแคลนต่างๆ อวิชชาเป็นผลของเหตุปัจจัยในกาลก่อน ที่สั่งสมกันมาและฝึกฝนให้คนมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองแคบๆ ที่เรียกว่า สมัยใหม่ ความเชี่ยวชาญชำนาญการ โดยใช้กรอบคิดที่อาศัยตรรกะของการลดทอนความจริงที่ไม่ต้องการออก
เศรษฐกิจสมัยก่อน และสมัยใหม่
การจ้างงานในสมัยก่อน ตรงกันข้ามกับการทำงานในอุตสาหกรรมปัจจุบัน เพราะคนสมัยก่อนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในสังคมสมัยก่อน ขนาดของกิจการธุรกิจ หรือระบบเศรษฐกิจ มันครือๆ กับวิธีการและระดับการใช้แรงงานมนุษย์ผู้อื่นและการใช้ทรัพยากรเพื่อยังประโยชน์แก่ตนและสังคม เศรษฐกิจองค์รวมในสังคมสมัยก่อน มีขนาดที่เราสามารถมองเห็นได้ว่า ใครทำอะไร ใครกดขี่ข่มเหงใคร ใครใช้สารพิษอะไร ใครตัดต้นไม้ ใครทำให้น้ำเสีย ขนาดดังกล่าว เป็นกลไกในตัวที่ป้องกันการทำร้ายและทำลายล้างกันเอง
ถึงแม้ว่า เศรษฐกิจขนาดย่อมสมัยก่อนนี้ จะมีการใช้แรงงานทาส มีการโค่นป่าตัดต้นไม้ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าในยุคใหม่ของเรา ที่คนหนึ่งนั่งอยู่ในซีกโลกหนึ่ง กินอาหารที่มาจากแรงงานของคนอีกมากมายในอีกซีกโลกหนึ่ง โดยคนทั้งสองทั้งสองฟาก มองไม่เห็นหน้ากันเลย และคนกินก็ไม่เห็นถึงผลกระทบจากการกิน หรือทางเลือกของตน ในทำนองเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ เช่น แมคโดนัล มอนซานโต ฯลฯ ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และก่อปัญหาสังคมมากมายในโลก แต่บรรดาผู้บริหารและตัดสินใจระดับสูงเหล่านั้น ก็ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสกับผลกระทบที่ตนก่อขึ้น เพราะนั่งอยู่บนยอดคลื่นของกระแสโลกาภิวัตน์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสร้างกระแสท้องถิ่นอภิวัตน์ (localization)
ทำไมจึงต้อง “ท้องถิ่นอภิวัตน์”
ท้องถิ่นอภิวัตน์ ไม่ได้หมายถึงแค่การผลิตที่ระดับหมู่บ้าน มันเป็นคำเปรียบเทียบ ที่มีประโยชน์ในการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ว่าจะต้องสร้างกระแสสวนทางกับแนวโน้มของการผลิตที่แยกคนและภาคส่วนต่างๆ ให้ฉีกห่างออกจากกันมากขึ้น เพราะเมื่อระยะห่างไกลเพิ่มมากขึ้นเท่าไร กลไกการค้าตัวกลาง ธนาคาร ผู้เก็งกำไร ก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น และสิ่งที่เข้ามาแทนที่ในช่องว่างทางโครงสร้างนี้ ก็คือ บรรษัทข้ามชาติ และสถาบันการเงินขนาดยักษ์
เราพบว่า ในทุกปัญหา การทำลายสิ่งแวดล้อมจะลดลง ถ้าระยะห่างนี้ลดลง และธุรกิจมีรกรากตั้งอยู่ในท้องถิ่น สถาบันการเงิน ซูเปอร์มาร์เก็ต ล้วนต้องกลับเข้าสู่การกวดขันควบคุม แต่ด้วยขนาดอันมหึมาของบรรษัทข้ามชาติ และสถาบันการเงิน มันจึงสามารถผลักดันให้ยกเลิกกฎเกณฑ์การควบคุมต่างๆ จนมันขยายตัวอย่างรวดเร็วถึงระดับครอบงำและครอบครองทั่วโลก มันได้อาศัยขนาดความใหญ่โตของมัน ทำลายกลไกกฎเกณฑ์ใดๆ ที่ขวางหน้า ในขณะเดียวกัน มันก็กดดันให้เกิดกฎเกณฑ์ยิบย่อยมากมาย เพื่อจำกัดสิทธิ์ ควบคุมการเจริญเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง กลายเป็นการล้อมคอกธุรกิจท้องถิ่น ในที่สุด สังคมกลับปล่อยให้ธุรกิจขนาดมหึมา นักเก็งกำไร มีอิสรเสรีภาพเต็มที่ สามารถไประรานเอาเปรียบใครที่ไหนก็ได้ กฎยิบย่อยไร้สาระได้บีบคั้นให้ธุรกิจเล็กๆ ต้องล้มละลายเพียงเพราะ บรรษัทใหญ่ๆ ได้สร้างมลภาวะไปทั่วไว้มากมาย พวกบรรษัททั้งหลายต่างทุ่มทุนให้พวกนักวิ่งเต้นทางการเมือง (lobbyist) ไปชักจูงให้สมาชิกสภานิติบัญญัติออกกฎหมายที่ทำลายล้างธุรกิจขนาดเล็ก
เช่น โรงแรมลูกโซ่ขนาดใหญ่ในวอชิงตัน ดีซี ได้ผลักดันให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายว่าด้วยธุรกิจการจัดการและให้บริการห้องเช่า โดยบังคับให้ต้องมีบันไดหนีไฟ ฯลฯ ซึ่งเกินเลยความจำเป็นและความสามารถของธุรกิจขนาดเล็ก[2] รายย่อยที่มีห้องให้เช่า ในทำนองเดียวกัน อุตสาหกรรมทำขนมปิ้ง ก็ไปผลักดันให้ออกกฎหมายว่า โรงงานที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ จะต้องมีเตาอบราคาเกิน 10,000 เหรียญสหรัฐ ขึ้นไป ฯลฯ ทั้งหมดนี้ นักวิ่งเต้นจะอ้างถึงคุณภาพของผลผลิต การบริการ และความปลอดภัย เสมือนว่าห่วงใยผู้บริโภค กระบวนการไล่บดบี้ขยี้ ทำลายล้างวิถีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ขวางทางการงอกเงยของธุรกิจขนาดยักษ์เช่นนี้ ได้สร้างความโกรธแค้นแก่ชาวนาและกิจการรายย่อยมากขึ้น จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการกล่าวหานักกิจกรรม หรือกระบวนการขับเคลื่อนเขียว ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างคนรวยและคนจน
คุณคงเคยได้ยินปรากฏการณ์ที่เรียกว่า tea party (ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ) นี่คือความรู้สึกโกรธแค้น เหมือนถูกทรยศหรือจนตรอก ชาวนาในระดับรากหญ้าทุกหัวระแหงทุกวันนี้ กำลังลุกขึ้นต่อสู้กับการถูกทำลายวิถีชีวิตของพวกเขา
ต้องต่อสู้แบบอหิงสา ด้วยวิชชา
แม้คนรากหญ้าจะเริ่มเหลืออด และอาจลุกฮือเป็นความรุนแรงแบบ tea party เราต้องไม่ทำเช่นนั้น เราต้องไม่เที่ยววาดภาพปีศาจใส่หน้าผู้บริหารระดับสูงของเหล่าบรรษัทขนาดยักษ์ สิ่งที่เราด้องช่วยกันทำ คือ เปิดโปงการทำงานของระบบกลไกที่ยกเลิกการกวดขันควบคุมที่เกี่ยวโยงถึงการทำลายงานสุจริตของคนทั่วไป สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติ มันอาจต้องใช้เวลานาน อาจจะอีก 3-5 ปีเพื่อให้โฉมหน้าเศรษฐกิจและการเมืองให้ฟื้นคืนความหมาย
แม้ว่ามวลชนทุกหนแห่งจะหมดศรัทธา และหมดอาลัยกับรัฐบาล แต่มวลชนก็ยังไม่มีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับการทำงานของระบบเศรษฐกิจโลกนัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สองกลไกหลักในระบบเศรษฐกิจ
ในระบบเศรษฐกิจ มีสองกลไกที่สำคัญ คือ กฎเกณฑ์สำหรับการควบคุมกวดขัน และภาษี ด้านกฎเกณฑ์ มีตั้งแต่การควบคุม (regulation) การยกเลิกการควบคุม (deregulation) และการควบคุมมากเกินไป (over-regulation) ส่วนด้านภาษี มีสองมิติ คือ การเก็บและการใช้ นโยบายของภาครัฐในการให้ความสนับสนุนด้านการเงิน (subsidy) มาจากเงินภาษีของประชาชน ทิศทางการให้ความช่วยเหลือแก่ใครตามที่รัฐบาลกำหนด เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวโยงกับโอกาสในชีวิตของพวกเรา ปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีและพลังงาน โดยมุ่งไปที่การเชื้อเชิญการลงทุนขนาดมหาศาล และดึงดูดใจบรรษัทยักษ์ข้ามชาติด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีและอำนวยความสะดวกต่างๆ (เช่น ลดหย่อนการกวดขัน แรงงานราคาถูก เป็นต้น)
เทคโนโลยีช่วยผ่อนแรง หรือทำให้คนตกงาน
ดั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา นักคิดนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ได้พยายามหาวิธีทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานชนิดอื่น แต่ในยุคปัจจุบัน โลกแน่นขนัดไปด้วยประชากร และส่วนใหญ่ก็ไม่มีงานทำ แต่มาตรการดังกล่าวยังเดินหน้าเหมือนเดิม คือส่งเสริมการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีและพลังงานอื่นๆ ผู้บริหารห้องสมุด ร้านหนังสือ ธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างพากันหันไปใช้เทคโนโลยี ในนามของการ “พัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า และเป็นการลดต้นทุน “ความก้าวหน้า” เช่นนี้มองข้ามความสำคัญของการมีคนขายตั๋วนั่งคุยกับลูกค้า มันเป็นงานที่มีความหมายและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย นี่เป็นงานที่มีประโยชน์ประเภทหนึ่งที่คนทำได้ มีความหมาย คุณค่า และทำให้คนมีงานทำมีรายได้เลี้ยงชีพ แต่รัฐบาล ผู้นำประเทศ กลับส่งเสริมให้แทนที่คนงานเหล่านี้ ด้วยเครื่องจักรล้ำยุคที่ต้องพึ่งพลังงานที่กำลังจะหมดไปจากโลกนี้
โฆษณาชวนเชื่อที่สับสน
นี่เป็นกลไกที่ปากว่าตาขยิบของระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่ครอบงำการเมืองและขับเคลื่อนโดยธุรกิจขนาดยักษ์ ในด้านหนึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า ให้พลเมืองยิ่งบริโภคผลิตภัณฑ์ไร้สาระมากเท่าไร ก็จะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้า จีดีพีงอกงามขึ้นเท่านั้น เพื่อโรงงานอุตสาหกรรมจะได้เดินหน้าผลิตต่อไป เพื่อคนงานจะได้มีงานทำ แต่ไม่มีวี่แววว่าจะมีการโฆษณาว่าด้วยการลดใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีระดับสูงทดแทนแรงงานมนุษย์
“วิชชา” เศรษฐศาสตร์ทางเลือก
การให้การศึกษาหรือความรู้ในหลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจท้องถิ่น/ในประเทศ ถ่วงดุลกับธุรกิจยักษ์ข้ามชาติได้ ช่วยลดการผลาญพลังงาน ช่วยสร้างงาน ซึ่งจะมีอานิสงค์ต่อการชะลอภาวะโลกร้อน ชะลอการเร่งรีบสร้างโรงปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อผลิตพลังงาน เราต้องงดการส่งข่าวสารหรือสัญญาณในเชิง “ชี้นิ้ว” กล่าวหากันและกัน ซึ่งไม่ยังประโยชน์อันใด เราควรพยายามหันหน้าเข้าหากัน และหาทางออกในการปรับเปลี่ยนทิศทางที่กลไกระบบเศรษฐกิจกระแสหลักกำลังทำงาน ให้เป็นไปเพื่อการสร้างงานแก่คนทั่วไป และลดการใช้พลังงาน นี่เป็นหัวใจของปัญหาตัวจริง ทำอย่างไร เราจึงจะผลิตสิ่งของ บรรจุหีบห่อ รวมทั้งขนส่งด้วยวิธีที่ลดความสูญเสียของพลังงานอย่างสิ้นเปลือง หรือปล่อยสารก่อมะเร็ง แต่สร้างงาน (ใช้พลังงานคน) ให้คนได้มีรายได้เลี้ยงชีพ นี่ควรเป็นโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ที่เราต้องช่วยขบคิดร่วมกัน
การมุ่งเน้นไปที่การส่งออก มากกว่าการผลิตเพื่อสนองตอบความจำเป็นในการบริโภคของคนในประเทศ เป็นแรงกดดันให้ต้องใช้พลังงานมหาศาลและอย่างฟุ่มเฟือย ระยะทางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง เพราะช่องว่างยิ่งมาก ก็จะเป็นช่องโหว่ให้พ่อค้าคนกลาง นักเก็งกำไร เข้ามาและสร้างหนี้สินแก่ชาวบ้าน และผู้ประกอบการราบย่อย ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าถ้าผลิตเพื่อการบริโภคของตนเองและในท้องถิ่นก่อน ระยะห่างที่สั้นลงในกระบวนการท้องถิ่นอภิวัตน์ จะช่วยลดมลภาวะ ฟื้นคืนประชาธิปไตย รวมทั้งความสุข แก่คนธรรมดาทั่วไป
โลกตะวันตก กำลังเคลื่อนสู่ ท้องถิ่นอภิวัตน์
นักวิศวกร และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ศึกษาเกี่ยวกับภาวการณ์ผลิตน้ำมัน และสรุปว่า โลกได้เข้าไปอยู่ในขั้นวิกฤตน้ำมัน (peak oil) แล้ว นั่นคือน้ำมันกำลังจะหมดจากโลกใบนี้ไป คล้ายๆ กับภาวะเงินขาดมือ แต่อันนี้มันเป็นของจริง ไม่ใช่แค่ธนบัตรกระดาษ แต่ยุคของเราทุกวันนี้ ต้องพึ่งพาน้ำมันเกือบเต็มตัว การตื่นตัวเรื่องนี้ ได้แพร่หลายเป็นบทความกระจายไปทั่วโลกตะวันตก จุดประกายการขับเคลื่อนผลักดันสังคมให้มุ่งสู่ “ท้องถิ่นอภิวัตน์” ซึ่งเรียกร้อง และริเริ่มการทำระบบเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น พวกเขาเห็นถึงสัจธรรมว่า ถ้าวันหนึ่ง น้ำมันแพงมาก หรือหมดไป อย่างน้อยพวกเขาก็ยังจะมีอาหารกินยังชีพต่อไป พวกเขาได้หันกลับไปสนับสนุนชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ เปิดตลาดนัดขายตรงจากชาวนา
แรงต่อต้านจากกระแสหลัก
นี่เป็นสามัญสำนึกที่ทุกคนควรทำ แต่มีงานวิจัยที่กระแสหลักครอบงำ ที่ส่งสัญญาณในทางตรงข้าม รายงานเหล่านี้เถียงว่า วิธีการส่งกุ้งไปแกะเปลือกออกที่อังกฤษ เป็นการช่วยประหยัดพลังงาน เพราะอังกฤษมีเครื่องจักรแกะเปลือกกุ้งที่มีประสิทธิภาพสูง พอแกะเปลือกแล้ว ก็ส่งกลับหรือส่งต่อไปได้ อีกรายงานหนึ่งเถียงว่า การซื้อเนื้อแกะจากนิวซีแลนด์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอังกฤษ ฯลฯ โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตหรือความอยู่รอดของคนเลี้ยงแกะในประเทศของตน ในทางตรงข้าม อุตสาหกรรมกระแสหลักก็ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวิ่งเต้นให้ตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ การค้าขายคาร์บอน (carbon trading) ที่จ่ายเงินแก่ประเทศที่ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าขีดอันตราย
นี่เป็นความสับสนของกลไกการค้ากำไรกระแสหลัก
ฉันได้ไปแสดงปาฐกถาที่ธนาคารโลกในเดลฮี เรียกร้องให้สนับสนุนการผลิตเพื่อท้องถิ่น ก็มีคนประเภทกระแสหลักนี้ ที่เถียงว่า การส่งเสริมให้ชาวอาฟริกันปลูกถั่วเพื่อขายในอังกฤษ เป็นการช่วยลดความยากจนในอาฟริกา และเป็นการช่วยชาวอาฟริกาให้พัฒนาเศรษฐกิจด้านอาหารในประเทศ แต่คนที่เถียงมองข้ามความจริงที่ว่า ผลกำไรจากการขายข้ามทวีป ไม่ได้ตกกับคนยากจน และส่วนใหญ่เข้าสู่บรรษัทข้ามชาติ
ธรรมชาติยังช่วยเยียวยาเราอยู่...ถ้าเหทางออกจากกระแสหลัก
การที่จะช่วยอาฟริกาให้เป็นไทจากระบบแรงงานทาส หรือช่วยให้เขาสร้างเศรษฐกิจของตนเองได้ จะต้องกระจายการใช้พลังงานที่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่น (เหมือนที่กำลังขับเคลื่อนในโลกตะวันตก) ธนาคารท้องถิ่น ธุรกิจท้องถิ่นและการสร้างพันธมิตร ที่ Schumacher College เมืองท๊อชเน็ต ได้กลายเป็นเมืองระหว่างทาง (transition town) เป็นแหล่งให้เริ่มเยียวยาสายใยของชุมชน และถักทอความเป็นชุมชนร่วมกันอีก ให้เกิดการเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค และคนกับธรรมชาติ สิ่งสำคัญพื้นฐานในท้องถิ่นอภิวัตน์ คือ การรื้อฟื้นความเป็นชุมชน คืนความสุขแก่มนุษยชาติ และความสมดุลสู่สิ่งแวดล้อม
ประชาชนจำนวนมากขึ้นมีความทุกข์จากปัญหาจิตเวชรุนแรง ความบีบคั้นทางสังคม ทำให้จิตใจสับสน ผลักดันให้คนหาทางออกด้วยการเสพยา สุรา และแสดงพฤติกรรมต่อผู้หญิงและเด็ก นักบำบัดจิตได้เริ่มสร้างความเป็นชุมชนในหมู่คนที่พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เสพติดให้กลับมามีชีวิตปกติสุขได้ มีการแบ่งปันระบายปัญหาทุกข์ใจ ให้กำลังใจแก่กัน เพื่อให้พวกเขาปรับตัวคืนสู่สังคม เป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่น รวมทั้งช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป
นี่เป็นหนทางหนึ่ง ที่มีการริเริ่มโดยอาศัยทักษะความรู้ในการบำบัดจิต ที่เชื่อมกับจิตวิญญาณและธรรมชาติ ด้วยการจัดทำกิจกรรมที่สร้างงานและได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ กิจกรรมและความสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่มีชีวิต ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์กหรือปารีส ก็เช่นกัน ผู้คนเริ่มมีความตระหนักหรือจิตสำนึกในการยื่นมือออกไป ช่วยกันสร้างความเป็นชุมชนขึ้นใหม่ ระหว่างเพื่อนบ้าน และทำความรู้จักมักคุ้นกับชาวไร่ชาวนาผู้ผลิตอาหารที่ตนซื้อมาบริโภคมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจท้องถิ่นเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจำกัดอยู่แค่หมู่บ้านของตน แม้จะมีการขนส่งแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคในระยะทางห่างไกล ก็ไม่ต้องถึงกับข้ามทวีปที่สิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
ความสุขมาจากไหน
ในระดับพื้นฐานแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของคน คือ ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ—ครอบครัว เพื่อน ชุมชน—ความรู้สึกว่าเชื่อมโยง ผูกพันกับคนอื่นๆ มีงานศึกษาที่วิจัยความสัมพันธ์ของการมีการศึกษาสูงและความรู้สึกเคารพ/มั่นใจ/ภาคภูมิใจในตัวเอง (self esteem) ผลปรากฏว่า คนที่มีความมั่นใจ/ภาคภูมิใจในตัวเองสูงสุด คือ คนที่มีคนอื่นที่ตนรักผูกพันในชีวิต อาจเป็นย่า ยาย เพื่อนบ้าน พี่น้อง ส่วนคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อย คือ คนที่มีการศึกษาสูงแต่ไม่มีบุคคลสำคัญในชีวิตของพวกเขา ๆ จะรู้สึกขาดอะไรบางอย่าง หรือเบียดเบียนตัวเอง ไม่มีความสุข
เด็กๆ มีความรัก แต่ถ้าเติบโตมาท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มของพฤติกรรมไปทางรุนแรงด้วย เด็กทุกคนจึงสมควรที่จะได้รับความรักจากผู้ใหญ่
อนาคตของมนุษยชาติ และสื่อโฆษณา
สื่อสมัยใหม่ต่างพากันหลอกต้มเด็กด้วยวิธีที่ลึกล้ำ มันบอกเด็กว่า “ถ้าหนูอยากให้คนอื่นนิยมชมชอบ หนูต้องมีตุ๊กตาบาบี้ มีรองเท้ากีฬาราคาแพง ฯลฯ” ในทีวีก็จะเอานางแบบหุ่นบอบบาง ชูว่าเป็นของเท่ห์ เก๋ไก๋ สวย น่านิยม มาโฆษณา ทำให้เด็กๆ เกิดความไม่พอใจกับหน้าตา ผิวหนัง ผมเผ้า ฯลฯ ของตัวเอง การให้การศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ก็คือ ต้องให้เด็กและผู้ใหญ่รู้เท่าทันการหลอกลวงเช่นนี้ ที่พยายามปั้นแต่งอัตลักษณ์ให้เด็ก โดยผ่านทางจานดาวเทียม “ถ้าเธอต้องการความรัก ก็จงไปหาซื้อโน่นซื้อนี่” นี่เป็นคำบงการที่ชั่วร้าย เมื่อเด็กรู้ไม่เท่าทัน จะร้องขอพ่อแม่ให้ซื้อโน่นซื้อนี่ให้ พ่อแม่ติดหล่มจิตวิทยาของความรักลูก จะปฏิเสธ ก็เป็นการกีดกันไม่ให้ลูกเข้ากับหมู่เพื่อนได้ จะซื้อให้ ก็อาจไม่มีเงินพอ หรือกลายเป็นการส่งเสริมการเสพติดบริโภคนิยม พ่อแม่มีทางเลือกน้อยมาก สังคมมีพื้นที่สาธารณะน้อยมากสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ในการถกถึงปัญหาสิทธิ์และทางเลือกทางการเมืองที่เกี่ยวกับการบริโภคสื่อโฆษณา
ในสวีเดนก็ไม่ต่างกับที่อื่นในโลก ในขณะที่โฆษณาในทีวีทวีความเข้มข้นของการยั่วยุให้บริโภค (เจาะกลุ่มเป้าหมายตามเพศ วัย) เราจะเห็นความโกรธแค้น และพฤติกรรมรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบรรดาเยาวชน
จิตสำนึกที่เป็นธรรม หรือวิชชา (สัมมาทิฏฐิ) ถ้าเกิดขึ้นได้ จะนำไปสู่สติและปัญญาชุมชนให้ช่วยกันหันเหทิศทางที่กำลังพุ่งสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น ปฏิบัติการนี้จะต้องเริ่มจากระดับปัจเจกและท้องถิ่น ผู้ใหญ่ต้องเติบโตไปพร้อมกับเด็ก ด้วยความเข้าใจเด็กว่าต้องการ “วีรชน” หรือบุคคลต้นแบบ (role model) เพื่อเป็นตัวอย่างช่วยให้เขาก้าวพ้นจากวัยเด็ก แต่ไม่ใช่ตกเป็นทาสลัทธิอาณานิคมใหม่ ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ จะช่วยให้เกิดสัมมาวายามะ และสัมมาอาชีวะ เกิดปัญญาเห็นความเหลวไหลของระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก เมื่อเห็นรากเหง้าของปัญหา ก็จะเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในท้องถิ่นอภิวัตน์
จิตวิญญาณแห่งสังคมเศรษฐกิจที่เป็นธรรม : ทางรอดสุดท้าย
แม้นักวิทยาศาสตร์จะได้พยากรณ์ความหายนะต่อมนุษยชาติและต่อโลกที่ใกล้เข้ามา แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนแสดงความเห็นว่า โมเดลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ตายตัว วิกฤตทำให้คนเริ่มขบคิด ค้นคว้า แสวงหา ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราได้เข้าใจชัดขึ้น ถึงกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่มุ่งแต่ค้ากำไรมหาศาลถ่ายเดียวจนทำลายล้างทุกอย่าง ทางแก้ก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เน้นการกระจายความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ด้วยการสร้างงานที่มีความหมายอย่างแท้จริงต่อมนุษยชาติ การเข้าใจพลวัตของสื่อโฆษณาที่ทำลายและทำร้ายจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เป็นจุดที่เราจะใช้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ที่จะสร้างจิตวิญญาณและความสำนึก ตื่นรู้ใหม่ร่วมกัน
ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเปลี่ยนแปลง ทุกคนยังมีทางเลือก แต่ต้องเริ่มจากตัวเราเองที่จะตื่นรู้ ขจัดอวิชชาในจิตใจ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ขอให้มีความหวัง มีส่วนร่วมกับกระแสทางเลือก แล้วทางเลือกท้องถิ่นอภิวัตน์ ก็จะเป็นทางรอดของมนุษยชาติ
ถาม-ตอบ
ถาม:
ขอถามเกี่ยวกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ถ้าครอบครัวต่างๆ หันมาใช้พลังงานทางเลือกแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม แล้วมันจะช่วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ขนาดไหน
ตอบ:
เอเทอนอล (แก๊ซโซฮอล) มาจากข้าวโพด การส่งเสริมดีเซลชีวภาพ เป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร อาหารควรจะใช้เลี้ยงมนุษย์ก่อนที่จะป้อนให้รถ การเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศโลกได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ปรากฏการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อ 15-20 ปีก่อน สภาพอากาศสุดเหวี่ยงทั้งร้อนและหนาว ทั้งน้ำหลากและแล้ง มันเหวี่ยงจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่งอย่างน่าสะพรึงกลัว ภาวะโลกร้อนทำให้พวกเรารู้สึกสิ้นหวังกัน
ฉันทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และก็ได้รับรายงานข้อมูลที่ขัดแย้งกัน สรุปได้ว่า โมเดลทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการพยากรณ์อนาคตนั้น ไม่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมสภาวะอากาศจึงปั่นป่วนอลวนถึงขนาดนั้น
จริงอยู่ ก๊าซคาร์บอนโดออกไซด์ควรจะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่ออันตรายแก่ระบบนิเวศ ในขณะเดียวกัน ถ้าสังคมสามารถฟื้นฟูให้คนมีงานทำอย่างมีความหมาย จิตใจ และจิตวิญญาณของสังคมโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น การมีสุขภาพกาย อารมณ์ และจิตวิญญาณที่สมดุลขึ้น จะเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดออกไซด์ไปในตัว ในขณะที่เราบริโภคอย่างมัวเมาถึงขั้นทำให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ต้องสูญพันธุ์ไป เราควรจะหันมาร่วมมือกันสร้างการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) เพื่อเราจะได้มีโลกที่ผาสุก ทำงานที่มีความหมาย มีศักดิ์ศรีและภาคภูมิในอัตลักษณ์ของตน สภาวะต่างๆ จะผันกลับไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจพลวัตของวิกฤตการ มองว่ามันเป็นโอกาสอย่างมีความหวังในการร่วมมือผลักดันการถ่วงดุล อย่าไปด่วนสรุปว่ามันกำลังพาเราไปสู่ความหายนะเท่านั้น
ถาม:
มีคนวิจารณ์เรื่องท้องถิ่นอภิวัตน์ในเรื่องอาหาร และการค้าที่เป็นธรรมว่า มันไม่ได้ช่วยลดรอยเท้านิเวศเลย คุณคิดอย่างไร
ตอบ:
คำวิจารณ์นี้เป็นข้อหาของพวกนักวิ่งเต้นให้เศรษฐกิจกระแสหลัก เพื่อการเปิดตลาดการค้าเสรี พวกเขาดื้อดึงที่จะผลิตพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวต่อไปและเพิ่มมากขึ้น เพียงเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด (โดยอ้าง “ความมั่นคงของอาหาร” เพื่อขจัดความหิวโหย ฯลฯ ข้ออ้างนี้ ต่างกับ “อธิปไตยด้านอาหาร”-ผู้เรียบเรียง) นี่เป็นความก้าวร้าวที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศร่วมของทุกคน เป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ คุกคามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและนิเวศ แทนที่จะสนับสนุนให้ท้องถิ่นยืนหยัดพึ่งตัวเองได้ พวกเขากลับส่งเสริมให้นักเก็งกำไรเข้าแทรกแซง ลดภูมิคุ้มกันของท้องถิ่น
มันเป็นไปได้อย่างไรที่อาหารที่ส่งมาจากที่ไกลโพ้น ข้ามน้ำข้ามทะเล ต้องเดินทางแสนไกลแล้วยังมีราคาถูกกว่าผักสดที่ผลิตในท้องถิ่น นั่นเพราะการบิดเบือนต้นทุน เช่น ราคาน้ำมันสำหรับขนส่ง การควบคุมเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้บรรษัทขายผลผลิตได้ในราคาถูก เพราะได้ขูดรีดจากชาวนาด้วยวิธีการซับซ้อนและแนบเนียน ในระบบพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของเกษตรพาณิชย์
ชาวนาคนหนึ่งในออสเตรเลียบอกฉันว่า เขาเติบโตขึ้นในฟาร์ม แต่เขารู้สึกว่าเป็นข้าทาส เนื่องจากตลาดในเมืองที่อยู่ห่างไกลโพ้น ต้องการแต่ผลผลิตที่มีขนาดสม่ำเสมอ เขาต้องเผาผลผลิตมากมายที่มีขนาดไม่เข้ามาตรฐานหีบห่อสำหรับการขนส่ง หรือวางตั้งบนหิ้งขาย ตั้งแต่เขาหันมาทำเกษตรท้องถิ่น เขารู้สึกเป็นไทและมีความสุข เพราะการขนส่งอยู่ในระยะทางไม่ไกลเกินไป เขาสามารถขายความหลากหลายของผลผลิตของเขาได้อย่างภาคภูมิใจ
สำหรับชาวไร่ชาวนาทั้งหลายที่กลับใจ ตลาดนัดชาวนา (farmer market) ได้กลายเป็นจักรวาลใหม่ของพวกเขาและผู้บริโภค เพราะต่างสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ถึงกันท่ามกลางความหลากหลาย ที่หล่อเลี้ยงให้คนกลับมีความรักเมตตาต่อกัน รสชาติและคุณค่าของอาหารและการผลิต การกระจาย มีความสำคัญมากกว่ากระบวนการผลิตแบบเครื่องจักรกลที่ยึดมาตรฐานทางกายภาพและปริมาณเป็นเกณฑ์
ถาม:
ขอถามถึงบทบาทของรัฐบาล ในอังกฤษตอนนี้ ไม่สามารถแยกได้ว่าฝ่ายไหนจะอยู่ข้างอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาความเป็นธรรม ในสวีเดนมีบทเรียนอะไรที่ต่างออกไปไหม
ตอบ:
ทุกวันนี้ รัฐบาลทุกหนแห่งตกอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนต่างเหลืออดกับบุชผู้อาวุโส แล้วยังต้องเจอบุชผู้ลูกชาย แต่ละสมัยก็เจอแต่การพองตัวของเศรษฐกิจ เพราะถูกบีบโดยผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ รัฐบาลจำต้องให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บรรษัทยักษ์ใหญ่ เช่น โคคา โคลา แต่ไม่เหลียวแลผู้ประกอบการค้าเครื่องดื่มสุขภาพรายย่อยในพื้นที่ รัฐบาลในสแกนดิเนเวียก็เป็นเช่นนี้ไม่ต่างกัน
ฉันเกิดในสวีเดนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฉันเคยคิดว่าสวีเดนเป็นประเทศทุนนิยมที่เป็นกลาง รัฐบาลทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพในการพัฒนา และก็ดูแลประชากรได้อย่างทั่วถึง อาจเพราะเป็นประเทศเล็ก ประชาชนได้รับการบริการดีพอสมควรและทั่วหน้า บรรยากาศทางการเมืองดี
แต่หลังจากประสบการณ์ที่ลาดัก ฉันเริ่มมองเห็นว่า สวีเดนเป็นตัวละครหนึ่งเหมือนกันในวงการค้า สั่งเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ สวีเดนก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายประชาคมเมือง ด้วยการสร้างตึกสูง แทนที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ได้ทำลายสายใยในครอบครัวและชุมชนเพียงเพื่อให้ก้าวหน้า/พัฒนาสู่ยุคใหม่ ในกรุงสต๊อกโฮม ผู้อาศัยในอาพาร์ตเม้นต์ครึ่งหนึ่งอยู่ตามลำพัง อัตราการฆ่าตัวตาย และการติดสุราเรื้อรังสูง
เมื่อวิเคราะห์ดู นี่เป็นผลจากการทำลายความสมดุลระหว่างเมืองและชนบท ครอบครัวและชุมชน รวมทั้งทำลายคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน การกระจุกตัวของอำนาจ ได้นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกิดการดูถูกดูหมิ่นประชาชนในภาคใต้ ซึ่งมีภาษาถิ่นของพวกเขาเอง เพียงเพราะพวกเขาพูดภาษามาตรฐานของสวีเดนไม่ได้ ความอหังการ์ของศูนย์กลาง ทำให้คนเมือง/ศูนย์กลางดูถูกความหลากหลาย พยายามรื้อทิ้งขอบเขตที่แบ่งแยกความแตกต่าง/หลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม อันเป็นสายใยที่ถักทอความเป็นชุมชนของแต่ละท้องที่
ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในทางที่ดีได้เริ่มขึ้น และเราก็ฝากความหวังไว้กับเอ็นจีโอในการเยียวยา รื้อฟื้นความเชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่สันติภาพ การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายและมีทิศทางในระดับนโยบาย บางคนบอกว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นธรรมในเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการปลดปล่อยมนุษยชาติจากอุ้งมือของระบบเศรษฐกิจมหึมา มนุษยชาติจะต้องถูกปลดปล่อยจากการถูกแบ่งแยกโดยเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่กักขังไม่ให้พวกเราแสดงความรู้สึกและตัวตนที่แท้จริง เราจะต้องดิ้นรน ต่อสู้ เพื่อให้แรงงานและพลังของเราสามารถเปล่งแสงแห่งความรัก เมตตา กรุณา เอื้ออาทรต่อกัน
จิตวิญญาณ วัฒนธรรม นิเวศ และคุณค่า จะต้องเป็นปัจจัยถ่วงดุลกับบริโภคนิยม ที่กำลังบีบปั้นชีวิตของพวกเรา รวมทั้งองคพายพของธรรมชาติทั้งมวล (GAYA ) ด้วยการลดระบบเศรษฐกิจทั้งหมดให้เป็นเพียงสินค้าเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น
ถาม:
จะช่วยพูดถึงเหตุการณ์อุทกภัยในลาดักได้ไหม
ตอบ:
อุทกภัยเป็นวิกฤตการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 18-19 ปีที่ผ่านมานี่เอง และก็ค่อยๆ รุนแรงขึ้นภายใน 10 ปีก่อน ในปี 2006 มีน้ำหลากรุนแรงเช่นปีนี้ แต่มีคนตายประมาณ 10 กว่าคน ปีนี้วิกฤตที่สุด คนตายเป็นร้อย ดินโคลนไหลมาทับบ้านเรือนสูงถึง 4-5 ฟุต ไร่นาเสียหายหมด ตอนเกิดเหตุฉันอยู่ในบ้านที่นั่น หลังจากฝนตกอย่างแรงติดต่อกันหลายชั่วโมงในตอนค่ำคืน ฉับพลัน ฉันได้ยินเสียงดังสนั่น เหมือนเครื่องบินเจ๊ตพุ่งบินออกไป แล้วน้ำ ดินโคลนก็ทะลักลงมา ท่วมทุกอย่าง
มีหน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือ แต่ที่น่าเศร้าคือ ความช่วยเหลือกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ในขณะที่ชนบทที่ถูกฝังในดินโคลน ระบบชลประทานและไร่นาเสียหายสิ้น ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร
ถาม:
การบริโภคอาหารอินทรีย์ เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่มันราคาแพง คนจนไม่มีกำลังซื้อ ก็เลยยังคงต้องกินแต่อาหารที่มีคลอเรสเตอรัลสูง
ตอบ:
บรรษัทข้ามชาติได้พยายามสร้างความไม่ชอบธรรมแก่อาหารอินทรีย์ โดยตอกย้ำว่าอาหารที่ขนส่งมาจากทางไกลโพ้นของพวกเขา ราคาถูกกว่าอาหารอินทรีย์ที่ผลิตในพื้นที่ (โดยปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือไม่พูดถึงอันตรายจากสิ่งปนเปื้อน และมลภาวะ) นี่เป็นความจริงได้ เพราะการตัดสินใจทางการเมืองที่คนอื่นคิดแทนและยัดเยียดให้พวกเรา นักการเมืองได้ให้การสนับสนุนด้วยมาตรการการเงิน ลดหย่อนภาษี ฯลฯ ที่ทำเอื้อให้เกิดการขนส่งอาหารและวัตถุดิบชนิดเดียวกันเข้าๆ ออกๆ จากแดนต่างๆ (เพราะบรรษัทเหล่านี้ อ้างว่า จะเป็นต้องใช้วิธีการของปฏิวัติเขียว เพื่อลดความหิวโหย และสร้างงาน และความมั่งคั่งแก่เศรษฐกิจชาติ จึงได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายของรัฐ—ดูบทบรรยายของวันทนา ศิวะ)
นี่เป็นการจัดการที่ฟั่นเฟืองที่สุด การค้าที่ซ้ำซ้อนกันแบบนี้จะต้องยุติลง
ถ้าแป้งโฮลวีตไม่ต้องใส่สารเคมีอื่นๆ มันย่อมต้องราคาถูกกว่าอยู่แล้ว แต่เพราะกลไกที่ลำเอียง ให้การสนับสนุนช่วยเหลือบรรษัทยักษ์ ประกบกับการทุ่มทุนโฆษณาชวนเชื่อ ผลจึงถูกบิดเบือนให้คนรวยเท่านั้นที่มีกำลังซื้ออาหารอินทรีย์ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีโครงการที่สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ที่แท้จริงแก่สาธารณชนว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไร เพื่อจะได้สร้างหลักประกันให้คนจนเข้าถึงอาหารที่ผลิตในท้องที่ และ บรรษัทยักษ์ใหญ่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายในสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขนส่งอย่างฟุ่มเฟือย
การรณรงค์ “นำอาหารกลับคืนมา” เรียกร้องให้ผลิตเพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่นก่อนกระจายออกสู่ภายนอก ให้การผลิตและการบริโภคเริ่มต้นในทุกท้องถิ่น ให้ประชาชนมีงานสุจริตทำอย่างมีความหมาย คน ครอบครัว ชุมชนก็จะมีความสุข
ช่วงที่สอง
เวทีเสวนา “เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข: ทางเลือกและทางรอดของเศรษฐกิจชุมชน”
คุณชมชวน บุญระหงษ์ (ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน เชียงใหม่)
หลังจากจบเกษตร ผมสอนอยู่สักพัก แล้วก็มาทำงานเอกชน ปี 26 ผมยังทำงานส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ ต่อมาค่อยๆ พบทางเลือกใหม่ จากการได้เข้าร่วมประชุมต่างๆ สมัยนั้น ได้เจอ อ.สุริชัย หวันแก้ว มหาอยู่ ฯลฯ ได้มีการแลกเปลี่ยน เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ประสบการณ์นี้ ทำให้ผมคิดถึงบ้านตัวเอง
ก่อนปี 34 การเปลี่ยนแปลงยังไม่มาก พอชาติชายขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 31 การทำลายป่าเกิดขึ้นรวดเร็ว ที่แปลงเดียวกัน ตอนแรกซื้อเพียง 50,000 บาท แต่ในปีเดียวกันนั้น ราคาพุ่งขึ้นเป็น 200,000 บาท มันเป็นยุคแห่งการแย่งชิงที่ดิน น้ำ เพื่อไปทำสนามกอล์ฟ ผมไปญี่ปุ่น เห็นเขาต่อต้านสนามกอล์ฟกัน ที่ไหนได้ กลับมาโผล่ที่บ้านผมเอง
ในปี 28-29 การแย่งชิงทรัพยากรได้ค่อยๆ เริ่มขึ้นแล้ว ที่สะเมิง ผมเห็นไม้ใหญ่ถูกตัดเรียงเป็นตับ พี่น้องลุกขึ้นต่อสู้ มี รมต เกษตรลงไปดูพื้นที่ แล้วก็เงียบหายไป กิจการลิกไนต์ หุ้นพุ่งขึ้นสูง แต่ชาวบ้านนอนไม่หลับ ที่สันกำแพง ปี 29-32 เกิดคดีห้วยแก้ว ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้แต่ก็ถูกยิงตาย พี่น้องเดินทางไปก่อม๊อบล้อมศาลากลางจังหวัด ชาวเมืองไม่เห็นใจ กล่าวหาว่ามาทำให้รถติด
พลังพี่น้องชนบทมันน้อยมาก กำลังของเราไม่มี เราทำเครือข่ายถึงระดับชาติ แต่มันห่างไกลกันมาก ไม่ทันสถานการณ์ เราจึงคิดว่า เราควรมองในขอบเขตเฉพาะจังหวัด เราคิดกันว่าจะใช้รูปแบบสภาในการเชื่อมกับคนเมืองได้อย่างไร เพื่อจะได้ช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคม จึงมีมติให้ทำเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้บริโภค คิดกันว่า น่าจะทำตลาด แต่เป็นตลาดแบบไหน
ปี 31 พอจะเริ่มเรียนรู้เรื่องเมือง-ชนบท โดยใช้อาหารเป็นตัวเชื่อม เป็นความรู้ที่ได้จาก “เกษตรทางเลือก” ในญี่ปุ่น ซึ่งใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเมืองกับชนบท รากฐานเบื้องต้น คือ ให้คนเมืองที่ตระหนักในปัญหา ได้รู้จักแลกเปลี่ยนของดีจากชนบท มีการศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบตลาด ตั้งแต่การขายเปิดท้ายรถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์พุ่มพวง ฯลฯ ในที่สุดก็ลงเอยที่สองช่องทาง คือ สหกรณ์ และการขายตรง ระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรในระดับจังหวัด
ปี 36 เราเปิดตลาดเป็น “ศูนย์สินค้าเพื่อบริโภคอิ่มบุญ” เป็นที่รวบรวมสินค้าจากชนบทมาจำหน่ายให้คนเมือง แรกเริ่ม เป็นการตั้งกลุ่มเมื่อ พ.ค. 36 ที่แม่ทา สะเมิง มีทั้งหมด 3-4 กลุ่ม เกษตรกรมาขายครั้งแรก มีแต่ผักกาดจออย่างเดียว ผู้บริโภคไม่มีผักอื่นๆ ให้เลือกซื้อ ในที่สุดก็เลิกรากันไป ความสัมพันธ์ระหว่างเมือง-ชนบทไม่เกิด เราจึงให้เกษตรกรเจอกับผู้บริหารโรงพยาบาล และสาธารณสุข จึงได้เปิดตลาดที่นั่น ครั้งแรกขายดี แต่ต่อมาก็ขายไม่ออกอีก เพราะมีแต่ผักซ้ำๆ ผู้ซื้อมักถามว่า ทำไมไม่มีผักอื่น เราก็นำเสียงสะท้อนนั้นกลับไปพัฒนาปลูกผักชนิดอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภค ก็เริ่มเข้าใจ จากการพัฒนาปลูกพรรณผักต่างๆ ชาวบ้านก็ค่อยๆ มีผักที่หลากหลายขึ้นมาขาย
ในช่วงแรก ผู้บริโภคไม่เข้าใจวิธีปรุงผักพื้นเมืองต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน คุ้นเคยกับผักในตลาดทั่วไป เกษตรกรจึงต้องอธิบาย เช่น ผัก “พ่อค้าตีเมีย” ใบเหมือนผักกูด แต่เล็กว่า ปรุงสุกแล้วก็ยังเหมือนไม่สุก นั่นคือที่มาของชื่อ พ่อค้าตีเมีย เพราะคิดว่าเมียปรุงไม่สุก ฯลฯ ผู้บริโภคกินแล้วก็ติดใจ มาซื้อเป็นประจำ พอไม่มีผัก ก็จะถามหา เกษตรกรก็ต้องอธิบายว่า ผักนี้มีตามฤดูกาลเท่านั้น นี่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัน เกิดการพัฒนาเป็นกลุ่มน้อยๆ เมื่อมีคำถามถึงเรื่องคุณภาพกันมากขึ้น เราจึงเริ่มกำหนดมาตรฐานการผลิต เราคิดว่าต้องพึ่งตัวเอง จึงสร้างองค์กรกลางกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขึ้นเอง
เราอาศัยกลไกหลัก 4 ส่วน คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลาด และองค์กรมาตรฐาน ทั้ง 4 ส่วน ปรึกษาร่วมกัน ตั้งกฎเกณฑ์ดำเนินงาน ควบคุมคุณภาพอย่างพึ่งพากันในการจัดการตนเอง
ปี 36 พื้นที่ปลูกผักขยายขึ้น (เป็น 3-4,000 แปลง???) มีคนนับหมื่นเริ่มหันมาร่วมมือทำเกษตรอินทรีย์กับเรา ผู้บริโภคเพิ่มเป็น 5,000 คน/สัปดาห์
การจัดการอาหาร ไม่ใช่แค่การซื้อ-ขาย มันรวมถึงท้องถิ่น เวลาขาย เขาต้องอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจด้วย การซื้อขายกัน ทำให้คนรู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น
ถาม:
จากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในดิน น้ำ ป่า คุณเลื่อนไปทำเรื่องตลาด จะมีการย้อนกลับไปเรื่องแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติได้หรือเปล่า
ตอบ:
การแย่งชิงขึ้นกับนโยบาย ที่ฝาง มีการปลูกส้มเป็นแสนไร่ เราพบว่า เวลาส้มราคาแพง ทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลายมากขึ้น แต่พอราคาส้มถูกลง ที่ดินชาวบ้านเริ่มหลุด แม้แต่คนที่มีที่ดินถึง 500-1,000 ไร่ ก็ยังต้องขายที่ดิน มันไม่ยั่งยืน
ในปี 36 เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในระยะหลัง เราได้จัดตั้งกรรมการหลายระดับ ถึงระดับภาคและระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย การรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีการทำแผนกลุ่มระดับจังหวัด เราต้องเจอปัญหาวิธีคิดของผู้มีอำนาจในแต่ละระดับ ปัญหาแนวทางแก้ไข หรือผู้มีอำนาจเข้าใจปัญหาแต่พอมีผลประโยชน์เข้าเกี่ยวข้อง เรื่องก็ไม่เดิน
ถาม:
ตอนนี้มีการกระจายอำนาจแล้ว การแก้ปัญหาเป็นอย่างไร
ตอบ:
การกระจายอำนาจ ได้กระจายงบลงมาเพียง 24-25% แทนที่จะเป็น 30% ในต่างประเทศ งบ 20% จะติดอยู่ที่ส่วนกลาง และ 80% ตกมาถึงท้องถิ่น แต่ของไทยกลับกัน ท้องถิ่นได้เพียง 20% ถึงอย่างไร การทำเกษตรชุมชน ก็เป็นการสร้างโอกาส ฝึกฝนการเตรียมพร้อม ชุมชนจะได้มีพลัง
เราตั้งเป้าว่า ในปี 2560 เราต้องการจะให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่จัดการอาหารเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด ตอนนี้เรามี 20,000 ครอบครัวมาร่วมทำ ใน 18 อำเภอ เราต้องการจะให้มีผู้บริโภคถึง 120,000 ราย
อาหารเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่จีเอ็มโอ เราต้องการจะบริหารจัดการกันเอง ในรูปแบบทำนองเดียวกับกรุงเทพฯ และพัทยา เราจะให้การศึกษาเอง ให้พื้นที่จัดการตัวเอง ตัดสินใจจะเอาโมเดลอะไร ขอให้บริหารตัวเอง ถ้าจัดการได้ จะเป็นโอกาสสร้างบ้านที่เราต้องการ เกษตรกรและผู้บริโภคร่วมมือกันในการจัดการ กำหนดทิศทางและวิธีการ เพื่อว่า พอใครจะเข้ามา เราก็รู้เท่าทันได้
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ (ประธานมูลนิธิชีววิถี กทม)
ทุกท่านคงได้ดูเรื่อง Food, Inc. แล้วใช่ไหม ที่แสดงถึงระบบเกษตรที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ และเกิดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในลาดัก สหรัฐฯ หรือไทย มันเป็นเรื่องเดียวกัน ทางเลือกที่พวกเราได้ทำกันมานับสิบปีแล้วนี้ วันนี้ พิสูจน์แล้วว่าตัดสินใจไม่ผิด เพราะ ภาพใหญ่ของระบบที่เราต้องดำรงชีวิตอยู่ ไม่สามารถตอบคำถามของเกษตรกรและพวกเราได้เลย
มีรายงานการศึกษาจากจังหวัดเชียงใหม่ที่ตรวจเลือดประชาชน พบว่าอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยถึง 40% คนตายเพิ่มขึ้นเพราะโรคจากการสะสมสารเคมีที่เป็นพิษในกระแสเลือด การวิจัยนั้นๆ ไม่ได้ตรวจเลือดเกษตรกร อีกรายงานหนึ่งตรวจเลือดผู้บริโภค พบว่ามีผู้ไม่ปลอดภัยถึง 60% สูงกว่าเกษตรกร
การพัฒนาทำให้ระบบการผลิตอาหารเปลี่ยนแปลงไป เดิมเราไม่เข้าใจ คิดไปว่า การทำให้ชีวิตดีขึ้นต้องทำให้อาหารเป็นสินค้า แต่ในความเป็นจริง มันทำให้คนไม่มีสิทธิ์เลือก ผู้บริโภคถูกแยก ไม่ให้เห็นหน้าเห็นตาของเกษตรกรผู้ผลิต นานไปคนเริ่มไม่เข้าใจความเป็นชุมชน รู้จักแต่ดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง ผู้บริโภครู้จักแต่การซื้อของราคาถูก รูปลักษณ์สวยงาม ฝ่ายเกษตรกรก็ไม่แคร์ต่อไป ใส่สารเคมีแยะๆ เพื่อจะได้มีผลิตผลสวยๆ ส่งขายตลาด แต่เกษตรกรจะบอกผมว่า “อย่ากินนะอาจารย์” เพราะเขาก็ไม่กินของที่เขาปลูกส่งตลาดเหมือนกัน นี่ก็เพราะว่าพวกเราผู้บริโภคก็ขาดจริยธรรมเหมือนกัน เราไม่รับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร การใช้สารเคมีจึงพร่ำเพรื่อ ทำลายทุกคน
ผมทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตัวเลขของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงมาก ลองหันไปมองดูรอบตัว ทุกครอบครัวจะมีญาติที่ตายด้วยโรคมะเร็ง ประเทศไทยขายสารเคมีกว่าพันยี่ห้อ พวกเรารณรงค์ให้ก่อตั้งกองทุนเกษตรยั่งยืน แต่ก็ถูกล้มโดยอุตสาหกรรมเคมี ประชาชนเป็นโรคหัวใจ โรคในระบบเลือดมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วย 6-7 แสนคน นี่เป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่พวกเราต้องร่วมรับผิดชอบ
มีคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบใหม่ๆ ได้หันมาทำเรื่องเกษตรชุมชน เช่น กลุ่ม “ผักประสานใจ” พวกเขาทำมาได้ 5-6 ปีแล้ว ก็ยังได้ลูกค้าเพียง 80 รายเท่านั้น นี่แสดงว่าพวกเราไม่เลือกเอง มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็จริง แต่เมื่อมีการริเริ่มแก้ไขเชิงโครงสร้าง พวกเราหรือสังคมกลับไม่เลือก ไม่สนับสนุนเอง
ผมจบปี 27 ย้อนหลังกลับไปดู สถานการณ์การเมืองขณะนั้น ไม่มีทางเลือกในกระแสหลักนัก 40 ปีของปฏิวัติเขียว แม้จะเพิ่มผลผลิตได้ 1% แต่ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปมากนัก จีเอ็มโอได้พิสูจน์แล้วว่าไปไม่รอดในช่วงปี 1995-96 ในปี 2006-07 เกิดการแพร่ระบาดจีเอ็มโอในข้าวโพดและฝ้าย จีเอ็มโอไม่ได้ให้ผลผลิตต่างจากเมล็ดพันธุ์ธรรมดามาก แต่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเป็น 8 เท่าตัว ทั่วโลกถูกบรรษัทยักษ์เหล่านี้หลอกต้ม
รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน hybrid rice เพื่อให้เพิ่มผลผลิต แต่ไม่พูดถึงฟอสซิลว่า อีก 20-30 ปี ก็จะไม่มีเหลืออยู่ในโลกต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับวิกฤตอันนั้น หนึ่งในสามของการผลิตอาหารในประเทศของเรา มาจากฟอสซิล บ้านเราเป็นฐานเกษตร มีความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีเกษตรกรดั้งเดิม เป็นรูปธรรมของการอยู่ร่วมกับความอุดมสมบูรณ์นี้
เกษตรกรจากโรงเรียนชาวนาของคุณเดชา ทำนาโดยไม่ใช้ปุ๋ย สามารถผลิตข้าวได้ 1,200 กก/ไร่ ซึ่งเป็นอัตราสูงเมื่อเทียบกับผลผลิต จากภาคเหนือ (470 กก/ไร่) กลาง (900 กก/ไร่) และเมล็ดพันธุ์ผสม ที่ต้องเพิ่มต้นทุนถึง 3 เท่าตัว (957 กก/ไร่)
เกษตรกรได้เริ่มหันหน้ากลับมาทำเกษตรชุมชนมากขึ้น 3 ปีก่อนมีเพียง 120 ชุมชน ตอนนี้มี 4,000 ชุมชน ที่อุบล มีเกษตรกรร่วมอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ กว่า 200 คน พ่อผาแดงได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์เอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งกระแสหลัก เกษตรกรได้ฟื้นวิถีเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา บ้านเรามีฐานทรัพยากรและระบบนิเวศที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ... แต่ทำไมเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
นั่นเพราะนักวิชาการในสถาบันทั้งหลายไม่ยอมเปลี่ยน ชาวบ้านได้เริ่มเปลี่ยนแล้ว แต่ปัญญาชนยังคงนิ่งเฉย และผู้บรโภคในเมืองยังไม่ตอบสนองต่อผลผลิตจากเกษตรชุมชนมากพอ
รสนา โตสิตระกูล (สมาชิกวุฒิสภา)
หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “ทางเลือกหรือทางรอด” ตอนแรก ดูเหมือนจะไม่มีทั้งทางเลือก หรือทางรอดแต่อย่างไร คิดดูอีกที มันต้องเป็นทางเลือก เพื่อจะได้เป็นทางรอดของมนุษยชาติ อยากจะบอกให้ทุกคนทราบว่า อย่าไปหวังพึ่งอะไรจากภาครัฐ การเมืองไม่มีพื้นที่ทางรอดให้ใคร จะเป็นตัวดับความรอดเสียมากกว่า
คุณวิฑูรย์กับคุณชมชวนบอกว่า โลกจะยังอยู่รอดไปได้อีก 20 ปี แต่ถ้าเราดูสถานการณ์จริงๆ ทุกวันนี้ ระบบการบริโภคที่เป็นอยู่ จะทำให้มนุษยชาติล่มสลายเร็วขึ้น ดูแค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของอากาศโลก คนส่วนใหญ่ยังไม่สนใจ เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว
ทุกอย่างต้องใช้พลังฟอสซิล หนึ่งในสามเป็นต้นทุนเกษตรกรรม พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเผาป่า การใช้ชีวิตอย่างสิ้นเปลือง ฯลฯ ยังคงดำเนินไปอย่างไม่ลดละ
นักวิจัยได้ประกาศตั้งแต่ปี 2508 (1965) ว่า ถ้าแนวโน้มการบริโภคของโลกยังเป็นเช่นนี้ อีก 52 ปีข้างหน้า สถานการณ์จะเข้าขั้นกู่ไม่กลับ นี่ก็ใกล้เข้ามาแล้ว ในที่ประชุมโลกเรื่องคอรัปชั่น ก็ยังพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ บอกว่า หากเรายังคงบริหารเศรษฐกิจเหมือนเดิม ไม่ขยายตัว อุณหภูมิก็ยังจะเพิ่มขึ้น 2 องศา นี่เมื่อเทียบกับร่างกายของคน จากอุณหภูมิปกติ 37.5 องศา ถ้าเพิ่มเป็น 40 องศา เราก็ตายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจ
ในทางตรงข้าม กลับคิดค้นมาตรการ “คาร์บอนเครดิต” ขนาดใหญ่ระดับโลก พวกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ก็จะยังคงดันทุรังปล่อยต่อไปแถมผลิตมากขึ้น จะเอาแต่เงิน/กำไร ไปซื้อสิทธิ์/บังคับให้เกษตรกรปลูกต้นไม้สำหรับพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่ คำถามคือ จะให้โลกจะรอดกลับมาได้ จริงหรือเปล่า
Schumacher เขียนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วว่า Small Is Beautiful ตอนนี้มีคนมาเขียนใหม่ โดยเติมคำว่า Still เป็น Small Is Still Beautiful มันยิ่งจำเป็นยิ่งขึ้น แต่ต่างไม่สนใจ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ดิฉันเป็น สว “เสียเวลา” ลูกบอว่า “แม่เป็น สวล คือ เสียเวลาลูก” การเมืองกระแสหลัก ไม่ให้ความสำคัญเรื่องโลกร้อนเลย
การพึ่งตัวเองขนาดเล็ก เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก แต่มันยังไม่จูงใจพอ เราต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางตรง จะได้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของระบบ เศรษฐกิจกระแสหลักเป็นระบบแบ่งแยก อย่างที่เขาเรียกว่า Division of Labor “ระบบการแยกแรงงาน” มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้ายังฝืนธรรมชาติ ขืนแยกเช่นนี้ต่อไป มันจะทำให้เราต้องถลุงทรัพยากรโลกมากยิ่งขึ้น การแยกเช่นนี้ ทำให้ไม่เห็นต้นทุนที่ขูดรีดจากโลก เพราะตาจ้องอยู่แต่จะเอากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด จึงทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เห็นความล่มสลายของสิ่งแวดล้อม เพราะมองผลประโยชน์ตัวเอง แยกออกจากโลกภายนอก
ในความเป็นจริง ชีวิตไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติได้ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเป็นธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา เป็นเนื้อหนังมังสา เป็นชีวิตเรา เราทิ้งสารพิษในดิน ในน้ำ สร้างมลภาวะในอากาศ ในที่สุดมันก็กลับเข้ามาสู่ร่างกายของเรา แต่คนไม่สนใจ เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข หมายถึง เมื่อโลกมีสุขก่อน ไม่ใช่เราก่อน
ความสุขของคนเราทุกวันนี้ มันเป็นความสุขของคนสายตาสั้นๆ ให้มีเงินมากๆ มีรถ มีแฟน ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่จีรัง ไม่ใช่ของจริง ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า อาหารเป็นสินค้า แม้แต่เงินเอง ก็เป็นสินค้า ใน local money เงินเป็นเพียงมาตรวัดในการแลกเปลี่ยน แต่พอมาตรวัดตัวนั้นกลายเป็นสินค้า มันจึงเป็นปัญหาใหญ่ เหมือนบอกว่า คุณสร้างบ้านไม่ได้ เพราะคุณไม่มีไม้เมตรฉะนั้น
คนไม่มีเงิน เพราะตกงาน เพราะไม่มีงานในตลาด แต่ในความเป็นจริง โลกยังมีงานอีกมากมาย แต่เป็นงานที่ตลาดไม่ต้องการ หรือไม่คิดเป็นมูลค่าให้ เพราะไม่นับหรือปฏิเสธคุณค่า เมื่อเราเอาแต่พึ่งตลาด ก็เป็นปัญหาใหญ่ คือ เรายอมให้ตลาดบิดเบือนความจริง ด้วยการสร้างฐาน/ตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจของรัฐบาล นั่นคือ จีดีพี ที่ใช้ในการวัด “ความเจริญก้าวหน้า” และการจัดสรรงบประมาณอันมาจากภาษีและการกู้เงินระหว่างประเทศ ตอนนี้ เราต่างก็รู้กันทั่วว่า ยิ่งพัฒนา คนรวยยิ่งรวยขึ้น และคนจนก็แย่ลง (ยกตัวอย่างการกระจายตัวของสัดส่วนโภคทรัพย์ตามกลุ่มรายได้)
ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันกับเขาเหมือนกัน ในปี 2552 จากรายงาน Energy Information Achievement ไทยขุดน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 และก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับที่ 27 ของโลก ในขณะที่บรูไน ติดอันดับที่ 44 และ 36 ตามลำดับ นับว่ายังรั้งท้ายประเทศไทย แต่รายได้อันมหาศาลนี้ ไม่ได้คืนสู่ประเทศไทยหมด ทรัพย์สินที่ขุดขาย 2.6 ล้านล้านบาท ในช่วง 2524-52 ประเทศไทยได้เป็นค่าสัมปทานเพียง 3 แสนล้านบาท ไทยยังอุดมไปด้วยแร่ทองคำ มีมูลค่าถึง 200 กว่าล้านบาท แต่ใครจะรับผิดชอบสารพิษไซยาไนด์ที่ทิ้งไว้ข้างหลัง ธรรมชาติในประเทศถูกมองว่าเป็นสินค้าที่แยกออก และตีราคาเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่ออะไร เพื่อใคร การถลุงทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างมโหฬาร จะทิ้งสารพิษและสร้างมลภาวะไปทั่ว ในที่สุด เราคนไทยก็กลายเป็นเหยื่อ
รัฐบาลส่งเสริมการใช้ NGV ว่าเป็นพลังงานสะอาด แต่รู้ไหม เขาได้เพิ่มสัดส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน NGV เป็น 18% ในต่างประเทศ มาตรฐานเขากำหนดให้มีเพียง 6% ไทยเราเพิ่มอีก 3 เท่าตัว นั่นหมายถึงการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 1.4 ล้านตัน ขึ้นอีก 5 แสนตัน ตอนนี้ถ้าคุณสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ตามปั๊ม NGV เขาจะมีการไปเติมคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเดิมเป็น 6% นี่เป็นการทำงานเอาหน้า ว่าทำถึง 22 โครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ 2 แสนตัน แต่ที่จริง กลับปล่อยเพิ่มเป็น 5 แสนตัน และหมายถึงผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินสำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 บาท/กก
การมุ่งเน้นอยู่ที่จีดีพี เป็นการทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นออทิสติก คือ เป็นอัจฉริยะทางตัวเลข แต่เชื่อมโยงกับโลกแห่งความจริงไม่ได้เลย จีดีพีชี้ทางให้ได้เงินมามากๆ แต่ด้วยการทำลายตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เราจึงต้องตรวจสอบระบบเศรษฐกิจของบ้านเมือง อย่าให้ออทิสติกมาปกครองประเทศและโลกได้ เพราะจะทำให้เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขเกิดขึ้นไม่ได้
ในทางตรงข้ามเศรษฐศาสตร์ชุมชนจะเป็นทางรอดได้ ต้องเกิดจากประชาชน อย่าหวังพึ่งการเมือง ไม่มีทางได้พึ่งจากการเมือง ภาคประชาสังคมต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึก ให้สนใจกันมากขึ้น นั่นแหละจึงอาจรอดได้ หมอประเวศบอกว่า เราผ่านการปฏิวัติมาหลายหนแล้ว จากปฏิวัติอุตสาหกรรม ปฏิวัติเขียว สารสนเทศ นี่เป็นปฏิวัติครั้งสุดท้ายแล้ว คือ ปฏิวัติจิตสำนึก—ให้ตระหนักว่า โลกอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว[3] การปฏิวัติเช่นนี้ เกิดขึ้นไม่ได้จากองค์กรอำนาจทางการเมือง หรือข้างบน แต่จะต้องมาจากคนตัวเล็กตัวน้อย จากข้างล่าง ผีเสื้อตัวเล็กๆ ที่บอบบาง ถ้าทุกตัวกระพือปีกพร้อมกันก็ทำให้เกิดพายุหมุนได้ เราไม่ต้องให้ถึงขั้นนั้น ให้แค่เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน
การกระทำใดที่ถูกต้อง ไม่มีทางสูญหาย
อภิรักษ์ โกษะโยธิน (ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี)
ถ้าเรามองย้อนหลังไป 10 ปี เราจะเห็นวิกฤตสองครั้ง ครั้งแรก ต้มยำกุ้งในปี 40—เริ่มจากประเทศไทย--และ 2 ปีก่อน (51, เริ่มจากสหรัฐฯ) ก็เป็นวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ตั้งแต่นั้นมา ก็เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกออกมาพูดหลายคน Stiglitz ก็เป็นคนหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ OECD ออกมาแถลงว่า ถ้าเรายังขืนให้ระบบเศรษฐกิจโลกที่วัดด้วยจีดีพีโตต่อไป จะเจอวิกฤตอีก
แม้ว่าจีดีพีของไทยจะลดจาก 10% เป็น 6-7% แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่ ดังที่เราได้ยินมากขึ้นว่า คนกลุ่มน้อยถือครองโภคทรัพย์ส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลได้พยายามดูแลเรื่องนี้อยู่ ได้ให้ สสส หาดัชนีทางเลือก เช่น NPI (national progress index) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรให้ทั่วถึง การขับเคลื่อน จะพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ กลไกรัฐขับไม่ไปตามลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและ third sector (ภาคส่วนที่สาม) ภาคเอกชนที่ไม่รับผิดชอบก็มี เช่น มาบตาพุด ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่ภาคเอกชนที่ดีๆ ก็มี แม้จะยังทำธุรกิจเพื่อกำไร แต่ก็มีความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility, CSR) ด้วย แม้ว่าส่วนใหญ่จะยังใช้ CSR เพื่อการทำประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตน ภาคเอกชนที่เน้นไปที่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งจริง ยังมีน้อยอยู่
ส่วนภาคส่วนที่สามนั้น มีภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ มูลนิธิ เป็นต้น แม้จะมีความตั้งใจดี แต่ผลกระทบยังน้อยและไม่กว้างพอ ตอนนี้มี social entrepreneur (ผู้ประกอบการสังคม) เช่น microfinance (Grameen Bank) ที่ไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค แต่สามารถสร้างรายได้และนำมาลงทุนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม มีคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจไม่เข้าไปเป็นมนุษย์เงินเดือนในกระแสหลัก พวกเขาไม่ได้ต้องการเงินเดือนแยะๆ หันมาทำงานเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เพราะทำแล้วมีความสุข และเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงโลกได้
แนวทางที่รัฐบาลให้ สสส ทำ เป็นดัชนีวัดความก้าวหน้าของชาติ กระบวนการเป็นการชักชวนให้คนมาร่วมทำและทำตาม มีการฟังเสียงจากคนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อแสวงหาวิธีการที่จะสร้างเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข และเศรษฐกิจชุมชน คนไทยส่วนใหญ่ยังยึดวิถีเกษตร ในชนบทยังมีทางเลือกอยู่ นอกจากปลูกข้าว คนอาจเป็นแรงงานในอุตสาหกรรม หรือทำผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นภูมิปัญญาในท้องที่ เช่น โอทอป แต่ผู้ผลิตยังยืนบนขาตัวเองไม่ได้ จึงมีการจัดงานมหกรรมที่ อิมแพ็ค ปีละสองครั้ง
คนไทยมีฝีมือทางจักสานและทอผ้า มูลนิธิศิลปาชีพ เป็นทางออกทางหนึ่ง ซึ่งทำได้ดี แต่ตลาดยังไม่กว้างพอ ไทยเรามีจุดแข็งที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม eco-tourism เป็นธุรกิจชุมชนได้ อย่างที่แม่ฮ่องสอน เลย เป็นต้น คนท้องถิ่นยังยึดมั่นอยู่ในสถาบันกษัตริย์ และพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง มีโครงการหลวง ลุ่มน้ำปายที่ส่งเสริมการเกษตร ศาสนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ยังยึดถือความกตัญญู จนมีโมเดล ปาย แม่ฮ่องสอน เลย
โมเดลแม่ฮ่องสอน เป็นคนไทยใหญ่อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทะเลาะกัน ถนนหนทางสะอาด และไม่มีการลักขโมย เพราะชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนตลิ่งชันรักมะยม มีตลาดน้ำที่เกิดขึ้นเอง เพราะชาวไร่ชาวนาต้องการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้ากัน ต่อมาค่อยๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวนิเวศ มีเกษตรอินทรีย์ทางเลือกเกิดขึ้น
ผมเองก็จบเกษตร ตอนแรกไปส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งที่ภาคเหนือ เลย แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ ต่อมาเกิดเป็นเครือข่ายเกษตรที่ปลูกมันฝรั่งพันธุ์หลวง ทำให้กลายเป็นพันธุ์หนึ่งขึ้นมา 10-15 ปีก่อนจึงทำงานบริษัท เป็น CSR ทำโครงการที่พบพระ ชัยปราการ นริษัทก็เรียนรู้จากโครงการหลวง ที่ดอยตุง ... บริษัทได้ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
คนไทยไม่ทำงานเป็นทีม มักจะต่างคนต่างทำ วิจารณ์กันไม่ค่อยได้ จึงต้องมีการสร้างกลไกวัฒนธรรมใหม่ จู่ๆ จะให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นเลยนั้นไม่ง่าย
รัฐบาลจึงใช้แนวทางสมัชชาในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการดึงคนเข้ามาร่วม ดึงมหาวิทยาลัยว่า แทนที่จะสอนถ่ายเดียว ก็ให้ทำงานวิจัยพัฒนา รัฐบาลได้ส่งเสริมองค์กรเอกชนที่ดี เช่น หอการค้าให้เข้ามาร่วมทำ นอกจากนี้ก็มีคนทำงานกับแกนนำประชาชน รวมทั้งข้าราชการท้องถิ่น
คนพื้นที่ต้องเป็นคนแก้เอง คนภายนอกช่วยสร้างกลไกความเชื่อมโยง ส่งเสริมการออม แต่คนในชุมชนต้องทำเอง เช่น ครูชบ ออมวันละบาท แต่ละชุมชนมีจุดแข็งของตัวเอง เช่น สุรินทร์ มีข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม ถ้าชุมชนเข้มแข็งสามารถใช้โอกาสการเชื่อมโยงทั้งระบบ ตั้งแต่ออกแบ ผลิต และตลาด ก็จะกลายเป็น การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ยั่งยืนได้ (sustainable local economic development) อย่างที่ Joseph Stiglitz พูดถึง เศรษฐกิจดังกล่าวจะยั่งยืนอยู่ได้ต้องมีการตรวจสอบ นั่นคือ การเงินชุมชน ภาคประชาสังคม และการปกครองท้องถิ่น ต้องทำงานร่วมกัน
รายงาน UNDP บอกว่า คนในชนบทมีความสุขมากกว่าคนในกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ก็มีระดับการพัฒนามนุษย์ต่ำที่สุด เราต้องทำให้สังคมตื่นตัวกับปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย ให้เปลี่ยนพฤติกรรม วิธีคิด โดยเริ่มจากตัวเราเอง ในกรุงเทพฯ ถ้าทุกคนคิดได้ และเริ่มลดการใช้แอร์ ใช้ไฟฟ้า และใช้รถส่วนตัว จะช่วยลดปัญหาส่วนหนึ่ง
รู้ทันก้าวหน้าวันนี้
อ่านออก บอกตัวเองให้ได้
ใช้ตัวเองให้เป็น
[2] เดิมครอบครัวชาวอเมริกันจะให้เช่าห้องในบ้านเรือน โดยให้บริการอาหารเช้าด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ เราเรียกเป็นแฟชั่นใหม่ว่า โฮมสเตย์ วิธีนี้ ได้ช่วยให้ครอบครัวหารายได้เสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่สูงอายุ ที่ลูกๆ ออกเรือนไปแล้ว ห้องหับจึงว่างลง ก็จะปล่อยให้เช่าได้ ทำให้เกิดรายได้ และไม่เหงา นักศึกษานานาชาติมักไปพักตามบ้านเช่นนี้ เพราะมีมนุษยสัมพันธ์ และราคาไม่แพงเหมือนอาพาร์ตเม้นต์ ส่วนเจ้าของก็มักจะให้นักศึกษานานาชาติอยู่ เพราะยังมีความรู้จักเกรงใจ เอื้ออารีต่อกัน กฎหมายใหม่เหล่านี้อ้างมาตรฐานความปลอดภัย เป็นการบีบให้คนชราต้องขายบ้าน เพราะไม่สามารถสู้ภาษีและการไม่มีรายได้ คอนโดและอาพาร์ตเม้นต์ เป็นแท่นสูงๆ จึงแทนที่บ้านเรือนน่ารักๆ ที่มีชีวิตชีวา
[3] อันที่จริง โลกก็คงจะยังอยู่ต่อไป แต่มนุษย์นั่นแหละ ที่จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่กลายพันธุ์เป็นอย่างอื่น เพราะมนุษย์ได้ทำลายนิเวศทั้งหมดที่เคยห่อหุ้มและหล่อเลี้ยงควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตทั้งมวลมาเป็นเวลาหลายล้านปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น