วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ชาวจีนทวงพื้นที่สาธารณะ Jude Howell

ช่วงชิงพื้นที่, ท้าทายการถูกเบียดตกขอบ และ ทวงสิทธิ์เสียง:
แนวโน้มใหม่ของภาคประชาสังคมในประเทศจีน

Seizing spaces, challenging marginalization and claiming voice
By Jude Howell (2004?)
pp. 121-128 (photocopy)
(แปลโดย ดรุณี ตันติวิรมานนท์)


เป็นการง่ายที่จะพูดปัดความคิดของการมีประชาสังคม (civil society) ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมเช่นประเทศจีน หรือพูดแนะว่า กรอบคิดเรื่องประชาสังคม มีรากลึกในวิธีคิดทางการเมืองและประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกมากเสีย จนกระทั่งมันไม่มีทางที่จะใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สังคมเอเชียและอาฟริกาได้.  การด่วนพูดปัดเช่นนี้  ประการแรก  ทำให้เราไม่สามารถอธิบายการเปิดของพื้นที่สำหรับองค์กรอิสระและการแสดงออกของประชาสังคมจีน ที่เริ่มขยายตัวขึ้น ตั้งแต่สมัยการเริ่มปฏิรูปในทศวรรษ 1980,  แม้ว่าขณะนั้น การเมืองของจีนจะยังอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม.  ประการที่สอง การด่วนสรุปเช่นนั้น  เป็นการยอมให้มีการใช้ข้ออ้างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  มาขัดขวางการตรวจสอบไต่สวนรูปแบบที่หลากหลายของการรวมกลุ่มของประชาชน  เพื่อเรียกร้องและปกป้องค่านิยม, จารีต และความหมาย ที่พวกเขายึดถือร่วมกัน.  กรอบคิดเรื่อง ประชาสังคม, รัฐ, สังคม และเศรษฐกิจ ไม่เคยหยุดนิ่ง หรือตายตัว;  อันที่จริง ความลื่นไหล, ความหมายที่ซับซ้อนอย่างเป็นชั้น ๆ ของมัน, และ การเมืองที่เกี่ยวข้องกับกรอบคิดเหล่านี้ต่างหาก ที่ทำให้มันน่าสนใจ.  การที่มันเป็นแบบฉบับในอุดมคติที่เป็นนามธรรม ที่ไม่ได้เสแสร้งว่า มันต้องสวมทับกับความเป็นจริงได้อย่างเหมาะเจาะ, ทำให้กรอบคิดเหล่านี้ เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ เพื่อค้นหาคำตอบในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง.
                บทความนี้ ขอแย้งว่า ประชาสังคม, ในลักษณะที่เป็นพื้นที่ ๆ ค่อนข้างอิสระ ที่ผู้คนหันเข้าหากัน รวมตัวเป็นกลุ่มเพราะมีความสนใจร่วมกัน โดยปราศจากการครอบงำหรือบังคับ, ได้มีการพัฒนามากว่า ๒๐ ปี แล้วในจีน ตั้งแต่ต้น ทศวรรษ 1980. ที่น่าสนใจ คือ การเกิดองค์กรแถบ/ชั้นใหม่นี้ ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980  ได้เป็นการแสดงออก ถึงความห่วงใยต่อความทุกข์ยากของคนชายขอบในสังคม, เช่น คนงานหญิงย้ายถิ่น และผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS.  มีผู้แย้งว่า นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนถึงการพัฒนาลงลึก ของกระบวนการแบ่งแยกทางสังคมและการฟื้นคืนของชนชั้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากระบบตลาดที่รัฐบาลจีนอ้าแขนรับ.  แต่รากเหง้าของปรากฏการณ์นี้ เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างพรรค/รัฐ, และเศรษฐกิจและสังคม.  บทความนี้จะขอเริ่ม ด้วยการย้อนหลังกลับไป ถึงจุดเริ่มต้นของรูปแบบการตั้งสมาคมที่ค่อนข้างเป็นอิสระ ตั้งแต่ปี 1978. จากนั้น จะกล่าวถึงลักษณะพิเศษขององค์กรอิสระ ที่จับประเด็นชายขอบ ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา.  และสุดท้ายจะกล่าวถึงผลพวงในแง่ของพื้นที่, เสียง และแนวปฏิบัติใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาภาคประชาสังคมต่อไปในจีน.

วิวัฒนาการของประชาสังคมในช่วงปฏิรูป (1978-2003)
ด้วยความห่วงใยที่ว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีและกำลังการผลิตของจีนนั้น ล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกอย่างเห็นได้ชัด, ในต้นทศวรรษ 1980,  ผู้นำการปฏิรูปใหม่ของพรรคจีนคอมมิวนิสต์, ด้วยปณิธานที่จะขับเคลื่อนประเทศจีนให้ เข้าสู่ยุคใหม่” (modernization), ได้เริ่มผ่อนคลายการควบคุมพื้นที่สาธารณะ ยอมให้มีการอภิปรายอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น, ให้ปัญญาชนถกประเด็นกัน และให้สมาคมอิสระได้.  นี่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการคบค้าสมาคมกันในรูปแบบใหม่, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักวิชาการ, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.  ในขณะที่ภาคเอกชนเริ่มขยายตัวในทศวรรษนั้น, พ่อค้า, นักธุรกิจ และผู้ประกอบการทั้งหลาย ก็เริ่มก่อตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการตลาด, ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและสินค้าง่ายขึ้น, และเพื่อเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา.  ตอนนั้น รัฐยังไม่มีระบบหรือมาตรฐานการปฏิบัติใดๆ ในการจดทะเบียน หรือมีหน่วยคอยตรวจสอบติดตามการเติบโตของ องค์กรสังคม เหล่านี้.
                การพัฒนาของการรวมตัวอิสระเช่นนี้ มีมากยิ่งขึ้นและถึงขีดสูงสุดในปี 1989,  เมื่อการขยายตัวของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ได้กระตุ้นให้เกิดกระแสการต่อต้านอย่างร้อนแรง จนเกิดองค์กรอิสระมากมาย, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรนักศึกษาและแรงงาน.  โศกนาฏกรรม ในวันที่ 4 มิถุนายน จบลงด้วยการปราบปรามนองเลือด และห้ามการรวมกลุ่มเสรีในช่วงแรก.  ในเดือนตุลาคม 1989 คณะกรรมาธิการกฤษฎีกา (Standing Committee of State Council) ได้บัญญัติระเบียบข้อบังคับสำหรับการจดทะเบียนขององค์กรสังคม.  ได้ตั้งหน่วยงานขึ้น ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการชี้นำและตรวจตราการทำงานประจำวัน ขององค์กรสังคมเหล่านี้.  ในขณะที่สมาคมต่างๆ ถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางการเมืองของและอำนาจของพรรคจีนคอมมิวนิสต์, สมาคมเช่น กลุ่มฝักใฝ่ประชาธิปไตย, สหภาพแรงงานอิสระ และสมาคมนักศึกษาอิสระล้วนถูกปราบปรามอย่างราบคาบ, ส่วนองค์กรประเภทอื่น ถูกสั่งให้ไปทำการจดทะเบียนต่อไป.  แนวปฏิบัติสองง่ามเช่นนี้ สะท้อนถึง ความไหวตัวของผู้นำพรรคสูงสุด ไม่เพียงแต่ตระหนักว่า การปราบปรามอย่างเด็ดขาด หรือสั่งห้ามการรวมกลุ่มอิสระนั้น จะไม่เป็นผลดีกับเป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือการขับเคลื่อนจีนให้ก้าวหน้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ, แต่รูปแบบใหม่ของการสมาคมรวมกลุ่มในแนวราบเช่นนี้ มีความสำคัญต่อการทำให้สังคมนิ่งลง และสำหรับให้ประชาชนระบายออกถึงความต้องการและความสนใจใหม่ ๆ ในบริบทของการแปรเปลี่ยนของสังคมอย่างรีบด่วน.  นอกจากนี้  ด้วยแผนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเร็วของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่กำลังดำเนินอยู่, จะต้องมีการยกเครื่อง และรื้อถอนโครงสร้างของสวัสดิการสังคมในเมือง และระบบประกันสังคม.  องค์กรสังคมเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะเป็นตัวหลัก ในการซึมซับแรงงานส่วนเกิน และในการให้บริการสังคมที่จำเป็นต่างๆ ที่เดิมเป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ.
                แม้ว่าการเติบโตขององค์กรสังคมต่างๆ จะล้มลุกคลุกคลาน และก้าวไปอย่างเชื่องช้า ในต้นทศวรรษ 1990, การเตรียมตัวในฐานะเจ้าภาพของการประชุมสตรีโลกครั้งที่ 4 ที่ กรุงปักกิ่ง ในปี 1995 ได้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้เกิดองค์กรสตรีอิสระขึ้นมากมายในจีน. ในมุมมองของพรรค/รัฐ, มันจะดูชอบกล  ถ้าจีนในฐานะเจ้าภาพจะไม่มี เอ็นจีโอสตรีจีนเลย เข้าร่วมประชุมในเวที เอ็นจีโอ (NGO Forum) ที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมภาครัฐ.  ด้วยเหตุนี้ พรรค/รัฐ จึงเริ่มกระตือรือร้นในการสนับสนุนการทำวิจัยประเด็นผู้หญิง และส่งเสริมให้ก่อตั้งสมาคมสตรีต่างๆ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่นักวิชาชีพสตรี, นักวิชาการ และผู้ประกอบการ. ในช่วงนั้น จึงมีการทะลักของบทความและหนังสือเกี่ยวกับประเด็นผู้หญิงและการวิเคราะห์เจนเดอร์/เพศภาวะออกมาจำนวนหนึ่ง.  และมีกลุ่มสตรีศึกษาและศูนย์ข้อมูลผุดขึ้นมาในเมืองสำคัญๆ ต่าง ๆ ในจีน.  แม้ว่าองค์กรสตรีใหม่ๆ บางองค์กรจะถูกก่อตั้งด้วยใบสั่งจากเบื้องบน,  หลายๆ กลุ่มก็ได้ฉวยโอกาสนี้ ชูประเด็นต้องห้าม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว, มีการทดลองใช้วิธีปฏิบัติใหม่ๆ เช่น การให้คำปรึกษา, และเป็นกระบอกเสียงแทนกลุ่มชายขอบ เช่น แม่ที่ไม่ได้แต่งงาน และหญิงหย่าสามี/สามีหย่า. การขยายจำนวนขององค์กรสตรีในช่วงนี้ไม่ได้ปราศจากความตึงเครียด.  สหพันธ์สตรีจีน (All-China Women’s Federation) ตอบรับกลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ด้วยความรู้สึกคลุมเครือ, บางครั้งก็ให้ความร่วมมือ, บางครั้งก็ข่มทับ, บางครั้งก็ปฏิเสธที่จะพูดด้วย.  ถึงอย่างไรก็ตาม, การเป็นเจ้าภาพที่มีความขัดแย้งกันในตัวของงานมหกรรมในปักกิ่งครั้งนี้ ได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้มีการรวมกลุ่มอย่างเป็นอิสระ ท่ามกลางสภาวะทางการเมืองที่หวนกลับเข้าสู่ระบอบอำนาจและอนุรักษ์นิยม.
                ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 จำนวนองค์กรสังคมทั้งที่ไม่ได้จดทะเบียนและที่ได้จดทะเบียนก็เริ่มเพิ่มปริมาณมากขึ้นอีก.  ถึงอย่างไรก็ตาม, ในเดือนพฤษภาคม 1998 กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Civil Affairs) ได้แก้ข้อบังคับสำหรับการจดทะเบียนองค์กรสังคม, โดยเพิ่มรายละเอียดและเงื่อนไขเข้มงวดกว่าเดิม, เป็นการทำให้องค์กรเล็กๆ ที่คิดจะยกฐานะให้ทางการรับรองนั้น ทำได้ยากลำบากยิ่งขึ้น. เช่น องค์กรสังคมที่ต้องการจะจดทะเบียน จะต้องมีสมาชิกรายบุคคลอย่างน้อย 50 คน หรือ มีสมาชิกรายสถาบัน 30 แห่ง, และองค์กรระดับชาติ จะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 100,000 หยวน สำหรับทำกิจกรรม, และต้องมีหลักแหล่งที่ทำการแน่นอน.
                ระหว่างปี 1998 และปลาย 1999, จำนวนองค์กรสังคมที่จดทะเบียนลดจาก 162,887 เป็น 136,841 แห่ง, ซึ่งน้อยกว่าจำนวนที่จดทะเบียนในปลายปี 1989 คือ 181,060.  สาเหตุอาจเป็นเพราะกระบวนการตรวจสอบของรัฐ ได้พบความไม่ชอบมาพากล, หรือเพราะหลายๆ กลุ่มไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้.  ในภาพรวม กฎบังคับใหม่ ได้ปิดกั้นมากกว่าส่งเสริมให้องค์กรที่จดทะเบียนได้เติบโตต่อไป.
                ถึงอย่างไรก็ตาม, ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 มีคลื่นระลอกใหม่ของการรวมตัว ซึ่งมีลักษณะต่างออกไปในแง่รูปแบบองค์กรและจุดขับเคลื่อน.  กฎบังคับที่เข้มงวดในปี 1989  ในด้านหนึ่ง ได้มีส่วนผลักให้องค์กรใหม่ๆ ไปจดทะเบียนเป็น สถานประกอบการไม่แสวงกำไร ภายใต้สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (Industry and Commerce Bureau), ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย.  ในอีกด้านหนึ่ง, ก็ได้เป็นการสนับสนุนให้กลุ่มอื่นๆ หลีกเลี่ยงขั้นตอนของการจดทะเบียน โดยตั้งตัวเป็น สมาคมระดับสอง, สาม หรือ สี่, หรือเป็นศูนย์ภายใต้สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย, หรือเป็นเครือข่ายที่เกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ.  ยิ่งกว่านั้น, ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 จำนวนกลุ่มที่จับประเด็นสังคม เช่น ความยากจน, การกีดกันผู้ด้อยโอกาส และสุขภาพ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว.  ปัจจุบัน ประเทศจีนมีกลุ่มที่ทำงานเรื่องมะเร็ง, โครงการอาสาสมัครในพื้นที่ชนบท, กลุ่มภรรยาผู้ถูกคุมขัง, สมาคม HIV/AIDS, สโมสรคนงานย้ายถิ่น, สมาคมผู้ป่วยโรคเบาหวาน, กลุ่มช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กหญิงยากจนในชนบท ฯลฯ.   รูปแบบองค์กรในยุคหลังนี้มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับรูปแบบขององค์กรในทศวรรษ 1980 ซึ่งกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ชนะในกระบวนการปฏิรูปนักวิชาชีพ, ปัญญาชน และนักธุรกิจ.
                การผุดขึ้นมาขององค์กรอีกแถบชั้นหนึ่งเช่นนี้ ที่จับประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม-เศรษฐกิจ, ความยุติธรรมทางสังคม และสวัสดิการสังคมนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ. ดังได้กล่าวข้างต้น, มันเป็นการสะท้อนยุทธวิธีอย่างจงใจของพรรค/รัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหน่วยงานนอกภาครัฐในการให้บริการด้านสวัสดิการ, ทั้งเป็นหนทางที่จะซึมซับแรงงานส่วนเกินจากการปิดรัฐวิสาหกิจ และในการสร้างระบบสวัสดิการสังคมใหม่ในเมือง. มันก็ยังเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับกระบวนการพัฒนาอย่างรีบด่วนสู่ ยุคใหม่ และความกังวลอย่างลึกซึ้งของผู้นำพรรคสูงสุดว่า ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จะเป็นชนวนให้สังคมสั่นคลอน. ดังนั้น จึงเป็นข้อน่าสังเกตที่ว่า ภายใต้ความเข้มงวดกวดขันต่อการรวมกลุ่มในประเทศจีน, องค์กรรูปแบบใหม่ก็ยังสามารถผุดขึ้นมาได้ และยังแตะต้องประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางสังคมและการเมืองด้วย.  เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจว่า ทำไมปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้นได้  เกิดขึ้นอย่างไร และมีนัยสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาของภาคประชาสังคมในจีน,  ภาคต่อไปจะขอกล่าวถึง การรวมกลุ่มในสองประเด็น คือ HIV/AIDS และแรงงานหญิงย้ายถิ่น.

การรวมกลุ่มในเรื่อง HIV/AIDS และ แรงงานหญิงย้ายถิ่น
ประเด็น HIV/AIDS เป็นประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศจีน ไม่เพียงแต่ด้วยเหตุผลปกติที่ทุกประเทศเจอ ที่ว่าเพศวิถีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคม, แต่เพราะว่า การชูประเด็นนี้ เป็นการเปิดโปงในที่สาธารณะถึงปัญหาสังคมทั้งหลาย เช่น การติดยาเสพติด, การกดขี่ข่มเหงคนงานในเพศพาณิชย์, ความยากจนในชนบท, และความบกพร่องของระบบราชการท้องถิ่นที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสทางอุปกรณ์การเก็บรักษาโลหิต.  ในทำนองเดียวกัน, คนงานหญิงย้ายถิ่น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการถูกเบียดให้ตกขอบกระแสหลักในสังคมเมือง เพราะว่าพวกเขาถูกจัดให้อยู่ในประเภท ชนบทและคนย้ายถิ่น, แต่ยังมีเรื่องของการกดขี่แรงงานในสถานที่ประกอบการ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจการขนาดเล็กของชาวเกาหลีและชาวจีนโพ้นทะเล. การดึงดูดความสนใจมาสู่การปฏิบัติในโรงงานเล็กๆ เช่นนี้ เป็นการตั้งคำถาม ไม่เพียงแต่ต่อสหภาพแรงงานทางการ แต่ยังเปิดโปงความขัดแย้งที่ฝังลึกในพรรคการเมือง.  ในด้านหนึ่ง, พรรค/รัฐ ประกาศยืนยันว่า ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์, แต่ในอีกด้านหนึ่ง, ก็กำลังชื่นชมกับการควบไปข้างหน้าอย่างมีพลัง, แต่ไร้ความอารี, ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม.
                แม้ว่าจะมีกิจกรรมมากมายนอกภาครัฐบาล ในเรื่องเอดส์ ที่เริ่มเกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 1990, จำนวนองค์กรด้านนี้ที่ได้จดทะเบียนมีน้อยกว่าจำนวนองค์กรประเภทอื่นๆ เช่น องค์กรสตรี, กลุ่มสิ่งแวดล้อม หรือสมาคมธุรกิจ,  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องต้องห้ามทางสังคมและการเมือง.  องค์กรหลัก มี เครือข่ายเอดส์จีน (China AIDS Network), ก่อตั้งในปี 1994 และประกอบด้วยนักวิชาชีพจากสาขาต่างๆที่ให้คำปรึกษา, ทำงานวิจัย และรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพ; Beijing Aizhi เป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นบนอินเตอร์เนต ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างรุนแรงในหมู่บ้านชนบทของมณฆลเหอหนาน (Henan) จากโรงงานรักษาพลาสมาโลหิต (blood plasma) ของรัฐบาล; และ มูลนิธิจีนเพื่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ (China Foundation for the Prevention of STDs and AIDS) เป็นมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนของนักวิชาชีพสาธารณสุข ที่ทำงานด้านการวิจัย, การศึกษาสาธารณะ, และการแทรกแซง, เริ่มในปี 1988.
                อุปสรรคทางกฎหมายและการตีตราบาปทางสังคม ได้สร้างความลำบากแก่ผู้ที่มีชีวิตกับโรคเอดส์ในการประกอบอาชีพ, หรือคนงานเพศพาณิชย์ และผู้เสพย์ติด, ในการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันเอง หรือเพื่อแถลงอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะถึงความต้องการของพวกเขา.  ถึงอย่างไรก็ตาม, มีความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อให้เสียงของผู้ติดเชื้อ ได้ถูกรับฟัง.  ในปี 1994 นักกิจกรรมและนักวิจัยกลุ่มหนึ่งในมณฑลยูนนานได้ก่อตั้ง เครือข่ายดูแล HIV/AIDS แห่งยูนนาน” (Yunnan HIV/AIDS Care Network), ได้พิมพ์จดหมายข่าว สี่ฉบับ และจัดประชุมหลายครั้ง.  แต่หลังจากทำการอยู่ได้สองปี ก็ต้องปิดไปเพราะขาดทรัพยากรและพลังงานมาค้ำจุนการปฏิบัติงาน.  ในปี 2001 มีเพียงกลุ่มช่วยเหลือกันเองเพียงกลุ่มเดียวสำหรับผู้ติดเชื้อ, ซึ่งเชื่อมกับหน่วยพิเศษเฉพาะทาง HIV/AIDS ของโรงพยาบาลปักกิ่ง.  ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2002 ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งได้ตั้ง กลุ่มอนุเคราะห์ป่าชายเลน (Mangrove Support Group).  ตั้งแต่นั้นมา ก็มีกลุ่มอื่นๆ งอกเงยขึ้นมาในมณฑล เสฉวน, ยูนนาน, ฉานซี และซินเจียง รวมทั้ง เมืองกวางเจา และเซี่ยงไฮ้.
                ภายใต้ความยากลำบากในการจดทะเบียนองค์กร, นักวิชาชีพการแพทย์, นักสังคมศาสตร์ และนักกิจกรรมหลายคน ได้ใช้ยุทธวิธีรวมกำลังกันรอบๆประเด็น HIV/AIDS.  แทนที่จะก่อตั้งองค์กรใหม่ ก็ใช้สมาคมที่จดทะเบียนแล้ว เป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับ HIV/AIDS.  การที่สมาคมเหล่านี้มีสถานภาพสูง และมีเส้นสายเชื่อมโยงกับข้าราชการในรัฐบาล ทำให้ผู้ทำงานสามารถใช้สมาคมเป็นโล่กำบังสำคัญที่ช่วยคุ้มครองและสร้างความชอบธรรมแก่การทำงานเรื่อง HIV/AIDS.  โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากนานาชาติ ได้กลายเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาสาธารณะสำคัญ สำหรับการสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับ HIV/AIDS และสำหรับชูประเด็นความต้องการของคนงานเพศพาณิชย์ และผู้เสพย์ติด.  เช่น กองทุนนานาชาติได้มีส่วนสนับสนุนการก่อตั้งศูนย์นำร่องในมณฑลไหหนาน (Hainan) เพื่อให้บริการคำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา ด้าน HIV/AIDS สำหรับคนงานเพศพาณิชย์.  การมีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติ เป็นหนทางที่สำคัญสำหรับนักกิจกรรม, นักวิจัย และนักวิชาชีพ ในการเพิ่มประสบการณ์ และในการส่งเสริมวิธีปฏิบัติใหม่ๆ, และสำหรับบางคน มันเป็นขั้นตอนยุทธศาสตร์ สู่การจัดตั้งองค์กรนอกภาครัฐ หรือ เอ็นจีโอ.
                การรวมตัวรอบๆ ประเด็น ความต้องการและความสนใจของคนงานหญิงย้ายถิ่น ก็เป็นสิ่งท้าทายเช่นกัน, เพราะความพยายามใดๆ ที่จะรวมตัวกันในประเด็นแรงงานนั้น เป็นเรื่องที่สร้างความขัดเคืองใจแก่ผู้นำระดับสูงสุด.  แม้กระนั้น, ก็น่าสนใจที่ว่า มีการริเริ่มหลายอย่างในเรื่องนี้.  ที่มีแพร่หลายมากที่สุด คือ ศูนย์นอกภาครัฐ ที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายสำหรับผู้หญิง, ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย แปดแห่งในจีน.  แม้ว่าศูนย์เหล่านี้ จะจับหลายประเด็น เช่น ความรุนแรงในครอบครัว, การข่มขืน และการหย่าร้าง, เช่นที่ทำกันใน ศูนย์ที่ปรึกษาทางกฎหมายสำหรับผู้หญิง แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Beijing University Women’s Legal Counselling Centre), บางแห่งจะมุ่งเจาะเรื่อง ความต้องการของคนงานหญิง, ซึ่งรวมเรื่อง คนงานหญิงที่ถูกลอยแพ, คนงานย้ายถิ่น หรือ เหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน.  ตัวอย่างของกลุ่มหลังนี้ มี ศูนย์คนงานหญิงแห่งเสินเจิ้น (Shenzhen Women Workers’ Centre) “ศูนย์ที่ปรึกษาทางกฎหมายสำหรับผู้หญิง แห่งมหาวิทยาลัยฟูดาน” (Fudan University Women’s Legal Counselling Centre).  ศูนย์ฯ ที่เสินเจิ้น ซึ่งก่อตั้งโดยนักกิจกรรมหญิงชาวฮ่องกง มีเอกลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำแต่ยังช่วยเสริมพลังสร้างความรู้สึกมั่นใจในตัวเองของคนงานหญิงย้ายถิ่น ด้วยการช่วยฝึกอบรมทักษะการต่อรอง และสร้างความมั่นใจในการรวมตัวกันในสถานประกอบการ.  ศูนย์นี้อาศัยรถตู้ของศูนย์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานแก่คนงานหญิงย้ายถิ่นในโรงงานต่างๆ, จัดการประชุมกลุ่ม, และส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มที่ช่วยสนับสนุนกันและกัน.  ในปี 2003 ศูนย์ฯ ได้เตรียมการสำหรับการจัดตั้ง สหกรณ์ผู้บริโภค (consumer cooperative), เพื่อช่วยให้คนงานหยญิงย้ายถิ่นสามารถซื้อของใช้จำเป็นในราคาถูก.
                นอกจากศูนย์ที่ปรึกษาทางกฎหมายเหล่านี้แล้ว ก็มี สโมสรคนงานหญิงย้ายถิ่น (Migrant Women Workers’ Club) ในปักกิ่ง, ก่อตั้งในเดือนเมษายน 1996, ซึ่งได้เป็นสถานที่ชุมนุมของคนงานหญิงย้ายถิ่น, จัดกิจกรรมทางสังคม, และเป็นเวทีการอภิปรายประเด็นเจนเดอร์ต่างๆ.  เช่น ในเดือนตุลาคม 2000 ทางสโมสรฯ ได้เชิญสาวทำงานในบ้านคนหนึ่ง ที่ถูกนายจ้างกระทำการทารุณกรรม มาเล่าประสบการณ์ของเธอ และเป็นการขอความเห็นใจจากสาธารณชนในการสนับสนุนคำฟ้องร้องของเธอ.  ในปี 2003 สโมสรคนงานหญิงย้ายถิ่นแห่งที่สองได้ก่อตั้งขึ้นในปักกิ่ง ได้มีภาระและกิจกรรมเหมือนกับศูนย์แรก. ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรทุนนานาชาติ, หญิงชนบทรู้ทุกอย่าง (Rural Women Knowing All)—เอ็นจีโอผู้หญิง ซึ่งมีการพิมพ์วารสารภายใต้ชื่อของกลุ่มสำหรับหญิงชนบทได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรมนอกกรุงปักกิ่ง สำหรับส่งเสริมทักษะของคนงานหญิงย้ายถิ่น.
                ภายใต้ภาวะที่ว่า ประเด็นแรงงานเป็นเรื่องอ่อนไหวยิ่งสำหรับพรรค/รัฐในจีน, เป็นเรื่องน่าสนใจที่การรวมตัวรอบประเด็นคนงานหญิงย้ายถิ่น ทำได้ง่ายกว่าประเด็นสิทธิแรงงานทั่วไป.  ไม่มีศูนย์นอกภาครัฐใดๆ ที่มีความชำนาญพิเศษในการให้คำปรึกษาและข้อแนะนำทางกฎหมายสำหรับคนงาน, แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะก่อตั้งกัน.  การเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระของแรงงานลอยแพ หรือย้ายถิ่น, หรือเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องทุกข์ของแรงงาน และการถูกละเมิดสิทธิ์, จะถูกปราบปรามขั้นเด็ดขาดทันทีโดยหน่วยป้องกันความมั่นคงสาธารณะ.  แต่การรวมตัวรอบประเด็นหญิงแรงงานย้ายถิ่น เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าด้วยเหตุผล สองประการ.  ประการแรก, พรรคคอมมิวนิสต์มีประวัติศาสตร์ของการปรุงแต่งทางความคิด (Construct) ให้ผู้หญิงเป็นหนึ่งกลุ่มทางสังคม.  แม้ว่าผู้หญิงจะถูกฉายภาพว่ามีความต้องการที่จะปลดแอกจากน้ำหนักของการกดขี่ข่มเหงของระบบศักดินาและระบบพ่อเป็นใหญ่, พวกเธอก็ถูกปรุงแต่งจัดให้เป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องการความคุ้มครอง เพราะเงื่อนไขทางชีวภาพที่ทำให้พวกเธอเป็นเพศที่ อ่อนแอกว่า.  ประการที่สอง, องค์กรและกลุ่มที่เจาะจงเรื่องสิทธิสตรีโดยทั่วไป, และของหญิงแรงงานย้ายถิ่น โดยเฉพาะ, จะชูประเด็นปัญหาในแง่ของสิทธิทางกฎหมายของผู้หญิง มากกว่า เชื่อมกับประเด็นกว้างออกไป ที่เรียกร้องสิทธิทางการเมืองสำหรับการจัดตั้งสหภาพแรงงานอิสระ หรือการปฏิรูปการเมือง.
                การเคลื่อนตัวสู่การรวมตัวรอบประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและสังคม เช่นเรื่อง HIV/AIDS และคนงานหญิงย้ายถิ่น เป็นทั้งนวัตกรรมและเป็นที่น่าสนใจศึกษา.  การเปิดพื้นที่สำหรับการรวมตัวรอบๆ ประเด็นสวัสดิการสังคมและความยุติธรรม เอื้อต่อการทดลองใช้วิธีการปฏิบัติใหม่, ส่งเสริมให้ใช้วิธีการมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย, และมุ่งความสนใจไปที่ความต้องการของกลุ่มต่างๆ.  ที่ว่าน่าสนใจศึกษา เพราะว่า มันช่วยให้เกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคม, การผุดขึ้นของความมั่งคั่งและอำนาจแบบใหม่, และการเปลี่ยนแปลงพลวัตรของภาคประชาสังคมในจีน. ในภาคต่อไป ดิฉันจะขอสะท้อนความคิดเห็นกว้างๆ ถึงผลพวงของการเปลี่ยนแปลงนี้ สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนในอนาคตของภาคประชาสังคม.

ผลพวงต่อภาคประชาสังคม
การผุดขึ้นมาของแถบชั้นใหม่ของการรวมกลุ่มรอบประเด็นชายขอบ, ประเด็นความยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม มีนัยสำคัญหลายประการสำหรับการพัฒนาของภาคประชาสังคมในอนาคต และกระบวนการปกครองในจีน.  ประการแรก, หลายกลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ ได้หลีกเลี่ยงข้อบังคับให้จดทะเบียนได้อย่างแนบเนียน โดยปฏิบัติการในนามของหน่วยหรือศูนย์ที่ขึ้นต่อสถาบันที่ใหญ่กว่า, ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับสาม หรือระดับสี่, โครงการ, หรือเครือข่าย.  นี่ชี้ให้เห็นว่า การรวมตัวนอกภาครัฐบาลนั้น มีปริมาณมากกว่าที่ปรากฏเป็นสถิติของการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ, ซึ่งส่วนมากก็มักไม่สมบูรณ์เช่นกัน.  และก็ชี้ให้เห็นว่า ระบบราชการ ที่ออกแบบให้ จัดการกับพื้นที่ใหม่ที่เป็นการรวมตัวอยู่ระหว่างกลางนี้ ไม่สามารถก้าวทันกับการเติบโตของการริเริ่มนอกภาครัฐ.  ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าภาคการปกครองท้องถิ่น เริ่มจะมีความอดทนต่อการริเริ่มเหล่านี้, ในที่ๆ กิจกรรมเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมท้องถิ่น.  ดังนั้น การพักรบระหว่างพรรค/รัฐ และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ปี 1989 จึงถูกต่อรองและท้าทายตลอดมา.
                ประการที่สอง, องค์กรและการริเริ่มใหม่เหล่านี้  ส่วนใหญ่ต้องพึ่งองค์กรทุนนานาชาติ.  จึงเกิดปัญหาสำคัญไม่เพียงแต่เกี่ยวกับความยั่งยืนของเงินทุนสำหรับองค์กรเหล่านี้, แต่รวมถึงความเสี่ยงที่กลุ่มเหล่านี้ อาจจะสับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของเป้าหมายและกิจกรรม เพื่อให้สอดรับกับวาระขององค์กรทุน, ซึ่งมักจะเกิดขึ้นแล้วในบริบทของการช่วยเหลือต่างๆ.  มันอาจทำให้กลุ่มเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกน้องของกระแสนอกประเทศ (มือที่สาม), ถ้าพรรค/รัฐ ต้องการจะป้ายสีลบความน่าเชื่อถือของกลุ่ม.  ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับทุนนอกประเทศ ชี้ให้เห็นถึงขอบเขตที่จีนนับวันจะถลำลึกลงไปในเศรษฐกิจการเมืองโลก.  อันนี้อาจทำให้โอกาสที่พรรค/รัฐบาลจีน จะหวนกลับไปใช้มาตรการบังคับ ปราบปรามภาคประชาสังคมยากขึ้น ในขณะที่การพัฒนาต่างๆ ในจีนได้เปิดกว้างขึ้นสำหรับการตรวจสอบของประชาคมโลก.
                ประการที่สาม, การแย่งชิงพื้นที่ใหม่ในการรวมกลุ่มนี้ ได้เกิดขึ้นในชั้นการเสวนาสร้างองค์ความรู้ด้วย.  มีการจัดประชุมของเอ็นจีโอระดับชาติ ครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา.  พวกเขาพอใจที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น ภาคส่วนที่สาม (“third sector” di san bumen) หรือ องค์กรไม่แสวงกำไร (fei yingli jigou), เป็นการเลี่ยงการใช้คำแปลอื่นๆ สำหรับคำว่า ประชาสังคม ที่มักจะส่อไปทางฝักใฝ่ทางการเมืองเกินไป.  นี่เป็นการแปรภาพของประชาสังคมให้เป็นนกพิราบ ซึ่งเกาะท้ายวิสัยทัศน์ของพรรค/รัฐ ที่ต้องการเห็นพื้นที่ๆ เป็นตัวกลาง ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง, เป็นองค์กรที่ช่วยทำงานด้านบริการสังคม, เล่นบทบาทสำคัญในการจัดรูปสถาบันใหม่ในการให้บริการทางสวัสดิการสังคม.  สำหรับฝ่ายซ้ายใหม่, คำที่ถูกฆ่าเชื้อแล้วเหล่านี้ เป็นเกราะที่มีประโยชน์ สำหรับผลักดันให้เปิดเส้นเขตแดนของการวิพากษ์ ถกเถียง และการขับเคลื่อนอิสระ.
                ท้ายที่สุด, มีพลวัตรทางชนชั้นที่สำคัญในภาคประชาสังคม ที่มักจะถูกมองข้าม โดยกระบวนการกวนภาคประชาสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกัน. ประชาสังคมไม่ได้เป็นแม้แต่สนามแข่ง.  มันเป็นกระจกสะท้อนและผลิตซ้ำ ถึงรอยร้าวลึกในเศรษฐกิจสังคม และกลายเป็นเวทีที่วิสัยทัศน์ต่างๆ เกี่ยวกับโลกและความสัมพันธ์ทางอำนาจ ได้ขึ้นมาประลองภาพกัน.  กระบวนการแปรเปลี่ยนทางเศรษฐกิจสังคมในจีน ตั้งแต่ปี 1978—และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตกผลึกของชนชั้นใหม่ของ ชนชั้นกลางที่ทำงานบ้าน (domestic bourgeoisie), ชนชั้นแรงงานในชนบท และ ชนชั้นกลางก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในแผนภูมิของภาคประชาสังคม.  ในทศวรรษ 1980 ตัวละครเอกของการก่อตั้งองค์กรอิสระ คือ ผู้ที่ได้รับชัยชนะในกระบวนการปฏิรูป, กล่าวคือ, ปัญญาชน, นักวิชาชีพ และนักธุรกิจ.  ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา พื้นที่สำหรับองค์กรอิสระ ถูกใช้มากขึ้นในการชูประเด็นความต้องการของ และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่สูญเสีย/ไม่ได้ผลประโยชน์ในกระบวนการปฏิรูป, เช่น คนยากจนใหม่ในเมือง, คนงานย้ายถิ่น, และกลุ่มชายขอบต่างๆ.  ยิ่งไปกว่านั้น, เจ้าของทรัพย์สินใหม่, เช่น ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนส่วนตัว, ก็ได้ใช้พื้นที่ ๆ เปิดใหม่นี้ รวมตัวกัน ก่อตั้งเป็นสมาคมเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน ต่อการจัดการที่ขาดศีลธรรมของบริษัทก่อสร้างและรัฐบาลท้องถิ่น. ในอนาคต เราคาดได้ว่า ความซับซ้อนที่เพิ่มในสังคม, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเส้นแบ่งระหว่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม มีความชัดเจนยิ่งขึ้น, จะปรากฏตัวเป็นการรวมกลุ่มแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของประชาสังคม.  สำหรับผู้เฝ้าสังเกตการณ์ในจีน พื้นที่แห่งการช่วงชิงของประชาสังคมนี้ สมควรที่จะได้รับความสนใจมากพอๆ กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรค/รัฐ และประชาสังคม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น