การสร้างระบบเศรษฐกิจเอื้ออารี
การเปลี่ยนค่านิยมเชิงเพศสภาวะ
ริแอน ไอสเลอร์
Creating a Caring Economy
Changing Gendered Values
สมาชิกสภาโลก IMOW (พิพิธภัณฑ์นานาชาติของผู้หญิง) ริแอน ไอสเลอร์ ประธานของ Center for Partnership Studies และผู้ประพันธ์เรื่อง The Real Wealth of Nations: Creating a Caring Economics ให้เหตุผลว่า คำนิยามใหม่ของเศรษฐกิจ—ว่าควรจะรวมผลงานของผู้หญิง (เข้าไว้) ด้วย—จะนำพาพวกเราสู่เส้นทางเศรษฐกิจในอนาคตที่มีพลานามัยดีกว่า และแข็งแรงกว่า ปัจจุบัน ไอสเลอร์ ทำงานเกี่ยวกับการริเริ่มนโยบายสาธารณะเพื่อผลักดันเศรษฐกิจที่มีพลานามัยดี
ผู้หญิงทั่วโลกต้องการการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกัน การงานที่มีเงินเดือนดีและเป็นที่เชื่อถือได้ เราต้องการเปลี่ยนกฎหมายและประเพณีที่กีดกันพวกเรา เพียงเพราะว่าเราเกิดเป็นหญิง แต่—และนี่คือสิ่งที่ดิฉันต้องการจะเจาะ—ผู้หญิงต้องการมากกว่านั้น
เพื่อเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า ทั่วโลก มวลคนยากไร้และคนยากจนที่สุดในประดาคนจนเป็นผู้หญิงและลูกของพวกเธอ และเพื่อที่จะก้าวหน้าไปสู่อนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืน เราไม่เพียงแต่ต้องการส่วนแบ่งที่ใหญ่ขึ้นจากขนมพายเศรษฐกิจชิ้นปัจจุบัน ขอใช้อุปมาของผู้หญิง เราต้องปิ้งขนมพายเศรษฐกิจชิ้นใหม่ด้วย
นี่หมายความว่า การคิดนอกกล่องของระบบเศรษฐกิจที่เป็นประเพณีนิยมกันมา ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยม ระบบเศรษฐกิจเก่าของเราถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากการคำนึงถึงผู้หญิง ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของมนุษยชาติ อันที่จริง บ่อยครั้ง (ระบบเก่า) ก็ไม่ได้คำนึงถึงมนุษยชาติทั้งมวล ทั้งชายและหญิง ระบบเก่าเหล่านี้ล้วนพลาดในการทำให้งานของมนุษย์ที่พื้นฐานที่สุดและสำคัญที่สุดประจักษ์ขึ้นในที่แจ้ง และให้คุณค่าแก่มันตามควร กล่าวคือ งานการดูแลผู้คน เริ่มต้นจากปฐมวัย งานที่ถ้าปราศจากมันแล้ว ก็จะไม่มีแรงงาน งานที่ถ้าปราศจากมันแล้ว ก็จะไม่มีคนใดในพวกเราที่มีชีวิตอยู่ได้ งานที่แต่ดั้งเดิมได้ลดขั้นไปให้ผู้หญิง และถูกคาดหมายว่า เป็นงานที่ไม่เหมาะสมสำหรับ “ชายชาตรี”
วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้เปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ให้ทบทวนและให้คำนิยามใหม่แก่สิ่งที่ใช่ และไม่ใช่งานที่มีผลิตภาพ /ผลิตผล พวกเราผู้หญิงจะต้องสวมบทผู้นำในการตั้งคำนิยามใหม่ ไม่เพียงแต่เพื่อพวกเราเอง แต่เพื่อประโยชน์ของทุก ๆ คน—ผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก อันที่จริง การให้คำจำกัดความใหม่นี้มีความจำเป็นยิ่ง เมื่อพวกเราเคลื่อนจากยุคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคเศรษฐกิจที่ตั้งบนฐานความรู้และสารสนเทศ หลังยุคอุตสาหกรรม
มุมมองใหม่ต่อเศรษฐศาสตร์
ระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราต้องการเศรษฐศาสตร์ใหม่ ที่นำพาให้เราไปพ้นจากการถกเถียงที่จำเจน่าเบื่อหน่ายระหว่างลัทธิทุนนิยมและลิทธิสังคมนิยม และรวมทั้งลัทธิเก่าๆ ทั้งหลาย ทั้งทฤษฎีทุนนิยมและสังคมนิยม ล้วนละเลยสัจธรรมพื้นฐาน: ความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาติทั้งหลาย ประกอบด้วยผลงานของประชาชนและของธรรมชาติ
อดัม สมิธ และ คาร์ล มาร์ก ต่างละเลยความสำคัญยิ่งของกิจกรรมของธรรมชาติที่ธำรงรักษาชีวิต สำหรับพวกเขา ธรรมชาติมีอยู่เพื่อให้กอบโกยหาประโยชน์ใส่ตัว แล้วจบเท่านั้น สำหรับกิจกรรมที่ธำรงรักษาชีวิต ในการดูแลคน เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก พวกเขาก็เห็นว่าเป็นเพียงแรงงาน “ผลิตซ้ำๆ” และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสมการ “ผลิตภาพ” ทางเศรษฐกิจ พวกเขาเพ่งไปที่ตลาด—สำหรับ สมิธ เพื่อยกย่องสรรเสริญ และสำหรับมาร์ก เพื่อประณาม สาปแช่ง ทั้งคู่ไม่ได้รวมภาคที่ธำรงชีวิตในโมเดลเศรษฐกิจของเขา: เศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจธรรมชาติ และเศรษฐกิจอาสาสมัคร และถ้าปราศจากภาคส่วนเหล่านี้ ก็ไม่สามารถมีเศรษฐกิจตลาดได้
ทั้งสามภาคส่วนนี้--ซึ่งถูกละเลยในดัชนีชี้วัดของเศรษฐกิจแบบประเพณีนิยม เช่น GDP—ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งล้วนเกี่ยวพันตั้งแต่ดั้งเดิมกับผู้หญิงและความเป็นหญิง ดังนั้นการเปลี่ยนเศรษฐศาสตร์ พวกเราต้องระลึกว่า เราทั้งหมดได้รับมรดกระบบคุณค่า/ค่านิยมบนพื้นฐานของเพศภาวะ ระบบที่ตีกรอบว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับผู้หญิง—เช่น การดูแลคน อหิงสา และการพยาบาลรักษา—ล้วนถูกมองว่าเป็นเรื่องรอง “อ่อน” ไม่ติดดิน และในความเป็นจริงแล้ว มันตรงกันข้ามหมด
พวกเราเห็นได้ชัดว่า ถ้าเราดูที่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาโดยประเทศแถบนอร์ดิก เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ประเทศเหล่านี้ได้พัฒนานโยบายที่รวมองค์ประกอบบวกของทั้งลัทธิสังคมนิยมและลัทธิทุนนิยม และได้เลยเถิดไปถึงกับสร้างเศรษฐศาสตร์ใหม่ ที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลคนและธรรมชาติในลำดับต้น ๆ พวกเขามีสถานเลี้ยงเด็กที่รัฐบาลสนับสนุน การรักษาพยาบาลครอบจักรวาล ค่าตอบแทนสำหรับช่วยครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูเด็กเล็ก การดูแลคนชราอย่างมีศักดิ์ศรี การให้ลาคลอดที่มีเงินเดือนอย่างเอื้ออารี นโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีเหตุผลดี และอุทิศความมั่งคั่งส่วนหนึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูง เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า
นโยบายเอื้ออาทรเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผลจากการที่ประเทศเหล่านี้มีความมั่งคั่งกว่า อันที่จริง ในต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มประเทศนอร์ดิกนี้ ต้องทนทุกข์กับความยากจนและอดหยากสุด ๆ แต่ทุกวันนี้ พวกเขามีมาตรฐานการครองชีพสูงสำหรับทุกคนทั่วหน้า พวกเขามีอัตราความยากจนและอาชญากรรมต่ำ และอายุขัยยืนยาว ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ในรายงานประจำปีของสหประชาชาติเรื่อง การพัฒนามนุษย์ ซึ่งวัดคุณภาพชีวิต พวกเขายังอยู่ในชั้นสูงสุดในรายงานประจำปี Global Competitiveness โดย World Economic Forum
ทำให้สิ่งที่อยู่ในมุมมืด ประจักษ์แจ้งขึ้น
เพื่อจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น เราต้องตระหนักว่า การเขี่ยกิจกรรมการดูแลและการพยาบาลรักษาออกจากทฤษฎีและปฏิบัติเชิงเศรษฐศาสตร์ ได้ก่อให้เกิดความทุกข์ร้อนอย่างมหันต์แก่มวลมนุษย์
ดัชนีตามประเพณีนิยมเกี่ยวกับอัตราผลิตผล (เช่น GDP และ GNP) ที่แท้วางกิจกรรมที่เป็นโทษต่อชีวิต—เช่น การขายบุหรี่ และต้นทุนด้านสุขภาพและฌาปนกิจจากการสูบบุหรี่—ให้อยู่ในประเภทบวก แม้ว่ามันจะไม่มีค่าใด ๆ เลยต่อกิจกรรมธำรงชีวิตของทั้งเศรษฐกิจในครัวเรือนและเศรษฐกิจธรรมชาติ อันที่จริง นักเศรษฐศาสตร์จะพูดถึงพ่อแม่ที่ไม่มีงานทำประจำนอกบ้านว่าเป็นคน “ไม่ขันแข็งทางเศรษฐกิจ” แม้ว่าพวกเขาจะวุ่นทำงานตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนค่ำมืด
บางคนพูดว่า งานทำในบ้านไม่สามารถจะคำนวณเป็นปริมาณได้ แต่ความเป็นจริง มันทำได้—อันที่จริง กำลังถูก—วัดปริมาณ ต้องขอบคุณนักกิจกรรมขององค์กรสตรีทั่วโลก ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีบัญชี “บริวาร” ที่คอยวัดค่าของงานในการดูแลคน และเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านให้มีพลานามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เคยถูกจัดให้เป็น “งานผู้หญิง” แต่ดั้งเดิมมา เช่น รายงานของรัฐบาลสวิสฉบับหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าเรารวมงาน “ดูแล” ครัวเรือน ที่ไม่ได้รับค่าจ้างด้วย มันจะมีมูลค่าถึง 70% ของ GDP ของสวิสเลยทีเดียว แต่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ปรากฏในบทความของเศรษฐศาสตร์ประเพณีนิยมเลย
งานการเลี้ยงดู รักษา ได้รับความสนใจน้อยมากจนเกือบมองไม่เห็นเลย (และเป็นเช่นนั้นในมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์) ในการวัด “อัตราการเพิ่มผลิตผล” เมื่องานนั้นทำในบ้าน และการลดมูลค่าของงานนี้ต่อไปอีก ได้สะท้อนออกมาในระบบเศรษฐกิจตลาด อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแล รักษาพยาบาล จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่างานอื่นๆ ที่อยู่นอกกิจกรรมเหล่านี้ ในสหรัฐฯ คนมักไม่คิดมากกับการที่ต้องจ่ายเงิน $50 - $100 ต่อชั่วโมง สำหรับช่างประปา คนงานที่เราเชื่อใจว่าจะดูแลระบบท่อน้ำของเราได้ แต่สำหรับคนงานเลี้ยงดูเด็ก คนที่เราไว้วางใจให้ดูแลลูกของเรา กลับได้รับค่าแรง $10 ต่อชั่วโมงโดยไม่มีสวัสดิการใด ๆ ตามรายงานของกรมแรงงานของสหรัฐฯ และในขณะที่เราเรียกร้องให้ช่างประปาได้รับการอบรม เราไม่เรียกร้องให้คนงานดูแลเด็กทั้งหลายต้องได้รับการอบรมเช่นกัน
นี่เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล มันเป็นอาการป่วย แต่เพื่อทำความเข้าใจ และเปลี่ยนเจ้าระบบคุณค่าที่บิดเบี้ยวนี้ และเพื่อที่จะจัดการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพกับปัญหาที่ดูเหมือนจะสาวเหตุไม่ได้ เช่น ความยากจน และความหิวโหย เราจะต้องดูที่ปัจจัยที่มองเห็นได้เท่านั้น ทันทีที่เราตระหนักถึงระบบล่องหนของคุณค่าเชิงเพศภาวะ
นโยบายเศรษฐกิจ ความยากจน และ
ระบบคุณค่าเชิงเพศภาวะที่อำพราง
หลายคน รวมทั้งนักการเมือง คิดว่า ไม่เป็นไร ที่งบรัฐบาลขาดดุลมากมายเพื่อสนองค่าใช้จ่ายสำหรับเรือนจำ อาวุธ และสงคราม--ทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องกับผู้ชายและ “ความเป็นชายชาตรีพันธุ์แท้” แต่พอมาถึงการสนองค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลคน—เลี้ยงเด็ก รักษาพยาบาล การศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียน เป็นต้น—พวกเขากลับตอบว่า ไม่มีเงินเพียงพอ
ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่นักการเมืองมักจะพูดว่า เป้าหมายของพวกเขาคือยุติ หรืออย่างน้อยลด ความยากจนและความหิวโหย พวกเขาเกือบไม่เคยพูดถึงสถิติที่กองอยู่: มีผู้หญิงคิดเป็น 70% ในชาวโลกที่มีชีวิตในภาวะยากจนเต็มที่ ซึ่งหมายความว่า อดอยาก หรือใกล้อดอยาก สิ่งที่ถูกละเลยในการอภิปรายตามประเพณีนิยมอีกเช่นกัน คือ ผู้หญิงทั่วโลกได้เงินเดือนโดยเฉลี่ยเพียง 2/3 ถึง 3/4 ของผู้ชาย เมื่อทำงานประเภทเดียวกันในระบบเศรษฐกิจตลาด และงานส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงทำในบ้าน—รวมทั้งการเลี้ยงลูก การรักษาพยาบาล การทำความสะอาดบ้านเรือน การทำอาหาร และการทำเกษตรยังชีพ--ล้วนไม่มีได้รับค่าชดเชย
นี่ไม่ใช่เป็นการบอกว่า ผู้ชายไม่ได้รับความทุกข์ร้อนเลยในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ครอบครัวที่นำโดยผู้หญิงจัดอยู่ในชั้นล่างสุดของลำดับเศรษฐกิจ และอัตราความยากจนของผู้หญิงที่อายุเกิน 65 มีมากเป็นเกือบสองเท่าของชายอายุเกิน 65 ตามรายงานของสำนักงานสถิติสหรัฐฯ ข้อเท็จจริง คือ แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยเช่นสหรัฐฯ หญิงชรามีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนมากกว่าชาย เช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะการเลือกปฏิบัติในระบบเศรษฐกิจตลาด มันเป็นเพราะว่า ผู้หญิงเหล่านี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการดูแล รักษาคน และงานที่พวกเขาทำชั่วชีวิต ไม่เคยได้รับค่าตอบแทน หรือให้รางวัลภายหลังในรูปของประกันสังคมหรือเงินบำนาญ
จุดจบและจุดเริ่มต้น
ก้าวแรกสู่การสร้างเศรษฐศาสตร์ที่ใหม่จริงๆ คือ การสร้างโมเดลเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ ที่รวมเศรษฐกิจครัวเรือน เศรษฐกิจธรรมชาติ และเศรษฐกิจอาสาสมัคร เติมเข้ากับตลาด รัฐบาล และเศรษฐกิจเถื่อน แผนที่เศรษฐกิจที่เป็นจริงมากขึ้น และรวมทุกอย่างมากขึ้น จะช่วยให้ เกิดความประจักษ์แจ้งและเห็นคุณค่าที่แท้จริงของงานที่มนุษย์ทำที่มีความสำคัญยิ่ง: งานดูแล รักษาคนและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของเรา
กฎของตลาดท้องถิ่นและตลาดโลกจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงไป เป็นการให้รางวัลแก่ธุรกิจการดูแลรักษาคนและธรรมชาติ และลงโทษผู้ละเมิด/ไม่ดูแลห่วงใย ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ ไม่เพียงต่อคนและธรรมชาติเท่านั้น แต่ต้องรวมธุรกิจด้วย งานศึกษานับร้อยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มทุน (ในภาคธุรกิจ) จากการสนับสนุนและให้รางวัลแก่การเอื้ออาทรในระบบเศรษฐกิจตลาด ขอยกเพียงหนึ่งตัวอย่าง บริษัททั้งหลายที่ติดอันดับอยู่เป็นปกติในรายชื่อที่ปรากฏใน Working Mothers หรือ Fortune 500 กล่าวคือ เป็นบริษัทที่มีสวัสดิการดูแลสุขภาพ ศูนย์เลี้ยงเด็ก การลาคลอด และนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา—จะคืนกำไรให้แก่ผู้ลงทุนสูงกว่า
มีหลายทางที่จะให้ทุนสนับสนุนการลงทุนในการสร้างสาธารณูปโภคมนุษย์ในโลกของเรา ที่สามารถจะหักกลบลบหนี้ในระยะเวลานับปี ซึ่งก็เช่นเดียวกับการลงทุนในสาธารณูปโภคที่เป็นถาวรวัตถุ ทางหนึ่งคือ ขยับตัวออกจากการทุ่มทุนไปที่การลงทุนหนักในอาวุธและสงคราม อีกทางหนึ่ง คือ ลองคำนวณถึงเงินที่จะประหยัดได้จากต้นทุนที่ต้องทุ่มไป ถ้าไม่มีการลงทุนในภาคส่วนเอื้ออาทร นั่นคือ ค่าใช้จ่ายสูงจากเงินภาษีประชาชนในการจัดการกับอาชญากรรม กระบวนการศาล เรือนจำ การสูญเสียศักยภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ภาษีที่เก็บจากการเก็งหรือปั่นหุ้น และกิจกรรมที่อันตรายต่าง ๆ เช่น การผลิตและขายอาหารขยะ ก็สามารถนำมาสนับสนุนการลงทุนการดูแล/เอื้ออาทรต่อคนและธรรมชาติ
การเลี้ยงดูเด็กที่ดี จะเป็นหลักประกันว่า เราจะมีประชากรที่มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ และเอื้ออารี ซึ่งเป็นที่ต้องการในสังคมยุคความรู้และสารสนเทศ หลังยุคอุตสาหกรรม (นักวิชาการ) ทั้งสาขาจิตศาสตร์ และประสาทวิทยาได้แสดงให้เห็นว่า สมรรถนะเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ขึ้นกับคุณภาพที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูมา
การให้การศึกษาและให้ค่าตอบแทนแก่คนที่ทำหน้าที่ดูแลรักษา จะช่วยลด “ช่องว่างของการเอื้ออารี”—ทั่วโลกขาดการเลี้ยงดูเด็ก คนชรา คนป่วย และอ่อนแอ มันจะนำไปสู่การให้คำนิยามใหม่แก่ “งานที่มีผลิตผล” ที่ให้ความประจักษ์แจ้งและคุณค่า ต่อสิ่งที่ทำให้เรามีพลานามัยสมบูรณ์และเป็นสุขจริง ๆ และในที่สุดก็ยังผลให้เกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนในระบบนิเวศ
เราจะต้องสร้างการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กดดันให้นักวางนโยบาย วางนโยบายที่ทำให้เปลี่ยนแปลง—หรือไม่ก็เปลี่ยนตัวผู้วางนโยบาย
เราสามารถจะเป็นผู้นำในการสร้างรากฐานที่มีความสมดุลในเชิงเพศภาวะ สำหรับระบบเศรษฐกิจ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ ถ้าเราเดินเข้าหากัน ร่วมมือกัน เราสามารถสร้างรากฐานเหล่านี้ และช่วยสร้างสรรค์อนาคตที่เด็ก ๆ ทั้งหลายจะสามารถตระหนักถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่สำหรับ จิตสำนึก ความเมตตากรุณา ความเอื้ออารี และความคิดสร้างสรรค์: สมรรถนะที่ทำให้เราเป็นมนุษย์สมบูรณ์
ริแอน ไอส์เลอร์ เป็นผู้นำในการรณรงค์นวัตกรรมนำร่อง เรียกว่า ความมั่งคั่งที่แท้จริงของอเมริกา เพื่อประดิษฐ์วิธีการวัดเพื่อประเมินสุขภาพเชิงเศรษฐกิจของประเทศ ผู้หญิงในสหรัฐฯ สามารถจะเข้าร่วมได้ในฐานะเพื่อนผู้ให้การศึกษาและนักรณรงค์ อ่านรายละเอียดเพิ่มได้
http://www.imow.org/economica/resources/podcasts/item?id=196
dt/(10-17-09)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น