วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

วิถีชีวิต Tariq Banuri

วิถีชีวิตที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง
ดร. ตาริค บานูริ
วิถีชีวิตชนบทและความไม่มั่นคงของมนุษย์ ในระบบเศรษฐกิจเอเชียยุคโลกาภิวัตน์ (สุริชัย หวันแก้ว, บรรณาธิการ, 2007)

“Sustainable Livelihoods and the Sufficiency Economy”
Dr. Tariq Banuri, pp.5-24 In Rural Livelihoods and Human Insecurities in Globalizing Asian Economies (Surichai Wun’Gaeo, ed., 2007)
               
p.8
ฉันจะให้เครื่องลางชิ้นหนึ่งแก่เธอ   เมื่อไรที่เธอเกิดความคลางแคลงใจ ขอให้รำลึกถึงใบหน้าของชายหญิงที่ยากจนและอ่อนแอที่สุด  ผู้ซึ่งเธออาจได้เคยพบเคยเห็น แล้วให้ถามตัวเองว่า สิ่งที่เธอกำลังคิดจะทำในก้าวต่อไป จะเป็นประโยชน์อะไรกับพวกเขาบ้างไหม   พวกเขาจะได้อะไรไหม  จะทำให้พวกเขาฟื้นความสามารถในการควบคุมชะตาชีวิตของตนเองไหม  ถ้าทำเช่นนี้ เธอก็จะพบว่า ความคลางแคลงสงสัย และตัวตนของเธอได้หลอมละลายจางหายไป
มหาตมะ คานธี

p.8
พุทธเศรษฐศาสตร์ ใช้แนะนำได้แม้แต่กับพวกที่เชื่อว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญกว่า   คำถามไม่ใช่อยู่ที่การเลือกระหว่าง การขยายตัวแบบทันสมัย และ การแช่แข็งอยู่กับที่แบบดั้งเดิม   มันเป็นการหาหนทางที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนาทางสายกลาง ระหว่างพวกวัตถุนิยมที่ไม่ยอมฟังใคร และพวกประเพณีนิยมที่ไม่ยอมขยับเขยื้อน  พูดสั้นๆ คือ การแสวงหามรรคาสำหรับสัมมาชีพ
อี.เอฟ. ชูมาก์เกอร์

p.9
ปรัชญาว่าด้วยความมั่นคงของระบบ คือ โอวาท (ที่พระเยซูทรงสอน) บนภูเขา อย่ากังวลกับวันพรุ่งนี้  เพราะพรุ่งนี้จะดูแลตัวเอง  การทำให้พอเพียง (สำหรับตนเอง) จนถึงวันข้างหน้า เป็นสิ่งชั่วร้าย
เฮอร์แมน ดาลี่

p.9
(30 ปีก่อน) อัคฮ์เตอร์ ฮามีด ข่าน สรรค์สร้างโมเดลโคมิลลา ซึ่งเป็นรูปแบบขององค์กรชุมชนช่วยเหลือกันเอง ในบังคลาเทศปัจจุบัน  ความคิดพื้นฐานของข่าน คือ ถ้าองค์กรชุมชนเติบโตและแข็งแรงได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ... เป้าหมาย คือ ชุมชน และคุณเป็นคนสร้างชุมชน  กระบวนการสร้างชุมชนจะต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าแบบแผนที่สัมฤทธิ์ผลจะอุบัติขึ้นมา  และก็มีสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงด้วย ฯลฯ  แต่ที่สำคัญ คือ มุ่งมั่นที่ชุมชน  สร้างชุมชน  นั่นเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้จริง   และก็ต้องมุ่งมั่นเจาะจงที่คนยากจน  กล่าวคือ เอาคนท้ายแถวมายืนหน้าแถว  ทำงานกับคนยากจน และสร้างชุมชน

p.10
ปัญหาของการพัฒนาชนบทควรจะดำเนินตามมุมมองของชาวบ้าน เพราะพวกเขามีความเข้าใจดีที่สุด  ชาวบ้านมีความสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  การพัฒนาเกษตรควรจะถือว่าเป็นก้าวสำคัญ   ควรพิจารณาว่าหมู่บ้านเป็นหน่วยรากฐานหนึ่ง และควรสำนึกถึงคุณค่าว่าหมู่บ้านเป็นจุดเริ่มต้น   การอบรม การวิจัย และการสาธิตเป็นสิ่งจำเป็น  และควรมีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน
บังคลาปิเดีย เรื่องโมเดล โคมิลลา

p.10
โชอิบ สุลต่าน ข่าน (ลูกศิษย์อัคฮ์เตอร์ ข่าน): โมเดลที่นิยมกัน (กระแสหลัก) บอกว่า ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพก่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา  เมื่อมีการพัฒนาแล้วจึงเกิดการออมทรัพย์ นั่นคือ อะไรทั้งหลายที่จะได้จากการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แล้วจึงมาถึงการสร้างต้นทุนมนุษย์ และสักนิดหนึ่ง ถึงต้นทุนสถาบัน...

เขาพูดต่อว่า เรากลับหัวของโมเดลกระแสหลัก  โมเดลของเราเริ่มต้นเป็นอันดับแรก คือ พัฒนาชุมชน  พัฒนาสถาบัน  พัฒนาต้นทุนทางสังคม  ต่อมาจึงพัฒนาต้นทุนมนุษย์  ด้วยการสร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยี  ต่อไปเป็นการสร้างต้นทุนทางการเงิน แต่ต้องมาจากการสะสมของประชาชนเอง  ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักวิธีออม  ด้วยการสร้างสถาบันสำหรับการเก็บสินออมทรัพย์  หลังจากทำทั้งหมดนี้แล้ว จึงสร้างทุนเชิงกายภาพ หรือโครงสร้างพื้นฐาน  แต่ก็เป็นเพียงหนทางสู่ผลหรือเป้าหมาย  เพราะว่าลำพังโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง

p.11 (failed example)
นายกรัฐมนตรี โจเซฟ เนียเรเร เป็นผู้ริเริ่ม โมเดลอุจามา ในประเทศแทนซาเนีย ตามแถลงการณ์ อรุชา ที่กล่าวถึงหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับคนอื่นๆ เช่น ความขยันขันแข็ง ทำงานหนัก ประกอบกับเชาว์ปัญญา ที่ได้ทำให้คนสามารถดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ   นั้นคือสิ่งที่ควรจะเป็น   เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราช อิสรภาพ ของชาติและประชาชนของเรา  เราจะต้องพึ่งตัวเองได้ในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้   ที่ต่างกันคือ ทุกชีวิตจะต้องอุทิศให้แก่อธิปไตยของประเทศ รวมทั้งสิทธิพื้นฐานของแต่ละคน ฯลฯ ... แม้ว่าโมเดลของเขาจะตั้งอยู่บนฐานของการสร้างชุมชน แต่มันสะดุดไปนิดหน่อย  สาเหตุมีทั้งภายนอกและภายใน  ผมคิดว่านี่เป็นเมล็ดปัญหาที่สำคัญ  สาเหตุภายใน เกิดจากการที่เขาเริ่มบังคับให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ด้วยกัน เพื่อสร้างชุมชนต่างๆ   และพอคุณบังคับฝูงชนให้ทำอะไรอย่างนั้น ปัญหาย่อมเกิด

มันมีปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำด้วยตอนนั้น  ทำให้ราคาผลผลิตทางเกษตร การส่งออกตกตามไปด้วย  และแทนซาเนียก็ต้องตกระกำลำบาก  เกิดปัญหาหนี้สินมากมาย และต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ในทันทีที่คุณเริ่มพูดจาที่ฉีกแนวจากที่ธนาคารโลกต้องการได้ยิน  คุณมีปัญหาแล้ว   แต่ผมคิดว่า ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ความไม่อดทน และการขาดดุลยพินิจที่ดี ...โมเดลต่างๆ มากมายเหล่านี้ พ่ายแพ้ภัยตัวเอง เพราะ ขาดวิจารณญาณ และขาดความอดทน

p.12
ลีโอ ตอลสตอย แล้วเราจะต้องทำอะไร?...
ถ้าคุณเข้าไปดูหน้าเว็บของ สังคมชูมาก์เกอร์  ในหนึ่งหน้า คุณจะพบจุดเชื่อมถึงองค์กรต่างๆ กว่า 50 ลิงค์ ... มีหลายปัจจัยที่เหมือนกันและแพร่หลาย  และก็มีขอบข่ายกว้างขวางให้เรียนรู้ได้จากกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอด
... จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีบางเรื่องที่สมควรจะสำรวจค้นคว้าให้สมบูรณ์ต่อไป เพราะเป็นบางสิ่งที่มีเอกลักษณ์และใหม่ในตัว ... แต่หลายเรื่องอื่นๆ ก็เชื่อมต่อกับสำนักคิดและปฏิบัติใหญ่ๆ ที่มีอยู่... ความคิด และการปฏิบัติเหล่านั้น ก็สมควรที่จะผนวกเข้ามาด้วย

p.12
มีสามแนวทางสู่การพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม แม่น้ำ  บ้าน  และต้นไม้

แม่น้ำ เป็นการเปรียบเปรยว่าตลาด ที่ว่า ประวัติศาสตร์เป็นการปรับตัวกับกระแสพลัง  ในขณะที่ลำน้ำย่อมเลื้อยไหลไปตามแรงดึงดูดของโลกและความลาดชัน ไปสู่ที่ต่างๆ ประวัติศาสตร์ ก็ย่อมลื่นไหลไปตามหนทางของเศรษฐกิจ  และรูปแบบเศรษฐกิจนี่แหละ ที่เป็นตัวขับเคลื่อน  ซึ่งมีสมรรถนะทางเทคโนโลยีเป็นตัวตัดสินปริมณฑลของมัน และความฝักใฝ่ตัดสินว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ถ้าพื้นที่ใดแห้งแล้ง หรือน้ำท่วม คุณก็ควรจะเปิดทาง หรือสร้างเขื่อน อะไรทำนองนั้น  แต่ที่สำคัญ คือ ปล่อยให้โมเดลเศรษฐศาสตร์แล่นผ่านไปได้ และนั่นคือ สิ่งเดียวที่ทำงานได้ ...

บ้าน เป็นการวางแผนสำหรับอนาคต มันเหมือนกับการสร้างบ้านของคุณ ที่เริ่มด้วยการวาดแผนผัง ออกแบบ จากนั้นงานของคุณ คือ แปรเปลี่ยนจากแผนบนกระดาษเป็นบ้านบนผืนดิน ... คุณย่อมต้องแก้ปัญหาสารพัดในขณะสร้างด้วย  แตามันเป็นการขับเคลื่อนที่มีการจัดระเบียบและมีวินัย มุ่งสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ก่อนแล้ว นั่นคือ พิมพ์เขียวของบ้าน ซึ่งต้องการเพียงคำอธิบายทางเทคนิคในการปลูกสร้างบ้าน   นี่คือแนวการวางแผน ... ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และธนาคารโลก ฯลฯ ได้หันมาใช้แนวทางนี้ แทนแนวทางแม่น้ำ

แนวทางต้นไม้ หรือแนวทางชุมชน  ต้นไม้ย่อเติบโตตามตรรกะของมันเอง แต่มันต้องการการอนุบาลดูแลด้วย  มันไม่ใช่การแปรพิมพ์เขียว หรือสยบต่อมือล่องหน (ของตลาด)  มันเป็นเรื่องของการสร้างภาคีหุ้นส่วน และนวัตกรรม  ที่เกี่ยวกับการเป็นตัวขับเคลื่อน  วิธีการใหม่ในการชักจูงให้สิ่งต่างๆมาอยู่ด้วยกัน  ในการขับเคลื่อนทรัพยากร  สร้างความชอบธรรม  การปฏิบัติการร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ฯลฯ
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ บางคนใช้วิธีสร้างรอบๆ แนวทางของบ้าน และพวกเราหลายคน ที่ทำงานเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความยากจน สิ่งแวดล้อม ได้พลิกสู่ทางอื่น คือ สร้างและจุนเจือไปด้วยกัน
เทคนิคที่พวกเราได้พัฒนาขึ้นมา ต่างกับเทคนิคของคนอื่นๆ


เจฟ ซาชส์ ถูกยูเอ็นว่าจ้างให้ช่วยจัดรูปโครงการพัฒนาทั้งหมด และพิมพ์เป็นหนังสือ เป้าหมายของสหัสวรรษของการพัฒนา  ตรรกะของหนังสือนี้ คือ จะแก้ปัญหาความยากจน ต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว นำเป็นต้องมีต้นทุน

ซาชส์ ย้ำว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะช่วยแก้ปัญหาทั้งปวง  กระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขาตั้งอยู่บนกระบวนการพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพื่อใช้พัฒนาต้นทุนมนุษย์  โครงสร้างพื้นฐาน  องค์ความรู้  ต้นทุนแห่งชาติ  แต่ไม่รวมต้นทุนสังคม และต้นทุนสถาบัน


แนวทางเข้าข้างคนจนฉีกแนวจากของซาชส์โดยสิ้นเชิง  ด้วยการให้ลงทุนในต้นทุนสังคมสำหรับคนยากจน ด้วยการขับเคลื่อนสังคมผ่านการสร้างองค์กร การส่งเสริมให้มีการตัดสินใจร่วมกัน  ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และปฏิบัติการชุมชน  ช่วยให้คนยากจนสามารถลุกขึ้นมาดูแลตนเองและกระบวนการพัฒนา  ปฏิบัติต่อคนยากจนไม่ใช่ว่าเป็นตัวปัญหา แต่เป็นประชาชน

แนวทางสำหรับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมี 4 ประการ

1. ยุทธศาสตร์ในการปรับตัวของคนจน  พวกเขาปรับตัวอย่างไร?  แทนที่จะใช้แนวคิดของธนาคารโลก ควรจะมองที่ยุทธศาสตร์การปรับตัวของคนจนเอง  คำถามสำคัญที่คุณควรจะถามตัวเอง คือ คนจนเป็นผู้ที่ตัดสินใจได้ดัวยตัวเอง หรือเป็นตัวปัญหาที่ต้องแก้ไข?  พวกเขาเป็นเสมือนคนป่วยนอนซมบนเตียงที่ต้องได้รับการรักษาเยียวยา หรือ เป็นบุคคลที่คิดเป็น เพียงแต่ต้องการความช่วยเหลือในกระบวนการที่เขากำลังพยายามแก้ไขปัญหาของตน?

2. ประเด็นความเปราะบาง ซึ่งเป็นแนวทางที่มีพลวัต  พวกเขาไม่ต้องการพูดถึงความยากจนในลักษณะดัชนี--กี่คนอยู่ใต้ขีดความยากจน ฯลฯ   แท้จริง มันเป็นเรื่องของความเปราะบาง อาการช๊อค และยุทธวิธี   มันเป็นปฏิบัติการ  คุณขยับจากคำนามเป็นคำกิริยา  สู่ปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน  พวกเขาบอกว่า อย่าไปเริ่มต้นที่จุดอ่อนของคนจน แต่ให้เริ่มที่จุดแข็ง  ในสิ่งที่เขามีอยู่  พวกเขามีอะไร?  พวกเขาอาศัยอะไรในการเคลื่อนยุทธศาสตร์ของตน?

3. มีคำพังเพยลาตินกล่าวว่า ไพร่ฟ้าที่ไม่กลัวอนาคต คือ พระราชา  ทำอย่างไรที่จะทำให้คนจนไม่กลัวอนาคต เป็นโจทย์สำคัญ

4. สุดท้าย ความสามารถ อะไรคือความสามารถร่วมของพวกเขาในการปฏิบัติการ 

อัคฮ์เตอร์ ฮามีด ข่าน กล่าวว่า เรามีระบบที่เป็นเหมือนอ่างน้ำที่จุกอุดถูกดึงออก แล้วทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกดึงออกจากเศรษฐกิจชนบท  คนที่สุขภาพดีแข็งแรงที่สุด  คนที่มีไหวพริบที่สุด  ทรัพย์สินเงินทอง ล้วนไหลออกไปจากชนบท  ความเฉียบแหลมและความเข้มแข็งเชิงการเมือง ล้วนหลุดออกจากชนบท  นี่เป็นวิธีดูดทรัพยากร   สิ่งสำคัญ คือ ผลักทรัพยากรเหล่านี้กลับเข้าไปในชนบทโดยไม่ปล่อยให้ถูกจี้ปล้นกลางทาง

นอกจากนี้ คุณยังต้องมีโปรแกมระยะยาว ที่มีความผูกพันต่อเนื่อง และมีผลพวงที่เป็นรูปธรรม  คุณจะไปเที่ยวทำโครงการป่าไม้ที่นี่ และโครงการอื่นที่นั่น ฯลฯ ไม่ได้   คุณจะต้องหาพื้นที่หนึ่งๆ และบอกว่า ฉันจะทุ่มเทให้กับพื้นที่นี้ และจะทำโปรแกมระยะยาว

Dt/8-3-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น