วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ขับเคลื่อนเรื่องคนไทยย้ายถิ่นข้ามแดน

 3-25-11
สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตแบ่งปันข่าวคราว จากการไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง สถานการณ์คนไทยในต่างประเทศ และคนไทยคืนถิ่น: ยุทธศาสตร์ แนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือ ในวันที่ 24-25 มีค ที่ ดร.พัทยา เรือนแก้ว ได้เป็นหัวหอกในการจัด และได้รับความสนับสนุนจากกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ

การประชุมครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากหลายภาตส่วน ภาครัฐ (กระทรวงการต่างประเทศ มท  พม  สาธารณสุข  แรงงาน อัยการสูงสุด) ภาคประชาชน (เอ็นจีโอไทย  ชุมชนช่วยไทยในต่างแดนญี่ปุ่น เบอร์ลิน ยุโรปและชมรม/กลุ่ม คนไทยคืนถิ่นประเด็นต่างๆ กัน) วิชาการ (ศูนย์วิจัยอพยพ จุฬาฯ) สื่อ (ไทยรัฐ สกุลไทย คู่สร้าง คู่สม) ผู้ร่วมประชุมในวันแรก ประมาณ 60 คน เป็นหญิงประมาณ 80%

ก่อนหน้านี้ การประชุม คนไทยย้ายถิ่น ในวันที่ 16 มีค ที่จัดโดยชุมชนเอพีไอ ซึ่งคุณพัทยา เป็นแกนหลักหนึ่ง ก็เป็นการเปิดประเด็นในระดับหนึ่ง  ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ที่มีความชำนาญและมีอำนาจตัดสินใจ

หลังจากผู้แทนจากฝ่ายผู้ย้ายถิ่นและทำงานกับคนไทยย้ายถิ่นในต่างแดน และในไทย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสภาพปัญหาในประเทศต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และวิชาการ ก็ได้นำเสนอแนวทาง นโยบายที่มีอยู่ ที่ได้ปรับปรุง  ตลอดจนข้อจำกัดของระบบราชการ  มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง

ในการเสวนาช่วงบ่าย พม ได้นำเสนอ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ: คนไทยในต่างประเทศ (โดย คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ: กลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ในคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  คกก ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ)   เพื่อขับเคลื่อน นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (สนง ปลัด พม) พ.ศ. 2552

ส่วนผู้แทน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอ (ร่าง) พรบ บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ พ.ศ. ... ซึ่งได้เสนอสู่วาระในรัฐสภา ในกพ 2554

ทั้งสองร่าง ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมว่า อาจเป็นทางแก้ไขเชิงนโยบายอย่างหนึ่ง

วัคถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ นอกจากเปิดประเด็น (รวมทั้งใช้คำว่า คนไทยย้ายถิ่น ซึ่งครอบคลุมมากกว่าเพียง แรงงาน หรือ เหยื่อค้ามนุษย์) ก็ต้องการหาเจ้าภาพ เพื่อประสานงานจัดทำโครงการบูรณาการนโยบายและความช่วยเหลือ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนไทยในต่างแดน (หรือ คนไทยข้ามแดน เพราะรวมถึงคนไทยคืนถิ่นด้วย)  กิจกรรมช่วยเหลือเหล่านี้ ชุมชนคนไทยในต่างแดน เช่น ยุโรป และญี่ปุ่นได้ริเริ่มไว้แล้ว  การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นเครือข่าย พร้อมทั้งเก็บข้อมูล มากว่า 2 ทศวรรษ เป็นจุดแข็งของการขับเคลื่อนนี้

ที่ประชุมได้สรุปด้วยการรวมตัวเป็น คณะทำงานคุ้มครองสิทธิ์คนไทยในต่างแดน (หรือ ข้ามแดน???  Trans-bordered Thai Rights Protection Working Group, TTRP-WG??? ชื่อภาษาอังกฤษนี้ ดิฉันลองตั้งเอง ณ ที่นี้) ทั้งหมดประมาณ 20 คน โดยคุณสารภี ศิลา ผอ. สน มาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับอาสาเป็นเจ้าภาพ ทั้งในฐานะส่วนตัว และฐานะ ผอ.  (ในวันแรก คุณสุภาวดี นวลมณี กรมสุขภาพจิต ได้รับอาสาเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่สามารถมาร่วมในวันที่สอง ที่มีการสรุปแผนปฏิบัติการ)  คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผอ. โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) ได้อาสา เป็นเจ้าภาพร่วมฝ่าย ภาคประชาสังคม  ส่วนคุณดำริ (?) จากไทยรัฐ ผู้ได้ปราวาณาตัวกับประเด็นนี้มานาน ก็ได้ย้ำความตั้งใจด้วยการนำเสนอการประชุมครั้งนี้เป็นข่าวด่วน

เพื่อเดินหน้า คุณสารภี ได้นัดประชุม คณะทำงาน เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการระยะสั้นและระยะยาว ในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน ที่บ้านราชวิถี โดยจะส่งจดหมายเชิญและรายละเอียดตามมาไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม

ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนท่าน หรือองค์กรที่มีความสนใจในการผลักดันประเด็นสิทธิคนไทยข้ามแดนดังกล่าว ให้ติดต่อโดยตรงไปได้ที่

ผอ. สารภี ศิลา nongsarapee@gmail.com,
ดร. พัทยา เรือนแก้ว pataya.api@gmx.com,

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

นับถือ
ดรุณี ตันติวิรมานนท์
ศูนย์วิจัยวารี (เอพีไอ รุ่น 2)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น