วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

UPR และ CHRC หรือ สสปท

3-26-11
สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตแบ่งปันข่าวและความเห็นจากการเข้าร่วมประชุมย่อยของคณะทำงานฯ ที่จัดขึ้นบ่ายวันนี้ ที่ สนค เพื่อต่อยอดกระบวนการร่างรายงาน UPR (ทุกๆ 4 ปี) และใช้รายงาน UPR (ที่ได้ส่งไปแล้ว) เพื่อเสริมศักยภาพของภาคประชาสังคม ให้สอดคล้องกับฤดูกาลปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินอยู่

เนื่องจากองค์กรสมาชิก สสปท (สหองค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม ประเทศไทย หรือ Civil Society and Human Rights Coalition, CHRC) ส่วนใหญ่ติดภาระด่วน จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมได้เพียง 4 คน  ถึงกระนั้น ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนตามวาระที่คุณบุญแทน ได้ตั้งโจทย์ไว้  คือ

1.       การเตรียมกระบวนการรณรงค์ เพื่อรองรับการประชุมครั้งที่ 12 ที่เจนีวา ในรอบของรัฐบาลไทย (2-14 ตุลาคม)
2.       การใช้รายงานของ สสปท ให้เป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการเรียนรู้ ของสังคมไทย เพื่อการปรับกลไกภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรม--ให้สอดคล้อง และเท่าทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

การรณรงค์
ที่ประชุมได้รับทราบว่า มีสถานทูตหลายแห่ง และองค์กรนานาชาติ ที่ให้ความสนใจกับรายงานของ สสปท  จึงเห็นร่วมกันว่า สมควรจะจัดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ และให้ผู้แทนที่ร่วมร่างในประเด็นต่างๆ ได้มาร่วมแถลงด้วย

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบัน จะได้ประกาศว่า จะยุบสภาในต้นพฤษภาคม  ที่ประชุมเห็นว่า สมควรจะมีการมอบรายงานฉบับนี้ต่อรัฐบาล  ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ต้องเคารพเสียงสะท้อนของภาคประชาสังคม ดังปรากฏในรายงานของ สสปท ฉบับนี้

การใช้รายงาน สสปท
ครส ซึ่งเป็นแกนนำในการเขียนรายงานครั้งนี้ ได้แจกรายงาน (ทางการ) 2 ฉบับ คือ

1.       รายงานคู่ขนาน การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตามกระบวนการ Universal Periodic Review” โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) (5 หน้า)
2.       “A Universal Periodic Review of Thailand for the 12th Session of Universal Periodic Review on October 2-14, 2011” by CHRC (สสปท) (10 หน้า)

ที่ประชุมเห็นด้วยกับการจัดพิมพ์ รายงานของ สสปท (#2) ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ให้เป็นรูปเล่ม เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน

ที่ประชุมมีความกังวลถึงภาวะ ถอดใจ ของประชาชนไทย ซึ่งแสดงออกในคำพูดหนาหู ในทุกที่ ว่า  ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป  นี่น่าจะเป็นการสะท้อนถึงความเสื่อมศรัทธาของมวลชน ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย  กลไกรัฐไทย และการใช้อำนาจรัฐโดยเจ้าหน้าที่ไทย  ซึ่งดูเหมือนจะมีการบิดเบือนและเบียดบังใช้อำนาจ เพื่อ สร้างความชอบธรรม แก่พฤติกรรมที่ ไม่เป็นธรรม ของผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจ  แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องและบริการประชาชน กลับเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวถ่ายเดียว ตั้งแต่นักการเมืองจนถึงเจ้าหน้าที่รักษาความสงบต่างๆ 

เช่น ผังเมืองสำหรับปี 2600 ถูกสั่งการโดยนักการเมือง ว. เมื่อหลายปีก่อนในขณะเรืองอำนาจ (ชั่วคราว) และ ว. เป็นประธาน (ระยะยาว) ของ (อาณา)นิคมอุตสาหกรรม อ. 

ในขณะที่นักการเมืองใช้อภิสิทธิ์ เช่น การให้ลูกหลานของตนเข้ารับการอบรม/เรียน (ฟรี) ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ทั้งๆ ที่ตนมีกำลังเกินพอที่จะส่งเสียลูกหลานของตน กลับยัดเยียดให้ลูกหลานของตนมาใช้ภาษีของประชาชน (ส่วนใหญ่ยังด้อยโอกาส)  ส่วนตำรวจผู้รักษาสันติราษฎร์ ก็ตกเป็นจำเลยของประชาชน จนเกือบ 100% ที่ปรากฏในรายงานของ สสปท เป็นภาพสะท้อนความทุกข์ของพลเมืองอันเกิดจาก วัฒนธรรมตำรวจ

ถึงอย่างไร ที่ประชุมเห็นว่า ข้าราชการที่ดีๆ ก็ยังมีอยู่ แต่อาจก้าวหน้าไม่เร็วพอ  ในขณะที่ ระบบราชการเอง กำลังถูกทำให้หดตัวลง (ในบางส่วน) น่าที่ภาคประชาสังคมจะใช้รายงาน สสปท นี้ เป็นเครื่องมือช่วยทำให้ ระบบราชการไทย มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น ให้ข้าราชการดีๆ มีกำลังใจทำงานให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  เพื่อจะได้เรียกคืนศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชน พลเมืองไทยอีกครั้ง

ที่ประชุมจึงเห็นว่า  ครั้งต่อไป แทนที่จะจัดการประชุมเพื่อเตรียมแผนปฏิบัติการอย่างเดียว  ก็น่าจะขยายเวลา ให้มีเสวนานำ ในหัวข้อ วัฒนธรรมตำรวจไทยกับกระบวนการยุติธรรม  ในการเสวนานี้ จะมีการนำเสนอกรณีศึกษาของระบบรักษาสันติราษฎร์ของฟินแลนด์ ซึ่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มทุน

มีการแจ้งต่อที่ประชุมว่า กระทรวง พม ได้จัดทำ นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (โดย สนง คกก ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ  สนง ปลัด พม) พ.ศ. 2552  และมีงบสนับสนุนการเสริมสร้างพลังประชาสังคม  กิจกรรมที่ สสปท วางแผนไว้นี้ น่าจะเข้าข่ายเรื่องการสร้างพลังประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในวิถีประชาธิปไตย

ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนให้ท่านที่สนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดไปได้ที่ คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ verawongse@gmail.com  เลขาธิการ คกก รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส)

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดพิจารณาให้ความร่วมมือ

นับถือ
ดรุณี ตันติวิรมานนท์
เอพีไอ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น