วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัย: แหล่งผลิต บัณฑิตตื่นรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญลืมตน

เรียบเรียงดัดแปลงจากคำบรรยาย วิจารณ์และเสนอแนะ ของ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ในเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ การสร้างภาพจำลองสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี: การพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย จัดโดย สำนักอิสระเพื่อศึกษาและวิจัยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี (School for Wellbeing Studies and Research), 11 พ.ย. 2553

น้ำท่วมใหญ่ กับ มหาวิทยาลัย

                ในช่วงเวลาเดือนกว่าที่ผ่านมา ธรรมชาติได้เผยสัจธรรมที่ท้าทายความเป็น อุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัย
น้ำหลาก น้ำท่วม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติตามฤดูกาลในผืนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่โบราณกาล  แต่ความทุกข์เข็ญแสนสาหัสที่เกิดขึ้นจากมหาอุทุกภัยในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะป่าที่ทำหน้าที่กักซับน้ำ ได้หดหายไป หรือกลายเป็นสวนพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว  (เช่น ยางพารา)   ส่วนที่สอง เพราะการขยายตัวของเมืองและการสร้างถนน ได้ขวางทางไหลของน้ำหลาก    และส่วนที่สาม เพราะภาวะโลกร้อนอันเป็นผลจากการขยายตัวเศรษฐกิจที่ใช้จีดีพีเป็นดัชนีชี้วัด ทำให้น้ำทะเลมากเกินปกติ  หนุนตีกลับไม่ยอมให้น้ำหลากลงทะเลได้ง่าย เช่นเดิม   ทั้งสามประการนี้  เป็นผลงานของฝีมือและมันสมองของมนุษย์ ที่เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
                มนุษย์พัฒนาความรู้ (สมองและฝีมือ) สร้างเทคโนโลยีที่ฝืนธรรมชาติ และขวางวิถีธรรมชาติ  ในส่วนหนึ่ง ได้สร้างความก้าวหน้า และช่วยให้แก่ผู้คนได้ อยู่ดีกินดี ขึ้น   แต่เราไม่เคยกังวลหรือคิดถึงราคาที่เราต้องจ่ายคืนธรรมชาติ เพื่อแลกกับความก้าวหน้าอันเร่งรีบนี้     ในขณะเดียวกัน ความอยู่ดีกินดีและสะดวกสบาย ก็ทำให้คนลืมตัว ลืมความหมายของชีวิต และลืมความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติ ต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ และต่อตนเอง
                มหาวิทยาลัย ได้ช่วยให้เราเข้าใจ หรือ ลืมเป้าหมายของ ความเป็นคน?      มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา  หรือ ยังเป็นดวงประทีปที่ช่วยส่องทางให้คนสามารถผันวิกฤตทั้งหลายที่กำลังอุบัติขึ้นให้เป็นโอกาส?  โอกาสของอะไร? ของใคร?

อุดมศึกษา และ ระบบความรู้ ของมหาวิทยาลัย
ปัญหาทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความโลภ     ความโลภไม่รู้ผิด รู้ถูก  ขอให้ได้มากๆไว้ก่อน  ให้เป็นผู้ถึงหลักชัยก่อนคนอื่นก็พอใจแล้ว
                ถึงยุควิกฤตนี้ เราน่าจะหันมาทบทวนว่า มหาวิทยาลัย ยังเป็นกลไกที่ช่วยให้เราตื่นรู้มากขึ้นหรือยิ่งสับสน?  เรามักจะนึกว่า มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมของปัญญา    แต่ทุกวันนี้ ระบบความรู้ในมหาวิทยาลัยเอง อาจเป็นสิ่งกีดขวางการพัฒนาความเป็นมนุษย์ หรือสร้างปัญญาชนที่แท้จริง
                พอพูดถึง ความรู้ เรามักจะนิยามว่าเป็นผลจากการทำวิจัย โดยนักวิชาการในแวดวงมหาวิทยาลัย แต่อันที่จริง ภาคส่วนอื่น รวมทั้งภาคประชาสังคมก็มีความรู้ และสร้างความรู้ได้    มหาวิทยาลัยไม่ใช่เจ้าของหรือสถาบันผูกขาดทางความรู้
                ในโลกของดัชนีชี้วัดทุกวันนี้  มหาวิทยาลัยก็ถูกวัดเช่นกันด้วยกฎเกณฑ์นานาชาติ ว่าใครจะเป็นสุดยอดของ Center of Excellence ระดับโลก   โดยผิวเผิน ดัชนีนี้เป็นประโยชน์เชิงข้อมูลสำหรับการลงทุน นั่นคือ  ผู้บริโภค / นักศึกษา จะได้เลือก ลงทุน ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยรักษา คุณภาพ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการแข่งขันในโลก เพราะมหาวิทยาลัยได้ถูกผลักให้อยู่นอกระบบ นั่นคือ จะต้องปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่พึ่งตนเองได้    มหาวิทยาลัย จึงต้องขยับตัวเป็น ห้างสรรพสินค้าเชิงวิชาชีพ เพื่อความอยู่รอด
ตัวแปรหนึ่งของดัชนี ความดีเลิศ ของมหาวิทยาลัย คือ ภูมิปัญญาของคณาจารย์ โดยวัดจากปริมาณผลงานตีพิมพ์ มากกว่าประเมินคุณภาพผลงานว่าได้ทำอะไรให้สังคมให้เกิดความตื่นรู้แค่ไหน อย่างไร     ผลลัพธ์ คือ ช่องว่างระหว่างความรู้ที่สร้างขึ้นในสถาบัน กับความรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ... สู่ความตื่นรู้   
ภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ คือ เป็นแหล่ง อุดมไปด้วยทรัพยากร คือ สูตรวิชาความรู้ ในการหารายได้  เป็นแหล่งประศาสน์หลากหลายปริญญา อันเป็นกุญแจสำคัญสู่ งานเบาเงินมาก ที่นักศึกษา / ผู้ลงทุน จ่ายครบจบแน่    เราได้สร้าง ระบบความรู้ ที่เกาะติดกับ เกียรติภูมิสถาบัน และ ให้ความสำคัญต่อพิธีการรับปริญญา มากกว่ากระบวนการเรียนรู้และอิสรภาพในการเลือกหรือแสวงหาความรู้   ในที่สุด มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นเขื่อนขวางกั้นกระแสการตื่นรู้  เพียงเพื่อให้บริการแก่ผู้สามารถลงทุนเพื่อให้เป็นบัณฑิต
                แม้จะมีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต้องร่วมทุกข์กับภาคส่วนอื่นๆ แต่นักศึกษารุ่นใหม่จะได้ตื่นรู้ไหม ในกับดักวงจรผลิตซ้ำโครงสร้างอันทรงเกียรติภูมินี้?
อุทุกภัยน้ำท่วมประวัติศาสตร์ในปีนี้ เราเห็นไหมว่าเราเป็นต้นเหตุ คือไปสร้างเมือง สร้างถนน ขวางทางน้ำไหล ด้วยการยกพื้นถนนให้สูงขึ้น  นี่เป็นผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย  ในสาขาวิชา เช่น สถาปัตย์  วิศวกรรม  เศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจและการพาณิชย์ เป็นต้น

โจทย์ของการแสวงหาดัชนีสร้างความรู้ หรือตื่นรู้?
ในท่ามกลางวิกฤตทั้งการเมือง การเงิน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  งานวิจัยที่แสวงหาดัชนีเพื่อสร้างความเข้มแข็งก็มีมากมาย  แต่ดัชนีที่เราแสวงหาอยู่ ต้องตอบคำถามเหล่านี้ก่อน เช่น โจทย์ถามอะไร?  โจทย์ของใคร?   ใครเป็นคนนิยาม ความเข้มแข็ง?  เข้มแข็งของใคร?   ถ้าคนอื่นๆ อยากได้มั่ง จะยอมให้ได้ไหม?   แล้วจะใช้วิธีไหนวัด? อย่างไร?
                โจทย์วิจัย มีความหมายหลายระดับ เกี่ยวพันกับหลากหลายกลุ่มในสังคม ไม่สามารถแยกขาดออกจากโครงสร้างที่ครอบงำอยู่
ความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างระบบสื่อสารภายใน  แต่กระแสหลักยังไม่เอื้อ  
ที่สำคัญ คือ สถานภาพของความรู้     ความรู้ไม่ใช่เครื่องมือ  สินค้า หรือสูตรสำเร็จ  แต่เป็นเสมือนดวงประทีปส่องทางให้เกิดความตื่นรู้ และการดำเนินชีวิตที่พึ่งพิงอิงอาศัยกันได้อย่างไม่เบียดเบียนกัน   แต่ถ้าเรามองสรรพสิ่งรอบกายว่า เป็นของเรา เรามีความรู้ มีเครื่องมือตักตวงใช้ประโยชน์เพื่อความก้าวหน้าของตัวเราได้  เราก็ตกอยู่ในกับดักของความอหังการ์ คือ การติดยึดถือ ความเป็นเจ้าของ หรือ การถือสิทธิ์
                เมื่อทั่วโลกมองดัชนีและความรู้เป็นเพียงเครื่องมือ ก็ลืมความสัมพันธ์ เพราะเครื่องมือบอดมิติมนุษย์  การวิจัยที่บอดมิติของคน จึงนำไปสู่ความก้าวหน้าทาง ความรู้ และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่ผลระยะยาว คือ การล่มสลายของครอบครัว  เปิดช่องโหว่ให้โกงกินระดับชาติอย่างมโหฬาร   ความโอหังในการเป็นเจ้าของวิชาความรู้ ทำให้เราลืมไปว่า มนุษย์ต้อง อิงอาศัยกัน    ดัชนีความเจริญต่างๆ  ทำให้เราลืมว่าเราสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะเราถูกกระตุ้นให้แข่งกัน ให้ดีใจที่อยู่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่เราอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงเดียวกัน
                ความเป็นธรรม มีปฏิสัมพันธ์กับการตื่นรู้    เมื่อผู้วิจัยมีมิติคน ก็ย่อมเห็นความทุกข์ของผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท   จึงเกิดเป็นกระบวนการวิจัยที่มีเป้าหมายเชื่อมเมืองกับชนบท     แต่การเสริมความเข้มแข็งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง   ถ้ามองให้ลึก  การเน้นที่สร้างความเข้มแข็ง อาจมีกับดัก คือ เอาคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นศูนย์กลาง อันนี้จะนำไปสู่การยึดอัตตา  ก็จะกลายเป็นลดความเข้มแข็งของสังคมได้  ยกตัวอย่าง เช่น คำขวัญ ความเป็นไทยไม่ทอดทิ้งกัน หมายถึง ถ้าเป็นคนอื่นไม่ใช่คนไทย เราก็ไม่สนใจ หรือ เกิดความรู้สึกชาตินิยมว่า เราเป็นไทยวิเศษกว่าเพื่อนบ้าน เป็นต้น  
การจัดลำดับความสำคัญเช่นนี้ ก็เป็นกับดักของอวิชชา ให้เกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง

กรุงเทพฯ รูปธรรมของความแปลกแยก
                น้ำท่วมปีนี้ กรุงเทพฯ แสดงออกถึงความไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง กว่าปีอื่น        กรุงเทพฯ ถมคลอง ผันน้ำ  ทำถนน  ท่าอากาศยานในแก้มลิง ฯลฯ  ได้กระทำวิบากต่อธรรมชาติมากกว่าจังหวัดอื่นๆ  จึงสมควรจะน้ำท่วมมากที่สุด แต่กลับแห้งสนิท เพราะมีอำนาจว่าจ้างบัณฑิตให้ใช้วิทยาการเป็นเครื่องมือสกัดกั้นน้ำ ผลคือจังหวัดข้างเคียงต้องจมทุกข์ในน้ำท่วม น้ำขัง และน้ำเน่า เป็นเวลายาวนานขึ้น
ด้วยการใช้ความรู้เป็นสินค้า เครื่องมือ และอาวุธ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของคนกลุ่มหนึ่ง และผลักภาระวิบากให้อีกกลุ่มหนึ่งแบกหาม ทำให้ผู้ลงทุน ผู้ได้เปรียบ ผู้ เข้มแข็ง ได้ใช้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเป็นกระดานกระดก  ซึ่งได้รับการยอมรับว่า สอดคล้องกับนโยบายของชาติในการแข่งขันในเวทีโลก  นี่เป็นวิธีที่ทุกคนคุ้นเคยมากว่ากึ่งศตวรรษ  
เราจะต้องทำอย่างไร ให้หลุดจากกับดักตอกย้ำอัตตาดังกล่าว ที่ทำให้การพัฒนาเกิดความแปลกแยก ในนามของความเข้มแข็ง แต่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม

-ดรุณี ตันติวิรมานนท์
11-16-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น