วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ดัชนีสุขภาวะ ... จากภายในสู่ภายนอก

เรียบเรียงจากคำบรรยาย วิจารณ์และเสนอแนะ ของ ภิกษุณีธัมมนันทา ในเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ การสร้างภาพจำลองสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี: การพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทย จัดโดย สำนักอิสระเพื่อศึกษาและวิจัยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี (School for Wellbeing Studies and Research), 11 พ.ย. 2553

ดัชนีชี้วัด และการแสวงหาสังคมที่ดี

                ทุกวันนี้ เราจะได้ยินคนพูดถึงดัชนีชี้วัดสุขภาวะกันอย่างแพร่หลาย ทำให้เราคิดว่า สุขภาวะเป็นสิ่งที่ เข้าถึง ได้ และสังคมต้องเป็น ผู้ให้ จนเราลืมส่องดูภาวะภายในของตนเอง  ทำไมเราจึงเป็นสุข? เป็นทุกข์?  และความสุขมาจากไหน?

มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่ระดับจิตใจ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการ อิงอาศัยกัน  คำว่า มนุษย์ มาจากการสมาสคำสันสกฤตสองคำ มน + “อุษย หมายถึง สัตว์จิตใจสูง
ภาษาไทยเราเรียกชื่อคน ด้วยคำนำหน้า คุณ หมายถึง คุณสมบัติที่ดีของบุคคลที่เราพูดด้วยหรือกล่าวถึง เป็นการเตือนให้ระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องมีจิตใจสูง ต้องมีคุณงามความดี อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูแลให้สังคมมีคุณธรรม

สังคมที่ดี คนมีชีวิตที่มีความหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น
แต่สังคมมีคนหลากหลาย ต่างคนต่างความคิด มีวิถีหาเลี้ยงชีพ ความพึงพอใจในการดำรงชีวิตต่างกัน สังคมดีแค่ไหน ไม่ใช่วัดกันได้ง่ายๆ ด้วยจำนวนเงินที่หาได้   ความคิดของแต่ละคนมีความสำคัญ เพราะมันทำให้คนแสดงออกทางกายและวาจาต่างกัน  สังคมจึงต้องมีภาพของเป้าหมายชีวิตร่วมกัน และมีปัจจัยเอื้อให้ทุกคนหันหน้าสู่กัน ร่วมมือดูแลกันให้เป็นสังคมที่ดี
สังคมประกอบด้วยครอบครัว   ครอบครัวดำรงอยู่ได้ด้วย การอิงอาศัยกัน เพราะภาระสมาชิกแต่ละคนต่างกัน เปรียบเหมือนมือของเรามี 5 นิ้ว  ถ้านิ้วหัวแม่มือ บอกว่า ฉันใหญ่ที่สุด ฉันเป็นที่หนึ่ง  นิ้วชี้เถียงว่า ฉันแน่ที่สุด จะทำอะไร ต้องให้ฉันชี้บอก  นิ้วกลางแย้งว่า ฉันสูงที่สุด จึงสำคัญกว่าใคร  นิ้วนางอ้างว่า ฉันมีค่าที่สุด เพราะฉันสวมแหวนเพชร  ส่วนนิ้วก้อยเอ่ยว่า ฉันดีที่สุด เวลาไหว้พระ ฉันอยู่ใกล้พระที่สุด   ถ้าแต่ละนิ้วถือดี ไม่ร่วมมือกัน มือก็ทำงานไม่ได้   มือที่สมบูรณ์จะต้องมีทุกนิ้วประสานหน้าที่กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต
อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายของมนุษย์มี 2 ระดับ ระดับแรกเป็นการตอบสนองปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ด้วยการหาเลี้ยงชีพ ส่วนระดับที่สองเป็นการตอบสนองความใฝ่แสวงหาความหมายของชีวิตเชิงปรัชญาและจิตวิญญาณ ที่ต้องถามผู้รู้

จิตมนุษย์ และความสุข
ไม่ว่าจะเป็นระดับใด ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความสุข 
แต่ความสุขมาจากไหน?
คนรวยแล้ว ก็ยังไม่พบความสุข กลับร้อนเร่า ทุรนทุรายขวนขวายหาเงินเพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ความร่ำรวยจึงเป็นเป้าหมายไม่ได้   ส่วนคนจนเองก็อยากรวยเช่นกัน  พอรวยแล้วก็ตกอยู่ในบ่วง กิน-กาม-เกียรติ ด้วยหลงเชื่อว่า เงินจะบันดาลความสุขให้ได้
มนุษย์เราประกอบด้วย กายและจิต  กายไม่ใช่จิต และจิตก็ไม่ใช่กาย จิตอยู่ไม่นิ่ง ดิ้นรนแสวงหาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้วิธีฝึกและบริหารจิต  เพราะจิตสัมพันธ์กับวิธีคิดของเรา
ถ้าเราคิดให้เป็นสุข จิตก็จะรู้สึกเพียงพอ แผ่ขยายออกจากภายในสู่ภายนอก ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างคน สังคม บ้านเมือง และสิ่งแวดล้อม    คนเราจะมีความสุขเพียงเฉพาะตนไม่ได้ เพราะสังคมมนุษย์ต้อง อิงอาศัยกัน  เราจะยังคงรู้สึกเป็นสุขอยู่ได้อย่างไร ถ้าเห็นคนรอบข้างของเรายังจมอยู่ในความทุกข์?

ปัจเจกจิตตื่นรู้ สู่สังคมโดยรวมให้อยู่ดีมีสุข
เราต้องปรับความเข้าใจถึงธรรมชาติของตนเองเสียใหม่  เรามักจะมีความคิดที่ผิดว่า เราอยู่ตามลำพังได้  เพราะเรามีปริญญา มีการศึกษาสูง มีเงินมากมาย ไม่ต้องพึ่งใครทั้งนั้น หรือมีความคิดว่า ข้าแน่   นี่เป็นความอหังการ์ ที่ยึดมั่นถือมั่นในกายเนื้อของตน 
จิตหรือวิธีคิดเช่นนี้แหละ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
กายของเราประกอบด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  เมื่อธาตุทั้งสี่สมดุล ร่วมมือกันดี เราก็แข็งแรง เป็นปกติสุข  แต่เมื่อไร ธาตุทั้งสี่ขัดแย้ง ไม่ปรองดองกัน เราก็ล้มป่วย  ลมมากไปก็จุกเสียด  ไฟมากไปก็เป็นไข้ ฯลฯ  ความอหังการ์ ยโส โอหังของเรา มีผลต่อความสมดุลของธาตุทั้งสี่  ถ้าลมไม่มา ชีวิตก็จบ   เวลาเราโกรธ เกลียดใครมากๆ ขอให้ระลึกไว้ว่า ในที่สุด ทั้งเราและเขาก็ต้องจบเมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งแตกดับ

จริยธรรมผู้นำและอาเพศพิบัติ
                ในขณะที่สภาวะจิตมีผลต่อความสมดุลของธาตุทั้งสี่ในเจ้าตัวแต่ละคน   ฤดูกาลธรรมชาติก็มีความสัมพันธ์กับสภาวะจริยธรรมของผู้นำในสังคม ในศาสนาพุทธ ได้แสดงให้เห็นว่า จริยธรรมของนักปกครอง มีผลกระทบต่อธรรมชาติโดยตรง เช่น คำสอนที่ว่า ถ้าผู้นำในสมัยโบราณ คือ พระราชา แต่ยุคนี้ คือ ผู้นำประเทศและสังคมในระดับต่างๆไม่เที่ยงธรรม ดวงอาทิตย์จะเพิ่มเป็นเจ็ดดวง น้ำจะท่วมโลก ฯลฯ
ทางออกสำหรับวิกฤตการณ์ทั้งปวงในปัจจุบัน คือ มนุษย์ต้องหยุด แล้วหันมาทำความเข้าใจกับปัจจัยที่ครอบงำจิต และสภาวะของจิต แล้วละการกระทำ (ทางกาย วาจา ใจ) ที่เร่าร้อนเหล่านั้น  เราต้องปรับฐานคิดใหม่ ทำให้น้อยลง เช่น ไม่กระตุ้นฝืนธรรมชาติ บีบบังคับให้เศรษฐกิจบวมโต ควรให้ทุกอย่างมีโอกาสเติบโตตามธรรมชาติ   เมื่อเราใช้น้อยลง ก็ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินมากๆ เพื่อซื้อให้มากๆ จนลืมความหมายและเป้าหมายของการมีชีวิตในโลกนี้ หรือ สร้างทุกข์ให้แก่ตนและผู้อื่น

ควาสุขของลูกเศรษฐี
                เศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกชายอายุ 5 ขวบ  เศรษฐีผู้พ่อ ต้องการให้การศึกษาทางเลือกกับลูกชาย จึงนำไปฝากให้ครอบครัวชาวนาเลี้ยงดู ด้วยหวังว่าลูกชายจะเกิดความขยาดกลัวต่อความลำบากและความยากจน จะได้เกิดความกระตือรือร้น กลับมาช่วยทำงานหาเงินเหมือนตน
                แต่พอลูกชายกลับมาบ้าน กลับชี้ทางให้พ่อเห็นว่า

ชีวิตของชาวนามีความหมายมากกว่า ได้ทำงานในทุ่งกว้าง
เมื่อเทียบกับชีวิตของพ่อเศรษฐีที่ต้องนั่งขลุกอยู่แต่ในห้องแคบๆ
ลูกชาวนาจะกอดพ่อแน่น เมื่อพ่อชาวนาขี่รถจักรยานพาลูกไปโรงเรียน ระหว่างทาง ต้องจอดพักรอไฟแดง พ่อชาวนาก็จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ลูกฟัง
เมื่อเทียบกับตนซึ่งนั่งรถเบนซ์คันใหญ่ตามลำพัง คุยกับใครก็ไม่ได้ ช่างแห้งแล้ง ไร้ความหมาย
เวลากินข้าว ครอบครัวชาวนาก็จะนั่งกินพร้อมหน้ากันที่หลังกระท่อมท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ กับข้าวมีปลาเพียงตัวเดียว พ่อแกะเนื้อแบ่งให้แม่และลูกกิน ช่างอบอุ่น มีความสุข
ส่วนตนเองที่เป็นลูกเศรษฐี กลับนั่งเดียวดาย บนโต๊ะใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาหารมากมาย

ลูกเศรษฐีบอกพ่อว่า ครอบครัวชาวนาแม้ยากจน ก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีความรักและความอบอุ่น ที่พ่อเศรษฐีไม่เคยให้ตน
                ชีวิตคนมีวันสิ้นสุด เราพึงฝึกจิตให้คิดและแสดงออกทางกายพฤติกรรมและการกระทำ--สู่ความสมดุล  เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้นำพาให้คนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นมาก  เทคโนโลยี จึงควรจะบันดาลชีวิตใหม่ที่มีความอยู่ดีมีสุขแก่มวลมนุษย์ได้ ถ้าเพียงแต่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงสามารถพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมดุล รู้จักใช้เทคโนโลยีในการคัดกรอง จัดสรรสิ่งที่ดี ... แก่ชีวิต


-ดรุณี ตันติวิรมานนท์
11-16-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น