วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"เราไม่ใช่โจรห้าร้อย" ผู้นำหญิงชุมชนปัตตานีประกาศต่อชาวไทย

รายงานการร่วมกิจกรรม

10 ปีเอพีไอ: เชื่อมความรู้ ... สู่สาธารณะ
เวที 1: วิดฤตชายแดนภาคใต้
มอ.  วิทยาเขตปัตตานี
15-16 กค 2553

โดย ดรุณี ตันติวิรมานนท์ (รุ่น 2)
วงสนทนา ผู้หญิงกับการอยู่รอดท่ามกลางความรุนแรงทางอาวุธ กรณีกรือแซะ

กรอบการพูดคุย และประเด็นปัญหา
ดิฉันต้องการให้เกิดบรรยากาศที่แม่บ้านเปิดใจ พูดถึงปัญหาที่ตนห่วงใย เป็นการช่วยให้เราจัดลำดับประเด็นได้ โดยไม่ต้องมีการชี้นำ หรือให้ความหวังว่าจะเอาอะไรมาช่วยเขา    เรานั่งเป็นวงกลมสนทนากัน ดิฉันได้แนะนำตัวเองว่าเป็น ปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งสำหรับตัวเอง คือ เป็นคนที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้เห็นจากโลกกว้างข้างนอก ข้างบนมามาก แต่ไม่เคยรู้เรื่อง ความคิด ความรู้สึกของชาวบ้านที่นี่  เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า แม่บ้านมีปัญหากลุ้มใจอะไร หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ หลายปีมาจนถึงวันนี้  คุณกัณณิกา และคุณยุวดี ได้ช่วยกันหยอดคำถามชวนคุย แม่บ้านจึงค่อยๆ เอ่ยถึงปัญหาต่างๆ  ซึ่งดิฉันได้จัดเป็นหมวดหมู่ตามลำดับเวลา (พอประมาณ) ที่แม่บ้านเอ่ยขึ้นมา

1.       เยาวชน ลูกหลาน
a.       การศึกษา
                                                               i.      ไม่มีทุนเรียนต่อ
                                                             ii.      เรียนดีแต่เข้ามหาวิทยาลัยเรียนวิชาที่ตั้งใจไว้ (อิเล็คโทรนิคสารสนเทศ) ไม่ได้ เพราะชื่อหาย (ตอนประกาศครั้งแรกในอินเตอร์เน็ต มีชื่อของลูก แต่ต่อมาชื่อหายไป) จึงไปเรียนพลศึกษาแทน (แม่บ้านบอกว่า ไม่รู้จะไปฟ้องใคร แต่ก็คิดว่าเราไม่มีเส้น ทำอะไรไม่ได้)
b.       ยาเสพติด
                                                               i.      เยาวชนติดกระท่อม ป6 ก็เริ่มแล้ว
                                                             ii.      ยาบ้าเริ่มเข้า
                                                            iii.      วัยรุ่นตีกันมีมั่ง
2.       วางแผนครอบครัว
a.       แม่บ้านมุสลิมคนหนึ่งพูดว่า อิจฉาชาวพุทธคุมกำเนิดได้
b.       อีกคนหนึ่ง (มุสลิม) บอกว่าคุยกับสามีได้ถึงการคุมกำเนิด
3.       ผลกระทบจากเหตุการณ์ 28 เมษายน
a.       แม่หม้าย และเมียน้อย
                                                               i.      แม่บ้านคนหนึ่งเล่าว่ามีเพื่อนเป็นแม่หม้ายที่สามีตายในเหตุการณ์  พอมีมือถือ ก็เปลี่ยนจากการเป็นคนเงียบๆ เป็น...(จำไม่ได้)...ติดต่อพูดคุยกับผู้ชาย  มือถือได้กลายเป็นช่องทางให้ติดต่อแต่งงานใหม่
                                                             ii.      แม่หม้ายบางคน ขอสมัคร เป็นเมียน้อยของชายที่แต่งงานแล้วในหมู่บ้านเดียวกัน หรือรู้จักกัน (แม่บ้านมุสลิมได้ตีความในคัมภีร์ว่า ชายที่รับแม่หม้ายเป็นภรรยาน้อย จะได้บุญถ้าเลี้ยงดูทุกคนให้เสมอกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีฐานะพอ  กลับให้ภรรยาหลายๆ คนเลี้ยงตัวเอง  นี่เป็นบาป)
b.       งบช่วยผู้ถูกกระทบ
                                                               i.      เหตุการณ์ทำให้พื้นที่ตำบลของเรากลายเป็นสีแดง ผู้คนไม่กล้าเดินทางเข้ามาเหมือนเดิม (มีผลิตภัณฑ์ โอท็อป ทุกหมู่บ้าน และวัดช้างไห้เดิมมีคนมากราบไหว้หลวงปู่ทวดที่มีชื่อเสียง เศรษฐกิจของตำบลแต่เดิมค่อนข้างดี) ปัจจุบันทุกคนรายได้ตก ลำบาก มีหนี้สินทั่วหน้า
                                                             ii.      มีหลายงบ หลายโครงการลงมาช่วย แต่ไปรวมอยู่ที่ผู้ถูกกระทบ เราก็เห็นใจเพื่อนที่ลูกหรือสามีตาย แต่ก็อดน้อยใจหรืออิจฉาไม่ได้ เราก็ลำบากและดิ้นรน แต่เขาไม่ต้องดิ้นรน  แม่บ้านคนหนึ่งเล่าต่อว่า พวกเราทำใจได้ ทำขนมของเราต่อไปด้วยความอดทน ... ในงาน (มอ.) นี้ เขาไปขอให้เราทำขนมส่ง เพื่อเขาจะได้นำไปขายต่อ ... ก็คิดว่ายังดี (แม่บ้านคนเดิมภายหลังแสดงความเห็นเมื่อคุยส่วนตัวกันว่า ดูท่ากลุ่มดังกล่าวจะล้ม เพราะไม่มีการจัดการที่ดี (ดิฉันเข้าใจว่า เธอคงหมายถึง ทางการไม่ได้มาช่วยด้านพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการกลุ่ม และทักษะการผลิต รวมทั้งตลาด)
                                                            iii.      กลุ่มแม่บ้านนี้เล่าต่อว่าได้ไปช่วยสอนกรรมวิธีทำขนมแก่กลุ่มผู้ถูกกระทบที่หนองจิก เป็นสามีภรรยา (คงจะเป็นลูกตายในเหตุการณ์) ที่นั่น เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะแย่งงบกัน  ผู้ไม่ถูกกระทบฆ่าสามีภรรยา (ผู้ถูกกระทบ) คู่นั้นตาย
c.       พุทธ-มุสลิม ฟื้นมิตรภาพ
                                                               i.      ตอนเกิดเหตุ มีความระแวง กลัว ระหว่างพุทธ-มุสลิม
1.       ไทยพุทธยามขับรถผ่านหมู่ 3 (มุสลิม) จะเหยียบเต็มที่  เพราะกลัว  ส่วนไทยมุสลิมที่อยู่หมู่ 3 กลับรู้สึกผิด เขามองเราเช่นนั้น เราก็ผิดอยู่แล้ว เพราะเราคงมีส่วนทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนั้น
2.       แม่บ้านเลื่อนเวลากรีดยางจากตี 2 เป็นสว่าง บางคนพกปืนและมีดเข้าสวนด้วย ไม่รู้จะกลัวใคร มันมีแต่ตูม ๆ ใครไม่รู้ แต่ถ้าเราไม่ทำก็อด
                                                             ii.      เรื่องแบ่งแยก พุทธ-มุสลิม ไม่เคยคิด 
1.       ต.ควนโนรี มีประวัติการตั้งรกรากมากว่า 100-200 ปี เริ่มจากผู้นำชาวพุทธสองคน  ต่อมาเพื่อนคนหนึ่งหันไปนับถืออิสลาม แต่ความสัมพันธ์ชุมชนไม่เปลี่ยนแปลง ในอดีต ชาวมุสลิมไปเที่ยวงานวัดชาวพุทธ และชาวพุทธก็ไปร่วมงานพิธีต่างๆ ของชาวมุสลิมอย่างสนิทสนม และรู้กาลเทศะของกันและกัน 
2.       ถึงกระนั้น เหตุการณ์รุนแรงได้ทำให้เกิดความเหินห่าง และหวาดระแวงอยู่  พอถูกถามถึงเรื่องอาหาร แม่บ้านเริ่มถกกันอย่างมีชีวิตชีวา
a.       มุสลิม เราจะไปยืนดูเขา (พุทธ) เตรียมอาหารให้ถูกต้องตามหลักศาสนาของเรา
b.       พุทธ เราใช้หม้อ ครกต่างหาก
3.       การทำบุญ
a.       พุทธ เวลามีงานเลี้ยงน้ำชา เราทำบุญให้ แต่มุสลิมมาทำบุญงานบวชไม่ได้
b.       มุสลิม เราเข้าวัดไม่ได้ แต่ร่วมทำบุญด้วย เพราะในใจเราคิดว่าเราให้ด้วยความผูกพัน เอาเพื่อนในโลกนี้ แม้ว่าในใจเราจะคิดว่าเราไม่ได้บุญในโลกหน้าตามหลักศาสนาของเรา
c.       มุสลิม คนพุทธตาย มาขอไม้ไปเผาศพ ยายก็ให้ไป เพราะถือว่าเราเป็นเพื่อนกัน
                                                            iii.      น้อยใจที่ถูกสังคมใหญ่ (นอกสามจังหวัดชายแดน) พิพากษาและตัดขาด
1.       คุณละม้าย เราไปกันสองคันรถ เข้าบิ๊กซี ยามปล่อยให้รถคันแรกที่มีทะเบียน สงขลาลงไปจอดรถข้างล่างได้ แต่ไม่ยอมให้รถของพวกเราที่มีทะเบียนปัตตานีลงไป
2.       แม่บ้านพุทธเล่าว่า พอคนในร้านเห็นป้ายรถปัตตานี ก็ส่งเสียงว่า โจรห้าร้อยมาแล้ว และวิ่งเข้าหลังร้านไป
3.       เราจอดรถที่หาดใหญ่ ป้ายปัตตานีถูกขีด
4.       แม่บ้านต่างบอกว่า ถ้าอยากช่วย อย่าให้เราแยก 
5.       ที่ควนโนรี มีงบลงมาแยะ แต่ เกาไม่ถูกที่ ราชการไทยพุทธ มองเห็นแต่เหตุการณ์ร้าย
6.       อยากบอกให้คนข้างนอกรู้ว่า เราไม่ใช่โจรผู้ร้าย
                                                           iv.      ยังไปมาหาสู่กัน  พวกเรายังเจอกันบ่อย ที่ตลาดจะเจอข้ามหมู่บ้าน
4.       เศรษฐกิจ
a.       ยางพาราเป็นหลัก แต่ต้องเลื่อนเวลากรีดสายขึ้น จากค่ำมืดตี 2 เป็นสว่าง 5-6 โมง เป็นต้น ทำให้ได้น้ำยางน้อยลง นอกจากนี้ แม่บ้านได้ข่าวว่า น้ำยางจากต้นยางที่ปลูกทางเหนือมีคุณภาพดีกว่า และเดี๋ยวนี้มีการปลูกทั่วประเทศ  เราขายกล้ายางได้ แต่พอเกิดเหตุการณ์คนก็ไม่กล้ามาซื้อ
b.       ทางราชการมีนโยบายส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน มีคนเริ่มปลูกปาล์มบนพื้นที่นาข้าวแล้ว
c.       ทุกคนมีหนี้สินทั่วหน้า

วันที่ 16 กค
ตอนบ่าย เริ่ม 2 โมง มีแม่บ้านมากัน 10 คน คนมาใหม่ 3 คน  พวกเรานั่งเป็นวงกลมคุยกันเหมือนเดิม  ดิฉันเริ่มด้วยการสรุปหัวข้อปัญหาที่ระดมสมองกันเมื่อวาน และถามว่าอะไรห่วงใยที่สุด  สักพักก็มาลงที่ยาเสพติด เรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องหนี้สิน เมียน้อย (ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะสำคัญที่สุด) กลับไม่มีใครสนใจ  ทุกคนเห็นพ้องกันว่าห่วงใยในบรรยากาศที่เสื่อมโทรมลง คือ เหมือนกับจะคุมไม่ได้  จนมีเสียงว่า อยากให้รัฐลงมาจัดการ สาเหตุสำคัญ
1.     ผู้ปกครอง/พ่อแม่ไม่ยอมรับว่าลูกของตนติดยา เมื่อมีการทำสถิติ ก็รายงานออกไปว่า ไม่มีคนติดยา  ที่จริง เยาวชนติดกันมาก จะสังเกตได้ว่าบ้านใดติด คือ ท้ายบ้านจะมีเครื่องเคราสำหรับต้มใบกระท่อม (หม้อ เตาแก๊ส โค๊ก ยากันยุง นีออน) บางบ้าน พ่อเป็นเอง
2.     บางครอบครัว พ่อไปทำงานซาอุ
3.     มือถือทำให้ติดต่อซื้อขายกันสะดวกยิ่งขึ้น
4.     แรงกดดันเพื่อน    แม่บ้านพุทธคนหนึ่งเล่าว่า ตนสั่งสอนห้ามลูกที่ติดบุหรี่ด้วยการยัดบุหรี่ 10 กว่ามวนให้สูบจนลูกสำลัก และไม่กล้าสูบต่อไป (คุณกัณณิกาได้ฝากข้อคิดว่า การใช้วิธีรุนแรงอาจทำให้เด็กกร้าวแทนที่จะแก้)  เธอเล่าต่อว่า บางทีเด็กไม่ต้องการเสพ แต่ถ้าปฏิเสธการชักชวนของเพื่อนที่โรงเรียน ก็จะถูกเพื่อนซ้อม (คิดว่าคงเป็นอาการที่ผู้ใหญ่เหมารวมว่า วัยรุ่นตีกัน)
5.     คนติดกระท่อมแพร่หลาย เป็นชายตั้งแต่ อายุ 13 (ป6) ถึง 30 กว่า  ส่วนใหญ่เป็นเด็กดี บอกให้ทำอะไรก็ทำ แต่ก็ไปเสพยาด้วย  โครงการสนามกีฬาต้านยาเสพติด เด็กพวกนี้ก็เล่นกีฬา ไม่เลิกยา  ส่วนที่เป็นอันธพาลก็มีมั่ง  ในหมู่ ? (วัดช้างไห้) แม่บ้านดูเหมือนจะหมดหวัง บอกว่า ครอบครัวอบอุ่น ไม่อบอุ่นก็ติดกันหมด ... มีการพาผู้หญิงจากที่อื่นมาค้างในหมู่บ้านด้วย ... มันกลายเป็นแฟชั่น
6.     ถามว่าเมื่อต้องซื้อกระท่อม ใครเป็นคนขาย แม่บ้านตอบว่า ไม่รู้  บ้างบอกว่า ที่วัดมีต้นกระท่อมใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร  มีคนปีนข้ามรั้วไปขโมยใบ
7.     สรุป ดูเหมือนจะมี 3 entry points หลังจากการสนทนากับแม่บ้านในเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
o      แม่บ้านคนหนึ่ง (มุสลิม ม.3?) เล่าว่า ตนมีอุปกรณ์ทำเฟอร์นิเจอร์ ได้ชักชวนเยาวชนกลุ่มหนึ่งให้ทำดี อย่าหลงเสพ ให้หันมาทำเฟอร์นิเจอร์ ตอนนี้รอโครงการของบ สี่หมื่นบาทให้เด็กได้ซื้อไม้  ได้ส่งโครงการขึ้นไป (ราชการ) ยังรออยู่ และคิดว่าคงเป็นปี กว่าจะได้ (ดูเหมือนแม่บ้านคนนี้จะกังวลว่า กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้) ... โครงการนี้ น่าจะศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ที่ทำให้เป็น นิวเคลียส สำหรับให้ (1) เกิดกลุ่มเยาวชนพัฒนาฝีมือ เลี้ยงชีพ มีความภาคภูมิใจ ไม่อ่อนไหวกับแฟชั่นติดยา (2) เป็นการชะลอกระแสติดยา (3) เกิดการออมทรัพย์ได้  มอ. อาจช่วยเป็น ตัวเชื่อมยุทธศาสตร์ระดมทุนเบื้องต้น (สี่หมื่นบาท) และประกบ (อาจร่วมกับคุณละม้าย) ติดตามเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่ง
o      แม่บ้าน (พุทธ) เล่าว่า หลานของตนติดยา และได้เข้ารับการบำบัดจนหาย หลานได้บอกกับหมอและตนว่า ไม่ต้องการกลับไปติดยาอีก  รายนี้ น่าจะมีการติดตามถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูเหมือนจะมีแรงกดดันจากเพื่อน แต่เด็กดูเหมือนจะมีสติดีอยู่  ถ้าใช้วิธีที่แยบยล อาจสาวหาถึงคนขาย/แหล่งได้  แต่ต้องไม่ให้รั่วไหล เพราะอาจเป็นอันตรายแก่เด็กได้   ถ้าสามารถต่อยอดกับเด็ก อาจเป็น ตัวต่อสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนกระแสการเสพยา
o      แม่บ้านพุทธ (ม.2 ช้างไห้) น่าจะมีการทำ action research เพราะดูเหมือนจะติดกันหมด  แม่บ้านเล่าว่า มีการให้ชื่อผู้ติดยาอย่างลับๆ แก่ตำรวจ เพื่อให้หาวิธีบำบัดที่เหมาะสม (จุดอ่อนคือ ชาวบ้านจะสามารถตรวจสอบไม่ให้เกิดการละเมิดหน้าที่ตำรวจ หรือละเมิดสิทธิ์ผู้บริสุทธิ์อย่างไร  คงต้องหาจุดสมดุลระหว่างภาวะเสี่ยงกับการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน  ถ้าเอียงไปด้านหนึ่ง ก็จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้  อันนี้เป็นประเด็นท้าทายระหว่างความมั่นคงของรัฐ  ของชุมชน ของครอบครัว และของมนุษย์  การเสริมพลังผู้หญิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางและชีวิตของวิถีชุมชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้หญิงจะต้องมีส่วนร่วม เป็นแนวร่วมไปกับผู้ชายพ่อบ้าน ลูกชาย ฯลฯ--ในลักษณะเครือข่ายที่ยังเอื้ออาทรต่อกัน)
o      ข้อสังเกต
§        ยาบ้าเข้ามายังไง ทั้งๆ ที่มีทหารล้อมอย่างหนาแน่น รถจะผ่านเข้ามาทีต้องผ่านหลายด่าน 
§        จากที่แม่บ้านเล่า ในหมู่บ้านผู้เสพติดทั้งหมดเป็นชาย แล้วเยาวชนหญิงเป็นอย่างไร ไม่ติดเพราะอะไร หรือกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง
§        มีการนำผู้หญิงจากที่อื่นเข้ามา (ถึงขั้นมั่วสุมหรือไม่) มาจากไหน
8.     ตำบลควนโนรี มีศักยภาพการผลิตเกษตรและแปรรูปอยู่มากพอสมควร แต่ติดขัดที่ตลาด เดิมก่อนเหตุการณ์ ผู้คนไม่มีความระแวงกลัวในการเดินทาง จึงมีนักท่องเที่ยวและค้าขาย 
o      ในด้านลบ อาจมองว่าทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงตลาดผู้บริโภค
o      ในด้านบวก เราก็เห็นการทะลุทะลวงของกระแสบริโภคนิยมที่กัดกร่อนฐานชุมชน ด้วยการกระตุ้นความโลภและเห็นแก่ตัว ทำให้ประมาท  เช่น แม่บ้านคนหนึ่งบอกว่าตนเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน เพราะเอาซื้อรถแทนลงทุนการผลิต
o      วิกฤตครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ชาวบ้านตื่น รวมตัว บำรุงฐานตัวเองและไม่ประมาทได้ไหม อย่างไร  ตลาดเป็นเรื่องรองของความมั่นคงของชุมชนโดยรวมของตน ซึ่งเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ (ข้างนอกสร้างภาพให้ หรือ พิพากษา ประณาม แขวนป้ายให้) และอัตลักษณ์ (ที่เกิดจากสำนึกร่วมภายในว่าตนคือใคร)
9.     คุณละม้าย ทำงานในบางหมู่บ้านอยู่แล้ว การสนทนาทั้งตำบลครั้งนี้ น่าจะช่วยให้คุณละม้ายเข้าถึงแม่บ้านทั้งตำบลทั่วถึงขึ้น กล่าวคือ เสริมเป้าหมายการทำชุมชนบำบัดมากกว่าเจาะจงที่ผู้ถูกกระทบ ซึ่งเป็นการสร้างความแปลกแยกในชุมชนอย่างไม่เจตนา
o      ข้อดีคือ คุณละม้ายเป็นนักกิจกรรม-กึ่งนักวิชาการ (จบ มอ. มหิดล) ทำงานเอ็นจีโอด้านทรัพยากรประมงมามากมาย และได้เข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบในควนโนรี (หนึ่งหมูบ้าน) ภายใต้โครงการ เยียวยา 13 หมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดน ตั้งแต่ปี 2550 เป็นโครงการวิจัยกึ่งปฏิบัติการ สนับสนุนโดย LDI (World Bank)
o      จึงหวังว่า คุณละม้ายจะเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์สำคัญให้ แผนกสังคมพัฒนา  มอ.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.เพ็ญพักตร์  อ.กัลยา คงจะช่วยพัฒนาวิธีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยบรรเทาทุกข์แม่บ้าน  ด้วยการเก็บข้อมูลที่รอบด้าน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยให้งบเข้าถูกทาง เกาถูกที่
10.                        สำหรับพวกเราเอพีไอสามคน นี่เป็นการลงพื้นที่ๆ นี้ ครั้งแรกเพียง ครึ่งวัน อาจจะผิวเผิน แม้อาจารย์ และคุณละม้ายจะกระซิบว่าเป็นพื้นที่สีแดง แต่ก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรน่ากลัว (คงเพราะเป็นกลางวัน) แม่บ้านเองก็ดูเหมือนจะเห็นเรื่องตูมตาม เป็นเรื่องธรรมดา ยังไงก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้า   มีแต่เรื่องยาเสพติดที่พวกเธอเห็นว่าขวางทาง  ทุกคนเห็นร่วมกันว่า เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ลูกหลานก็คงหมดอนาคต และการดิ้นรนต่อสู้ชีวิตของพวกเธอก็หมดความหมาย

ไม่แน่ใจว่าแม่บ้านเชื่อฟังดี หรืออยากคุยต่อ เพราะมีบางคนต้องการให้เลิกก่อน 3 โมง แต่ทั้งกลุ่มก็ยืดกันไปเกิน 3 โมงครึ่ง  น่าเห็นใจเพราะต้องเดินทางไกล และมีภาระดูแลครอบครัว  ได้แต่หวังว่า การจัดเวทีครั้งนี้ จะช่วยให้ มอ. เชื่อมช่วยชาวบ้านได้  ดูเหมือนแม่บ้านจะยังมีเรื่องอยากพูดแต่อาจต้องระวังตัว เพราะอยู่ในที่สาธารณะ
ดิฉันรู้สึกว่าได้เรียนรู้จากกลุ่มแม่บ้านควนโนรีมาก แม่บ้านคนหนึ่งกล่าวว่า การสนทนากันเมื่อวานทำให้เธอกล้าพูด แต่ก่อนกลัวว่าจะพูดผิด พูดไม่ดี (พูดภาษาไทยกลางไม่เก่ง) แต่คงเพราะคุณกัณณิกาที่พูดใต้ปนกลางเป็นระยะๆ  เธอก็กล้าพูดขึ้น จนพูดมากเกินคนอื่นเลยทีเดียว ได้ระบายความในใจ  ส่วนคุณยุวดี ก็ช่วยหยอด กระทุ้ง ทำให้แม่บ้านรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง  Erna อาจไม่สามารถเข้าใจทุกอย่าง แต่ก็มีการแปลให้เธอฟังเป็นครั้งคราว และเธอก็บอกดิฉันว่าจับใจความได้หลายอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงชาวบ้าน (ซึ่งเธอคงไม่มีโอกาสเข้าถึง)  ดิฉันคิดว่า ทีมเอพีไอของเรา ได้แลกเปลี่ยนกับแม่บ้าน/แกนนำสตรีหมู่บ้าน ได้ดีใช้ได้  ส่วนคุณละม้าย ซึ่งได้แลกเปลี่ยนกันในตอนเช้า ก็ช่วยให้พวกเราเข้าใจควนโนรีในภาพกว้างระดับหนึ่ง  และยังได้มีการแลกเปลี่ยนกับ Erna ด้วย เช่น เรื่องความเชื่อของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น