วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

20 ปีของขบวนหญิงไทย (1990-2010)-I

การรณรงค์นโยบายสิทธิสตรีในประเทศไทย[1]
I.
ดรุณี ตันติวิรมานนท์
ชาชิ รัญจัน ปานดี
(Shashi Ranjan Pandey)
ศูนย์วิจัยวารี
พ.ศ. ๒๕๕๑[2]


บทคัดย่อ

ในช่วงทศวรรษ พ.ศ.  ๒๕๓๐-๒๕๔๐ หญิงไทยได้รวมตัวกันและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองในประเทศไทย และประสบความสำเร็จในการผลักดันนโยบาย และกฎหมาย ที่รับรองและคุ้มครองสิทธิสตรีในหลายประเด็น    บทความนี้ มีจุดประสงค์ที่จะสรุปบทเรียนจากการรณรงค์ของหญิงไทยดังกล่าว โดยเลือกศึกษาสี่หัวข้อของการรณรงค์ คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ   การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ    การยุติความรุนแรงต่อสตรี     และสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน   เพื่อวิเคราะห์พลวัตในการรณรงค์ ให้เข้าใจปัจจัย บริบท และยุทธศาสตร์ ที่ทำให้การเรียกร้องของผู้หญิงสัมฤทธิ์ผล  ตลอดจนผลพวง และอุปสรรคที่ยังคงอยู่   จากนั้นจึงนำเสนอข้อแนะนำที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ต่อการปรับกระบวนยุทธ์ของขบวนผู้หญิง เพื่อให้การรณรงค์บรรลุเป้าหมายของสังคมที่มีความเสมอภาค พัฒนา และสันติต่อไป


. บริบท
            หญิงไทย เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ   แต่ยังมีส่วนร่วมที่จำกัดในการกำหนดกฎเกณฑ์สาธารณะ และทิศทางการพัฒนาของประเทศ   ด้วยเหตุนี้  สังคมจึงมองข้ามความต้องการ และศักยภาพของผู้หญิง   ชัยชนะของหญิงไทยนักเคลื่อนไหวที่รวมตัวกันรณรงค์ผลักดันให้มีการบรรจุประโยค ชายและหญิง มีสิทธิเท่าเทียมกันลงในมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐  เป็นก้าวสำคัญ สำหรับใช้เรียกร้องให้ภาครัฐคำนึงถึงประเด็นสิทธิและตัวตนของสตรี ในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่มีผลต่อประชาชนโดยรวม  ในช่วงทศวรรษเดียวกัน มีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการเปิดหลักสูตรสตรีศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย  การขยายตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)  และการก่อตัวเป็นลักษณะขบวนของเครือข่ายกลุ่มผู้หญิงต่าง ๆ  จนกลายเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของไทย   ในขณะที่พื้นที่ทางการเมืองภาคประชาสังคมในประเทศเริ่มเปิดขึ้น  สหประชาชาติก็ได้เปิดเวทีประชุมสำคัญระดับโลกในหัวข้อต่าง ๆ ขึ้น เช่น สิ่งแวดล้อม (Earth Summit, ที่ กรุงริโอ เดอ จาไนโร   ปี ๒๕๓๕)   สิทธิมนุษยชน (กรุงเวียนนา ปี ๒๕๓๖)   อนามัยเจริญพันธุ์ (กรุงไคโร  ปี ๒๕๓๗)    ภาคสังคม (Social Summit  กรุง โคเปนฮาเกน  ปี ๒๕๓๘)   และ สตรี (กรุงปักกิ่ง  ปี ๒๕๓๘)      การประชุมโลกทั้งหลายนี้ เป็นปัจจัยเสริมสำคัญ ต่อการผลักดันของขบวนการหญิงไทย
              ความหลากหลายและเข้มแข็งในการขับเคลื่อนสังคมของหญิงไทยในทศวรรษ ๒๕๓๐  มีผลต่อการแก้ไขกฎหมายและนโยบายเพื่อลดความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย    นอกจากมาตรา ๓๐ แล้ว ยังทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหลายข้อ ที่ไม่เป็นธรรมต่อหญิงไทย  เช่น การแก้กฎหมายลาคลอด ทำให้ผู้หญิงทำงานในระบบ มีสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน    การแก้พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามโสเภณี  และ การตราพระราชบัญญัติ ปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก เป็นต้น   แม้จะมีการตอบสนองจากภาครัฐพอสมควรต่อแรงกดดันของขบวนการรณรงค์ของผู้หญิง    แต่การเรียกร้องอีกหลายประเด็นก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง   จึงมีการผลักกันดันต่อไป   ความต่อเนื่องนี้   มีอานิสงค์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๗  ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐   ทำให้การแก้กฎหมายครอบครัวและบุคคล (เช่น การใช้นามสกุลและคำนำหน้านาม ของหญิงที่แต่งงานแล้ว   และการหย่าร้าง เป็นต้น)   กฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรง (การข่มขืน   และ ความรุนแรงในครอบครัว)    ก้าวหน้าไปได้อีกขั้นหนึ่ง   แต่ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ตกหล่นหรือติดค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ต้องผลักดันกันต่อไป    
          ชัยชนะที่เพิ่งได้มาเร็วๆ นี้ หมายถึง ภารกิจใหม่ที่ขบวนการหญิงไทยต้องหยุดทบทวนก่อนที่จะก้าวต่อไป   ดังที่นักเคลื่อนไหวสตรีท่านหนึ่งกล่าวในการสัมภาษณ์ว่า
การรณรงค์ของผู้หญิงมีความสำเร็จในการแก้ไขกฎหมาย   แต่ก็ได้แค่กติกาบนกระดาษ  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงกฎหมาย  และทำอย่างไร จึงจะทำให้กฎหมายใหม่เหล่านี้ เป็นหลักประกัน มีผลบังคับใช้ในการป้องกันสิทธิสตรีในทางปฏิบัติได้
คำปรารภนี้ สะท้อนถึงภาวะที่ขบวนการรณรงค์ฯ มีการหยุดไตร่ตรอง เหลียวหน้า แลหลังวิเคราะห์ และประเมินผลงานขององค์กรต่างๆ และของขบวนการโดยรวม   เพื่อมุ่งสู่การปรับปรุงยุทธวิธี ให้การผลักดันร่วมกันข้างหน้ามีพลังและเอกภาพ   ตลอดจนสามารถส่งผ่านภารกิจ เจตนารมณ์ และองค์ความรู้ สู่รุ่นต่อไปในการจรรโลงสังคมไทย ให้มีความเสมอภาค   มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและสันติสุข
งานศึกษาวิจัยชิ้นมีวัตถุประสงค์สองประการ  เพื่อบันทึกการรณรงค์ของหญิงไทยในการผลักดันนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง และเพื่อวิเคราะห์หาจุดแข็งและจุดพร่องของขบวนการ ฯ โดยเลือกศึกษา ๔ กรณี  คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ  การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ   การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง  และ การเรียกร้องสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน      เพื่อนำไปสู่ข้อแนะนำในการปรับปรุงยุทธวิธีในการขับเคลื่อนต่อไป   บทความนี้ จะเริ่มด้วยการกล่าวถึงองค์กรและแกนนำ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน   ในกรณีศึกษาจะกล่าวถึงวิวัฒนาการที่นำไปสู่การขับเคลื่อนของแต่ละขบวน     บทต่อไปเป็นการวิเคราะห์ ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของผู้หญิงในลักษณะขบวน และส่งท้ายด้วยข้อเสนอแนะ
ข้อมูลสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ มาจากแหล่งปฐมภูมิและทุติยภูมิ  ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับร่างแรกของบทความนี้มาจากบทความในอินเตอร์เน็ต และสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ตลอดจนรายงานขององค์กรสตรีต่าง ๆ  ขั้นต่อมาเป็นการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก สตรีที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน  ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรม  นักเคลื่อนไหว  นักการเมือง และนักวิชาการ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ กัน (ภาคผนวกที่ ๑) [3]  ตลอดจนการเข้าร่วมประชุมประเด็นสตรี และงานฉลองวันสตรีสากล ที่หลายกลุ่มได้จัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม     การสัมภาษณ์และการร่วมประชุมช่วยให้เข้าใจพลวัตในขบวนการหญิงไทยมากขึ้น

. ตัวจักรการขับเคลื่อน: องค์กรภาครัฐ  องค์กรเอกชนสตรี  และศูนย์สตรีศึกษา
          การรวมกลุ่มเรียกร้องให้สังคมไทยเคารพสิทธิสตรี ได้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ  แต่มีจำนวนไม่มาก  ไม่มีเอกภาพ และไม่ค่อยได้รับการยอมรับ/ยกย่อง จากสังคม  ซึ่งต่างกับสถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิสตรี มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   ประเด็นที่ครอบคลุมส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ถูกสังคมกระแสหลักมองข้าม  เช่น โสเภณี/การค้าสตรีและเด็ก  ความรุนแรงในครอบครัว   กฎหมายที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้หญิง   ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย  ความเท่าเทียมในโอกาสเข้ารับการศึกษาและอบรมของเด็กหญิง   การมีส่วนร่วมทางการเมืองและเศรษฐกิจของผู้หญิง   และการคุ้มครองแรงงานสตรี  เป็นต้น  
          ยุทธวิธีที่กลุ่มต่าง ๆ ใช้ มีตั้งแต่ การเก็บข้อมูลทำงานวิจัย  ล็อบบี้กับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง  เปิดเวทีสัมมนา สร้างความตื่นตัวในสาธารณะชน  และการให้ความช่วยเหลือโดยการให้คำปรึกษาหรือที่พักพิงแก่หญิงตกยาก  ตลอดจนร่วมเดินขบวนเรียกร้อง   ตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการรณรงค์ คือปัจเจกสตรีที่มีจิตสำนึก ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ  ในรัฐบาล  ในระบบราชการ  มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน หรือ สื่อมวลชน  แต่แรงส่งที่ทำให้เกิดการขับแล่นอย่างต่อเนื่องนั้นมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และสมาคม ที่เน้นประเด็นสตรี   ซึ่งทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยในการผลักดันให้รัฐบาลไม่เพียงแต่ยอมรับฟังปัญหา ยังต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบและนโยบายอีกด้วย   ปกติ องค์กรสตรีต่าง ๆ มักจะทำงานแยกกันตามความถนัดและสนใจเฉพาะของแต่ละกลุ่ม  เมื่อไรที่ต่างเห็นว่ามีประเด็นร่วม ก็จะมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย  เป็นกระบวนร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบาย/ทิศทาง   ดังนั้น องค์ประกอบที่เป็นกลไกสำคัญในการรณรงค์คือ องค์กรที่ทำงานด้านสตรีใน ในภาคเอกชน และในสถาบันการอุดมศึกษา  รวมทั้งในภาครัฐ 

ก. หน่วยงานภาครัฐ  และองค์กรกึ่งรัฐ
          ภายในภาครัฐ มีอย่างน้อย ๔ หน่วยงาน ที่มีหน้าที่โดยตรง หรือได้ให้การสนับสนุนโดยอ้อมต่อการเรียกร้องของขบวนผู้หญิง  นั่นคือ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค)     คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของรัฐสภา      ชมรมรัฐสภาสตรี   และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม)      

สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค)
          สค ถูกก่อตั้งขึ้น ในปี ๒๕๔๖   อยู่ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม)   ภายหลังจากการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่  ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นการยกระดับ กลไกทางสถาบันเพื่อความก้าวหน้าของสตรี จากโครงสร้างเดิม ที่มีฐานะเทียบเท่า กอง ของ คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส) [4] ขึ้นเป็น สำนักงาน ซึ่งเทียบเท่า กรม     แต่องค์ประกอบของ  กลไกระดับชาติเพื่อความก้าวหน้าของสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย” (National Machinery for the Advancement of Women and Gender Equality) ใหม่นี้ มี ๓ ส่วน   สค (ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ)  คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีและสถาบันครอบครัว (กสค  ทำหน้าที่เชิงนโยบาย)  และ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของรัฐสภา (ทำหน้าที่เชิงกฎหมาย)
          สค  จึงเป็นองค์กรหลักของกลไกชาติ มีหน้าที่ ประสาน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ   บูรณาการมุมมองมิติหญิงชายให้เข้าสู่กระแสหลักการพัฒนา และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติ   ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง และ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  ตลอดจนสร้างพันธมิตรและเครือข่ายในการดำเนินงานด้านสตรีทุกระดับกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   สค จึงมีส่วนรับผิดชอบสนับสนุนการรณรงค์ของผู้หญิงโดยตรง เช่น ในการร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับผู้หญิง  ให้แนวทาง และติดตามการบูรณาการประเด็นและมุมมองเพศสภาพลงในแผนหลักของแต่ละกระทรวง และจัดเวทีสาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยน/ถก นโยบาย ที่เกี่ยวกับผู้หญิง   สค ได้มีเว็บไซด์ที่รวบรวมรายงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์[5]

คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของรัฐสภา
          รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ได้ขยายช่องทางให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมโดยตรงในการร่างกฎหมาย โดยลดจำนวนลายเซ็นจาก ๕๐,๐๐๐ ชื่อ เป็น ๑๐,๐๐๐ ชื่อ เพื่อประกอบคำร้องขอแก้ไขหรือยื่นร่างกฎหมาย    สำหรับประเด็นผู้หญิง ช่องทางสำหรับยื่น คือ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของรัฐสภา

ชมรมรัฐสภาสตรี  
          ชมรมรัฐสภาสตรี  เป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส) หญิง และสมาชิกวุฒิสภา (สว) หญิง เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๕  เพื่อช่วยเหลือกัน และร่วมมือกัน เมื่อมีการเสนอญัตติที่เกี่ยวกับผู้หญิงในรัฐสภา  ประสิทธิภาพของชมรมในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของผู้หญิงในสังคมส่วนรวม  ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และความสามารถของประธานชมรมฯ  เช่น ในช่วงปี ๒๕๔๖-๔๘ ประธานชมรมมีมุมมองเรื่องเพศสภาพและให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการรณรงค์ของผู้หญิงในภาคประชาสังคม  ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับองค์กรเอกชนสตรี ในการจัดทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว และสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์[6]
          แต่โดยทั่วไป  สส หญิง เป็นเช่นเดียวกับ สส ชาย คือมักจะเดินตามกรอบที่พรรควางไว้ มากกว่าผูกพันกับชมรมฯ หรือมีจิตสำนึกของการเป็นตัวแทนของผู้หญิงส่วนรวม    นักวิจัย อิวานากะ ศึกษาผู้หญิงกับการเมืองในไทย ในปี ๒๕๔๕[7] รายงานว่าสมาชิกแกนนำของชมรมรัฐสภาสตรีมีประมาณ ๒๐ คน  ชมรมจึงไม่มีเอกภาพ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีอุดมการณ์ด้านสตรีนิยม 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม)
          กสม เป็นองค์กรอิสระ ที่รัฐจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๕๔๐  คณะกรรมการชุดแรก มี ๑๑ คน (หญิง ๕  ชาย ๖)[8]  ล้วนเป็นพลเรือน มาจากการแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ในปี ๒๕๔๔   โดยพิจารณาจากคุณวุฒิ และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  คณะกรรมการแต่ละชุดมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี[9]         หน้าที่หลักของ กสม คือ ตรวจสอบและรายงานการกระทำที่ละเลยหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายหรือการปรับปรุงกฎหมาย ให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นภาคี   และทำรายงานประจำปีที่ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวในประเทศ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยต่อสาธารณชน
          แม้ว่า กสม จะไม่มีอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องสตรีโดยตรง  กรรมการสตรีทั้ง ๕ คน ซึ่งล้วนเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมาก่อน  ได้ร่วมมือกันในการบูรณาการมิติหญิงชาย ลงไปในกระบวนการต่างๆ เช่น  ในการตรวจสอบและวิเคราะห์กรณีพิพาทในประเด็นต่าง ๆ  และในการบริหารองค์กร เป็นต้น   ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมสตรี ในประเด็นชายขอบ เช่น อนามัยเจริญพันธุ์   เพศที่สาม/ความหลากหลายทางเพศ  และหญิงพิการ ที่เข้าข่ายสิทธิมนุษยชน    กสม ได้จัดพิมพ์รายงานและงานศึกษาวิจัยเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ เป็นองค์ความรู้สำหรับเผยแพร่
          ถึงอย่างไร  กสมไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการ ที่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายหรือลงโทษผู้กระทำผิด    ความต่อเนื่องของบทบาทนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประเด็นเพศสภาพและผู้หญิง ย่อมขึ้นอยู่กับความสนใจ ภูมิปัญญา และความกล้าหาญของคณะกรรมาธิการชุดใหม่   รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ได้ลดจำนวนกรรมาธิการจาก ๑๑ เป็น ๗ คน
         
   ข. องค์กรเอกชนสตรี
          ในหมู่องค์กรที่ทำงานด้านประชาสังคม ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในเวลาต่าง ๆ กัน  มีประมาณ ๒๐ องค์กรที่จับประเด็นสิทธิสตรีในระดับนโยบาย   ส่วนใหญ่จะมีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ (ภาคผนวก ๒)  องค์กรเหล่านี้มีเป้าหมายร่วมกัน  คือ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และการยกสถานภาพของผู้หญิง  บทความนี้ จำกัดการศึกษาที่กลุ่มผู้หญิงในกรุงเทพฯ   องค์กรต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ล้วนเป็นแนวหน้าของขบวนการรณรงค์ผลักดันนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง[10]   

สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้น ในปี ๒๔๙๐  มีกิจกรรมหลัก ๒ อย่าง คือ ให้คำปรึกษาและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย  และศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อหาทางแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม   นายกสมาคม ฯ ประกอบด้วยสตรีที่ประสบความสำเร็จในอาชีพกฎหมาย  หลายคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของภาครัฐ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ วิมลศิริ ชำนาญเวช  ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรก (ปี ๒๕๑๙)  และ คุณหญิง จันทนี สันตะบุตร เป็นกรรมการของ กสม (ปี ๒๕๔๔-๕๑  และเป็นกรรมการอื่นๆ รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภา ในเวลาต่างๆ กัน) เป็นต้น  สมาคมฯ เป็นผู้บุกเบิกในการรณรงค์สิทธิสตรีตั้งแต่ก่อนการประกาศทศวรรษสตรีสากล และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับสตรีหลายฉบับ

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ก่อตั้งในปี ๒๕๑๗  โดยสองพี่น้อง คุณหญิง[11]กนิษฐา วิเชียรเจริญ อดีตนายกฯ ของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย (๒๕๐๔-๐๘)  และคุณหญิงกนก สามเสน วิล[12]   สมาคมส่งเสริม ฯ มีกิจกรรมคล้ายกับสมาคมบัณฑิตฯ แต่มีโครงสร้างของการบริหารและการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่า โดยเปิดโอกาสให้ทั้งหญิงและชายที่ไม่ได้จบมาทางกฎหมาย เป็นสมาชิกได้ และเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่หญิงด้อยโอกาสและถูกละเมิดสิทธิ ต่าง ๆ    ได้เป็นผู้บุกเบิกเปิดบ้านพักฉุกเฉินแห่งแรก ในบริเวณของสมาคมบัณฑิตฯ   ปัจจุบัน สมาคมส่งเสริม ฯ มีบ้านพักฉุกเฉินอยู่ ๓ แห่ง  และมีศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพ ในบริเวณพื้นที่ของตนเองด้วย   ในปี ๒๕๓๗ หลังจากที่ คุณหญิง กนิษฐา ได้ บวชเป็นแม่ชี ก็ได้ก่อตั้ง มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในพระสังฆราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  เพื่อเปิดโอกาสและยกระดับการศึกษาของแม่ชี

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดของ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๓๓ โดยมี ดร สุธีรา วิจิตรานนท์ (ทอมสัน) เป็นผู้อำนวยการ  จุดยืนสำคัญของสถาบัน ฯ  คือ การรณรงค์ให้มีมาตรการพิเศษ ที่กำหนดสัดส่วนหญิงชายแน่นอน เพื่อประกันว่ามีผู้หญิงดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินในประเด็นสาธารณะทุกระดับ  สถาบันฯ ได้เป็นแกนนำสำคัญในการกดดันให้พรรคการเมืองมีนโยบายสนับสนุนผู้หญิง   ส่วนในระดับท้องถิ่น ได้ให้การอบรมแก่ผู้นำชุมชนสตรีจากบางพื้นที่ใน ๔ ภาค  ให้มีความพร้อมที่จะตอบรับกระแสการกระจายอำนาจปกครองในรูปแบบเลือกตั้งระดับท้องถิ่น  การอบรมนี้ได้นำไปสู่การรวมตัวกันเป็น องค์กรติดตามการดำเนินงานทางการเมืองเรื่องสตรี (ตมส)  ใน ๔ ภาค โดยมีการสื่อสารผ่าน จดหมายข่าว ตมส   สถาบันฯ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมฯ ได้เป็นผู้ริเริ่มพิธีมอบรางวัลในวันสตรีสากล แก่ผู้นำชุมชนหญิงดีเด่น และคัดเลือกภาพถ่ายดีเด่นที่แสดงถึงบทบาททางเศรษฐกิจ และคุณค่าของผู้หญิงธรรมดาๆ

สถาบันผู้หญิงกับการเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี ๒๕๓๖  ภายใต้ มูลนิธิผู้หญิงเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย   ผู้ก่อตั้งเป็นนักการเมืองสตรีและนักเคลื่อนไหวสตรี    ในทศวรรษ ๒๕๓๐ สถาบันฯ มีบทบาทสูงในการส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีความรู้ความเข้าใจในการเมืองที่ถูกต้อง และสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น  ได้ให้การอบรมแก่ผู้หญิงและเยาวชนทั่วไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเป็นนักการเมือง และเป็นการสร้างความตื่นตัวแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้เลือกผู้หญิง    นอกจากเผยแพร่ความรู้ทางสังคมและการเมืองแล้ว   สถาบันฯ ได้ลงไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรสตรีท้องถิ่น   และเป็นสมาชิกเครือข่ายร่วมกับกลุ่มผู้หญิงต่างๆ ด้วย   ปัจจุบัน สถาบันฯ จะไม่มีบทบาทใดๆ   แต่มี มูลนิธิผู้หญิงเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทำกิจกรรมบางส่วนต่อ   มูลนิธิฯ มีฐานะเป็นที่ปรึกษาของ สค

สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย หรือ ตพส ไทย  ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๐  เป็นผลพวงจากการประชุมสตรีโลกครั้งที่ ๔ ที่กรุงปักกิ่ง (๒๕๓๘)  เมื่อผู้หญิงจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมประชุมใน เวทีสตรีไทย ได้มีมติรวมตัวกันเป็น ตพส  ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อ กระตุ้น เร่งเร้า ส่งเสริม และ ติดตาม งานของรัฐบาลไทย ในการพัฒนาสตรี ตามแนวทางในของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง  ผลงานสำคัญของ ตพส คือ จัดทำรายงาน  ภาคประชาชน การอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ ๑ และ ๒    และจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก สองครั้ง คือ ปักกิ่ง +๕ และ ปักกิ่ง +๑๐ ในปี ๒๕๔๓ และ ๒๕๔๘ ตามลำดับ

สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๐ เพื่อเป็นองค์กรร่มสำหรับองค์กรสตรีชั้นสูงและชั้นกลางที่เริ่มเกิดขึ้นในยุคนั้น  จนถึงปัจจุบัน  มีหน้าที่หลักคือ เป็นศูนย์กลางประสานงานส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน ขององค์กรเอกชนสตรีทั่วประเทศ    ศึกษาหาความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นสตรีระหว่างองค์กรผู้หญิงทั้งใน และระหว่างประเทศ     ให้ความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ[13]     กิจกรรมหลัก คือ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและครอบครัว  สภาสตรีฯ และสภาสังคมสงเคราะห์ เป็นสององค์กรเอกชนประจำ ใน คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงาน สค

เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ  แม้ปัจจุบันจะสลายตัวไปแล้ว  แต่เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงปี ๒๕๓๙-๔๐    ทันทีที่รัฐบาลมีมติให้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ กลุ่มผู้หญิง ๒๖ องค์กร หันหน้ารวมตัวเป็นเครือข่ายฯ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙   สมาชิกของเครือข่ายฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็น ๕๐ องค์กร ประกอบด้วย องค์กรผู้หญิงในเมือง กลุ่มผู้หญิงรากหญ้า ศูนย์สตรีศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ทั่วประเทศ (ภาคผนวก ๓)   เครือข่ายฯ ได้ผลิตหลักสูตร คู่มือ และให้การอบรมเพื่อสร้างวิทยากรเกี่ยวกับสาระในรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยให้ผู้หญิงและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิที่รัฐธรรมนูญใหม่ให้การรับรองได้[14] 

ขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง  (หรือ We-Move) เป็นเครือข่ายใหม่ที่เกิดขึ้นในกลางปี ๒๕๔๙[15]   อาจนับว่าเป็นการจัดกระบวนใหม่ของเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ   ทั้งสองมีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน  ต่างกันที่สมาชิกภาพ  กล่าวคือ ของขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง เป็นปัจเจกบุคคล  ส่วนของเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กร   ขบวนผู้หญิงฯ ยังคงเน้นที่การให้การศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเมืองภาคประชาชน   ส่วนสมาชิกหลายคนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในยุคเครือข่ายฯ ได้ขยับบทบาทสู่การเป็นนักการเมือง หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง   ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐  ขบวนผู้หญิงฯ ได้เป็นแกนนำสำคัญ ผลักดันให้บรรจุประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้หญิงห่วงใยด้วย 

มูลนิธิเพื่อนหญิง (มพญ)[16]  เกิดขึ้นราวปี ๒๕๒๓  กิจกรรมหลักของ มพญ มีดังนี้[17]  สนับสนุนขบวนแรงงานหญิง และ ช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงต่างๆ     มพญ  เป็นแกนนำสำคัญหนึ่งที่รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กอย่างต่อเนื่อง  ได้เปิด บ้านถนอมรัก สำหรับเหยื่อความรุนแรง (อยู่พักหนึ่ง)   ได้บุกเบิกการชักชวนให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงในครอบครัว เช่น โครงการ ลด ละ เลิกเหล้า  เป็นต้น  ในส่วนแรงงาน ได้ให้ความรู้และร่วมงานกับผู้หญิงในกลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและให้ความรู้เรื่องสิทธิของตนในประเด็นต่างๆ เช่น อนามัยเจริญพันธุ์  ความปลอดภัยในที่ทำงาน  ค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนการช่วยเหลือคนงานที่ถูกลอยแพเลิกจ้างในยุค ฟองสบู่แตก   ส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ได้ให้คำปรึกษาและช่วยดำเนินการทางกฎหมาย  รวมทั้งให้ความรู้แก่สาธารณชน  มพญ มีจดหมายข่าว หญิงชายก้าวไกล อันเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาเครือข่ายเลิกเหล้า

มูลนิธิผู้หญิง (มผญ) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๗ เริ่มต้นด้วยการให้บริการด้านข้อมูลแก่หญิงไทยที่ต้องการเดินทางไปหางาน หรือแต่งงานในต่างประเทศ จุดประสงค์ คือ ป้องกันผู้หญิงจากการถูกหลอกลวง  มผญ ได้พัฒนากิจกรรมในแนวนี้มาอย่างเป็นระบบ จนเป็นองค์กรสำคัญในการต่อสู้กับปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว (เปิดบ้านพักผู้หญิง)[18] และการค้าสตรีและเด็ก  ได้ให้การอบรมแก่กลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ เช่น แรงงานในเมือง และผู้นำสตรีในชนบทห่างไกล  ตลอดจนผลิตสื่อในรูปสิ่งพิมพ์  วีดีโอ ไดอารี่ เป็นต้น  และมี จดหมายข่าว ศูนย์ข่าวผู้หญิง (มีอายุ ๒๓ ปี)    เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐ มผญ ได้เปิด ศูนย์ข่าว ญ เป็น สะพานเชื่อมใจของหญิงนักเดินทาง  

ในปี ๒๕๔๓  มผญ ร่วมกับ มพญ  ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ และ เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ได้จัดการประชุม ขบวนยุทธหญิงไทย ในศตวรรษที่ ๒๑  สมาชิกร่วมก่อตั้ง ๑๑ องค์กร ที่เข้าประชุมได้ร่วมกันก่อตั้ง แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิงเพื่อเป็นฐานต่อเชื่อมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ  หมายจะให้การรณรงค์ผลักดันประเด็นผู้หญิงมีน้ำหนักและเข้มแข็ง/เข้มข้นขึ้น ตลอดจนเป็นกลไกสำหรับการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาสตรีของภาครัฐ    ปัจจุบัน  มผญ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ  ให้แนวร่วมฯ และมีการเปลี่ยนชื่อ เป็น เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ พร้อมกับเริ่มผลิตจดหมายข่าว เป็นสื่อติดต่อระหว่างสมาชิก ซึ่งปัจจุบัน เพิ่มเป็น ๔๘ องค์กร (ภาคผนวก ๔)  เครือข่ายฯ ได้รับมอบหมายจาก ยูนิเฟม ให้เป็นผู้เขียนรายงาน  ภาคประชาชน การอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ ๓ (กำหนดส่งในปี ๒๕๕๒)

มูลนิธิฮอทไลน์  ก่อตั้งในปี ๒๕๒๗   บุกเบิกการให้บริการฟรีทางโทรศัพท์  โดยมุ่งเน้นที่ผู้หญิง เด็ก วัยรุ่น และครอบครัวที่ด้อยโอกาสในสังคม   เกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในแง่ต่างๆ  ด้วยเชื่อว่า การช่วยให้คนสามารถสื่อกันได้ จะช่วยลดความรุนแรงในสังคม  ปัจจุบัน ฮอทไลน์   ได้เพิ่มสายด่วนที่ให้คำปรึกษาปัญหาโรคเอดส์  ปัญหาชีวิต ครอบครัว วัยรุ่น และ สำหรับผู้ชาย[19]

มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส) ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัย ผลิตข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ ประเด็นสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง   เพื่อผู้หญิงจะได้มีข้อมูลรอบด้าน สำหรับประกอบการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ด้วยตัวเอง   มีการรณรงค์ระดับนโยบายผลักดันให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้หญิง  เช่น  ให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองสิทธิเหนือร่างกายของตนและวิถีทางเพศ   เมื่อต้นปีนี้ สคส ได้จัดประชุมประจำปีครั้งแรก เรื่อง เพศวิถีศึกษาในสังคมไทย  เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ในวงการวิชาการ

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี   ก่อตั้งในปี ๒๕๓๕    เมื่อผู้นำแรงงานหญิง ๓-๔ คน อึดอัดใจที่สหภาพแรงงานไม่กระตือรือร้นในแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนงานหญิง โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิลาคลอด  จึงตั้งเป็นกลุ่มผู้นำแรงงานหญิง เป็นฐานวางแผนและบัญชาการ การระดมกำลังแรงงานหญิงในโรงงานต่างๆ ให้ออกมาเรียกร้องสิทธิลาคลอด จนรัฐบาลต้องแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม ตามข้อเรียกร้อง   ปัจจุบัน กลุ่มบูรณาการฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแรงงานหญิง โดยมีโครงสร้างอยู่นอกระบบสหภาพแรงงาน  ในวันสตรีสากล ๘ มีนาคม ทุกปี กลุ่มบูรณาการฯ จะระดมตัวแทนจากสหภาพต่าง ๆ เดินเป็นริ้วขบวนบนท้องถนน มีการปราศรัยบนเวที และการแสดงถึงปัญหาของแรงงานหญิงในรูปแบบละคร ก่อนที่จะมอบจดหมายเปิดผนึกให้ผู้แทนภาครัฐ นำไปเสนอต่อรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต่อไป

ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ  (เอ็มเพาเวอร์)  ค่อยๆก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๓  หลังจากมีอาสาสมัครเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่หญิงบริการทางเพศ ในย่านพัฒพงษ์ ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวราตรีของชาวต่างชาติ  วัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ คือ ส่งเสริมให้หญิงบริการฯ มีทางเลือกในชีวิต มีอำนาจต่อรองในการทำงาน  ตั้งแต่การป้องกันเอดส์ จนถึงการฝึกทักษะอาชีพอื่นๆ และการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ตลอดจนเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของหญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางเพศนี้     นอกจากการฝึกอบรมส่งเสริมดังกล่าว  ทางศูนย์ฯ ยังให้บริการคลินิกตรวจโรค และคำปรึกษาแนะนำต่างๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์แก่หญิงบริการและครอบครัวที่ประสบปัญหาวิกฤต   ปัจจุบัน เอ็มเพาเวอร์ได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง  ที่ปรับความคิดจากการเป็นผู้รับความช่วยเหลือ เป็น  ผู้ทำงานด้วยมันสมองและความเชี่ยวชาญเฉพาะ ... เป็นอาชีพ ที่ทำรายได้ที่น่าภูมิใจ ให้ดูแลตนเองและครอบครัวได้  เป็นกลุ่มแรงงานที่ทำรายได้สำคัญให้กับประเทศ ... เป็นส่วนหนึ่งของพลังพลเมือง ... ที่พยายามสร้างจุดยืนของกลุ่มตนเองในสังคม[20]

             ค. ศูนย์สตรีศึกษาในมหาวิทยาลัย
          ศูนย์สตรีศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีส่วนเกื้อกูลขบวนการสตรีในเชิงผลิตงานศึกษาวิจัย ประเด็นผู้หญิงและสิทธิสตรี

โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ) ได้ริเริ่มจัดการประชุมทางวิชาการด้านสตรีศึกษาประจำปี พร้อมกับเปิดหลักสูตรปริญญาโท ศิลปมหาบัณฑิตสตรีศึกษาขึ้น ในปี ๒๕๔๓   หลักสูตรนี้ ได้ให้กรอบทฤษฎีและมุมมองแง่คิดทางสตรีศึกษาและมิติหญิงชายแก่นักพิทักษ์สิทธิสตรี และนักขับเคลื่อนหลายคนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน   เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน   วุฒิสภา   บรรณาธิการหนังสือพิมพ์    แรงงาน   รวมทั้งที่เป็นข้าราชการประจำบางคนใน สค เป็นต้น 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช) มี ศูนย์สตรีศึกษา ก่อตั้งโดย รศ. วิระดา สมสวัสดิ์ คณะสังคมศาสตร์  เพื่อทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสตรีไทย โดยเน้นสตรีภาคเหนือและด้านกฎหมาย   ศูนย์สตรีศึกษา มช  เป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรปริญญาโท ได้จัดการประชุม/อบรมในประเด็นสตรี ในโอกาสต่างๆกัน  นอกจากนี้ อ.วิระดา ยังได้ทำงานกับสมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติในประเทศไทย และ มูลนิธิเพื่อผู้หญิง กฎหมาย และ การพัฒนาชนบท (FORWARD) ซึ่งเป็นองค์กรในประเทศ  เพื่อให้การอบรมความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้หญิงในประเทศและข้างเคียง

โครงการสตรีศึกษา ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ภายใต้ ศูนย์วิจัยสังคม  ไม่มีสถานภาพอิสระที่จะเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษา  แต่เคยมีบทบาทสำคัญในการผลิตผลงานศึกษาวิจัย และสิ่งพิมพ์ ด้านสตรีศึกษา

มหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่ง มี ศูนย์สตรีศึกษาเช่นกัน   เช่น ที่ขอนแก่น  สงขลา และปัตตานี   แม้จะไม่มีการสอนหลักสูตรปริญญาโท เช่นที่ มธ และ มช     แต่ก็ยังคงเป็นหน่วยเชื่อมสำคัญ ระหว่างกรุงเทพฯ และชนบท เมื่อไรที่มีการรณรงค์นโยบายผู้หญิงในระดับชาติ        ศูนย์สตรีศึกษาเหล่านี้ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ประชาคมโลกมีความสนใจและตื่นตัวสูงในเรื่องผู้หญิงกับการพัฒนา และมีทุนสนับสนุนกิจกรรม/โครงการผู้หญิงต่าง ๆ มากมาย   ทำให้ได้ร่วมมีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เครือข่ายการพัฒนาหลักสูตรสตรีศึกษาซึ่ง กสส เป็นผู้ริเริ่ม   และการอบรมผู้นำสตรีท้องถิ่น (อบต) และร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ  ในช่วงทศวรรษนั้น

มหาวิทยาลัยมหิดลไม่มีศูนย์สตรีศึกษา แต่มีกิจกรรมที่มีอานิสงค์ต่อขบวนการผู้หญิงคือ มีหลักสูตรปริญญาโท วิชาสิทธิมนุษยชน  และ สถาบันวิจัยประชากรศาสตร์   ซึ่งมี รศ. ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล  เป็นอาจารย์ประจำ และเป็นผู้นำสำคัญของ สคส

. กรณีศึกษา
          ในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐  ขบวนการรณรงค์ของผู้หญิงได้แตะประเด็นที่เกี่ยวโยงกับ นโยบายรัฐ ในวงกว้างที่ครอบคลุมสิทธิของผู้หญิงในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม   ผลพวงของการรณรงค์เหล่านั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยปัจจุบัน             ในบทนี้ จะทบทวนวิวัฒนาการของการขับเคลื่อนระดับนโยบายใน ๔ หัวข้อ คือ  . การมีส่วนร่วมทางการเมือง  (ความเสมอภาคในระดับตัดสินใจสาธารณะ)   . การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ    . การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง  และ ง. สิทธิลาคลอด ๙๐ วัน  

ก.       การรณรงค์เพื่อความเสมอภาคในระดับตัดสินใจสาธารณะ
          ก่อนทศวรรษ ๒๕๓๐  สมาคมบัณฑิตสตรีฯ และ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ   ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของผู้หญิงในการจัดการสมบัติของตน และในการดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องสาธารณะ  จนสามารถผลักดันให้บรรจุประโยค ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในปี ๒๕๑๗   แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุเพียง ๒ ปีกว่า    ต่อมาในปี ๒๕๓๓  ได้ผลักดันให้แก้ไข  มติ ครม พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่ห้ามผู้หญิงดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ จนระเบียบดังกล่าวถูกยกเลิกไปในต้นปี ๒๕๓๖   ทำให้ ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน[21] ตลอดจน นายพลได้  แต่จำนวนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับชาย
นโยบายกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น รวมทั้งการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (พ.ร.บ. อบต) ปี ๒๕๓๗  ได้กระตุ้นให้นักวิชาการสตรีในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมตัวเพื่อขานรับนโยบายดังกล่าว  ทำให้เกิดหลายกลุ่มสตรีรุ่นใหม่ที่เน้นส่งเสริมบทบาททางการเมืองของผู้หญิงขึ้น   โดยองค์กรที่โดดเด่นและต่อเนื่องในกระบวนการนี้ คือ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา และ สถาบันผู้หญิงกับการเมือง   มีการประสานงานกัน อย่างเอื้อต่อกันในการจัดทำหลักสูตร และให้อบรมระยะสั้นแก่ผู้นำชุมชนหญิงในบางพื้นที่ทั่วประเทศ    มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจการปกครอง  และฝึกให้ผู้นำท้องถิ่นหญิงลงสมัครเลือกตั้ง อบต มากขึ้น  ขณะเดียวกัน ก็ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบต ด้วย   
ในปีเดียวกัน มีการจัดทำหลักสูตรโครงการฝึกอบรมการเมืองเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้สมัครหญิงในการเลือกตั้งระดับจังหวัด และระดับชาติ    โครงการผู้นำสตรีท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท จุฬา ฯ ได้ร่วมมือกับ เครือข่ายและศูนย์สตรีทุกภูมิภาค   เน้นอบรมผู้หญิงที่สนใจลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัด (สจ) และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส)    ส่วนสถาบันผู้หญิงกับการเมือง เน้นที่ผู้สมัครหญิงที่ ลงชิงตำแหน่ง สส
          สถาบันวิจัยบทบาทฯ  มีเป้าหมายไกลออกไป คือ ผลักดันให้ภาครัฐกำหนดมาตรการพิเศษ ที่จะประกันให้มีผู้หญิงได้รับเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่แน่นอนเทียบกับชาย   โดยเริ่มต้นจากการผลักดันให้มีการแก้ไข  พ.ร.บ. อบต  ให้บรรจุมาตรการพิเศษดังกล่าว    สถาบันวิจัยบทบาทฯ ได้ใช้ยุทธศาสตร์ ๒  แนว  ในแนวราบ ได้สร้างความตื่นตัวในหมู่ผู้หญิงทั่วไป   ในแนวดิ่ง ได้ขอเข้าพบ เจรจาโน้มน้าว ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในการแก้ไข พ.ร.บ.     สำหรับผู้หญิงทั่วไป สถาบันวิจัยบทบาทฯ ได้จัดสัมมนา การประชุม ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในเมืองและชนบท   แม้ผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการจะมีความตื่นตัวสูง แต่จำนวนจำกัด จึงไม่สามารถสร้างกระแสกดดันพอ การผลักดันมาตรการพิเศษนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ
          หลังจากรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี ๒๕๔๐ ถูกประกาศใช้  สถาบันวิจัยบทบาทฯ ได้เป็นหัวหอก ในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องร่วมกับบางองค์กร ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยเปิดเวทีเสวนาอภิปรายต่างๆ เป็นการรุกและกดดันพรรคการเมืองไปในตัว  กิจกรรมแรก (มีนาคม ๒๕๔๑) ได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ตั้งกระทู้ถามทุกๆ พรรคการเมือง ถึงนโยบายพรรคที่จะส่งผู้หญิงลงสมัครในการเลือกตั้งในระบบใหม่  ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน ก็ได้จัดเวทีให้พรรคการเมืองมาตอบโจทย์ว่าจะเพิ่มจำนวน สส หญิงอย่างไร และ มีแผนการอะไรที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้หญิงในการเลือกตั้งครั้งหน้า    ในทุกเวทีไม่มีพรรคการเมืองใดที่ออกมายืนยันรับหลักการสัดส่วนหญิงชาย    แต่ได้ให้คำสัญญาเหมือนกันว่า ประตูสู่ตำแหน่งสูงในพรรค เปิดกว้างแล้วสำหรับผู้หญิงที่สามารถและสนใจ
          การรณรงค์ยังคงดำเนินต่อไปหลังการเลือกตั้ง โดยหันไปกดดันให้รัฐบาลแก้ไขนโยบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ด้วยการส่งจดหมายเวียนถึงพรรคร่วมรัฐบาล  เป็นการตอกย้ำด้วยการชี้แจงปัญหาและประเด็นที่ผู้หญิงห่วงใย รวมทั้งขอให้มีมาตรการพิเศษเพื่อเป็นหลักประกันเพิ่มอัตราส่วนของผู้หญิงในระดับการตัดสินใจ   การรณรงค์เงียบๆ อย่างต่อเนื่องและอดทน มีผลให้ค่อย ๆ เกิดการยอมรับความเป็นผู้นำของผู้หญิงมากขึ้นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ  นอกจากวิธีการกดดันทางอ้อมแล้ว สถาบันวิจัยบทบาทฯ ยังได้ใช้ช่องทางที่ รัฐธรรมนูญใหม่เปิดให้ คือ การล่ารายเซ็น เพื่อประกอบการยื่นคำร้องให้มีกฎหมายรับรองมาตรการพิเศษระบบสัดส่วน   หลังจากที่ได้ดิ้นรนผลักดันมาหลายปี  คำร้องพร้อมรายเซ็นดังกล่าว ได้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และรอการพิจารณาในรัฐสภาในปี ๒๕๕๑
          การเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของผู้หญิง ได้สร้างความตื่นตัวในวงกว้าง ตั้งแต่ในวงการนักการเมือง จนถึงผู้หญิงระดับฐานรากของสังคม  รวมทั้งมีการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายต่าง ๆ   ถึงกระนั้น
ผู้หญิงก็ยังมีเพียงไม่กี่คนในภาคการเมือง และดำรงตำแหน่งอาวุโสในรัฐบาลไทย  อันที่จริง จำนวนผู้หญิงเหล่านี้ มีจำนวนน้อยกว่าหลายประเทศในภาคพื้นเอเชีย
คุณโจแอนนา เมอรน-โชลเทส (ผู้ประสานงานยูเอนดีพี ประจำประเทศไทย) กล่าวในปลายปี ๒๕๔๙[22]  ซึ่งสอดคล้องกับสถิติ ณ เวลานั้น คือ ผู้หญิงมีเพียง ๘.๗ เปอร์เซ็นต์ ของ สมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช)  ที่ คณะกรรมการรักษาความมั่นคงแห่งชาติอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช) คัดเลือก     ในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์  มีผู้หญิงเพียง ๒ คน (ประจำสำนักนายกฯ และ กระทรวงวัฒนธรรม)  ในระบบการปกครอง  มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการหญิง ๑ คน    ในระบบราชการ  มีผู้หญิงเพียง ๑ ใน ๔ ของตำแหน่งอาวุโส แต่มีมากกว่า ๒ ใน ๓ ของตำแหน่งระดับล่าง    หลังจากการเลือกตั้ง ปี ๒๕๔๘ ผู้หญิงได้เป็น สส เพียง ๑๒.๔ เปอร์เซ็นต์   ในต้นปี ๒๕๕๑ รัฐบาลภายใต้พรรคพลังประชาชน  มี รมต หญิง ๔ คน จากทั้งหมด ๓๕ ตำแหน่ง  (ภาคผนวก ๕) โดยได้เป็นเจ้ากระทรวง แรงงาน พลังงาน  การคลัง และทรัพยากรธรรมชาติ   ที่น่าสังเกตคือ รมต หญิงบางคนเป็นภรรยาของนักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกภาคทัณฑ์ห้ามเล่นการเมือง

ข.       การรณรงค์ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ
          การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ มีสองครั้ง  ครั้งแรก เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ๒๕๓๔  ผู้หญิงได้ผลักดันให้บรรจุประโยค ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เหมือนกับที่ได้บรรจุในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๑๗   ส่วนครั้งที่สอง เป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐      หลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙  คณะรัฐประหาร (ต่อมาเป็น คมช) มีมติให้ทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยกระบวนการที่คล้ายกับในปี พ.ศ. ๒๕๔๐

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๕๓๔
          หลังจากรัฐประหารโค่นรัฐบาลชาติชาย (๒๕๓๑-๓๔)  รัฐบาลใหม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.  ๒๕๓๔   กลุ่มองค์กรผู้หญิงได้เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อทวงสัญญากับรัฐบาลชุดนี้  โดยอ้างถึงพันธะที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีในอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (บางครั้งถูกเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาผู้หญิง) ร่วมกับประชาคมโลก ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘    สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชาย ฯ และสถาบันผู้หญิงกับการเมือง พร้อมด้วยนักวิชาการและกลุ่มสตรีอื่น ๆ ได้เริ่มเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา ๒๔  จากเดิม บุคคลย่อมมีความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันให้เติมข้อความ หญิงและชายย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน  การกระทำใด ๆ ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ  
          เพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล  สถาบันวิจัยบทบาท ฯ ได้สร้างกระแสความตื่นตัวในภาคประชาสังคม โดยจัดเวทีประชุมต่าง ๆ ในเดือน กรกฎาคม ๒๕๓๖ ร่วมกับเครือข่าย ตมส ใน ๔ ภาคและกลุ่มสตรีในรัฐสภา (ต่อมาเรียกว่า ชมรมรัฐสภาสตรี)    ขั้นต่อไป คือ ประชิด ผู้ใหญ่    ในระดับประเทศ  แกนนำฯ ได้เชิญประธานคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาร่วมอภิปราย   ในระดับท้องถิ่น  ได้สนับสนุนให้สมาชิก ตมส ในแต่ละพื้นที่จัดเวทีให้ สส ของตนได้อธิบายต่อประชาชน  ในขณะเดียวกัน ก็มีการรณรงค์ล่าลายเซ็นสนับสนุนคำเรียกร้องดังกล่าว  จนมีผู้เซ็นร่วมถึง ๓,๑๐๐ คน (ในจำนวนนี้ เป็น สส ถึง ๙๐ คน)   เพื่อให้มั่นใจว่า ข้อเรียกร้องนี้ จะได้รับความเห็นชอบจาก สส ถึง ๓๑๖ เสียง ตามข้อบังคับ    แกนนำฯ ได้ขอความร่วมมือจากเครือข่าย และองค์กรต่าง ๆ ที่รู้จักในกระแสระดมอบรมส่งเสริมให้ผู้หญิงท้องถิ่นลงสมัคร อบต ที่เพิ่งผ่านไป   ระดมสมาชิกของตน เขียนโปสการ์ดถึง สส    ยุทธวิธีนี้ได้ผล เพราะ สส หลายคนไม่เคยได้รับโปสการ์ดมากขนาดนี้ จึงเริ่มกังวลว่าถ้าไม่สนับสนุนการเรียกร้องนี้  อาจไม่ถูกเลือกในคราวหน้า   ด้วยกระแสกดดันจากทุกด้าน รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่ถูกประกาศใช้ ในเดือนตุลาคม ๒๕๓๗  จึงมีข้อความรับรองสิทธิและความเสมอภาคตามคำเรียกร้อง

การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๕๔๐
          ต่อมา ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติ ให้แก้ไข มาตรา ๒๑๑  เพื่อเปิดทางให้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้    ในขณะนั้นกลุ่มผู้หญิงนักเคลื่อนไหวในเมือง นอกจากเริ่มหันหน้าเข้าหากันแล้ว ได้มีการเชื่อมต่อกับผู้นำชุมชนหญิงในระดับท้องถิ่น   ส่วนกิจกรรมผู้หญิงกับการเมืองที่หลากหลายและมีสีสัน  ก็ได้รับความสนใจและเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง   ในกระบวนการเหล่านี้  องค์กรผู้หญิงรุ่นใหม่เริ่มมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับบุคลากรภาครัฐ เช่น กสส      ทันทีที่มีการประกาศมตินี้   กลุ่มผู้หญิงแนวหน้ากว่า ๒๐ องค์กร ก็เริ่มแปรขบวนมารวมตัวกันเป็น เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙   ซึ่งเอื้อด้วยทุนสนับสนุนเบื้องต้นจากมูลนิธิเอเชีย   ที่ประชุมได้เลือกให้ อาจารย์ ธีรนาถ กาญจนอักษร (ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ โครงการผู้นำสตรีท้องถิ่น สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท จุฬา ฯ) เป็นผู้ประสานงานและ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช (ตพส ไทย) เป็นประธานที่ปรึกษา    เป้าหมายระยะแรก คือ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงลงสมัครมากที่สุด
          เครือข่ายรัฐธรรมนูญระดมใช้ทรัพยากรมนุษย์ และต้นทุนทางสังคมขององค์กรสมาชิกเป็นหลัก  ได้ผลิตสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น แผ่นพับ แนะนำเครือข่าย พร้อมอธิบายบทบาทของ สสร  จากนั้น เครือข่าย ฯ ได้ขอความร่วมมือจากสถานีวิทยุให้ช่วยเผยแพร่ สปอตที่เครือข่าย ฯ จัดทำขึ้น  และจากรายการโทรทัศน์ให้คณะทำงาน ฯ ได้แสดงความคิด เรื่อง สสร หญิง    เครือข่ายฯ ได้ประสานงานกับศูนย์สตรีศึกษาและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ช่วยระดมการประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงในพื้นที่เกิดความสนใจในกระบวนการร่างและจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ  ได้ส่งจดหมายในนามท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช ถึง ผู้ใหญ่ ทั้งหลาย เช่น นายกสมาคมธนาคาร  นายกสภาทนายความ  อธิบดีทุกมหาวิทยาลัย  ผู้ว่าราชการจังหวัด  จนถึงนายกรัฐมนตรี ให้สนับสนุนผู้หญิง    ผลคือ มีผู้หญิงลงสมัครทั่วประเทศถึง ร้อยละ ๓๕ ของผู้สมัครทั้งหมด  แต่ผู้หญิงฝ่าด่านแรกได้เพียง ๖๓ คนจาก ๔๒ จังหวัด  ส่วนการสรรหาผู้เชี่ยวชาญหญิงก็ได้เพียง ๑๕ คน  
          เครือข่ายฯ จึงปรับยุทธศาสตร์ โดยตั้งโจทย์ใหม่ว่า จะใช้เวลาที่มีเพียง ๑๐ วัน อย่างไร ที่จะทำให้ สส ๖๐๐ คน ในรัฐสภาขณะนั้น เลือกผู้หญิงที่ผ่านด่านแรกมาได้ให้มากที่สุด    คำตอบคือ ต้องสร้างกระแสร่วมกันอย่างเป็นทีม   โดยเริ่มจากการขอข้อมูลจากผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อส่งจดหมายแสดงความยินดีถึงตัวผู้หญิงทั้ง ๖๓ คน ใน ๔๒ จังหวัดโดยตรง  พร้อมกับแนบเอกสารแนะนำองค์กรเครือข่ายฯ  และแนวคิด    ในจดหมายได้ชักชวนว่า ถ้าเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว ก็ขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัวกลับไป เพื่อเครือข่ายฯ จะได้ทำแผ่นพับแนะนำตัวต่อสมาชิกรัฐสภา และสื่อมวลชนต่อไป    ผู้หญิงหลายคนตอบรับ  หลายคนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยทำงานด้านต่างๆ ในทีมประสานงาน   บรรยากาศตลอดสิบวันเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสนิทสนมผูกพันบนพื้นฐานของเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นเดียวกันอย่างแท้จริง   ในบรรยากาศเช่นนี้  สมาชิกได้ช่วยกันออกแบบสัญลักษณ์ให้เครือข่ายฯ   ผลคือ เค้าหน้าด้านข้างของผู้หญิง ๒ คน ที่หันเข้าหากัน กลายเป็นฐานพานที่รองรับรัฐธรรมนูญ  สัญลักษณ์นี้ช่วยให้การรณรงค์ มีความเป็นเอกภาพภายใน และสามารถสื่อกับสังคมได้ง่ายขึ้น[23]
ในระหว่างนั้น เครือข่ายฯ พบว่า มี สส หญิงจากทุกพรรค และ สว หญิงจำนวนหนึ่ง ที่สนับสนุนการผลักดันของตน  แต่ยังมีจำนวนน้อย    ดังนั้น ก่อนถึงวันตัดสิน คือ ๒๖ ธันวาคม  อาสาสมัครจำนวนหนึ่งกับผู้สมัครหญิงบางคน ได้ไปดักรอที่หน้าตึกรัฐสภา  เพื่อแจกจดหมายและเอกสารแนะนำให้ถึงตัว สส และ สว แต่ละคน    การรุกอย่างประชิดตัวเช่นนี้ ได้กลายเป็นประเด็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และถ่ายทอดทางโทรทัศน์   ถึงกระนั้น สมาชิกรัฐสภาก็ได้เลือก สสร หญิง เพียง ๖ คน    แทนที่จะยอมแพ้  สมาชิกเครือข่ายฯ ต้องรีบปรับทัศนคติ ยอมรับความเป็นจริงของสังคมไทยขณะนั้น   และมองว่าการมี สสร หญิง ๖ คน เป็นชัยชนะก้าวหนึ่งสำหรับก้าวต่อไป   ได้ปรับกระบวนยุทธ์ โดยเน้นที่สาระในรัฐธรรมนูญ
หลังจากช่วย สสร หญิงปรับตัวและได้อยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ของคณะร่างรัฐธรรมนูญแล้ว  เครือข่ายฯ ก็ได้ใช้โอกาสในเวทีสัมมนาต่าง ๆ ร่วมกับองค์กรอื่นๆ เรียกร้องให้สภาร่าง สร้างความชัดเจนในวิธีการรับฟังและนำความเห็นไปใช้ในการร่าง  ในเวลาเดียวกัน  เครือข่ายฯ ก็ปรับบทบาทเป็นแหล่งกรองข่าวสารข้อมูลให้ สสร หญิง มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อมูลกับ สสร ชายอย่างไม่เป็นทางการ   การได้พบปะนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในเวทีรับฟังทั่วประเทศเช่นนี้ ทำให้เครือข่ายฯ มีพันธมิตรในกลุ่ม สสร ชาย    ทำให้สาธารณชนเข้าใจประเด็นที่ผู้หญิงผลักดัน   เมื่อได้ประมวลความคิดเห็นจากประชาชน และภาคส่วนต่างๆ แล้ว   เครือข่ายฯ จึงส่งต่อให้ สสร หญิง ทุกขั้นตอน     ในกระบวนการดังกล่าว เครือข่ายฯ ได้ผลักดันเคียงข้างกับองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย และนักเคลื่อนไหวทั่วประเทศ ที่ติดตามการรับฟังความเห็นของประชาชน  และการทำงานของสภาร่างฯ
          ขั้นต่อไป เครือข่ายฯ ได้ผลักดันต่อ สสร  โดยตรง (แจกหนังสือคู่มือที่แนะว่าจะต้องเติมหรือเปลี่ยนอะไรในการร่างรัฐธรรมนูญ)  และ โดยอ้อม (สร้างความตระหนักรู้ในสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง)  เช่น  สถาบันการเมืองกับผู้หญิงได้พัฒนา หลักสูตร สร้างวิทยากรเพื่อขยายเครือข่ายให้ผู้หญิงในท้องถิ่นช่วยกันกระจายความรู้เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนี้   องค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ ก็ช่วยกันให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ถึงประโยชน์ของการร่างฯ และเจตนารมณ์ของเครือข่ายฯ  สมาคมสตรีบัณฑิตทางกฎหมายได้ผลิตหนังสือเล็กๆ ๕ เล่ม ชี้แจงเรื่องรัฐธรรมนูญ และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงและการเมือง และได้เผยแพร่ไปมาก
          ในที่สุด ประเด็นห่วงใยพิเศษหลายประเด็นที่ขบวนผู้หญิงเรียกร้อง  ก็ได้รับการบรรจุลงในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้  เช่น มาตรา ๓๐ (ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน)  มาตรา ๕๓ (เด็กและสมาชิกในครอบครัว ย่อมได้รับการคุ้มครองและดูแลจากรัฐ)   มาตรา ๗๘ (การกระจายอำนาจ) และ มาตรา ๘๐ (รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย) เป็นต้น

การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๕๕๐
          ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้  มีขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (We-Move) ทำหน้าที่แทน เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ที่สลายตัวไป   ครั้งนี้ ขบวนผู้หญิงฯ มีข้อได้เปรียบ คือ ได้มีแนวร่วมชายในระดับโครงสร้างนิติบัญญัติมากขึ้น (ผู้พิพากษา นักกฎหมาย และนักวิชาการ)[24]ที่ได้รับการคัดเลือกจาก คมช ให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
          หลังจากที่ คมช ได้แต่งตั้งรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นรักษาการณ์ และคัดเลือกสมาชิก สนช เรียบร้อยลง  ขบวนผู้หญิงฯ ได้ร่วมกับ ยูเอ็นดีพี จัดประชุมระดับชาติ ในหัวเรื่อง ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐   มีผู้แทนจากองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมประมาณ ๑,๐๐๐ คน   ได้เชิญ สนช สตรี เข้าร่วมรับฟังความเห็นและความต้องการจากที่ประชุม  หลังจากการประชุมใหญ่นี้  มีการจัดสัมมนาย่อยอย่างต่อเนื่องอีกกว่าสิบครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้หญิงจากทั่วประเทศ และนำเสนอต่อกรรมการร่างฯ ต่อไป     ก่อนถึงวันลงประชามติในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ ขบวนผู้หญิงฯ ได้เป็นกำลังสำคัญหนึ่ง ในการช่วยให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
          แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๗ นี้จะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการสยบต่ออำนาจทหาร และมีหลายมาตราที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตย   แต่การเมืองขณะนั้น ทำให้หมู่องค์กรผู้หญิงส่วนใหญ่แบ่งรับแบ่งสู้ ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังคงให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครอง ตรวจสอบ และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ แถมลดจำนวนรายเซ็นจาก ๕๐,๐๐๐ เป็น ๑๐,๐๐๐   ประเด็นห่วงใยที่ผู้หญิงผลักดันครั้งนี้ มีหลายประการที่ได้รับการบรรจุ   ส่วนที่เป็นผลจากการผลักดันของขบวนผู้หญิงครั้งก่อน  ก็ยังคงมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ค.       การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี
          มีหลายองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มพญ และ มผญ ได้ต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ด้วยยุทธวิธีต่างๆ กัน[25]   กระบวนการต่อสู้แก้ไขปัญหานี้ เริ่มเข้ารูประบบในปลายทศวรรษ ๒๕๓๐   และใช้เวลาต่อเนื่องถึง ๑๒ ปี  กว่าภาครัฐจะเริ่มขานรับในปี ๒๕๕๐   ในกระบวนการนี้ ประเด็นหลักที่ครอบคลุม มี ความรุนแรงในครอบครัว  ข่มขืน  และการค้ามนุษย์    
          การรณรงค์อย่างเป็นระบบเริ่มก่อตัวขึ้น หลังจากการประชุมสตรีโลก ที่กรุงปักกิ่ง ปี ๒๕๓๘   ด้วยแรงสนับสนุนจากยูนิเฟม ซึ่งขับเคลื่อนในระดับสากล    องค์กรที่ทำงานเรื่องผู้หญิง และเด็ก กว่า ๑๐ องค์กร[26] ร่วมกับนักวิชาการสตรีนิยมในมหาวิทยาลัยต่างๆ  รวมตัวกันเป็นคณะทำงานเพื่อยุติความรุนแรง  จุดประสงค์หลัก คือ ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ ให้ขับเคลื่อนกันไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิผล    ยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วยการสร้างความตื่นตัวในสาธารณะชน     พร้อมกับเรียกร้องให้ภาครัฐบัญญัติกฎหมายคุ้มครองและให้ความรู้แก่ชุมชน 
          การรณรงค์เริ่มด้วยการสร้างกระแสตื่นตัวในแนวราบ  โดยการรณรงค์ประจำปี ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน  ซึ่ง ยูนิเฟม/สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล    มีการจัดนิทรรศการและเวทีเสวนา ในกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ  เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงของปัญหาความรุนแรง    ในปี ๒๕๔๑  ในวาระฉลองครบรอบ ๕๐ ปี ของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล  คณะทำงานได้ยื่นข้อเสนอ ๘ ประการต่อรัฐบาลไทย    โดยล็อบบี้กับข้าราชการระดับสูงที่มีความเห็นใจ เช่น ดร สายสุรี จุติกุล  และนักการเมือง เช่น  คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์    กสส ได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง ซึ่งหนุนด้วยกระแสเรียกร้องจากภาคประชาสังคมสังคมที่ค่อนข้างสูงในขณะนั้น    ด้วยการรับภาระร่าง พ.ร.บ.   จนถึงส่งเข้าสู่กระบวนนิติบัญญัติในรัฐสภา  ในที่สุด พ.ร.บ. ก็ผ่านมติ ครม เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒   ได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนแห่งการยุติความรุนแรง   กสส ได้สานต่อการรณรงค์ภาคประชาชน โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้เข้าร่วม เช่น โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด่วนแก่ผู้หญิงและเด็ก  ให้ตำรวจจัดหลักสูตรอบรมเพื่อให้มีทักษะที่เหมาะสมสำหรับทำคดีความรุนแรง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ในช่วง ๒๕๓๙-๔๒ 
          ในการด้านการคุ้มครองสิทธิ  องค์กรผู้หญิงได้ผลักดันให้แก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จนได้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีพ.ศ.๒๕๓๙   และแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการสอบสวนพยานเด็กพ.ศ.๒๕๔๓[27]   ใน ๘ ข้อ ที่คณะทำงานฯ ได้ยื่นเสนอ ได้เรียกร้องให้เปิดศูนย์บริการครบวงจร หรือ One Stop Crisis Center ด้วย  รวมทั้งได้เรียกร้องให้จัดบริการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน ในรูปของบ้านพักชั่วคราว  การให้คำปรึกษาเยียวยาความสัมพันธ์ในครอบครัว  การบริการทางโทรศัพท์หรือเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับกระบวนการทางแพ่งและอาญา  รวมทั้งให้ทนายความ   สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้เรียกร้องให้สถานีตำรวจรับรองความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก ในขณะเดียวกัน องค์กรสมาชิกก็กระจายกันไปให้การอบรมด้านกฎหมายแก่ชุมชน   สมาคมบัณฑิตฯ ร่วมกับ มพญ อบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้นแก่ชุมชนในเมือง  ศูนย์สตรีศึกษา มช อบรมผู้หญิงชนบท   มผญ มีโครงการส่งเสริมศักยภาพของอาสาสมัครหญิงในชุมชน เพื่อป้องกันและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงและเด็ก   นอกจากนี้ มีการศึกษาและรายงานทั้งภาษาไทยและอังกฤษ  ถึงผลการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่มีสถิติของการกระทำรุนแรงในรูปแบบต่างๆ  มาเผยแพร่ สนับสนุนการรณรงค์ด้วย
              ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้ผ่านการทบทวนและอภิปรายหลายรอบในรัฐสภา   แต่ด้วยกระแสผลักดัน จากทั้งภายนอกและภายในโครงสร้างรัฐ  ร่าง พ.ร.บ. จึงได้ผ่านรัฐสภาในปลายปี ๒๕๕๐ 

ง.        การเรียกร้องสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน
          สหภาพแรงงานและองค์กรสิทธิ ได้ใช้เวลายาวนาน เรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการแรงงานในระบบ  แต่เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.บ. ประกันสังคม ในปี ๒๕๓๓    ปรากฏว่า  ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้เพียง ๖๐ วัน และจะได้รับค่าจ้างเต็มเพียง ๓๐ วัน    คุณอรุณี ศรีโต เล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้นว่า   ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงลาคลอดแค่ ๓๐ วัน  และกลับมาทำงานทั้ง ๆ ที่ แผลยังไม่หาย     แม้ว่าคุณอรุณี จะได้รับการยอมรับในความเป็นผู้นำ และได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์สิ่งทอฯ ในเวลานั้น ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนกลไกสหภาพแรงงานให้ขยับตัว เรียกร้องให้แก้ไขมาตรการดังกล่าว เพราะกรรมการสหภาพส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย   คุณอรุณี กับผู้นำแรงงานหญิงอีก ๓ คน มีความเห็นพ้องกันว่า  ต้องเปิดพื้นที่ใหม่ให้ผู้หญิงเป็นแกนนำในการเรียกร้องสิทธิลาคลอดที่เป็นธรรมสำหรับแม่ที่ต้องทำงาน  กลุ่มใหม่นี้ ภายหลังค่อยๆ ขยายตัวและเรียกตัวเองว่า  คณะกรรมการรณรงค์เรียกร้องสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน มี คุณอรุณี ศรีโต เป็นแกนนำสำคัญ   คณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (เช่น มพญ)  สหพันธ์แรงงาน และเครือข่ายแรงงาน   วัตถุประสงค์ คือรวบรวมข้อมูล  และเผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์และความสำคัญของการลาคลอด ๙๐ วันพร้อมเงินเดือนเต็ม
          ในขณะเดียวกัน มพญ ซึ่งได้ทำงานเคียงข้างแรงงานหญิง ได้รับความช่วยเหลือจาก CAW   ใน ปี ๒๕๓๔ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายสิทธิลาคลอด ในประเทศแถบเอเชีย  พบว่า ประเทศเพื่อนบ้าน ได้ให้หญิงทำงานมีสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน   จึงทำให้ประเทศไทยดูรั้งท้าย   มพญ ได้ใช้ข้อมูลนี้ ล็อบบี้กับ ดร. สายสุรี จุติกุลโดยตรง ซึ่งขณะนั้น ดร. สายสุรี ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ดูแล กสส     มพญ ได้เชิญ ดร. สายสุรี มาเป็นประธานในการสัมมนาในโอกาสวันสตรีสากล (๘ มีนาคม)  และนำเสนอผลการศึกษา  มพญ หวังว่าข้อมูลสำคัญชิ้นนี้ จะช่วยให้รองนายกฯ ผลักดันให้ ครม แก้ไขรายละเอียดการลาคลอดได้   ในปลายปี ๒๕๓๔ ครม ได้มีมติ อนุมัติให้ผู้หญิงทำงานมีสิทธิลาคลอดได้ ๙๐ วัน โดยจะได้รับเงินเดือนเต็ม  แต่คำประกาศใหม่นี้ ให้ใช้กับผู้หญิงในระบบราชการเท่านั้น 
           มตินี้ ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ คณะกรรมการรณรงค์เรียกร้องสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน ลุกขึ้นเรียกร้องอย่างจริงจังให้ผู้หญิงที่ทำงานในภาคเอกชนได้รับสิทธิอย่างเดียวกัน  ในปีเดียวกันนั้น  กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี   ก็ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ  และกลายเป็นฐานสำคัญ ในการขับเคลื่อนขบวนการรณรงค์ในครั้งนั้น   แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มบูรณาการฯ ต้องหยุดชะงักโดย เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕
          หลังจากสถานการณ์การเมืองสงบลง และมีการเลือกตั้ง  คณะกรรมการฯ ได้ออกล็อบบี้กับผู้สมัครต่าง ๆ  แต่ปรากฏว่ารัฐบาลใหม่ไม่มีวาระของสิทธิลาคลอด   คณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องรุกแทนการรอ  ในปีถัดมา ได้ใช้โอกาสวันสตรีสากล (๗ มีนาคม ๒๕๓๖)  ระดมการเดินขบวนไปที่บ้านพักของ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) นายชวน หลีกภัย เพื่อนำเสนอจดหมายเปิดผนึก   เมื่อไม่มีปฏิกิริยาตอบจากรัฐบาล  การรวมพลังจึงเริ่มขยายตัว  คณะกรรมการฯ ได้ขอให้บุคลากรในวงการแพทย์ช่วยออกมาให้ความรู้ต่อสาธารณชน พูดสนับสนุนด้วยข้อมูลทางวิชาการ   สื่อมวลชนหลายคน ได้ทุ่มเทเวลาและความคิด ช่วยเหลือกรรมการต่าง ๆ ในการแสดงตัวและประชาสัมพันธ์   ในการเดินขบวนครั้งหนึ่ง ได้เกณฑ์คนงานหญิงที่มีครรภ์ ๑๐ คนมาเดินนำหน้าขบวน  ภาพดังกล่าวได้ถูกแพร่ออกไปสู่ต่างประเทศด้วย สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ดู  
          ด้วยยุทธวิธีหลากหลาย และความร่วมมือจาก มืออาชีพ การรณรงค์ ที่มีกลุ่มบูรณาการฯ เป็นฐานบัญชาการ และคุณอรุณี ศรีโต เป็น แม่ทัพ   กระบวนการนี้ได้สร้างกระแสที่มีผลเกินคาด  เมื่อคณะกรรมการฯ เรียกประท้วงครั้งสุดท้าย  ในวันที่ ๒๕ เมษายน   ปรากฏว่า มีองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ และ ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก นับเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผ่านมา ที่สนามหลวง[28] การชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอจดหมายอีกฉบับหนึ่ง   เมื่อรัฐบาลไม่มีปฏิกิริยาตอบ ขบวนรณรงค์จึงนั่งประท้วงข้ามคืนที่หน้าทำเนียบ เป็นเวลา ๒วัน ๓ คืน ในที่สุด รัฐบาลยอมให้ คุณอรุณี เข้าไปเจรจาต่อรองในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการฯ  ผล คือ ครม ได้มีมติเห็นชอบในวันนั้นเอง  หญิงทำงานได้รับสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน โดยจะได้รับค่าจ้างเต็ม ๔๕ วัน จากกองทุน ประกันสังคม  และค่าจ้างของอีก ๔๕ วัน จากนายจ้าง  ประกาศนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖  เป็นต้นไป 
          การรณรงค์ลาคลอดฯ นี้ เป็นสนามทดลองความเป็นผู้นำของแรงงานหญิง รวมทั้งเป็นเวทีเรียนรู้  ชัยชนะครั้งนี้ทำให้แรงงานหญิงเกิดความมั่นใจในตัวเอง   แต่การรณรงค์ที่ตามมาภายหลัง เช่น การเรียกร้องให้จัดตั้ง สถาบันคุ้มครอง อาชีวนามัย ความปลอดภัย และ ความมั่นคงของคนงาน หรือ การจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงาน  ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร 


[1] งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการของ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท   ขอขอบคุณ คุณปรีดา  ศิริสวัสดิ์ แห่งมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท  ผู้ริเริ่มและ ให้แนวทางการเก็บข้อมูล  ตลอดจนรวบรวมข้อวิจารณ์และคำแนะนำหลังจากการนำเสนอร่างฉบับแรกในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑      ประโยชน์อันใดที่ผู้อ่านได้จากบทความชิ้นนี้ ขออุทิศเป็นส่วนกุศลแก่ ดร. ชาชิ รัญจัน ปานดี (Dr. Shashi Ranjan Pandey)  กัลยาณมิตรผู้ล่วงลับไปหลังจากเขียนร่างแรกเสร็จ  ส่วนความผิดพลาด บกพร่องอันใด ผู้เขียน (ดรุณี ) ขอน้อมรับไว้แต่ผู้เดียว
[2] แก้ไข 1: 11-30-08; แก้ไข 2: 8-20-10 เพิ่มเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย
[3] ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่านที่กรุณาสละเวลาอันมีค่า บอกเล่าประสบการณ์ และสะท้อนความคิด อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องานศึกษาวิจัยชิ้นนี้      และผู้ให้ความเห็นทุกท่าน   คุณนัยนา สุภาพึ่ง   คุณรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท  และ ดร. ผุสดี ตามไท ที่กรุณาอ่านร่างแรกและให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการปรับปรุงแก้ไข
[4]  ตั้งขึ้นเมื่อ ปี ๒๕๓๒   อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มี  สำนักงานส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ  เป็นกองเลขา  มีอนุกรรมการตามหัวข้อต่างๆ เป็นผู้กำหนดนโยบายให้สอคล้องกับมติจากที่ประชุมสตรีโลก
[5] www.gender.go.th
[7] Kazuki Iwanaga. 2005. Women in Politics in Thailand Centre for East and South-East Asian Studies, Lund University, Sweden (www.ace.lu.se)
[8] ขบวนการผู้หญิงได้ต่อสู้เพื่อให้เกิดผลดังกล่าว
[9] รัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.๒๕๕๐ ลดจำนวนกรรมการเป็น ๗ คน   เนื่องจากรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙  กสม ชุดแรกถูกยืดเวลารักษาการณ์ ไปจนกว่ารัฐบาลจะมั่นคงพอที่จะมีการคัดเลือกใหม่  ความขาดเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้ คณะกรรมการชุดนี้ดำรงอยู่เรื่อยต่อมา
[10] ผู้เขียนต้องขออภัยที่องค์กรที่มีความสำคัญอื่นๆ ไม่ได้ถูกเอ่ยถึง ณ ที่นี้
[11] ต่อมาคุณหญิงได้บวชเป็นแม่ชี แต่ยังคงทำงานต่อไป จวบจนมรณกรรม
[12] เป็นผู้ก่อตั้ง สมาคมบำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ฯ
[13] http://www.thaiwomen.or.th/target.html
[14] ในช่วงเดือนมกราคม พฤษภาคม ๒๕๔๑  เครือข่ายฯ ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชีย ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ๔๕ ครั้ง  เป็นการอบรมสร้างทีมวิทยากรหลักให้องค์กรสมาชิกและองค์กรนอกเครือข่ายฯ รวมทั้งหมด ๖๔ ครั้ง มี ๓ หลักสูตร ดังนี้  หญิงชายกับรัฐธรรมนูญ  การพัฒนา อบต” “รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป   หลังจากการอบรมชุดแรก  .ธีรนาถ กาญจนอักษรได้เสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินตก พร้อมกับทีมงาน คือคุณจิราภรณ์ ฉิมพิมาย  และคุณบรรจงศิริ  รัตนพจนารถ จากมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท  ขณะเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นวิทยากรอบรมชุดต่อไป
[15] ก่อนหน้าการรัฐประหาร ๑๙ พ.ย. ๒๕๔๙  มีการชุมนุมประท้วงระบอบทักษิณครั้งใหญ่และยืดเยื้อตั้งแต่ปลาย ๒๕๔๘  กลุ่มประท้วงต่าง ๆ ค่อยๆ รวมตัวกัน กลายเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  จนกลายเป็นการประท้วงที่มีฐานมวลชนใหญ่   นักเคลื่อนไหวหญิงหลายคนได้เข้าร่วม และใช้ชื่อ เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ  ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิก เพราะสังคมขณะนั้นได้เริ่มแตกแยกเป็น รักทักษิณ และ ไล่ทักษิณ    นอกจากนี้ชื่อของเครือข่ายก็ทำให้สับสน เพราะสถานการณ์ขณะนั้น เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง (หรือปราบคอรัปชั่น) ซึ่งเป็นการเรียกร้องด้านจริยธรรมในกรอบ ธรรมาภิบาล
[16] ตอนเริ่มต้นเป็น กลุ่มเพื่อนหญิง  ได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิ   ในปี ๒๕๒๓
[17] http://www.konjaidee.com/node/48
[18] มผญ เพิ่งปิดบ้านพักไปในปี ๒๕๓๘ และหันไปทุ่มเทกับการพัฒนาอาสาสมัครในชุมชนแทน
[20] http://www.empowerfoundation.org/thai/
[21] มีการแก้ไขระเบียบในปี ๒๕๒๕ อนุญาตให้ผู้หญิงดำรงตำแน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้
[22] บางกอกโพสต์   ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙
[23] ทิชา ณ นคร และ คณะ.   ๒๕๔๕. ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ: บันทึกการเดินทางสู่ความเสมอภาค.  กรุงเทพฯ: เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ.
[24] เช่น อ.จรัญ ภักดีธนากุล  อ.วิชา มหาคุณ เป็นต้น รวมทั้ง อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (ด้านสื่อมวลชน)
[25] มาลี พฤกษ์พงศาวลี. ๒๕๕๐. หน้า ๒๒๑-๒๒๔
[26] ในปี ๒๕๔๔  สมาชิกของเครือข่ายยุติความรุนแรง ได้ขยายเป็น ๖๐ องค์กร กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ 
[27] การเคลื่อนไหวของผู้หญิงในภาคประชาชน ที่สามารถหาแนวร่วมกับข้าราชการระดับนโยบาย หรือนักการเมือง (ดังกล่าวข้างต้น) ที่เอาจริงเอาจังกับ สนธิสัญญาสากลที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญา (เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) ได้ผลักดันให้ กสส ประสานงานกับ คณะกรรมาธิการ สตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ ของรัฐสภา และวุฒิสภา เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา และ วิอาญา ในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๒   โดยให้บรรจุคำว่า ผู้ชาย เด็กชาย และ ภรรยา ในคำนิยามของ เหยื่อที่ถูกประทุษร้ายทางเพศ 
[28] คุณอรุณีเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น