วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เหลือง-แดง: ความหลากหลาย และอาการ

ผู้หญิงเสื้อเหลืองในสังคมภาคเหนือ : กรณีเปรียบเทียบผู้หญิงเสื้อแดง
-นงเยาว์ เนาวรัตน์-

"..เหลืองมีหลากหลายมาก พอแยกได้เป็น เหลืองภาคพลเมือง หมายความว่า ตัวเองไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้ง...แต่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ...เหลืองกลุ่มที่สอง เป็นเหลืองชาติและสถาบัน คือหวงแหนสถาบันเบื้องสูงและสมบัติของชาติ..เหลืองกลุ่มที่สามนี่บอกชัดเจนเลยว่าเป็นเหลืองประชาธิปัตย์ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล...และสุดท้ายอันนี้ก็เหลืองสถาบัน อันนี้รักและเทิดทูลตัวสถาบันและที่กลายเป็นพวกเหลืองเพราะรู้สึกว่าสถาบันถูกกระทบ ถูกจาบจ้วง..."

ในตอนแรก เราพอจะได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่ง (ด้านสังคมวิทยา) ของคนเสื้อแดงไปแล้ว ในตอนนี้จะเป็นการนำเสนอกลุ่มคนเสื้อเหลืองบ้าง ซึ่งมีพลวัตรไม่ต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงเท่าไหร่ มีการปรับเปลี่ยนความคิดไปตามยุคสมัยในแต่ละช่วงเวลา มีอุดมการณ์ มีภูมิหลังอันน่าสนใจ หล่อหลอมให้พวกเขากลายมาเป็น "คนเสื้อเหลือง"
ผศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนอภิปราย ได้นำเสนอจากประสบการณ์ที่เข้าไปคุย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อทำวิจัยเรื่อง "ผู้หญิงเสื้อเหลืองในสังคมภาคเหนือ : กรณีเปรียบเทียบผู้หญิงเสื้อแดง" ฉะนั้นเนื้อหาในการอภิปรายจะเปรียบเทียบเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตลอด จนทำให้เห็นภาพที่น่าสนใจ 

ความคิดผู้หญิง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อนการเมืองเหลืองแดง

                ผศ.ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปรายว่า ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องความคิดทางการเมืองของผู้หญิงรากหญ้า ขอเรียนในเบื้องต้นหรือสารภาพบาปก็ได้ว่า สิ่งที่จะนำเสนอไม่ใช่เป็นงานวิจัย แต่เป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการลงไปฟังประสบการณ์ของผู้หญิงเสื้อแดงรากหญ้าในหมู่บ้าน  ทั้งที่ไปและไม่ไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ ชื่อเรื่องที่จะนำเสนอ คือ "การเมืองเสื้อเหลือง: บททดลองเสนอกรณีในสังคมภาคเหนือ" นี้ ดร.อภิญญาก็ตั้งให้ แต่เรียนไปว่าจะเน้นแต่เฉพาะผู้หญิง
            การจะไปคุยกับเสื้อแดงเป็นเรื่องลำบาก ก็เลยโทรศัพท์ไปหากลุ่มผู้นำรากหญ้าที่เคยร่วมทำงานด้วยกันมาว่า จะลงไปคุยกับคนเสื้อแดงนะช่วยติดต่อให้หน่อย เพราะเดี๋ยวเขาจะไม่คุยด้วย เผอิญว่าในงานศพของสามีผู้นำ เราก็มีโอกาสได้เจอสตรีรากหญ้าประมาณ 15 คน แต่พอเปิดประเด็นคุย ก็ตกใจ ปรากฏว่าทั้งหมดเลยก็ว่าได้เปิดอกว่าบอกว่า เขาเป็นเสื้อเหลืองนะ และถามว่าเสื้อเหลืองคืออะไร เขาก็ตอบง่ายๆ นิยามตัวเองอย่างง่ายๆว่าคือ คนที่ไม่ต่อต้านรัฐประหารและไม่เอาคุณทักษิณ จึงขอให้สตรีเสื้อเหลืองช่วยติดเสื้อแดงให้  ขณะที่กำลังลงไปคุยในพื้นที่แบบสนุกๆอยู่อย่างนี้  อ.ปิ่นแก้วก็เลยขอให้มาเล่าการเมืองของผู้หญิงเสื้อเหลือง เนื่องจากในพื้นที่ของอาจารย์แทบจะไม่มีใครเป็นเสื้อเหลืองเลย หลังจากชวนเสื้อเหลืองไปคุยเสื้อแดงหลายครั้งเข้า  ปรากฏว่าคุยไปคุยมาเขาก็บอกว่าเขาไม่ใช่เหลืองจัดหรอกนะ  เห็นด้วยกับแดงหลายเรื่องเหมือนกัน
            สรุปวันนี้เลยไม่แน่ใจว่าจะเล่าเรื่องการเมืองของเหลืองหรือแดงกันแน่ เอาแบบผสมๆแล้วกัน เนื่องจากความคิดของพวกเขาดูมันมีพลวัตพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มเหลืองที่มาปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงในช่วงหลังก็เปลี่ยนความคิดไปเยอะทีดีเดียว ส่วนแดงก็เช่นกันเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันอยู่บางเรื่อง
            เมื่อไม่ได้เป็นวิจัยก็เลยไม่ได้มีคำถามอะไรที่ชัดเจน เพียงแต่ตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า วาทกรรมทั้งหมดที่ อ.ปิ่นแก้วพูดตะกี้ทั้ง 4 กระแส น่าจะเป็นความคิดหรือวาทกรรมของผู้นำหรือชนชั้นกลางหรือผู้ชายมากกว่า คิดในใจนะ เพราะว่าผู้หญิงที่ไปนั่งอยู่ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มสนาม ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐสภาหรือสี่แยกราชประสงค์ ยังไม่เห็นว่าผู้นำรากหญ้าคนไหนลุกขึ้นมาบอกว่าตัวเองคิดอย่างไร อะไรคือการเมืองของตัวเองชัดๆ ก็เลยคิดว่าเราก็ทำงานกับรากหญ้ามาแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสลงไปคุยกับเขาว่าเขาคิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้น
            การพูดคุยได้เลือกลงใน 2 พื้นที่ด้วยกัน พื้นที่แรกถือว่าเป็นพื้นที่หลัก และที่เหลือเป็นพื้นที่รองแต่ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แต่ที่จะเล่าจะเน้นประสบการณ์ในพื้นที่หลัก
            พื้นที่หลักมีความคุ้นเคย เพราะเคยลงไปทำวิจัยมาก่อน ในช่วงปี 40 หลังจากนั้นก็ลงไปเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว หลังปี 40 หมู่บ้านนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป หัตถกรรม ทอผ้า แล้วก็เป็นหมู่บ้านเรียกว่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย ในเชิงการเมืองก็เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกับไทยรักไทยมาก่อน ก่อนหน้านั่นเป็นฐานการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ คือ ความหวังใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งสองพรรคแย่งชิงพื้นที่กันมา แต่ท้ายที่สุดก็ได้ความหวังใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำอาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานเสียงที่สำคัญของสส. ความหวังใหม่  หลังจากนั้นผู้นำก็มาอยู่กับไทยรักไทย ไม่ว่าพรรคจะเปลี่ยนชื่อกี่ครั้งก็ตาม มีอยู่ส่วนน้อยที่ยังเป็นฐานของประชาธิปัตย์ พอเป็นหมู่บ้านโอท็อปสิ่งที่น่าสนใจคือว่า และเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้วยผู้หญิงเลยเป็นตัวหมากสำคัญ เมื่อไปคุย ทั้งเหลืองทั้งแดงก็พูดว่าในยุคไทยรักไทย เรียกได้ว่าหมู่บ้านของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อยู่ในยุคทองก็ว่าได้ ก่อนปี 40 เขายังไม่เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมโอท็อป แต่ก็ทำหัตถกรรมมายาวนานต่อเนื่องมาจากป่าซาง หมู่บ้านนี่ก็เป็นที่ดูดซับแรงงานจากในเมืองมากทีเดียว ผู้หญิงเป็นผู้กุมเศรษฐกิจหัตถกรรมทอมือทั้งหมดเลย อันนี้เป็นประเด็นที่ตนสนใจ พอกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป พื้นที่ทางเศรษฐกิจก็เปิดให้ผู้หญิงมากขึ้น ที่เคยเป็นแรงงานรับจ้างก็กลายเป็นผู้ประกอบรายย่อยขึ้นมา ผู้ซึ่งเคยประกอบการรายย่อยก็กลายเป็นนายทุนน้อยขึ้นมา ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิงเรียกได้ว่าล่ำซำมาก เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
            ตรงนี้เห็นชัดเจน พวกเขาทั้งเหลืองทั้งแดง สรุปว่า นโยบายไทยรักไทยมีความโดดเด่น ทั้ง 2 ขา ขาที่หนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจซึ่งโดดเด่นมากและเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ขาที่สอง คือ เพิ่มระบบสวัสดิการ หรือด้านนโยบายประชานิยมก็ตรงใจผู้หญิงเช่นกัน ทั้งนี่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องการระบบสวัสดิการครอบครัว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและนโยบายอื่นๆทำให้ผู้หญิงติดใจการเลือกตั้ง ติดใจพรรค ทั้งๆที่ในปี 40 ไม่ปรากฏว่าสนใจพรรคและสส.ที่เลือกมากมายขนาดนี้ หมู่บ้านนี้ จึงกลายเป็นฐานของเสื้อแดงเกือบทั้งหมด เหลือเป็นเหลืองอยู่ไม่กี่คน เขาสาธยายว่า งบประมาณที่คุณทักษิณลงมาให้หมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 3 ล้านบาท  โดยที่ไม่ต้องเขียนโครงการให้หน่วยราชการที่มักสร้างความยุ่งยากให้ชาวบ้าน คือ ต้องแก้ไขหลายครั้งจึงผ่านได้ แม้งบไม่กี่พันบาทก็ตาม  ส่วนในสมัยคุณทักษิณ งบ 1 ล้านแรก ไม่ต้องทำอะไรเลย หน่วยราชการทำให้ เพื่อประชาสัมพันธ์งานโอท็อป ที่สร้างรายได้ต่อยอดให้หมู่บ้านได้อีกหลายเท่า ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้กุมเศรษฐกิจของชุมชนและครอบครัว และจากตรงนี้เองที่เขาบอกว่า ทำไมการเลือกตั้งจึงมีความหมาย เพราะเลือกแล้วเห็นหมู่บ้านเปลี่ยนไป และการเลือกพรรคมีความหมาย เพราะคิดว่ามีผลต่อนโยบายที่ต้องใจทั้งสองขา  บางคนคิดว่าเลือกพรรคเก่าน่าจะมีหลักประกันในเชิงนโยบายมากกว่า  ตัวอย่างหนึ่งที่อาจเป็นตัวสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจรากหญ้าในหมู่บ้าน ก่อนปี 40  ซึ่ง เป็นช่วงเศรษฐกิจดี ผู้หญิงคนหนึ่งมีคนงาน 14 คน เฉพาะคนงานทอผ้าฝ้ายนะ เศรษฐกิจตกลงในปี 2540 จึงกระทบต่อการผลิต จึงหดตัวลงมา เขาเก็บคนงานทอไว้ 7 คน ที่เหลือเปลี่ยนสภาพการจ้างเป็นชิ้นๆไป แต่กิจการกลับฟูขึ้นอีก จนกระทั้งมีคนงานเพิ่มเป็น 25 คนในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเรืองอำนาจ เมื่อหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านโอท็อป เจ้าของูธุรกิจข้างต้นเริ่มขยายร้านออกไป อีก 2 แห่งในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ตัวอย่างแบบนี้ชี้ให้เห็นว่าเขา เปลี่ยนไปอย่างไร อีกคนชี้ให้ดูบ้านของตัวเอง เสื้อแดงคนนี้ตอนนี้ มีปิ๊กอัพด้วย พาคนไปกรุงเทพฯด้วย ปิ๊กอัพและสภาพบ้านที่ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งลูกที่สามารถเรียนหนังสือได้ ต่างเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตอนปี 40 เขาสองคนผัวเมียรับจ้างทำงานเป็นชิ้นๆเท่านั้น ในแง่ของผู้หญิงจึงน่าขบคิดว่า ปรากฏการณ์การเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิงมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการเมืองแบบเลือกขั้วอย่างไร  แต่จากที่ฟัง การมีธุรกิจส่วนตัว มีรถปิ๊กอัพ ทำให้พาเพื่อนไปไหนก็ไปได้ มีมือถือมีทุกอย่างเลย และการที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการมีนัยยะที่สำคัญมาก ทำให้หวงแหนการเลือกตั้งมาก ผู้หญิงกลุ่มนี้ตอนที่ทำวิจัยในปี 40 เขาไม่ใช่กลุ่มคนที่มีฐานะดี เพราะฉะนั้น ฐานะของเขาขยับมากในช่วงหลังนี้

การมองคนเสื้อแดงและความหลากหลายของผู้หญิงเสื้อเหลือง

                ประเด็นที่นำเสนอจะได้เตรียมมา 3 ประเด็น คือ ผู้เล่าเรื่อง/ใครคือเหลือง/แดง การกลายเป็นเหลืองในแต่ละยุคและการเมืองเหลือง-แดงแยกขั้วเลือก ข้างหรือไม่อย่างไร แต่คิดว่าถ้าคุยทั้ง 3 เรื่อง อาจจะไม่จบในเวลาสั้นๆ จึงเน้นที่ประเด็นแรกว่าใครบ้าง คือ ใครคือเหลือง/แดง และการเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี่แยกขั้วจริงหรือเปล่า จะเล่าเท่าที่เวลามีอยู่ก็แล้วกัน
                ใครคือเหลืองและแดง คนที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลืองนี่มี ทั้งหมดสีละ 7 คน ซึ่งฝ่ายเหลืองเป็นผู้นำทั้งหมด แต่ตอนแรกบอกว่าเหลือง คือไม่เอาคุณทักษิณ และเลือกรัฐประหาร แต่พอคุยกับจริงๆ ทั้ง 7 คนไม่ใช่เหลืองประเภทเดียวกัน ปรากฏว่าเหลืองมีหลากหลายมาก พอแยกได้เป็นเหลืองภาคพลเมืองหมายความว่าตัวเองไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้ง หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งมากนัก แต่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะอยากเก็บสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องการเห็น สมบัติชาติถูกถ่ายโอนให้นายทุนต่างชาติ เหลืองภาคพลเมืองกลุ่มต่อมาเป็นเหลืองที่หวงแหนสถาบันเบื้องสูง เหลืองกลุ่มที่สองเป็นเหลืองชาติและสถาบัน คือหวงแหนสถาบันเบื้องสูงและสมบัติของชาติ  เหลืองกลุ่มนี้ ก็เหมือนกับกลุ่มแรกนะคะ คือไม่สนใจการเมืองในระบบเลือกตั้งมาก เปิดกว้างให้กับพรรคไหนก็ได้ บางคนบอกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้ลงในช่อง no vote ผสมกับประชาธิปัตย์ เหลืองกลุ่มที่สามนี่บอกชัดเจนเลยว่าเป็นเหลืองประชาธิปัตย์ อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล มีเหลืองประชาธิปัตย์บางส่วนพ่วงความคิดในการปกป้องสถาบันเบื้องสูงด้วย และสุดท้ายอันนี้ก็เหลืองสถาบัน อันนี้รักและเทิดทูลตัวสถาบันและที่กลายเป็นพวกเหลืองเพราะรู้สึกว่าสถาบันถูกกระทบ ถูกจาบจ้วง สนับสนุนรัฐประหารเพราะแดงจาบจ้วงสถาบัน ไม่แตะต้องเรื่องสมบัติชาติ หรือประเด็นทุนข้ามชาติ การอันนี้คือความหลากของเหลือง  แต่แอบชอบนักการเมืองอย่างคุณชวน
            แล้วพอกลับไปที่แดง แดงก็ระบุตัวเองแบบหลากหลายมากเช่นกัน ที่สำคัญเหลืองในหมู่บ้านมองแดงแบบหลากรูปมาก และเหลืองก็สามารถระบุแดงได้ค่อนข้างตรงกับที่แดงระบุตัวเองด้วย แสดงว่าข้อมูลเขาถึงกันมากเลย อย่างดิฉันบอกว่าดิฉันอยากจะคุยกับเสื้อแดง เขาถามว่าจะคุยกับใคร ดิฉันคิดง่ายๆว่า 1 เอาแดงที่เผยตัวเองและกล้าบอกคนที่อยู่ในตลาด/ชุมชนว่าว่าตัวเองเป็นแดง เขาบอกโอ๊ยอาจารย์อย่างนี้มีเยอะ แต่อาจารย์ต้องเลือกมาสักแดง ในที่สุดเขาก็เลือกให้ไปคุยกับแดงที่รู้สึกว่า คิดถึงคุณทักษิณในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบุญคุณซึ่งอิงกับนโยบายประชานิยม เขาก็เลือกมาให้ อีกส่วนหนึ่งเราก็บอกว่าเราอยากได้แดงที่ไปกรุงเทพฯมา โดยเฉพาะที่อยู่ที่วัดปทุมฯในช่วงสุดท้ายอยากจะคุยถึงความรู้สึก เขาก็บอกว่าถ้างันก็ต้องไปหาแดงอุดมการณ์ แดงประเภทอุดมการณ์มักไปกรุงเทพด้วยทรัพยากรตัวเอง แล้วเขาก็พาดิฉันไปหาแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน ก็ไปเจอแดงมีอุดมการณ์ ก็คุยกัน 3-4 ชั่วโมง ดิฉันไม่ได้เข้าห้องน้ำเลย ชีวิตตื่นเต้นไปหมดว่าทำไมเราถึงได้ล้าหลังขนาดนี้  ที่สำคัญพอไปถึง แดงก็บอกว่าเขาเป็นแดงที่มีอุดมการณ์จริงๆ นะ แสดงว่าจริงๆว่าชาวบ้านเขาเข้าถึงกันมาก เขามีช่องทางสื่อสารกันหลายระดับ สื่อแนวตั้งแม้จะฟังกันคนละช่อง แต่มีสื่ออื่นๆ ในการสื่อสารอีกเยอะมาก แล้วเขาก็ไม่ปิดกั้นการติดต่อ  ไม่ได้แยกกันอยู่อย่างที่เข้าใจ แต่ระมัดระวังไม่กระทบความชอบของกันและกัน จึงสามารถแนะนำได้ว่าอันนี้แดงบุญคุณ แดงสองมาตรฐาน แดงอุดมการณ์ และแดงบุญคุณก็แบ่งเป็นแดงที่ชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแดงสำนึกบุญคุณที่ผูกพันกันหลายชั้น เขาบอกว่าตัวเองไม่สนใจอุดมการณ์สองมาตรฐานนะ แต่รู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ตัวเองรุ่งเรืองที่สุดและตัวเองอยากได้พรรคการเมืองแบบนี้กลับคืนมาที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เขาอยากได้นักการเมืองที่ค้าขายเป็น กลับมาเป็นนายก ส่วนแดงอุดมการณ์ส่วนใหญ่คิดเรื่องสองมาตรฐานซึ่งประสบการณ์เขานี่น่าสนใจมากๆ ส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาประสบในชีวิตประจำวัน เมื่อชาวบ้านเข้าไปสัมพันธ์กับภาครัฐ/ข้าราชการ ที่พวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความสนใจ/มองไม่เห็นหัวชาวบ้าน ถูกปล่อยให้คอย และการใช่สายตา และท่าทางดูแคลน เป็นต้น ระบบอำมาตย์จึงมิใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องนามธรรมแต่อย่างใด   

ภูมิหลังของผู้หญิงเสื้อเหลือง

            ตนได้เอาเหลืองแดงทั้งหมดมาใส่กล่องนิดหน่อย แบ่งเป็น 3 กล่อง คือ ความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวราชการ พฤติกรรมการเลือกตั้ง และบทบาทในพื้นที่สาธารณะ แต่จะไม่วิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็นเหลืองและแดงหรือไม่ อย่างไร  และเหลืองแดงเป็นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พวกเขาเริ่มสนในการเมืองแบบเลือกขั้ว หรือเริ่มกลายเป็นเหลืองแดงในเวลาใกล้เดียงกัน  คือประมาณ ปี 2548-ต่อปี 2549  โดยฟังวิทยุและสื่อประเภทเดียวกันในช่วงแรกๆ อาทิ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แต่คิดและตีความไปคนละอย่าง  ข้อมูลที่ได้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมหลังจากนั้นจึงตัดสินใจเลือกขั้วการเมืองต่างกัน  และมีท่าทีต่อเรื่องสำคัญสองเรื่องต่างกันออกไป คือ เหลืองเลือกยืนข้างรัฐประหาร ปฏิเสธคุณทักษิณ ทั้งๆที่ไม่มีใครที่คุยด้วยยอมรับรัฐประหารอย่างสบายใจ แต่ต้องหลับตายอมรับอำนาจนอกระบบ  ส่วนอีกกลุ่มเลือกคุณทักษิณ ไม่ยอมรับรัฐประหารเอามากๆ โดยเฉพาะการแลกคุณทักษิณกับรัฐประหารยิ่งยอมแทบไม่ได้  อาจเป็นความบังเอิญก็อาจเป็นได้ ปรากฏว่าคนที่เป็นเหลืองยกเว้นคนสุดท้ายนี่ เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวราชการทั้งหมด และที่ดิฉันเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 40 เขาก็เป็นคนมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงมาตั้งแต่ก่อนคุณทักษิณแล้ว มีทุกอย่างทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และที่ดิน แต่คนที่เป็นแดง บางคนเป็นคนรวยหรือเป็นผู้มีอันจะกินที่เริ่มต้นในยุคคุณทักษิณ ยกเว้นคนนี้คนเดียวที่เป็นข้าราชการทหารที่ลาออกเนื่องจากความแค้นเรื่องถูกกดขี่จากเจ้านาย ส่วนคนอื่นๆก็เป็นอย่างนี้กันหมดเลย  คือ เป็นผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นแม่ค้าในตลาด รวมทั้งเป็นเกษตรกรรายย่อย
            พอมาถึงการเมืองในช่องที่สอง พิจารณาความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเหลืองทั้ง 7 คน มี 5 คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และ no voted มีเหลืองคนเดียวที่คาดว่าลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย
ส่วนคนที่เป็นแดง 7 คน มีอยู่ 1 คนบอกว่าลงคะแนนครั้งสุดท้ายให้กับพรรคพลังธรรม และชอบคุณจำลอง มาก หลังจากนั้นก็ไม่เคยลงคะแนนให้ใครอีกเลย พอมีช่องโนโหวต ให้เลือกก็เลือกโนโหวตตลอด ส่วนที่เหลือลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย
            ช่องสุดท้ายที่ดูว่าเหลืองแดงเป็นใคร คือ พื้นที่เครือข่ายการเมือง/บทบาทในชุมชนของพวกเขา  ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจในการมองการเมืองผู้หญิง ผู้หญิงส่วนหนึ่ง ทั้งสองสี บอกว่าเศรษฐกิจในยุคพรรคไทยรักไทยเปิดโอกาสให้พวกผู้หญิงในหมู่บ้านมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสีแดงกลับหดตัวลงมา ทำให้ที่ทางและตัวตนของเขาในเชิงเศรษฐกิจเป็นประเด็นเปาะบาง จึงเริ่มอึดอัด  ความอึดอึดของเสื้อแดงยังเกี่ยวกับบทบาทในชุมชนด้วย กลุ่มเสื้อเหลืองมีช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรกว้างมาก หลายคนกลายเป็นผู้นำในระดับชาติ ส่วนเสื้อแดงแทบไม่มีเครือข่ายและบทบาททางสังคมในหมู่บ้านที่เป็นผู้นำเลย มีอยู่ 1คนที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการตัวตนและความเป็นผู้นำในหมู่บ้าน คนนี้เก่งมาก ได้รับรางวัลการทำเกษตรในเชิงทางเลือกและเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงกบเลี้ยงเขียดเก่งมาก แต่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลสาธารณะ จากกลุ่มอำนาจในหมู่บ้าน เขาดิ้นรนมากต้องการแสดงความเป็นผู้รู้ ผู้นำในระดับตำบล หมู่บ้าน แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากอบต.และหน่วยราชการในหมู่บ้านเลย เขาคิดว่าเขาถูกผู้มีอำนาจในหมู่บ้าน และอำเภอมองข้ามเบียดบังความสามมารถ และความตั้งใจ หรือมีสองมาตรฐาน เพราะมักเอางบประมาณไปให้แม่นายกอบต.ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในงานของตำบล ทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้มีโครงการทดลองหรือนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ  เขาเสนอตัวเองว่าเป็นแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน กลุ่มแดงอุดมการณ์สองมาตรฐาน พบว่ายิ่งดิ้นรนมาก ก็แค้นมากที่ตัวเองถูกกด ตรงนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เล่ามาก จริงๆแล้วการถูกกดซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตประจำวันดูเหมือนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทำให้สนุกในการเข้าร่วมเวทีชุมนุมและมีพลังกลับมา
            ส่วนที่ดิฉันไปคุยเรื่องสองมาตรฐาน ผู้หญิงสะท้อนมากเลยว่ามันมาจากประสบการณ์ ของตัวเองที่พบเจอในชีวิตประจำวัน คือไม่เกี่ยวว่าข้างบนจะพูดอะไรเรื่องสองมาตรฐานในเวทีราชประสงค์ แต่ประสบการณ์ตัวเองบอกว่าพวกเขาเจอกับมัน และเจอทั้งเหลืองและแดง เหลืองรู้สึกว่าความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวข้าราชการทำให้มีเกาะคุ้มกันบ้าง แต่แดงหลายคนเจอะเจออย่างจังและซ้ำซาก อาทิ ไปอำเภอก็จะเจอข้าราชการปล่อยให้คอย บอกว่าเจ้าที่ประจำลาบ้าง  ไปกินข้าวบ้าง แต่พอข้าราชการมาขอบริการ บอกว่าต้องรีบทำให้จะได้ไม่ต้องลางานมาติดต่อราชการหลายวัน  แดงอุดมการณ์สองมาตรฐานระบายว่าเมื่อก่อนก็อดทนเพราะรู้ว่าพูดไปก็เท่านั้น เขาไม่ฟัง แต่ตอนนี้อัดอั้นไม่อยากทนแล้ว  ที่ไปร่วมเวทีก็ไประบายความอึดอัดและทำไปด้วยอุดมการณ์สองมาตรฐาน การถูกเบียดออกจากพื้นที่สาธารณะจึงมีส่วนให้หลายคนกลายเป็นแดง

การเมืองเหลืองแดงในหมู่บ้านนี้แยกขั้วจริงหรือเปล่า : พลวัตรทางความคิดของผู้หญิงเสื้อเหลือง

            ดังที่พูดในตอนต้น ความรู้สึกกลายเป็นแดงและเป็นเหลืองมันเกิดพร้อมกันประมาณปี 48-49 เขาเริ่มต้นพร้อมๆกันเลย แต่อะไรไม่ทราบที่ทำให้เขารู้สึกและบอกว่าตัวเองเป็นเหลือง แต่อีกคนขอบอกว่าตัวเองเป็นแดง เริ่มจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ แดงบอกว่าฟังแล้วโมโห เหลืองฟังแล้วเกิดความรู้สึกหวงสมบัติชาติ เกลียดผู้นำไม่ซื่อสัตย์ และขี้โกง ส่วนแดงบอกว่าในโลกนี้มันจะมีคน โกงเพียงคนเดียวเหรอ คนอื่นไม่มีใครโกงเลยเหรอ จึงขุดคุ้ยอยู่คนเดียว จึงโมโหและคิดว่าเป็นสองมาตรฐาน อีกคนบอกว่ายิ่งฟังยิ่งชอบ และยอมรับให้มีรัฐประหาร ทั้งๆที่เคยต่อต้านสมัยพฤกษาทมิฬ  โอ้โห คือเหมือนกับว่าเริ่มต้นมาพร้อมๆกันแล้วเพิ่งมาแยกทีหลังนะคะ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือว่าการเป็นเหลืองและแดงมีพลวัตมากและมีความผสมผสานกันหลายเรื่องมาก ตนจึงแบ่งเหลืองออกเป็น 3 ยุคคร่าวๆ
ตอนเริ่มต้นคุย ดิฉันเริ่มจากกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นเหลือง และทำความเข้าใจว่าทำไมคิดว่าตัวเองไม่ใช่แดง  เหลืองแม้หลากในกลุ่มตัวเองแต่นิยาม แบบรวบยอดว่าสั้นๆว่า ก็เขาไม่ต่อต้านรัฐประหาร เขาอยากปกป้องสถาบัน สมบัติชาติจากนายทุนต่างชาติ และเหลืองชอบพันธมิตรมาก พันธมิตรสุภาพ ไม่ชอบความรุนแรง ที่สำคัญ ไม่เคยตั้งใจที่จะพาคนไปตาย เมื่อไรที่ยกระดับไปถึงความเสี่ยงพันธมิตรก็จะลดลงมา เขารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็ชอบประชาธิปัตย์อย่างที่คุยไปแล้ว นอกจากนี้ผู้นำหน้าตาดี แล้วมีหลายโมเดลมากด้วย คนที่ชอบในตัวคุณจำลองก็สามารถอยู่รวมกับความคิดและการนำของคุณจำลองได้ คนที่ชอบคุณสนธิ ก็เช่นกัน เรียกว่า 5 คน 5 โมเดล ท่าน ทั้ง 5 สามารถสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มผู้นำในหมู่บ้านไปผูกพันกับแต่ละคนได้เหมือนกับดารา
            พอยุคที่สอง หลังจากเสื้อแดงมาครองเมืองแทนเสื้อเหลือง การเมืองของคนเสื้อเหลืองก็เปลี่ยนไป คือยังกลัวคุณทักษิณอยู่ แล้วก็ไม่ชอบนปช.เพราะรุนแรงก้าวร้าว เอาคนไปตาย ชอบใช่วาจาก้าวร้าวสถาบันเบื้องสูง แต่รู้สึกผิดหวังรัฐประหาร รัฐบาลของคุณสรยุทธ์ก็ตอบโจทย์พวกเขาไม่ได้ บางคนไม่แน่ใจว่าสมบัติชาติและการโกงชาติได้ถูกกำจัดไปได้จริงหรือเปล่า และมิหนำซ้ำการพัฒนาในชนบท เขามองประเด็นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ให้ถึงรากหญ้า พบว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาเก่าที่คุณทักษิณเคยกวาดออกไปกลับมาเหมือนเดิม บางคนเริ่มลังเลว่าจะเลือกรัฐประหารอยู่หรือเปล่าถ้าเวลาย้อนกลับไปได้ บางคนแม้ลังเลแต่คิดว่าอาจเลือกทางเดิมเพราะตีบตันคิดไม่ออกว่ามีพลังทางเลือกอื่นๆให้หยิบใช้ได้ รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่เก่งเศรษฐกิจรากหญ้า
            เหลืองยุคที่สาม หลังจากเหลืองพาติฉันไปคุยกับแดง เราก็ได้เหลืองใหม่  คือ พอคุยไปคุยมา เขาก็บอกว่าตัวเองจริงๆไม่ใช่เหลืองจ๋าหรอก ก็เห็นด้วยหมดแหละที่แดงพูด ยกเว้นนปช.ที่ยังไม่ชอบเพราะนิยมความรุนแรง ส่วนที่เห็นด้วย อาทิ นโยบายของคุณทักษิณที่โดดเด่น ทั้งสองขาจริงๆ  คือ ขา เศรษฐกิจรากหญ้าและประชานิยม รัฐประหารก็เห็นด้วยว่าไม่ควรมีแล้ว ส่วนสถาบันเบื้องสูง ไม่ชอบแดงที่ชอบใช้วาจาจาบจ้วง ไม่เหมาะสม แต่หลายๆส่วนก็สร้างความลำบากให้ชาวบ้านจริงๆ
ในการพูดคุยกับแดง แดงก็บอกว่า โดยเฉพาะแดงที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องตอบแทนบุญคุณคุณทักษิณ เขาบอกว่าสิ่งที่อยากจะเห็นคืออยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนก็แล้วแต่ที่สามารถสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับนโยบายช่วยรากหญ้าได้จริงๆ อย่างประชาธิปัตย์ค้าขายไม่เก่ง ก็ต้องทำให้ประชานิยมที่มีอยู่ให้มั่นคงและต้องทำให้ดีกว่าเก่า ให้มากกว่าเก่า แดงมองว่านโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์ยังไม่มีอันไหนเด่นเกินของคุณทักษิณ  อย่างดีแค่เสมอตัว แต่วันหนึ่งแดงอุดมการณ์ก็เสนอว่า แต่เรื่องการประกันราคาข้าวล่วงหน้า อันนี้ถูกใจชาวนามาก เขาบอกอีกว่าถ้าประกาศว่าต้องทำและขยับไปเรื่อยๆอย่างนี้ ชาวบ้านก็จะเริ่มมีความมั่นใจว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพรรคเดิม แต่ที่คิดถึงพรรคเดิมเพราะเขาต้องการจะมีความมั่นคงในแง่ของสวัสดิการ อันนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคแล้ว แต่ที่อยากเก็บพรรคไทยรักไทยไว้ก็เชื่อมั่นว่าตรงนี้ต้องมีต่อแน่นอน
สำหรับสองมาตรฐาน เหลืองใหม่บอกว่าสองมาตรฐานนี่ทุกคนเจอหมดเลยผู้หญิง และทั้งเหลืองทั้งแดงบอกว่าเป็นความขัดแย้งชัดเจนระหว่างเขากับข้าราชการ เพราะสองมาตรฐานหรืออำมาตย์นี่เขาไม่ได้พูดถึงใครที่อยู่ไกล แต่อำมาตย์ที่เขาเห็น คือครูในโรงเรียน คือนายอำเภอ คือหมอพยาบาล คือคนที่เขาติดต่อในชีวิตประจำวันที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนเลย ไปโรงพยาบาลใครมาก็ไม่รู้แซงคิวไป ไปอำเภอก็นั่งหวีผมไม่ถามเลย แล้วพออีกคนรู้ว่าเป็นข้าราชการก็บอกว่าโอ้ต้องรีบทำให้ก่อน เพราะเขาจะต้องลางานมาใหม่ ชาวบ้านมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้เยอะมาก และบอกว่านี่คือสองมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องอำมาตย์กับไพร่ไกลตัว เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน แล้วเขารู้สึกว่าตอนที่คุณทักษิณอยู่นี่ข้าราชการดูแลชาวบ้านมากกว่าประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์นี่ไม่ดูแลข้าราชการเลย ปล่อยให้ข้าราชการกดหัวประชาชน เคยทำงานตอนเที่ยงก็ไม่ทำ เคยพูดดีก็ไม่ดี คนหนึ่งบอกว่าเขาไปทำบัตรสมาร์ตการ์ด พอยื่นบัตรข้าราชการบอกว่าไปทำที่ ดูไบโน่น ไปทำกับทักษิณที่ดูไบโน่น โกรธมากกลับบ้านไปใหม่ คาดผมด้วยผ้าสองมาตรฐานเข้าไปเลย แล้วก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง นี่คือตัวอย่างสองมาตรฐานที่เขารู้สึกตลอดเวลาก็คือการที่เขาปะทะในชีวิตประจำวัน เขาต้องการพรรคการเมือง พรรคไหนก็ได้ ที่พิสูจน์ว่าดูแลเขามากกว่าข้าราชการ แต่ประชาธิปัตย์ดูแลราชการมากกว่าประชาชน เขารู้สึกอย่างนั้น

แหล่ง อีเมล์ส่งต่อ/10-10-10

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น