ประเด็นผู้หญิง และการเปลี่ยนแปลงบทบาทขององค์กรสตรีในเอเชียอุษาคเนย์
(อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์)[1]
ดรุณี ตันติวิรมานนท์ (รุ่น 2)
ประเทศไทย
ย่อความ
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์ได้เริ่มสวมบทผู้นำระดับชาติมากขึ้น ในขณะที่บทบาทของผู้หญิงในภาคประชาสังคมได้ขยายตัวกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงสมควรที่จะมีการศึกษากิจกรรมต่างๆ ขององค์กรสตรี เพื่อเพิ่มความเข้าใจถึงปัจจัยที่สนับสนุนวิวัฒนาการดังกล่าว รวมทั้งการทำงานและผลงานที่องค์กรเหล่านี้ได้รณรงค์ผลักดัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการเมืองระบอบประชาธิปไตย สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ. บทความนี้ ศึกษาถึงบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสามประเทศในภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์—อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์—รวมทั้งวิเคราะห์การเติบโตของบทบาทผู้นำสตรี และการมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคม ภายใต้ปัจจัยจำกัดและปัจจัยเอื้อต่างๆ โดยเริ่มด้วยการจำแนกประเภทงานของกลุ่มสตรีในภาคประชาสังคม ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนิติบัญญัติระดับชาติ และส่งท้ายด้วยการอภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรในภาครัฐ และ ภาคเอกชน ในระดับประเทศ และ นานาชาติ เพื่อฉายภาพของบทบาทขององค์กรเอกชนสตรี (เอ็นจีโอ) ที่เกิดขึ้นและที่เป็นไปได้ ในการตั้งโจทย์และแก้ไขประเด็นปัญหาระดับชาติและระดับภูมิภาค
บทนำ
ภูมิหลัง และวัตถุประสงค์
ในขณะที่ผู้หญิงชั้นนำ ๒-๓ คน ในเอเชียอุษาคเนย์ (Aquino, Arroyo และ Megawati) ได้มีบทบาทโดดเด่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง ผู้หญิงจำนวนมากกว่าได้รวมตัวกัน ก่อตั้งเป็นองค์กรสตรี เพื่อแก้ไขปัญหาที่คุกคามผู้หญิงด้วยกัน การเคลื่อนไหวของขบวนการสตรีโลก กับการก้าวสู่บทบาทผู้นำสาธารณะของผู้หญิงเป็นวิวัฒนาการที่ทรงพลังหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ซึ่งต่อเนื่องมาในศตวรรษที่ 21 นักกิจกรรมและกลุ่มผู้หญิงทั้งในเมืองและชนบททั่วภาคพื้นเอเชียอุษาคเนย์ ได้แสดงให้เห็นว่า สุขภาพของชาติขึ้นกับการทำงานและกิจกรรมของผู้หญิงในชาติด้วย
ในช่วงเวลาระหว่างและหลัง สองทศวรรษสตรีของสหประชาชาติ (1974—1995) กิจกรรมหมู่ที่เน้นประเด็นผู้หญิง ได้ขยายตัวทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพไปทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียอุษาคเนย์ด้วย ในเมืองหลวง เช่น จาการ์ตา และมานิลา มีองค์กรเอกชน/เอ็นจีโอผู้หญิงหลายสิบองค์กร กลุ่มสตรีดั้งเดิมที่เคยเน้นเรื่องการให้บริการสงเคราะห์ ได้ค่อยๆ เลื่อนจุดยืนสู่ประเด็นสวัสดิการสังคม และสู่กิจกรรมการทวงสิทธิ์ เพื่อปลุกให้ผู้หญิงมีความตื่นตัวในสิทธิความเป็นคนของตน กลุ่มสตรีได้มุ่งเข้าหาหญิงด้อยโอกาส—ทั้งในเมืองและชนบท—เพื่อถ่ายทอดเครื่องมือทางความคิดเพื่อให้ผู้หญิงรู้จักวิเคราะห์ เข้าใจ และลุกขึ้นปรับเปลี่ยนสถานการณ์ของตนเอง การเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณและการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพดังกล่าว ส่งสัญญาณว่าจำเป็นที่จะต้องพัฒนากรอบคิดในบริบทของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Calderon et al, 1992) เพื่อช่วยให้สังคมเกิดความเข้าใจในกิจกรรมสตรีซึ่งมีแถบสีหลากหลาย อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมกลุ่มสตรีเหล่านี้ ให้มีบทบาทที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการสร้างประชาสังคมที่มีความอ่อนไหว และสามารถตอบสนองต่อประเด็นเจนเดอร์ (เพศสภาพ มิติหญิงชาย หรือ บทบาทความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างหญิงชาย)
ในช่วงทศวรรษ 1990 ได้มีผลงานวิจัยและบทความมากมายเกี่ยวกับภาคประชาสังคม[2] แม้ความสนใจต่อภาคประชาสังคมจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังขาดมิติเจนเดอร์ งานศึกษาชิ้นนี้ พยายามเติมเต็มในช่องว่างนี้ โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศในกรณีศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรภาคประชาสังคมที่นำโดยผู้หญิงในภาคพื้นเอเชียอุษาคเนย์ โดยจะกล่าวถึงสมรรถนะของผู้ขับเคลื่อน และปัจจัยที่กำกับการเคลื่อนตัวในช่วงรอยต่อสู่การก่อตัวของกลไกประชาธิปไตยจนสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งให้ผู้หญิงสามารถมีส่วนร่วม คำถามหลักในบทความนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ได้เอื้อหรือขัดขวางโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคประชาสังคมอย่างไร
วัตถุประสงค์ของการศึกษาชิ้นนี้ คือ (1) เพื่ออภิปรายประเด็นและกิจกรรมร่วมสมัยของผู้หญิงในองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ (2) เพื่อวิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในงานบริการสวัสดิการสาธารณะ และการเมืองประชาธิปไตย (3) เพื่อระบุปัจจัยเอื้อและอุปสรรคเฉพาะของแต่ละประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ และในภาคประชาสังคม และ (4) เพื่อวิเคราะห์บทบาทและความสัมพันธ์ความร่วมมือในระดับภาคพื้นเอเชียอุษาคเนย์ ในการสนับสนุนหรือตอบสนองต่อประเด็นห่วงใยของเครือข่ายผู้หญิง และภาคประชาสังคม
กรอบทฤษฎี: สนามพลัง (Force Fields)
ในการฉายภาพของการเคลื่อนไหวของผู้หญิงร่วมสมัย (เสียงเรียกร้อง แนวโน้ม และสิ่งท้าทาย) ในระดับประเทศและภูมิภาค จำเป็นต้องย้อนรอยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของการเคลื่อนไหวในกิจกรรมหมู่ของผู้หญิง มีสองกรอบคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาถึงปัจจัยเอื้อและอุปสรรค ซึ่งมีทั้งแง่สถาบัน (กฎหมาย) และบริบท (สังคม เศรษฐกิจ) แนวคิดของ Habermas (1989) เกี่ยวกับ การเติบโตของพื้นที่สาธารณะ อธิบายถึงการสรรค์สร้างพลเมืองสาธารณะ รวมทั้งการปรุงแต่งมายาคติทางชนชั้นและเพศสภาพ ดังปรากฏทุกวันนี้ ในสังคมตะวันตก แนวคิดของ Bourdieu เรื่อง force fields (สนามพลัง) ช่วยเปิดเผยพลังทางการเมืองและวัฒนธรรม ที่ประกบ กำกับ เอ็นจีโอผู้หญิง และสร้างบรรยากาศและเหตุปัจจัย ที่อาจจะเอื้อหรือขัดขวางการขับเคลื่อนของผู้หญิง (Ray 1999) “สนาม” คือ โครงสร้างและเหตุปัจจัยทางสังคม ที่องค์กรสตรีฝังตัวอยู่ และดิ้นรนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง องค์กรเองก็ได้รับมรดกตกทอดด้านสนามและความสัมพันธ์ทางสังคม แต่ละองค์กรจึงปฏิบัติการภายใต้มรดกนี้ รวมทั้งมีปฏิกิริยาที่จะปรับเปลี่ยนมัน ดังนั้น สนามก็คือ โครงสร้างการจัดเรียงตัวของกระแสพลังต่างๆ และเป็นเวทีของการดิ้นรนต่อสู้ ลักษณะเหรียญสองหน้าของสนาม มีนัยสำคัญเพราะมันช่วยให้มองเห็นประเด็นเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมักจะถูกมองข้ามในการวิเคราะห์แนวสังคมวิทยา
เดิมการเคลื่อนไหวของหน่วยปฏิบัติการและสังคม มักจะถูกวิเคราะห์ในแง่ “โอกาสในโครงสร้างทางการเมือง” (“political opportunity structure” กล่าวคือ แต่ละกลุ่มสามารถใช้โอกาสโดยการเชื่อมความสัมพันธ์กับอิทธิพลภายนอก) หรือ “การระดมทรัพยากร” (“resource mobilization” ทรัพยากรในที่นี้ คือ เงินทุนและสภาวะผู้นำ) การเน้นที่หลักการใช้ประโยชน์ (utilitarian) เช่นนี้ ได้มองข้ามปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะดำรงอยู่ได้อย่างอิสระด้วยตัวของมันเอง การวิเคราะห์เชิงสนามพลัง จึงเป็นการแก้ไขจุดบอดนี้ และให้น้ำหนักกับความสามารถในการอธิบายเชิงวัฒนธรรม ว่าการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ Pierre Bourdieu กล่าวว่า การคิดในลักษณะสนาม คือการคิดถึงความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ
คำนิยาม
“ประชาสังคม” (Civil society) ได้ถูกนิยามโดยแนวคิดรัฐศาสตร์ (ว่าเป็นสังคมที่สถาบันพลเรือนมีความสำคัญ) และโดยแนวคิดสังคมวิทยา (ว่าเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกันทางสังคม ระหว่างภาครัฐและภาคครัวเรือน อันมีองค์กรสื่อกลางเป็นเจ้าเรือนอยู่) ในที่นี้ “การปกครอง” (Governance) หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ทั้งมวลระหว่าง ภาคประชาสังคมกับรัฐบาล “ธรรมาภิบาล” (Good governance) มีนัยของความโปร่งใส และความเชื่อถือได้ ปัจจัยเอื้อ (Facilitators) คือ ปัจจัยเชิงสถาบันและบริบทที่มีอิทธิพลต่อการเปิด/ขยายโอกาสต่างๆ คำว่า “การปฏิบัติการอย่างเป็นหมู่คณะ” (collective action) บางครั้งจะถูกใช้แทนคำว่า ขบวนการสตรี (women’s movements) เพราะกิจกรรมสตรี ครอบคลุมหลากหลายประเด็นและภาคส่วน ตั้งแต่ ภาคอุตสาหกรรม โรงงานการผลิต และการบริการ จนถึงองค์กรฐานรากของสังคม คำว่า “ขบวนการสตรี” มักถูกใช้ในความหมายที่ว่า ผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความสนใจในผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interest) นั่นคือ ผู้หญิงโดยรวมมีความประสงค์ที่จะมีโอกาสเช่นเดียวกับชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการศึกษา—ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาตนเอง
การเก็บข้อมูล
งานศึกษานี้ เป็นผลจากการลงเก็บข้อมูลในสามประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน (สองเดือนในแต่ละประเทศ—อินโดนีเชีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์) ตั้งแต่ ตุลาคม 2002 ถึง กรกฎาคม 2003 ข้อมูลปฐมภูมิ มาจากการสัมภาษณ์ นักกิจกรรมหลักในองค์กรสตรีต่างๆ ผู้สังเกตการณ์ และนักวิชาการ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมหรือการอบรมที่จัดโดยกลุ่มสตรีเท่าที่โอกาสจะอำนวย เพื่อ ค้นหาข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับเอ็นจีโอผู้หญิง ประเด็นห่วงใย สภาวะผู้นำ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง ข้อมูลทุติยภูมิ มาจากสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือ รายงาน วารสาร และข่าวในหนังสือพิมพ์
องค์กรที่ดิฉันได้สัมภาษณ์ มีทั้งกระทรวง คณะกรรมการระดับชาติ และเอ็นจีโอในระดับประเทศ ภูมิภาค จนถึงนานาชาติ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่สนับสนุนด้านทุนและเทคนิค ตลอดจนสถานทูตและสถานกงสุล[3] ขอบข่ายของการอภิปรายในบทความนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของมุมมองและแง่คิดในภูมิภาคนี้ และสรุปสิ่งที่ได้ค้นพบ เพื่อให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ของประเด็นหลัก และบุคลากรที่ปฏิบัติการในประเทศเหล่านี้ เพื่อรักษาสิทธิส่วนตัว บทความนี้จึงไม่อ้างชื่อผู้ให้ข้อมูล[4]
การเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครั้งนี้ เป็นโอกาสของการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะผู้นำผู้หญิง ประเด็นผู้หญิง และองค์กรผู้หญิง ในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสามทศวรรษสุดท้าย ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร? องค์กรผู้หญิงได้เผชิญปัญหาอะไรบ้าง? อะไรคืออุปสรรค และสิ่งท้าทายข้างหน้า? ข้อมูลนี้จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในปัจจัยพื้นฐาน—ทั้งระดับชาติ และภูมิภาค—เกี่ยวกับประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย วงการนักวิชาการ และนักพัฒนา ในการวางแผน และกำหนดนโยบาย เพื่อการปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในภาคพื้นเอเชียอุษาคเนย์ต่อไป
บทสรุปของผลการค้นคว้า และบทความชิ้นนี้
ตอนแรก ดิฉันได้ตั้งคำถามว่า อะไรคือความเหมือนและความต่างของประเด็นเพศสภาพและขององค์กรสตรีในประเทศเหล่านี้? ความเหมือนประการหนึ่งที่พบ คือ ผู้หญิงทำงานในทุกที่และมีบทบาทหลายด้าน แต่ผู้หญิงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในทุกระดับและในหลายภาคส่วน ทั้งสามประเทศมีประเพณีวิถีการบริหารจัดการการรวมตัว การทำกิจกรรมหมู่ และการตั้งคำถามที่สืบทอดกันมา แต่ระบอบเผด็จการเช่น ซูฮาร์โต (Suharto) และมาร์กอส (Marcos) ได้ทำลายวิญญาณและสมรรถนะดังกล่าวในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ หลังจากประชาธิปไตยได้เริ่มเปิดพื้นที่ขึ้นในทศวรรษ 1990 องค์กรผู้หญิงได้ผุดขึ้นมามากมายเพื่อให้ความช่วยเหลือและบริการแก่หญิงด้อยโอกาส สิ่งท้าทายปัจจุบัน คือ องค์กรผู้หญิงจะสามารถหยั่งรากกิจกรรมให้ลึกและกว้างขึ้นอย่างไร เพื่อขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น การทำความเข้าใจกับปฏิบัติการและกิจกรรมของผู้หญิงในบริบทของแต่ละประเทศ อาจเอื้อต่อกระบวนการเกาะเกี่ยวกันให้เป็นเครือข่ายและการสร้างพันธมิตรระดับภูมิภาค ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่กำลังเติบโตได้
บทความนี้แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นการเกริ่นนำถึงวัตถุประสงค์ และวิธีการเก็บข้อมูล ส่วนที่สองบรรยายถึงบริบทของกรณีศึกษาในแต่ละประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ประเด็นร่วมสมัย และกิจกรรมขององค์กรสตรีในระดับชาติและภูมิภาค สุดท้าย ส่วนที่สาม อภิปรายถึงบทบาทของสนามพลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งวิเคราะห์บทบาทของแหล่งทุน และปฏิบัติการที่พึงประสงค์ในระดับชาติและนานาชาติ
กรณีศึกษา
องค์กรสตรีในอินโดนีเซีย
ความกว้างใหญ่และการกระจายของหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่รวมกันเป็นประเทศอินโดนีเซีย เป็นพื้นฐานของความหลากหลายและร่ำรวยทางนิเวศ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และศาสนา ระบบวงศาคณาญาติ มีทั้งการสืบสายทางมารดา ทางบิดา และนับถือญาติทั้งสองฝ่าย นอกจากศาสนาอิสลามแล้ว ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น เช่น ฮินดู พุทธ และ คริสต์ อินโดนีเซียมีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก และมีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมดัทช์ นานประมาณสองศตวรรษ
ผู้หญิงคนแรกที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวของสตรีในอินโดนีเซีย คือ การ์ตินี (Kartini 1879-1904). การ์ตินีเป็นชาวชวาเกิดมาในครอบครัวตระกูลสูงส่ง เธอได้บรรยายความฝันและการดิ้นรนของเธอในจดหมายที่เขียนถึงเพื่อนในฮอลแลนด์ จดหมายของเธอถูกรวบรวมและตีพิมพ์ในปี 1911 ในหัวเรื่อง ผ่านพ้นความมืดสู่แสงสว่าง (Through Darkness into Light) ในจดหมายของการ์ตินี เธอย้ำถึงความต้องการของหญิงอินโดนีเซียทั้งมวล ที่ต้องการมีโอกาสเท่าเทียมกับชายในการศึกษา หลังจากที่การ์ตินีเสียชีวิต องค์กรสตรีก็เริ่มอุบัติขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เช่น Putri Mardika (1912) และ Aisyah (1917) ในวันที่ 22 ธันวาคม 1928 องค์กรผู้หญิง 30 องค์กร ได้ประชุมร่วมกัน ภายใต้ชื่อ คองเกรสผู้หญิงอินโดนีเซีย (Kongress Perempuan Indonesia) ในที่ประชุมมีการถกประเด็น การศึกษาสำหรับเด็กหญิง การบังคับแต่งงานเด็ก เรื่องผัวเดียวมากเมีย และการขายเด็กหญิง ในปี 1929 มีการเปลี่ยนชื่อของคองเกรสจาก Perikatan Perkumpulan Perempuan Indonesia (Indonesian Women’s League Association) เป็น Perikatan Perkumpulan Istri Indonesia (Indonesian Wives’ League Association) การเปลี่ยนชื่อของคองเกรสฯ บ่อยๆ ตั้งแต่เริ่มต้น สะท้อนถึงความหลากหลายและไม่เป็นเอกภาพในจุดยืนของผู้หญิงที่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งการแทรกแซงทางการเมืองมหภาคด้วย
คองเกรสฯ มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งญี่ปุ่นบุกยึดประเทศ ในปี 1942 ในระหว่างการครอบครองของญี่ปุ่น (1942 - 45) การเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมทั้งปวงถูกระงับ สำหรับผู้หญิง ญี่ปุ่นได้นำรูปแบบองค์กรสตรีของญี่ปุ่นมาสวมทับ เรียกว่า “ฟูจินไก” (Fujinkai) ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับภรรยาของข้าราชการ ฟูจินไก สนับสนุนสงคราม และการขนถ่ายเด็กออกไปหลบในที่ปลอดภัย ผู้หญิงอินโดนีเซียที่สังกัด ฟูจินไก ได้ร่วมเดินขบวนสวนสนาม เป็นหน่วยอาสาในการปฐมพยาบาล การกู้อัคคีภัย และในกิจกรรมเกษตรและถนอมอาหาร
ก่อนการถอนทัพของญี่ปุ่น อินโดนีเซียได้ประกาศอิสรภาพ ในปี 1945 แต่เจ้าอาณานิคมดัทช์ย้อนกลับมาอีก คณะกู้ชาติอินโดนีเซียจึงต้องใช้เวลาอีก 5 ปี ในการต่อต้านการหวนกลับมาของเจ้าอาณานิคมดัทช์ กว่าจะได้อิสรภาพกลับคืนมา ในช่วง 1945 - 66 ซูการ์โน (Sukarno) ได้ชักชวนให้ผู้หญิงเข้าร่วมในการเมืองปลดแอกเจ้าอาณานิคม ด้วยแรงชักชวนนี้ องค์กรสตรีใหม่จึงเริ่มเกิดขึ้นมากมาย[5] ที่โดดเด่นที่สุด คือ เปอร์วาริ (PERWARI—Persatuan Wanita Republik Indonesia) และ เกอร์วานิ (GERWANI—Gerakan Wanita Indonesia)[6] เกอร์วานิ ได้รับอิทธิพลของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนที่แน่วแน่และมีแนวคิดเชิงวิพากษ์มากที่สุดในการต่อสู้เพื่อปลดแอกผู้หญิง เกอร์วานิ ยังเป็นองค์กรเดียวเท่านั้น ที่มีฐานการขับเคลื่อนมวลชนที่กว้างขวาง มีสมาชิกผู้หญิงทั้งในเมืองและชนบท จึงกลายเป็นฐานสำคัญที่สนับสนุนซูการ์โน (Wieringa 2002)
หลังจากที่ขบวนการฝ่ายซ้ายถูกกำจัดอย่างราบคาบ ในปี 1966 ซูฮาร์โต ได้ประกาศและขนานนามยุคของเขาเป็น New Order (ระเบียบใหม่) และได้ส่งเสริม ลัทธิอิบู (ibu-ism, ibu แปลว่า “แม่”) ซึ่งเป็นการจำกัดบทบาทผู้หญิงให้อยู่ในแวดวงเมียและแม่ ส่วนการปราบปรามผู้ต่อต้าน ซูฮาร์โตได้ใช้สามมาตรการเด็ดขาดในการควบคุมจัดการ ขั้นแรก ใช้วิธีเหมือนกับในยุคที่ญี่ปุ่นยึดครอง คือ ได้ปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมทั้งหมด รวมทั้งขบวนการนักศึกษา ในขณะเดียวกัน ก็ยกย่องบทบาทในครัวเรือนของผู้หญิง ขั้นที่สอง มีการใส่ร้ายป้ายสีให้ เกอร์วานิ กลายเป็นดั่งนางมารร้ายที่น่าสะพรึงกลัว และได้บดขยี้ขบวนการนี้อย่างถาวร โดยตอกย้ำฉากเหตุการณ์ลึกลับซับซ้อนที่เหี้ยมโหด [สนใจอ่านเพิ่มจากบทความแปลของ นาเดียร์ บามาธัช ในรวมบทความเล่มเดียวกันนี้ได้-ผู้แปล] จนสมาชิกหญิงของเกอร์วานิ ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์หญิงกักขฬะ ไร้ศีลธรรมและยางอายทางเพศ เหตุการณ์โหดเหี้ยมที่บิดเบือนดังกล่าว เป็นข้ออ้างที่เด็ดยอดของความชอบธรรม และความชอบด้วยกฎหมายของเกอร์วานิ รวมทั้งองค์กรสตรีอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน (Wieringa, 2002) และขั้นที่สาม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการต้อนผู้หญิงให้กลับสู่ครัวเรือน ซูฮาร์โต ได้ก่อตั้งองค์กรแม่บ้านต่างๆขึ้น เช่น ธรรมวนิตา—Dharma Wanita (สมาคมภรรยาข้าราชการ) Dharma Pertiwi (สมาคมภรรยาทหาร) และ PKK (Pendidikan Kesejahteraan Keluarga องค์กรส่งเสริมสวัสดิการครอบครัวในชุมชน) ฐานร่วมขององค์กรสตรีเหล่านี้ คือ ตีกรอบให้ผู้หญิงอยู่ในสถานภาพ “เมีย” โดยกำหนดให้มีบทบาทหลัก คือ ปรับตัวสนองตอบอาชีพของสามี สมัยของซูฮาร์โต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หญิงด้วย ซึ่งหลายคนก็เป็นผลพวงของมาตรการนี้ คือ เป็นสมาชิกครอบครัวของสมาชิกสภาผู้แทนฯชาย (Tummenggung, 2000)[7] คองเกรสฯ ที่เกิดขึ้นก่อนการประกาศอิสรภาพ ได้กลายเป็น โควานิ (KOWANI) ภายใต้ความอุปถัมภ์ของรัฐบาล ในช่วง 31 ปีของยุค “ระเบียบใหม่” ของซูฮาร์โต
ทุกวันนี้ ผู้หญิงอินโดนีเซียทำงานกันแข็งขันในเมืองและชนบท แต่โดยทั่วไป ผู้หญิงก็ยังด้อยคุณค่ากว่าผู้ชาย แรงงานสตรีมีจำนวนเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานชาย ในระบบข้าราชการ มีผู้หญิงอยู่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่มีผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ในตำแหน่งผู้นำระดับหมู่บ้าน ถึงระดับชาติ มีผู้หญิงอยู่เพียง 2 และ 8-9 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จำนวนหญิงที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีเป็นสองเท่าของชาย ในโรงเรียน อัตราการหยุดเรียนของนักเรียนหญิงสูงกว่าชาย การแต่งงานเร็วเป็นประเด็นน่าห่วงใยสำคัญหนึ่ง พอๆ กับอัตราการตายของมารดาหลังคลอดลูก อัตราเฉลี่ยของการตายของมารดาดังกล่าวในปี 2002 คือ 400/100,000 ราย อัตรานี้สูงขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและด้อยพัฒนา เช่น Nusa Tenggara (727) และ Papua (950) ผู้หญิงทำงานในทุกภาคส่วน—ในระบบ นอกระบบ และในบ้านเรือน—แต่ได้รับค่าจ้างต่ำและทำงานภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขที่ไร้คุณภาพ เพื่อหางานใหม่ที่ดีกว่า ผู้หญิงได้ย้ายถิ่นข้ามทะเลไปหางานทำ ในด้านสถิติสุขภาพ การศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทก็สูงมากเช่นกัน (Sumbung, 1996)
แม้ว่ารัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียจะให้หลักประกันสิทธิเสมอภาคของหญิงและชาย กระทรวงสตรี (State Ministry of Women’s Empowerment) ระบุว่า อย่างน้อย มีกฎหมาย 32 ข้อ ที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิง ส่วนใหญ่ของกฎหมายเหล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่าร้าง การเลือกปฏิบัติในสถาบันสมรสยังคงอยู่ยงคงกะพัน เพราะ ยังมีกฎหมายมากมายที่เข้าข้างผู้ชาย เช่น UU No. 1/1974 ระบุว่า ผู้หญิงสามารถจะสมรสได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากบิดาหรือผู้ปกครอง มาตรา 31 ให้อำนาจกับสามีในฐานะหัวหน้าครอบครัว มาตรา 34 จำกัดหน้าที่ของภรรยาไว้ที่จัดการบ้านเรือนให้ดี ส่วนหน้าที่ของสามี คือ ปกป้องภรรยาและจัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับครัวเรือนตามความสามารถ พูดง่ายๆ คือ สามีเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวตามกฎหมาย คือ หารายได้ให้ภรรยาดูแลครอบครัว เด็ก และคนชรา แต่วิถีของผู้หญิงที่ออกทำงานนอกบ้านนั้น ไม่สอดคล้องกับรูปแบบนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนความคาดหมาย หรือสมมติฐานที่ว่า ผู้หญิงทุกคนจะต้องมีสามีที่ทำงานได้ ถ้าสามีของเธอพิการหรือตกงาน หญิงทำงานไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเบี้ยเลี้ยงสำหรับสามีที่ต้องพึ่งพาตน[8] ในขณะที่กฎหมายเคร่งครัดกับเรื่องเพศของผู้หญิง กลับไม่จำกัดเพศวิถีของชาย การมีภรรยาหลายคนถือว่าถูกกฎหมาย และสามีสามารถอ้างเหคุผลว่า ภรรยาไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศของเขาหรือเป็นหมัน กฎหมาย PP No. 10/1983 ว่าด้วยการสมรสและการหย่าร้างอนุญาตให้ข้าราชการมีภรรยาน้อยได้ ถ้าผู้บังคับบัญชา หรือภรรยาหลวงอนุญาต (Pakpahan, 1992)
แม้ว่าซูฮาร์โต จะกำราบกลุ่มที่ส่งเสียงดังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กลุ่มผู้หญิงรุ่นใหม่ได้เริ่มผุดขึ้นมาในทศวรรษ 1980 กลุ่ม ยะสานติ (YASANTI) ก่อตั้งขึ้นในปี 1982 ในเมือง โย๊คจาการ์ตา (Yogyakarta) มีวัตถุประสงค์ ช่วยเหลือแรงงานหญิงด้านสวัสดิการ ในกรุงจาการ์ตา มีกลุ่มกัลยาณมิตรา (Kalaynamitra) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1984 เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้หญิง และ กลุ่ม PPPW ในปี 1986 เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้หญิง ในทศวรรษ 1990 มีกลุ่มใหม่เกิดมากขึ้น เช่น Solidaritas Perempuan (1990, แรงงานหญิงอพยพ) Rifka Annisa (1993, ความรุนแรงในครอบครัว) Mitra Perempuan (1995, ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงยามวิกฤต) และ APIK (1996, ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย) หลังจากซูฮาร์โตถูกโค่นอำนาจลงในปี 1998 มีการจัดตั้ง สองเครือข่ายสตรีที่สำคัญ คือ Koalisi Perempuan Indonesia (Coalition of Women of Indonesia) และ Komnas Perempuan (คณะกรรมาธิการแห่งชาติในการดูแลปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง) ในปี 2000 กลุ่มใหม่ๆ ที่ตามมามี KaPal Perempuan (การศึกษาแบบคิดวิเคราะห์) Indonesian Center for Women in Politics (ICWIP, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง) และ Women Research Institute (WRI, ทำการวิจัยเกี่ยวกับเงื่อนไขและความเป็นอยู่ของผู้หญิงอินโดนีเซีย) ในส่วนราชการ ก็มี State Ministry of Women’s Empowerment (กระทรวงสตรี) และ National Family Planning Board (BKKBN, คณะกรรมการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1970) ที่ทำงานประเด็นสตรี
องค์กรทางศาสนาต่างๆ มีหน่วยงานสตรีตั้งแต่ครั้งต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมดัชท์ ในวงการศาสนาอิสลาม มี Fatayat และ Muslimat ของ Nahdlatul Ulama (NU) Aisyah ของ Mohammadiyah[9] ส่วนในองค์กรศาสนาคริสต์ มี Wanita Katholic ของนิกายคาทอลิก ซึ่งมีประวัติการทำงานด้านการให้บริการแก่ผู้หญิงมาเป็นเวลายาวนาน องค์กรดั้งเดิมเหล่านี้ ได้หันมาทำงานในประเด็นที่กลุ่มเอ็นจีโอสตรีอื่นๆ ได้กรุยทางไว้ เช่น เรื่องสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ ความรุนแรงต่อผู้หญิง และกฎหมายครอบครัว ในด้านวิชาการ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ซูฮาร์โต ได้มีคำสั่งให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดศูนย์สตรีศึกษา (Pusat Studi Wanita) ขึ้น ปัจจุบัน อินโดนีเซีย มีศูนย์สตรีศึกษากว่าหนึ่งร้อยแห่ง แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีประสิทธิภาพ โครงการสตรีศึกษา Kajian Wanita ของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) นับได้ว่าเป็นผู้นำในสาขาวิชานี้ ทางโครงการฯ ได้จัดตั้งกลุ่ม Convention Watch ขึ้นในปี 1994 เพื่อติดตามและอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินงานของภาครัฐ ให้เป็นไปตามพันธะสัญญาที่มีต่อ อนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยได้จัดหลักสูตรอบรมเรื่องเพศสภาพแก่ข้าราชการ ผู้พิพากษา และทนายความ นักวิชาการผู้หญิงบางคน ก็มีบทบาทเข้มแข็งในสถาบันอิสลามระดับอุดมศึกษา เช่น IAIN
แม้ว่าในด้านหนึ่ง จะดูเหมือนว่าผู้หญิงมีความก้าวหน้าอย่างมากในศตวรรษที่ 20 ในอีกด้านหนึ่ง ประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงหยิบยกขึ้นมาในระหว่างกระแสคลื่นลูกแรก (ต้นศตวรรษที่ 20) และในกระแสคลื่นลูกที่สอง (ปลายศตวรรษที่ 20 ในระหว่างสองทศวรรษสตรีของสหประชาชาติ) ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ การแต่งงานเด็ก การหย่าร้าง การตายของมารดาในการคลอดบุตร การไม่รู้หนังสือ และค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ลักษณะที่ต่างออกไป คือ กลุ่มผู้หญิงเริ่มทำงานแก้ปัญหาอย่างเจาะลึกยิ่งขึ้น สามารถวางแผนและยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และการเมือง ตลอดจนสามารถจับเป็นประเด็น เช่น ความรุนแรง สิทธิแรงงาน การศึกษา และสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ และยังมี “น้องใหม่” คือ สถาบันวิจัยสตรีศึกษา ผู้หญิงได้รวมตัวกันเป็นหลายเครือข่าย ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ที่สำคัญ คือ การได้รวมตัวกันเป็นแนวหน้า มีการระดมทรัพยากร และเปิดรับสมาชิกใหม่กว้างขวางขึ้น
ในขณะเดียวกัน ความหลากหลายนี้ก็กลายเป็นจุดอ่อน คือ มีความยากลำบากในการทำให้ทุกกลุ่มมีความเห็นร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ บางครั้งเครือข่ายผู้หญิงจะมีความอุ้ยอ้าย จนขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ เอ็นจีโอผู้หญิงส่วนใหญ่ บริหารโดยผู้หญิงเมืองชนชั้นกลาง พวกเธอมักจะเน้นที่การให้บริการและสนับสนุนทางสังคม และให้ความสนใจน้อยกว่าในประเด็นการเมืองและการพัฒนาวิสัยทัศน์ให้เข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้กระนั้น ก็มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจอยู่ด้วย เพื่อรื้อถอนกรอบคิดเดิมและให้คำนิยามใหม่ที่เกี่ยวกับบทบาทขององค์กรสตรี บางกลุ่มได้พยายามย้อนรอยอดีต เพื่อเชื่อมต่ออุดมการณ์ของตนในปัจจุบันกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกอร์วานิ หลังจากการโค่นอำนาจอันยาวนานของ ซูฮาร์โต ผู้หญิงด้อยโอกาสและที่ไม่ใช่ชาวชวา หรือเป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ ได้ค้นพบช่องทางในการระบายความอัดอั้นตันใจที่เก็บกดมานานจากการย้อนรอยอดีตนี้ ผู้นำหญิงที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในกระบวนการนี้ คือ Nursyabhani เธอได้ทะลายกำแพงอคติ โดยแสดงให้เห็นว่า “ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้เช่นกัน”
นักสตรีนิยมชาวอินโดนีเซีย ได้เริ่มรื้อถอนความคิด ลัทธิอิบู (ลัทธิแม่) โดยการยกระดับ คำว่า “perempuan” (ผู้หญิงสามัญ) และใช้แทน คำว่า “wanita” (กุลสตรี) นี่เป็นการเริ่มต่อสู้รื้อถอนสถาบัน “พ่อเป็นใหญ่” ด้วยวิธีการต่อรองทางวาทกรรม เป็นการชิงคืนความหมายของคำว่า “ผู้หญิง” นักสตรีนิยมเถียงว่า คำว่า “perempuan” นั้น แท้จริงมีรากศัพท์ในคำโบราณพื้นเมือง “empu” หมายถึง คนศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจพิเศษเหนือธรรมชาติ สามารถรักษาโรคภัยพิบัติได้ ต่อมา คำว่า “perempuan” ถูกกดให้กลายเป็นคำไม่สุภาพสำหรับเรียกผู้หญิง เมื่อเทียบกับคำว่า “wanita” ดังนั้น การช่วงชิงเชิงวาทกรรม จึงเป็นการกู้ศักดิ์ศรีของผู้หญิงธรรมดาๆ ว่า การเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่า ไม่จำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องสยบหัวให้กับระบอบปิตาธิปไตยด้วยการบีบตัวเองให้เข้ากรอบคำจำกัดความว่า “ผู้หญิงดี” ซึ่งควบคู่ไปกับการเป็นผู้หญิงของครอบครัวอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น
ผู้หญิงบางกลุ่มได้เรียกร้องให้ใช้มาตรการพิเศษเพื่อประกันสิทธิเสมอภาคหญิงชาย ด้วยการชักชวนให้ผู้หญิงที่มีโลกทัศน์กว้างไกล และเข้าใจมิติเจนเดอร์ ให้เข้าสู่วงการการเมือง นักกิจกรรมผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า[10] เราต้องการเครื่องมือ คือ มาตรการพิเศษเรื่องสัดส่วน เนื่องจากความตื่นตัวทางการเมืองของผู้หญิงอินโดนีเซียยังต่ำอยู่มาก มาตรการสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ สส หญิงที่สหประชาชาติแนะนำให้ใช้ อาจจะพอช่วยแก้ปัญหานี้ได้...มาตรการนี้จะต้องมีการรับรองด้วยระเบียบและรายละเอียดที่เหมาะสม เพื่อประกันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มาตรการสัดส่วนนี้ เป็นเครื่องมือที่นักกิจกรรมหญิงเชื่อว่า จะไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎร/การเมือง แต่ยังจะช่วยแก้ไขเงื่อนไขการเลือกปฏิบัติได้อีกด้วย
อีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้หญิงใช้ คือ สื่อมวลชน ถ้าสื่อมวลชนสามารถถูกใช้เพื่อกดขี่ผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศได้ มันก็น่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรณรงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นได้เช่นกัน นักกิจกรรมคนหนึ่งกล่าว[11] วารสาร Yayasan Jurnal Perempuan ได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดรายการวิทยุที่เป็นมิตรกับผู้หญิง เพื่อสร้างกระบวนการใหม่ในการกล่อมเกลาทางสังคมสำหรับผู้หญิง สำนักงานของวารสารดังกล่าว ได้ผลิตเทปสำหรับตาดูและหูฟัง และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งได้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติต่อผู้หญิง รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้หญิงเองด้วย
สิ่งท้าทายประการหนึ่งสำหรับกลุ่มผู้หญิงอินโดนีเซีย คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้การเคลื่อนไหว ลึกและกว้างขึ้น การครอบงำของระบอบซูฮาร์โตที่ยาวนานถึงสามทศวรรษ ได้ทำให้สมรรถนะและการเชื่อมโยงกับขบวนการสตรีนานาชาติอ่อนแอ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เอ็นจีโอ ยังขาดความเชื่อถือไว้ใจต่อกัน ยังมีความระแวงต่อกันอยู่มาก การทำงานร่วมกันในโครงการภูมิภาคอาจช่วยให้เกิดบรรยากาศที่ลดความตึงเครียดต่อกันลงได้บ้าง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือในการทำงานวิจัย ระหว่างนักกิจกรรม/นักวิชาการหญิงในเอเชีย สามารถเป็นหนทางหนึ่งในการเสริมสร้างสมรรถนะ เนื่องจากปัจจัยทางภูมิประเทศ ตำแหน่งและขนาดของอินโดนีเซียที่กว้างใหญ่และหลากหลาย โปรแกม/เครือข่ายภูมิภาคและกลุ่มต่างๆ จะต้องใช้ความพยายามพิเศษ ในการกำหนดขอบข่ายของนโยบายและกิจกรรมให้มีพื้นที่ครอบคลุมความหลากหลายนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงอินโดนีเซียทั้งปวง รวมทั้งจะได้มีพลังพอที่จะก้าวข้ามขอบเขตของเมืองหลวงสู่ทั่วประเทศ
องค์กรสตรีในมาเลเซีย
มาเลเซียมีลักษณะเด่นอย่างน้อย 4 ประการ เกี่ยวกับประชากรและทรัพยากร ประการแรก อัตราส่วนของประชากรต่อทรัพยากรต่ำ จำนวนประชากรท้องถิ่นมีน้อยกว่าพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติในคาบสมุทรและเกาะต่างๆ ของประเทศ ในยุคอาณานิคม อังกฤษได้นำเข้าแรงงานจากอินเดียและจีนเพื่ออุดช่องว่างนี้ ประการที่สอง มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์อย่างชัดเจน แม้ว่าคนเชื้อสายมาเลย์ จะเป็นชนกลุ่มใหญ่ จำนวนคนเชื้อสายจีน อินเดีย และชนเผ่า ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ รวมกันก็เกือบเท่ากับคนเชื้อสายมาเลย์เลยทีเดียว ในภาพรวม ประชากรมาเลเซียได้ถูกจัดให้ลื่นไหลไปตามกลุ่มเชื้อสายของตนตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน ประการที่สาม มาเลเซียประกาศให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ประชากรชาวมุสลิมมีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ การแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอิสลามไปทั่วโลกพร้อมกับความเป็นอาหรับ (global Islamization and Arabization คือ ให้ถืออาหรับเป็นต้นแบบ—การแต่งกาย ภาษา สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม—และ สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ของฆราวาสและความจงรักภักดีต่ออิสลาม) เมื่อเร็วๆนี้ ได้เพิ่มความแปลกแยกแก่พลเมืองมาเลเซียที่แบ่งแยกกันเป็นแถบสีต่างๆ กันอยู่แล้ว ประการที่สี่ เมื่อไม่นานมานี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมและขยายอาณาเขตของเมือง ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากการควบคุมทางการเมืองด้วย กลไกการควบคุม คือ การเมืองเชิงชาติพันธุ์ ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนา กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน (Internal Security Act—ISA) และกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (Universities and Colleges Act—UCA)[12] มีการบังคับใช้มาตรการ “การปกป้องสิทธิของชนหมู่ใหญ่” (affirmative action for the majority) ชาวมุสลิมมาเลย์ได้รับอภิสิทธิ์จากนโยบาย “ภูมิบุตรา” (Bumiputra) ซึ่งเลือกปฏิบัติให้ประโยชน์แก่ชาวมุสลิมมาเลย์ ในด้านทุนการศึกษา การกู้เงิน ที่ดิน และอาชีพการงาน นโยบายนี้ ได้ทำให้ชนชั้นกลางชาวมุสลิมมาเลย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วน ISA และ UCA ล้วนเป็นกลไกช่วยให้รัฐที่ครอบครองโดยชาวมุสลิมมาเลย์ สามารถกำราบเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียงท้าทายของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมทั้งเสียงคัดค้านนโยบายการพัฒนาของรัฐ (Anwar, 2000) ยกตัวอย่าง ISA ให้อำนาจรัฐในการจับกุมและกักขังผู้คัดค้านอย่างไม่มีเวลาจำกัดโดยไม่ต้องผ่านกระบวนยุติธรรม ภายใต้ UCA การชุมนุมใหญ่หรือประท้วงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ครูบาอาจารย์ต้องเซ็นสัญญาว่าจะไม่พูดสิ่งใดที่ต่อต้านรัฐบาล นักศึกษาถูกห้ามร่วมกิจกรรมการเมืองที่รัฐบาลไม่อนุมัติ กฎหมายและโครงการที่บีบคั้นดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของความกลัวเชิงสถาบันที่แผ่ซ่านไปในประชากรทั่วไป ภายใต้บรรยากาศ “เสถียรภาพ” ทางการเมือง อุตสาหกรรมทุนนิยมจึงสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความร่ำรวยทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมาเลเซีย
ภาวะการเมืองที่ครอบงำและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้ มีผลกระทบหลายอย่างต่อผู้หญิงมาเลเซีย การรวมตัวก่อตั้งเป็นสมาคมสตรีที่ตั้งคำถามต่อสถานภาพและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องยาก การตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ยากมากเช่นเดียวกัน เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพียงแรงงานอุตสาหกรรมราคาถูกและไม่มีกลไกการจัดรวมตัว ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจึงมีความห่วงใยน้อยต่อความเป็นอยู่ส่วนตัวและภาระการเจริญพันธุ์ของแรงงานหญิง การขาดแรงงานราคาถูกในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ และความต้องการที่จะธำรงรักษาชนชั้นกลางขนาดใหญ่ หมายถึง ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาหางานทำในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน หญิงชาวอินโดนีเซียจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาหางานทำในมาเลเซีย มีหลายกรณีที่หญิงเหล่านี้ถูกนายจ้างกระทำทารุณกรรม กดขี่ ข่มเหง ดังปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ สำหรับชาวมาเลเซีย กระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดและขัดแย้งในครอบครัว ในบางกรณี ความเครียดเหล่านั้น นำไปสู่การตบตี ทำร้ายภรรยาและลูกๆ ความรุนแรงในครอบครัว และสถิติการข่มขืนในมาเลเซียอยู่ในระดับสูง (Ng and Young, 1990)
การตอกย้ำเส้นแบ่งแยกชาติพันธุ์ให้ถาวร ได้ปล่อยให้ระบอบปิตาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะในความหลากหลายธำรงอยู่ ประเด็นผู้หญิงของชุมชนมาเลย์ จีน และอินเดีย ไม่เหมือนกันหมดเลยทีเดียว ผู้หญิงที่กล้าก้าวออกมาทำงานกับเอ็นจีโอ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาชนสาธารณะหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์มีแค่หยิบมือในมาเลเซีย ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่ใช่มุสลิมมาเลย์ ในฐานะที่อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐได้ปล่อยให้บุคลากรในศาสนจักร ควบคุมชีวิตส่วนตัวของฝ่ายฆราวาสมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการสมรสและการหย่าร้าง กฎหมายและพิธีกรรมของอิสลาม มักจะถูกตีความเบียดผู้หญิงให้อยู่ชายขอบ วิธีหนึ่ง คือ “การตัดกิ่ง” วัฒนธรรมอาหรับในด้านยกย่องชายเป็นใหญ่ “มาต่อตา” ในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิม-มาเลย์ การหลอมรวมของอิสลามและการเมือง เหลือพื้นที่ไม่มากให้ผู้หญิงคัดค้าน Shariah กฎหมายอิสลามว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคล จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ หญิงมุสลิมไม่สามารถวิจารณ์คำสอนในศาสนา และผู้หญิงที่ไม่ใช่มุสลิม ก็ถูกกฎหมายห้าม ไม่ให้อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับชาวมุสลิม[13]
ในแง่เศรษฐกิจ ชาวมาเลเซียโดยทั่วไปมีมาตรฐานชีวิตที่สูงขึ้น แต่ความยากจนก็ยังหลงเหลืออยู่ในบางภูมิภาค (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐ Sabah and Sarawak) การแยกขั้วของชนชั้น เผ่าพันธุ์ และภูมิภาค มีนัยสำคัญ โดยทั่วไป หญิงชาวมาเลเซีย เผชิญปัญหาที่คล้ายกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หรือในแถบเอเชียด้วยกัน แม้ว่าบริบทเฉพาะด้านการเมืองและศาสนาจะต่างกัน กล่าวคือ ผู้หญิงเป็นแรงงานสำคัญ แต่เจอปัญหาค่าจ้างต่ำกว่าชาย และเงื่อนไขในการทำงานและการเลื่อนตำแหน่งยังด้อยกว่าชาย ผู้หญิงมักจะกระจุกตัวในตำแหน่งระดับล่าง และเกือบจะไม่มีตัวตนในระดับการตัดสินใจในการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ โดยทั่วไป ผู้หญิงมีโอกาสสูงในการศึกษาและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่คุณภาพที่ได้รับไม่เสมอหน้ากันระหว่างภูมิภาค และระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาเรื่องสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ ได้รับความสนใจน้อยมาก สถิติความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน และการลวนลามทางเพศยังสูงอยู่ การทำแท้ง และเพศวิถี เป็นเรื่องห้ามพูด ในขณะที่จำนวนโสเภณีมีมาก (ดั่งที่นักกิจกรรมผู้หนึ่งเปรียบเปรย มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมี และห้ามถกกันในสังคมที่เคร่งศาสนาเช่นมาเลเซีย)
ในแง่ประวัติศาสตร์ องค์กรสตรีในมาเลเซียเกิดขึ้นได้ช้ากว่าประเทศอื่น เพราะต้องต่อรอง ยื้อแย่งพื้นที่ทางการเมืองอย่างหนักหน่วงในหลายมิติ เนื่องจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ มีความลำเอียงไปทางชาวมาเลย์ และผู้หญิงมาเลย์ส่วนหนึ่งมีโอกาสศึกษาและมีการงานทำตั้งแต่ยุคนั้น ผู้หญิงมาเลย์ชั้นสูง จึงเป็นผู้นำในกิจกรรมมุ่งส่งเสริมสวัสดิการของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มแรก ในทศวรรษ 1950 เริ่มมีองค์กรสตรีวิชาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ ครู และพยาบาล สหภาพครูสตรี (Women Teacher Union) ประสบความสำเร็จในการรณรงค์เรียกร้องให้ได้รับเงินเดือนเท่ากับชาย ประเด็นนี้ เป็นเรื่องของนักวิชาชีพชนชั้นกลาง ซึ่งในที่สุด ก็ได้นำไปสู่การก่อตั้ง สภาองค์กรสตรีแห่งชาติ (National Council of Women’s Organizations—NCWO) ในปี 1962 โดยทำหน้าที่เป็นองค์กรร่มขององค์กรสตรีทั้งมวลในมาเลเซีย รวมทั้งหน่วยสตรีในพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย ปัจจุบัน NCWO ยังดำรงอยู่ แต่ส่วนใหญ่มักเดินตามหลังรัฐบาล (Karim, 1993)
หน่วยสตรีในทุกพรรคการเมืองมักทำงานด้านการกุศลสงเคราะห์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงไปในตัว ดังนั้น พวกเขามักจะตอกย้ำบทบาทในครัวเรือนของผู้หญิง การรวมตัวเพื่อจัดกิจกรรมประเด็นสาธารณะไม่สามารถโดดเด่นขึ้นมาได้ในทศวรรษ 1970 จนกระทั่งปี 1979 เมื่อ รัฐมนตรีการคลัง (ชาย) ผู้หนึ่ง ได้บริจาคเงินรางวัลของเขา เป็นจำนวน 30,000 RM (ริงกิต) เพื่อก่อตั้งบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง เหตุการณ์นี้กลายเป็นพื้นฐานให้ต่อยอดในเวลาต่อมา ในปี 1982 มีการก่อตั้ง Women’s Aid Organization (WAO) ในช่วง 2-3 ปีแรก WAO ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการ ต่อมา จำนวนหญิงที่ถูกกระทำที่มาขอความช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติการเริ่มค้นหาสาเหตุ เพื่อแก้ต้นตอ
ในกลางทศวรรษ 1980 กลุ่มผู้หญิงใหม่ ชื่อ Joint Action Group (JAG) ได้เกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ เพื่อรณรงค์ในประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง (Violence Against Women, VAW) JAG ประกอบด้วย เอ็นจีโอ ห้าองค์กร คือ สมาคมนักกฎหมายสตรี (Women Lawyers’ Association) สมาคมสตรีอุดมศึกษา (University Women’s Association) หน่วยสตรีของสหภาพแรงงานคองเกรสแห่งมาเลเซีย (Women’s Section of the Malaysian Trade Union Congress) สมาคมผู้บริโภคแห่งรัฐซีลางกอ (Selangor Consumers Association) และ WAO
ปัจจัยที่เอื้อให้กำเนิด JAG มีดังนี้ ประการแรก VAW ได้กลายเป็นประเด็นโลก ในระหว่างการประชุมสตรีโลกปี 1985[14] ประการที่สอง มีการเผยแพร่ข่าวข่มขืน และการกระทำรุนแรง ต่อหญิงและเด็ก—แม้แต่เด็กทารก—ในสื่อมวลชนถี่ขึ้น ทำให้สาธารณชนเกิดความตื่นตัวกับปัญหานี้ จนหลายคนทนไม่ได้ ในปี 1985 มีประชาชนถึง 2,000 คน เข้าชมนิทรรศการ เรื่อง VAW ที่จัดขึ้น JAG ปริมาณความสนใจที่ล้นหลามครั้งนั้นได้สร้างความประหลาดใจยิ่ง แม้แต่กับผู้จัดเอง
การชุมนุมอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้ ได้เกิดผลพวงสองประการ ประการแรก ได้มีการร่างข้อเสนอให้แก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการข่มขืน ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้หญิงใหม่เกิดขึ้นอีก เพื่อต่อสู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ VAW กลุ่มที่อยู่แนวหน้าขณะนั้น ได้แก่ WCC (Women’s Crisis Center ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงยามวิกฤต คล้ายกับ WAO) AWAM (All Women’s Action Society Malaysia ทำงานผลักดันนโยบาย ให้ความรู้แก่สาธารณชน และคำปรึกษา) WDC (Women Development Collective กลุ่มผู้หญิง นักคิด นักยุทธศาสตร์) ต่อมา องค์กรผู้หญิงเริ่มหลากหลายขึ้น เช่น WNC (Women National Coalition เป็นกลุ่มหลวมๆ ไม่ถาวร ที่เคลื่อนตัวไปหาผู้หญิงในระดับฐานราก และชนพื้นเมืองดั้งเดิม เพื่อเตรียมส่งผู้นำหญิงรากหญ้าให้ไปเข้าร่วมประชุมสตรีโลกที่ปักกิ่ง ในปี 1995) WCI (Women Collective Initiative เพื่อสรรหาและสนับสนุนผู้หญิงให้ลงแข่งขันการเลือกตั้งในปี 1999) และ SIS (Sister In Islam ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 เพื่อต่อสู้กับระบบการตีความอิสลามที่กดขี่ผู้หญิง) อีกสององค์กรผู้หญิง คือ Friends of Women (PSWS) และ Tenaganita ที่อุทิศตัวเพื่อทำงานกับแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรม และแรงงานย้ายถิ่นจากโพ้นทะเล[15]
ความพยายามอย่างเป็นหมู่คณะของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ และแรงสนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ทำให้กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัวคลอดออกมาได้ในที่สุด ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ในปี 1996 นอกจากนี้ ยังมีการแก้กฎหมายว่าด้วยการข่มขืน และมาตรการลงโทษ (ไม่ใช่กฎหมาย) การลวนลามทางเพศ มีการตั้งศูนย์กู้วิกฤตเบ็ดเสร็จ (one-stop crisis center) ในโรงพยาบาลรัฐ การผลักดันให้กฎหมายเหล่านี้ผ่านได้ นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งในปีเดียวกันนั้นยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว
แม้จะมีปัจจัยเอื้อที่ทำให้การรณรงค์เรื่อง VAW ครั้งนั้น ประสบความสำเร็จ ปัญหาค้างอยู่ยังมีอีกมาก การมีกฎหมายใหม่ ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ของผู้หญิงจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือบังคับใช้กฎหมายได้ตามคาด VAW ดูเหมือนจะเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเด็น ที่กลุ่มผู้หญิงที่หลากหลายทั้งปวง สามารถหาจุดยืนร่วมเพื่อผนึกพลังเข้าด้วยกัน แต่ยุทธศาสตร์ที่ทำให้การต่อสู้สำเร็จ คือ การออมชอม มากกว่าการเผชิญหน้า หรืองัดข้อกับฝ่ายรัฐบาล ผลลัพธ์คือ เป็นการปรับตัวของกลุ่มเรียกร้องให้สอดคล้องกับความสะดวกของพรรคที่ครองสภา (UMNO) มากกว่าดันทุรังแปรเปลี่ยนเจตคติของรัฐต่อผู้หญิง รัฐบาลยอมให้การสนับสนุนต่อกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพราะ เล็งเห็นว่า VAW ไม่ใช่ประเด็นที่คุกคามต่อเสถียรภาพของตน เช่นเดียวกับประเด็นแรงงาน หรือเป็นประเด็นกำกวมที่รังแต่จะทำให้เกิดการโต้แย้ง แปลกแยก เช่น ปัญหาโสเภณี เพศวิถี และการทำแท้ง
ปรากฏการณ์การรวมพลังของกลุ่มผู้หญิง ในปลายทศวรรษ 1990 ทำให้รัฐบาลเริ่มเล็งเห็นว่า ผู้หญิงไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุดิบทางแรงงาน แต่มีศักยภาพที่จะเป็นพันธมิตรการเมืองที่มีนัยสำคัญ สิ่งที่คาดไม่ถึง คือ กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว ได้เปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางขึ้นถึงความไม่เท่าเทียมต่อผู้หญิงใน กฎ Shariah และประเด็นผัวเดียวมากเมีย นักวิชาการหญิงบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกของ SIS ได้เริ่มตั้งคำถามต่อชุมชนมุสลิมที่นักการศาสนาชายครอบงำ ในการตีความกฎ Shariah เพื่อกดขี่ผู้หญิง
การผลักดันประเด็นผู้หญิง ยังอยู่ในมือของนักกิจกรรม เอ็นจีโอ ผู้หญิงจากชนชั้นกลางที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นกระบวนทัศน์ จึงเป็นเสียงดังฟังชัดจากปากของผู้หญิงที่มีโอกาสและมีต้นทุนทางสังคมสูง แม้จะมีจำนวนน้อย ความสำเร็จของพวกเธออยู่ที่การถกเถียง อภิปราย เพื่อชี้จุดอ่อนของสังคมมาเลเซีย และ บางครั้งก็ทำงาน “ร่วมมือ” กับภาครัฐ เพื่อแก้กฎหมาย และระเบียบต่างๆ แต่พวกเธอยังไม่สามารถเปลี่ยนเจตคติของสาธารณชนได้ เพราะไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพพอที่จะเชื่อมต่อกับผู้หญิงในระดับฐานรากโดยตรง ผู้หญิงฐานรากจึงยังคงถูกควบคุมและครอบงำโดยพรรคการเมือง และนักการศานามุสลิมในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ
ดังนั้น สิ่งท้าทายสำหรับผู้หญิงนักขับเคลื่อนในมาเลเซีย คือ ต้องทบทวนเป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อปรับความนัวเนีย/คลุมเครือของชนชั้นกลางให้สมดุล (เช่น ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมใหญ่ และ ความต้องการก้าวหน้า และมีวิถีชีวิตที่สะดวกและมั่นคงในเมือง) ขยายฐานการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้หญิงฐานรากได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ และทำงานระดับบนต่อไปในการขยายพื้นที่ทางการเมืองและศาสนา เงินทุน ก็เป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง กลุ่มผู้หญิง เช่น WDC ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ต่อไปได้เพราะไม่มีเงินทุนรองรับ การที่ผู้หญิงคนหนึ่ง (Toni Kassim) หาญกล้าลงแข่งขันการเลือกตั้งในปี 2002 ด้วยจุดยืนผู้หญิง นับเป็น “ต้นแบบใหม่” แม้ Toni จะแพ้ แต่ความจริงที่ว่า เธอได้รับคะแนนเสียงถึง 43 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า สาธารณชนในมาเลเซีย เริ่มยอมรับบทบาทใหม่ของผู้หญิงรุ่นใหม่
ในระดับภูมิภาค มาเลเซียมีองค์กรสตรีที่ทำงานครอบคลุมหลายประเทศ เช่น ARROW (เน้นเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์) IWRAW (เน้นประเด็นการบังคับใช้ CEDAW) APDC (เน้นเรื่องการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม) และ WABA (เน้นเรื่องการให้นมมารดาแก่ทารก) องค์กรเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการสำหรับองค์กรท้องถิ่นในประเทศใกล้เคียง กลุ่มผู้หญิงในมาเลเซีย ต้องการใช้ยุทธศาสตร์ด้านสิทธิ์ และอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น CEDAW ให้เป็นเครื่องมือในการผลักดัน แต่ขาดกลไกที่สร้างสรรค์สำหรับการเจรจาต่อรองระหว่างภาครัฐและเอ็นจีโอ นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการติดตาม การดำเนินงานของภาครัฐในการบังคับใช้ CEDAW หรือ ปฏิญญาปักกิ่ง
องค์กรผู้หญิงในฟิลิปปินส์
แม้ว่าฟิลิปปินส์ จะได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในการที่ประชากรมีการศึกษาค่อนข้างทั่วถึง และมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ความจริงในแง่สังคมและเศรษฐกิจ คือ ยังมีความยากจน และความเหลื่อมล้ำสูง อัตราการเกิดที่สูงของประชากร กลายเป็นตัวถ่วงคุณภาพ และสมรรถนะของการบริการด้านการศึกษาและสาธารณูปโภคอื่นๆ อัตราการว่างงาน และการย้ายถิ่นสู่โพ้นทะเลเพื่อแสวงหางานที่ให้รายได้ดีกว่าก็สูงเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การกล่อมเกลาบทบาทและความสัมพันธ์หญิงชาย และการแบ่งหน้าที่ในครัวเรือนและที่ทำงาน ก็ยังคงยึดแบบอย่างดั้งเดิม มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ในทางตรงกันข้าม กระแสพลังใหม่ที่เป็นตัวแทนของบรรษัทข้ามชาติ เช่น แมคโดนัล และร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ก็มีอยู่เกลื่อนกลาด หาได้ง่ายกว่าแผงขายผักสดและผลิตภัณฑ์ท้องที่ของชาวบ้าน การขาดแคลนอาหารท้องถิ่น งานที่ให้รายได้ดีในประเทศ และการบริการสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ มีผลต่อผู้หญิงฟิลิปปินส์ไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับชนชั้นของแต่ละคน ผู้หญิงปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร? และ องค์กรผู้หญิงได้ทำอะไรในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้?
การตกเป็นอาณานิคมของสเปน นานถึง 300 ปี ได้ปรุงปั้นให้ฟิลิปปินส์ทุกวันนี้ เป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และวัฒนธรรมปิตาธิปไตย ภายใต้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การปกครองยืนเคียงคู่กับการใช้กำลังทหาร เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายและมุสลิม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากเจ้าอาณานิคมสเปนที่ต่อสู้กับพวก Moro และ “ปีศาจคอมมิวนิสต์” ที่ เจ้าอาณานิคมอเมริกันได้สร้างไว้ตอนช่วงสงครามเย็น ปัจจุบัน เศรษฐกิจมหภาคของฟิลิปปินส์ ก็ยังคงตกอยู่ในมือของคนนอก (นักล่าอาณานิคมในคราบ บรรษัทข้ามชาติ) ที่มีอำนาจบงการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผ่านช่องทางการลงทุนข้ามชาติในภาคธุรกิจการเกษตร และการส่งออกที่เน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรม นโยบายการส่งออกแรงงาน เป็นหนทางหนึ่งที่รัฐบาลจัดทำรายได้เข้าประเทศ เพื่อชำระหนี้ต่อต่างประเทศ (Aquino, 1995) แต่ภาระของการพลัดพรากจากบ้านเกิด ไปทำงานเป็นสาวใช้ในบ้านแดนไกล เป็นพยาบาล หรือ นักแสดง ฯลฯ ล้วนทับถมอยู่บนบ่าของผู้หญิง
สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจตกต่ำ คือ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายความมั่งคั่งของประเทศ และการมีประชากรขนาดใหญ่มากกว่าสาเหตุของการขาดทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจห่างกันสุดขั้ว กล่าวคือ 50 เปอร์เซ็นต์ ของทรัพยากรในประเทศ ตกอยู่ในมือของประชากรชนชั้นสูง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประชากรชั้นล่างสุด 20 เปอร์เซ็นต์ ถือครองอยู่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการเกิดก็สูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สถานการณ์เช่นนี้ จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะ ศาสนจักรคาทอลิก ห้ามการใช้ “สิ่งแปลกปลอม” เพื่อการคุมกำเนิด
ในประเด็นผู้หญิง อาจแบ่งได้เป็นสองระดับ—ระดับโครงสร้างและระดับส่วนบุคคล ในระดับโครงสร้าง เช่น ปัญหาความยากจนและการว่างงาน ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุของการเข้าไม่ถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน อำนาจ และเงินทุน ในระดับบุคคล เช่น ปัญหาความรุนแรง และเพศวิถี ผู้หญิงเผชิญปัญหาสำคัญ 2 ประเด็น—การหย่าร้าง และการทำแท้ง—ซึ่งล้วนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ การว่างงานก็เชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน สำหรับผู้หญิงยากจน งานค่าจ้างขั้นต่ำยังมีอยู่ทั่วไปในเมือง แต่ในภาคเกษตรชนบท ผู้หญิงมักจะไม่สามารถหางานที่ให้ค่าตอบแทนเพียงพอได้ ผู้หญิงที่ทำงานมีเงินเดือนสูงเท่านั้น ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอ ที่จะฟ้องหย่า และหลุดพ้นจากการชีวิตสมรสที่ล้มเหลว
ในแง่ประวัติศาสตร์ องค์กรผู้หญิงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยการต่อสู้ขับไล่เจ้าอาณานิคม และต่อมาก็ต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ดังนั้น แต่ละองค์กรมีอุดมการณ์การต่อสู้ที่หลากหลาย บางกลุ่ม เช่น MAKIBAKA เกิดขึ้นในยุคขับมาร์กอส (Javate de Dios, 1994) แต่พื้นที่ทางการเมืองของฟิลิปปินส์ ได้เปิดกว้างขึ้นอย่างจริงจัง พร้อมกับการลุกฮือขึ้นของขบวนการพลังประชาชน (People Power Movement) ซึ่งในระลอกแรก ได้โค่นล้มระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์กอส ในปี 1986 กระแสคลื่นเดียวกัน ได้พัดพาให้ภรรยาหม้ายของ Ninoy Aquino—Cory—ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน ในปี 2000 คลื่นพลังประชาชนลูกที่สอง ที่เรียกกันภายหลังว่า EDSA Movement ได้ขับไล่ประธานาธิบดียอดนิยม—Joseph Estrada—ออก และรองประธานาธิบดีขณะนั้น Gloria Macapagal-Arroyo ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติ
กระบวนการปฏิรูปทางการเมืองหลังการโค่นล้ม มาร์กอส ไม่ราบลื่น ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการตกเป็นอาณานิคม ตอนแรกภายใต้สเปน แล้วเปลี่ยนมือไปเป็นสหรัฐอเมริกา ได้แบ่งขั้วประชาชนในหมู่เกาะนี้ออกสุดๆ ตามเส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ ชนชั้น ภูมิประเทศ และ เมือง-ชนบท พื้นที่ทางการเมืองได้ตกเป็นเอกสิทธิ์ของชนชั้นถือครองที่ดินมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน การปฏิรูปการเลือกตั้ง เพิ่งเริ่มขึ้น ในปี 2000 ในขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อ ได้ถูกนำเข้ามาใช้ ตั้งแต่ปี 1997 ระบบการปกครองท้องถิ่น ก็เพิ่งมีการบังคับใช้หลังปี 2000
นอกจากวัฒนธรรมที่เน้นชายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีรากหยั่งลึกในจิตสำนึกของชาวฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีระบบอุปถัมภ์และการยึดติดตัวบุคคลในการตีกรอบพื้นที่ทางการเมือง อิทธิพลทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมได้บังคับให้ผู้หญิงอยู่ชายขอบ โดยตอกย้ำภาพเหมารวมของความแตกต่างหญิงชาย การกดขี่ ภาระรอบด้าน และความรุนแรง (Vilariba, 1983) จากการที่ชาวฟิลิปปินส์ ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจระบอบอาณานิคมและการถูกเข้ารีตมานาน ผู้หญิงได้ถูกทำให้เป็นเพศที่ “อ่อนแอกว่า” โดยทั่วไป ความเห็นส่วนตัวของผู้หญิงส่วนใหญ่เกี่ยวกับอำนาจ การปกครอง และการเมือง มักจะเห็นว่าเป็นเรื่องของชาย ผู้หญิงขาดความมั่นใจในตัวเอง มักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งมากกว่าต่อสู้ ในปี 2003 แม้ว่าประธานาธิบดี จะเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้แทนเพศหญิงในโครงสร้างการเมืองก็ยังมีน้อยมาก ในจำนวนผู้แทนในสภา 217 คน เป็นผู้หญิงเพียง 27 คน ในวุฒิสภา มีเพียง 4 ใน 24 คน ที่เป็นผู้หญิง ผู้หญิงได้รับการเลือกตั้งในการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น แต่อัตราการขยายตัวยังช้าอยู่มาก ในการเลือกตั้งผู้นำหมู่บ้านในปี 1997 ผู้หญิงได้รับเลือก 11.8 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในระดับหมู่บ้านมี 20.5 เปอร์เซ็นต์
ฟิลิปปินส์ มีเอ็นจีโอผู้หญิงที่กระฉับกระเฉงและว่องไวเป็นจำนวนมาก ประเด็นในการทำงานมีหลากหลาย เช่น WHCF, WHP, CRHL ทำเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ กลุ่มอื่นๆ เช่น WLB, Alternative Law, WomanLead, PILIPINA, GABRIELA, WAND, Freedom from Debt, SIBOL, และ DSWP จับประเด็นกฎหมาย สิทธิทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง กลุ่มที่จับประเด็นเฉพาะระดับลึก เช่น CATWAP (ประเด็นโสเภณี) PBSP, WiseAct (ชุมชนยากจน) ASCENT (สิทธิมนุษยชน) DAWN, Kalungan (แรงงานย้ายถิ่น) CWR, ISSA (ข้อมูล สารนิเทศ) and WCC (ควารุนแรงต่อผู้หญิง) ความหลากหลายนี้ แตะประเด็นผู้หญิงฟิลิปปินส์ทั้งในระดับโครงสร้างและบุคคล
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรเอ็นจีโอ ระดับภูมิภาค เช่น CAPWIP และ ISIS ซึ่งทำงานด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง / ปฏิรูปกฎหมาย และสื่อในระดับโครงสร้าง กลุ่มผู้หญิงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ที่สำคัญๆ มี WAND เป็นเครือข่ายค่อนไปทางเสรีนิยม GABRIELA ค่อนไปทางสังคมนิยมและมักเดินตามพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย กลุ่มเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีฐานอยู่ในเมือง นักกิจกรรมหญิงมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จึงมีแนวโน้มไปทางทำงานวิจัย ฝึกอบรม และผลักดันนโยบาย ปริมาณการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค เช่น บริการสุขภาพ หรือกิจกรรมส่งเสริมทางเศรษฐกิจ และการเกษตร จะน้อยกว่า กิจกรรมด้านการศึกษา ฝึกอบรม วิจัย และประเด็นการปกป้องสิทธิ์ การผลักดันของกลุ่มเหล่านี้ มีผลให้เกิดการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ฟิลิปปินส์เป็นผู้บุกเบิกกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ แม้ว่าการบังคับใช้จะยังมีปัญหาอยู่ นี่เป็นข้อจำกัดของการใช้วิธีเสรีนิยม ที่สามารถเปลี่ยนเนื้อหาสาระทางกฎหมายบนแผ่นกระดาษได้ แต่ไม่สามารถแปรเปลี่ยนโครงสร้างที่มีชายเป็นเสียงส่วนมาก และเจตคติ/อคติในสังคม
โครงการสตรีศึกษาในฟิลิปปินส์ได้ประสบความสำเร็จในการให้การสนับสนุนทางทฤษฎีและการวิเคราะห์ แก่ทั้งภาครัฐ และเอ็นจีโอ คณะกรรมาธิการบทบาทสตรีฟิลิปิโน (National Commission on the Role of Filipino Women—NCRFW) มีความคล่องแคล่วมาก ได้เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มีการแก้กฎหมายว่าด้วยความรุนแรง ได้ล๊อบบี้กับรัฐบาลให้จัดสรรเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณทั้งหมด ให้เป็นงบเจนเดอร์ และได้จัดทำแผนพัฒนาสตรี นอกจากนี้ NCRFW ยังทำหน้าที่บูรณาการมิติเจนเดอร์ในกระทรวงต่างๆ ด้วย
ทัศนคติของภาครัฐต่อประเด็นสตรีแปรเปลี่ยนไปตามรัฐบาลแต่ละชุด ภายใต้ประธานาธิบดี มาร์กอส ผู้หญิงถูกส่งเสริมให้เล่นบทเป็นดอกไม้ประดับ ประธานาธิบดี คอรี่ อคิโน ได้บรรจุประเด็นความเสมอภาคของหญิงและชายลงในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปที่ดินมาก ประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส ลงนามเห็นชอบกับแผนชาติทั้งสองฉบับ ว่าด้วยเพศสภาพและการพัฒนา ประธานาธิบดี เอสตราดา เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงและเป็นคนอ่อนไหวต่อปัญหามวลชน แต่ก็มีชื่อเสียเรื่องการดื่มเหล้าและเจ้าชู้ ประธานาธิบดี อโรโย ได้ให้การสนับสนุนการแก้กฎหมายหลายฉบับ แต่ความที่เธอผูกตัวพึ่งอยู่กับศาสนจักรคาทอลิก เธอคัดค้านร่างกฎหมายว่าด้วยสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ และ ความรุนแรงในครอบครัว อโรโยสนับสนุนวิธี “ธรรมชาติ” ที่สำนักวาติกันอนุญาต ให้เป็นวิธีคุมกำเนิด นโยบายสังคม-เศรษฐกิจของรัฐบาลจึงยังคงวนเวียนอยู่ในตำนานของระบอบอาณานิคม ที่เข้าข้างคนรวยที่มีอิทธิพล และส่งเสริมให้ผู้หญิงย้ายถิ่นออกไปหางานในต่างประเทศ เพื่อส่งเงินเดือนกลับมาจุนเจือเศรษฐกิจของชาติ ศาสนจักรคริสต์ก็เป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในเรื่องผู้หญิง โดยห้ามการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดใดๆ และต่อต้านการลงโทษทางกฎหมายต่อผู้กระทำการรุนแรงในครอบครัว
แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย องค์กรผู้หญิงฟิลิปิโน ก็ไม่ย่อท้อในการต่อสู้กับทุกประเด็น เวลาผ่านไป พวกเธอได้สั่งสมประสบการณ์และมีความรู้มากขึ้น และมีความมั่นใจสูงขึ้น พวกเธอพยายามเลี่ยงการพึ่งอิงกับทฤษฎีต้นแบบตะวันตก ได้พยายามพัฒนาหลักสูตรการอบรมเรื่องเจนเดอร์และโครงการระดับชาติที่สอดคล้องกับบริบทและปัญหาในภูมิภาค การรวมตัวก่อตั้งเป็นองค์กร ช่วยให้ผู้หญิงทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้หญิงชิงพื้นที่สาธารณะด้วยการใช้กลไกเอ็นจีโอ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ผู้หญิงเริ่มสั่งสมจิตสำนึกทางการเมือง มีความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา เอ็นจีโอผู้หญิง ได้ส่งเสริมการศึกษา ให้บริการช่วยเหลือ ตลอดจนชูประเด็นเรื่องความรุนแรงและปัญหาโสเภณี ที่เอ็นจีโอทั่วไปไม่ยอมแตะต้อง แม้เอ็นจีโอผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า แต่โครงการที่ทำล้วนถูกจำกัดด้วยสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตจากแหล่งทุนนอกประเทศ นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่เอ็นจีโอผู้หญิงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในระดับโครงสร้างได้
ในช่วงเวลาที่อยู่ในฟิลิปปินส์ ดิฉันสังเกตเห็นว่า โดยทั่วไปชาวฟิลิปิโนจะมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เหนียวแน่น แต่ก็มีอัตราการกระทำรุนแรงในครอบครัวสูงเช่นกัน การย้ายถิ่นออกนอกประเทศ เป็นกระบวนการที่เจ็บปวด ผู้หญิงหลายคนที่เดินทางไปหางานทำในญี่ปุ่นด้วยวีซ่านักแสดง มักจะจบลงด้วยการค้าประเวณี หรือเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลก็ยังหมั่นสร้างภาพที่สวยงามเพื่อส่งเสริมให้คนออกไปทำงานในต่างแดนด้วยความภาคภูมิ ด้วยการโฆษณาความสำเร็จของคนที่ทำงานโพ้นทะเล เช่น การลงข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ยกย่องตัวอย่าง สาวใช้ พยาบาล ครู และหมอ ที่เป็นคนซื่อสัตย์ และมีผลงานที่นายจ้างชื่นชอบ คนเหล่านี้ ถูกเชิดชูว่าได้ประกอบอาชีพบริการ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ
จากการพูดคุยกับเอ็นจีโอผู้หญิง ดิฉันพบว่าพวกเธอไม่ได้โจมตีว่า ชายเป็นต้นตอปัญหาของผู้หญิง ต้นเหตุคือ ความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้าง แม้ว่าเอ็นจีโอจะขัดสนลำบาก พวกเธอก็ยังคงทำงานต่อไป ไม่หยุดยั้ง เพื่อปรับปรุงชีวิตของหญิงด้อยโอกาส คุณูปการหนึ่งของเอ็นจีโอผู้หญิงฟิลิปิโน คือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายระดับภูมิภาค เช่น CATWAP, CAPWIP และ ISIS ซึ่งเน้นการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในภาคพื้น และผลักดันด้านนโยบาย รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ พวกเธอเห็นว่า ประเด็นการอพยพ โลกาภิวัตน์ ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการค้ามนุษย์ จะถกแยกส่วนกันไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องพัวพันกันหมด การแก้ไขจึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาค ความร่วมมือในระดับภูมิภาคมีคุณค่า มันช่วยฉุดดึงองค์กรสตรีในประเทศให้ออกจากความโดดเดี่ยว การรวมตัวเป็นชุมชน เป็นการสร้างพลัง มันช่วยให้เราแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพยากรได้[16]
ความหมายและนัยสำคัญ: คำถามของความต่อเนื่องและความยั่งยืน
บทบาทของสนามพลัง
บริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม มีความสำคัญในการวิเคราะห์การเติบโตและวิวัฒนาการของ เอ็นจีโอผู้หญิง ในภาคพื้นเอเชียอุษาคเนย์ (Croll and Thorborg, 1997) ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชคืนมาจากเจ้าอาณานิคม ในประเทศทั้งสอง ผู้หญิงได้ร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิเสมอภาคในการศึกษา ในประเทศมุสลิมอินโดนีเซีย ประเด็นคาใจตั้งแต่แรกสำหรับผู้หญิง คือ ต้องการให้ยกเลิกการมีมากเมีย แต่กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานร่วมกับขบวนการกู้เอกราช มักจะถูกชักนำโดยประเด็นของผู้ชาย[17] ผู้หญิงถูกชักชวนออกมาเพื่อเพิ่มกำลังพลสำหรับการกู้ชาติ ด้วยเหตุนี้ บทบาทเสริมของผู้หญิงจึงมีความสำคัญ และส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่เข้ามีส่วนร่วม การเคลื่อนไหวต่อสู้กู้เอกราชในมาเลเซียเป็นช่วงสั้นๆ ส่วนฝ่ายที่เอียงไปทางสังคมนิยม ก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ มีแต่ผู้หญิงเชื้อสายมาเลย์ชั้นสูงเท่านั้น ที่สามารถเล่นบทสนับสนุนด้านสวัสดิการสังคม
แรงโน้มถ่วงที่เกิดจากขบวนการกู้เอกราชได้เปิดพื้นที่การเมืองท้องถิ่นขึ้น ต่อมา พื้นที่นี้ถูกจำกัดโดยระบอบเผด็จการภายใต้ มาร์กอส ซูฮาร์โต รวมทั้ง มหาธีร์ แห่งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์เริ่มมีเอ็นจีโอผู้หญิงก่อน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะการลุกฮือของพลังประชาชน ที่ช่วยแย่งชิงพื้นที่ประชาชนกลับคืนมา แต่บรรยากาศการเมืองทั่วไป ก็ยังถูกครอบงำด้วยคณาธิปไตยดั้งเดิม ที่พอกใหญ่ขึ้นด้วยกลุ่มธุรกิจและบรรษัทข้ามชาติ ทำให้ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันทรงอยู่ ถ้าไม่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีการเปิดพื้นที่สาธารณะก่อนเพื่อน องค์กรผู้หญิงฟิลิปิโน ก็ยังไม่สามารถกะเทาะโครงสร้างการเมืองได้ ส่วนองค์กรที่ทำงานในมาเลเซีย ก็ถูกจำกัดด้วยกฎหมายรักษาความมั่นคงของชาติและระเบียบที่ห้ามการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ
ภายใต้สนามพลังเชิงประวัติศาตร์อาณานิคม และสนามพลังการเมืองปัจจุบัน คือสนามพลังทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเอเชียอุษาคเนย์ รองรับและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในบ้านเรือน หมู่ญาติ การทำงานนอกบ้านเคียงคู่ชายและการค้าขาย การเข้ามาของศาสนาในลักษณะเป็นสถาบันและเป็นทางการ เช่น อิสลามและคริสต์ ได้กดทับเสียงและทางเลือกดั้งเดิมของผู้หญิง ถึงกระนั้น สังคมเอเชียอุษาคเนย์ก็ได้ตัดแต่งและต่อรองกับมิติปิตาธิปไตยที่พ่วงมากับศาสนา “ต่างด้าว” ดังกล่าว จนกลมกลืนกลายเป็นศาสนาใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง เช่น อิสลามในอินโดนีเซียเดิมเป็นอิสลามที่อ่อนโยน (เมื่อเทียบกับต้นฉบับจากอาหรับ) ที่ปฏิบัติการอย่างออมชอมไม่เข้มงวดเคร่งเครียด ซึ่งเหมาะกับสังคมที่มีความหลากหลายและมีอัตลักษณ์หลายชั้นของอินโดนีเซีย บริบทเช่นนี้ได้สืบทอดลงมาหลายศตวรรษจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการศึกษาของเด็กหญิงในชนบทส่วนใหญ่ จะอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนา (pasentran or pondok) ผู้หญิงที่มีความสามารถและมีการศึกษาสูง ก็จะได้รับอนุญาตเช่นเดียวกับชายให้เป็นครูและมีบทบาทสำคัญในโรงเรียนศาสนาเหล่านี้ได้ สตรีนักการศาสนาบางคนได้ยืนขึ้นเป็นนักเทศน์/ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมสร้างวาทกรรมในการเสวนา กฎ Shariah อย่างเท่าเทียมกับชาย ในมาเลเซีย นักกิจกรรมหญิงของ SIS ได้เริ่มท้าทายการตีความในคัมภีร์กุรอ่าน โดยนักเทศน์ชาย นักวิพากษ์สำคัญผู้หนึ่ง คือ ดร. Patricia Mertinez สตรีชาวมาเลเซียนับถือศาสนาคริสต์ ผู้ได้รับปริญญาเอกในสาขาเทววิทยาอิสลาม ผลงานของเธอได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งจากชนชั้นสูงมาเลย์ ตัวอย่างเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอดทนขั้นสูงในสังคมเอเชียอุษาคเนย์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ ส่วนบุคคล มากกว่าเพศ และมีการพิจารณาผลงานมากกว่าการยึดมั่นในอักขระของศาสนาอย่างตายตัว
สนามพลังทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม เป็นทั้งปัจจัยเอื้อและอุปสรรค สถานการณ์และการตอบโต้ของผู้หญิงต่อการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศย่อมต่างกัน ในแง่ประเภทของพลังและเวลา การรื้อฟื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ (ย้อนรอยและต่อยอดกับขบวนการสตรีในประวัติศาสตร์) การตั้งคำถามเพิ่มขึ้น และการเคลื่อนตัวสู่ระบอบประชาธิปไตย กระแสพลังส่วนใหญ่ (ยกเว้นศาสนา) ล้วนเอนเอียงไปทางการเติบโตของ เอ็นจีโอผู้หญิง ในทางตรงข้าม แนวโน้มที่สูงขึ้นของกระแสพลังโลกาภิวัตน์ การย้ายถิ่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบทบาทและทางเลือกในชีวิตสำหรับคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ คนฐานราก และนักกิจกรรมในชนบทหรือหัวเมือง ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่การเมืองและสังคมที่เปิดขึ้นใหม่ ผู้นำของเอ็นจีโอส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้หญิงเมืองที่มีโอกาสจากชนชั้นสูงหรือชั้นกลาง การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในชนบทยังมีจำกัด
บทบาทของแหล่งทุน
ในบริบทของเอเชียอุษาคเนย์ ขบวนการชาตินิยมที่ขับเจ้าอาณานิคม ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของสตรี และการเคลื่อนไหวของสตรี ได้เป็นจุดกำเนิดของเอ็นจีโอผู้หญิงและสตรีศึกษา แต่ผู้หญิงในเอ็นจีโอจะส่งไม้ต่อให้อนุชนรุ่นหลังต่อไปอย่างไร กระแสบริโภคนิยมและวิถีชีวิตที่แข่งขันเพื่อความก้าวหน้าของตนเองในเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ดูเหมือนมีอุดมคติที่จะต่อสู้ชีวิตเพื่อส่วนรวมน้อยลง ส่วนในเอ็นจีโอเอง ความขัดแย้งระหว่างอุดมคติและชีวิตจริงก็เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้ จะหาเอ็นจีโอได้น้อยมากที่ขับเคลื่อนด้วยพลังอุดมคติ หรือทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ดิฉันสรุปว่า ยังไม่มีขบวนการสตรีในเอเชียอุษาคเนย์ สิ่งที่มีอยู่ คือ โครงการและเอ็นจีโอส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งทุนจากนอกประเทศ ส่วนใหญ่จะมุ่งดำเนินโครงการที่มีเวลาจำกัด จึงทำให้หลายกลุ่มดูเหมือนจะวิวัฒนาการกลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อดูดซับเงินทุนจากองค์กรระหว่างชาติ โดยการรับเหมาช่วงทำโครงการพัฒนาสังคมกระนั้น
สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการสร้างความชอบธรรม และผลักดันให้ประเด็นสตรีเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาสนใจ มีการชักชวนให้รัฐบาลแต่ละประเทศจัดตั้งคณะกรรมาธิการสตรีแห่งชาติ เก็บข้อมูล และวางแผนเรื่องผู้หญิง ได้ชูมิติเจนเดอร์เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง องค์กรนานาชาติที่ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาได้ขานรับมติดังกล่าว และได้เพิ่มมิติเจนเดอร์ให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการให้ทุนกับเอ็นจีโอทั่วเอเชียและทั่วโลก แต่องค์กรทุนมีบทบาทสองด้าน หลายโครงการในประเทศก้าวหน้าได้เพราะมีทุนเหล่านี้ช่วย เช่น ประเด็นอนามัยเจริญพันธุ์ หรือความรุนแรงต่อผู้หญิง คงจะไม่แพร่หลายอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันถ้าแหล่งทุนไม่ได้ช่วยหนุน ในขณะเดียวกัน ก็ได้หันเหความสนใจขององค์กรให้มาตอบสนองนโยบายขององค์กรทุน
ในการเยี่ยมเยียนทั้งสามประเทศ ดิฉันพบว่า แต่ละประเทศทำงานคล้ายๆ กัน และได้รับทุนจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ประเด็น วาระ และลำดับความสำคัญได้ถูกกำหนดโดยสำนักงานใหญ่ เช่น ที่นิวยอร์ก สำหรับมูลนิธิฟอร์ด และ มูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ การวางวาระโดยเจ้าของทุนเป็นปัญหาน้อยกว่าการปฏิบัติการ (บางทีก็เป็นปัญหาอยู่ เช่น มองข้ามปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความยากจน) วัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอต้องสาละวนอยู่กับการเขียนโครงการเพื่อขอทุน เตรียมเอกสารรายงาน และผลิตผลงานที่จับต้องและวัดปริมาณได้ ปริมาณในการผลิตสิ่งพิมพ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสำเร็จ ในขณะที่การมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งวัดได้ยาก ถูกละเลยได้ง่าย แต่สิ่งพิมพ์ไม่ใช่ผลลัพธ์เดียวกันกับการมีส่วนร่วมจริงๆ ของชุมชน
ทางข้างหน้า: มิติระดับชาติและภูมิภาค
เอ็นจีโอ ที่เน้นทำงานโครงการ มักจะมีข้อจำกัดในขอบเขต ทุน พื้นที่ และเวลา จึงไม่สามารถนำไปซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ ประเด็นผู้หญิง/เจนเดอร์ ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในสังคมเอเชียอุษาคเนย์ ถ้าจะให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ ประการแรก จะต้องขยายฐานความรู้ให้สาธารณชนทุกระดับมีความตระหนักถึงความสำคัญของมิติผู้หญิงและเจนเดอร์ จุดยืนของโครงการควรจะเป็นการขับเคลื่อนมากกว่าเพียงแก้ไขที่ปลายเหตุ องค์กรทุนเองก็ควรที่จะประเมินบทบาทของตนใหม่เพื่อเสริมสมรรถนะของเอ็นจีโอระยะยาว ให้ทำงานสร้างชุมชนได้เต็มที่ แทนที่จะให้เป็นเพียงผู้รับเหมาช่วงในการดำเนินโครงการให้สัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของต้นสังกัด ประการที่สอง การเคลื่อนไหวจะสำเร็จได้ต้องสร้าง critical mass คือมีกำลังคนที่อุทิศตัวและมีวุฒิภาวะมากพอในการขับเคลื่อน ทั้งมาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ มีนักกิจกรรมหญิง/นักวิชาการที่สามารถสื่อความคิด/ความรู้อย่างมีกระบวนทัศน์และชัดเจน แม้ว่าจำนวนจะยังน้อยอยู่ อินโดนีเซียเพิ่งเปิดพื้นที่ขึ้น ผู้หญิงที่มีความสามารถในการคิดและถ่ายทอดเช่นเดียวกันได้เริ่มปรากฏตัวขึ้นแล้ว ประการที่สาม เอ็นจีโอผู้หญิงควรจะสร้างวาทกรรมใหม่ให้เห็นว่า ทำไมประเด็นผู้หญิงจึงสำคัญ? เกี่ยวเนื่องและมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหามหภาคอย่างไร?
ยกตัวอย่าง ในระดับพื้นฐาน ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตที่ปลอดจากความรุนแรง—อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สันติ และมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส ผู้หญิงเป็นครึ่งหนึ่งของทรัพยากรมนุษย์ เป็นแม่ที่ใกล้ชิด เลี้ยงดู สั่งสอนลูก (มากกว่าพ่อ) และผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ดูแลสารทุกข์สุขดิบของสมาชิกในครอบครัว จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ในการพัฒนาศักยภาพเท่าเทียมกับชาย ผู้หญิงจึงสมควรที่จะมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมทั้งความรู้ในการดูแลสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุมกำเนิด เพื่อช่วยลดการขยายประชากรที่เกินกำลังเลี้ยงดูของโลก วาทกรรมทางสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกรอบคิดที่มีประโยชน์ ที่จะช่วยในการเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจในศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ได้
ความร่วมมือขององค์กรผู้หญิงในระดับภูมิภาค สามารถช่วยแก้ปมปัญหาในประเทศ กลไกระดับภาคพื้นที่อาศัยอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเครือข่ายเอ็นจีโอในภูมิภาค มีอิทธิพลต่อการแก้กฎหมาย นโยบาย หรือปฏิรูป ที่เอื้อให้เกิดความเสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างหญิงชาย เช่น เอ็นจีโอในฟิลิปปินส์ ได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ASCENT—องค์กรระดับภูมิภาค—ในการผลักดันประเด็นความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายข่มขืน มีการพัฒนาและแลกเปลี่ยนกรอบการติดตามการดำเนินโครงการหรือตรวจสอบช่องโหว่ในกฎหมายระหว่างองค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ หลักการในอนุสัญญา CEDAW และปฏิญญาปักกิ่ง มีส่วนช่วยให้ผู้หญิงผลักดันนโยบายชาติได้ง่ายขึ้น เช่น การบังคับใช้มาตรการพิเศษกำหนดสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ในอินโดนีเซีย หรือ การจัดสรร 5 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแผ่นดิน ให้ดูแลกิกรรมเจนเดอร์ ในฟิลิปปินส์ เป็นต้น
กลไกระหว่างประเทศและภูมิภาค ไม่เพียงแต่สร้างความชอบธรรมให้การเคลื่อนไหวของผู้หญิง ยังเปิดพื้นที่ให้ถกเรื่องต้องห้าม เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและการค้าประเวณี (เช่น ในมาเลเซีย) การประชุมแลกเปลี่ยนในภูมิภาคทำให้รัฐบาลต้องสนใจปัญหาความไม่เท่าเทียมหญิงชายภายในประเทศ การได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยให้รัฐบาลเห็นแนวทางที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายชาติ เพื่อแก้ไขปัญหา และนำไปสู่ความเท่าเทียมหญิงชายยิ่งขึ้น
ความร่วมมือระหว่างเอ็นจีโอ ในระดับภูมิภาคมีหลายรูปแบบ เช่น ภาคีในการจัดงาน (Event-driven partnerships เช่น กระบวนการและการระดมสมองและกำลังพลเพื่อจัดงานประชุมสตรีโลก ที่ปักกิ่ง) ภาคีในการรณรงค์แต่ละประเด็น (Issue-focused partnerships ประเด็นเฉพาะ เช่น สุขภาพ ความรุนแรง สิทธิแรงงานสตรี ฯลฯ) ภาคีในการดำเนินงานที่ผสมผสานระหว่างการประชุมและประเด็นเฉพาะ (Mix of event and issue focused partnerships การประชุมพิเศษเฉพาะ เช่น ปักกิ่ง+5 การประชุมโลกเรื่องเชื้อชาติ/World Conference on Racism และ Tokyo Tribunal)
ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนหรือภาคีนี้ มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยทำให้วงการกิจกรรมผู้หญิงเข้าใจแต่ละประเด็นลุ่มลึกขึ้น และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของประเด็นต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจนอกระบบ การย้ายถิ่น ความรุนแรง การค้ามนุษย์ ฯลฯ ผู้หญิงทั้งนักปฏิบัติและนักวิชาการ ได้ใช้เวทีประชุมภูมิภาคและนานาชาติเหล่านี้แลกเปลี่ยนมุมมอง การวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนบทเรียน ยุทธศาสตร์การชูประเด็น และการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ความร่วมมือเหล่านี้ช่วยให้กลุ่มผู้หญิงก้าวข้ามความโดดเดี่ยวในท้องที่หรือในประเทศของตน และได้เรียนรู้ความคิดทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติใหม่ๆ ประสบการณ์เหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะขององค์กรผู้หญิงในการดำเนินกิจกรรม เช่น การให้บริการ การรณรงค์ หรือการส่งเสริมทักษะต่างๆ ในลักษณะวิจัยเชิงปฏิบัติการ และมีการจัดเอกสารเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรด้วย อาศัยการถักทอเป็นเครือข่าย องค์กรที่เคยถูกมองข้ามและเสียงที่ไม่มีคนฟัง เมื่อรวมตัวเข้าด้วยกัน ก็สามารถส่งผลกระทบเมื่อมีเวทีประชุมระดับภูมิภาค/สากล เป็นฐาน
สรุป
การต่อสู้เรียกร้องของผู้หญิงในเอเชียอุษาคเนย์ โดยผ่านรูปแบบองค์กรสตรี มีลักษณะต่าง ๆ กัน แปรตามปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และปัจจัยทางอุดมการณ์ และ สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน แม้จะต่างในเนื้อหาสาระเฉพาะ องค์กรผู้หญิงทั้งสามกรณีศึกษา ก็มีปัจจัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองคล้ายคลึงกัน เช่น การเคลื่อนไหวของผู้หญิง เชื่อมโยงกับขบวนการชาตินิยมในการขับเจ้าอาณานิคม ซึ่งต่อมา ก็เชื่อมโยงกับการเข้าสู่ยุคใหม่ และการพัฒนา ในขณะเดียวกัน แต่ละศาสนจักรก็พยายามดำรงการครอบงำและควบคุมฆราวาสของตน และในทางตรงข้าม ก็ถูกฝ่ายฆราวาส/การเมืองครอบงำเช่นกัน บทความชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้หญิงในสามประเทศ—อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์—ที่รวมตัวกันท้าทายและต่อรองกับกระแสสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ทั้งบีบเบียด และเปิดพื้นที่/โอกาสใหม่แก่ผู้หญิง องค์กรผู้หญิงได้ขยับขยายศักยภาพเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนสังคมสู่ประชาธิปไตย ที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน สมรรถนะขององค์กรผู้หญิง ก็ถูกจำกัด ด้วยโครงสร้างสังคมและการเมืองในแต่ละประเทศ รวมทั้ง นโยบายรัฐที่คลุมเครือต่อประเด็นผู้หญิง
ภาคผนวก
คำย่อ ของชื่อองค์กรสตรี
อินโดนีเซีย
BKKBN | Badan Koordinasi Keluarga Berencana Nasional,Nat’l Family Planning Coordinating Board) |
ICWIP | |
Koalisi Perempuan | Koalisi Perempuan |
NU | Nadlatul Ulama |
PKK | Pendidikan Kesejahteraan Keluarga |
PPSW | Pusat Pengembangan Sumberdaya Wanita |
มาเลเซีย
ARROW | Asian-Pacific Resource & Research Centre For Women |
AWAM | All Women's Action Society |
AWRC | Asian Women’s Resource Centre |
FFPAM | Federation of Family Planning Association |
IWRAW-AP | International Women’s Rights Action Watch Asia-Pacific |
JUST | Int’l Movement for a Just World |
NACIWD | Nat’l Advisory Council for the Integration of Women In Development |
NCWO | Nat’l Council of Women's Org. |
PSWS | Persatuan Sahabat Wanita, Friends of Women Organization |
SIS | Sisters In Islam |
WAO | Women's Aid Org. |
WABA | World |
WCC | Women’s Center for Change, formerly: Women's Crisis Centre |
WCI | Women’s Candidacy Initiative |
WDC | Women's Development Collective |
ฟิลิปปินส์
ALG | Alternative Law Research and |
CAPWIP | Center for Asia-Pacific Women in Politics |
CATWAP | Coalition Against Trafficking in Women-Asia Pacific |
CRHL | Center for Reproductive Health Leadership |
CWR | Center for Women’s Resources |
DAWN | Development Action for Women Network |
DSWP | Democratic Socialist Women of the |
GABRIELA | National Alliance of Women’s Organizations |
ISSA | |
NCRFW | National Commission on the Role of Filipino Women |
PBSP | Philippine NGO |
SIBOL | Sama-samang Inisyatiba ng Kababaihan sa Pagbabago ng Batas at Lipunan |
WAND | Women’s Action Network for Development |
WCC | Women’s Crisis Center |
WHCF | Women’s Health Care Foundation |
WHP | Woman Health |
WISEACT | Women’s Institute for Sustainable Economic Action |
WLB | Women’s Legal Bureau |
WOMENLEAD | Women’s Legal Education Advocacy and Defense Foundation |
[1] “Women’s Issues and Changing Roles of Women’s Organizations In Southeast Asia (Indonesia , Malaysia and the Philippines )” by Darunee Tantiwiramanond (API 2002/03), Women’s Action & Resource Initiative (WARI), Thailand [2004, pp.256-272]
[2] ยกตัวอย่าง: Ford Foundation ได้ให้ทุนสนับสนุน IDS (International Development Studies, Sussex) เพื่อดำเนินโครงการโลกเรื่อง “ประชาสังคมและธรรมาภิบาล” (Global Project on Civil Society and Governance), โครงการที่สนับสนุนโดย มูลนิธิเอเชีย/ธนาคารโลก (Asia Foundation/World Bank) ในหัวข้อ “ภาคไม่แสวงกำไรในเอเชีย” (Non-profit Sectors in Asia) และ โครงการภายใต้แอสแคป-สหประชาชาติ (UN-ESCAP) เรื่อง “รัฐบาลและเอ็นจีโอในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก” (Governments and NGOs in the Asia Pacific Region) โครงการเหล่านี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีการเซ็นสัญญามอบหมายความรับผิดชอบกับผู้เชี่ยวชาญให้ลงไปทำการศึกษาวิจัยในแต่ละประเทศ แล้วรายงาน สรุปผลการศึกษา รวมทั้งให้คำแนะนำ โครงการเหล่านี้ มักจะพร่องรายละเอียดข้อมูลระดับลึก อันเป็นเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละประเทศ และโดยทั่วไปจะขาดมุมมองทางเจนเดอร์
[3] โปรดดูรายชื่อองค์กรที่ได้เข้าหาในแต่ละประเทศ ในภาคผนวก
[4] ขอขอบคุณผู้แทนจากองค์กรต่างๆ (ดังปรากฏในภาคผนวก) ที่กรุณาสละเวลาและให้ข้อมูลแบ่งปันความคิดและประสบการณ์
[5] กลุ่มที่อยู่แนวหน้ามี Persatuan Wanita Indonesia (Indonesian Women’s Association), Korps Wanita Indonesia (Indonesian Women’s Corps) Persatuan Wantia Kristen (Christian Women’s Association) Muslimat Aisyiyah (Moslem Women’s Association) Pemuda Puteri Indonesia (Indonesian Young Women) Gerwani (Gerakan Wanita Indonesia, Indonesian Women’s Movement)
[6] GERWANI เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia / Indonesian Communist Party) แม้ว่า ซูการ์โน จะไม่ได้เป็นคน “หัวซ้าย” เขาได้พยายามปรับให้พลังการเมืองทั้งสามกระแสเดินไปด้วยกัน คือ: ชาตินิยม คอมมิวนิสต์ และกลุ่มศาสนาต่างๆ กลุ่มร่วมสมัยอื่นที่โดดเด่นไม่น้อย คือ ISWI (Ikatan Sarjana Wanita Indonesia ) and IWAPI (Ikatan Wanita Pengusaha Indonesia )
[7] ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการคอรัปชั่น เมื่อ Habibie ได้เป็นประธานาธิบดีในปี 1998 เขาได้คัด สส หญิงบางคนออก และแทนที่ด้วยนักการเมืองชาย ด้วยเหตุผลว่า เพื่อลดคอรัปชั่น การฮั้ว และ การเล่นพรรคเล่นพวก
[8] ในช่วงเวลาที่ดิฉันอาศัยอยู่ในอินโดนีเซีย มีการถกกันเรื่องการมีภรรยาหลายคนของรองประธานาธิบดี ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ได้เบี้ยเลี้ยงในฐานะผู้พึ่งพา หรืออยู่ในความอุปถัมภ์ของเขา
[9] NU และ Mohammadiya เป็นสององค์กรมวลชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
[10] สัมภาษณ์ October-December 2003 ในอินโดนีเซีย.
[11] สัมภาษณ์ October-December 2003.
[12] Universities and Colleges Act (UCA) และ Internal Security Act (ISA) เป็นกลไกรัฐที่มีประสิทธิภาพมาก ISA ถูกบัญญัติโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษเพื่อปราบปรามการลุกฮือของคอมมิวนิสต์ ส่วน UCA ถูกประกาศใช้ในปี 1974 เพื่อกีดกันนักศึกษาไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่รัฐบาลไม่อนุญาต
[13] อิสลามมีองค์ประกอบที่เป็นทั้งพิธีกรรมและกฎหมาย ในฐานะศาสนาแห่งรัฐ มีบางกลุ่มในมาเลเซียที่พยายามผลักดันให้ Shariah กลายเป็นกฎหมายแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับผู้หญิงในทุกๆ ศาสนา (คริสต์ ฮินดู และพุทธ) แต่ไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับการถกประเด็นนี้ เพราะ กฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมถกข้อขัดแย้งทางศาสนา จะต้องมีการรับรองทางวิชาการ (scholaristic credential) กล่าวคือ ไม่เพียงแต่อ่านภาษาอาหรับได้ ยังต้องเป็นพหูสูตในคัมภีร์ Qur’an ด้วยเหตุนี้ Dr. Patricia Mertinez นักกิจกรรม-วิชาการชาวมาเลเซียแต่นับถือคาทอลิก ได้เอาชนะเงื่อนไขนี้ โดยมุมานะศึกษา จนได้รับปริญญาเอก สาขาอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศจอร์แลนด์ เพื่อว่าเธอจะสามารถเปิดปากถกประเด็นที่เกี่ยวกับอิสลามได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง กลุ่มผู้หญิง เช่น SIS (Sisters in Islam) ใช้ยุทธวิธีเลี่ยงวิจารณ์เนื้อหาในคัมภีร์ Qur’an หรือศาสนาอิสลาม แต่เน้นที่การตีความที่แฝงอคติให้ชายได้เปรียบ พวกเธอแย้งว่า คัมภีร์ต้นฉบับ เผยแพร่ความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ผู้สืบทอด/นักปราชญ์/นักเทศน์ ชายรุ่นต่อมา ได้ตีความ แต่งเติม จนทำให้อิสลามดูเหมือนให้อภิสิทธิ์แก่ชายเหนือผู้หญิง
[14] ช่วงปี 1992-2003 ถูกประกาศให้เป็นทศวรรษสหประชาชาติ ในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง (UN’s Decade for the Elimination of Violence Against Women)
[15] ผู้ประสานงานของ Friends of Women (ประเด็นแรงงานรับเหมาช่วง) Irene Xavier ถูกจำคุกพร้อมกับผู้หญิงนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) ผู้อำนวยการของ Tenaganita (ประเด็นคนงานหญิงอพยพข้ามแดน) Irene Fernadez ถูกข้อหาภายใต้ กฎหมายการตีพิมพ์ (Publication Act) เพราะเขียนบทความเกี่ยวกับการกระทำทารุณกรรมต่อแรงงานอพยพที่ถูกกักขัง เธอต้องไปขึ้นศาลเพื่อป้องกันตัวเอง ใน 8 ปี ที่ผ่านมา และในขณะให้สัมภาษณ์ คดีก็ยังไม่สิ้นสุด
[16] สัมภาษณ์ พค-มิย 2004 ในฟิลิปปินส์
[17] วาระชายมักจะเน้นในเรื่องพื้นที่สาธารณะ เช่น การเมือง และการปลดแอกชาติจากเจ้าอาณานิคม ส่วนวาระหญิงมักจะครอบคลุมประเด็นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องผัวเดียวมากเมีย หรือการคลุมถุงชนและแต่งงานเด็ก
คุณ ต้องการเงินกู้วิทยาลัย?
ตอบลบคุณต้องการเงินทุนสำหรับกระบวนการอื่น ๆ ?
รายชื่อผู้ ติดต่ออีเมล์: raymondmitchell216@yahoo.com
เงินให้กู้ยืมที่มีอยู่
* สินเชื่อส่วนบุคคล (Secure และไม่มีประกัน)
* สินเชื่อธุรกิจ (การรักษาความปลอดภัยและไม่มีประกัน)
สินเชื่อรวม *
สินเชื่อรวม * และอื่น ๆ อีกมากมาย:
* แฟรนไชส์เริ่มต้นขึ้น
การได้มาซึ่งธุรกิจ *
การขยายตัวทางธุรกิจ *
* ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เชิงพาณิชย์
ดำเนินการทำสัญญา *
ฉันขอให้คุณพักผ่อนคลายและไม่ต้องกังวลมากกว่า ที่เรา
ให้คุณเสนอ Legit ขั้นตอนที่ประตูของคุณ
C-W บริการการลงทุน
ปัญหาทางการเงินของคุณเป็นเป้าหมายของเรา
ราย ชื่อผู้ติดต่ออีเมล์: raymondmitchell216@yahoo.com
คุณต้องกรอกข้อมูลต่อไปนี้
คุณต้องการสินเชื่อปีงบการเงินอย่างเร่งด่วน?
ตอบลบ* การโอนเงินอย่างรวดเร็วและทันทีไปยังบัญชีธนาคารของคุณ
* ชำระคืนเริ่มแปดเดือนหลังจากที่คุณได้รับเงิน
บัญชีธนาคาร
* อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2%
* การชำระหนี้ระยะยาว (1-30 ปี) ความยาว
* เงื่อนไขเงินกู้ที่มีความยืดหยุ่นและการชำระเงินรายเดือน
* * * * มันใช้เวลานานเท่าใดเพื่อเป็นเงินทุน? หลังจากส่งสมัครขอสินเชื่อ
คุณสามารถคาดหวังคำตอบเบื้องต้นน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
เงินทุนใน 72-96 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับข้อมูลที่พวกเขาต้องการ
จากคุณ
ติดต่อผู้มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาต บริษัท ไว้วางใจ
ที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศอื่น ๆ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและรูปแบบการสมัครขอสินเชื่อธุรกิจร่วมกันผ่าน
อีเมล: cashfirmarena@gmail.com
เซอร์ EVA DEMETER
อธิบดี
CASHFIRM
คุณต้องการสินเชื่อปีงบการเงินอย่างเร่งด่วน?
ตอบลบ* การโอนเงินอย่างรวดเร็วและทันทีไปยังบัญชีธนาคารของคุณ
* ชำระคืนเริ่มแปดเดือนหลังจากที่คุณได้รับเงิน
บัญชีธนาคาร
* อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2%
* การชำระหนี้ระยะยาว (1-30 ปี) ความยาว
* เงื่อนไขเงินกู้ที่มีความยืดหยุ่นและการชำระเงินรายเดือน
* * * * มันใช้เวลานานเท่าใดเพื่อเป็นเงินทุน? หลังจากส่งสมัครขอสินเชื่อ
คุณสามารถคาดหวังคำตอบเบื้องต้นน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
เงินทุนใน 72-96 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับข้อมูลที่พวกเขาต้องการ
จากคุณ
ติดต่อผู้มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาต บริษัท ไว้วางใจ
ที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศอื่น ๆ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและรูปแบบการสมัครขอสินเชื่อธุรกิจร่วมกันผ่าน
อีเมล: cashfirmarena@gmail.com
เซอร์ EVA DEMETER
อธิบดี
CASHFIRM