ทัตสึยะ ทานามิ, มูลนิธินิปปอน
ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย
Asian Public Intellectual Fellowships
ปัญญาชนและเอเชีย
เอเชียได้ประสบการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่ช่วงกึ่งศตวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาครึ่งศตวรรษนั้น ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ได้เคลื่อนตัวผ่านหนทางอันยิ่งใหญ่จากการปลดแอกอาณานิคมสู่การประกาศเอกราชและสร้างรัฐชาติของตนเอง สำหรับบางประเทศ กระบวนการก่อสร้างรัฐชาติตั้งอยู่บนประวัติศาสตร์ของอัตตาธิปไตย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยราคาของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถึงอย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแต่ละประเทศในเอเชียก็ได้เดินตามหนทางที่ตนได้เลือกเองในการพัฒนา และได้ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลให้มีการเสียสละมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในบริบททางประวัติศาสตร์เช่นนี้แหละ ที่ปัญญาชนเอเชียรุ่นแรกได้ลุกขึ้นแบกรับภาระภายหลังสงครามไว้ ทำหน้าที่เสมือนทนายแก้ต่างในพื้นที่สาธารณะ ท้าทายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ และเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ในขณะเดียวกัน ก็ได้สนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปสังคม แม้ว่าปัญญาชนเหล่านี้จะได้พัฒนาและอุดมไปด้วยความรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บทบาทของการเป็นทนายแก้ต่างสาธารณะมักจะทำให้เกิดแรงเสียดทานทางการเมืองกับฝ่ายรัฐชาติ (หรือรัฐชาติเจ้าอาณานิคม) เวลาผ่านไป พวกเขาได้สร้างเครือข่ายของคนที่คิดแนวเดียวกันในภาคพื้นเอเชีย แม้จะอยู่ในวงจำกัด เครือข่ายนี้ก็ได้เล่นบทที่มีความสำคัญมากในการเป็นพลังทางเลือก แต่น่าเสียใจที่เครือข่ายนี้ ไม่สามารถสร้างพลังกระแทกที่แรงพอที่จะแก้ไขพื้นฐานของวิถีหลัก และเปลี่ยนทิศทางของชาติต่างๆ
สิ่งท้าทายใหม่หลังสงครามเย็น
จุดจบของสงครามเย็นได้เปิดโอกาสให้มีการขยับเปลี่ยนวิถีการพัฒนาในเอเชีย การตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่อกันในเชิงอุดมการณ์ได้ถอยออกเปิดทางให้โลกาภิวัตน์นำ แนวคิดเรื่องรัฐชาติเริ่มถูกตั้งคำถาม และภาวะของการเปลี่ยนผ่านจากยุคปลดแอกอาณานิคมก็ย่างเข้าสู่ยุคปลดแอกรัฐชาติ การพัฒนาใหม่ๆ ในเวทีโลกทุกวันนี้ สร้างสิ่งท้าทายที่ใหญ่หลวง (ทั้งทางบวกและทางลบ) สำหรับประเทศในเอเชีย การไต่เต้าให้ถึงเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ บางครั้งหนทางก็ถูกบิดเบือนด้วยความจำเป็นที่จะต้องสังเวยคุณค่าขั้นพื้นฐานหลายประการ ในหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่อนาคตกำลังเผยโฉมหน้าใหม่สำหรับภาคพื้นนี้ ปัญหาต่าง ๆ ทีเคยถูกอัดทับไว้จนกระทั่งสงครามเย็นยุติ ได้ค่อยๆ ผุดขึ้นมา ความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นจากประกายไฟของวิกฤตการเงินในปี 1997 เผยให้เห็นรากฐานที่เปราะบาง อันเป็นพื้นฐานที่เศรษฐกิจเอเชียกำลังพัฒนาอย่างเร่งรีบ
ผู้นำทางการเมือง ข้าราชการ และปัญญาชน ต่างพบว่าเป็นการยากที่จะรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งรีบนั้น แท้จริงแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่ระบอบการเมืองร่วมสมัยในภาคพื้นนี้ เช่น อาเซียน จะสามารถเล่นบทอย่างมีประสิทธิภาพได้ เครือข่ายของคณะทำงานระดับสมองต่างๆ (Track-2 เป็นต้น) ประกอบด้วยข้าราชการ นักวิชาการ และปัญญาชน ก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกันในการค้นคิดริเริ่มหานโยบายทางเลือกอื่นๆ
ถึงกระนั้น ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวก ยกตัวอย่าง เช่น การเกิดชุมชนใหม่ขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (เอ็นจีโอ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับโลก ได้พัฒนาอย่างกว้างขวางในเอเชีย การอุบัติขึ้นของภาคประชาสังคมนี้ ในฐานะที่เป็นพลังทางเลือกใหม่ ได้รับการตอบรับจากชาวเอเชียผู้ตั้งความคาดหวังอย่างสูงต่อความสามารถของพลังใหม่นี้ ในการรับมือกับประเด็นสังคมที่ประชิดตัวต่างๆ พวกเขายังหวังว่าพลังทางเลือกนี้จะช่วยเพิ่มอำนาจของประชาชนชาวเอเชีย ให้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาสังคม ที่ไม่ว่ารัฐบาลหรือเหล่าปัญญาชนที่สงบเงียบ (บางคนได้กลายเป็นคนใกล้ชิดในระบบราชการของรัฐ) ไม่เคยสามารถจัดการได้
การแสวงหากลไกปัญญาชนใหม่
แต่ปัญญาชน “ดั้งเดิม” หายไปไหนหมด? เหล่าแนวหน้าของขบวนการสมัยใหม่ ผู้ที่สร้างความชอบธรรมแก่ระเบียบใหม่ของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอยู่ที่ไหน? เป็นไปได้ไหมที่ปัญญาชนรุ่นสองและสาม ซึ่งต่างจากรุ่นแรก กำลังสวมบทผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคแทนที่จะมาสนับสนุนการเป็นทนายแก้ต่างสาธารณะ กล่าวคือ ชี้นำนโยบายทางเลือกต่อผู้ครองอำนาจ? จำนวนนักคิดอิสระในเอเชียได้หดหายไปแล้วหรือ ในขณะที่จำนวนประชากรของปัญญาชนที่รัฐบาลอุปถัมภ์เพิ่มตัวทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ? หรือว่า ประเด็นในโลกของความเป็นจริง เช่น เรื่องปัญญาชน “ดั้งเดิม” ไม่ใช่เรื่องจำเป็นไปเสียแล้ว?
ในเอเชีย สถาบันทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ความหลากหลายอันอุดมสมบูรณ์นี้ หมายถึงศักยภาพอันมหาศาลของภูมิภาคนี้ เราไม่สามารถจะมองข้ามปัญหาที่คุกคามอยู่ทั้งมวล เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งกับการต่อสู้ดิ้นรน บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ ศาสนา และลักษณะทางวัฒนธรรมต่างๆ การแก้ปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องเริ่มต้นการรื้อเปลี่ยนโครงสร้างตั้งแต่ระดับรากฐานของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การเมืองตามลำพัง ไม่สามารถจะกล่าวถึงความจำเป็นในการรื้อเปลี่ยนโครงสร้าง แต่จะเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนทางปัญญาผ่านช่องทางการปฏิสัมพันธ์ของปัญญาชนข้ามชาติ นี่น่าจะเป็นหนทางที่เป็นไปได้ในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นพื้นฐานของระบบ
แต่ลำพังการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวเอเชียที่ดีที่สุดและเก่งที่สุด ไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่ปฏิบัติการได้ เหล่าปัญญาชนเอเชียหลังสงครามโลกได้ทำไว้ดีแล้วที่เตรียมแปลงดินสำหรับเพาะเมล็ดความคิดดี ๆ ไว้มากมาย แต่กลับล้มเหลวที่จะแปลความคิดเหล่านั้นให้เป็นนโยบาย ในขณะที่ความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การเปลี่ยนแปลงในภาคปฏิบัติมีเพียงไม่กี่อย่าง ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ หน้าที่การกำหนดและดำเนินนโยบายใหม่ๆ ทั้งหลาย รวมอยู่ในมือของภาครัฐ หลายๆ นโยบายถูกควบคุมโดยผู้นำที่มองเห็นความก้าวหน้าว่าเป็นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่มีอะไรเกินกว่านั้น
แล้วใครเล่า จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่? ภาคประชาสังคมจะเข้ามารับผิดชอบเพื่อปกป้องสวัสดิการสาธารณะได้ไหม ในขณะที่รัฐได้ล้มเหลวไปแล้ว? ใครจะเป็นผู้เสนอความคิดใหม่ๆ และใครจะเป็นผู้ดำเนินการนั้น? กลไกอะไรที่จะแก้ไขปัญหาข้ามชาติได้?
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ พวกเราเชื่อว่าการสร้างชุมชนใหม่หรือกลไกปัญญาชนใหม่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาค
กำเนิดทุน เอพีไอ
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง มูลนิธินิปปอน ได้เห็นชอบแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อกำหนดวิธีที่เหมาะสมกับปัญหาประชิดตัว พวกเราได้ส่งเสริมโครงการที่เป็นภาคีกับองค์กรนานาชาติ รัฐบาล และ เอ็นจีโอ โดยมุ่งเน้นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และให้ความสนใจพิเศษต่อปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยความเชื่อที่ว่า การกระทำตูมเดียว มีค่ามากกว่าการอภิปรายร้อยครั้ง พวกเราได้พุ่งความสนใจไปที่ประเด็นปัญหาที่คุกคามประเทศกำลังพัฒนาอยู่ เช่น ความอดอยาก การอพยพลี้ภัย โรคภัยไข้เจ็บ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่พวกเราก็ตระหนักถึงความสำคัญของการแตะต้นตอของปัญหาและการหาทางแก้ไขขั้นพื้นฐานด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ความทุกข์ร้อนทางสังคมได้เพิ่มขึ้นมาก เราเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายประชาชนผู้เข้าใจถึงเนื้อแท้ของปัญหา ให้ได้ตรึกคิด ได้เสนอทางออก และแม้แต่ริเริ่มดำเนินการ แทนที่จะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคหรือปัญญาชนที่ไม่สนใจการเมือง เครือข่ายนี้ต้องการผู้นำปัญญาชนที่มีความรับผิดชอบและมีความสามารถที่จะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะชน การค้นหาปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้ก่อน แล้วจึงกระตุ้นและจัดพวกเขาให้เป็นเครือข่ายที่งอกเงยได้นั้น ได้กลายเป็นเป้าหมายหลัก และโครงการทุนนี้ ที่พวกเราได้ร่วมกันออกแบบ ให้เป็นกลไกที่ทำจะหน้าที่นี้ดีได้ที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
พวกเราเริ่มตระหนักว่า ประเทศในเอเชีย มีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน น่าแปลก เอเชียถูกค้นพบ ศึกษา และเข้าใจโดยชาวตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับเอเชียกลับไหลมาจากทางตะวันตก ในอดีต คำแถลงที่ว่า “ปัญญาชนเอเชียที่ได้รับการฝึกอบรมจากตะวันตกหลายคน ต่างมีความรู้สึกลึกซึ้งร่วมกันถึงความโดดเดี่ยวในสังคมของตน” มีอยู่ทั่วไป ตอนนี้ เราตระหนักแล้วว่า ปัญญาชนเอเชียน่าที่จะรู้จักกันในระดับลึกและละเอียดยิ่งขึ้น และต้องหลีกเลี่ยงการแยกตัวออกจากสังคมของตนเอง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จึงจำเป็นที่จะดลใจให้ปัญญาชนทำงานภายในภูมิภาคนี้ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันในภาคพื้นนี้ ความคิดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการตัดสินใจของพวกเรา ที่จะตั้งโครงการใหม่ที่พวกเราเรียกว่า ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectuals) หรือ โครงการทุน เอพีไอ (API Fellowship Programme)
คำเกริ่นนำที่กล่าวมาข้างต้น อาจดูเหมือนมีรายละเอียดมากเกินไป แต่ก็ทำด้วยเหตุผล ผมมใคร่จะเน้นถึงความจริงที่ว่า ความคิดเหล่านี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้พวกเราริเริ่มโครงการใหม่นี้ในฤดูร้อนของปี 1999 คำสองคำ “เอเชีย” และ “สาธารณะ” เป็นพื้นฐานของการอภิปรายครั้งนั้น พวกเราเล็งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับชาวเอเชียในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถอุทิศตนเพื่อประโยชน์สาธารณะในเอเชียได้ เพื่อพัฒนาแนวคิดนี้ เราได้เชิญผู้นำปัญญาชนประมาณ 30 คน จากประเทศในเอเชียให้มาร่วมประชุมในเดือนกันยายน 1999 มีนักวิชาการ นักวิจัย นักวิจารณ์ ศิลปิน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ และนักกิจกรรม เอ็นจีโอ ทุกคนล้วนมีผลงานโดดเด่นในวงการของตน
ทั้งหมดได้ร่วมถกอย่างกว้างขวางเป็นเวลากว่า 2 วัน เพื่อวางแนวคิดสำหรับทุนของมูลนิธินิปปอนเพื่อปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย หรือ ทุน เอพีไอ (The Nippon Foundation Fellowships for Asian Public Intellectuals, API Fellowship) การอภิปรายเจาะจงอยู่ที่หัวข้อ เช่น กลไกและเครือข่ายปัญญาชนที่เหมาะสมกับเอเชีย การระบุตัวปัญญาชนสาธารณะที่จะมีส่วนร่วมในกลไกและเครือข่ายนี้ รวมทั้งประเด็นและหัวข้อต่างๆ สำหรับการทำวิจัยและปฏิบัติการ
ผู้นำปัญญาชนบางคนที่ร่วมอยู่ในวงระดมสมอง ภายหลังได้เล่นบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทุน เอพีไอ ในบรรดาผู้นำเหล่านี้ มีอดีต Ishak bin Shari จากมาเลเซีย (ผู้เสียชีวิตอย่างกระทันหัน ในเดือนมิถุนายน 2002 อันเป็นที่น่าเศร้าใจ) Takashi Shiraishi จากญี่ปุ่น และสุริชัย หวันแก้ว จากประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดมีความเห็นร่วมกันต่อแนวทางและรูปแบบของกลไก ดังต่อไปนี้
- เป็นเครือข่ายที่สร้างขึ้นในเอเชีย แทนที่จะเป็นในตะวันตก
- เป็นโปรแกมที่โอบรวมปัญญาชนจากวงการต่างๆ
- เป้าหมายของโปรแกมครอบคลุมไม่เพียงกลุ่มคนที่คาดหมายกลางเป้า ยังรวมถึงกลุ่มคนที่กระจายอยู่รอบขอบเป้า
- มีความยืดหยุ่นในการเอาชนะอุปสรรคทางภาษา และ
- เป็นโปรแกมที่ให้ความสำคัญต่อโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปทางสังคม
จุดประสงค์สูงสุดของโครงการนี้ คือ ต้องการสร้างปัญญาชนสาธารณะกลุ่มใหม่ในภูมิภาค ให้เป็นผู้ที่จะสามารถโน้มน้าวระบบการเมืองและนโยบายที่มีผลกระทบต่อการปกครองในภูมิภาคและในประเทศ โครงการนี้ ได้คาดหวังว่ากลุ่มปัญญาชนนี้จะจูงใจและชี้นำภาคประชาสังคมพลเรือนในภูมิภาคในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่คุกคามแต่ละสังคม และช่วยกำหนดวิถีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ทุน เอพีไอ
การระดมสมองครั้งนั้นได้ตกผลึกเป็นความคิดและกรอบการทำงานของ ทุน เอพีไอ ห้าประเทศแรกที่ถูกเลือกให้เข้าร่วม คือ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ญี่ปุ่น ในระยะแรกของทุนนี้จะใช้รูปแบบนี้สักพัก และจะเพิ่มจำนวนประเทศเข้าร่วมในอนาคต
ในขณะที่สี่ประเทศแรกมีศักยภาพสูง และมีความจำเป็นในการระบุตัวและหล่อเลี้ยงปัญญาชนสาธารณะ พวกเขามีทรัพยากรที่จำกัด ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมีความจำเป็นสูงที่จะเป็นภาคีกับปัญญาชนสาธารณะในสี่ประเทศนั้น
องค์ประกอบของทุนนี้ แบ่งออกเป็น 2 หมวด หมวดรุ่นอาวุโส/ซีเนียร์ (senior) สำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ ผู้ซึ่งได้มีผลงานในระดับหนึ่ง และถูกคาดหวังให้ขยายความสำเร็จนั้นในอนาคต และหมวดรุ่นจูเนียร์ (junior) สำหรับคนอายุอ่อนกว่าที่มีอนาคตสดใส สำหรับผู้สมัครที่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญญาชนสาธารณะ ทั้งสองกลุ่มถูกคาดหวังให้เรียนรู้จากกันและกันในวาระต่าง ๆ เป็นการประสานและเสริมกำลังกัน ด้วยวิธีดังกล่าว
คำว่า “ปัญญาชนสาธารณะ” ได้ถูกบัญญัติความหมายว่า “เป็นอาจารย์นักศึกษาระดับอุดมศึกษา/นักวิชาการ นักวิจัย นักวิชาชีพในสื่อมวลชน ศิลปิน นักเขียนเรื่องสร้างสรรค์ นักกิจกรรม เอ็นจีโอ ผู้ทำงานด้านสังคม ข้าราชการ และบุคคลอื่นๆ ที่มีศีลธรรม ผู้ที่อุทิศตัวทำงานเพื่อให้สังคมดีขึ้นด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้วิชาชีพ ปัญญาและประสบการณ์ของตน” เราได้ตัดสินใจที่จะใช้ดัชนีกว้างๆ เพื่อเปิดรับและคัดเลือก โดยไม่ปิดกั้นกลุ่มอาชีพ วิชาชีพใดๆอย่างเจาะจง หรือระดับความตื่นตัวของผู้สมัครต่อประเด็นปัญหาหนึ่งๆ
ได้มีการเสนอหัวข้อร่วมขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ได้รับทุนมีพื้นฐานเดียวกันในการท้าทายและแลกเปลี่ยน เพิ่มจากการแนะนำการคัดเลือกแต่ละคนที่มีความสามารถพิเศษในกิจกรรมงานวิจัยและแลกเปลี่ยน ได้เห็นพ้องกันว่า หัวข้อร่วมเหล่านี้ จะค่อยๆ ปรับแต่งเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อให้ขานรับกับความจำเป็นที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สำหรับ 3 ปีแรกของทุนนี้ มี 3 หัวข้อ
- อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลง และบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
- ภาพสะท้อนของสถานการณ์ของมนุษย์ และการแสวงหาความยุติธรรมทางสังคม และ
- โครงสร้างปัจจุบันของโลกาภิวัตน์ และทางเลือกที่เป็นไปได้
เอกลักษณ์ของกลไกการจัดการ
การจัดการโปรแกมนี้ ได้ฝากฝังไว้กับหนึ่งสถาบันในแต่ละประเทศ ดังนี้ สถาบันการศึกษามาเลเซียและนานาชาติ (Institute of Malaysian and International Studies) ณ มหาวิทยาลัยเกบังซาอาน (Universiti Kebangsaan Malaysia, UKM) ในมาเลเซีย สถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย (Indonesian Institute of Science, LIPI) ในอินโดนีเซีย คณะสังคมศาสตร์ (School of Social Science) ณ มหาวิทยาลัยแอททีนีโอ เดอ มานิลา (Ateneo de Manila) ในฟิลิปปินส์ สถาบันเอเชียศึกษา (Institute of Asian Studies) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเทศไทย และ ศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Center for Southeast Asian Studies, CSEAS) ณ กรุงเกียวโต ในญี่ปุ่น สำนักงาน เอพีไอ แต่ละแห่งมีบุคลากรรับผิดชอบในกิจกรรมดังต่อไปนี้ การประชาสัมพันธ์ การรับสมัคร การออกใบตอบรับใบสมัครที่ส่งเข้ามา การคัดเลือกและการส่งผู้ได้รับทุนออกไปยังแต่ละประเทศ และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ได้รับทุนที่เข้ามาในประเทศ
สมาชิกในคณะกรรมการสรรหามีหน้าที่คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมกับ เอพีไอ ในประเทศของตน จากปัญญาชนในวงกว้างที่มีผลงานโดดเด่น คณะกรรมการสรรหานานาชาตินี้ประกอบด้วยผู้แทนของสถาบันภาคี และปัญญาชนตัวอย่างในภูมิภาค
นอกจากการบริหารจัดการโปรแกมในมาเลเซียแล้ว UKM ยังทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานบริหารด้านการเงิน ในการทำงานควบคู่ไปกับสถาบันภาคีทั้งหลาย UKM เล่นบทหลักในการบริหารโปรแกมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เป็นผู้ตอบสนองการร้องขอจากผู้ได้รับทุน ติดตามงานของแต่ละคน และส่งเสริมการวางแผนและจัดการโครงการใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ เอพีไอ โดยสรุป แต่ละสถาบันภาคีทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสำหรับปัญญาชนสาธารณะในแต่ละประเทศ
ในขณะเดียวกัน สถาบันภาคีใน 5 ประเทศ ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เอื้อให้เกิดเครือข่ายผสมผสานระดับภูมิภาค เหนือกว่านั้น การดำเนินการของโปรแกมถูกคาดหวังให้เสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายมนุษย์ระหว่างผู้ได้รับทุนในระดับปัจเจก และเครือข่ายในระดับภูมิภาคขององค์กรที่อุทิศตนเพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ด้วยการสร้างความคิดใหม่ๆ
พิธีเปิด และคำแถลงการณ์ของ เอพีไอ
โปรแกม เอพีไอ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยพิธีเปิดที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2000 ในโอกาสนั้น ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันแถลง ดังปรากฏใน คำแถลงการณ์ของเอพีไอ ต่อไปนี้
พวกเรา เหล่าผู้แทนจากห้าประเทศในเอเชีย ได้มารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อเปิดตัวความร่วมมือใหม่อย่างเป็นทางการ
ในขณะที่พวกเราก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พวกเราขออุทิศตัวอีกครั้งด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการปฏิบัติการเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของเอเชีย แม้ว่าเราจะยังคงให้เกียรติต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมของพวกเรา
ในขณะที่เราเชิดชูอาณาเขตของชาติและประเพณีดั้งเดิม เราแสวงหาการตอบรับระดับภูมิภาค ด้วยความตระหนักที่ว่า สิ่งท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ประเทศชาติของเรากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาเหนือเส้นแบ่งเขตแดนประเทศ
ชาวเอเชียยังคงเป็นคนแปลกหน้าต่อกันอย่างประหลาด การขาดความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างเรา ได้ขัดขวางไม่ให้เราค้นพบทางออกในการแก้ไขความยากลำบากที่คุกคามเราอยู่
ความท้าทายที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ได้เรียกร้องให้พวกเราเดินหน้าเข้าหากัน เพื่อคิดค้นการรับมือร่วมกัน. พวกเราต่อสู้กับสิ่งท้าทายด้วยความมั่นใจ เพราะว่า ในขณะที่เรามีความภาคภูมิในความแตกต่างระหว่างกัน เราทั้งหมดก็มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันบนฐานมรดกและวิญญาณร่วมที่เป็นชาวเอเชีย
การตอบโต้กับปัญหาระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของปัญญาชนสาธารณะ—ทั้งชายและหญิง—ที่อุทิศตัวเพื่อทำงานในพื้นที่สาธารณะ และเพื่อให้เกิดความร่วมมือเหนือพ้นเส้นแบ่งอาณาจักรดั้งเดิม ในการชูประเด็นที่น่าห่วงใย ในการนำเสนอวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ และในการเกื้อกูลให้เกิดทัศนคติที่ครอบคลุมภาคพื้นในขอบเขต และมีความเป็นสากลในคุณค่า
พวกเราขอประกาศ ณ ที่นี้พร้อมกับการก่อตั้ง ทุนของมูลนิธินิปปอนเพื่อปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย อันเป็นโครงการที่ถูกออกแบบด้วยความตั้งใจ เพื่อช่วยสร้างชุมชนของชาวเอเชีย ผู้สามารถคิดและทำงานในพื้นที่สาธารณะ โครงการนี้ จะริเริ่มในห้าประเทศ ที่พวกเราเป็นตัวแทนในวันนี้ และปัญญาชนสาธารณะ (ซึ่งจะถูกระบุตัวในภายหลัง) ผู้ได้รับโอกาสออกไปทำงานวิจัยและกิจกรรมวิชาชีพของตน ในบรรดาประเทศสมาชิก. ด้วยการส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และแบ่งปันความรู้ระหว่างปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย เอพีไอ มีเจตนาที่จะมีส่วนทำให้พื้นที่สาธารณะเติบโต เพื่อให้เกิดการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อการเรียกร้องของภูมิภาค
พวกเราทั้งหมดที่รวมตัวกัน ณ ที่นี้ มีปณิธานที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำหรับพวกเราเอง ด้วยความหวังที่ว่า ความพยายามหมู่ของพวกเรา จะออกผลที่ทำให้มนุษยชาติดีขึ้น
[1] “API Fellowships: Background and Evolution” by Tatsuya Tanami (The Nippon Foundation). In The Asian Face of Globalisation: Reconstructing Identities, Institutions and Resources—The Work of the 2001/2002 API Fellows [2004, pp.ix-xiii] [website: http://www.api-fellowships.org/]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น