การเสริมอำนาจ : สู่กรอบการประเมิน
ซาราห์ โมสเดล
2003
Towards a framework for assessing empowerment
Sarah Mosedale, EDIAIS
บทคัดย่อ
เมื่อนักวางนโยบายและนักปฏิบัติตัดสินใจว่า เป้าหมายของการพัฒนา คือ “การเสริมอำนาจ” (“empowerment”)—คำที่มักจะใช้กับผู้หญิงหรือคนจน—แท้จริงแล้วพวกเขาหมายถึงอะไรกันแน่? และพวกเขาจะวัดได้อย่างไรว่าได้บรรลุเป้าหมายสักเพียงใด? แม้ว่าการเสริมอำนาจ จะได้กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริบทของการพัฒนา ยังไม่มีวิธีการอันเป็นที่ยอมรับในการวัดและติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ปกติ เรามักจะสมมติกันว่า ถ้าเราต้องการเห็นคนได้รับการเสริมอำนาจ เราจะมองว่า ณ เวลานั้น พวกเขาได้ถูกทำให้ไม่มีอำนาจมาก่อน เช่น ถูกทำให้เสียเปรียบด้วยรูปแบบหรือวิธีการอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ล้อมกรอบทางเลือก โอกาส และสวัสดิภาพของพวกเขา ถ้านี่เป็นความหมายที่เรายอมรับ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ถ้านักพัฒนาสามารถทำความเข้าใจก่อนกับข้อถกเถียง ที่มีส่วนช่วยให้แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจและการทำงานของมันมีความชัดเจนขึ้น นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาหลายคน ได้อภิปรายถึงอำนาจ แต่วาทกรรมเหล่านี้เล็ดลอดมาสู่วงการพัฒนาศึกษาน้อยมาก
ดังนั้น ในบทความนี้ ดิฉันจะทบทวนโดยสังเขปว่า แนวคิดอำนาจได้ถูกถกเถียงและขัดเกลาอย่างไร ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และอภิปรายว่า เราจะประเมินความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบทหนึ่งๆ ได้อย่างไร แล้วดิฉันก็จะกล่าวถึงเรื่องการเสริมอำนาจผู้หญิงว่าได้ถูกอภิปรายกันอย่างไรในวงพัฒนาศึกษา รวมทั้งนำเสนอข้อแนะนำว่าควรจะประเมินกันอย่างไร
นี่เป็นงานที่กำลังดำเนินการอยู่ และยินดีรับฟังคำแนะนำจากท่าน
1. บทนำ
1.1 การเสริมอำนาจ คืออะไร?
“การเสริมอำนาจของผู้หญิง” ได้กลายเป็นเป้าหมายที่อ้างถึงบ่อยๆ ในโครงการแทรกแซงเพื่อการพัฒนา ถึงกระนั้น แม้จะมีองค์ความรู้เชิงวาทกรรมจากการอภิปรายถึงวิธีการประเมินการเสริมอำนาจของผู้หญิง ในทางปฏิบัติก็ยังมีความยากลำบาก นอกจากนี้ หลายๆ โครงการและโปรแกมที่อ้างว่าเพื่อเสริมอำนาจผู้หญิง ก็ไม่ค่อยอธิบายหรือให้คำนิยามว่ามันหมายถึงอะไรในบริบทของพวกเขา จึงไม่ต้องพูดถึงการประเมินว่าสำเร็จหรือไม่เพียงไร
คนที่ใช้คำว่า เสริมอำนาจ ต่างให้ความหมายถึงผลต่างกัน ถึงกระนั้น เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า วาทกรรมของการเสริมอำนาจของผู้หญิง อาจกำหนดได้เป็น 4 ประเภท
ประการแรก ผู้ที่จะถูกเสริมอำนาจได้ จะต้องถูกปลดอำนาจก่อน เช่น การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า ผู้หญิงจัดเป็นกลุ่มเดียวกันได้ ในฐานะที่พวกเธอถูกปลดอำนาจเมื่อเทียบกับชาย
ประการที่สอง การเสริมอำนาจ ไม่สามารถจะมอบให้ได้โดยบุคคลที่สาม ผู้ที่จะถูกเสริมอำนาจจะต้องเรียกร้องทวงถามเอง ดังนั้น หน่วยงานพัฒนา จึงไม่สามารถเสริมอำนาจให้ผู้หญิง – ที่ทำได้มากที่สุด คือ เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงเสริมอำนาจแก่ตัวเอง พวกเขาอาจจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเสริมอำนาจ แต่พวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นไม่ได้
ประการที่สาม คำนิยามของการเสริมอำนาจ มักจะรวมถึงความรู้สึกว่า ประชาชนได้ทำการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของพวกเขา และสามารถจะดำเนินการด้วยตนเองได้ การตรึกคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ และปฏิบัติการ ถูกรวมอยู่ในกระบวนการที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับปัจเจก และระดับรวมหมู่ มีรายงานว่า ในขณะที่ผู้หญิงดิ้นรนตามลำพังเพื่อเสริมอำนาจ มันมักจะเป็นการพยายามในรูปรวมหมู่ แต่การแทรกแซงเพื่อการพัฒนาที่เน้นที่การเสริมอำนาจ มักจะมุ่งไปที่ระดับปัจเจกมากกว่า
สุดท้าย การเสริมอำนาจเป็นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ มันไม่มีเป้าหมายสุดท้าย คนหนึ่งๆ ใช่ว่าจะมาถึงการถูกเสริมอำนาจเสร็จสมบูรณ์เมื่อปฏิบัติการถึงขั้นหนึ่ง การถูกเสริมอำนาจ และการถูกปลดอำนาจ เป็นลักษณะเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือที่สำคัญ เมื่อเทียบกับตนเองในกาลก่อน
1.2 ผู้หญิงกับการเสริมอำนาจ
ในขณะที่มีคำอธิบายมากมายถึงเหตุผลของความไร้อำนาจ (หรือมีอำนาจ) เฉพาะต่างๆ ของผู้หญิง ตัวผู้หญิงเองก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามว่า พวกเรา/พวกเธอมีอะไรที่เป็นพื้นฐานร่วมกัน ปัจจัยร่วมคือ ในฐานะผู้หญิง พวกเธอล้วนถูกจำกัดโดย “ปทัสถาน/มาตรฐานความนิยมในสังคม ความเชื่อ ประเพณี และค่านิยม อันเป็นกลไก/ช่องทาง ที่สังคมแบ่งแยกหญิงและชาย” (Kabeer 2000, 22) วิธีการดำเนินการและแสดงออกอย่างเฉพาะเจาะจง แปรตามวัฒนธรรมและกาลเวลา ในสถานการณ์หนึ่ง มันแสดงออกในรูปของการที่ผู้หญิงได้รับรายได้ต่ำกว่าชาย ในอีกสถานการณ์หนึ่ง มันอาจจะอยู่ในรูปของอัตราการรอดชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชาย และรูปแบบที่สาม คือ การจำกัดการเคลื่อนตัวของผู้หญิง ในภาพรวมทุกๆ ที่ จะเห็นว่า ผู้หญิงเสี่ยงต่อสภาพความรุนแรงในครอบครัว มีส่วนร่วมน้อยในวงการตัดสินใจที่มีชายเป็นใหญ่ และเข้าถึง/ถือครองทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้น้อยกว่าชาย
ระดับของการเสริมอำนาจกับผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกันอย่างมหาศาล เมื่อพิจารณาจาก ชั้น/วรรณะ ชาติพันธุ์ ความมั่งคั่งสัมพัทธ์ อายุ ตำแหน่งในครอบครัว ฯลฯ และการวิเคราะห์การมี/หรือการไร้อำนาจของผู้หญิง จะต้องคำนึงถึงมิติดังกล่าวนี้ด้วย แม้กระนั้น การมุ่งเน้นที่การเสริมอำนาจผู้หญิงในลักษณะเป็นกลุ่มเดียวกัน จำเป็นต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงบทบาทหญิงชาย (gender relations) นั่นคือ วิธีการที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศถูกก่อสร้างปรุงแต่ง และธำรงรักษาไว้
เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ (เพศสภาวะ/มิติหญิงชาย) ต่างกันตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และกาลเวลา การไต่สวนวิเคราะห์จำเป็นจะต้องคำนึงถึงบริบทของมัน ความจริงที่ตามมา คือ มันไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรืออยู่ยงค้ำฟ้า ในขณะเดียวกัน บางรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ ก็มักจะถูกปกป้องอย่างดุเดือดและถือว่ามันเป็น “ธรรมชาติ” ที่ฟ้าลิขิต หลายๆ โครงการพัฒนาแบบแทรกแซง มักรวมเป้าหมายของการท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ แต่การท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายและหญิง มักจะเป็นเรื่องที่ถูกทดสอบมากที่สุด
เสียงวิพากษ์วิจาณ์ที่ว่า นี่เป็นความพยายามของผู้หญิงในซีกโลกใต้ที่ต้องการ “นำเข้า” สตรีนิยมจากซีกโลกเหนือ เป็นการดูหมิ่นและไม่ถูกต้องที่จะสมมติว่า สตรีนิยมเป็นแนวคิดของซีกโลกเหนือ ผู้หญิงในซีกโลกใต้เองก็มีประวัติศาสตร์ในการจัดรูปองค์กรและดิ้นรนต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมบนพื้นฐานของเจนเดอร์ นอกจากนี้ ชุดการวิเคราะห์เจนเดอร์/มิติหญิชาย (gender analysis) ที่อุบัติขึ้นมาจากคลื่นระลอกที่สองของสตรีนิยมในซีกโลกเหนือ ก็เป็นผลจากการวิพากษ์อย่างหนักถึงจุดอ่อนในทฤษฎีสตรีนิยมยุคเริ่มต้น ว่า ขาดมิติชนชั้น และชาติพันธุ์ และมีแต่เรื่องของผู้หญิงยุโรปเป็นศูนย์กลาง ชุดวิเคราะห์นี้ เป็นผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกว่า 20 ปี ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ระหว่างนักสตรีนิยมซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
1.3 ปัญหาสำหรับหน่วยงาน
หลายคนแย้งว่า การเสริมอำนาจเป็นเรื่องที่วัดกันไม่ได้ คนอื่นๆ มักกล่าวว่า ความพยายามเช่นนี้เป็นเรื่องอันตราย--ช่วยเพิ่มอำนาจจากศูนย์กลางให้บังคับควบคุมชายขอบได้มากขึ้น แน่นอน กระบวนการวัดย่อมซับซ้อนกว่าตัวผลลัพธ์ และความพยายามใดๆ ที่อ้างว่าจะช่วยเสริมอำนาจก็คงจะมีความขัดแย้งในตัวเองแฝงอยู่เสมอ ถึงอย่างไรก็ตาม ดิฉันขอแย้งว่า ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงไร ก็ต้องมีการวัด เพราะแหล่งทุนคงไม่ยอมสนับสนุนกิจกรรมที่ ไม่สามารถบอกได้ว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่ เพียงไร
แม้ดิฉันจะแย้งว่า จะต้องมีการวัดผลจากปฏิบัติการเสริมอำนาจ ดิฉันไม่ได้คาดว่ามันจะไม่มีปัญหา อันที่จริง มันไม่ยากที่จะเห็นอุปสรรคที่หน่วยงานต้องเผชิญ ในการเอื้ออำนวยการเสริมอำนาจ และวัดผลกระทบ บางเรื่องเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติจริง – ถ้าผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า พวกเธอต้องการจะทำอะไร และหน่วยงานควรทำอย่างไร ในการวางแผน จัดสรรงบประมาณสำหรับกิจกรรมและการติดตาม? แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ มีการคิดค้นวิธีการ “มีส่วนร่วม” (“participatory” models) สำหรับการพัฒนา ซึ่งได้ผ่านการทดลอง ขัดเกลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นวิธีการวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการแทรกแซงต่างๆ ที่มุ่งต่อยอดกับภูมิปัญญาและความสนใจของ “ผู้พึงได้รับประโยชน์”
วิธีการมีส่วนร่วมดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อการสร้างวาทกรรมและปฏิบัติการของการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว และก็มีองค์ความรู้มากพอสมควรในเชิงวิชาการและประสบการณ์ ที่ให้รายละเอียดรวมทั้งบทวิพากษ์วิจารณ์ มีผลงานที่ได้รับการขัดเกลาออกมามากทีเดียว ในด้านระเบียบวิธีการศึกษา (methodologies) เช่น การประมาณการณ์ถึงการมีส่วนร่วมของชนบท (participatory rural appraisal, PRA) และ การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และปฏิบัติการ (participatory learning and action, PLA) ซึ่งเป็นการสนองตอบต่อคำวิจารณ์ในด้านวิธีการของยุคแรกที่มักจะผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม และล้มเหลวในการครอบคลุมถึงผู้เสียเปรียบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิง—ผู้ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะมากที่สุด ระเบียบวิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเห็นด้วยกับการผนวกดัชนีความยากจนที่เกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่น รวมทั้งการจัดลำดับความมั่งคั่ง ได้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับดัชนีการเสริมอำนาจ
ถึงกระนั้น ความยากสำหรับหน่วยงานที่จะหาทางเอื้ออำนวยการเสริมอำนาจ มีมากกว่าเพียงภาคปฏิบัติ หน่วยงานที่ให้ทุนอยู่ในตำแหน่งที่ทรงอำนาจ เมื่อเทียบกับกิจกรรมที่พวกเขาสนับสนุน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ มีผลกระทบต่อความสามารถของหน่วยงานอย่างไร ในการเอื้ออำนวยให้เกิดการเสริมอำนาจของผู้หญิง? ถ้าผู้มีส่วนร่วมเองเป็นผู้กำหนดเป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ และวิธีการ หน่วยงานก็จะไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้
คำพูดที่ว่า การเสริมอำนาจของผู้หญิง จะเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของภาครัฐ ได้ถูกแสดงเป็นรูปธรรมด้วยตัวอย่างหนึ่งจากอินเดีย เมื่อผู้หญิง สุดแสนเบื่อหน่ายต่อบรรดาสามีขี้เมาและการสูญเสียรายได้อันน้อยนิดสำหรับเลี้ยงครอบครัว ได้รวมตัวกัน ลุกขึ้นปิดร้านเหล้าในอันธราประเทศ (Andhra Pradesh) พวกเธอบุกร้านและเทเหล้าทิ้ง หยุดรถบรรทุกเหล้า เผาร้านและทำให้เจ้าของร้านเหล้าและชายขี้เมาอับอาย การขับเคลื่อนนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากนิทานในโปรแกมการรณรงค์ให้อ่านออกเขียนได้ ที่บรรยายถึงนางเอกสาวคนหนึ่งที่กระทำการเช่นนั้น รัฐบาลตอบสนองด้วยการดึงนิทานเรื่องนี้ออกจากโปรแกม (Stein 1997; 36)
ในการวางแผนโครงการและโปรแกมด้วยเจตจำนงค์ของการเสริมอำนาจของผู้หญิง หน่วยงานจำเป็นต้องคำนึงถึง “ขอบข่ายที่หน่วยงานเองจะสามารถบรรลุเป้าหมายของการเสริมอำนาจของผู้หญิงได้ และขอบข่ายที่การเสริมอำนาจนี้ จะคุกคามภาครัฐและ/หรือตัวหน่วยงาน” (Mosedale 1998, 52) ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่หน่วยงานที่ต้องการเสริมอำนาจ โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ที่ต้องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนให้ดีขึ้น มักจะต้องปะทะเชิงผลประโยชน์กับพวกที่มีอภิสิทธิ์กว่า
2. รูปแบบของอำนาจ
มีผู้กล่าวว่า จะต้องมีการทำความเข้าใจกับแนวคิดเรื่องอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนับสนุนการเสริมอำนาจ นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักมานุษยวิทยา ได้อภิปรายเรื่องอำนาจ แต่ผลจากการถกเถียงเหล่านี้ไม่ค่อยจะซึมลอดออกมาสู่วงการพัฒนาศึกษา Jo Rowlands กล่าวใน Questioning Empowerment ว่า “การหลีกเลี่ยงที่จะอภิปรายถึงอำนาจ เป็นจุดอ่อนขั้นพื้นฐานของวาทกรรมในสตรีและการพัฒนา (women and development)” (Rowlands 1997; v) ความตั้งใจของเธอ คือ “ชักชวนให้ใช้แนวคิดการเสริมอำนาจนี้อย่างแม่นยำ และสำรวจหาทางใช้อย่างมีวินัย ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับนักกิจกรรม การวางแผนเชิงเจนเดอร์ การวางแผนโครงการและการประเมินผล ในบทความต่อไปนี้ ดิฉันจะขอนำเสนอการถกเถียงซึ่งสำหรับดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องกันที่สุด
2.1 อำนาจสามมิติ
ในสังคมศาสตร์ อำนาจโดยปกติ หมายถึง การมีอำนาจเหนือกว่า (power over) ดังคำจำกัดความของ Robert Dahl “ก มีอำนาจเหนือ ข ถึงขนาดที่ทำให้ ข ทำในสิ่งที่ ข ไม่ทำถ้าไม่ถูกบังคับ” (Dahl, 1957, 202-203) “ในแนวนี้ อำนาจเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นผลลัพธ์จากความขัดแย้งระหว่างผู้กระทำ เพื่อตัดสินว่าใครแพ้ ใครชนะ ในประเด็นเดิมพันที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่คนทั่วไปรู้จัก ในระบบที่ค่อนข้างเปิด ในที่ ๆ มีการกำหนดพื้นที่เพื่อการตัดสินใจที่แน่นอน” (Gaventa and Cormwall, 2001)
มิติที่สองของอำนาจ เป็นความสามารถที่จะกีดกันบางคนหรือบางประเด็น ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ หรือเวทีของการตัดสินใจ Bachrach and Baratz แย้งว่านักรัฐศาสตร์ จะต้องเพ่งไปที่ “ทั้งสองฝ่าย คือ ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร และใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง อย่างไร” (Bachrach and Baratz 1970, 105) มิติดังกล่าวของอำนาจ คำนึงถึงกฎเกณฑ์และวิธีการของการสร้างความชอบธรรมให้บางเสียง และลบล้างเสียงอื่นทิ้ง
Stephen Lukes ได้แนะนำว่า “การใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้น ด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม” (Lukes 1974, 24). จากมุมมองนี้ ผู้มีอำนาจอาจเอาชนะด้วยการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในที่เปิดเผย หรือ กีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้ยินเสียงที่โต้แย้งขึ้นมา พวกเขาอาจเดินหน้าได้ด้วยการบิดเบือนจิตสำนึกของผู้ด้อยอำนาจกว่า อันเป็นการทำให้พวกเขาหมดความสามารถที่จะเห็นความขัดแย้ง ดังที่ Sen ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “มีหลักฐานมากมายในประวัติศาสนตร์ ที่ความไม่เท่าเทียมอย่างแสนสาหัสธำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างพันธมิตรกับผู้ถูกทำให้ขาดแคลน ผู้อยู่เบี้ยล่างยอมรับความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำ และก็กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ” (Sen 1990, 26)
มิติทั้งสามของการมีอำนาจเหนือกว่านี้ จึงประกอบด้วย ฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามอำเภอใจ สวนทางกับผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยการเอาตอบโต้ความขัดแย้งจนได้ชัยชนะในที่เปิดเผย ด้วยการกีดกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ส่งเสียง หรือ ด้วยการกีดกันไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นคู่อริได้ทันรู้ตัว หรือแม้กระทั่งตระหนักว่า มีความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์เดิขึ้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผลลัพธ์สุทธิเป็นศูนย์ (zero sum game) นั่นคือ ด้วยการนิยามว่า คนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งต้องเสีย (รวมทั้งในกรณี ดังตัวอย่างที่สาม ที่ผู้สูญเสียไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องเสียอะไรไป)
2.2 รูปแบบอำนาจที่ผลลัพธ์สุทธิไม่เป็นศูนย์ (Non zero-sum models of power)
รูปแบบอื่นของอำนาจ ก็มีปรากฏในวาทกรรมต่างๆ ที่การได้ของคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทำให้อีกคนหนึ่งเสีย แนวโน้มนี้มักเรียกกันว่า อำนาจภายใน อำนาจแก่ และอำนาจกับ (power within, power to and power with)
อำนาจภายใน หมายถึง “คุณสมบัติ” เช่น ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นในตัวเอง อาจกล่าวได้ว่า อำนาจทั้งหลายล้วนมาจากต้นตอนี้ นั่นคือ ก่อนที่คนหนึ่ง ๆ จะทำอะไรให้สำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ก่อน “ผู้หญิงที่ถูกข่มเหง กระทำรุนแรง เมื่อเธอแสดงความเห็นของเธอ อาจเริ่มปิดปากตัวเอง และในที่สุดก็เชื่อว่าตัวเองไม่มีความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นของตนเอง เมื่อการบังคับกดขี่เช่นนี้ได้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจเหนือกว่าอีกต่อไป” (Rowlands 1998; 12). การปลูกฝังความรู้สึกให้เชื่อว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเช่นนี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้จักกันดี เกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแบบแทรกแซงจึงหาทางที่จะเปลี่ยนแปลงในระดับนี้
Joke Schrijvers ใช้คำว่า “ความเป็นไทแก่ตัวเอง” “autonomy” และให้คำนิยามว่า หมายถึง “การวิพากษ์ฃั้นพื้นฐานต่อระเบียบของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ... เป็นแนวคิดต่อต้านการลำดับยศถาบรรดาศักดิ์ ที่กระตุ้นให้เกิดความคิดและปฏิบัติการเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ ... การพลิกแปรที่มาจากภายใน ที่ดีดตัวออกมาจากทรัพยากรภายในของแต่ละคนในฐานะปัจเจกและรวมเป็นหมู่ (Schrijvers, 1991, 5-6 quoted in Stromquist, 1995, 15-16)
อำนาจ ได้ถูกนิยามให้เป็น “พลังการสร้างหรือผลิต (บางครั้งจะผนวกหรือแสดงออกในรูปของการต่อต้านหรือบงการอยู่ข้างหลัง) ที่สร้างความเป็นไปได้ หรือปฏิบัติการใหม่ๆ โดยปราศจากการข่มขี่” (Rowlands 1997; 13). พูดใหม่ก็คือ อำนาจที่ขยายขอบเขตเพื่อให้คนๆ หนึ่ง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้ โดยปราศจากความจำเป็นที่จะขึงตึงขอบเขตนั้นสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ได้สิ่งเดียวกัน เช่น ถ้าคุณเรียนรู้วิธีอ่าน คุณจะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง มันจะไม่จำกัดตัวดิฉัน (ยกเว้น ถ้าดิฉันต้องการฉวยโอกาสจากการไม่รู้หนังสือของคุณ)
อำนาจกับ หมายถึง ปฏิบัติการหมู่ ด้วยความตระหนักว่า การรวมกลุ่มจะทำอะไรได้มากกว่าทำด้วยตัวเองตามลำพัง การแทรกแซงหลายอย่าง ที่เพ่งไปที่เสริมอำนาจให้ผู้หญิง เห็นความสำคัญของการสร้างโอกาสสำหรับผู้หญิง เพื่อจะได้ใช้เวลาร่วมกับผู้หญิงอื่นๆ ในการไตร่ตรองสถานการณ์ของพวกเธอ เห็นความเข้มแข็งที่มีอยู่ในตัวของพวกเธอเอง และหายุทธวิธีเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวก
เพื่อพัฒนาจิตเชิงวิพากษ์ จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่สำหรับให้ถกเถียงกันในเชิงความคิดเห็น และให้ข้อเรียกร้องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ สำหรับ Sara Evans จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ก่อนที่ “อัตลักษณ์ของการกบฏหมู่” จะเกิดขึ้นได้
- พื้นที่ทางสังคมที่ผู้คนจะสามารถพัฒนาความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองอย่างอิสระ ซึ่งตรงกันข้ามกับสถานภาพปกติของพวกเขาว่าเป็นพลเมืองชั้นสองที่ด้อยกว่า
- ต้นแบบ (Role models) -- ได้เห็นผู้คนแหกคอกจากแบบแผนของการนิ่งดูดาย
- อุดมการณ์ที่อธิบายถึงต้นตอของการกดขี่ ความชอบธรรมในการปฏิวัติ และจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่างในเชิงคุณภาพ
- ภัยคุกคามต่อการค้นพบตัวเองใหม่ ที่บังคับให้เจ้าตัวต้องเผชิญหน้ากับคำนิยามของวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดมา
- เครือข่ายที่เป็นช่องทางให้เผยแพร่การตีความใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนสังคม
(Evans 1979, 219-220).
2.3 การขีดข่วนอำนาจ (De-facing Power)
Clarissa Rile Hayward, เขียนในปี 1998 วิจารณ์ถึงพื้นฐานของการเลือกตั้งคำถามที่นักทฤษฎียกขึ้นมา เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของอำนาจ ด้วยคำถามว่า ”การกล่าวว่า ก มีอำนาจเหนือ ข หมายถึงอะไร?” เธอชี้ให้เห็นถึงปัญหาในตัวสมมติฐานในแนวนี้ – อย่างน้อยก็ไม่ใช่ที่ความแตกต่าง ระหว่างปฏิบัติการอิสระ และปฏิบัติการที่ชี้นำโดยผู้อื่น ในการพัฒนาคำบรรยายเพื่อแสดงว่า ก มีอำนาจเหนือ ข โดยใช้กลไกมิติอำนาจหนึ่ง สอง และสาม นักทฤษฎีได้รับรองว่า การแยกประเภทเช่นนี้ เป็นหัวใจของความเข้าใจของพวกเขาว่า อำนาจปรุงแต่งอิสรภาพของมนุษย์อย่างไร
Hayward ได้โต้แย้งว่า ไม่ว่านักเรียนคนหนึ่งๆ จะมีส่วนร่วมในการประท้วงหรือไม่ คงจะ “ขึ้นกับอิทธิพลของสังคมที่พวกเขาไม่ได้เลือก เช่น วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เป็นต้น หรือปทัสถานในหมู่เพื่อนฝูงที่โรงเรียน (Hayward, 1998, 26) “ในทันทีที่คนๆ หนึ่ง ยอมรับอัตลักษณ์นั้นๆ ก็นับได้ว่าเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นแล้ว พื้นที่ในการกระทำก็จะถูกตีกรอบ เช่น ด้วยการผ่านกระบวนการปลูกฝังและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ มันจึงกลายเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธมุมมองของอำนาจที่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ในการแยกปฏิบัติการอิสระจากปฏิบัติการที่ชี้นำโดยผู้อื่น” (Hayward, 1998, 26).
Hayward แนะนำว่า อำนาจอาจมีประโยชน์ถ้าคิดในลักษณะ “ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจใช้ เพื่อกีดกันคนไร้อำนาจจากการกระทำอย่างเป็นอิสระ แต่เป็นขอบเขตทางสังคมที่รวมๆ กันแล้ว กำหนดพื้นที่/อาณาบริเวณของปฏิบัติการสำหรับทุกตัวละคร” กลไกต่างๆ เช่น กฎหมาย กฎเกณฑ์ ปทัสถาน ประเพณี อัตลักษณ์และมาตรฐานทางสังคมทั้งที่จำกัดและเอื้อต่อการกระทำต่างๆ ส่วนพวกที่ใช้โมเดลอำนาจสามมิติ จะคิดถึงอิสรภาพ ในลักษณะการกระทำที่ไม่ต้องพึ่งพิงใคร ส่วนโมเดลของ Hayward บอกว่า อิสรภาพ คือ “สมรรถนะในการกระทำต่อขอบเขตที่จำกัดหรือเอื้อต่อการทำกิจกรรมสังคม เช่น เปลี่ยนรูปทรงหรือทิศทางของมัน”
ในมุมมองนี้ จุดเพ่งเล็งที่เหมาะสมของการศึกษาเรื่องอำนาจ ก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือ “แบบแผนที่ไม่สมมาตรในวิธีการที่อำนาจ –นั่นคือ โครงข่ายข้อจำกัดทางสังคมที่กำหนดอาณาบริเวณของการทำกิจกรรม – ที่ปรุงแต่งอิสรภาพ” แต่แทนที่จะถามว่า อำนาจถูกกระจายอย่างไร และ ก มีอำนาจเหนือ ข คำถามจะเป็น “กลไกอำนาจ ให้คำนิยามอย่างไรต่อ ความเป็นไปได้/ไม่ได้ ความน่าเป็นไปได้/ไม่ได้ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ปกติ และอะไรที่จะนับว่าเป็นปัญหา? อาณาบริเวณของสังคมที่เป็นไปได้แปรเปลี่ยนอย่างเป็นระบบไหม ยกตัวอย่าง ในระหว่างกลุ่ม หรือ ทะลุเขตแบ่งสังคม?
ข้อจำกัดใดๆ ต่อการทำกิจกรรมที่อย่างน้อย เป็นผลผลิตของการกระทำของมนุษย์ ก็กลายเป็นหัวข้อที่มีเหตุผลพอสำหรับการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ อันนี้ รวมถึงข้อจำกัดของปฏิบัติการที่ไม่ต้องมี ก ที่ “มี” หรือ “ใช้” อำนาจ ในตัวอย่างของ โรงเรียนรัฐของอเมริกา Hayward คงจะเพิ่มตัวจำกัด เช่น “โรงเรียนท้องถิ่นระดับอำเภอ ขอบเขตเทศบาล การควบคุมแบบพุ่งเป้า (zooming regulations) นโยบายภาษีและที่อยู่อาศัย....
ด้วยมุมมองนี้ จึงไม่เพียงแต่หลีกหนีความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่พ้น แต่มันยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมการบริการต่างๆ ในสังคม แทนที่จะตั้งคำถามว่า ปฏิบัติการของบางคนถูกจำกัดโดยการกระทำของคนอื่นหรือไม่ เราควรจะดูที่ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านสิทธิและข้อจำกัดทางสังคม ดูว่า ความแตกต่างนี้ ฝังลึกแค่ไหนหรือสามารถแปรเปลี่ยนได้อย่างไร ข้อจำกัดเชิงสังคมที่กำหนดว่า อะไรที่เป็นไปได้ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหนึ่ง เมื่อข้อจำกัดดังกล่าวมีความไม่สมมาตรมากเท่าไร ความสัมพันธ์นั้นก็จะยิ่งใกล้ภาวะของการครอบงำหรือมีอำนาจเหนือ “คำถามเชิงวิพากษ์ที่ว่า อำนาจปรุงแต่งดัดแปลงอิสรภาพอย่างไร จะไม่ถูกลดทอนให้เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจและทางเลือกของปัจเจก แต่พวกเขากำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่แตกต่างกันของข้อจำกัดทางสังคมต่อปฏิบัติการของมนุษย์ ต่อสมรรถนะของผู้คน ในการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงชีวิตของพวกเขาเอง และเงื่อนไขสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ”
2.4 Foucault และสตรีนิยม
มีนักคิดเพียงไม่กี่คนที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการสตรีนิยมร่วมสมัยในหัวข้อ อำนาจ เพศวิถี ได้มากเท่า Michel Foucault พัฒนาการของโมเดลอำนาจของ Foucault ยอมรับการมีอยู่ของความสัมพันธ์อำนาจเชิงซ้อน อำนาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นวัฏจักรหมุนเวียน (circulate) และต้องถูกใช้/บริหาร (exercised) แทนที่จะถูกครอบครอง (possessed) การต่อต้าน ที่ปัจเจกช่วงชิงอัตลักษณ์และความสัมพันธ์ที่แน่นอน ด้วยวิธีการที่แนบเนียน ถูกมองว่า เป็นเรื่องคู่กันกับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นักสตรีนิยมมีทั้งวิเคราะห์ในเชิงวิพากษ์ และต่อยอดกับโมเดลนี้ การสำรวจประสบการณ์ในชีวิตประจำวันต่อ และการต่อต้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งในการแสดงให้เห็นถึงต้นตอที่หลากหลายของการกดขี่ผู้หญิง และในการเผยแพร่การต่อต้าน อันที่จริง กลุ่มการปลุกจิตสำนึกในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ได้ใช้การแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ในการเปลี่ยนแนวการตื่นตัว และกระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการรวมหมู่ เพื่อการเปลี่ยนแปลง นักสตรีนิยม ยืนหยัดว่า “เรื่องส่วนบุคคลเป็นเรื่องการเมือง” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ยอมรับว่า อำนาจถูกบริหารในความสัมพันธ์ส่วนตัว (และก็ไม่ใช่แค่ระหว่างหญิงชาย) รวมทั้งในพื้นที่สาธารณะ
อันที่จริงการยอมรับว่า การดิ้นรนในชีวิตประจำวันของผู้หญิง และการร่วมมือกับชายในชีวิตของพวกเธอ (ไม่เพียงแต่สามีและคนรัก แต่รวมถึงพ่อ พี่/น้องชาย ลูกชาย ฯลฯ) มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมอยู่ด้วยนั้น ได้ท้าทายการกำหนดวาระของอำนาจเพศชาย นั่นคือ สิ่งที่กำหนดหรือนิยามว่า เกิดอะไรขึ้นในครอบครัว อันเป็นพื้นที่ “ส่วนตัว”
การพังกำแพงที่แยกผู้หญิงให้อยู่โดดเดี่ยว ภายในครอบครัว และในขณะเดียวกัน ก็มีข้อห้ามที่ต่อต้านการทำลายการปิดปากที่ถูกบังคับนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “คลื่นสตรีนิยมตะวันตกระลอกที่สอง” และสามารถจะสังเกตเห็นได้ในวัฒนธรรมต่างๆ ทุกวันนี้
Foucault บรรยายว่า กรอบคิดยุคใหม่เป็นเหมือนขวานสองเล่ม เล่มหนึ่งเน้นองค์ความรู้ที่มีวินัย และมีประโยชน์ อันเป็น “สรีระ-การเมืองของร่างกายมนุษย์” (“anatamo-politics of the human body” ) อีกเล่มหนึ่ง เป็น “ชีว-การเมืองของประชากร” (“bio-politics of the population”) ความตั้งใจของภาครัฐหันไปที่เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ นั่นคือ สุขภาพ การเกิด และการตาย ข้อวินิจฉัย “ร่างกายที่เชื่อง” (“docile bodies” thesis) ของ Foucault ได้ถูกนักสตรีนิยมบางคนหยิบมาใช้ ด้วยเห็นว่า ความคิดเรื่อง การตรวจตราควบคุมตัวเอง (self-surveillance) เป็นข้อคิดที่มีประโยชน์ในการบรรยายถึงการปลูกฝังบ่มเพาะผู้หญิงให้อยู่ในกรอบความเป็นหญิงในมาตรฐานของปิตาธิปไตย ดังที่ Foucault ได้สาธยายกระบวนการนี้ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีอาวุธ ความรุนแรงทางกายภาพหรือข้อจำกัดทางวัตถุ เพียงแต่ใช้สายตามอง สายตาที่ตรวจสอบ การมองด้วยสายตาที่ทำให้คนที่อยู่ภายใต้น้ำหนักของสายตานั้นจะต้องเข่าอ่อนลดตัวลง กลายเป็นผู้คุมตัวเอง ทุกๆ คนจึงแบกการตรวจสอบเหนือตัวเอง และต่อต้านตัวเอง สูตรที่ยอดเยี่ยม: อำนาจถูกบริหารอย่างต่อเนื่องและเพื่อสิ่งที่ใช้ทุนน้อยที่สุด” (Foucault 1980, 96).
การวิเคราะห์ของ Foucault เอง ไม่ได้เห็นว่าประสบการณ์ทางกายภาพมีความแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย หรือคำนึงว่า เงื่อนไขที่เป็นปัญหา (มักจะสำหรับเพศหญิง) ของโรคกลัวความอ้วน (anorexia และ bulimia) อาจจะ “มีตำแหน่งอยู่ในช่วงที่ต่อเนื่องกับปรากฏการณ์ของการทำให้เป็นหญิง เช่น การใช้เครื่องสำอางค์ แฟชั่น และการเลือกกินอาหาร เพื่อปรุงสร้างเรือนร่างที่เชื่อง และมีความเป็นหญิง” (Bordo 1989, 23 paraphrased in Deveaux, 216) และ เนื่องจากเขาไม่ได้เพ่งที่ผู้หญิง Foucault จึงไม่สามารถมองเห็น “ผลกระทบทางด้านจิตใจที่เป็นเรื่องส่วนตัวและฝังอยู่ลึกมากต่อพวกเราผู้หญิง ทั้งในด้านอารมณ์ความรู้สึกความเอื้ออาทรที่พวกเรามีในการให้การดูแลผู้อื่น และในด้านการดูแลรักษาที่พวกเราไม่ได้รับในทางกลับกัน” (Bartky 1991, 111)
โมเดลของ Foucault ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มองข้ามอำนาจและการต่อต้านในเชิงโครงสร้างที่กว้างขึ้น ด้วยการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายด้านปทัสถาน ทฤษฎีของ Foucault “กัดเซาะความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการสร้างความคลุมเครือแก่ธรรมชาติของระบบการกดขี่ทางเจนเดอร์/มิติทางเพศ” (Hartsock, N. 1990, 170)
Collins แย้งว่า แนวคิดทั้งสองของอำนาจ – ความสัมพันธ์เชิงตรรก เชื่อมการกดขี่และการรณรงค์ ที่กลุ่มต่างๆ ที่มีอำนาจมากกว่า กดขี่ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า และแนวคิดของอำนาจว่าเป็นเอกลัษณ์นามธรรมหนึ่ง ที่หมุนเวียนไปทั่ว และที่ปัจเจกอยู่ในจุดที่มีความสัมพันธ์ต่างๆ กัน – จะเป็นประโยชน์มากกว่า ถ้ามองว่าเป็นการเสริมกันให้สมบูณ์ แทนที่จะมองว่าเป็นการแข่งขันกัน (Collins 2000, 275) แนวทางตรรก (Dialectical approaches) ชี้นำว่า จำเป็นต้องพัฒนาอัตลักษณ์และยุทธศาสตร์ที่มีกลุ่มเป็นพื้นฐาน ในขณะที่ โมเดลหมุนเวียน (circulation model) มุ่งความสนใจไปที่ “การกดขี่ข่มเหง และการต่อต้านได้ปรุงแต่ง และถูกปรุงแต่งโดย ตัวแทนการปฏิบัติการ (individual agency) อย่างไร” (Collins 2000, 275) Collins นำเสนอโมเดลของอำนาจ (และการต่อต้าน) ใน 4 ปริมณฑล (domains) – โครงสร้าง กฎระเบียบ อิทธิพล และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (structural, disciplinary, hegemonic and interpersonal domains)
ในปริมณฑลของโครงสร้าง เป็นที่ๆ องค์กรทางสังคมจัดเรียงรูปแบบและความสัมพันธ์ เพื่อผลิตซ้ำการทำให้ผู้หญิงอยู่เบี้ยล่างอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยตำรวจ ระบบกฎหมาย โรงเรียน ตลาดแรงงาน การธนาคาร ประกันภัย และสื่อมวลชน ในปริมณฑลนี้ อำนาจไม่สามารถเพิ่มให้แก่ปัจเจกโดยปราศจากการพลิกแปรสถาบันสังคม ที่อุปถัมภ์การกีดกันเช่นนี้ ในปริมณฑลของกฎระเบียบ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจถูกบริหารจัดการผ่านระบบการลำดับชั้นและเทคนิคการตรวจตราที่มีเต็มไปด้วยขั้นตอน พิธีรีตรอง “ระบบราชการ ไม่ว่าพวกเขาจะส่งเสริมนโยบายใดๆ จะยังคงอุทิศตัวให้กับการบังคับบัญชาและควบคุมระเบียบวินัยของกองกำลังและลูกค้าทั้งหมด” (Collins 2000, 281) ปริมณฑลอิทธิพลของอำนาจ เกี่ยวกับอุดมการณ์ วัฒนธรรม และจิตสำนึก และเป็นสิ่งสำคัญในการชักนำให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมสนับสนุนการทำตัวเองให้อยู่เบี้ยล่าง รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ปริมณฑลของอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล “ทำงานด้วยการทำให้เกิดความเคยชินกับวิธีการที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันทุกๆ วัน ... เช่น การปฏิบัติที่เป็นระบบ เกิดขึ้นซ้ำๆ และเป็นที่คุ้นเคยจนกลายเป็นสิ่งที่คนมองข้าม” (Collins 2000, 287).
2.5 ทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ – ตัวอย่าง
โมเดลของอำนาจที่ดิฉันกำลังมุ่งหน้าไปหา มีรูปแบบที่ซับซ้อนและลื่นไหล มันรวมถึงรอยร้าวในโครงสร้างที่อยู่บนพื้นฐานของ เพศ และชนชั้น ที่ๆ สมาชิกภาพของกลุ่มหนึ่งๆ (ผู้หญิง ชาวเกษตรกร) มีความหมายที่มีนัยสำคัญ ต่อการปรุงปั้นโครงสร้างอำนาจซึ่งปัจเจกหนึ่ง ๆ ปฏิบัติการอยู่ภายใน อันนี้ไม่ได้บอกว่า สมาชิกภาพของกลุ่มดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น หรือเพียงพอในการกำหนดตำแหน่งของคนๆ หนึ่ง ในโครงสร้างอำนาจนั้น นี่จะเป็นการปฏิเสธการเป็นผู้ปฏิบัติการในระดับปัจเจกหรือรวมหมู่ของผู้คน (deny people any individual or collective agency) ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระอย่างชัดเจน ถึงอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่า การเป็นสมาชิกของกลุ่มหนึ่งๆ จำกัดความเป็นไปได้ของคนผู้นั้น และนิยามอาณาเขตบางอย่าง ซึ่งมาจากการปรุงแต่งของสังคม ดังนั้น จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขอบเขตที่ปัจเจกจะกดดัน หรือยอมรับ อาณาเขตเหล่านี้ และขอบเขตที่การเปลี่ยนแปลงจะถูกต่อต้าน (และอำนาจของการต่อต้านมัน) ทั้งหมดนี้ จะมีผลต่อการปั้น/ขึ้นรูป รวมทั้งสร้างความทนทานให้อาณาเขตเหล่านี้ด้วย
ดิฉันมองเห็นด้วยว่า ผู้คนมีอำนาจมากหรือน้อย ขึ้นกับสถานการณ์เฉพาะ และเห็นว่า พวกเขาสามารถมีสถานภาพด้อยอำนาจกว่าในสถานการณ์หนึ่ง และมีอำนาจเหนือกว่าในอีกสถานการณ์หนึ่ง ในระดับจุลภาค ดิฉันเห็นว่า แต่ละคนอยู่ที่ศูนย์กลางของพื้นที่แห่งอิสรภาพของตนเอง พื้นที่ๆ ถูกนิยาม และเป็นผู้นิยาม ขยับเค้าโครงของพื้นที่ของกล่องที่ซ้อนกัน ที่ห้อมล้อมชีวิตของพวกเขา (their own space of freedom, a space defined by, and defining, the shifting contours of the multiple containers which circumscribe their lives)
ส่วนของการถกเรื่องการเสริมอำนาจ ที่ดิฉันตั้งใจจะพูดถึง ในฐานะที่น่าสนใจที่สุด และยังไม่ถูกวิจัย คือ โมเดลของการเสริมอำนาจของผู้หญิง ที่ยืนหยัดว่า หน้าที่ของมัน คือ เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์/มิติหญิงชายที่กดขี่กัน อย่างถอนรากถอนโคน หรืออีกนัยหนึ่ง โมเดลอำนาจที่ดิฉัน ต้องการจะใช้ ได้รับอิทธิพลมากจาก Hayward ในแง่ที่ว่า ผู้หญิงสามารถสร้าง “สมรรถนะเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการปรุงปั้นกำหนดขอบเขตจำกัดทางสังคม ที่นิยามว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” (Hayward 1998, 32) คำถาม คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้เกิดขึ้นหรือไม่ ในพื้นที่ๆ โครงการพัฒนาอย่างแทรกแซงได้หวังว่าจะเสริมอำนาจของผู้หญิงอย่างที่ระบุไว้ในโครงการ
การประเมินการเสริมอำนาจจึงต้องระบุ หรือทำแผนที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นั่นคือ ข้อจำกัดทางสังคมต่อการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปริมาณอิสรภาพของการปฏิบัติการ หรือพื้นที่สำหรับการยักย้ายถ่ายเท หรือจัดกระบวนทัพ ภายในอาณาเขต และความเข้มแข็งของการต่อต้านการเปลี่ยนอาณาเขตนั้นๆ การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหนึ่งจึงจะสามารถระบุได้ แต่จะทำอย่างไร?
ความพยายามในการทำแผนที่โครงข่ายข้อจำกัดทั้งปวงต่อปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ใดๆ จะเป็นงานที่ซับซ้อนอย่างน่ากลัว และทางที่ดีที่สุด คือ อย่าพยายามทำอย่างนั้น แต่มามุ่งการประเมินที่ ปฏิบัติการ หรือกลุ่มปฏิบัติการหนึ่งๆ ที่ระบุว่ามีนัยสำคัญที่สุดต่อข้อจำกัดเหล่านั้น
มาดูตัวอย่างของการศึกษา ประการแรก เราสามารถอภิปรายได้ว่า พื้นที่นี้ มีข้อจำกัดต่อปฏิบัติการที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อหญิงและชายหรือไม่ ในสถานการณ์ใดๆ (ประเทศ ภูมิภาค หมู่บ้าน ครอบครัว) เราสามารถจะเปรียบเทียบการเข้าเรียนระดับประถมศึกษา หรืออัตราการเรียนจบ สำหรับเด็กชายและเด็กหญิง พิจารณาระดับการอ่านออกเขียนได้ของแต่ละกลุ่ม คำนึงถึงอัตราเปรียบเทียบของการเข้าเรียนในระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ฯลฯ เราจะพบว่า ในหลายๆ บริบท เด็กหญิงจะเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญกว่าเด็กชาย
ตอนนี้ ดิฉันจะดูที่สถานการณ์ที่เด็กหญิงต้องการจะขยายอิสรภาพและปฏิบัติการของเธอเอง เพื่อเริ่มไปโรงเรียน เริ่มจากมุมมอง “อำนาจสามมิติ” เราตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความเปิดกว้าง การถูกกดหรือหลีกเลี่ยง ความขัดแย้งได้ จากข้อมูลผ่านโมเดล “ขีดข่วนอำนาจ” เราสามารถจะเห็นข้อจำกัด ที่ไม่สามารถระบุตัวแทนที่กำหนดและบังคับใช้อย่างตั้งใจหรือด้วยจิตสำนึก เราก็สามารถจะพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีผลลัพธ์สุทธิเป็นศูนย์
อำนาจเหนือกว่า
มีความขัดแย้งที่เปิดเผยไหม? ในกรณีนี้ เด็กหญิงคนหนึ่งต้องการจะไปโรงเรียน แต่คนอื่น ที่มีอำนาจกว่า ผู้คน หรือประเพณีสังคม ที่ขัดขวางเธอ ใคร? ทำไม? ยกตัวอย่าง – พ่อแม่ของเธอ (แม่หรือพ่อ หรือทั้งคู่?)
- เพราะแรงงานของเธอ เป็นที่ต้องการของที่บ้าน
- เพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อหนังสือเรียน/เครื่องแบบให้
- เพราะพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ หรือเห็นว่าได้น้อยกว่าเสีย
- เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการศึกษาของเธอ จะตกอยู่กับครอบครัวของสามีของเธอในอนาคต ไม่ใช่ครอบครัวที่ให้กำเนิดเธอ
- เพราะสังคมไม่ยอมรับการให้การศึกษาแก่เด็กหญิง
- เพราะพวกเขากลัวจะสูญเสียเธอ หรือเธอจะทอดทิ้งพวกเขาหากเธอได้รับการศึกษา
ต่อเหตุผลแต่ละข้อเหล่านี้ (หรืออื่นๆ) คำถามต่อไปคือ กระแสต่อต้านเหล่านี้ อยู่ยงคงกระพันขนาดไหน ยกตัวอย่าง ที่บ้านมีความจำเป็นต้องการใช้แรงงานของเธอมากขนาดไหน? จะต้องให้สิ่งใดพิเศษจากที่อื่น เพื่อช่วยให้เธอมีอิสระจากข้อจำกัดเหล่านี้?
มีความขัดแย้งที่กดซ่อนไว้ไหม? เป็นไปได้ไหมที่เด็กหญิงไม่สามารถบอกว่าเธอต้องการอะไร? ทำไม?
ยกตัวอย่าง
- เพราะเธอกลัวจะถูกลงโทษ
- เพราะเธอกลัวว่าจะถูกล้อเลียน เยาะเย้ย
- เพราะความเชื่อที่ว่าพวกเขายากจนเกินไป เธอไม่ต้องการจะทำให้พ่อแม่ขายหน้า
- เพราะเธอกลัวว่าจะทำให้พ่อแม่ขัดแย้งกัน
- เพราะเธอรู้ว่า มันดูไม่เหมาะสมที่เด็กหญิงจะเปิดเผยความใฝ่ฝันของตนเอง
- เพราะเธอต้องการเป็นเด็กดี
เป็นไปไม่ได้หรือที่เด็กหญิงจะมีแม้แต่ความประสงค์ที่จะไปโรงเรียน? ทำไม?
- เพราะเธอไม่เคยได้ยินว่าเด็กหญิงไปโรงเรียนกัน
- เพราะเธอไม่เคยนึกฝันว่าตัวเธอเองเป็นใครคนหนึ่งที่สามารถเรียน และอ่านออกเขียนได้
- เพราะเธอนึกไม่ออกว่า ได้เรียนหนังสือแล้วจะมีประโยชน์อะไร
- เพราะเธอถูกอบรมบ่มเพาะมาให้ไม่เห็นคุณค่าหรือมีสำนึกว่าตนเป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง
- เพราะเธอมีเพียงแม่ (ที่ไม่มีการศึกษา) เป็นต้นแบบ
- เพราะเธอได้ยอมรับความเชื่อของชุมชนอย่างฝังใจว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับลูกผู้หญิง
- เพราะเธอเชื่อว่า มันจะทำลายโอกาสที่เธอจะได้แต่งงาน
อำนาจภายใน
เด็กหญิงจำเป็นจะต้องมีอะไรเพื่อจะได้เข้าเรียน? ยกตัวอย่าง
- ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ของตน และคิดถึงการปรับปรุงให้ดีขึ้น
- ความเชื่อที่ว่า การกระทำของเธอจะมีผลกระทบ
- มีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกกว้าง
- มีความมั่นใจว่าเธอสามารถเรียนรู้ได้
- การสำนึกตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์จากการศึกษา
อำนาจกับ
มีพันธมิตรที่พอจะหาได้ไหม? ยกตัวอย่าง
- เด็กหญิงอื่นๆ ที่ต้องการไปโรงเรียนเช่นเดียวกัน
- เด็กหญิงอื่นๆ ที่ได้ไปโรงเรียน
- สมาชิกครอบครัวที่เห็นอกเห็นใจ
- บรรดาพ่อ หรือแม่ ที่ต้องการส่งลูกสาวตัวเอง หรือได้ส่งไปเข้าเรียนแล้ว
- บรรดาครูที่พยายามชักจูงพ่อแม่ให้ส่งเด็กหญิงเข้าเรียน
- โครงการที่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ที่ส่งลูกสาวไปเล่าเรียน
ค่านิยมในสังคม และปทัสถาน
- ความเชื่อที่ว่า บทบาทของผู้หญิง คือทำงานบ้าน ดูแลเด็ก และไม่ต้องมีการศึกษาในระบบ
- ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะทำลายระบบเจริญพันธุ์ของผู้หญิง
- ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะทำให้ผู้หญิงท้าทายระเบียบสังคมที่กำหนดบทบาทหญิงชาย
- ความเชื่อที่ว่า การศึกษาจะคุกคามสถาบันการแต่งงาน
ค่านิยมเหล่านี้แตกต่างกันอย่างไรสำหรับเด็กหญิงจากชนบท-เมือง เกษตรกร-ชนชั้นแรงงาน-ชนชั้นกลาง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อย-กลุ่มใหญ่ ฯลฯ?
3. การเสริมอำนาจ
3.1 การเสริมอำนาจในแวดวงพัฒนาศึกษา
ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ไม่มีคำนิยามหนึ่งเดียวใดๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับ empowerment ในด้านหนึ่ง มีผู้แย้งว่า “มันเป็นเพียงจุดเน้นที่การเปลี่ยนแปลงแบบแผนเชิงอำนาจที่มีอยู่ และการใช้มันเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย” (Oakley 2001; 14) ในอีกข้างหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า “เป็นการยอมรับสมรรถนะของกลุ่มดังกล่าว [คนชายขอบและถูกกดขี่] ที่จะกระทำการและมีบทบาทในการริเริ่มการพัฒนา”
Oakley ระบุ คุณประโยชน์หลัก 5 ประการ สำหรับการเสริมอำนาจในพัฒนาศึกษา มีดังนี้ การเสริมอำนาจในฐานะผู้มีส่วนร่วม ในฐานะการทำให้เป็นประชาธิปไตย ในฐานะการสร้างสมรรถนะ ด้วยการยกสถานภาพทางเศรษฐกิจ และในฐานะปัจเจก (Oakley 2001; 43). เขาเห็นว่า จุดเชื่อมระหว่างการเสริมอำนาจและการมีส่วนร่วม เป็นปฏิบัติการที่แข็งแรงที่สุด ธนาคารโลก “ได้เริ่มมองเห็นขั้นตอนต่างๆ ในการมีส่วนร่วม เช่น การแบ่งปันข้อมูล การปรึกษาหารือ ความร่วมมือ และในที่สุด การเสริมอำนาจ” (World Bank 1998; 19).
ในมุมมองที่ตั้งอยู่บนร๔ฅูปแบบโครงการ คำว่าการเสริมอำนาจได้ถูกลดทอนศักยภาพทางการเมือง หย่าขาดจากโครงสร้างอำนาจและเรื่องความไม่เท่าเทียม Oakley อ้าง Oxfam ว่าเป็นตัวอย่างของมุมมองชนิดถอนรากถอนโคนที่ระบุว่า การเสริมอำนาจ เป็น “การคำนึงถึงการวิเคราะห์และแก้ไขพลวัตของการกดขี่” และ “ปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อความเห็นที่ว่า ‘การมีส่วนร่วม’ ในการพัฒนาที่เป็นโครงการที่มีองค์กรทุนสนับสนุน เป็นสัญญาณของ ‘การเสริมอำนาจ’” (Oakley 2001; 43).
การเสริมอำนาจในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดประชาธิปไตยคำนึงถึงกิจกรรมการเมืองในระดับมหภาค การเสริมอำนาจถูกมองว่า เป็นพื้นฐานของโครงสร้างและปฏิบัติการของประชาธิปไตย แนวคิดนี้ นำไปสู่ยุทธวิธีที่สนับสนุนโครงสร้างของภาคประชาสังคมและองค์กรรากหญ้า การสร้างสมรรถนะโดยทั่วไป ถูกมองว่าเป็นการเสริมอำนาจ แม้ว่าจะมีหลายแนวทาง บางแนวดูเหมือนเป็นเพียงการฝึกอบรม
การเสริมอำนาจด้วยการยกระดับเศรษฐกิจ เป็นแนวทางที่ได้ใช้อย่างกว้างขวางกับผู้หญิง (ไม่น่าประหลาดนัก เมื่อมีการศึกษามากมายถึงความด้อยอำนาจทางเศรษฐกิจกว่าของผู้หญิง) อาศัยสมมติฐานที่ว่า ความไร้อำนาจของผู้หญิงเมื่อเทียบกับชาย เป็นการทำงาน (function) ของความยากจน การแทรกแซงแนวนี้ มักจะเน้นที่กองทุนหมุนเวียน (microfinance) และธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีผู้หญิงเป็นเป้าหมาย
การเสริมอำนาจในระดับปัจเจก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของ Freire และรวมถึงการปลุกจิตสำนึกและการพัฒนาสติปัญญาเชิงวิพากษ์ (Freire 1974).
ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีการ “ระบุว่า การเสริมอำนาจ เป็น...เป้าหมายแรกๆ ของการช่วยเหลือด้านการพัฒนา...ทั้งธนาคารโลกหรือหน่วยงานพัฒนาหลักอื่นๆ ก็ไม่ได้พัฒนาวิธีการที่เคร่งครัด แม่นยำ สำหรับวัด และติดตามการเปลี่ยนแปลงในระดับของการเสริมอำนาจ” (Malhotra, A. et al 2002, 3)
3.2 การเสริมอำนาจของผู้หญิงในสาขาวิชาพัฒนาศึกษา
ยูนิเฟม มองว่า การเสริมอำนาจเศรษฐกิจของผู้หญิง เป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อบรรเทาความยากจนและได้นิยามว่า เป็น “การส่งเสริมให้เข้าถึงและสามารถควบคุมหนทางที่จะเลี้ยงชีพที่ยั่งยืนและยาวนาน และการได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุจากการเข้าถึงและควบคุมดังกล่าว คำนิยามนี้ ไปไกลกว่าเป้าหมายระยะสั้น เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้หญิงมีรายได้มากขึ้น และแสวงหาผลประโยชน์ที่ยั่งยืน ระยะยาว ไม่เพียงแต่ในการเปลี่ยนกฎหมายและนโยบาย ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของผู้หญิงใน และได้รับประโยชน์จากการพัฒนา แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับครัวเรือน ชุมชน และตลาด” (Carr, nd, 2).
ในที่นี้ การเสริมอำนาจ เชื่อมต่อกับผู้หญิงโดยเฉพาะ และเป็นวาทกรรมร่วมในวงพัฒนา ปฏิญญาปฏิบัติการปักกิ่ง (Platform for Action and the Beijing Declaration) ประกาศว่าสหประชาชาติ มีปณิธาน “เพิ่มความเข้มข้นของความพยายามในการสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันและมีอิสรภาพขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคหลายชั้นที่ขัดขวางการเสริมอำนาจและความก้าวหน้าเพราะปัจจัยเช่น เชื้อชาติ อายุ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา หรือความพิการ หรือเพราะพวกเขาเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม” (United Nations, 1985; para 32).
ในทศวรรษ 1970 เมื่อความคิดเรื่องการเสริมอำนาจของผู้หญิงได้ถูกเอ่ยขึ้น โดยนักสตรีนิยมโลกที่สามและองค์กรสตรี “มันถูกใช้อย่างเปิดเผยชัดเจน เพื่อตีกรอบและเอื้ออำนวยการดิ้นรนเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และความเท่าเทียมของผู้หญิง โดยผ่านกระบวนการพลิกแปรโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระดับชาติและนานาชาติ (Bisnath and Elson nd; 1). ในบรรดานักสตรีนิยม มีความห่วงใยว่า ในการเคลื่อนตัวจากชายขอบสู่กระแสหลัก ได้มี “ความพยายามที่จะกลืนแนวทางเจนเดอร์และการพัฒนา โดย ‘เติม’ แนวคิดนี้ลงในวาทกรรมของการพัฒนา ปกคลุมมิติการเมืองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘เติม’ จึงทำให้กระบวนการพัฒนาดูไม่น่ากลัว” (Porter and Verghese 1999; 131).
ในทศวรรษ 1990 หลายหน่วยงาน ใช้คำว่า “การเสริมอำนาจของผู้หญิง” ที่เกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์หลากหลายที่รวมประเด็นต่างๆ ที่มุ่งเน้น “การขยายทางเลือกและอัตราการผลิตของผู้หญิงในฐานะปัจเจก ส่วนใหญ่จะแยกห่างจากวาระของสตรีนิยม และในบริบทของการถอนความรับผิดชอบของภาครัฐ ต่อการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง” (Bisnath 2001, 11). มีการอ้างถึงบ่อยๆ เช่นในบริบทของการให้เครดิตขนาดย่อมแก่ผู้หญิง และมีบทความที่ถกเถียงถึงประสิทธิผล (หรือไม่มี) ของยุทธวิธีนี้ ในแง่การเสริมอำนาจของผู้หญิง ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดว่า ผู้หญิงหลายคนได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและสามารถควบคุมเงินทอง แต่ก็มีหลักฐานเช่นกันที่แสดงว่า “การเล็งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยปราศจากเครือข่ายสนับสนุนและยุทธศาสตร์การเสริมอำนาจที่มากพอ เป็นเพียงขยับภาระของหนี้ครัวเรือนและการยังชีพของครัวเรือนให้ผู้หญิงแบกรับ” (Mayoux 2002; 7).
สำหรับ Bina Agarwal “ถ้า...ปลดกลุ่มช่วยเหลือตนเอง จากการให้เครดิตอย่างเจาะจงจุดเดียว และลงทุนในวาระเพื่อการพลิกแปรมากขึ้น เช่น ค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการปรับปรุงสถานการณ์ของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ การท้าทายความไม่เท่าเทียมทางสังคม ปรับปรุงเสียงของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น ก็จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการเสริมอำนาจ” (Agarwal 2001, 7). เธอแย้งว่า ยุทธวิธีอันใดที่แสวงหาทางเสริมอำนาจของผู้หญิง ควรจะมีเป้าประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้หญิงในการทำงานเป็นหมู่คณะในเรื่องที่ตนสนใจ
ในบทความที่ทรงอิทธิพลในปี 1994 Srilatha Batliwala อภิปรายว่า การเสริมอำนาจของผู้หญิงได้กลายเป็นแนวคิดพัฒนาที่แพร่หลายอย่างไร ปฏิสัมพัทธ์ระหว่างสตรีนิยมและประชาศึกษา (Freire’s popular education) (ซึ่งไม่มีมิติหญิงชายเลย) ได้ออกผลเป็นการดิ้นรนต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อแสดงและเปลี่ยนวิธีการที่เจนเดอร์ถูกก่อตัวขึ้น และเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ความล้มเหลวในการพัฒนาที่แทรกแซง ส่วนหนึ่งมาจากการที่แนวทางที่ใช้ ไม่ได้มองเห็นปัจจัยที่ซ่อนอยู่ที่ทำให้การกดขี่และเอาเปรียบผู้หญิงคงทนถาวร Batliwala เลือกที่จะเขี่ยการถกเถียงเรื่องอำนาจออก และหันไปให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า เป็นการ “ควบคุมเหนือทรัพย์สินทางวัตถุ ทรัพยากรทางปัญญา และอุดมการณ์” (Batliwala 1994, 128). “กระบวนการของการท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นอยู่ และของการได้มาซึ่งการควบคุมมากขึ้นเหนือแหล่งของอำนาจ นี่อาจเรียกได้ว่า การเสริมอำนาจ”
Batliwala ชี้ให้เห็นว่า การเสริมอำนาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ (ผู้หญิงร่ำรวยก็ต้องทนทุกข์กับความรุนแรงในครอบครัว และการข่มขืนเหมือนกัน) กระบวนการเสริมอำนาจรวมถึง (1) ผู้หญิงตระหนักถึงอุดมการณ์ที่สร้างความชอบธรรมให้ชายมีอำนาจเหนือกว่า และมีความเข้าใจว่ามันคอยทำให้การกดขี่พวกเธอยืนยงอยู่ได้
Batliwala ตระหนักว่าผู้หญิงได้ถูกชักนำให้มีส่วนร่วมในการกดขี่ตัวเอง ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (external change agents) ซึ่งเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมอำนาจของผู้หญิง ผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงองค์ความรู้—ความคิดและข้อมูล—ใหม่ ที่ไม่เพียงแต่เปลี่ยนจิตสำนึกและภาพพจน์ของตัวเอง แต่ยังรวมถึงชักจูง สนับสนุนให้ลุกขึ้นปฏิบัติการด้วย Batliwala มองเห็นว่า การเสริมอำนาจ เป็น “วงก้นหอย การเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึก การระบุถึงพื้นที่เพื่อเป็นเป้าของการเปลี่ยนแปลง การวางแผนยุทธศาสตร์ การปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการวิเคราะห์กิจกรรมและผลพวง” (Batliwala 1994, 132).
เธอระบุ ยุทธศาสตร์ 3 ประการสำหรับการเสริมอำนาจของผู้หญิงในการพัฒนาแบบแทรกแซง คือ แนวทางพัฒนาผสมผสาน (integrated development approach) ที่เห็นว่า ความไร้อำนาจของผู้หญิงเป็นรูปของความยากจน สุขภาพที่เจ็บออดๆแอดๆ ของพวกเธอ ดังนั้น เป้าประสงค์จึงเป็นการช่วยผู้หญิงให้มีปัจจัยพื้นฐานเพื่อความอยู่รอด แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development approach) มุ่งอยู่ที่การก่อสร้างรอบๆ ความเข้มแข็งของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นคนงานรับจ้าง และส่งเสริมมุมมองที่ว่า การเสริมอำนาจจะเป็นผลพลอยได้ของการเสริมอำนาจเชิงเศรษฐกิจ แนวทางปลุกจิตสำนึกและจัดรูปองค์กร (consciousness-raising and organising approach) “ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ และสถานภาพผู้หญิง (Batliwala 1994, 135). ยุทธศาสตร์ที่มุ่งที่การจัดขบวนผู้หญิงให้ตระหนัก หรือท้าทายการเลือกปฏิบัติที่มีพื้นฐานบนเจนเดอร์ และ ชนชั้น ในทุกๆ แง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะในพื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ
Batliwala อธิบายว่าการจัดขบวนเพื่อการเสริมอำนาจของผู้หญิงมีอะไรบ้าง หลังจากที่ผู้หญิงที่ยากจนที่สุดและถูกกดขี่มากที่สุดในพื้นที่หนึ่งๆ ได้ถูกระบุตัวแล้ว นักกิจกรรมผู้ได้รับการอบรมให้รู้จักการจัดเวที ที่ผู้หญิงจะสามารถ “มองดูตัวเองและสิ่งแวดล้อมของตนในมุมมองใหม่ พัฒนาภาพพจน์บวกของตนเอง ตระหนักถึงความเข้มแข็งของตนเอง และระเบิดใส่แนวคิดผิดๆ และอคติทางเพศ” (Batliwala 1994, 136). ด้วยการพัฒนาการวิเคราะห์แบบวิพากษ์ต่ออุดมการณ์เจนเดอร์ ผู้หญิงเกิดความตื่นตัว ไม่เพียงแต่ “เงื่อนไข” แต่รวมถึง “ตำแหน่ง” ของพวกเธอ การต่อต้านจากผู้ชาย เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงท้าทายความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบปิตาธิไตย – สำหรับ Batliwala การท้าทายเหล่านี้ เป็นการทดสอบว่า กระบวนการเสริมอำนาจได้ไปถึงชีวิตผู้หญิงไกลแค่ไหน เธออ้างถึง Kannabiran ซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งว่า “ครอบครัวเป็นชายแดนสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์...คุณรู้ไหม [การเสริมอำนาจ] เกิดขึ้นเมื่อมันก้าวพ้นธรณีประตู” (Batliwala 1994, 131).
ตามความเห็นของ Nelly Stromquist การเสริมอำนาจ เป็นแนวคิดเชิงสังคม-การเมือง ที่จะต้องรวมถึงองค์ประกอบด้านกระบวนการรับรู้ จิตวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง องค์ประกอบของการรับรู้ หมายถึง ความเข้าใจของผู้หญิงเกี่ยวกับสาเหตุของการทำให้พวกเธอเป็นเบี้ยล่าง มันรวมถึง “ความเข้าใจถึงตัวเอง และความจำเป็นที่จะต้องเลือกที่อาจจะสวนทางกับความคาดหวังทางวัฒนธรรมหรือสังคม” (Stromquist 1995, 14). มันรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ทางกฎหมายและเพศวิถี (ที่เกินเลยไปกว่าเทคนิคการวางแผนครอบครัว) องค์ประกอบจิตวิทยา รวมถึง การที่ผู้หญิงเชื่อว่า พวกเธอสามารถกระทำการในระดับปัจเจกและสังคม เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของตนเอง มันรวมไปถึงการหลีกลี้จาก “ความช่วยไม่ได้/สิ้นหวังที่เธอได้เรียนรู้บ่มเพาะมา” (“learned helplessness”) และการพัฒนาความภาคภูมิและความมั่นใจในตัวเอง สำหรับองค์ประกอบเศรษฐกิจ Stromquist แย้งว่า แม้ว่างานนอกบ้านมักจะหมายถึงภาระสองเท่าตัว การเข้าถึงงานเช่นนี้ เพิ่มอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเป็นอิสรภาพทั่วไป องค์ประกอบทางการเมือง รวมถึงความสามารถในการจินตนาการสถานการณ์ของตนและการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม “ปฏิบัติการรวมหมู่เป็นพื้นฐานของเป้าประสงค์ในการบรรลุถึงการพลิกแปรสังคม” (Stromquist 1995, 15).
Susil Sirivardana บรรยายถึง “แก่นของระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย ของการขับเคลื่อนสังคมในการเสริมอำนาจของผู้หญิง” (Sirivardana 2001) ซึ่งได้มีการปฏิบัติการในเอเชียใต้ ในช่วงเวลากว่า 25 ปี และมีจุดร่วมบางประการกับข้อเสนอของ Batliwala ก็มุ่งเน้นที่ช่วยเหลือผู้หญิงยากจน “ให้เข้าใจความจริงและสาเหตุของการสร้างความยากจนเชิงโครงสร้าง...และในขนาดเดียวกัน ช่วยให้พวกเขาพลิกแปร รื้อถอนและสร้างความจริงของพวกเธอใหม่ในเงื่อนไขของการเป็นไท” (Sirivardana 2001, 6). อันนี้ก็ใช้ในกลุ่มมากกว่าปัจเจก และรวมถึงการสร้างองค์ความรู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเธอเอง กระบวนกร (facilitator) จากภายนอก ที่คลุกคลีกับกลุ่มคนยากจนที่สุด และเริ่มตรวจสอบความจริงของสังคมของหมู่บ้านกับพวกเขา ด้วยการกระทำและตรึกตรองร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทั้งกลุ่มออมทรัพย์และ ต่อมา องค์กรที่ครอบคลุมกว้างมากขึ้นของคนจน ที่เริ่มอุบัติขึ้น รวมทั้ง ตัว facilitator ภายใน
Rowlands เห็นว่า การเสริมอำนาจในบริบทของงานสังคมและการศึกษาที่ “มีข้อตกลงกว้างๆ ... ว่า การเสริมอำนาจเป็นกระบวนการ ที่รวมถึงการพัฒนาส่วนบุคคลในระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่เพียงพอ และมันต้องรวมถึงการเคลื่อนตัวจากการตื่นรู้ทางปัญญาสู่ปฏิบัติการ” (Rowlands 1997; 15).
เธอพัฒนา โมเดลของการเสริมอำนาจของผู้หญิงว่ามี 3 มิติ – ส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และการรวมหมู่ ในแต่ละระดับ ปัจจัยยับยั้ง และปัจจัยชักจูง มีอิทธิพลต่อแก่นของชุดค่านิยม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงต้องเข้าใจความสำคัญของบริบท และโมเดลนี้ถูกใช้อย่างจงใจเพื่อระบุรายการเฉพาะภายในแต่ละประเภทที่เหมาะสมต่อสภาวะของท้องถิ่น ยกตัวอย่าง ในระดับประสบการณ์/ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล แก่นค่านิยมที่เธอระบุ ในขณะที่เธอทำวิจัยที่ฮอนดูรัส คือ ความมั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกถึงเกียรติภูมิของตน ความรู้สึกถึงความเป็นผู้ปฏิบัติการ และความรู้สึกของ “ตนเอง” ในบริบทกว้างและศักดิ์ศรี (self-confidence; self-esteem; sense of agency; sense of “self” in wider context and dignity) ปัจจัยยับยั้ง มี ชายที่ข่มหญิง ความยอมจำนนง่ายๆ คู่ชีวิตที่คัดค้านอย่างแรง (machismo, fatalism, active opposition by partner) ปัญหาสุขภาพ และความยากจน ปัจจัยชักจูง มีกิจกรรมนอกบ้าน การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การท่องเที่ยว การมีเวลาให้ตัวเอง และการอ่านออกเขียนได้ การเปลี่ยนแปลงถูกแสดงออกในลักษณะของความสามารถ—ในการจับประเด็นและแสดงความเห็น การเรียนรู้ วิเคราะห์ และปฏิบัติการ การจัดการเวลาของตน และการได้มาและควบคุมทรัพยากร
Kabeer เขียนในบทความที่ทรงอิทธิพลหนึ่ง แนะนำว่า “การเสริมอำนาจ...หมายถึง กระบวนการที่ผู้คนที่เคยถูกกีดกันไม่ให้มีความสามารถในการกำหนดทางเลือกยุทธศาสตร์ในชีวิต ได้รับความสามารถนั้น” (Kabeer 1999; 437). คำจำกัดความนี้ พูดชัดว่า เฉพาะพวกที่ถูกกีดกันไม่ให้มีความสามารถเหล่านี้มาก่อน จึงจะสามารถเรียกว่าถูกเสริมอำนาจ และทางเลือกที่พูดถึง ต้องเป็นเชิงยุทธศาสตร์ด้วย Kabeer นิยามทางเลือกยุทธศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่ “จำเป็นยิ่งสำหรับผู้คนในการดำรงชีวิตอย่างที่พวกเขาต้องการ (เช่น วิถีดำรงชีพ ไม่ว่าคนนั้นจะแต่งงานหรือไม่ ไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่ ฯลฯ) ซึ่งตรงข้ามกับ “ทางเลือกที่มีผลน้อยกว่า ที่อาจมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตแต่ไม่ใช่ตัวแปรที่กำหนดคำนิยาม” (Kabeer 1999, 437) โปรดสังเกต การใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” นี้ ต่างจากที่นิยามโดย Moser ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือ ความสนใจ/ผลประโยชน์ในเชิง “ยุทธศาสตร์” ของผู้หญิง (women’s “strategic” interests) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ท้าทายความเป็นเบี้ยล่างของพวกเธอในฐานะผู้หญิง ในขณะที่ ความสนใจในเชิง “ปฏิบัติ” (“practical” interests) คือสิ่งที่จะช่วยให้พวกเธอดำเนินบทบาทเชิงเจนเดอร์ที่ได้บัญญัติไว้แล้วได้ง่ายขึ้น
หลังจากวิเคราะห์ผลงานการศึกษาเรื่องการเสริมอำนาจของผู้หญิงมากมาย Kabeer ก็แย้งว่า ความสามารถในการเลือกใดๆ ถูกกำหนดโดยปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องและแบ่งแยกจากกันไม่ได้ 3 ประการ – ทรัพยากร ความเป็นผู้ปฏิบัติการ และการบรรลุผล (resources, agency and achievements) – ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องให้ความสนใจ ก่อนที่จะยืนยันได้ว่า การเสริมอำนาจสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ โดยสัญชาติญาณ นี่เป็นเรื่องจูงใจ – มันไม่ยากเลยที่จะจินตนาการถึงฉากหนึ่ง ที่ปัจจัยหนึ่งหรือสองดังกล่าว จะไม่แสดงให้เห็นการเสริมอำนาจ ยกตัวอย่าง ผู้เผด็จการใจดีคนหนึ่งสามารถจะให้อาหารที่ดีในปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โภชนาการที่ดีขึ้นโดยปราศจากการทำให้ผู้รับมีความสามารถในการกำหนดทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ในชีวิต
ทรัพยากรถูกระบุ ว่าเป็นวัตถุ แต่รวมถึงมนุษย์และสังคม และรวมถึงการทวงสิทธิ์และความคาดหวังในอนาคต ตลอดจนการจัดสรรที่เกิดขึ้น การเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ “จะสะท้อนถึงกฎเกณฑ์และปทัสถานที่ปกครองการกระจายและการแลกเปลี่ยนในพื้นที่สถาบันต่างๆ” (Kabeer 1999; 437).
ผู้ปฏิบัติการ หรือ Agency คือ ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายที่ตนเลือก เช่นเดียวกับปฏิบัติการที่สังเกตเห็นได้ มันรวมถึงความรู้สึกของปัจเจก ในการเป็นผู้ปฏิบัติ (หรืออำนาจภายใน) มันมักจะถูกคิดถึงในแง่ “การตัดสินใจ” ผู้ปฏิบัติการ สามารถจะรวมถึง “การต่อรอง การหลอกลวง และการชักใยอยู่เบื้องหลัง การล้มล้าง และการต่อต้าน” (Kabeer 1999; 438).
ในบทความ อำนาจในการเลือก (The Power to Choose) Kabeer กล่าวถึงสังคมศาสตร์ว่าได้จัดการกับเรื่อง agency อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้ทฤษฎีการเลือกอย่างใช้เหตุผล (rational choice theory) ซึ่งสมมติว่า ปัจเจกชนจะมีความชอบหรือฝักใฝ่ต่อชุดทางเลือกหนึ่งๆ อย่างคงเส้นคงวา ทฤษฎีนี้—ที่ว่า การตัดสินใจทั้งปวง สามารถจะอธิบายได้ในรูปของการคำนวณทางเลือกอย่างมีเหตุผล--สร้างความคลางแคลงใจในบางคน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้ออ้างดังกล่าว ได้นำไปสู่เศรษฐศาสตร์ทางเลือก ที่ตัดความคิด “บุรุษเศรษฐกิจที่มีเหตุผล” (“rational economic man”) และเห็นชอบกับ “บุคคลผู้ไม่มีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ และไม่ค่อยฝักใฝ่ทางเศรษฐกิจ” (“imperfectly rational, somewhat economic, person”) (Folbre 1994, 20 quoted in Kabeer 2000, 20).
การประเมินผลที่สมจริง ในกิจกรรมที่มีการชักนำให้คน ๆ หนึ่งได้ตรวจสอบทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดของตน ชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละอันอย่างถูกต้อง และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ได้ช่วยนำไปสู่การวิเคราะห์ ที่คำนึงถึง “ความเฉื่อย” หรือ ความลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ พฤติกรรมหลายๆ ด้าน แท้จริง ถูกปกครองด้วยกฎเกณฑ์ และปทัสถาน บางอย่างมีบทบาทในการนิยาทและธำรงระเบียบของสังคม ปทัสถานที่โดดเด่น คือ พวกที่กำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับชายและหญิง อัตลักษณ์เจนเดอร์ของหญิงชายเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตลอดชีวิต และไม่สามารถเขย่า ขจัดทิ้งได้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ถึงกระนั้น Agarwal ได้ชี้ให้เห็นว่า “ปทัสถานทางสังคมใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และตัวของมันเอง ก็ถูกต่อรองและเปลี่ยนแปลง แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงปทัสถานบางอย่างจะใช้เวลานาน อันที่จริง หลายสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และหักล้างไม่ได้ ก็ได้ถูกปลดทิ้ง รวมทั้งบทบาทและพฤติกรรมของผู้หญิง ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นผลพวงของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ในอดีต” (Agarwal 1997, 19).
4. สรุป
บทความนี้ มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบรรเทาความไม่เป็นธรรมอย่างมหันต์ที่กระทำต่อผู้หญิงทุกวันนี้ เมื่อเราอ่าน หรือพบปะกับผู้หญิง ที่ยุทธศาสตร์การอยู่รอด รวมถึงการซ่อนเงินกองน้อยๆ ในที่ต่างๆ เพื่อหลบตาสามีของพวกเธอ หลังจากการทุบตี พวกเธอก็ต้องยอมเอาเงินที่ซ่อนไว้ออกมาให้เขา (Risseeuw, C. 1988, 278) เช่นนี้ เราจะไม่ต้องการเปลี่ยนสถานการณ์แบบนี้หรือ?
เพื่อดึงดูดความสนใจของนักวางนโยบาย จำเป็นต้องทำให้เห็นความสำคัญของ การเสริมอำนาจของผู้หญิง ว่ามีผลดีมากมายเพียงใด ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของการพัฒนา แน่นอน มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลพอๆ กัน ที่จะเถียงว่า ความไม่สมมาตรเชิงอำนาจระหว่างชาย-หญิง ก็เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้วย
คำว่า การเสริมอำนาจ ได้กลายเป็นคำยอดนิยมในวงการพัฒนาศึกษา และถูกใช้เพื่อเติมเสน่ห์ (แทนที่จะเป็นคุณค่า) แก่โครงการแทรกแซง ที่แท้จริงต้องการทำให้เกิดผลพวงทางเศรษฐกิจและสังคมนานาประการ ที่ แม้จะเป็นเรื่องพึงประสงต์อย่างยิ่งในตัวของมันเอง ก็ไม่จำเป็นที่จะท้าทายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่
ในทางตรงข้าม ดิฉันจึงนิยามการเสริมอำนาจของผู้หญิงว่า เป็นกระบวนการที่ผู้หญิงให้คำจำกัดความใหม่ และยืดโอกาสความเป็นไปได้สำหรับพวกเธอที่จะเป็นและกระทำในสถานการณ์ที่เธอเคยถูกจำกัดขอบเขต เมื่อเทียบกับชาย ไม่ให้เป็นหรือกระทำ หรือ การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นกระบวนการที่ผู้หญิงนิยามบทบาทเจนเดอร์/หญิงชายใหม่ ในหนทางที่ยืดโอกาสความเป็นไปได้ของการเป็นและการกระทำ
นี่เป็นการนิยามที่ใกล้เคียงกับคำกัดความของ Kabeer ที่ว่า “การเสริมอำนาจของผู้หญิง เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการที่ผู้เคยถูกปฏิเสธไม่ให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางเลือกสำหรับชีวิตของตนได้ ได้รับความสามารถนั้น” (Kabeer 1999, 435) แต่มีความแตกต่างที่สำคัญสองประการ
(1) การเน้นที่มิติหญิงชาย ในการปลดอำนาจของผู้หญิง เมื่อเราพูดถึงการเสริมอำนาจของผู้หญิง เราะกำลังนิยามปัจเจก ว่าเป็น “ผู้หญิง” และในกรณีเช่นนั้น เราจะคำนึงถึงวิธีการที่พวกเธอถูกปลดอำนาจในฐานะผู้หญิง อันนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่า ผู้หญิงมีอัตลักษณ์ซ้อน และเป็นทั้งเกษตรกร คนทำงาน ผู้ค้า ฯลฯ และจะเลือกที่จะทำงานร่วมกับชายเป็นครั้งคราว เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ของทั้งคู่ (แน่นอน การต่อสู้ร่วมกับชายเพื่อเป้าหมายร่วมในฐานะเกษตรกร คนทำงาน ผู้อยู่ใต้อำนาจเจ้าอาณานิคม ฯลฯ ดังปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์ จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับการดิ้นรนต่อสู้ในเรื่องบทบาทหญิงชาย/เจนเดอร์ด้วย ถ้าผู้หญิงไม่พบว่าตัวเองยังตกอยู่เบี้ยล่าง เมื่อการต่อสู้ร่วมยุติลง) อัตลักษณ์เจนเดอร์ของผู้หญิง ปลดอำนาจจากพวกเธอในบทบาทสาธารณะตลอดจนบทบาทในบ้านเรือน ดังนั้น ผู้หญิงสามารถทำการท้าทายบทบาทเจนเดอร์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนต่อสู้รวมหมู่ที่พวกเธอมีส่วนร่วม
(2) เป็นความแตกต่างที่เห็นยาก แต่ดิฉันคิดว่าเป็นจริง คำจำกัดความของ Kabeer เน้นที่การได้มาซึ่งความสามารถของปัจเจกในการเลือก ส่วนของดิฉันเน้นที่การให้คำนิยามใหม่และยืดขอบเขตที่จำกัดว่าอะไรเป็นไปได้ ดังนั้น จึงมีการเน้นมากกว่าในการที่ผู้หญิงจะบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่ขยายทางเลือก ไม่เพียงแต่สำหรับพวกเธอเอง ยังสำหรับผู้หญิงทั่วไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การประเมินการเสริมอำนาจ
ดิฉันขอแนะนำกรอบการประเมินการเสริมอำนาจ ว่าควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
ระบุอุปสรรคต่อปฏิบัติการ
นี่เป็นแก่นของกรอบคิดนี้ และช่วยให้ทำงานได้หลายอย่าง การระบุสิ่งที่เป็นอุปสรรคจำเป็นสำหรับการทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม โดยทำให้เกิดความเข้าใจในระหว่างผู้หญิงที่เข้าร่วม ว่าพวกเธอถูกเลือกปฏิบัติอย่างไรบนพื้นฐานของเพศ (และความปรารถนาต่อ และความเชื่อในความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง)
เมื่อมีการปฏิบัติการหนึ่งๆ (ดังตัวอย่างในข้อ 2.5 เรื่องการเข้าโรงเรียน) จะใช้กรอบนี้ ในการระบุขอบเขต เช่น ในการนิยามสถานภาพของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในมิติหญิงชายก่อนที่จะเริ่มการปฏิบัติการใดๆ ด้วยการทำซ้ำกระบวนการนี้ในภายหลัง จะสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นก็จะสามารถตัดสินได้ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ขยับไปสู่ความเท่าเทียมกันมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ระบุว่าการเป็นผู้ปฏิบัติการของผู้หญิงได้พัฒนาอย่างไร
ในแง่หนึ่ง นี่เป็นกระจกสะท้อนอุปสรรคที่ถูกระบุไว้ ถ้าอุปสรรคกร่อนตัวลง ตามคำนิยาม โอกาสสำหรับการปฏิบัติการของผู้หญิงย่อมเพิ่มขึ้น และเป็นจริงในทางกลับกัน ถ้าโอกาสของการปฏิบัติการเพิ่มขึ้น อุปสรรคก็จะลดลง
แต่เราสนใจไม่เพียงเรื่องโอกาสความเป็นไปได้สำหรับการปฏิบัติการ แต่ในปฏิบัติการจริงที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง สิทธิของผู้หญิงในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน อาจจะทำให้เสมอภาคกันมากขึ้นด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ และมันจะช่วยลดอุปสรรคทางการต่อการขับเคลื่อนของผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะใช้โอกาสใหม่ที่กฎหมายเปิดทางให้ไหม? หรือ แรงกดดันในสังคมจะขัดขวางให้เธอทำเช่นนั้นหรือไม่? ในกรณีนี้ ปรากฏว่ามีผลกระทบต่อ agency หรือการเสริมอำนาจของผู้หญิงน้อยมาก
ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงใน agency ของผู้หญิง จะรวมทั้งระดับปัจเจกและระดับรวมหมู่ ด้วยการตั้งคำถามดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงมีความเห็นต่อเจนเดอร์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร?
- รู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของตน (ความมั่นใจในตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่า ศักยภาพของตน ฯลฯ)
- อะไรที่ผู้หญิงสามารถทำได้ตอนนี้ ที่พวกเธอต้องการแต่ทำไม่ได้เมื่อก่อน?
- ผู้หญิงเชื่อไหมว่า ลูกสาวของพวกเธอจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน?
- ได้ใช้ทรัพยากรใหม่หรือที่มีอยู่เดิม (นิยามกว้างๆ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้?
- ผู้หญิงได้ทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้บรรลุผล?
- ความช่วยเหลือจากภายนอกได้มีส่วนช่วยให้บรรลุผลอย่างไร?
ระบุถึง agency ของผู้หญิงได้เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นปฏิบัติการได้อย่างไร
นักประเมินผลกระทบจะคุ้นเคยต่อความซับซ้อนของปัจจัยต่างๆ เช่น ตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็น เป็นผลจากการแทรกแซง หรือเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกอื่น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน ในกรณีนี้ด้วย แต่ คำถามของปัจจัยจะต้องพิจารณาด้วยในระดับพิเศษเมื่อดูถึงการเสริมอำนาจ
เพราะเหตุที่เรานิยามการเสริมอำนาจว่าเป็นกระบวนการที่ผู้หญิง ให้คำจำกัดความใหม่และยืดความเป็นไปได้สำหรับพวกเธอเองในการอยู่และกระทำ ฯลฯ เราจะต้องตั้งคำถามว่า การผ่อนปรนหรือสึกกร่อนของอุปสรรคที่ได้ระบุไว้ นั้น เป็นผลของปฏิบัติการของผู้หญิงหรือไม่ หรือว่าเพราะสาเหตุอื่น ถ้าเป็นเพราะปฏิบัติการของผู้หญิง มันก็เป็นตัวอย่างของการเสริมอำนาจที่ตรงไปตรงมา -- ผู้หญิงประสบความสำเร็จในการยืดพื้นที่ๆ เป็นไปได้สำหรับพวกเธอเอง ในทางตรงข้าม อุปสรรคอ่อนลงเพราะสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ผู้หญิงหรือไม่? ในกรณีนี้ เราไม่สามารถบอกว่าเป็นการเสริมอำนาจ ดังที่ได้ตกลงกันไว้ การเสริมอำนาจไม่สามารถประทานให้ แต่ต้องเป็นชัยชนะ ถึงอย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของอุปสรรค สามารถจะทำให้เกิดการปรับปรุงในสถานการณ์ของผู้หญิง – และในทางทฤษฎี การปรับปรุงนี้ จะสามารถส่งผลให้ผู้หญิงไม่ตกอยู่ในฐานะถูกปลดอำนาจ นั่นคือ สถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีการเสริมอำนาจ
คำถามที่เราสามารถถามต่อ มีดังนี้
- ผู้หญิงได้ปฏิบัติการอะไรบ้าง ในระดับปัจเจก และรวมหมู่ ในการท้าทายอุปสรรค?
- ผู้หญิงได้ให้การสนับสนุนกันและกันและเรียนรู้จากปฏิบัติการกันอย่างไร?
- ผู้หญิงได้ต่อต้านอุปสรรคดังกล่าวทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยอย่างไร?
- ผู้หญิงต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างไร?
- ได้ก้าวพ้นกระแสคัดค้านมากแค่ไหน และอย่างไร?
- ผู้หญิงคิดว่าอิสรภาพใหม่ที่ได้มานี้ มีความมั่นคง ยั่งยืนเพียงไร?
- ปฏิบัติการอะไรที่พวกเธอตั้งใจจะกระทำเพื่อปกป้องสถานภาพที่ดีขึ้นนี้?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น