โลกาภิวัตน์ เจนเดอร์/เพศสภาพ และเพศวิถี: เสียงจากชาวมาเลเซียและฟิลิปปินส์[1]
อลิซาเบธ เอวิโอตา (เอพีไอ รุ่น 4)
ฟิลิปปินส์
ย่อความ
บทความนี้ศึกษาว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (โลกาภิวัตน์) มีผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในมาเลเซียและฟิลิปปินส์เกี่ยวกับพฤติกรรมรักต่างเพศ (heterosexual) และประเด็นอนามัยเจริญพันธุ์ โดยตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงในเชิงวิถีปฏิบัติทางเพศสัมพันธ์และเจนเดอร์/เพศสภาพ[2] (sexual and gender norms and practices) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเพศสัมพันธ์นอกและในชีวิตสมรส ความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส การล่มสลายของการแต่งงาน ความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมการใช้ยาคุมกำเนิด มีกระบวนการเฉพาะที่เกี่ยวพันกับโลกาภิวัตน์อย่างไร นั่นคือ การขยายตัวของเมือง การจ้างผู้หญิงทำงานในระบบใหม่ (modern sector) การขยับตัวของนโยบายรัฐ และการได้ดูข่าวสาระบันเทิงจากสื่อ ผลการศึกษาพบว่า ในขณะที่ โลกาภิวัตน์มีส่วนในการกำหนดกรอบคิดเชิงตลาด-ผู้บริโภคในระดับหนึ่ง เพื่อให้คำจำกัดความใหม่ในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ และสร้างความชอบธรรมแก่การแสดงออกความรู้สึกทางเพศ มันก็ได้เพิ่มความเข้มข้นแก่ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการที่ซับซ้อน ที่คอยกัดเซาะอัตลักษณ์แห่งชาติ ความมั่นคงของการงาน ความเท่าเทียมกันในเชิงอำนาจระหว่างหญิง-ชาย และศักดิ์ศรีในเนื้อตัวร่างกายของคน ความแตกต่างเชิงเจนเดอร์ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของโครงสร้างและอุดมการณ์ และความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจและทรัพยากร ที่ส่งผลลบต่อความสามารถของเด็กหญิงและผู้หญิง ในการตัดสินใจเลือกวิถีทางเพศและการดูแลสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ของตน
ส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นผลจากการเปิดระบบเศรษฐกิจสู่ตลาดเสรี อันเป็นตัวกำหนดลักษณะของ “โลกาภิวัตน์” สังคมมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับไวและกว้างขวางในสังคมของตน ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตสังคมและชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย บทความนี้ ทบทวนวาทกรรมในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อค้นหาเสียงในท้องที่ๆ ถกกันในเรื่องโลกาภิวัตน์ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและพฤติกรรมในเรื่องรักต่างเพศ และสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์
บทนำ
การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก อาจเป็นกำลังกระตุ้นหลัก แต่โลกาภิวัตน์ ไมใช่เป็นเพียงผลงานระดับโลกของระบบทุนนิยม มันหมายถึงการขยายตัว ที่ใช่ว่าจะไร้ปัญหา ที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทางการเมือง วัตถุ และอุดมการณ์ เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องโลกาภิวัตน์ ในแง่ความสัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และสร้างกรอบคิดอีกชุดหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกและท้องถิ่น (Kinnvall and Jonsson, 2002) ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ในสังคมถูกจัดรูปให้เอนเอียงไปในแนวโลกตะวันตกและทุนนิยม
เศรษฐกิจการเมืองของโลกาภิวัตน์ ครอบคลุมโครงสร้าง สถาบัน และกระบวนการต่างๆ ที่ทำงานผ่านตัวตนของมนุษย์แต่ละคนที่มีบริบทส่วนตัวและบริบทประวัติศาสตร์สังคมของตนเอง ดังนั้น โครงสร้างสังคม สถาบัน และกระบวนการต่างๆ ล้วนมีวัตถุประสงค์ที่มีตรรกะเป็นรูปธรรม และมีการฝังความคิดเห็นส่วนตัวลงในรูปธรรมนั้นๆ (objective logic and subjective embodiment) (Giddens, 1991) การทำความเข้าใจตรรกะดังกล่าว ที่ตัดกันกับตัวบุคคลในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีความคิดเห็นส่วนตัว จึงเป็นหัวใจของการวิเคราะห์หาจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมในเรื่องเพศวิถีและสุขภาวนามัยเจริญพันธุ์
การมีเพศสัมพันธ์ เป็นการแสดงออกถึงเพศวิถีของแต่ละคน ซึ่งเป็นเหมือนเยื่อบางๆ ที่เป็นลักษณะเด่นของความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล เป็นจุดเชื่อมโยงอันแรกระหว่างกาย อัตลักษณ์ของตนเอง และมาตรฐานสังคม (Giddens, 1991) เพศวิถีเป็นเรื่องที่รวมทั้งแง่วัตถุและแง่อุดมการณ์ ตั้งแต่ความสามารถทางกายภาพในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและการมีความสุขทางเพศ รวมไปถึงความหมายส่วนตัว และความหมายร่วมกับสังคมใหญ่ ที่ติดพ่วงอยู่กับพฤติกรรมทางเพศ และการปรุงแต่งเป็นอัตลักษณ์ต่างๆ เพศวิถีจึงถูกถกกันในลักษณะของพฤติกรรมทางเพศ—คนทั่วไปประกอบกามกิจอย่างไรกับคนอื่น หรือกับตนเอง พวกเขาแสดงตัวในลักษณะเพศอย่างไร พวกเขาพูดและปฏิบัติอย่างไร การที่เพศวิถีเชื่อมโยงกับสังคม ทำให้เพศวิถีไม่ใช่สิ่งของประเภทหนึ่งที่แยกตัวออกจากแม่พิมพ์ของสังคมได้ แต่เพศวิถี ฝังตัวอยู่ในโครงข่ายความสัมพันธ์ของสังคม มันส่งแรงกระทบ และก็ถูกกระทบ โดยปัจจัยทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา
ความสัมพันธ์ทางสังคมอันหนึ่งคือ เพศสภาพ ซึ่งเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ของสังคม ระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงที่ถูกนิยามโดยวัฒนธรรม เมื่อผนวกเพศสภาพกับเพศวิถี จึงกลายเป็นรูปแบบอันดับต้นๆ ของจิตสำนึกของตัวตนของคนในยุคร่วมสมัยของเรา ทุกวันนี้ มันเป็นกลไกสะท้อนกลับ (reflexive projects) เป็นปริซึมของการเปลี่ยนบริบทของท้องถิ่น (Giddens, 1992) เพศสภาพและเพศวิถีเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ไม่เคยหยุดนิ่งหรือไร้การแปรเปลี่ยน มันเป็นลักษณะของสังคมที่ยืดหยุ่น ไม่คงทนถาวร เส้นทางของเพศสภาพและเพศวิถีตัดกับกระบวนการทางสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง รูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ในหมู่ หรือระหว่างหญิงและชาย ก็จะซึมซับ ปรับเปลี่ยน และประนีประนอม ระหว่างกระแสพลังต่างๆ ที่แผ่กระจายออกมาจากการเปลี่ยนแปลงในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งเรียนรู้จากกระแสพลังเหล่านั้น ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ ทั้งหญิงและชายต่างมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับทฤษฎี (praxis) เป็นตัวขับเคลื่อนที่มีความต้องการและมุ่งมั่น ร่วมกับหมู่คณะหรือตามลำพัง ในการธำรงรักษา ต่อรอง หรือต่อต้าน กระแสพลังของสถาบันและวัฒนธรรมที่กดทับอยู่ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศ เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมชนิดหนึ่ง จึงเป็นทั้งภาพสะท้อน และสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ในภาคส่วนของอำนาจ ที่สำแดงผ่านช่องทางเพศสภาพ รวมทั้งช่องทางของชาติ ชนชั้น เชื้อสาย และชาติพันธุ์ การแทรกซึมเข้าไปสู่วงการอำนาจ ทำให้เพศวิถีกลายเป็นเรื่องสิทธิ์ เป็นทั้งสิทธิในการแสดงออกทางเพศสัมพันธ์ และสิทธิในการได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการร่วมเพศที่ไม่พึงปรารถนา
จุดตัดระหว่างโลกาภิวัตน์และเพศวิถี
เพศวิถี และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ มักถูกพาดพิงถึงในเชิงสถาบันและกระบวนการทางสังคม และเหตุการณ์สำคัญๆ ในวงจรชีวิต—การแต่งงาน การมีลูก โสเภณี สุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ โรคติดต่อ การเป็นพ่อแม่ บทบาทเชิงเจนเดอร์ ความรุนแรง คำจำกัดความของความเป็นชายและความเป็นหญิง และงานที่ได้รับค่าจ้าง ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อเพศวิถีทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามพื้นที่ ส่วนใหญ่มักจะขัดแย้งกัน—มีทั้งบวกและลบ โลกาภิวัตน์หมายถึงการวิ่งไล่ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการควบคุมกลไกตลาดและราคา การค้าเสรี การลดบทบาททางเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งยังผลให้เกิดการเสื่อมสลายของเส้นแบ่งเขตทางการเมืองและทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเข้มข้นของการเชื่อมต่อกัน โดยผ่านและควบคุมโดยเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ เหตุการณ์สำคัญๆ เหล่านี้ ได้ตกตะกอนเป็นปรากฏการณ์ เช่นการแผ่ขยายของการศึกษาในระบบ การอพยพย้ายถิ่นของผู้หญิงจำนวนมาก การรับผู้หญิงเฉพาะกลุ่มเข้าทำงาน ในขณะเดียวกัน ก็บีบผู้ชายให้ออกจากระบบเศรษฐกิจ การแก้ไขนโยบายรัฐ และการขยับจุดยืนในการสื่อภาพพจน์และวาทกรรมด้านสถาบันทางสังคม และการเคลื่อนไหวของสังคม ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวโยงกัน และมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงเพศสภาพ และเพศวิถี
ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ การขยายตัวของลัทธิทุนนิยมโลก ได้ทำให้เกิดการเกณฑ์ผู้หญิงเข้าเป็นแรงงานในการผลิตเพื่อส่งออกและในอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็บีบให้ทักษะฝีมือดั้งเดิมและโอกาสทางเศรษฐกิจสูญหายไปสำหรับชายและหญิงบางกลุ่ม (สำหรับมาเลเซีย แรงงานหญิงเพิ่มขึ้นจาก 33.7% ในปี 1980 เป็น 37.5% ในปี 1998 ในขณะที่ในฟิลิปปินส์ก็เพิ่มขึ้นคล้ายๆ กัน จาก 35.0% เป็น 37.6%) ในมาเลเซีย การขยายตัวของทุนนิยม หมายถึงความมั่งคั่งสำหรับประชากรกลุ่มหนึ่ง และการขยายตัวของชนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันก็สร้างความยากเข็ญแก่ผู้อยู่ชายขอบของการขยายตัวนี้ ในฟิลิปปินส์ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ผลักไสให้กลุ่มคนที่เปราะบาง กลายเป็นขอทาน ด้วยการจำกัดความต้องการพื้นฐานของพวกเขา ตัดกำลังของชนชั้นแรงงาน ด้วยการจำกัดสิทธิ์ ได้ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาไม่มั่นคง (Eviota, 2004) ในประเทศทั้งสอง การปฏิวัติทางเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นแล้ว มันได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารระหว่างบุคคล กลุ่มสังคมต่างๆ และปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรม—อันมีผลต่อการลื่นไหลของความคิด
ดังนั้น โลกาภิวัตน์และเพศวิถี จึงไม่ใช่โครงการที่เป็นกลาง แต่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และจะเกิดขึ้นเมื่อไรที่ไหนก็ได้ มันเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจและการเมือง การแทรกแซงของระบบราชการ จินตนาการของชาตินิยม วาทกรรมทางสังคม และอุดมการณ์ทางศาสนา
งานศึกษาชิ้นนี้ พิจารณาที่กระบวนการเฉพาะที่เกี่ยวพันกับโลกาภิวัตน์ในคาบสมุทรมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวคือ การจ้างแรงงานหญิงที่เพิ่มขึ้นในระบบใหม่ การขยายโอกาสการศึกษาสำหรับทั้งชายและหญิง การขยายตัวของเมือง และการแพร่กระจายของสื่ออย่างทั่วถึงขึ้น รวมทั้ง อิทธิพลของกระบวนการเหล่านี้ ต่อทัศนคติและพฤติกรรมรักต่างเพศ เช่น การมีเพศสัมพันธ์นอกและในชีวิตสมรส ความซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส การล่มสลายของการแต่งงาน ความเสี่ยงและความเปราะบางในการมีเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมการใช้ยาคุมกำเนิด สมมติฐานหลักข้อหนึ่งของการศึกษานี้ คือ ความรู้สึกที่เป็นไทแก่ตัวเองในชีวิตเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ผู้หญิง จะนำพวกเขาไปสู่ความตื่นตัวเรื่องสิทธิ์ในการเลือกเพศวิถี
การเปรียบเทียบมาเลเซียกับฟิลิปปินส์
มาเลเซียและฟิลิปปินส์เป็นประเทศในเอเชียอุษาคเนย์ ที่เหมือนกันในแนวโน้มของการย่างก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และต่างกันในวิถีปฏิบัติทางศาสนาและการเมือง ประชากรฟิลิปปินส์ (82.81 ล้านคน) ส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายคาทอลิก และมีความสม่ำเสมอในเผ่าพันธุ์ค่อนข้างสูง (มีประชากรเพียง 16% ที่นับได้ว่ามีความแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด) มาเลเซีย (21.18 ล้านคน) มีหลายเผ่าพันธุ์ หลากเชื้อชาติ และศาสนา มีมุสลิมมาเลย์เป็นชนกลุ่มใหญ่ ชาวจีน ประมาณหนึ่งในสาม และชาวอินเดีย หนึ่งในสิบของประชากร อิสลามเป็นศาสนาแห่งรัฐชาติ แม้ว่าการแต่งงานข้ามสายพันธุ์จะเพิ่มขึ้น แต่เส้นแบ่งเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ และศาสนายังเห็นได้ชัดในมาเลเซีย และเป็นลักษณะสำคัญที่ตีกรอบความเป็นปัจเจกและครอบครัวในพื้นที่สังคม เศรษฐกิจและการเมือง (Raj and others, 1998)
ศาสนาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันในประเทศทั้งสอง ประเด็นเพศวิถี ไม่ใช่อยู่ที่ว่าประเทศทั้งสองมีอุดมการณ์ทางศาสนาแตกต่างกัน แต่อยู่ในวิธีการที่ศาสนากำลังต่อสู้กับยุคสมัยใหม่ และกำลังดิ้นรนหาทางออกจากความขัดแย้งระหว่างชีวิตฆราวาสและเพศบรรพชิต ที่ถูกโลกาภิวัตน์คุกคาม ศาสนาเป็นเพียงแง่หนึ่งของชีวิตสังคม และไม่สามารถแยกออกได้อย่างเด็ดขาดจากกระบวนการ กิจกรรม และความปรารถนาของมนุษย์ได้ ในประเทศทั้งสองนี้ ในขณะที่คำสอนทางศาสนาได้เข้าถึงจิตสำนึกส่วนลึกของประชาชน ด้วยการแพร่กระจายอยู่ในประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมในระดับครอบครัวและชุมชน ประเด็นสำคัญอื่นสำหรับเพศวิถี คือ ขอบเขตที่ผู้มีอำนาจทางศาสนาใช้อำนาจรัฐโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการผลักดันนโยบายสาธารณะหรือวิธีปฏิบัติที่กระทบต่อประเด็นดังกล่าว
ความแตกต่างในบริบททางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจระดับชาติระหว่างประเทศทั้งสอง ทำให้เปรียบเทียบเรื่องเพศวิถีได้ลำบาก แม้กระนั้น งานศึกษาชิ้นนี้ ตั้งใจที่จะค้นหาแบบแผนที่คล้ายคลึงกัน ที่แสดงออกถึงลักษณะวัฒนธรรมและสังคมเฉพาะตัว เช่น ในความสัมพันธ์เชิงเจนเดอร์ในทั้งประเทศสอง ยังคงเป็นวัฒนธรรมที่มีชายเป็นใหญ่ แม้ว่าต่างจะมีกฎหมายรับรองความเท่าเทียมอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ผลกระทบของวัฒนธรรมและประเพณีต่ออำนาจที่ชายมีเหนือหญิง และรูปแบบของอำนาจ มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย บริบทท้องที่เหล่านี้ เมื่อปฏิสัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็จะปรากฏออกมาในรูปแบบและลักษณะเฉพาะต่างๆ นานา
ข้อมูลหลักสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ มาจากผลงานของ International Reproductive Rights Research Action Group (IRRRAG) ที่เก็บโดยองค์กรในแต่ละประเทศในประเด็น สุขภาวนามัยเจริญพันธุ์ (เก็บระหว่าง 1994-1995) และในประเด็น ความรับผิดชอบของเพศชาย (2000-2001) มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นสองประเทศที่ได้ร่วมโครงการนี้ ในฟิลิปปินส์ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงโสดและแต่งงานแล้ว (278 ราย) จากครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ (subsistence areas) ซึ่งส่วนน้อยเป็นแม่เรือนหรือช่วยงานในไร่นา ส่วนใหญ่หารายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบ ส่วนมากเลี้ยงหมูที่หลังบ้าน มีร้านขายของชำ ขายอาหาร หรือซักผ้า ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีการศึกษาเพียงขั้นประถม ในมาเลเซีย มีผู้ตอบหญิง 71 ราย ล้วนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้งสาม ผู้หญิงในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ มีทั้งแม่เรือน ทำงานนอกบ้าน เช่น โรงงาน ไร่ขนาดใหญ่ งานนอกระบบ เช่น พิมพ์ผ้าบาติก และหาบเร่ตามถนน หรือทำงานในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร หรือทำความสะอาด สำหรับการศึกษาเรื่องความรับผิดชอบของเพศชาย ผู้ตอบในฟิลิปปินส์ 223 ราย มีทั้งหญิงและชายที่เป็นโสดและแต่งงานแล้ว ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงานและชุมชนชาวเรือกสวนไร่นา หลายคนมีการศึกษาถึงขั้นมัธยม ผู้ตอบที่เป็นโสดส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา หญิงแต่งงานแล้วจากชนบทและชุมชนชั่วคราวจะดูแลบ้าน ทำงานในไร่และเลี้ยงหมูหลังบ้าน หรือค้าขายหาบเร่/แผงลอย ในขณะที่ผู้หญิงในเมืองทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก ชายที่แต่งงานแล้ว มีทั้งที่ทำงานในไร่นาหรือประมง ในเศรษฐกิจนอกระบบ หรือในโรงงานอุตสาหกรรมส่งออก มีบางคนว่างงาน ในจำนวนผู้ตอบชาวมาเลเซีย 174 ราย จากครอบครัวชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์และชาวอินเดีย ที่ทำงานในไร่เกษตรธุรกิจ มีจำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นกลางมาเลย์ อินเดีย และจีน (ดังนั้น ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง จึงเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างน้อย) ในการศึกษาเรื่องความรับผิดชอบของเพศชาย ผู้ตอบชาวอินเดียที่มีรายได้ต่ำในชนบท ทำงานในสวนยางหรือสวนปาล์ม ในขณะที่ชาวมาเลย์ชนบท จะทำไร่พืชเศรษฐกิจ ส่วนมากเป็นข้าวและยาสูบ ชาวอินเดียเมืองอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างในโรงงาน กรรมกร หรือผู้ให้บริการ คนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย นับได้ว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของคนจนเมือง พอๆกับคนมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ในชนบทที่เป็นแรงงานราคาถูกในไร่ธุรกิจเกษตร ผู้ตอบชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มีการศึกษาอย่างน้อยขั้นมัธยม วิธีการเก็บข้อมูล คือ การสนทนากลุ่มเจาะจง (focus group discussion) ตามด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึก เพื่อบันทึกชีวประวัติ และสำรวจต่อไป เอกสารจากการศึกษาวิจัยและสำรวจอื่นๆในประเทศทั้งสอง ได้ใช้เป็นเอกสารประกอบข้อมูลหลักดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ดิฉันได้ใช้วิธีสัมภาษณ์ต่อหน้า และวิธีการเขียนถาม-ตอบด้วยในมาเลเซีย
ทัศนคติและพฤติกรรมทางเพศในมาเลเซีย และฟิลิปปินส์: บางหัวข้อ
ทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ หัวข้อเรื่องชายชาตรีและความเป็นชาย ถูกครอบงำด้วยความคิดเกี่ยวกับ ความสามารถในการแพร่พันธุ์ ความแข็งแรง อำนาจ และการควบคุมบังคับในความสัมพันธ์ต่างเพศ ในขณะที่ความเป็นหญิง ก็เต็มไปด้วยเรื่องของการสยบยอม และการเอาใจใส่ทะนุถนอม ความคิดเหล่านี้ เป็นตัวนิยามว่าใครมีสิทธิ์ในการประเวณี สิทธิ์ในการเพลิดเพลินกับกามสุข และสิทธิ์ในความซื่อตรงต่อคู่สมรส
ความเป็นใหญ่ของชายในสังคม แสดงออกด้วยการวางอำนาจในปริมณฑลของเพศสัมพันธ์ ชายมีอิสระมากมายกว่าในการแสดงออกทางเพศ และก็มีสิ่งสนับสนุนทางสังคมมากมายกว่าสำหรับเพศวิถีของชาย ชายยังคงมีอภิสิทธิ์ในเรื่องเพศ ในขณะที่หญิงยังคงอยู่ในตำแหน่งด้อยโอกาสทางวัฒนธรรมในแง่สิทธิ์ของเพศปฏิบัติ และการมีความสุขทางเพศ ในมาเลเซีย ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่ได้ลดทอนความเป็นใหญ่ของชาย แม้ว่าจะปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ธรรมชาติถูกใช้เป็นข้ออ้างสนับสนุนอภิสิทธิ์ทางเพศของชาย ในมาเลเซีย ศาสนาเป็นข้ออ้างเพิ่มเพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับชายมุสลิม ในขณะที่คนเชื้อสายอินเดียและจีนจะอ้างวัฒนธรรม
มาตรฐานสองระดับชนะ ในเกือบทุกแง่มุมของพฤติกรรมทางเพศ มาตรฐาน คือ ชายถูกหญิงผิด ชายเป็นเพศอภิสิทธิ์ในเกือบทุกด้านของวัฏจักรทางเพศ จะร่วมประเวณีเมื่อไร กับใคร อย่างไร และแบบไหน ชายยังมีอภิสิทธิ์ในชีวิตเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่ชายเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการใช้ยาคุมกำเนิด ชนิดไหน และเมื่อไรจึงใช้ และจะมีลูกกี่คน
วาทกรรมในประเทศทั้งสองแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของชายและหญิงเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีของตนเองและของคนอื่น ถูกปรุงแต่งโดยความหมายที่ต่างกันของเพศวิถีของเพศหญิงและเพศชายอย่างไร วาทกรรมของชายในเรื่องเพศสัมพันธ์จะเต็มไปด้วยความรู้สึกทางกาย เช่นความพึงพอใจ ความสุขสม และราคะตัณหา ในขณะที่วาทกรรมของหญิง จะเต็มไปด้วยความรักและความใกล้ชิดสนิทสนม
หัวเรื่องความอ่อนแอของหญิงต่อการครอบงำของชาย เป็นเรื่องที่กล่าวถึงซ้ำๆ กันในวาทกรรมของทั้งสองประเทศ การข่มเหงคู่สมรส ตั้งแต่การทุบตีหญิงถึงความเจ้าชู้ การบังคับให้ร่วมประเวณี กามปฏิบัติที่ไม่พึงปรารถนา และการแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้กลายเป็นโรคร้ายในความสัมพันธ์ทางเพศ การถูกสามีทุบตี เป็นเรื่องที่ผู้หญิงร้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตสมรส ความรุนแรงนี้ ยังครอบคลุมข้ามรุ่น เกิดขึ้นได้ทุกวัย
แม้ว่านี่จะเป็นการพูดแบบรวมๆ เรื่องเหล่านี้ก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันในหลากหลายลักษณะที่มีความขัดแย้งกันเองในตัว บางครั้งก็ตอกย้ำกัน ความเป็นใหญ่ของชายและความเป็นชายชาตรีดำเนินไปพร้อมกับการประนีประนอมหรือไม่ประนีประนอม การท้าทายและการยืนหยัดจะมีทั้งในระดับส่วนบุคคลและในระดับสถาบัน การกดขี่เพศหญิงมีอยู่แพร่หลาย และบางครั้งก็ถูกทำให้เกิดความชอบธรรม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถูกประลองและต่อต้านด้วย
ความขัดแย้งในตัวเองเหล่านี้ ได้ดำเนินไปอย่างไรภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์?
งานศึกษาในทศวรรษ 1970 และ 1980 เกี่ยวกับผู้หญิงในอุตสาหกรรมการผลิตส่งออกในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ได้เผยจุดตัดเฉพาะระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมทางเพศ (Ong, 1987; Ariffin, 1994; Snow, 1977) งานจ้างรายวันสำหรับหญิงย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง แม้จะเป็นงานลำบากที่พวกเธอจะถูกปลดออกง่าย ได้ค่าแรงต่ำและถูกกดขี่แรงงาน ก็ได้ให้อิสรเสรีทางสังคมและทางเพศระดับหนึ่งแก่พวกเธอ การอาศัยอยู่ห่างไกลจากบ้านและมีค่าแรงอิสระ ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ มีพื้นที่ของตัวเอง พวกเธอจึงไม่ค่อยคิดที่จะกลับไปอยู่กับครอบครัวของตนในชนบท ผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกว่าที่บ้านเกิด พวกเธอจะถูกชุมชนควบคุมพฤติกรรมทางสังคมและทางเพศมากกว่า พวกเธอจึงตีราคาสูงสำหรับอิสรภาพใหม่ทางสังคมที่ได้รับ แม้ว่าในมาเลเซีย หญิงมุสลิมที่ทำงานมักจะถูกนักการศาสนาตำหนิว่าออกไปทำงานห่างไกลจากบ้าน
หลังจากโครงการศึกษานี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในทั้งสองประเทศ ความแตกต่างที่เคยโดดเด่นระหว่างเมือง-ชนบทในหมู่ผู้หญิง ได้เลือนหายไป เพราะส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงพื้นที่เมืองง่ายขึ้น สื่อสารมวลชนก็ได้ช่วยลบล้างเส้นแบ่งชุมชนออก ในมาเลเซีย การแต่งงานแบบคลุมถุงชนก็เกือบกลายเป็นเรื่องในอดีตเช่นเดียวกับการแต่งงานเด็ก (Jones, 1981) ทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ อายุตอนเข้าสมรสได้เพิ่มสูงขึ้น จะเห็นได้ชัดในหมู่ประชากรเชื้อสายมาเลย์ในมาเลเซีย (Jones, 1981; Low et al., 1994; Xenos et al., 1999) ยังผลให้โอกาสการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสเพิ่มสูงขึ้นด้วย ในหลายประเทศ มีการระบุสาเหตุของการแต่งงานล่าช้าขึ้น เช่น ผู้หญิงมีการศึกษาดีขึ้น การเคลื่อนที่ ๆ คล่องตัวขึ้น และอิสรภาพทางเศรษฐกิจ
พรหมจารีและเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรส ยังเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้หญิง (แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ชาย) ในระดับต่างๆ ในทั้งสองประเทศ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของชายและหญิงต่อประเด็นนี้ ในฟิลิปปินส์ ชายและหญิงส่วนใหญ่ยังเห็นว่าพรหมจารี (สำหรับหญิง) เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้ชายก็ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสของหญิงมากขึ้น พอๆ กับที่ผู้หญิงก็ยอมรับพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าค่านิยมในเรื่องพรหมจารีได้ลดความสำคัญลง ในมาเลเซีย พรหมจารียังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนมาเลย์ชนบทและคนเชื้อสายอินเดีย แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่สำคัญแล้วสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาและอาศัยอยู่ในเมือง ชาวเมืองเชื้อสายจีนให้คุณค่ากับเรื่องนี้น้อยที่สุด (Wong Yut Lin et al., 2003; Yusof et al., 1984)
ในภาคปฏิบัติ อัตราของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสในหมู่ผู้หญิงและผู้ชาย ยังห่างกันมาก คนส่วนใหญ่ยอมรับพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส แต่สำหรับชายเท่านั้น และนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากพฤติกรรมของชาย ในมาเลเซีย ชายส่วนใหญ่ยืนยันว่า เด็กชายจะก้าวขึ้นเป็นผู้ชายเต็มตัวก็ต่อเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง ส่วนเพศวิถีของผู้หญิง แม้จะยังเวียนว่ายอยู่กับเรื่องความรักและการแต่งงาน ก็เริ่มมีการแสดงออกมากขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสตั้งแต่ความสนิทชิดเชื้อจนถึงการร่วมประเวณี การขยายโอกาสการศึกษา ชีวิตเมือง และการอ้าแขนรับอิทธิพลสื่อตะวันตก ได้นำไปสู่การแสวงหาและทดลองเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นในหมู่หญิงและชายในทุกชนชั้นในฟิลิปปินส์ ในมาเลเซีย มีพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่คนเชื้อสายอินเดียและมาเลย์ ทั้งๆ ที่หลักศาสนาอิสลามสั่งให้หญิงและชายอยู่แยกกัน การเปลี่ยนแปลงดูเหมือนจะเกิดขึ้นน้อยที่สุดในหมู่คนเมืองเชื้อสายจีน ผู้ไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนทำให้พวกเขามีกิจกรรมเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสในอัตราสูงกว่ากลุ่มอื่น ในมาเลเซีย อัตราการตั้งครรภ์ในหมู่วัยรุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ชาติพันธุ์
ยังไม่มีการศึกษาหรือบันทึกมากพอที่จะสรุปได้แน่ชัดว่า การแสวงหาและทดลองเพศสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ จะลงเอยที่การแต่งงานหรือไม่ และอย่างไร ผลการศึกษาของ IRRRAG ได้แค่ชี้บอกลาง ๆ ว่า ชายและหญิงได้ทำการต่อรองในการมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไรในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว
ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ผู้ตอบชายยอมรับรู้ถึงความต้องการทางเพศของผู้หญิง เพราะถ้าเขาปฏิเสธความรู้สึกดังกล่าวของฝ่ายหญิง ก็จะทำให้การร่วมประเวณีนั้นเป็นการข่มขืน ผู้ชายยังยอมรับสิทธิ์ของผู้หญิงที่จะเพลิดเพลินในกามสุขกับตน ชายอินเดียในมาเลเซียฝากคำเตือนสำหรับสิทธิ์ดังกล่าว ความเพลิดเพลินนี้จะต้องไม่มากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้หญิงใจแตก ส่วนผู้หญิงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็รับรู้ถึงสิทธิในกามสุขของตน สำหรับผู้หญิง มีการยอมรับถึงเรื่องราคะสัมผัสทางกาย แต่พวกเธอก็ขอร้องให้ผู้ชายอย่างน้อยพยายามเพิ่มการพูดคุยและความสนิทสนมใกล้ชิดในความสัมพันธ์นั้นด้วย ยกตัวอย่าง พวกเธอต้องการให้มีบทโรแมนติกและการประเล้าประโลม (อย่างที่เห็นกันในภาพยนตร์และสื่อมวลชน) เพื่อว่าการร่วมประเวณีจะไม่ใช่แค่การสอดใส่อวัยวะเพศหรือข่มขืน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิในการริเริ่มหรือปฏิเสธการร่วมเพศนั้นหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องต่างหาก ในฟิลิปปินส์ ทั้งหญิงและชายได้ขยายความต่อเรื่องการเริ่ม (เช่น ผู้หญิงจะเป็นคนเริ่มได้ต่อเมื่อกระทำกับสามี) และอย่างไร ผู้ชายยอมรับรู้ถึงความต้องการทางกามารมณ์ของหญิงแต่งงานแล้ว แต่มีข้อแม้ว่า พวกเธอจะต้องแสดงออกด้วยวิธีของผู้หญิงโดยบอกเป็นนัยๆ ว่าต้องการ โดยทั่วไป ผู้หญิงรู้สึกละอายที่จะเป็นฝ่ายเริ่ม และถ้าพวกเธอเป็นฝ่ายเริ่ม ก็จะพูดเกริ่นอ้อมๆ แทนที่จะพูดตรงๆ ในมาเลเซีย ดูเหมือนผู้หญิงจะกล้าใช้สิทธิ์ของตนมากกว่า (ยกเว้นหญิงมุสลิมมาเลย์) ผู้ชายส่วนใหญ่ (ยกเว้นชายมาเลย์บางคน) จะให้สิทธิ์นี้แก่ผู้หญิง (มีข้อแม้ว่าจะต้องทำกับคู่สมรสของตนเท่านั้น) แม้ว่าพวกเขาจะบอกว่า ผู้หญิงคงจะไม่ใช้สิทธิ์นี้ ผู้ชายคิดเองว่า ผู้หญิงชอบให้ผู้ชายเป็นฝ่ายเริ่ม ผู้หญิงมาเลย์บางคนบอกว่า ศาสนาของพวกเธอได้ให้สิทธิ์พวกเธอในการพูดขอในทำนองเดียวกับวัฒนธรรมของชาวจีนและชาวอินเดีย ถึงอย่างไรก็ตาม ชายอินเดียบางคนไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเริ่ม ด้วยถือว่าเป็นพฤติกรรมของโสเภณี หรือเป็นการคุกคามความเป็นชายชาตรีของตน
ประเด็นที่ว่าผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเริ่มประเวณีกิจได้หรือไม่นั้น แม้ว่าต้องมีการขยายความต่อไป แต่ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงในการปฏิเสธการร่วมประเวณีนั้นไม่ต้องขยายความเลย ในประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมาเลย์และชาวอินเดียในมาเลเซีย ทั้งหญิงและชายเห็นว่า กามกิจเป็นทั้งหน้าที่และข้อผูกมัดในการสมรส และสำหรับผู้หญิง ย่อมหมายความว่า ผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิ์จริงจังใดๆ ที่จะปฏิเสธ ชายมาเลย์รู้สึกว่า ศาสนาอิสลามได้ให้สิทธิ์ที่จะร่วมประเวณีกับภรรยาของเขา และภรรยาไม่สามารถปฏิเสธได้ (และผู้หญิงก็ได้พูดย้ำอีกว่า มันเป็นสิทธิ์ของผู้ชาย เพราะอิสลามบอกว่า การปฏิเสธสามีนั้น เป็นบาป) ผู้หญิงทั้งมาเลย์และอินเดียมักจะยืนยันความเชื่อในสิทธิของสามีที่จะสั่งให้ตนร่วมกามกิจจนเป็นที่พอใจของเขา ในฟิลิปปินส์ แม้ว่าผู้หญิงบางคนจะเห็นว่ากามกิจเป็นข้อสัญญาผูกมัด พวกเธอก็ยังรู้สึกว่า มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ แต่ผู้หญิงก็ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิ์อันนั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ชายเองก็บอกว่าผู้หญิงปฏิเสธได้ แต่ก็ย้ำว่าพวกเธอจะต้องมีเหตุผล “ที่ดีพอ” ผู้ชายทั้งหมดในสองสังคม เห็นว่าพวกเขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเรือนร่างของผู้หญิง ถึงกระนั้น ผู้ชายคนเดียวกันก็บอกว่า ผู้หญิงไม่ควรถูกบังคับให้ร่วมประเวณีกับตน ความจริงคือ ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใช้กำลังขืนใจ เพราะการข่มขู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็มากพอแล้ว เช่น ถ้าเขาไม่ได้เสพสม เขาก็จะไปหาผู้หญิงอื่น หรือฟ้องหย่า การตื่นตัวรับรู้กฎหมายลงโทษการข่มขืนในประเทศทั้งสอง ได้ช่วยลดการข่มขู่ดังกล่าว ซึ่งมีผลพอๆ กับการเปิดรับความคิดตะวันตกเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายในหมู่ชายในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีการศึกษาสูงในหมู่ชาวจีนในมาเลเซีย
ความรุนแรงในคู่สมรสเกิดขึ้นบ่อย ถึงกระนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่ตอบว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะตบตีภรรยา แม้ว่าหลายคนจะบอกว่า มีสิทธิ์ที่จะสั่งสอน ชายมุสลิมอ้างว่า ศาสนาของเขาอนุญาตให้พวกเขาดุด่า หรือดัดนิสัยภรรยาได้ ในขณะที่บางคนบอกว่า ศาสนาอนุญาตให้เขาตบตีได้ แต่พวกเขาก็บอกว่า แม้จะมีสิทธิ์ตบตี ก็ไม่ควรใช้สิทธิ์นั้น เหตุผลคือ ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอมากกว่าการที่เขาเคารพในเพศหญิง กล่าวคือ ผู้หญิงสู้กลับไม่ได้ ชายอินเดียหลายคนอ้างว่า เมื่อไรที่อำนาจและความเป็นชายของเขาถูกคุกคาม เช่น เมื่อภรรยาเกิดโอหัง (“เพราะว่าเธอทำงานมีรายได้”) “ขบถ” หรือเถียงกลับ ย่อมเป็นการสมควรที่สามีจะตบตีได้ เหตุผลหนึ่งที่ถูกอ้างบ่อยๆ เพื่อรองรับความชอบธรรมที่สามีกระทำรุนแรงต่อภรรยาได้ คือ เมื่อภรรยาปฏิเสธ หรือไม่สามารถทำให้สามีสมอยากในกาม ดังนั้น ความรุนแรงจึงเป็นการยืนยันสิทธิ์ของชายที่จะเสพกามให้สาสมใจได้ สำหรับชายมุสลิม การที่ภรรยานอกใจเป็นสิ่งยั่วยุให้เขากระทำรุนแรง ข้ออ้างส่วนใหญ่เหล่านี้ที่แสดงถึงความชอบธรรมของการกระทำรุนแรงในชีวิตสมรส ได้รับการยืนยันจากผู้ชายในฟิลิปปินส์ ทั้งๆ ที่ความรุนแรงในคู่สมรสเป็นอาการของความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจระหว่างเพศ และของสังคมหนึ่งๆ ที่เห็นว่า ความรุนแรงเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้ง ผู้ชายในฟิลิปปินส์บอกว่า พวกเขาตบตีผู้หญิงเมื่อพวกเขาเมา หรือเกิดโทสะเพราะภรรยา “บ่นค่อนแคะ” แต่ในที่สุด ก็เพราะว่าพวกเขาทำได้ ผู้หญิงในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ได้ส่งเสียงประท้วงบ่อยๆ เรื่องการถูกขืนใจ และการประทุษร้ายทางกายในรูปแบบต่างๆ ในชุมชนของพวกเธอ และพวกเธอได้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงเหล่านั้น ความตื่นตัวรับรู้กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในคู่รักในหมู่ผู้ชายจำนวนไม่มากในทั้งสองประเทศ ได้ช่วยลดปริมาณการกระทำรุนแรง แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิ์ทางกฎหมายดังกล่าว
นอกจากการประทุษร้ายทางกายแล้ว ผู้หญิงได้พูดถึงการประทุษร้ายทางอารมณ์จิตใจ ในทั้งสองประเทศ ผู้หญิงหลายคนแสดงความรู้สึกเฉยเมย หรือไม่ชอบใจอย่างเห็นได้ชัดในความไม่สามารถของพวกเธอที่จะได้รับความสุขสมทางกายและทางอารมณ์จากการฝันเปียกหรือการร่วมประเวณี ในทั้งสองประเทศ ผู้หญิงจะสนองตอบด้วยความรู้สึกเย็นชา หงุดหงิดรำคาญ รวมทั้งความรู้สึกอดสู เมื่อสามีใช้วิธีที่ไม่ต้องอารมณ์รุกเร้าบังคับให้ร่วมประเวณี หรือปฏิบัติต่อเธอในกามกิจ และวิธีที่สามีขู่ว่าจะไปมีเมียน้อย ผู้หญิงทุกคนในทั้งสองประเทศ ในทุกๆ ชาติพันธุ์ ล้วนต้องการให้ผู้ชายเคารพในเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอ สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่เหล่านี้ กามกิจเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวด กังวล และทุกข์ระทม มากกว่าความสุขสม กลุ่มผู้ชายในเมืองที่มีการศึกษาสูงกว่าในทั้งสองประเทศยอมรับว่า การนอกใจเป็นการประทุษร้ายทางอารมณ์อย่างหนึ่ง
การนอกใจ ยังคงเป็นอภิสิทธิ์ของชาย และส่วนใหญ่ปฏิบัติโดยผู้ชายแม้ว่าผู้ชายทั้งหมดจะยอมรับว่า นี่เป็นเรื่องผิดศีลธรรมจรรยา ในทั้งสองประเทศ ผู้หญิงพูดว่า การขาดความเชื่อถือในความซื่อสัตย์ของสามีต่อคำปฏิญาณตอนแต่งงาน เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดที่สุด มันเป็นเรื่องที่เจ็บไปถึง “วิญญาณ ความรู้สึก และหัวใจ” ถึงกระนั้น พวกเธอก็รู้สึกว่า จะต้องอดทนต่อไป เพราะพวกเธอไม่มีทางเลือกมาก ทั้งในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ผู้ชายโทษธรรมชาติและโทษผู้หญิง ที่ทำให้พวกเขานอกใจ เบื้องต้น การนอกใจเป็นผลของธรรมชาติของเพศชายที่ไม่สามารถควบคุมราคะจริตของตน และการที่ภรรยาไม่สามารถหรือไม่ยินยอมที่จะทำให้เขาได้สำเร็จความใคร่ ความเชื่อที่ว่า เป็นธรรมชาติของเพศชายที่จะมีตัณหาราคะสูงกว่า เป็นเรื่องที่ถูกรับรองกันในทุกวัฒนธรรมและชนชั้นในทั้งสองประเทศ ถึงขนาดที่ว่า ความใคร่ของเพศชายจะต้องได้รับการบำบัดทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เพื่อป้องกันไม่ไห้เกิดการข่มขืน ข้ออ้างนี้มองว่าการข่มขืนเป็นกามกิจหนึ่ง ไม่ใช่การกระทำรุนแรง ในฟิลิปปินส์ บรรดาสามีก็อ้างว่าไม่เพียงแต่ภรรยาของเขาผลักไสให้เขาไปหาหญิงอื่น แต่ผู้หญิงอื่นต่างหากที่เป็นฝ่าย “อ่อยเหยื่อ”ยั่วยุให้เขาติดกับ ในทำนองเดียวกัน ชาวอินเดียก็มีภาพพจน์ของผู้หญิงว่าเป็น แม่ยั่วเมือง หรือ แม้แต่ผู้หญิงเองก็เห็นตัวเองว่ามีราคะจริตที่แรงหรือมากกว่าชายเสียอีก ในหมู่ชาวอินเดียและมาเลย์ ความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงมีราคะจริตที่แรงกว่า ได้ทำให้พวกเธอยอมรับว่า พวกเธออาจแสวงหาคู่ขาอื่น ถ้าสามีของพวกเธอไม่สามารถทำให้พวกเธอสำเร็จความใคร่ได้
การนอกใจของผู้หญิง แม้จะเป็นจำนวนน้อยกว่ามาก ก็กำลังเพิ่มขึ้นในทั้งสองประเทศ ในมาเลเซีย รายงานจากหน้าหนังสือพิมพ์แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นจริง ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นอัตราการขยายตัวของการนอกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้หญิงทำงานวิชาชีพในทุกชาติพันธุ์ จากการสำรวจในฟิลิปปินส์ พบว่าผู้หญิงที่นอกใจแม้จะมีจำนวนน้อย ก็มีนัยสำคัญ (Natividad, 2004) แต่ตัวเลขนี้ได้มาจากการจับได้คาหนังคาเขา ในฟิลิปปินส์ คาดได้ว่าสามีจะ—และภรรยาเองก็คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น—ฆ่าภรรยาของตนถ้าเธอนอกใจ
สำหรับคู่สมรสในทั้งสองประเทศ ทางเลือกเมื่อเกิดการนอกใจและความรุนแรงขึ้น คือ การแยกทาง ฟิลิปปินส์ห้ามการหย่าร้าง อันเป็นผลจากศาสนาคริสต์ ทำให้หญิงและชายเลือกเดินทางนี้ไม่ได้ ผู้หญิงจำต้องอดทนต่อภาวะนี้ หรือแยกกันอยู่ โดยไม่สามารถอาศัยรัฐให้ช่วยรับรองว่าสามีจะยังคงเลี้ยงดูตนหรือลูกๆ ได้ มาเลเซียอนุญาตให้ทั้งคู่สมรสมุสลิมและคู่ที่ไม่ใช่มุสลิมหย่าขาดจากกันได้ แต่ขั้นตอนทางวัฒนธรรมและกฎหมาย ล้วนลำเอียงไปที่ชาย ในหมู่มุสลิม ผู้ชายฟ้องหย่าได้ง่ายกว่าผู้หญิง เพราะขั้นตอนสำหรับผู้หญิงฟ้องหย่านั้นยุ่งยากกว่ามาก หญิงจีนที่หย่าร้างกลายเป็นหญิงมีมลทิน และจะหาคนแต่งงานใหม่ได้ยาก ในหมู่ชาวอินเดีย วัฒนธรรมของเขาไม่ยอมรับการหย่าร้าง ผู้หญิงจึงจำต้องก้มหน้าทนอยู่กับชีวิตแต่งงานที่ไร้สุข
ผู้หญิงเกือบทั้งหมดในทั้งสองประเทศ หวังที่จะมีสิทธิ์ในการควบคุมภาวะเจริญพันธุ์และการใช้ยาคุมกำเนิด เพราะว่าพวกเธอต้องทนกับความเจ็บปวดและการคลอดบุตรยาก รวมทั้งภาระรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก ผู้หญิงหลายคนได้พูดว่า สามีส่วนใหญ่ถือสิทธิและวางอำนาจในเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเป็นชายและเป็นหัวหน้าครอบครัว การวางอำนาจนี้ เป็นลักษณะของการตัดสินใจว่าภรรยาของตนควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดใด แต่ไม่พูดถึงการคุมกำเนิดวิธีไหนสำหรับตัวเขาเอง
ดังนั้น ประเด็นไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่มันเกี่ยวพันกับการที่ชายเป็นใหญ่ การใช้ถุงยางอนามัย เป็นการแสดงถึงสิทธิทางเพศสัมพันธ์ของชาย ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ทางเลือกในการคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง รวมทั้งเป็นการป้องกันการติดต่อกามโรค ถึงกระนั้น ในประเทศทั้งสอง ผู้ชายปฏิเสธที่จะใช้มัน ด้วยเหตุผลที่ว่า มันกีดขวางกามสุขของเขา และผู้หญิงก็ทำอะไรไม่ได้ อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการสุมหัวระหว่างความรุนแรงและการครองอำนาจของเพศชายในทั้งสองประเทศ คือ ผู้ชายบางคน จะเก็บปัญหากามโรคของตนไม่ให้ภรรยารู้ แทนการเสี่ยงต่อความขัดแย้งในชีวิตสมรส
บริบทกว้างทางสังคมและเศรษฐกิจ
การอภิปรายต่อไปนี้ จะเป็นการสาธิตให้เห็นถึงลักษณะเด่นของการเมืองเชิงเจนเดอร์ ในทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ก็จะชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวของมันเอง และความไม่กลมกลืน--การสึกกร่อนของมาตรฐานบางอย่างเกี่ยวกับกามารมณ์ การที่ฝ่ายหญิงต้องอดทนต่อการนอกใจของชาย ความไม่มั่นคงของหญิง ความกังวลของชาย และอื่นๆ—และความโยงใยของเพศวิถีกับบริบทกว้างของอุดมการณ์และชีวิตทางวัตถุนิยม เพศสภาพและเพศวิถี ฝังตัวอยู่ในกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับชุมชน ประเทศ และโลก ในบริบทกว้าง ได้เผยให้เห็นว่า ในขณะที่การครอบงำของชายในบางรูปแบบจะมีความคงที่ ยังมีตัวแปรสามตัวที่โดดเด่นออกมา และแม้ว่ามันจะเกี่ยวพันกัน ต่างก็สามารถวิเคราะห์แบบแยกจากกันได้ นั่นคือ กระแสพลังศาสนา-รัฐ ชนชั้นทางสังคม และการปรุงแต่งอุดมการณ์ (ในมาเลเซีย ชาติพันธุ์จะเกี่ยวดองกับตัวแปรทั้งหมด) ขอยกสามกรณีที่แสดงถึงจุดตัดของตัวแปรทั้งสามนี้
ในกรณีแรก ด้วยเหตุผลที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดูเหมือนว่าผู้หญิงในทั้งสองประเทศ ล้วนสนับสนุนผู้ชาย/สามีของตน บ่อยครั้งด้วยการลดค่าของความเท่าเทียมทางเจนเดอร์ เมื่อเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจทำให้ฐานะทางชนชั้นของตนสั่นคลอน ในประเทศทั้งสอง ในขณะที่บทบาทเมียและแม่ของผู้หญิงเป็นลักษณะเด่น ถ้าไม่ใช่ถือว่าสูงสุด และยังคงเป็นตัวกำหนดความเป็นเพศหญิงและความเป็นผู้ใหญ่ของผู้หญิง การแสดงออกมีรูปแบบที่ต่างกันไปตามชนชั้น ในฟิลิปปินส์ จะเห็นความไม่แน่ใจในตัวผู้หญิงในกรณีที่หารายได้ๆ มากกว่าผู้ชาย หรือผู้หญิงที่เลี้ยงครอบครัว งานและรายได้ของพวกเธอได้คุกคามความเป็นชายของสามีที่ตกงานของพวกเธออย่างไร และพวกเธอต้องระมัดระวังตัวแค่ไหน ที่จะไม่เผลอแสดงอำนาจเหนือสามี (Women-health, 2003) ภาพพจน์ของชายที่บกพร่องหรือหาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำลายความรู้สึกอย่างยิ่งสำหรับชายชนชั้นแรงงาน และในฟิลิปปินส์ ผู้หญิงตระหนักในข้อนี้ดี จึงเลือกที่จะไม่ท้าทายเพศวิถีของชาย แต่อดทนต่อการนอกใจของสามี ไม่ดึงดันให้เพศชายเป็นฝ่ายคุมกำเนิด ยอมร่วมประเวณี และไม่ใช้สิทธิ์ในการปฏิเสธ การว่าจ้างผู้หญิง โดยข้ามหัวผู้ชาย ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่แรงงานราคาถูกล้นตลาด ไม่ได้ยังให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว—เรื่องเพศและอื่น ๆ สำหรับผู้หญิง ในฟิลิปปินส์ ไม่สามารถเน้นมากเกินไป ในเรื่องชนชั้น และความอ่อนแอของภาครัฐ เพราะมีเพียงครอบครัวที่ยากจนและชนชั้นแรงงานเท่านั้น ที่ผู้ชายตกงานเป็นจำนวนมาก และมีผู้หญิงเป็นผู้หากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่รอดได้ ดังนั้น ผู้หญิงจึงดูเหมือนจะให้ความสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจ—ปัจจัยสี่ และการดำรงชีพในครัวเรือน (และคงจะรวมถึงการจุนเจือทางอารมณ์จิตใจที่ได้จากครอบครัว)—มากกว่าผลประโยชน์ทางเพศสภาพ หรือ เพราะ ความยากจน ผู้หญิงจึงไม่สามารถสนใจเรื่องอื่นนอกจากการต่อสู้กับความยากจน จึงทำให้ความไม่เท่าเทียมเชิงเจนเดอร์ กลายเป็นเรื่องน่าห่วงใยน้อยกว่าสำหรับพวกเธอ ถึงกระนั้น หญิงแต่งงานแล้วหลายคนที่ทำงานอยู่ในระบบใหม่ ก็ไม่สามารถ หรือไม่ยินดีที่จะยืนหยัดในเพศวิถีที่ตนเลือก การศึกษาของ IRRRAG ได้ชี้ให้เห็นว่า มีผู้หญิงจำนวนหนึ่ง ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าได้เลือกวิถีที่แตกต่าง หรือมีพฤติกรรมที่ต่างออกไป บางคนอาจเรียกการแสดงออกและพฤติกรรมเหล่านี้ว่า เป็น “เสียง” ที่อุบัติขึ้นใหม่ การต่อต้าน หรือการทวนกระแส การต่อต้านเหล่านี้ ได้พบแรงสนับสนุนในขบวนการเคลื่อนไหวสตรี ที่รวมผู้หญิงจากชนชั้นต่างๆ
สถานการณ์ในมาเลเซีย เกี่ยวพันกับชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว การฟื้นตัวของศาสนาอิสลาม และการสนับสนุนของภาครัฐในการแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกับกระแสตะวันตก แม้ว่า “การแผ่อิทธิพลของลัทธิอิสลาม” (Islamization) (Othman, 1994; Stivens, 1996; Ong, 1995) และกลไกรัฐ ที่ถูกพรรครัฐบาลครอบงำ จะวุ่นอยู่กับการถกเถียงในเรื่องอิสลามและความทันสมัย พวกเขาก็ได้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ชาย ในการจัดสรรให้ร่างกายของผู้หญิงเป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการส่วนตัวหรือการเมือง โครงการทางการเมือง คือ การปฏิเสธ “ค่านิยมตะวันตก” และอะไรก็ตามที่เป็นภัยต่อพรหมจารีของผู้หญิง
ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ สื่อมวลชนที่.ใฝ่ไปทางวัฒนธรรมบริโภคนิยมตะวันตก กำลังทำให้ความเป็นสาวพรหมจารีกลายเป็นใบสั่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับศาสนาว่า เป็นเรื่องล้าสมัย โลกาภิวัตน์ ได้มองเห็นว่าอิทธิพลของศาสนากำลังผุกร่อนดั่งเดือนดับ ในฟิลิปปินส์ที่ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมคาทอลิก และในมาเลเซียที่อิสลามได้คืนชีพ แต่เราไม่สามารถดูถูกอิทธิพลของศาสนา เราได้เห็นแล้วว่า คริสตจักรคาทอลิกได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในกิจกรรมของรัฐ ในฟิลิปปินส์ ส่วนในมาเลเซีย การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม ได้นำไปสู่การแผ่อิทธิพลของลัทธิอิสลาม ที่เรียกร้องให้รัฐที่เป็นฆราวาส หรือตั้งบนฐานของสิทธิ ให้อ่านคัมภีร์อิสลามและตีความใหม่ การควบคุมเพศวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศวิถีของเพศหญิง เป็นประเด็นเด่นที่ศาสนาเหล่านี้กังวลยิ่ง
การควบคุมตรวจตราโดยศาสนา รัฐ และผู้ปกครอง ผุดขึ้นมาเป็นป้อมปราการต่อสู้กับการบุกรุกของวัฒนธรรมวัตถุนิยมและโลกาภิวัตน์ที่มีพลังมหาศาล ที่มีผลกระทบแรงที่สุดต่อเยาวชนและคนหนุ่มสาว แน่นอน การมีสินค้ายั่วยุขายกลาดเกลื่อน การเข้าถึงได้ง่าย และการปรุงแต่งกามให้เป็นงานศิลปะที่ปลุกเร้า หรือเพลินอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถบริโภคได้ในเมืองหรือในชนบทของมาเลเซียและฟิลิปปินส์ เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า กามเป็นเรื่องเด่นในชีวิตประจำวันของเยาวชน ในมาเลเซีย รัฐได้สนับสนุนกระแสศาสนา เช่น การมี “ตำรวจศีลธรรม” (Morality police) กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีกลไกบังคับแยกเพศหญิงและเพศชายออกจากกัน ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติตามคำบัญญัติในศาสนาอิสลามเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมทางเพศในหมู่ชาวมุสลิม
ในขณะเดียวกัน มีผู้หญิงมุสลิมมาเลย์ชนชั้นกลางหลายคน ที่สนับสนุนการรักนวลสงวนตัวเพื่อรักษาความเป็นสาวบริสุทธิ์และสิทธิ์ของผู้ชายในการเป็นเจ้าของร่างกายของผู้หญิง พวกเธอกล่าวว่าการเป็นแม่ศรีเรือน เป็นบทบาทที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงแล้ว การกระทำเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้ตั้งตัวอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับผู้ชายของพวกเธอ รัฐ และศาสนาในนามของ “อัตลักษณ์อิสลามแห่งชาติ” เพื่อที่จะพังทลายสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการจู่โจมที่ “ไม่พึงปรารถนา” ของ “กระแสตะวันตก” ยุคหลังอาณานิคม ซึ่งมาพร้อมกับความคิดเรื่องเสรีนิยม แต่การกระทำเช่นนี้ ก็พอๆ กับการผลิตซ้ำ หรือตอกย้ำเส้นแบ่งชนชั้น และธำรงไว้ซึ่งความน่าเคารพของชนชั้นกลาง ซึ่งก็คล้ายๆ กับการยอมรับคำจำกัดความของภาครัฐ ที่กำหนดบทบาทของผู้หญิง การลุกขึ้นมาปกป้องโดยมีผู้หญิงชนชั้นกลางเป็นหลัก ต่อความเชื่อที่ว่า ชัยภูมิของหญิงคือในเรือน (female-place-is-in-the-home) และก็เพื่อเป็นการสงวนพรหมจรรย์ของผู้หญิงนี้ เป็นการขานรับคำประกาศของรัฐที่เรียกให้สงวนรักษาอัตลักษณ์ของชาติ แต่ความมั่งคั่งของชาติที่ผู้หญิงชั้นกลางเหล่านี้ได้ใช้อย่างเพลิดเพลิน งอกเงยจากแผ่นหลังของพฤติกรรมที่ถูกกล่าวร้ายว่า เป็นความ “สำส่อนทางเพศ” ของเหล่าผู้หญิงชนชั้นแรงงาน—ผู้หญิงมุสลิมมาเลย์ที่ถูกจ้างในโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในเขตอุตสาหกรรมการค้าเสรี (Ong, 1987) ในมาเลเซีย ผู้หญิงชนชั้นกลางในทุกชาติพันธุ์ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้บรรยากาศที่จำกัดสิทธิทางการเมือง กำลังลุกขึ้นต่อต้านและไม่ยอมสยบต่อศาสนาและรัฐ ที่ให้นิยามและจำกัดสิทธิ์ของผู้หญิงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเพศวิถี
กรณีที่สอง จุดเชื่อมระหว่างการสืบสายพันธุ์ (procreation) และปัจจัยทางวัตถุ ซึ่งโยงไปถึงประเด็นประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หมายความว่า พฤติกรรมทางเพศและการเจริญพันธุ์ ได้กลายเป็นจุดเพ่งเล็งของรัฐ ในด้านหนึ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้เชื่อมการคุมกำเนิดให้เป็นทางออกจากบ่วงความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรส่วนใหญ่ รัฐได้ทั้งส่งเสริมและยับยั้งการเผยแพร่การใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด โดยปล่อยให้ศาสนาครอบงำนโยบายสาธารณะ หรือการปฏิบัติทางการเมือง แนวโน้มที่หลากหลายของโลกาภิวัตน์ ได้ยั่วยุให้คริสตจักรคาทอลิก เร่งกำลังการรุกครองพื้นที่ทางการเมือง เพื่อให้บรรลุความต้องการที่ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยการเกลี้ยกล่อม การปะทะกันระหว่างศาสนาและเพศวิถี ไม่ได้ชัดแจ้งไปกว่าประเด็นการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ตนจะสามารถคุมกำเนิดได้ เมื่ออุปกรณ์คุมกำเนิดถูกห้ามใช้ หรือไม่อนุญาตให้ขายในท้องตลาด จึงมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิงชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนและแรงงาน ก็หญิงชายกลุ่มนี้แหละ ที่ต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างการทำให้เกิดลูกเพื่อพิสูจน์ความเป็นชายชาตรีกับความจำกัดของทรัพยากรในครัวเรือน ความยากจนนี้จึงทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสภาวะที่เปราะบางต่อการถูกบังคับให้ร่วมประเวณี และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เมื่อชายนั้นไร้ทรัพย์สมบัติที่เหมาะสมอื่นใด มีแต่ปริมณฑลเดียวที่เหลืออยู่คือ เพศสัมพันธ์ (Pagaduan, 1988)
ในมาเลเซีย นโยบายประชากรใหม่ (New Population Policy) ที่ประกาศใช้ในปี 1984 ภายหลังโครงการส่งเสริมการวางแผนครอบครัว มีวัตถุประสงค์เด่นชัดเพื่อส่งเสริมการมีลูก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประชากรมุสลิมมาเลย์ เพื่อสร้าง “ฐานผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม” ในขณะที่นโยบายนี้ ดูเหมือนจะสำเร็จเพียงเล็กน้อย เพราะว่าอัตราการเกิดในทุกชาติพันธุ์ลดต่ำลงเรื่อยๆ มันมีผลกระทบทางอุดมการณ์และทางจิตวิทยา คือ ตอกย้ำว่า บทบาทเบื้องต้นของผู้หญิง คือ อยู่ในเรือน ผลิตลูก และเลี้ยงลูก อันนี้ทำให้เกิดความคิดขัดแย้ง ความรู้สึกผิด และสับสน ในหมู่ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกรอบความคาดหวังนี้ (Raj, et al, 1998)
กรณีที่สาม ขณะที่ความเชื่อเรื่อง การเป็นเมียและแม่ ยังคงเป็นตัวการในการนิยามอัตลักษณ์ของผู้หญิงและเพศหญิงในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ความสัมพันธ์ทางเพศกับชาย ก็ยังคงเป็นจุดศูนย์กลางในคำนิยามเหล่านี้ เช่น คุณค่าของผู้หญิง ในการเป็นสิ่งมีชีวิตทางเพศ ผู้ให้กำเนิด ผู้ดูแลลูกอ่อน เป็นคำที่ครอบงำการถกเถียงเรื่องเพศหญิง-เพศชายทั้งในฟิลิปปินส์และในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ชาวอินเดียและมาเลย์ ยกตัวอย่าง ชายมุสลิม จะพูดถึงร่างกายของผู้หญิงในแง่ของมดลูก มากกว่าความเป็นบุคคล ชายยังคงนิยามตนเองว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนหญิงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อเด็กๆ แม้ว่าตัวภรรยาเองก็ต้องทำงานที่มีรายได้นอกบ้าน ในมาเลเซีย ความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นแม่ และดังนั้น การยอมสยบด้านเพศสัมพันธ์ต่อสามี รัฐ และอิสลาม เป็นเรื่องที่รัฐให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่หญิงมุสลิม ให้เป็นค่านิยมในตัวของมันเอง และเป็นพาหะในการเพิ่มพูนประชากรให้เป็นฐานแรงงานการผลิตและฐานการบริโภค ที่เป็นผลพวงของโครงการรัฐในการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว อันที่จริง มาตรการบางประการเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในมาเลเซีย ได้เป็นแรงกระตุ้นให้หวนกลับไปเน้นเรื่องผู้หญิงในครัวเรือน ในฟิลิปปินส์ ศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ถึงบทบาทเบื้องต้นของผู้หญิง ในการผลิตลูก และดูแลครอบครัว แต่สำหรับครอบครัวส่วนใหญ่ที่ยากจนและเป็นชนชั้นแรงงาน พวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะเก็บผู้หญิงให้อยู่เหย้าเฝ้าเรือน อุดมการณ์ของความเป็นแม่ การเป็นแม่ไก่ดูแลเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด เป็นไปได้สำหรับชนชั้นกลางเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นยากจน แรงงาน หรือชั้นกลาง ผู้หญิงยังคงต้องพึ่งชายเพื่อให้ “บรรลุ” ความเป็นเพศหญิง และชะตากรรมของการเป็นแม่ ตราบที่ครอบครัวยังตอกย้ำมาตรฐานของการเป็นแม่ และผู้หญิงยังมองเห็นตัวเองว่าต้องเล่นบทนี้เป็นอันดับแรก ผู้หญิงก็จะทำทุกอย่างที่จะรักษาสถานภาพการแต่งงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ทางเพศ ดังนั้น ผู้หญิงในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ เห็นว่าความเจ้าชู้—แม้จะเป็นการแสดงออกถึงอภิสิทธิ์ของชาย—เป็นเรื่องที่ผู้หญิงบางคนต้องยอมทน ด้วยความเชื่อที่ว่า ความเจ้าชู้ เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชายโดยกำเนิด มันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความเป็นชาย ที่จะต้องปลดเปลื้องอารมณ์ความต้องการทางเพศ—ถ้าตัดความเจ้าชู้นี้ทิ้ง ก็เป็นการตัดความเป็นชายชาตรีไปด้วย ความเจ้าชู้ หรือ เสือผู้หญิง เป็นแรงกระตุ้นธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ มันเหมือนกับการดื่มเหล้ามากเกินไป ดังนั้น การท้าทายเพศวิถีของชาย จึงเป็นการกัดกร่อนหนทางที่จะนำผู้หญิงให้บรรลุอัตลักษณ์ของความเป็นหญิงด้วย
สรุป
กล่าวโดยย่อ ในบริบทที่กว้างขึ้น จะเห็นได้ว่า ในด้านหนึ่ง โลกาภิวัตน์ภายใต้กรอบของตลาดและการบริโภค ได้ให้คำนิยามใหม่กับความเชื่อในเรื่องเพศวิถี และได้สร้างความชอบธรรมในเรื่องสิทธิในการแสดงออกเรื่องเพศสัมพันธ์ อีกด้านหนึ่ง มันก็เร่งให้เกิดปัจจัยเชิงโครงสร้าง ภายใต้กระบวนการที่ซับซ้อน ในการกัดกร่อนอัตลักษณ์แห่งชาติ ความมั่นคงของงาน/อาชีพ ความเท่าเทียมเชิงเจนเดอร์ และศักดิ์ศรีของร่างกาย ในบริบทกว้าง ก็ได้ชี้นำว่าแนวการปฏิบัติทางเศรษฐกิจ และแนวการปรุงแต่งทางอุดมการณ์ที่อยู่เหนือแนวอื่น ล้วนผลิตและจำกัดรูปแบบ ขอบเขต และพลังของการท้าทาย ที่เกิดขึ้นในตัวเอง ทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลทั้งเหมือนกันและต่างกัน ความเชื่อเรื่องสิทธิ์ในเพศสัมพันธ์ และการยืนหยัดถือสิทธิ์นี้ ยังไม่แพร่หลายนัก
โดยสรุป ผลการศึกษานี้ ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ทางเพศใน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ได้ผนวกรวมเรื่องความไม่สมดุลเชิงอำนาจในมิติเพศสภาพ และชนชั้นทางสังคมเข้าไว้ และในมาเลเซีย ก็รวมมิติชาติพันธุ์ไว้ด้วย ความแตกต่างในมิติเพศสภาพ สะท้อนถึงพลังของโครงสร้างและอุดมการณ์ และความไม่เท่าเทียมในเชิงอำนาจและการถือครองทรัพยากร ซึ่งต่างก็แสดงอาการออกมาในทางลบต่อความสามารถของเด็กหญิงและผู้หญิง ในการตัดสินใจเลือกวิถีเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ของตน ในมิติเพศสัมพันธ์ ได้รวมเรื่องความเหลื่อมล้ำทางพละกำลังทางกาย และการเข้าถึงทรัพยากรวัตถุและสังคม ส่วนใหญ่แล้ว เด็กหญิงและผู้หญิงมักจะไม่ค่อยสามารถควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตนด้านเพศสัมพันธ์—ต่อการที่ชายจะเข้าถึงเนื้อตัวของพวกเธอ และเงื่อนไขต่างๆ เมื่อมีการประเวณี หัวใจสำคัญของเพศสัมพันธ์ คือ ความสามารถของแต่ละคนที่จะเลือก การตั้งคำถามต่อทางเลือกก็เป็นเรื่องซับซ้อน ในหมู่ผู้หญิง โดยผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นการร่วมประเวณีอย่างสมัครใจ แต่ก็อาจเป็นผลจากความต้องการลึกๆ ตั้งแต่การเล่นตามบทเพศสภาพ ความจำเป็นที่ต้องพึ่งอาศัยทางเศรษฐกิจ จนถึงการหลีกเลี่ยงการถูกประทุษร้าย ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมีย จะอยู่ในสภาวะเสี่ยงและเปราะบางเสมอ ในเรื่องการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือกามโรค เพราะพวกเธอไม่สามารถควบคุมวิธีปฏิบัติกามกิจได้ นี่ก็ไม่ต่างจากส่วนอื่นในสังคมทั้งหมด มาตรฐานสองระดับทางเพศสัมพันธ์ ได้ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อกามโรค แม้แต่ในหมู่ภรรยาที่ซื่อสัตย์ ขอบเขตที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถกำหนดเงื่อนไขของการประเวณีได้นั้น จะเป็นตัวนิยาม ความสามารถของเธอในการที่จะได้เพลิดเพลินกับกามรส และป้องกันตนเองจากการถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ตนไม่ต้องการ จากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือจากโรคภัยที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
ผู้กำหนดนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจพึงตระหนักว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำเชิงเจนเดอร์ เป็นหนทางแก้ไขที่ยั่งยืนและระยะยาว ต่อปัญหาความเปราะบางทางเพศสัมพันธ์ของหญิง การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย และการเผยแพร่เอกสารเพศศึกษา เป็นวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็เป็นเพียงวิธีการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และป้องกันกามโรค ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น—แต่ก็เป็นได้แค่ที่พึ่งสุดท้ายของผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงแล้ว การรณรงค์ให้การศึกษาแก่ชายและหญิงในมิติเจนเดอร์ และการเมืองเชิงเพศวิถี และสำหรับผู้หญิง สิทธิ์ทางเพศสัมพันธ์และเจริญพันธุ์ จะให้ผลระยะยาวในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและอุดมการณ์ และช่วยให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นภัยต่อผู้หญิง เช่น สังคมควรจะเข้าใจว่า ความรุนแรงบนพื้นฐานเพศสภาพนั้น เป็นทั้งผลลัพธ์และสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย มันเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาสำคัญหนึ่งในด้านสาธารณสุข และก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคภัยต่างๆ การอยู่ดี (สุขภาวะ) ด้านเพศสัมพันธ์และเจริญพันธุ์ ไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่การปลอดจากโรคภัยเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการเป็นอิสระจากภาวะกดดันทางจิตใจและอารมณ์ อิสระจากการกระทำรุนแรงทางกายและทางเพศ อิสระจากการถูกจำกัดบทบาททางสังคม และอิสระจากความสัมพันธ์ที่ไม่เชิดชูสร้างสรรค์แก่กัน ถึงอย่างไรก็ตาม โครงสร้างที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำเชิงเพศสภาพและเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจ การเมือง ชาติพันธุ์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคมอื่นๆ ควรจะถูกขจัดให้หมดไปด้วย การปฏิรูปทางโครงสร้าง หมายถึง ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ระหว่างสุขภาพด้านเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงแต่ละคน กับประเด็นประชากรโลกและการพัฒนา ประชาคมโลกภายใต้ร่มสหประชาชาติ ได้ยอมรับว่า การยกสถานภาพของผู้หญิงให้ดีขึ้น เป็นเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งในตัวของมันเอง ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อยู่บนฐานของสิทธิพลเมือง การเปลี่ยนแปลงความไม่สมดุลในมิติเจนเดอร์ เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อพูดถึงเป้าหมายของการเพิ่มความเท่าเทียม ลดอัตราการเกิดของประชากร ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องตั้งครรภ์ถ้าไม่ต้องการ ลดการติดกามโรคและเอดส์ และปรับปรุงสุขภาพทางเพศสัมพันธ์และเจริญพันธุ์ ดังนั้น ความสัมพันธ์เหล่านี้ จะต้องมาก่อนเรื่องศักดิ์ศรีและความเป็นปัจเจกของสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย—สิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การบรรลุเป้าหมายของความยุติธรรมเชิงเจนเดอร์ (gender justice) ไม่ใช่แค่ตระหนักว่า ผู้หญิงสามารถจะตัดสินใจในด้านศีลธรรมจรรยาเกี่ยวกับเนื้อตัวและชีวิตของพวกเธอเองได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการเศรษฐกิจโลกและช่วยกำหนดนโยบายรัฐ ที่ตอบสนองต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและเพศสภาพได้ด้วย
/dt-
[1] “Globalization, Gender and Sexuality: Malaysian and Philippine Articulations” by Elizabeth Uy Eviota (API 2004/05), Lecturer, Department of Sociology and Anthropology, Ateneo de Manila University, The Philippines [2007, pp.98-106]
[2] ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายที่แสดงออกในความแตกต่างของบทบาท (หน้าที่) และสถานภาพ (สิทธิ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น