เรื่องเศร้าที่น่าหัวเราะของการเมือง
บทวิเคราะห์โดย มาริโอ โอซาวา
The Ironies of Politics
Analysis by Mario Osava
เรื่องเศร้าที่น่าหัวเราะของการเมือง คือ หลักการที่พรรคยึดถือ ที่มักจะขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติ ในระหว่างการเดินหมากต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่ง หรือบริหารอำนาจ การเลือกตั้งของบราซิล ซึ่ง ดิลมา รูซเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) ได้รับเลือกเป็นประธาธิบดีหญิงคนแรก เป็นตัวอย่างของความขัดแย้งนี้
พรรคสังคมประชาธิปไตยบราซิล (Brazilian Social Democratic Party, PSDB) ที่พ่ายแพ้ กลับลำชิดขวา ทั้งๆ ที่ผู้ลงสมัครเป็นลูกหม้อหัวซ้าย นั่นคือ โฮเซ เซอร์รา อดีตผู้นำนักศึกษาที่เนรเทศตัวเองหลังจากทหารปฏิวัติในปี 1964 และ ผู้ตั้งพรรคที่มีชื่อเสียงกว่า หรือ อดีตประธานาธิบดี เฟอร์นานโด เฮนริคเก คาร์โดโซ
พรรค PSDB ก่อตั้งขึ้นในปี 1988 เป็นพรรคเอียงซ้ายนิดๆ อยู่ระหว่าง PT หรือพรรคคนงานที่ยึดลัทธิสังคมนิยมแบบหัวรุนแรง และกระแสอนุรักษ์แบบดั้งเดิม พรรค PSDB ถูกมองว่าเป็นกระแสสู่ยุคใหม่ เป้าประสงค์ในยุคแรกประการหนึ่ง คือ จัดตั้งระบอบรัฐบาลในรูปแบบรัฐสภาในบราซิล ซึ่งตอนนั้นถูกปฏิเสธจากประชามติ
เมื่อ คาร์โดโซ—มีชื่อเล่นว่า “เจ้าชายของนักสังคมวิทยาทั้งหลาย”—ได้เป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ 1965 ถึง 2003 รัฐบาล PSDB ก็ยอมจำนนกับความคิดทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่นิยม (ประชานิยม) และยอมรับนโยบายเสรีนิยมใหม่ การแปรทรัพย์สินของชาติให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว และรัฐวิสาหกิจให้เป็นธุรกิจเอกชน กลายเป็นป้ายใหญ่ของคาร์โดโซ และพรรค PT ซึ่งขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน ได้ฉวยโอกาสที่ประชาชนไม่พอใจกับมาตรการนี้
ในทางกลับกัน เมื่อผู้ลงสมัครของพรรค PT ลูอิส อินอซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2002 และ 2006 พรรคก็ได้ขยับไปสู่กลางเอียงซ้าย สู่อุดมคติของสังคมประชาธิปไตย (ideals of social democracy)
ลูลาได้ปรับลำดับความสำคัญของนโยบาย—และขยายมาตรการบางอย่างของอดีตผู้นำอย่างมหาศาล—ส่งผลให้ถอนประชาชน 20 ล้านคนออกจากปลักความยากจน ขยายพื้นที่ชนชั้นกลาง และสร้างงานในระบบ 14 ล้านตำแหน่ง
การแยกขั้วของพรรคทั้งสอง คือ แต่ละพรรคมีฐานเสียงกว้างขวางมาก ได้บังคับให้พรรค PSDB สร้างพันธมิตรกับภาคส่วนที่อนุรักษ์นิยมสุดๆ เช่น ดีโมแครต (Democrats กลางเอียงขวา) ซึ่งเป็นชื่อใหม่สำหรับ แนวหน้าเสรี (Liberal Front) ที่มีนักการเมืองร่วมรัฐบาลเผด็จการในช่วง 1964-1985
ในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้งเร็วๆ นี้ ลูลา สามารถอาศัยความเป็นผู้นำยอดนิยมของเขา ถ่ายโอนคะแนนเสียงที่สนับสนุนเขาให้ รูซเซฟฟ์ การลงสมัครของ เซอร์รา ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขวา รวมทั้ง คาธอลิคและนักเผยแพร่ศาสนาอนุรักษ์นิยม (conservative Catholics and Evangelicals) การรณรงค์ที่ใส่ร้ายป้ายสี รูซเซฟฟ์ บนอินเตอร์เน็ต และในโบสถ์ ได้ใช้เรื่องการทำแท้งและศีลธรรมเป็นประเด็นหลัก
ดังนั้น PSDB ได้ขยับจุดยืนไปที่ขวา เล่นบทที่เหมือนกับพวกอนุรักษ์นิยมในระบบสองพรรค ในขณะเดียวกันก็สลัดต้นตอรากเหง้า หรือความคิดเชิงการเมืองของสมาชิกพรรคหลายๆ คนทิ้ง
ลูลาและพรรค PT ก็ใช่ว่าจะปลอดจากการแปรพักตร์ ในตอนแรก พรรค PT รณรงค์หาเสียงในฐานะเป็นแชมเปี้ยนเชิงจริยธรรม แต่ทุกวันนี้ ถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของการคอรัปชั่น ในความเห็นของสาธารณชนส่วนใหญ่ อันเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวต่างๆ ที่สั่นคลอนการบริหารในระดับชาติ รัฐ และเทศบาล
กรณีอื้อฉาว "mensalão" (การจ่ายเงินก้อนประจำเดือน) ในปี 2005 พัวพันถึงรัฐมนตรีและผู้นำพรรค PT ผู้ถูกกล่าวหาว่า ติดสินบนนักกฎหมายเพื่อซื้อคะแนนเสียง ข่าวอื้อฉาวนี้ เกือบล้มรัฐบาลของลูลา เมื่อตัวประธานาธิบดีเอง ถูกขู่ว่าจะถูกฟ้องร้อง
ความผิดดังกล่าว มีส่วนทำให้ รูซเซฟฟ์ สอบตกในการลงคะแนนรอบแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม อย่างที่ ลูลาเองก็สอบตกในปี 2006
ก่อนทศวรรษ 1990 พรรค PT ถูกมองว่าเป็นพรรคใหญ่ที่มี “อุดมการณ์” ในบราซิล แต่ในคราบรัฐบาล มันได้กลายเป็นนักปฏิบัติ นั่นคือ ผูกมิตรกับพวกหัวหน้าใน “ระบอบคณาธิปไตย” เก่า (old "oligarchs") เช่น อดีตประธานาธิบดี โฮเซ ซาเมย์ (José Sarney, 1985-1990) และรับลูกนโยบายเศรษฐกิจที่อนุญาตให้นายธนาคาร “ทำกำไรอย่างไม่เคยทำได้มาก่อน” ดังที่ตัวลูลาเองยอมรับ
เซอร์รา ยืนอยู่บนทางแยกระหว่างความเชื่อ/อุดมการณ์ส่วนตัว และตำแหน่งปัจจุบันที่พรรคของเขาได้สวมหัวโขนให้ เขาจึงกลายเป็นคนคลุมเครือ สายตาของเขาเล็งไปที่การเลือกตั้งตามพิธีการ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับลูลา นักประชานิยม
ผู้ลงสมัครของพรรค PSDB ไม่ได้ปกป้อง รัฐบาลคาร์โดโซ และมาตรการออกนอกระบบ และเขาได้ให้สัญญาว่า ในอดีต เขาคงจะถูกวิจารณ์ว่าเป็น “ประชานิยม” เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทันที 17.6% และการเพิ่มเงินค่าครองชีพประจำเดือน ที่ครอบครัวยากจนนับล้านได้รับจาก Bolsa Familia ซึ่งเป็นโปรแกมหลักของรัฐบาลลูลา ในการถ่ายโอนเงินอย่างมีเงื่อนไข
สำหรับ รูซเซฟฟ์ ในยามสาว เธอได้นำกลุ่มติดอาวุธต่อสู้ในช่วงทศวรรษ 1960 ด้วยเป้าประสงค์ในการยึดอำนาจ และปฏิวัติให้บราซิลกลายเป็นรัฐสังคมนิยม ตามแบบการปฏิวัติในคิวบา
เสียงวิจารณ์ต่อ “การผจญภัย” ของเธอนั้น ตั้งคำถามต่อบทบรรยายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งมักถูกใช้ในทุกวันนี้ เพื่อกล่าวถึงหนุ่มสาวที่เสี่ยงชีวิตและถูกทรมาน หรือฆ่าตายในสงครามสั้นๆ ที่ไม่เท่าเทียมกัน
ชัยชนะของรูซเซฟฟ์สู่ตำแหน่งประธานาธิบดี และของอดีตผู้ก่อการกบฏต่างๆ สู่ตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลและพรรคต่างๆ ในลาตินอเมริกา รวมทั้ง PSDB ได้เชิดชูชื่นชมประวัติศาสตร์ช่วงนั้นของเหล่าผู้ต่อต้านรัฐบาลยุคนั้น ซึ่งในขณะนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับความตั้งใจเชิงทฤษฎีของพวกเขาเลย และก็ห่างไกลจากแนวคิดประชาธิปไตย
พวกเขาเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ต่อสู้กับเผด็จการอย่างไม่ยอมประนีประนอม ด้วยวิธีการสู้แบบหัวชนฝาต่อการกดขี่ของระบอบในเวลานั้น ที่ริดลอนเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิอื่นๆ
พวกเขายอมเอาตัวเข้าเสี่ยงทุกอย่าง และหลายร้อยคนก็เสียชีวิตเพื่อเป้าหมายที่พวกเขายึดมั่น รูซเซฟฟ์ได้รับมรดกซีกประชาธิปไตยของความพยศปฏิวัตินั้น
ในฝรั่งเศส กองกำลังต่อต้านนาซีของเยอรมัน ได้รักษาเกียรติภูมิของชาติไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการให้ความร่วมมือกลายเป็นกฎ แม้ว่าการเคลื่อนไหวนั้น จะเป็นเพียงส่วนน้อย และถูกบงการเบ็ดเสร็จจากนักสู้คอมมิวนิสต์ ที่รับคำสั่งจากมอสโคว์
แต่บางที ตัวอย่างร่วมสมัยที่ดีที่สุดของความขัดแย้งระหว่าง หลักการทางการเมืองและปฏิบัติการในชีวิตจริง คือ ประเทศจีน ที่พรรคคอมมิวนิสต์ กำลังก่อสร้างอำนาจทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้
dt/11-10-10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น