วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เจนเดอร์และการพัฒนาสู่สังคมเป็นธรรม


สังคมเป็นธรรมได้
ถ้านโยบายมีมิติหญิงชาย
Gender Justice and Development Policy
ดรุณี ตันติวิรมานนท์ เรียบเรียง / 10-14-10


เวทีโลกรับรองสิทธิสตรี แต่การพัฒนาของไทยยังเมินมิติหญิงชาย
1
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ : ศักราชใหม่สู่การพัฒนาที่มีมิติหญิงชาย

ในบทความนี้

รัฐบาลและนโยบาย

        พันธสัญญา รัฐบาล-พลเมือง
1
ประชาธิปไตยและสตรีนิยม
2
นโยบายสังคมและสตรีนิยม

        นโยบายสังคม: นิยาม
2
มุมมองของนักสตรีนิยมต่อนโยบายสังคม
3
นโยบายและทฤษฎีของการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development)

        สู่ความมั่งคั่งที่ไม่มั่นคง : วาระซ่อนเร้น
3
สตรีนิยมวิพากษ์: จาก สตรีในการพัฒนา
    สู่มิติหญิงชายกับการพัฒนา
3
แผนและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

         การพัฒนาแบบกล่องๆ
4
         สู่โลกาภิวัตน์:
            การเมืองเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง
5
การพัฒนาสู่ความไม่มั่นคงของมนุษย์ :
   เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงในสังคมไทย

ผลกระทบด้านลบร่วมและต่างต่อ
    หญิงและชาย
5
              - หนี้สินพอกพูน และสูญเสียที่ทำกิน
                ความรุนแรงทางเพศ
6
      - ทางออก: ย้ายถิ่น...
        การเอาเปรียบทางเพศ
6
นโยบายอื่นๆ
6
            ภาวะผู้นำของผู้หญิงในยามวิกฤต...
                ศักยภาพและ ความเป็นแม่
7
ความมั่นคงของผู้หญิง
   เป็นหัวใจของความมั่นคงมนุษย์
8
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
8
ภาคผนวก

1. การเคลื่อนไหวของสตรีโลกและ
    การมีส่วนร่วมของประเทศไทย
10
2. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
    (ตัวอย่างจาก FAO)
12
3. ความมั่นคงของมนุษย์-สิทธิมนุษยชน-
    การพัฒนามนุษย์
15



เวทีโลกรับรองสิทธิสตรี แต่การพัฒนาของไทยยังเมินมิติหญิงชาย
ผู้หญิงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก ได้เรียกร้องความเป็นธรรมในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในพื้นที่สาธารณะร่วมกับชายมานานกว่า 100 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ ประเด็นผู้หญิงได้เป็นที่ยอมรับพอสมควรในประชาคมโลก เช่น การมีปฏิญญาปักกิ่ง (1995 / พ.ศ. 2538) และปฏิญญาสหัสวรรษ (2000 / พ.ศ. 2543) ที่รับรองสิทธิของผู้หญิงในการพัฒนาเท่าเทียมกับชาย และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (1979 / พ.ศ. 2522)  แต่เสียงของผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรากหญ้า ก็ยังติดอยู่ที่ชายขอบ และนโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็ยังขาดมิติหญิงชาย

เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ : ศักราชใหม่สู่การพัฒนาที่มีมิติหญิงชาย
ในโอกาสการเปิดตัวของ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553  ได้มีการเชิญผู้นำหญิงจากทุกภาคส่วนและจังหวัดของประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมสมองในหัวข้อ “ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม  อันเป็นแนวทางหนึ่งของเครือข่ายฯ ในการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการปฏิรูปฯ ต่างๆ   จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้เสียงของหญิงไทยในทุกระดับได้ยินไปถึงผู้กำหนดนโยบายโดยตรง 
เพื่อช่วยให้การระดมสมองเกิดเป็นกระบวนทัศน์ที่เป็นประโยชน์ บทความนี้ เสนอกรอบคิดแสดงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายที่ขาดมิติหญิงชาย ผลกระทบ และข้อคิดแนวสตรีนิยมเพื่อร่วมหาทางออกในการกำหนดนโยบายสังคม เช่น การจัดสวัสดิการ การศึกษา และการบริการสุขภาวะที่มีมิติหญิงชาย  และนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การจัดสรรและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   จึงหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมเสวนาในกลุ่มย่อยในการหาคำตอบว่า  นโยบายที่มีมิติหญิงชายเหล่านี้เป็นอย่างไร? และมีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมในสังคมโดยรวมอย่างไร? และจะทำอย่างไรร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะเกิดนโยบายและปฏิบัติการที่เป็นธรรมได้ในสังคมไทยทุกวันนี้?

ในบทความนี้
บทความนี้เริ่มต้นด้วยการสาธยายโดยสังเขปถึงพันธสัญญาระหว่างรัฐกับพลเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับนโยบาย  จากนั้นจึงเข้าสู่นโยบายสังคม และนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นที่ของการพัฒนาตามแผนชาติทุกๆ 5 ปี ตั้งแต่ 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นต้นมา  ในแต่ละส่วนจะผนวกคำวิพากษ์จากสตรีนิยม และภาคประชาสังคมอย่างคร่าวๆ

รัฐบาลและนโยบาย
            พันธสัญญา รัฐบาล-พลเมือง
            รัฐชาติ เกิดจากแนวคิด/จินตนาการของเหล่าชายนักคิดยุโรป ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม  รัฐและประชาชน/พลเมือง ในอาณาเขตที่แน่นอนมีข้อตกลงแบ่งอำนาจหน้าที่กัน และตกผลึกเป็นระบอบประชาธิปไตย  ตามทฤษฎีนี้ อำนาจเป็นของประชาชน/พลเมืองทั้งปวง แต่ส่งมอบให้รัฐบาลด้วยการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารกลไกรัฐ  ผู้แทนพลเมืองจึงเป็นผู้ถืออำนาจจริง ส่วนพลเมืองเป็นอำนาจในกระดาษ (รัฐธรรมนูญ) ผู้แทน/รัฐบาลมีหน้าที่ให้บริการคุ้มครอง (สงเคราะห์ผู้อ่อนแอกว่า) ปกครอง (รักษาระเบียบ ความสงบ ความยุติธรรม) และปกป้อง (จากภัยคุกคาม/รุกราน)  เพื่อปฏิบัติหน้าที่นี้ รัฐต้องมีรายได้ ส่วนใหญ่มาจากภาษีเก็บจากพลเมือง  จึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองในการเสียภาษี และเชื่อฟัง ปฏิบัติตามกฎหมายที่ผู้แทน/รัฐบาลได้บัญญัติขึ้น  นอกจากนี้ เพื่อหารายได้ รัฐยังมีสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติทั้งปวงภายในอาณาเขตที่จะจัดสรร ลงทุน เปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม  ส่วนประชาชน/พลเมือง ก็มีสิทธิส่วนบุคคลและในที่ดินทำกิน/อยู่อาศัยของตน ฯลฯ และเสรีภาพในการประกอบอาชีพสุจริต เหล่านี้เป็นต้น

ประชาธิปไตยและสตรีนิยม
            เนื่องจากนี่เป็นความคิดของผู้ชายเป็นใหญ่ ที่เห็นว่าชาติ หรือประเทศเป็นเพศหญิง (ภาษาอังกฤษจะเรียกประเทศ เป็น she) ผู้หญิงจึงไม่อยู่ในห้วงคิดว่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการปกครอง ตัวเอง ได้  นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นักคิดผู้หญิงในยุคนั้น เริ่มก่อตัวเป็น สตรีนิยม ที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกับชายในโครงสร้างประชาธิปไตย   สตรีนิยมจึงเป็นคู่แฝดที่เป็นหญิงของประชาธิปไตยที่เป็นแฝดที่เป็นชาย (เกิดในยุโรป) ผู้หญิงได้ดิ้นรนต่อสู้จนได้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง  ลงสมัครเลือกตั้ง และเป็นผู้แทนพลเมืองในที่สุด ในช่วงเวลาการต่อสู้เกือบร้อยปี

นโยบายสังคมและสตรีนิยม[i]
            นโยบายสังคม: นิยาม
ในคำนิยามของ รัฐชาติ รัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายสังคม ให้ความสนับสนุนทางสวัสดิการแก่พลเมืองของตน  แต่วิธีการให้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจว่าสังคมมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในแต่ละประเทศ   โดยทั่วไปนโยบายสวัสดิการทางสังคมกำหนดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมชนชั้น เชื้อชาติ และเพศ   Fiona Williams[ii] อธิบายว่า ในทางปฏิบัติ นโยบายสังคมยึดถือค่านิยมหลักของสังคมในสามมิติ คือ ครอบครัว อาชีพการงาน และชาติ  
v    ในมิติของ ครอบครัว  นโยบายส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ครอบครัวหนึ่งๆ มี ชาย-หญิง (สามีภรรยา) และ ลูกๆ    นโยบายสังคมจึงมักเป็นการให้บริการสวัสดิการสำหรับเด็ก  การดูแลเด็กเล็ก การศึกษาเด็ก   สำหรับประเทศที่มีสมมติฐานว่า ผู้ชาย/สามี เป็นผู้หารายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัว และการแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องถาวร และผู้หญิงไม่ต้องทำงานนอกบ้าน  ถ้าเกิดครอบครัวเพี้ยนจากต้นแบบนี้ ก็จะถูกลงโทษ เช่น กรณีแม่เลี้ยงเดี่ยว  แต่สังคมก็มีอาการไม่คงเส้นคงวา เช่นยอมรับพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ (การเที่ยวซ่อง) แต่จะไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส/แต่งงาน เป็นต้น
v    ในมิติของ อาชีพการงาน  ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองทางสังคมในยามตกอับ เช่นตกงาน ป่วย และชรา   จะต้องประวัติการทำงานที่มั่นคง   ส่วนคนงานที่หัวแข็งและออกนอกลู่นอกทางเช่น ประท้วง หรือถูกไล่ออก จะถูกลงโทษ คือ ไม่มีสิทธิ์รับการคุ้มครองนี้
v    ในมิติของ ชาติ  ระบบส่วนใหญ่จะกีดกันคนต่างด้าว  และมีกฎเกณฑ์มากมายสำหรับผู้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศ ถ้าต้องการได้รับสิทธิประโยชน์หรือการบริการต่างๆ  คนย้ายถิ่นเข้ามามักจะถูกกระทำ หรือให้บริการไม่ดีพอเพราะเห็นว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง
นักสตรีนิยมได้เพิ่มมิติทางเพศ ในนโยบายสังคม  โดยอ้างว่า บทบาทหรือความคาดหวังทางสังคมที่แตกต่างกันต่อเพศหญิงและเพศชาย  เป็นตัวกำหนดโอกาสหรือทางเลือกที่ต่างกันแก่หญิงและชาย   การเข้าใจระบบการแบ่งแยกบทบาทที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจในพื้นที่สาธารณะระหว่างหญิงชาย (Gender Divisions) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายสังคม   ทั้งนี้เพราะประเด็นที่กระทบต่อผู้หญิง เป็นส่วนหนึ่งของวาระที่นโยบายสังคมต้องแก้ไข  และ เพราะประเด็นหลักของสวัสดิการสังคม เช่น ความยากจน สุขภาพ และชราภาพ ล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางบทบาทและอำนาจระหว่างหญิงชายในสังคม หรือ เจนเดอร์
นักสตรีนิยมได้วิจารณ์ว่า นโยบายสวัสดิการสังคมมีความลำเอียงในมิติหญิงชาย   Jane Lewis[iii] ชี้ให้เห็นรายละเอียดปลีกย่อยในต้นแบบหลักของสวัสดิการ ที่สมมติเอาว่า ผู้หญิงเป็นผู้อาศัยรายได้จากผู้ชาย  Lewis แยกแยะและยกตัวอย่างรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1.       Strong 'male breadwinner' model  คือ มีชายที่แข็งแรงหาเลี้ยง และเหมาว่า รายได้ของหญิงเป็นรองของชาย เป็นรูปแบบที่ใช้ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์
2.       Modified model  มีการปรับปรุงแก้ไข ให้สถานภาพพิเศษแก่ผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับการเป็นมารดา  เป็นรูปแบบที่ใช้ในฝรั่งเศส
3.       Weak male breadwinner model  ถือว่าชายอ่อนแอในการหาเลี้ยง จึงยอมให้ผู้หญิงเป็นผู้หาเลี้ยงหลักได้เหมือนผู้ชาย เป็นรูปแบบที่ใช้ในสวีเดน
นโยบายที่ตั้งขึ้นแบบเหมารวม และใช้สมมติฐานเกี่ยวกับสถานภาพของผู้หญิง ผลคือนโยบายนั้นมักจะตอกย้ำสถานภาพของหญิงให้ต่ำต้อยกว่าและต้องพึ่งพิงชาย  ในที่ๆ ไม่มีมาตรการพิเศษ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับการคุ้มครองต่ำกว่าที่พึงได้  หากพวกเธอไม่ได้มีรายได้บนพื้นฐานเดียวกับชาย    ความแพร่หลายในความไม่เท่าเทียมในค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงาน เป็น จุดบอดเชิงมิติหญิงชาย ที่รังแต่จะทำให้นโยบายการให้ความคุ้มครองทางสังคม ขยายความไม่เท่าเทียมให้มากยิ่งขึ้น

มุมมองของนักสตรีนิยมต่อนโยบายสังคม[iv]
สำนักคิดของสตรีนิยมมีสามค่าย คือ เสรีนิยม (Liberal) มาร์กซิสต์ (Marxist) และหัวรุนแรง (Radical)   ทั้งสามค่ายมีจุดร่วม คือ ต้องการให้มิติหญิงชายเป็นประเด็นหัวใจของนโยบายสังคม แม้จะมีวิธีคิดต่างกัน
v    สตรีนิยมเสรี เน้นสิทธิของผู้หญิงในฐานะปัจเจก  จะคัดค้านการกีดกันและการตอกย้ำภาพเหมารวม (discrimination and stereotyping)  และเรียกร้องความเท่าเทียม เช่น เคารพในศักดิ์ศรีและโอกาสระหว่างหญิงชาย   เสียงโต้แย้งที่คัดค้านการจำกัดโอกาส เช่น เรื่อง เพดานแก้ว ที่ขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพของผู้หญิง เป็นแนวทางของเสรีนิยม  พวกเธอแนะนำว่า ผู้หญิงควรจะได้รับผลประโยชน์จาก (โครงสร้างของ) ความไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับชาย
v    สตรีนิยมมาร์กซิสต์ เห็นว่า การกดขี่ผู้หญิงเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจในสังคม  ส่วนความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกมองว่าเป็นเรื่องของชนชั้น และความสัมพันธ์ในครัวเรือนเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีการผลิต   Heidi Hartmann[v] แสดงความเห็นว่า การ แต่งงาน ระหว่างลัทธิมาร์กซิสต์ และสตรีนิยม เป็นเหมือนกับที่ถูกพรรณาไว้ใน กฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ (English common law) นั่นคือ ลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิสตรีนิยมเป็นหนึ่งเดียว  และที่เป็นหนึ่งเดียวคือ ลัทธิมาร์กซิสต์
v    สตรีนิยมหัวรุนแรง  แย้งว่า สังคมถูกครอบงำโดยปิตาธิปไตย  อันเป็นโครงสร้างอำนาจที่ชายอยู่เหนือหญิง  ปิตาธิปไตย เป็น การเมืองเรื่องเพศ ที่ชายก่ออำนาจและธำรงการควบคุมบังคับ   การวิเคราะห์นี้ผสมผสานกับจุดยืนทางศีลธรรม ที่ว่า ผู้หญิงควรจะสามารถดำเนินชีวิตและกระทำการอย่างเป็นอิสระและพึ่งตนเองได้

นโยบายและทฤษฎีของการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development)
            สู่ความมั่งคั่งที่ไม่มั่นคง : วาระซ่อนเร้น
            สหประชาชาติประกาศให้ 1960-70 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาระหว่างประเทศ แต่ความตั้งใจดีที่จะช่วยพัฒนายกสถานภาพของประเทศด้อย/กำลังพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนา (ทางอุตสาหกรรม)  ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ คือ จากประเทศที่รวยกว่าสู่ประเทศที่จนกว่านี้ เป็นนโยบายคู่ขนานไปกับปฏิบัติการสงครามเย็น เพื่อปราบปรามหรือยับยั้งการแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต    พิมพ์เขียวการพัฒนาเศรษฐกิจโดยธนาคารโลก จึงเป็นด้านสว่างของดวงจันทร์ ส่วนที่อยู่ในเงามืด คือ การซื้อ-ขายอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งกำลังกองทัพของในอุษาคเนย์ (มีไทยเป็นฐานทัพสู้กับเวียดนาม)   แม้รัฐไทยจะมีรายได้จากภาษีพลเมืองไทย แต่ก็ไม่พอสำหรับการเร่งรีบพัฒนา ธนาคารโลกจึงยื่นมือให้กู้ยืมพร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทางเทคนิค    พิมพ์เขียวนี้ เป็นผลงานร่วมของนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์และเสนาธิการทหาร ซึ่งมีชายเป็นใหญ่เช่นเดิม จึงไม่มีความคำนึงถึงด้านสังคม  แต่สมมติเอาไว้ก่อนว่า เมื่อไรเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว เดินเครื่องได้แล้ว ทุกคนก็จะได้ประโยชน์กันหมด  แม้ว่าในตอนแรก บางภาคส่วนจะต้องเสียสละให้ภาคส่วนอื่นที่แข็งแรงกว่าให้เติบโตก้าวหน้า...จะได้หันมาช่วยคนข้างหลังที่อ่อนแอกว่าต่อไป
การประเมินผลการพัฒนาทั่วโลก (ที่สาม) ตอนสิ้นทศวรรษที่ 1 พบว่ามีความกระเตื้องของจีดีพีดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่ความยากจน และความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเร็วกว่า  ในทศวรรษที่ 2 จึงมีการคำนึงถึงการพัฒนาทางสังคม แต่เศรษฐกิจมหภาคยังเป็นหัวจักรนำตามพิมพ์เขียว เพียงแต่ขยับจากการนำเข้าและผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ (Import Substitution Industry, ISI)  เป็นการส่งออก (Export-oriented Industry, EOI)

สตรีนิยมวิพากษ์: จาก สตรีในการพัฒนา  สู่ มิติหญิงชายกับการพัฒนา
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจาณ์ในระดับโลก  นักสตรีนิยมก็ได้ลุกขึ้นเรียกร้องให้แก้ไขสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการพัฒนานี้ (ดูภาคผนวก 1) จนสหประชาชาติต้องประกาศช่วงปี 1975-85 เป็นทศวรรษสตรีที่ 1  และทำให้นานาประเทศสมาชิก ทั้งผู้ให้และผู้รับ ต้องบรรจุประเด็น สตรีในการพัฒนา” (Women in Development, WID) ในนโยบาย และแผนพัฒนาแห่งชาติของตน
แต่ WID ก็ถูกวงการสตรีนิยมที่ติดตามและประเมินสถานการณ์จริง วิจารณ์กันอย่างหนัก เป็นการถกเถียงกันระหว่างโลกที่ 1 และโลกที่ 3 ถึงทฤษฎีและปฏิบัติของ WID   ความจริงจึงค่อยๆ ประจักษ์ว่า ความก้าวหน้าของผู้หญิงไม่ใช่แค่เติมประเด็นผู้หญิงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพลงในนโยบายการพัฒนาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายด้วย  จึงทำให้เกิดการขยับแว่นจาก WID สู่ มิติหญิงชายกับการพัฒนา (Gender and Development, GAD) ในช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-)    แต่นั้นมา ก็มีการพัฒนาชุดการวิเคราะห์การพัฒนาในมิติหญิงชาย (Gender Analysis) และการบูรณาการมิติหญิงชาย (Gender Mainstreaming) เพื่อทำให้โครงสร้างและสถาบันมีความอ่อนไหวและตอบสนองต่อประเด็นต่างๆ ในมิติหญิงชายมากยิ่งขึ้น (ดูตัวอย่างของ FAO ในภาคผนวกที่ 2)  
เนื่องจากผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นชาย   ยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งของนักสตรีนิยม คือ รณรงค์ระบบโควต้า/สัดส่วน ให้เพิ่มผู้หญิงเป็นตัวแทนในระดับตัดสินใจเป็นจำนวนก้ำกึ่งกับชาย เพื่อให้ได้ใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้และภูมิปัญญของผู้หญิงในการกำหนดนโยบาย   แต่ลำพังการมีจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งสูงเพิ่มขึ้น ไม่ใช่คำตอบในตัวเอง  มันเป็นเพียงก้าวแรกที่สำคัญ สู่หนทางของความเสมอภาคทางเพศ และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

แผนและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
                การพัฒนาแบบกล่องๆ
            นอกจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ นักเรียนไทยหัวกะทิหลายคน ก็ได้รับทุนความร่วมมือช่วยเหลือนี้ให้ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อนำวิทยาการที่ล้ำหน้ากว่ามาพัฒนาประเทศไทย...ตามพิมพ์เขียวของธนาคารโลก   การพัฒนานี้มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตสมแผนพัฒนานี้ รัฐเริ่มต้นด้วยการตักตวงกำไรจากการส่งออกสินค้าเกษตร (บวกเงินกู้) มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกแก่ระบบอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และชีวิตเมือง  ภาคเกษตร/ชนบท อยู่ปลายแถว โดยชาวนาถูกยกย่องให้เป็น กระดูกสันหลังของชาติ  ในขณะที่ สื่อเต็มไปด้วยคำขวัญ เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง เงินดี มีงานทำ นำให้สุขสมบูรณ์ ส่วนบทเรียนเด็กเล็ก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว  โลกของเมืองและชนบทมองไม่เห็นกันเพราะคนเมืองถูกปลูกฝังด้วยชุดความคิด ก้าวหน้าแบบตะวันตก ผ่านการศึกษาในระบบ  ส่วนผู้ด้อยโอกาส ชนบท ยังติดอยู่ในชุดความคิดเดิมๆ ของ กฎแห่งกรรม  ที่สำคัญ ในยุคแรกของการพัฒนาป่าไม้ ขุนเขา ลำน้ำ ชายทะเล ยังอุดมสมบูรณ์ ประชากรยังไม่มากนัก  อีกสาเหตุหนึ่งคือ ระบบการเมืองถูกครอบงำเบ็ดเสร็จโดยเผด็จการทหาร ซึ่งควบคู่ไปกับสงครามเย็น
            ประชาธิปไตยของไทยจึงมีลักษณะพิเศษต่างจากอุดมคติของตะวันตกผู้ให้กำเนิด แต่ก็ไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ภาวะสงครามทำให้คนต้องปิดตาข้างหนึ่งเพื่อความอยู่รอด แม้จะเกิดเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลาคม 1973 และ 1976 (พ.ศ. 2516 และ 2519) ตามลำดับ แต่เหตุการณ์พฤษภาเลือดในปี 1992 (พ.ศ. 2535) ต่างกัน เพราะสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงหลังจากการถล่มกำแพงเบอร์ลิน  รัฐไม่มีความชอบธรรมที่จะปราบปรามการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ได้รับความทุกข์ร้อนเสียหายจากการพัฒนาของรัฐ ในข้อหาคอมมิวนิสต์ อีกต่อไป  

            สู่โลกาภิวัตน์: การเมืองเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง
การสิ้นสุดของสงครามเย็น ทำให้เกิดความหวังในภาคประชาสังคม  การถกเถียงเชิงวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนา ได้นำไปสู่การประชุมสุดยอดภายใต้ธงนำของสหประชาชาติ เพื่อรับรองสิทธิมนุษยชนในมิติต่างๆ ตั้งแต่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม/อัตลักษณ์ เด็ก ผู้หญิง จนถึงอนามัยเจริญพันธุ์   ซึ่งมีผลต่อนโยบายของประเทศร่ำรวยในการให้ทุนช่วยเหลือ และรัฐบาลในประเทศโลกที่สาม หรือโลกขั้วใต้ที่ได้รับทุนต้องปฏิบัติตาม   ในขณะที่ภาคประชาสังคมได้มีโอกาสหายใจเต็มปอด   ระบบการค้าเสรีก็ได้ขยายเงื้อมโครงข่ายกุมเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก และควบคุมแบบแผนการบริโภคของมหาชนด้วยสื่อได้เกือบเต็มรูปแบบ  เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ (IT) ได้เชื่อมคนมีโอกาสที่เข้าถึงอุปกรณ์--มีทักษะ และมีเวลามากพอได้ติดต่อถึงกันในชั่วพริบตาไม่ว่าจะอยู่แห่งใดในโลก  แต่บรรษัทนักธุรกิจขนาดยักษ์ก็สามารถใช้ประโยชน์ยิ่งกว่า ไม่เพียงแต่โอนเงินเพียงกดตัวเลข แต่เงินสกุลต่างๆ ได้กลายเป็นสินค้าเก็งกำไรได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องลุกไปไหน   IT ทำให้ข้อมูลเป็นอาวุธสำคัญเพิ่มขึ้นในโลกของการแข่งขัน
ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างพลุ่งพล่าน ในทศวรรษที่ 5 ของการพัฒนา มนุษยชาติกลับตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงที่สุด   ศตวรรษที่ 21 เริ่มต้นด้วยสงครามของความเกลียดชัง เมื่อสหรัฐฯ ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ. 2544)    ด้วยความเคยชินของปิตาธิปไตยในการแก้ปัญหา เหตุการณ์นั้นได้นำไปสู่สงครามใหญ่น้อยทั่วทุกหัวระแหง ที่ ฝ่ายอื่น ถูกประณามว่า เป็น อำนาจชั่วร้าย ผู้ก่อการร้าย โจรแบ่งแยกดินแดน    สถานการณ์เช่นนี้ ส่วนหนึ่ง ก็ไม่ต่างกับยุคสงครามเย็น เพียงแต่ครั้งนี้ ได้เพิ่มศาสนา คือ มุสลิมหัวรุนแรง  ความระแวง ความเกลียด ความกลัว คงไม่ต่างจากสงครามในช่วงยุคแรกของการพัฒนา เพียงแต่รุนแรง เข้มข้น และแนบเนียนยิ่งขึ้น เพราะมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง และใช้จิตวิทยาขั้นสูงทั้งสองฝ่าย  ที่น่าสนใจคือ มันช่วยให้กองทัพมีความชอบธรรมในการใช้งบประมาณมากกว่านำไปใช้แก้ปัญหาความยากจน และอุตสาหกรรมอาวุธสงครามไม่ต้องล้มละลายไปพร้อมกับการยุติของสงครามเย็น ในกระบวนการนี้ นักค้าอาวุธ ก็ไม่ต้องตกงาน
50 ปีของการพัฒนาระหว่างประเทศ ความเจริญทางวัตถุ ความมั่งคั่งของเงินตรา กลายเป็นสิ่งท้าทาย ความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ความเป็นธรรมในแต่ละสังคม  ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์จึงถูกหยิบยกขึ้นมา และกลายเป็นวาทกรรมที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มันไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางวัตถุ แต่รวมเรื่องอารมณ์ ศักดิ์ศรี ความรู้สึกและจิตวิญญาณของมนุษย์ ต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมโลก และต่อระบบนิเวศโดยรวม
วิกฤตมนุษยชาติครั้งนี้ ทำให้ทฤษฎีเดิมๆ ต้องตั้งคำถามใหม่ รวมทั้งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก   ในขณะที่วงการวิชาการพากันงุงงง ถ้าไม่ใช่ตื่นตระหนก  องคพายพของ เสรีนิยมใหม่ มีชีวิตของมันเอง ด้วยการเสพพลังงาน และใช้เงินตราเป็นสิ่งล่อมนุษย์ มันกลายเป็น ปีศาจ[vi] ที่สิงอยู่ในเครื่องจักรมหึมาที่ไม่รู้จักหยุดและพยายามจะถลุงธรรมชาติ   สำนักสตรีนิยม แนว Ecofeminism ได้กลายเป็นสำนักคิดที่เชื่อมนักคิดสตรีนิยมหลากสำนัก นิเวศนิยมและมนุษย์นิยมทั่วโลก เพื่อหาทางต่อกรกับเครื่องจักรมหึมานี้
           
การพัฒนาสู่ความไม่มั่นคงของมนุษย์ : เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงในสังคมไทย
ในประเทศไทย ผลจากการพัฒนาที่เอาเปรียบภาคเกษตรชนบทและเน้นการส่งออก (และมองข้ามภูมิปัญญาท้องถิ่น) ใช่ว่าจะไม่มีใครได้รับประโยชน์เลย ปัญหาคือมันทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ในท่ามกลางความทุกข์ร้อนนานัปการในวงกว้าง ของผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ หรือไล่ไม่ทันกับการพัฒนากระแสหลักของรัฐ   พวกเขากลายเป็นเหยื่อหรือคนท้ายแถวที่ต้องเสียสละ และรอรับประโยชน์ที่จะซึมลงมา

ผลกระทบด้านลบร่วมและต่างต่อหญิงและชาย
   - หนี้สินพอกพูน และสูญเสียที่ทำกิน...ความรุนแรงทางเพศ
เกษตรกรส่วนใหญ่เปลี่ยนจากเศรษฐกิจยังชีพ หรือ พอเพียงไปกู้ยืมลงทุนทำเกษตรพาณิชย์   ผู้โชคร้าย (พืชผลล่มสลายเพราะภัยธรรมชาติ หรือการเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ/ตายของสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ) ต้องกลายเป็นคนล้มละลาย  การใช้เครื่องทุ่นแรง ได้แทนที่ระบบลงแขกเอาแรงกัน วิถีดั้งเดิมในการแบ่งปัน มีน้ำใจไมตรี ช่วยเกื้อกูลคนจน คนไร้ที่ทำกิน ให้อยู่ในชุมชนได้   การกว้านซื้อที่ดินโดยนายทุนเพื่อทำเกษตรพาณิชย์ หรือสนามกอล์ฟ หรือแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ชาวบ้านมักถูกหลอก หรือเมื่อได้เงินแล้วก็ไม่รู้จักบริหาร ในที่สุดก็กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน  (ในประการหลังเชิงท่องเที่ยว ก็จะเกิดการแย่งชิงน้ำ)
   - ทางออก: ย้ายถิ่น...การเอาเปรียบทางเพศ
ทางออกขั้นแรก คือ ผู้ชายย้ายถิ่นไปหางานทำในเมือง  แนวโน้มผลกระทบต่อผู้หญิงในทางลบ เช่น สามีไปแล้วไม่กลับ ผู้หญิงและลูกถูกทอดทิ้ง   ภรรยาถูกชายอื่นลวงหรือนอกใจเอง สามีกลับมาเกิดการวิวาท หรือ ภรรยาหึงหวง หรือได้เงินไม่พอกับความคาดหวัง ฯลฯ  การติดหนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งสู่ความรุนแรงในครอบครัว และนำไปสู่การล่มสลายของครอบครัวได้ 
ความเครียด ทำให้คนที่จิตใจไม่เข้มแข็งกลายเป็นคนติดเหล้า ติดยา (หรือกลายเป็นผู้ค้ายาเพื่อหาเงินมาแก้ปัญหาตัวเอง) หรือไม่ก็ติดพนัน ติดหวย หวังรวยเร็ว
ผู้หญิงก็ออกหางานทำต่างถิ่นเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมไทยคาดหวังให้ลูกสาวดูแลพ่อแม่ด้วย แต่ผู้หญิงต้องเสี่ยงกับภัยอันเนื่องจากเพศของตน เช่น ถูกกระบวนค้ามนุษย์ลวงไปขาย ถูกผลักดันให้เข้าสู่วงจรธุรกิจบริการทางเพศ  ถูกกระทำรุนแรงทางเพศจากนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน  แม้จะเสี่ยงอันตรายทางเพศรอบด้าน และผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยมักจะได้งานเป็นแรงงานราคาถูก (ในโรงงาน คนรับใช้ในบ้าน งานนอกระบบ ฯลฯ) 
การทำงานในโรงงานหรือในระบบ ก็ใช่ว่าจะได้รับการคุ้มครองเต็มที่จากกฎหมายแรงงาน เพราะ รัฐบาลต้องเอาใจนายจ้างและนักลงทุนต่างชาติ  นอกจากนี้ สหภาพแรงงาน ซึ่งผู้นำเป็นชายเสียส่วนใหญ่ ไม่เพียงแต่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องผู้หญิง ยังไม่เข้มแข็งเพราะถูกแทรกแซงจากนายจ้างหรือนักการเมือง ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำ จึงบีบคั้นให้ผู้หญิงต้องทำงานหลายกะ ไม่มีเวลาพัฒนาตัวเอง หาเงินอย่างเดียว  เมื่อเศรษฐกิจผันผวน แรงงานหญิงมักจะถูกลอยแพก่อน  สิ่งแวดล้อมในโรงงานในบางแห่ง กระทบต่ออนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงมากกว่าชาย
ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงหลายคนจึงลงทุนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ หรือ หาแฟนต่างชาติจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาอีกระดับหนึ่งถ้าพวกเธอโชคไม่ดี (ในเว็บไซต์ ถ้าค้นหา “Thai women” ก็จะเจอโฆษณาหาคู่เหมือนหญิงไทยเป็นสินค้ายอดนิยมทางเพศฉะนั้น)

นโยบายอื่นๆ
นโยบายการสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ต้องการพื้นที่มากๆ มักจะมีแนวโน้มเบียดขับคนในพื้นที่ ในขณะที่เขื่อนต้องแลกระหว่างการเก็บน้ำกันแล้ง และเพื่อผลิตพลังงาน ก็ต้องทำลายระบบนิเวศและพันธุ์สัตว์พืชพรรณในที่นั้น รวมทั้งวิถีชีวิต เช่น เขื่อนปากมูน   นิคมอุตสาหกรรมที่ขาดการควบคุมการจัดการมลภาวะ ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคภูมิแพ้ เพราะอากาศ น้ำเป็นพิษ ปลาปนเปื้อนสารอันตราย แต่ทางการก็ยังไม่มีระบบจริงจังดูแลผู้เคราะห์ร้าย
นโยบายการสัมปทานป่าไม้ ได้สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศ แต่ไม่มีการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศ ที่เสียหายไป ไม่เฉพาะที่ต้นน้ำ ยังกระทบกลางน้ำ และปลายน้ำ  ผู้หญิงเป็นผู้จัดหาอาหารและเก็บของป่า หาฟืน น้ำ มาใช้ในครัวเรือนแบบยังชีพ ต้องประสบความทุกข์ยากเพราะหาของเหล่านี้ได้ยากยิ่งขึ้นเมื่อระบบนิเวศถูกทำลาย ซึ่งส่งผลให้คนในครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ต้องพึ่งผู้หญิงอดอยากไปด้วย   การสัมปทาน การกระตุ้นทางเศรษฐกิจส่งออก มีผลให้ทำลายป่าอย่างไม่มีขีดจำกัด ทำให้เกิดวิบัติ เช่น ดินโคลนและต้นไม้ถล่มฝังหลายหมู่บ้านในเขตคีรีวง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชในปี 1989 (พ.ศ. 2532) โศกนาฎกรรมครั้งนั้น และแรงกดดันจากประชาคมโลกทำให้รัฐบาลไทยยกเลิกการสัมปทาน และปิดป่า ซึ่งสร้างปัญหาแก่ชาวบ้านอีกเช่นกัน ด้วยการกำหนดเขตอุทยานและป่าสงวนทับที่ทำกิน  การแก้ปัญหาแบบไม่มีการเตรียมการ ทำให้เกิดการเบียดขับ และในที่สุดผู้หญิงต้องรับภาระหนักที่สุดคล้ายๆ กัน
การสัมปทานทำเหมืองแร่ ขุดถ่านหิน ได้ปล่อยให้ชาวบ้านต้องรับเคราะห์กรรมเชิงสุขภาพทั้งกายและจิตใจ จากมลภาวะหรือสารเคมีที่ทิ้งไว้ข้างหลัง  ผู้หญิงด้วยสรีระเพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ จะอ่อนไหวต่อมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเกษรพาณิชย์    น่าจะมีการศึกษาวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างความสมบูรณ์ของเด็กเกิดใหม่กับระดับความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม หรืออาการป่วยของเกษตรที่เชื่อมโยงกับการใช้สารเคมีอย่างไม่ระมัดระวังพอ  
            การปฏิวัติเขียว ซึ่งยังคงดำเนินต่อไป ได้ขยายออกไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรทางพันธุกรรม  เริ่มแรก ปฏิวัติเขียว ได้ทำให้พันธุ์พืช (เช่นข้าว) พื้นเมือง (ซึ่งทนต่อสภาพอากาศทุรกันดารในท้องถิ่น จึงเป็นความมั่นคงของอาหารแก่ชาวบ้าน) หลายสายพันธุ์สูญหายไป  บัดนี้ บรรษัทยักษ์ (เช่น มอนซานโต) กำลังจะทำให้ชาวเกษตรกรผู้ผลิตอาหารต้อง เสพติด กับเมล็ดที่เป็นลิขสิทธิ์ของบรรษัทข้ามชาติ/ยักษ์ใหญ่  ผู้หญิงเคยเป็นผู้เก็บรักษาเมล็ด ความชำนาญนี้เป็นภูมิปัญญาหนึ่ง ที่หายแล้วหายเลย (ถ้าไม่มีการแก้ไขป้องกัน เกษตรกรอาจกลายเป็น ทาส-bonded labor  เพิ่มจากระบบ contract farm) ถ้าไม่มีทุนพอ
            ในป่าชายเลนก็ถูกคุกคามด้วยการสัมปทานเผาถ่านโกงกาง แม้จะมีการต่อสู้จนชาวบ้านและเอ็นจีโอ ทำให้ยกเลิกสัมปทาน และสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนบางส่วน แต่ก็มีการแก้ปํญหาคลื่นแรงด้วยการสร้างแนวเขื่อนกันคลื่น ซึ่งทำให้สูญเสียหาดทรายและชายฝั่งไปมาก เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ  ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนสร้างโรงงาน เช่น โรงงานถลุงเหล็ก ที่แม่รำพุง ประจวบฯ หรือโรงงานผลิตอาหารฮาลาลขนาดใหญ่ในชายฝั่งปัตตานีเป็นต้น  ซึ่งเป็นการทำแบบเดิมๆ คือ ไม่มีการเตรียมการ และปล่อยให้ชาวบ้านเป็นผู้รับเคราะห์ เหมือนดั่งไม่ใช่เจ้าของประเทศ ทำให้ต้องทบทวนพันธสัญญาตามทฤษฎีทีว่ารัฐจะต้องปกป้อง คุ้มครองพลเมือง 
            การประมงพาณิชย์ที่ไม่มีการควบคุม ได้ทำให้ปริมาณปลาลดลงอย่างรวดเร็ว การใช้อุปกรณ์หนักและมีประสิทธิภาพสูงเช่นอวนลาก เป็นการทำลายแนวประการัง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล  การลดลงของปลา ไม่เพียงแต่ทำให้สูญเสียรายได้ แต่รวมถึงการขาดอาหาร ซึ่งกระทบต่อหน้าที่รับผิดชอบของผู้หญิงต่อครอบครัว  
ส่วนนโยบายการค้าเสรี สินค้าราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา ทำให้กิจการท้องถิ่นสู้ราคาไม่ได้   ปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต่างประสบภาวะขาดทุน และอาจเป็นหนี้สิน เข้าสู่วงจรอุบาทว์

            ภาวะผู้นำของผู้หญิงในยามวิกฤต...ศักยภาพและ ความเป็นแม่
            ภาวะวิกฤตจากการแย่งชิงทรัพยากรนี้ สำหรับผู้หญิงบางคน สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในวัฒนธรรม กลายเป็นโอกาสที่พวกเธอได้แสดงบทบาทผู้นำและตัวตนที่แท้จริง เมื่อชายล้มเหลว  มีตัวอย่างจากหลายพื้นที่ๆ แสดงถึงภาวะผู้นำของผู้หญิงที่สามารถคลายปมวิกฤตได้ดีกว่าหรืออย่างน้อยเสมอชาย (ดู ศยามล ไกยูรวงศ์ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบในการประชุมครั้งนี้)  ผู้หญิงที่มีศักยภาพผู้นำ ก้าวออกมาต่อกรกับสถานการณ์ และในหลายกรณี (รวมทั้งในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)[vii] ชี้ให้เห็นว่า โดยพื้นฐาน ผู้หญิงมีศักยภาพสูงในการหาทางออกด้วยสันติวิธีมากกว่าชาย ผู้หญิงดูเหมือนจะควบคุมสติในยามวิกฤตได้ดีกว่าชาย  เพียงแต่ผู้หญิงขาดโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ การได้เรียนรู้ฝึกปรือในโลกกว้างเช่นเดียวกับชาย สาเหตุคือ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ยังไม่เห็นคุณค่าของผู้หญิงหรือไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะเป็นผู้นำได้  ในขณะเดียวกัน ค่านิยม ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ก็อาจทำให้ผู้ชายลังเลที่จะตั้งใจฟังผู้หญิง  ที่สำคัญ การที่ต้องลุยงานแม้ในยามค่ำคืนกับหมู่คณะที่เป็นชาย เป็นช่องทางให้คนคิดร้ายกล่าวหาเรื่องชู้สาว ซึ่งเป็นอาวุธที่ทำลายผู้นำหญิงได้ถ้าไม่เข้มแข็งพอ
            ผู้นำหญิงธรรมชาติ ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย (เช่น เครือข่าย การเสริมอำนาจ ค้นพบศักยภาพให้ผู้หญิงเข้มแข็งเหล่านี้ จึงควรมีวิธีการแบบมีส่วนร่วมมากกว่า ลงไปพัฒนาผู้หญิง

ความมั่นคงของผู้หญิง เป็นหัวใจของความมั่นคงมนุษย์
ตราบใดที่ชีวิตของผู้หญิงยังต้องหวาดกลัวภัยจากความรุนแรงตั้งแต่ในบ้านเรือนของตัวเอง จนถึงที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ เพียงเพราะเป็นเพศหญิง ตราบใดที่ยังมีการใช้อาวุธและวิธีการรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการแย่งชิงทรัพยากร นโยบายที่บังคับให้คนด้อยโอกาสเสียเปรียบ เป็นต้น  ตราบใดที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และควบคุมร่างกายของตนเอง สังคมก็ยังไม่บรรลุเป้าความมั่นคงของมนุษย์  หรือเป็นธรรม
ส่วนผู้ชาย ถ้าสังคมให้โอกาสที่จะทำงานบ้านแบบที่ผู้หญิงต้องรับภาระมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลี้ยงดูเด็กและคนชรา  การจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือน ตลอดจนการรักษาความสะอาดต่างๆ ผู้ชายอาจพัฒนาความละเอียดอ่อนต่อประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ติดอยู่กับการใช้พลกำลัง อำนาจข่มขู่  โอกาสเช่นนี้ น่าจะเป็นวิธีช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและจิตสำนึกของผู้ชายให้มีความสมดุลระหว่างความเป็นพ่อและแม่ ไม่ใช่เพียรพยายามบีบตัวให้เข้ากรอบที่สังคม (แบบเก่า) ที่ครอบอยู่ ที่คาดหวังให้เพศชายต้องเป็น ลูกผู้ชาย ชายชาตรี ชายชาติทหาร ตลอดจนนักเลงหัวไม้ ฯลฯ เพราะสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว    การให้ความเคารพต่อผู้หญิง ไม่ควรจะเพียงเป็นเพศแม่ แต่ควรจะให้คุณค่าและช่วยเหลืองานบ้านของแม่ด้วย  การแสดงน้ำใจแบ่งเบาหน้าที่จะเอื้อให้ผู้หญิงสามารถพัฒนาศักยภาพของตนในการทำงานแก่สังคมส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้บรรลุเงื่อนไขทั้งสี่ข้างต้น

การแบ่งปันเกื้อกูลงานที่ไม่ยึดติดกับเพศ น่าจะทำให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาของทั้งหญิงและชายเติบโตพัฒนาอย่างสมดุลดีกว่า  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น นโยบายรัฐจะต้องเอื้อต่อความสัมพันธ์เช่นนี้ด้วย

บทสรุปและข้อเสนอแนะ:
ประชาคมโลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เรียกขานกันว่า โลกาภิวัตน์ ความเจริญและความเสื่อมเกิดคู่ขนานกันไป  ปรากฏเป็นผลสุทธิดังที่ประจักษ์ทุกวันนี้  มีผู้กล่าวว่า สังคมดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องช่วยกันสร้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ และการวมตัวเป็นเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมฯ ก็อาจเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้ากลไกเหล่านี้ สามารถทำให้สังคมไทยปรับตัวเป็นสังคมเรียนรู้ และกล้าเผชิญความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความอ่อนไหวในมิติหญิงชาย
ประเทศไทยมีนโยบายดีอยู่ไม่น้อย แต่ขาดการบังคับใช้ หรือปรับให้สอดคล้องกับบริบทของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและผู้ด้อยโอกาส ในขณะที่ภาครัฐน่าจะทบทวนนโยบายการพัฒนาประเทศ และแก้ไขกลไกรัฐให้เกิดการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งอย่างจริงจัง  รัฐควรจะปฏิรูปนโยบายสังคม เช่น ด้านสวัสดิการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การให้บริการสุขภาพที่ใช้มิติหญิงชายเข้าช่วย  เนื่องจากผู้หญิงไทยแต่ดั้งเดิม เป็นศูนย์กลางของวงศาคณาญาติในสังคมไทย สังคมไทยเดิมจึงมีความยืดหยุ่นสูง แม้ในยามที่ชายต้องไปเข้าเวรเกณฑ์ตามประสาไพร่ถึง 6 เดือนต่อปี สังคมไทยก็ยังยืนหยัดอยู่รอดมาได้ สาเหตุหนึ่ง เพราะแผ่นดินไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก สมดังคำกล่าว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ... จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง   แม้ประเทศจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรม มันจำเป็นต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติและเบียดขับชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา ชนเผ่า หรือไม่   นี่เป็นทิศทางนโยบายที่รัฐต้องทบทวนและตัดสินใจ  ใครคือผู้ที่รัฐพึงรับผิดชอบ   ภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะจากเหงื่อของชาวไร่ชาวนาหรือ  ทำไมรัฐจึงต้องระดมสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อให้ได้อาหาร (ปนเปื้อน) เป็นปริมาณมากๆ ในนามของ ความมั่นคงทางอาหาร และการส่งออก
ถ้ามองเห็นได้ถึงวัฏจักรของวิถีการผลิตปัจจุบัน ที่เร่งเอาปริมาณเพื่อส่งออก เพื่อเม็ดเงินถ่ายเดียว มันจะไม่เป็นการสร้างความรุนแรง เบียดเบียนแก่ชีวิตประชาชนส่วนใหญ่หรือ
ทางออกจำเป็นต้องฟังเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง มากว่าพึ่งผู้เชี่ยวชาญเช่นเคย ให้มาช่วยกันตั้งลำวางแผนใหม่...ก่อนที่ความขัดแย้งในทุกรูปแบบ จะขยายและลามปามไปไกลกว่านี้   
กรอบคิดที่นำเสนอ เป็นผนวกวิธีคิดเชิงสตรีนิยม (ที่วิวัฒนาการไปในเชิงพัฒนาและเน้นมิติหญิงชาย) ซึ่งอาจไม่ต่างกับวิธีคิดในภาคประชาสังคมส่วนใหญ่นัก เพียงแต่เอาผู้หญิงเป็นตัวตั้ง เพราะสังคมเคยชินกับการมองข้ามตัวตนของผู้หญิง  หรือมักมองว่าผู้หญิงเป็นแค่เหยื่อ เพศที่ช่วยตัวเองไม่ได้  แต่ถ้าใช้มิติหญิงชาย และวิธีคิดเชิงสตรีนิยม (สายนิเวศน์ หรือ Ecofeminism) ก็จะเห็นศักยภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกัน หรือไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง  ดังได้เริ่มปรากฏขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[viii] และอาฟริกาใต้[ix] การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงสุขภาวะทั้งกายและจิตใจ หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์อย่างเสมอภาคของหญิงชาย มากกว่าบีบคั้นให้ต้องเลือกอย่างจนมุม ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยนโยบายรัฐเป็นผู้สนองมติประชาคม มากกว่าเป็นเจ้านาย  เช่นนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม อันเป็นการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง[x] และสู่สังคมที่เป็นธรรม





ภาคผนวก 1
การเคลื่อนไหวของสตรีโลกและการมีส่วนร่วมของประเทศไทย

ทศวรรษสตรี
เสียงหนึ่งในบรรดานักวิพากษ์วิจารณ์หลังจากทศวรรษแรกของการพัฒนาระหว่างประเทศ (1960-1970) คือ นักเศรษฐศาสตร์หญิง Ester Boserup ผู้สำรวจผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจ (ตามพิมพ์เขียวของธนาคารโลก) ต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง (เกือบ) ทั่วโลก พบว่า ผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาแย่ลง   ผลงานของ Boserup กลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้ขบวนการสตรีที่ก่อตัวเป็นระลอกที่สองในโลกตะวันตก ผลักดันให้นโยบายการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ต้องคำนึงถึงประเด็นผู้หญิง  ในที่สุดสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ ปี 1975 เป็นปีสตรีสากล (International Year for Women) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ/ผู้แทนสตรี (เกือบ) ทั่วโลกโลกที่หนึ่งและโลกที่สาม--ได้มีโอกาสมาพบกันในเวทีโลกที่จัดให้ผู้หญิงโดยเฉพาะที่เม็กซิโก  ที่ประชุมประนีประนอมความเห็นที่หลากหลายโดยสรุปเป็นคำขวัญ เสมอภาค พัฒนา และ สันติภาพ  (Equality, Development and Peace) ให้เป็นดาวประจำใจของหนทางของการพัฒนาของผู้หญิง    ปี 1975 จึงเป็นปีเริ่มต้นของทศวรรษสตรี (1976-85) หรือ UN Decade for Women เมื่อสหประชาชาติได้ให้บรรดาประเทศสมาชิกกลับไปทำการบ้านสำรวจสถานการณ์ของพลเมืองหญิงในประเทศของตน แล้วกลับมารายงานในเวทีโลกในปี 1980 ที่โคเปนเฮเก็น
ผลจากการรายงานของประเทศสมาชิก ทำให้เห็นภาพรวมของสถานภาพที่ไม่ดีขึ้นของผู้หญิงส่วนใหญ่ทั่วโลกในยุคพัฒนา สหประชาชาติจึงยืดเวลาออกไปเป็นทศวรรษสตรีที่สอง (1986-95)  ในปี 1985 ในเวทีประชุมสตรีโลกครั้งที่ 3 ที่ไนโรบี เพื่อแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าผู้หญิง  ที่ประชุมภาครัฐได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ มองไปข้างหน้า (“Forward Looking”) ให้เป็นแนวทางในการผนวกประเด็นผู้หญิงในแผนพัฒนาประเทศด้วย   ในครั้งนั้น ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง (violence against women, VAW) ได้ถูกหยิบยกให้เป็นประเด็นเร่งด่วนหนึ่ง  การใส่ใจศึกษาค้นคว้า ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงการคืนชีพของการค้ามนุษย์ค้าเหญิง--ในรูปแบบใหม่ที่ได้ก้าวกระโดดไปพร้อมกับ (หรือเกินหน้า) การพัฒนา  พร้อมกับนั้น การทุบตีหรือประทุษร้ายผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภรรยาของตนเอง ก็ไม่ใช่เรื่องในมุ้ง ภายในครอบครัวอีกต่อไป  เกิดเป็นคำขวัญ เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง (“Personal is political”) และ คิดระดับโลก ลงมือระดับท้องถิ่น (“Think global, Act local”)  ผู้หญิงปฏิเสธที่จะเป็นเพียง ช้างเท้าหลัง ที่สงบเสงี่ยมอีกต่อไป
การประชุมแต่ละครั้ง กระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าจากประสบการณ์และมุมมองของผู้หญิง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงในโลกที่หนึ่ง (มีอำนาจทางเศรษฐกิจ) กับโลกที่สาม (พึ่งพิง/ด้อยอำนาจทางเศรษฐกิจ) (แม้หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงนัก เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น โลกขั้วเหนือ และโลกขั้วใต้) ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกลี่ยพื้นที่และระดับความคิดเชิงสตรีนิยม   ประเด็นผู้หญิงจึงมีความเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การคิดค้น เครื่องมือ ในการแก้ไขต่อมา
แต่สถานการณ์ของผู้หญิงก็ไม่ได้ดีขึ้นหรือก้าวหน้ารวดเร็วพอกับความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น เมื่อถึงปลายทศวรรษสตรีที่สอง จึงมีการเปลี่ยนแผนให้ระดมผู้นำหญิงรากหญ้าจากทุกประเทศ ให้เข้าร่วมประชุมคู่ขนานไปกับการประชุมทางการของภาครัฐที่ปักกิ่ง ในปี 1995 การประชุมครั้งนั้นมีผู้หญิงเข้าร่วมนับหมื่น  ทำให้ผู้นำหญิงรากหญ้าได้แตกฉานในประเด็นที่ตนต่อสู้ และได้ตระหนักว่า ตนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว  ในขณะเดียวกัน ในที่ประชุมทางการของภาครัฐ ได้ร่วมรับรองปฏิญญาปักกิ่ง ซึ่งนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์เล่มใหม่ แผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Platform for Action, BPFA) ซึ่งระบุประเด็นห่วงใยของผู้หญิง 12 ประการให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกกลับไปดำเนินการแก้ไข ดังนี้
1.       ภาระความยากจนต่อผู้หญิง
2.       ความไม่เสมอภาคในเข้าถึงการศึกษาและการฝึกทักษะ  
3.       ความไม่เสมอภาคในเข้าถึงบริการสาธารณสุขต่างๆ
4.       ความรุนแรงต่อสตรี
5.       ผลกระทบของภาวะสงครามและความขัดแย้งติดอาวุธต่างๆ ต่อผู้หญิง
6.       โครงสร้างและนโยบายทางเศรษฐกิจ กิจการการผลิตทุกรูปแบบ และการเข้าถึงทรัพยากรการผลิต
7.       ตวามไม่เท่าเทียมในเชิงอำนาจและการตัดสินใจ
8.       การขาดกลไกที่เพียงพอในการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิง   
9.       การขาดการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเพียงพอในด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง  
10.    เจตคติ/ภาพเหมารวมที่ลดคุณค่าของผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมในระบบการสื่อสารคมนาคมทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพสื่อสารมวลชน
11.    ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
12.    การคงอยู่ของการเลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิ์ของเด็กหญิง[xi]
ต่อมา ประเด็นสตรีบางส่วนได้ถูกผนวกรวมเข้าในปฏิญญาแห่งสหัสวรรษในปี 2000 อันเป็นที่มาของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ MDG อันประกอบไปด้วยเป้าหมายหลัก 8 ข้อ[xii] ได้แก่
1.       ขจัดความยากจนและความหิวโหย
2.       ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา
3.       ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและส่งเสริมบทบาทสตรี
4.       ลดอัตราการตายของเด็ก
5.       พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์
6.       ต่อสู้โรคเอดส์ มาเลเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ
7.       รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
8.       ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก
รัฐบาลจาก 189 ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันสัญญาว่า จะปฏิบัติพันธกิจนี้ให้สัมฤทธิ์ผลภายในปี 2015 (พ.ศ. 2558)
นอกจากเครื่องมือสากลทั้งสอง คือ ปฏิญญาปักกิ่ง และปฏิญญาสหัสวรรษ ที่ประชาคมผู้หญิงจะใช้ติดตามและทวงถามจากภาครัฐ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้แล้ว ยังมีเครื่องมือสากลทางกฎหมายอีกชิ้นหนึ่ง คือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women, CEDAW) ซึ่งสหประชาชาติจัดทำขึ้น และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1979 (พ.ศ.2522) และในปี 2006 มีประเทศสมาชิกที่ร่วมให้สัตยาบันถึง 185 ประเทศ  อนุสัญญานี้มี 30 ข้อ  จุดประสงค์ เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทั้งปวง และเพื่อสร้างหลักประกันแก่ผู้หญิงให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และโอกาสจากภาครัฐ  บนพื้นฐานความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย  (ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1985 หรือ พ.ศ. 2528)  ในบทอนุสัญญาฯ ข้อ 1-16 เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการ  และข้อ 17-30 เกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาฯ[xiii]

ประเทศไทยกับการพัฒนาสตรี
ประเทศไทยขานรับอย่างเป็นทางการต่อนโยบายของสหประชาชาติด้วยดีตลอดมา  มีการก่อตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (NESDB) ขึ้นพร้อมกับการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปี ฉบับแรก (พ.ศ. 2506-09)  และได้เปลี่ยนชื่อโดยเติมคำว่า สังคม ในกาลต่อมา    ประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนพัฒนาแห่งชาติตามกระแสโลกในระดับหนึ่ง เช่น มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมสตรีโลกตั้งแต่ปี 1975  และได้ตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส) ขึ้นเมื่อ ปี 1989 (พ.ศ. 2532)   อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และมี สำนักงานส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ  เป็นกองเลขา  มีอนุกรรมการตามหัวข้อต่างๆ เป็นผู้กำหนดนโยบายให้สอคล้องกับมติจากที่ประชุมสตรีโลก
          ในปี 2003 (พ.ศ. 2546) กสส ซึ่งมีฐานะเทียบเท่า กอง ได้ถูกยกสถานภาพขึ้นเป็น สำนักงาน ฐานะเทียบเท่ากับ กรม    แต่ต้องอยู่ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม)   ภายหลังจากการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ในเวลานั้น   แม้ว่ารัฐบาลจะถือว่าเป็นการยกระดับ กลไกทางสถาบันเพื่อความก้าวหน้าของสตรี     แต่ในความเป็นจริง กลไกระดับชาติเพื่อความก้าวหน้าของสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย” (National Machinery for the Advancement of Women and Gender Equality) นี้กลับถูกทอนกำลังโดยถูกแยกเป็น 3 กล่อง / ส่วน ดังนี้
1.   สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค  ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ) 
2.   คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีและสถาบันครอบครัว (กสค  ทำหน้าที่เชิงนโยบาย)  และ
3.   คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของรัฐสภา (ทำหน้าที่เชิงกฎหมาย)
            ในภาคปฏิบัติ สค เป็นองค์กรหลักของกลไกชาติ มีหน้าที่ ประสาน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ   บูรณาการมุมมองมิติหญิงชายให้เข้าสู่กระแสหลักการพัฒนา และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติ   ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง และ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  ตลอดจนสร้างพันธมิตรและเครือข่ายในการดำเนินงานด้านสตรีทุกระดับกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   สค จึงมีส่วนรับผิดชอบสนับสนุนการรณรงค์ของผู้หญิงโดยตรง เช่น ในการร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับผู้หญิง  ให้แนวทาง และติดตามการบูรณาการประเด็นและมุมมองเพศสภาพลงในแผนหลักของแต่ละกระทรวง และจัดเวทีสาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยน/ถก นโยบาย ที่เกี่ยวกับผู้หญิง   สค ได้มีเว็บไซด์ที่รวบรวมรายงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์[xiv]  แต่ระบบราชการไทยทำให้ สค ไม่สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกและไม่ทันกับความต้องการของผู้หญิงในภาคประชาสังคมและสังคมไทยเท่าที่ควร

ประเทศไทยกับความมั่นคงของมนุษย์
จากแนวคิดใหม่ที่นำเสนอขึ้นใน รายงานการพัฒนามนุษย์ ปี 1994 ของ UNDP ได้นำไปสู่การการรวมตัวเป็นเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network - HSN)[xv] ในปี 1999 อันมีแคนาดาเป็นผู้นำ   ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง[xvi] HSN  เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ภายในประเทศของตนและในเวทีโลก   วิสัยทัศน์ของ HSN คือ สร้างสรรค์โลกมนุษย์ที่ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างมั่นคง (security) และมีศักดิ์ศรี (dignity) หรือการบรรลุสภาวะที่มนุษย์ "ปลอดจากความหวาดกลัว" (Freedom from Fear) เช่น ผลกระทบจากการสู้รบ หรือภัยจากอาวุธที่อันตราย เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล การแพร่ขยายของอาวุธขนาดเล็ก  และ "ปลอดจากความขาดแคลน" (Freedom from Want) เช่น ความยากจน และภัยจากโรคระบาดที่ร้ายแรง เช่น โรคเอดส์  HSN ยังคงดำเนินการอยู่ โดยประเทศไทยได้หมุนเวียนเป็นประธานในปี 2005

.........................................................

ภาคผนวก 2
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ[xvii]

เจนเดอร์ (Gender)
-          ไม่ใช่ แค่หญิงหรือชาย
-          แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ทั้งในด้านความรู้สึกนึกคิดและทางกายภาพ
-          สรีระไม่ได้กำหนดเจนเดอร์ คือ อวัยวะร่างกายไม่ได้ทำให้คนหนึ่งๆ เป็นหญิง หรือเป็นชาย
-          ความเป็นหญิง และความเป็นชาย เป็นสิ่งที่สังคมปรุงแต่งและปลูกฝังในคนรุ่นต่อรุ่น
-          เป็นหัวใจของการจัดระบบความสัมพันธ์ในสังคม และมักจะถูกปกครองโดยกระบวนการผลิตและผลิตซ้ำ (รวมทั้งการสืบทอดเผ่าพันธุ์)  การบริโภค และการกระจายผลผลิต
บทบาทเชิงเจนเดอร์ (Gender Roles)
-          เป็น คำนิยามเชิงสังคมของหญิงและชาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามสังคม วัฒนธรรม ชนชั้น และวัย รวมทั้งช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์
-          บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะเชิงเจนเดอร์ (ของหญิงและของชาย) มักถูกจำกัดด้วยโครงสร้างของระบบครัวเรือน  การเข้าถึงทรัพยากร/วัสดุ/ต้นทุนการผลิต ผลกระทบเฉพาะอย่างของระบบเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเกี่ยวเนื่องในท้องถิ่น เช่น เงื่อนไขเชิงนิเวศน์
การวิเคราะห์เชิงเจนเดอร์ (Gender Analysis)
-          เป็นการแสวงหาคำตอบต่อคำถามพื้นฐาน เช่น ใครทำหรือใช้อะไร  อย่างไร และทำไม 
-          วัตถุประสงค์ ไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกแยกในองค์ความรู้เชิงสังคม แต่เพื่อทบทวน คิดใหม่ ถึงพลวัตและกระบวนการที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้ เช่น การใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปรับตัว และการพลิกแปรเชิงเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงของประชากร เพื่อให้เกิดความเข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้น ถึงปัจจัยและความเป็นจริงของเจนเดอร์ในกระบวนการเหล่านี้
-          เป็นการถอดบทเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีต และออกแบบการแก้ไขที่ดีกว่า ที่สามารถตอบสนองต่ออุปสรรค ความจำเป็น/ต้องการ และโอกาสที่มีลักษณะเฉพาะเชิงเจนเดอร์ ต่อผู้หญิง และต่อผู้ชาย
สาเหตุของความยากจน  และเป้าหมายของการพัฒนาในมิติหญิงชาย
รากเหง้าของความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในหมู่ผู้หญิงชนบทและครอบครัวที่พวกเธอต้องดูแล เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน  มีดังนี้
-          การไม่สามารถเข้าถึง หรือควบคุมทรัพยากร/ต้นทุนและบริการเพื่อการผลิต
-          การจ้างทำงานเกินหรือไม่มีงานว่าจ้าง
-          ความไม่เท่าเทียมในโอกาสการได้งานทำและค่าชดเชย
-          การถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย
-          บรรยายกาศทางกฎหมายที่ไม่เป็นมิตร
เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานและยกระดับหญิงชนบทให้ได้มีความมั่นคงทางอาหาร บรรเทาความยากจน และพัฒนายั่งยืน  FAO เริ่มต้นด้วยแนวทาง WID (สตรีในการพัฒนา) ซึ่งก็ได้ประสบความสำเร็จมาก
-          เพิ่มความตระหนักต่อประเด็นเฉพาะของผู้หญิง เช่น ความต้องการ สถานการณ์ และความห่วงใย
-          กระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างหญิงชนบทกับผู้สนับสนุน
-          ชูสาระสำคัญในบทบาทของหญิงชนบทและผลงานของพวกเธอในการผลิตอาหารและเกษตร เพื่อผลักดันให้เปลี่ยนวิถีการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจที่จำกัดให้พวกเธอด้วย
แต่ลำพัง แค่เอาผู้หญิงเป็นกลุ่มตัวตั้งว่ามีความจำเป็นพื้นฐานเฉพาะ ไม่เพียงพอ   ด้วยการนำเสนอผู้หญิงว่าเป็นผู้พึงได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษในโครงการหนึ่งๆ เช่นนี้ กลับทำให้ประเด็นผู้หญิงกลายเป็นเสมือน ไส้ติ่ง ของการพัฒนา (ด้วยโครงการแทรกแซง) กระแสหลัก   เป็นที่ประจักษ์ว่า ปัจจัยโครงสร้างทั้งปวงในสังคมต่างหาก กฎเกณฑ์และระเบียบการปฏิบัติของครัวเรือน  ชุมชน  ตลาด และรัฐ -- ที่ค้ำจุนให้ผู้หญิงตกอยู่ในฐานะรอง  จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจโครงสร้างเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ
แนวทาง GAD (มิติหญิงชายและการพัฒนา) แสวงหาความเข้าใจต่ออุปสรรคเชิงเจนเดอร์ หรือ ช่วยผลักดันการส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันว่าจะมีการกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน   การวิเคราะห์แนวนี้ มีคุณูปการ ดังนี้
-          ทำให้กระจ่างในเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ที่เป็น แรงจูงใจ และแรงต่อต้าน ต่อการทำงานของแต่ละเพศ เช่น
o       บทบาทและภารกิจ
o       ผลกระทบจากโครงการแทรกแซงต่อแต่ละเพศ และ
o       ความสามารถของต่ละเพศในการเข้าถึงทรัพยากรและการตัดสินใจ
-          ใช้นัยสำคัญของความกระจ่างนี้ เป็นข้อมูลในการวางแผนและการดำเนินงานขั้นต่อไป

ประโยชน์ของมิติหญิงชายต่อการพัฒนา
การเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นองค์ประกอบหลักของแนว GAD ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือและวิธีการให้โครงการแทรกแซงเหมาะสมยิ่งขึ้น  มีการชักชวนให้ผู้หญิงจากทุกระดับให้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา   การใช้วิธีการมีส่วนร่วม (participatory approach) ช่วยเสริมอำนาจผู้หญิงด้วยการปลุกจิตสำนึก และให้ได้ยินเสียงของพวกเธอเกี่ยวกับความต้องการ สิทธิ และความสามารถ   ด้วยแนวทาง GAD นี้ ไม่เพียงแต่จะเปิดเผยกระบวนการที่กดขี่ผู้หญิง (และผู้ชาย) ยังช่วยขับเคลื่อนผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
สำหรับ FAO มุมมองและตวามหมายของการพัฒนาได้เปลี่ยนไป หลังจากยุค UNCED และเป็นผลจากสองการประชุมในปี 1995 คือ การประชุมโลกสุดยอดเพื่อการพัฒนาสังคม  และ การประชุมสตรีโลกครั้งที่ 4   FAO ได้ตั้งหน่วยใหม่ Sustainable Development Department เพื่อปฏิบัติการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน     FAO มุ่งมั่นที่จะก้าวเลยการพร่ำถกเถียงในระดับนานาชาติสู่การผนวกมิติมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของความยั่งยืน ลงในวิสัยทัศน์ของโลกที่เกาะเกี่ยวสอดคล้องกัน เพื่อการพัฒนาเกษตรและชนบทอย่างยั่งยืน
ความก้าวหน้าของผู้หญิงเป็นหัวใจของการบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน  ผู้หญิงมีความรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในงานประจำวันทั้งด้านการผลิตและการเลี้ยงดูในครัวเรือน เช่น การหาฟืน/เชื้อเพลิง น้ำและอาหารเพื่อการบริโภคในครอบครัวหรือสำหรับค้าขาย   แต่พวกเธอไม่ค่อยมีปากเสียงหรือมีว่สนร่วมในการตัดสินใจ ที่กำหนดการจัดสรรทรัพยากร อันมีผลต่อวิธีการใช้ผืนดิน น้ำ และป่าอย่างยั่งยืน    ผู้หญิงได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรที่จะคงความยั่งยืนแก่ระบบนิเวศน์ และได้สั่งสมความรู้มากมายเกี่ยวกับความหลากหลายของพันธุกรรม  หากพวกเธอถูกกีดกันออกจากการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ภูมิปัญญานี้ก็จะสูญหายไป
ผู้หญิงมักเป็นผู้จัดหาสารพันสิ่งของเพื่อการยังชีพในครัวเรือน  เมื่อไรที่การเข้าถึงทรัพยากรการผลิตสำหรับพวกเธอคับแคบลง  คนจำนวนมากขึ้นจะต้องทุกข์ทรมานจากความยากจนและผลกระทบที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งความหิวโหย ทุพโภชนาการ และการเจ็บป่วย   การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากรและการบริการ จะช่วยเพิ่มผลผลิตในไร่นา ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และในที่สุดผลประโยชน์ก็จะเกิดมากขึ้น
การส่งเสริมการพัฒนาที่มีประสิทธิเชิงเศรษฐกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเท่าเทียม จะต้องเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาทั้งหมดเพื่อยกระดับความสามารถของผู้หญิง  FAO แสวงหาทางที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ ด้วยการมุ่งไปที่สิ่งที่ผู้หญิงต้องการจากการพัฒนา ดังที่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการสำหรับสตรีในการพัฒนา (Plan of Action for Women in Development)
-          ความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย (gender-based equity) การเข้าถึง และการควบคุมทรัพยากรการผลิต
-          เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบายในทุกระดับ
-          ลดภาระและเพิ่มโอกาสสำหรับการทำงานที่มีค่าชดเชยและรายได้
-         
.......................................


ภาคผนวก 3
ความมั่นคงของมนุษย์-สิทธิมนุษยชน-การพัฒนามนุษย์

นักสตรีนิยมได้ตั้งคำถามถึงความไปด้วยกันได้ของความมั่นคงของมนุษย์ กับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการปกครองโลก ซึ่งกำลังแสดงอาการกระหายสงคราม (ทั้งที่ติดอาวุธและตลาดการค้าเสรี) ว่า ในที่สุด นโยบายการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของมนุษย์  ใครได้ ใครเสีย และเพื่อใคร   นโยบายในนามดังกล่าว จะเอื้อต่อความมั่นคงของมนุษย์จริงไหม เพียงไร  ถ้าโลกขาดสันติ จะมีการพัฒนาและเสมอภาคได้ไหม  ถ้าอัตลักษณ์ของบุคคลถูกละเมิด สันติจะดำรงอยู่ได้อย่างไร  อะไรเป็นตัวชนวนตัวจริงที่ส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง
เพื่อหาคำตอบ นักสตรีนิยมได้รื้อถอนโครงสร้างความเชื่อ สมมติฐาน การเหมารวม ให้เห็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อน  โดยอาศัยความจริงที่ว่าประเด็นเจนเดอร์/เพศสภาวะ/มิติหญิงชาย ปรากฏอยู่ในทุกๆ อัตลักษณ์ เช่น ชนชั้น ชนชาติ เชื้อชาติ และสัญชาติ[xviii] และด้วยการพลิกวาทกรรมโดยอาศัยมิติหญิงชายในประเด็นการเมืองอัตลักษณ์ กลายเป็นกรอบการวิเคราะห์ที่ผนวกประเด็นห่วงใยต่างๆ ให้มนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง  ด้วยวิธีการนี้ นักสตรีนิยมเห็นว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบชายเป็นใหญ่/ปิตาธิปไตย (ไม่ใช่จำกัดว่าต้องเป็นเพศชาย)
Betty Reardon[xix] นักสันติศึกษา ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่กำหนดโดยสหประชาชาติ โดยมองว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นหัวใจของความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่มันเป็นทั้งประเด็นส่วนตัวและประเด็นสาธารณะ  ที่เกิดจากระบบการกดขี่แบบปิตาธิปไตย จึงต้องนำประเด็นนี้มาวิเคราะห์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์ในทุกระดับ  Reardon อธิบายว่าจะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้
1.       สิ่งแวดล้อมจะต้องค้ำจุน เกื้อหนุนชีวิตมนุษย์ได้
2.       ปัจจัยพื้นฐานเพื่ออำนวยความอยู่รอดของมนุษย์ (เช่นปัจจัย 4) จะต้องหามาได้
3.       ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิ ความเป็นมนุษย์ อัตลักษณ์ส่วนตัวและเชิงวัฒนธรรมจะต้องได้รับความเคารพ (ไม่ถูกละเมิด)
4.       มีความมั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
สังคมใดที่สามารถสร้างหลักประกันให้ประชาชนส่วนใหญ่ของตนได้มีชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขทั้งสี่ประการนี้ เรียกว่า สังคมที่ปลอดภัย   สังคมใดที่กำลังปฏิบัติการมุ่งสู่การทำให้เงื่อนไขทั้งสี่นี้เป็นจริงสำหรับประชาชนของตน เรียกว่ากำลังมุ่งไปสู่สังคมที่เป็นธรรม[xx]
กรอบคิดความมั่นคงของมุษย์ ช่วยเสริมมิติของการพัฒนาแก่กลไกสิทธิมนุษยชน และเพิ่มความสมบูรณ์แก่ฐานการพัฒนาการมนุษย์ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของผู้นำของโลกผ่านสหประชาชาติ[xxi]  กรอบคิดทั้งสาม จึงเฟืองสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมสู่สังคมที่เป็นธรรม



[i] บทความในส่วนนี้ อาศัยข้อมูลและการแปลบางส่วนจาก Paul Spicker. “An introduction to Social Policy”; [http://www2.rgu.ac.uk/publicpolicy/introduction/society.htm]
[ii] F Williams. 1988. Social policy, Polity. (อ้างใน Paul Spicker)
[iii] J. Lewis. 1992. “Gender and the development of welfare regimes”, Journal of European Social Policy, 2(3) 159-173. (อ้างใน Paul Spicker)
[iv] Paul Spicker. “An Introduction to Social Policy”
[v] H Hartmann. 1995. “The Unhappy Marriage of Marxism and Feminism”, in D Tallack (ed) Critical Theory: A reader, Harvester Wheatsheaf. (อ้างใน Paul Spicker)
[vi] David Korten. 2009.How to break the culture of making money from money” [http://www.sidint.net/how-to-break-the-culture-of-making-money-from-money/]
[vii] สนใจดูใน หน้าต่างวารี http://wari2010.blogspot.com/2010/09/blog-post.html
[viii] Diana Sarosi. nd. Human Security: Does Gender Matter? [http://humansecurityconf.polsci.chula.ac.th/Documents/Presentations/Diana.pdf]
[ix] Heidi Hudson. 2005. “ ‘Doing’ Security As Though Humans Matter: A Feminist Perspective on Gender and the Politics of Human Security”, Security Dialogue, 36 (2): 155-174 [http://sdi.sagepub.com/cgi/content/abstract/36/2/155]
[x] Gunhild Hoogensen and Kirsti Stuvøy. 2006. “Gender, Resistance and Human Security”, Security Dialogue, 37 (2): 207-228. [http://sdi.sagepub.com/cgi/content/abstract/37/2/207]
[xi] The United Nations and The Advancement of Women 1945-1996. 1996. New York: UN, p.64
[xii] รายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของประเทศไทย พ.ศ. 2547. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย. หน้า xii
[xiii] อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (แผ่นพับ โดย สค, 2006)
[xiv] www.gender.go.th
[xvi] สมาชิก 13 ประเทศ ได้แก่ ชิลี กรีซ ไอร์แลนด์ จอร์แดน แคนาดา มาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ สโลวีเนีย คอสตาริกา (สมาชิกล่าสุด) และไทย และมีประเทศผู้สังเกตการณ์ 1 ประเทศ คือ แอฟริกาใต้  
[xvii] ข้อความในบทนี้ แปลมาจาก “SDdimensions” (posted 1997) ผู้สนใจหาอ่านรายละเอียดและตัวอย่างเพิ่มในหัวเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม อาหาร/โภชนาการ นโยบาย/การวางแผน ได้จาก  http://www.fao.org/sd/wpdirect/WPdoe003.htm
[xviii] Heidi Hudson. 2005. “ ‘Doing’ Security As Though Humans Matter: A Feminist Perspective on Gender and the Politics of Human Security”, Security Dialogue, 36 (2): 155-174 [http://sdi.sagepub.com/cgi/content/abstract/36/2/155]
[xix] AWID. 2008. “Is Human Security A Useful Concept for Achieving Gender Justice, Human Rights and Development?” [http://www.awid.org/eng/Issues-and-Analysis/Library/Is-human-security-a-useful-concept-for-achieving-gender-justice-human-rights-and-development]
[xx] Muthien. “Engendering Security” [http://engender.org.za/ArticleEngenderingSecurity.html]
[xxi]  ในรายงานการพัฒนามนุษย์ ปี1994 มีการกล่าวถึง ความมั่นคงของโลก ว่าควรจะครอบคลุมไปถึงความมั่นคงของมนุษย์ใน 7 หัวข้อ คือ เศรษฐกิจ อาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพส่วนบุคคล ชุมชน และการเมือง    ซึ่งกลายเป็นหัวข้อที่ประเทศสมาชิกจะติดตามและรายงานความก้าวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น