การรณรงค์นโยบายสิทธิสตรี ในประเทศไทย
II. วิเคราะห์และสรุป
ดรุณี ตันติวิรมานนท์ & ชาชิ รัญจัน ปานดี
พ.ศ. ๒๕๕๑
๔. บทวิเคราะห์
ประสบการณ์ในการผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายทั้ง ๔ ขบวน ในทศวรรษ ๒๕๓๐ จะแยกวิเคราะห์ใน ๔ หัวข้อ คือ ปัจจัย ยุทธศาสตร์ ความสำเร็จ และ สิ่งท้าทายหรืออุปสรรค
ก. ปัจจัย
อนุสัญญาระหว่างประเทศ
ขบวนการสตรีสากลได้ขับเคลื่อนสังคมโลก จนมีผลให้ องค์การสหประชาชาติ ประกาศปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นปีสตรีสากล ตามด้วยทศวรรษสตรีที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๘) และทศวรรษสตรีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๒๙-๓๘) ในสองทศวรรษนั้น ผู้นำหญิงจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบกันเป็นจำนวนมหาศาล นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ในระหว่างการประชุมสตรีโลกครั้งที่ ๔ ณ กรุงปักกิ่ง ผู้นำหญิงจากทุกประเทศ ทุกอาชีพ ทุกระดับ—รวมทั้งชาวบ้านรากหญ้า—ได้ถูกนำขึ้นสู่เวทีโลกอย่างตั้งใจ ด้วยทุนมหาศาลจากองค์กรพัฒนาระหว่างชาติทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันเป็นผลจากแรงผลักดันของขบวนการสตรีสากล ผลจากการระดมพลังผู้หญิงในเวทีโลกใน ๒ ทศวรรษนั้น คือนโยบายและ “เครื่องมือ” มากมาย เพื่อใช้ส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิงทั่วโลก เครื่องมือ ๒ ชิ้น ที่สำคัญ คือ อนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ (CEDAW) และปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Platform For Action, BFPA)
หญิงไทยได้ใช้เครื่องมือทั้งสองในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามสัญญาต่อประชาคมโลกในการแก้ไขกฎหมาย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยในฐานะประเทศภาคี ก็มีพันธะต้องรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการอนุสัญญาฯ หรือเวทีโลก การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เริ่มมีสีสันและผลกระทบต่อภาครัฐมากขึ้น เมื่อยูนิเฟมเป็นผู้ “ชูธง” ในระดับสากล และมีการเสริมด้วย อนุสัญญาสิทธิเด็ก
บรรยากาศทางสังคมและการเมืองในประเทศ
หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ภาคประชาสังคมไทยมีความมั่นใจสูงขึ้น นักวิชาการ ปัญญาชน และนักขับเคลื่อนต่างๆ ได้ผลักดันรัฐบาลให้เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของสังคม ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจสู่ชุมชน (ซึ่งก็เป็นกระแสในระดับสากลขณะนั้นเช่นกัน) กระแสผลักดันนี้ ได้นำไปสู่การประกาศ พ.ร.บ. ใหม่เกี่ยวกับองค์กรบริหารการปกครองระดับตำบล (อบต) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในปีต่อมา มีการประชุมสตรีโลกครั้งที่ ๔ ที่กรุงปักกิ่ง เป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงรากหญ้าได้เข้าร่วมประชุมในระดับโลก เหตุการณ์เหล่านี้ เอื้อต่อการขยายตัวขบวนผู้หญิง
ในขณะที่ภาคประชาสังคมเริ่มเติบโต ภาครัฐที่เป็นพลเรือนจากการเลือกตั้งขณะนั้น กลับอ่อนแอ สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาหมักหมมจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา และคอรัปชั่นที่แพร่ระบาด ในที่สุด เศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยก็แตก และลามปามเป็นวิกฤตทางการเงินในทั่วภาคพื้นเอเชีย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การคาบเกี่ยวของวิกฤตการเศรษฐกิจการเมือง ทำให้รัฐบาลยอมอ่อนข้อกับภาคประชาชน ได้ประกาศให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนมีส่วนร่วม ผลคือรัฐธรรมนูญที่ไม่เพียงแต่จะเพิ่มการคุ้มครองและประกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลเข้มแข็งมาก จนเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๕๕๐
ตัวจักรการขับเคลื่อน
องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ
อนุสัญญาสากลฉบับต่าง ๆ ที่มีสาระเกี่ยวกับการพัฒนาสตรี และการประชุมสตรีโลก ครั้งที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘) มีผลโดยตรงต่อนโยบายขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในโลกที่สาม โดยต้องมีงบเฉพาะให้โครงการผู้หญิงด้วย ทำให้การขับเคลื่อนของผู้หญิงในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ ลื่นไหลไปง่ายขึ้น องค์กรสำคัญที่ให้ทุน สนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับการรณรงค์ของผู้หญิง ได้แก่ มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท มูลนิธิเอเชีย AusAID (ออสเตรเลีย) CIDA (แคนาดา) และ ยูนิเฟม
หน่วยงานภาครัฐ
สค มีหน้าที่ช่วยให้รัฐบาลดำเนินการตามพันธะสัญญาใน ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง และอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ตอบรับการรณรงค์ของผู้หญิงและส่งต่อข้อเรียกร้องสู่กระบวนการนิติบัญญัติ และทำหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของหญิงไทยแก่องค์กรนานาชาติ ดังนั้น สค จึงมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการช่วยผลักดันให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้หญิง
การที่ กสม มีกรรมการหญิงที่มีความรู้และความตั้งใจในการบูรณาการมิติหญิงชายและเพศสภาพในงานของตน สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรี และจัดพิมพ์เป็นเอกสารของ กสม เป็นการเปิดพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมใน กสม
องค์กรภาคประชาสังคมไทย
ภาคประชาสังคมไทยส่วนใหญ่ เติบโตมาจากการขบวนการนักศึกษาในยุค ๑๔ และ ๖ ตุลา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และ ๒๕๑๙ ตามลำดับ ครั้งนั้น มีอาจารย์หญิงและนักศึกษาหญิงร่วมด้วยหลายคน อดีตนักกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ ๆ ในสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ธุรกิจ และสื่อมวลชน ผู้หญิงหลายคนได้สวมหลายบทบาท เช่น เป็นอาจารย์/นักวิชาการ และเป็นนักเคลื่อนไหว/ที่ปรึกษาขององค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น บางส่วนก็ได้ก้าวสู่อาชีพบริหาร ในระบบราชการ หรือ ในองค์กรนานาชาติ ประสบการณ์ร่วมสมัยของบุคคลเหล่านี้ เป็นทุนร่วมสมัยทางสังคม สำหรับการรณรงค์ บรรยากาศทางการเมือง และปัจจัยเอื้อ ในทศวรรษ ๒๕๓๐ มีส่วนผลักดันให้กลุ่มผู้หญิงนักเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง ได้ออกไปเชื่อมต่อกับผู้หญิงในฐานรากของสังคม ทำให้การรณรงค์มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
ข. ยุทธศาสตร์
ผู้นำสตรีในแต่ละขบวน ได้ใช้ความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรในภาครัฐ ด้วยการประพฤติตัวในกรอบของ “ผู้หญิงที่ดีและน่านับถือ” ได้ใช้วิธีการขอเข้าพบเพื่อเจรจา ใช้วาจาที่เหมาะสมและปฏิภาณไหวพริบในการต่อรอง ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงความอ่อนน้อม อดทนและอดกลั้น ในกรอบวัฒนธรรมไทย เป็นลักษณะ “อ่อนนอก แข็งใน” มากกว่าตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ที่ วิพากษ์วิจารณ์ พิพากษา ฝ่ายตรงข้ามอย่างเปิดเผย ในกรณีที่สี่ แม้แรงงานหญิงได้ใช้วิธีเดินขบวนบนท้องถนน และนั่งประท้วงหน้าทำเนียบอย่างต่อเนื่อง หรือ “ดื้อแพ่ง” แต่ก็ไม่ลบหลู่ศักดิ์ศรีของ “ผู้ใหญ่” ทั้งในภาครัฐ และในสหภาพแรงงาน ใช้การชนะใจด้วยการขอร้องด้วยอัธยาศัยที่ดี มีเหตุผล ในขณะเดียวกัน ก็รักษาบุคลิกที่ส่อถึงความเด็ดขาดและมั่นใจในตัวเอง ในแต่ละกรณี ผู้หญิงอาจได้รับอิทธิพลทางความคิดบางอย่างจากสตรีนิยมตะวันตก แต่ผู้หญิงไทยก็ยังใช้วิธีการต่อรอง “แบบไทยๆ” อย่างติดดิน ในการขอแก้กติกาสังคม
ในเวลาเดียวกัน มีการสร้างฐานมวลสตรี การสร้างพันธมิตรในแนวราบ มักอยู่ในรูป จัดประชุม เสวนาในเมืองร่วมกับองค์กรผู้หญิงต่าง ๆ และนักวิชาการ ให้การอบรมทักษะความเป็นผู้นำให้สตรีในชุมชนเมืองและชนบท สร้างความตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหา ซึ่งเป็นการสร้างภูมิความรู้ (ขยายฐานข้อมูลชีวิตจริง) แก่สาธารณะชน ด้วยการจัดเวทีอภิปราย นิทรรศการ ซึ่งกลายเป็นข่าวที่สื่อมวลชนช่วยขยายฐานการรับรู้ แต่ละองค์กรมักจะมีจดหมายข่าว และงานวิจัย เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของตนเองต่อสมาชิกและสาธารณะ ความสำเร็จในการผลักดันและต่อรองกับภาครัฐในแนวตั้ง ขึ้นอยู่กับแรงหนุนจากความตื่นตัวของสังคม และแนวร่วมในบรรดานักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และผู้นำในภาคส่วนเศรษฐกิจต่างๆ บางครั้ง ศูนย์สตรีศึกษาจะจัดประชุมทางวิชาการ ซึ่งเป็นโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ได้เสนอผลงานศึกษาวิจัย
การใช้โอกาสและทรัพยากรสังคม ในการขับเคลื่อนใน ๔ กรณีศึกษา จะยกเป็นตัวอย่างได้ ดังต่อไปนี้
การล็อบบี้กับอำนาจรัฐ
วันสตรีสากล ๘ มีนาคม ได้ถูกใช้ เป็นเวทีสาธารณะประจำปี ในการนำเสนอ ถึงปัญหา (ประเด็นที่ผู้หญิงห่วงใย) พร้อมข้อแนะนำแก้ไข ให้ “ผู้ใหญ่” ในกระทรวงมีส่วนรับรู้ เช่น กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี มีการนำเดินขบวนไปบนถนนหรือจัดกิจกรรมที่หน้าสถานที่ราชการ และยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรี ส่วนสถาบันวิจัยฯ และสมาคมส่งเสริมสถานภาพฯ ได้ริเริ่มการมอบรางวัลดีเด่น แก่ผู้นำชุมชนหญิง เป็นต้น มพญ ใช้วิธีเชิญข้าราชการระดับสูงให้เป็นประธานในการประชุมในวันสตรีสากล ถือเป็นโอกาสฝากฝังคำเรียกร้องพร้อมข้อมูล “พิธีกรรม” เหล่านี้มักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่ขยายวงการรับรู้ไปสู่ผู้ชมทั่วประเทศ
การเข้าถึงและการใช้ข้อมูล
ข้อได้เปรียบของสถาบันวิจัยบทบาทฯ คือ เข้าถึงฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเมือง ได้ใช้จุดแข็งนี้ ผลิตเอกสารที่สรุปและรวบรวมสถิติต่างๆ ในรูปแบบที่อ่าน/เข้าใจง่าย เอกสารเหล่านี้ เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์อย่างดีสำหรับการรณรงค์ในสองกรณีแรก ในกรณียุติความรุนแรง มีการศึกษาวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในระดับต่าง ๆ ซึ่งนำไปใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลระดับสากลได้ ทำให้การขับเคลื่อนมีความเชื่อมโยงกับกระแสโลก ในกรณีลาคลอด ผลการศึกษาของ มพญ ชี้ให้เห็นว่า นโยบายลาคลอดของประเทศไทย “ล้าหลัง” ซึ่งกระทบกระเทือนภาพพจน์ของรัฐบาล วิธีการนี้ นับได้ว่าประสบความสำเร็จ แม้ว่าประโยชน์ระยะแรกจะตกอยู่กับแค่ข้าราชการหญิง แต่ก็กลายเป็นชนวนให้ขบวนการแรงงานหญิงมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น ในการลุกขึ้นต่อสู้
การสื่อสาร
โดยทั่วไป ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายรับ คือ เป็นข่าว หรือให้ข่าว ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เดินสายให้สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่รู้จักกัน เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเป็นผู้พูดกับสาธารณชนโดยตรง มผญ ได้ทำวีดีโอ บันทึกภาพและเสียงของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของปัญหา เป็นต้น
ความสำเร็จของกรณีสิทธิลาคลอด ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจแยกตัวของกลุ่มผู้นำแรงงานหญิง ออกมาเป็นกลุ่มเล็ก คือ กลุ่มบูรณาการฯ ทำให้ใช้ต้นทุนน้อย เมื่อเทียบกับการขับเคลื่อนโครงสร้างที่ซับซ้อนของสหภาพแรงงาน ความยืดหยุ่นในกลุ่มเล็กช่วยให้ผู้นำแรงงานหญิงสามารถต่อสายบัญชาการโดยตรงที่กระจายออกถึงแรงงานหญิงในโรงงานต่างๆ ได้รวดเร็ว (สื่อสารภายในเครือข่าย) ในการสื่อสารกับสาธารณะชน กลุ่มบูรณาการฯ ได้ใช้วิธีสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างความสะเทือนใจในสังคมไทย ซึ่งถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ โดยให้หญิงมีครรภ์ เดินนำขบวนไปบนท้องถนน และเผยแพร่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นของมารดาที่ต้องมีเวลาอยู่กับทารกแรกเกิดสามเดือน โดยอาศัยนักวิชาการและแพทย์ พยาบาลเป็นโฆษก (ใช้บุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมสูงกว่าตน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์แทนต่อสาธารณชน)
การสร้างเครือข่าย
ความสำเร็จของเครือข่ายรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งมาจากการประสานงานกับองค์กรเครือข่ายสตรีต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และหาแนวร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ผู้ประสานงานในขณะนั้น คือ อ.ธีรนาถ กาญจนอักษร ที่สามารถสื่อสารและเข้าถึงความรู้สึกของคู่เจรจาในทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานถึงนายกรัฐมนตรี[1]
เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว นอกจากเครือข่ายองค์กรผู้หญิงหลากหลาย ที่ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน มีกลุ่มเครือข่ายองค์กรที่รณรงค์แก้กฎหมายและการมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างต่อเนื่องมานาน โดยมีสมาคมบัณฑิตฯ เป็นรุ่นบุกเบิก สมาคมบัณฑิตฯ มีความยั่งยืน เพราะเริ่มจากศิษย์เก่านิติศาสตร์ในสถาบันเดียวกัน (ต่อมาไม่จำกัดสถาบัน) สมาคมฯ จึงมีต้นทุนทางสังคมสูง ในการติดต่อกับบุคลากรในแวดวงกฎหมาย และกลไกภาครัฐ พื้นที่ปฏิบัติการของสมาคมบัณฑิตฯ ได้ชยายออกไป เมื่อสมาชิกได้เปิดองค์กรใหม่ คือ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ซึ่งขยายสมาชิกภาพเป็น นักวิชาชีพที่เป็นชาย และไม่จำกัดแค่กฎหมาย ต่อมา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ได้ก่อตั้ง สถาบันวิจัยบทบาทฯ ให้เป็นหน่วยวิจัยและรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการผลักดันประเด็นสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกลไกภาครัฐ (เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคของผู้หญิง) เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมส่งเสริม ฯ ได้ขยายตัวจากการเปิดบ้านพักฉุกเฉินแก่ผู้หญิงเคราะห์ร้าย ไปเป็นมหาวิทยาลัยแก่แม่ชี
ในทศวรรษ ๒๕๓๐ กลุ่มเครือข่ายนี้ ได้ขยายลงสู่ผู้หญิงระดับรากหญ้า สถาบันวิจัยบทบาทฯ ได้รวบรวมผู้นำชุมชนสตรี จากภาคต่าง ๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมของตน เป็นเครือข่าย ตมส ซึ่งกลายเป็นฐานสำคัญเมื่อสถาบันต้องการจะขับเคลื่อน เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ การผลักดันระบบสัดส่วน เครือข่ายนี้ ยังเป็นฐานข้อมูลที่ สถาบันฯ สามารถใช้ในการทำให้สังคมตระหนักถึงบทบาทและตัวตนของผู้หญิงชนบท โดยคัดเลือก “ผู้หญิงเก่ง” และให้รางวัลในวันสตรีสากล ทุกปี
ด้วยเหตุนี้ สมาคมบัณฑิตฯ สมาคมส่งเสริมฯ สถาบันวิจัยบทบาท จึงเป็นเครือข่ายที่ค่อนข้างมั่นคง และเป็นแกนนำสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในการขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายและการมีส่วนร่วมทางการเมือง การที่สมาชิกของเครือข่ายนี้ส่วนใหญ่เป็นสตรีชั้นสูง ทำให้สามารถเข้าถึงนักการเมือง และผู้มีชื่อเสียงในสังคม รวมทั้งสามารถเชิญมาเป็นกรรมการที่ปรึกษาของทั้งสมาคมฯ และสถาบันฯ การมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่นนี้ ทำให้สามารถติดต่อขอทุนง่ายขึ้น และเป็นที่เชื่อถือของหน่วยราชการ
ส่วนกรณีการยุติความรุนแรง มผญ ได้เป็นแกนนำสำคัญตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผู้ก่อตั้งมีต้นทุนความสัมพันธ์กับนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวสตรีนิยมในต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความรุนแรงและการค้ามนุษย์ จึงมีความชำนาญในเชิงทฤษฎีสตรีนิยมและวาทะกรรมสากล ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มผญ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Leiden ในเนเธอร์แลนด์ ทำโครงการวิจัยเรื่องการค้าหญิงไทย ผลจากการศึกษานี้ ช่วยให้การรณรงค์แก้กฎหมายปราบปรามโสเภณี และ ออกกฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ สำเร็จ โครงการวิจัยต่างๆ ของ มผญ เป็นการสร้างเครือข่ายกับผู้หญิงในชุมชนชนบทไปในตัว ในภาคเหนือและอีสาน หลังจากมหันตภัยสึนามิ มผญ ได้เคลื่อนสู่ภาคใต้ และได้เริ่มสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้หญิงลำเค็ญจากภัยสึนามิและภัยจากการปราบปรามความขัดแย้งใน ๓ จังหวัดภาคใต้
ในกรณีลาคลอด มพญ ใช้ข้อได้เปรียบในการทำงานวิจัยด้วยความช่วยเหลือของ CAW (คณะกรรมการแรงงานหญิงในเอเชีย) แม้กลุ่มบูรณาการฯ จะเป็นฐานบัญชาการจริง แต่เวลาเคลื่อนไหว จะใช้ชื่อ “คณะทำงานรณรงค์เรียกร้องสิทธิลาคลอด ๙๐ วัน” เป็นการแสดงตัวว่า ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องของคนกลุ่มเดียว (แรงงานหญิง) แต่เป็นกลุ่มคนที่มีพื้นฐานหลากหลาย รวมตัวด้วยอุดมการณ์หนึ่งเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะ
ค. ผลพวง
อาจกล่าวได้ว่า ทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นช่วงเวลาที่องค์กรผู้หญิง/ผู้นำ ได้พัฒนาสมรรถภาพของตนจนกลายเป็นผู้ชำนาญในประเด็นต่างๆ เช่น สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ นอกจากบุกเบิกเรื่องบ้านพักฉุกฉิน ยังร่วมกับสถาบันวิจัยบทบาทฯ ในเรื่องความเสมอภาคทางการเมือง และมาตรการพิเศษประกันสัดส่วนหญิงชาย โดยมีสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ เป็นฐานองค์ความรู้ด้านกฎหมาย มพญ ในเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง และการลดความรุนแรงต่อผู้หญิง มผญ ในเรื่องต่อต้านการค้าหญิงและความรุนแรง ส่วนกลุ่มบูรณาการฯ เป็นศูนย์กลางของแรงงานหญิงที่ทำงานคู่ขนานกับสหภาพแรงงานของสมาชิก คุณูปการของกระบวนการและผลพวงเหล่านี้ คือ เพิ่มความตื่นตัวในสังคมและความมั่นใจในตัวเองของผู้หญิงทั่วไป เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตำแน่งการตัดสินใจในมิติและระดับต่างๆ ความพยายามในการยื่นมือออกไปเกาะเกี่ยวกับผู้หญิงในภูมิภาคทั่วประเทศ และหญิงด้อยโอกาสทั้งในเมืองและชนบท ได้ทำให้เกิดเครือข่ายและการยอมรับจากสังคมและภาคประชาสังคมมากขึ้น และกฎหมายเคารพสิทธิสตรีมากขึ้น
ความเชื่อมั่นในตัวเอง และ ความตื่นตัวในสาธารณชน
การฝึกอบรมทักษะผู้นำแก่ผู้หญิงในชุมชนเมืองและชนบท เป็นการเปิดหูเปิดตาแก่ผู้หญิงทั่วไป และเปิดโอกาสการเรียนรู้แก่หญิงผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งเตรียมผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในเวทีการเมือง หรือการกำหนดนโยบายสาธารณะ การได้เห็นผู้หญิงธรรมดาๆ ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีหาเสียง หรือ ได้รับรางวัล “ผู้หญิงเก่ง” ในวันสตรีสากล ล้วนมีส่วนทำให้ผู้หญิงทั่วไป เกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น การจัดให้มีการประชุมซึ่งเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เข้าร่วมการประชุมสตรีโลกที่ปักกิ่ง) ทำให้ผู้หญิงมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ไม่ใช่จมอยู่กับปัญหาของตนเองอย่างเดียว ได้ตระหนักถึงความซับซ้อนและหลากหลายของปัญหาผู้หญิง และมองเห็นว่าการแก้ไขต้องร่วมมือกัน การที่สื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าว เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ เปิดมิติใหม่ให้สังคมได้เห็นความสำคัญ และคุณค่าของผู้หญิงอื่นๆ นอกเหนือจากผู้หญิงในครอบครัวของตน
การมีส่วนร่วม
ความตื่นตัวของผู้หญิง ความเข้าใจและการยอมรับบทบาทสาธารณะของผู้หญิง เป็นแรงดลใจให้ เริ่มมีผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งมากขึ้น ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงจากชนกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ และบุคคลข้ามเพศ เริ่มเข้าร่วมเวทีการรณรงค์ของผู้หญิงมากขึ้น กลุ่มเหล่านี้มักมีฐานของตัวเองอยู่แล้ว จึงสามารถเชื่อมกับขบวนผู้หญิงต่าง ๆ ในบางโอกาส ในด้านการเมืองระบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองเริ่มเห็นศักยภาพของผู้หญิงในฐานะผู้แทน หรือการเป็นสมาชิกของพรรค ในขณะที่มีผู้หญิงนักเคลื่อนไหว เขยิบบทบาทขึ้นเป็นนักการเมืองโดยตรง (ถึงอย่างไร จำนวนผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในรัฐสภาและวุฒิสภาก็ยังมีน้อย และไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าประเด็นผู้หญิงจะได้รับความสนใจหรือจะมีการตอบสนองการเรียกร้องของผู้หญิง)
แนวร่วม
การรณรงค์ต่างๆ เป็นการเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักวิชาการ และข้าราชการ (เช่น ผู้พิพากษาและอัยการ บุคลากรในระบบยุติธรรม) ที่เห็นใจปัญหาของผู้หญิงในระดับโครงสร้าง ผู้นำในภาคประชาสังคมกว้างให้การยอมรับการทำงานและประเด็นของผู้หญิง การณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นตัวอย่างของการรณรงค์ที่ใช้วิธีสร้างแนวร่วมใหม่ โดยขับเคลื่อนพันธมิตรระหว่างองค์กรผู้หญิงในเมือง และเครือข่ายในชนบท ในขณะเดียวกัน ก็เกาะติดกับกระแสการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมใหญ่ เมื่อเกิดวิกฤต/โอกาสทางการเมืองดปิดขึ้น มผญ ได้สนับสนุนการขยายตัวของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติ เป็นการสร้างพันธมิตรในแนวราบที่เจาะลึกลงไประดับชุมชน ซึ่งครอบคลุมถึง กลุ่มผู้หญิงมุสลิมต่างๆ ใน สามจังหวัดภาคใต้ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่าชาติพันธุ์ในที่สูงและชายแดน รวมถึงผู้ไร้สัญชาติ มพญ ได้ส่งเสริมให้ผู้ชายในชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ในโครงการลด ละ เลิก การดื่มเหล้าเพื่อยุติความรุนแรง ในกรณีสิทธิลาคลอด ความชัดเจนในประเด็นที่ต่อสู้ บวกกับความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวและพร้อมเพรียงของแกนนำหญิง กลายเป็น “แม่เหล็ก” ที่กลุ่มต่างๆ เริ่มเข้ามาร่วมในการรณรงค์ครั้งนั้น จนประสบความสำเร็จในระยะเวลาสั้นเมื่อเทียบกับการรณรงค์อื่น ๆ ของขบวนการแรงงาน ปัจจุบัน ประเด็นแรงงานข้ามชาติซึ่งมักรวมถึงประเด็นการค้ามนุษย์ ได้เริ่มเป็นฐานร่วมอีกมิติหนึ่งสำหรับกลุ่มบูรณาการฯ มพญ และ มผญ
การทำงานอย่างต่อเนื่องและมีสีสัน ของผู้หญิงขบวนต่าง ๆ มีส่วนดลใจให้นักวิชาชีพหญิง (เช่น นักข่าว นักกฎหมาย) กล้าดิ้นรนต่อสู้กับระบบอำนาจที่ครอบงำอยู่ในอาชีพของตน โดยทำงานหนักยิ่งขึ้นในตำแหน่งหน้าที่ ที่ตนรับผิดชอบ (เช่น สอดแทรกข่าว/สารคดีผู้หญิง หรือช่วยเหลือด้านกฎหมาย) แม้บางครั้งอาจจะเสี่ยงต่อความมั่นคงในอาชีพของตนเอง
การแก้กฎหมาย กับสถานภาพสตรี
ความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขและตรากฎหมายใหม่ นอกจากเป็นการแก้กติกาสังคมให้มีความเสมอภาคมากขึ้น ยังเป็นการแก้เจตคติของสังคมอย่างหนึ่ง เป็นการยกระดับสถานภาพหญิงไทยในโครงสร้างสังคม การที่สื่อมวลชนช่วยเปิดคอลัมน์ หรือจัดรายการพูดคุยทางวิทยุ/โทรทัศน์ ให้มีการถกเถียงในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย เป็นการช่วยให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้ ประเด็นทีเคยต้องห้ามต่าง ๆ ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ เช่น โสเภณี การค้ามนุษย์ การทุบตีลูกเมีย การข่มขืนหรือลวนลามทางเพศ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับ ภาวะอนามัยเจริญพันธุ์
ง. สิ่งท้าทาย
แม้ความตื่นตัวเรื่องผู้หญิงจะได้ขยายวงกว้างขึ้น แต่จำนวนองค์กรผู้หญิงที่ทำงานในแนวรณรงค์ดังกล่าว ยังมีน้อย ในขณะเดียวกันปริมาณปัญหาก็เพิ่มขึ้นและซับซ้อนกว่าเมื่อ สองทศวรรษที่แล้ว ในที่นี้จะวิเคราะห์แค่สมรรถภาพของตัวจักรสำคัญกระบวนการรณรงค์นโยบายผู้หญิง
สค
การปรับโครงสร้างจาก กสส สู่ สค ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสมรรถภาพของ “กลไกทางสถาบันระดับชาติเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรี”ได้โดยอัตโนมัติ ความเป็นระบบข้าราชการ ที่ประกอบด้วยกฎระเบียบที่ซับซ้อนและให้ความสำคัญแก่ระบบอาวุโสมากกว่าความสามารถ ไม่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าสำหรับเจ้าหน้าที่ ๆ กล้าคิด กล้าทำ หรือกล้าเปลี่ยนแปลง ทำให้เจ้าหน้าที่ ๆ แม้จะมีปริญญาโทสาขาสตรีศึกษา หรือกำลังเรียนสตรีศึกษาระดับปริญญาโท ต้องลำบากใจในการเอาทฤษฎีสตรีนิยม/ศึกษามาใช้ เจ้าตัวมักจะต้องคำนึงถึงความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพการงานของตนก่อนอุดมการณ์ที่จะ “ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสตรี” ส่วนในการทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคม มักมีความอุ้ยอ้าย ด้วยโครงสร้างและกฎระเบียบ สค ต้องรับผิดชอบอีกสองโครงสร้าง คือ เครือข่ายศูนย์สังคมสงเคราะห์ (จากกรมประชาสงเคราะห์เดิมในจังหวัดต่างๆ) และ เครือข่ายคณะกรรมการสตรีประจำจังหวัด/อำเภอ/หมู่บ้าน (กพสจ/อ/ม) (ซึ่งริเริ่มโดยกรมพัฒนาชุมชนเดิม เมื่ออยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) โครงสร้างเหล่านี้ มีพื้นฐานวัฒนธรรมทางความคิดประเด็นผู้หญิงและวิธีทำงานต่างกัน ทำให้การทำงานตอบรับการรณรงค์หรือร่วมกับภาคประชาสังคมไม่ค่อยชัดเจน[2]
ศูนย์สตรีศึกษา
แม้ว่าจะมีหลายมหาวิทยาลัยที่มีการสอนสตรีศึกษาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท ต้องทำงานหนักในการระดมทุนเองเพื่อดำเนินการสอน เพราะมหาวิทยาลัยต้นสังกัด (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มีนโยบายตั้งแต่แรก (ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบ) ที่จะให้งบจำนวนจำกัดเท่านั้น วิธีหนึ่งของการหาทุน คือ จากค่าเล่าเรียนของนักศึกษา จึงต้องระดมกำลังกันเอง โฆษณาชักชวนให้มีจำนวนนักศึกษาสมัครเรียนมากพอ วิธีที่สอง คือ ขอทุนจากแหล่งทุนภายนอกเพื่อให้เป็นค่าเล่าเรียนของนักศึกษา ภายใต้งบประมาณที่จำกัด อาจารย์ประจำต้องแบ่งเวลาในการพัฒนาและสังเคราะห์ทางวิชาการ เพื่อการระดมทุน รวมทั้งงานกิจกรรมขับเคลื่อนสังคม ในวาระต่าง ๆ
แม้ว่า โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มธ จะได้ผลิตวิทยานิพนธ์ปริญญาโทออกมามากพอสมควร แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย ส่วนที่ ศูนย์สตรีศึกษา มช อ.วิระดา สมสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง ได้ผลิตงานเขียนหลายชิ้นในนามของศูนย์สตรีศึกษา และได้จัดทำเว็บไซด์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหญิงไทย เป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าทางวิชาการ แต่ ศูนย์สตรีศึกษา มช มีนักศึกษาจำนวนน้อย
โดยทั่วไป ไม่ใจว่าศูนย์สตรีทั้งสองแห่งได้ให้ความสนใจกับประเด็นการช่วยผลิตบุคลากรเพื่อเสริมสมรรถภาพของขบวนการรณรงค์นโยบายผู้หญิงขนาดไหน
องค์กรเอกชนสตรี
สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในทศวรรษ ๒๕๓๐ ต่างกับยุคโลกาภิวัตน์ ในทศวรรษ ๒๕๕๐ มาก สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวสตรี ความแตกต่างที่สำคัญ คือ โอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่องค์กร ที่ผ่านมา ผู้หญิงมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ในขณะทำงานฝึกอบรมประเด็นผู้หญิง/เพศสภาพ ผนวกกับประเด็นพัฒนาอื่น ๆ หรือในการจัดกระบวนการรณรงค์ ปัจจุบัน นโยบายการให้ทุนขององค์กรพัฒนาระหว่างชาติเปลี่ยนทิศทาง องค์กรไทยจึงต้องปรับยุทธศาสตร์การหาทุน และการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับระบบ/มาตรฐานการตรวจสอบขององค์กรที่ให้ทุน จำเป็นต้องใช้ทักษะการเขียนโครงการและรายงาน การดำเนินงานตามแผนและการบริหารเงิน การประเมิน รวมทั้งการใช้ภาษาต่างชาติ
แต่ทักษะเหล่านี้ มักไม่มีการสอนในระบบการศึกษาไทย ผู้จบปริญญาตรีต้องเรียนรู้จากงานใหม่ องค์กรผู้หญิงส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งทุนต่างชาติในการทำกิจกรรม ไม่มีงบสำรอง หรือแผนกพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหมือนบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ที่มีการบ่มเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ การที่องค์กรผู้หญิงไม่สามารถรับประกันความมั่นคง/ถาวรของการจ้างงาน หรือให้เงินเดือนมากพอ (เทียบกับภาคธุรกิจ) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ ๆ รู้งานแล้วลาออก ส่วนคนรุ่นใหม่ที่มาทำงาน ถึงแม้จะมาด้วยใจรัก ก็อาจตั้งต้นไม่ถูก ถ้ารุ่นพี่ไม่มีเวลาพอที่จะสอน ดังนั้น องค์กรผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ
ส่วนผู้นำ หรือผู้อาวุโส มีความเชี่ยวชาญในการผลักดันและงานบริหาร ก็เริ่มอ่อนล้าลงตามกาลเวลา แต่ก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม เพราะหาคนทำแทนยาก การทำงานเป็นทีมไม่ใช่วัฒนธรรมไทย องค์กรใดไม่สามารถจัดการความสัมพันธ์ภายในองค์กรได้ ความขัดแย้งย่อมเกิด การทำงานแบบแนวร่วมในแนวราบเป็นเรื่องท้าทายสำหรับขบวนการหญิงไทย สิ่งเหล่านี้ ทำให้ความก้าวหน้าของประเด็นผู้หญิงชะลอตัวลง ไม่สามารถตอบโต้กับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกวันได้ทันท่วงที ที่สำคัญ คือ ต่างต้องทำงานหนักในของอาณาเขตของตน เพื่อความอยู่รอดขององค์กร นอกจากนี้ โอกาสทำงานร่วมกันไม่มีเหมือนเมื่อครั้งระดมพลไปประชุมที่เวทีโลกปักกิ่ง หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐[3] สาเหตุเหล่านี้ ทำให้ความห่างเหินระหว่างองค์กรผู้หญิงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความเป็นระบบข้าราชการ ทำให้ สค ไม่สามารถทำงานกับเอ็นจีโอผู้หญิงได้อย่างคล่องตัว (ยกเว้น สภาสตรี และบางองค์กร)
ส่วนพันธมิตรแนวราบกับผู้ชายและองค์กรพัฒนาอื่น ๆ ขึ้นกับแต่ละองค์กร ส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องสิทธิผู้หญิง แม้จะเริ่มมีการเปิดโอกาสให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วม (เช่น การรณรงค์เลิกเหล้า ของ มพญ และการให้รางวัลแก่ “ชายเก่ง” ในวันสตรีสากล ของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ) แต่แนวร่วมกับผู้ชายก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ดังเสียงสะท้อนจากผู้ให้สัมภาษณ์ว่า
วัฒนธรรมไทยทำให้ผู้ชายมีความคิดผิดๆ และทำร้ายเมียตัวเอง ทั้งทุบตี หรือข่มขืน จะทำยังไรให้ผู้ชายเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเช่นนี้
และมีความเห็นว่า ควรจะมีโครงการที่ทำให้ผู้ชายมีส่วนร่วมมากกว่านี้
การใช้/เข้าถึงสื่อและนักการเมืองยังน้อย องค์กรสตรีมีการสร้างสื่อของตน แต่การใช้สื่อมวลชนยังน้อย ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็มีปัญหาทางโครงสร้าง (ต้องเอาใจผู้ลงทุน และการตัดสินใจระดับสูงส่วนใหญ่ก็ยังมีผู้ชายเป็นส่วนมาก) และถูกการเมืองแทรกแซง แม้วงการสื่อมวลชน เช่น สมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะมีคณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง[4] แต่ดูเหมือนความเชื่อมโยงระหว่างนักข่าวหญิงด้วยกัน กับระหว่างนักข่าวและองค์กรสตรี ยังเป็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าเป็นภาคีขับเคลื่อนร่วมกัน จึงทำให้เกิดความรู้สึกสวนทางกัน เช่น
นักข่าวมักลืมไปว่าสาธารณชนนั้น มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง และ ยังมีงานต้องทำอีกมากที่จะทำให้สื่อมวลชนมีความอ่อนไหวในมิติหญิงชาย
การแยกกันทำงาน และยังคงเน้นในประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงเป็นใหญ่ ทำให้ขบวนการผู้หญิง ไม่มีกำลังพอที่จะขบประเด็นเศรษฐกิจโลก เช่น เรื่องการค้าเสรีที่มีผลต่อสถานภาพของผู้หญิงทุกระดับแต่ต่างกันที่คุณภาพ หรือปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเรื่องปากท้องอย่างที่กลุ่มบูรณาการฯ ประสบ
โดยทั่วไป ความขาดแคลนด้านงานวิจัยและระบบสารสนเทศที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนของผู้หญิงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขบวนการผู้หญิงไทยยังขาดเอกภาพ แม้ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา จะมีการขับเคลื่อนของผู้หญิงและภาคประชาสังคมมากมาย แต่ก็ยังขาดการบันทึก ศึกษา สรุปและสังเคราะห์บทเรียนอย่างเป็นระบบ ทำให้ฐานความรู้หรือภูมิต้านทานระดับสังคมอ่อน ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ และยุคสารสนเทศ/อินเตอร์เน็ต (ICT) ได้มีบทบาทในการสร้างนิยามหรือค่านิยมใหม่สำหรับ “ความเป็นคน” และ “ความเป็นไทย” อย่างรวดเร็ว
๕. ข้อเสนอแนะ
ก. สค
โครงสร้างของ สค ปัจจุบัน ต่างกับที่ กสส ได้เสนอไว้ต่อรัฐบาล เมื่อมีนโยบายปฏิรูประบบราชการ โครงสร้างที่เสนอนั้น เป็นผลจากการสรุปประสบการณ์ของผู้นำหญิงที่เคยทำงานรณรงค์และ/หรือร่วมกับ กสส มีการแนะว่า โครงสร้างใหม่ควรจะมีความเป็นอิสระ (เช่น คล้ายๆ กับ กสม) มีสมรรถภาพ มีความคล่องตัว และมีความยั่งยืน เป็น “กลไกระดับชาติ” ไม่ใช่ผันผวนตามอายุขัยและความสนใจของรัฐบาล แต่ในโครงสร้างปัจจุบัน ถ้าสองคณะกรรมาการที่ทำหน้าที่เชิงนโยบาย ไม่ให้ความสนใจพอ ดั่งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง หรือรัฐบาลขาดเสถียรภาพ สค ซึ่งมีแต่ข้าราชการประจำ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่กลไกระดับชาติได้
จึงน่าที่ ขบวนการผู้หญิงและข้าราชการที่ยังมีความมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์และภารกิจต่อผู้หญิงโดยรวม จะร่วมกันทบทวนในแง่โครงสร้างของ สค ว่าได้ก้าวหน้า หรือ ถอยหลัง เมื่อ เทียบกับ กสส ในแง่ผลงาน อาจเลือกศึกษาประสบการณ์ของการดำเนินงานของ กสม ว่าจะสามารถประยุกต์มาจัดโครงสร้าง สค อย่างไร เพื่อจะได้มีกลไกที่ทำงานและแก้ไขปัญหาผู้หญิง / เพศสภาพ ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน
ข. ศูนย์สตรีศึกษา
จัดระเบียบโครงสร้างและการจัดการ
ปัจจุบัน องค์กรนานาชาติ มีการให้ทุนการวิจัย เช่น Asia Fellow Scholarship, Asia Public Intellectual, Southeast Asia Research Fellowship เป็นต้น ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาวิจัยในภูมิภาคเอเชีย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน โดยเปิดให้นักวิชาการเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอทุนไปศึกษาค้นคว้าในประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นแนวโน้มใหม่ในการบ่มเพาะการสร้างองค์ความรู้ระดับภูมิภาค ให้ถ่วงดุลกับการพึ่งองค์ความรู้ผ่านนักวิชาการตะวันตก หากศูนย์สตรีศึกษา มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมวิจัย และเป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น นักวิจัยดังกล่าวอาจขอพึ่งเป็นสถาบันเจ้าภาพ เป็นการช่วยเพิ่มมุมมองและประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือช่วยให้เกิดการใช้ หรือสังเคราะห์วิทยานิพนธ์
ส่งเสริมการทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยที่เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้หญิงในการเปลี่ยนแปลงสังคม
ทฤษฎีสตรีนิยมที่มีต้นกำเนิดจากโลกตะวันตก มีประโยชน์เป็นกรอบในการวิเคราะห์หรือ “แว่นตา” แต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และประวัติศาสตร์ ที่อยู่กันคนละขั้วกับสังคมไทย การค้นคว้า สืบประวัติ ฯลฯ ในสังคมไทย จะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ด้านทฤษฎีและวาทกรรมที่คนไทยสามารถซึมซับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ประสบการณ์ และวาทกรรมในการต่อสู้กับอคติทางเพศในโครงสร้างสังคม-การเมือง ของไทย ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าศึกษา เพราะจะช่วยให้คนรุ่นใหม่เห็นแนวทางในการต่อรอง และรื้อถอนทัศนคติที่กดทับศักยภาพของผู้หญิง รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ
งานอาสาสมัคร/ฝึกงานในหลักสูตร
ศูนย์สตรีศึกษาสามารถช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้องค์กรเอกชนผู้หญิงโดยให้นักศึกษาฝึกงานกับองค์กรต่างๆ และจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโท
การประชุมทางวิชาการระดับชาติ
ศูนย์สตรีศึกษาน่าจะร่วมกับ สค ในจัดการประชุมทางวิชาการสตรีศึกษาระดับชาติ ที่สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกว่าได้ความรู้หรือข้อคิด มุมมองใหม่ๆ และมีความรู้สึกร่วม ที่ติดดินกับความจริงของสังคมไทย ใช้สื่อสารกับคนระดับฐานรากของสังคม หรือมวลชนได้ จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเด็นสตรี/เพศสภาพมีความก้าวหน้า
ค. องค์กรเอกชนสตรี
การสร้างผู้นำ และการส่งไม้ต่อ
นอกจากการพัฒนาทฤษฎี/องค์ความรู้เกี่ยวกับหญิงไทย และวิวัฒนาการของเพศสภาพ องค์กรผู้หญิง ควรจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะและถ่ายทอดประสบการณ์แก่เจ้าหน้าที่ใหม่ในองค์กรของตน ในด้านการจัดการ/บริหารองค์กร การระดมทุน การรณรงค์/ล็อบบี้ และการนำเสนอผลงาน (อ่าน เขียน วิเคราะห์ และรายงาน) ปัญหานี้ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่แพร่หลายในประเทศไทย ดังนั้น องค์กรผู้หญิงหลาย ๆ กลุ่ม อาจจะร่วมกันขบโจทย์ข้อนี้ อาจระดมทรัพยากร ร่วมกันคิดออกแบบวางแผนทำโครงการฝึกอบรมปีละครั้ง อาจร่วมกับ สค และ ศูนย์สตรีศึกษา หรือ จัดเป็นการประชุมกึ่งปฏิบัติการ ที่ทุกองค์กรสรุปบทเรียนของตัวเอง และนำมาเสนอแลกเปลี่ยน ในเวทีใหญ่ร่วมกัน
การบันทึกประสบการณ์องค์กรและเผยแพร่
วารสาร “สตรีทัศน์” ที่ มพญ เคยวางตลาดในระยะแรก เป็นเอกสารที่มีประโยชน์ แต่ดูเหมือน มพญ จะไม่สามารถบริหารให้มีการวางตลาดได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีหนังสือที่หลายองค์กรพิมพ์จำหน่ายหลังจากจบโครงการวิจัยกึ่งปฏิบัติการ ก็เป็นการสร้างความตื่นตัวในสังคม แต่เอกสารเช่นที่สถาบันวิจัยบทบาทฯ พิมพ์ในลักษณะรายงานความก้าวหน้าขององค์กร หรือที่ มผญ รวบรวมไว้ในเว็บไซด์ มีน้อยมาก เอกสารประเภทหลังมีประโยชน์ช่วยให้คนที่เดินตามมา มีร่องรอยเพื่อต่อยอด ในวิสัยทัศน์และกิจกรรม
เอกสารดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างองค์กร และระหว่างประเทศ เพื่อค้นหาวิธีการผลักดันประเด็นความเสมอภาคให้มีประสิทธิภาพและเอกภาพยิ่งขึ้น
ก้าวต่อไป
การรณรงค์ในทศวรรษ ๒๕๓๐ เป็นช่วงรอยต่อ ที่ขบวนการหญิงไทยมีความตื่นตัวสูง ก่อนที่จะสังคมไทยจะถูกฉุดเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์เต็มตัวเช่นเดียวกับนานาประเทศ แม้การรณรงค์ในสองทศวรรษที่ผ่านมา จะประสบความสำเร็จหลายประการ แต่ปัญหาก็รุดหน้าเร็วกว่าและบานปลายซับซ้อน น่าที่ผู้นำองค์กรสตรีต่างๆ จะร่วมกันจัดประชุม (อาจจะเป็นลักษณะที่ยกขึ้นมาข้างต้น) เพื่อปรับกระบวนยุทธ์ หรือทบทวนบทเรียนจากความพยายาม (แทนที่จะประชุมในประเด็นตามกระแสนอกตัว น่าจะเป็นการประชุมทบทวนขบวนการผู้หญิง)
การทบทวนนี้ เคยทำมา (อาจจะมากกว่า) ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๓ มีการตกลงสร้างแนวร่วมของกลุ่มผู้หญิง เพื่อ “ขบวนการ” ผู้หญิง จะได้ก้าวพร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างระดับสากล ที่มีผลต่อระดับประเทศจนถึงระดับครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย ในครั้งนั้น คงจะมีผู้เห็นว่า ขบวนการผู้หญิงไม่สามารถจะเป็นเพียงผู้ตาม “ล้าง/ทำแผล” หรือ เป็น “นางพยาบาล” ที่ดี จึงรวมตัวเพื่อเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมใหญ่ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่สิทธิสตรีในโครงสร้างเดิม ๆ ประสบการณ์ของแนวร่วมฯ ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ ๘ ปีก่อน อาจใช้เป็นกรณีศึกษา หรือกิจกรรมหนึ่งเพื่อทบทวนทิศทางและยุทธศาสตร์ของขบวนการหญิงไทย
สภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในคริสตวรรษที่ ๒๑ ดูเหมือนจะบีบคั้นให้มีการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ด้วยอำนาจของเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงจำเป็นที่นักเคลื่อนไหวจะต้องกล้าคิดนอกกรอบ ปัจจุบัน หลายองค์กรได้พัฒนาเครือข่ายกว้างเข้าไปในภาคส่วนต่าง ๆ และหลายคนก็ได้ก้าวขึ้นไปเป็นตัวแทนของประชาชน มีผู้หญิงที่ “ทะลุเพดานแก้ว” ขึ้นไปทำงานชี้ชะตากรรมของประเทศมากขึ้น (แม้จะนับตัวได้) ซึ่งนับว่าเป็นผลพวงโดยตรง ของการต่อสู้ของผู้หญิงใน ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะมีการทบทวนว่าควรกลไกเก่าอย่างไร และสร้างกลไกใหม่อะไรที่จะช่วยทำให้งานของผู้หญิงถักทอกันเป็นระบบและเอื้อกัน ทำอย่างไร ขบวนผู้หญิงต่างๆ ที่แยกกันทำงานแบบสายฟ้าแลบ จะเชื่อมต่อกันเป็นสายรุ้งที่สอดคล้องกันและมีพลัง การทำงานแบบ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” โดยไม่ต้องสูญเสียเอกลักษณ์ของตน แต่สามารถร้อยรัดกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของ “เสมอภาค พัฒนา สันติ”
๖. บทสรุป
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ขบวนการรณรงค์สิทธิสตรี ได้ใช้พันธะกรณีที่รัฐบาลไทยได้ให้สัญญาไว้ต่อประชาคมโลก เช่น อนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติฯ และปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง เป็นเครื่องมือทวงถาม ผลักดันให้ภาครัฐ แก้ไขกฎหมาย ตลอดจนปฏิรูปการเมืองที่คำนึงถึงสิทธิเสมอภาคของสตรี ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังมีช่องว่างระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติ หรือบังคับใช้ งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับ “กิจกรรมสตรี” ก็ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจที่สัญญาไว้ เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า การมองข้ามมิติหญิงชาย ของภาครัฐ มีผลเสียทางตรงและทางอ้อม ต่อการผลิตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และการพัฒนาที่ยั่งยืน ในยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน จำเป็นที่จะต้องมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ที่มีหญิงและชาย ในฐานะผู้แทนจากทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างเสมอภาคกัน ดังคำกล่าวของผู้ให้สัมภาษณ์ท่านหนึ่งว่า
เราต้องเร่งทำสามอย่าง เผยแพร่ข้อกฎหมายที่ได้รับการแก้ไข เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่อง ทำให้ผู้หญิงมีความเข้าใจและรู้จักใช้กฎหมาย และช่วยให้ผู้หญิงอยู่ในระดับตัดสินใจ ตั้งแต่เวทีการเมืองระดับชาติ จนถึงสหภาพ แรงงาน
ความก้าวหน้าที่เกิดจากขบวนการสตรีไทย มีนัยสำคัญ ในแง่ที่ว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมเป็นเรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย และสังคมแต่เดิมไม่ยอมรับบทบาทผู้นำสาธารณะของหญิงไทยทั่วไป ภายในช่วง ๒๐ ปีนี้ หญิงสามัญที่ไม่มียศศักดิ์ของครอบครัวรองรับ ได้เกิดความมั่นใจในตัวเองถึงกับกล้าที่จะลุกขึ้นเรียกร้องความเป็นธรรม ในการคุ้มครองสิทธิ์ที่ตนพึงมี และโอกาสที่ตนพึงได้ ตัวอย่างเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และอานิสงค์ ของขบวนการผลักดันของหญิงไทย และผู้หญิงก็เป็นแกนสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
แต่ก่อนที่ขบวนการผู้หญิงจะมีพลังพอที่จะมีส่วนร่วมในการนำสังคม องค์กรผู้หญิง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรจะทบทวนประสบการณ์ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมาและสรุปบทเรียนเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ที่จะร้อยเรียงขบวนผู้หญิงต่าง ๆ ให้ทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องหลอมให้อยู่ในเบ้าเดียวกัน เป็นการสร้างความเสมอภาคและความสมดุลจากภายในขบวนการให้เป็นรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างแก่สังคมใหม่ได้
[1] การโทรศัพท์พูดคุยกับ “เพื่อน” นักเคลื่อนไหวสตรีหลายคนในระดับต่างๆ กันนานๆ กลางดึก เป็นลักษณะพิเศษหนึ่งของ อ.ธีรนาถ ซึ่งได้สร้างความรู้สึกที่อบอุ่นและจริงใจต่อกัน เป็นพลังหล่อเลี้ยงและหล่อลื่นให้ขับเคลื่อน เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ที่ใหญ่และซับซ้อนให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันในการกรณีร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐
[2] ใน ปี พ.ศ. 2008 สค/พม ได้จัดการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลอย่างหรูหราและใหญ่โต มีการเตรียมงานด้วยการระดมความคิดเห็นจากเยาวชนทั้ง ๔ ภาค แต่เมื่อถึงวันจริง กลับให้เวลาเพียงเล็กน้อย ให้ตัวแทน ๘ คนขึ้นเวทีรายงานสั้น ๆ นอกจากมาชมการมอบรางวัลแก่สตรีและบุรุษดีเด่น และการแสดงบนเวทีที่ค่อนข้างสับสนและกินเวลามาก บรรยากาศของงานดูเหมือนจะไม่สามารถทำให้ผู้เข้าประชุม (ส่วนใหญ่เป็นผู้นำหญิงรากหญ้าจากต่างจังหวัด และข้าราชการหญิง) มีความรู้สึกร่วม นอกจากมาตามหน้าที่หรือถูกเกณฑ์ ส่วนในวันฉลองวันแม่ /วันสตรีไทย ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ด้านสตรีศึกษา ครั้งที่ ๑ (แม้ว่า มธ จะได้จัดการประชุมนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓) การประชุมอาจไม่มีการประชาสัมพันธ์เพียงพอ จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมจำกัด และส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ และข้าราชการรุ่นใหม่
[3] วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ทวีความรุนแรงไปสู่สภาวะสงครามกลางเมือง เริ่มด้วยกระแสเสื้อเหลือง ที่ขับรัฐบาล (พรรคพลังประชาชน) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร การประท้วงแบบ “ม้วนเดียวจบ” ของเสื้อเหลือง นำไปสู่การปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และในที่สุดเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) ชนะคะแนนเสียงในรัฐสภา ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ผลคือเกิดกระแสเสื้อแดง “รักทักษิณ+ไล่อำมาตย์” ที่ซับซ้อน สับสนสำหรับคนภายนอก แต่ภายในมีการจัดขบวนยุทธทางทหาร+ทุน+จิตวิทยามหาชนอย่างลึกซึ้ง การปราบปรามด้วยกำลังของรัฐแต่ละครั้ง ไม่จบง่ายๆ เหมือนอดีต เพราะมีการใช้อาวุธสงคราม (เชื่อกันว่าในทั้งฝ่ายเหลืองและแดง) จนทำให้ผู้ชุมนุมและคนเดินถนนเสียชีวิตมากมาย กระแสเสื้อแดงนำไปสู่เมษาเดือดในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เมื่อเสื้อแดงล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ (ที่พัทยา) ได้สำเร็จ และเมษา-พฤษภา เลือดในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา ท่ามกลางวิกฤตความแตกแยกด้วยความโกรธ เกลียด กลัวที่มีการปลุกปั่นทั่วประเทศ ขบวนการผู้หญิงได้เริ่มรวมตัวกันหลวมๆ เรียกว่า เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย (Women Network Reshaping Thailand, WREST) ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ แม้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะสามารถฝ่าฟันกระแสเสื้อแดงระลอกที่สองได้ นักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่แน่ใจในเสถียรภาพของประเทศไทย และเศรษฐกิจโลกก็ปั่นป่วน ด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (สหรัฐฯ) ยังไม่ฟื้นดี
[4] ประกอบด้วย สคส นักวิชาการ และสื่อมวลชน ด้วยทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้ใช้เวลาถึง ๒ ปี ในการผลิตหนังสือคู่มือ “แนวทางการเสนอข่าวเรื่องเพศ” (๒๕๔๙)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น